บทที่ ๔

ใน “ละครแห่งชีวิต” ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องหนังสือพิมพ์ให้ท่านฟังมาแล้ว ใน “ผิวเหลืองหรือผิวขาว” นี้ ข้าพเจ้าก็จะเล่าเรื่องเดียวกันอีก เพราะหนังสือพิมพ์คือ “ละครโรงใหญ่” มีเหตุการณ์อันแปลกประหลาดปรากฏเป็นเรื่องอยู่เสมอและไม่มีซ้ำกัน สำหรับผู้ที่เป็นนักหนังสือพิมพ์หรือนักเขียนข่าว จะต้องเป็นผู้ที่ชอบฝ่าอันตรายใจแข็ง ไม่ย่อท้อในความทุกข์ยากต่างๆ อันจะมีขึ้นภายในวงแห่งหน้าที่ของตน จะต้องเป็นผู้ที่มีความคิดฝันไม่จบสิ้น ปากกาจะต้องเดินวนเวียนอยู่บนหน้ากระดาษแผ่นแล้วแผ่นเล่า สำหรับหน้าที่ในวงงานหนังสือพิมพ์ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตนเองเป็นปรมาณูชิ้นหนึ่งในโลก ซึ่งธรรมชาติได้สร้างให้มีชีวิตติดมาด้วย หน้าที่ได้ฝึกให้ข้าพเจ้าเป็นคนใจแข็ง ข้าพเจ้าอาจหัวเราะเยาะความผาสุกชื่นบาน หรือความยากแค้นของสาธารณชนได้ด้วยอิริยาบถอันเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพราะเช่นเดียวกับนักหนังสือพิมพ์ทุกคน ข้าพเจ้าคือตัวตลกตัวหนึ่งในโรงละครแห่งชีวิต

สำหรับประเทศที่เจริญแล้ว หนังสือพิมพ์เป็นชนวนอันสำคัญยิ่งในเรื่องความเจริญหรือความเสื่อม ประชาชนชอบอ่านและเชื่อหนังสือพิมพ์ตามราคาของเรื่องที่ปรากฏอยู่บนหน้ากระดาษ โดยเหตุนี้ผู้ที่จะเป็นใหญ่หรือมีชื่อเสียงได้ก็ย่อมต้องอาศัยหนังสือพิมพ์ ส่วนพวกเรา—พวกนักส่งและเขียนข่าวตั้งหลายร้อยระบาดไปทั่วโลก —ก็แบ่งออกเป็นหมู่เป็นเหล่าเพื่อประสานงานทุกแผนกให้เรียบร้อยเป็นประโยชน์มากที่สุด พวกของข้าพเจ้าหรือของเราซึ่งมีเลดีมอยรา ดันน์เป็นประมุข มีอยู่ประมาณสิบคน รวมทั้งมาเรีย เกรย์ อาร์โนลด์ แบริงตัน และแย็ก ปาร์เกอร์ มีเศรษฐีอยู่คนหนึ่งซึ่งพวกเรานิยมและทำชื่อเสียงให้ ถ้ามีโอกาสเมื่อใดเราก็เขียนเรื่องความดีงามของแก และนำรูปครอบครัวของแกลงไว้ในหนังสือพิมพ์ให้มหาชนทัศนา เศรษฐีผู้นี้ก็ทำการตอบแทนบุญคุณเราเสมอ ข้าพเจ้าจะเล่าให้ท่านฟังว่าคนใหญ่คนโตของเรานี้คือใคร

ในยุคมหาสงคราม ขณะที่ชาวอังกฤษกำลังเสียทรัพย์และเสียชีวิตกันอย่างย่อยยับ มิสเตอร์ยอน แอลลิสัน สตีลส์ของเราทำเงินจนเป็นเศรษฐี อาศัยสงครามนั้นเป็นอาชาพาตนไปสู่กองทอง ทั้งนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้หมายความว่ามิสเตอร์สตีลส์เป็นคนทุจริต แต่จะว่าไป แกก็ไม่ได้เป็นผู้สุจริตหรือบริสุทธิ์อะไรนัก ผู้ที่มั่งมีได้มากมายอย่างมิสเตอร์สตีลส์ในชั่วเวลาเพียงสองสามปี จะเรียกว่าเป็นคนสุจริตนั้นเห็นจะยาก แต่เนื่องในการพบกองเงินกองทองนี้ สหายของเราไม่ได้ไปเข้าคุกเข้าตะรางที่ไหน ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นคนสุจริต เรามีสิทธิที่จะชอบพอแกได้โดยปราศจากความตะขิดตะขวงใจ

เมื่อสงครามสงบแล้ว มิสเตอร์สตีลส์ก็ตั้งตัวเป็นนักสปอร์ตอย่างใหญ่โต มีม้าแข่ง รถแข่ง เรือใบและเรือยนต์แข่ง ในฤดูเทศกาลก็จ่ายเงินไปในกองการกุศลต่างๆ เป็นจำนวนปีละหลายหมื่นปอนด์ เช่นเดียวกับเศรษฐีอังกฤษหรืออเมริกันเกือบทุกคน มิสเตอร์สตีลส์ต้องการให้คนรู้จักมาก. วิธีทำบุญของแกก็ดำเนินไป ในทางที่บรรลุความประสงค์อันนี้ ข้าพเจ้าจำได้ว่าครั้งหนึ่งในบริเวณบ้านอันใหญ่โตของแกที่ตำบลริชมอนด์ในกรุงลอนดอน มิสเตอร์ สตีลส์จัดให้มี “ตลาดบำเพ็ญบุญ” (Charity-Bazaar) ขึ้นตลาดหนึ่ง ท่านเศรษฐีเที่ยวไปกว้านซื้อของต่างๆ มาไว้ขายในตลาดนั้นเป็นจำนวนหลายหมื่นอย่าง เชิญมหาชนไปชมสถานที่ที่แต่งไว้หรูงาม และไปซื้อของเหล่านั้น ส่วนเงินที่ได้จากการขาย ท่านเศรษฐีนำส่งสภาสงเคราะห์แม่ม่ายของพวกทหารที่เสียชีวิตในมหาสงครามโดยไม่คิดหักทุนออกเลย พวกเรา — คณะหนังสือพิมพ์ — ก็ได้รับเชิญให้ไปชม ข้าพเจ้าได้รับหน้าที่โดยเฉพาะให้เป็นผู้เขียนเรื่อง “ตลาดบำเพ็ญบุญ” ของมิสเตอร์สตีลล์ จำได้ว่าข้าพเจ้าเขียนเสียอย่างยืดยาว มีภาพของท่านมหาเศรษฐีและบุตรภรรยาประกอบเรื่อง และลงนามผู้เขียนว่า “บอบบี้” ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนฝูงเขาใช้เรียกข้าพเจ้า บอบบี้เป็นชื่อพี่ชายคนหนึ่งของมาเรีย เกรย์ ที่เสียชีวิตในมหาสงครามที่แล้วมา

ขณะที่เรื่อง “ตลาดบำเพ็ญบุญ” ปรากฏอยูในหนังสือพิมพ์รายปักษ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดฉบับหนึ่ง ข้าพเจ้ายังไม่ได้มีโอกาสรู้จักมิสเตอร์สตีลส์

เมื่อได้อ่านเรื่องและเห็นภาพ ท่านเศรษฐีมีความพอใจเป็นอันมาก ถึงกับอยากจะทราบว่าผู้ที่ใช้นามแฝงว่าบอบบี้นี้คือใคร แกไปที่สโมสรหนังสือพิมพ์ ถามเลดีมอยรา ดันน์ว่าจะพบบอบบี้ได้ที่ไหน เลดีมอยราบอกแกว่า “บอบบี้เป็นคนลึกลับ เขาไม่ชอบให้เปิดนามของเขานอกจากจะจำเป็นจริงๆ”

เคราะห์ดีที่ขณะนั้นข้าพเจ้านั่งอยู่ที่มุมห้องด้านหนึ่ง และลอบได้ยินมิสเตอร์สตีลส์พูดว่า “ก็นี่เป็นการจำเป็นจริงๆ เลดีมอยรา ฉันจำเป็นจะต้องรู้จักบอบบี้คนนี้ให้ได้”

เมื่อเห็นกิริยาของท่านเศรษฐีขะมักเขม้นนัก เลดีมอยรายิ้ม แล้วถามเป็นเชิงล้อว่า “แล้วยังไง มิสเตอร์สตีลส์?”

“ฉันพูดจริงๆ นะเลดีมอยรา เธอละชอบพูดเล่นเสมอทีเดียว” ท่านเศรษฐีพูดอย่างเบื่อ พลางควักผ้าเช็ดหน้าขึ้นซับเหงื่อที่หน้า “ฉันคิดจะมีงานรื่นเริงที่บ้านสักคราวหนึ่ง เชิญพวกเธอไปฮอลิเดย์ที่บ้านคนละสักสองอาทิตย์ เมื่อไรพวกเธอจะว่าง? พาบอบบี้ไปด้วยซี”

“แหม ยังงั้นดีทีเดียว” เลดีมอยราตอบ “พวกเราจะได้ฮอลิเดย์กันเดือนหน้า เริ่มตั้งแต่วันที่ ๕ ถึงวันที่ ๒๐ แต่บอบบี้จะได้ฮอลิเดย์จนถึงสิ้นเดือนทีเดียว”

“ตกลงนะ เป็นอันว่าฉันขอเชิญพวกเธอไปฮอลิเดย์ที่บ้านฉัน ตั้งแต่วันที่ ๕ เดือนหน้าตลอดจนถึงวันที่ ๒๐ แต่จำไว้นะ เลดี มอยรา” แกพูดเป็นเชิงบังคับทีเล่นทีจริง “ใครจะปฏิเสธคำเชิญของฉันไม่ได้เป็นอันขาด”

“เราจะไม่ปฏิเสธ มิสเตอร์สตีลล์ และจะขอบพระคุณเธอเป็นอันมากเสียด้วย” แม่เพื่อนรักของเราตอบอย่างสุภาพ “ดิฉันขอรับรองว่า ถ้าเธอได้พบคนที่ชื่อบอบบี้แล้ว เธอจะแปลกใจมากทีเดียว”

“ดีแล้ว” ท่านเศรษฐีตอบ “ตกลงนะ วันที่ ๕ อย่าลืม ฉันก็รับรองได้เหมือนกันว่าพวกแขกที่จะไปในงานต้อนรับของฉัน จะทำให้พวกเธอแปลกใจมากเหมือนกัน”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ