บทที่ ๒๓
ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วโดยละเอียด ในเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ว่าเหตุใดข้าพเจ้าจึงต้องลาจากตำแหน่งผู้แทนหนังสือพิมพ์ ต้องเที่ยวไปในประเทศอเมริกา ญี่ปุ่นและจีน จนในที่สุดก็ต้องกลับมาอยู่ในประเทศสยาม ครั้นจะพรรณนาอีกในที่นี้ก็เกรงว่าจะเป็นการซ้ำกัน และอาจทำให้ท่านเบื่อ ดังนั้นต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะขอพูดแต่เพียงเลาๆ เพื่อจะช่วยให้ท่านระลึกได้ หากว่าท่านจะลืมหรือจำไม่ ได้ถี่ถ้วน
ข้าพเจ้าเป็นคนอ่อนแอมาตั้งแต่เด็ก ร่างกายและกำลังไม่อำนวยให้ข้าพเจ้าทำกิจการที่ต้องวิ่งเต้น ใช้ทั้งกำลังกายและกำลังสมอง ในหน้าที่ผู้แทนหนังสือพิมพ์ได้นาน เมื่อท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ ได้พักหนึ่ง สนุกสนาน กินนอนไม่เป็นเวลา ต้องนั่งเขียนเรื่องราวในเวลาค่ำคืนดึกดื่น เพื่อจะให้ทันกับเวลาที่หนังสือพิมพ์ออก ข้าพเจ้าก็ล้มเจ็บลง อาการเจ็บกำเริบหนัก เมื่อมิสเตอร์เอ็ดเวิร์ดเบล เบนสัน ท่านผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทมส์ พาข้าพเจ้าไปในเรื่องการประชุมสันนิบาตชาติที่กรุงเจนิวา ในตำแหน่งเลขานุการ ตั้งแต่นั้นก็เจ็บออดแอดเรื่อยมาเป็นลำดับ
ลาจากผู้แทนหนังสือพิมพ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับข้าพเจ้าเป็นนักเรียนส่วนพระองค์ ส่งไปเรียนวิชาต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกา เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์เพียงปีเศษ นัยน์ตาข้าพเจ้าเกิดเป็นพิษ ป่วยเจ็บเป็นกำลัง เนื่องจากที่ได้ดูหนังสือมากเกินไป ข้าพเจ้าไปทำการผ่าตัดนัยน์ตาที่โรงพยาบาลสามอาทิตย์ ออกมายังเห็นสิ่งต่างๆ เป็นคู่ทำอะไรไม่ได้เลย เป็นคนทุพพลภาพอยู่หกเดือนเศษ อาการเจ็บทุกอย่างทำให้จิตใจของข้าพเจ้าเศร้าสลด ไม่เป็นอันที่จะคิดถึงอนาคตของชีวิตต่อไป จึงขอพระราชทานกราบทูลลาจากการเป็นนักเรียนส่วนพระองค์ เลิกเรียน เลิกคิดถึงความดีงามในเบื้องหน้า
เคราะห์ดีข้าพเจ้าได้พบรู้จักและชอบพอกับตระกูลฮัมเฟรย์ ในขณะที่เดินทางจากอังกฤษไปอเมริกาตลอดจนขณะที่อยู่ที่นั่น และเดินทางกลับมาจนถึงกรุงโตเกียวและเมืองเซี่ยงไฮ้ เซอร์เปอร์ซีเวิล ฮัมเฟรย์ เลดีเปอร์ซีเวิลผู้ภรรยา และพอลลีบุตรสาว รักและกรุณาข้าพเจ้ามากที่สุด อุปถัมภ์ค้ำจุนช่วยเหลือ ไม่เคยทอดทิ้งสักขณะเดียว ในขณะที่ข้าพเจ้าเจ็บอยู่ที่อเมริกา
ท่านผู้ที่ได้อ่าน “ละครแห่งชีวิต” มาแล้ว บางทียังคงจำได้ว่า เมื่อข้าพเจ้าหายจากการผ่าตาและออกจากโรงพยาบาลได้สามสี่เดือน ข้าพเจ้ายังคงเป็นคนทุพพลภาพ นัยน์ตายังใช้การไม่ได้ ยังเห็นสิ่งต่างๆ เป็นคู่และพร่า จนบางทีก็ถึงจางเป็นวงขาว ข้าพเจ้าต้องใส่แว่นตาพิเศษ มีกระจกดำใส่ไว้ข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งเป็นสีขาวมัว ในขณะนี้มาเรีย เกรย์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้แทนหนังสือพิมพ์ในสหรัฐ อเมริกาและไปพบข้าพเจ้า อาการแห่งนัยน์ตาก็ยังคงดำรงอยู่เช่นนี้ จะดีขึ้นบ้างก็แต่เพียงเล็กน้อย
วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ เวลา ๑๑ นาฬิกา เรือ “เปรสิเดนท์วิลสัน” มาเทียบท่าเมืองนิวยอร์ก พอลลี ธิดาเซอร์และเลดีเปอรซีเวิล เป็นผู้จูงข้าพเจ้าไปรออยู่ที่นั่นจนมาเรียเดินลงมาหา หล่อนตกใจที่เห็นข้าพเจ้าใส่แว่นตาขาวข้างดำข้าง มือถือไม้เท้า หล่อนเกรงว่าข้าพเจ้าจะตาบอดหรืออะไรเช่นนั้น
“บอบบี้ ตาเธอเป็นอะไรไป?” หล่อนถามด้วยน้ำเสียงอันก้องกังวาน พลางสวมมือทั้งสองกอดข้าพเจ้า “ตาเธอเป็นอะไร บอบบี้?”
ข้าพเจ้าเล่าให้หล่อนฟังโดยตลอด
“ฉันได้หวังไว้ว่า” หล่อนพูดเป็นเชิงตัดพ้อ “ฉันจะมาพบเธอในอเมริกาเป็นคนแข็งแรง หน้าตาชื่นบานและเป็นนักเรียนที่เก่งที่สุดในโลก”
พวกเซอร์เปอร์ซีเวิล เชิญให้มาเรียไปอยู่กับเราที่บ้านของเขาในกรุงนิวยอร์ก ทีแรกหล่อนปฏิเสธ แต่เมื่อถูกอ้อนวอนหนักเข้าก็ตกลง ขณะที่เดินออกจากชานชาลาของท่าเรือ มาเรียได้มารับหน้าที่เป็นผู้จูงข้าพเจ้า ส่วนพอลลีนั้นเดินตามไปอีกข้างหนึ่ง เรานั่งรถยนต์ไปที่บ้านถนน ๑๗๑ บี เข้าไปในห้องรับแขกนั่งอยู่ได้สักครู่ พวกเซอร์เปอร์ซีเวิลต่างก็กล่าวคำขอโทษออกไปจากห้อง ปล่อยให้มาเรียและข้าพเจ้าอยู่ด้วยกันโดยลำพัง เวลานั้น ถ้านั่งหรือนอนนิ่งๆ อยู่ในบ้าน ข้าพเจ้าสามารถจะถอดแว่นตาออกได้ แม้ว่าจะยังคงเห็นอะไรเป็นคู่ก็ยังสามารถสำรวมใจจ้องดูวัตถุคู่นั้นให้มารวมเป็นเงาอันเดียวกันได้ แต่มัวและกินเวลานานกว่าจะเห็นได้ชัดพอสมควร
ข้าพเจ้าสามารถจะเห็นมาเรีย เกรย์ แม่สหายคู่รักคู่ชีวิตได้ดี!
สำหรับข้าพเจ้า มาเรียยังคงงามเลิศ เป็นพระนางเจ้ามาดอนนาแห่งความงาม ความดีและความสุข ภายในดวงเนตรของหล่อนยังคงมีประกายแห่งความรัก...ความบริสุทธิ์อยู่เช่นเดิม หล่อนยังคงรักข้าพเจ้า และจะไม่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ มาทำลายความรักนี้เสียได้ หล่อนเข้ามานั่งรวมอยู่กับข้าพเจ้าบนเก้าอี้ตัวเดียวกัน เบียดแทรกเข้ามาโดยความสนิทสนมของเรา ซึ่งได้ตรึงตรากันไว้แต่เดิม
ในการพบคราวนั้น หล่อนได้พูดกับข้าพเจ้าไว้หลายอย่าง ล้วนเป็นคำมั่นสัญญาของสตรีผู้มีหัวใจอันประเสริฐ มีค่ายิ่งกว่ามณีทั้งมวลที่มีอยู่ในโลก “ฉันรักเธอ บอบบี้...รักเธอคนเดียว แม้เธอจะเป็นใครก็ไม่เป็นของแปลก เราจะแต่งงานกันได้หรือไม่ฉันไม่ “แคร์” ความรักของเราไม่มีอุปสรรคใดๆ จะทำลายเสียได้”
แม้ว่าถ้อยคำเหล่านี้จะอ่อนหวานไพเราะเพียงไรก็ยังทำให้ข้าพเจ้าปั่นป่วนหัวใจเป็นที่สุด ไม่เคยมีอะไรที่ทำให้ข้าพเจ้าหยั่งถึงความพินาศแห่งชีวิตของตนเองยิ่งไปกว่าคำพูด และกิริยาอันฉอเลาะคลอเคลียของหญิงคนเดียวที่ข้าพเจ้ารักยิ่งชีวิต ข้าพเจ้าเป็นคนตาเจ็บ อีกตั้งปีกว่าจะหาย ไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์ที่หาเงินได้เอง ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนที่เรียนไม่สำเร็จ กลับไปบ้านมือเปล่า ข้าพเจ้าไม่มีสิทธิ์ที่จะรักหล่อนได้ และข้าพเจ้าเป็นคนไทย...
เราเคล้าเคลีย จุมพิตกันอยู่บนเก้าอี้นั้นครู่หนึ่ง ข้าพเจ้าจึงพูดกับหล่อนว่า “ฉันจะกลับเมืองไทย มาเรีย กลับไป...ตาย...ที่บ้าน พอนัยน์ตาหายดีฉันจะออกเดินทาง”
“บอบบี้” หล่อนวิงวอน “เธอพาฉันไปเมืองไทย...ไปบ้านของเราด้วยนะจ๊ะ เราจะไปตายด้วยกัน”
สายตาของข้าพเจ้าจับอยู่ที่กำแพงอันว่างเปล่าตรงหน้า หยิบเอาผ้าเช็ดหน้าขึ้นเช็ดอัสสุชล ซึ่งไหลอยู่ไม่ขาดสาย
“ไม่ได้ดอก มาเรีย แม่ยอดรัก” ข้าพเจ้าแข็งใจพูด “ฉันเป็นคนจนและมีทุกข์อยู่ราวกับภูเขา ชีวิตภายหน้าของฉันไม่มีแสงสว่างอะไรเลย ฉันจะให้เธอร่วมทุกข์ด้วยไม่ไหว เธอยังเป็นผู้ที่อาจหาความสุขได้ ถ้าเธอรักฉันจริงเธอจงพยายามเข้าใจนะจ๊ะ”
มาเรียรู้จักและรักข้าพเจ้า พอที่จะเข้าใจความจำเป็นเหล่านี้ได้โดยตลอด
ในการเดินทางกลับจากอเมริกาทางมหาสมุทรแปซิฟิก และหยุดเที่ยวที่โฮโนลูลู ญี่ปุ่น และจีน ข้าพเจ้าเดินทางไปในพวก (party) ของเซอร์เปอร์ซีเวิล ประจวบกับขณะนั้นมาเรียได้รับคำสั่งให้ไปประจำการในประเทศจีน หล่อนเลยสมทบไปกับพวกเราด้วย ไปถึงญี่ปุนมาเรียมีกิจจำเป็นต้องรีบเดินทางไปเมืองเซี่ยงไฮ้ ข้าพเจ้าเลยไปกับหล่อน ทิ้งพวกเซอร์เปอร์ซีเวิลไว้ที่นั่น
เรา — มาเรียและข้าพเจ้า — เที่ยวไปในประเทศจีน กับพวกหนังสือพิมพ์อื่นอยู่เพียงสองอาทิตย์เศษ ข้าพเจ้าล้มเจ็บลงอีก มาเรียได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่สำนักงานในนิวยอร์ก ข้าพเจ้าต้องกลับเมืองไทย การลาครั้งสุดท้ายของเราได้เป็นไปอย่างเศร้าที่สุด
คืนก่อนวันที่เรือ “เปรสิเดนท์แทฟต์” ซึ่งเป็นเรือที่มาเรียจะโดยสารผ่านญี่ปุ่นไปอเมริกาจะออกจากเซี่ยงไฮ้ เรา — มาเรียและข้าพเจ้า — พักอยู่ที่ภัตตาคารแอสเตอร์ ก่อนเข้านอนเรานั่งอยู่ด้วยกันบนเก้าอี้นวมยาวในห้องนั่งเล่นชั้นบน — อากาศคืนนั้นชื้นแฉะ หน้าต่างตรงหน้าเปิดไปเห็นความมืดภายนอกและไม่เห็นอะไรอื่น เราปรับทุกข์ถึงเรื่องโชคของเราทั้งสอง พูดถึงความรัก และความมั่นคงของเรา แม้จะมีอุปสรรคมาขัดขวางอยู่บ้างบางครั้งบางคราว ก็ยังเป็นความรักที่ราบรื่นและเต็มไปด้วยความหวาน ความเจริญ และความบริสุทธิ์ เราจะต้องจากกัน ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสพบกันอีกเมื่อใดหรือไม่ในชาตินี้ แต่ความรักของเราจะยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของเราอย่างไม่มีวันที่จะสูญหายไปได้เลย
รุ่งขึ้นเช้าเป็นวันและเวลาที่เรือ “เปรสิเดนท์แทฟต์” ออกจากท่า พาสตรียอดรักคู่ชีวิตของข้าพเจ้าไปเสียด้วย ข้าพเจ้าไปส่งหล่อนบนเรือ เราอำลาและจุมพิตกันด้วยความอาลัยรักอย่างหวานและเศร้าสุด เสียงระฆังเตือนให้ผู้ที่ไปส่งญาติและเพื่อนฝูงลงจากเรือรัวอยู่ ใจเราทั้งสองก็ยิ่งเต้น...เต้นหนักขึ้นทุกที
“ลาก่อน แม่ยอดรัก” ข้าพเจ้ากล่าวเสียงสั่น “ลาก่อน มาเรีย”
“ลาก่อน บอบบี้” หล่อนกล่าวตอบ “ลาก่อนพ่อยอดรักคู่ชีวิต ฉันรักเธอบอบบี้ ฉันรักเธอและจะรักเธอจนวันตาย”
“ลาก่อน มาเรีย” ข้าพเจ้ากล่าวพลางถอยหลังไปจะลงบันไดเรือ “ลาก่อน แม่ยอดรัก ฉันรักเธอและจะรักเธอจนวันตาย”
ข้าพเจ้ารีบลงจากเรือเพราะพวกกะลาสีเร่ง ยืนอยู่ที่ชานชาลาของท่าเรือ เพ่งดูเรือกำลังเคลื่อนที่อยู่ มาเรียยืนอยู่บนดาดฟ้า โบกผ้าอยู่ไปมา ข้าพเจ้าโบกตอบ นั่นคือการอำลาครั้งสุดท้ายของเรา มาเรียไปอยู่ประเทศอเมริกา ข้าพเจ้ากลับประเทศสยาม ความรักคือความสละ! ชีวิตของเราเศร้าถึงเพียงนี้!