บทที่ ๑๗

“ฉันไม่ได้ให้ความอยุติธรรมแก่ชาวอังกฤษในเรื่องนี้ ฉันรู้... ฉันมีเหตุผลพอที่จะรู้” เจ้าหญิงรับสั่งด้วยความน้อยพระทัย “ฟังนี่ซี เน็ด ถ้าฉันได้อยู่ในเมืองอินเดียตลอดชีวิต—ถ้าพวกอังกฤษไม่มาปล้นเอาสิทธิ เอาชีวิตจิตใจของฉันไป-ฉันคงไม่ฝันที่จะรักผู้ชายชาวยุโรปหรือชายต่างประเทศผิวขาวคนใดเลย ฉันคงจะมีความรู้สึกสำหรับ ‘คนผิวขาว’ อย่างที่เขามีความรู้สึกสำหรับเรา นี่ฉันเกิดที่นี่ โตเป็นสาวที่นี่ ฉันไม่เคยไปอินเดีย ฉันต้องสมาคมกับคนอังกฤษ ดังนั้นเมื่อฉันเกิดมีความรักขึ้น...ความรักของฉันก็จำต้องเกิดจากผู้ชายอังกฤษ” พระเสียงของอรุยาเบาลงจนเกือบจะเป็นเสียงกระซิบ

“เธอพูดถึงผู้ชายคนหนึ่งชื่อเฟรดคาเซิลใช่ไหม?” พระองค์ชายทรงถาม รู้สึกสนพระทัยขึ้นมาทันที

“ใครบอกเธอ?” อรุยาทรงถามสวนควันขึ้นด้วยความตกพระทัย

“ฉันได้ยินเขาพูดกันเสมอที่บ้านบลูพีเตอร์” พระองค์ชายรับสั่งตอบ “แต่ฉันไม่เคยนึกเลยว่า เธอจะรักเฟรดคาเซิลมากมายถึงเพียงนั้นไม่เคยนึกว่าเป็นความจริง...”

ทันใดนั้นอรุยาพระพักตร์เผือดเศร้าลงยิ่งกว่าที่ได้เป็นมาแล้ว เธอประสานพระหัตถ์กอดพระชานุทรงคิดที่จะรับสั่งสิ่งที่เธอต้องประสงค์ต่อไป

“ฉันควรจะรู้เสียนานแล้ว” เธอรับสั่งอย่างแค้น “ฉันควรจะรู้ว่าพวกบ้าน ‘บลูพีเตอร์’ เขาพูดกัน...พูดแล้วหัวเราะ ฉันรู้สึกขายหน้าเหลือเกินสำหรับพวกเขา เขาเห็นว่าเป็นของน่าหัวเราะ เป็นสิ่งที่สนุก!”

“จริง เน็ด เรื่องเฟรดคาเซิลกับฉันนั้นเป็นความจริง ฉันเคยบ้าพอที่ไปรักเฟรด...เขาก็...รักฉันมากเหมือนกัน” เธอรับสั่งพระพักตร์เผือดเศร้าแสดงถึงความปวดร้าวพระทัยเมื่อนึกถึงความรักที่ได้ผ่านมาแล้ว “แต่เฟรดเป็นคนขี้ขลาดไม่กล้าตกลงใจ เขากลัว...กลัวพวกญาติเพื่อนฝูง เลยหนีเปิดไปอินเดีย พวกญาติและเพื่อนของเขาบอกว่าเฟรดไปเสียนั้นดีแล้ว เวลานี้ยังมีฉันคนเดียวที่เหลืออยู่ในอังกฤษที่เขาจะหัวเราะเยาะเล่นได้”

“ทำไมพวกอังกฤษจึงไม่ปล่อยให้เราอยู่โดยลำพังบ้างหนอ!” เธอรำพันเป็นที่น่าสังเวชใจที่สุด “ฉันจะเป็นสุขไม่น้อยทีเดียว ถ้าพวกอังกฤษทิ้งให้ฉันอยู่โดยลำพัง...อยู่กับพวกของฉัน”

“อรุยา เธอยังไม่ทราบว่า ชีวิตของพวกหญิงทางประเทศตะวันออกเป็นอย่างไร” พระองค์ชายรับสั่งพระทัยอ่อนลงด้วยความสงสาร “ถ้าเธอเกิดและอยู่ในอินเดีย เธอจะต้องถูกกัก...ถูกเขียนวงให้อยู่ภายในหลังฉากตลอดชีวิต ไม่มีความอิสระ จะไปเที่ยวที่ไหนโดยลำพัง เช่นไปสวนริชมอนด์พาร์กก็ไม่ได้ ไม่มีการ เต้นรำ ไม่มีการออกกำลังกาย อันเป็นเกมสนุกสนานเช่นฮอกกี้ ไม่มีโอกาสจะรู้จักคนที่จะช่วยให้เธอเพลิดเพลินในความสุข...”

เจ้าหญิงทรงพระสรวลอย่างฝืนพระทัย...ทรงพระสรวลอย่างหมดหวัง...หมดหวังในชีวิตที่จะมีความสุขในอนาคต

“ร้ายเหลือเกินทีเดียวนะเน็ด” เธอรับสั่งอย่างเต็มไปด้วยความแค้นในเรื่องโชคของเธอ “ไม่มีการไปเที่ยวในสวนริชมอนด์พาร์ก ไม่มีเต้นรำ ไม่มีฮอกกี้! ไม่มีความสุขอะไรเลย! แต่คงจะมีอะไรบางอย่างที่ฉันอาจชอบ เช่นความรัก...การแต่งงานและ...การเป็นมารดาของเด็กน้อย! เธอเห็นไหมเล่า เน็ด ฉันก็เป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งเหมือนกัน”

เสียงดนตรีเงียบลง เป็นครั้งที่สามหรือครั้งที่สี่ตั้งแต่เรามานั่งสนทนากัน ข้าพเจ้าสังเกตเห็นพระองค์ชายกระวนกระวายพระทัยมาก เรื่องรักของเจ้าหญิงอรุยาจะมาเหมือนกับเรื่องรักของท่านอย่างไรได้ ชีวิตของเราต่างกันทุกคน ในที่สุดท่านจึงทรงถามเธอว่า

“อรุยา ทำไมเธอจึงบอกฉันถึงเรื่องเธอทั้งหมด?”

“เพราะเธอควรจะต้องรู้ เพราะฉันไม่ต้องการให้พวกอังกฤษมีเรื่องอย่างเรื่องของฉัน สำหรับจะหัวเราะเยาะกันเล่นอีก เธอไม่ใช่ชาวอินเดียอย่างฉัน แต่เธอก็เป็นแขก ‘นิโกร’ เหมือนฉันเหมือนกัน” เธอรับสั่งยํ้าข้อความในตอนท้ายเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น “ถ้าเธอไปพูดถึงความรักและการแต่งงานกับไอรีน สตีลส์ หล่อนจะหัวเราะเยาะเธอแน่นอน จะทำให้พวกเราขายหน้ากันอีก ฉันไม่อยากให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น ถ้าฉันสามารถจะป้องกันได้”

“หล่อนจะไม่หัวเราะเยาะแน่นอน” พระองค์ชายรับสั่งอย่างกริ้ว “เธอไม่รู้จักไอรีน หล่อนชอบฉัน ฉันรู้ดี หล่อนเป็นคนอ่อนหวาน ใจดีกรุณา หล่อนจะเป็นคนเลวอย่างที่เธอนึกไม่ได้ แม้ว่าหล่อนจะพยายาม”

“เน็ด เธอรู้ดีไม่ใช่หรือว่าฉันรู้จักไอรีนมาก่อนเธอหลายปี เราเคยเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนกันมาตั้งแต่พูดยังไม่เป็นภาษา”

พระองค์ชายยังมิทันจะได้ตรัสตอบประการใดก็มีสตรีผู้หนึ่งเดินออกมา หล่อนคือฟรีดา สตีลส์ พี่สาวของไอรีน

“อรุ” หล่อนเรียกเจ้าหญิง “ทำไมเธอจึงพาแขกของเรามาซ่อนอยู่ที่นี่หมด ฉันเที่ยวหาเธอเกือบตาย พ่อต้องการให้เธอไปกินของว่าง บอบบี้และเน็ดด้วย” หล่อนหันมาทางเรา “เราได้จัดที่ไว้ให้เธอแล้ว”

“ฟรีดายอดรัก” เจ้าหญิงรับสั่งถามสหายยอดชีวิตของเธอ “ไอรีนอยู่ที่ไหน เธอรู้ไหม?”

“อยู่กับนายร้อยเอกเจอร์โรม ฟีลิป” ฟรีดาตอบ “ประเดี๋ยวก็คงมาอยู่กับพวกเรา มาซี เราไปนั่งกินอะไรกันข้างในเถิด”

เราทั้งสามลุกขึ้นเดินตามฟรีดาเข้าไปในห้อง

ความเป็นมิตรอันสนิทสนมระหว่างอรุยากับฟรีดาทำให้ข้าพเจ้าฉงนใจมาก เพราะข้าพเจ้ารู้จักอรุยาดี ข้าพเจ้าไม่เคยเชื่อว่าเธอจะมีความตั้งใจจริงในมิตรภาพนี้เท่าใดนัก อาจเป็นแต่ภายนอกก็ได้ แต่เมื่อรู้จักคนทั้งสองนี้นานเข้า ข้าพเจ้าค่อยรู้ขึ้นทีละน้อยว่า ความเป็นมิตรอันสนิทสนมนี้เป็นความจริง ข้าพเจ้าเคยรู้สึกว่าฟรีดา สตีลส์มีนิสัยเงียบ ไม่สูสีกับใคร มีสภาพคล้ายตุ๊กตาที่มีลาน เมื่อถูกไขก็ต้องทำหน้าที่ไปชั่วขณะหนึ่ง ความจริงภายในความเงียบสงบแห่งนิสัยของหล่อนนี้ ฟรีดาเป็นคนใจอ่อน เห็นใจและสงสารคนง่าย หล่อนรักอรุยาเพราะหล่อนสงสาร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ