อธิบายเรื่อง ปูมราชธรรม

[๑]เรื่อง “ปูมราชธรรม” ที่พิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ คัดลอกจากสำเนาเอกสารซึ่งต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เอกสารต้นฉบับเป็นสมุดไทยขาว ตัวอักษรไทย ภาษาไทยเขียนด้วยหมึกดำ หน้าแรกบอกชื่อเรื่องว่า “ปูมราชธรรม”

ตัวอักษรและอักขรวิธีที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว บ่งชี้ว่าสมุดไทยเล่มนี้น่าจะมีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยา ลักษณะตัวอักษรที่เขียนในหน้าแรกเป็นแบบที่เรียกว่า “อักษรไทยย่อ” ซึ่งนิยมใช้ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังมีตัวอย่างเอกสารที่พบหลายฉบับเช่น สนธิสัญญาไทย - ฝรั่งเศส พุทธศักราช ๒๒๓๑ หนังสือออกพระวิสุทธสุนทร ถึงเมอร์ซิเออร์ เดอ เชนเยอเลย์ อัครมหาเสนาบดีฝรั่งเศส พุทธศักราช ๒๒๓๑ เอกสารทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวเขียนขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต้นฉบับสมุดไทยเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวง พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ พุทธศักราช ๒๒๗๙ และตัวอักษรบนบานประตูมุก วัดบรมพุทธาราม พุทธศักราช ๒๒๙๕ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นต้น

ตัวอย่างเอกสารที่กล่าวมานั้นเป็นหลักฐานว่า “อักษรไทยย่อ” ใช้มาตั้งแต่ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สืบเนื่องมาจนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและน่าจะใช้มาจนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐

ตัวอักษรบางตัวที่ปรากฏในเรื่องปูมราชธรรม มีลักษณะเฉพาะอันเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น

ก เขียนเป็น ก ไทยย่อ เช่นในคำว่า กัลป์ กุกกุสันธ

ธ เขียนเป็น ธ ไทยย่อ เช่นในคำว่า ธรรม โพธิสัตว์

ฬ เขียนเป็น ฬ ไทยย่อ เช่นในคำว่า จักรวาฬ ฬ่อลวง (ล่อลวง)

อ เขียนเป็น อ ไทยย่อ เช่นในคำว่า องค์ อุบัติ

ฦๅ เขียนเป็น ฦ ไทยย่อ เช่นคำว่า ฦๅชา

รูปลักษณะตัวอักษรที่ปรากฏแสดงว่า ต้นฉบับเอกสารเรื่องปูมราชธรรมซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสนั้นเขียนขึ้นในสมัยอยุธยา แต่จะเป็นรัชกาลใดยังไม่สามารถสรุปได้

อนึ่ง ตามหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ราชสำนักสยามกับราชสำนักฝรั่งเศสมีการส่งราชทูตเจริญทางพระราชไมตรีต่อกันหลายครั้ง ประกอบกับคณะนักบวชนิกายเจซูอิตจากประเทศฝรั่งเศสได้เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาอย่างจริงจังในกรุงศรีอยุธยา ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายศาสนจักรของฝรั่งเศสต่างพยายามชักจูงให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ การที่จะดำเนินกุศโลบายให้องค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงอยู่ในขนบราชประเพณีที่มีพื้นฐานจากพุทธศาสนาสืบต่อกันมาช้านาน ให้ทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นนั้น จำเป็นที่ผู้ชักจูงจะต้องมีความเข้าใจในระเบียบแบบแผนของราชสำนักตลอดจนพระราชจริยวัตรต่าง ๆ เป็นพื้นฐานที่จะดำเนินนโยบายต่อไป ประกอบกับความมีอุปนิสัยใฝ่รู้ของชาวฝรั่งเศส เมื่อเดินทางมายังภูมิภาคตะวันออกได้พบเห็นอารยธรรมความเจริญที่มีลักษณะแตกต่างไปจากชาติยุโรป ต้องการนำความแปลกใหม่ที่ได้พบเห็นกลับไปเผยแพร่ให้คนในประเทศของตนได้รับรู้ จึงอาจเป็นไปได้ว่ามีผู้ใดผู้หนึ่งในคณะราชทูตหรือคณะนักบวชได้นำเอาเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ศาสนา และวรรณกรรมของราชอาณาจักรสยามซึ่งรวมถึงเรื่อง “ปูมราชธรรม” ด้วย กลับไปยังประเทศฝรั่งเศส

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ให้ ความหมายของคำว่า “ปูม” ไว้ดังนี้ “ปูม สมุดปฏิทินโหรรวมไว้หลาย ๆ ปีมีจดหมายเหตุการณ์, กระดาษหรือสมุดที่ตีตารางสำหรับบันทึกเหตุการณ์” เท่าที่ปรากฏคำว่า “ปูม” มีใช้อยู่เพียง ๒ ลักษณะ เท่านั้นคือ “ปูมโหร” และ “ปูมปฏิทิน” ไม่พบใช้ประกอบคำอื่นๆ เพิ่งพบคำว่า “ปูมราชธรรม” ในเอกสารนี้เพียงเรื่องเดียว

ลักษณะเนื้อหาที่ปรากฏใน “ปูมราชธรรม” เป็นการ “ประมวลข้อธรรมต่างๆสำหรับพระมหากษัตริย์” หรือ “ประมวลข้อธรรมที่พระมหากษัตริย์พึงทรงปฏิบัติ” ดังนั้นคำว่า “ปูม” จึงน่าจะมีความหมายว่า “ประมวล” หรือ “ประมวลเรื่องราว” “ปูมโหร” น่าจะมีความหมายว่า “ประมวลเรื่องราวของโหร” “ปูมปฏิทิน” น่าจะมีความหมายว่า “ประมวลเรื่องราวตามลำดับวัน”

“ปูมราชธรรม” แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ตอน ได้แก่ ตอนที่ ๑ เป็นความเรียงว่าด้วย “ราชธรรม” หรือสิ่งที่พระมหากษัตริย์พึงทรงปฏิบัติ ตอนที่ ๒ เป็นความเรียงว่าด้วย “ราชพยัตติธรรม” หรือความฉลาดรู้แจ้ง ๙ ประการ ตอนที่ ๓ เป็นคำประพันธ์ว่าด้วย “ราชวิจารธรรม” หรือวิธีเลือกใช้เสวกามาตย์ที่ประกอบด้วยคุณธรรมและอุปนิสัยเหมาะสมกับตำแหน่งต่าง ๆ ในที่นี้จะกล่าวถึงเนื้อหาสังเขปในแต่ละตอน กล่าวคือ

ตอนที่ ๑ ว่าด้วยราชธรรม ความตอนต้นกล่าวถึงพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ที่อุบัติขึ้นในภัทรกัลป์ ได้แก่ พระกุกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระพุทธกัสสป พระศรีศากยมุนีโคดม และพระศรีอาริยไมตรีหรือพระศรีอาริยเมตไตรย จากนั้นเป็นการสรรเสริญพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันและพระสาวกองค์สำคัญ ๆ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะและพระอานนท์ เป็นต้น

เริ่มกล่าวถึง “ราชธรรม” ของผู้ที่จะดำรงเศวตฉัตรเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองเหล่าอาณาประชาราษฎร์ว่า

ในกาลบัดนี้จะกล่าวคุณวิเศษอัศจรรย์ต่าง ๆ แห่งพระมหากระษัตราธิราชเจ้าให้แจ้งปรากฏ อันว่าสมเด็จพระมหากระษัตริย์เจ้า ผู้ผ่านพิภพไอศวรรย์ อันเป็นเอกเศวตฉัตรก็ดี ได้ผ่านพิภพไอศวรรย์ในทวีปหนึ่งก็ดี ได้แก้วเจ็ดประการเป็นอาทิ คือจักรรัตนเป็นบรมจักรพรรดิราช กอปรด้วยไอศวรรย์อันมเหาฬาร ทรงฤทธิเดโชภาพปรากฏยิ่งยวดแล้วก็ดี ควรมีพระราชรำพึงอรรถอันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันทั้งสามประการให้แจ้งด้วยพระปัญญา อันว่าสมเด็จพระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์ใดได้ตกแต่งกิจการอันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทั้งสามประการคือ กิจจานุกิจ อันแล้วไปแล้วก็ดี กิจจานุกิจอันจะเกิดใน พ หน้าก็ดี กิจจานุกิจอันเกิดในปัจจุบันก็ดี แลได้ดำรัสทราบในพระราชหฤทัยด้วยพระปัญญา แลแต่งแปลงให้เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน ในอิหโลก แลประโยชน์ในพุทธศาสนา สมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎรนิกรไซร้ พระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์นั้นก็ประเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าพระมหากระษัตริย์ทั้งปวงแลฦๅชาปรากฏไปเท่ากัลปาพสาน อันจะมีพระมหากระษัตริย์พระองค์ใด ๆ จะเสมอสมานหาบ่มิได้เลย

การอธิบายข้อธรรมต่าง ๆ มีการอ้างเรื่องราวจากชาดก พระสูตร และนิทานในอดีตประกอบ โดยเฉพาะเรื่องมโหสถชาดกซึ่งพระโพธิสัตว์สามารถเอาชนะราชศัตรูที่มีกำลังพลเหนือกว่าด้วยปัญญาอันสุขุม มีการยกมาเป็นอุทาหรณ์หลายตอน ทั้งนี้เพื่อเน้นว่า พระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงกอปรด้วยพระปัญญาและมีราชปุโรหิตที่ประกอบด้วยปัญญานั้น จะนำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ราษฎรผู้เป็นข้าขอบขัณฑสีมาและทำให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมเดชานุภาพยิ่งขึ้น เนื้อความใน “ราชธรรม” หลายตอนเรียบเรียงด้วยภาษาที่สละสลวยคมคาย เป็นคำสอนที่อาจนำไปปรับใช้ได้ทุกยุคสมัย เช่น

แม้นว่ากล่าวมาทั้งนี้ก็ดี อันว่าการควรจะสำเร็จด้วยผู้ใหญ่ แลจะเอาผู้น้อยไปสำเร็จ การนั้นก็มิสำเร็จ อนึ่ง การอันจะสำเร็จด้วยผู้น้อย แลเอาผู้ใหญ่ไปให้สำเร็จ การนั้นก็บ่มิสำเร็จดุจเดียว

อุปรมาดุจการอันจะสำเร็จด้วยเข็ม แลจะเอาเหล็กหมาดไปสำเร็จการนั้นก็บ่มิได้ อนึ่ง การซึ่งจะสำเร็จด้วยเหล็กหมาด แลจะเอาเข็มไปสำเร็จการนั้นก็บ่มได้ อนึ่ง การอันจะสำเร็จด้วยเหล็กหมาด แลจะเอาจอบเสียม พร้า ขวาน ตาว โตมรไปสำเร็จการนั้นก็บ่มิสำเร็จ

และ

อนึ่ง พระมหากระษัตริย์เจ้าจงมีพระราชหฤทัยอันกอปรด้วยขันติธรรม คือการอันมีพระราชประสงค์แลยังไป่ได้มาเถิงไซร้ ก็ควรให้อดอยู่ก่อน อนึ่ง การอันแล้วไปก็ควรให้อด อนึ่ง การอันผิดเทศกาลก็ควรให้อด อนึ่ง เมื่อน้อยกำลังกว่าท่านก็ควรให้อด อนึ่ง จะมีผู้รู้คุยรหัสก็ควรให้อด อนึ่ง จะเสียศีลสุจริตก็ควรให้อด อนึ่ง การอันจะมิได้สำเร็จก็ควรให้อด อนึ่ง จะเสียประโยชน์ก็ควรให้อด พระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์ใดกอปรด้วยพระราชหฤทัยโกรธจริต แลกทำกิจการด้วยโกรธไซร้ ก็เสียประโยชน์เป็นอันมากแล

ตอนที่ ๒ สำเนาเอกสารต้นฉบับเมื่อจบตอนที่ ๑ แล้ว มี ข้อความว่า “จบราชธรรมบูรณแล” และขึ้นต้นข้อความใหม่เป็นเรื่องราวว่าด้วย “เนาวพยัตติโดยสังเขป” กล่าวถึงลักษณะของพยัตติ ๙ ประการ โดยย่อ จบลงด้วยข้อความว่า “เด็จก็จบบริบูรณดังนี้” (“เด็จ” มีความหมายว่า “ตัด” หรือ “ย่อ”) จากนั้นกลับหน้าสมุดขึ้นเนื้อความใหม่ เป็นเรื่อง“เนาวพยัตติ” โดยละเอียด

เนื่องจากสำเนาเอกสารต้นฉบับมิได้บอกชื่อหัวเรื่องไว้แต่อย่างใด แต่เรื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “ปูมราชธรรม” ในที่นี้ จึงกำหนดชื่อหัวเรื่องเนื้อความตอนที่ ๒ ว่า “ราชพยัตติธรรม”

“พยัตติ” เป็นคำมาจาก “วฺยตฺติ” ในภาษาบาลี แปลว่า ผู้ถึงซึ่งความเป็นผู้แกล้วกล้า (ฉลาด) ผู้มีปรีชา ฉลาดแจ้ง

“เนาวพยัตติ” มีเนื้อหาว่าด้วย ความมีปัญญาฉลาดรู้แจ้ง ๙ ประการที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงตระหนัก เช่น จาเรพยัตติ ได้แก่ ความเป็นพหูสูต (ฟังมาก) พหูทัสสะ (เห็นมาก) พหูสิกขี (ศึกษามาก) และพหูสิปปะ (มีศิลปะมาก) โยคพยัตติ ได้แก่ การตั้งอยู่ในความไม่ประมาท รักษาบ้านเมืองมิให้ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู ฉายาพยัตติ ได้แก่ ความเป็นผู้ทำกิจการทั้งปวงให้สำเร็จ เป็นต้น

เรื่อง “เนาวพยัตติ” น่าจะเป็นหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมและชำระตำรับตำราต่าง ๆ ซึ่งเคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และ “คัมภีร์เนาวพยัตติ” เป็นเรื่องหนึ่งที่ได้รับการชำระคัดลอกในครั้งนั้นด้วย

คัมภีร์เนาวพยัตติฉบับที่มีการชำระคัดลอกในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น ยังมีต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่ส่วนภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติ ได้แก่ เอกสารเลขที่ ๑๘๔ หมวดตำราหมู่ยุทธศาสตร์ (พิไชยสงคราม) หน้าต้นของเอกสารโบราณฉบับดังกล่าวระบุว่า เขียนขึ้นเมื่อวันจันทร์เดือน ๗ ขึ้น ๙ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขาลจัตวาศก (พุทธศักราช ๒๓๒๕) นายบุญคงอาลักษณเป็นผู้ชุบ ขุนสาระประเสริฐกับนายชำนาญอักษรเป็นผู้ทาน

เนื้อความตอนต้นในคัมภีร์เนาวพยัตติฉบับที่มีการชำระคัดลอกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่างไปจากที่ปรากฏในเรื่องปูมราชธรรม คือประกอบด้วยบทนมัสการ พระพุทธคุณ มีข้อความภาษาบาลี เขียนด้วยตัวอักษรขอม แล้วแปลความเป็นภาษาไทย ดังตัวอย่าง

สิรสา โดยเสียรเกล้า อหํ อันว่าข้าพระพุทธเจ้า ทสฺสิสฺสามิ จักขอสำแดงบัดนี้ นวพฺยตฺติปกรณํ ซึ่งกำภีเนาวพยัตินี้โดยบงงควร สํสาเร จรนฺติภเว พหูสตฺเต ทุกฺขภเย กุสลากุสล กมฺเมน ยถา ยถา ปวตฺตนฺติ ฯ พหูสตฺเต อันว่าสัตวโลกยท้งงหลายเปนอันมากนั้น ยถา ยถา เมาะ เยเยสตฺเต สัตวหมู่ใดๆ ปวตฺตนฺติ ก็ประพฤฒิเปนไป สํสาเร ในสงสารวัต ภเว เมาะ ติภเว ในไตรยภพท้งงสาม ทุกฺขภเย อันสัตวท้งงหลายพึงกลัวแลอดยากแท้ เตเตสตฺตา อันว่าหมู่สัตวท้งงหลายนั้นๆ จรนฺติ ก็เที่ยวไป สํสาเร ในสังสารวัต...

ต่อจากบทนมัสการพระพุทธคุณเป็นการอธิบายเรื่องพยัตติทั้ง ๙ ประการ เนื้อความในฉบับชำระคัดลอกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับฉบับสำเนาเอกสารเรื่องปูมราชธรรม มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น ตอนที่ว่าด้วยโยคยาตรา ความใน ปูมราชธรรม ว่า

อันว่าโยคยาตรานั้น ถ้าแลพระมหากระษัตริย์พระองค์ใดจะยาตรายกทัพศึกไปไซร้ ให้ชุมนุมโหราจารย์แลราชครูแลสมณพราหมณ์ แล้วให้หาฤกษ์อันดี แลให้รู้จักยายีนาคร แล้วให้บูชาพระเจดีย์แลศรีมหาโพธิ แลสมณพราหมณ์ แลกทำพลีกรรมในเมืองแลนอกเมือง เลี้ยงดูทแกล้วทหารไพร่พลทั้งปวง แลให้แผ้วถนนหนทาง ประดับด้วยราชวัติ ฉัตรธง ครั้นแลได้ฤกษ์ไซร้ ให้ประคมฆ้องกลองเป็นสัญญาสำคัญไว้แล้ว เสด็จด้วยยาน ๔ ประการคือ ช้าง ม้า รถ แลอวนเป็นพาหนะ แลกางเศวตฉัตรขึ้นไว้ แล้วจึงบำเรอด้วยฆ้องกลองแตรสังข์ดุริยดนตรี แลฝ่ายทหารทั้งปวงนั้นใส่หมวก แลประดับด้วยหางยูงแลขนนกอันมีพรรณ แลถืออาวุธต่าง ๆ สำหรับณรงค์นั้น...

ความตอนเดียวกันนี้ “เนาวพยัตติ” ฉบับชำระคัดลอกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า

อันว่าโยคยาตรานั้น ถ้าพระมหาสัตรพระองคใด จักเสด็จ์ พยู็หบาตราทัพศึกไปไซ้ ให้ปรชุมนุมโหราพฤทธาจารยบัณทิตยราชครูแลสมณพราหมณแล้วให้หาศุภผลฤกษอันดี แลรู้จักยายีนาคร แล้วให้บูชาพระเจดียศรีมหาโพธิ แลสมณพราหมณ กทำพลีกรรมในเมืองแลนอกเมือง เลี้ยงดูทแกล้วทหารไพร่พลท้งงปวง แลให้แผ้วถางถนนหนทาง ปรดับด้วยฉัตทง ครั้นแลได้ฤกษไซ้ ให้ปรโคมฆ้องกลองเปนสัญาสำคันไว้ แลพระมหากษัตรนั้น พระองค ธรงเครื่องอลังการวิภูษาพัตรพรรณสำรับราชาบริโภก แล้วเสดจ์ด้วยยั่วยาน ๔ ปรการคือ หัษถีอัดสารถาบติ เป็นยานภาหนแล้ว แลมีดวงเสวตรฉัตรยกขึ้นไว้ แล้วจึ่งบำเรอฆ้องกลองแตรสังขดุริยดนตรี แลฝ่ายท้งงปวงปรด้บนิด้วยหมวก เกราะแลนวม หางยูงขนนกอันมีพรรณ ถืออาวุธต่าง ๆ สำรับการณรงคนั้น...

จะเห็นว่าพลความบางตอนในฉบับชำระคัดลอกในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แตกต่างไปจากที่ปรากฏในปูมราชธรรม คือมีการปรับภาษาให้เป็นแบบแผนมากขึ้น โดยที่ความหมายไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ความแตกต่างในลักษณะดังกล่าวมีอยู่ตลอดในเรื่องเนาวพยัตติ และน่าจะเป็นลักษณะที่ปรากฏในหนังสือสมัยอยุธยาเรื่องอื่น ๆ ที่มีการชำระในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชด้วย

อนึ่ง เนาวพยัตติฉบับที่ชำระคัดลอกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ความในตอนจบมีว่า

ดุจทิพโอสถแลเสน่หเล่หกลนั้น แลบุทคลฉลาดแลมีคุณวิชาการดั่งนี้ อาจาริยเจ้ากล่าวว่าชื่อสันนิกพยัติแลฯ

อันว่ากล่าวมาทั้งนี้ คือพยัติทั้ง ๙ ประการ อันเกิดในขันธสันดาลแห่งสัตวโลกยทั้งปวงนั้น แลสัตวโลกยทั้งปวงนั้น ย่อมได้ปรโยชนซึ่งจเลี้ยงชีวิตรแห่งอาดมเหดพยัติทั้ง ๙ ปรการนี้ ย่อมตกแต่งบุทคลทั้งปวง ควรที่จพิจารณาให้แจ้งในอรรถาพิปรายทั้ง ๙ ประการนี้แล ฯ

ส่วนเนื้อความตอนจบในปูมราชธรรมมีลักษณะต่างออกไป คือ

ดุจดังทิพยโอสถแลมีเสนหเล่ห์กลนั้น บุคคลอันฉลาดแลมีคุณวิชญาการดังนี้ คือพยัตติ ๙ ประการ อันเกิดในขันธสันดานแห่งสัตว์โลกทั้งปวงนั้น

แลสัตว์ทั้งปวงนั้นย่อมได้แสวงหาผลประโยชน์ซึ่งจะเลี้ยงชีวิตแห่งอาตมนั้น ก็เพราะเหตุพยัตติทั้ง ๙ ประการนี้ ถ้าแลพยัตติ ๙ ประการนี้ ประการใดประการหนึ่งแลมิได้มีแก่บุคคลผู้ใดไซร้ บุคคลผู้นั้นเป็นพาลบุคคลเที่ยงแท้ แลบุคคลอันมีพยัตตินั้นจึงว่ามีปัญญา แลปัญญานั้นมีลักษณะ ๓ ประการคือ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เรื่องในอดีตหรือนิทานที่ยกมาเป็นอุทาหรณ์ทั้งตอนที่ว่าด้วย “ราชธรรม” กับ “ราชพยัตติธรรม” มีหลายเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมอญ (เมืองสะเทิม) และพม่า (เมืองพุกาม) เช่นเรื่องพระเจ้าอโนรธามางช่อ (เอกสารต้นฉบับใช้ว่า “อโนรถามางช่อ”) ลักษณะดังกล่าวนี้ชวนให้สันนิษฐานว่า เรื่องปูมราชธรรมของไทยอาจมีที่มาจากมอญหรือพม่าก็เป็นได้

ในตอนท้ายของความเรียงเรื่องปูมราชธรรมเมื่อจบเนื้อหาว่าด้วยเนาวพยัตติแล้วมีข้อความว่า “จบเท่านี้แล”

ตอนที่ ๓ ความในตอนปลายของเรื่องปูมราชธรรม แต่งเป็น “ร่าย” ตอนกลางแทรกโคลงสี่สุภาพ ๒ บท เนื้อหาโดยตลอดว่าด้วยการที่พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกพิจารณาคนสำหรับราชการตำแหน่งผู้รับผิดชอบในราชการสำคัญนั้น หากทรงเลือกสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถให้เหมาะสมกับหน้าที่ย่อมจะก่อให้เกิดความสำเร็จแก่ราชการ เช่น “ขุนคลัง” อันเป็นตำแหน่งหนึ่งในจตุสดมภ์ และถือเป็นตำแหน่งสำคัญของแผ่นดิน เนื้อความในคำประพันธ์ตอนหนึ่งกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้ว่า

ขุนใดปองแต่งค้า ขุนใดหน้าหลังตริ ขุนใดริรู้การ ขุนชำนาญรู้จ่าย ขุนใดบ่าย บ่ ให้เปลือง ขุนใด บ่ ให้เคืองใจราษฎร์ ขุนใด บ่ ให้ขาดสินรอง ขุนใด บ่ ให้หมองใจไท้ ขุนใดให้คนพัก ขุนใดชักพานิชประเทศ ขุนใดรู้เลศโวหาร ขุนใดชำนาญดั่งนี้ สิบสี่สิ่งบอกชี้ ชอบตั้งขุนคลัง

เนื่องจากเอกสารต้นฉบับมิได้บอกชื่อเรื่องคำประพันธ์ตอนนี้ไว้ ในที่นี้จึงได้ประมวลเนื้อความโดยรวมและใช้ชื่อเรื่องว่า “ราชวิจารธรรม” ซึ่งมีความหมายว่า ธรรมคือความใคร่ครวญของพระราชา อันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปูมราชธรรม

ร่ายบทแรกกล่าวถึงที่มาของเรื่องว่า “พระมหาจักรพรรดิกล่าวอรรถในกามนทกี” แปลความได้ว่า “พระมหาจักรพรรดิ ทรงกล่าวข้อความนี้ไว้ตามที่มีในคัมภีร์ของกามนทกี” ศาสตราจารย์ ดร.กุสุมา รักษมณี ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีสันสกฤตอธิบายว่า “กามันทกี(กามนทกี) เป็นปราชญ์อินเดียโบราณผู้หนึ่ง ได้แต่งคัมภีร์ภาษาสันสกฤตเรื่อง นีติสาระ อันมีเนื้อหาว่าด้วยหลักการปกครองบ้านเมือง แต่ยังไม่เป็นที่ยุติว่า ปราชญ์กามันทกีแต่งคัมภีร์นีติสาระขึ้นเมื่อใด” และในที่นี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่า “พระมหาจักรพรรดิ” ผู้นำคัมภีร์นีติสาระของกามันทกี มาแต่งเป็นร่ายนั้นหมายถึงผู้ใด เพราะคำว่า “พระมหาจักรพรรดิ” อาจใช้เป็นสามานยนามหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่งก็ย่อมได้

ความในร่ายบทต้น อ้างถึงเรื่องราวจากรามายณะและมหาภารตะมาเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะเรื่องมหาภารตะนั้น กล่าวถึงตอนที่พระกฤษณะร่วมสับพี่น้องปาณฑพทำสงครามกับฝ่ายเการพซึ่งมีทุรโยธน์เป็นผู้นำ

เนื่องจากรามายณะและมหาภารตะเป็นเรื่องราวทางคติพราหมณ์ประกอบกับคัมภีร์นีติสาระของกามันทกีเป็นคัมภีร์พราหมณ์ ดังนั้นจึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ผู้ที่นำเอาเรื่องของกามันทกีมาแปลเป็นภาษาไทยในชั้นต้น น่าจะเป็นพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา จึงมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดีและต่อมา “พระมหาจักรพรรดิ” จึงนำมาแต่งเป็น “ร่าย” ดังที่ปรากฏใน “ปูมราชธรรม” เช่น

กลหนึ่งไซร้เธอกล่าว ท้าวระบิลในบรรณ์ ท่ ทรรพ์ด้วยท้าวทุรโยธน์ ฝ่ายหนึ่งโกรธกำหนัด ฝ่ายหนึ่งสัตย์เป็นประธาน พลทวยทหารสองข้าง พลช้างม้าพลรถ พลแสนสาหสมหึมา พระมหากฤษณราชเป็นเจ้า เข้าเป็นครูอุปเทศ ลวงเลศกันไปมา ส่วนพระราชาทุรโยธน์ แพ้ด้วยโกรธใจพาล

อนึ่ง ความในร่ายตอนที่ว่าด้วยวิธีเลือก “ขุนพล” ของพระมหากษัตริย์นั้น กล่าวถึงกลศึก ๒๑ ประการว่า กลศึกแต่ละอย่างนั้นทำอย่างไร เนื้อความในร่ายตอนนี้ตรงกับตำราพิไชยสงคราม “พระบวรพิไชยสงคราม ฉบับใหญ่” ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ ทรงชำระในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๘ และที่สำคัญคือตำราพิไชยสงครามฉบับนี้ กล่าวถึงพระมหาจักรพรรดิ และคัมภีร์กามันทกี ไว้ในโคลงบทหนึ่งด้วยดังนี้

สมเด็จจักรพรรดิรู้ คัมภีร์
ชื่อนามกามนทภี กล่าวแก้
พิไชยสงครามศรี สูรราช
ยี่สิบเอ็ดกลแล้ เลศให้เห็นกล ฯ

กลศึกทั้ง ๒๑ ประการใน “พระบวรพิไชยสงคราม ฉบับใหญ่” มีเนื้อความตรงกับปูมราชธรรม ตอนที่แต่งเป็นร่าย เช่น

กลนี้ชื่อพังภูผา แม้ศึกมาปะทะ อย่าเพ่อระเริงแรง สำแดงดุจเหนน้อย ชักคล้อยแฝงป่าเข้า ศึกเหนเราดูถูก ผูกช้างม้าออกไล่ ยอพลใหญ่กระทบ ผิรบเข้าบ่ไหว ให้ช้างม้าโรมรุม กลุ้มกันหักอย่าคลา อย่าช้าเร่งรุมตี ศึกแล่นหนีตามต่อย ให้ยับย่อยพรายพรัด ตัดเอาหัวโห่เหล้น เต้นเริงรำสำแดงหาร ให้ศึกคร้านคร้ามกลัว ระรั้วระเสริดสรัง กลศึกอันนี้ชื่อว่าพังภูผา ฯ

(ดู “ราชวิจารธรรม” เปรียบเทียบ)

“พระบวรพิไชยสงคราม ฉบับใหญ่” นั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ ทรงชำระโดยวิธีนำตำราพิไชยสงครามซึ่งเป็น “พระสมุดพระราชตำหรับ” จำนวน ๑๔ ฉบับ มาสอบทานเรียบเรียงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังปรากฏในบานแพนกว่า

ครั้น ณ วัน ค่ำ ปีระกาสัพศก พร้อมกัน ณ พระธินั่งพุทธาสวรรค์ หลวงลิขิตปรีชาเจ้ากรมอาลักษณ เชิญพระตำหรับพิไชยสงครามข้างที่ออกมา เปนพระสมุดพระราชตำหรับ ๑๔ เล่ม ให้ลงมือจับชำระสอบสวนกัน ที่ฟั่นเฟือน วิปลาดซ้ำกันก็วางกาตกแต้มให้ถูกถ้วน แล้วขึ้นกราบทูลพระกรรุณา

ความใน “พระบวรพิไชยสงคราม ฉบับใหญ่” ที่ตรงกับ “ราชวิจารธรรม” มีเพียงส่วนที่กล่าวถึงกลศึก ๒๑ ประการเท่านั้น อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อทรงชำระตำราพิไชยสงครามในปีพุทธศักราช ๒๓๖๘ นั้น ได้คัดลอกข้อความจาก “ร่าย” ในปูมราชธรรมไปเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรบ ส่วนตอนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการศึกสงครามคงจะมีการตัดออกไป

อนึ่ง ในตำราพิไชยสงคราม ฉบับที่หมอบรัดเลย์ จัดพิมพ์จำหน่าย กล่าวถึงลักษณะของเสวกามาตย์ที่พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้เป็น ขุนเวียง ขุนวัง ขุนคลังและขุนนา ทั้ง ๔ ตำแหน่งนี้มีเนื้อความตรงกับราชวิจารธรรม เช่น

ขุนใดบ่เคืองใจราษฎร์ ขุนใดบ่ให้บาดใจคน ขุนใดทำวลใจไพร่ ขุนใดใฝ่เข้าเต็มฉาง ขุนบ่รู้จักบางจักบึง ขุนรู้คำนึงเอาชอบ ขุนรู้รอบคดีควร ขุนจะสวนความโลภ ขุนรู้โอบเอาใจ ขุนแผ่ไพร่เปนทาง ขุนบ่ปลงวางล่มดอน ขุนบ่หย่อนให้ผิด ขุนรู้คิดกำลังพล ขุนรู้ปรนผ่อนหา สิบสี่ตราแต่งไว้ ขุนดั่งนี้พึงให้ แต่งตั้งขุนนา ฯ

(ดู “ราชวิจารธรรม” เปรียบเทียบ)

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ราชวิจารธรรมกล่าวถึงคุณลักษณะของสตรีที่จะดำรงตำแหน่งพระมเหสีของพระมหากษัตริย์ว่า ควรประกอบด้วยคุณสมบัติและหน้าที่อย่างไรบ้าง ซึ่งประเด็นดังกล่าวไม่พบในเอกสารอื่น

ตอนกลางของราชวิจารธรรมมีโคลงสี่สุภาพแทรกอยู่ ๒ บท ดังนี้

ผิวเป็นท้าวครอบ โลกัตย์
ควรพินิจจัยสัตว์ หยั่งยั้ง
ตรัสตรองตริตามอรรถ พระกล่าว
กลางดั่งนี้ชอบตั้ง แต่งไว้โดยกรม ฯ
ผิวเป็นท้าวครอบ โลกัตย์
แม้นสิ่งใดดียำ แต่งตั้ง
สิ่งร้ายเร่งจองจำ นงโทษ
เอามโนในยั้ง หยั่งด้วยปรีชา ฯ

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เนื้อหาในเอกสารเรื่อง “ปูมราชธรรม” กล่าวถึงผู้แต่งไว้เฉพาะในส่วนที่เป็นคำประพันธ์ ทั้งยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า “พระมหาจักรพรรดิ” นั้นหมายถึงผู้ใด ส่วนในตอนต้นและตอนกลางซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาษาและถ้อยคำสำนวนต่างๆ แล้วจะเห็นว่า ผู้แต่งทั้ง ๒ ตอนนั้นเป็นบุคคลเดียวกัน แต่เนื่องจากไม่ปรากฏข้อความในตอนใดที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้แต่งและสมัยที่แต่ง ในที่นี้จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เรื่องนี้แต่งขึ้นเมื่อไรและใครเป็นผู้แต่ง

อาจกล่าวได้ว่าเรื่อง “ปูมราชธรรม” เป็นโอวาทที่แต่งขึ้น เพื่อถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์ ผู้แต่งเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นบุคคลสำคัญยิ่งผู้หนึ่ง อาจเป็นพระสงฆ์หรือพราหมณ์ซึ่งดำรงสถานะ “ราชครู” ที่พระมหากษัตริย์ทรงเคารพนับถือ

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในส่วนที่เป็นคำประพันธ์ทั้งหมดเมื่อตรวจชำระและคัดลอกเพื่อจัดพิมพ์ในครั้งนี้ประสบปัญหาหลายประการ เนื่องจากสำเนาเอกสารเขียนด้วยลายมือหวัด ความบางตอนเป็นสำนวนเก่า คำเก่า ทั้งอักขรวิธีเป็นอย่างโบราณ มักไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ จำนวนคำขาดหายไปไม่ครบตามบังคับฉันทลักษณ์ บางแห่งสัมผัสขาด ทำให้พิจารณาได้ยากยิ่ง ประกอบกับเอกสารเรื่องนี้มีเพียงฉบับเดียวจึงไม่สามารถสอบทานในส่วนที่มีปัญหาได้

อนึ่ง ในการจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “ปูมราชธรรม” ครั้งนี้ มุ่งเนื้อหาสาระเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงได้ปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน และทำเชิงอรรถอธิบายความหมายของคำบางคำไว้ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้โดยตลอด ส่วนผู้ที่ประสงค์จะศึกษารูปแบบตัวอักษรและอักขรวิธีเดิมนั้น ได้จัดพิมพ์สำเนาต้นฉบับเอกสารเรื่อง “ปูมราชธรรม” ทั้งหมดไว้ในตอนท้ายของหนังสือนี้แล้ว



[๑] นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ เรียบเรียง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ