ฝรั่งเศสกับความสนใจเอกสารไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

โดยปกติแล้ว นักประวัติศาสตร์ นักเรียนประวัติศาสตร์และผู้ศึกษาทั่วไปจะได้รับประโยชน์จากข้อมูลเอกสารประวัติศาสตร์ที่เรียบเรียงขึ้นโดยชาวต่างประเทศ ซึ่งอาจใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของการบันทึกประวัติศาสตร์ไทยตามแบบจารีต เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่าเอกสารที่เรียบเรียงขึ้นด้วยมุมมองของชาวตะวันตกจะมีขนบการบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ ได้ละเอียดมากกว่าการจดบันทึกของชาวสยามและมิได้มุ่งเน้นที่จะบันทึกเรื่องราวของกลุ่มบุคคลชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ประโยชน์ดังกล่าวส่งผลให้เราได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิต การดำรงอยู่ของชนชั้นอื่น ๆ ในสังคมจากเอกสารต่างชาติ ซึ่งจะบันทึกสิ่งที่พบเห็นและการให้ความสนใจต่อวัฒนธรรมที่ “แปลกใหม่”

ในบทความนี้ผู้เขียนจะนำเสนอความสนใจบางประการของชาวฝรั่งเศสในสมัยอยุธยาโดยเฉพาะเรื่องภาษาไทยและเอกสารภาษาไทย ซึ่งจะเลือกศึกษาความสนใจของท่านสังฆราชลาโน, นิโคลาส์ แชร์แวส และลาลูแบร์ ทั้งนี้ผลสรุปที่จะปรากฏต่อไปจะนำไปสู่การคลี่คลายของข้อสมมติฐานที่ว่าเหตุใดที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสจึงเป็นแหล่งข้อมูลเอกสารไทยที่สำคัญแห่งหนึ่งและเก็บรักษาเอกสารภาษาไทยในสมัยศตวรรษที่ ๑๗ ไว้จำนวนหนึ่งด้วย

๑. สังฆราชแห่งเมเตโลโปลิส หลุยส์ ลาโน (Louis LANEAU, L’Evêque de Metellopolis)

สังฆราชแห่งเมเตโลโปลิส หลุยส์ ลาโน (Louis LANEAU, L’Evêque de Metellopolis) นับได้ว่าเป็นมิชชันนารีฝรั่งเศสรุ่นบุกเบิกงานเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสยาม ท่านลาโนเกิดเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๑๘๑/ค.ศ.๑๖๓๘ บวชเป็นพระในนิกายเจซูอิต และเดินทางเข้ามาถึงสยามเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๒๐๗ ขณะมีอายุ ๒๖ ปี เมื่อตั้งถิ่นฐานอยู่ในสยามแล้วได้ทำงานรับใช้พระศาสนาอย่างเต็มความสามารถ พร้อมกับได้ศึกษาภาษาสยามทั้งการพูด-เขียนในระดับสูง จนสามารถใช้ทักษะทั้ง ๒ ได้อย่างคล่องแคล่ว ท่านลาโนได้รับการอภิเษกเป็นสังฆราชเมื่อ พ.ศ.๒๒๒๒ แทนตำแหน่งเดิมที่ว่างลง[๑]

สังฆราชท่านนี้นับได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีความสนใจในภาษาไทยเป็นพิเศษ อาเดรียง โลเนย์ (Adrien LAUNAY) ระบุว่าท่านเป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและศาสนาของชาวสยามอย่างลึกซึ้งโดยศึกษาจากพระสงฆ์ที่มีความเชี่ยวชาญที่สุดของเมืองอยุธยา พระสังฆราชลาโนได้แต่งตำราไวยากรณ์และพจนานุกรมสยาม-ละตินขึ้นอย่างละหนึ่งเล่ม”[๒] ซึ่งควรนับได้ว่าเป็นหนังสือไวยากรณ์ภาษาไทยเล่มแรกที่เขียนขึ้นโดยชาวต่างประเทศ[๓] นอกเหนือจากนี้เมื่อความรู้ภาษาไทยของท่านแตกฉานแล้ว ได้เรียบเรียงหนังสือขึ้นอีกถึง ๒๖ เล่ม ส่วนใหญ่เป็นคำสอนคริสตัง หนังสือสวดภาวนา เช่น ปุจฉาวิสัชนาว่าด้วยพระคริสต์ธรรมและพุทธศาสนา, อรรถกถาอธิบายศีล, ประวัตินักบุญ เป็นต้น เอกสารเหล่านี้เขียนด้วยภาษาไทยแต่ส่วนใหญ่ได้สูญหายไปหมดแล้วตั้งแต่คราวเสียกรุงศรีอยุธยา[๔]

หลักฐานอีกประการหนึ่งที่แสดงว่าท่านลาโนให้ความสนใจต่อเอกสารและภาษาไทยคือ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯ ให้ท่านสังฆราชลอมแบร์ เดอ ลา มอตต์ เข้าเฝ้าฯกราบบังคมทูลเรื่องราวทางคริสต์ศาสนานั้น “พระสังฆราชได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดภาพเป็นเรื่องราวมหัศจรรย์ของชีวิตและการถูกทรมานของพระเยซูผู้เป็นเจ้า ภาพอัครสาวกทั้งสิบสอง ผู้เขียนคัมภีร์ ผู้ก่อตั้งคณะมิสซังต่างประเทศและนักบุญที่มีชื่อเสียงของพระศาสนา บาทหลวงลาโนได้แทรกกระดาษเขียนคำอธิบายแต่ละภาพเป็นภาษาสยามไว้ในสมุดภาพนั้นด้วย”[๕]

สำหรับหนังสือของท่านเล่มหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพจนานุกรมสยาม-ละตินคือ “ปุจฉาวิสัชนาว่าด้วยพระคริสต์ธรรมและพุทธศาสนา” ซึ่งเสรี พงศ์พิศให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “ท่านเขียนหนังสือเล่มนี้ตามแบบอย่างของนักปรัชญาสมัยกลาง ที่มักยกเอาความคิดของคู่ต่อสู้ต่างสำนัก หาเหตุผลหักล้างและสรุปความถูกต้องหรือความเหนือกว่าของตน วิธีนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายอีกครั้งหนึ่งเมื่อเกิดนิกายโปรแตสแตนที่ขึ้นมาในกลางศตวรรษที่ ๑๖ เป็นลักษณะการโต้วาทีทางศาสนา ท่านลาโนเขียนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการสอนหลักธรรมทางศาสนาคริสต์ เป็นคู่มือสำหรับบาทหลวงและครูสอน”[๖] เอกสารต้นฉบับยังคงจัดเก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส มีลักษณะเป็นใบลาน ๑ ผูก เลขรหัส ๒๖๑ เป็นเอกสารฉบับที่ ๑๓ ในบรรณานุกรมระบุชื่อเป็นภาษาไทยว่า “เถียงสาษมา” ซึ่งก็คือ “เถียงศาสนา”[๗] ผู้เขียนสันนิษฐานว่าลักษณะการเขียนหนังสือในทำนองการเถียงธรรมเช่นนี้ น่าจะกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศของการถกเถียงทางวิชาการที่สำคัญในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิตและในราชสำนักสยามและอาจเป็นที่มาของการบันทึกข้อปุจฉาวิสัชนาในประเพณีมีพระราชปุจฉาซึ่งเอกสารที่พบเก่าที่สุดมีอายุอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วยก็เป็นได้[๘]

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นนี้สะท้อนความตั้งใจและความสนใจของบรรดามิชชันนารีรุ่นแรกที่เข้ามายังสยามที่จะต้องเรียนรู้ผู้อื่นและปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นให้ได้ ก่อนที่จะเผยแผ่ศาสนาตามวัตถุประสงค์เดิมที่ได้ตั้งไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาภาษาอันจะเป็นรากฐานที่สำคัญของการประกอบกิจการอื่น ๆ ในต่างแดน

๒. นิโคลาส์ แชร์แวส (Nicolas GERVAISE)

นิโคลาส์ แชร์แวส (Nicolas GERVAISE) เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๕/ค.ศ.๑๖๖๒ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรชายของนายแพทย์ประจำตัวนายฟูเกต์ (Fouquet) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้เดินทางเข้ามายังสยามเมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๔ พร้อมกับคณะของมิชชันนารีคณะมิซซังต่างประเทศ ขณะมีอายุ ๑๙ ปี และพำนักอยู่ในสยามถึง พ.ศ.๒๒๒๘[๙] เมื่อกลับไปยังประเทศฝรั่งเศส แล้วได้เรียบเรียงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam[๑๐] พรรณนารายละเอียดต่างๆทั้งด้านการเมือง การปกครอง การศาสนา วิถีชีวิตของคนอยุธยาตามที่พบเห็น ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๑

หนังสือเล่มนี้พรรณนารายละเอียดปลีกย่อยและให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่สำคัญมากเล่มหนึ่งซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทยและผู้ที่สนใจรู้จักกันดี เช่นเดียวกับผลงานของลาลูแบร์ นิโคลาส์ แชร์แวส ได้เน้นรายละเอียดของภาคที่ว่าด้วยพุทธศาสนาในสยามไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ผู้เขียนได้ศึกษาหนังสือเล่มนี้และพบว่ามีความบางตอนที่บ่งบอกถึงความสนใจของแชร์แวสต่อเอกสารไทยด้วย

ในส่วนที่ ๓ ของหนังสือซึ่งเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาทั้งหมด ได้แบ่งออกเป็นอีก ๑๓ บทย่อยโดยในแต่ละหัวข้อจะเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น บทที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องศรัทธาของชาวสยาม บทที่ ๒ ว่าด้วยพิธีกรรมทางศาสนาของชาวสยาม ในบทที่ ๘ เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยภูมิวิทยาของพระภิกษุและข้อคิดเกี่ยวกับสวรรค์และพิภพ ในบทนี้เองที่ผู้เขียนพบว่ามีเนื้อความที่น่าสนใจคือ แชร์แวสระบุว่าเหล่าพระสงฆ์จะให้ความเคารพนับถือครูอาจารย์อย่างมั่นคงและศรัทธาอย่างยิ่งต่อตำราที่โบราณาจารย์สั่งสอนโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดใดทั้งสิ้น หนังสือตำราที่แชร์แวสสนใจนั้นคงเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ความตอนหนึ่งระบุว่า “ที่ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นคำแปลที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาของหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งชาวสยามนิยมเลื่อมใสกันมาก ข้าพเจ้าได้ค้นพบมาด้วยความยากลำบากจากหอหนังสือของพระสังฆราชองค์หนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากและได้ขอให้พวกอาลักษณ์คัดลอกข้อความและภาพให้”[๑๑]

เนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าวเกี่ยวกับภพภูมิสวรรค์ชั้นต่างๆ โดยแชร์แวสระบุว่า “เขาได้กำหนดไว้ว่าสวรรค์นั้นมีสิบเก้าชั้นเรียงซ้อนกันอยู่โดยมีขนาดใหญ่ เล็กต่างกัน”[๑๒] จากนั้นเป็นการพรรณนาสวรรค์แต่ละชั้น แล้วเริ่มเรื่องพระอาทิตย์พระจันทร์และทวีปทั้ง ๔ ตามความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ เช่นว่า “มนุษย์และสัตว์ในทวีปทั้งสี่นี้มีรูปหน้าไม่เหมือนกันพวกที่อยู่ทางด้านอุดรและทิศทักษิณมีใบหน้าเป็นรูปกลม พวกที่อยู่ทางทิศบูรพามีใบหน้าค่อนไปทางรูปไข่ พวกที่อยู่ทางทิศประจิมมีใบหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม...”[๑๓] หลังจากการพรรณนาว่าด้วยเรื่องคนก็เป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ต่างๆ เช่น “ทางด้านทักษิณใกล้เชิงเขาพระสุเมรุมีแม่น้ำใหญ่ น้ำไม่ปะปนระคนกับน้ำในมหาสมุทร ไหลไกลออกไปจากต้นน้ำ แยกเป็นทะเลสาบใหญ่สองแห่ง...นาน ๆ ครั้งก็จะท่วมท้นแยกเป็นลำน้ำสี่สายไหลไปบำรุงทวีปทั้งสี่... ระหว่างลำน้ำสี่สายนี้มีภูเขาสี่ลูกคั่น ลูกหนึ่งเป็นทองคำ ลูกหนึ่งเป็นเงินและอีกสองลูกนั้นเป็นเพชรกับแก้วผลึก...”[๑๔] แชร์แวสคงไม่สามารถทราบเนื้อความทั้งหมดของเอกสารแต่คงจะอาศัยการศึกษาเนื้อเรื่องทั้งหมดจากบุคคลอื่นและจากภาพประกอบซึ่งจะช่วยให้เข้าใจเรื่องได้ง่ายขึ้น

ผู้เขียนสันนิษฐานว่าหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาที่มีเนื้อความและมีภาพประกอบนี้น่าจะเป็นหนังสือเรื่อง “ไตรภูมิ” ซึ่งอาจเป็นหนังสือไตรภูมิสมัยอยุธยาที่ยังคงเหลืออยู่ก็เป็นได้ หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของ “มาลัยสูตร” พระสูตรที่ว่าด้วยการเดินทางไปโปรดสัตว์ในสวรรค์และนรกภูมิของพระมาลัยซึ่งนิยมแพร่หลายมาแต่สมัยอยุธยาแล้ว อย่างไรก็ดีมีเอกสารสมุดไทยขาวเล่มหนึ่งจำนวน ๔๒ พับได้รับการจัดเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส เช่นกันชื่อ พระมาลัย รหัสเอกสาร ๓๑๖ ได้รับการจัดเก็บในแฟ้มสยาม มีลักษณะอักษรไทยย่อแบบอยุธยาตอนปลาย เนื้อความว่าด้วยภพภูมิต่างๆ ในโลกสัณฐาน และพระประวัติของพระอดีตพุทธเจ้า จึงทำให้ชวนสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเล่มเดียวกันกับที่นิโคลาส์ แชร์แวสระบุไว้ในหนังสือเล่มนี้

ข้อสังเกตดังกล่าวจะต้องได้รับการตรวจสอบทางอักขรวิทยา (Palaeography) เนื้อความ (Context) และข้อมูลจากแหล่งเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง กระนั้นตัวอย่างดังกล่าวก็แสดงให้เห็นมุมมองเกี่ยวกับความสนใจของชาวฝรั่งเศสที่มีต่อลักษณะของเอกสารไทยได้เป็นอย่างดีด้วย

๓. ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de la Loubère)

ชื่อของลาลูแบร์นั้นเป็นที่รู้จักกันดีในบรรดาผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์อยุธยาซึ่งต้องการทราบรายละเอียดต่าง ๆ ของราชอาณาจักรอยุธยา ลาลูแบร์เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๑๘๕/ค.ศ.๑๖๔๒ ที่เมืองตูลูส (Toulouse) ประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาอย่างดีจากปารีสและได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ให้เป็นเอกอัครราชทูตมายังกรุงสยามเพื่อเจรจาความทางด้านการค้าที่ยังไม่เรียบร้อยนับแต่ที่เชอวาลิเยร์ เดอ โชมอง เดินทางกลับ ลาลูแบร์เดินทางเข้ามาถึงสยามในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๒๓๐ และพำนักอยู่ในสยามเพียงแค่ ๓ เดือนกว่าเท่านั้น ก็ได้เดินทางออกจากประเทศสยามเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๒๓๑ หลังจากนั้น ๓ ปี ผลงานเรื่อง Du Royaume de Siam ก็ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกที่กรุงอัมสเตอร์ดัม[๑๕]

ผลงานเรื่องราชอาณาจักรสยามนี้ รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับชาวสยามไว้มากมาย เนื้อเรื่องทั้งหมดแบ่งเป็น ๒ เล่มใหญ่ ในเล่ม ๑ นั้นว่าด้วยประเทศสยาม ขนบธรรมเนียมประเพณี จารีต ลำดับชั้นของบุคคลในสังคม ส่วนในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยความเชื่อทางศาสนา การดาราศาสตร์ การนับปีศักราชของชาวสยาม

ลาลูแบร์จดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้อย่างละเอียดด้วยมุมมองของนักคิดนักเขียนในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ที่มีความสนใจเป็นอย่างยิ่งต่อภาษา (language) ในฐานะที่เป็นผลผลิตที่เป็นรูปธรรมของระบบวัฒนธรรม ดังนั้น เราจึงไม่แปลกใจเลยที่พบว่า ลาลูแบร์ให้ความสำคัญมากกับ “คำ” และ “ความ” ของภาษาไทย ทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียน เช่นเมื่อกล่าวถึงระบบการศึกษาในสยาม ก็ระบุว่า “ชาวสยามเขียนหนังสือสยามและบาลีจากทางซ้ายมือไปทางเดียวกับที่เราเขียนในยุโรป ซึ่งเป็นการแตกต่างกับการเขียนหนังสือของชาวเอเซียส่วนใหญ่ซึ่งเขียนจากขวามาซ้าย...อนึ่งหนังสือสยามยังมีที่แผกกันกับหนังสือจีน กล่าวคือมิได้มีอักษรตัวหนึ่งสำหรับคำๆ หนึ่ง หรือมีความหมายจำกัดความเป็นคำ ๆ ไป เพื่อให้การเขียนนั้นไม่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัย เหมือนในการพูดออกไปด้วยวาจา ภาษาสยามและภาษาบาลีนั้นมีอักษรน้อยตัวเหมือนหนังสือของเรา นำเอามาผสมเป็นพยางค์ และเป็นคำ...”[๑๖]

หรือเมื่อระบุถึงชื่อเฉพาะในภาษาสยามก็จะแสดงความเห็น ไว้ เช่น บรรดาศักดิ์คำว่า “ออก นี้คล้ายจะหมายความว่าหัวหน้า (Chef) ด้วยว่ายังมีบรรดาศักดิ์อีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีตำแหน่งหน้าที่คือออกเมือง (Oc-Meuang) ซึ่งดูเหมือนจะแปลว่า หัวหน้าเมือง (Chef de Ville) และบุคคลต้องได้รับการแต่งตั้งเป็นออกเมืองเสียก่อน แล้วจึงจะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเขาเรียกว่า เจ้าเมือง (Tchaou-Meuang, Seigneur de Ville) ต่อภายหลัง[๑๗]

ความสนใจเรื่องไวยากรณ์สยามและภาษาสยามดูจะเป็นประเด็นที่โดดเด่นของเอกอัครราชทูตท่านนี้ กระทั่งได้ระบุไว้ในหนังสือว่า “ในท้ายหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าจะได้นำตัวอักษรสยามและอักษรบาลีมาแสดงไว้ให้เห็น และนั่นแล้วดูเหมือนจะได้ประมวลไวยากรณ์ของเขาเข้าไว้ทั้งหมด”[๑๘]

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าในเมื่อลาลูแบร์มีความสนใจภาษาสยามมากเช่นนี้ น่าจะได้มีโอกาสเห็นหรือคัดลอกเอกสารภาษาสยามกลับไปประเทศฝรั่งเศสบ้าง เมื่อศึกษางานเขียนในส่วนที่ว่าด้วยระบบการปกครองและตำแหน่งต่าง ๆ ของขุนนางในราชสำนักก็พบว่า ลาลูแบร์ ได้เอกสารสยามจำนวนหนึ่งกลับไปประเทศฝรั่งเศสด้วย นั่นคือ “กฎหมายสยาม” ดังที่เขาระบุว่า “กฎหมายสยามนั้นจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นสมุด ๓ เล่ม เล่มแรกชื่อ พระตำรา (Pra Tam Ra) ระบุนาม, ตำแหน่งและหน้าที่ราชการของขุนนางทุกกอง เล่มสองชื่อ พระธรรมนูญ (Pra Tam Non) รวบรวมกฎหมายพระราชกฤษฎีกาของพระมหากษัตริย์ในอดีตเข้าไว้ และเล่มที่สามชื่อ พระราชกำหนด (Pra Rayja Canmanot) รวบรวมกฎหมายและพระราชกฤษฎีกาครั้งแผ่นดินพระชนกนาถกับพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเข้าไว้” แต่ความต่อไปเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง กล่าวคือ “ไม่มีอะไรจะยากเท่าการได้มาซึ่งสำเนาอันถูกต้องของสมุดกฎหมายทั้ง ๓ เล่มนี้เพื่อที่จะบรรยายให้ทราบถึงธรรมนูญการปกครองของอาณาจักรสยามได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่ข้าพเจ้าก็พากเพียรได้มาซึ่งฉบับแปล ด้วยหาฉบับที่เป็นภาษาสยามไม่ได้ (ซึ่งจะให้ได้มาจริงๆ แล้ว) จะต้องอยู่ในประเทศสยามให้นานกว่านี้ และต้องไม่ค่อยมีธุระปะปังอะไรมากนักด้วย...”[๑๙]

มิเชล ฌาคแอร์กูลอาร์ช ซึ่งได้ศึกษาผลงานของลาลูแบร์ อธิบายว่าชื่อกฎหมายทั้ง ๓ เล่มตามที่ลาลูแบร์ระบุนั้นคงจะถ่ายเสียงได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง แต่เนื้อความของเอกสารแต่ละฉบับน่าจะคลาดเคลื่อนไปจากความจริงบ้าง กล่าวคือ พระตำราคงเป็นสรรพตำราอื่น ๆ ที่มีเนื้อความนอกเหนือไปจากชื่อตำแหน่งและหน้าที่ของขุนนาง พระธรรมนูญอาจเป็นหนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์ของอาณาจักร ส่วนพระราชกำหนดคงเป็นหนังสือรวบรวมกฎหมายพระราชกฤษฎีกา ตั้งแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา[๒๐] ผู้เขียนสันนิษฐานว่าเอกสารฉบับแปลที่ลาลูแบร์ได้มานั้น อาจเป็นกฎหมายบางฉบับที่ได้รับการแปลโดยบาทหลวงมิชชันนารีฝรั่งเศสที่พำนักอยู่ในสยามมาก่อนหน้านี้แล้วก็ได้ และคงเป็นกฎหมายต่างๆ ตามตัวบทกฎหมายตราสามดวง เช่นกฎหมายพระอัยการกู้หนี้ กฎหมายลักษณะลักพา ฯลฯ แต่ไม่ปรากฏว่ามีเอกสารกฎหมายที่กำหนดอายุได้เก่าถึงสมัยอยุธยาเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส แต่อย่างใด

ความสนใจอีกประการหนึ่งของลาลูแบร์คือ ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ดังปรากฏว่าในหนังสือ Du Royaume de Siam เล่ม ๒ นั้น ได้พรรณนาความเรื่องการนับปีศักราชในสยามและการดาราศาสตร์ ซึ่งลาลูแบร์ได้รับเอกสารที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง ชื่อ “คัมภีร์สุริยยาตร์” อันเป็นหลักเกณฑ์ในการค้นหาที่สถิตของดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ในชะตาของคน มีทั้งสิ้น ๑๕ บท ในแต่ละบทมีมาตราต่าง ๆ พร้อมคำอธิบาย

ลาลูแบร์ น่าคัมภีร์สุริยยาตร์นี้ กลับไปมอบให้เมอซิเออร์ แคสสินี(Cassini) แห่งราชสภาวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส ให้ตรวจสอบและอธิบาย หลักฐานจากหอดูดาวกรุงปารีส เรื่อง “ดาราศาสตร์ของอินเดีย” ระบุความว่า

ท่านดยุคแห่งดูเมนได้ส่งบทแปลที่ตัดตอนมาจากเอกสารตัวเขียนของสยามให้แก่ เมอซิเออร์ แคสสินี บทแปลดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎการคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ที่ใช้กันในประเทศแถบภูมิภาคนั้น เมอซิเออร์ เดอลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสประจำสยามเป็นผู้นำเอกสารตัวเขียนดังกล่าวกลับมายังฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. ๑๖๘๗[๒๑]

หรือบาทหลวงริโชด์ นักบวชคณะเจชูอิต ได้ระบุความตอนหนึ่งในข้อสังเกตเรื่องการนับศักราช ปีปฏิทินและความรู้ทางดาราศาสตร์ของชาวสยาม ว่า “เรายินดีที่ได้ทราบ ณ ที่นี้ว่า เมอซิเออร์ แคสสินี ได้อาศัยความสามารถและความรอบรู้ในทางดาราศาสตร์ศึกษาเอกสารตัวเขียนของสยามที่ค่อนข้างกำกวม ไม่ชัดเจน และไม่สมบูรณ์ จบพบข้อมูลส่วนที่น่าสนใจ ซึ่งบาทหลวงริโชด์ได้ศึกษาขณะที่อยู่ในสยาม เอกสารนี้ เมอซิเออร์ ลาลูแบร์ ได้นำกลับมายังประเทศฝรั่งเศส”[๒๒]

นับได้ว่า ลาลูแบร์ได้แสดงความสนใจของตนเกี่ยวกับเอกสารสยามไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ทั้งนำไปสู่ประเด็นการศึกษาว่า เอกสารสยามบางฉบับได้ถูกนำกลับไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อการศึกษาค้นคว้าในหลากหลายสาขาวิชา



[๑] มานพ ถนอมศรี, ราชทูตและบาทหลวงฝรั่งเศสในกรุงสยาม, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ต้นอ้อ, ๒๕๔๐) หนัา ๔๒-๕๐.

[๒] อาเดรียง โลเน่ย์, อ้างแล้ว หน้า ๕๔

[๓] วีรฉัตร วรรณดี, “หนังสือไวยากรณ์ไทยที่ชาวต่างประเทศเขียนขึ้นสมัยอยุธยาและสมัยต้นรัตนโกสินทร์” อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑, ๒๕๓๐ หน้า ๗๐-๘๐

[๔] เสรี พงศ์พิศ, อ้างแล้ว หน้า ๓๓-๓๔

[๕] อาเดรียง โลเน่ย์, อ้างแล้ว หน้า ๕๐

[๖] เสรี พงศ์พิศ, อ้างแล้ว หน้า ๓๔

[๗] Bibliothèque Nationale de Paris, Catalogue sommaire des manuscrits indeins, indochinois, malayo-polynésiens, p. 196 – 212. ดูรายละเอียดใน กรรณิกา จรรย์แสง, “ตามรอยเอกสารว่าด้วยสยามในฝรั่งเศส”, อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๒, ๒๕๓๖ หน้า ๘๕ และใน Morgan SPORTES, Ombres Siamoises, Paris : Edition Mobius, 1991 p. 158.

[๘] ดูรายละเอียดใน มณีปิ่น พรหมสุทธรักษ์, “ประเพณีมีพระราชปุจฉา” อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๒, ๒๕๓๑ หน้า ๔๗-๕๕.

[๙] Adrien LAUNAY, Mémorial de la Société des MEP : deuxième partie 1658-1913, Paris, 1916, p.227-228

[๑๐] Nicolas GERVAISE, Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam, Paris : Claude Barbin, 1688. ส่วนฉบับภาษาไทยคือ นิโคลาส์ แชร์แวส, ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, (กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า) ๒๕๒๖

[๑๑] นิโคลาส์ แชร์แวส, อ้างแล้ว หน้า ๑๘๗.

[๑๒] เล่มเดียวกัน หน้าเดียวกัน

[๑๓] เล่มเดียวกัน หน้า ๑๙๒.

[๑๔] นิโคลาส์ แชร์แวส, อ้างแล้ว หน้า ๑๙๒-๑๙๓.

[๑๕] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษศาสตร์, ๒๕๔๒ ) หน้า ๑๘๙-๒๐๑

[๑๖] ลาลูแบร์, จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, (กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า, ๒๕๑๐) หน้า ๒๖๒

[๑๗] ลาลูแบร์, อ้างแล้ว หน้า ๓๕๑

[๑๘] เล่มเดียวกัน หน้า ๒๖๓-๒๖๔

[๑๙] เล่มเดียวกัน หน้า ๓๖๒-๓๖๓

[๒๐] Michel JACQ-HERGOUALC’H, Etude historique et critique du livre de Simon de la Loubère “Du Royaume de SiamW – Paris 1691. Paris : Editions Recherche sur les Civilisations, 1987, p.304 (footnote 7)

[๒๑] ดาราศาสตร์ของอินเดีย”, จดหมายเหตุดาราศาสตร์จากฝรั่งเศส เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, (กรุงเทพฯ : สมาคมดาราศาสตร์ไทย, ๒๕๔๒) หน้า ๕๙

[๒๒] บาทหลวงริโชด์, “ข้อสังเกตเรื่องการนับศักราช ปีปฏิทิน และความรู้ทางดาราศาสตร์ของชาวสยาม”, เล่มเดียวกัน หน้า ๕๑-๕๒

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ