ราชธรรม

ในกาลบัดนี้จะกล่าวคุณวิเศษอัศจรรย์ต่าง ๆ แห่งพระมหากระษัตราธิราชเจ้าให้แจ้งปรากฏ อันว่าสมเด็จพระมหากระษัตริย์เจ้าผู้ผ่านพิภพไอศวรรย์อันเป็นเอกเศวตฉัตรก็ดี ได้ผ่านพิภพไอศวรรย์ในทวีปหนึ่งก็ดี ได้แก้วเจ็ดประการเป็นอาทิ คือจักรรัตนเป็นบรมจักรพรรดิราช กอปรด้วยไอศวรรย์อันมเหาฬารทรงฤทธิเดโชภาพปรากฏยวดยิ่งแล้วก็ดี ควรมีพระราชรำพึงอรรถอันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทั้งสามประการให้แจ้งด้วยพระปัญญา อันว่าสมเด็จพระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์ใดได้ตกแต่งกิจการอันเป็นอดีตอนาคตปัจจุบันทั้งสามประการคือ กิจจานุกิจอันแล้วไปก็ดี กิจจานุกิจอันจะเกิดใน พ หน้า[๑] ก็ดี กิจจานุกิจอันเกิดในปัจจุบันก็ดี แลได้ดำรัสทราบในพระราชหฤทัยด้วยพระปัญญา แลแต่งแปลงให้เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน ในอิหโลก[๒] แลประโยชน์ในพุทธศาสนา สมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎรนิกรไซร้ พระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์นั้นก็ประเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าพระมหากระษัตริย์ทั้งปวง แลฦๅชาปรากฏไปเท่ากัลปาพสาน อันจะมีพระมหากระษัตริย์พระองค์ใด ๆ จะเสมอสมานหาบ่มิได้เลย พระราชบุตรพระราชนัดดาแห่งสมเด็จพระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์นั้นก็จะได้ครองราชพิภพสืบไปทุกพระองค์ ในขณะพระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์นั้นก็จะเกิดมีเสนาบดีมนตรีมุขอันรู้คิดอ่านเห็นกิจการอดีต อนาคต ปัจจุบันนั้น ประโยชน์นั้นๆ จนถ้วนเถิงพันหนึ่ง แลจะฦๅชาปรากฏไปทั่วทิศานุทิศว่า พระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์นั้นเป็นเจ้า แก่เสนาบดีมนตรีมุขผู้รู้หลักนั้นมากนัก

ในอชาตศัตรูราชไซร้วัสสการพราหมณ์เป็นราชครู กรุงเการพ ราชไซร้พระวิธุรบัณฑิตเป็นนักปราชญ์สำหรับพระมหากระษัตริย์ กรุงวิเทหราชไซร้พระมโหสถเป็นนักปราชญ์สำหรับพระมหากระษัตริย์ แลกรุงวิเทหราชนั้นน้อยแก่ความรู้ ย่อมฟังถ้อยคำผู้พาล แลเสียประโยชน์เป็นอันมาก เหตุพระมโหสถได้แต่งแปลงจึงกิจการบ้านเมืองทั้งปวงได้คืนคงเพราะพระมโหสถนั้น

อนึ่ง กรุงเบญจาลราชไซร้ได้เป็นอธิบดีแก่เอกสตราช[๓]ทั้งปวง กอปรด้วยจตุรงคพลโยธาได้สิบแปดอักโษภิณี[๔] ส่วนเจ้ามโหสถไซร้ กอปรด้วยปัญญาแลการอันเป็นเล่ห์กลนั้นประดุจพลิกแห่งนายประมง การอันซื่อนั้นประดุจปืนแห่งนายพนจร อนึ่ง ถ้าแลซื่อนักไซร้คนทั้งหลายก็จะพมาณ[๕] ว่า บ่มิรู้บ่มิหลัก อนึ่ง ผู้มีปัญญาแลรักชังผู้ใดไซร้ ผู้นั้นบ่ห่อนจะรู้ตัว แลผู้มีปัญญาแสร้งกทำ[๖]ประดุจเสนห แลเกิดเป็นภัยแก่ผู้เขลานั้นก็เป็นอันมาก อนึ่ง ผู้มีปัญญาแสร้งกทำประดุจชังแลประโยชน์แก่ผู้เขลานั้นเป็นอันมาก

อันว่าพระมหากระษัตริย์แลพระมโหสถไซร้ กอปรด้วยปัญญาแลแกล้วหาญคิดอ่านแต่งแปลงการทั้งปวงให้ครบทุกประการ แลได้เป็นประโยชน์แห่งพระมหากระษัตริย์ผู้เป็นเจ้าก็เป็นอันมากแลได้ให้เป็นภัยแก่ราษฎรประชาไซร้ก็หาบ่มิได้ อนึ่ง เล่ห์กลแห่งพระมโหสถนั้น แลจะได้เป็นประโยชน์แต่อิหโลก แลมิเป็นประโยชน์ในบรโลกไซร้หาบ่มได้ แลย่อมเป็นประโยชน์ในอิหโลกบรโลกทั้งสองประการ อันว่าเล่ห์กลแห่งผู้มืปัญญาทั้งปวงนั้น แลจะมีผู้นินทาว่ามิได้สุวภาพนั้นจะนินทามิได้ ส่วนผู้เขลาทั้งปวงไซร้ เสียเล่ห์กลแก่ผู้มีปัญญาอันมากนั้น ถ้าแลผู้มีปัญญาดุจกันไซร้ก็จะเสียเล่ห์กลนั้นแต่ครั้งหนึ่ง ครั้นเถิงสองครั้งไซร้ก็ย่อมได้คิดอ่านตอบแทนกัน

อันว่าพระมโหสถไซร้ แสวงหาประโยชน์ไห้แก่ท่านยิ่งกว่าอาตมาประโยชน์เอง แลผู้มีปัญญาทั้งปวงให้เร่งหาประโยชน์แห่งท่านจงนัก

ยังมีมาณพผู้หนึ่ง มีในนิยายคัมภีร์ศาสตร์กล่าวว่า แสวงหาประโยชน์แห่งท่าน แลร้อนเถิงอาสน์แห่งพระอินทราธิราช แลได้เป็นประโยชน์แก่อาตมาภาพ

อนึ่ง กรุงจุลนีพรหมทัตราชอันเป็นศัตรูแก่พระมโหสถนั้น เมื่อได้พระมโหสถไปอยู่ด้วยก็รู้การกิจแห่งพระมโหสถอันสุวภาพนั้น กรุงจุลนิพรหมทัตราชก็มีพระราชหฤทัยสิเนหแก่พระมโหสถยิ่งนัก เมื่อแก้ปริศนาว่า ถ้าแลยักษ์จะเอาพระมโหสถเป็นภักษาหารไซร้ กรุงจุลนีพรหมทัตราชว่าจะให้ยักษ์เอาพระองค์เป็นภักษาหารต่างพระมโหสถ แลซึ่งพระมโหสถเป็นราชศัตรูคิดอ่านตกแต่งการเอาพระราชมารดา แลพระราชเทวี แลราชบุตรีกรุงจุลนีพรหมทัตราชไปถวายแก่ท้าววิเทหราช แลกรุงจุลนีพรหมทัตราชก็บ่มได้น้อยพระทัยแก่พระมโหสถ แลเลี้ยงดูพระมโหสถในฐานอันเป็นใหญ่ แลพระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์ใดครองราชพิภพไซร้ จงมีพระราชดำริดุจกรุงจุลนีพรหมทัตราชนั้น อนึ่ง เสนาบดีผู้ดำรงประชาราษฎรไซร้ จงมีจิตดุจพระมโหสถ แลพระมโหสถไซร้กอปรด้วยความรู้หลักแลแกล้วหาญ แลจึงตกแต่งการทั้งปวงสัมฤทธิ์ดุจคิดทุกประการ อันว่าผู้ใดกอปรด้วยปัญญาแลสุวภาพทั้งสองประการนั้น แม้นคิดอ่านเห็นแล้วเท่าใดๆ ก็ดีก็ย่อมท่าวทบถอยหลังคืน เหตุมิได้กอปรด้วยสุวภาพแลพระมหากระษัตริย์พระองค์ใดแลมีพระราชดำริการทั้งปวงด้วยเสนามนตรีผู้มิได้กอปรด้วยคุณสองประการนั้นไซร้ การทั้งปวงก็มิได้สำเร็จแก่พระมหากระษัตริย์องค์นั้น

อันว่าเสนาบดีผู้ใดกอปรด้วยคุณสองประการนั้นแล้ว แลได้คิดอ่านกิจการถวายแก่พระมหากระษัตริย์เจ้า แลได้เป็นราชประโยชน์ครั้งหนึ่งสองครั้งก็ดี แลเสนาบดีผู้นั้นได้เป็นประโยชน์แก่อาตมาสืบไปเท่าเถิงบุตรนัดดา แม้นว่าเสนาบดีผู้นั้นมีโทษแต่พอบังควรแต่ครั้งหนึ่งสองครั้งก็ดี บ่มิควรเอาโทษแก่เสนาบดีผู้นั้น

ยังมีพระมหากระษัตริย์องค์หนึ่ง ลงโทษแก่อำมาตย์ผู้หนึ่ง อันเป็นนักปราชญ์อันกอปรด้วยคุณสองประการ แลสั่งให้คุมเอาลงไปแต่พระราชมนทีร ให้เอาไปพิฆาตเสีย จึงพระราชเทวีก็ให้อำมาตย์ผู้นั้นไปซ่อนไว้ อยู่มาในราตรีภาคนั้นพระมหากระษัตริย์ว่า แต่ก่อนมาแลจะได้พิฆาตอำมาตย์ผู้มีปัญญาเสียดังนี้ไซร้หาบ่มิได้ แลในวันนี้แลได้เอาอำมาตย์ผู้มีปัญญาไปพิฆาตเสียนั้นมิควรนักหนา แลพระมหากระษัตริย์มิได้บรรทมหลับ จึงพระราชเทพีทูลคดีโดยสัตย์ว่า อำมาตย์นั้นข้าพระเจ้าให้ซ่อนเอาไว้แลยังคงชีวิตอยู่ พระมหากระษัตริย์ก็มีพระหฤทัยชื่นชมแต่พระราชเทวีนักหนา

อันว่าการอันแล้วไปแลจะกลับคืนเอามาเล่านั้นเป็นอันยากนัก แลพระมหากระษัตริย์เจ้าจะกทำสิ่งประการใดไซร้ จงกอปรด้วยพิจารณาจงนัก

ยังมีราชกุมารผู้หนึ่งไปอยู่ในพนสณฑ์แลลงไปอาบน้ำในนทีธาร แลเห็นพวงดอกไม้ลอยลงมาแต่เหนือน้ำ แลราชกุมารนั้นได้พวงดอกไม้นั้นก็พิจารณาว่า ชะรอยสตรีภาพมาอยู่ในพนสณฑ์ข้างเหนือน้ำนี้ จึงพระราชกุมารไต่ริมน้ำขึ้นไป ก็แลเห็นนางผู้หนึ่งเป็นแม่นมใต้ต้นมาลัยพฤกษ์ แลนางราชกุมารีอยู่บนต้นไม้นั้น ราชกุมารแลราชกุมารีก็กล่าวถ้อยคำอันเสนหาแก่กัน แลได้อยู่สมัครสังวาสด้วยกันจึงเกิดพระราชบุตรองค์หนึ่งอันได้เป็นบรมจักรพรรดิราช แลชื่อว่าความพิจารณานั้นเป็นประโยชน์แลได้เกียรติศัพท์ฦๅชาปรากฏมาเท่าบัดนี้

อนึ่ง พระมหากระษัตริย์เจ้าจะใช้ราชเสวกามาตย์ผู้ใดไซร้ ผู้นั้นจงกอปรด้วยสุวภาพแลแกล้วหาญ แลรู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ แลจงกอปรด้วยรูปโฉม แลกอปรด้วยกระกูล แม้นว่าจะฦๅไปในประเทศแห่งใดๆ ก็ดี ก็จะเกิดความสรรเสริญ แลจะมีศักดานุภาพแห่งพระมหากระษัตริย์เจ้านั้น

อนึ่ง ผู้ใดมิได้กอปรด้วยคุณอันกล่าวมาทั้งนั้น แลพระมหากระษัตริย์เอามาใช้ให้รับราชการไซร้ ก็บ่มิเป็นประโยชน์ เพราะว่าคนผู้มิได้ประกอบด้วยคุณอันกล่าวมานั้น อุปรมาประดุจนาคราชอันจะแปรเพศบ่มิได้ในฐานสี่ประการ ประการหนึ่งเมื่อนิทราจะแปรเพศบ่มิได้ ประการหนึ่งเมื่อแลเห็นครุฑราชก็จะแปรเพศบ่มิได้ ประการหนึ่งเมื่อเถิงอาสันนกาล[๗]จุติก็จะแปรเพศบ่มิได้ ประการหนึ่งเมื่อประพฤติโดยโลกสุวภาพด้วยนาคดุจกันก็จะแปรเพศบ่มิได้ อันว่าบ่มิได้บริบูรณ์สี่ประการแห่งนาคราชนั้น อุปรมาคือ ผู้มิได้กอปรด้วยคุณอันกล่าวมานั้น

ยังมีพระมหากระษัตริย์องค์หนึ่งใช้วิฬาร์ให้ถือเทียน เสนาบดีผู้มีปัญญาทูลทัดว่า วิฬาร์นี้เกลือกมิเสียจริตแห่งวิฬาร์ พระมหากระษัตริย์ก็สรรเสริญวิฬาร์นั้น เสนาบดีก็เอามุสิกมาชักให้แก่วิฬาร์ ๆ ก็วางเทียนนั้นไว้ไล่จับเอามุสิกนั้น

แม้นว่ากล่าวมาทั้งนี้ก็ดี อันว่าการจะควรสำเร็จด้วยผู้ใหญ่ แลจะเอาผู้น้อยไปสำเร็จ การนั้นก็มิสำเร็จ อนึ่ง การอันจะสำเร็จด้วยผู้น้อย แลเอาผู้ใหญ่ไปให้สำเร็จ การนั้นก็บ่มิสำเร็จดุจเดียว

อุปรมาดุจการอันจะสำเร็จด้วยเข็ม แลจะเอาเหล็กหมาดไปสำเร็จการนั้นก็บ่มิได้ อนึ่ง การซึ่งจะสำเร็จด้วยเหล็กหมาด แลจะเอาเข็มไปสำเร็จการนั้นก็บ่มิได้ อนึ่ง การอันจะสำเร็จด้วยเหล็กหมาด แลจะเอาจอบ เสียม พร้า ขวาน ตาว โตมรไปสำเร็จการนั้นก็บ่มิสำเร็จ

อันว่าพระมหากระษัตริย์เจ้าจะใช้ราชเสวกผู้ใด ๆ จงตรัสรู้กิริยาแห่งราชเสวกผู้นั้นว่า ราชเสวกผู้นี้มีจิตสุวภาพจริงแต่ว่าบ่มิแกล้วหาญแลบ่มิรู้หลัก ผู้นี้แกล้วหาญรู้หลักจริงแต่ใจมิได้สุวภาพ ผู้นี้ความรักหามิได้ อนึ่ง แกล้วหาญก็หามิได้ทั้งสุวภาพก็หามิได้ ผู้นี้ทั้งรู้หลักแลกอปรด้วยศีลมารยาทไซร้ ควรพระมหากระษัตริย์เจ้าเลี้ยงดูเท่าเถิงบุตรนัดดาสืบไป เพราะว่าบุรุษผู้นั้นกอปรด้วยกมลจิตรักภักดีแต่พระมหากระษัตริย์เจ้า แลกลัวเกรงอาชญาแห่งพระมหากระษัตริย์เจ้า แลกอปรด้วยสัตย์สุวภาพ แลกิจการทั้งปวงอันพระมหากระษัตริย์เจ้ามีพระบัญชาแก่บุรุษผู้นั้นก็จะสำเร็จถ้วนทุกประการ มาตราแต่เท่าเกศาบ่มิได้ขาด อนึ่ง จะเหลือเท่าเกศาก็หามิได้

อนึ่ง พระมหากระษัตริย์เจ้าแลพระราชบุตรผู้จะครองราชพิภพสืบไปจงเอากิจการโบราณราชประเวณีอันแล้วไปนั้นเป็นทำเนียม[๘] อนึ่ง การอันมีในปัจจุบันนั้นก็พึงให้ทราบในพระราชหฤทัยจงทุกประการ อันจะเกิดในอนาคตกาลนั้นก็ควรรำพึงในพระราชหฤทัยจงนัก เพราะว่าการอันจะเกิดในอนาคตกาลนั้นเป็นอันมาก

จะกล่าวโดยธรรมเทศนาแห่งพระสรรเพชญพุทธเจ้าบัณฑูรว่า บุรุษผู้ใดกอปรด้วยใจสุวภาพไซร้ บุรุษผู้นั้นจึงจะเรียกว่าผู้มีปัญญาได้ แลซึ่งการอันจะควรจำไว้เป็นบรรทัดฐาน แลจะควรเชื่อผู้นั้นไซร้ จึงจะได้กล่าวสืบไป

ยังมีพระราชเทวีผู้หนึ่งพิฆาตพระมหากระษัตริย์ผู้เป็นราชสวามี แล้วก็เอาพราหมณ์ผู้เป็นบโรหิตขึ้นเป็นพญา แลราชบุตรแห่งพระมหากระษัตริย์นั้นก็มีสองพระองค์ จึงพราหมณ์ก็คิดเห็นราชกุมารผู้ใหญ่อันได้ประมาณสามขวบนั้นกอปรด้วยปัญญารู้หลัก จึงรำพึงว่า พ หน้าไปเห็นว่าราชกุมารผู้นี้จะเป็นศัตรูบ่มิอย่า พราหมณ์คิดที่จะพิฆาตราชกุมารนั้น ราชเทวีผู้เป็นมาดาก็ให้ธนทรัพย์แก่พี้เลี้ยงให้เอากุมารนั้นหนีไปยังประเทศเมืองอื่น อยู่มาพระราชกุมารผู้น้องก็ใหญ่ขึ้นมาแลรู้หลักสามารถก็พิฆาตพราหมณ์เสีย แล้วก็เชิญราชกุมารผู้พี่นั้นมาเสวยราชสมบัติ แลซึ่งพราหมณ์ผู้เป็นพญาแลคิดเห็นการซึ่งราชกุมารจะเป็นศัตรูนั้นก็เล็งเห็นแล้วจริง เท่าว่าแต่เล็งเห็นแลมิได้เด็ดเสียให้ม้วย จึงมืศัตรูมาผลาญได้ด้วยประการนั้น

อันว่าราชกิจแห่งพระมหากระษัตริย์เจ้าคือ การอันจะรักษาสีมามณฑลบ้านเมืองแลป้องกันราชศัตรูทั้งปวง อันว่าศัตรูซึ่งเห็นว่าใกล้แลเกิดเป็นไกลนั้นก็มี อนึ่ง ศัตรูซึ่งเห็นว่าไกลแลเป็นอันใกล้นั้นก็มีดุจเดียว อันว่าการบ้านเมืองแลการข้าศึกศัตรูนั้น อุปรมาประดุจกุกกุฏโบดก[๙]อันยังอยู่ในโกศอันตละ[๑๐] อนึ่ง อุปรมาประดุจเมฆพยุอันอยู่ในอากาศเวหา

อนึ่ง เห็นว่าจะเกิดศัตรูแล้ว แลมิได้คิดให้เสร็จที่จะมล้างศัตรูนั้น แลไว้ศัตรูให้คงอยู่นั้น โดยธรรมเทศนาว่า ยังมืพฤกษเทวดาองค์หนึ่ง อธิวัตถา[๑๑]ในปิยงคพฤกษ์[๑๒]แลมีอสัตลพฤกษ์[๑๓]งอกขึ้นในต้นปิยงคพฤกษ์นั้น จึงพระโพธิสัตว์เกิดเป็นพฤกษเทวดาองค์หนึ่ง เป็นสหายด้วยเทวดาในปิยงคพฤกษ์นั้น พระโพธิสัตว์ก็ว่าแก่เทวดาในปิยงคพฤกษ์ว่า ท่านเร่งเอาอสัตถพฤกษ์นั้นออกเสียยังแล้ว[๑๔] เทวดาในปิยงคพฤกษ์ก็มิได้เอาเสียตามคำพระโพธิสัตว์ จึงมีเทวบุตรองค์หนึ่งมาอยู่เป็นอารักษ์ในอสัตถพฤกษ์นั้น ๆ ใหญ่ขึ้นมาปิยงคพฤกษ์ก็เถิงซึ่งพินาศ เทวดาในปิยงคพฤกษ์แลเทวดาในอสัตถพฤกษ์ก็วิวาทด้วยกัน นำกันขึ้นไปเถิงพระอินทร์ ก็แถลงเนื้อคดีนั้นถวายแต่พระอินทร์ ๆ ก็ว่า ซึ่งได้เห็นว่าศัตรูจะมาเบียดเบียนแล้ว แลมิได้คิดที่จะมล้างศัตรูนั้นไซร้ อุเบกษาเทวบุตรในปิยงคพฤกษ์นั้นเอง แลที่วิมานนั้นไซร้ให้คงแก่เทวบุตรในอสัตถพฤกษ์นั้น

อันว่านิทานดังนี้ก็ได้ทำเนียมมาเท่าบัดนี้ ซึ่งผู้มีปัญญาคิดเห็นการทั้งปวงแลได้ว่ากล่าวแล้ว ครั้นหาผู้ฟังมิได้ไซร้ ผู้มีปัญญาก็บ่มิอาจที่จะว่ากล่าวได้ อันว่าพระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์ใดแลมิฟังผู้มีปัญญาอันคิดอ่านชอบนั้นไซร้ อุปรมาประดุจเทวบุตรในปิยงคพฤกษ์นั้นแล

อันว่ากิริยาแห่งพระสรรเพชญพุทธเจ้าบ่ห่อนจะละเสียซึ่งจดุราริยสัจธรรม อันว่ากิริยาแห่งกัลป์บ่ห่อนจะละพระจันทร์ พระอาทิตย์ อันว่ากิริยาแห่งมหาสมุทรก็บ่ห่อนจะละซึ่งภัยเจ็ดประการ อันว่ากิริยาแห่งผู้มีปัญญาบ่ห่อนจะละซึ่งฉบับทำเนียมแต่ก่อน อันว่ากิริยาแห่งพระมหากระษัตริย์เจ้าบ่ห่อนจะละซึ่งคิดอ่าน แลบ่ห่อนจะละซึ่งผู้มีปัญญา

อันว่าผู้มีปัญญาคิดอ่านตกแต่งได้เป็นประโยชน์ดังนี้แล้วไซร้ ก็เป็นหิตประโยชนํไปเถิงสิบครั้ง

อันว่ากิริยาผู้มีปัญญาคิดอ่านตกแต่งแลมีผู้ฟังไซร้จึงจะอาจว่ากล่าวสืบไปได้

อันว่ากิริยาอันชังแห่งผู้มีปัญญาก็เป็นประโยชน์ยิ่งกว่าความรักแห่งผู้พาลอันหาปัญญาบ่มิได้

ผู้มีปัญญาอุปรมาประดุจฐานอันมีอุทกธารพุขึ้นมา อันว่าองค์ปัญญาไซร้ อุปรมาประดุจมหาสมุทรแลอัศจรรย์แห่งมหาสมุทรนั้นก็มีแปดประการ อัศจรรย์แห่งพระมหากระษัตริย์เจ้าไซร้ มีประการเถิงพันหนึ่ง แลพระมหากระษัตริย์เจ้าผู้กอปรด้วยอัศจรรย์พันหนึ่ง เมื่อพิจารณาคิดอ่านกิจการทั้งปวง แลกิจนั้นประการหนึ่งเห็นชอบ ควรที่จะประพฤติ เท่าว่ามิสมด้วยการที่นั้นเมื่อพิจารณาคิดอ่านดูยากนัก แลทั้งหลายว่าไปต่าง ๆ กันดังนั้นไซร้ พระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์ผู้กอปรด้วยอัศจรรย์พันหนึ่ง ก็อาจตกแต่งการนั้นให้บริบูรณ์ได้แล

อุปรมาประการหนึ่ง เชือกบาศอันผูกช้างนั้น แลจะเอามาผูกกุกกุร[๑๕]ไซร้ก็ย่อมลุ่ย ประการหนึ่งตฤณาหารสำหรับเศวตกุญชร แลจะเอามาให้แก่อชิกากร[๑๖]บริโภคก็บ่มิควร อนึ่ง ตฤณาหารสำหรับอชิกากร แลจะเอามาให้เศวตกุญชรบริโภคก็บ่มิควร

อนึ่ง อาหารแห่งสุวสาลิกา แลจะเอามาให้แก่กาโกลกปักษี[๑๗]บริโภคก็บ่มิควร อนึ่ง อาหารแห่งกาโกลกปักษี แลจะเอามาให้แก่สุวสาลิกานั้นก็บ่มิควร แลการทั้งปวงไซร้มิได้เป็นแต่ประการสิ่งเดียว แลย่อมเป็นประการต่าง ๆ แลให้ผู้มีปัญญาทั้งปวงคิดอ่านตกแต่งให้สมด้วยการที่จะประพฤตินั้น

อันว่าธรรมดาติณปักษีนั้นก็แลเห็นภักษาหารแต่ไกลได้ร้อยโยชน์ลงมา ธรรมดาผู้มีปัญญาก็คิดเห็นการทั้งปวงนั้นได้เถิงร้อยปี

ยังมีเมืองหนึ่งชื่อลิจฉวีนคร แลลิจฉวีราชทั้งหลายนั้นเหตุมิได้สมัครสมานจึงวัสสการพราหมณ์ทำลายลิจฉวีราชทั้งปวงให้พินาศได้ แลนิทานนี้ก็มีในคัมภีร์ธรรมเทศนา

อันว่ากิริยาแห่งผู้มีปัญญาทั้งปวง เมื่อมีกิจการอันใหญ่หลวงก็ย่อมมีใจอันแกล้วหาญแลมีหน้าอันชื่นบาน อันว่ากิริยาแห่งผู้หาปัญญาบ่มิได้ ครั้นมีกิจการอันใหญ่หลวงก็ย่อมพิศดูหน้าแห่งผู้มีปัญญา แลย่อมเอาผู้มีปัญญาเป็นที่พึ่งที่พำนักอาศัย แลย่อมตามหลังผู้มีปัญญา อันว่าผู้มีปัญญาอุปรมาประดุจศิลา แลธรรมดาแห่งผู้มีปัญญาทั้งปวง เมื่อการอันจะควรที่เคร่งไซร้ย่อมให้เคร่งยิ่งกว่าท่าน อนึ่ง เมื่อการอันจะควรให้หย่อนก็ย่อมให้หย่อนยิ่งกว่าท่าน

อนึ่ง ถ้าประโยชน์แห่งท่านแลหาบ่มิได้น้อยหนึ่งเท่าอณูบรมาณูไซร้ ผู้มีปัญญามิควรที่จะทำการนั้น ถ้าประโยชน์แห่งท่านหาบ่มิได้ แลประโยชน์แห่งอาตมามีเท่าอณูบรมาณูไซร้ ควรเพื่อจักทำการนั้นแต่พอบังควร อันว่าธรรมดาแห่งผู้มีปัญญาว่าจะให้พัสดุอันใด ๆ แก่ท่านก็ดี ให้แก่ท่านแล้วก็ดี แลว่าการนั้นมิชอบแลจะเอาคืนเล่าก็มิควร ถ้าจะคิดเล่าไซร้ให้ว่าแต่โดยอันจริง แลให้ขอแพ้แก่ท่าน อันว่าธรรมดาแห่งมหาสมุทร เมื่อแล้งแลจะพร่องลงเท่าเกศาไซร้ก็หาบ่มิได้ อนึ่ง เมื่อฝนแลจะสูงพ้นกว่าเก่าเท่าเกศาก็หาบ่มิได้ แลผู้มีปัญญาทั้งปวงควรให้ประพฤติประดุจมหาสมุทรนั้น อันว่าผู้มีปัญญาทั้งปวงบ่มิควรผูกพยาบาทว่า ผู้นี้เป็นศัตรู แลมากทำประโยชน์แก่อาตมาภาพแล้ว ภายหน้าไปเห็นว่าจะทำเป็นประโยชน์นั้นเล่า อนึ่ง ผู้นี้เป็นมิตรด้วยศัตรูแห่งอาตมาภาพแล้ว ภายหน้าไปจะเป็นศัตรูแห่งอาตมาภาพเล่า แลซึ่งพยาบาทดังนี้ ผู้มีปัญญาบ่มิควรที่จะคุมโทษนั้น

ยังมีราชกุมารผู้หนึ่งชื่อทีฆาวุกุมาร กอปรด้วยใจบ่มิผูกพยาบาทแก่ท่าน แลซึ่งกรุงพรหมทัตราชมากทำลายบ้านเมืองให้พินาศแลพิฆาตพระมหากระษัตริย์ผู้เป็นพระราชบิดาแห่งทีฆาวุกุมารนั้น แลบรรดาจะได้พิฆาตกรุงพรหมทัตราชคืนสนองไซร้ ทีฆาวุกุมาร ก็บ่มิได้พิฆาตแลทีฆาวุกุมารนั้นเหตุกอปรด้วยหฤทัยบ่มิได้ผูกพยาบาท แลจะคิดอ่านแต่ผู้เดียวก็ได้เสวยราชสมบัติแลนิทานนี้ก็มีในธรรมเทศนา บุรุษผู้มีปัญญาควรคิดอ่านเอาอาตมาภาพรอดจงได้ เมื่อใดแลคิดอ่านเป็นประโยชน์ในปัจจุบันนี้ได้แล้วไซร้ ก็จะได้เป็นประโยชน์ในอนาคตกาลนั้นด้วยแล

จะกล่าวนิทานหนึ่งเล่า ยังมีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อนนทิยเศรษฐีมีบุตรคนหนึ่ง แลเศรษฐีบุตรนั้นเหตุมิได้อุตสาหะก่อการ แลเศรษฐีผู้เป็นบิดามารดานั้นขับเสียจากเคหฐาน เศรษฐีบุตรนั้นก็ไปเถิงพาราณสีนคร ก็นอนอยู่ในมงคลศิลาบาตในอุทยาน จึงบุษยรถมาเถิงก็รับเอาเศรษฐีบุตรนั้นไปได้เป็นพญาเจ้าเมืองพาราณสีแต่ในเจ็ดวันซึ่งจากมาแต่บิดามารดานั้น เศรษฐีบุตรนั้นมิได้คิดอ่านไซร้ ยังได้เป็นท้าวพญา ถ้ากอปรวิจารปัญญาคิดอ่านด้วยไซร้ ก็จะยวดยิ่งหาที่อุปรมามิได้เลย อย่าว่ามนุษยชาติเลย แต่กลันทะ[๑๘] กาลก่อนอันเป็นเดียรัจฉาน ด้วยอุตสาหะไปทวงเอาโบดกแก่มหาสมุทร แลเอาน้ำมหาสมุทรไปบ้วนเสีย ก็ร้อนเถิงอาสน์พระอินทราธิราช ๆ จึงเอาโบดกอันตกในมหาสมุทรนั้นมาให้ แลนิทานนี้ก็มีในธรรมเทศนา อันว่าผู้มีปัญญาเร่งให้คิดอ่านซึ่งการอันจะเป็นประโยชน์นั้น ผู้เดียวคิดอ่านได้เป็นประโยชน์ไซร้ ก็เป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลายได้เถิงหมื่นหนึ่ง ผู้คิดอ่านยวดยิ่งแต่ผู้หนึ่งไซร้ ก็ยังได้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลายทั่วทั้งชมพูทวีปนี้ อนึ่ง เมื่อใดแลคิดอ่านเป็นประโยชน์แล้วไซร้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่บุตรนัดดาสืบไป อนึ่ง อาตมาภาพเองก็จะได้ให้ทานรักษาศีลสร้างกุศลแลจะเป็นนิทานไปเท่ากัลปาพสาน

อันว่าจินดาการ[๑๙]แห่งบุรุษทั้งปวงบ่ห่อนเหมือนกัน ซึ่งจินดาการเหมือนกันไซร้แลสองประการ ๆ หนึ่งคือมิใคร่เถิงมรณาการ ประการหนึ่งคือจะใคร่เป็นดี อันว่าบุรุษผู้ใดคิดอ่านแลได้เป็นประโยชน์แล้วไซร้ บุรุษทั้งปวงก็สรรเสริญบุรุษผู้นั้นยวดยิ่งนัก

บุรุษผู้ใดจะใคร่ได้เป็นผู้ดีไซร้ ย่อมคิดอ่านเห็นอันวิเศษ แลเมื่อยังบ่มิได้เป็นผู้ดีนั้น ก็บ่ห่อนจะเถิงซึ่งชีพิตประดุจโฆษกุมารนั้น เศรษฐีจะพิฆาตเถิงเจ็ดถ่า[๒๐] เหตุโฆษกุมารจะได้เป็นผู้ดี เศรษฐีจึงพิฆาตบ่มิได้ ส่วนบุตรเศรษฐีเองไซร้ เหตุบ่มิได้เป็นผู้ดี แม้นว่าหาผู้ใดจะคิดอ่านพิฆาตบ่มิได้ก็ดี ก็เถิงซึ่งพินาศฉิบหายเองแล

ในธรรมเทศนา พระสรรเพชญพุทธเจ้าเสด็จบัณฑูรว่า ผู้กอปรด้วยปัญญาไซร้ เหตุกอปรด้วยกุศลอันสร้างแต่หลังมา อนึ่ง ในคดีโลกกล่าวว่า ผู้แกล้วหาญทั้งปวงก็เป็นทหารสืบกันไปเถิงเจ็ดชั่วกระกูล อนึ่ง ผู้รู้กล่าวคำอันไพเราะ ผู้มีปัญญาทั้งปวงก็สืบกันไปได้เจ็ดชั่วกระกูลดุจเดียว

ประการหนึ่ง อุปรมาประดุจกาโกลกปักษีนั้น จะเอามาสอนจำนรรจาภาษามนุษย์ยังจะได้ฤๅ อันว่าสุวสาลิกาไซร้ จะเอามาสอนภาษามนุษย์ ก็ย่อมได้ทุกประการ อันได้คิดอ่านด้วยพระมโหสถนั้นไซร้ สุวบัณฑิตแลฤๅ

อันว่าปัญญาไซร้ คือแก้วแหวนสัปดพิธรัตน[๒๑] แลลักษณะอันมีปัญญาก็มีเป็นสี่ประการ ประการหนึ่งคือปัญญาแต่ประดิสนธิ ประการหนึ่งคือได้เล่าเรียนจึงมีปัญญา ประการหนึ่งคือพิพัฑฒายุศ[๒๒]ใหญ่ขึ้นมาจึงมีปัญญา ประการหนึ่งคืออาศัยอยู่ด้วยผู้มีปัญญาก็จึงมีปัญญา

ในธรรมเทศนาสรรเสริญผู้มีปัญญาเป็นนานาประการ ในพฤกษ์ทั้งปวงไซร้ พระมหาโพธิประเสริฐกว่าพฤกษ์ทั้งปวง ในผลาหารไซร้ ชมพูผลนั้นประเสริฐยิ่งกว่าผลาหารทั้งปวง ในบุษปมาลาไซร้ บุษบามัญชุศพฤกษ์[๒๓]นั้นประเสริฐกว่าบุษปมาลาทั้งปวง ในอากาศไซร้ พระจันทร์พระอาทิตย์ประเสริฐกว่าทั้งปวง ในแผ่นพิภพภูมิไซร้ พระมหากระษัตริย์ประเสริฐล้ำเลิศนิกรกว่านรนิกรโลกทั้งปวง ในสภาสถานไซร้ ผู้มีปัญญาประเสริฐ แลผู้มีปัญญาควรนั่งหน้าทั้งหลาย แลควรรับบูชาสักการะแต่พระมหากระษัตริย์เจ้า แลเป็นที่บูชาแห่งโลกทั้งหลาย ถ้าแลผู้มีปัญญาอยู่เถิงฟากสมุทรข้างโพ้นก็ดี พระมหากระษัตริย์เจ้าให้เอาเลี้ยงดู แม้นว่าผู้มีปัญญาหาธนทรัพย์มิได้ก็ดี กระกูลต่ำก็ดี บ่มิควรที่จะเลือกเสีย แลควรเอามาเลี้ยงดู

จะกล่าวทำเนียมในเมืองพุกาม เหตุมิฟังผู้มีปัญญา ว่าผู้มีปัญญาบรรดาศักดิ์ต่ำ แลมิฟังถ้อยคำผู้นั้น จึงเกิดพินาศในเมืองพุกามนั้น

ในธรรมเทศนาว่า แม้น้ำในมหาสมุทรอันมีมาแต่ประถมกัลป์ไซร้ โลกทั้งหลายจะบริโภคมิได้ แต่น้ำในบ่อแลสระโบษขรณีซึ่งมนุษย์ทั้งหลายในโลกทั้งปวงได้บริโภคอาศัย

อันว่าผู้มีปัญญาก็เป็นเนตรแห่งพระมหากระษัตริย์เจ้า แลเป็นบิดามารดาแก่ราษฎรทั้งหลาย แลเป็นอัครประธานในมหานคร ครั้นผู้มีปัญญามีมากไซร้ กิจจานุกิจแห่งพระมหากระษัตริย์แลกิจการบ้านเมืองประชาราษฎรสมณพราหมณ์ทั้งหลายก็บริบูรณ์พร้อมมูลสมัครสมานได้เป็นประโยชน์ในปัจจุบันกาลแล้ว ก็จะสร้างกุศลผลประโยชน์ในอนาคตกาลสืบไป

จะกล่าวทำเนียมพระมหากระษัตริย์องค์หนึ่ง มีในธรรมเทศนาว่า เหตุมิรู้จักคุณวุทธิแห่งผู้มีปัญญา แลผู้มีปัญญาผู้เดียวนั้นได้คิดการแลบังเกิดพินาศในทวีปหนึ่ง แลเสียทั้งองค์พระมหากระษัตริย์นั้น ผู้มีปัญญานั้นชื่อเอณกพราหมณ์ แลนิทานนี้มีในธรรมเทศนา

อนึ่ง สัตว์เดียรัจฉานตัวหนึ่งเป็นเหตุก็เกิดโกลาหลแก่สัตวนิกรทั้งหลายทั่วสกลหิมพานตประเทศ อันมีคณนาได้สามพันโยชน์ แล

อันว่ากิจแห่งพระมหากระษัตริย์เจ้าก็ดี กิจการบ้านเมืองก็ดี ครั้นผู้มีปัญญาหาบ่มิได้ก็มิเป็นประโยชน์ ถ้าผู้มีปัญญามีในประเทศแห่งใดไซร้ เสมอมีอัฏฐารสศิลปะ[๒๔]ในประเทศนั้น อนึ่ง ผู้มีพากยโวหารแลความคิดอ่านก็จะประเสริฐยิ่งกว่าทุกประเทศ อนึ่ง จะได้กลัวแก่ภัยในสงสารวัฏแลจะกลัวแก่อกุศลธรรมบถ แลจะมิละอายแก่โลกนินทาในปัจจุบันกาล อนึ่ง การอันเป็นอดีตพ้นไปแล้วก็ดี การปัจจุบันอันเกิดบัดนั้นก็ดี การอนาคตอันจะมีภายหน้าก็ดี ผู้มีปัญญาจะใคร่ประกาศให้เห็นเป็นแม่นแท้ อนึ่ง จะใคร่รู้ซึ่งถ้อยคำสุภาษิตทั้งปวง

อันว่าผู้มีปัญญาหนาเสมอแผ่นพสุนธราดลนั้น ได้จำนรรจาแต่คำเดียวไซร้ การนั้นก็จะสำเร็จได้เถิงหมื่นคำ

ประการหนึ่งผู้มีปัญญาอุปรมาประดุจรัศมีพระสูรยมณฑล ด้วยกล่าวถ้อยคำอันกล้าแข็ง ประการหนึ่ง ผู้มีปัญญาอุปรมาประดุจรัศมีพระจันทรมณฑล ด้วยกล่าวถ้อยคำอันไพเราะอ่อนหวาน

อันว่าพระมหากษัตริย์เจ้าควรมีราชรำพึงหาแก้วเจ็ดประการ อันว่าแก้วเจ็ดประการนั้นไซร้ ประการหนึ่งคือ ราชบุตร แลพระราชบุตรนั้นหายากนัก ชื่อว่าแก้วประการหนึ่ง ครั้นกอปรด้วยพระราชบุตรไซร้ก็จะได้ครองแผ่นพิภพสืบไปภายหน้า อนึ่ง จะได้ผจญราชศัตรูทั้งสี่ทิศ แลจะเป็นสุขแก่ประชาราษฎรสมณพราหมณ์ทั้งหลาย แลจะสุขเขษมสมบูรณ์สีมามณฑลบ้านเมืองทั้งปวง พระมหากระษัตริย์เจ้าควรประสาทยศไอศวรรย์แก่พระราชบุตร อนึ่ง ควรให้อำมาตย์ผู้มีปัญญาแก่พระราชบุตรนั้น

จะกล่าวทำเนียมในขณะพระสรรเพชญพุทธเจ้าเสด็จทรมาน ยังมีพระมหากระษัตริย์องค์หนึ่ง มีพระราชบุตรสององค์ ราชบุตรผู้ใหญ่นั้นพระมหากษัตริย์เสนหานักหนา คิดว่าถ้าเสด็จทิวงคตไซร้ จะให้ราชบุตรนั้นได้เสวยราชสมบัติแทนองค์ พระมหากษัตริย์ก็เลือกช้างม้ารี้พลทหารให้แก่ราชบุตรนั้น ราชบุตรผู้น้อยไซร้พระมหากระษัตริย์มิได้ให้ช้างม้าทหารผู้ใด ๆ แลให้ข้าผู้มีปัญญาแก่ราชบุตรนั้น ราชบุตรผู้น้อยได้คิดอ่านด้วยข้าผู้มีปัญญา แล้วก็ว่า ซึ่งพระราชบิดาเราประสาทช้างม้าพลทหารไปทั้งนั้น ย่อมเป็นทรัพย์แห่งเรา ราชบุตรนั้นเหตุได้ข้าผู้มีปัญญา ก็ไปอุปัฏฐากแต่พระสรรเพชญพุทธเจ้า ส่วนราชบุตรผู้ใหญ่เหตุข้าผู้มีปัญญาหามิได้ ก็ไปปรนนิบัติแก่เทวทัต ก็ฟังถ้อยคำเทวทัต ก็คิดว่าจะพิฆาตพระราชบิดาเอาราชสมบัติ ครั้นราตรีภาค ราชบุตรนั้นก็เข้าไปในพระราชมนเทียรจะพิฆาตราชบิดา จึงชาวทหารผู้รักษาราชมนเทียรกุมเอาราชบุตรนั้นพิฆาตเสีย พระมหากระษัตริย์ตรัสรู้ก็คิดว่า ซึ่งเราให้ข้าทหารแลช้างม้าแก่ราชบุตรนั้นผิดนัก เหตุมิได้ให้ข้าผู้มีปัญญาแก่ราชบุตร ๆ จึงแพ้แก่ความรู้แลได้กทำการอันผิดดังนี้ เราก็เสียความรู้ ราชบุตรก็เสียความรู้ พระมหากระษัตริย์ก็รำพึง ก็เกิดโทรมนัสนักหนาแล้วก็เวนราชสมบัติทั้งปวงแก่ราชบุตรผู้น้อยแล้ว จึงพระมหากษัตริย์เสด็จทิวงคต เหตุราชบุตรนั้นได้เป็นอุปการปรนนิบัติแก่พระสรรเพชญพุทธเจ้า ๆ ให้โอวาทานุสาสน์สั่งสอนทศพิธราชธรรม แลได้ครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา นิทานนี้ก็เป็นทำเนียมไปภายหน้าแต่พระมหากษัตริย์เจ้าทั้งปวง ซึ่งว่าจะให้ข้าทหารแลช้างม้ารี้พลไซร้ ควรให้ทั้งข้าผู้มีปัญญาด้วยจึงจะควร

จะกล่าวทำเนียมหนึ่งเล่าในเมืองรเสะแปรทวัง พญาเจ้าเมืองนั้นมิไว้ใจแก่ราชบุตร แลมิได้ให้ช้างม้าแก่ราชบุตร ๆ น้อยใจก็ออกบวชเป็นบรรพชิต แล้วก็ข้ามไปนมัสการพระทันตธาตุในลังกาทวีป อยู่มา พญาเมืองนั้นเหตุหาราชบุตรบ่มิได้ อำมาตย์มนตรีทั้งปวงมิได้สมัครสมานพร้อมมูล ในขณะนั้น เกิดเป็นเหตุด้วยดังผืนหนึ่ง[๒๕] เมืองนั้นก็เถิงซึ่งพินาศ

อันว่าพระราชบุตรราชนัดดาผู้จะสืบไป แลจะรู้หลักสามารถไซร้ คารให้สนทนาด้วยผู้มีปัญญา แลให้เว้นจากคนพาลทั้งปวง เพราะกิริยาคนพาลนั้นย่อมให้เสียผู้มีปัญญา แลเสียประโยชน์ทุกประการ

จะกล่าวนิทานหนึ่งเล่า ในธรรมเทศนาว่า ยังมีไม้ม่วงต้นหนึ่งในอุทยานแห่งพระมหากระษัตริย์ แลผลม่วงนั้นใหญ่เท่ากัลออม พระมหากระษัตริย์เมื่อจะให้ผลม่วงนั้นไปแก่พระมหากระษัตริย่ในประเทศอื่นไซร้ ย่อมเอาไม้แหลมแทงพีช[๒๖]ม่วงนั้นให้พิการแล้วจึงให้ไป จึงพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ให้ทรัพย์สินจ้างแก่นายอุทยาน ให้เอาต้นสะเดาแลต้นไม้ขมทั้งปวงมาปลูกที่รากม่วงนั้น ๆ ก็มีรสอันขมจะบริโภคบ่มิได้อยู่มาพระมหากระษัตริย่ให้เอาต้นไม้อันขมทั้งปวงนั้นเสีย ผลม่วงนั้นจึงมีรสหวานดุจเก่า

อันว่าพระมหากษัตริย์เจ้าองค์ใด แลมีพระราชดำริคิดอ่านด้วยผู้พาลไซร้ อุปรมาประดุจม่วงอันอำพน[๒๗]ด้วยต้นไม้ขม แลเสียโอชารสอันหวานนั้น อนึ่ง บุรุษผู้ใดแม้นเป็นบุตรแห่งพระจันทร์แห่งพระอาทิตย์ก็ดี ครั้นเสพด้วยผู้พาลไซร้ ก็ย่อมเสียประโยชน์ทั้งปวงแล

อันว่าพระราชบุตรก็ดี พระราชนัดดาก็ดี ควรพิจารณาสตรีภาพ แลสตรีภาพอันมิประกอบด้วยกระกูล บ่มิประกอบด้วยมารยาทจริตไซร้ ก็ควรให้เว้น

จะกล่าวนิทานหนึ่งในธรรมเทศนาว่า ยังมีราชกุมารผู้หนึ่งได้ยินเสียงสตรีภาพอันเป็นบุตรีจัณฑาลก็เกิดเสนหแก่สตรีนั้นเอามาเป็นภรรยา แลราชกุมารนั้นจะสืบราชสมบัติบ่มิได้ ด้วยเหตุภรรยาเป็นจัณฑาลนั้น

กล่าวโดยคดีโลกว่า การสิ่งหนึ่งจะควรจะบ่มิควร จะสมบ่มิสม การสิ่งหนึ่งแต่ควรเท่าว่ามิสม การสิ่งหนึ่งแต่สมเท่าว่ามิควร การสิ่งหนึ่งทั้งควรทั้งสม เมื่อได้ประกอบด้วยทั้งสองประการนี้ ผู้มีปัญญาทั้งปวงจึงจะสรรเสริญ

อันว่ารสสุคนธมาลาทั้งปวงไซร้ พระพายุนำไปทั่วทิศานุทิศ รสแห่งผู้ประเสริฐทั้งปวงนั้น อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ทั้งเทวดาทั้งหลายก็ควรสรรเสริญผู้นั้น ยังมีบุรุษผู้มีปัญญาผู้หนึ่ง เสียสะเภา[๒๘]ในกลางมหาสมุทร แลบุรุษผู้นั้นได้แต่กดาน[๒๙]แผ่นหนึ่ง ก็ซัดเข้าไปเถิงเกาะ ขึ้นไปอยู่ป่าตำบลแห่งหนึ่ง ก็แลเห็นสุกรตัวหนึ่งคาบแก้วบัทมราชเหาะมาบริโภคยังอุทุมพรผล แลสุกรนั้นวางแก้วบัทมราชนั้นไว้ในใต้ต้นอุทุมพร แล้วก็นอนหลับอยู่ บุรุษนั้นก็เอาแก้วบัทมราชนั้นได้ก็คิดว่า คราทีนี้จะปรารถนาสิ่งใด ๆ ย่อมจะได้ แลบุรุษนั้นก็เอาแก้วบัทมราช ก็เหาะไปเถิงเขาแห่งหนึ่งพบฤๅษีพี่น้อง ๒ องค์ ฤๅษีผู้พี่นั้นพระอินทราธิราชให้ขวานเล่มหนึ่ง ฤๅษีผู้น้องไซร้พระอินทราธิราชให้หม้อเนย ฤๅษีทั้งสองแลเห็นบุรุษได้แก้วบัทมราชเหาะมา ฤๅษีทั้งสองก็เอาขวานแลหม้อเนยไปเปลี่ยนเอาแก้วบัทมราชนั้น บุรุษนั้นก็ใช้ขวานไปหาช้างเผือก ช้างทองแดงแลช้างทั้งปวงมาเป็นบริวารแลเป็นรี้พลโยธา แล้วก็ใช้ขวานไปพิฆาตพระมหากระษัตริย์เอกสตราช แล้วก็ได้เป็นเอกราชในชมพูทวีป

อันว่าบุรุษผู้เดียวตกในมหาสมุทรแล้ว ครั้นกอปรด้วยกุศลผลบุณโยประจัยแลกอปรด้วยวิริยะแลปัญญาไซร้ เทวดาทั้งปวงก็ให้บุรุษนั้นได้เถิงเป็นเอกราชด้วยประการนั้น

อันว่าพระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์ใดจะครองแผ่นพิภพภูมิมณฑลไซร้ พิจารณากิริยาแห่งราชเสวกทั้งปวง อย่าได้ว่าผู้นี้เป็นข้าเดิม ผู้นี้มิได้เป็นข้าเดิม ผู้นี้ควรเลี้ยง ผู้นี้มิควรเลี้ยง ให้เอากิริยาแห่งเสวกผู้นั้น ๆ เป็นช้าง[๓๐] ถ้ากิริยาผู้ใดกอปรด้วยสุวภาพแลรู้หลักไซร้ แม้นว่าเป็นบุตรแห่งจัณฑาลก็ดี ก็ควรเลี้ยงดูผู้นั้น

จะกล่าวทำเนียมในอริมัทธนาบุรีเมืองพุกาม ยังมีบุรุษผู้หนึ่งมาแต่เมืองรเขิ่ง แลบุรุษนั้นกอปรด้วยปัญญาแลรู้หลัก แลได้มาเป็นข้าแห่งพญาพุกาม แลพญาพุกามได้ใช้บุรุษนั้นทุกเมื่อมิได้ขาด แลจะได้ผิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไซร้หาบ่มิได้ พญาพุกามก็มีใจกรุณา แลยกราชบุตรีผู้หนึ่งให้เป็นภรรยาแก่บุรุษผู้นั้น แล้วก็เลี้ยงให้เถิงสถานะอันใหญ่หลวง

จะกล่าวนิทานหนึ่งเล่า โดยธรรมเทศนาว่า นายฉันนามาตย์ อันเกิดเป็นสหชาติด้วยพุทธองค์ เหตุมิได้ประกอบด้วยสุวภาพอิริยาบถ จึงพระสรรเพชญพุทธเจ้าบ่มิได้นับถือ แลชนคณะบรรพษัททั้งหลายบ่มิได้ยำเกรง แลมิได้ปรากฏนามกรด้วยประการนั้น

อันว่าพระมหากระษัตริย์เจ้าควรผจญผู้โกรธด้วยไมตรี ควรผจญผู้ประทุษจิตด้วยสาธุสุจริต ควรผจญผู้มัจฉริยะ[๓๑]ด้วยทานบริจาค ควรผจญผู้มุสาวาทด้วยวาจาสัตย์ อนึ่ง เขี้ยวเมืองอย่าให้หักเสีย ตาเมืองอย่าให้ขวักเสีย ไส้เมืองอย่าให้ชักเสีย พระมหากระษัตริย์ผู้กอปรด้วยธรรมอันกล่าวมาทั้งนี้ จะมีไชยชำนะแก่ราชศัตรูทั้งปวงทั่วทิศานุทิศแล

อนึ่งโสด พระมหากระษัตริย์เจ้า เมื่อมีการที่อันจะควรโกรธเป็นมากไซร้ ก็พึงให้โกรธจงมาก ในที่อันจะควรโกรธแต่น้อยไซร้ ก็ให้พึงโกรธแต่น้อย แลการนั้นจึงได้สำเร็จ ถ้าการนั้นควรโกรธจงมาก แลพระมหากระษัตริย์เจ้าโกรธแต่น้อยไซร้ การนั้นก็บ่มได้สำเร็จ ถ้าการนั้นควรโกรธแต่น้อย แลพระมหากระษัตริย์เจ้าโกรธเป็นมากไซร้ การนั้นก็บ่มิได้สำเร็จแล

อันว่ากิริยาแห่งพระมหาสมุทรไซร้ เมื่อวาตพยุหาบ่มิได้ ก็ราบอุปรมาดุจหน้ากลอง เมื่อมีวาตพยุไซร้ ก็บันดาลอุทกธาราท่วมขึ้นมาเถิงเบื้องบนศิขรบรรพตนั้น

อันว่าราชสมบัติแห่งพระมหากระษัตริย์เจ้าอันได้ด้วยปัญญา คิดอ่านตกแต่งการทั้งปวงนั้น ก็มีเดชะอุปรมาประดุจพระเพลิงกัลป์สังหารแก่ราชศัตรู ผู้ใด ๆ ก็บ่มิอาจเพื่อจะมาทำลายได้เลย อันว่าราชสมบัติอันได้ด้วยบรบีฑานั้น ก็บ่มิเป็นประโยชน์สืบไป แม้นว่าจะมีศัตรูมาทำลายก็อาจเพื่อจะทำลายมิได้เลย

อันว่าพระมหากระษัตริย์เจ้ากอปรด้วยขัตติยมานะ จงอย่าได้พลันโทรมนัส แลอย่าได้พลันโสมนัสชื่นชม อันว่าการซึ่งบ่มิควรจะชื่นชมแลจะมาชื่นชมนั้นก็บ่มิควร อนึ่ง การอันมิควรที่จะเอาชนะแก่ท่านไซร้ ก็พึงอย่าได้เอาชนะ อนึ่ง การอันจะควรชนะแก่ท่านไซร้ ก็พึงให้เอาชนะจงได้ จึงจะควรด้วยกิริยาแห่งผู้กอปรด้วยปัญญาแล

อนึ่ง พระมหากระษัตริย์เจ้าจงมีพระราชหฤทัยอันกอปรด้วยขันติธรรม คือการอันมีราชประสงค์แลยังไป่ได้มาเถิงไซร้ ก็ควรให้อดอยู่ก่อน อนึ่ง การอันแล้วไปก็ควรให้อด อนึ่ง การอันผิดเทศกาลก็ควรให้อด อนึ่ง เมื่อน้อยกำลังกว่าท่านก็ควรให้อด อนึ่ง จะมีผู้รู้คุยรหัส[๓๒]ก็ควรให้อด อนึ่ง จะเสียศีลสุจริตก็ควรให้อด อนึ่ง การอันจะมิได้สำเร็จก็ควรให้อด อนึ่ง จะเสียประโยชน์ก็ควรให้อด พระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์ใดกอปรด้วยพระราชหฤทัยโกรธจริต แลกทำกิจการด้วยโกรธไซร้ ก็เสียประโยชน์เป็นอันมากแล

อนึ่ง พระมหากระษัตริย์เจ้าแลพระราชบุตรพระราชนัดดาทั้งปวงก็บ่มิควรเอาเข้ามาให้ดำริการคิดอ่านนั้นคือคนผู้เป็นสุราโสณฑ[๓๓] แลคนผู้เป็นนักเลง คนผู้มักเล่น คนผู้โลภดำฤษณา[๓๔] อันว่าบุรุษสี่ประการนี้พระมหากระษัตริย์เจ้าบ่มิควรเอามาให้รู้กิจการแห่งพระมหากระษัตริย์นั้นเพราะว่า ครั้นรู้แต่คนหนึ่งแล้วการนั้นจะรู้ไปทั่วทั้งบ้าน ครั้นรู้ทั้งบ้านแล้วก็รู้ทั่วทั้งเมือง ครั้นรู้ทั่วทั้งเมืองแล้ว ก็จะรู้ไปทั่วทิศานุทิศ แลอย่าได้คิดว่าจะเกิดเป็นประโยชน์เลย แต่จะเสียประโยชน์นั้นทุกประการแล

อนึ่ง บุรุษผู้มิได้กอปรด้วยความรู้แลมิได้สุวภาพนั้นพระมหากระษัตริย์เจ้าบ่มิควรเอามาให้คิดอ่านเพราะบุรุษผู้นั้นย่อมให้เสียประโยชน์ในอิหโลกบรโลก แลทูรยศแห่งบุรุษผู้มิได้สุวภาพนั้น ก็ฦๅชาปรากฏไปแก่โลกทั้งหลายเท่าเถิงบุตรนัดดาว่า ผู้นี้เป็นบุตรนัดดาแห่งผู้มิได้สุวภาพนั้น อนึ่ง บุตรนัดดาแห่งบุรุษผู้มิได้สุวภาพนั้นก็บ่ห่อนจะได้เถิงฐานะเป็นผู้ดี ครั้นประโยชน์ในปัจจุบันกาลหาบ่มิได้แล้วไซร้ ก็ย่อมเสียประโยชน์ในอนาคตกาลนั้นด้วยทุกประการ

อันว่ากิริยาซึ่งมิได้สุวภาพโดยกล่าวมานี้ ผู้มีปัญญาทั้งปวงอย่าพึงประพฤติ แลซึ่งผู้มีปัญญาจะประพฤติไซร้แต่การเพโทบายเล่ห์กลนั้นเพราะมีนิทานในธรรมเทศนาพระมโหสถนั้น เหตุกอปรด้วยความคิดอ่านเพโทบายจึงชนะแก่กรุงจุลนีพรหมทัตราชอันว่ามีจดุรงคพลได้สิบแปดอักโษภิณีนั้น อันว่าผู้มีปัญญากอปรด้วยพิพิธนโยบายอันวิเศษนั้น ย่อมประพฤติให้เป็นประโยชน์ในปัจจุบันกาล อนาคตกาล ทุกประการแล

อันว่าธรรมดาแห่งผู้กอปรด้วยปัญญาไซร้ ย่อมสู้เสียชีวิตบ่มิได้เสียสัตย์แต่คำหนึ่ง เพราะว่าครั้นเสียสัตย์แต่ครั้งหนึ่งก็ดี เสียความรู้ครั้งหนึ่งก็ดี ย่อมเสียประโยชน์ไปเท่าเถิงบุตรนัดดา อันว่าทรายจามรีนั้นสู้เสียชีวิตแลรักษาโรม[๓๕]นั้นแต่เส้นหนึ่งก็บ่มิได้เสีย

อันว่าพระราชบุตรพระราชนัดดาเสนาบดีมนตรีแลเศรษฐีสมณพราหมณาจารย์ทั้งปวง บ่มิควรที่จะให้เสียซึ่งกิริยากระกูลพงศ์ ประเวณีอาตมาภาพ ดุจทรายจามรีอันรักษาโรมนั้นแล

อันว่าเมืองหนึ่งถ้าแลจะเสียเพราะบ้านหนึ่งไซร้ ก็พึงให้ละบ้านนั้นเสียแลให้เสียแต่บ้าน[๓๖]เดียวนั้นเพื่อประโยชน์แก่เมืองนั้นให้บริบูรณ์คงอยู่แล

จะกล่าวนิทานอันมีในธรรมเทศนาว่ายังมีพระมหากระษัตริย์องค์หนึ่งเสด็จด้วยจดุรงคพลพหลแสนยากรไปเถิงพระหิมพานตประเทศ เพราะเหตุแก่นางผู้หนึ่งชื่อนางอสังกา ก็ตั้งอยู่ในพระหิมพานตประเทศนั้นเป็นจีรกาลได้เถิงสามขวบพระพรรษา ด้วยมิรู้จักนามไธย[๓๗]แห่งนางอสังกานั้น อยู่มาเมื่อรู้จักนามไธยแห่งนางอสังกานั้น พระมหากระษัตริย์จึงได้เสด็จคืนประเวศมหานครแล

ด้วยเหตุจะใคร่ได้สตรีภาพผู้เดียวนั้น อันว่าบุรุษผู้ใดจะใคร่ได้ผลประโยชน์แห่งอาตมาภาพในสำนักพระมหากระษัตริย์ไซร้ ให้เอาสติเป็นเครื่องผูกเบญจขันธ์คือคชสาร ปีญญาคืออังกุศ แลกอปรด้วยวิริยอุตสาหะจงนัก ครั้นได้ฐานะอันเป็นสุขแล้วก็จะได้สร้างกุศลสุจริต แม้นว่าจะปรารถนาเป็นพระพุทธพระปรัตเยกโพธิ[๓๘] พระอัครสาวก อรหันตขีณาสพประการใด ๆ ก็จะลุโดยปรารถนานั้นทุกประการแล

จะกล่าวนิทานหนึ่งเล่า ในธรรมเทศนาว่า ในดาวดึงสาสวรรค์นั้นมีชาติลดาหนึ่งชื่ออาสาวดี แลอาสาวดีลดานั้นเถิงพันปีจึงมีผลหนึ่ง เทวดาทั้งฉกามาพจรอันประสงค์แก่ทิพยปานะ[๓๙]ก็มาอยู่เฝ้าอาสาวดีลดานั้น ครั้นได้ทิพยปานะอันมีในผลอาสาวดีลดานั้น บริโภคแล้วมัวมท[๔๐]อยู่เถิงสี่ปี

ด้วยเหตุเพื่อจะใคร่ได้ผลอาสาวดีลดานั้น เทวดาทั้งหลายก็พยายามเฝ้าอยู่เถิงพันปี อันว่าบุรุษผู้จะปรารถนาผลประโยชน์แก่พระมหากระษัตริย์ไซร้ ควรพยายามประดุจเทวดาอันเฝ้าอาสาวดีลดานั้น ครั้นได้ประโยชน์ในปัจจุบันกาลแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์สืบไปอนาคตกาล อนึ่งโสดในปัจจุบันกาลนี้เมื่อได้กอปรด้วยประโยชน์ไซร้ ก็จะได้นั่งหน้าท่านในสภาสถาน เมื่อจะบริโภคโภชนาหารเล่า ก็จะได้บริโภคก่อนท่าน แลบุรุษผู้มีปัญญาอันกอปรด้วยประโยชน์ดังนี้ไซร้ จึงจะเป็นประโยชน์แก่กระกูลพงศ์ทั้งปวงสืบไปภายหน้า

อันว่าบุรุษผู้มีปัญญาทั้งปวงอุปรมาประดุจอาทาสมณฑล[๔๑]แล ธรรมดาแห่งอาทาสมณฑลไซร้ ย่อมเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย แลผู้มีปัญญาควรประพฤติสำแดงคุณแห่งพระมหากระษัตริย์เจ้า ดุจอาทาสมณฑลนั้น อันว่าพระมหากระษัตริย์เจ้าอุปรมาประดุจคนผู้ส่องอาทาสมณฑล แลพัสตราพรรณสรีรกายแห่งผู้ส่องอาทาสมณฑลนั้น เป็นฉันใดไซร้ ฉายารูปอันมีในอาทาสมณฑลนั้นก็มีอาการดุจนั้น แลมีอุปรมาฉันใดไซร้ บุรุษผู้มีปัญญาควรประพฤติอนุกูลแต่พระมหากระษัตริย์เจ้าดุจนั้น

จะกล่าวอุปรมาหนึ่งเล่า อันว่าบุรุษทั้งหลายอันเกิดในประถมกัลป์นั้น ตั้งจักษุประสาทคอยหาพระจันทร์พระอาทิตย์ฉันใดไซร้ บุรุษผู้มีปัญญาทั้งปวงควรตั้งใจจงภักดีแต่พระมหากระษัตริย์เจ้าดุจนั้น แม้นว่าคนทั้งเมืองจะชังอาตมาภาพก็ดี จงประพฤติให้พระมหากระษัตริย์พระองค์เดียวกอปรด้วยพระราชหฤทัยมิได้ชังอาตมาภาพนั้น

อันว่าชาติกระกูลก็ดี กิริยาอาการประพฤติแห่งอาตมาภาพก็ดี ความคิดอ่านเป็นประโยชน์ก็ดี ความคิดอ่านเสียประโยชน์ก็ดี ก็ย่อมเกิดในอาตมาภาพแห่งบุรุษทั้งหลายเอง

จะกล่าวอุปรมาหนึ่งเล่า อันว่าต้นม่วงอันมีกิ่งก้านสาขาบัตรงามสมบูรณ์เหตุกอปรด้วยผลมากนัก แลกิ่งก้านทั้งปวงนั้นจะทนอยู่มิได้ก็หักลง อันว่ากิริยาแห่งพระมหากระษัตริย์ก็ดี เครื่องอาภรณ์สำหรับพระมหากระษัตริย์เจ้าทรงก็ดี แลการทั้งปวงนั้นเสนาบดีมนตรีบ่มิควรที่จะเอามาประพฤติแก่อาตมาภาพ แลเสนามนตรีผู้ใดเอาการสำหรับพระมหากระษัตริย์มาประพฤติไซร้ ก็จะทำลายอาตมาภาพเอง ประดุจม่วงอันมีผลมากนั้น

ยังมีอำมาตย์ผู้หนึ่งเป็นกระลาการ[๔๒] ในอริมัทธนาบุระเมืองพุกาม อำมาตย์นั้นคิดว่าเมื่อบังคับพระธรรมศาสตร์ อำมาตย์ก็แต่งเตียงอนึ่ง[๔๓] สูงห้ามุธ[๔๔] จำหลักทั่วทั้งปวงแล้วก็ปิดทอง แลเอามาตั้งในศาลพินิจจัย แล้วก็ร้อยมุกเป็นระย้ารอบเพดานนั้น อำมาตย์ก็ขึ้นนั่งบนเตียงแล้วจึงบังคับพระธรรมศาสตร์ อยู่มาก็รู้เถิงพญาพุกาม ๆ ก็ให้หาอำมาตย์นั้นมาถาม อำมาตย์ก็แก้ว่า พระธรรมศาสตร์ไซร้เป็นที่ควรเคารพ เมื่อใดแลนั่งฐานอันสูงแล้ว จึงควรบังคับพระธรรมศาสตร์แก่คนทั้งหลาย แลข้าพระเจ้าได้ตกแต่งเตียงนั่งในศาลพินิจจัยนั้นจริง

พญาพุกามก็ว่า อำมาตย์ผู้นี้บ่มิได้ล่วงแต่เราผู้เดียว แลอำมาตย์ผู้นี้จะล่วงท้าวพญาทั้งหลายผู้สืบไปภายหน้าโพ้นเป็นมาก พญาพุกามให้เอาอำมาตย์นั้นแลญาติกระกูลแห่งอำมาตย์นั้นเอามาทั้งปวงแลตรวดน้ำษิโณทกรดศีรษะแล้วจึงถวายไปเป็นข้าพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งกรุงศรีธรรมาโศกราชให้ฐาปนาไว้ ณ เมืองรเขิ่งนั้น เหตุอำมาตย์ผู้เดียวทำผิดแลได้ยากแก่ญาติกระกูลทั้งปวงด้วยประการนี้ อันว่ากทำการบ่มิสมบ่มิควรนั้นได้แก่อำมาตย์ผู้นี้

อันว่าบุรุษผู้ใดจะตกแต่งการสิ่งใด ๆ ควรให้คิดอ่านด้วยผู้รู้หลักจึงจะเรียกว่าบุรุษนั้นผู้มีปัญญา บุรุษผู้ใดคิดว่าอาตมาภาพเป็นอำมาตย์เสนาบดีมนตรีผู้ใหญ่ หาผู้ใดจะเสมอมิได้แลตกแต่งการใด ๆ มิได้คิดอ่านด้วยผู้รู้หลักทั้งปวงไซร้บุรุษผู้นั้นจะขึ้นชื่อว่าผู้มีปัญญาบ่มิได้

อันว่ากิริยาแห่งผู้เขลาทั้งปวง ย่อมกล่าวถ้อยคำซึ่งจะให้เสียประโยชน์เป็นอันมาก ผู้มีปัญญาทั้งปวงอุปรมาประดุจช่างเขียนแลช่างฉลัก อันว่าช่างเขียนแลช่างฉลักนั้น แม้นจะให้เขียนรูปภาพสิ่งใด ๆ ก็ดี จะให้ฉลักรูปภาพสิ่งใด ๆ ก็ดี ก็ย่อมได้ทุกประการ

จะกล่าวนิทานหนึ่งในธรรมเทศนาว่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นไกรสรสีหราชไปสมัครสังวาสด้วย สฤงคาล[๔๕] ก็เกิดบุตรดุจมารดา พระโพธิสัตว์สั่งสอนบุตรนั้นว่า ท่านมิได้จำนรรจาไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะกลัวเกรงท่าน ถ้าท่านจำนรรจาไซร้ สัตว์ทั้งหลายมิได้กลัวเกรง แลจะอพมาณ[๔๖]แก่ท่านแล

อันว่าสฤงคาลไซร้ ชาติถ่อยกว่าสัตวนิกรจตุบาททั้งปวง อุลุกปักษี[๔๗]นั้นก็ถ่อยกว่าปักษีชาติทั้งปวง พฤกษ์อันเป็นพิษนั้นก็ถ่อยกว่าพฤกษ์ทั้งปวง

อันว่าบุรุษผู้ใดจำนรรจาหาคารวะมิได้ แลหามารยาทมิได้ไซร้ ก็นับว่าถ่อยกว่าบุรุษทั้งปวง

อันว่าพระมหากระษัตริย์พระองค์ใดมิได้สถิตในยุกดิธรรมไซร้ ชื่อว่าถ่อยกว่าพระมหากระษัตริย์เจ้าทั้งปวง พระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์ใดสถิตในยุกดิธรรมไซร้ พระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์นั้น ประเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าพระมหากระษัตริย์ทั้งปวง

อันว่ากรุงศรีธรรมาโศกราชนั้นประสาททักษิณาทานแลวันแลหกแสนตำลึงทองเป็นนิจกาล พระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์ใด ประกอบด้วยทานบริจาคเป็นนิจกาล กอปรด้วยหฤทัยศรัทธาอุปถัมภกในพุทธศาสนาไซร้ ก็ประเสริฐล้ำเลิศนักหนาแล

อันว่าบุรุษผู้ใดมิได้กอปรด้วยสุจริตธรรมไซร้ ผู้มีปัญญาบ่มิควรที่จะสรรเสริญบุรุษผู้นั้น

อนึ่งโสด บุรุษผู้ใดหาวิริยะบ่มิได้ แลบ่มิได้ตั้งใจที่จะเล่าเรียนเขียนอ่าน บุรุษผู้นั้นก็บ่มิได้ประกอบด้วยความรู้ทั้งปวง ครั้นมิได้ประกอบด้วยความรู้ไซร้ ก็บ่มิได้ประกอบด้วยสุจริตธรรมแล อันว่าบุรุษผู้มิได้ประกอบด้วยความรู้แลมิได้ประกอบด้วยสุจริตธรรมนั้น แม้นว่าเป็นบุตรแห่งพระจันทร์พระอาทิตย์ก็ดี ก็หาประโยชน์บ่มิได้แล

อุปรมาประดุจต้นขัดมอน เมื่อแรกงอกขึ้นมาไซร้ เห็นประดุจเป็นต้นเป็นใบกิ่งก้าน แลจะสูงขึ้นไปแล้วก็มิได้สูงขึ้นไป ก็มีกิ่งก้านออกอยู่แต่ชิดแผ่นดินนั้นฉันใดไซร้ บุรุษผู้มิได้ประกอบด้วยความรู้แล มิได้ประกอบด้วยสุจริตธรรมก็มีอุปรมาดุจต้นขัดมอนนั้น

ประการหนึ่งอุปรมาประดุจไม้ไผ่ เมื่อแรกเป็นหน่อขึ้นมานั้น เห็นประดุจมิเป็นต้นสูงขึ้นไป แล้วก็เป็นต้นเป็นปล้องสูงขึ้นงามชอบกล แลมีฉันใดไซร้ บุรุษผู้กอปรด้วยความรู้แลกอปรด้วยสุจริตธรรมนั้น ก็มีอุปรมาดุจนั้นแล ผู้มีปัญญาทั้งปวง แม้นว่าเมื่อยังเป็นตรุณภาพได้ประพฤติการผิดด้วยประการใด ๆ ครั้นอายุแก่ขึ้นมา แลละซึ่งความผิดทั้งปวงนั้นเสียแล้ว แลได้ประพฤติความชอบขึ้นเล่าไซร้ ก็นับว่าประเสริฐดุจเดียวแล

อันว่าโภคสมบัติแห่งมนุษย์ทั้งปวงก็มีนานาประการ ประการหนึ่งอายุก็ยังหนุ่มโภคสมบัติก็มี ประการหนึ่งอายุเถิงชราภาพโภคสมบัติก็หาบ่มิได้ ประการหนึ่งอายุเถิงชราภาพแล้วโภคสมบัติยังประกอบอยู่ ประการหนึ่งอายุหนุ่มแลหาโภคสมบัติบ่มิได้

อันว่าโภคสมบัติทั้งปวงเท่าใด ๆ ก็ดีก็บ่มิได้ประเสริฐดุจกอปรด้วยปัญญาแลกอปรด้วยโภคสมบัตินั้น

อันว่าโภคสมบัติแห่งบุรุษผู้มีปัญญาไซร้ คงอยู่เท่าเถิงบุตรนัดดาสืบไป

อันว่าความคิดแห่งมนุษย์ทั้งปวงจะใคร่ให้อายุยืนแลจะใคร่มีโภคสมบัติจงมาก อนึ่ง จะใคร่รู้หลักแลจะใคร่ทำกิริยาการประดุจผู้มีปัญญาประพฤตินั้น

อันว่าความคิดแห่งนายพนจรอวดอ้างว่า ปืนแห่งอาตมนี้ ครั้นได้ยิงไปเล่มหนึ่งไซร้ บุตรท่านทั้งปวงในเคหฐานนี้จะบริโภคบ่มิสิ้น อันว่าความคิดแห่งนายประมงอวดอ้างว่า แหแห่งอาตมนี้ครั้นทอดลงแล้วไซร้ บุตรท่านทั้งปวงในเคหฐานนี้จะบริโภคบ่มิสิ้น อันว่าความคิดแห่งหัตถาโรหโยธา[๔๘]อวดอ้างว่า ครั้นมีการสงครามแลได้ขี่ช้างสารอันเหมือนดุจใจแลได้เข้ายุทธแล้ว ในการซึ่งจะชนช้างนั้นผู้ใดจะเสมอสมานด้วยอาตมนี้ อันว่าความคิดแห่งอัสสาโรหโยธา[๔๙]อวดอ้างว่า ครั้นมีการสงคราม แลได้ขี่ม้าอันสบใจแลได้เข้ายุทธแล้วไซร้ ในการอันจะยุทธด้วยม้านั้น ผู้ใดจะเสมอสมานด้วยอาตมนี้ อันว่าความคิดแห่งผู้มีปัญญาอวดอ้างว่า เมื่อใดมีกิจการอันคิดยาก แลอาตมได้คิดอ่านไว้เป็นทำเนียมแล้วไซร้ บุตรทั้งปวงจะได้บริโภคมิรู้สิ้นเลย

จะกล่าวนิทานโดยธรรมเทศนาว่า พันธุมเสนาบดีนั้นเป็นโยธาทหาร แลได้เลี้ยงอาตมาภาพด้วยการทหารนั้น อนึ่ง พระมโหสถเลี้ยงอาตมาภาพด้วยปัญญารู้หลัก อันว่าบุรุษทั้งปวงรู้ศิลปวิชาคมสิ่งใด ๆ ไซร้ ให้ตั้งใจซึ่งศิลปะอันรู้นั้นจงนัก

จะกล่าวนิทานหนึ่งเล่า ในธรรมเทศนาว่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นจัณฑาลผู้หนึ่งรู้มนตร์อันวิเศษ ก็เอาน้ำมันมารดต้นม่วงแล้วก็บังเกิดผลม่วงชื่ออากาล ผลอันใช่เทศกาลที่ม่วงจะเป็นผลนั้น แลคนทั้งหลายได้บริโภค อยู่มาเทวทัตมาเป็นมิตรด้วยพระโพธิสัตว์ก็เรียนเอามนตร์นั้น พระโพธิสัตว์ก็สั่งสอนว่า ถ้าจะสำแดงมนตร์นี้ไซร้ในฐานแห่งใดไซร้ ให้บอกว่ามนตร์นี้เรียนไปแต่บ้านจัณฑาล จึงจะได้ลาภสักการะสืบไป แลมนตร์นั้นจึงจะเป็นประสิทธิ อยู่มาเทวทัตเอามนตร์นั้นไปสำแดงแต่พระมหากระษัตริย์องค์หนึ่งในอุทยานแห่งพระมหากระษัตริย์นั้น เทวทัตก็เอาน้ำมันรดต้นม่วงก็บังเกิดผลม่วงอันชื่ออากาลผลนั้นได้ถวายแต่พระมหากระษัตริย์ แลคนทั้งหลายได้บริโภคผลม่วงนั้น พระมหากระษัตริย์ก็ประสาทราชรางวัลแก่เทวทัตนั้นมากนัก แล้วก็ตรัสถามเทวทัตว่าได้เรียนมนตร์นี้มาแต่ฐานใด เทวทัตก็ทูลว่า มนตร์นี้ข้าพระเจ้าเรียนมาแต่เมืองตักกสิลา แลซึ่งเทวทัตได้เรียนมนตร์นั้นมาแต่จัณฑาลคาม แลอำพรางว่าเรียนมาแต่เมืองตักกสิลานครนั้น จึงมนตร์นั้นมิได้เป็นประสิทธิแลมิได้เป็นประโยชน์สืบไป อันว่าบุรุษผู้ใด ๆ อย่าว่าจะได้แทนคุณแห่งท่านเลย มาตราแต่สรรเสริญแห่งท่านก็ประเสริฐในปัจจุบันนั้นแลในอนาคตกาลแล

จะกล่าวทำเนียมหนึ่งเล่า ในธรรมเทศนาว่า พระสารีบุตรเถระผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาแห่งพระพุทธเจ้านั้น ได้ลุธรรมวิเศษในสำนักพระอัสสชิเถระเป็นประถม แลพระอัสสชิเถระอยู่ในฐานแห่งใดไซร้ พระสารีบุตรเถระก็นมัสการไปในทิศนั้นเป็นนิจกาลนั้น อันว่าบุรุษผู้ใดในโลกแลรู้คุณแห่งท่านไซร้ บุรุษผู้นั้นแม้นตกในอัคคีกุณฑ์[๕๐]ก็ดี ก็บ่มิไหม้ อนึ่ง โจรจะกทำร้ายก็บ่มิได้ แม้นว่าตกในสมุทรธาราก็บ่มิเถิงมรณาการ บ่มีภยานิกภัยสิ่งใด ๆ อันว่าบุรุษผู้มิรู้คุณแห่งท่านไซร้ ก็บ่ห่อนจะพ้นจากภัยอันกล่าวมานั้น

จะกล่าวโดยนิทานว่า ยังมีบุรุษผู้หนึ่งให้นํ้าบวยหนึ่งแก่ราชกุมารผู้หนึ่ง อยู่มาบุรุษนั้นมีผู้เอามาเป็นโจรแลจะเอาไปพิฆาตเสีย ราชกุมารแลเห็นบุรุษนั้นก็คิดเถิงคุณอันให้น้ำบวยหนึ่งนั้นก็ว่า ให้เอาอาตมาภาพไปพิฆาตต่างบุรุษนั้น อันว่าบุรุษได้กทำคุณแก่ท่านแต่น้ำบวยหนึ่งนั้น ก็เป็นประโยชน์ได้รอดชีวิตแห่งอาตมาภาพ

จะกล่าวนิทานหนึ่งเล่า ในธรรมเทศนา ยังมีราชกุมารผู้หนึ่ง ตกลงในคงคานทีลอยไปด้วยนกแขกเต้าสองตัว ฤๅษีผู้หนึ่งกู้เอาราชกุมารแลนกแขกเต้านั้นขึ้นจากคงคานทีแล้ว ก็เอาไปไว้ใกล้กองอัคคี ราชกุมารก็ผูกพยาบาทแก่ฤๅษีว่า เราเป็นราชบุตรแห่งพระมหากระษัตริย์ดังนี้ไซร้ ฤๅษีมิได้พยาบาลรักษา ถ้าแลกูได้ราชสมบัติแล้วไซร้ จะให้พิฆาตฤๅษีผู้นี้จงได้ อยู่มาราชกุมารนั้นได้ราชสมบัติก็เสด็จด้วยคชสาร พบฤๅษีนั้นในกลางมรรคาก็บังคับให้พิฆาตฤๅษีนั้นเสีย จึงแผ่นธรณีดลก็สูบเอาราชกุมารทั้งคชสารนั้นลงไป

จะกล่าวนิทานหนึ่งเล่า โดยธรรมเทศนาแลคดีโลกว่า บุรุษผู้มิรู้คุณแห่งท่านแลลบคุณท่านเสียนั้น ยังมีกระษัตริย์องค์หนึ่งในอริมัทธนาบุระเมืองพุกาม ชื่ออโนรถามางช่อ แลโหราจารย์สองคน ผู้หนึ่งชื่อสมะโย ผู้หนึ่งชื่อสมะผยู กล่าวทำนายโดยโหราศาสตร์ว่า อโนรถามางช่อจะได้ช้างเผือกหกสิบช้าง อยู่มาได้ช้างเผือกแต่หกตัว จึงอโนรถามางช่อติฉินโหราจารย์ทั้งสองว่าทายมิต้อง โหราจารย์ทั้งสองก็ทูลแก่อโนรถามางช่อว่า ช้างเผือกในพุกามมีได้หกตัวจริง แลซึ่งช้างเผือกอันมีในเมืองออกเจ้ากูทั้งปวงนั้น ก็ย่อมเป็นช้างแห่งเจ้ากูดุจเดียว ถ้าจะนับช้างเผือกทั้งปวงนั้นจะได้เถิงร้อยมีเศษ อโนรถามางช่อมิฟัง ก็เร่งติฉินโหราจารย์ทั้งสองนั้นมากนักหนา โหราจารย์ทั้งสองก็ทูลเล่าว่า ข้าพระเจ้าทั้งสองนี้ไซร้ยังเป็นปุถุชน แลได้ทายแต่ตามคุณวิชญาแห่งอาตมาภาพ แลพระสารีบุตรเถระอันเป็นอัครสาวกแห่งพระสรรเพชญพุทธเจ้านั้น รู้เพทางคทั้งสี่ประการ แลทายเจ้าสามเณรผู้หนึ่งว่า ฟ้าจะผ่า อยู่มาด้วยเดชะพระสรรเพชญพุทธเจ้า แลเจ้าสามเณรนั้นก็พ้นจากอันตราย พระสารีบุตรเถระก็ว่า เพทางคศาสตร์นี้มิแม่น ก็ให้เอาเพทางคประการหนึ่ง เหตุนั้นข้าพระเจ้าจึงคำนวณบ่มิแม่นด้วยดังนี้

อยู่มา ยังมีกาลวันหนึ่งเล่า อโนรถามางช่อเสด็จไปยังฐานข้างเหนือแล้วเสด็จคืนลงมาก็ได้ยินเสียงมณโฑ[๕๑]ร้อง อโนรถามางช่อก็ถามโหราผู้ชื่อสมะโยว่า เสียงมณโฑร้องดังนี้จะเป็นนิมิตประการใด สมะโยก็ทูลว่า ข้าพเจ้าบ่มิอาจเพื่อจะทำนาย อโนรถามางช่อก็ว่า จะเป็นประการใด ๆ ให้ทายเถิด สมะโยก็ทูลว่านิมิตเสียงมณโฑร้องไห้ดังนี้ เจ้ากูจะมิได้คืนเข้าไปเถิงพุกาม อโนรถามางช่อก็ถามโหราทั้งสองว่า จะเป็นเหตุการณ์ฉันใด สมะผยูก็ทูลว่า มหิษ[๕๒]ตัวหนึ่งจะมาพิฆาตเจ้ากู จึงสมะโยทูลว่า อันจะเถิงมรณาการด้วยมหิษนั้นหามิได้ แลซึ่งจะเถิงมรณาการนั้นด้วยต้องไม้แหลมอนึ่ง อโนรถามางช่อก็โกรธแก่โหราจารย์ทั้งสองให้เอาไปจำไว้ อยู่มาอโนรถามางช่อเสด็จมาเถิงปตูเมือง จึงมีผู้ทูลแต่อโนรถามางช่อว่า พบมหิษเถื่อนตัวหนึ่ง แลอโนรถามางช่อก็ขี่ช้างไปยังมหิษนั้นๆ ก็วางมาตีช้าง แลอโนรถามางช่อตกลงจากช้าง มหิษขวิดอโนรถามางช่อกะจัดไปต้องไม้แหลมเสียบลง ก็เถิงสิ้นอาสันนกาลในที่นั้น เทวดาทั้งหลายก็เอาศพอโนรถามางช่อไปสงสการเถิงคันธมาทนบรรพต โหราจารย์ทั้งสองนั้นครั้นอโนรถามางช่อหามิได้แล้วก็พ้นจากโทษอันต้องจำนั้น

อันว่าบุรุษผู้มีปัญญาทั้งปวง เมื่อจะคิดอ่านในสำนักพระมหากระษัตริย์เจ้านั้น ถ้าคิดอ่านพิดทูลโดยราชนุวัตรไซร้ ให้อนุกูลโดยราชหฤทัยแห่งพระมหากระษัตริย์เจ้านั้น ถ้าแลพระมหากระษัตริย์เจ้าให้คิดอ่านโดยการแห่งผู้มีปัญญาไซร้ จึงให้พิดทูลโดยอันเห็นผิดชอบนั้นจึงจะหาโทษมิได้ อนึ่ง อโนรถามางช่อเหตุมิฟังคำโหราทั้งสองซึ่งพิดทูลจะให้เป็นประโยชน์นั้น จึงเถิงซึ่งพินาศด้วยประการดังนั้น

จะกล่าวโดยธรรมเทศนาแห่งพระสรรเพชญพุทธเจ้านั้นว่า พระมหากระษัตริย์เจ้าจงกอปรด้วยทรงคุณเจ็ดประการ ประการหนึ่งคือคุณแห่งพระอินทราธิราช ประการหนึ่งคือคุณแห่งพระอาทิตย์ ประการหนึ่งคือคุณแห่งพระพายุ ประการหนึ่งคือคุณแห่งพระยมราช ประการหนึ่งคือคุณแห่งพระมหาสมุทร ประการหนึ่งคือคุณแห่งพระจันทร์ ประการหนึ่งคือคุณแห่งพระธรณี

อันว่าคุณแห่งพระอินทราธิราชนั้น คือบังเกิดให้พรรโษทก[๕๓] ตกลงมาในภูวโลกนี้ แลให้เป็นสุขแก่นิกรนรสัตว์ทั้งปวง อันว่าพระมหากระษัตริย์เจ้าจงประสาททานบริจาคแก่มหาชนคณะประชาราษฎรทั้งหลายให้เป็นสุขดุจนั้น

อันว่าคุณแห่งพระอาทิตย์นั้น คือกอปรด้วยฤทธานุภาพอาจให้พรรษธารอันตกลงมาในแปดเดือนนั้นแห้งด้วยอานุภาพได้ฉันใดไซร้ พระมหากระษัตริย์เจ้าจงกอปรด้วยการอันจะเรียกเอาส่วยสารากรอันมีทั่วสีมามณฑลทั้งปวงนั้น

อันว่าคุณแห่งพระพายุไซร้ อาจพัดเข้าไปในสรีรสกนธ์แห่งนรโลกทั้งหลายบ่ให้รู้ตัวได้แลมีฉันใดไซร้ พระมหากระษัตริย์เจ้าจงกอปรตกแต่งอุปนิกขิต[๕๔]ไปอยู่ในเมืองราชศัตรูอย่าให้รู้ตัวได้ดุจนั้น

อันว่าคุณแห่งพระยมราชไซร้ คือบ่มิได้รักชังผู้ใด ๆ แลให้ลงโทษแก่สัตว์นรกทั้งหลายโดยอกุศลกรรมนั้นฉันใดไซร้ พระมหากระษัตริย์เจ้าจงกอปรด้วยการอันประพฤตินั้น

อันว่าคุณแห่งพระมหาสมุทรไซร้ คืออุทกธาราในเบญจมหานที[๕๕]แลอุทกธาราในขุททกนทีธาร[๕๖]ทั้งห้าร้อยนั้น พระมหาสมุทรมิได้เรียกก็ไหลลงยังมหาสมุทรนั้น

อันว่าคุณแห่งพระจันทร์ไซร้ คือเป็นที่เสนหแก่นิกรนรโลกทั้งปวง แลพระมหากระษัตริย์เจ้าจงกอปรด้วยประพฤติการเป็นที่เสนหแก่ประชาราษฎรทั้งหลายดุจนั้น

อันว่าคุณแห่งพระธรณี คืออาจทรงสรรพสัตว์ทั้งปวงให้เป็นสุขอยู่ได้ แลพระมหากระษัตริย์เจ้าจงกอปรด้วยการประพฤติเป็นประโยชน์แก่ประชาราษฎรทั้งหลายให้เป็นสุขเกษมเปรมประชาสมบูรณ์ดุจนั้น

จะกล่าวโดยโลกวัตรว่า พระมหากระษัตริย์เจ้าไซร้ กอปรด้วยคุณวิเศษอุปรมาประดุจพระมหาโพธิพฤกษ์อันกอปรด้วยสารุทธฉายา[๕๗]สาขาบริมณฑลดลสถิตในฐานข้างมรรคา แลมีชลธารามหาสระในสถานนั้น แลเทวบุตรอันมีในสาธุสัปบุรุษอยู่เป็นอารักษ์ในพระมหาโพธิพฤกษ์นั้น คนทั้งหลายผู้เดินหนทางทั้งปวงก็ลงอาบน้ำในสระนั้นแล้ว ก็เข้าอยู่อาศัยในฉายาพระมหาโพธิพฤกษ์ แลได้บริโภคโภชนาอาหารเป็นสุขสบาย

อันว่าบุรุษผู้มิได้เข้าไปอาศัยในร่มฉายาแห่งพระมหาโพธิพฤกษ์นั้น ก็เป็นโทษแห่งบุรุษนั้นเอง แลจะโทษพระมหาโพธิพฤกษ์นั้นบ่มิได้ ประการหนึ่งเล่า พระมหากระษัตริย์เจ้าอุปรมาประดุจสุพรรณมหาบรรพตราช แลบุรุษผู้ใดได้ไปเถิงสุพรรณมหาบรรพตราชนั้นแล้ว แลบ่มิได้เอาสุพรรณชาติมา แลเอาแต่ถ่านอัคคีมายังเรือนไซร้ ก็เป็นโทษแห่งบุรุษผู้นั้นเอง จะโทษสุพรรณมหาบรรพตราชนั้นบ่มิได้แล

อันว่าพระมหากระษัตริย์เจ้าผู้จะครองแผ่นพิภพมณฑลสืบไปภายหน้า จงกอปรด้วยทศพิธราชธรรมแลกอปรด้วยคุณวิเศษอันกล่าวมานั้น ก็จะมีเดชะตระบะอานุภาพแลมีฤทธิ์แลฝีมือปรากฏ แลจะมีวาจาสิทธิ์ทุกประการแล

อันว่าพระมหากระษัตริย์พระองค์ใดแลได้เป็นอุปรการอุปรถัมภกแก่พุทธศาสนาไซร้ พระมหากระษัตริย์เจ้าพระองค์นั้นก็เป็นที่เสนหพึงพอใจแห่งเทวดามนุษย์ทั้งหลาย แม้นราชศัตรูผู้ใด ๆ จะเบียดเบียนก็เถิงบราไชยพินาศไปเองแล

อันว่าพระมหากระษัตริย์เจ้า เมื่อจะยกพลศึกไปยังเมืองท่านนั้น ถ้ารู้ว่านิมิตอันเป็นอสุภนิมิตบังเกิดมีในเมืองท่านไซร้ ก็ควรให้ยกไป อนึ่ง เสนามนตรีผู้มีปัญญามาก พลทหารมากก็ควรให้ยกไป

จะกล่าวนิทานในธรรมเทศนาว่า อภัยทุษฐคามนีราชนั้น เหตุเอลราชเป็นทมิฬมากทำธรรมานตรายแก่พุทธศาสนา แลอภัยทุษฐคามนีราชยกพลเศิกไปรบพุ่งแลพิฆาตทมิฬทั้งหลายเสียมากนัก แลซึ่งจะได้บาปไซร้ ก็เป็นอันน้อยนัก แต่คนหนึ่งปรนนิบัติแก่มารดาคนหนึ่งอยู่แก่เบญจสีล แลเป็นบาปแต่สองคนนี้

ในภัททกัลป์นี้พระพุทธเจ้าพระเจ้าตรัสห้าพระองค์ อันว่าพระมหากระษัตริย์ผู้กอปรด้วยองค์ ๔ ประการ แลจะยกยอพระศาสนาให้รุ่งเรืองไปภายหน้า ถ้าแลมิได้เป็นมิตรไมตรีด้วยกันไซร้ อุปรมาประดุจบุรุษผู้มิได้เข้าอาศัยในร่มพระมหาโพธิ แลมิได้ลงอาบน้ำในสระโบษขรณี อนึ่ง อุปรมาดุจบุรุษผู้ได้พบกาญจนบรรพตแล้ว แลมิได้เอาทอง แลเอาแต่ถ่านอัคคีมายังเรือนนั้น

อันว่าพระมหากระษัตริย์ผู้ยกยอพระศาสนาดุจกัน แลมิได้เป็นไมตรีด้วยกันนั้นก็เสียประโยชน์สืบไปเถิงพระราชบุตรพระราชนัดดา แลเสียความรู้ทุกประการ

อันว่าพระมหากระษัตริย์ผู้มีเดชเดชานุภาพ แลได้ออกพระโอษฐ์ประการใด ๆ แล้วแลจะมีผู้ว่า การนั้นกลับแปรคืนเล่าไซร้ อย่าควรเชื่อถ้อยคำผู้นั้น มาตราว่ามีผู้มาบอกว่ามหาสมุทรขอดแห้งไป ว่าพระเมรุราชทำลาย ว่าพระจันทร์พระอาทิตย์ดำเนินโดยอุดราอัฏ[๕๘] แลถ้อยคำกล่าวดังนี้ ผิผู้ใดจะเชื่อไซร้ ก็พึงควรเชื่อโดยผู้กล่าวนั้น แลซึ่งว่าพระมหากระษัตริย์ออกพระโอษฐ์แล้วแลจะกลับคืนเล่าไซร้ อย่าพึงเชื่อนัก

อันว่าพระมหากระษัตริย์ผู้กอปรด้วยวาจาสัตย์นั้น ก็มีเดชะตระบะอานุภาพยิ่งนักแล้ว

จะกล่าวโดยธรรมเทศนาว่า บุทคลทั้งหลายในโลกนี้ ผู้ปรารถนาน้อยไซร้ย่อมได้มาก ผู้ปรารถนาได้มากไซร้ย่อมได้น้อย อันว่าสมเด็จมนทาดุลมหาจักรพรรดิราชนั้น อถกาล[๕๙]เป็นอธิบดีอิศวรภาพในภูวโลกนี้ แล้วก็ได้เป็นอธิบดีขึ้นไปเถิงภวัครพรหม แลสมเด็จมนทาดุลราชนั้นครั้นเกิดโสมนัสแลเอาพระหัตถ์ทั้งสองข้างตบกันเข้าเมื่อใดไซร้ ห่าฝนแก้วสัปดพิธรัตนก็ตกลงเมื่อนั้น เมื่อสมเด็จมนทาดุลราชเสด็จขึ้นไปเถิงดาวดึงสาสวรรค์นั้น พระอินทร์ก็แบ่งสมบัติในสวรรค์นั้นให้กึ่งหนึ่ง ได้ให้สัตยาต่อกันแล้ว อยู่มาสมเด็จมนทาดุลราช จะใคร่ชิงเอาสมบัติในสวรรค์เองมาประดิษฐานในอุทยาน เหตุสมเด็จมนทาดุลราชมิได้ครองโดยสัตยาแลกอปรด้วยโลภจึงตกลงมาจากสวรรค์นั้น

จะกล่าวทำเนียมหนึ่งเล่า ในเมืองพุกาม พญาพุกามนั้นมีราชกุมาร ๒ องค์ แลราชกุมารผู้พี่นั้นอยู่ไกล แลราชกุมารผู้น้องนั้นชื่อกุลยะมางอยู่ในเมืองพุกามด้วยราชบิดา อยู่มาเมื่อพญาพุกามเถิงแก่อนิจกรรม กุลยะมางกทำเล่ห์กล แสร้งให้พระสงฆ์ผู้เป็นราชครูไปเชิญราชกุมารผู้พี่เข้ามาเป็นพญา แลได้ทำสัตยาธิษฐานต่อกัน ส่วนพระสงฆ์ผู้เป็นราชครูนั้นคิดสุวภาพว่า ราชกุมารไซร้ เป็นราชบุตรแห่งพระมหากระษัตริย์องค์หนึ่ง แลถ้อยคำเจรจานั้นเสมอพระจันทร์ พระอาทิตย์ใช่ที่จะตกลงมาในแผ่นดิน พระสงฆ์นั้นจึงไปเชิญราชกุมารผู้พี่เข้ามา กุลยะมางก็ออกมารับราชกุมารผู้พี่ แลตกแต่งข้าทหารผู้สนิทให้ถือพระขรรค์ แลแบกราชยานรับราชกุมารผู้พี่ขึ้นเรือนหลวง แลให้สัญญาอาณัติว่า ครั้นราชกุมารผู้พี่ขึ้นเถิงเรือนหลวงไซร้ ผู้ถือพระขรรค์แลผู้แบกราชยานทั้งปวงนั้น กุมเอาราชกุมารผู้พี่นั้นพิฆาตเสีย แลราชกุมารผู้พี่นั้นเหตุสุวภาพมิได้รู้ตัวก็ถึงซึ่งพินาศ จึงพระสงฆ์ผู้ไปเชิญราชกุมารเข้ามานั้นก็ว่า ซึ่งราชกุมารผู้น้องมิได้ครองโดยสัตยาธิษฐาน แลมาพิฆาตราชกุมารผู้พี่ดังนี้ เรามิควรอยู่ในประเทศในเมืองนี้ อย่าว่าเถิงบิณฑบาตเลย แต่น้ำใช้น้ำฉันเราบ่มิควรอาศัยในเมืองนี้ พระสงฆ์นั้นก็ไปจากเมืองพุกาม แลไปยังประเทศเมืองอื่น ครั้นกุลยะมางขึ้นเป็นพญาแล้ว อยู่มาราชเทวีว่ากุลยะมางมิได้สะอาด แลราชเทวีมิได้สมิครสมานด้วยกุลยะมาง ๆ ก็พิฆาตราชเทวีนั้นเสีย จึงบิดาราชเทวีนั้นแต่งคุลา ๗ คน ให้ทองแลคนแลแลพันตำลึง[๖๐] ให้เอาเพศเป็นพราหมณ์ เหน็บกริชแล้วถือสังข์สำหรับพราหมณ์เข้าไปถวายน้ำสังข์แก่กุลยะมาง แลพิฆาตกุลยะมางให้เถิงสิ้นชีวิต เหตุกุลยะมางมิได้ครองความสัตย์แลพิฆาตราชกุมารผู้พี่เสียนั้นก็เถิงซึ่งพินาศ ในคดีโลกเถิงซึ่งบราไชย ในคดีธรรมเล่าก็เถิงซึ่งบราไชย อนึ่งโสด พราหมณ์ก็ดี ผู้ใด ๆ ก็ดีอันบ่มิเคยเข้าใกล้พระมหากระษัตริย์ไซร้ ให้พิจารณาจงนัก แลอย่าให้เข้าใกล้พระมหากระษัตริย์เจ้าเพราะมีทำเนียมดังนี้

ในขณะเมื่อพระสรรเพชญพุทธเจ้าเสด็จนฤพานแลเสด็จไปยังเมืองกุสินาราย ก็เสด็จอยู่พักอยู่ในร่มไม้แห่งหนึ่งกลางมรรคานั้น ยังมีราชกุมารพี่น้องสองคน ผลัดกันเป็นพญาแลคนแลเจ็ดวัน ครั้นผู้หนึ่งเป็นพญาไซร้ ราชกุมารผู้หนึ่งก็ไปทำพานิชกรรม นำเกวียนห้าร้อยมาเถิงพระสรรเพชญพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในร่มไม้นั้น ราชกุมารเอาผ้าสองผืนค่าแลแสนตำลึงทองมาถวายแก่พระสรรเพชญพุทธเจ้า ๆ ก็รับเอาผ้าสองผืนนั้นแล้วก็มีพุทธฎีกาตรัสถามราชกุมารนั้นว่า ท่านทั้งสองเป็นสมัครสมานด้วยกัน แลผลัดเป็นพญาแลคนแลเจ็ดวันจริงฤๅ ราชกุมารรับเอาพุทธฎีกาว่า ข้าพระเจ้าผลัดกันเป็นพญานั้นจริง จึงพระสรรเพชญพุทธเจ้ามีพุทธฎีกาแก่พระอานนทเถระว่า ราชกุมารทั้งสององค์สมัครสมานเป็นเอกจิตด้วยกันใช่แต่กาลบัดนี้ แลราชกุมารทั้งสองนี้เป็นสมัครสมานสุวภาพต่อกันในอดีตกาลโพ้นเป็นหลายชาติ แลซึ่งราชกุมารทั้งสองตั้งไมตรีกันโดยสุวภาพนั้น พระสรรเพชญพุทธเจ้าก็มีพุทธฎีกาอนุโมทนานักหนา

อันว่ามหาชนจดุรพรรค[๖๑]ทั้งปวง ครั้นมิได้อยู่ในสัตย์ไซร้ โทษนั้นก็จะเถิงด้วยฉับพลัน ครั้นอยู่ในสัตย์ธรรมไซร้ คุณนั้นก็จะมาเถิงฉับพลัน อย่าได้สนเท่ห์เลย แม้นว่าตีลงในแผ่นดินนี้ผิดก็ดี ธรรมเทศนาพระสรรเพชญพุทธเจ้าบัณฑูรนั้น ก็บ่ห่อนจะแคล้วสักสิ่งหนึ่งเลย อันว่าถ้อยคำผู้มีรู้หลักเจรจานั้นก็พอฟังได้

จะกล่าวทำเนียมหนึ่งเล่า อันว่าภัยภิตนั้นบ่มิได้เถิงมรณาการมีในธรรมเทศนาว่า พระโพธิสัตว์เกิดในเมืองตักกสิลานคร เป็นคุรุทิศาปาโมกข์ จึงบุรุษผู้หนึ่งมาเรียนเอาศาสตรามนตร์ แลนางผู้เป็นมารดาโพธิสัตว์นั้นอายุได้ร้อยเจ็ดสิบพรรษา จักษุทั้งสองข้างนั้นบ่ได้แลเห็น แลบุรุษผู้เป็นศิษย์แห่งโพธิสัตว์นั้น ว่าจะได้เป็นเคหฐานด้วยนางนั้น ๆ ถืออสิธารา[๖๒]จับราวเดินมาประหารที่เทห[๖๓] ว่าจะพิฆาตพระโพธิสัตว์ ๆ ก็ถามมารดาว่ากทำสิ่งใด ครั้นนางผู้เป็นมารดาได้ฟังถ้อยคำพระโพธิสัตว์ถามนั้น ก็บังเกิดละอายนักหนา ล้มลงเถิงสิ้นชีวิตในที่นั้น อันว่าภัยภิต[๖๔]มิได้เถิงมรณาการ แลการอันได้ละอายแลเถิงมรณาการนั้น คือนิทานอันกล่าวนี้แล

จะกล่าวทำเนียมหนึ่งเล่า ผู้มีปัญญาทั้งปวง ในที่จะควรภิตไซร้ ก็เถิงซึ่งภัยภิต ในที่จะควรละอายก็เถิงซึ่งละอาย

ประการหนึ่งในที่ควรภิตไซร้ ก็มาเกิดละอายในที่ควรละอาย ในที่จะควรละอายไซร้ ก็มาเกิดภัยภิต

อันได้กล่าวถ้อยคำมิเป็นสัตย์นั้นก็ควรละอาย อนึ่ง การมิควรที่จะทำได้ทำนั้นก็ควรละอาย อนึ่ง รู้หลักเท่ากันแลกิริยาอาการมิเท่ากันนั้นก็ควรละอาย อนึ่ง รู้หลักเท่ากันโภคสมบัติมิเท่ากันก็ควรละอาย ประการหนึ่งกุศลแห่งอาตมาหาบ่มิได้ จึงโภคสมบัติมิเท่าท่านก็มิควรที่จะอยู่เป็นสุขดุจเดียว ประการหนึ่งรับราชการมิเสมอท่านก็มิควรที่จะอยู่เป็นสุข ประการหนึ่งเจ้าจะน้อยใจแก่ข้าไซร้อยู่เป็นสุข แลซึ่งข้าจะน้อยใจแก่ข้านั้นจะอยู่มิเป็นสุขแล

จะกล่าวทำเนียมโดยธรรมเทศนาว่า พระฉันนเถระน้อยใจแก่พระสรรเพชญพุทธเจ้าว่า เมื่อพุทธองค์เสด็จมหาภิเนษกรมณ์นั้น แต่เราผู้เดียวได้มาโดยเสด็จพุทธองค์จึงพระฉันนเถระกทำกิริยาประดุจเป็นอุนมาทจิต[๖๕]มิฟังพุทโธวาทสั่งสอน พระสรรเพชญพุทธเจ้าก็เสด็จอยู่เป็นเอกจิต แลนิทานนี้ก็มีในธรรมเทศนา แลซึ่งพระมหากระษัตริย์เจ้าจะเลี้ยงข้าไททั้งปวงไซร้ ควรเลี้ยงโดยคุณวุทธิอันจะควรแก่ผู้นั้น

อันว่าพระจันทร์พระอาทิตย์นั้นในฐานที่อบริสุทธิ์กดี ก็ส่องรัศมีเถิงฐานทั้งปวงทั่วทุกแห่งก็ดี อนึ่งโสด พระสรรเพชญพุทธเจ้าเสด็จบัณฑูรธรรมเทศนานั้น บุคคลผู้เป็นหีนชาติก็ดี บุคคลผู้เป็นอุดมชาติก็ดี พุทธองค์ก็บัณฑูรธรรมเทศนาโปรดทั่วบุคคลทั้งปวง

จะกล่าวทำเนียมหนึ่งเล่า อันว่าพระจันทร์พระอาทิตย์นั้น เมื่ออุบาย[๖๖]ขึ้นมา แลมหาชนทั้งปวงผู้ใด ๆ เล็งแลดูไซร้ ก็ย่อมว่าพระจันทร์พระอาทิตย์ส่องรัศมีมาซึ่งอาตมาภาพนี้ทุกคน อนึ่ง บุษปมาลาอันชื่อสุริยาบุปผา[๖๗]นั้น คอยอยู่ท่าพระอาทิตย์ ครั้นพระอาทิตย์อุบายขึ้นมาก็เถิงซึ่งวิกสิตภาพ[๖๘] ในเวลาตระวันชาย สุริยาบุปผานั้นก็คืนคงเป็นมกุลภาพ[๖๙]อยู่ แลมีอุปรมาฉันใดไซร้ อันว่าพระมหากระษัตริย์เจ้าจะมีพจนารถแก่อำมาตย์มนตรีประการใด ๆ ไซร้ อำมาตย์มนตรีทั้งปวงก็คอยอยู่ท่าฟังซึ่งพระมหากระษัตริย์เจ้าจะมีพจนารถนั้น ก็พิดทูลอนุกูลตามพจนารถแห่งพระมหากระษัตริย์เจ้าทุกประการ แลซึ่งอันจะเป็นยุกดิก็ดี อันบ่มิเป็นยุกดิก็ดีไซร้ ควรพระมหากระษัตริย์เจ้าพิจารณาการนั้นจงเป็นแม่นด้วยพระปัญญาเอง อันว่าพจนารถแห่งพระมหากระษัตริย์เจ้าบัญชาการสิ่งใด ๆ อำมาตย์มนตรีทั้งปวงควรจำโดย[๗๐]พระบัณฑูรแห่งพระมหากระษัตริย์เจ้าจงทุกประการ

อนึ่ง อันว่าถ้อยคำบิดาว่ากล่าวประการใด ๆ แลกทำโดยคุณวุทธิประการใด ๆ ไซร้ ควรผู้เป็นบุตรจำไว้แลประพฤติตามจงทุกประการ ครั้นบุตรจำโดยคำแลคุณวุทธิแห่งบิดาไซร้ ผู้เป็นนัดดาก็จะ ได้กทำตามสืบไป

จะกล่าวอุปรมาประดุจบุรุษผู้ได้ไปเถิงเมืองตักกสิลา แลมิได้เรียนเอาศิลปศาสตร์แลไปพิฆาตผู้เป็นครูนั้นเสีย ประการหนึ่งอุปรมาประดุจบุรุษผู้ไปเถิงมหาชมพูพฤกษ์[๗๑] แลมิได้บริโภคยังผลแห่งมหาชมพูพฤกษ์ แลเอาผลลางโพง[๗๒]มาบริโภคเกิดเป็นอุนมาทจิตนั้น แลมีอุปรมาฉันใดไซร้ อันว่าบุรุษผู้ได้พบผู้มีปัญญาแล้ว แลมิได้ไต่ถาม มิได้เล่าเรียนเอาความรู้นั้นก็หาประโยชน์บ่มิได้ ประดุจบุรุษผู้เขลาทั้งสองคนนั้น อันว่าบุรุษผู้นั้นเมื่อประพฤติอาตมาประโยชน์มิได้แล้ว แลจะประพฤติประโยชน์แก่ท่านด้วยประการฉันใด ครั้นผลประโยชน์ในปัจจุบันหาบ่มิได้ไซร้ ผลประโยชน์อนาคตนั้นก็หาบ่มิได้ทุกประการแล

อันว่าบุคคลผู้ใดไปเสพสมาคมกล่าวถ้อยคำเจรจาด้วยบุรุษผู้พาลนั้น อุปรมาประดุจเข้าไปจับเอาพยัคฆ์แลเอายาพิษมาบริโภคแล

อันว่าบุคคลผู้ใดพบผู้มีปัญญาไซร้ ให้ตั้งใจถามเล่าเรียนเอาความรู้จงทุกประการ แม้นว่ามิได้พบผู้มีปัญญาก็ดี ก็พึงให้เอาฉบับทำเนียมแห่งผู้รู้หลักสามารถนั้น อันว่าผู้มีกระกูลทั้งปวง ได้ประพฤติตามฉบับทำเนียมกิริยาอาการแห่งผู้รู้หลักนั้นไซร้ ก็จะเป็นประโยชน์ในโลกวัตรแล้วก็จะเป็นประโยชน์ในธรรมวัตรเล่า ครั้นกอปรด้วยประโยชน์ในธรรมวัตรแล้วไซร้ แม้นว่าจะปรารถนาซึ่งโพธิญาณทั้งสามประการนั้น คือ สัพพัญญูโพธิญาณก็ดี ปรัตเยกโพธิญาณก็ดี สาวกโพธิญาณก็ดี ก็จักลุประการหนึ่งโดยปรารถนาแห่งอาตมาภาพนั้นแล ๚

๚ จบราชธรรมบูรณแล ๚



[๑] พ หน้า = ภายหน้า เทยบคำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า ว่า “แต่นี้ พ หน้าทาง ก็ตระดาษทังผอง”

[๒] อิหโลก = โลกนี้ (สํ.) อิห นี้

[๓] เอกสตราช = กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์

[๔] อักโษภิณี = จำนวนนับอย่างสูง คือ ๑ ตามด้วย ๐ จำนวน ๔๒ ตัว

[๕] พมาณ = ประมาณ

[๖] กทำ = กระทำ

[๗] อาสันนกาล = ใกล้ (ป.) อาสนฺน อาสันนกาลจุติ คือ เวลาใกล้จะดับ เวลาใกล้ตาย

[๘] ทำเนียม = แผลงจาก เทียม แปลว่า เสมอ,เทียบ,เท่า ในที่นี้หมายถึง เอาราชประเพณีโบราณมาเทียบเป็นแบบอย่าง

[๙] กุกกุฏบดก = ลูกไก่

[๑๐] โกศอันตละ = ขณะเมื่อยังเป็นไข่

[๑๑] อธิวัตถา = อยู่, สิงอยู่ (ป.) อธิวตฺถ

[๑๒] ปิยงคพฤกษ์ = ไม้ประยงค์ (ป.) ปิยํคุ

[๑๓] อสัตถพฤกษ์ = ไม้โพ

[๑๔] เสียยังแล้ว = เสียก่อน

[๑๕] กุกกุร = สุนัข

[๑๖] อชิกากร = ฝูงแพะ (สํ) อชิ + ก + อากร

[๑๗] กาโกลกปักษี = กาป่า

[๑๘] กลันทะ = กลันทกะ หมายถึง กระรอก กระแต

[๑๙] จินดาการ= จินตาการ คือ ความคิด

[๒๐] ถ่า = ท่า ครั้ง (เทียบ “ถ่า” ในกฎหมายตราสามดวง)

[๒๑] สัปดพิธรัตน = แก้ว ๗ ประการ

[๒๒] พิพัฑฒายุศ = มีอายุเจริญขึ้น

[๒๓] บุษบามัญชุศพฤกษ์ คือ บุษบา = ดอกไม้, มัญชุ = งาม อ่อนหวาน

[๒๔] อัฏฐารสศิลปะ = ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ

[๒๕] ความในต้นฉบับใช้ว่า “เกืดเปนเหดุดวย้ดงง่ผืนนึง” ยังไม่ทราบว่า “ดงง่” ในที่นี้หมายความว่าอย่างไร

[๒๖] พีช = พืช,เมล็ด

[๒๗] อำพน = ดาษดื่น

[๒๘] สะเภา = สำเภา

[๒๙] กดาน = กระดาน

[๓๐] เป็นช้าง หมายถึง เป็นใหญ่

[๓๑] มัจฉริยะ หมายถึง ความตระหนี่

[๓๒] คุยรหัส หมายถึง ความลับ

[๓๓] สุราโสณฑ หมายถึง นักเลงสุรา

[๓๔] ผู้โลภดำฤษณา หมายถึง ผู้มักมากในกามคุณ นักเลงหญิง

[๓๕] โรม หมายถึง ขน

[๓๖] บ้าน หมายถึง หมู่บ้าน

[๓๗] นามไธย น่าจะตัดศัพท์มาจาก นามาภิไธย (นาม + อภิไธย)

[๓๘] พระปรัตเยกโพธิ = พระปัจเจกโพธิ คือ พระพทธเจ้าที่ตรัสรู้เฉพาะพระองค์

[๓๙] ทิพยปานะ  นํ้าทิพย์

[๔๐] มท = เมา ความเมา

[๔๑] อาทาสมณฑล หมายถึง กระจกส่องหน้า

[๔๒] กระลาการ = ตระลาการ คือตุลาการ ผู้ตัดสินพิจารณาคดี

[๔๓] อนึ่ง = อันหนึ่ง

[๔๔] มุธ = มุธา คือ กำมือ

[๔๕] สฤงคาล = สิงคาล คือ สุนัขจิ้งจอก

[๔๖] อพมาณ = อัประมาณ คือ ความอาย

[๔๗] อุลุกปักษี = นกแสก นกเค้า

[๔๘] หัตถาโรหโยธา = กองทัพช้าง (หตฺถี + อารุห + โยธา)

[๔๙] หัสสาโรหโยธา = กองทัพม้า (อสฺส + อารุห + โยธา)

[๕๐] อัคคีกุณฑ์ = กองเพลิง หลุมเพลิง

[๕๑] มณโฑ = มณฺฑูโก คือ กบ

[๕๒] มหิษ = ควาย

[๕๓] พรรโษทก = พรรษ + อุทก คือ นํ้าฝน

[๕๔] อุปนิกขิต = จารบุรุษหรือคนสอดแนม

[๕๕] เบญจมหานที คือ แม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ สาย ได้แก่ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภูและมหิมหานที

[๕๖] ขุททกนทีธาร = แม่น้ำเล็กๆ

[๕๗] สารุทธฉายา  ร่มเงา

[๕๘] อุดราวัฏ = อุตราวัฏ หมายถึงเวียนไปทางซ้าย

[๕๙] อถกาล = “ในกาลนั้น ในครั้งนั้น

[๖๐] หมายถึง ให้ทองคนละพันตำลึง

[๖๑] มหาชนจดุรพรรค = วรรณะทั้ง ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร หรืออาจหมายถึงพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ก็ได้

[๖๒] อสิธารา = มีด ดาบ

[๖๓] เทห = กาย ร่างกาย

[๖๔] ภัยภิต หมายถึง ภัยอันพึงกลัว (ภีต = สิ่งอันพึงกลัว)

[๖๕] อุนมาท = เมาขึ้น บ้า สํ อุรมาท

[๖๖] อบาย = อุท +ปาย หมายถึง เจริญขึ้น

[๖๗] สุริยาบุปผา = ดอกทานตะวัน

[๖๘] วิกสิตภาพ = วิกสิตภาว คือ ภาวะอันบานแล้ว

[๖๙] มกุลภาพ = มกุลภาว คือ ภาวะอันตูม

[๗๐] จำโดย = ปฏิบัติตาม ทำตาม

[๗๑] มหาชมพูพฤกษ์ = ไม้หว้าใหญ่อันเป็นประธานของชมพูทวีป

[๗๒] ลางโพง = ลำโพง ไม้ประเภทเบื่อเมาชนิดหนึ่ง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ