ราชวิจารธรรม

ร่าย พระมหาจักรพรรดิ กล่าวอรรถในกามนทกี มีผู้เป็นองค์ท้าวพญา รักษาธรรมครองยศ ทรงทศพิธครองพงศ์ จำนงสัตว์สู่ฟ้า ชักหน้าสู่เมืองสวรรค์ กันศัตรูภายใน ไสศัตรูภายนอก อย่ากระลอกกระลับตามพาลกล่าว อย่าท้าวร้ายเสียดี จงมีใจอุตสาหะ ผี้จะกล่าวอันใด ได้ตริแล้วไซร้คงสัตย์ จงรู้อรรถภิปราย ให้เป็นสายเป็นเงื่อน ที่เป็นเพื่อนเป็นมิตร คิดแผ่ราชสีมา ตราไตร่หาที่แกล้ว แล้วจัดหามนตรี ตรวจเสนีเสนา หาจัตุรงค์พลพยู่ห์ หมวดหมายหมู่กำหนด กฎไว้เป็นตำรา อย่าให้คลาให้คลาด เอาทุกข์ราษฎร์ทั้งหลาย หมายสำนวนด่วนคำ หาจงยำจงแท้ แก้สิ่งยากให้ง่าย บ่ายสิ่งร้ายให้ดี มีใจจงเกาะฉบับ นับโบราณอันชอบ กอปรด้วยผดุงผดา ถืออาชญาจงเที่ยง เพี้ยงพ่อข้าพ่อไท ถ้าพอตัดให้ตัด ถ้าพอรอนให้รอน พอทอนทอนจงเที่ยง ดูเยี่ยงลิ้นตราชู ปลิดตีนปูตัวเปล่า เผ่าทูรชนอย่าเลี้ยง ใจพบเพียงกระลี ทำโดยพิรียพยายาม ดุจพระรามเทพ เสพด้วยมิตรมหึมา แสวงหามิตรได้ ไว้พระยศคืนคง ปลงศัตรูด้วยศักดิ์ หักศัตรูด้วยเดช เหตุท้าวทศกัณฐ์ ใจอาธรรม์เบียดเบียน เป็นเสี้ยนเสียดยอกตัวตน เธอก็จองถนนข้ามสมุทร ยุทธด้วยเจ้าลงกา พรับตาเดียวท่านได้ ไว้พิเภกกินเมือง เรืองพระยศเท้ากัลปา ได้สีดามามือ ฦๅพระเกียรติหึงนาน สารพาลีสุครีพ พี่น้องถีบกันเสีย เยียกลดังพิเภก หลีกพี่พรากจากองค์ ดุจดั่งหงส์สองปาก ภาคเดียวกายเกลียวกลม ชมกันกินซซิก พลิกใจแต่ตัวสอง ครองดั่งนั้นบันดล ยุบลการฉบับ บังคับใจจงจำ ทำเยี่ยงกลพระราม ความยุบลกลหนึ่งเล่า เผ่าพระโพธิสัตว์ บำบัดศัตรูด้วยกล ยุบลเจ้ามโหสถ กดไกรวัฏพราหมณ์ ท้าวจุลนีขามพ่ายพัง พลทะลวงสรังเสริดพ่าย ได้ด้วยง่ายมามือ ปรีชาคือเกาทัณฑ์ ขึ้นยืนยันปืนพาด ตระหวาดวางศรก่อนง่า ผ่ากลางรงค์ด้วยแม่น พลทะลวงแล่นหักโหง บ่ เป็นโต่งเป็นส่ำ บ่ เป็นค่ำเป็นวัน เหตุอันบ่ มิคิด บ่ มิพิจารณา หาระบอบระบิลศิลปเกาะ ริเพาะพลมลศักดิ์ บัดประภูภักดิ์ บ่ นาน การจะเป็นท้าวเป็นพญา แสวงหาศักดิ์ทั้งสาม ตามโบราณนัยว่าไว้ กลหนึ่งไซร้เธอกล่าว ท้าวในระบิลบรรณ์ ท่ ทรรพ์ด้วยท้าวทุรโยธน์ ฝ่ายหนึ่งโกรธกำหนัด ฝ่ายหนึ่งสัตย์เป็นประธาน พลทวยทหารสองข้าง พลช้างม้าพลรถ พลแสนสาหสมหึมา พระมหากฤษณราชเป็นเจ้า เข้าเป็นครูอุปเทศ ลวงเลศกันไปมา ส่วนพระราชาทุรโยธน์ แพ้ด้วยโกรธใจพาล การผู้จะเป็นท้าวเป็นพญา ไต่ถามหาฉบับชอบ ประกอบด้วยปรีชา พิจารณาหามิตร อันสนิทสนององค์ คือจัดุรงคมนตรี คือมเหสีสมยศ ปรากฏเดชขุนพล คือคนผู้หาญผู้ห้าว ครองข้าท้าวในรงค์ ครองพระองคนรินทร์ ครองแผ่นดินให้กว้าง กอปรด้วยช้างด้วยม้า ครองไพร่ฟ้าโยธาหาญ หว่านธนทรัพย์เข้าคลังหลวง เลี้ยงราษฎร์ทั้งปวงให้ชื่น หื่นใจขันอาสา หาผู้สวามิภักดิ์ รักราษฎร์รักเจ้าตน ตริหากลดั่งนี้ ๚

๏ ผี้ขุนใดใจซื่อ ขุน บ่ สื่อถ้อยคำพราง ขุน บ่ อางขนางแก่เจ้า ขุนตื่นเช้ามางาน ขุน บ่ทัดทานองค์ ขุน บ่ ทรนงพาลพบเพียง ขุน บ่ เถียงคำท้าว ขุนคอยน้าวเตือนกระษัตริย์ ขุนประหยัดรอบคอบ ขุนมักชอบเสียผิด ขุนมักคิดใคร่น้อย ขุนรวมถ้อยรับทุกข์ ขุน บ่ มิรุกความผิด ขุนรู้จริตจอมราช ขุนมิคลาดปรนิบัติ ขุนราชานุวัตรรู้ยัง สิบหกหวังบอกไว้ ขุนดั่งนี้หนอไท้ แต่งตั้งขุนวัง ๚ ๑ ๚

๏ ขุนใดหวังรักชอบ ขุนใดประกอบใจธรรม้ ขุน บ่ แผกผันใจง่าย ขุน บ่เข้าฝ่ายหนตน ขุน บ่ ยลสินจ้าง ขุน บ่อ้างทรนงศักดิ์ ขุนรักราษฎร์เสมอตัว ขุนใดกลัวแก่บาป ขุนใดปราบทุกข์ราษฎร์ ....................[๑] ขุน บ่ มัวเมียงาม ขุนตามจับคนร้าย ขุนรู้ยักย้ายโดยการ ขุนใดชำนาญสำนวน ขุนใด บ่ แปรปรวนตามผิด สิบห้าประการกิจกล่าวแล้ ขุนดั่งนี้หนอแท้ แต่งตั้งขุนเมือง ๚ ๒ ๚

๏ ขุนใด บ่ เคืองใจราษฎร์ ขุนใด บ่ บาดใจคน ขุนใดเอาทำงนใจไพร่ ขุนใฝ่ข้าวเต็มฉาง ขุนใดรู้จักบางจักบึง ขุนรู้คำนึงเอาชอบ ขุนรอบรู้คดีควร ขุน บ่ ลวนลามโลภ ขุนรู้โอบเอาใจ ขุนแผ้วไพรเป็นท่ง ขุนปลงที่ว่างลุ่มดอน ขุน บ่ หย่อนให้ผิด ขุนรู้คิดกำลังพล ขุนรู้ปรนผ่อนหา สิบสี่ตราแต่งไว้ ขุนดั่งนี้พึงให้ แต่งตั้งขุนนา ๚ ๓ ๚

๏ ขุนใดแสวงหาส่วย ขุนใดช่วยสินรอง ขุนใดปองแต่งค้า ขุนใดหน้าหลังตริ ขุนใดริรู้การ ขุนชำนาญรู้จ่าย ขุนใดบ่าย บ่ ให้เปลือง ขุนใด บ่ ให้เคืองใจราษฎร์ ขุนใด บ่ ให้ขาดสินรอง ขุนใด บ่ ให้หมองใจไท้ ขุนใดให้คนพัก ขุนใดชักพานิชประเทศ ขุนใดรู้เลศโวหาร ขุนใดชำนาญดั่งนี้ สิบสี่สิ่งบอกชี้ ชอบตั้งขุนคลัง ๚ ๔ ๚

๏ ผิจะหวังหาขุนพล จงรู้จักกลศึก อันพิลึกสรรพเสร็จ ยี่สิบเอ็ดประการ สารหนึ่งคือฤทธิ์พิธี กลหนึ่งชื่อสีหจักร กลหนึ่งชื่อลักษณซ่อนเงื่อน กลหนึ่งชื่อเถื่อนกำบัง กลหนึ่งชื่อพังภูผา กลหนึ่งชื่อม้ากินสวน กลหนึ่งชื่อพวนเรือโยง กลหนึ่งชื่อโพงน้ำบ่อ กลหนึ่งชื่อล่อช้างป่า กลหนึ่งชื่อฟ้างำดิน กลหนึ่งชื่ออินทรพิมาน กลหนึ่งชื่อผลาญศัตรู กลหนึ่งชื่อชูพิษแสลง กลหนึ่งชื่อแขงให้อ่อน กลหนึ่งชื่อยอนภูเขา กลหนึ่งชื่อเย้าให้ผอม กลหนึ่งชื่อจอมปราสาท กลหนึ่งชื่อราชปัญญา กลหนึ่งชื่อฟ้าสนั่นเสียง กลหนึ่งชื่อเรียงหลักยืน กลหนึ่งชื่อปืนพระราม ความทั้งยี่สิบเอ็ดกล ให้ขุนพลชำนาญ ชาญแม่นแกว่นรู้รอบ กอปรด้วยทุกยุบล ๚

๏ กลหนึ่งชื่อฦๅฤทธิ์นั้น กระชั้นทรนงองอาจ ผาดกล่าวด้วยเริงแรง สำแดงแก่ข้าแกล้วข้าหาญ ชวนทำการลวงลาด อุกอาจเอาบ้านเอาเมือง ชำนาญเนืองรณรงค์ ยงใจผู้ใจคน อาสาเจ้าตนค่ำ เช้าจงหมั่นเฝ้าอย่าคลา หน้าตาชื่นเทียมจันทร์ ทำโดยธรรม์จงภักดิ์ บำเทิงศักดิ์จงสูง จูงพระยศยิ่งหล้า ครอบครองฟ้าดินบน กลนี้ชื่อฤทธิ์พิธี[๒] ๚ ๑ ๚

๏ กลอันชื่อสีหจักร ให้บริรักษ์พวกพล ดูกำลังตนกำลังท่าน คิดคะเนการผันผาย ย้ายรี้พลเดียรดาษ ยาตรไคลคลี่กรรกง จงศึกเห็นมหึมา ดาหัวขวาหัวซ้าย ย้ายรอบคอบชอบกล ตั้งพลทั้งแปดทิศ สถิตช้างม้าอย่าหวั่นไหว ตั้งพระพลาไชยยรรยง ตั้งธงอยู่โดยศาสตร์ ฝังนพบาตรตรีโกณ ให้ฟังโหรอันแม่น แกว่นรู้หลัก บ่ มิคลาด ให้ข้าผู้อาจออกทะลวงฟัน ให้ข้าศึกผันแพ้พ่าย ย้ายพลใหญ่ให้ไหว ยอพลไสศึกหนี กลนี้ชื่อสีหจักร[๓] ๚ ๒ ๚

๏ กลหนึ่งลักษณซ่อนเงื่อน เตือนกำหนดกฎตรา แยกปีกกาอยู่สรรพ นับทหารผู้แกล้ว กำหนดแล้วจงคง แต่งให้ยงยั่วเย้า ลากศึกเข้าในกล แต่งคนแต่งช้างม้า เรียงหน้าหลังโจเจ รบโยเยแล้วหนี ศึกตามตีตามติด สบคิดฆาตฆ้องไชย จึ่งพลในสองข้าง ยกช้างม้ากระทบ ยอหลังรบทังสองข้าง จึ่งบ่ายช้างอันหนี กรีอาวุธโห่ร้อง สำทับฆ้องสำคัญ ยืนยันรบทบสี่ คลี่พลออกโดยสรัง ศัตรูตั้งฉิบหาย อุบายกลศึกนี้ ชื่อลักษณ์ซ่อนเงื่อน[๔] ๚ ๓ ๚

๏ กลหนึ่งชื่อเถื่อนกำบัง รางรั้งพลตนน้อย ชักคล้อยเข้าแฝงป่า แต่งคนล่าแล่นวง กงกองนอกกองใน ไว้ช้างม้าให้แฝง แทงให้ร้องทรหึง มี่อึงฆาตฆ้องไชย ให้โห่เสียงสำทับ ปืนไฟกับธนู หน้าไม้กรูกันมา ดาทะลวงฟันตามหลัง ประนังช้างม้าแกมไพร่ ลูกหาบในป่าโห่ เคาะเสโลมี่นี่นัน ให้ศึกงันราถอย ศึกคล้อยเห็นผู้ห้าว กลเสือคราวครึมป่า แล้วออกล่าแล่นฉาว ทำสำหาวเสือซ่อนเล็บ เก็บแต่เตียนกินรก แล้วลอบผกผาดเนืองเนือง ให้ศึกเคืองใจหมอง คลองยุบลดั่งนี้ ชื่อเถื่อนกำบัง[๕] ๚ ๔ ๚

๏ กลหนึ่งชื่อพังภูผา ผิศึกมาประทะ อย่าเพ่อระเริงแรง สำแดงดุจเห็นน้อย คล้อยแฝงป่าแฝงเขา ศึกเห็นเราดูถูก ผูกช้างม้าออกไล่ ยอพลใหญ่กระทบ ผิเรารบเขา บ่ ไหว ไสช้างม้าไล่โรมรุม คุมกันหักที่กล้า อย่าให้ช้ารุมตี ศึกแล่นหนีตามต่อย ให้ยับย่อยพรายพรัด ตัดเอาหัวโห่เหล้น เต้นรำแรงแสดงหาญ ให้ศึกคร้านคร้ามกลัว ระรัวแล่นเสริดสรัง กลนี้ชื่อพังภูผา[๖] ๚ ๕ ๚

๏ กลหนึ่งชื่อม้ากินสวน หาผู้ควรหาญห้าว ลากเอาหย้าวเอาเรือน บ้านถิ่นเถื่อนอยู่ไกล จับกุมได้เอามา นานาเลศเทศกาล ขึ้นหน้างานอย่าขาด ปรนให้ลาดเนืองเนือง ให้เขาเคืองใจแค้น แม้นจะอยู่ บ่ มิสุข ขุกขับกันทุกเดือน เตือนใจตื่นไปมา กลขับปลาให้ห้อม ด้อมดักชักชุมเอา ให้ศึกเหงาใจถอย ค่อยเก็บนอกเข้ามา จงระอาใจหย่อน ก่อนกลนี้ชื่อกล่าวชี้ ช่องม้าคราวกินสวน[๗] ๚ ๖ ๚

๏ กลหนึ่งชื่อพวนเรือโยง ดุจพะโองขึ้นตาล ทำจงหวานแช่มชิดผูกเป็นมิตรไมตรี ซึ่งคนดีปละไปล่ ยกให้ต่ออย่าเสีย แต่งลูกเมียให้สนิท คิดต่อตั้งยังกล ยลช้างเถื่อนตามโขลง โยงเบ็ดคราวเหยื่อย่าม ค่อยลากงามเอามา ด้วยปัญญาพิสดาร การทังนี้ชื่อพวนเรือโยง[๘] ๚ ๗ ๚

๏ กลหนึ่งชื่อโพงนํ้าบ่อ ต่อติดคิดข้าศึก ใจเขวนึกดูแกน ใคร่รุกแดนดูด้าว กล่าวคำกร้าวข่มเหง ชะเลงดูเราถูก ค่อยอ่อนผูกโอนเอาเขา ข้างเราทำดุจน้อย ค่อยเจรจาพาที ลับคดีชอบไว้ อ่อนคือใคร่ตามใจ นํ้าไหลหลู่หลังตาม ผุดขึ้นง่ามก้านใบ อัธยาศัยถ่อมถด อดคำกล่าวท่าวเอา ครั้นว่าเขาดูเราหมิ่น สะทิ่นทังพลดูแดน แกนทังพลดูถูก ดุจดังลูกหลานตน ครั้นสบกลเราไซร้ จึ่งจะได้เข้าคืน เรายืนผูกเอาเท้าง่าเงย ทำเตยทุกหน้าโอ่โถง ดุจดั่งโพงได้น้ำบ่อ พอเพื่อด้วยประการดั่งนี้[๙] ๚ ๘ ๚

๏ กลหนึ่งชื่อล่อช้างป่า ผิศึกจะคค้าคคึก ครั้นเห็นศึกแล่นไล่ บ่ ค้อยไต่ค้อยตาม ลามปามแล่นไล่มา ให้แต่งหาขุมขวาก ภาคที่เหวที่ตม แต่งให้ล่มขุมหลุม ซุ่มซ่อนพลสองปราด แต่งให้ลาดเบื้องหน้า คอยหยุดท่าทีดี ถ้าไพรีเห็น บ่ ได้ ไว้เร่งรุกเร่งรุม ให้ตกขุมตกทาง วางตกเหวตกตม ชมเหล้นมาหวังได้ คิกเห็นไข้ใจขด ค่อยถอยถดทเทา ฝ่ายเขาขาม บ่ ไล่ ฝ่ายเราไปล่รี้พล ไว้เป็นกลหลายท่า ปูนบรรดาหน้าหลัง ระวังยั่วจงหลายแห่ง สบที่แต่งเนืองเนือง พลเขาเปลืองด้วยกล ยุบลล่อช้างเถื่อน แล้วแทงเขื่อนหน้าหลัง ทังไปหน้าก็บ่ได้ ถอยหลังไซร้ก็บ่รอด จอดตนตายกลางช่อง คลองคดีดั่งนี้ เธอชี้ชื่อล่อช้างป่า[๑๐] ๚ ๙ ๚

๏ กลหนึ่งชื่อฟ้างำดิน ฝึกพลพฤนทามาตย์ ให้ใจอาจใจหาญ ชำนาญชาญช้างม้า คค้ากลางรณรงค์ มั่นคงขี่ฉับเฉียว เหลียวหน้าหลังซ้ายขวา ไปมาฉับผับไว ใส่สอดยอดยวดยง จงชำนาญชาญแล่น แว่นไวลื้นปืนไฟ หน้าไม้ไซร้ปืนธนู ครูดาบด้างสร้างเขน แพนเหล้นเสโลโตมร กรไกวพุ่งเชี่ยวชาญ ชำนาญศิลปทังปวง ทะลวงฟันรันรุม ชุมพลสิบพลร้อย อย่าให้คล้อยคลาดกัน หมู่พลพันพลหมื่น หื่นพลแสนพลล้าน ใจเดียวค้านเดียวมา แปรงาช้างบ่ายตาม ฟังความตามบังคับ กับเสบียงเรียงถุง ประดุงไพร่พลช้างม้า กลอันนี้ชื่อฟ้า งำดิน[๑๑] ๚ ๑๐ ๚

๏ กลหนึ่งชื่ออินทรพิมาน ให้เพทาจารย์ฝังนพบาตร ตั้งสีหนาทข่มนาม ตามโบราณผู้แม่น อันแว่นเห็นประโยชน์ บรรเทาโทษโดยศาสตร์ ยกยาตราโดยอรรถ ให้ประหยัดสิ่งโทษ อย่ากริ้วโกรธอหังการ มนตราธารสิทธิศักดิ์ พำนักนิตย์โบราณ บูรพาจารย์พิไชย โอบเอาใจรี้พล ให้ดูกลนิมิต ริสกลฤทธิ์ด้วยญาณประเทศ พิเศษราชภักดี มีสุรศักดิ์มหึมา แก่ผู้อาสาภูวนาถ เทพาสาธุการ ชื่ออินทรพิมาน ดั่งนี้[๑๒] ๚ ๑๑ ๚

๏ กลหนึ่งแท้ชื่อผลาญศัตรู ข้าศึกดูองอาจ บ่ พบราษฎร์แลทำ นำพลพยุหช้างม้า ค้าเข้าประทะเมือง พลนองเนืองแล่นเต้า แลกข้าวเหล้าชาวเรา เอาอาวุธจงมาก ลากปืนพิษพาดไว ขึ้นหน้าไม้ธนู กรูปืนไฟคอยช่อง ล่องจงแม่นอย่าคลา ชักสารพาบรรทุก อย่าอุกขลุกคอยฟัง อย่าประนังตัวเด็ด เล็ดเล็งดูที่มั่น กันรี้พลจงคง คนหนึ่งจงอย่าฉุก ปลุกใจพลให้หื่น จงชื่นในสงคราม ให้ฟังความบังคับ ครั้นสรรพหมายสำคัญ ฆ้องกลองพรรณแตรสังข์ ประนังรบโรมรุม เอาจุมพลเข้าศึก อันพิลึกเป็นนาย ครั้นถูกกจายพ่ายพัง พลเสริดสรัง บ่ อยู่ บ่ เป็นหมู่เป็นการ ดั่งนี้ชื่อผลาญศัตรู[๑๓] ๚๑๒๚

๏ กลหนึ่งชื่อชูพิษแสลง ข้าศึกแรงมีฤทธิ์ คิดใคร่ใฝ่เอาเรา กำลังเขาก็มาก ภาคที่แคบที่คับ สรรพรี้พลช้างม้า เคยคลาปล้นรุกราน ผลาญล่อล่วงบ้านเมือง เนืองเนืองมาเพื่อนตน ให้ใส่กลเหนือกลปราศัย ของฝากไปฝากรัก ลักลอบให้เงินทอง รางวัลปองขุนใหญ่ หัวเมืองไพรข้าศึก ให้ดูลึกลับแลง แสร้งอุบายลิขิต ไปมาสนิทเป็นกล ให้เขาฉงนสนเท่ห์ ว่าเป็นเล่ห์ภายใน บ่ ไว้ใจแก่กัน ผันใจออกกินแหนง แยงให้ผิดด้วยกล ชูพิษชนม์เป็นพิษ ผิดกันเองโจกเจก บ่ เป็นเอกใจเดียว บ่ เป็นเกลียวเป็นการ เพราะพิษพานศัตรู นี้ชื่อชูพิษแสลง[๑๔] ๚ ๑๓ ๚

๏ กลนี้ข้อกล่าวแขงให้อ่อน ถอนเมื่อศัตรูยก ให้ดูบกดูน้ำ ซ้ำดูข้าวดูหญ้า กว่านึกยีจงแหลก ตัดไม้แบกเบื่อเมา เอาไปทอดในนํ้า ทัพแทบซ้ำหนามขวาก แต่งจงมากทับทาง วางชะห้าวแหลมแล่น ด่านทางแค้นเขื่อนขัน กันหลายแห่งที่คับ แต่งสนับไว้จ่อไฟ คลอกไพรคลอกป่าแซม แนมขวากหนามที่น้ำข้าม ตามเผาป่าแทบทัพ ยับไหม้เผาเป็นถ่าน หว่านไฟไว้รายเรียง ฤๅเผาเสบียงให้สิ้น ให้หิ้นเหี้ยนอาหาร แต่งคนชาญหลอนทัพ ให้เสียหับเสียหาบ ทำลายคาบเนืองเนือง เปลืองเสบียงเปล่าเฉาแรง นี้ชื่อแขงให้อ่อน[๑๕] ๚ ๑๔ ๚

๏ กลหนึ่งชื่อยอนภูเขา ข้าศึกเนาประชิ ให้ริดูควรชอบ ที่จะขอบจะขัง ให้สรังเสริดยักย้าย ฝ่ายพลเขาเอาเสบียง เรียงงานนอกเป็นกล ในมณฑลเมืองเรา เอาใจไพร่ใจพล คนผู้อยู่ประจำงาน ทานเหล้าข้าวเป็นเสบียง อย่าให้เสียงโจกเจก จงเป็นเอกรวมใจ หน้างานใครใครรบ แต่งบรรจบพลแล่น ในหน้าแกว่นชวนกัน แต่งทะลวงฟันบุกทัพ คอยครั้นศัพท์สำคัญ หาที่ยอยันที่ย่าง เอาช้างม้าเป็นตีน ปีนคูหักค่ายเข้า รบรุกเร้ารุมแทง อย่าคลาแคลงพรายพรัด ตัดไม้ไหล้ด้วยกัน ให้สำคัญจงแม่น แล่นช้างม้าวางขวาก เขาตามยากเอาเรา เทาทิศไม้ตนหมาย ข้าศึกตามตายกล้ากลาด บาดเจ็บบ้างป่วยการ ดาลศัตรูรู้รันทด กฎด้วยเสียงปืนไฟ ในเมืองเร่งให้โห่ร้อง ให้มี่ก้องนีฤนาท ปี่พาทย์เสียงสรไน ชมชื่นใจขับรำ ทำทรนงองอาจ ปืนพิษพาดปรนศร นี้ชื่อยอนภูเขา[๑๖] ๚ ๑๕ ๚

๏ กลหนึ่งชื่อเย้าให้ผอมนั้น บั้นเมื่อท้าวเธอจะลีลา พาธาเอาอริราช ให้พินาศศัตรู หมั่นตรวจตราดูกำลัง ช้างม้าทังรี้พล ปรนปันกันไปลาด ผาดจู่เอาแต่ไกล ไว้หนังสือหมายหมก ว่าจะยกพลหลวง ลวงใส่กลเป็นเลศ ในเทศกาลป่วยทำนา แสร้งตรวจตราพลแกล้ว แล้วล่ายพลเราเสีย เยียดั่งเมฆมืดมน สายฝนฝนไป่ตก ตระดกอยู่อางขนาง ให้แผ้วถางแผ้วท่า คค้าเร่งคำรน ครั้นหลงกลยกเล่า ลากกลเข้าเนืองเนือง แย่งให้เปลืองไปมา ดุจกลกาลักไข่ จะไล่ไล่ บ่ มิทัน วันเดือนปีป่วยการ ข้าศึกต้านยินอยาก เถิงข้าวยากหมากแพง สิ่งเป็นแรงแรงถอย ร่อยรานไข้ใจหนี ตื่นมี่ขจัดพรัดพราย ไพร่หนีนายนายเปลี่ยว บ่ เป็นเรี่ยวเป็นแรง ใคร่แข็งแข็ง บ่ มิได้ ใคร่ไหม้ไหม้ บ่ มิลาม ใคร่งามงามแรงเศร้า นี้ชื่อเย้าให้ผอม[๑๗] ๚ ๑๖ ๚

๏ กลหนึ่งชื่อจอมปราสาท ให้อาจมุ่งเมิลลู คูหอต้ายเวียงวัง ทังไชยภูมิจงผับ รู้ตั้งทัพพระพลาไชย อย่าได้ไหวใจหวั่น หมั่นดูฉบับทำเนียม เตรียมปูนปันเป็นกอง หน้าหลังสองตราบข้าง รอบไว้ช้างม้ารถ ทวยหาญทศโยธา ให้รักษาจงรอบ ทุกขันขอบนอกใน อย่าให้ไหวปั่นป่วน อย่าได้ด่วนคอยฟัง คอยดูหลังดูหน้า จัดช้างม้ารี้พล ปรนกันนั่งกันนอน อย่าย่อหย่อนอุตส่าห์ หมั่นว่าให้ตรวจตรา ทั้งถลาตรแลงแกง อย่าให้นายแฝงไฟ ใฝ่ให้รักษ์จงมาก อย่าให้ยากใจพล อย่าทำกลดุจเสือ บกเรือจงชำนาญ ชาญทางที่โดยกระบวน คิดควรรู้จงฉบับ นับหน้าผู้อาสา หาคนผูกเป็นเพื่อน อย่าเลื่อนถ้อยเสียคำ ทำใดทำโดยฉลาด ตามฉบับราชโบราณ ทำการจงรอมชอม นี้ชื่อจอมปราสาท[๑๘] ๚ ๑๗ ๚

๏ กลหนึ่งชื่อราชปัญญา เสนาพลสองข้าง ช้างม้ารถเสมอกัน พลตีนสรรพแกล้วหาญ ชำนาญสรรพาวุธ ย่อมรู้สุดเสมอกัน หานักธรรม์ผู้ฉลาด อาจใส่กลไปปลอม ด้อมดูที่ดูทาง วางต้นหนคนใช้ ไว้ทำงนแก่เขา เอาสินจ้างหื่นหรรษ์ ให้เขาผันใจออก ทังฝ่ายนอกฝ่ายใน ใจไหวหวั่นไปมา แต่งโยธาเป็นหมู่ หัดกันอยู่หลายกอง จองนายหนึ่งไพร่สี่ ที่นายหนึ่งไพร่หก ยกนายหนึ่งไพร่เก้า เคล้านายห้ากองพล ซ้ายขวากลหน้าหลัง ทังอาวุธเทาทาง ถอยพึงพลางทางรบ ทบท่าวอย่าหนีกัน ค่อยยืนยันรบพลาง ไล่อย่าวางเดี่ยวเด็ด นายไพร่เล็ดลอดตาม ฟังความสั่งสำคัญ ฆ้องกลองสรรพธงไชย กลให้ไล่ให้หนี ลีลาลาดศึกเข้า ในกลเคล้าเป็นกล สองกองพลซ้ายขวา ดูมรรคาชอบกล เอาพลนั่งสองข้าง กองกลางง้างพลถอย ศึกตามรอยแล่นไล่ สี่กองไปล่ออกข้าง ด้อมดูช้างดูม้า ดูทวยกล้ารี้พล สบกลโดยสำคัญ กระทบกันเข้ารบ สบสำเหนียกเสียกสา อย่าให้คลาให้คลาด ผาดเอาค่ำเอาวัน หยิบเอาพลันจงได้ ไว้กำหนดนายกอง ช้างปองปูนจงสรรพ นับอ่านจงตรวจตรา นี้ชื่อราชปัญญา นั้นแล ๚ ๑๘ ๚

๏ ที่แท้กลยุบลฟ้าสนั่นเสียง เรียงพลไพร่กฎหมาย อาชญาเถิงตายรู้ถ้วนทุกตน ปรนปันงานรณรงค์ ยงยวดกล่าวองอาจ ผาดกำหนดกฎหมาย อย่าลุ่ยล่ายอย่าลืมตน ทำยุบลสีหนาท ดุจฟ้าฟาดสายแสง สำแดงการรุกร้น ปล้นปลอมเข้าชิงช่วง ล่วงบั้นราชสีมา ตรารางวัลเงินทอง ปองผ้าผ่อนแพรพรรณ ยศอนรรฆ์ผาดผูก ไว้ชั่วลูกชั่วหลาน การอุปเทศเลศกล้า การช้างม้าแกล้วหาญ จงชำนาญชาญรบ สบได้แก้จงรอด ดุจฟ้าฟอดเผาผลาญ แต่งทหารทุกหมู่ อยู่ยยั้งรายเรียง เสียงคเครงคครื้น ทังพื้นป่าครามครัน สรนั่นฆ้องกลองไชย สรไนศัพท์แตรสังข์ ทังกดึงฉานฉ่า ช้างเงื้องารายเรียง ชื่อฟ้าสรนั่นเสียงโดยลักษณ์ ๚ ๑๙ ๚

๏ กลหนึ่งชื่อเรียงหลักยืน ให้ข่มขืนรุกราน พานผิดปลายด่านปลายแดน หาทหารแกว่นระราน เป็นกรมการปลายการ ผ่านครอบคว้าเกี่ยวฟัน ผันเอาใจให้ชื่น หื่นสร้างไร่สร้างนา หาปลาล่วงแดนต่าง เถื่อนช้างล่วงแดนเขา เอาเป็นพี่เป็นน้อง พร้องต่างต้ายต่างเรียง บ้านถิ่นเรียงรายหมั้น กระชั้นเข้าเรียงราย กุมเอานายเอาไพร่ ไว้ให้ใฝ่ใจถึง รางวัลพึงใจให้ คนไกลเอาเป็นเพื่อน ใคร่แข็งเขื่อนกลกั้น จงเป็นชั้นเป็นกล ปรนข้าวเสบียงเรียงไถ้ ใส่กลไพร่เป็นกล ผจญให้เข้าล้อมล้น ปล้นบ้านถิ่นไปมา ระอาเพศแทบเวียง กลนี้เรียงหลักยืน[๑๙] ๚ ๒๐ ๚

๏ กลชื่อปืนพระราม อย่ามีความโกรธขึ้ง ทรอึงใจหนักใจฦก สำแดงศึกใหญ่มา อย่าพาธาคอยฟัง ระวังเหตุประการ แต่งทวยหาญผู้แกล้ว แม่นยำแล้วแว่นไว นำพลไปโจมทัพ ได้แล้วกลับคืนมา ไคลคลาไปปลิ้นปลอก ครั้นคืนออกมีไชย หวั่นไหวใจศัตรู ดูสรนั่นใจเศร้า ให้ยศเจ้ารุ่งเรือง เลื่องฦๅเดชหาญห้าว ทุกเทศท้าวกลัวขาม ชื่อปืนพระรามสรรพเสร็จ ยี่สิบเอ็ดรณรงค์ องค์ขุนพลจำรู้ ผู้จะนำพลพยู่ห์ หมู่จัดุรงคเสนา อย่าให้คลาให้คลาด จงเฉลียวฉลาดใจผับ อาจบังคับกลการ ชำนาญไชยสรรพเสร็จ ยี่สิบเอ็ดกลอันหมาย โดยบรรยายกล่าวแกล้ง แจ้งประกาศอย่าไกล ไว้ในใจจงจำ คำประสิทธิ์สิทธิศักดิ์ บำเรอรักษ์ภูวดล ฉบับขุนพลไชยชำนะ เดชะไชยทุกเมื่อไซร้ ยี่สิบเอ็ดกลไว้ แก่ผู้ขุนพล[๒๐] ๚ ๒๑ ๚

๏ กลเมื่อจะลีลา ยาตราปราบอริราช จงฉลาดในที่ทาง กลางกันดาลรายเรียง เสบียงพลช้างม้า ทวยกล้าหาญโยธา หาดูเลศเทศกาล ให้หาวารอันดี ฤกษ์นาทีดิถีชอบ กอปรด้วยจักรลัคนา เพลาโยคยามไชย อาศัยโหรเป็นตา ลีลาจงชอบนาค ภาคเมื่อทัพจักจร ในที่ดอนที่ราบ ชระบาบหล่มลึกเหลว โจรกเหวห้วยบึงบาง ทางท่าที่ข้ามนํ้า เข้าถํ้าเข้าป่าหนาม รำรามรอบเรียงตัว พึงเกรงกลัวประหยัด ระบัดอย่าเบกษา เธอจักพรรณนารังชี้ ผี้ทางป่าเดินลัด ชอบช้างตัดไปก่อน ผ่อนคนตามรอยคช แล้วเอารถไปถัด จงเอาอัศวไปหลัง ผิหวังข้ามนทีธาร เอาคชสารข้ามก่อน หย่อนแพพ่วงจึงข้ามเสบียง เรียงรายทวยหาญตามคช จึ่งข้ามรถข้ามม้า ผิทางหญ้าป่าปล่งราบ เป็นทุ่งปราบ บ่ มิรก พึงยกม้าไปก่อน ผ่อนพลตามแล้วรถ เอาพลคชรั้งหลังไป ผิครรไลขึ้นเขา เทาโดยทางอันแคบ เอาคนแนบขึ้นก่อน ปีนชรง่อนสองข้าง พลดาบด้างพลธนู กรูหน้าไม้ปืนไฟ ยกช้างไปถัดคน ปรนกันไปถัดช้าง ไว้ม้าด้างดาบภายหลัง ผิทางผังเหวถ้ำ ทางเหวน้ำธารไหล เอาคนไปสองข้าง เอาช้างรถไปกลางถัด ให้ไว้อัศวไปตาม แล้วพลหามพลหาบ พลดาบด้างไปสุด พลอาวุธไปหลัง ผิหวังจะเข้าปล้น ผจญครันเอาเมืองไซร้ ไว้ช้างม้าแต่ไกล เอาคนไปทำงาน แต่งการกันปืนไฟ ค่อยขนัดไปจงมั่น กันพลหาญเสนา อย่าให้มีบาดเจ็บ เหน็บเหนื่อยป่วยการงาน สงวนพลหาญจงนัก อย่าให้ทักให้ภัย เอาม้าไซร้กระเวนนอก ชอกชลบทะลวงลาด อย่าให้คลาดให้คลา เอาอาหารจงได้ มาแจกให้ท่วยหาญ ผู้ทำการปล้นเมือง ครั้นเปลื้องได้เสร็จสรรพ ชาวเมืองกลับสองใจ สะเทือนไหวตระหนก ยกเคลื่อนเข้าจงชิด ติดเอาเมืองจงได้ ใส่ไคล้ช่วยเจรจา ดุจกรุณาชวนสนิท ปลิดตีนปูให้เปลือง ที่ไหนเคืองแรงถ่าย บ่ายให้เอาครัวออก ครั้นเถิงนอกไล่เอา ทำให้เหงาดั่งนั้น โดยเบื้องบั้นปัญญา นานาเนกภิปราย ให้พรรณรายเรืองยศ ปรากฏเกียรติเจ้าแผ่น แดนธรณีแห่งตน กลขุนพลดั่งนี้ ตามสิ่งโดยพระชี้ กล่าวแกล้วขุนพล ๚

๏ กลหนึ่งเธอกล่าวเถิงขุนกลาง ขุนใด บ่ อางขนางแก่เจ้า ขุนใดเศร้าเมื่อท่านติ ขุนใด บ่ ริรอบด้วยราช ขุนใดอาจรักชอบ ขุนใดประกอบหาญ ขุนใดชาญสำนวน ขุนใด บ่ แปรปรวนตามผิด ขุนใดคิดก่อเกื้อ ขุนใดเชื้อบาญชี ขุนใดมีใจสัตย์ ขุนใดคัดช่วยชอบ ขุนใดกอปรด้วยใจติตน ขุนใดรู้กลเชิงความ ทังสิบสามท่านชี้ ขุนประกอบการดั่งนี้ แต่งตั้งตราพล ขุนกลาง ๚

๏ กลหนึ่งผิจะหา ขุนรับวาจาจอมราช ขุนใดฉลาดโวหาร ขุนใดชาญเขียนสาสน์ ขุนใดผาดเสียงฉาน ขุนใดชำนาญกลางสนาม ขุนใดตามความสั่ง ขุนใดหยั่งรู้สาร ขุนใดชาญเชิงธรรม์ ขุนใดผันตามชอบ ขุนใดนอบนบราบ ขุนใดสุภาพต่อไท้ สิบอันไซร้เที่ยงแท้ ขุนดังนี้หนอแล้ แต่งไว้สนองคำ ๚

๏ ผิจะหาขุนนำพลราช ขุนใดฉลาดใจหาญ ขุนใดการรู้รอบ ขุนใดชอบใจคน ขุนใดปรนทุกข์ราษฎร์ ขุนใด บ่ อาจทำผิด ขุนใดชิดสำนวน ขุนใดครวญใจภักดิ์ ขุนใดชักชาญทาง ขุนใดเป็นกลางเที่ยงถ้อย ขุนใดมักน้อยยศลาภ ขุนใด บ่ หยาบความจรึง ขุนใดรึงรัดจอง สิบสองกลท่านชี้ ขุนประกอบดั่งนี้ ชอบตั้งนำพล ๚

๏ กลหนึ่งผิจะหา ผู้รักษาจอมราช ขุนใดฉลาดเฉลียวการ ขุนใดชาญตรวจจัด ขุนใดสารวัตรรอบรู้ ขุนใดสู้ทำงนราช ขุนใด บ่ คลาดคลาเฝ้า ขุนใดเล้าโลมใจไพร่ ขุนใดกล่าวเกาะฉบับ ขุนใดผับชาญขบวน ขุนใดล้วนคิดเสร็จ สิบเอ็ดกลนี้ไซร้ ขุนดั่งนี้ควรไว้ แต่งบริรักษา ๚

๏ ส่วนหนึ่งผิจะริ ตริหาผู้จะสนองพระองค์ ผู้ใดคงคำสัตย์ ขุนใดภัตดิ์แก่บุญ ขุนใดมีคุณแก่ราษฎร์ ผู้ใดอาจอดโกรธ ผู้ใดโคตรมีพงศ์ ผู้ใดจำนงตรีชอบ ผู้ใดประกอบโดยยุกดิ์ ผู้ใดอุครแก่คำสัตย์ ผู้ใดประดิพัทธ์ด้วยศีล ผู้ใด บ่ ปีนความผิด ผู้ใดคิดท่านเสมอตัว ผู้ใดกลัวยำอาชญา ผู้ใดกรุณาแก่คนยาก ผู้ใด บ่ มิมาก บ่ มิน้อย ผู้ใด บ่ มิคล้อยตามคนพาล ผู้ใดหาญ บ่ มิตระหนก สิบหกประการนี้แล้ ไว้แม่นจริงเที่ยงแท้ จึ่งตั้งสนององค์ ๚

๏ ผิมหากระษัตริย์จำนง ประสงค์แสวงคช ให้ปรากฏมหึมา ให้หาพฤฒิบาศ แลกระทำราชพรต กำหนดศิลปะ ตระบะณรงค์สงคราม จงพยายามศาสตร์ ฉลาดที่จะให้ เอาเดือนดาวต่างไต้ ขุนใดอุตส่าห์เยียนเถื่อน ขุนใดรู้เงื่อนใจสาร เก้าประการท่านชี้ ขุนเชี่ยวชาญฉันนี้ ชอบตั้งคชบาล ๚

๏ ผิจะหาผู้ชำนาญชาญอัศว์ สำหรับมหากระษัตริย์จุมพล ยุบลราชกำลัง ขุนใดฟังครูสั่ง ขุนใดนั่งม้าตามครูสอน ขุนใดวรคุณรู้ ขุนใดสู้เหนี่ยวแปลง ขุนใดแสวงม้ามาก ขุนใดรู้ภาคขี่ขับ ขุนใดบังคับเชิงม้า ขุนใดอาชาเชี่ยวชาญคลี แปดประการนี้กล่าวไว้ ใครร่ำเรียนได้ไซร้ จึ่งตั้งอัศวบาล ๚

๏ ผิจะหาขุนหาญ ชำนาญกลางณรงค์ ขุนใดจงใจภักดิ์ ขุนใดชักใจท่าน ขุนใด บ่ พานข่าวขยัน ขุนใดถือกรรม์เป็นนิตย์ ขุนใดคิดรอบรู้ ขุนใดสู่กันเผือน ขุนใดรู้แต่งเขื่อนกันพล ขุนใดรู้กันตนเสมอเพชร ขุนใดรู้บำเหน็จไพร่ฟ้า ขุนใดคค้าปากทำเป็น ขุนใดเย็นอกไพร่ ขุนใดรู้ไล่รู้ถอย ขุนใดรู้คอยกลางยุทธ ขุนใดพูดมิหนักมิเบา ขุนใดรู้เอาใจไพร่ให้รบ ขุนใดสบแสวงคุณ ขุนใดปุนปองรู้พล ขุนใดรู้แง่กลอุปเทศ ขุนใดพิเศษปรีชา ขุนใด บ่ คลาใจหมั่น ขุนกระชั้นทังการงาน ยี่สิบเอ็ดสารกล่าวแล้ว ขุนดั่งนี้ใจแกล้ว แกว่นรู้ใจหาญ ๚

๏ ผิภูบาลบดี หาพระมเหสีเสมอยศ ปรากฏครองพระองค์ จำนงใจเป็นเพื่อน หญิงใด บ่ เลือนลุ่ยล่าย หญิงใด บ่ หมายชื่นชมชู หญิงใดรู้รอบการ หญิงใดชาญทอปัก หญิงใดรักใจเดียว หญิงใดเกลียวกลมใจ หญิงใดใครแขกรับ หญิงใดรู้นับคิดอ่าน หญิงใดมิหว่านทรัพย์เสียเปล่า หญิงใดมีเผ่ามีพงศ์ หญิงใดใจจงคิดชอบ หญิงใดประกอบด้วยกุศล หญิงใดสนนใจทุกสิ่ง หญิงใดขอนขิ่งภักดีแก่ผัว หญิงใดรู้แผ่ทั่วผูกมิตร หญิงรู้คิด บ่ หึงแหน หญิงใด บ่ ดูแคลนชายหมิ่น หญิงใดสรทิ่นพบเพียง หญิงใด บ่ กล่าวเสียงพ้นหย้าว หญิงใด บ่ กล่าวห้าวระเร่งแรง หญิงใดยำแยงทังสองผ่าย หญิงใดรู้บ่ายใจหาญ หญิงใดรู้หมั่นการอดหลับ หญิงใดมักสดับโบราณ หญิงใดเสงี่ยมเสี่ยมสาร มีมารยาทนั้น ยี่สิบหกอันหมั้น กล่าวแกล้งมเหสี ๚

โคลง ผิวเป็นท้าวครอบ โลกัตย์
ควรพินิจจัยสัตว์ หยั่งยั้ง
ตรัสตรองตริตามอรรถ พระกล่าว
กลางดั่งนี้ชอบตั้ง แต่งไว้โดยกรม ๚
๏ จงรู้ดีร้ายสิ่ง ขุนทำ
แม้นสิ่งใดดียำ แต่งตั้ง
สิ่งร้ายเร่งจองจำ นงโทษ
เอามโนในยั้ง หยั่งด้วยปรีชา ๚

๏ ขุนใดมักพาธาแห่งโทษ ขุนใดโกรธ บ่ มิคิดหน้าหลัง ขุนใดหวังสินจ้าง ขุนใดอ้างทรนงศักดิ์ ขุนใดมักกินเหล้า ขุนใดเข้าข้างผิด ขุนใดชิดแซมร้าย ขุนใดบ่ายเกลียวกล ขุนใดยลโลภลาภ ขุนใดคาบถอยคำ ขุนใดทำใจใหญ่ ขุนใดใฝ่ดอกฟ้ามามือ ขุนใดพิลึกฤๅปองเปล่า ขุนใดเคร่ากินสการ ขุนใด บ่ รู้ยุกดิ์ธารยุกดิ์ธรรม์ ขุนใดสรรใส่ท่าน ขุนใดร่านคำกล่าว ขุนใดคร่าวเหยื่อหยาม ขุนใดขามยแย้ง ขุนใดกำแหงกลางเมือง ขุนใดเคืองใจไพร่ ขุนใดใคร่เมียมาก ขุนใดรักษายากใจคน ขุนใด บ่ ดูตนดูท่าน ขุนใด บ่ คิดอ่านระรึง ขุนใดจาจึงว่าตนรู้ ขุนใดหลู่คุณท่านเลีย ขุนใดเยียทรหึงนัก ขุนใดมักพล่อยปาก ขุนใดมักหลากตนองค์ท้าว ขุนใดมักน้าวพร้าด้วยเข่า ขุนใดเลี้ยงงูเห่าให้กำลัง ขุนใดฟังหญิงกลัวเมียข่ม ขุนใดจักล่มเร่งขุดเล่า ขุนใดเมามัวโม่ห์ ขุนใดโทร่ห์ทารุณ สามสิบหกปุนกล่าวนี้ ขุนดั่งนั้นชื่อชี้ ชาติร้ายขุนเข็ญ ๚

๏ เธอกล่าวให้เห็นจรึง ซึ่งใจหญิงผู้ร้าย หญิงใดก่ายแกมผัว หญิงใดหัวระริกล่อชาย หญิงใดหมายโทษพ่อแม่ หญิงใดแม้มิฟังผู้เฒ่าสอน หญิงใดวอนพ่อแม่เอาผัว หญิงใดมิกลัวแก่การบาป หญิงใดหยาบแค้นใจแก่ชาย หญิงใดผูกคำหมายรึงโทษ หญิงใดโกรธรุกราน หญิงใดพาลคบผิด หญิงใดคิดร้ายต่อผัว หญิงใดหัวไพผู้เฒ่า หญิงใดเงาพ้นแพ่ง หญิงใดทำกลแต่ง ดั่งนั้นหญิงกาล ๚

๏ หญิงใดมักแต่งแง่ทำงาน หญิงใดใจพาลมิยำแยง หญิงใดทำแพ่งแก่พ่อแม่ผัว หญิงใดมิกลัวสิ่งเป็นบาป หญิงใดคำหยาบพ้นศักดิ์ หญิงใดมักหลายผัวหลายชู้ หญิงใดรู้ติเตียนท่าน หญิงใดมักพาลถ้อยพาลความ หญิงใดมักถามกู้หนี้ทุกแห่ง หญิงใดมักตั้งแพ่งด้วยผู้ชาย หญิงใดลุ่ยล่ายผัวเสมอเกลอ หญิงใดเออปากเปล่า หญิงใดเล่าความเท็จ สิบสามนี้หญิงเข็ญ ๚

๏ หญิงใดเลศสอดแสวงตาชาย หญิงใดหมายผิดคำถ้อย หญิงใดใส่สร้อยเท็จแกมจริง หญิงใดประวิงใช้หนี้ หญิงใดแสร้งชี้ร้ายใส่เลศ หญิงใดเท็จกล่าวไส้ใหญ่ หญิงใดไพล่ลิ้นไขว้ตราชู หญิงใดคู่คำมรรษ เก้าสิบทัศทั้งนี้ สิบสามชี้หญิงกาล สิบเอ็ดสถานหญิงเข็ญ เก้าอันเป็นมรรษาวาท ชาติหญิงกาลนี้อย่าสมาคม นิยมหญิงบัดศรี เกิดในโลกย์นี้แล ๚

๏ หญิงใดหน้าเศร้าโศกชั่วตน หญิงใดเวียนวนอยู่เงียบเหงา หญิงใดมักหาไข่เหาขบ หญิงใดทำมบให้ชายหลง หญิงใดพะวงแต่ชายชู้ หญิงใดมิรู้ผัวมีคุณ หญิงใดทำดรุณกล่าวส่งเสรก หญิงใดมักเอาเด็กเป็นผัว หญิงใดมิหวีหัวสยุยสยุก หญิงใดทุกข์ตีอกทุกข์นัก หญิงใดมักนอนต่อตระวันสาย หญิงใดสยายผมปกหน้า หญิงใดมักแก้สิ้นผ้าอยู่เปลือยเปล่า หญิงดั่งนั้นเล่าบัดศรี สิบสามมีเที่ยงแท้ หญิงดั่งนี้หนอแล้ ย่อมล้วนเสียศรี ๚

๏ เธอจะกล่าวคดีชาย โดยบรรยายว่าไว้ ให้เป็นฉบับทั่วเท้า ชายใดมักกินเหล้ายาเมา ชายใดเอาเมียเท่าเสมอแม่ ชายใดมักติผู้เฒ่าผู้แก่มิยำแยง ชายใดมักแสวงขุดทองพระ ชายใดรานระแก่สงฆ์ ชายใดหลงแก่กิเลส ชายใดแปรเพศเป็นผู้หญิง ชายใดเอานปุงสกลิงค์เป็นเมีย ชายใดบำบัดคุณครูเสียกล่าวโทษา ชายใดฆ่าสัตว์ค้าขาย ชายใด ป รู้อายขับรำขอ ชายใดเป็นหมอโกหกมายี ชายใดผิงไฟผีว่าสนุก ชายดั่งนั้นทุกข์บัดศรี สิบสามมีมั่นหมาย ลักษณผู้ชายชั่วแล้ ชายดังนี้หนอแท้ เลศล้วนบัดศรี ๚

๏ ผิจะใคร่มีสมสู่ หาเป็นคู่สู่สมาคม สมหญิงชายในโลกย์ ให้พ้นโศกโศกา ผู้ใด บ่ คลาคำสัตย์ ผู้ใดกำหนัดแก่บุญญ ผู้ใดรู้ละโกรธให้บาง ผู้ใดวางใจแก่มิตร ผู้ใดมีจิตมารยาท ผู้ใดสงวนชาติกระกูล ผู้ใดมักพูนที่ต่ำ ผู้ใดรู้จักส่ำจักรอย ผู้ใดค่อยผิดตักเตือน ผู้ใดมีเรือนรู้รักษา ผู้ใดรู้กล่าววาจามีพากย์ ผู้ใดยากแต่สินครองยศ ผู้ใดลดตนลงยอท่าน ผู้ใด บ่ รานถ้อยเถียงคำ ผู้ใดนำกุศลซื่อ ผู้ใด บ่ ได้สื่อใจเคียด ผู้ใด บ่ ได้เบียดเบียนท่าน ผู้ใด บ่ ได้อ่านมนตร์โจร ผู้ใดเป็นโหรอันแม่น ผู้ใดแกว่นชำนาญการ ผู้ใดมีหาญ บ่ มีขลาด ผู้ใดฉลาดรู้หาทรัพย์ ผู้ใดรู้นับคิดควณ ผู้ใดรู้สงวนใจมิให้เศร้าหมอง ผู้ใดรู้ครองญาติเพื่อนฝูง ผู้ใดจูงสัตว์ให้หายศัลย์ ผู้ใดรู้ธรรม์เห็นอรรถ ผู้ใด บ่ ขัดถ้อยคนพาล ผู้ใดรู้จักการแม่นแท้ ผู้ใดแล้รู้เห็นโทษเห็นคุณ ผู้ใดปุนชอบให้แก่ท่าน การดั่งนั้นสมาคมแล้ อย่าได้คลาไคล ๚

๏ ผิ บ่ ให้ไปสมาคมสมสู่ อยู่เป็นหมู่เป็นมิตร ดูผู้จริตกำหนด ผู้ใดกำหนัดแก่สินท่าน ผู้ใดมักผ่านล่วงประเวณี ผู้ใดมีคำกล่าว บ่ มีสัตย์ ผู้ใดกัตติมักกินเหล้า ผู้ใดมักเย้าให้ผิดกัน ผู้ใดมักสรรใส่โทษ ผู้ใดโกรธมักกุมโพย ผู้ใด บ่ มิโดยความชอบ ผู้ใดลอบกล่าวข้อนมิตร ผู้ใดผิดแล้วเร่งทำ ผู้ใดจำแต่ร้าย ผู้ใดบ่ายผิดไว้แก่ท่าน ผู้ใด บ่ มิคิดอ่านสิ่งสีน ผู้ใดปีนถ้อยปีนความ ผู้ใดมิขามผู้มียศศักดิ์ ผู้ใดมักชักท้าวเธอเป็นเพื่อน ผู้ใดเลื่อนลิ้นพาดตาวคม ผู้ใดชมชื่นนัก ผู้ใดมีศักดิ์สำหาว ผู้ใดปาวปากเปล่า ผู้ใดเล่าตำราขุดเงินทอง ผู้ใดเรียนมนตรส้องส้าว ผู้ใด บ่ มิยึดยาวตัดสะบั้น ผู้ใดมิหมั้นมิคง ผู้ใดระวงแต่มักได้ ผู้ใดใส่ไคล้ปากหวาน ผู้ใดเฉาโฉด.... ผู้ใด.... เหิมชมศักดิ์ ผู้ใดกักมีชอบไว้แก่ตน คนดั่งนี้คนพาล สามสิบสองประการท่านชี้ คนพาลดั่งนี้ อย่าได้สมาคม ๚

๏ พึงสมสู่สมเสพ อันชื่อเทพธรรม์ บัณฑิตชาติทังนั้น บั้นผู้ใดกล่าวภัย ผู้นั้นไซร้ชื่อบัณฑิต ผู้ใดคิดอายแก่บาปทังหลาย ขวนชวายชักชวนชอบ ประกอบด้วยเพียรเสียบาป ผู้ใดปราบใจตนให้อ่อน ผู้ใดผ่อนผิดเสียเอาชอบ ผู้ใดรอบรู้เห็นทุกข์ ผู้ใดเห็นยุกดิ์เห็นสัตว์ บ่ มิเที่ยง ผู้ใดเลี่ยงรู้ว่าใช่ตน ผู้ใดเห็นหนทางธรรม์ ผู้ใดผันเห็นทังสี่สัจ ผู้ใดตัดเบญจขันธ์ ผู้ใดผันหนีไตรภพ ผู้ใดสบแสวงแจ้งนิพพาน ผู้ใดเห็นมรรคญาณปลดปล่ง ผู้ใดชื่อองค์มหาบัณฑิต กิจสิบหกประการ สารองคบัณฑิต พึงให้เป็นมิตรไมตรี สมาคมมีประโยชน์เที่ยงแท้ บัณฑิตกลนี้แล้ โลกอ้างอาศัย ๚

๏ แม้พระราชหฤทัย ใคร่ใฝ่หานักปราชญ์ เฉลียวฉลาดไวโวหาร สารดังฤๅจะรู้จัก ลักษณ์นักปราชญ์ก็ดี จงมีพิรียพยายาม งามด้วยมารยาท ชนาดสมด้วยนักธรรม์ อันภักดิ์ลักษณ์โบราณ อาจชิดการพิเศษ เลศธรรมนียม สมณาจารย์รู้ลักษณ์ทั้งห้า อันรู้จักศีลห้า อันรู้จักสมาธิห้า อันรู้จักปัญญาห้า อันรู้จักญาณห้า อันรู้จักการในนอก บอกคาถาบาลี มีปัญญาญาณแล้ แก้บาลีตามกลอน มีอักษรพินัยไตรปิฎก ยกเอาพระอภิธรรม เป็นกำแพงกันกั้งหน้า เอาพระจัดุราริยสัจมาเป็นอินทรีย เอาพระสมดึงสโพธิปักขิยบารมีเป็นอาวุธ เอาพระสมุทรเป็นซ้ายขวา เอาชาติชรามาเป็นแว่นทองส่องให้เห็นตน เอารูปสกลมาเป็นปราสาท เอาเดโชธาตุมาเป็นกำลัง หยั่งเอาวาโยธาตุมาเป็นเจ้าเรือน เอาอาโปธาตุมาเตือน แต่งสระสรง ดำรงเอาปฐวีธาตุมาเป็นเสาศิลาให้คง เอาอาหารมาดำรงต่างแม่นา เอาอารัมภ์มากทำเป็นต้นหน เอาสรีรสกนธ์มาเป็นสะเภา เอาปรีชาเชาว์มาเป็นจังกูด เอาพระสูตรมาเป็นลดโยง เอาสุทธิมาเป็นกโดงทรงใบต่างปีก เอาไมตรีมาฉีกฟั่นเป็นเกลียว เอาอานาปราณมาเป็นเทียวธงคุมลม เอามธุกามาสมสอบเป็นกงเกา เอาอุเบกขามาใส่เป็นแก้วแสงฉาน เอาสมภารมาเป็นนายอ้างถือท้ายไซร้ เอาบารมีมาไว้เป็นลูกสมุห์ เอาสัตยานุสัตย์มาเป็นถมอ ยอฤทธิพิถีมาเป็นพระพิสัย เอาชญาณพิถีมาเป็นเขน เอาอินทริเยนทร์มาเป็นปานหมวกปกหัว เอาความกลัวความอายเป็นขันน้ำ หมันปูนเอาพระธรรมมาหนุนหัวต่างหมอน เอานามรูปมาเป็นกลอนกวัดแกว่ง เอาเอกัคคตาจิตมาแต่งเป็นพะงา เอาอนุโลมญาณมาตรึงสว่าน เอาโคตรถญาณมาเป็นธงไชย เอาประดิโลมมาเป็นสินธู คูน้ำไหลให้รู้ลักษณ์หลายหลาก เอาประดิภาคมาเป็นกลองไชยเตีอนยาม บังเกิดความตริตรึกการ คือชญาณอันอุดม สมณาจารย์พินัย ไตร่ตรองพิทักษ์รักษา ปรีชญาณหาพุทธจิต บ่ มิผิดจตุปาริสุทธ ศีลพิริยพยายาม ด้วยมรรคญาณาริยกรรมธรรมปานปุน คุณนักปราชญ์ดั่งนี้ไซร้ ควรให้เป็นนักปราชญ์ ควรพระราชนมัสการ โลกยญาณสำนัก อันนี้ลักษณะผู้เป็นนักปราชญ์แล ๚

๏ แม้พระราชหฤทัยใฝ่หาราชครู ดูอนุกรมการ ดำนานดำแหน่งตักเตือนพระองค์ จงคำนับสรรพกล ยุบลดังฤๅแลจะรู้จัก ลักษณะกรมครูโสดสิ้นไซร้ ให้รู้เวทางคศาสตราคม สมกระกูลเพื่อพงศ์พราหมณ กระษัตริย์แพศย์ศูทรรู้โคตรพงศ์ จงดูอาจารผู้งาม นามผู้ดีมีคำรบคุณวุทธิ มีการิสุทไฟพิสัยพระอาทิตย์ พิพิธพระนารายณ์ อัมพวายตัดต้อง ตระกองบูชามนตร์นมวัว ดอกบัวดอกคำทำฉมจันทน์ พรรณใบเฟืองใบยม ต้มไข่อีกหมากพร้าวลูกตาล อ่อนแกงหวานเมี่ยงหมากพลู กล้วยอ้อยดูตระการประดับ สำหรับบูชาหาประดาพระเพลิง บันเทิงใจในพระปรเมศวรบูชา อย่าคร้านคลาฟั่นด้าย สะพายสังวาลงานถือสังข์ นั่งบูชาหาตรีมูล จูรณเจิมหน้าผ้าสะพักเฉวียง เรียงกันถวายย้ายกันอยู่ หมู่พราหมณาจารย์ อาทธิอาการพยารี ชี้อยู่เป็นถ่องซ้องแซม แกมกันเป็นหมู่ อยู่เป็นฝูงลุงตา อีกทั้งพังคาพังคี ชวาปราศรีจีนจาม ไต่ถามออกยินยล ผล่นแผลงไปเสนอการ เด็กเล็กน้อยถ้อยคำงาม ไต่ถามความผู้เฒ่าระบอบ ชอบเทียบกันดูศิษย์ แลครูเยียวผิดกิจท่านกันคำนับคัลกันไป จะกล่าวใคร่อหงา ฟังไปทุกภาษาภาษี มีอันเจ้าอันไท้จะถาม ตามระวังการศาสตร์ ล่วงราชจริต คิดทำเงินทำทอง ปองหายาหาหยูก ถูกการให้ถามทาย หมายสงครามการดูดาวเดือน เตือนเจ้าเตือนพิสัยตำนาน ทานบูชาโคลาชักน้ำ บ้างปล้ำบ้างตี บ้างมีอัมพวาย มรักขนายแลเรียกกันมายยุ่ง จจุ่งเทียมปรศรพยารี มีค่ำมีคืน เนื้อวัวเนื้อควาย ฟายปลาหาหม้อข้าวหม้อแกง แต่งจวักผักแลเกลือเขือแลถั่วงา หาขัณฑสกรแลนมวัวหวาน นํ้าตาลจานกระทิ ระบิการพยารี มีแกงสามหม้อ ย่อมอั่วอ่อมแกมกัน พรรณนักเทศเลศอาจารย์ กำนานไซร้ให้โดยศาสตรการ แลอาจารย์ราชครูโดยความ บ่ มิงามความชอบประกอบดั่งนี้ไซร้ จึงควรให้เป็นราชครู ดูโดยบรรทัดตัดแต่ง แพ่งสอนใจราชครู ชอบแล ๚

๏ แม้พระราชหฤทัยใฝ่ แลจะให้หาพระอัครมเหสี เทพีเจ้าแท่นทอง อันจะครองพระสนม ชมเชือใจจอมจักร รู้จักลักษณอุดม จงสมคุณโสภา จรรยาศัยหนุ่มเหน้า เกื้อแกมเคล้าอุบรา คือสัมธมิตรเตรียบหน้า ช้าชวนอ่าเอวกลม สมมารยาทชนาดเทพี อัครมเหสีนางผ่านเมือง โอบองค์ซ้ายขวา ตาไกลตนคำเอก บ่ ห่อนเจกใจสอง บ่ให้ช่องลับตา เจรจาเสียงอ่อนอ้อย ละห้อยกล่าวเสียงสาร การเป็นนางเมืองจบคุณ จงรู้ปุนรู้รอด สอดใจเห็นทุกสิ่ง ยิ่งกว่าหญิงทั้งหลาย รู้อภิปรายยิ่งคน เป็นตนแต่งนางจูง ให้นั่งสูงถือศักดิ์ แต่งนางรักถือวี แต่งสาวศรีถือแว่น แน่งน้อยแกว่นชูผ้า แต่งหนุ่มหน้าชูพาน แต่งสาวสะคราญรับผ้า แต่งหนุ่มหน้าดูของ แต่งถือทองเทียมจันทร์ แต่งถือขันหมากถวาย ชาวแม่หลายเป็นถ้อง นั่งซ้องแซมเรียงรัน ตรูเตรียบจันทร์แจ่มหน้า คือนางฟ้าปรนนิบัติ บ้างนั่งพัดนั่งวี แกว่งจามรีจามร นั่งองค์อ่อนเอาภาร บ้างรู้การสังคีต บ้างรู้ดีดทันที บ้างรู้ตีพาทย์ฆ้อง บ้างแต่งต้องตามคุณ บ้างปุนเป็นแม่ครัว บ้างรู้อั่วรู้เจียว บ้างรู้เสี่ยวรู้ปัก บ้างรู้พิทักษ์เลี้ยงไพร่ บ้างรู้แต่งไต้เทียนยาม บ้างรู้แต่งความผิดชอบ รู้ประกอบพระหฤทัย พิสัยรู้รอบการ สารดั่งกล่าวมานี้ ชาติเชื้อมเหสี ๚

๚ จบดั่งกล่าวเท่านี้แล ๚



[๑] ร่ายบทนี้ระบุว่า “สิบห้าประการกิจกล่าวแล้” แต่ในต้นฉบับ “ปูมราชธรรม” กล่าวถึงเพียง ๑๑ ประการ ในที่นี้ได้คัดจากตำราพิไชยสงคราม ฉบับหมอบรัดเลย์ เพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ ขาดไป ๑ อย่าง

[๒] ด้านหน้าของข้อความนี้ในต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “ให้ทำสีหนาท”

[๓] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “ให้รักษาด้วยศาสตร์”

[๔] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “ให้ล่อรบสี่ด้าน”

[๕] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “พลน้อยแฝงป่า”

[๖] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “พลมากแฝงป่าน้อย”

[๗] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “เบียดเสียด”

[๘] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “เอาด้วยไมตรี”

[๙] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “คนน้อยอ่อนเอา”

[๑๐] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “ลวงคนกล้าให้แพ้”

[๑๑] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “รี้พลมากเอาด้วยอุก”

[๑๒] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “รักษาด้วยสาคร”

[๑๓] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “ให้รักษาเมืองเอานายกอง”

[๑๔] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “ทำมิตรเภท”

[๑๕] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “รักษาด้วยยาพิษ”

[๑๖] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “รักษาเมืองแลค่าย”

[๑๗] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “จะเอาเมืองท่าน”

[๑๘] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “รักษาเมือง”

[๑๙] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “อุกรุกเบียดบ้านเมือง”

[๒๐] ต้นฉบับมีคำอธิบายว่า “ลักมาปืนพระราม”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ