อารัมภบท
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร โปรดให้ข้าพเจ้าเชิญพระกระแสรับสั่งไปติดต่อขอเรื่องจากกรมศิลปากรมาพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย ดั่งความแจ้งอยู่ในสำเนาข้างหน้านี้
เรื่องที่กรมศิลปากรจัดถวายมานี้ แม้เป็นเพียงพระราชหัตถเลขาสั้นๆ โดยมาก แต่ก็เป็นเอกสารสำคัญในทางประวัติศาสตร์ที่น่ารู้อยู่
พระบรมราโชวาทในฉะบับแรกมีค่าอยู่ที่เป็นเครื่องแสดงพระรัฐประศาสนนัย อันมีหลักอาศัยการปลูกฝังสามัคคีรสด้วยความไม่ประมาท ดำเนินความโดยลำดับประวัติศาสตร์ ซึ่งมีลางข้อที่ยังไม่ประจักษ์แพร่หลายแก่นักประวัติศาสตร์ส่วนมาก รวมใจความอันเป็นคติอยู่ข้างท้ายว่า
“ผู้ซึ่งรังเกียจอยู่ว่าจะเป็นศัตรู ถ้ายิ่งขืนทำท่าเป็นศัตรูตอบ พอที่จะไม่เป็นก็ต้องเป็น”
ในฉะบับที่สอง ทรงในเวลาต่อมาอีกไม่ถึง ๒ เดือน ในโอกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศพระองค์นั้น มีพระชนมายุเสมอด้วยพระองค์เมื่อทรง “รับสมมตเป็นเจ้าแผ่นดิน” เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญอีกอันหนึ่ง ด้วยเหตุว่าแสดงความคิดเห็นของบุคคลชั้นสูง แม้ในระหว่างพระบรมราชวงศ์อันมีต่อพระองค์และแสดงฐานะของพระองค์ที่ยังไกลจากความมั่นคงในทางการเมือง
ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ว่าประเทศใดหรือสมัยใดๆ เราอาจเห็นอาการดั่งว่านี้บ่อยๆ คือผู้ที่ได้ตำแหน่งครองเมืองโดยนีติประเพณี ลางทีสมบูรณ์ด้วยชาติวุฑฒิ หากอ่อนด้วยวัยวุฑฒิ ย่อมได้รับความติดขัดที่จะบำเพ็ญกรณียให้สมบูรณ์ตามหน้าที่ได้ ถ้าขาดสติปัญญาและความยับยั้ง ก็อาจถึงแก่อับปางลงกลางคัน การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสามารถทรงประคับประคองฐานะอันง่อนแง่นของพระองค์มาได้จนบรรลุความสำเร็จในที่สุด จนใคร ๆ ก็ยกย่องว่า ทรงเป็นผู้ครองเมืองชะนิดตัวอย่างเช่นนี้ ก็ด้วยพระอัธยาศัยรอบคอบ กอบด้วยความรู้จักยับยั้ง และรู้จักหว่านล้อมด้วยเมตตากรุณาและจาคธรรม เป็นพระราชกฤดาภินิหารอันควรเป็นตัวอย่างต่อไป
พระราชหัตถเลขาฉะบับที่สาม พระราชทานแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์ก่อนเสด็จสวรรคตไปแล้วนั้น ดำเนินความลางส่วนคล้าย ๆ กันกับสองฉะบับที่พระราชทานสมเด็จพระบรมเชฎฐาธิราช ที่พิมพ์ไว้ข้างหน้า แต่พึงสังเกตว่า ทรงระวังในการพระราชทานพระบรมราโชวาทอยู่ โดยทรงเกรงว่าพระราชโอรสอาจไม่ทรงเชื่อ ทั้งนี้น่าสันนิษฐานว่าเป็นเพราะในขณะนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นั้นประทับทรงเล่าเรียนอยู่ต่างประเทศ พระองค์จึงไม่สู้แน่พระราชหฤทัยนักว่าจะทรงเชื่อฟังพระบรมราโชวาทสักเพียงใด เพราะทรงมีครูบาอาจารย์เป็นชาวต่างประเทศ ต่างอบรมด้วยหลักและวิธีการของปรสมัย แท้จริงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นี้เป็นผู้ที่เคารพนับถือสมเด็จพระบรมชนกนาถยิ่งนัก ดั่งจะเห็นได้ในที่อื่นๆ ในเวลาต่อมาเมื่อเจริญพระชนมายุขึ้นจนทรงเล่าเรียนสำเร็จ กลับเข้ามาฉลองพระเดชพระคุณในพระมหานครแล้ว ความเลื่อมใสของพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ยิ่งทวีมั่นคงขึ้นอีกมาก อย่างไรก็ดี ในการติดต่อกับผู้ใหญ่ทั่วๆ ไป พระองค์เป็นบุคคลที่ฟังผู้ใหญ่ด้วยเคารพและด้วยวิจารณญาณ แม้จะมิได้ทรงเห็นด้วยหรือเชื่อตาม ก็ทรงแย้งด้วยความเห็นใจผู้ใหญ่นั้นเสมอ
ฉะบับที่สี่และต่อไป แสดงให้เห็นลักษณะที่ทรงติดต่อ ในเมื่อพระราชโอรสทรงบรรลุวัยวุฒิแล้วอย่างเต็มที่ เป็นวิธีที่ทรงเลี้ยงผู้ใหญ่และยังมีความน่ารู้ในเรื่องภูมิประเทศฝ่ายใต้อีกด้วย
ธานีนิวัต