พระราชหัตถเลขาฉะบับที่ ๕
เมืองนครศรีธรรมราช
วันที่ ๗ กรกฎาคม ๓๘ร.ศ. ๑๒๔
แจ้งความมายังมกุฎราชกุมาร ในที่ประชุมรักษาพระนคร
ด้วยแต่ก่อนได้บอกมาจากตำบลบันนาเระ (คำที่เรียกว่าบันนาแระนั้นผิดไป) แขวงเมืองยหริ่ง ไม่ได้ขึ้นบกเพราะฝนตก พระยายหริ่ง๑และบุตรลงมาหาในเรือ ข้อที่แวะบันนาเระนี้ ด้วยกลัวว่าไปทอดอยู่หน้าเมืองตานีกลางคืนคลื่นจะใหญ่ และหวังจะให้ได้ขึ้นเมืองตานีแต่เช้าด้วย เพราะตำบลนี้อยู่ใกล้ปลายแหลมเมืองตานี อนึ่งที่นี้ปรากฏชื่อเสียงว่าเป็นที่มีปลาสะละกุนิง ซึ่งเป็นปลาเข้าเป็นเวลาคล้ายปลาทู เวลานี้น้ำใสไม่เข้าจึงไม่ได้เห็นปลาสด แต่เขาเอาปลาแห้งมาให้ เป็นลักษณะระหว่างปลาทูและปลาแป้น อีกอย่างหนึ่งเรียกว่าปลาแดง มีคนประมาณ ๕๐๐ หาเลี้ยงชีวิตด้วยทำปลามีกินมาก ภาษีเมืองยหริ่งขึ้นด้วยตำบลนี้
ครั้นรุ่งขึ้นได้ไปทอดที่หน้าอ่าวตานี เวลาเช้า ๒ โมงเศษขึ้นบก ไปขึ้นที่ท้ายตลาดจีน ตลาดนี้พึ่งเกิดขึ้นใหม่ ถนนไปใกล้ลำน้ำ มีตึกและโรงปลูกขึ้นใหม่โดยมาก ได้แวะเยี่ยมพระยาพิทักษ์ธรรมสุนทร๒ พระยาเมืองซึ่งป่วย ความจริงดูกระชุ่มกระชวยขึ้นกว่าแต่ก่อน ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาเราะราย บ้านเรือนก็ทำดีขึ้น เห็นจะเป็นด้วยใจสบายมีเงินใช้ แต่ก่อนเป็นคนจนมาก แล้วไปแวะวัดตานีนรสโมสร ซึ่งดูเสมอ ๆ อยู่ เว้นแต่ตึกจีนที่สร้างครั้งแรกทรุดโทรมมาก โรงตำรวจภูธรได้ตั้งติดต่อไปจากวัด ต่อไปถึงศาลและเรือนจำ ได้แวะที่ศาลฟังถามพะยานความโต๊ะกาลี ตามรายงานและอาการกิริยาที่พวกโต๊ะกาลีนั่งว่าความ ดูเป็นที่พอใจมาก ความอาญาลดถอยน้อยลง ความแพ่งทวีขึ้น ที่ทวีขึ้นเรื่องความที่ดินเป็นพื้น แสดงให้เห็นว่าที่ดินมีราคาขึ้น สมกับที่แลเห็นว่าเมืองตานีใหญ่ยาวขึ้นกว่าแต่ก่อน ความที่ว่าค้างปีแต่เล็กน้อยเป็นรายงานอย่างดีตามลักษณะของศาล ได้ลงเรือที่ท้ายตลาดจีน ไปขึ้นสะพานตลาดแขก คือเมืองเดิมซึ่งมีถนนยื่นขึ้นไปจากแม่น้ำจนถึงบาไลพระยาเมือง แล้วต่อไปเป็นทางเดินไปเมืองยหริ่ง ตลาดนี้มีแปลกตา ที่หน้าบาไลพระยาเมือง อับดุลคาเด ได้สร้างโรง ๒ ชั้นหลังคามุงกระเบื้อง ให้เช่าหลายสิบห้อง มีตลาดขายของสดใหญ่โตมาก คนนั่งหลายร้อย พึ่งสร้างเมื่อกลับออกมาเมืองตานี เป็นผลประโยชน์มากอยู่ ตัวเองประพฤติเป็นคนเคร่งครัดในศาสนา ไว้กิริยาอาการสุภาพ ลงเรือออกไปรับถึงเรือมหาจักรี แต่จอดอยู่ข้าง ๆ เหมือนเรือทั้งปวง ไม่ได้ขึ้นหาบนเรือ จนเวลาเข้าไปในเมืองตานี ก็ตามไปในเรือโถงจนตลอดถึงหน้าบ้านจึงออกมาหา แต่ยืนอยู่หน้าราษฎรไม่ได้ไว้ตัวเป็นขุนนาง มารดาก็มาช่วยทำครัวที่บ้านข้าหลวงบริเวณ๓ นับว่าไว้ท่าทางดี ตลอดสังเกตดูราษฎรในเมืองตานีกล้าหรือคุ้นขึ้นกว่าแต่ก่อน มีคำร้องให้พรดังๆ ที่หัวหน้าได้ว่ายาวๆ แล้วพวกเหล่านั้นเปล่งเสียง ไม่ใช่โห่หลายแห่ง กลับมาลงเรือที่ท่าเดิม ขึ้นท่าหน้าที่ว่าการบริเวณซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดตานีนรสโมสร ทำแล้วเสร็จได้ยกการไปว่าที่นั่นนานมาแล้ว แต่พื้นที่ยังไม่บริบูรณ์ ครั้งนี้เป็นอันบริบูรณ์ ด้วยได้เงินอนุญาตจัดการรับเสด็จ แท้จริงเงินอนุญาตรับเสด็จนั้น หัวเมืองรู้จักที่จะหมุนไปใช้ในการถาวรทั่วกันทุกเมือง อย่างเช่นเงินรับเจ้าฝรั่งซึ่งฉันได้หมุนไปใช้ในการถาวรอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองตานีครั้งนี้ได้ทั้งสะพานน้ำและถนนพื้นที่ว่าการและอื่นๆ แล้วบริบูรณ์ขึ้นมาก ที่ว่าการนั้นก็เป็นลักษณะอย่างเดียวกันกับที่พิษณุโลกและอื่นๆ บ้านข้าหลวงไปตั้งอยู่ริมคลองห่างแม่น้ำ คลองนี้เป็นคลองที่ไปตักน้ำจืด ทำงดงามและสบายดีมาก พร้อมทั้งตัวเรือนและแผนที่ กองบริเวณและพระยาเมืองทั้ง ๗๔ ตั้งร้านขายของบรรดาที่มีในพื้นเมืองสนุกดีอยู่ ในบริเวณบ้านนั้นมีเครื่องเล่น คือหุ่นโนราห์ บรรดาที่อยู่ในพื้นเมือง ครั้นเวลาบ่ายได้มีชนโค ชนแกะ และคนปล้ำ พระยาเมืองทั้ง ๗ และบุตรภรรยาได้มาแวดล้อมอยู่ยังค่ำ จนเวลาย่ำค่ำจึงได้กลับลงมาเรือ น้ำแห้งต้องเข็นออกมามาก สังเกตดูพวกมะลายูมีความนิยมและสบายรื่นเริงขึ้นมากกว่าที่เคยเห็นมาแต่ก่อนๆ ข้อที่กล่าวว่าเป็นที่เดือดร้อนนั้นเป็นแต่ปากคนหนึ่งสองคนพูด อ้างว่าคนมากพูด ไม่สมกับอาการกิริยาที่แลเห็นด้วยตา ในเมืองกลันตัน เมืองตรังกานู เมืองตานี ๓ เมืองนี้ ฉันได้ให้เงินแจกคนที่ต้องเกณฑ์มารับมาแห่ เมืองละ ๑๐๐๐ เหรียญ ได้ออกจากตานีในเวลาค่ำ ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้าได้แวะถ่ายรูปที่แหลมทรายเมืองสงขลา จนเช้า ๕ โมงจึงได้ออกเรือมาเมืองนครศรีธรรมราช ถึงเวลายามเศษ
วันที่ ๓ กรกฏาคม ได้ขึ้นเมืองนครทางปากกะพูน สายไปจน ๒ โมงเศษ น้ำแห้งต้องเข็นไกล ขึ้นที่ท่าแพมาตามถนนราชดำเนินซึ่งได้ถมอิฐลงไปเกือบจะถึงท่าแพแล้ว เป็นถนนดี แต่ต้นประดู่ตอนนอกปลูกไม่ขึ้นแห้งนักยังไม่ร่ม ศาลากลางย่านซึ่งพระราชินีทำไว้เมื่อศก ๑๑๗ หมดจดบริบูรณ์ดีได้ทำพิธีเปิดประตูป่านอกตลาดท่าวังตามแบบ ตั้งแต่ข้ามสะพานท่าวังมาแล้ว มีเรือนโรงเกิดขึ้นใหม่มาก แต่ตึกน้อยเต็มที เพราะเหตุขัดด้วยทัพพสัมภาระ แต่ถนนดีต้นไม้ร่มตลอด มีที่ก่อสร้างในราชการเกิดขึ้นใหม่ คือออฟฟิศไปรษณีย์โทรเลข บ้านและออฟพิศ กรมแผนที่ โรงตำรวจภูธร ๓ ใหญ่โตงดงามดี ฉันได้มาอยู่ที่ที่ว่าการ ซึ่งอยู่นอกพลับพลาเดิมที่ต้นประดู่ใหญ่ออกมา พื้นที่งาม ต้นไม้บริบูรณ์ เรือนฝากระดานมุงกระเบื้อง อยู่สบายดีมาก
เวลาบ่าย ได้เข้าไปในเมืองแวะที่โรงใหญ่หรือพระที่นั่งทรงปืน ซึ่งตั้งศพเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่๕ และท่านหญิงมารดาพระยานครศรีธรรมราช แล้วจึงไปที่พระมหาธาตุ มีการซ่อมแซมหลายอย่าง คือองค์พระเป็นต้น พื้นทักษิณและวิหารหน้าก็ปูศิลา แต่ดูไม่ทั่วเพราะฝนตกตั้งแต่ออกจากที่อยู่ไปแล้ว ได้มีสวดมนต์สมโภชพระมหาธาตุตามเคย เวลาพลบกลับที่อยู่
ฉันขอยืนยันใบบอกเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อ ร ศ ๑๑๗ อีกครั้งหนึ่งว่าคนเมืองนครศรีธรรมราชยังดำเนินไปดีในทางไม่เกียจคร้านเช่นแต่ก่อน แจวเรือก็ไม่อ้อแอ้ ขนของก็ไม่เดินช้าและหยุดแล้วหยุดเล่า ได้เห็นแก่ตาตลอดทั้งทางเรือทางบก จึงเห็นว่าการที่ตัดต้นกระท่อมและจัดการปกครองอย่างตื่นจากหลับ ทำให้คนดีขึ้นได้มาก
วันที่ ๔ เวลาเช้า ไปตักบาตรเลี้ยงพระในการสมโภชพระบรมธาตุ แต่ที่แท้อยู่ข้างจะไปถ่ายรูปมากกว่า แล้วถวายวัตถุปัจจัยมูลพระสงฆ์สมณศักดิ์ซึ่งมาสวดมนต์และฉันฉลองนั้น เวลากลางวันเวียนเทียนสมโภช เวลาเย็นได้ไปเผาศพเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ และท่านหญิงมารดาพระยานคร ที่โรงทิมวัดป่าบ้านซึ่งอยู่ติดกันกับวังเจ้านคร วัดนี้เป็นของเจ้าพระยานครน้อยกลางเริ่มสร้าง แต่ไม่สำเร็จ ผู้ตายจึงปรารถนาจะให้ทำในที่นั้น ในงานศพครั้งนี้มีแต่ของทำบุญ เลิกมหรสพ ดูเหมือนชาวเมืองนครไม่ใคร่รู้ว่ามีงานเผาศพ แล้วกลับทางถนนรอบกำแพงเมือง
ครั้งนี้ได้จัดการให้ไปเกลี้ยกล่อมพาพวกคนป่า หรือเงาะ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า สไกย์ อันที่จริงนั้นได้ไล่เรียงตัวนั้นแล้ว มันเรียกตัวเองว่าก็อย เข้าใจว่าจะเป็นอย่างเดียวกับพวกหนึ่งซึ่งเรียกว่า ก็วย อยู่ฟากทะเลตะวันออก ที่ฝรั่งเรียกมี สะ นำหน้า ทีจะมาจาก ษา ซึ่งแขกและชาวนครใช้เรียกเป็นชาติ เช่นษาแคะ คือภาษาแขก ษาเทย คือภาษาไทย แต่ไม่เข้าใจเหมือนอย่างเราเข้าใจว่าเป็นภาษา เข้าใจตรงกันกับที่เราเรียกว่าชาติ และเรียกว่าษาก๊อย เมื่อสั้นและแปร่งก็จะเป็นสไกย์ไปได้ พวกที่ไปเกลี้ยกล่อมมานี้ อยู่ในแขวงเมืองพัทลุง แต่เป็นโขลงเชื่อง ซึ่งถ้าถึงฤดูลงมาช่วยชาวบ้านป่าทำไร่ เพื่อประโยชน์ความต้องการเครื่องแดงๆ พูดไทยได้พอใช้อยู่ มาทั้งชายหญิงผู้ใหญ่เด็ก ๑๕ คน รูปร่างสันทัดติดข้างผอม ผิวเนื้อดำอย่างนิคา มีแดงเจือมาก ผมหยิกขมวด ปากไม่สู้หนา ก้นไม่งอน ผิดกันกับนิคามาก จะว่าเหมือนอะไรไม่ดียิ่งกว่าที่เขาเรียกว่าเงาะ เจ้าเงาะในเรื่องสังข์ทองนั้นไม่ได้มุ่งหมายจะกล่าวถึงพวกนิคาเลย จะกล่าวถึงพวกนี้แท้ๆ ถึงอาวุธที่ถือนั้น ก็เข้าเรื่อง คือถือไม้รวกยาวประมาณสัก ๕ ศอก ซึ่งเป็นที่บรรจุหลอดสำหรับเป่าลูกดอกๆ นั้นบรรจุแล่งทำด้วยปล้องไผ่สะพาย ใช้ไม้หยักสำหรับเมื่อยิงถูกให้หัก และใช้ยางน่องทาปลายไม้ระกำเสียบข้างหลังแทนขนนก ก็อย่างลูกศรนั้น และจับตัวให้ตั้งท่าถืออย่างเจ้าเงาะ เหมือนเจ้าเงาะเล่นละครทีเดียว ปรกติอยู่ป่าใช้นุ่งใบไม้ เข้าบ้านนุ่งผ้าแต่เล็กน้อยตามแต่จะมี เด็ก ๆ เป็นคุดทะราดหลายคน อยู่ข้างสกปรกแต่น่าดู
อีกพวกหนึ่งนั้นคือพราหมณ์เมืองพัทลุง แต่งตัวไม่เหมือนพราหมณ์กรุงเทพ ฯ หรือพราหมณ์นคร มวยไว้จุกบนกลางขม่อมโกนล่างเรียกว่าเมาลี สวมหมวกขาว เรียกว่าชฎาธาร วิธีอ่านมนต์เวลารดน้ำ จะเป็นพิเศษชั่วคราวหรือประการใดไม่ทราบ ยาวมาก มีที่เคยได้ยินเสมอ ๆ คั่นเป็นตอน ๆ สลับกับภาษามคธมัว ๆ แต่สังเกตได้ว่าเป็นพราหมณ์พฤฒิบาศ คนทั้งสองพวกนี้ ได้ถ่ายรูปไว้แล้ว
วันที่ ๕ ก.ค. เวลาเช้าไม่ได้ไปแห่งใด เพราะเหนื่อยและนอนน้อย เวลาบ่ายแห่ผ้าห่มพระมหาธาตุตามเคย แต่หาผ้าแดงไม่ได้ ซื้อทำธงรับเสด็จกันหมดเมือง จึงต้องใช้พื้นชมพู เข้าไปที่วิหารพระม้า ถ่ายรูปที่นั่นและทัพเกษตร แล้วไปดูละครทรัพย์ภรรยาพระศิริธรรมบริรักษ์๖ ที่พลับพลา
วันที่ ๖ เช้าไปสวนราชฤดี ต้นไม้ริมชายทุ่งขึ้นใหญ่ไปบังเขาหลวงเสียไม่งาม ขากลับได้ไปเยี่ยมพระศิริธรรมมุนี๗ วัดท่าโพธิ์ โรงเรียนที่นี่จัดดีอยู่ ได้เห็นเขียนตามคำบอก อับตูเดตจนถึงรุสเซียกับญี่ปุ่นรบกัน มีของประหลาดอย่างหนึ่งคือเตียงนอน ว่าพระยาไทรส่งมาให้เจ้าพระยานคร น้อย เมื่อขณะไปทำวัดท่าโพธิ์อยู่ จึงได้ไว้ที่วัดนั้นสืบมา เตียงนั้นขาสูงประมาณสักศอกคืบ มีฝาเฟี้ยมบานเกล็ดรอบ มีหลังคาซุ้มเป็นแขก ลายเป็นฝรั่ง ดูเหมือนตั้งใจว่าจะเป็นเตียงแทนห้อง ตั้งลงที่แห่งหนึ่งแห่งใดก็จะนอนได้ ได้ถ่ายรูปมาแล้ว พระศิริธรรมได้ศิลาจารึกมาอีกแผ่นหนึ่ง เป็นภาษามคธ ตัวหนังสือขอมปนลังกา เห็นจะพออ่านได้ เธอให้สำหรับวัดเบญจมบพิตร จะได้พาเข้าไปกรุงเทพฯ ด้วย
กลับมาดูที่ออฟฟิศกรมแผนที่ ๆ มณฑลนครศรีธรรมราชทำแล้วมาก และได้ทำแผนที่ละเอียดตอนในเมืองด้วย
คิดเห็นว่าเชื้อวงศ์เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเป็นวงศ์เก่า เคยเป็นเจ้าพระยาสืบกันมาทุกชั่ว ถึงจะต้องยักย้ายเช่นเจ้าพระยานคร พัฒ ก็เลื่อนไปเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พระยาพัทลุงต้องอุทธรณ์อยู่ในระหว่างโทษกักไว้ ณ กรุงเทพ ฯ ก็ยังทรงยกย่องให้เป็นเจ้าพระยามหาศิริธรรม พระยานครศรีธรรมราช เป็นข้าราชการมาแต่รัชกาลที่ ๔ ได้พานทองเหลืออยู่แต่ ๒ คนกับเจ้าพระยาภานุวงศ์ ถึงจะเป็นจางวางแล้ว ก็ควรจะเป็นเจ้าพระยาได้ จึงได้ตั้งให้เป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีอย่างเจ้าพระยานคร พัฒ เมื่อเป็นจางวางแล้ว ได้ไปสดับปกรณ์พระอัฏฐิกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์ พระองค์ปัทมราช เจ้าพระยานคร พัฒ เจ้าพระยานคร น้อย เจ้าพระยานคร น้อยกลาง เจ้าจอมมารดานุ้ย๘ เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก๙ ท่านผู้หญิงอิน๑๐ เจ้าพระยามหาศิริธรรม๑๑ พระยาเสนหามนตรี๑๒ เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ ท่านผู้หญิงหญิง๑๓ ซึ่งเช้าตั้งทำบุญ
ครั้นทำบุญเสร็จแล้ว ได้ออกไปทางประตูชัยทิศใต้ซึ่งเป็นทางไปเมืองพัทลุง ถึงตำบลศาลามีชัย ซึ่งเป็นทางแยกตัดตรงไปตะวันออก ถึงเขาสันแหลมมะลายู ข้ามไปเมืองตรัง ทางแรกที่ตรงเหนือใต้นั้น ไปบนสันเนินที่ตั้งกำแพงเมืองนคร แต่เนินนั้นแคบเรียวไป กว้างประมาณ ๓ เส้นบ้าง กว่า ๓ เส้นบ้าง เป็นส่วนทั้ง ๒ ฟากถนน ตกชายเนินเป็นทุ่งนา ที่ดินข้างใต้เมืองนี้อุดมดีกว่าแถบท่าแพ เพราะมีน้ำมาจากเขาบริบูรณ์กว่า ในที่สุดถนนเมืองตรังมีน้ำไหลแรง อาจจะหนุนเครื่องจักรโรงสีได้ ที่แผ่นดินฤดูร้อนหญ้าไม่แห้ง สังเกตดูความรู้สึกทั้งที่ตาได้เห็นและอากาศ ประเภทเมืองเหมือนชะวา อาจจะทำให้อิริเกชั่นได้สำเร็จ ทางนี้คือเป็นทางที่คิดจะทำทางรถไฟไปเมืองตรัง เมื่อได้เห็นพื้นที่แล้วเป็นที่ปลื้มใจว่า จะได้ผลสำเร็จดีอย่างยิ่ง น่าที่พระยาสุริยานุวัตร๑๔จะออกมาเห็นสักครั้งหนึ่ง จะเข้าใจความคิดการทำทางรถไฟสายนี้ชัดเจนดี กลับมาแวะที่วัดพระมหาธาตุ ดูละครพิณ๑๕ซึ่งเป็นคู่แข่งกันกับทรัพย์อีกหน่อยหนึ่ง
ตั้งแต่ขึ้นมาอยู่บนเมืองนครนี้ ราวเที่ยงแล้วฝนตกทุกวัน ไปหยุดเวลาบ่าย ๔ โมง วันแรก ๆ ตกเวลาค่ำและมีพายุด้วย วันนี้เป็นวันพายุสงบทีเดียว
วันที่ ๗ เวลา ๓ โมงเช้า ลงเรือที่คูเมืองด้านเหนือ มาตามคลองพระยา ซึ่งพระยาสุขุมได้ขุด เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรเป็นผู้เปิด ตรงมาตามทิศตะวันออก มีทำนบกั้นเป็นตอนๆ ปิดน้ำไว้ให้สูงได้ ทราบว่าเป็นประโยชน์แก่ที่นาสองฝั่งคลองนั้นมาก ทางประมาณ ๑๕๐ เส้น ตกคลองปากนคร ที่ใกล้ปากคลองมีบ้านชาวประมงทั้งสองฟากมาก มาถึงเรือมหาจักรีเวลาบ่าย
บรรดาผู้ซึ่งเจ็บไข้หายเป็นปรกติหมดแล้ว
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
-
๑. พระยาพิพิธเสนามาตรยาธิบดี (นิโวะ) ↩
-
๒. พระยาพิทักษ์ธรรมสุนทร (กุรต). ↩
-
๓. ข้าหลวงบริเวณ คือ ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณ ๗ หัวเมือง อันขึ้นในมณฑลนครศรีธรรมราช ในเวลานั้น พระรามฤทธิรงค์ (ฉี่ บุนนาค) ซึ่งต่อมาเป็นรพะยาอมรฤทธิธำรง เป็นผู้รั้งตำแหน่ง. บริเวณ ๗ หัวเมืองที่อยู่ในปกครองของข้าหลวงใหญ่ คือ เมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง (หรือยิหริ่ง) เมืองสายบุรี เมืองระแงะ เมืองราห์มัน เมืองยะลา และเมืองหนองจิก ซึ่งต่อมาโปรดฯ ให้แยกออกจากมณฑลนครศรีธรรมราช ตั้งขึ้นเป็นอีกมณฑลหนึ่ง เรียกว่ามณฑลปัตตานี มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้บัญชาการเช่นเดียวกับมณฑลอื่นๆ ↩
-
๔. พระยาเมืองทั้ง ๗ คือ เมืองตานี พระยาพิทักษ์ธรรมสุนทร (กุเต), เมืองราห์มัน พระยารัตนภักดี (ตวนละไบยะวอ), เมืองสายบุรี พระยาสุริยสุนทร (นิขลา), เมืองหนองจิก พระยาเพชราภิบาล (พ่วง ณ สงขลา), เมืองระแงะ พระยาภูผาภักดี (นิเงาะ), เมืองยะลา พระยาณรงค์ฤทธี (ตวนบะซา), เมืองยิหริ่ง พระยาพิพิธเสนามาตย์ (นิโวะ). ↩
-
๕. เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ เจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์ ↩
-
๖. พระศิริธรรมบริรักษ์ (ถัด ณ นคร) ↩
-
๗. พระศิริธรรมมุนี (ม่วง) ต่อมาได้เลื่อนที่เป็นพระเทพกวี พระธรรมโกศาจารย์ และพระรัตนธัชมุนี โดยลำดับ. ↩
-
๘. เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ในรัชกาลที่ ๑ เจ้าจอมมารดาของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ. ↩
-
๙. เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าปัทมราช. ↩
-
๑๐. ท่านผู้หญิงอิน ภรรยาเจ้าพระยานครน้อย. ↩
-
๑๑. เจ้าพระยามหาศิริธรรม (เมือง หรือน้อยใหญ่ ณ นคร) บุตรเจ้าพระยานครน้อย เป็นต้นสกุล โกมารกุล ณ นคร. ↩
-
๑๒. พระยาเสนหามนตรี (หนูพร้อม ณ นคร) บุตรเจ้าพระยานครน้อยกลาง. ↩
-
๑๓. ท่านผู้หญิงหญิง ภรรยาเจ้าพระยานครน้อยกลาง ↩
-
๑๔. พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เวลานั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ. ↩
-
๑๕. พิณ และ ทรัพย์ เป็นภรรยาพระศิริธรรมบริรักษ์ (ถัด ณ นคร) ทั้งสองคน. ↩