พระบรมราโชวาทฉะบับที่ ๑
ที่ ๑/๓๒๕๔
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม รัตนโกสินทร๒๖ศก ๑๑๒
วันนี้ว่างเพราะเป็นวันพระ จึงจะขอจดหมายตักเตือนฉะเพาะตัวลูกชายใหญ่๑ ให้พิจารณาถึงความประพฤติหรือจะเรียกว่าพระราชจริยาแห่งพระเจ้าแผ่นดินในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งได้ทรงประพฤติสืบต่อๆ กันมา อันเป็นเครื่องให้พระบรมราชวงศ์ตั้งมั่นอยู่ได้ช้านานยิ่งกว่าบรมราชวงศ์อันมีมาแล้วแต่หลังทุกๆ วงศ์ แต่ไม่ต้องการที่จะกล่าวข้อความโดยละเอียด ด้วยเหตุว่าเรื่องราวทั้งหลายอันจะอ้างถึงนี้ เมื่อจะอยากทราบความละเอียดเมื่อใดก็อาจจะค้นพบได้โดยง่ายในหนังสือต่างๆ มีพระราชพงศาวดารเป็นต้น จึงตั้งใจที่จะแนะไว้พอเป็นที่ระลึกถึงการตรวจสอบในความประพฤติของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสืบสันตติวงศ์กันมา ย่อมประพฤติตามให้คล้ายๆ กัน เพราะฉะนั้นการทั้งปวงจึงมิใคร่จะผันแปรไปเป็นอย่างอื่นเร็วเหมือนบรมราชวงศ์อื่น ๆ
เมื่อว่ารวบยอดก็เป็นเดชะบุญของเมืองไทย ที่ได้เชื้อวงศ์เจ้าแผ่นดินเช่นนี้เป็นผู้ปกครองรักษา สมกับภูมิประเทศ และเผอินให้ถูกผู้ที่เป็นเจ้าแผ่นดินนั้นเป็นผู้ซึ่งดำรงอยู่ในความสัตย์ธรรมอันสุจริตสืบต่อเนื่องกันมา ไม่มีเวลาแทรกปน คือพระเจ้าแผ่นดินย่อมปฏิบัติอธิษฐานพระทัยในความสัตย์ธรรมอันซื่อตรง มิได้ตกไปในอคติ ๔ ประการ หรือจะเป็นบ้างก็ไม่เกินกว่าเหตุ ย่อมปราศจากอาฆาตจองเวรและริษยา สมัครสมานพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการให้กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้ด้วยทางสังคหวัตถุเป็นต้น อันควรที่จะพึงพิจารณาและร่ำเรียนให้รู้แล้วปฏิบัติให้คงอยู่ตามเรื่องตามรอย พระบรมราชวงศ์จึงจะดำรงอยู่เป็นอนัญสาธารณะสืบไปภายหน้า
อนึ่ง เมื่อว่าในเวลานี้ การสามัคคีภายในเป็นข้อสำคัญยิ่งใหญ่ ซึ่งจะได้ต่อต้านด้วยศัตรูภายนอกอันมีกำลังกล้ากว่าแต่ก่อน ถ้าหากการสามัคคีภายในไม่มีอยู่ได้แล้ว ไหนเลยการต่อต้านภายนอกจะรับรองอยู่ได้
จะขอดำเนินความตามพระราชจริยาแห่งพระเจ้าแผ่นดินในปฐมบรมราชวงศ์สืบลงมาโดยลำดับ ตามเหตุที่ท่านได้ตั้งปฏิบัติอธิษฐานพระราชหฤทัยประการใดและได้ทรงประพฤติโอบอ้อมอารีมาประการใดตามที่ได้รู้เห็น จำเดิมตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นต้นมา ในแผ่นดินกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ว่าที่สมุหนายกด้วย ในเมื่อปลายรัชกาลกรุงธนบุรีนั้น เสด็จออกไปทัพเมืองเขมร เจ้ากรุงธนบุรีเสียจริตมีความโลภเป็นประมาณ เร่งรีดเงินทองจากคนทั้งปวง บรรดาพระญาติวงศ์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเอง และฝ่ายกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์๒ก็ต้องรับอาญาต่างๆ แทบจะไม่มีตัวเว้นจนตลอดกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ จนเกิดขบถขึ้นภายในพระนคร จับเจ้ากรุงธนบุรีให้ออกเสียจากอำนาจ พระยาสรรค์ได้ว่าราชการบ้านเมือง เดิมก็คิดจะมอบราชสมบัติถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ภายหลังมาลุอำนาจแก่ความโลภ จึงได้เกิดรบราฆ่าแกงกันขึ้นกับกรมพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นพระยาสุริยอภัย๓ ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา โดยใช้อุบายปล่อยเจ้ารามลักษณ์ผู้เป็นหลานเจ้ากรุงธนบุรีให้ออกเป็นตัวการ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จมาถึงกรุงธนบุรีแล้ว เป็นการจำเป็น เพราะมีผู้ที่แค้นเคืองเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอันมาก และถ้าไม่ทำเช่นนั้นบ้านเมืองก็จะไม่เป็นปรกติเรียบร้อยได้ เพราะผู้ที่นับถือเจ้ากรุงธนบุรีก็ยังมีบ้าง จึงเป็นการจำเป็นต้องให้ประหารชีวิตเจ้ากรุงธนบุรีเสีย แต่ถึงดังนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังไม่สิ้นความนับถือหรือยกข้อเหตุที่ทำอันตรายแก่ครอบครัวของท่านอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นที่ตั้ง แล้วและทำลายวงศ์ตระกูลแห่งเจ้ากรุงธนบุรีนั้นเสียตามคำขอแห่งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนั้นเลย ได้ทำอยู่ฉะเพาะผู้เดียวแต่เจ้าจุ้ยซึ่งเป็นกรมขุนอนุรักษ์สงคราม ซึ่งเป็นโอรสใหญ่ของเจ้ากรุงธนบุรี การที่ทำนั้นก็ทำโดยความที่เจ้าจุ้ยนั้นเองไม่เต็มใจจะอยู่รับราชการต่อไป เพราะเห็นโทษของบิดาและเห็นตัวเป็นที่กีดขวาง โอรสธิดาของเจ้ากรุงธนบุรีนอกนั้นได้ทรงชุบเลี้ยงไว้หมดทั้งสิ้น ใช่จะเป็นแต่เพราะเจ้าฟ้าเหม็น ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่าสุพันธวงศ์ เป็นพระเจ้าหลานเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฝ่ายพระมารดา โอรสเจ้ากรุงธนบุรีอื่นๆ คือพระพงศ์อมรินทร์ พระอินทรอภัย เป็นต้น ท่านเหล่านี้ก็มีอายุถึง ๑๔ ปี ๑๕ ปีแล้วทั้งสิ้น ยังเอามาทรงชุบเลี้ยงใช้สอย ใช่แต่เผินๆ ห่างๆ จนถึงเป็นหมอถวายพระโอสถและเข้ามารักษาในพระราชวัง ผู้ซึ่งเป็นบุตรแห่งศัตรูทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อได้รับพระกรุณาเช่นนั้น ก็กลับกลายเป็นดีไป จนถึงใช้ไปทัพจับศึกกันก็ได้ ส่วนพระยาสรรค์ซึ่งใจกลับกลายไปเมื่อภายหลังนั้น เวลาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้กวัลยราชปราบดาภิเษก ก็ยังมิได้ลงโทษปึงปังโดยเร็ว ได้พิจารณาไต่สวนจนเห็นถ่องแท้ว่าเป็นคนไม่ตั้งอยู่ในสุจริตแล้ว จึงได้ประหารชีวิตเสีย แต่ถึงดังนั้นบุตรหลานก็ยังเอามาทรงชุบเลี้ยงให้รับราชการอยู่จนพ่อเองก็ได้รู้จัก คือหญิงคนหนึ่งซึ่งเฝ้าหอพระบรมอัฎฐิมาจนในรัชกาลที่ ๔ ต่อลงมาอีกชั้นหนึ่ง การเกิดบาดหมางขึ้นในระหว่างกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จนถึงเอาปืนขึ้นป้อมจะยิงกันอยู่แล้ว ด้วยเรื่องเล่นแข่งเรือและขอเงินเติม ในเวลานั้นเงินแผ่นดินมีน้อยไม่พอที่จะจับจ่ายราชการ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงได้รับสั่งขอผัดไว้ ท่านไม่ฟัง ก่อการวิวาท เมื่อสมเด็จพระพี่นางสองพระองค์ได้ว่ากล่าวห้ามปราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ยินยอมโดยดี มิได้มีอาฆาตจองเวรต่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ภายหลังกรมพระราชวังบวรฯ ประชวร พระอาการมาก โดยมีพระทัยริษยาพยาบาทแรงกล้า จึงได้ยุให้พระโอรส ๒ องค์ คือ เจ้าลำดวน เจ้าอินทปัต ให้เป็นขบถขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ได้ตัดแต่ฉะเพาะเจ้า ๒ องค์นั้นอันเป็นผู้จะก่อเหตุจลาจลขึ้นในบ้านเมือง พระราชโอรสพระราชธิดาอื่นๆ ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ก็ได้ทรงชุบเลี้ยงโดยเสมอตามสมควรแก่คุณานุรูป มีกรมขุนนรานุชิตเป็นต้น มิได้มีความรังเกียจถือเขาถือเราอย่างใด ใช้กลมเกลียวไปทัพจับศึกได้เหมือนกัน ส่วนข้าราชการแต่ครั้งกรุงธนบุรีที่ยังมีตัวอยู่ คือพระยาธรรมาธิกรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช๔ ทวดพระยาสีหราชฤทธิไกร๕ เดี๋ยวนี้ ก็เป็นเสนาบดีแต่ครั้งกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็โปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ และซ้ำขอบุตรสาวคือเจ้าคุณพี๖ พระราชทานพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ให้เป็นที่เกี่ยวดองกันด้วย ถ้าจะว่าเจ้าพระยาธรรมาฯ นี้ เป็นคนชอบพอกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ยกไว้ ส่วนเจ้าพระยาพลเทพ๗ ซึ่งเป็นตาเจ้าพระยาภาณุวงศ์๘ เดี๋ยวนี้ ก็เป็นคนของขุนหลวงตากแท้ และฝักใฝ่อยู่ข้างเจ้าฟ้าเหม็น ก็ได้ทรงชุบเลี้ยงมาจนตลอดสิ้นแผ่นดิน ส่วนขุนนางวังหน้าซึ่งเป็นผู้ขึ้นรักษาป้อมคูคิดจะต่อสู้ในเวลาวังหน้าวิวาทกับวังหลวง ก็ได้ประหารชีวิตแต่ผู้เดียวคือพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) ซึ่งเป็นผู้ทำผิดในวังหน้านั้นเอง คือเป็นชู้กับเจ้าจอมมารดาวันทา ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ในวังหน้านั้น แล้วและประพฤติการทุจจริตต่าง ๆ หรือผู้อื่นที่มีความผิดกล้าอีกบ้าง นอกนั้นก็ได้ทรงชุบเลี้ยงใช้สอยกลมเกลียวกับข้าราชการวังหลวงสืบมา
ครั้นมาถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าฟ้าเหม็นซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอภัยธิเบศรหรือธรรมธิเบศร๙ สมเด็จพระเจ้าหลานเธออันเป็นโอรสเจ้ากรุงธนบุรี อาศัยผู้ซึ่งคิดถึงบุญคุณเจ้ากรุงธนบุรีอุดหนุน มีเจ้าพระยาพลเทพตาเจ้าพระยาภาณุวงศ์อันกล่าวแล้วเป็นต้น มีความมุ่งหมายจะใคร่รับสมบัติซึ่งเป็นของบิดามาแต่เดิม จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องตัดรอนเลีย การครั้งนั้นอยู่ข้างจะทำแรงจนถึงประหารชีวิตบุตรผู้ชายของเจ้าฟ้าเหม็นด้วย เพราะเหตุที่เป็น ๒ ซ้ำ คือ ส่วนเจ้าฟ้าเหม็นอันเป็นบุตรเจ้ากรุงธนอีกชั้นหนึ่ง แต่ถึงดังนั้นบุตรหญิงก็ยังทรงเอามาชุบเลี้ยงทั่วหน้ามิได้มีความอาฆาตจองเวรต่อไปอีก
ในครั้งนั้นวังหน้ากับวังหลวงกลมเกลียวช่วยกันรักษาแผ่นดินอันจะหาตัวอย่างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้เปรียบไม่ได้ ถึงโดยว่าจะมีเหตุการณ์ถ้อยความขึ้นในพระราชวงศ์ซึ่งไม่สู้เป็นที่น่าฟังอยู่บ้าง ก็เป็นแต่เหตุซึ่งเกิดจากผู้นั้นประพฤติไม่ดีบ้าง เพราะความแก่งแย่งกันในเจ้านายบ้าง แต่ถึงอย่างไร ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังคงดำรงอยู่ในความยุติธรรมเที่ยงตรง เป็นแต่โอนอ่อนไปตามสมัยที่เลยๆ ไป (คือสุภาษิตเก่า) “ตีงูให้หลังหัก”
ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไม่ได้ดำเนินพระบรมราชโองการมอบศิริราชสมบัติด้วยประชวรเป็นประจุบัน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอันเป็นพระราชโอรสเกิดด้วยพระสนมก็จริงอยู่แล แต่เป็นพระองค์ใหญ่ ทรงพระสติปัญญาโอบอ้อมเผื่อแผ่ และในเวลานั้นทูลกระหม่อมก็ทรงผนวชและยังอ่อนแก่ราชการ ข้าราชการทั้งปวงจึงได้พร้อมกันยินยอมให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ฟังจากคำรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อพระโอษฐ์เองว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงพระสติปัญญามาก และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยิ่งนัก ถึงโดยว่าถ้ามีพระสติที่จะสั่งได้ ท่านไม่แน่พระทัยว่าจะทรงมอบราชสมบัติพระราชทานท่าน หรือพระราชทานพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยในเวลานั้นบ้านเมืองยังต้องรบพุ่งติดพันกันอยู่กับพะม่า จำเป็นต้องหาพระเจ้าแผ่นดินที่รอบรู้ในราชการทั้งปวง และเป็นที่นิยมยินดีทั่วหน้า จะได้ป้องกันดัสกรภายนอกได้ เพราะเหตุฉะนี้พระองค์ท่านจึงมิได้มีความโทมนัสเสียพระทัย และก่อการลุกลามอันใดขึ้นในบ้านเมืองตามความแนะนำของบางคนซึ่งคิดแก่งแย่งต่างๆ ด้วยมีความรักแผ่นดินและราชตระกูล อันภายในเกิดแตกร้าวขึ้นแล้ว ย่อมเป็นช่องแก่ศัตรูภายนอก จึงได้เป็นการสงบเรียบร้อยกันมา ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเล่า เมื่อพิเคราะห์ดูพระอัชฌาสัยตามที่ทราบเรื่อง ก็เห็นได้ว่าทรงพระสติปัญญาและปราศจากความริษยาอาฆาต คือถ้าผู้ใดตั้งอยู่ในที่เช่นนั้นย่อมจะทำลายล้างทูลกระหม่อมและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ลงเสียก่อน นี่หาเช่นนั้นไม่ ส่วนทูลกระหม่อมทรงตั้งพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย เป็นการต่อสู้อย่างยิ่งมิใช่เล่น ท่านก็มิใช่แต่ไม่ออกพระโอษฐ์คัดค้านอันหนึ่งอันใด กลับพระราชทานที่วัดบวรนิเวศฯ ให้เป็นที่เสด็จมาประทับอยู่ เป็นที่ตั้งธรรมยุติกนิกาย และยกย่องให้เป็นราชาคณะผู้ใหญ่ จนถึงเป็นผู้สอบไล่พระปริยัติธรรม จนจวนสวรรคตทีเดียวจึงได้ขอเลิกเรื่องห่มผ้าแหวกอกแต่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ทรงอดกลั้นอยู่ได้ถึงกว่า ๒๐ ปี ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นั้น เป็นที่นิยมยินดีของคนเป็นอันมาก ว่าอยู่คงกะพันชาตรีเป็นต้น ท่านก็ไม่ได้ทรงรังเกียจอย่างหนึ่งอย่างใด ซ้ำมอบให้ว่าทหารปืนใหญ่ปืนน้อยคือกรมกองแก้วจินดาเป็นต้น ครั้นเมื่อเสด็จไปทัพญวนกลับมาแล้ว ก็ให้ว่าพวกญวนชะเลย คือพวกพระยาบันลือเป็นคนหลายร้อยคน มีกำลังเป็นอันมาก
ครั้งหนึ่งโดยความนิยมนับถือ มีผู้อาสาขึ้นไปเกลี้ยกล่อมพวกลาวเป็นกองนอกขึ้นในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นอันมาก ถ้าจะจับว่าเป็นขบถขึ้นในเวลานั้นก็จับได้ แต่ท่านหาได้ทรงเช่นนั้นไม่ ให้พิจารณาเอาแต่ตัวผู้ซึ่งขึ้นไปเกลี้ยกล่อมนั้นประหารชีวิตเสีย ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็คงรับราชการอยู่ในตำแหน่งเดิมโดยสนิทสนมเรียบร้อย มิได้ให้มีความสะดุ้งสะเทือนอันใดเลย
ส่วนผู้ซึ่งเป็นที่เกลียดชังออกหน้ากันอยู่กับท่าน คือกรมหมื่นสุนทรธิบดี๑๐ อันมีพระชนมายุไล่เลี่ยกัน ท่านก็ยกย่องพี่๑๑ให้เป็นกรมขุนกัลยาสุนทรว่าการในพระราชวัง ยิ่งกว่าแบบอย่างที่เคยมีมาแต่ก่อน เมื่อกรมหมื่นสุนทรถูกไฟไหม้สิ้นพระชนม์แล้ว เหลือแต่เนื้อก้อนเดียว ยังโปรดให้มาเข้าเมรุกลางเมือง บรรดาลูกกรมหมื่นสุนทรก็ได้เบี้ยหวัดมากกว่าลูกกรมอื่น เหมือนอย่างลูกกรมหมื่นสุรินทรรักษ์๑๒ซึ่งเป็นสหายอย่างยิ่งของพระองค์ท่าน มาจนชั้นปลายที่สุดเมื่อจวนจะสวรรคต ใช่ว่าท่านจะไม่มีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสสืบสันตติวงศ์เมื่อใด แต่หากท่านไม่มั่นพระทัยในพระราชโอรสของท่าน ว่าองค์ใดอาจจะรักษาแผ่นดินได้ เพราะท่านรักแผ่นดินมากกว่าพระราชโอรส จึงได้มอบคืนแผ่นดินให้แก่เสนาบดี ก็เพื่อประสงค์จะให้เลือกเชิญทูลกระหม่อมซึ่งเห็นปรากฎอยู่แล้วว่าทรงพระสติปัญญาสามารถจะรักษาแผ่นดินได้ขึ้นรักษาแผ่นดินสืบไป นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นพระราชหฤทัยว่า ต้นพระบรมราชวงศ์ของเราย่อมรักแผ่นดินมากกว่าลูกหลานในส่วนตัว
ครั้นแผ่นดินทูลกระหม่อม เจ้าทินกร๑๓เป็นผู้ชิงชังทำนายแช่งอยู่ว่าจะไม่ได้ดำรงอยู่ในราชสมบัติเกิน ๓ ปี เมื่อเวลาเจ้าทินกรยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นแต่รับสั่งทักบ้าง แต่ครั้นเมื่อตายก็ได้เสด็จไปพระราชทานเพลิง และเอาหม่อมสำเนียงบุตรมาชุบเลี้ยงไว้เป็นมหาดเล็กจนหลานก็ได้เป็นเอดิกง๑๔อยู่เดี๋ยวนี้ ยังหม่อมไกรสร๑๕อีกรายหนึ่ง เป็นคนใจพาลสันดานหยาบ ประพฤติชั่วต่างๆเป็นอันมาก เป็นปฏิปักษ์ออกหน้าตรงๆกับทูลกระหม่อม........ เพราะความประพฤติชั่วร้ายและน้ำใจทุจจริตของหม่อมไกรสร ไม่สมควรจะเป็นเจ้าแผ่นดิน จึงเผอิญให้เกิดความจนถึงต้องประหารชีวิตในปลายรัชกาลที่ ๓ ครั้นทูลกระหม่อมได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นแล้ว ก็มิได้ทรงอาฆาตจองเวรต่อบุตรหม่อมไกรสร กลับเอามาชุบเลี้ยงใช้สอยสนิทสนมได้เบี้ยหวัดมากยิ่งเสียกว่าหม่อมเจ้า เช่นหม่อมกรุงเป็นต้น ที่สุดไปจนชั้นหลาน เช่นพระยาประสิทธิศุภการ๑๖ ก็ทรงใช้สอยสนิท มิได้มีความรังเกียจเลย
ในรัชกาลนี้ถ้าจะว่าในส่วนวังหน้ากับวังหลวงไม่สู้ปรกติเรียบร้อยเหมือนรัชกาลที่ ๒ ด้วยเหตุว่าในวังหลวงทรงระแวงอยู่แต่เดิมแล้วว่าจะมีคนนิยมวังหน้ามาก ส่วนวังหน้าเล่าท่านจะทรงการอะไรมักจะซู่ซ่ามากเกินไป และมีผู้เขี่ยกลางอยู่ด้วยบ้าง แต่ครั้นเมื่อลงปลาย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระประชวรมากแล้ว จะเป็นในปลายปีชวดฉศก ๑๒๒๖ หรือต้นปีฉลูสัปตศก ๑๒๒๗ ทูลกระหม่อมเสด็จไปเยี่ยมประชวร ๒ ครั้ง ไม่โปรดให้ลูกเธออื่นตามเสด็จเข้าไปเลย มีแต่พ่อเชิญพระแสงอยู่คนเดียว ข้างฝ่ายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็มีแต่กลีบซึ่งในเวลานั้นเป็นเจ้าจอมมารดาคนโปรด เสด็จเข้าไปเยี่ยมประชวรถึงในห้องพระบรรทม พระที่นั่งอิศเรศราชานุสร ซึ่งในเวลานั้นเรียกพระที่นั่งวงจันทร์ แต่ยังอยู่ที่พระบรรทมเดิมห้องข้างใต้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จเข้ามากอดพระบาททรงพระกันแสงว่า หาช่องที่จะกราบทูลอยู่ช้านานแล้วก็ไม่มีโอกาส บัดนี้ไม่มีใคร จะขอกราบทูลแสดงน้ำใจที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มีผู้กราบบังคมทูลกล่าวโทษว่าสะสมเครื่องศัสตราวุธกระสุนดินดำขึ้นไว้ ก็ได้สะสมไว้จริง มีอยู่มากไม่นึกกลัวใคร แต่เป็นความสัตย์จริงที่จะได้คิดประทุษร้ายต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทไม่มีเลยสักขณะจิตต์หนึ่ง แล้วถวายสัตย์สาบานเป็นอันมาก ซึ่งตระเตรียมไว้นั้นเพื่อจะป้องกันผู้อื่นเท่านั้น ทูลกระหม่อมก็ทรงพระกันแสงกอดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ และทรงแสดงความเชื่อถือมิได้มีความรังเกียจอันใดในข้อนั้น การที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กราบทูลนี้ในครั้งแรกซึ่งเสด็จไปเยี่ยมประชวร ต่อไปไม่ช้าก็เสด็จขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้เสด็จสีทา๑๗ การสมัครสมานชี้แจงกันในระหว่างพี่น้องที่ใกล้ชิดกันเช่นนี้ นับว่าเป็นการดีอย่างยิ่ง และเป็นการที่ท่านได้ทรงประพฤติกันมาเป็นตัวอย่างดังนี้
เมื่อต่อไปนี้จะต้องกล่าวถึงแผ่นดินปัตยุบันนี้ ไม่อยากจะกล่าว ด้วยเหตุว่าไม่เป็นการช้านานอันใด อาจจะสืบสวนไต่ถามได้โดยง่ายอย่างหนึ่งบุตรหลานของผู้ซึ่งเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ต่างๆ ก็ยังมีตัวอยู่ ถ้ากล่าวขึ้นจะเป็นที่สะดุ้งสะเทือนว่ามีความรังเกียจอย่างหนึ่งอย่างใด อีกอย่างหนึ่งก็เป็นการยังจะมีสืบไปภายหน้า ไม่รู้ว่าการยังจะผันแปรเป็นประการใด จะเป็นการอวดตัวไปจึงของดไว้เสียไม่กล่าว ขอรวมใจความลงแต่เพียงว่าเมื่อพ่อได้รับราชสมบัติในเวลาอายุเพียง ๑๕ ปีเท่านั้น เหมือนตะเกียงหริบหรี่จวนจะดับ แต่อาศัยด้วยปฏิบัติอธิษฐานน้ำใจในความสัตย์ธรรมมิได้วู่วามและมิได้อาฆาตปองร้ายต่อผู้ใด ตั้งใจประพฤติตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในต้นพระบรมราชวงศ์ซึ่งได้ทรงประพฤติมา และอาศัยความอุตสาหะความพิจารณาเนืองนิจจึงได้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนถึงเพียงนี้ บัดนี้มีความวิตกด้วยลูกที่จะสืบสันตติวงศ์ไปภายหน้า เมื่อมิได้ศึกษาการเก่าอันพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชวงศ์เราได้ประพฤติมา และพลุ่งพล่านเปลี่ยนใหม่ต่อเก่า ทิ้งเก่าใช้ใหม่ หรือมีอายุน้อย จะได้รับแต่คำแนะนำจากผู้ซึ่งใจพาลสันดานหยาบ อันไม่สามารถจะปกครองรักษาแผ่นดินได้ ก็จะทำให้ใจปรวนแปรไปต่างๆ การในบ้านเมืองก็จะไม่เป็นปรกติเรียบร้อยได้ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นแล้วศัตรูภายนอกอันยิ่งมีกำลังแรงกล้าขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายสิบเท่านักนั้น ก็จะพลันมีช่องโอกาสที่จะทำลายล้างวงศ์ตระกูลเราให้เสื่อมศูนย์ไป จึงขอเตือนให้คิดการให้ยาวให้กว้างอย่าคิดแต่ชนะสั้นๆ ดีง่ายๆ จงเดินไปตามแบบแห่งบรรพบุรุษของเราได้ทรงประพฤติมา คือปฏิบัติอธิษฐานน้ำพระหฤทัยอยู่ในสัตย์ธรรมอันซื่อตรง มิได้ตกไปในอคติ ๔ ประการ และประกอบการโอบอ้อมอารีด้วยสังคหวัตถุเป็นต้น ข้อความทั้งหลายนี้กล่าวมาแต่ย่อๆ ทุกเรื่อง เมื่อจะใคร่ทราบความละเอียดจงหาความพิสดารดูในหนังสือต่างๆ เถิด
เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะได้สอนไว้ให้เป็นเครื่องแนะนำที่จะรู้คิดพิจารณาการทั้งปวงให้กว้างขวางขึ้น ขอให้จำไว้ในใจและปฏิบัติตามอย่าได้ประมาท
ขอเติมท้ายว่าผู้ซึ่งรังเกียจว่าจะเป็นศัตรู ถ้ายิ่งขืนทำท่าเป็นศัตรูตอบ พอที่จะไม่เป็นก็ต้องเป็น ข้อนี้ขอให้ตริตรองจงมาก.
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
-
๑. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ↩
-
๒. พระบรมราชชนนีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ↩
-
๓. พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) หลานเธอในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว ทรงสถาปนาพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร แล้วเลื่อนขึ้นเป็นกรมพระราชวังหลัง ↩
-
๔. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิร (บุญรอด) บุณยรัตพันธุ์ ↩
-
๕. พระยาสีหราชฤทธิไกร (แย้ม บุณยรัตพันธุ์) ↩
-
๖. คือเจ้าจอมมารดาสี (ซึ่งเรียกกันว่า เจ้าคุณพี) เจ้าจอมมารดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุบผา ในรัชกาลที่ ๒. ↩
-
๗. เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา) มีธิดาชื่อท่านพึ่ง ที่เป็นมารดาเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ↩
-
๘. เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ↩
-
๙. ปรากฎพระนามกรมว่า สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนกษัตรานุชิต. ↩
-
๑๐. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากล้วยไม้ ในรัชกาลที่ ๒. ↩
-
๑๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงลำภู ในรัชกาลที่ ๒. ↩
-
๑๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉัตร ในรัชกาลที่ ๑. ↩
-
๑๓. หม่อมเจ้าทินกร เสนีวงศ์ เป็นผู้รู้ตำราหมอดู. ↩
-
๑๔. ราชองค์รักษ์ มาจากคำภาษาฝรั่งเศสว่า aide de camp. ↩
-
๑๕. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ในรัชกาลที่ ๑. ↩
-
๑๖. พระยาประสิทธิศุภการ (ม.ร.ว. ละม้าย) ↩
-
๑๗. สีทา คือพระบวรราชวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างที่ริมแม่น้ำสัก ฝั่งตะวันตก ณ ตำบลบ้านสีทา จังหวัดสระบุรี และได้เสด็จไปประพาสที่วังนี้เนืองๆ จนตลอดพระชนมายุ. ↩