คำนำ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร มีพระประสงค์จะทรงพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นของทรงแจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลยสักเรื่องหนึ่ง ขอให้กรมศิลปากรช่วยค้นเรื่องพระราชนิพนธ์ที่ยังไม่เคยพิมพ์ถวาย กรมศิลปากรจึงให้ตรวจดูบรรดาพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังมิได้เคยพิมพ์ อันเก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ก็ได้พบพระราชนิพนธ์เบ็ดเตล็ดบางเรื่อง สมควรจะรวมพิมพ์เป็นเล่มได้ จึงรวบรวมพระราชนิพนธ์เบ็ดเตล็ดเหล่านั้นส่งไปถวายทอดพระเนตรก่อน ครั้นทอดพระเนตรแล้ว ทรงเลือกพระราชนิพนธ์บางเรื่องสำหรับพิมพ์ในงานนี้ คือ
พระบรมราโชวาท พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) รวม ๒ ฉะบับ กับพระราชทานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) อีกฉะบับ ๑
พระราชหัตถเลขา พระราชทานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ตรัสเล่าเรื่องเสด็จประพาสแหลมมะลายู คราว ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) รวม ๖ ฉะบับ
กรมศิลปากรจึงจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ทั้งหมดนี้ในสมุดเล่มเดียวกัน ให้ชื่อว่า “ชุมนุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ภาคปกิณณกะ ภาค ๑”
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย ทรงมีพระภคินีร่วมพระครรภ์และร่วมประสูติกาลด้วยกันพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาส ซึ่งสิ้นพระชนม์เสียแต่เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอาลัยเศร้าโศกมาก จึงโปรดให้จารึกคำประกาศ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงพระนิพนธ์) แสดงพระราชอาลัยไว้ในปราสาทที่บรรจุพระสรีรางคาร ณ วัดราชบพิธ เป็นเรื่องที่นับว่าเกี่ยวอยู่ในพระราชกุลมณฑลของพระองค์ท่าน จึงได้นำมาพิมพ์ไว้ในส่วนเบื้องต้นของหนังสือนี้
กรมศิลปากรขอถวายอนุโมนทาพระกุศลบุญราศีทักษิณานุปทานกิจ ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ทรงบำเพ็ญเพื่ออุทิศกัลปนาผลถวายแด่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย ผู้พระเชฏฐภคินี ขอพระกุศลบุญราศีที่ทรงบำเพ็ญ จงเป็นประโยคสมบัติอำนวยอิฏฐวิบุลมนุญผลแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น ตามควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพทุกประการ เทอญ.
กรมศิลปากร
๒๑ ตุลาคม ๒๔๙๒