พระพุทธบุษยรัตน์

ของพระพุทธเจ้า ที่เป็นพระศาสดาที่พึ่งที่นับถือของเราทั้งหลาย พระพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงติเตียนมุสาวาทแลสัมผัปปลาปกถาเจรจายึดยาวหาประโยชน์มิได้นั้นโดยอเนกบรรยาย พระองค์ตรัสว่าผู้ใดไม่มีละอายในที่จะเจรจามุสาวาทแล้ว ผู้นั้นก็มีสมณคุณความรำงับอันทอดเททิ้งเสียด้วยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นผู้แต่งหนังสือนี้จะขอบูชาพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระศาสดานั้นด้วยการเจรจาแต่โดยความจริงใจ จะไม่เอาอย่างชนโบราณด้วยการเจรจาเพ้อเจ้อเล่านิยายนิทานต่างๆ นั้นแล้ว เมื่อท่านทั้งปวงจะดูถูกดูหมิ่นไม่นับถือว่าไม่รู้ไม่เห็นก็ตามเถิด คนเก่าๆ ที่อวดรู้อวดเห็นแล้วและเล่านิยายยาวๆ ไปนั้น ก็มักทำการด้วยหาสติมิได้ พูดฟู่มๆ ฟ่ามๆ ไปให้เกินไปกว่าเหตุกว่าผล และผิดธรรมดาคนผิดกิริยามนุษย์ กล่าวการผู้ดีเหมือนการไพร่ทำให้ล่อๆ แหลมๆ ออกมาในท่วงทีถ้อยคำ จนนักปราชญ์ที่เขารู้การละเอียดเขาจับเท็จได้ถมไป ที่ใครไม่สังเกตสังกาก็ฟังเพลินไป ผู้ที่สังเกตเข้าลางคนก็สงสัย ลางคนก็ลงใจเสียว่าไม่จริงมีโดยมาก เพราะฉะนั้นขอเสียเถิด ท่านทั้งหลายอย่างแสวงหาเพื่อจะฟังคำวิสัชชนาพระพุทธปฏิมานี้ด้วยการเล่านิยายว่าเอาง่ายๆ พล่อยๆ แต่ด้วยปาก ไม่มีสักขีพะยานและสถานที่สาธกนั้นเลย

ผู้แต่งหนังสือนี้ไม่ได้ความสนัดแน่เลย ว่าพระพุทธปฏิมาพระองค์นี้ผู้ใดสร้างที่ตำบลใดเมื่อใดเพราะเหตุใด เพราะไม่ได้คำบอกเล่าหรือหนังสือเก่ายืนยันมั่นคงให้เป็นที่รู้ที่เห็นเลย แต่จะว่าตามสังเกตโดยอนุมานนั้นพอจะได้อยู่

ถ้าจะมีผู้ถามว่า พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกนี้ เทวดาสร้างหรือมนุษย์สร้าง ก็ควรจะเห็นว่าเป็นของมนุษย์สร้าง ด้วยเทวดานั้นมีฤทธิ์มากนัก ถ้าจะสร้างแล้วเห็นจะไม่เอาแก้วอย่างนี้สร้าง เห็นจะเอาศิลาเพ็ชรหรือที่ดียิ่งกว่าเพ็ชรมาสร้าง หรือจะนฤมิตให้เป็นแก้ววิเศษแปลกประหลาดอย่างมีรัศมีสว่างในกลางคืน หรือมีปาฏิหารอย่างอื่นๆ

อนึ่ง รูปพรรณพระปฏิมานั้นก็จะไม่ปรากฏเป็นของว่าทำด้วยมือดังการของช่างปั้นและช่างแกะนั้นเลย เหมือนหนึ่งรูปที่เขาถ่ายฉายเอาด้วยเงาในกระจก ก็ผิดกับรูปเขียนระบายด้วยเส้นพู่กันนั้น และพระปฏิมากรพระองค์นี้ก็ยังปรากฏอยู่ว่าเป็นเนื้อแก้วศิลาที่บังเกิดเอง และผู้ตัดเจียนเจียรไนตามวิสัยช่างแก้ว เพราะฉะนั้นจะต้องลงใจเห็นว่าเป็นของมนุษย์ทำ ฝ่ายชนเล่านิยายในโบราณนั้น จะกล่าวถึงสิ่งใดๆ คือบ้านคือเมืองก็ดี คือพระสถูปพระเจดีย์ หรือพระพุทธรูปสำคัญก็ดี ก็มักพอใจที่จะเล่าว่าบ้านนั้นเมืองนั้น และวัตถุสิ่งนั้นๆ เป็นของพระอินทรลงมาสร้าง และให้เวสสุกรรมเทพบุตรนฤมิต หรือว่าฤษีนักสิทธิ์ชุบเศกนฤมิตขึ้นด้วยเวทมนตร์ กล่าวดังนี้เนืองๆ และสิ่งซึ่งมีนิทานชนโบราณกล่าวทั้งปวงนั้น บรรดาที่ยังเหลืออยู่ ก็ยังไม่เห็นสิ่งใดที่จะผิดจากฝีมือคนทำ ถ้าเป็นบ้านเมืองก็ยังเห็นกำแพงเมืองนั้นก่อด้วยอิฐ ที่คนทำครุๆ คระๆ หรือด้วยศิลาแลงที่มีรอยถากและรอยขูดและต่อติดด้วยโบกปูนผสมทราย ดินเชิงเทินถมก็เห็นว่าขุดฉายออกจากคู ได้เห็นอยู่ว่าเป็นของคนทำดังนี้ ถึงพระสถูปเจดีย์ก็เหมือนกัน

พระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิที่ว่าเทวดาสร้าง ก็ยังปรากฏว่ามีทางชนวนน้ำทองเดิรและแผลเข้าไม้ในที่มีพวย และหล่อไม่เต็มและมีรอยบั้งรอยตะไบรอยสกัด ถึงพระพุทธรูปศิลาก็มีรอยเราะรอยเลื่อยตัดเจียนเจียรไน และวางส่วนไม่เสมอคลาดเคลื่อนบ้างปรากฏอยู่แทบทุกองค์ ในที่มีอสนิบาตตก คนไปขุดร่อนหาว่าจะเป็นสิ่งใดตกลงมาทำลายที่นั้น ลางคนพูดกันได้ขวานฟ้าเอามาสู่ให้กันดู ว่าอยู่ดังนี้เนืองๆ ขวานที่ได้มานั้นลางทีก็เห็นเป็นขวานผ่าฟืนขวานช่างไม้ เป็นของใช้มีสนิมกินและรอยบิ่นที่ต่อตั้งเหล็กอ่อนกับเหล็กกล้า ลางทีมีรอยตรายี่ห้อหนังสือจีนประจำขวานนั้นอยู่ก็มี ลางทีเป็นของทำด้วยทองแดงทองเหลืองสังกะสีมีรอยชะนวนหล่อหรือฆ้อนตีตะไบใส ลางทีสิ่งที่ว่าขวานฟ้านั้นเป็นศิลา ที่รู้จักสนัดจำได้ว่าศิลานั้นเป็นเช่นหินเหล็กไฟหรือศิลาในเขาในถ้ำนั้นๆ ที่รู้แห่งเคยเอามาใช้อยู่ทั้งสิ้น มีรอยเราะรอยฝน เมื่อพิเคราะห์ไปก็เห็นว่าเป็นฝีมือคนทำทั้งสิ้น มิใช่ฝีมือเทวดาอัศจรรย์ไปกว่าฝีมือมนุษย์เลย โดยที่สุด รอยพระพุทธบาท ที่ว่าพระพุทธเจ้าทำพระปาฏิหารเหยียบไว้ก็ยังมีรอยเราะรอยสกัด และฝีมือพลั้งทำพลาดในที่แบ่งรอยปลายนิ้วให้คลาด ควรเห็นว่าพระบาทนั้นมีติ่งเป็นนิ้วที่ ๖ ไป หรือลายลักษณะในพระบาทนั้น พระบาทมีในเมืองไหน ลายลักษณะมีกระบวรลายและรูปภาพอย่างฝีมือจำหลักปั้นและเขียนของชนบ้านนั้นเมืองนั้นไม่ต้องกัน

ผู้แต่งหนังสือนี้คำนึงว่า ประณีตกายเหล่าใดที่เรียกเทวดา ประณีตกายเหล่านั้นแต่ก่อนได้มีฉันใด ถึงในบัดนี้ก็จะมี ก็ปกติของเทวดาในกาลบัดนี้เป็นฉันใดแต่ก่อนก็เห็นว่าเป็นฉันนั้น เทวดามีธรรมดาไม่ปรากฏแก่จักษุมนุษย์ ไม่มีทางที่จะพูดได้เจรจากันตรงๆ มนุษย์ไรจะได้พบได้เห็นเทวดา ก็มีแต่ว่าได้พบเมื่อหลับคือฝันเห็น ทางที่จะได้พูดกับเทวดาก็มีแต่ว่า มาเข้าคนทรงพูดเป็นเหตุให้เชื่อยากไป แต่เหตุที่อื่นซึ่งปรากฏเป็นอัศจรรย์นั้นมีอยู่ ปรากฏอยู่เนืองๆ เหมือนอย่างว่าสิ่งไรควรจะเป็นอย่างไร ผู้ได้ควรจะได้อย่างไรควรจะเสียอย่างไรเพราะความดีความชั่วของตัว เมื่อจะมีสติปัญญาและพยายามของมนุษย์เป็นอันมาก หรือมนุษย์ที่มีกำลังมากจะมาขัดขวางสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างไรจะไม่ให้เป็นอย่างนั้น ผู้ที่ควรจะได้อย่างไรจะไม่ให้ได้อย่างนั้น ผู้ที่ควรจะเสียอย่างไร จะไม่ให้เสียอย่างนั้น ความคิดและพยายามที่ขัดแก่สิ่งและเหตุผลอันควรนั้นถึงปรากฏอยู่ ก็ไม่ใคร่ตลอดสำเร็จประสงค์ไป คงจะมีเหตุอื่นๆ ที่ผู้คิดอ่านพยายามจะขัดขวางนั้นไม่ได้เห็นมาแต่เดิมเกิดขึ้นรอบด้าน ไปขัดขวางทางความคิดและพยายามของมนุษย์ ผู้จะขัดขวางอันควรและเป็นเหตุผลอันควรนั้นเสีย คงให้สิ่งที่ควรจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นจนได้ ปรากฏอยู่เนืองๆ โดยมาก เหมือนอย่างท่านผู้ใดที่มีความดีจะเป็นคุณแก่ชนทั้งปวงมาก ควรจะได้อิสสริยฐานนั้นๆ แล้ว เมื่อเวลาก่อนได้อิสสริยฐานนั้นๆ มีผู้ริษยาหรือหวงกันอิสสริยฐานนั้นๆ คิดอ่านและพยายามขัดขวางด้วยอุบายต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ ถ้าถึงเวลาท่านผู้นั้นจะมาสู่อิสสริยฐานนั้นๆ ผู้ที่คิดอ่านพยายามขัดขวางนั้น ถึงมากเท่าใดก็พะเอิญหลีกไปเองไม่ต้องไล่ การที่เป็นเหมือนที่รกชัฎอยู่อย่างไรก็เตียนไปไม่ต้องถาง ถึงศัตรูก็กลายเป็นมิตรไป ฝ่ายผู้ที่มีความคิดความประสงค์ไม่เป็นคุณแก่ชนทั้งปวง เป็นความชั่วควรจะได้โทษได้ทุกข์แล้ว ถึงตัวผู้นั้นจะมีอำนาจอิสสริยยศพวกพ้องที่พึ่งพาอาศัย มีกำลังเท่าใดๆ ประคับประคองรักษาอยู่ ก็พะเอิญมีประตูวิบัติเปิดมารอบด้าน ถึงผู้ที่เป็นมิตรก็จะกลับเป็นศัตรูช่วยทับถมให้ล้มซวน ผู้ที่ไม่ควรอิสสริยยศฐานนั้นถึงพยายามจะเอาเพราะเห็นว่ามีท่าทีจะได้ ก็คงจะมีเหตุที่ผู้นั้นไม่ได้คิดเห็นแต่เดิมว่ามีนั้นมามีมาเป็นขึ้นรอบด้านไป จนไม่ได้ตามที่ประสงค์นั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงการณ์นั้นๆ บุคคลนั้นๆ ที่เป็นไปในโลกนี้แล้ว ก็คงเป็นไปถูกต้องเป็นยุตติกับเหตุและผลอันควรนั้นโดยมากกว่าที่ควรเป็นไปผิดๆ อย่าให้ต้องออกชื่อออกเรื่องเลย คิดดูเถิดจะเห็นจริง ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีคำนึงว่าจะมีผู้ทำผู้แต่งผู้ช่วยทำนุบำรุงสิ่งที่จะเป็นอย่างไรให้ได้เป็นอย่างนั้น ผู้ใดควรจะเป็นอย่างไรให้ได้เป็นอย่างนั้น นอกไปจากความคิดและความพยายามของมนุษย์ทำแก่กันนั้นจะมีอยู่ ก็ผู้ทำที่มิได้ปรากฏแก่จักษุโสตและความรู้ของมนุษย์เช่นนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายสำคัญว่าเป็นการของผีของเทวดาบ้าง เป็นการของเคราะห์ร้ายเคราะห์ดีและชาตาราศีตามกำเนิดผู้นั้นๆ บ้าง แต่ตามเหตุที่เห็นเป็นชัดนั้น ก็ความดีความชั่วซึ่งสำเร็จมาแต่ความคิดจะให้เป็นคุณเป็นโทษแก่ชนเป็นอันมากนั้นแลเป็นประมาณ ด้วยเหตุนี้จึงมีโคลงสุภาษิตชนโบราณกล่าวไว้ว่า

๏ พวกแพทย์กล่าวว่าไข้ ลมกุม[๑]
โหรกล่าวว่าเคราะห์รุม โทษให้
แม่มดว่าผีคุม ทำโทษ
ปราชญ์ว่ากรรมก่อนให้ ผ่อนแก้ผลกรรม

และของวิเศษต่างๆ ซึ่งมีในโลกนี้ เมื่อท่านผู้มีวาสนาบารมีควรจะได้ครองมีตัวแล้วก็พะเอิญมีผู้รู้ประจักษ์ปรากฏขึ้น จนท่านผู้ควรครองได้ครอง ถ้าไม่มีท่านผู้ควรครองแล้วก็พะเอิญพลัดแพลงซุกซ่อนหายไป ถ้าจะว่าตามสิ่งซึ่งมีในพระบาลี เหมือนหนึ่งแก้วมณีโชติเวฬุริยรัตน เมื่อไรในโลกมีพระมหากษัตริย์จักรพรรตราธิราชขึ้นแล้ว เทพยเจ้าก็นำเอาแก้วนั้นมาถวายให้ทรงใช้เป็นราชูประโภค เมื่อสมเด็จบรมจักรพรรตราธิราชนั้นทรงพระผนวชหรือมีพระชนม์ล่วงแล้ว เทพยเจ้าก็นำเอาแก้วนั้นคืนไปซุกซ่อนใส่เสียในภูเขามิให้ผู้ใดพบ ความที่ว่าดังนี้นั้นก็เป็นการอันยิ่ง ของดีๆ มีหลายสิ่งในพระราชอาณาจักรแผ่นดินบ้านเมืองนั้นๆ ก็พระเจ้าแผ่นดินเมืองนั้นๆ องค์ใดมิใช่ท่านผู้มีพระบารมีควรจะได้ครองเป็นเจ้าของสิ่งนั้นๆ ถึงจะมาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินกี่ปีกี่เดือนกี่วัน ของดีๆ ที่มีในพระราชอาณาจักรนั้นก็พะเอิญให้ไปซุกซ่อนหายจมดินจมทราย หรือมีผู้พาไปหวงปกปิดไว้ไม่ให้ของนั้นเข้ามาเป็นของท่านเป็นเจ้าแผ่นดินได้ เมื่อใดท่านผู้มีวาสนาบารมีควรจะครองเป็นเจ้าของสิ่งที่ดีนั้นมาได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้ว ก็พะเอิญให้มีผู้ขุดได้ไปพบนำมาถวาย หรือผู้ที่หวงลักซ่อนเก็บไว้ ก็พะเอิญให้มีอันตรายจนสิ่งนั้นประจักษ์ปรากฏออก ต้องตกมาเป็นของท่านผู้มีวาสนาบารมีควรครองเป็นเจ้าของสิ่งนั้นจงได้ เหตุเช่นนี้ เมื่อสังเกตไปก็จะทราบดอกอย่าให้ต้องออกชื่อออกเรื่องเลย

พระปฏิมากรแก้วผลึกพระองค์นี้ แต่เดิมทีก็เห็นจะเป็นแก้วก้อนใหญ่อยู่ในภูเขาหรืออยู่ในดิน และแก้วก้อนใหญ่ที่มีเนื้อสนิทจนถึงได้เอามาเจียนทำพระพุทธปฏิมาได้เท่านี้นั้น ก็ควรเห็นว่าเป็นของดีมีศรีมีมิ่ง ตั้งแต่แก้วบังเกิดมาและตั้งอยู่ในที่ใดนานกี่ร้อยปีพันปี ไม่มีมนุษย์ผู้ใดไปพบเห็นเข้าแล้วเอามาตลอดเวลาเท่านั้น จะว่าเทพยดาไม่เห็นว่าผู้ใดควรจะบริโภคจะได้ใช้จึงหวงกันกำบังไว้ก็ว่าได้ เมื่อเวลาใดมีท่านผู้มีวาสนาบารมีเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือคฤหบดีควรจะได้แก้วนั้นมาเก็บไว้ชมเป็นมิ่งเป็นศรี หรือจะได้ก่อสร้างกุศลบารมีให้ยิ่งขึ้นไป ด้วยมาเจียนมาตัดเป็นพระพุทธรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ เป็นกองกุศลราศีอันประเสริฐนั้นบังเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นก็พะเอิญให้มีผู้ไปพบเข้าแล้วก็คัดตัดยกมาเก็บรักษาไว้ด้วยตัวเป็นเจ้าของเอง หรือนำไปถวายหรือขายให้แก่ท่านผู้อื่นซึ่งควรจะเป็นเจ้าของ เมื่อเป็นดังนี้ใครไปพบเข้า จะว่าเทวดาดลใจนำไปเห็นเข้าก็ว่าได้ เทวดาผู้รักษานั้นยอมให้มาก็ว่าได้

(คัดจากประกาศเรื่องพระพุทธบุษยรัตน์ ในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาคปกิณณกะส่วนที่ ๒ ไม่มีวันเดือนปี)



[๑] ในประชุมโคลงโลกนิติ สำนวนเก่าหน้า ๘๒ เป็นดังนี้

“๏ หมอแพทย์ทายว่าไข้ ลมคุม
โหรว่าเคราะห์รวมรุม โทษไซ้
แม่มดว่าผีคุม ทำโทษ
ปราชญ์ว่ากรรมซัดให้ ผ่อนแก้ตามกรรม”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ