ตำนานวัดหงษรัตนาราม

วัดหงษรัตนารามนี้ พื้นที่วัดเดิมเป็นของโบราณ มีมานานสำหรับเมืองธนบุรี คำคนแก่เก่าๆ เป็นอันมากเรียกว่าวัดเจ้าขรัวหงษ์ และว่ากันว่าจีนเจ๊สัวมั่งมี บ้านอยู่กะดีจีนสร้างขึ้นไว้ แต่ในครั้งโน้นจีนที่มั่งมีคนเรียกว่าเจ้าขรัว ครั้นมาเมื่อกรุงธนบุรีพระสงฆ์ผู้รู้หลักนักปราชญ์มาอยู่มาก ผู้ที่อุตสาหะเล่าเรียนก็เข้าไปอยู่มาก เจ้าแผ่นดินกรุงธนบุรีจึงขยายภูมิวัดออกไปให้ใหญ่ แล้วสร้างโรงพระอุโบสถใหญ่ลงตรงหน้าพระอุโบสถเก่า แล้วสร้างโรงธรรมหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถใหม่ สัณฐานใหญ่เท่ากันทั้ง ๒ หลัง ตั้งอยู่อย่างนั้นนานมาจนถึงเวลาแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่ ๓ ในพระบรมราชวงศ์นี้ เมื่อนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างปฏิสังขรณ์วัดจอมทองขึ้น ได้พระราชทานนามแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนับแผ่นดินที่ ๒ ว่าวัดราชโอรสวราราม ครั้งเมื่อถึงแผ่นดินที่ ๓ ได้ทรงสร้างให้เป็นพระอารามใหญ่ และดำรัสว่าเป็นพระอารามหลวงเดิม สำหรับเป็นพระเกียรติยศในแผ่นดินนั้น แล้วทรงพระราชดำริจะแสดงพระเกียรติยศพระบารมีให้ปรากฏแก่โลกไปนาน ว่าทรงพระราชศรัทธาอุปถัมภนาการในพระบรมพุทธศาสนามากมาย คือได้ทรงสร้างวัดราชโอรสวรารามเป็นพระอารามหลวงเดิมลงไว้ในปลายคลองนั้นแล้ว วัดอื่นๆ ในคลองนั้นที่เป็นของเก่าชำรุดทรุดโทรมมาแต่ก่อนก็ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้ปฏิสังขรณ์เป็นพระอารามใหม่ทุกพระอารามจนตลอดคลองไป แต่ลางอาราม ก็ทรงมอบให้ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในที่มีศรัทธาเป็นเจ้าของ พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มเติมช่วยบ้าง และการช่างที่เหลือกำลังเจ้าของก็โปรดให้ทำเป็นการหลวง ลางอารามก็ปฏิสังขรณ์เป็นการหลวงทั้งสิ้น ก็วัดหงษ์นี้มีเรือนพระอุโบสถและการเปรียญเป็นของเก่าเป็นของใหญ่ ใช้เสาในและผนังหลังคาเป็นอย่างโบราณ จึงทรงชักชวนกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศร์รังสรรค์อยู่นั้น โดยพระราชปฏิสันถารว่ากรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์มีพระชนมายุเจริญมาถึง ๖๐ ปีเศษแล้วไปทรงสร้างวัดเขมาภิรตารามอยู่ไกลไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น เป็นอปราปรเจตนาเนืองๆ เลย ถ้าทรงสร้างวัดหงษ์เป็นวัดใกล้วัง จะเป็นที่เจริญพระศรัทธามาก กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์รับพระราชโองการมาว่าจะทำตามรับสั่งแล้ว จึงมาทรงกะเกณฑ์ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปทรงรื้อพระอุโบสถเก่า มาปลูกแปลงเป็นพระวิหารที่หลังพระอุโบสถใหญ่ และเกณฑ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวให้รื้อโรงธรรมหน้าพระอุโบสถนั้นไปแล้วทำเป็นโรงธรรมเป็นตึกใหญ่ลงในที่ไร่ใหม่ซึ่งโรงธรรมตั้งอยู่ในบัดนี้ แต่ในกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ทรงทำพระอุโบสถ เมื่อกะเกณฑ์ลงดังนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าหน้าที่ซึ่งทรงเกณฑ์มาให้ช่วยทำพระวิหารนั้นเป็นของเล็กเหมือนเรือน้อยห้อยท้ายเรือใหญ่อยู่ นานไปใครไม่รู้เรื่องความพระราชพงศาวดารเป็นการที่แท้ ก็จะเข้าใจปรวนแปรว่าไปอย่างอื่น เป็นที่เสียพระเกียรติยศไป ไหนๆ ก็เกิดมาเป็นชาย ชีวิตยังไม่ทำลายไม่ควรจะประมาทดูหมิ่นกัน เพราะฉะนั้นจึงได้รับสั่งห้ามเสียไม่รับทำด้วย ไม่ได้ให้ข้าในกรมไปช่วย ไม่ยอมให้ไว้พระนามในพระอารามวัดหงษ์นี้เลย และได้ทรงปฏิญาณรับไว้ว่า วัดเขมาภิรตารามซึ่งกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ทรงสร้างขึ้นไว้และชำรุดทรุดโทรมไปนั้น จะทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นเป็นการฉลองพระเดชพระคุณ เพราะฉะนั้นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ก็ได้ทรงสถาปนาการทั้งพระอุโบสถพระวิหารมาจนสิ้นพระชนม์ การก็หาสำเร็จแล้วไม่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงรับทำต่อมาทั้งพระอุโบสถพระวิหารการเปรียญ และศาลารายศาลาตะพานหน้าวัดและอื่นๆ แต่การรักการทองในพระอุโบสถพระวิหารกับกุฏิหมู่ใหญ่หมู่น้อยทั้งปวงทั้งพระอาราม ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทำเป็นการหลวงทั้งสิ้น ครั้นมาในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปพระราชทานพระกฐินทอดพระเนตรเห็นลายทองที่เพดานและบานประตูหน้าต่างไม่บริบูรณ์งามดี จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานซ่อมแซมปิดลายทองที่เพดานและซุ้มประตูหน้าต่าง และจิตรกรรมการเขียนในพระอุโบสถและที่บานประตูหน้าต่างให้ทำการลายสลักและลายปูนน้ำมันบ้าง แล้วลงรักปิดทองเพิ่มเติมให้งามดีขึ้น แล้วให้เชิญพระแสนซึ่งเชิญลงมาแต่เมืองเชียงแตง ประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชา

(คัดจากประกาศแผ่พระราชกุศลในการฉลองวัดหงษรัตนาราม ในประชุมประกาศภาคปกิณกะส่วนที่ ๒ ไม่มีวันเดือนปี)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ