พระราชทานเปลี่ยนที่วิสุงคามสีมาเมืองลพบุรี

พระราชวังเก่าเมืองลพบุรี พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงสถาปนาขึ้น หรือปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมของเก่าที่มีมาแต่เดิมขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ เป็นที่ประทับเสด็จอยู่ในฤดูแล้งหลายปีในเวลารัชชกาลอันนั้นขอบเขตต์กำแพงรอบคอบ และทรากเศษของพระที่นั่งมีชื่อต่างๆ ก็ยังเหลือปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ และมีความในหนังสือพระราชพงศาวดารโบราณแต่งสืบมากล่าวว่าเมื่อเวลาพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวรหนักใกล้เสด็จสวรรคต มีข้าราชการข้าหลวงเดิมบางนายมีความจงรักภักดีกตัญญูกตเวทีต่อพระเดชพระคุณมาก ไม่อยากจะเป็นข้าท่านผู้อื่นต่อไป เมื่อเห็นทรงพระประชวรหนักแล้วก็มีใจอุตสาหะจะใคร่ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ประพฤติพรหมจรรย์อุทิศถวายส่วนพระราชกุศลฉลองพระเดชพระคุณต่อไป จึงได้กราบทูลถวายบังคมลา ก็ทรงพระราชศรัทธาทรงพระอนุญาตแล้วพระราชทานผ้าไตรจีวรบาตรบริกขารพร้อม แล้วมีพระราชประสงค์จะให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรม ให้สำเร็จบรรพชาอุปสมบทแก่พวกนั้นในพระราชวังนั้น ไม่ให้ไปทำในที่อื่นห่างพระเนตรพระกรรณไป ครั้งนั้นพระสงฆ์ทั้งปวงปรึกษาพร้อมกันถวายพระพรว่า จะทำอุปสัมปทกรรมในพระราชวังตามพระราชประสงค์นั้นยังไม่ได้ ต่อถ้าทรงกำหนดเขตต์รอบคอบสถานที่จะให้ทำอุปสัมปทกรรมนั้นเป็นวิสุงคามสีมา ยกเป็นแขวงหนึ่งต่างหากจากพระราชอาณาเขตต์แล้วจึงจะทำอุปสัมปทกรรมในที่นั้นได้ จึงพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกำหนดเขตต์รอบขอบกำแพงพระราชวัง เอากำแพงเป็นสำคัญทุกทิศ แล้วก็ทรงพระราชอุทิศถวายเป็นวิสุงคามสีมา แด่พระสงฆ์อันจะมาแต่จาตุทิศทั้งสี่ จะได้อาศัยทำสังฆกรรมมีอุโบสถกรรมเป็นต้นโดยง่าย และว่าครั้งนั้นพระสงฆ์ได้รับที่วิสุงคามสีมา ซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายนั้นแล้วไปชุมนุมกันที่ท้องพระโรง เนื่องกับมุขเด็ดพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท แล้วทำสังฆกรรมให้สำเร็จอุปสมบทแก่ข้าราชการพวกข้าหลวงเดิมเหล่านั้นตามพระราชประสงค์เสร็จแล้วก็ถวายพระพรลาพากันกลับไปยังพระอาราม มีความในพระราชพงศาวดารดังนี้ ก็เป็นการจริงดังว่านี้หรือจะไม่จริงประการใดก็ยังสงสัยอยู่ ก็ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตแล้วจนบัดนี้ กาลก็ล่วงไปใกล้ ๒๐๐ ปี ในเวลารัชกาลพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นต่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้านั้นมา ก็ไม่ได้ยินว่าพระองค์ใดไปทรงซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ยกพระราชวังนั้นเป็นพระอารามให้สมกับการที่ว่าเป็นวิสุงคามสีมา พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงพระอุทิศถวายไว้เป็นของสงฆ์ และจะได้มีปรากฏว่าพระสงฆ์ไปครอบครองเป็นเจ้าของที่นั้น คือจะเอาเป็นพระอารามที่อยู่ก็ดี จะให้ผู้ใดเช่าเป็นที่อยู่ที่ทำสวนเก็บเอาค่าเช่า เป็นตัตรุปบาตบริโภคแก่สงฆ์ก็ดี ก็ไม่มีที่ได้เห็นได้ยินเลย ชนทั้งปวงก็ยังเรียกที่นั้นอยู่ว่าพระราชวังคุ้มบัดนี้ ก็ถ้าจะเห็นไปว่าที่นั้นหาเป็นของสงฆ์ไม่ก็ยังมีความสงสัยอยู่ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ ซึ่งได้เสวยราชสมบัติภายหลัง แต่พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้านั้นมา ไม่มีพระองค์ใดพระองค์หนึ่งไปสถาปนาซ่อมแซมขึ้นเป็นพระราชวังแล้วเสด็จไปประทับสำราญพระราชหฤทัย บริโภคพระราชวังนั้นดังพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้านั้นเลย วิสัยท่านโบราณก่อนๆ ที่ใดสิ่งใดมีกำแพงล้อมแน่นหนา ถ้าไม่ได้บริโภคแล้วก็ย่อมรื้อแร่งทำลายล้างเสีย ด้วยเข้าใจว่าข้าศึกศัตรูจะเข้าอาศัย และพระราชวังนี้ก็ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนพระองค์ใดพระองค์หนึ่งรื้อแร่งแย่งทำลายล้างลงเลย เป็นแต่ของชำรุดทรุดโทรมหักพังไปเอง บางพวกราษฎรเห็นว่ารกร้างว่างเปล่าอยู่ ก็เข้าไปอาศัยทำสวนน้อยหน่า เมื่อเห็นตึกร้างบางอันกีดขวางที่จะทำสวนอยู่ก็รื้อเสียบ้าง และพระที่นั่งสุทธาสวรรค์นั้นมีผนังก่อด้วยศิลาแลง เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ศิลาแลงมาก่อพระเจดีย์ที่วัดสระเกศ มีพระบรมราชโองการดำรัสให้ข้าราชการไปเที่ยวหาศิลาแลงในเมืองร้างเก่าๆ มา ครั้งนั้นผู้รับสั่งไปเที่ยวรื้อศิลาแลงที่เป็นผนังตึกและกำแพงของวัดของบ้านและตะพานช้างในกรุงเก่าไปทูลเกล้าฯ ถวายเป็นอันมาก ครั้งนั้นจึงพวกหนึ่งมารื้อพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ขนเอาศิลาแลงไปเสียด้วย การที่พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ต้องรื้อดังนี้ก็มีเพียงใน ๒๐ ปีลงมา ก่อนนั้นขึ้นไปไม่มีใครรื้ออะไร และได้ทอดพระเนตรทรงพิเคราะห์ทั่วไปเห็นแปลกประหลาด น่าที่จะเป็นที่สำคัญอยู่สองสิ่ง คือในชั้นต่ำใต้พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทมีพระพุทธรูปศิลาหักๆ ทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่สองสามพระองค์แห่งหนึ่ง คือที่ตึกพระเจ้าเหาข้างท้ายข้างหนึ่งมีแท่นชั้นชุกชี ดูเหมือนจะเป็นที่ตั้งพระพุทธรูปแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เป็นที่สงสัย ว่าชะรอยพระเจ้าแผ่นดินภายหลัง แต่พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้านั้นมา จะทรงเห็นว่าที่นั้นเป็นที่วิสุงคามสีมาของสงฆ์แล้วกระมัง จึงไม่ไปทรงซ่อมแซมขึ้นบริโภคเป็นพระราชวังสืบไป และไม่รื้อแร่งทำลายเสีย งดไว้เหมือนพระอารามที่ร้าง พระสงฆ์หรือชนต่างๆ เก่าๆ บางพวกเห็นจะสำคัญรู้ว่าที่นั้นเป็นของสงฆ์ จึงเชิญพระพุทธรูปบางพระองค์ไปไว้บนพระมหาปราสาท ครั้นเมื่อพื้นผุพังทำลายลงจึงแตกหักตกทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่ดังนี้กระมัง ที่ตึกพระเจ้าเหาจะมีผู้ทำแท่นขึ้นตั้งพระพุทธรูปไว้กระมังยังสงสัยอยู่

[๑]และในรัชชกาลประจุบันนี้ เมื่อปีมะโรงนักษัตรอัฐศกจุลศักราช ๑๒๑๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสังเกตจนเหตุทั้งปวงนี้ได้ทราบพระราชหฤทัยแล้วจึงทรงปรึกษาด้วยพระราชาคณะนักปราชญ์ในพระพุทธศาสนาและท่านเสนาบดีที่มีสติปัญญา มีความคำนึงรู้รอบคอบในการแผ่นดินว่าสถานถิ่นที่เป็นพระราชวังในเมืองลพบุรีนั้นอำปลังอยู่ จะว่าเป็นของวัดก็ใช่ของบ้านก็ใช่ และบัดนี้ราษฎรก็ไปหวงเอาเป็นส่วนๆ ปลูกน้อยหน่า ถือว่าส่วนๆ นั้นเป็นที่ดินของตัว ซื้อขายให้ปันแก่กันไปก็มี จะทำอย่างไรดีจึงจะสมควร ถ้าจะนิ่งไว้ชนมีทรัพย์ต่างประเทศที่เข้ามาใหม่ๆ ตื่นหาที่อยู่ที่ทำกินจะเห็นว่าที่นั้นมีผนังตึกรามมาก มีกำแพงล้อมอยู่รอบคอบ ควรจะสร้างซ่อมแซมขึ้นเป็นตึกกว้านบ้านเรือนที่อยู่ได้ ก็จะพากันไปซื้อที่สวนน้อยหน่าของราษฎรเหล่านั้นได้ แล้วจะรื้อกำแพงหรือผนังบางอันมาประสมบางแห่ง ก่อขึ้นเป็นตึกกว้านบ้านเรือนของเขาได้ ก็จะเป็นที่เสียพระเกียรติยศแผ่นดินไป ว่าพระราชวังโบราณกลับกลายไปเป็นบ้านชนนอกประเทศ เมื่อเวลาเขาไปจับเข้าแล้วจะไปห้ามไว้ก็ใช่ที่ เพราะของนั้นเป็นของร้างไม่มีใครบริโภค เขาจะไปทำให้ดีขึ้นก็จะต้องยอม ถ้าแม้นฝ่ายเราจะชิงไปรื้อเอาอิฐเอาปูนมาเสียให้หมด แล้วเอาไปก่อสร้างหรือซ่อมแซมพระเจดีย์วิหารอารามน้อยใหญ่ แรงรื้อแรงขนนั้นก็จะต้องเสียค่าจ้างค่าแรงคนมากไปยิ่งกว่าจะเสียเงินซื้ออิฐซื้อปูนใหม่ทำอะไรๆ นั้นอีก ของฝีมือท่านแต่ก่อนเป็นของโบราณท่านทำไว้ จะรื้อทำลายล้างให้สาบสูญเสียก็เสียดาย ผู้ที่รื้อทำลายของโบราณใหญ่ๆ นั้นก็เห็นไม่ใคร่จะสบายนักวุ่นวายมีเหตุต่างๆ ถ้าจะไปทำลายล้างลงมีเหตุอะไรขึ้นก็จะเป็นที่เสียใจ ก็ถ้าจะไปซ่อมแซมสร้างขึ้นให้เป็นวัดใหญ่ เช่นวัดเฉลิมพระเกียรติเมืองนนทบุรีแล้วยกถวายเป็นของสงฆ์ ก็ในเมืองลพบุรีจะมีพระสงฆ์กี่รูปกี่องค์ และทายกสัปรุษคฤหัสถ์กี่คน จะสามารถอาจทำนุบำรุงรักษาครอบครองพระอารามนี้ให้เป็นอารามสืบไปได้ ครั้นกาลนานไปก็คงจะตกลงเป็นอย่างเก่า เมื่อเราจะรู้และถือว่าที่นั้นเป็นของสงฆ์ บัดนี้สงฆ์ก็ไม่ได้บริโภคอะไร จะให้ยกสมพัตสรอากรผลไม้ในวังนั้นถวายสงฆ์ก็ดีอยู่ แต่จะคุ้มไม่ให้มีผู้ไปซื้อที่นั้นทำตึกทำบ้านก็ไม่ได้ จึงได้ทรงพระราชดำริเห็นความตามลักษณะในพระวินัย โดยเค้าบาลีในคัมภีร์บริวารกล่าวในเสทโมจนคาถา ว่าของใดเป็นครุภัณฑ์ของสงฆ์ที่พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามว่าไม่ให้แจกกันและไม่ให้สละให้ใครเสีย ของนั้นเมื่อภิกษุจะเอามาแจกกันเสียก็ดี สละให้ใครเสียก็ดีด้วยอุบายอย่างหนึ่งไม่เป็นอาบัตินั้นมีอยู่ ปัญหานี้นักปราชญ์คิดแล้ว ก็ความแก้ปัญหานี้พระอรรถกถาจารย์เจ้า ท่านว่า คือถ้ามีผู้เอาของอื่นเปลี่ยนให้เป็นของสงฆ์แล้ว ของเดิมก็พ้นจากเป็นของสงฆ์ จะเอามาแจกก็ดีมาสละเสียก็ดีก็ได้ คือใครได้เสียของเปลี่ยนของสงฆ์แทนแล้วของสงฆ์เดิมก็เป็นของผู้นั้น ในพระอรรถกถาจูฬวรรคก็กล่าวว่าของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์ที่พระพุทธบัญญัติห้ามไม่ให้แจกไม่ให้สละนั้น ถ้าผู้ใดมีประสงค์จะเปลี่ยนเอาก็ได้ แต่ให้เอาของครุภัณฑ์เปลี่ยนกับของครุภัณฑ์ จะเอาลหุภัณฑ์มาเปลี่ยนไม่ควร อนึ่งให้เปลี่ยนของถาวรด้วยของถาวร จะเอาของไม่ถาวรมาเปลี่ยนของถาวรไม่ควร และของที่เปลี่ยนกันนั้น มากน้อยใหญ่เล็กกว่ากันประการใด ถ้าไม่เสื่อมประโยชน์สงฆ์ไปแล้วก็ควร แล้วท่านสำแดงในที่เปลี่ยนที่อารามที่วิหารที่สวนที่นาใหญ่เล็กใกล้ไกล และเปลี่ยนกุฎีวิหารที่อยู่อาศัยกล่าวไว้พิสดารมาก ผู้มีประโยชน์ค้นพระคัมภีร์ดูจะรู้ได้ถ้วนถี่ ก็ด้วยเหตุดังนี้ ลักษณะวินัยได้ทราบพระราชหฤทัยแล้วทุกประการ

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสให้เจ้าพนักงานกรมพระเกษตราธิบดีจัดซื้อที่นาตำบลหนึ่งใหญ่กว่าที่พระราชวังนั้น และใหญ่กว่าที่บ้านเจ้าพระยาวิชเยนทร์ด้วย เพราะได้เห็นว่าที่บ้านเจ้าพระยาวิชเยนทร์นั้นพระสงฆ์ได้เข้าไปอยู่ครอบครองเอาเป็นที่วัดในคราวหนึ่ง แล้วจะทิ้งร้างเสียจะรักษาให้เป็นวัดต่อไปไม่ได้ ที่นาที่จัดซื้อนั้นจึงทรงพระราชอุทิศถวายในพระพุทธจักรเป็นของจาตุทิศสงฆ์แลกเปลี่ยนที่พระราชวังและที่บ้านเจ้าพระยาวิชเยนทร์ คืนมาเป็นของในพระราชอาณาจักร ที่นาซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายแลกเปลี่ยนที่พระราชวัง และที่บ้านเจ้าพระยาวิชเยนทร์นั้น บัดนี้ก็เป็นของสงฆ์มีผู้เช่าทำนาทุกปี ได้ยินว่าค่าเช่าได้ปีละ ๑๐ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง พระสงฆ์ในเมืองลพบุรีได้เก็บเป็นตัตรุปบาตบริโภคอยู่ทุกปี ตั้งแต่ปีมะเส็งนพศกมา ค่านาก็ไม่ได้เก็บเป็นหลวง ที่ซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายเปลี่ยนนั้นไม่สักแต่ว่าเป็นที่พระกัลปนาสัดพระสัดสงฆ์ตามธรรมเนียมทรงพระราชอุทิศยกเป็นที่ของสงฆ์ขาด ให้สงฆ์เป็นเจ้าของด้วย ให้บริโภคค่านาเป็นพระกัลปนาด้วย เหมือนหนึ่งราษฎรเช่านาท่านผู้อื่นทำ ต้องเสียค่าเช่าให้เจ้าของนาด้วย ต้องเสียค่านาแทนเจ้าของนาด้วยฉันใด ผู้ที่เข้าไปทำนาในที่ของสงฆ์อันนั้น ต้องเสียค่าเช่าส่วนหนึ่ง ค่านาส่วนหนึ่ง เป็นของสงฆ์ทั้งสองส่วน ตามอย่างราคาที่ราษฎรเช่านากันเท่าไรแล้วเสียค่านาแทนกันไร่ละสลึงนั้นตามธรรมเนียมนาคู่โค หรือจะอย่างไรก็สุดแต่กัปปิยการกผู้รับบังคับสงฆ์ ถ้ากัปปิยการกผู้รับบังคับสงฆ์จะทำนาเอาเข้าส่งสงฆ์หรือขายเอาเงินใช้ก็ตาม แต่ค่านาต้องเสียให้สงฆ์เป็นพระกัลปนาด้วยว่าด้วยค่านาในที่นานี้ อย่าให้กำนันและเสนาข้าหลวงเข้าไปล่วงว่าล่วงกล่าวเรียกร้อง อย่างที่กัลปนาสัดพระสัดสงฆ์ที่อื่นนั้นเลย การทั้งปวงจงเสร็จสุดอยู่แก่พระสงฆ์ทั้งปวงในแขวงเมืองลพบุรี ก็ถ้ามีความขัดข้องประการใดด้วยที่นั้นไปภายหน้า ขอให้พระสงฆ์ในเมืองลพบุรีพร้อมกันแต่งผู้อาสาสงฆ์ฟ้องต่อกรมธรรมการในกรุงเทพมหานคร หรือธรรมการในหัวเมืองเถิด ในรัชชกาลประจุบันนี้ก็จะสั่งให้ชำระให้ หรือถ้าขัดข้องจะบังเกิดมีอนาคตเวลาไกล ก็ขอให้ท่านผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ถ้านับถือพระพุทธศาสนา ก็จงเห็นแก่พระพุทธศาสนา ถ้านับถือแต่ยุตติธรรม ก็จงเห็นแก่ยุตติธรรม ช่วยชำระให้ถูกต้องตามคำประกาศนี้เทอญ เพราะที่นานั้นได้เอาเงินหลวง จัดซื้อของราษฎรแล้วโดยดี ไม่ได้แย่งชิงของผู้ใดมาถวายดอก ควรเห็นว่าเป็นของสงฆ์แท้ขาดทีเดียว ให้ท่านทั้งปวงรู้ดังนี้ทั่วๆ กันสืบไป

ก็วัตถุสถาน คือพระที่นั่งมีชื่อน้อยใหญ่ และตึกศาลากำแพงรอบกำแพงชั้นนอกชั้นในนั้น ก็ไม่มีว่าในพระราชพงศาวดารดอก ว่าทรงพระราชอุทิศถวายเป็นของสงฆ์ด้วย มีว่าแต่ถวายแต่ที่เป็นวิสุงคามสีมา แต่พระวาจาที่พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตรัสนั้น จะอย่างไรก็ไม่รู้เป็นแน่ เมื่อทรงพิเคราะห์ตามลักษณะพระวินัยก็ดี ตามกฎหมายบ้านเมืองก็ดี เห็นความว่า ถ้าผู้ใดว่าแก่ผู้อื่นว่าที่บ้านของข้านี้ข้าให้แก่ท่าน จงเป็นที่ของท่าน เมื่อว่าแต่เท่านี้ที่ดินเป็นของผู้ได้ เย่าเรือนรั้วกำแพงยังเป็นของเจ้าของเดิมๆ และผู้ใดได้มรดกเจ้าของเดิม จะรื้อเอาไปอื่นก็ได้ จะขายเสียก็ได้ ถ้าว่าผู้ให้กล่าวแก่ผู้อื่นว่าเรือนโรงรั้วกำแพงเหล่านี้ข้าให้แก่ท่าน จงเป็นของท่านแต่ที่ไม่ได้ว่า เมื่อเป็นดังนี้ที่ก็เป็นของเจ้าของเดิม ถ้าผู้ใดได้รับเย่าเรือนรั้วกำแพง ที่มีผู้ให้ดังนี้จะอยู่ในที่นั้นก็ชื่อว่าอาศัยที่เจ้าของเดิมอยู่ ถ้าเจ้าของเดิมและผู้รับมรดกเจ้าของเดิมไม่ให้อยู่ เย่าเรือนรั้วกำแพงเหล่านั้นผู้ที่เป็นเจ้าของใหม่ก็จะต้องรื้อเอาไป หรือบอกขายแก่ผู้อื่นเสียก็ได้ แต่จะทึกเอาที่ไม่ได้ ก็ในกฎหมายบ้านเมืองว่า เจ้าของบ้านยอมให้ผู้อาศัยปลูกเรือนเสาไม้จริง หรือก่อตึกลงในที่ของตัวแล้ว ล่วงไป ๓ ปีแล้วจะไล่ไม่ได้ ต้องตัดสินที่ที่เรือนปลูกอยู่ที่ตึกตั้งอยู่ให้เป็นของเจ้าของตึกเจ้าของเรือน ซึ่งว่าดังนี้ก็ตามปัญญาผู้ตั้งกฎหมายคำนึงเห็นไปว่าเจ้าของที่ยอมให้ผู้อาศัยทำของถาวรลงในที่ของตัวแล้วก็เหมือนกับยอมให้ที่ดินที่ของถาวรนั้นตั้งอยู่ ก็ซึ่งวางระยะ ๓ ปีนั้นคือจะกันไม่ให้ถ้อยความเกิดแต่ผู้ซึ่งจะรับมรดก เจ้าของที่เกลือกจะมาไล่ให้รื้อให้ถอนของที่จะรื้อจะถอนยากนั้นไป เป็นความลำบากแก่ผู้อาศัย จึงตั้งกฎหมายไว้เป็นแยบคายดังนี้ ถ้าเจ้าของเดิมว่าแก่ผู้อื่นว่า ที่นี้ของข้าขอให้แก่ท่าน ทั้งเย่าทั้งเรือนรั้วกำแพงก็ดี หรือว่าบ้านเรือนของข้านี้ทั้งที่ทั้งเรือน ข้าขอยกให้แก่ท่านก็ดี บ้านเรือนที่ดินอันนั้นเป็นของๆ ผู้ได้นั้นทั้งหมด ถึงเจ้าของเดิมทั้งบุตรภรรยาจะอยู่ไปในที่นั้นด้วยก็ชื่อว่าอาศัยอยู่ ถ้าเจ้าของใหม่หรือผู้รับมรดกเจ้าของใหม่จะไม่ให้อยู่ไล่เสียก็ต้องไป หรือจะเรียกเอาค่าเช่าค่าไถ่ก็ต้องให้ตามใจเจ้าของใหม่ทั้งนั้น ก็เมื่อเวลาพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้า มีพระราชโองการดำรัสถวายที่พระราชวังนั้นจะว่าอย่างไรก็ไม่ทราบเลย แต่โดยการที่เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินสืบๆ มา ไม่ไปรื้อไปแร่งแย่งเอาอิฐเอาปูนไปใช้ราชการอื่นเลยนั้น เป็นที่เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งปวงนั้นจะทรงแคลง ว่าตึกและกำแพงในวังนั้นเป็นของสงฆ์หมดกระมัง เมื่อแคลงว่าจะเป็นเช่นนัยที่กล่าวทีหลังใน ๓ อย่างนั้น ถือว่าอย่างนี้ก็ดีอยู่เป็นครุกะเจตนา แต่บัดนี้ตึกเรือนวัตถุสถานในวังนั้นก็ไม่มีหลังคา หักทรุดโทรมไปแล้วโดยมาก ถ้าโดยว่าสงฆ์จะได้เป็นเจ้าของที่นั้น คิดจะซ่อมแซมขึ้นให้เป็นที่อยู่ให้ได้ เมื่อไม่มีทุนรอนอื่นเพิ่มเติมเข้าเลย ก็คงจะต้องรื้อเอาอิฐผนังหลังอื่นมาก่อผสมหลังอื่น ก่อรอบเข้าเป็นหลังคาให้อาศัยได้ จะต้องรื้อกำแพงเอาอิฐเก่าปูนเก่าขายเขาจ้างคนใช้ทำการ ก็เมื่อทำดังนี้เครื่องอิฐปูนที่เหลืออยู่ในวังนั้นคงหมดไป ด้วยลักษณะวินัยที่ว่าเมื่อไม่มีสิ่งไรแล้วก็ให้สละเสนาสนลามกบางอัน มาบริโภครักษาเสนาสนและถิ่นที่ซึ่งเป็นสำคัญไม่ให้ขาดมูลสูญไปนั้น ด้วยเหตุนี้กำแพงและตึกร้าง ที่อยู่ในวังเหลืออยู่นั้น ก็เหมือนกันกับเป็นแต่กองอิฐกองปูนของสงฆ์ เมื่อไม่มีทุนอื่นจะจับจ่ายแต่อิฐปูนในกองนั้นก็จะได้เป็นเสนาสนมากมายโตใหญ่ขึ้นเท่าไร จะทิ้งร้างไว้ก็ไม่เป็นประโยชน์ จะคอยใครที่มีศรัทธามาสร้างวังนั้นให้เป็นวัดอยู่เล่า พระสงฆ์เหล่าไรจะไปอยู่ ที่เมืองลพบุรีบัดนี้เป็นเมืองแห้งแล้งกันดาร ถ้าแม้นจะมีผู้มีบุญในอนาคตจะมีศรัทธาสร้างวัดใหญ่ เห็นเขาจะสร้างวัดพรหมสุรินทร์ที่ต่อออกไปเรียกว่าวัดปรินายกที่ค้างโรเรนั้นเสียก่อน ด้วยเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านใกล้เมือง ที่วังลพบุรีไม่เห็นว่าจะมีใครอุตส่าห์ไปสร้างเป็นวัดเลย ถึงจะสร้างขึ้นก็ไม่มีพระสงฆ์จะอยู่ให้สมควรจะรักษาวัดได้.

[๒]จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ผู้ที่เคยซื้ออิฐซื้อปูนตีราคาของร้างในวังนั้นว่า จะเป็นราคาสักเท่าไร ผู้รับสั่งเป็นอันมากปรึกษาพร้อมกันตีราคาว่า ประมาณ ๕๐๐ ชั่งขึ้นไป ๖๐๐ ชั่งลงมา

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า จะขอปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมสร้างอารามอื่นถวายสงฆ์ให้หลายตำบลจงได้ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ถึง ๖๐๐ ชั่ง ๗๐๐ ชั่งขึ้นไป ใช้แทนราคาอิฐปูนของร้างที่มีในพระราชวังนั้น จึงได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้ไปปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมวัดชุมพลนิกายารามในเกาะบางปอินแขวงกรุงศรีอยุธยาเก่าพระอารามหนึ่ง สิ้นพระราชทรัพย์ไปแล้ว ๒๐๐ ชั่งเศษ ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าพระอารามนั้นเป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นพระชนกนาถของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ได้ทรงสถาปนาสร้างไว้แต่เมื่อจุลศักราชใกล้ครบ ๑๐๐๐ ปี แล้วได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้ปฏิสังขรณ์วัดเสนาสนาราม ริมวังจันทรเกษม กรุงศรีอยุธยาเก่าอีกพระอารามหนึ่ง สิ้นพระราชทรัพย์ไปแล้ว ๓๐๐ ชั่งเศษ ด้วยพระราชดำริเห็นว่า วัดเสนาสนารามมีวัตถุสถานใหญ่ เห็นจะเป็นพระอารามหลวงอยู่ใกล้พระบวรราชวัง คือวังจันทรเกษมซึ่งเป็นวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เมื่อยังไม่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชราชาภิเษกมาจนได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติราชาภิเษกแล้วก็ยังเสด็จประทับอยู่ในวังนั้นหลายปี และในเมืองลพบุรีนั้นทรงพระราชดำริจะให้ปฏิสังขรณ์พระอารามใช้แทนค่าอิฐปูนในพระราชวังได้ทรงพินิจพิจารณาเลือกหลายอารามแล้ว วัดพระมหาธาตุอยู่ใกล้พระราชวัง ควรจะปฏิสังขรณ์ขึ้น แต่เห็นว่าวัตถุสถานในที่นั้นก็มากมายหลายสิ่งจะให้สำเร็จแล้วไปก็ได้เป็นอันยาก เพราะปูนหาได้ไม่ใคร่จะทันมือ อนึ่งถ้าจะสร้างขึ้นเป็นวัดใหญ่อยู่ก็ห่างแม่น้ำลำคลอง พระสงฆ์ผู้จะอยู่ปฏิบัติอารามก็ไม่ใคร่มี ทอดพระเนตรเห็นวัดขวิดมีพระอุโบสถน้อยหลังหนึ่ง มีกำแพงล้อมรอบอยู่ใกล้ชิดเนื่องกับพระราชวัง จึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งพระนครพราม ปลัดเมืองลพบุรี เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมขึ้นใหม่ แล้วได้พระราชทานพระราชทรัพย์จัดซื้อที่สวนน้อยหน่าของราษฎรต่อออกอีกวงหนึ่ง เป็นที่กุฏิพระสงฆ์ กุฎีศาลาก็ได้สร้างขึ้นบ้างแล้ว พระราชทรัพย์ที่ได้ทรงบริจาคปฏิสังขรณ์วัดขวิดนั้นสิ้นไปแล้ว ๖๐ ชั่งเศษ ยังจะให้ทำต่อไปกว่าจะสำเร็จ พระราชทรัพย์ที่ทรงพระราชอุทิศบริจาคไปแล้วและจะบริจาคต่อไปเท่าไรก็ดี เป็นค่าถาวรวัตถุครุภัณฑ์และแรงคนทำในการปฏิสังขรณ์พระอารามทั้ง ๓ ที่ออกนามมานี้ ให้ท่านทั้งปวงพึงรู้ว่าเป็นปฏิการ ใช้แทนค่าอิฐปูนของร้างที่ตกค้างเหลืออยู่ในพระราชวังซึ่งเป็นที่สงสัยอยู่ว่าเป็นที่ของสงฆ์นั้นเทอญ

บัดนี้พระอุโบสถวัดขวิดซึ่งปฏิสังขรณ์ใหม่ ได้มีพระบรมราชโองการให้ต่อมุขเด็ดด้านหน้าออกไปครอบทับกรวมสวมนิมิตรสีมาไชยอยู่ไม่สู้งามดี จึงได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เป็นประธาน ขึ้นไปชุมนุมสวดถอนพัทธสีมาเก่า แล้วผูกพัทธสีมาใหม่ขยายออกไปให้ได้อุปจารรอบงามดี ก็ที่พระอุโบสถวัดขวิดนั้นมีวิสุงคามสีมาซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสยามแต่ก่อนพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ทรงกำหนดไว้แล้วเพียงเท่าไรยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก จากพระราชอาณาเขตต์ เป็นแขวงวิเศษสำหรับสังฆกรรม ที่อันนั้นก็เป็นอันคะเนรู้ว่าจะมีอยู่แต่เพียงที่ใกล้กับบริเฉทสีมาที่ปรากฏอยู่แล้วนั้น ครั้งนี้เมื่อสีมาที่สงฆ์ผูกสงฆ์ถอนแล้ว วิสุงคามสีมานั้นก็คงเป็นของสงฆ์อยู่ตามเดิม บัดนี้ทรงพระราชศรัทธาจะใคร่เพิ่มวิสุงคามสีมานั้นให้ใหญ่ บริเฉทอันใดที่พระเจ้าแผ่นดินสยามโบราณได้ทรงกำหนดถวายไว้แต่น้อยนั้น ขอลบเลิกเสียแล้ว บัดนี้พระบรมราชโองการให้กำหนดที่วิสุงคามสีมาใหม่เพิ่มเติมเข้าโดยรอบ คือที่วัดขวิดเก่าและที่ต่อออกไปใหม่ วงด้วยกำแพงรอบนอกทั้งสองวงนั้นเป็นอันเดียว ต่อกันกับเขตต์เก่าของสงฆ์ เป็นแขวงเดียวไม่แยกต่างกำหนดที่โดยยาวด้านตะวันออก ๒ เส้น ๕ วา ด้านตะวันตก ๒ เส้น ๘ วา โดยกว้างด้านเหนือ ๑๓ วา ๒ ศอก ด้านใต้เส้น ๗ วา ๒ ศอก ทรงพระราชอุทิศกำหนดถวายเป็นวิสุงคามสีมาแขวงหนึ่งต่างหากจากพระราชอาณาเขตต์ เป็นแขวงวิเศษสำหรับพระสงฆ์สามัคคีต้องตามลัทธิในคัมภีร์พระอรรถกถาฎีกา เป็นที่ของสงฆ์ใช้แทนที่พระราชวัง ที่ว่าพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงถวายไว้เป็นของสงฆ์ก็ดี แทนค่าอิฐค่าปูนที่ตกค้างเหลืออยู่ในพระราชวังนั้นก็ดี อีกส่วนหนึ่ง ขอพระสงฆ์สามเณร และคฤหัสถ์ผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั้งปวง จงได้รู้ความตามประกาศมานี้ทุกประการเทอญ

วัดขวิดนั้น นามว่าวัดขวิดนั้นไม่สู้เพราะ พระราชทานนามเปลี่ยนว่าวัดกรวิศยาราม ทรงพระราชอุททิศถวายที่วิสุงคามสีมานั้น และพระราชทานนามนี้แก่พระอารามนั้น

ประกาศมาณวันพุธเดือน ๑๒ แรม ๑๓ ค่ำ ปีจอจัตวาศก พุทธศาสนกาล ๒๔๐๕ เป็นวันที่ ๔๒๐๗ ในรัชกาลปัจจุบันนี้



[๑] ความต่อไปนี้เป็นพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวไปทางวินัย ควรจะรวมไว้ในพระบรมราชาธิบายเรื่องอันเกี่ยวด้วยพุทธศาสนา แต่เป็นเรื่องประกอบตำนานเมืองลพบุรีดีอยู่ จึงคงไว้ในที่นี้

[๒] คำประกาศต่อไปนี้ เป็นพระราชกรณียที่ทรงทำในปัจจุบัน มิได้เกี่ยวแก่โบราณคดี แต่เมื่อล่วงมาถึงเวลาพิมพ์หนังสือนี้นับได้ ๗๐ ปี กลายเป็นโบราณแล้ว ถ้าจะตัดออกเสียก็จะทำให้ความรู้อันเกี่ยวด้วยเรื่องนี้บกพร่องไป จึงคัดมาลงไว้ทั้งหมด.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ