พระราชประวัติสังเขป

พลตรี หม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล ทรงเรียบเรียง

----------------------------

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี

พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า นั้น :––

เป็นพระราชชิดาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ซึ่งในรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นเจ้าคุณจอมมารดา แล้วต่อมาถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาพระอัฐิว่า สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

ประสูติที่ในพระบรมมหาราชวัง ณ กรุงเทพพระมหานคร ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อวัน ๔ ๑๐ ค่ำ ปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๒๔ ตรงกับวันที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๐๕ มีดวงพระชาตาราชประสูติกาล ซึ่งคัดจากสมุดไทยของพระยาโหราธิบดี (ชุ่ม โชติเวท) ดังนี้ :––

ดวงพระชาตา สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ในการสมโภชเมื่อพระชนมพรรษาครบเดือนหนึ่งแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าๆ พระราชทานพระนามตามที่ปรากฏในสำเนาพระราชหัตถเลขาดังต่อไปนี้ :–

“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ผู้พระบิดาขอตั้งนามกรแก่บุตรี ที่ประสูตรแต่เปี่ยมผู้มารดา ในวัน ๔ ๑๐ ค่ำ ปีจอจัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔ นั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ “พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา” วัคมูลคู่ธาตุเปนอาทิอักษร วัคอายุเปนอันตอักษร ขอจงให้เจริญชนมายุ พรรณสุข พล ปฏิภาณ ศุภสารสมบัติศรีสวัสดิพิพัฒมงคล พิบุลยผลทุกประการเทอญ

ตั้งนามมา วัน ๔ ๑๑ ค่ำ ปีจอจัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔ เป็นปีที่ ๑๒ ๑๒ ฤๅเปนวันที่ ๔๑๗๓ ในราชกาลประจุบันนี้” (ตรงกับวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๕)

คาถาพรงระราชทานพระพร

(ทรงพระราชนิพนธ์ภาษามคธ เป็นอักษรอริยกะดั่งต่อไปนี้)

“สฺวางฺควฑฺฒนาติ นามํ

ยสฺสา เยว กตํ อิธ

สา โหตุ สุขินี ปุตฺถี

อโรคา นิรุปทฺทวา

อทฺธา มหทฺธนา จาปิ

โภคินี จ ยสสฺสินี

จิรฏฺายินี วํสมฺหิ

เสฏฺุตฺตมมฺหิ เปติเก”

คำแปล

“เราได้ตั้งนามของบุตรีใดในราชตระกูลนี้ว่า “สว่างวัฒนา” ดังนี้ ขอบุตรีนั้นจงเปนผู้มีสุข เลี้ยงง่าย ไม่มีโรค ไม่มีอุปัทวันตราย มั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ดำรงอิศริยยศตั้งอยู่ในพระบรมราชวงศ์ที่ประเสริฐสูงสุดของพระบิดา ยั่งยืนสิ้นกาลนานเทอญ”

(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงแปลพระคาถานี้เป็นภาษาไทย ได้คัดพระคาถาและคำแปลจากลายพระหัตถ์ซึ่งเก็บรักษาไว้ในห้องพระสมุดตำหนักจันทรวัดบวรนิเวศวิหาร ดั่งนั้น อักขรวิธีและสกดการันต์คงไว้อย่างในลายพระหัตถ์นี้เกือบทั้งสิ้น รวมทั้งความในสำเนาพระราชหัตถเลขาที่ลงไว้ในเบื้องต้นด้วย)

พระพรข้างบนนี้ ได้สัมฤทธิผลสมพระบรมราชประสงค์ทุกประการ เฉพาะอย่างยิ่งตามความตอนท้ายแห่งพระคาถา ด้วยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้ทรงพระเจริญด้วยพระอิสริยยศเกียรติคุณบุญบารมี เสด็จสถิตเป็นศรีของพระบรมราชวงศ์ ดำรงพระชนมายุยั่งยืนนานถึง ๙๓ พรรษาเศษ ยิ่งกว่าพระชันษาของพระบรมวงศ์พระองค์ ใด ๆ แห่งพระบรมราชตระกูลนี้ทั้งสิ้น

ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้เพียง ๖ พรรษาเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถก็เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ แล้วพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จขึ้นทรงครองราชสมบัติ สืบพระบรมราชจักรีวงศ์เป็นลำดับรัชกาลที่ ๕ ต่อมา ในสมัยนั้นการศึกษาสรรพวิชายังหาได้เจริญกว้างขวางเหมือนอย่างในปัจจุบันนี้ไม่ สำนักที่เล่าเรียนยังมีน้อยนัก ยิ่งสำหรับฝ่ายใน เจ้านายซึ่งเคยทรงเป็นครูอาจารย์มาก็สิ้นพระชนม์ไปหมดแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงได้ทรงเล่าเรียนหนังสือไทยจากกุลนารีในพระบรมมหาราชวังผู้หนึ่ง จนทรงอ่านเขียนหนังสือได้ มีคำเล่าสรรเสริญต่อกันมาว่า “ทรงมีความจำแม่นยำดีแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์อยู่” ครั้นต่อมา ได้ทรงรับใช้สอยใกล้ชิดติดตามในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสำเหนียกพระกระแสรับสั่งเนื่องๆ มา และได้ทรงเห็นงานการทั้งปวงในพระราชสำนัก จึงเป็นเหตุให้ทรงมีความรอบรู้ทั่ว ๆ ไป และทรงสันทัดในขนบธรรมเนียมราชประเพณี

ถึงปลายปีจอฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๗ ในรัชกาลที่ ๕ พระชนมายุครบกำหนดที่จะโสกันต์ได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดงานพระราชพิธีโสกันต์พร้อมกับพระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าน้องนางเธออีก ๔ พระองค์ กล่าวคือ มีพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เป็นเวลาสามวัน รุ่งขึ้นวันที่สี่เวลาเช้า กำหนดพระฤกษ์จรดพระกรรบิดพระกรรไกรโสกันต์แล้ว เชิญสรงน้ำพระพุทธมนต์ ณ เขาไกรลาศ ครั้นเวลาบ่ายได้ตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน เวียนเทียนสมโภช ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตามแบบอย่างราชประเพณีแต่ก่อน

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

พระองค์ทรงมีพระราชโอรส ๔ พระราชธิดา ๔ รวมทั้งสิ้น ๘ พระองค์ ดังลำดับต่อไปนี้ :–

๑) ช. สมเด็จ ฯลฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในรัชกาลที่ ๕

ประสูติ : วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑

สวรรคต : วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๗

พระชนมายุ : ๑๖ ปี ๖ เดือน ๗ วัน

๒) ช. สมเด็จ ฯลฯ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ ฯ

ประสูติ : วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๒

สิ้นพระชนม์ : วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๒

พระชนมายุ : ๒๑ วัน

๓) ญ. สมเด็จ ฯลฯ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา

ประสูติ : วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๔

สิ้นพระชนม์ : วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๔

พระชนมายุ : ๓ เดือน ๒๔ วัน

๔) ช. สมเด็จ ฯลฯ เจ้าฟ้าสมมติวงศวโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์

ประสูติ : วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๕

สิ้นพระชนม์ : วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๒

พระชนมายุ : ๑๗ ปี ๘ วัน

๕) ญ. สมเด็จ ฯลฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร

ประสูติ : วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗

สิ้นพระชนม์ : วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑

พระชนมายุ : ๕๔ ปี ๙ เดือน ๒๙ วัน

๖) ญ. สมเด็จ ฯลฯ เจ้าฟ้าศิราภรณโสภณ

ประสูติ : วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๑

สิ้นพระชนม์ : วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๑

พระชนมายุ : ๙ ปี ๑๐ เดือน ๙ วัน

๗) ช. สมเด็จ ฯ ล ฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ฯ กรมหลวงสงขลานครินทร สมเด็จพระราชบิดาในรัชกาลปัจจุบัน

ประสูติ : วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔

สิ้นพระชนม์ : วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒

พระชนมายุ : ๓๗ ปี ๘ เดือน ๒๓ วัน

๘) ญ. สมเด็จ ฯลฯ เจ้าฟ้า (ไม่มีพระนามพระราชทาน)

ประสูติ : วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖

สิ้นพระชนม์ : วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๖

พระชนมายุ : ๓ วัน

ตามรายการข้างบนนี้ปรากฏว่า พระราชโอรสและพระราชธิดาได้เสด็จสวรรคตและสิ้นพระชนมล่วงไปก่อนแล้วทั้งสิ้น ๖ พระองค์ดำรงพระชนมายุเพียงอยู่ในปฐมวัยเท่านั้น อีก ๒ พระองค์สิ้นพระชนม์แต่เมื่อยังห่างไกลมากจากอายุขัย ทั้งนี้ เป็นเหตุให้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าต้องทรงวิปโยคโศกเศร้าแสนสาหัสเป็นหลายครั้ง หากอาศัยพระคุณธรรมด้วยทรงตระหนักในความไม่เที่ยงแห่งสังขาร และทรงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท จึ่งทรงสามารถข่มพระราชหฤทัยให้บรรเทาความทุกข์โทมนัส แล้วทรงใฝ่พระราชหฤทัยแต่ในการอันจะเพิ่มพูนพระราชกุศลให้ยิ่งๆขึ้น อันเป็นปัจจัยให้กลับทรงถึงซึ่งความโสมนัสเกษมสำราญ

ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศเฉลิมพระอภิไธยขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า มีข้อความในประกาศสถาปนา ฯลฯ อยู่ตอนหนึ่ง ซึ่งสมควรคัดลงไว้เพื่อให้ปรากฏพระคุณสมบัติในพระราชประวัติสังเขปดั่งต่อไปนี้ :––

“.....ทรงพระราชดำริห์ว่า สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้ทรงเปนประธานราชการฝ่ายในตั้งแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวงเสด็จสวรรคตมาจนบัดนี้ เปนที่เคารพนับถือของพระบรมวงศานุวงศ์และคนทั้งหลายทุกชั้นบันดาศักดิ์ ทั้งทรงพระคุณแก่บ้านเมืองปรากฏเปนเอนกปริยาย ดังเช่นทรงอำนวยการสภากาชาดสยามเปนต้น ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าก็ได้ทรงประคับประคองโดยทรงพระเมตตากรุณามาเปนนิจตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ไวย มีพระคุณควรนับเปนอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ก็เปนที่ทรงเคารพนับถือ เหมือนดังเช่นสมเด็จพระบรมราชชนนี สมควรจะเฉลิมพระเกียรติยศให้ใหญ่ยิ่ง เพื่อเปนที่ทรงปฏิบัติบูชาต่อไป.....”

ครั้นต่อมาถึงรัชกาลที่ ๘ ได้เปลี่ยนพระอภิไธยตอนท้ายให้ถูกต้องตามลำดับพระสันตติวงศ์ว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้รับพระราชทานนั้นล้วนแต่เป็นชั้นสูงสุดทั้งสั้น คือ :–

ก) ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชเทวี

๑) มหาจักรีบรมราชวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ และได้ทรงดำรงตำแหน่งมหาสวามินีแห่งเครื่องขัติยราชอิสริยาภรณ์นี้ด้วย

๒) นพรัตนราชวราภรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖

๓) ปฐมจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖

ข) ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า พระบรมราชเทวี

๑) รัตนวรากรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕

๒) มหาวชิรมงกุฎ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗

อนึ่ง ได้ทรงรับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์เท่าที่มีมาแล้วสำหรับรัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลบปัจจุบัน คือ :–

– ม.ป.ร. ๒ (รัชกาลที่ ๔)

– จ.ป.ร. ๑ (รัชกาลที่ ๕)

– ว.ป.ร. ๑ (รัชกาลที่ ๖)

– ป.ป.ร. ๑ (รัชกาลที่ ๗)

– อ.ป.ร. ๑ (รัชกาลที่ ๘)

– ภ.ป.ร. ๑ (รัชกาลปัจจุบัน)

เหรียญรัตนาภรณ์สำหรับรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ซึ่งบรรจบครบร้อยปีนับแต่วันพระบรมราชสมภพแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหรียญนี้มีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ “ม.ป.ร.” ลงยาราชาวดีสีแดง ขอบพวงมาลาประดับเพชร (ส่วนชั้นที่ ๑ นั้นมีอยู่เพี่ยงเหรียญเดียวสำหรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ในด้านพระศาสนา สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงมีพระราชหฤทัยเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นประจำมา ด้วยทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงพระอารามต่าง ๆ มากหลาย ได้ถวายเป็นนิตยภัตแก่พระภิกษุลางรูปบ้าง และถวายเป็นส่วนรวมแก่พระสงฆ์สามเณรทั้งพระอารามบ้าง ทั้งโปรดให้ถวายอาหารบิณฑบาต ณ วังที่ประทับแก่พระภิกษุสามเณรเป็นประจำทุก ๆ วัน นอกจากในงานพระราชพิธีหรือในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแล้ว ยังได้ทรงพระอุตสาหเสด็จไปสดับพระธรรมเทศนา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในวันธรรมสวนะร่วมกับอุบาสกอุบาสิกาอื่น ๆ บ่อยครั้ง และในวันวิสาขบูชา ก็เคยเสด็จไปบูชาพระรัตนตรัยพร้อมกับชาวบ้านสามัญชนทั่ว ๆ ไป เช่นที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นต้น ได้ถวายผ้าพระกฐินเป็นประจำปี ทั้งที่พระอารามในกรุงเทพพระมหานคร และที่ต่างจังหวัด

พระราชจริยาวัตอันเนื่องด้วยพระบรมราชวงศ์นั้นมีเป็นอเนกปริยาย :–

ได้ทรงตั้งอยู่ในพระกตัญญูกตเวทีธรรม ทรงเคารพบูชาพระบรมชนกนาถเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานสนองพระมหากรุณาธิคุณเสมอมามิได้ขาด เช่นในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ และวันคล้ายวันสวรรคตประจำทุก ๆ ปี ฝ่ายพระมารดา เมื่อดำรงชีพอยู่ภายนอกพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จเยี่ยมเยือน และทรงอุปัฏฐากเป็นคราว ๆ กิจอันใดซึ่งเป็นความปรารถนาของพระมารดาแล้ว กิจอันนั้นได้ทรงถือเป็นหน้าที่ซึ่งได้ทรงอนุวัตรตามทุกประการ แม้ในเวลาที่พระมารดาล่วงลับไปแล้ว

ได้ทรงมีพระราชหฤทัยซื่อสัตย์จงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรำลึกอยู่เนือง ๆ ถึงพระเมตตากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ แล้วทรงพยายามปฏิบัติฉลองพระเดชพระคุณให้สมพระบรมราชประสงค์เสมอมา

ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเข้า ในฐานะที่ทรงเป็นพระญาติผู้ใหญ่อันใกล้ชิด ได้ทรงประคับประคองถนอมมาทั้ง ๒ พระองค์ ครั้นต่อมา เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็ได้ถวายความเคารพด้วยพระราชหฤทัยจงรักภักดีแด่ทั้ง ๒ พระองค์ซึ่งทรงนับถือว่าเป็นกุลเชษฐของพระบรมราชจักรวงศ์

ส่วนสมเด็จพระราชนัดดาซึ่งสืบสายพระโลหิตโดยตรงมานั้น ได้ทรงพระสิเนหาอย่างยิ่ง นับแต่เวลาทรงพระเยาว์ แล้วได้ทรงทะนุถนอมตลอดมา ระหว่างเวลาที่ต้องห่างเหินเพราะจำต้องเสด็จไปศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ก็ทรงพระอาลัยถึงยิ่งนัก

ได้ทรงอุปถัมภ์พระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งกำพร้าเจ้าจอมมารดามาแต่ทรงพระเยาว์คือ :–

๑) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท

๒) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย

๓) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

๔) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร

ได้ทรงพระเมตตาและกรุณาตลอดมาเสมอเหมือนทรงเป็นบุพการิณีโดยตรง ในเวลาที่เจ้านาย ๔ พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก็ทรงติดตามด้วยพระมุทิตาคุณ เมื่อทรงประสบความทุกข์ยากลำบากอันใดก็ทรงสงสาร แล้วทรงหักพระราชหฤทัยได้ด้วยอุเบกขา

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยในอันที่จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียะเพื่อคณประโยชน์แก่บ้านเมือง และเพื่อนำความสุขสำราญมาให้แก่ประชาราษฎร ดั่งนั้น จึ่งได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสาธารณประโยชน์เป็นเวลานานปีมาเนือง ๆ

ประการแรก ได้ทรงแผ่พระเมตตากรุณาแก่ผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นจำนวนมากหลายครั้งหลายคราว และด้วยการปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานาประการ ทั้งนี้เหลือที่จะพรรณนาให้ครบถ้วนได้ จึงได้นำมาบันทึกไว้แต่ที่สำคัญพอเป็นสังเขป ดังต่อไปนี้ :––

– ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) เมื่อได้จัดตั้งสภาอุณาโลมแดงเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ทหารป่วยเจ็บขึ้นแล้ว ได้ทรงรับตำแหน่ง “สภาชนนี” และได้พระราชทานทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก นับอยู่ในลำดับสองรองลงมาแต่จำนวนที่ทานมยูปถัมภก (พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง) ได้พระราชทานไว้

– เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้พระราชานเงินเป็นจำนวนมากอีกแก่สภากาชาดไทย (ซึ่งรับช่วงกิจการของสภาอุณาโลมแดงมา) แล้วได้ทรงรับตำแหน่ง “สมาชิกพิเศษ” แห่งองคการกุศลนี้

– ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นต้นมา ได้ทรงดำรงตำแหน่ง “สภานายิกา” แห่งสภากาชาดไทยตราบเท่าถึงวันเสด็จสวรรคต รวมเวลาถึง ๓๕ ปีเศษ ได้ทรงพระราชอุตสาหเสด็จไปเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการสภากาชาดไทยเนือง ๆ มา ครั้งหลังที่สุดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ และเสด็จไปเป็นประธานในงานกาชาดประจำปีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓

– ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ – ๒๔๖๔ ได้พระราชทานเงินเป็นจำนวนมากแก่สภากาชาดไทย เพื่อให้ตั้งเป็นเงินทุน ๖ เจ้าฟ้า สำหรับเกิบผลประโยชน์ในการส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาการแพทย์ ณ ต่างประเทศ

– เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ โปรดเกล้า ฯ ให้โอนโรงพยาบาลสมเด็จ รวมทั้งบริเวณที่ดิน ณ ตำบลศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมทั้งเงินทุนของโรงพยาบาลนี้ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสภากาชาดไทย

ในบริเวณโรงพยาบาลนั้น เดิมได้สร้างพระตำหนักเป็นที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จประทับตากอากาศ แล้วเสร็จแต่ พ.ศ. ๒๔๔๒ ครั้นต่อมาได้ก่อสร้างเพิ่มเติม จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลขึ้น ประกอบพิธีเปิดรับคนเจ็บไข้เข้าพำนักอาศัยแต่วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ (วันคล้ายวันประสูติ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเล ได้ทรงแวะเยี่ยมสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แล้วพระราชทานนามโรงพยาบาลนี้ว่า “โรงพยาบาลสมเด็จ” ซึ่งบำรุงด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จ ฯลฯ พระองค์นั้น และอยู่ในอารักขาของกระทรวงธรรมการตลอดมา เมื่อโรงพยาบาลสมเด็จมาอยู่ในความอำนวยการของสภากาชาดไทยแล้ว ได้รับพระราชทานเงินจำนวนมากเป็นค่าใช้จ่ายประจำปีทุกๆ ปีมา นอกจากนี้ยังได้พระราชทานเงินเป็นค่าซ่อมแซมสถานที่ – ค่าเครื่องใช้ลางอย่าง – ค่าสร้างสถานที่สำหรับตรวจโรคและเป็นที่อำนวยการ ทั้งนี้เป็นครั้งคราว และได้พระราชทานเงินบำรุงพิเศษเป็นเรือนเงินสูงกว่าปกติหลายเท่า เมื่อฉลองพระชนมายุครบ ๗ รอบ คือ ๘๔ พรรษาบริบูรณ์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๙

นับแต่เวลาที่ได้พระราชทานกำเนิดแก่โรงพยาบาลแต่ พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ยังได้พระราชทานพระอุปถัมภ์เป็นอย่างดีตลอดมา รวมเป็นเวลาถึง ๕๓ ปี มีผู้เจ็บไข้ได้ป่วยได้พำนักอาศัยหรือไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลนี้เป็นจำนวนมากหลายชั้นหลายรุ่นคน จัดว่าเป็นพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่ โรงพยาบาลสมเด็จนี้ จึงเป็นที่เฉลิมพระเกียรติชั่วกาลนาน

อันกิจการของสภากาชาดไทยได้เจริญรุ่งเรืองมาในระหว่างเวลาที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกามาอย่างไรบ้างนั้น ผู้สนใจจะทราบความละเอียดได้จากหนังสือ “เรื่องสภากาชาดกับโรงเรียนแพทย์และพยาบาล” เรียบเรียงโดย พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์) ตีพิมพ์แจกเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๖

– นอกจากนี้ยังได้พระราชทานเงินบำรุงโรงพยาบาลต่างๆ เป็นประจำบ้าง เป็นครั้งคราวบ้าง เช่นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลอานันทมหิดล ฯ ล ฯ ตลอดจนถึงส่วนย่อย เช่นที่ได้พระราชทานแก่กองพยาบาลทหารบกหลายแห่ง เวลาเสด็จประพาสต่างจังหวัดก็มี

อีกประการหนึ่ง ได้ทรงบำรุงกิจการทหารและความสุขของทหารหลายคราว มีอาทิเช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้เสด็จทอดพระเนตรกิจการของกรมอากาศยาน แล้วได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสมทบทุนสร้างเครื่องบินขัติยะนารี ๑ และ ๒ อันเป็นเครื่องบินพยาบาล เรื่องนี้ เจ้ากรมอากาศยานในสมัยนั้น ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลสำแดงความสำนึกในพระเมตตากรุณาคุณ ทั้งเห็นว่าได้ทรงนำพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในให้มีพระหฤทัยเลื่อมใสในการบินอิกด้วย ในเวลาต่อมา ได้พระราชทานเงินบำรุงกิจการทหาร และบำรุงความสุขของทหารหลายครั้ง พระราชจริยาวัตอันยิ่งด้วยพระเมตดาคุณทั้งนี้ เป็นที่ซาบซึ้งแก่ทางราชการอย่างยิ่ง ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ถวายเครื่องหมายบำรุงกองทัพไทยประเภทและขนาดต่างๆ ไว้เป็นที่ระลึก

ในส่วนสาธารณประโยชน์อันเกี่ยวด้วยการบรรเทาทุกข์บำรุงสุขของประชาราษฎร ก็ได้ทรงบำเพ็ญเนือง ๆ มาอยู่มากหลาย เช่นได้พระราชทานเงินขุดสระน้ำเพื่อให้ราษฎรไว้ใช้ที่ตำบลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ทรงบริจาคเงินให้สร้างบ่อน้ำเนื่องในวันชาติ ได้พระราชทานเครื่องนุ่งห่มและเงินไปแจกจ่ายแก่ราษฎรเมื่อคราวเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ได้พระราชทานเงินซื้อเครื่องกันหนาวให้แก่ราษฎร ได้พระราชทานเงินช่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประสบอัคคีภัย และผู้ประสบภัยทางอากาศในระหว่างสงคราม และอื่นๆ

ในส่วนที่เกี่ยวด้วยการศึกษาของกุลบุตรกุลธิดานั้น ได้พระราชทานเงินบำรุงโรงเรียนต่าง ๆ หลายแห่ง ทั้งยังได้พระราชทานอาคารและที่ดินตำบลบ้านแป้ง อำเภอบางปะอิน ให้แก่โรงเรียนประชาบาล ณ ตำบลนั้น และพระราชทานนามว่า “โรงเรียนประชาบาลเจ้าฟ้า” (คู่กับโรงพยาบาลสมเด็จ) สำหรับบุตรหลานของพระญาติวงศ์และข้าราชบริพาร ได้พระราชทานเงินเป็นค่าเล่าเรียนเป็นจำนวนมากหลาย เพราะทรงเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้เล่าเรียนโดยตรง และทั้งเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองสืบไปด้วย

อนึ่ง พระราชหฤทัยอันประกอบด้วยความเมตตากรุณานั้นยังแผ่กว้างออกไปอีก โดยทรงเกื้อกูลอุปถัมภ์พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร และสามัญชนทั่วไป เช่นพระราชทานเงินช่วยในการทำศพ การบวชเรียน เป็นต้น แม้ผู้ที่ได้กู้ยืมพระราชทรัพย์ไป เป็นหนี้อยู่ เมื่อได้ทรงสดับเหตุผลว่าเป็นการขัดสนโดยแท้จริงแล้ว ก็โปรดผ่อนผันให้ลดน้อยลงหรือยกให้ก็มี

เรื่องพระอนามัยและการประชวรของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น ได้ความประกอบจากนายแพทย์ประจำพระองค์ พันเอกหลวงประกิตเวชศักดิ์ ตามที่ตนได้สังเกตมาโดยใกล้ชิดเป็นเวลานานถึง ๒๘ ปีแล้วว่า ทรงมีพระอนามัยในขั้นดีมาก โดยที่ทรงรอบรู้แล้วทรงปฏิบัติพระองค์ให้ถูกต้อง เป็นต้นว่าเสวยพระกระยาหารมีปริมาณพอสมควรและเป็นเวลา และไม่โปรดเสวยน้ำระหว่างเวลาเสวยพระกระยาหารหรือภายหลังอาหารเร็วเกินไป ทั้งบรรทมและสรงน้ำได้เป็นไปตามกำหนดเวลา นอกจากนี้ยังโปรดทรงออกกำลังพระวรกายด้วยกีฬาลางชนิด เช่น ทรงโครเกต์ ซึ่งโปรดทรงมาช้านานแล้ว หรืออย่างน้อยก็โปรดทรงพระดำเนินพอควร ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงทรงมีพระอนามัยสมบูรณ์ตลอดมา แม้จะประชวรด้วยพระโรคาพาธบ้าง เมื่อเป็นเวลาทรงพระชราแล้ว ก็มีจำนวนพระโลหิตถูกส่วน มีพระกำลังต้านทานให้บรรเทาได้หลายคราว ทั้งนี้ ได้ทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของนายแพทย์และนางพยาบาลด้วยดีเสมอมา

นายแพทย์ประจำพระองค์ ได้ทราบประวัติการประชวรในสมัยก่อนกระโน้นมาว่า สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าต้องทรงวิปโยคโศกเศร้ามาหลายครั้งหลายคราว เฉพาะอย่างยิ่งตอนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ในรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ซึ่งทั้ง ๒ พระองค์ มีพระชนมายุเพียง ๑๖ –๑๗ พรรษา เท่านั้น มาสวรรคตและสิ้นพระชนม์ไป จึงทำให้พระองค์ท่านเคยประชวรกระเสาะกระแสะด้วยพระวรกายเสื่อมโทรมมา ดังนั้น นายแพทย์ผู้ตรวจรักษาพระองค์ในขณะโน้นสงสัยว่าจะประชวรเป็นวัณโรค จึงได้ถวายคำแนะนำให้เสด็จพักตากอากาศชายทะเล ณ ตำบลบางพระและศรีราชา จังหวัดชลบุรี ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๗๑ เมื่อหลวงประกิตเวชศักดิ์ได้เข้ารับหน้าที่นายแพทย์ประจำพระองค์แล้ว จึงได้ทำการตรวจพระองค์โดยละเอียด รวมทั้งการตรวจทางเอ็กซเรย์ด้วย แต่ไม่ปรากฏพระโรคอย่างใด ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ นั้นเอง ยังได้เสด็จประพาสจังหวัดภาคเหนือ (ลำปาง – เชียงราย – เชียงแสน และเชียงใหม่) หลายแห่ง ตลอดเวลาเสด็จประพาสทรงพระสำราญดีอยู่ ตั้งแต่นั้นมาเป็นเวลา ๑๐ ปีเต็ม ไม่ปรากฏพระอาการประชวรมากหรือหนักอันใดเลย แม้จะได้เคยประชวรไข้หวัดตอนเปลี่ยนอากาศประจำปีหรือพระอาการทางพระนาภีและอื่น ๆ บ้าง เมื่อได้ทรงรับการรักษาพยาบาลแล้ว พระอาการประชวรก็กลับเป็นปกติได้ภายในเร็ววัน

ต่อนั้นมา ในพระปัจฉิมวัย เมื่อพระชนมายุได้ ๗๕/๗๖ พรรษา มีพระอาการประชวรมาก จัดว่าเป็นครั้งใหญ่สำคัญครั้งหนึ่ง คราวเสด็จประพาสเกาะชวา แต่กลางเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เริ่มประชวรบิดมีตัว ซึ่งราว ๑๐ วันก็หายประชวรโรคนี้ แต่แล้วประชวรไข้หวัดใหญ่จนมีพระอาการหนักเป็นที่น่าวิตก ได้จัดหานายแพทย์ชาวยุโรปผู้ชำนาญมาปรึกษาพร้อมกับนายแพทย์ประจำพระองค์ระหว่างประทับอยู่ที่ชวา ครั้นเสด็จกลับมากรุงเทพ ฯ แล้ว ยังต้องถวายการรักษาพยาบาลอยู่อีก ๑ เดือนเศษ รวมเวลาประชวรครั้งนี้ร่วม ๓ เดือน แม้การประชวรโรคไข้หวัดใหญ่นั้นได้เป็นเหตุให้ทอนพระกำลังลงหลายประการ นายแพทย์ประจำพระองค์ได้ลงความเห็นว่าภายหลังหายประชวรครั้งนี้แล้ว ทรงเป็นปกติเรื่อยมาเป็นเวลานานตั้ง ๑๒ ปี จึงมีพระอาการประชวรที่จัดว่ามากอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ในขณะที่ทรงเจริญพระชนมายุมากถึง ๘๘ พรรษาแล้ว ด้วยเหตุพระที่นั่งกระแทกกับพื้นห้องประทับ ทำให้พระอัฐิที่คอต้นพระเพลาหัก ได้ประชุมนายแพทย์ปรึกษากัน แล้วถวายการรักษาพยาบาลอยู่ประมาณ ๓ เดือนกว่า จึงนับว่าปลอดภัย แต่เป็นเหตุให้ทรงพระดำเนินไม่ได้ ประทับตามธรรมดาไม่ได้ หลังจากประชวรคราวนี้มีที่สำคัญคือ พระอาการทางพระสมองเสื่อมลง ต้องมีนางพยาบาลและผู้รับใช้โดยใกล้ชิดประจำอยู่เสมอ แต่พระอาการประชวรด้วยพระโรคอื่นที่ร้ายแรงหามีไม่

ครั้นถึงวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ประชวรไข้ นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ ผู้ทำการแทนนายแพทย์ประจำพระองค์ (ซึ่งเวลานั้นได้ออกไปดูงานในต่างประเทศ) ได้ถวายการรักษาทันที แล้วได้มีประชุมนายแพทย์ถวายการตรวจโดยละเอียด ปรากฏว่ามีการอักเสบที่พระปัปผาสะ นายแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างดีที่สุด พระอาการก็มีแต่ทรงและทรุดลง ในระยะหลัง พระอาการทางพระปัปผาสะดีขึ้น แต่กลับมีอาการทางพระหทัยอ่อน จนในที่สุดได้เสด็จสวรรคตที่พระตำหนักวังสระปทุม ด้วยพระหทัยปเทสวายโดยพระอาการสงบ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เวลา ๒.๑๖ น. คำนวณพระชนมายุได้ ๙๓ ปี ๓ เดือน ๗ วัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเศร้าสลดพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงอาลัยระลึกถึงพระคุณูปการที่ได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระองค์และสมเด็จพระบรมเชษฐาชิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ตลอดมา นับว่าทรงมี่พระคุณเป็นอเนกปริยาย และโดยที่ทรงเป็นสมเด็จพระอัยยิกาบรมราชบุพการิณีโดยดรง และทรงมีพระจริยาวัตตั้งอยู่ในสัจธรรมและขันติธรรมอย่างมั่นคง เป็นที่เคารพสักการะอย่างยิ่งของพระองค์และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ จึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระบรมศพ ถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณีพระบรมศพสมเด็จพระอัครมเหสี

เจ้าพนักงานได้เชิญพระบรมศพจากวังสระปทุมสู่พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี และประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ถวายบังคมสรงน้ำพระบรมศพ แล้วเชิญพระบรมศพสู่พระโกศ ประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตามขัตติยราชประเพณี

ครั้นเสด็จสวรรคตครบสัปดาหะแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็่จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุสรณ์ถวายพระบรมศพ มีพระสงฆ์ ๓๐ รูปสวดพระพุทธมนต์เวลาเย็น และเลี้ยงพระเวลาเพลในวันรุ่งขึ้น พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนาทั้ง ๒ วันๆ ละกัณฑ์ แล้วมีสดับปกรณ์พระสงฆ์ ๙๓ รูป เท่าจำนวนพระชนมพรรษา เมื่อเสด็จสวรรคตบรรจบ ๕๐ วัน และบรรจบ ๑๐๐ วัน ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานทำนองเดียวกัน อนึ่ง เมื่อถึงวันศุกร์และวันเสาร์ทุกสัปดาหะ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทน สภากาชาดไทย และพระญาติวงศ์ อีกทั้งองคการและคณะคหบดีฝ่ายไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ตามใจสมัคร ผลัดเปลี่ยนกันบำเพ็ญการกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณจนถึงงานพระเมรุ ซึ่งมีกำหนดว่าจะได้เชิญพระบรมศพแห่ไปประดิษฐานในพระเมรุมาศ ณท้องสนามหลวง และถวายพระเพลิงในวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙ แล้วเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล แล้วจึงเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระวิมานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระบรมราชสริรางคารนั้น จะได้เชิญไปบรรจุไว้ ณ พุทธบัลลังก์ พระสัมพุทธวัฒโนภาส ในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสสืบไป.

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ