บานแผนก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช บรานาถบพิตร ทรงพระราชดำริว่า ในงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวงนี้ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมศิลปากรจัดการชำระพระราชนิพนธ์ดาหลัง พิมพ์ขึ้นเรื่องหนึ่ง เพื่อเป็นที่ระลึกแห่งงานพระราชกุศลนั้นแล้ว ยังได้มีพระราชดำรัสขอให้หม่อมเจ้าปรีดิเทพยพงษ์ เทวกุล ทรงเรียบเรียงพระราชประวัติสมเด็จฯ พระอัยิกาเจ้า ขึ้นไว้เรื่องหนึ่ง และโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์หนังสือจดหมายเหตุรายวันซึ่งสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารทรงไว้อีกเรื่องหนึ่ง

อันหนังสือจดหมายเหตุรายวัน ซึ่งสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงไว้นี้ ความปรากฏว่าในชั้นเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมุดสำหรับจดบันทึกรายวันเป็นของขวัญวันประสูติเมื่อมีพระชนม์ได้ห้าปี จึ่งได้ทรงบันทึกไว้แต่นั้นมา เข้าใจว่าในชั้นเดิมเพียงแต่ทรงเล่าถวาย “ป้าโสม” คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าโสมาวดี กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้นหรือใครอีกบ้างได้จดรับสั่งลงไว้ในสมุดนี้ทุกๆ คืน ครั้นภายหลังเมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้นมีพระชันษาได้ ๘ ปีแล้ว จึ่งทรงบันทึกด้วยพระองค์เองต่อมาดั่งเช่นตอนที่ทรงบันทึกเรื่องลงสรง เป็นเนื้อความละเอียดลออเกี่ยวกับราชประเพณี และเรื่องอื่นๆ อีกภายนอกภายในพระราชฐาน สุดแต่ได้ทรงสดับหรือทอดพระเนตรเห็นอะไร เนื้อความทั้งนี้ย่อมเป็นสาระทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา ไม่น่าจะหาอ่านที่อื่นได้ง่ายนัก อนึ่ง สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศนี้ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สนิธเสนหาของสมเด็จพระราชชนนียิ่งนัก จึ่งเป็นอีกเหตุหนึ่งซึ่งสมควรจะนำหนังสือที่ทรงบันทึกไว้นี้มาพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกแห่งงานพระบรมศพของสมเด็จพระราชชนนีพระองค์นั้น

การต่างๆก็สำเร็จมาโดยเรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึ่งมีพระราชประสงค์ให้บันทึกความทรงยินดีแและขอบพระทัยขอบใจบรรดาผู้ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการนี้ อาทิคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ผู้ทรงเป็นพระธุระในการจัดพิมพ์หนังสือต่าง ๆ ดังกล่าว หม่อมเจ้าปรีดิเทพยพงษ์ เทวกุล ผู้ทรงเรียบเรียงพระราชประวัติ หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต ผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าได้พบหนังสือจดหมายเหตุรายวันที่สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดีทรงไว้ และจัดหารูปมาพิมพ์ประกอบ หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต ซึ่งเป็นผู้เลือกตัดทอนหนังสือจดหมายเหตุนั้นและทำคำอธิบายประกอบร่วมกับผู้ที่ได้ช่วยเหลือ เช่น หม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล เป็นต้น กับทรงถือโอกาสทรงพระราชอุทิศพระราชกุศลปุพพเปตพลีทั้งนี้ถวายแด่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า ผู้ทรงล่วงลับไปแล้วนั้นด้วย.

พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

วันที่ ๓๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ