เดือน ๗ จุลศักราช ๑๒๔๐

วันอาทิตย์ขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ เจ้าหมื่นสรรเพธเฝ้าถวายเรื่องราววิวาทกับแม่ยาย เรื่องเมียพันขออย่า ๆ ให้แล้วกลับมาอยู่อีกแล้ว ต่อมาแม่ยายมาเรียกลูกไปแล้ว กล่าวคำหยาบช้าว่าโกหก แล้วปิดหนังสือด่าว่า เมื่อมีงานโกนจุกบุตร ก็เอาก้อนอิฐปามาแต่รั้วบ้านผูกหนังสือด่ามาหลายก้อนกำลังงาน เพราะรั้วบ้านใกล้กัน ก็ประมาทอ้างให้กราบบังคมทูลพระกรุณา จะรับพระราชทานซื้อเอาที่บ้านนั้นเสีย จะได้พ้นการวิวาท โปรดเกล้า ฯ ให้พระยารองเมืองไปชำระให้เรียบร้อยอย่าให้ดูถูกได้ พระราชทานเรื่องราวไป แล้วรับสั่งว่าคนใช้ในพระองค์ก็เป็นค่าหลวงเดิมมีอยู่ ๓ คน ให้พระยารองเมืองช่วยเอาเป็นธุระ อย่าให้ใครดูถูกได้ คือพระยามหามนตรี ๑ พระสรรเพธ ๑ พระอินทรเทพ ๑ ให้ดูแลเอาใจใส่สักหน่อย

๒ กรมหมื่นภูธเรศถวายริโปดเดือน ๖ ใบสัจเก่า ใบสัจใหม่ ใบสัจหัวเมือง พระยาอนุชิตประทับฟ้อง พระยาธรรมสารนิตรับเรื่องราว

๓ กรมหมื่นพิชิตถวาย หลวงเทพราชธาดาเดือน ๖ แพ่งกลาง เดิม ๔๖ ใหม่ ๕ แล้ว ๔ คง ๔๗ พระเกษมเดือน ๖ แพ่งเกษม เดิม ๕๕ ใหม่ ๑๗ รวม ๗๒ แล้ว ๑๓ คง ๕๙ ฯ

๕ กรมขุนบดินทร ริโปดศาลเจ้าเดือน ๕ เดือน ๖ ความเดิม ๔ ใหม่ ๒๓ และใหม่ ๔ คงเก่า ๔ ใหม่ ๑๙ รวม ๒๓ ออกขุนนาง

๕ พระยาศรีอ่านตราไปเมืองตาก เรื่องหม่องสุเจขอเช่าที่สัญญาทำนาว่าให้ทำ จะยกพระราชทานค่านา ๓ ปีตามพระราชบัญญัติ แต่ให้เจ้าเมืองกรมการตรวจที่นั้นเสียก่อน เมื่อไม่ขัดขวางสิ่งไร สมควรจะทำได้ก็ให้ทำส่งร่างสัญญาคืนขึ้นไปให้ด้วย

๗ เซ็นท้ายเรื่องราวหลวงพิพิธผู้ช่วยเมืองกำแพงเพ็ชร์ ถวายวันพุธแรม ๑๓ ค่ำเดือน ๖ ว่าเลข บิดาบุตร์เป็นราชการอยู่ควรหักให้ฉะบับหนึ่ง พระพลสงครามเซ็นว่าหักให้เถิด แล้วพระราชทานพระศรีกาฬสมุดไป

๗ พระศรีกาฬสมุดถวายหนังสือเจ้าพระยามหินทร ว่าด้วยส่งพระราชหัตถ์ กับเรื่องราวขุนนานาถไปให้พระยาราช พระยาราชตอบมาส่งเรื่องราวขุนนานาถกับหนังสือพระยาราชเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย

๘ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ถวายเรื่องราวว่าด้วยที่ซึ่งทูลขอโปรดให้ไปขอวังหน้า ๆ ประทานให้ครึ่งหนึ่ง ว่าอีกครึ่งหนึ่งจีนแพเช่าเสียแล้ว ปักที่ให้ไม่ถึงครึ่ง เกี่ยวอยู่ข้างจีนแพมาก บัดนี้จีนแพขุดรากจะปลูกตึก กลับเกี่ยวเข้ามาในที่องค์โสณ ที่พระยากระลาโหมปักให้ให้อีกศอกหนึ่งเห็นผิดที่ ๆ เช่า เดิมก็ได้ว่ากับพระยากระลาโหมแล้ว ถ้าที่นี้จะโปรดขายก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ซื้อพระราชทาน พระยากระลาโหมว่าเป็นที่ดั้งเดิมของท่านจะขายอย่างไร ถ้าจีนแพซื้อได้แล้วเธออายที่สุด เพราะเธอได้ทูลขอก่อน จีนแพจึงซื้อได้

๙ นายเสนอถวายรายงานคนคุกแล้วมีว่า มีผู้ถอดอ้ายก้อนกริ้วว่าเรื่องถอดคนโทษนี้ขอให้ถอดได้แต่พระองค์ ๆ เดียว เซ็นท้ายไปให้เจ้าพระยายมราชไต่สวนจำเอาตัวเป็นโทษ พระราชทานให้นายเสนอไป

๑๐ พระราชหัตถ์ถึงสมเด็จกรมพระ เรื่องเบี้ยหวัด

วันจันทร์ขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ รับก๊าศเชิญกรมหลวงศักดาดินเนอวัน ๔ ค่ำแซยิด

๒ มีพระราชหัตถ์พระราชทานพรลงวันวานนี้ฉะบับหนึ่ง พระราชทานเงินปิละ ๒ ตำลึง ๖๖ สลึง รอบเงิน ๖ ชั่ง ๑๒ ตำลึง

๓ มีพระราชหัตถ์ถึงกรมพระราชวังบวรเรื่ององค์โสณ

๔ มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์เรื่องเอสติเม็ต

๕ มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยามหินทร

๖ หลวงสวัสดิ์นำบาญแผนกมาถวายภาษี ถั่ว งา ปลาทู จีนห้างส่งคืน จีนเตาเป็นตัวเจ้าภาษี จีนกิ่มประกัน จีนเฮงรับเรือน คนใหม่ทำเดิม ๖๙๒ ชั่ง ประมูล ๒๔ ชั่ง รวม ๗๑๖ ชั่ง ภาษีฝ้ายขอความ จีนสุดส่งคืนหลวงภาษีวิเศษแต่งจีนกี่อั๋นเป็นเจ้าภาษีคนใหม่ทำเดิม ๔๕๕ ชั่ง ประมูล ๑ ชั่ง รวม ๔๕๖ ชั่ง ภาษีผัก ม่อ ฮวด ของ ๒๒ สั่ง จีนเกียดเจ้าภาษี จีนเส็งประกัน คนเก่าทำเดิม ๓๒๕ ชั่ง ประมูล ๒ ชั่ง รวม ๓๒๗ ชั่ง ภาษีไหม ขี้ผึ้ง จีนเผือกคนเก่าทำ จีนตงเฮงเจ้าภาษี หมื่นต่างสาสนาประกัน คนใหม่ยื่นเรื่องราวรับทำเดิม ๓๘๖ ชั่ง ประมูล ๑๔ ชั่ง รวม ๔๐๐ ชั่ง รวม ๔ ราย เดิม ๑๘๕๘ ชั่ง ประมูล ๔๑ ชั่ง รวม ๑๘๙๙ ชั่ง เซ็นท้ายมหามาลา จาตุรนต์ เจ้าพระยาศรีพิพัฒ พระยาอุทัยธรรม พระยานานา พระราชธน เซ็นพระราชหัตถ์ให้ตั้งผู้รับเงินสูงไปทั้ง ๔ รายเถิด แล้วถวายหนังสือพระยานานา ซื้อทองคำใบส่งคลังยี่ห้อเองเสงหยองเนื้อ ๘ ราคา ๑๘ บาท ๑ สลึง ทอง ๒ หีบ หีบหนึ่งหนัก ๑ ชั่ง๑๐ ตำลึง ๓ บาท ๑ สลึง หีบหนึ่งหนัก ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง ๔ ไพ รวม ๓ ชั่ง ๑ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง ๔ ไพ รวมเป็นเงิน ๕๖ ชั่ง ๓ บาท ๓ สลึง ๓๐๐ ไพ เจ้าพนักงานชั่งสอบได้หนักคงเดิม แล้วทรงเซ็นหนังสือสำคัญพระราชทานเงินไป

๘ ออกขุนนาง พระยาศรีอ่านบอกเมืองพิชัยพระอุตรการโกศลบอกลงมาฉะบับหนึ่ง ว่าด้วยส่งสร้อยทองและว่าเลขส่วยทองไปอยู่ที่พระยาประทุมเมืองหนองคายหลายคนไปเก็บเงิน ส่วยไม่ได้ ส่วยไม่สมัคร จะขอพระราชทานหักจำหน่าย รับสั่งถามว่าเมืองหนองคายบอกมาหรือเปล่า ว่าไม่บอกลงมา ให้มีตราต่อว่าถ้าจะรับไว้ ก็ให้บอกลงมาจะได้บอกขึ้นไปเมืองหนองคายหักเมืองพิชัย (แต่ธรรมเนียมที่ได้มีตราบังคับไปถึงส่วยจะไปเมืองใดให้เจ้าหมู่ตามเก็บที่ร้องว่าเก็บไม่ได้ ขัดด้วยเจ้าเมือง) เมืองสุพรรณบอกด้วยฟ้าผ่าวัดป่าเลไลยชำรุดบ้างได้เรี่ยรายกรมการซ่อมแซมอยู่แล้ว รับสั่งว่าถ้าชำรุดมากจะต้องซ่อมแซมเป็นการหลวงแล้วให้บอกเข้ามาด้วยเป็นวัดหลวง ต้องให้พระยาราชทำ เพราะเดิมเจ้าพระยานิกรบดินทร์เป็นผู้ทำ

๙ พระนรินทรอ่านบอกเมืองราชบุรีว่าด้วยผู้ร้ายฆ่ากันตาย ๖ ราย ได้เสนอสมเด็จเจ้าพระยา ตัดสินให้จำคุกไว้ราชบุรีมีกำหนดออกบ้าง ไม่มีกำหนดออกบ้าง แต่อ้ายสนคนหนึ่งให้ประหารชีวิตนั้น จะโปรดเกล้า ฯ ให้ทำโทษที่ราชบุรีหรือส่งเข้ามาในกรุง โปรดเกล้า ฯ ว่าเป็นแต่รายเดียวไม่มีใครเจ็บแค้นมาก ไม่ต้องทำประจานส่งเข้ามาทำกรุงเทพ ฯ เถิด

๑๐ พระยาภาษจดหมายถวายว่าด้วยพราหมณ์โคปาลสาตรมาแจ้งว่า พระสาสนโศภณกำหนดสอนสังสกฤต วันพุธขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๗ วันละ ๒ เวลา เช้า ๒ โมงจน ๕ โมง บ่าย ๒ โมงจน ๕ โมงเลิก จะขอฉลองพระเดชพระคุณปีหนึ่ง แล้วจะถวายบังคมลากลับไปบ้าน ถ้าโปรดและจะขอรับพระราชทานเซอร์ติฟิเกตที่ได้เข้ามาสอน แล้วว่าเป็นธรรมเนียมพราหมณ์ ต้องอาศัยขอแทนจ้างจะขอเงิน ๒๐๐๐ บาท หรือจะพระราชทานเป็นข้าวแทนก็ได้ ด้วยเวลากลับไปพวกพ้องจะสงสัยว่า ไปจากบ้านนานขาดชาติ จะต้องทำพิธีใหม่เสียเงินสัก ๑๐๐๐ รูเปีย อีกพันหนึ่งจะได้เป็นกำลังกับตัวเขาด้วยการดนตรี ดูเหมือนจะไม่โปรด พระยาภาษตอบว่าจะต้องกราบทูลเสียก่อน ด้วยเดิมตกลงกันอย่างหนึ่ง

๑๑ นายเสนอถวายหนังสือเจ้าพระยายมราช ว่าเดิมเจ้าพระยาภูให้หาพระพิเรนทรไปฝากอ้ายหัดบ่าวพระยากระลาโหม อ้ายภู่ทาษหลวงวาสุเทพว่าโยกเยก แต่อ้ายทัดไม่มีกำหนดออก อ้ายภู่กำหนดปีหนึ่ง พระพิเรนทรมาแจ้งแก่ท่าน ท่านเห็นว่าเจ้าพระยาภูเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ คนนั้นเป็นบ่าวในพี่น้องของท่านจึงได้รับมา อ้ายภู่นั้นถึงกำหนดออก หลวงวาสุเทพจึงมารับตัวไป

๑๒ บุตรพระพิเรนทรถวายริโปดความเดือน ๖ ความเดิม ๒๙๙ ใหม่ ๓ รวม ๓๐๒ แล้ว ๕ คงส่งผู้ปรับ ๙๒ ส่งลูกขุนปรึกษา ๒๗ คงชำระ ๑๒๘ รวม ๒๙๗ งดชำระ ๑๙ พระยาราชสงครามถวายตัวอย่างพระที่นั่งเป็นยอดปราสาทตกลงกัน

วันอังคารขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ เจ้าหมื่นศรีเอากล่องนากหลังโมราที่โปรดเกล้า ฯ ไปให้ทำมาถวายอีกกล่องหนึ่งครบจำนวน พระราชทานเงินค่าจ้างให้เงินไป

๒ พระไชยยศจดหมายจำนวนทองที่โปรดเกล้า ฯ ซื้อให้เก็บรักษาไว้ทอง ๔ ครั้ง ๙ หีบหนัก ๑๓ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๓ สลึง

๓ ทรงเซ็นใบเสด็จให้เจ้าหมื่นสรรเพธที่โปรดพระราชทานทองให้ทำและทองคลังจำนวนปีฉลูนพศกได้ส่งถวายเสร็จแล้ว เซ็นพระนามประทับพระราชลัญจกรเกี้ยววงศ์เล็กให้ด้วย

๔ มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ นัดให้กงซุลอเมริกันมาเฝ้าวัน ๖ ค่ำ

๕ มีถึงกรมพิชิต

๖ ออกขุนนาง พระนรินทรทูลบอกหลวงพิพิธภักดีข้าหลวง พระยากาญจนบุรีกรมการบอกเข้ามาด้วยสืบจับผู้ร้ายปล้นจีนหัว กับได้ข่าวว่าต้องซู่ผู้ปล้นไม้เมืองมรแมนตาย ยังสับจับนายร้อยอยู่ ส่งคำให้การผู้ร้ายที่จับได้เข้ามากับอีกฉะบับหนึ่งจับต้องซู่ไม่มีหนังสือเดินทางส่งเข้ามาคนหนึ่ง

๗ พระยาศรีทูลจมื่นประทานมณเฑียรหลวงเทเพนกราบถวายบังคมลาไปชำระผู้ร้ายเมืองอินทร์

๘ ความเหมือนกัน พระราชหัตถ์สำคัญ พระราชทานของเจ้าจอมมารดาสุด

๙ เสด็จวังกรมหลวงวรศักดา แซยิดมีดินเนอ ทรงฉลองพระองค์ทหารขาว กลับเวลา ๔ ทุ่มเศษ

๑๐ หลวงโกษาถวายหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ว่าด้วยเมื่อเดือน ๔ แครฮานมีหนังสือถามเข้ามาด้วยของเอกษหิบิเชนที่ส่งไปนั้น ถ้าการแล้ว ๆ จะให้ขายหรือส่งคืนมา ขอให้บอกออกไปนั้น ท่านยังไม่ได้ตอบจะโปรดเกล้า ฯ ประการใด จะได้ตอบไปให้ทราบ ฯ โปรดเกล้า ฯ ว่าให้ขายกับส่งสำเนาหนังสือแครฮานมีมาลงวันที่ ๑๙ เดือนเอปริล ๑๘๗๘ ตรงวันศุกร์แรม ๒ ค่ำเดือน ๕ ว่าด้วยจัดการเอกษหิบิเชน ส่งหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุที่ปารีสชื่อคอลอยเข้ามาว่าด้วยของเอกษหิบิเชนกรุงสยาม กับว่าจะส่งรูปที่ได้จัดตั้งของเข้ามาแต่ช่างเขียนยังไม่แล้ว ได้เปิดหีบมีของเสีย ๒ สิ่ง เปลือกข่อยรากับขวดใส่สารส้มแตก กับได้สร้างศาลาที่ตำบลโครกาเคโรอย่างสยามศาลาหนึ่ง ทำตามทุกประเทศ เขาสร้างตามบ้านเมืองทำเป็นราคา ๓๔๐๐ เหรียญ กับได้ตั้งมองซิเออเยนซอนเป็นกอมมิชั่นตรวจดูการแล้วมีแมมเบอมองซิเออไตลอดนหนึ่ง มองซิเออเรียวเป็นช่างเขียนกับเตือนเรื่องของจะให้ขายหรือส่ง

วันพุธขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ องค์มนุษย์ถวายเรื่องพระพุทธรัตน ที่เสด็จทรงแต่งเริ่มต้นมาถวายทอดพระเนตร

๒ ครูนิตถวายแบบโทรนพระที่นั่งใหม่ กับแบบสพานตำหนักแพ ทำด้วยเครื่องเหล็กมีหลังคา แบบโทรนนั้นรับสั่งว่าแก้ยอดพระที่นั่งเป็นปราสาท แล้วจะต้องแก้โทรนด้วยเหมือนกัน แต่ต้องใช้ที่ประทับเหมือนพระที่นั่งภัทรบิฐมีเศวตฉัตรกั้น แต่ต้องให้เป็นอย่างไทย เพราะจะออกขุนนางเสมอ โปรดเกล้า ฯ ให้กรมหมื่นนเรศพาครูนิตไปเฝ้าสมเด็จ ของที่สั่งให้รออยู่ก่อน ไปทูลสมเด็จท่านจะคิดตัวอย่างมาถวายที่ตำหนักแพนั้นตกลงจะทำแต่ของจะต้องสั่งให้ตามราคาเอสติเม็ตดูก่อน

๓ พระดิฐการถวายริโปดความกรมท่าเดือน ๖ ความเดิม ๑๐ ใหม่ ๑๓ รวม ๒๓ แล้ว ๑๔ คง ๙ เรื่อง

๔ พระยาไชยสุรินทรถวายความหลวงนายฤทธิ์เรื่องของมรดกเมียหม่อมราชวงศ์แจ่ม แจ้งกับบานแผนกด้วย ๒ ฉะบับ ฉะบับ ๑ สุราบ่อนเบี้ยเมืองชุมพร ประทิวเมืองกำเนิดนพคุณ พระภักดีพัทรากรแต่งจีนติ้นเป็นตัวอากร คนเก่าคืนพระศรีราชสงครามรามภักดีปลัด แต่งให้จีนกุยสูนเป็นตัวคนใหม่ทำเดิม ๗๓ ชั่ง ขาด ๑๓ ชั่ง คง ๖๐ ชั่ง สุราบ่อนเบี้ยเมืองไชยา จีนสุยตัวอากรพระศรีราชสงครามประกัน คนเก่าคืน เจ้าพนักงานออกประกาศแต่เดือน ๓ จนเดือน ๖ ไม่มีใครยื่นเรื่องราว ถามคนเก่ารับจะทำ เดิม ๒๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ขาด ๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง คง ๒๓ ชั่ง สุราบ่อนเบี้ยเมืองลพบุรี จีนขาวคนเก่าส่งอากรคืนแล้ว ๆ จะรับทำ เดิม ๑๐๕ ชั่ง ขาด ๒๐ ชั่ง คง ๘๕ ชั่ง บ่อนเบี้ยไทยจีนเมืองฉะเชิงเทรา พนัสนิคม จีนเสียวหะคนเก่าส่งอากรคืน จีนอุ้นตัว จีนหมอประกัน คนใหม่จะทำ เดิม ๑๓๐ ชั่ง ประมูล ๘ ชั่ง รวม ๑๓๘ ชั่ง บ่อนเบี้ยไทยจีน เมืองเพ็ชรบุรี ปราจิณบุรี จีนมากคนเก่าส่งคืน จีนกิมตัว จีนแสงประกัน คนใหม่ทำ เดิม ๒๓๑ ชั่ง ขาด ๕๔ ชั่ง คง ๒๘๕ ชั่ง สมพัตสรเมืองราชบุรี สมุทรสงคราม จีนฉายคนเก่าส่งคืนแล้วจะรับทำ เดิม ๑๓๒ ชั่ง ขาด ๒๙ ชั่ง คง ๑๖๓ ชั่ง บ่อนเบี่ยไทยจีนเมืองอ่างทอง จีนไซคนเก่าจะรับทำ เดิม ๗๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ประมูลบวกขึ้น ๑๑ ชั่ง รวม ๘๕ ชั่ง ๑๐ ตำลึง บ่อนเบี้ยไทยจีนเมืองนครนายก ปราจิณบุรี กระบินทร เดิมจีนตาดเป็นตัว จีนพีผู้เข้าส่วน จีนตาดขอเปลี่ยนตัวเป็นประกัน จะรับทำ เดิม ๗๐ ชั่ง บวก ๑ ชั่ง รวม ๗๑ ชั่ง สมพัตสรเมืองอ่างทอง นายอ่ำคนเก่าจะรับทำ เดิม ๕๐ ชั่ง บวก ๑๑ ชั่ง รวม ๖๑ ชั่ง ค่าน้ำเมืองสงขลา พัทลุง นายแจ้งคนเก่ารับทำตาม เดิม ๓๑ ชั่ง รวมอากร ๑๐ ราย เดิม ๑๐๑๘ ชั่ง ขาด ๑๐๐ ชั่ง ๑๐ ตำลึง คง ๙๑๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ประมูลและบวกขึ้น ๓๑ ชั่ง รวม ๙๔๘ ชั่ง ๑๐ ตำลึงนั้น หักเงินขึ้นใช้ขาดแล้ว คงขาด ๖๙ ชั่ง ๑๑ ตำลึง เซ็นมหามาลา จาตุรนต์ หลุย อุไทยธรรม์ ราชธน ไชยสุรินทร อีกฉะบับ ๑ ค่าน้ำกรุงเก่า หลวงขจรนายท้วมส่งคืนว่าถ้าต่ำกว่าเดิมจะรับประมูล หลวงโสภณยื่นเรื่องราวว่า ถ้าผู้ใดรับทำเงินอากรต่ำลงมากว่าเดิมจะรับประมูลให้สูงกว่าผู้นั้น ๑๐ ชั่ง ถ้าเท่าเดิมแล้วไม่รับประมูล นายแสงเป็นตัวอากร จีนบุญมาเป็นผู้เข้าส่วน หลวงภิรมย์โกษาเป็นผู้ประกันคนใหม่ รับทำตามเดิม ๕๗๐ ชั่ง ส่งล่วงหน้าแล้ว หลวงวารีกับหยาว่าจะรับทำตามเดิม ขุดคลองบางคลี่ถูกหนองซึ่งเป็นสิทธิ์ของนายอากร ราคาหลวงไม่เต็มตามเคย จะขอลดเงินลง สมพัตสรเมืองนครชัยศรี สมุทรสาคร จีนฮุยคนเก่าส่งคืน นายชิตตัวอากร นายรอดประกัน คนใหม่รับทำ เดิม ๑๒๓ ชั่ง ขาด ๑๗ ชั่ง คง ๑๐๖ ชั่ง รวมอากร ๒ รายเงินเดิม ๖๙๓ ชั่ง ขาด ๑๗ ชั่ง คง ๖๗๖ ชั่ง เซ็นเหมือนฉะบับโน้น เติมพระยานรนารถขึ้นอีกหนึ่งไปเซ็นวันพฤหัศบดีขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗

๕ พระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ถวายหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ว่าด้วยพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ทำริโปดขุดคลองปลายบางพระโขนงไปออกลำน้ำเมืองฉะเชิงเทรามายื่นฉะบับหนึ่ง ว่าเดิมว่าราคาเหมาเถ้าแก่ขุดเส้นละ ๑๕ ตำลึง ครั้นเรียกให้ทำสัญญาหลบตัวเสีย พระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ จึงหาเถ้าแก่ใหม่มาว่าจะขอเอาเส้นละ ๑ ชั่ง ๑ ตำลึง ๑ บาทท่านจึงให้หาตัวเถ้าแก่มาพร้อมกันณออฟฟิศ ให้ว่าราคาเหมา เถ้าแก่ร้องว่าข้าวสารแพงระยะปลูกโรงงานก็ไกลลำน้ำและน้ำซึ่งจะกินในท้องทุ่งก็เค็มต้องมาตักถึงลำน้ำ เป็นที่ลำบากมาก ถ้าไม่ได้ราคาเส้นละ ๑ ชั่ง ๑ ตำลึง ๑ บาทรับไม่ได้ ๆ ความดังนี้ ส่งริโปดเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวายด้วย ในริโปดคลองขุดกว้าง ๔ วา พื้นคลอง ๑๐ ศอก ลึกวา ๑ ทั้งดินพ้นคันคลองขึ้นไป ๒ วา

๖ มีพระราชหัตถ์ตอบเจ้าพระยาสุรวงศ์ฉะบับหนึ่ง ยอมตามราคาใหม่ราคาเดิมก็ทรงเห็นว่าถูกมากกลัวจะไม่ตลอดอยู่แล้ว

๗ รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งเรื่องราวกับแผนที่ของหมอกาลเบสซอนชาวอเมริกันยื่นเข้ามา เรื่องราวฉะบับนี้กงซุลอเมริกันมีขึ้นมาว่าจะพาหมอขึ้นมาเฝ้า ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้กงซุลขึ้นมาเฝ้าวันพรุ่งนี้นั้น ท่านได้มีหนังสือนัดลงไปแล้ว เรื่องราวหมอกาลเบสซอนลงชื่อด้วยกันอีก ๓ คน ว่าเดิมคุณพุมราทิมเจ้าของที่จะขายให้เป็นราคาเงิน ๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง แต่เขาขอผัดว่าขายเรือนได้แล้วจึงจะรับเงิน แต่หมอเตือนหลายครั้งก็ว่ายังขายเรือนไม่ได้ ภายหลังเอาไปขายให้กับพระราชธนเสีย ได้ไปขอซื้อต่อพระราชธน ๆ ก็ไม่คืนกลับจะปลูกตึก ถ้าปลูกเข้าแล้วปิดหน้าโรงเรียนเสียด้วยเป็นที่ลำบากมากนัก ทั้งไม่ได้ลมได้แล้ง การโรงเรียนนี้มิใช่ประโยชน์แต่เขาพวกเดียวเป็นประโยชน์กับชาวสยาม ถ้าเขาซื้อที่นี้ไม่ได้แล้วโรงเรียนเห็นจะต้องเลิกในแผนที่นั้น พระราชธนซื้อบังหน้าบ้านกว้าง ๑๑ วา ยาว ๙ วา

๘ มีพระราชหัตถ์ตอบไปว่าได้ส่งเรื่องราวให้พระยารองเมืองพร้อมกันกับพระเทพผลู ไปปรึกษาท่านจัดการตามควรแล้ว

๙ มีพระราชหัตถ์ถึงพระยารองเมืองฉะบับหนึ่ง ส่งเรื่องราวกับแผนที่ไป ทรงพระราชดำริเห็นว่าที่นี้ต้นตำราตัวอย่าง แต่ยอมให้เขาซื้อเสียแต่เดิมแล้ว จะห้ามไม่ให้เขาซื้อที่หน้าบ้านก็เห็นจะไม่ได้ ให้พระยารองเมืองช่วยพระเทพผลูด้วยในการเรื่องนี้ พร้อมกันไปที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์เห็นสมควรจะจัดการอย่างไรก็ให้จัดไปเถิด

๑๐ ออกขุนนาง พระนรินทรทูลบอกเมืองสงขลา ๒ ฉะบับ ฉะบับหนึ่งว่าด้วยส่งเงินค่านา ฉะบับหนึ่งว่าด้วยบอกรายทำตึกรับคนต่างประเทศที่หัวแหลมเมืองสงขลาซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้อย่างไปทำ ได้ให้พระยาสุนทรานุรักษ์ผู้ช่วยเป็นนายงานทำเป็นเรือน ๕ ห้องเฉลียงรอบ มีมุข ๒ ด้าน กับกำแพงประตูแล้วเสด็จ สิ้นเงินค่าอิฐปูนแรง ๔๐๐๐ เหรียญเศษ เจ้าพระยาสุรวงศ์ให้พระนรินทรกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าคิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะหักเงินค่ากระดานเกณฑ์ตัดให้ โปรดเกล้า ฯ ว่าชอบแล้ว

๑๑ พระยาศรีทูลเจ้าอุปราชเมืองแพร่ และพระอภัยพิทักษ์ยกระบัตรเมืองพระตะบอง กราบถวายบังคมลาออกไปเมือง เครื่องยศยกระบัตรยังแล้วไม่ทัน จะพระราชทานตามไปภายหลัง แล้วมีพระบรมราชโองการส่งพระอภัยพิทักษ์ให้ไปบอกพระยาคทาธร ว่าด้วยวัดถาแตกกระจัดกระจายให้รักษาการนั้นให้ดี แล้วพระราชทานพระรูปเขียนน้ำมันกรอบทองเล็กฝากไปให้พระยาคทาธรพระรูปหนึ่ง

๑๒ พระยาพิพัฒทูลด้วยการจับผู้ร้าย ถ้าต่อสู้จะขอพระราชทานสู้จับตัวให้ได้ แต่กลัวพลาดพลั้งจะเปนอันตราย ขอพระบรมราชานุญาตด้วย ผู้ร้ายต่อสู้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระอนุญาตเพราะผู้ร้ายแขวงเมืองนนทบุรีมาก ถ้าขัดข้องอย่างไรจะพระราชทานทหารไปช่วยสัก ๑๒ คน

๑๓ เมื่อก่อนออกขุนนางพระองค์ดิฐเอาตัวอย่างเสาราวเชิงเทียนและเสาหงส์วัดนิเวศน์มาถวายยังไม่โปรดฯ จะให้มีโคมที่ยอดด้วย โปรดเกล้า ฯ ให้กรมนเรศปรึกษาพระองค์ดิฐแล้วให้ๆ ตัวอย่าง แล้วพระองค์ดิฐพาพระเทเวศวัชรินทรเจ้ากรม ในกรมพระเทเวศ ซึ่งเข้ามารับราชการในช่าง ๑๐ หมู่ ถวายเรื่องราวขอเลข ว่าเดิมตัวอยู่ในมหาดเล็ก ได้สักเลขไว้ในมหาดเล็ก ครั้นกรมพระเทเวศกราบทูลขอไปเป็นเจ้ากรม จึงได้ขอยกเลขไปไว้ในกรม ครั้งนี้มารับราชการใน ๑๐ หมู่ แล้วขอรับพระราชทานเลขสม ๙ ทาส ๒ กับบุตร ๓ หลาน ๑ ซึ่งได้รับพระราชสิบยกอยู่ในกรมรวม ๑๕ พอได้เป็นราชการสืบไป เซ็นพระราชหัตถ์ว่าควรหักให้ตามตัวมา

๑๔ อีกฉะบับหนึ่งหลวงจงพยุหทูลขอเลขบิดาถวายแต่วานนี้ ว่าเดิมพระยาสุรเสนาสักไว้ ๑๙๔ คน เป็นเลขสมกำลัง ครั้นบิดาตายกรมสัสดีชำระได้ส่งแล้ว ๑๐๖ คน ยัง ๘๘ คน ขอรับพระราชทานเลขทนาย ๗ สม ๑๑ ทาสพ้นค่าตัว ๒ รวม ๒๐ คน เซ็นพระราชหัตถ์ว่าควรให้หัก พระราชทานขุนอัมรินทรไปทั้ง ๒ ฉะบับ

๑๕ หลวงวิจารณ์อาวุธถวายริโปดความกระลาโหมเดือน ๖ ความเดิม ๙ ใหม่ ๙ รวม ๑๘ แล้วใหม่ ๖ เก่า ๙ ใหม่ ๓ รวม ๑๒ เรื่อง แล้วถวายคำปรึกษาลูกขุนวางบทโทษอ้ายผู้ร้าย ซึ่งฆ่าจีนจันตายณเมืองไชยา ส่งคำปรึกษาเข้ามาทูลเกล้าถวาย

๑๖ พระอินทรเทพถวายริโปดความอำเภอฟากขะโน้น เดือน ๖ เดิม ๕ ใหม่ ๕ รวม ๑๐ แล้วเก่า ๓ ใหม่ ๓ รวม ๕ ฯ

๑๗ พระนรินทรถวายงบเดือน ภาษีฝิ่นร้อยชักสาม จำนวนเดือน ๕ กงสีในกรุง ภาษีฝิ่นดิบเดิมคงโรง ก้อน ๖๙๒๓, ลิ้นกระบือหนัก ๑๕/๒๑๘๔ นั้นจำหน่าย (ต้มในกงสี ๒๒๐๘ ซื้อไปหัวเมือง ๑๒๐) ๒๓๒๘ ก้อน

เดิมคงโรง (เชียงหุน ๓๓๐๔๗, หุน ๔๓๘๔๕/๔) ต้มใหม่ได้เนื้อ (เสียงหุน ๒๗๐๖๓, สีหุน ๓๐๐๙๘) รวม (เชียงหุน ๖๐๑๑๐, สีหุน ๗๓๙๔๓/๔) ๑๓๔๐๕๓/๔ นั้น

ฝิ่นสุก ขาย (เสียงหุน ๒๙๕๘๗/๕, สีหุน ๓๑๖๘๔/๕) ๖๑๒๗๒ จำหน่าย เมื่องนครชัยศรีรับไป (เสียง ๕๐๐/, สี ๕๐๐๐/) รวม (เสียง ๓๐๑๒๗/๕, สี ๓๖๖๙๓) ๖๖๘๒๐/๕

ขาดตาชั่ง เดือน ๕ เสียง ๔๐/ สี ๘/๕ รวม ๔๘/๕ ฝิ่นสุก เสียง ๒๙๙๘๒/ ๕ สี ๓๗๒๕๐/๕ ก้อน ๔๕๙๕ ก้อน ดิบกระบือ หนัก ๑๕/๒๑๔๘ ขายได้เงิน ๑๘๗๕ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ๒ บาท ๓ สลึง ๑ เฟื้องนั้น ใช้ในการหลวงและโรงกงสี ๑๖๘๒ ชั่ง ๖ ตำลึง ๓ บาท ๑ สลึง สิบลด สมเด็จกรมพระและเงินเดือนสุรวงศ์ ๒๗ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๒ บาท ๓ สลึง ๑ เฟื้อง รวม ๑๗๑๐ ชั่ง ๒ บาท ๑ เฟื้อง คงโรงกงสี ๑๖๕ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ๓ สลึง เมืองนครชัยศรี สุพรรณ สมุทรสาคร ฝิ่นสุกเก่า ๔๐๕๙/๕ ใหม่ ๕๕๐๐/ รวม ๙๕๕๙/๕ นั้น ขายได้ ฝิ่น ๔๙๓๖/๕ ได้เงิน ๑๔๗ ชั่ง ๑๗ ตำลึง ๓ สลึง ๑ เฟื้อง ๒ ไพ จำหน่ายกงสี ๑๐ ชั่ง ๒ ตำลึง ๓ สลึง ๑ เฟื้อง คงได้เงินเข้ามา ๑๓๗ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๒ ไพ คงเหลือฝิ่น ๕๐๘/๕ เสียงหุน ๔๑๑๔/๕ สีหุน รวม ๔๖๒๓ รวมคงเงินในกงสีทั้ง ๒ กงสี ๓๐๓ ชั่ง ๙ ตำลึง ๓ สลึง ๒ ไพ ภาษีร้อยชักสาม เรือกำปั่นไฟ ๑๑ เรือกำปั่นใบ ๑๕ รวม ๒๖ เรือใหหลำ ๒ เรือแง่ ๔ รวมราคาสินค้า เดิมบอกด่านทุน ๒๙๔๔๒๕-๕-๗-๕ ตีราคาสินค้าขึ้นอีก ๒๒๒๙๘-๒-๓-๓ รวม ๓๑๖๗๒๓-๘-๐-๘-๕ เหรียญ เรียกภาษีได้เงินได้ผ้า เป็นเงิน ๙๕๐๑-๗-๑-๔ เหรียญ ๕ บาทเงิน ๑๙๗ ชั่ง ๑๙ ตำลึง จำหน่ายกรุงเทพ ฯ สินค้าคืน ๕ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๓ บาท ๑ สลึง ๕๕ เฟื้อง กงสี ๔๕ ชั่ง ๑ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง รวม ๕ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ๒ สลึง ๑ เฟื้อง เมืองสมุทรเงิน ๔ ชั่ง ๑๖ ตำลึง ๓ บาท ๑ สลึง รวม ๕๕ ชั่ง ๑๑ ตำลึง ๓ บาท ๓ สลึง ๑ เฟื้อง คงได้เป็นเงินเหรียญเงิน ๑๑๘ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๒ บาท ผ้าลาย ๑๒๖ กุลี ๔ คืบ ราคาเงิน ๒๓ ชั่ง ๔ ตำลึง ๓ บาท ผ้าแดงตรา ๑ กุลี ๑๐ ผืน ราคา ๗ ชั่ง ๓ บาท ๑ สลึง รวม ๑๔๒ ชั่ง ๘ ตำลึง ๑ สลึง ไม่ได้เรียกภาษี เป็นของใช้ราคาเงิน ๓๗๒๓๙ เหรียญ คิดเป็นเงินภาษี ๑๑๑๗-๑-๗-๕-๑

๑๘ รับหนังสือพระยาสุจริต ข้างในถวายว่าด้วยมีบอกลงมาว่าขุนภักดีรักษานายกองส่วยเมืองกำแพงเพ็ชร์ถือหนังสือพระยาศรีขึ้นไป ฉะบับหนึ่งว่าขุนภักดีพาตัว นายคำ นายบุญลงมาทำเรื่องราวร้องทุกข์ว่า นายคำ นายบุญเป็นเลขสมคงเมืองตาก อยู่ในพระยาวิชิตรักษามาเก็บเงินค่าราชการ ระดมคน ๑ ปีละ ๓ ตำลึง ๒ บาทบ้าง ๕ ตำลึงบ้างทุกปี นายคำ นายบุญไม่สมัครอยู่กับพระยาวิชิตรักษา ขอสมัครเป็นไพร่หลวงส่วยเงินอยู่กองขุนภักดีรักษาเมืองกำแพงเพ็ชร์ พระยาศรีว่าไปว่านายคำนายบุญเป็นเลขสมกรมการเมืองตาก ต้องเสียเงินแทนไม้เกณฑ์ตัดส่งเป็นหลวงละ ๑ ตำลึง ๒ บาท พระยาวิชิตเรียกเอาเหลือเกินตัว ไพร่ไม่สมัครอยู่ เห็นว่าเมื่อพระบรมราชาภิเษกแล้วก็ได้โปรดฯให้มีตราออกไปตามที่หัวเมืองซึ่งเสียส่วย ว่าเลขเมืองนี้จะสมัครไปอยู่เมืองโน้น เลขเมืองโน้นจะสมัครมาอยู่เมืองนี้ ก็ให้ผ่อนปรนตามใจไพร่สมัคร จะไม่ได้เป็นที่เดือดร้อน ให้พระยาสุจริตหักให้ไป แล้วให้ขุนภักดีรักษาทำใบรับไว้แก่พระยาวิชิตเป็นสำคัญ แล้วให้บอกลงมาว่าจะได้หักส่วยเมืองตากบวกขึ้นเมืองกำแพงเพ็ชร์ พระยาวิชิตรักษาร้องกับพระยาสุจริต แลกรมการพร้อมกันว่าเมืองตากเป็นเมืองหน้าศึกสำคัญ ราชการตัวเลขต้องเสียเงินค่าไม้เกณฑ์ตัดทุกๆ ปีแล้ว ถ้ามีราชการเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลคร ต้องเกณฑ์เฉลี่ยเงินกับตัวเลขจับช้างเช่าเรือครั้งละ ๒๐-๓๐ ตัว ไพร่ต้องไปส่งอีก ราชการมากกว่าเมืองกำแพงเพ็ชร์ ที่ว่าเก็บราชการเหลือเกณฑ์เอาไปเป็นอาณาประโยชน์ สืบได้ความจริงขอรับพระราชทานให้มีโทษ และที่จะหักให้ตามใจไพร่สมัครนั้น ขอรับพระราชทานงดไว้ด้วยเป็นเมืองด่านราชการมาก เพราะไม่เหมือนกัน จะเป็นช่องคนคงจะระบาดหมด พระยาสุจริตและกรมการเห็นว่า พระยาวิชิตร้องเป็นราชการอยู่ จึงไม่อาจหัก หารือลงมา

วันพฤหัสบดีขึ้น ๖ เดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ ถวาย หนังสือจันภรรยาเจ้าหมื่นสรรเพธที่วิวาทกัน ต่างคนต่างว่าทิ้งหนังสือ

๒ กาพย์จดหมายถวายว่าด้วยเมื่อสิ้นเดือน ๖ ตรวจสิ่งของเครื่องแต่งตัวทหารที่ออกเวนตามบัญชีคลังจ่ายได้บ้างขาดบ้าง นายกำปนีร้องว่าติดตัวทหารที่ป่วยเจ็บไม่ได้เข้าเวนบ้าง หายบ้าง ได้บังคับให้นายติดตามส่งให้ครบใน ๗ วัน ถ้าเกินกำหนดไปเอาของมาส่งไม่ได้ ต้องลงว่าของหาย ของนั้นเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าควรต้องเอาใช้นายกำปนีนายเซกชัน เพราะถ้าไม่ทำดังนั้นต่อไป นายจะไม่เป็นธุระทิ้งให้อันตรายไปต่าง ๆ กับจัดออฟฟิศเซอเป็นกอมมิตตีตรวจคลัง ๔ คน คือนายประจัน ๑ หลวงวิทยา ๑ หม่อมเจ้าโต ๑ นายเจิมสับเลฟเตนแนนต์ ๑ ขอพระราชทานเพิ่มเงินเดือน ๆ ละ ๖ คน ๆ ละ ๑๒ บาท กับว่าว่าด้วยซายันกอปราลที่บิดพลิ้วราชการ เหมือนหนึ่งซายันหม่อมหลวงชื่นกำปนีอินเยอเนีย ๑ ไม่ได้เข้ามารับราชการ ตั้งแต่เดือน ๔ ได้ให้ไปติดตามก็ไม่มา กลับท้าทาย ครั้นจะทำหนักลงก็กลัวจะเป็นวิวาท ขอรับพระราชทานให้นายกำปนีมีอำนาจ จะทิ้งไว้ก็จะเป็นเยี่ยงอย่างกัน อนึ่งนายทิงแอกติงกอปราลกำปนีอินเยอเนียบิดพลิ้วว่าจน ครั้นกวดเข้าให้เข้ามารับเวนก็ลงเรือลอยหนีเสีย ไม่ทราบว่าไปอยู่แห่งใด นายห่วงแอกติงกอปราลกำปนีที่ ๖ เดิมเอาชื่อนายออกมารับเงินเดือนแล้วไม่ไปให้จมื่นสราภัยชำระ โปรดเกล้า ฯ ให้จำไว้ได้ ๑๐ เดือนแล้ว ก็ยังไม่ได้เงินเดือน ขอรับพระราชทานถอดนายทิง นายห่วงเสีย ขอตั้งนายชุ่มบุตรนายกลึงเป็นกอปราลอินเยอเนียแทนนายทิง

๓ มีพระราชหัตถ์ตอบฉะบับหนึ่งว่าด้วยของนั้น ถ้าจะว่าไปนายไม่รู้ไม่เห็นด้วยกับบ่าว มาต้องเสียเปล่า ๆ เป็นที่เดือดร้อนก็ว่าได้ แต่จะบังคับอย่างอื่นไม่ได้ ด้วยนายมีฎีกาเบิกคลัง ต้องเร่งตามฎีกา แต่ครั้งนี้เป็นคราวแรกจะผ่อนให้สักคราวก็ได้ คือของที่หาย ถ้าเป็นเครื่องอาวุธต้องให้นายใช้ เสื้อผ้านั้นยกเสียครั้งหนึ่ง ต่อไปภายหน้าให้ระวัง ถ้าหายจะต้องใช้กอมมิตตีตรวจคลังให้ขึ้นเงินเดือน เวลารับการตามขอ หม่อมหลวงชื่นไม่มาให้ทำเต็มอำนาจ การที่ถอดและตั้งนั้นชอบแล้ว

๔ รับสำเนาหนังสือกงซุลอเมริกัน เจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งมาว่าได้รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่าโปรดเกล้า ฯ ให้มาเฝ้าวันพฤหัสบดี เขาได้ทราบความแต่เจ้าพระยาภาณุวงศ์แต่ก่อนว่า ทรงพระประชวรเป็นหวัดอยู่ เขาจึงได้เชิญพวกพ้องมาดินเนอ ให้มิสเตอร์เดอวิซอนกับภรรยาในวันพฤหัสบดีนี้ เขามีความเสียใจมาไม่ได้ ถ้าไม่ทรงพระรังเกียจแล้ว ขอได้ทรงพระกรุณาโปรด ฯ ให้หมอกาลเบสซอนเข้าเฝ้าสักเวลาหนึ่ง เขาจะได้ทูลเรื่องธุระข้าว

๕ ออกขุนนางไม่มีราชการอะไร เซ็นบาญแผนกวานนี้ รายอากร ๑๐ ราย เซ็นว่าให้ตั้งผู้รับเงินสูงไปทั้ง ๑๐ รายเถิด รายค่าน้ำกรุงเก่า เซ็นว่ารายค่าน้ำกรุงเก่านั้น หลวงโสภณเพ็ชร์รัตนรับประมูลยื่นที่สูงกว่าเงินประมูลทั้งปวงกว่าเงินจะเต็มตามจำนวนเดิมนั้น เป็นการดีอยู่เหมือนช่วยคลัง ซึ่งหลวงวารีจะรับทำตามเงินเดิม แต่จะลดลงตามขาดนั้น เห็นเป็นการหลักลอย มิใช่ภาษีคอเวอนแมนต์ ต้องให้หลวงภิรมย์โกษาทำตามรับประมูลเท่าเงินเดิม รายสมพัตสรนั้นให้ตั้งนายฮิตตัวอากร นายรอดประกัน ให้เจ้าพนักงานตั้งไปทั้ง ๒ รายเถิด

๖ พระราชหัตถ์สำคัญพระราชทานของเจ้าจอมมารดาแช่มบุตรพระยามหาอำมาตย์ ของและความเหมือนกับเจ้าจอมมารดาสุด

วันศุกร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ ทรงตัดสินฎีกาหลายฉะบับ มีเรื่องความพระญาณสมโภชอิ่มวัดมหาธาตุ ให้เสียค่าปรับไหมให้แก่ทหารช้างและข้าในสมเด็จเรื่องความเจ้าอธิการเกษ พระยิ่มโจทก์วัดดาวคนอง นายสุดจำเลยว่าด้วยความขว้างปาวิวาทกัน เรื่องอื่นอีก ๒ เรื่อง

๒ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ทรงฉลองพระองค์ดำ พระภูษาดำ ถุงพระบาทขาว ทรงรถพระที่นั่งไปวัดสระเกศ พระราชทานเพลิงคุณศิลา โปรด ฯ พระยามหามนตรีเป็นผู้จัดการศพ ยืมเมรุพระยาราชภักดี เสด็จประทับพลับพลา โปรดเกล้า ฯ ให้พระองค์เจ้าสวัสดิ์โสภณเข้าไปทอดผ้าไตร ๓ ไตรผ้าขาวพับ องค์ไชยันต์เอาเทียนเข้าไปจุด ทรงพระราชทานฝักแคและโปรด ฯ ให้ทิ้งทานแล้วเสด็จกลับ

๓ ประทับเก๋งวรราชสภาภิรมย์ ทรงหล่อเทียนพรรษา โปรดเกล้า ฯ ให้ขึ้นเทียนไม้วัดเทพศิรินทราวาสเล่ม ๑ รวมเก่าใหม่เป็น ๑๐๕ เล่ม

๔ พระยาภาษทูลด้วยเรื่องบัณฑิตย์สอนสันสกฤตเป็นตกลงกันแล้ว จะรับสอนอย่างมากเพียง ๒๔ คนลงมา จะสอน ๒ เวลา เช้า ๒ โมงจน ๕ โมง บ่าย ๓ โมงจนค่ำหรือจนทุ่มก็ยอม เพราะเวลาบ่าย ๒ โมงซึ่งกะไว้แต่เดิมว่ากลับไปหุงเข้ากินไม่ทัน พระยาภาษจะได้ทำสัญญากันในวัน ๑ สองวันนี้ แล้วทรงเรื่องมิสเตอร์ไปเยอร์จะบวชไม่ทรงเห็นด้วย แต่พูดยาก ครั้นจะไม่ยอมก็ไม่มีข้อจะห้ามปราม ครั้นจะยอมก็เห็นว่าการเสีย ต่อไปภายหน้าจะมีอย่างไรไม่รู้ เพราะกลัวคนทั้งปวงจะว่าหลงเชื่อมันประจบ กลัวเวลามันสึกแล้วจะไปติเตียนพระพุทธศาสนา

๕ ออกขุนนางที่นั้น พระยาศรีถวายร่างตราถึงพระยาเทพประชุน เรื่องที่จะให้ข้าหลวงออกไปตั้งที่ชำระความที่ฝั่งน้ำสลวิน แต่สมเด็จเจ้าพระยาว่าไม่ให้เป็นท้องตรา ให้เป็นหนังสือไปรเวตของสมเด็จกรมพระ แต่ยังไม่ทรงเห็นด้วยที่จะบังคับให้ขึ้นไปตั้งทีเดียว เพราะไม่เห็นประโยชน์อะไร รับสั่งให้รอไว้ก่อน จะปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาเสียอีกสักครั้ง รับสั่งกับพระนรินทรให้เรียนสมเด็จเจ้าพระยาให้เข้ามาเฝ้าก่อนไปเมืองตรังสักเวลาหนึ่ง แล้วเสด็จขึ้น รับสั่งให้หาพระยารองเมืองให้เข้ามาเฝ้าข้างใน รับสั่งถามด้วยเรื่องไปสืบความทิ้งหนังสือและอิฐขว้างบ้านเจ้าหมื่นสรรเพธ พระยารองเมืองทูลว่าไม่รับ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเรื่องราวจันไปกับพระยารองเมือง ๆ เป็นนายอำเภอ ให้สืบเอาคนขว้างบ้านเจ้าหมื่นสรรเพธให้ได้ แต่เรื่องหนังสือทิ้งนั้นไม่ว่ากัน ถือไม่ได้ เมื่อคืนนี้ทรงพระราชนิพนธ์ลิลิตเรื่องอาเรเบียนในนิทานสวิบเบอแอนด์เอกเกน

วันเสาร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ เสด็จไปหล่อเทียนพรรษาที่พระที่นั่งทรงธรรม

๒ ทรงปิดทองพระองค์เจ้าฉายเฉิด จดหมายถวายทูลขอนายต่ายสากยบุติวงศ์ เป็นหลวงญาณภิรมย์

๓ เสด็จลงตำหนักพระองค์เจ้าสุนันทา กรมหมื่นนเรศตามเสด็จด้วยทอดพระเนตรแต่งเรือน

๔ รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ทูลเกล้า ฯ ถวายว่า ด้วยมิสเตอรเอนเยลซึ่งเป็นเจ้าของเตเลโฟน ที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งให้เจ้าหมื่นศรีมาถวายนั้น บัดนี้เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ แล้วมาหาท่านถามว่าตัวอย่างที่ส่งมานั้น ไทยจะเห็นใช้ได้หรือไม่ ตอบว่าโปรดเกล้า ฯ ให้ลองดู ฟังไม่สู้ถนัด เขาการที่ทำเห็นจะไม่สู้จะเรียบร้อย จะขอทำให้ดูได้ลองขึงแต่บ้านท่านไปบ้านพระยามหามนตรีทาง ๔ เส้น ๑๗ วา เขาพูดฟังได้ถนัด แต่ผู้อื่นพูดต้องพูดหลายครั้งจึงจะฟังได้ แต่พูดกับเขา ๆ ตอบมาได้ทุกคำ เห็นจะเป็นด้วยชำนาญ มิสเตอรเอนเยลเป็นชาติเยอรมันอยากจะเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถ้าโปรดเกล้า ฯ ให้เขาลองทำทูลเกล้า ฯ ถวายแต่เมืองสมุทรมากรุงเทพ ฯ ก็ได้ด้วยสายมีอยู่แล้ว

๕ พระวุฒิการนำพระพินิจวินัยกับสมุหกับอันดับองค์ ๑ วัดราชบูรณเข้ามารับของขึ้นกุฏิวัดมหรรณพาราม

๖ พระราชทานความรายพระวัดมหาธาตุ ให้พระวุฒิการไป คำปรึกษาพระนั้นเซ็นว่า ถ้าจะไปอยู่วัดใด เจ้าของวัดรับเป็นประกันที่จะไม่ไปทำการร้ายที่ผิดแก่พุทธจักร แล้วจึงยอมให้อยู่

วันอาทิตย์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ พระนานาถวายจำนวนทองซื้อใหม่ ทองใบยี่ห้อเองเสงหยองเนื้อ ๘ ราคาหนักบาทหนึ่ง ๑๘ บาท ๑ สลึง ๒ ไพ ทอง ๔ หีบ ๆ หนึ่งหนัก ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๑ บาท ๓ สลึง ๑ เฟื้อง ๖ ไพ หีบหนึ่งหนัก ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๓ บาท ๓ สลึง ๑ เฟื้อง หีบหนึ่งหนัก ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๓ บาท หีบหนึ่งหนัก ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๒ บาท ๓ สลึง ๖ ไพ รวมหนัก ๖ ชั่ง ๒ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง ๔ ไพ รวมเป็นเงิน ๑๑๒ ชั่ง ๑๑ ตำลึง ๑ เฟื้อง พนักงานชั่งได้เท่าหนักเดิม พระราชทานหนังสือสำคัญใช้เงินไปแล้ว

๒ มีพระราชหัตถ์ตอบเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฉะบับหนึ่งว่าทางปากน้ำไม่ลำบากสิ่งใด ลองติดดูใช้ได้ก็เป็นการดี แต่พระราชพระสงฆ์อยากจะมีตั้งแต่บางกอกไปบางปอินบ้าง ดูเหมือนอาลบาศเตอรได้ถามเมซันไปแล้ว การที่จะลองนี้ให้ท่านกำหนดวัน จะทำวันใด ก็ให้เขาไปจัดการที่ออฟฟิศโทรเลขทั้งสองแห่งเถิด

๓ มิสเตอรอาลบาศเตอรเฝ้าถวายหนังสือ ว่าด้วยโปรดเกล้า ฯ ให้ส่งทุ่นสำหรับจะได้กอดริมหินที่ได้พบเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินทั่วชายทะเลฝั่งตะวันออก แกได้ปรึกษาเมซัน เมซันได้ปรึกษาคนพนักงานของคอเวอนแมนต์อังกฤษแล้ว ได้รับแบบทุ่นเข้ามา เสาบิกอนสำหรับปักบนหินที่บนใต้น้ำกับเครื่องมือสำหรับเจาะหินต่อเสาราคาประมาณ ๑๔๐ ปอนด์ กับทุ่นที่ส่งแบบมาเป็นสองชั้น แม้นเรือโดนทะลุ ชั้นในยังดีอยู่พร้อมด้วยโซ่และสมออันละ ๓๖๕ ปอนด์ ถ้ามีระฆังด้วยเติมเงินอีก ๓๐ ปอนด์ แกขอสั่งเสาบิกอน ๓ เสา ปักกองหินอ้ายหลอบ ๑ กอง หินอาลบาศเตอรอก ๑ กองหินอ้ายหลาว ๑ ถ้าปักแล้วเมื่อโปรดจะขอสั่งภายหลังอีกทุ่นนั้นจะขอสั่งทั้งระฆังด้วย ๗ ทุ่น ไว้ที่กองหินเหนือเกาะสีชัง ๑ ที่กองหินช่องเกาะล้าน ๑ ที่กองหินช่องเสม็ด ๑ ที่กองหินอ้ายแจ่ ๑ นอกกองหินอ้ายหลาว ๑ ที่กองหินอาลอมปรา ๑ เก็บไว้เผื่อทุ่น ๑ ส่งแบบถวายด้วย

๔ พระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ด้วยเรื่องมิสเตอรอาลบาศเตอรถวายแบบทุ่น ขอให้ช่วยเป็นธุระตั้งแซงชั่นเบิกเงินให้ได้ส่งมาทันใช้ปีนี้

๕ พระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ ว่าด้วยมิสเตอรอาลบาสเตอรนำแบบทุ่นมาถวาย จะสั่งใช้ตามชายทะเลตะวันออก เห็นแบบทุ่นขนาดย่อมที่จะใช้ตามปากอ่าวได้มีอยู่ที่ปากน้ำบางปกง เดิมกัปตันลอบตัดได้ไปตรวจหยั่งน้ำทำแผนที่ กำหนดที่วางทุ่นมาครั้งหนึ่งแล้ว จะเป็นกี่แห่งจำไม่ได้ ถ้าหุ่นขนาดย่อมนี้ใช้ได้พอสมควร ก็อยากจะสั่งออกไปเสียให้พร้อมกัน เห็นว่า ถ้าทำขึ้นไว้ก็จะเป็นการที่เราได้ทำนุบำรงการค้าขายอยู่ ขอให้ท่านเรียกแบบที่มิสเตอรอาลบาสเตอรไปดู แล้วให้ผู้ใดผู้หนึ่งปรึกษากัปตันลอบตัดดู ทุ่นขนาดนั้นจะควรใช้ได้หรือไม่ และจะใช้มากน้อยเท่าใดจะได้ให้สั่งออกไปเสียพร้อมกันได้มาทันลงมือในปีนี้

๖ พระวรภัณฑ์พลากรถวายเรื่องราวกล่าวโทษพระองค์เจ้ากาพย์กระนกรัตนผู้รับพระบรมราชโองการ ด้วยเอาของในคลังไม่เป็นเวลา และเอาของไปแล้วไม่ทำฎีกาใช้ และของคลังซึ่งมีอยู่เรียกมาเลหลัง ขอทำบัญชีก็ไม่ยอม เร่งขนเอาเอง เหลือกำลังเจ้าพนักงานเลหลังได้ก็ไม่ส่งเงินกับข้อความที่ผิดพระราชบัญญัติต่าง ๆ รับสั่งว่าจะถามดูก่อน

๗ กรมหมื่นอดิศรถวายรูปบางปอิน ๕ แผ่น เป็นรูปพระที่นั่ง และตำหนักสมเด็จพระองค์น้อย และเรือไฟของท่านแล้วถวายริโปดชำระความทหารล้อมพระราชวัง จับคนเดือน ๖ รวม ๔ เรื่อง แล้ว ๒ ยัง ๒

๘ พระราชทานเงินเจ้าหมื่นสรรเพธทำตำหนักพระองค์เจ้าสุนันทา ๑๕ ชั่ง แต่ลงไปสั่งว่าทำเรือนในวัง

๙ ออกขุนนาง พระยาศรีอ่านบอกเมืองตากเรื่องความพะม่าให้ตัดสินนั้น บัดนี้ลงมากรุงเทพ ฯ ทั้งโจทก์จำเลย บอกพระยาเทพ ๒ ฉะบับ ว่าด้วยได้ข่าวผู้ร้าย ปล้นในเขตต์แดนอังกฤษ รายหนึ่งฆ่าโปลิศตาย ๒ คน ผู้ร้ายนั้นเป็น ๔ พวก ยางแดง ๑ กะเหรี่ยง ๑ พะม่า ๑ ลาว ๑ พระยาเทพได้ข่าว ได้จัดคนออกสืบอยู่ อีกฉะบับหนึ่งว่าด้วยเจ้าเมืองเชียงตุงมีหนังสือมายังเจ้าเมืองเชียงใหม่ ว่าด้วยตัวได้เป็นเจ้าเมืองเชียงตุง กับเมืองพนมศกบอกด้วยนักองค์วัดถาหนีมาทางบ้านไซมังแล้วออกบวช ส่งต้นหนังสือเมืองมโนไพรเข้ามา ว่าด้วยพระยาเดโชออกญาเสนาราชอุเชนทร ว่าด้วยเจ้าเมืองกระพงสวายมีหนังสือมายังเมืองมโนไพรจะขอคนซึ่งเป็นพวกวัดถาแตก หรือพวกนโรดมหนีทัพเข้ามาจำไม่ได้ อยู่เมืองมโนไพรกลับคืนไป รับสั่งว่าจะต้องทำตามหนังสือสัญญา ให้สมเด็จกรมพระมีไปที่กงซุลฝรั่งเศส

๑๐ พระศรีกาฬสมุทถวายหนังสือขัดข้องเจ้าพระยามหินทร ว่าด้วยขุนยศเสเสาวราชสมุหบัญชีกรมวัง มาบอกให้ไปเกาะทาสพระยาบำเรอภักดิ์เป็นจำนำ เร่งเงินค่าราชการที่ค้าง ๕ จำนวนเงิน ๒๒ ชั่ง ๕ ตำลึง ๓ บาท เกาะได้ตัวอีอิ่ม อีแป้น สองคนมาแล้ว อีอิ่ม อีแป้น ไว้ความให้นายเอี่ยมฟ้อง ส่งเงินค่าตัวพระเกษม มีหมายมาให้ส่งตัวไปว่าความ ถ้ากรมสัสดีรังเกียจว่าจะเอาไว้เป็นจำนำ ก็ให้อายัดเงินค่าตัวกับตัวไว้แก่ตระลาการ แกจึงได้ให้ขุนปราบไป ครั้นอายัดพระเกษมว่าต้องพร้อมกันกับโจทก์จำเลยก่อน ตัวแกเห็นว่า เจ้าจะอายัดก็จะเป็นที่เดือดร้อนแก่ตัวราษฎรแล้วไม่ใช่ทาสพระยาบำเรอภักดิ์ ด้วยเป็นทาสของบุตร ครั้นจะส่งตัวไป ขุนยศก็จะร้องว่าส่งจำนำแล้ว

๑๑ ความเหมือนกันมีพระราชหัตถ์สำคัญพระราชทานเจ้าจอมมารดาย้อย ความเหมือนเจ้าจอมมารดาแช่ม ของเหมือนกัน

วันจันทร์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ สมเด็จเจ้าพระยามาเฝ้าทรงเรื่องที่จะมีหนังสือถึงพระยาเทพ สั่งเรื่องมิสนอกซ์ว่ามาด้วยจะให้ตั้งข้าหลวงที่ฝั่งน้ำยองสลิน รับสั่งว่าไม่เห็นมีประโยชน์อะไรสักอย่าง ๑ ท่านก็เห็นด้วย แต่ว่าเขาว่ามานี้ก็เป็นพูดทิ้งเสีย การที่จะตั้งกงซุลก็เห็นจะไม่ตั้งเป็นแน่ ด้วยแต่ก่อนเซอรอเบิดแซมเบอรก็คิดมาก แต่ไม่มีคนเป็น ครั้งนี้ก็ไม่มีตัวเหมือนกัน จึงพูดเอาเหตุเปล่า ๆ ถ้าเราทำการอย่างไรต่อไป ที่เป็นที่ขัดขวางมีเหตุที่เขาพูดได้ก็คงจะว่า ๆ ได้พูดเตือนสติแล้วไทยก็ไม่จัดการ จึงได้มีหนังสือบังคับเสียทีเดียว พระยาเทพคงจะมีตอบลงมา จึงไม่ให้เป็นท้องตราให้เป็นหนังสือสมเด็จกรมพระ เมื่อพระยาเทพตอบลงมาแล้วก็นิ่งเสีย เมื่อเขาจะว่ากล่าวประการใด เราจะได้ว่าจัดแล้วเห็นว่าไม่ตลอดไปได้ แล้วท่านทูลด้วยเรื่องมหาดไทยไม่ปรองดองกันต่างคนถือการของตัว ฝ่ายพระยาจ่าแสนยถือการของตัวว่าเป็นส่วนเมืองเขมร พระยาศรีเป็นส่วนเมืองลาวไม่ปรองดองกัน ถ้าเป็นไปดังนี้เห็นจะไม่เป็นการ ด้วยกรมใหญ่ขอได้ทรงจัดการเสียให้เรียบร้อย ด้วยให้สมเด็จกรมพระว่าการแล้วก็ต้องให้มีอำนาจได้จริง ๆ ขอให้ทรงช่วยประคับประคองได้มีอำนาจให้ได้ ด้วยการหัวเมืองท่านไม่สู้จะเข้าใจ ไม่เคยบังคับ แต่ในฝ่าลอองธุลีพระบาทถึงทรงพระเยาว์ก็จริง แต่ทรงได้ยินได้ฟังมากได้ทรงช่วยมาก ให้จัดการรวมเสียเป็นที่แห่งเดียว ตั้งออฟฟิศขึ้นให้ได้ หาไม่คน ๒ คนมันจะมาหลอกสมเด็จท่าน ท่านได้ขนาบสั่งสอนพระยาจ่าแสนยให้เกรงกลัวสมเด็จไว้มากแล้ว ทรงตอบว่าสมเด็จท่านก็บ่นอยู่ว่าจะจัดการตั้งออฟฟิศ ก็กลัวคนจะว่าตื่นเต้น ท่านตอบว่าจะไปกลัวทำไมให้ทำแล้วก็ต้องจัดการจนเต็มอำนาจ แล้วทรงด้วยเรื่องวัดถาถ้าได้ตัวมาฝรั่งเศสขอจะยอมส่ง หรือตกลงกันไม่ยอมส่งกับเรื่องคนซึ่งหนีเข้ามานั้นคิดจะเอาไว้ เพราะเป็นคนพวกวัดถาหนีร้อนมาพึ่งเย็น จะมีหนังสือไปกงซุลฝรั่งเศสว่าด้วยกลัวจะเอาไปทำโทษ แล้วกราบถวายบังคมลาไปเมืองตรังพร้อมด้วยพระยาประภา นายสรรพวิไชย นายไชยขรรค์ พระราชทานปืนสมเด็จเจ้าพระยาบอกหนึ่ง

๒ พระชลธารเฝ้าถวายแผนที่ และริโปดที่ราษฎรทำเรื่องราวยื่นขอขุดคลอง ๒ ตำบล ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไปทำแผนที่ ไปตรวจแล้วเข้ามาถวายแห่งหนึ่งขอขุดคลองนาที่หลัก ๔๐๐ กับ ๓๕ เส้น ในลำคลองเปรมประชากรแขวงเมืองนนท์ เป็นคลองยาวเข้าไปถึงดอนใหญ่เป็นทาง ๔๐๐ เส้น พระชลธารข้าหลวงกับกรมนากรมการ ได้ปักเรียงชื่อราษฎรลง ๒ ฟาก ทางครุยครบตามชื่อที่ขอ แล้วราษฎรทราบพากันมาลงชื่ออีกมาก นายคงหัวหน้าจะขอให้ขุดกว้าง ๓ วา ลึก ๓ ศอก ขอที่นายื่นขึ้นไปฝั่งละ ๒๕ เส้น ได้ที่นาขึ้นอีก ๑๔๒๕๐ ไร่

อีกฉะบับหนึ่งนายจันหัวหน้าราษฎรขอขุดคลองสวน ตั้งแต่ปลายคลองอัมพวาแขวงเมืองสมุทรสงคราม ผ่ากลางสวนดีสวนร้างบ้าง ตลอดขึ้นมาถึงคลองดำเนินสะดวกตรงคลองกลางสวนหลวงข้ามแขวงราชบุรี รวมเป็นทาง ๒๖๐ เส้น ขอขุดกว้าง ๔ วา ลึก ๓ ศอก แต่ที่สวนร้างบางแห่ง เพราะน้ำเค็มขึ้นมาถึง ขอรับพระราชทานให้ปิดทำนบปากคลองท่าคา และคลองลึก

กับถวายเรื่องราวราษฎรขอขุดคลองอีกฉะบับหนึ่ง ลงชื่อมา ๑๗๗ ชื่อ ว่าจะขอขุดตั้งแต่ตำบลศีร์ษะคู้ในลำคลองแสนแสบ ฝั่งใต้แขวงกรุงเทพ ฯ ตรงออกไปกลางทุ่งร้างจนตลอดถึงปลายคลองศีร์ษะจรเข้ ขอขุดกว้าง ๔ วา ลึก ๓ ศอกเป็นคลองหน้า

๓ เซ็นท้ายขัดข้องเจ้าพระยามหินทรเมื่อวานนี้ไปว่า เห็นว่าอีอิ่ม อีแป้นไม่ได้เป็นทาสพระยาบำเรอภักดิ์ ขุนยศเสเสาวราชนำเกาะผิดตัวทาส พระยาบำเรอภักดิ์เจ้าพนักงานเอาตัวอีอิ่ม อีแป้นไว้ ร้อนขึ้นจึงได้ส่งคืน เพราะพระยาบำเรอภักดิ์หาได้ไปวางเงินไม่ จึงไม่มีความร้อนรนด้วยอีทาส ๒ คน ซึ่งเจ้าพระยามหินทรเห็นว่าจะไปอายัดตัวอีทาส ๒ คนและเงินค่าตัวไว้ ก็ไม่ยุตติธรรมด้วยตัวทาสและเงินก็มิใช่ของพระยาบำเรอภักดิ์นั้นชอบแล้ว ชอบที่ให้ขุนยศเสนาเกาะทาสพระยาบำเรอภักดิ์จริง ๆ ให้ได้แล้ว ส่งตัวอีอิ่มอีแป้น ให้ศาลร้องทุกข์ไป มีพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จกรมพระ ว่าด้วยสมเด็จเจ้าพระยามาฟ้องพระยาศรี พระจ่าแสนยให้ท่านเรียกตัวมาว่ากล่าวเสียอย่าให้วุ่น

วันอังคารขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ พระยารัตนโกษาถวายบาญแผนกบ่อนเบี้ยกรุงเทพฯ เซ็นสมเด็จกรมพระ จาตุรนต์ หลุย พระยาอุไทยธรรม พระยารัตนโกษา พระราชธน ตำบลริมโรงหวยจีนหะสูน คนเก่าส่งคืน จีนเต็กตัวอากร จีนแดงประกัน คนใหม่ทำเดิม ๒๖๐ ชั่ง ประมูล ๑ ชั่ง รวม ๒๖๑ ชั่ง ตำบลบ้านหมอจีนเสียบ คนเก่าส่งคืน จีนแย้มตัวอากร จีนโอจิวประกัน คนใหม่ทำเดิม ๒๘๕ ชั่ง ขาด ๔๖ ชั่ง คง ๒๓๙ ชั่ง ตำบลท่าเตียน จีนโอจิวตัวอากร จีนโห้วประกัน คนเก่าทำเดิม ๑๘๗ ชั่ง บวกขึ้น ๑๓ ชั่ง รวม ๒๐๐ ชั่ง ตำบลหน้าเก๋งจีนกูฮี้ คนเก่าส่งคืน จินตี๋ตัวอากร จีนฟุ้งประกัน คนใหม่ทำเดิม ๑๔๗ ชั่ง ขาด ๒๒ ชั่ง คง ๑๒๕ ชั่ง ตำบลคอกโค จีนเชียงหุนคนเก่าส่งคืน จีนหุนตัวอากร จีนตงกวยประกัน คนใหม่ทำเดิม ๑๐๐ ชั่ง ขาด ๑๓ ชั่ง คง ๘๗ ชั่ง รวมบ่อนเบี้ย ๕ ตำบล เงินเดิม ๙๗๙ ชั่ง ขาด ๘๑ ชั่ง คง ๘๙๘ ชั่ง ประมูลบวกขึ้น ๑๔ ชั่ง รวม ๙๑๒ ชั่งนั้นหักเงินขึ้นใช้ขาดแล้ว คงขาด ๖๗ ชั่ง เซ็นพระราชหัตถ์ให้ตั้งผู้รับเงินสูงไปเถิดทั้ง ๕ ตำบล

๒ รับหนังสือ เจ้าพระยาสุรวงศ์ฉะบับเล็กว่าสมเด็จเจ้าพระยากราบถวายบังคมลาไปราชการครั้งนี้ ท่านไม่สู้สบาย แต่ท่านว่า ถ้าไปกลางทางไม่สู้สบายจะกลับมา ถ้าหายจะไปให้เสด็จราชการ ท่านขอรับพระราชทานกราบถวายบังคมลาไปส่งสมเด็จเจ้าพระยา ถ้าไม่สู้สบายจะไปให้ไกล ถ้าสบายหายแล้วจะรีบกลับมาโดยเร็ว

๓ มีพระราชหัตถ์ตอบฉะบับหนึ่ง ยอมอนญาตให้ไป

๔ องค์มนุษถวายรายรวมความในริโปดทุก ๆ กรม จำนวนเดือน ๖ ทรงเซ็นฎีกาฉะบับหนึ่ง กรมต่าง ๆ อีกฉะบับหนึ่ง

๕ รับหนังสือกงซุลเยอรมัน ว่าด้วยมีผู้ยิง เอมเปอเรอ อีกคราวนี้ ถูกเจ็บที่พระเศียรพระกร พระขนองเป็นลูกปลายขนาดยิงเปิดผ่าออกได้ ๓๐ กระสุน แต่ไม่เป็นอันตรายผู้ที่ทำผิดนั้น พวกโซเชียลิสต์ เมื่อยิงแล้ว มันจะฆ่าตัวมันเสีย แต่จับได้เสียก่อนตัดหนังสือพิมพ์เตลิกราฟมาให้ด้วย

๖ มีพระราชหัตถ์ตอบไปฉะบับหนึ่ง ว่าทรงมีความพิศวงเป็นอันมากการเรื่องนี้ ได้ตรัสกับกงซุลแต่ก่อนว่าเป็นที่น่ากลัวที่เจ้าแผ่นดินในประเทศยุโรป ไม่ได้รักษาพระองค์มาก แต่ท่านว่าเพราะทรงไว้พระทัยในท่านผู้ปกครองโลก แต่ก็เห็นจะจริง ที่ถูกเล็กน้อยนี้เพราะสิ่งเป็นประทานปกครองอยู่แล้ว ประทานพรไปในพระเจ้าเอมเปอเรอ

๗ ออกขุนนาง พระยาศรีอ่านบอกเมืองนครนายกฉะบับหนึ่ง ส่งศิลาที่เกณฑ์ออกไปเข้ามาแล้ว ทูลว่าศิลานั้นสมเด็จกรมพระสั่งให้ส่งที่ขุนประดิษฐศิลา กับบอกเมืองเสียมราชมีเข้ามาฉะบับหนึ่ง ว่าด้วยส่งอ้ายเก็บซึ่งจับได้ตามที่มีตราไปยังเลอเรเปรยันตังแล้ว แล้วหลวงเสนีพิทักษ์อ่านตราตอบพระยาประทุมเทวา ว่าด้วยส่งหนังสือท้าวขันตีเข้ามา แต่ต้นหนังสือญวนมีมาที่เมืองหลวงพระบาง ที่ท้าวขันตีขอดินและกระสุนให้จ่ายขึ้นไปให้กับเสบียงนั้น บอกให้ราษฎรขึ้นไปจำหน่ายทางนั้น ๆ กับหนังสือญวนที่มีมาว่าคิดถึงพระเดชพระคุณ ที่ปล่อยขุนนางญวน ๒ คนที่จับได้เมื่อคราวตีทัพฮ่อให้เรือลูกค้าไปนั้น ว่าจะคุมเครื่องบรรณาการมาถวายจะให้เข้ามาทางใด ได้ตอบไปว่าให้มาทางเรือจะไม่ได้เป็นการลำบากกับเมื่อให้คน ๒ คนไปนั้น ยังค้างปืนทองเหลืออยู่ ๖ กระบอก กับคนลาวพวนอีก ๔ คน ยังไม่ได้ส่งไป เพราะเห็นว่าขุนนาง ๒ คนที่ไปนั้น เป็นแต่อาศัยเรือลูกค้า ถ้าเอาบรรณาการไปแล้ว จะได้มารับไปเสียด้วย หนังสือนี้เป็นหนังสือของเมืองพระบางตอบไป ส่งร่างนี้ขึ้นไปด้วย แล้วพระยาศรีถวายร่างหนังสือมีไปเชียงใหม่

๘ พระยาจ่าแสนยถวายหนังสือไปรเวต พระยาคทาธรตอบหนังสือไปรเวตที่มีไป ซึ่งว่าด้วยนักองค์วัดถา ที่ว่าไปว่าพอที่จะบัดเป่าไม่ให้เข้ามาในเขตต์แดนได้เป็นดีนั้น ตอบมาว่าหนังสือที่มีไปนั้นทราบแล้ว ราชการเรื่องนี้พระยาคทาธรทราบการตลอด ถ้าไม่เข้ามาในเขตต์แดน จะทำตามหนังสือไปรเวต ถ้าเข้ามาจะต้องทำตามท้องตรา

๙ พระนรินทรถวายหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ ว่าด้วยเมื่อไปเปิดคลองทวีวัฒนานั้น ท่านได้พิเคราะห์ข้างฝั่งเหนือคลองมหาสวัสดิ์ ฝ่ายตะวันออกทางคลองบางกอกน้อย ฝั่งตะวันตกมีทิวต้นหมากมะพร้าว ฝ่ายตะวันตกทางลำแม่น้ำนครชัยศรี ฝั่งตะออกมีทิวไผ่ต้นไม้ต่างๆ ระหว่างกลางเป็นทุ่งกว้าง ท่านถามราษฎรได้ความว่าทุ่งนาฝ่ายตะวันออกนั้น ทิวต้นหมากมะพร้าว ออกไปประมาณ ๕๐-๕๐ เส้น ฝ่ายตะวันตกมีทุ่งนา พ้นทิวไม้ออกมามากบ้างน้อยบ้าง ระหว่างกลางเป็นทุ่งหามีนาไม่ ตามลำคลองโยงเก่าตื้นแห้งเรือเดินไม่ได้ ท่านคิดเห็นว่าฝั่งเหนือคลองมหาสวัสดิ์ตรงปากคลองทวีวัฒนาข้าม ถ้าขุดเป็นลำคลองไปออกลำน้ำเมืองนครชัยศรีแห่งหนึ่งแห่งใดได้ น้ำจืดในลำแม่น้ำสุพรรณก็จะไหลเข้าคลองขุดใหม่ ออกคลองมหาสวัสดิ์เข้าคลองทวีวัฒนา ถึงคลองภาษีเจริญก็จะได้รับพระราชทานน้ำจิตทั่วกัน ลำคลองมหาสวัสดิ์ภาษีเจริญน้ำไหลแรง มูลดินก็จะไม่นอน คลองอยู่ได้คงจะลึก ท่านจึงได้ปรึกษาเจ้าพระยาภาณุวงศ์ เห็นว่าขุดเป็นลำคลองขึ้นได้เป็นการดี ท่านจึงได้ขอตราไปให้พระยานครชัยศรีกรมการนำกัปตันริติลิวตรวจทำริโปดลำน้ำเมืองนครชัยศรี และท้องทุ่งตั้งแต่ฝั่งเหนือคลองมหาสวัสดิ์ ไปออกตำบลบ้านลำพระยา เป็นระยะทางประมาณ ๕๕๐ เส้น ถ้าขุดเป็นคลองขึ้น จะเกิดที่นาเป็นประโยชน์แผ่นดินมาก ประมาณเงินค่าจ้าง ๕๓๓ ชั่งเศษ ถวายริโปดกับแผนที่กัปตันริติลิวตรวจมาด้วย

๑๐ พระศรีกาฬสมุดถวายหนังสือเจ้าพระยามหินทร ว่าด้วยขุนนานารถสมุหบัญชีกรมนาทำเรื่องราวยื่นกล่าวโทษนายนุดอาหารว่านายนุดยกเอาเลขสมมาจากวังหน้า มาให้ขุนนานารถนำสักเป็นไพร่หลวง กองนา ส่วยข้าวต้น ช่างตีสี ๘๘ คน กับหมู่ขึ้น ๑๗ คน รวม ๑๐๕ คน กับนายนุดให้ขุนนานารถทำหางว่าวรับหนังสือพิมพ์คุ้มสักขุนหมื่นตัดขึ้น ๑๒๐ ฉะบับ ได้ให้พระศรีกาฬสมุด ขุนวิเศษเสนีเป็นตระลาการชำระ ได้ตัวนายนุดมาถามให้การรับถูกต้องแล้ว ตระลาการบังคับให้นายนุดส่งตัวสั่งได้เลข ๑๔ ขุนหมื่น ๙ รวม ๒๓ กับขุนนานารถโจทก์ ยื่นหางว่าวว่ารับตัวเลขขุนหมื่นไว้แล้ว ไพร่หลวง ๓๖ ขุนหมื่น ๕๓ รวม ๓๙ กับพระยาอาหารยื่นหางว่าวว่าตัวเลขเข้าหาเป็นไพร่หลวง ๑๓ ขุนหมื่น ๓ รวม ๑๖ ยังค้างอยู่กับนายนุด ไพร่หลวง ๒๘ ขุนหมื่น ๓๑ รวม ๕๙ คน ตระลาการเกาะนายนุด นายนุดทำเรื่องราวร้องทุกข์ขัดข้องว่าตัวต้องเป็นโทษถูกริบราชบาทว์ตัวเลขระบาด เหลือกำลังเป็นการขัดข้องดังนี้จึงได้นำขึ้นกราบบังคมทูลถวายคำหาให้การ เรื่องราวนายนุดมาด้วย

๑๑ ทรงกริ้วพระยาจ่าแสนย พระยาศรี ด้วยไม่ปรองดองกันต่อไปอย่าให้เป็น ให้ฟังบังคับสมเด็จกรมพระ ถ้าต่อไปขืนเป็นอีกจะเอาโทษ

๑๒ พระเทพรจนาถวายเรื่องราวกล่าวโทษเจ้าพระยามหินทรว่าด้วยเดิมที่บ้านตัวอยู่วัดระฆัง ทูลกระหม่อมจะต้องพระราชประสงค์เป็นอู่หลวง จึงถวายเรื่องราวขอที่สวนหลวง โปรดพระราชทานให้ได้อยู่มาจนปัจจุบันนี้ ครั้นปีจอฉศก เจ้าพระยามหินทรทูลขอซื้อที่บ้านที่ตัวอยู่ อำเภอไปวัดที่ปักให้เจ้าพระยามหินทรขนัดหนึ่ง เงินตัวก็ไม่ได้ยังเหลืออีกขนัดหนึ่ง เมื่อปีฉลู เจ้าพระยามหินทรไปขอซื้อว่าไม่ให้ จะกราบบังคมทูลพระกรุณา ตัวกลัวจึงได้ขายให้วาละบาทแล้วก็ยังไม่ได้เงิน หลวงภักดีชุมพลกลับให้จีนฟื้นต้นไม้ขุดคลองเข้าไปในที่ของตัว ได้ความเดือดร้อนนัก โปรดเกล้า ฯ เซ็นท้ายเรื่องราวให้นายจ่ายงไปถามเจ้าพระยามหินทร ได้ความประการใดให้มาทูล

วันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ รับคำโทรเลขเวลาเช้า ๓ โมงว่าวังหน้าลงไปที่ป้อมเสือซ่อนเล็บ กับว่าเรือบันยงเสงเข้ามาอีกฉะบับหนึ่ง เวลาบ่าย ๓ โมงว่าสมเด็จเจ้าพระยาไปที่พลับพลาวังหน้า แล้ววังหน้ามาที่เรือนสมเด็จเจ้าพระยาอยู่ ๑๕ มินิตกลับ เวลาบ่าย ๒ โมง ๕๕ เรือเขจรสมเด็จเจ้าพระยาไป เรือประภาศอุดรสยามพระยาประภาไปออกจากเมืองสมุทร

๒ เมื่อเวลาออกขุนนางจ่ายงถวายหนังสือเจ้าพระยามหินทรและต้นเรื่องราวหนังสือเจ้าพระยามหินทรว่าเดิมเห็นที่สวนกาแฟของหลวงว่างเปล่าอยู่ จึงได้ทำเรื่องทูลขอซื้อโปรดเกล้า ฯ ให้พระยารองเมืองไปปักที่ให้ได้กว้าง ๒-๒-๐ เส้น ยาว ๒-๒-๐ คิดวาละบาท พระยารองเมืองได้นำเงินส่งหอรัษฎา ๆ ทำหนังสือขายให้แจ้งอยู่แล้ว แกทำยุ้งข้าวขึ้นไว้ ภายหลังมีผู้มาบอกว่าพระเทพจะเอาที่สวนกาแฟที่พระเทพอยู่ไปเที่ยวบอกขาย แต่เห็นว่าถ้าผู้อื่นมาอยู่ใกล้กลัวจะเป็นรังไฟใกล้ยุ้งข้าว จึงให้หลวงภักดีชุมพลไปขอซื้อ พระเทพก็จะขายให้ตามราคาซื้อที่หลวง แล้วก็พากันมาหาเจ้าพระยามหินทร ที่บ้านเจ้าพระยามหินทร จึงได้เรียกพระราชหัตถ์พระราชทานก็ไม่ได้ ภายหลังหลวงกาลมัยพิจิตรผู้ที่พระเทพมาร้องว่าที่รายนี้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้ช่าง ๑๐ หมู่อยู่ ถ้าพระเทพจะขายจะขอแบ่งเงินเอาครึ่งหนึ่ง พระเทพไม่ยอม การก็ยังไม่ตกลงกันแกคิดเห็นว่าที่นี่ไม่พระราชทานเป็นสิทธิ์กับพระเทพ ๆ จึงไม่ได้พระราชหัตถ์เป็นสำคัญ ถึงจะมีโฉนดข้าหลวง ๘ นายให้ไว้ จะฟังเอาเป็นจริงไม่ได้ ด้วยที่หลวงไม่มีใครรักษา ผู้ใดอยู่ในที่นั้นนำข้าหลวงรังวัด ข้าหลวงก็ทำโฉนดให้ เพราะไม่มีใครมาร้องขึ้นว่าที่หลวงซึ่งพระเทพจะเบียดบังเอาเป็นของตนดังนี้ไม่ชอบ จึงไม่กล้าซื้อที่รายนี้ด้วยกลัวจะไม่เป็นสิทธิ์ เพราะได้ทราบว่ามีผู้อาศัยแล้วบังซื้อบังขายเป็นหลายราย ภายหลังพระเทพมาเตือนแก จึงให้หลวงภักดีชุมพลเอาเงิน ๑๐ ชั่งไปให้พระยารองเมืองๆ ก็ไม่ยอมไปวัดให้ แล้วว่าถ้าจะขายก็ต้องเอาเงินเข้าคลังเหมือนครั้งก่อนจึงจะวัดได้ ด้วยไม่มีสิ่งใดเป็นสำคัญคู่มือพระเทพ การจึงค้างมา ซึ่งพระเทพว่าขุดคูเข้าไปก็เป็นคูเก่าสูญใต้ ที่ได้พูดกับพระเทพตกลงแล้ว จึงได้ขุดแกล้งหาเปล่า ๆ ที่รายนี้จะโปรดเกล้า ฯ ประการใดจะขอพระราชทานซื้อไว้ไม่อยากให้มีรังไฟใกล้ยุ้ง ถวายตั๋วรับเงินหอรัษฎามาด้วยแล้วพระราชทานคืนไป กับมีหนังสือไปรเวตติดมาด้วยฉะบับหนึ่ง ว่าที่พระเทพร้องนั้นเห็นจะประสงค์อยากได้เงิน จึงแกล้งกล่าวโทษ กับว่าที่หลวงมีมาก ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ โปรดฯให้ทำสวนกาแฟและผลไม้ต่างๆเป็นพระธุระอยู่ จึงมีผู้รักษาต่อมาแผ่นดินทูลกระหม่อมไม่โปรด ฯ จึงไม่เป็นพระธุระ ต้นไม้ก็สาบสูญไป ที่ทิ้งร้างอยู่กี่มีคนมาอาศัย นายก็พากันซื้อกันขายสูญไป ถ้าโปรดเกล้า ฯ ให้มีผู้ไต่สวน ที่ควรพระราชทานก็พระราชทาน ควรขายก็จะได้ขายตามพิกัดหลวง สวนลุ่มวาละ ๑ บาท สวนดอนวาละ ๒ สลึง ก็จะได้เงินเข้าคลังอยู่

๓ รับสำเนาหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งมาสามฉะบับ ฉะบับหนึ่งหนังสือแครฮานบอกด้วยการเปิดเอกษหิบิเชนฝรั่งเศส วันที่ ๑ เดือนเม ๑๘๗๘ ตรงกับวันพุธแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ว่าตัวป่วยไปไม่ได้ให้ลูกไปแทน แมกมาฮอนเดินหน้าแล้วจึงถึงเจ้านายต่างประเทศ กับว่าแล้วจะส่งรูปเขียนมา เงินที่ใช้ไม่มากกว่าปี ๑๘๖๗ ได้กู้เงินแบงก์ใช้ไป ๓๕,๐๐๐ แฟรง คิดเป็น ๗ พันเหรียญ ขอให้ส่งเงินล่วงหน้าไปบ้าง เพราะครั้งก่อนได้ส่งเงินล่วงหน้าไปครั้งแรก ๔,๘๐๐ เหรียญ แล้วอีก ๒,๐๐๐ เหรียญ มีมาวันที่ ๒ เมล์แล้วท้ายหนังสือมีว่ามิสเตอรว่าการต่างประเทศเมืองฝรั่งเศส ได้รับหนังสือตอบกงซุลฝรั่งเศสในกรุงเทพ ฯ ตอบค่าธรรมเนียมที่ขายสุราในกรุงเทพ ฯ ไม่สู้ช้าคงจะได้รับตอบฝรั่งเศส หนังสือเมซั่นการที่ยุโรปดูจะเป็นอุบายมากขึ้น ปรินซ์บิศมาคได้ขอให้กองทัพรุสเซียกับเรือรบอังกฤษถอยออกไป เพื่อจะได้ประชุมปรึกษากัน แต่คนทั้งปวงเห็นว่าเยอรมันจะเข้าข้างรุสเซีย แต่คอเวอนแมนต์ทั้งปวงจะถือตามหนังสือสัญญา ๑๘๕๖, ๑๘๗๑ ไม่ยอมให้รุสเซียกดขี่ กับทหารอังกฤษที่อินเดียมาตั้งอยู่ป้อมหัวเมือง ฝ่ายอังกฤษในทะเลเตอเรเนียนอินก็ซ้อมทหารมาก หนังสือลงวันที่ ๒๖ เดือนเอปริลอีกฉะบับหนึ่งต้นหนังสือมิสนอกซ์ว่าหม่องซวยจ่านพะม่าในบังคับอังกฤษ ได้พระพุทธรูปศิลาเขียวองค์หนึ่งจะขอทูลเกล้า ฯ ถวาย ได้ให้ถือหนังสือตามแต่เจ้าพระยาภาณุวงศ์จะเห็นควร

๔ มีพระราชหัตถ์ตอบฉะบับหนึ่ง ว่าเงินที่จะใช้ค่าจัดการเอกซหิบิเชนนั้น แต่ก่อนก็ได้เคยส่งออกไปให้จัดการเป็นตัวอย่างมาแล้ว ครั้นคราวนี้จะไม่ส่งให้ก็เห็นว่าไม่ควร ด้วยต้องจัดการให้เป็นเกียรติยศบ้านเมืองด้วย ครั้งนี้ให้ท่านเบิกเงินคลังส่งออกไปให้ก่อนสัก ๕,๐๐๐ เหรียญ เมื่อใช้เสร็จสิ้นเท่าไร จึงได้เบิกเสด็จต่อครั้งหลัง ซึ่งหม่องซวยจ่านจะเอาพระมาถวายนั้น ให้ท่านเรียกไปตรวจไล่เรียงดูเสียก่อนจะมีราคาค่างวดอย่างไรบ้าง แต่พระไทยไม่ใคร่จะอยากรับเลย มิใช่เพราะเสียดายเงิน ไม่อยากรับเอง แต่เป็นพระเป็นเจ้าอยู่ จะไม่รับก็จะไม่สู้ดี อนึ่ง กงซุลอเมริกันจะมาเฝ้าพรุ่งนี้จะติดเผาศพและมีการอื่นๆ ขอผัดวิกหน้า

๕ เซ็นท้ายเรื่องความขุนนานารถ ว่าความเรื่องนี้ได้ตรวจดูคำหาให้การก็รับถูกต้องกันอยู่แล้ว ซึ่งจะให้ขุนนานารถผู้นำสักช่วยติดตามตัวเลขด้วยก็ควรอยู่ และรายขุนหมั่นนั้นนายนุดรับว่าได้ให้นายมนเป็นผู้แจกตั๋ว และนายนุดได้เก็บจ่ายมาแต่เดิม ถ้านายนุดจะออกตัวไป ก็จะไม่รู้จักตัวขุนหมื่นเหล่านั้น ชอบให้นายนุดและขุนนานารถสืบเสาะติดตามขุนหมื่น ตัวเลขมาส่งอย่าให้เสียราชการ (พระราชทานพระศรีกาฬสมุดไปเมื่อออกขุนนาง)

๖ กรมภูธเรศถวายริโปรดลูกขุนชี้ขาดเดือน ๖ กับพระยาธรรมสารนิตรับเรื่องราว

๗ ออกขุนนางไม่มีราชการอะไร พระนรินทรถวายหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ว่าด้วยเรื่องทอดทุ่นปากน้ำบางปะกง ได้เรียกเอาแผนที่ ๆ อาลบาศเตอมาตรวจดูแล้ว ท่านได้ปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยา ๆ เห็นว่าถ้าปักเสาสาน เป็นตะกร้อทาสีพอเป็นที่สังเกตให้เรือเดินได้ ควรให้เจ้าของเมืองปักรักษา ครั้นตามมิสเตอรอาลบาศเตอด้วยรายทุ่นว่าการสั่งทุ่นเจ้าประยาภาณุวงศ์ได้มีบัญชาให้มิสเตอรอาลบาศเตอทำเอสติเม็ตอยู่แล้วรับสั่งว่าเข้าใจผิดที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์สั่งนั้น ทุ่นชายทะเล แต่ที่บางปะกงนี้ เห็นว่าใช้ทุ่นดีกว่าหลัก เพราะอยู่ได้นาน

๘ กาพย์ตอบพระวรภัณฑ์

วันพฤหัสบดีขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ บรรทมตื่น ๓ โมงเช้า ได้รับโทรเลขเมืองสมุทรบอกมาเวลาย่ำรุ่ง ๒๕ มินิต ๒ ฉะบับ ๆ หนึ่งว่าเรือประภาศลากเรือวอแลนเข้ามาเวลา ๗ ทุ่ม กับวังหน้ากลับขึ้นมา เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๒๕ มินิต อีกฉะบับหนึ่งว่าเจ้าพระยาสุรวงศ์กลับขึ้นมาเวลา ๗ ทุ่ม กลับเวลาโมง ๑ กับ ๒๕ มินิต ฉะบับหนึ่งสมเด็จเจ้าพระยาถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ ว่าเรือวอแลนไปไม่ได้ค้างท้ายเรือหางเสือเสีย ขอเรือเปลี่ยน ถ้าเรือวังหน้าหรือเรือยอชหลวงขอได้เข้าเสร็จแล้วเมื่อใด ให้รีบส่งลงไปจะคอยอยู่ที่ปากน้ำ กับเวลาเช้าโมงกับ ๒๘ มินิต อีกฉะบับหนึ่งพระยาประภาถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ ว่าที่สมเด็จเจ้าพระยาจะเปลี่ยนเรือนั้น เห็นว่าเรือวังหน้าดีกว่า ด้วยเป็นเรือใช้แล้ว เรือยอชหลวงเป็นเรือใหม่

๒ มีพระราชหัตถ์ด้วยเส้นดินสอ ถามพระองค์สายด้วยเรือเวสาตรีพร้อมหรือไม่ จะให้สมเด็จเจ้าพระยาไปแล้ว

๓ ได้รับหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ฉะบับหนึ่งว่า วันพุธขึ้น ๑๒ ค่ำเดือน ๗ สมเด็จเจ้าพระยาและท่านกราบถวายบังคมลาลงไปถึงเมืองสมุทร ลมสลาตันสำเภาพัดกล้า รออยู่จนเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ จึงได้ใช้จักรออกปากน้ำข้ามสันดอนถึงที่เรือทอดเวลาทุ่มเศษ เหล็กสลักก้านสูบเรือเขจรหักไปไม่ได้ จึงเรือประภาศอุดรสยาม ลากเข้ามาถึงด่านเมืองสมุทรเวลา ๗ ทุ่ม ท่านไปตรวจถอดเหล็กสลักแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาจึงให้ท่านกลับขึ้นมากรุงเทพฯ เวลา ๓ ยาม ทำเหล็กสลักใหม่ วันนี้เวลาเช้าโมงเศษท่านได้รับคำโทรเลข ๓ ฉะบับ มีความหลายประการ ส่งคำเตลิกราฟถวายด้วย แล้วว่าจะกราบถวายบังคมลานำเหล็กสลักไปเมืองสมุทรปราการ

๔ มีตอบไปฉะบับหนึ่ง ว่าเมื่อ ๓ โมงเช้านี้ ได้ทรงรับโทรเลขว่าเรือวอแลนไปไม่ได้ ก็ได้ทรงมีพระราชหัตถ์ให้ทหารม้าไปถามพระองค์สายเรือเวสาตรีจะพร้อมหรือไม่พร้อม ถ้าพร้อมให้รีบมาจัดการให้ลงไปกลางวัน ๆ นี้ ยังหาได้ความตอบมาไม่ พอได้รับหนังสือท่านทราบความแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่าเรือวอแลนชำรุดแล้ว ถึงจะแก้ไขไปได้ ถ้ามีเหตุขึ้นกลางทะเลก็ไม่เป็นที่ไว้ใจเลย ซึ่งจะเอาเรือวังหน้านั้น เรือมุงหลังคาเมื่อไรจะไปได้ จะทรงจัดเรือเวสาตรีส่งลงไปในวันนี้ แต่เสบียงนั้นเห็นจะต้องถ่ายเอาที่เรือวอแลนด้วยไม่ได้เตรียมตัวไว้ เมื่อเรือวอแลนทำดีแล้ว จึงให้ไปรับท่านมาขากลับมาทีเดียว ถ้าได้ความจากพระองค์เจ้าสายว่าไปได้เวลาใด จะบอกโทรเลขลงไปให้ทราบ ทรงเวลา ๕ โมง

๕ พระองค์เจ้าสายมาเฝ้า ว่าเรือนั้นรื้อด้ายวัดเครื่องจักรออกเสียแล้ว วันนี้เห็นจะลงไปไม่ทัน จะต้องเอาด้ายใส่เข้า จะไปได้ต่อเวลาพรุ่งนี้

๖ ทรงมีพระราชหัตถ์ไปยังโรงโทรเลข ให้บอกสมเด็จเจ้าพระยาเรือจะลงไปได้พรุ่งนี้เวลาโมงเช้า คงจะได้ออกทันน้ำเย็นแล้ว

๗ รับคำโทรเลขอีก ๓ ฉะบับๆ หนึ่ง เวลาเช้า ๔ โมงเรือออกไปลำหนึ่ง เวลาบ่าย ๓ โมง ๕๐ มินิต สมเด็จเจ้าพระยาตอบขึ้นมาว่า ทราบพระราชหัตถ์เลขาว่าโปรดให้เรือเวสาตรีเปลี่ยนให้ท่านไปนั้นมีความยินดีเป็นอันมาก ฉะบับหนึ่งเวลาบ่าย ๓ โมง ๕๐ มินิต บอกว่าเจ้าพระยาสุรวงศ์ไปถึงเมืองสมุทรบ่าย ๓ โมง ๔๙

๘ รับหนังสือสมเด็จกรมพระว่าด้วยหลวงภักดีสุนทร ผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมืองไชยภูมิ ทำเรื่องราวถวายท่านว่าเดิมนายและข้าหลวงเดิมแผ่นดินที่ ๒ โปรดให้เป็นหลวงภักดีชุมพล ๆ เกลี้ยกล่อมได้เลข ๔๐๐ คน ทำส่วยดินประสิวถวาย แล้วโปรดให้ตั้งบ้านหนองปลาเท่าแขวงเมืองภูเขียวเป็นเมืองไชยภูมิ เลื่อนหลวงภักดีชุมพลเป็นพระยา เป็นเจ้าเมืองขึ้นกรุงเทพ ฯ ได้ประมาณ ๑๒-๑๓ ปีตาย แผ่นดินที่ ๓ ตั้งหลวงมหาดไทยเกดบิดาหลวงภักดีสุนทรเปนพระภักดีชุมพลเป็นเจ้าเมืองยกให้มาขึ้นโคราช ได้เลขอีกเก่าใหม่ ๖๗๐ คน ทำส่วยทองคนละสองสลึงถวาย ครั้นปีฉลูนพศกโปรดตั้งหลวงปลัดผู้ที่เป็นเจ้าเมืองได้ ๓-๔ เดือนตาย และพระยาโคราชทุกวันนี้แต่งกรมการไปเก็บค่านา น้ำสุรา จับเป็ด ไก่ มาเป็นอาหารโดยพลการ กดขี่ไพร่บ้านพลเมืองได้ความเดือดร้อน ยกครอบครัวไปอยู่ต่างเมืองเป็นอันมาก เก็บทองคำส่วยได้บ้างไม่ได้บ่าง ทองคำส่วยจึงค้างมาหลายงวดหลายปี ข้อ ๑ คดีถ้อยความของราษฎรที่เมืองไชยภูมิ ถ้าเจ้าเมืองกรมการชำระตัดสินมีสินไหมพินัย พระยาโคราชก็แบ่งเอาเงินพินัยไปทุกคู่ หลวงภักดีสุนทรขอพระราชทานออกจากเมืองโคราช ทำราชการขึ้นกรุงเทพ ฯ ทำส่วยทองตามเดิมต่อไป กับส่งสำเนาคัดบอกพระยาสุจริตเรื่องเลขที่พระยาศรีมีหนังสือไปให้หัก กับต้นหนังสือพระยาศรี ๆ มีไป พระยาสุจริตส่งลงมาถึงท่านเข้ามาด้วย ได้คัดต้นหนังสือพระยาศรีสอดไว้ด้วย

๙ มีพระราชหัตถ์ตอบไปฉะบับหนึ่งว่า เห็นว่าบรรดาเมืองขึ้นเมืองโคราชพากันมาร้องขอขึ้นกรุงเทพฯ ดังนี้บ่อยๆ การที่พระยาโคราชเบียดเบียนนั้น จะเท็จจริงประการใดก็ไม่ทราบ แต่เห็นว่าเมืองโคราชเป็นเมืองใหญ่หน้าศึก ต้องมีไพร่พลกำลังวังชามากจึงจะสมควร แต่ถ้าเจ้าเมืองกรมการบังคับบัญชาเมืองขึ้นดีอยู่ ก็จะมีคุณแก่ราชการ ถ้าประพฤติการที่ไม่เป็นยุตติธรรมให้ได้ความเดือดร้อน ก็ยิ่งซ้ำไปกว่าไม่มีเมืองขึ้นเสียอีก การแลกเปลี่ยนกันอยู่ดังนี้ แต่ที่หลวงภักดีสุนทรมากล่าวโทษพระยาโคราช ยังไม่มีหลักมีพะยาน ต้องไต่สวนดูก่อน ได้ความประการใดควรจะไกล่เกลี่ยให้เป็นปกติไปตามเดิมได้ หรือจะต้องยกมากรุงเทพ ฯ ตามคำร้องก็จะได้ตริตรองจัดการต่อไป อนึ่งไม่บอกพระยาสุจริตมาวางเวรเรื่องเลขสมพระยาวิชิตรักษานั้นไปตกอยู่แห่งใด ทำไมจึงไม่มีใครมาบอกเล่าให้ทราบ และหนังสือพระยาศรีมีขึ้นไปนั้น รับคำสั่งผู้ใด ให้ท่านหาตัวพระยาศรีมาถามดูให้ได้เรื่องนี้เสียก่อนแล้ว จึงค่อยคิดการในเรื่องควรหักไม่ควรหักต่อไป

๑๐ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษทรงฉลองพระองค์ พระภูษาดำแต่งถุงพระบาทขาวเสด็จทรงรถพระที่นั่งไปวัดสระเกศ พระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระวันรัตนเสด็จเข้าไปในเมรุ ทอดพระเนตรเห็นม่านบังเพลิงไม่มี รับสั่งถามเจ้าพนักงานว่าธรรมเนียมศพพระไม่มี รับสั่งว่าควรจะมี ใคร ๆ เลว ๆ ก็มีได้ดูน่าชังนัก โปรดเกล้า ฯ ให้มาบังเข้าแล้วทรงทอดผ้าไตร ๒๐ ไตร แล้วพระราชทานเพลิงเสด็จมาประทับพลับพลา ให้ทิ้งทานแล้วเสด็จกลับ

๑๑ รับคำโทรเลขเวลาบ่าย ๕ โมง ๕๕ ว่าเจ้าพระยาภาณุวงศ์ลงไปถึงบ่าย ๕ โมง ๕๐

๑๒ มีพระราชหัตถ์ถึงพระยาเทพประชุน ว่าด้วยเรื่องจะตั้งไวซ์กงซุลที่หนังสือมีขึ้นไปแต่ก่อนนั้นแจ้งอยู่แล้ว ตั้งแต่มีหนังสือไปอินเดียความก็เงียบหายไป ครั้นอยู่มามิสเตอรเอดเวิดผู้ที่จะไปเป็นกงซุลนั้นอยู่ดีๆ เจ็บลง ๓-๔ วันก็ตาย มิสนอกซ์มีความเสียใจมาก การก็สงบเฉยมาจนถึงวันศุกร์ขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๖ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ไปปากน้ำ พูดเรื่องไม่ตั้งกงซุลดังที่คัดมานั้นแล้ว คัดถวายท้าย จึงได้ตอบไปตามความเห็นให้ท่านเสนาบดีตริตรองฉะบับหนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาเห็นความว่าการซึ่งจะเลิกไปจริงหรือไม่จริงนั้นยกไว้ แต่เขาพูดพอที่เราจะทำได้ ก็ทำกันไว้ดีกว่าไม่ทำ แต่อย่าให้เป็นความคิดของเขา ลาวจะเสียใจว่าเขาว่ากระไรก็ทำตามทุกอย่าง จึงได้ตกลงให้เป็นหนังสือสมเด็จกรมพระมีไป การเรื่องนี้ก็ประสงค์แต่จะทำไปอย่างนั้น เห็นไม่มีประโยชน์สักสิ่งเดียว จะให้ลาวไปไม่ได้ต้องข้าหลวง เพราะกลัวจะมัดตัวเข้า ให้พระยาเทพบอกระยะทางเมืองเชียงใหม่ไปถึงฝั่งน้ำ ลาวเมืองผาปูนถึงฝั่งน้ำลงมาให้ได้ความจะแจ้ง เขาพูดมาจะได้โต้ตอบตามความเห็นที่แท้จริงนั้น ก็เห็นจะติดหนังสือสัญญามิสนอกซ์รับอาสามาขู่ให้ยอมไว้เสียก่อน เมื่อการต่อไปภายหน้าจะได้พูดง่าย ดังไม่มีตัวผู้ที่จะขึ้นไป เพราะเท่านั้นการจึงได้เลยไป แต่ที่จะเลิกนั้นไม่แลเห็น เรื่องความหม่องบันดอ ว่าพระยาเทพอยู่ข้างเบาความไปหน่อย ที่เซ็นชื่อลงในคำตัดสิน หาไม่พูดได้ถนัด

๑๓ กาพย์จดหมายถวายว่าด้วยวันนี้เป็นวันกำหนดนายสรการไปบ้านเวลาเช้ากลับมาถึงโรงบ่าย ๒ โมง ๓๐ มินิต เกินกำหนด แต่นายสรการว่าเข้ามาถึงแต่เที่ยง ๒๒ มินิต แต่นั่งแวะพูดอยู่กับผู้มีชื่อที่อัฏฎวิจารณ์ศาลาจึงได้ช้าไป

๑๔ วันนี้พระยารองเมืองนำแผนที่บ้านพระนายสรรเพธและธราบาลกับคำให้การพวกธราบาลมา ความนั้นไม่ได้ชัดว่าขว้าง ทรงเซ็นตัดสินเป็นเลิกแล้วแก่กัน แต่ให้เจ้าหมื่นสรรเพธได้ซื้อที่บ้าน

วันศุกร์ขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ นายหนูบุตร์พระยาราชานุชิตเฝ้าถวายเรื่องราวทูลขอเลขบิดาว่าเดิมมีจำนวน ๑๕ ยก ๓ บุตรสักสาม ๓ ทนาย ๑๙ สม ๑๕ จีนนาย ๑ ไฟร่ ๗ รวม ๘ ทาส ๔๕ รวม ๙๓ ขอรับพระราชทาน ๑๕ ยก ๑ บุตรสักสาม ๓ ทนาย ๑๑๕ สม ๑๔ จีนไพร่ ๓ ทาส ๓๕ รวม ๗๑ คน เซ็นพระราชหัตถ์ว่านายหนูเป็นบุตร์ควรคุมเลขของบิดาทำราชการสืบไป ออกขุนนางพระราชทานพระศรีกาฬสมุด

๒ พระยาเจริญราชไมตรีทำเรื่องราวถวายว่าด้วยเจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งหนังสือฟ้องกงซุลอเมริกันผู้ว่าการเห็นกงซุลวิลันดา กับเรื่องราวจีนง่วนเส็งกล่าวโทษหม่อมเจ้าเป๋ามาศาลต่างประเทศ เรื่องราวว่าเดิมจีนง่วนเส็งเข้าหุ้นส่วนกับจีนตันเกียนสัปเยกวิลันดา เช่าตึกขายของอยู่ถนนเจริญกรุง วันเสาร์ แรม ๒ ค่ำเดือน ๖ เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ จีนง่วนเส็งกินข้าวอยู่ในตึก เจ้าเป๋าเมาสุราเข้ามาในตึกจีนง่วนเส็งถามว่าเข้ามาทำไม เจ้าเป๋าว่าจะเข้ามาขะโมย หม่อมเจ้าเป๋าแย่งชามข้าวที่กินขว้างปาเสียแล้ว เจ้าเป๋าด่าเป็นคำหยาบช้าท้าทาย แล้วเรียกทหารมาจับจีนลูกจ้างไปส่งขุนทรงผู้คุมขังตรางไว้ได้ ๓ ทุ่มจึงปล่อยมา แล้วเจ้าเป๋าเดินด่าหน้าตึกทุกวัน ถ้าจีนง่วนเส็งลงไปอาบน้ำ เจ้าเป่าก็เอาอิฐขว้างหลายครั้งหลายหน เซ็นพระราชหัตถ์ว่า ความเรื่องนี้ให้พระยาเจริญนำไปถวายสมเด็จกรมพระ ๆ หาตัวหม่อมเจ้าเป๋ามาชำระตัดสินเสียให้แล้ว

๓ พระอินทรเทพถวายหนังสือว่าเช้าวันนี้ ราษฎรชาวเรือลูกค้ามาแจ้งความว่านายรุ่งลูกค้าจอดเรือประทุน ๓ วาผูกทุ่นขายของอยู่ที่หน้าศาลต่างประเทศ เอาเด็กอายุ ๓ เดือนทิ้งน้ำทั้งเป็นได้ไปเอาตัวมาถามให้การว่าอายุ ๔๐ ปี สักท้องมืออยู่ในกรมหมื่นภูมินทรที่สิ้นพระชนม์ บ้านอยู่ราชบุรี เข้ามาขายเนื้อเค็ม วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๗ เวลาย่ำรุ่งแล้ว นายรุ่งตื่นนอนได้ยินเสียงเด็กร้องขึ้นที่หัวเรือริมน่าอุด จึงลุกขึ้นดูเห็นทารกอายุ ๓-๔ เดือนร้องอยู่ในเบาะบนเรือหาเห็นผู้ใดไม่ ใครจะมาวางไว้ก็ไม่ทราบ นายรุ่งกลัวความผิดก็ยกเอาเด็กทั้งเบาะวางไว้ที่แพทุ่นที่นายรุ่งผูกเรือ แล้วกลับเข้าในประทุนเรือ เด็กนั้นร้องอยู่ครู่ก็เงียบเสียงไป นายรุ่งยืนขึ้นดูท้ายเรือเห็นแต่เบาะเปล่า เด็กนั้นกลิ้งลงน้ำไป นายรุ่งก็ถอยเรือไปจอดริมปากคลองตลาด ได้ความดังนี้โปรดเกล้า ฯ ให้ชำระต่อไป

๔ พระราชทานเหวนมณฑปมรดกคุณศิลา ให้พระยามหามนตรีวง ๑

๕ รับจดหมายท่านกาพย์ว่าด้วยทหารซึ่งจะกราบถวายบังคมลาบวชในปีนี้ จะโปรดเกล้า ฯ ให้นายกำปนีนำเข้ามาทูลลาหรือประการใด เดิมครั้งพระยาภาษว่าการกราบถวายบังคมลาแต่กอมมิชันออฟฟิศเซอและนอนกอมมิชันออฟฟิศเซอ แต่ทหารไปรเวตลาผู้บังคับการให้หนังสืออนุญาต

๖ มิสเตอรไปเยอรถวายพระราชสาสน์ถึงเอมเปอเรอเยอรมัน ประทานพระนามพระเจ้าหลานเธอที่แต่งงานกัน ฝากของเป็นหีบก๊าศทองคำลงยาไปให้เจ้าผู้หญิงองค์ละใบ ประทับพระราชลัญจกรไอยราพตกับอามแผ่นดิน แล้วถวายหนังสือขอพระบรมราชานุญาตบวชเป็นพระ

๗ รับคำโทรเลขฉะบับหนึ่ง เวลาบ่าย ๕ โมง ๑๐ มินิต ว่าเรือพระที่นั่งเวสาตรีสมเด็จเจ้าพระยาไปกับเรือประภาศ ออกจากเมืองสมุทรไปเมืองกาญจนดิฐ เจ้าพระยาสุรวงศ์ขึ้นมากรุงเทพ ฯ กับเรือวอแลนเจ้ากลางเป็นผู้นำขึ้นมา

๘ วันนี้โปรดเกล้า ฯ ให้เราส่งประกาศมอบการมหาดไทยถวายสมเด็จกรมพระบังคับไปลงราชกิจจา

๙ เราทูลด้วยสมเด็จกรมพระสั่งมาว่า วันนี้จะให้พระยาจ่าแสนยบดี พระยาศรีสิงหเทพ นำบอกเมืองตากมาอ่านทูลเกล้า ฯ ถวายกับพระราชบัญญัติเมื่อครั้งพระบรมราชาภิเษก ซึ่งยอมให้เลขเมืองนี้หักไปอยู่เมืองโน้น เลขเมืองโน้นไปอยู่เมืองนี้ตามใจไพร่สมัครนั้น ท่านเห็นเสียหายหลายอย่าง ข้อ ๑ ถ้าเมืองใดขอคนเมืองต่าง ๆ มาว่าไพร่เมืองนั้นสมัคร ก็บังคับไปให้หักให้ ไม่ได้ตามตัวไพร่เลย ที่เป็นการข่มขืนใจ ประการหนึ่งเมืองไหนอยากจะได้คนมาก ก็ขอเข้ามาเอาคนเมืองนั้นเมืองนี้บ้าง ถ้าได้แล้วก็ทำท่าทางแข็งแรงกำเริบขึ้น นี้ก็เสียอย่างหนึ่ง ประการหนึ่งถ้ามีราชการสำคัญจะเกณฑ์ผู้เกณฑ์คนก็ลำบาก ว่าโจทก์ไปอยู่เมืองนั้นเมืองนี้บ้าง ประการหนึ่งถ้าผู้ร้ายทำร้ายเมืองนี้แล้วโจทก์ไปอยู่เมืองนี้จะเอาตัวก็ไม่ได้ ประการหนึ่งเงินส่วยจะเก็บก็ลำบาก ค้างทับถมมาก เพราะไปติดอยู่เมืองนั้นเมืองนี้ แล้วบัญชีส่วยก็ลงไม่ได้แน่ด้วย ถ้าทรงพระราชดำริอย่างไร เลิกพระราชบัญญัตินี้เสียได้จะดีมาก เรื่องนี้ยุ่งเหยิงกันอยู่ ก็แต่หัวเมืองมหาดไทย หัวเมืองกระลาโหมเขาก็ไม่อย่างนี้ ครั้งนี้ก็เป็นทีอยู่ ควรจะยกเหตุได้

๑๐ ออกขุนนาง หลวงเสนีพิทักษ์อ่านบอกพระยาสุจริต ๒ ฉะบับ ๆ หนึ่งว่าด้วยหารือความลงมา ฉะบับหนึ่งว่าด้วยหนังสือพระยาศรีมีไปให้หักเลข ได้รับสั่งถามพระยาศรีว่าที่คนร้องนั้น ได้บอกกับใคร รับคำสั่งใครให้หัก พระยาศรีกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าได้เรียนเจ้าพระยาภูธราภัย ๆ จึงให้มีหนังสือถามไป ถ้าควรหักให้หัก ครั้นจะมีท้องตราไป ถ้าไม่ควรหักก็จะค้าง โปรดเกล้าฯ ว่าเรื่องพักเลขนี้เสียมากดังที่กรมหมื่นนเรศทูล ให้พระยาจ่าแสนยพระยาศรีไปทูลสมเด็จให้คิดจัดการเสียใหม่ ควรจะจัดอย่างไรให้เรียบร้อยได้ ให้ทูลมา

๑๑ รับหนังสือไปรเวตสมเด็จกรมพระว่าข้าหลวงเดิมทูลกระหม่อมที่กรมขุนกัลยา ยักไปจำนำนั้น โปรดเกล้าฯให้พระยาราชภักดีไปถ่ายคืนมา ยังตกค้างอยู่ในพระคลังมหาสมบัติอีกหลายสิ่ง คือพระธำมรงค์เพ็ชร์ ๗ มรกต ๑ โคเมน ๑ พระจี้ พระเสมา และพระจุฑามณี พระประหล่ำเพ็ชร์ พระเข็มขัดหมั้น ดอกไม้เพ็ชร์ กับขันทองลงยาไม่ได้ลงยา เครื่องพระสำอางลงยา พานพระชุดลงยา หม้อถม พานถม ของสิ่งอื่นอีกเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าบังลับอยู่

วันเสาร์ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

พระไชยยศจดจำนวนของข้าหลวงเดิม ทูลกระหม่อมทูลเกล้า ฯ ถวายว่าเดิมพระยาราชภักดีรับมาแต่ข้างในใส่กำปั่นลั่นกุญแจกำปั่น ๑ แล้วพระยาราชภักดีมาเรียกของส่งฝากคลังไว้เข้าไปหลายหน ครั้นนานมาทำบัญชีของที่ยังคงเหลือมอบพระไชยยศไว้ คือ จี้ทับทิม ๑ ลูกคั่น ๖ องค์ชำรุด ๑ ประหล่ำประดับเพ็ชร์ใหญ่ ๕ เล็ก ๑๒ รวม ๑๗ เม็ด หลุดใหญ่ ๔ เล็ก ๒ รวม ๖ เบี้ยทอง ๑๘ เบี้ย พระธำมรงค์มณฑปประดับเพ็ชร์ หลุด ๕ ที่บ่าหลุด ๑ เมล็ดองค์ ๑ รองรองบ่าหลุดองค์ ๑ รวม ๒ กับพระธำมรงค์มรกตและขันทองน้ำเสวยลงยา และบ้วนพระโอฐ โต๊ะพระชุดและของอื่น ๆ มากอีกหลายสิ่ง เซ็นท้ายพระราชทานท้าวโสภานิเวศไปว่าของทั้งนี้เอาไปทิ้งไว้คลังเปล่า ๆ ให้ท้าวโสภานำบัญชีนี้ไปเฝ้าสมเด็จกรมพระขอรับสิ่งของเข้ามาข้างใน ควรใช้จะได้ใช้ควรเก็บจะได้เก็บ หรือให้ลูกหลานท่านบ้าง แล้วพระราชทานท้าวโสภาไปให้ทำรับมีบัญชีต่อกัน

๒ วันพระไม่มีราชการอะไร

วันอาทิตย์ แรม ๑ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ ท้าวกัณฑสาร ท้าวโสภานำของข้าหลวงเดิม ทูลกระหม่อมมาทูลเกล้า ฯ ถวายทอดพระเนตร

๒ นายสรพลเรืองเดช ถวายเรื่องราวว่าเดิมเจ้าพระยายมราชแก้วปู่ตาย บิดาและตัวเขาและพี่น้องซึ่งได้รับราชการทูลขอเลข ทนาย สม ทาส ชะเลยในปู่ ทรงพระกรุณาพระราชทานสิ้นจำนวน ครั้นอยู่มาปุ้ยกับนายหรุ่นกลับมาจากเมืองลาว ไปขอเลขที่พระยาเพ็ชรชฎาบิดาเขา ๆ ให้ ๑๐ ปุ้ยนายหรุ่นไม่ยอม จึงได้ร้องถวายฎีกากล่าวโทษบิดาเขาแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตามแต่บิดาเขาจะแบ่งให้ บิดาเขาได้แบ่งเลขชะเลยให้ ชาย ๕ หญิง ๕ รวม ๑๐ คน ปุ้ยนายหรุ่นเร่งเงินชะเลยของปุ้ย ส่งเงินค่าตัวบ้างยังบ้าง ปุ้ยกลับอยู่ให้ อี อ้าย นั้น ๆ สิบคน ซึ่งเป็นคนเขานั้น ฟ้องส่งเงินค่าตัว แต่อ้ายนั้น ๆ หกคนด้วยเป็นเลขชะเลยครัวเดียวกันหาได้เข้าชื่อฟ้องด้วยไม่ เลขชะเลยรายนี้เป็นของพระราชทานชวดและปู่ เข้าไว้เป็นกำลังต่อ ๆ กันลงมาจนถึงเขา เลขรายนี้จึงหาได้เป็นไพร่หลวง ครั้งนี้เขาควบคุมไว้ไม่ได้ ขอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวาย ชาย ๗ หญิง ๙ รวม ๑๖ คน

๓ พระยารัตนโกษาถวายบาญแผนกลงชื่อมหามาลา จาตุรนต หลุย อุไทยธรรม พระยารัตนโกษา พระราชธน บ่อนเบี้ยกรุงเทพ ฯ ตำบลตลาดน้อย จีนหัวคนเก่าส่งอากรคืน จีนก้วงหลิมตัวอากร จีนจุ้ยประกัน คนใหม่ทำ เดิม ๗๖๐ ชั่ง ประมูล ๑๔๗ ชั่ง รวม ๙๐๗ ชั่ง ตำบลบางกอกใหญ่ จีนเบี้ยวตัวอากร จีนกลิ้งประกัน คนใหม่ทำ เดิม ๔๗๖ ชั่ง ประมูล ๓๖ ชั่ง รวม ๕๐๖ ชั่ง รวม ๒ ตำบลเงิน เดิม ๑๒๓๐ ชั่ง ประมูล ๑๘๓ ชั่ง รวม ๑๔๑๓ ชั่ง เซ็นไปว่าให้ผู้รับเงินสูงไปทั้งสองราย

๔ มีพระราชหัตถ์ตอบหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ทูลเกล้า ฯ ถวายวันอังคาร ขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๗ ว่าด้วยส่งริโปดและแผนที่ซึ่งกัปตันริชิลลิวไปตรวจจะขุดคลองทวีวัฒนาขึ้นไปออกแม่น้ำนครชัยศรีนั้น ตรวจแล้วเห็นว่าถ้าขุดขึ้นได้น้ำจะแรง และจะเป็นประโยชน์ที่ไร่นาจริงดังท่านคิด ให้ท่านตั้งจีนขุดต่อไปเหมือนอย่างคลองทวีวัฒนาเถิด ส่งริโปดกัปตันริชิลลิวฉะบับอังกฤษคืนไปไว้สำหรับออฟฟิศด้วยแล้ว

๕ มีถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฉะบับหนึ่ง ว่าด้วยปากน้ำบางปะกงนั้นกัปตันลอปตัสได้ตรวจทำแผนที่กะระยะปักทุ่นเรือเดินไว้หลายแห่ง ทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นการประโยชน์ช่วยลูกค้าอยู่ ควรจะต้องปักเสาสานตะกร้อไว้ให้เป็นที่สังเกต แต่แผนที่ๆ กัปตันลอปตัสทำนั้นอยู่ที่กรมพระกระลาโหม ให้เรียกไปตรวจดูคิดทำเสียได้เป็นการดี ให้นัดกงซุลอเมริกันเฝ้าวันพฤหัสบดีแรม ๕ ค่ำเดือน ๗ กับกงซุลอังกฤษนั้นเขากลับขึ้นมาแล้วหรอยังก็ไม่ทราบ ถ้าเข้ามาแล้วจะได้นัดขึ้นมาเฝ้าอย่าให้ท่านลืมเสีย หน่อยจะเป็นเหลวอยู่ที่เราแล้ว

๖ มีถึงสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีฉะบับหนึ่ง ว่าด้วยพระยาราชจดหมายถวายขัดข้องความมรดกนั้นซึ่งพระองค์ทองกับพระพิทักษ์เทพธานี เป็นความกันกับพระองค์ทอง ถวายเรื่องราวฉะบับหนึ่ง ให้คัดสำเนาหนังสือพระยาราชและส่งต้นเรื่องราวพระองค์ทองไปให้ท่านจัดตระลาการศาลมรดกและท่านกำกับว่าเสียให้แล้ว

๗ มีถึงท่านกาพย์ตอบหนังสือวันศุกร์ขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๖ ข้อหนึ่งเงินเบี้ยหวัดทหารไปราชการและเป็นโทษต้องคงให้ เพราะเป็นโทษนั้นต้องลดเงินเดือนแล้ว แต่หลวงสรยุทธเงินเดือนเอดเดอกองต้องลด เพราะไม่ได้รับการ ข้อ ๒ ทหารขาดตรวจ ตั้งแต่ออฟฟิศเซอถึงทหารเลว ถ้าครั้งแรกต้องลดเงินเดือนที่ ๒ ข้อที่ ๓ ตี ข้อ ๓ เครื่องแต่งตัวไม่ส่ง ความเจืออยู่กับตรวจสิ่งของต้องใช้อย่างเช่นมีไปครั้งก่อน ถ้าเวลารับของนายมีสำคัญต่อบ่าว ถ้าไม่ได้ส่งของต้องเอากับนาย ถ้านายร้องว่าติดตัวทหารอยู่ต้องส่งตัว ถ้าไม่ได้ตัว นายต้องใช้

๘ ออกขุนนางไม่มีราชการอะไร พระไพรัชถวายหนังสือราชการกรมท่ามีไปมากับกงซุลอังกฤษเล่ม ๑ ฝรั่งเศสเล่ม ๑

๙ หลวงโกษาถวายหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ๒ ฉะบับ สำเนาหนังสือ ๒ ฉะบับ หนังสือฉะบับ ๑ ว่ามิสเตอฮองเกนที่จ้างเฝ้าเรือตะเกียงปากน้ำมาแจ้งความว่าเมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำเดือน ๗ ลมตะเภาพัดกล้าเป็นพายุมากเรือนตะเกียงซุดเอียงไปข้างเหนือประมาณ ๑๘-๑๙ นิ้วฟุต ท่านได้ให้พระวิสูตรสาครดิฐครูนิตลงไปตรวจดู จะแก้ได้หรือต้องรื้อ จะให้ลงไปค่ำวันนี้ รับสั่งว่าดีแล้ว ควรจะทำให้เรียบร้อย อย่าให้ผิดสังเกตด้วยของได้ทำไว้แล้ว ก็ต้องให้มีที่สังเกตเสมอไป ถ้าต้องรื้อจะทำสิ่งใดให้เป็นที่สังเกตได้ ก็ต้องคิดทำเสีย อีกฉะบับหนึ่งว่าเอาหม่องซวยจ้านเจ้าของพระมาไล่เลียง พระพุทธรูปนั้นเป็นศิลาเขียวนั่งสมาธิน่าตัก ๒ นิ้วกึ่ง เจ้าของว่าซื้อมาแต่เมืองอังวะราคา ๑๘๐๐ รูเปีย เห็นว่าเป็นของดีจริง ตั้งใจมาทูลเกล้า ฯ ถวาย ท่านได้หาตัวพระรจนามาตรวจดูว่าไม่ใช่ศิลาเป็นแก้วหล่อทำเทียม แต่เจ้าของยังยืนว่าเป็นศิลาแท้อยู่ ขอให้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายทอดพระเนตรก่อน สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ด้วยเป็นพระพุทธรูปไม่ได้ตั้งใจจะขาย ท่านได้ตอบว่าจะกราบบังคมทูลเสียก่อน รับสั่งให้เอาเข้ามาทอดพระเนตรก่อน แต่รับสั่งว่าไม่อยากทรงเอาไว้ ของกำนัลพวกนี้มีแต่เสียเปรียบ สำเนาหนังสือพระสยามธุรพาห์ว่าข่าวที่ยุโรปเห็นจะเรียบร้อย เพราะได้ทราบคำเล่าลือกัน ว่ารุสเซียจะยอมเอาสัญญามาในที่ประชุมตามแต่จะแก้ ลงวันที่ ๑๐ เม ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๖ อีกฉะบับหนึ่งสำเนาหนังสือราชทูตสเปนอิศปานยาว่าเขาได้รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ที่ส่งพระรูปไปถวายเจ้าแผ่นดินสเปญ เมื่อพระรูปไปถึงเขาได้ออกจากเมืองสิงคโปร์ไปเมืองจีนเสียแล้ว แต่กงซุลได้รักษาไว้ที่สิงคโปร์ เมื่อเขาจะกลับจึงมารับไปส่งถวายพร้อมกับของที่ประทานกับตัวเขาออกไปเขียนที่เมืองเซี่ยงไฮ้ วันที่ ๒๒ เม ตรงวันพฤหัสบดีแรม ๗ ค่ำเดือน ๖

๑๐ พระราชทานเงินเราทำพระที่นั่งอุทธยานภูมิเสถียรและรั้วที่พระราชวังบางปอิน ๖๐ ชั่ง

วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ รับคำโทรเลขเรือสงครามครรชิตขึ้นมาแต่เมืองสมุทรเวลา ๓ โมงเช้า กับเรือออกจากกรุงเทพ ฯ ลำหนึ่ง

๒ พระยามหามนตรีเฝ้าทูลด้วยการเขาไกรลาศ ซึ่งทำปีนี้จะติดเสาธง การที่จะทำต้องลงมือเดือน ๑๐

๓ มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ฉะบับหนึ่ง ว่าในปีนี้จะทำไกรลาศที่สนามหญ้า ได้ทรงสั่งพระยาประภากรวงศ์ไว้ให้หาไม้ทำเสาธง จะย้ายไปไว้หน้ามิวเซียม พระยาประภามาทูลว่าไม้ซื้อได้แล้ว แต่จะได้ลงมือทำหรือยัง ไม่ทรงทราบ อยากจะให้ได้เปลี่ยนออกไปเสียในเดือน ๙ เดือน ๑๐ จะได้ลงมือทำงาน พระยาประภาก็ไม่อยู่ ให้ท่านช่วยจัดการให้ได้ ลงมือทำเสียให้ทันกำหนดจงได้แล้ว

๔ มีถึงสมเด็จกรมพระฉะบับหนึ่ง ว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าศรีวิลัยจะโสกันต์ ทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นพระราชบุตรเพื่อนทุกข์เพื่อนยาก และเป็นที่รัก เป็นหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการ ได้ช่วยทำนุบำรงแผ่นดินมาเป็นอันมาก อยากจะจัดการให้มีเขาไกรลาศสักคราวหนึ่ง ด้วยเห็นว่าแต่ลูกวังหน้ายศก็เพียงพระองค์เจ้ายังทำเขาไกรลาศแห่มยุรฉัตรได้ และพระองค์โสมนัสเป็นแต่เจ้าหลานเธอก็ยังแห่ใหญ่สมโภชสามวันได้ ครั้งนี้จะขอทำให้เป็นที่ยินดีในพระองค์และพระองค์ท่าน ศรีวิลัยกับญาติพี่น้องข้างฝ่ายเจ้าจอมมารดาบ้าง แต่เขานั้นให้ลดย่อมลงมากว่าคราวสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษี แต่อย่าให้เป็นเบ็ญจารดน้ำ ให้เป็นเขาไกรลาศจริง ๆ การกะเกณฑ์ไม้และวางด้านอย่างไรนั้น ขอให้ท่านทรงเป็นพระธุระจัดการให้ถูกต้องตามทุกอย่าง เจ้านายซึ่งจะใช้กำกับด้านนั้น เจ้าต่างกรมหนุ่มใช้บ้างก็ได้จะได้เคยราชการไว้ แต่การแต่งเครื่องเล่นให้ทรงกับสมเด็จพระองค์น้อยจึงจะสนุก ที่ตั้งเขานันจะวางที่เดิม

๕ เซ็นท้ายเรื่องราวนายสรพล เมื่อวานนี้ว่านายสรพลเรืองเดชขอยกเชลย ๖ คนเป็นไพร่หลวงนี้ ถ้ากรมพระสุรัศวดีตรวจดูเห็นไม่มีที่ขัดขวางสมควรแล้ว ให้สักเป็นไพร่หลวงเถิด ออกขุนนาง พระราชทานพระศรีกาฬสมุดไป

๖ พระยาศรีอ่านบอกเมืองพิชัย ๓ ฉะบับ ๆ หนึ่ง ส่งต้นหนังสือเมืองน่าน ๆ ส่งหนังสือเจ้าเมืองเชียงตุงลงมา ด้วยมาเป็นเจ้าเมืองเชียงตุงอย่างบอกพระยาเทพเมืองเชียงใหม่ ฉะบับหนึ่งว่าด้วยปล้นที่เมืองอุตรดิฐ ฉะบับหนึ่งว่าด้วยตองซูฟ้องคนลักช้าง ฆ่าตองซูเจ้าของตายกับพวก ๓ คน กรมการไปเกาะตัวพวกเหล่านั้นหนีไปเสียแล้ว กับมีผู้ฟ้องว่าเจ้าเมืองกรมการเสือกไสตองซู จะเอาใช้กับกรมการ ๆ ได้ตัวมาชำระคนเดียว รับสั่งถามว่าคนนั้นหนีก่อนฟ้องหรือฟ้องแล้ว พระยาจ่าแสนยทูลว่าฟ้องแล้ว รับสั่งว่าลำบาก แต่ได้ตัวไว้คนหนึ่ง ควรชำระไปก่อน ให้รีบมีตราขึ้นไป ด้วยพระยาพิชัยก็ไปเสียแล้ว

๗ หลวงโกษาถวายหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่าที่ปากน้ำบางปะกงนั้นเมื่อกัปตันลอปตัสไปทำแผนที่กลับเข้ามา ได้ไปแจ้งความกับท่านว่าที่ปากอ่าวจะต้องมีหุ่นหรือปักเสาแห่งหนึ่ง ท่านเห็นว่าที่เหล่านั้น ถ้าน้ำลงแห้งขอดแล้วก็เป็นแต่เลนทั้งนั้น มีเป็นร่องอยู่จำเพาะทางเรือเดิน ท่านจึงสั่งให้หลวงฤทธิ์เดชชลขันธ์ยกระบัตร์เมืองชลบุรี ทำเสาไม้แก่นหุ้มสังกะสี ๓ ต้นปักรวมกันเป็นขาหย่าง ข้างบนสานตะกร้อทาขาวไว้เป็นที่สังเกตทำไว้เสร็จแล้ว บัดนี้กัปตันลอปตัสอยู่ที่อ่างศิลา ท่านได้สั่งไว้เมื่อจะไปให้ไปพบกับหลวงฤทธิเดชชี้ที่ให้เขาปักเสร็จแล้ว กับคองศิลาที่โขลนทวารปากน้ำนั้น ท่านได้สั่งมิสเตอรอาลบาศเตอให้อย่างพระวิสูตรสาครดิฐให้ทำไม้ซุงทาแดงไปทอดไว้ให้เป็นที่เรือสังเกตแต่วันพฤหัสบดีขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๗ แล้ว กับมิสนอกซ์กลับมากรุงเทพ ฯ แต่วันเสาร์ขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๗ รับสั่งให้มิสนอกซ์เฝ้าวันศุกร์

๘ พระนรินทรทูลว่าเจ้าพระยาสุรวงศ์ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าจะลองชำระคนส่วยหัวเมือง แต่จะลองชำระคนเมืองพัทลุงก่อน ถ้าจัดได้จะได้ไป เพราะตัวตายและขึ้นใหม่มีมาก ได้ร่างท้องตรามาทูลเกล้า ฯ ถวายให้ทรงแก้ แล้วพระราชทานคืนไป รับสั่งว่าลองดูเมืองหนึ่งก็ดีแล้ว ว่ามีส่วยดินประสิวกับจะลองชำระหมู่คงเมืองด้วย

๙ พระราชทานพระธำมะรงค์เพ็ชร์แมงดาของข้าหลวงเดิม ทูลกระหม่อมซึ่งเอาเข้ามาจากพระคลัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าน้อยองค์สำหรับจะได้ร้อยประคตเป็นเครื่องราง เจ้าเข่งเข้ามากล่าวโทษนายสอน

๑๐ สมเด็จกรมพระถวายเรื่องราวเจ้านารีในกรมพระเทเวศ ให้ลูกน้าว่าเดิมไปซื้อเพ็ชร์ห้างลมาชด้วยกัน เจ้าภาษีซื้อเชื่อ ๒ เมล็ด ราคาเงิน ๘ ชั่ง ๑๕ ตำลึง นายสอน ๓ เมล็ด ราคาเงิน ๑๐ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ประมาณได้สักเดือน ๑ ตัวได้เอาเงินไปใช้ ๒ ชั่งแล้ว เสมียนห้างมาเตือนบ่อย ทราบถึงกรมพระเทเวศ ๆ กริ้วให้เอาตัวเธอจำตรวนไว้ในโรงสนม ๒ ปี ครั้นกรมพระประชวร เธอได้ออกมาเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว เจ้าขาวได้เอาเงินไปใช้แทนเธอ ที่รายนายสอนไปเตือนก็ไม่ให้กลับโกงเธอ นายห้างเขาก็จะเร่งเอากับเธอ ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง

๑๑ รายงบปีสมเด็จกรมพระถวายมา จำนวนปีฉลูนพศก ได้เงินเกณฑ์บุญ ๑๓๘ ชั่ง ๒๒ บาท ๔๘ สลึง งวดคลัง ๖๓๕๖๓ ชั่ง ๑๖ บาท ๑๖ สลึง ข้างที่ ๕๖๐๐ ชั่ง ๗๑ บาท ๔๘ สลึง รวมกรมต่างๆมีพระชนม์ ๓๓๗ ชั่ง ๖ บาท ๑๖ สลึง พี่นางน้องยาเธอ ๑๒๙๖ ชั่ง ๔๐ บาท ๕๖ สลึง ลูกเธอ ๔๔๗ ชั่ง ๖๒ บาท ๕๖ สลึง รวมกรมต่างๆ ๒๐๘๑ ชั่ง ๓๐ บาท รวมทั้งสิ้นได้เงิน ๗๑๓๘๓ ชั่ง ๖๐ บาท ๔๘ สลึง ได้ทองคำงวด ๑๙ ชั่ง ๖๕ บาท ๕๗ สลึง ข้างที่ ๖ ชั่ง รวม ๒๕ ชั่ง ๖๕ บาท ๕๗ สลึง จ่ายเกณฑ์บุญ ๓๕ ชั่ง งวดคลัง ๖๘๘๗๙ ชั่ง ๖ บาท ๒๐ สลึง ข้างที่ ๑๒๑๐๓ ชั่ง ๖๖ บาท ๑๖ สลึง รวมกรมต่าง ๆ มีพระชนม์ ๔๓๓ ชั่ง ๖ บาท ๒๔ สลึง จ่ายทองคำข้างที่ ๒๓ ชั่ง ๓๒ บาท ๓๐ สลึง พี่นางน้องยาเธอ ๑๔๕๕ ชั่ง ลูกเธอ ๔๗๔ ชั่ง ๔๙ บาท ๑๖ สลึง รวมกรมต่างๆ ๒๓๖๒ ชั่ง ๕๕ บาท ๔๐ สลึง รวมทั้งสิ้น ๘๓๓๘๐ ชั่ง ๔๘ บาท ๑๒ สลึง

วันอังคาร แรม ๓ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ กาพย์จดหมายเข้ามาฉะบับหนึ่ง ว่ากัปตันจมื่นสราภัยมาแจ้งความว่า ซายันนายหรุ่น กอปราลนายอยู่ กำปนีที่ ๖ ไปรเวตหม่อมราชวงศ์เล็ก นายทูปกำปนีที่ ๒ ชักชวนกันเล่นไพ่ในโรงทหาร ผิดพระราชบัญญัติ พระยาสุรศักดิ์ข้อ ๙ เธอได้ตัวมาถามได้ความว่าพนันเอาบุหรี่กันกับว่าเป่าแตรทหาร หลวงรัตนรณยุทธไปบ้านเสีย ไม่มาฝึกหัดทหารต้องคอยอยู่จนเวลา ๒ โมงเช้า ไปเสียแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๗ กลางวัน ออฟฟิศกีไม่มา ได้ให้คนไปบอกก็ไม่มาจนวันนี้ การหัดทหารก็ต้องให้ผู้อื่นบอกไป กับว่าพระสรสาตร์ให้ราชการในออฟฟิศมากับพระองค์ดิฐถามว่าจะให้ยุนิฟอร์มยศเพียงใด

๒ มีพระราชหัตถ์ตอบฉะบับหนึ่ง ว่าการเล่นไฟนั้นผิดควรลงโทษ ๓ สถาน แต่เห็นว่าแต่เพียงเล่นไฟ ไม่ถึงพนันเงินทอง ก็ควรทำโทษลดเงินเดือนเล็กน้อยภาคทัณฑ์ไว้ก็ได้ เมื่อที่ ๒ ที่ ๓ ถึงเงินถึงทองจึงค่อยทวีโทษขึ้น กับหลวงรัตนนั้นให้ไปเอาตัวมาให้ได้ ถ้าได้ตัวมาแล้วให้ถามเป็นคำให้การเข้ามากับองค์ดิฐนั้นได้สั่งเงินเดือนไว้เท่าสกันเลฟเตอแนนต์ให้แต่งตัวตามนั้น

๓ รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่าด้วยมิสเตอรเอเยนผู้ทำเตลิโฟนนั้นมาหาท่านว่าวันนี้จะทำที่ออฟฟิศกรุงเทพ ฯ ให้เสด็จเวลาพรุ่งนี้ จะลงไปทำที่เมืองสมุทรปราการ แต่การที่จะบอกนี้ เขาอยากจะทำทูลเกล้า ฯ ถวาย เขาอยากทราบว่าขณะเมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรหรือไม่ กับเขาจะได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทหรือไม่ เขาอยากทราบก่อนที่ได้บอกเตลิโฟน

๔ มีพระหัตถ์ปลอกโนตตอบไป

๕ รับหนังสือพระยาราชกราบบังคมทูลด้วยพระพิทักษ์เทพธานีและกรมการกรุงเก่าบอกลงมาฉะบับ ๑ ว่า วันเสาร์ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ กำนันบัวบ้านศาลาลอยกับพวกนายขำอำแดงอยู่ลงมาแจ้งความกับกรมการว่า วันพุธขึ้น ๑๒ ค่ำเดือน ๗ เวลา ๓ ยามเศษมีอ้ายผู้ร้ายประมาณ ๒๐ คนถืออาวุธเข้าปล้นบ้านนายขำอำแดงอิ่ม ๆ ร้องให้ชาวบ้านช่วย นายโหดบุตร์นายขำข้ามฟากมาช่วย อ้ายผู้ร้ายเอาปืนยิงถูกนายโหด ๒ แห่ง อ้ายผู้ร้ายเก็บเอาเงิน ๖ ชั่งกับทองรูปพรรณหลายสิ่ง ครั้นวันพฤหัสบดีขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๓ นายโหดตายยังสืบจับอ้ายผู้ร้ายอยู่

๖ รับหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ฉะบับหนึ่งว่าด้วยแผนที่ปากน้ำบางปะกงซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้กัปตันลอฟตัสทำนั้นเขียนเสร็จแล้ว ท่านเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า ลำน้ำนี้เรือลูกค้าเดินไปมามากขึ้นทุกวัน ถ้าโปรดเกล้า ฯ ให้เอาแผนที่ออกไปลงพิมพ์เมืองยุโรป ให้เป็นที่แน่นอนแก่ลูกค้าจะดี ท่านได้ให้พระโทรเลขกับมิสเตอรอาลบาศเตอนำแผนที่เข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย แล้วมิสเตอรอาลบาศเตอกับพระโทรเลขเฝ้าถวายแผนที่ทอดพระเนตรแล้ว

๗ มีพระราชหัตถ์ตอบฉะบับหนึ่งซึ่งคิดจะตีพิมพ์ไว้เสียนั้นชอบแล้ว ดีกว่ามีอยู่ฉะบับเดียว ไม่มีประโยชน์อันใดแก่คนทั้งปวง ให้ท่านส่งไปเถิด กับรับสั่งบอกด้วยเรื่องทุ่นบางปะกงนั้น ว่าได้ทรงรับตอบเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่าได้วานกัปตันลอฟตัสให้ชี้ที่ให้ยกระบัตร์เมืองชลบุรีปักอยู่แล้ว กับมิสเตอรไปเยอรเฝ้าทูลเตือนขอพระบรมราชานุญาตที่จะบวช รับสั่งถามด้วยการศรัทธาต่าง ๆ ด้วยเหตุใด ๆ เขาก็แก้ทูลเกล้า ฯ ถวายทรงพระราชดำริว่าที่จะเป็นประกันนั้นไม่ได้ ถ้าต่อไปมีเหตุคนทั้งปวงก็ว่า ว่าทรงหลงเชื่อไปเยอรจะพระราชทานคำอนุญาตแต่ขนาดกลางที่ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องในราชการ ทรงต่อหน้ากรมหมื่นนเรศ เทวัญ อาลบาศเตอ แล้วอาลบาศเตอถวายตัวอย่างเตลิโฟนที่เมซันส่งเข้ามา ได้รับสั่งให้ลองเอาลงไปที่ประตูพรหมได้ยินเบา ๆ

๘ สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงษ์เฝ้าด้วยรับสั่งให้หามาพระราชทานพระธำมรงค์มณฑปเพ็ชร์ของข้าหลวงเดิมทูลกระหม่อมองค์หนึ่ง แล้วทรงเตือนด้วยการหอรัษฎาอย่าให้แตกกับสมเด็จกรมพระ มีการขัดข้องอย่างไรก็ต้องหารือกับท่าน ต้องพูดกันบ้างอย่านิ่งเสีย การจะเสียไป

๙ มีพระราชหัตถ์ถึงพระยาเจริญราชไมตรี ว่าด้วยความจีนง่วนเสงคนในสัปเยกกล่าวโทษเจ้าเป๋าที่ได้ให้สมเด็จกรมพระทรงชำระนั้น ได้หาตัวมาถามได้ความว่าผิดตัวเป็นเจ้าเป๋าในกรมหลวงภูวเนตรไป จึงได้ส่งความไปให้กรมขุนบดินทรชำระ แต่คำให้การนั้น ยังหลีกเลี่ยงกันไกล หาได้เกี่ยวข้องกับจีนง่วนเสงไม่ ให้พระยาเจริญจัดตระลาการศาลต่างประเทศและหาตัวจีนง่วนเสงไป สอบปากคำกับเจ้าเป๋าพร้อมด้วยกรมขุนบดินทร ความจะได้แล้วกันไปแล้ว

๑๐ มีถึงกรมขุนบดินทรอีกฉะบับหนึ่ง สั่งให้ชำระความรายจีนง่วนเสงกับหม่อมเจ้าเป๋าพร้อมกันกับตระลาการศาลต่างประเทศ กับส่งเรื่องราวหม่อมเจ้านารีในกรมพระเทเวศกล่าวโทษนายสอนเรื่องซื้อเพ็ชร์ฝรั่งเงินยังเกี่ยวข้องกันอยู่ ฝรั่งจะเร่งเอาแก่เจ้านารีฝ่ายเดียว ให้เรียกนายสอนมาพิจารณา

๑๑ หลวงวิทยานายทหารมหาดเล็ก ถวายเรื่องราวกล่าวโทษพระองค์เจ้ากาพย์ผู้รับพระบรมราชโองการหลายข้อ ๆ ๑ ว่าให้ออฟฟิศทั้งปวงซื้อถ้วยแก้วแต่งในการเฉลิมพระชนมพรรษา ว่าจะเบิกเงินให้แล้วไม่เบิก ข้อ ๑ กินเหล้าเอาผู้หญิงขึ้้นไปบนโรงแล้วให้ผู้หญิงกินด้วย ข้อ ๑ นายสดนายพุด วิวาทกันทำโทษนายสดข้างเดียว ข้อ ๑ ทหาร ๓ คนกินเหล้าทำโทษแต่ ๒ คน ข้อ ๑ ย้ายออฟฟิศบ่อย ๆ ของและตู้ราคา ๖๐๐ บาท เสียคุมไม่ได้ ข้อ ๑ ตัวได้เป็นผู้รับการแทนกัปตันไม่เพิ่มเงินเดือนให้

๑๒ วันนี้ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี กราบถวายบังคมลาไปทำบุญแซยิดที่วังพระองค์เจ้าเกษมสันต์

วันพุธแรม ๔ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิ์ศก ๑๒๔๐

๑ รับสั่งให้เจ้าหมื่นสรรเพธทำของเครื่องยศ จะพระราชทานพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัย เมื่อโสกันต์ เป็นของคลัง ขันน้ำเสวย ๑ พานรองหีบหมาก กับหีบหมาก ๑ บ้วนพระโอฐ ๑ กับกาทองอย่างต่างกรม ๑ กับรับสั่งให้กรมหมื่นนเรศหาแหวนเพ็ชร์สำรับ ๑

๒ พระยาสมบัติยาธิบาล ถวายเรื่องราวว่าเดิมจีนลิมผัว อำแดงแฉ่งเมีย พากิมเหลียนบุตรสาวมายกให้เป็นภรรยาน้อย จะเอาสินเดิม ๑๐ ชั่ง แกให้ได้เป็นเมียมา ครั้นอยู่มาได้ ๙-๑๐ เดือน อำแดงแฉ่งคบคิดกับบุตรไขกุญแจห้องจีน ภรรยาน้อย แกเอาของ ๆ จีนแล้วหนีไป แกทำคำตราสินแล้วบนสืบจับมา ๔ วัน มีผู้รับสินบนไปชี้ตัวให้ที่ศาลต่างประเทศว่าเป็นความอยู่กับจีนสัปเยกฝรั่งเศส ค้างเงิน ๕๑๓ บาท แกจึงไปอายัดไว้ จึงได้แต่งทนายฟ้องศาลหลวง ๆ ประทับตราไปศาลต่างประเทศ กิมเหลียนแต่งให้อำแดงแฉ่งว่าความไม่รับ ทนายแกจึงได้นำสืบพะยานต่อมา ความอำแดงนั้นแล้วกับจีน แล้วอำแดงแฉ่งจะกำหนดพะยานทนายไม่ยอม เพราะเดิมไม่มีคำปฏิเสธจนโจทก์สืบแล้ว ทนายร้องพระยาเจริญ ๆ ไม่ว่าให้ขอย้ายศาล

๓ เจ้าเข่งถวายหนังสือกรมพระ ส่งหนังสือมิสนอกซ์มี ๓ ฉะบับ ท่านเห็นว่าเรียบร้อยดี ท่านคิดว่าจงตอบขอบใจยกย่องเขาเสียบ้าง ขอรับพระราชทานความตอบ หนังสือมิสนอกซ์ฉะบับหนึ่ง ตอบขอบพระทัยท่านที่บอกเรื่องความหม่องอิดหม่องมัดไป เขาได้ตัดสินแล้ว หม่องมัดแพ้หม่องอิด ได้ให้ผู้ชนะไปเอาเงินที่เมืองตากฉะบับหนึ่ง ที่ท่านหารือความจับกระบือตองซู ไม่มีหนังสือสำหรับกระบือ แต่ตองซูมีหนังสือสำหรับเดินทาง ที่เมืองตากหารือลงมาว่าให้ชำระที่กรุงเทพ ฯ หรือเมืองตากนั้น เขาว่าครั้นจะส่งลงมาชำระที่นี้ก็ลำบากมากที่จะต้องส่งคน ไม่รู้ว่าความจะใหญ่น้อยอย่างไร ขอให้เจ้าเมืองกรมการปรึกษาพร้อมกับมิสเตอรซีเวน ซึ่งไปชำระความหม่องโคอยู่เมืองตาก ตรวจดูควรคืนกระบือกลางเป็นแล้วได้ก็ให้คืน ถ้าเห็นว่าจะใหญ่โตเป็นนครบาลให้ส่งลงมากรุงเทพ ฯ อีกฉะบับหนึ่งเรื่องไรยังไม่ทราบ มีพระราชหัตถ์ปลอกโนตตอบไป ฉะบับหนึ่งว่าอย่าเพ่อขอบใจยกยอด้วยความยังไม่เป็นยุติว่าจะแพ้ชนะ เป็นตอบไปแต่เพียงที่ว่ามานั้นชอบแล้ว จะทำตามดีกว่า ส่งต้นหนังสือคืนไป

๔ มีพระราชหัตถ์พระราชทานพรแซยิดพระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งประสูติแต่วันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐ ถึงวันนี้ได้ ๕๐ รอบ พระราชทานเงินปีละ ๒ ตำลึง เงิน ๑๐๐ ตำลึง

๕ กรมหมื่นนเรศถวายแหวนเพ็ชร์ 1386 สี่วงราคา ๒๘ ชั่ง ตุ้มหูระย้าทำ 1420 ราคา ๕ ชั่ง 1418 ราคา ๕ ชั่ง รวมเงิน ๓๘ ชั่ง แล้วรับสั่งให้กรมหมื่นนเรศเลือกเพ็ชร์จะทำเสมาพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุธาทิพยรัตน กรมหมื่นนเรศทูลด้วยสมเด็จท่านสั่งเข้ามา เรื่องพระยาศรีมีหนังสือไปถึงหลวงสัตพรรณให้ไล่จีนทำหนองดงตะงาวให้จีนพระยาศรีทำแต่หนองนี้ เดิมมีผู้มาผูกทำค่าน้ำก็ไม่โปรดให้ทำ เพราะหนองนี้เป็นของวัด จะทำปาณาติบาตถวายพระไม่ควร หลวงสัตพรรณจึงได้หากินมาบัดนี้ พระยาศรีจะเอาหลวงสัตพรรณ ไล่จีนไม่ไปจึงบอกลงมาวางเวร กับจะขอตั้งบ่อนเบี้ยเก็บถวายพระบาท ด้วยคนเล่นที่เหล่านั้นมาก การเรื่องนี้ยากด้วยเป็นของวัดของสงฆ์ จึงกราบบังคมทูลเสียก่อน เมื่ออ่านบอกจะได้ทรงพระราชดำริแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ แล้วเจ้าเมืองสุพรรณไม่มีตัว แต่เจ้าพระยาภูธราภัยเมื่อยังไม่ตายว่าจะขอให้ปลัดเป็น แต่ท่านเห็นว่าเมืองต่อเขตต์แดนอังกฤษ ควรจะเอาคนรู้ราชการเป็น เอาคนกรุงเทพ ฯ ดีกว่า ความเห็นว่าจงสว่างเห็นจะใช้ได้ ทรงเห็นด้วย แล้วรับสั่งว่าท่านช่วยคิดดังนี้ดีมาก ด้วยไม่ใคร่จะทรงมีเวลาคิด กับเมืองพิจิตร์ด้วยยังไม่มีตัว มีผู้เดินหลายรายให้ท่านช่วยคิดด้วย แต่อยากจะให้ตาแจ่มสมุหบัญชีข้าหลวงเดิมที่เป็นหลวงธรเณนทรไปแต่ไม่ทรงรับประกันว่าดี ด้วยวิไสยสมุหบัญชีคนอย่างไรก็ย่อมทราบอยู่ด้วย หรือเมืองไหนว่างจะไปได้ก็ให้ไปเสียสักเมือง ๑ ตามควรกับรับสั่ง กรมหมื่นนเรศทูลท่านว่าคู่เคียงพระองค์เจ้าศวีวิลัยให้บอกให้เขารู้ตัวเสียจะได้หาของแต่งตัว คือเจ้าพระยามหินทร เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ พระยาภาษ พระยาประภา พระยาเพ็ชร์บุรี พระยาศรีสรราช พระยาราชบุรี พระยาชัยสุรินทร

๗ ทรงตัดสินความพระพิทักษ์อุทัยเขตร์ ซึ่งนายรอดฟ้องว่า ด้วยพระพิทักษ์กินเหล้าแล้วทำลายพระทราย และว่าให้คนถืออาวุธแห่ ๓ กระบวน ไปถือนำแล้วเอาดาบตัวลงจุ่มน้ำ กับความอีก ๒ ข้อจำไม่ได้หาไม่จริง ความเรื่องพระศรีสุนทรเทพฟ้อง ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไกล่เกลี่ยแล้ว นายรอดไม่ฟังเก็บความมาว่าอีก ให้เอาตัวมาผูกถาม ด้วยหาความวิวาทให้เดือดร้อนประสงค์อะไร

๘ ออกขุนนาง หลวงเสนีพิทักษ์อ่านบอกเมืองกรุงเก่า เมืองอ่างทองน้ำฝนต้นข้าวกับร่างตราตอบเมืองพิชัย ว่าให้พระยาพิชัยเร่งสืบสวนติดตามจับผู้ร้ายมาชำระให้ได้ ถ้าอยู่หัวเมืองใดเร่งแต่งกรมการไปจับตัวรับมา

๙ พระนรินทรอ่านบอกส่งส่วยทองบางตะพาน

๑๐ หลวงโกษาถวายพระพุทธรูปศิลาเขียวของหม่องซวยจ้าน กับสำเนาหนังสือฉะบับหนึ่ง พระพุทธรูปนั้นเป็นศิลาหยก คล้ายกันกับศิลาที่โปรดเกล้า ฯ ให้พระรจนารังสรรค์จัดซื้อ แล้วพระราชทานคืนไปให้เจ้าของว่าของที่เป็นของมีราคาก็ให้เขาไปเอาไว้ซื้อขายเถิด ด้วยอย่างนี้ก็มีอยู่ ๓ องค์แล้ว ๆ พระราชทานหยกไปให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ดูด้วย สำเนาหนังสือนั้นเป็นหนังสือมิสนอกซ์ ว่าด้วยการตั้งไวช์กงซุลเมืองเชียงใหม่ ความว่าด้วยได้มีกอเรศปอนเดนต์กับเจ้าคุณในต้นปีมานี้ ว่าด้วยเรื่องเมืองฝ่ายเหนือ เจ้าคุณได้แจ้งให้ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ไทยไม่ชอบที่จะตั้งไวซ์กงซุลอังกฤษ ที่เมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นเขาคิดว่าการมิใช่เป็นการรีบร้อน และไม่อยากจะโต้ตอบกันให้เป็นการยืดยาวไป เขาจึงได้มีหนังสือไปถึงสิเกตารีออฟที่ลอนดอน ๆ ตอบมา คัดใจความมาให้ทราบว่าด้วยอังกฤษ เห็นว่าเพราะ ข้อ ๑๐ ในหนังสือสัญญาที่อังกฤษทำไว้กับไทยที่ ๑๐ เดือนเอปริล ๑๘๕๕ เพราะหนังสือสัญญาไทยทำไว้แก่เดนหมากปรอยซินออสเตรียนั้น อังกฤษก็มีอำนาจอยู่แล้วที่จะตั้งกงซุลไวซ์นั้น อนึ่งอังกฤษสั่งให้เขาชี้แจงให้เจ้าคุณทราบ ว่าหนังสือสัญญาที่ไทยทำไว้กับอินเดียเมื่อ ๑๘๗๔ นั้น มิได้ลบล้างอำนาจและประโยชน์ข้อหนึ่งข้อใดในหนังสือสัญญา ๑๘๕๕ ของอังกฤษเลย ถ้าอังกฤษจะตั้งไวซ์กงซุลที่เมืองเชียงใหม่ เป็นแต่เพราะหมายจะบำรุงการค้าขายในเขตต์แดนไทย จะให้เป็นประโยชน์แก่ลูกค้าฝ่ายไทย อังกฤษและปรารถนาจะไม่ให้เกิดการถุ่งเถียงกันทั้งสองฝ่าย เหมือนที่ได้เกิดมาแล้วนั้นเนือง ๆ การที่เขาเขียนชี้แจงมานี้ โดยมีน้ำใจไมตรีกับไทย ขอให้ไทยตรึกตรองให้มีตอบไปยังเขา ลงวันอังคาร แรม ๓ ค่ำเดือน ๗

๑๑ รับหนังสือพระองค์เจ้าบุตรี ขอบพระเดชพระคุณถวายพระพรมา

๑๒ กาพย์ถวายจดหมายส่งคำให้การหลวงรัตนรณยุทธ รับสารภาพผิดเข้ามา

วันพฤหัสบดีแรม ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ กรมหมื่นนเรศเฝ้าทรงด้วยหนังสือมิสนอกซ์มีมา เรื่องตั้งไวซ์กงซุลเมืองเชียงใหม่ กับทูลขอคู่เคียงเติมให้ครบ ๑๒ ตามสมเด็จกรมพระสั่ง รับสั่งว่าให้สมเด็จท่านคิด

๒ เฒ่าแก่วังหน้านำลายพระหัตถ์กรมพระราชวังมาทูลเกล้า ฯ ถวายว่าได้รับพระราชหัตถ์เลขากับเรื่องราวพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์แล้ว ได้ให้พระยากระลาโหมราชเสนา พระยาอัษฎาเรืองเดชไปหาพระยารองเมืองเจ้าพนักงาน ขอให้ไปช่วยปักปันที่ตำบลปากคลองตลาดให้องค์โสณ ที่เดิมกว้างตามลำน้ำ ๑๔ ว่าศอก กว้างทางด้านกำแพงเมือง ๑๓ วา ตั้งแต่ริมน้ำยืนขึ้นไปหลังบ้านยาว ๒ เส้น ๔ วา ท่านได้แบ่งให้องค์โสณด้านริมน้ำแต่มุมเขื่อน วังองค์โสณกว้าง ๗ วา ด้านหลังกำแพงเมือง ตั้งแต่กำแพงวังองค์โสณกว้าง ๖ วา ยืนขึ้นไปตั้งแต่หลังแพถึงที่สุดหลังบ้านยาว ๒ เส้น ๔ วา พระยารองเมือง พระยากระลาโหม พระยาอัษฎา ได้ปักหลักกำหนดกว้างยาวแต่วันศุกร์ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ มอบให้องค์โสณแล้วเซ็น

๓ เจ้าพระยาภาณุวงศ์เฝ้า รับสั่งถามด้วยเรื่องมิสนอกซ์มีหนังสือมา ความเดิมที่ไปพูดปากน้ำนั้นอย่างไร ความที่ว่ามานี้ประสงค์จะให้ตอบเอาความนั้นตอบหรือ แต่เห็นว่าจะเข้าอีกห่วงหนึ่ง เพราะความเดิมกรมหมื่นนเรศก็ยอมอยู่แล้ว ท่านก็เห็นด้วย แล้วรับสั่งถามว่าจะรอสมเด็จเจ้าพระยาหรือ ท่านทูลว่า เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาจะไปได้สั่งไว้ว่า ถ้าเขาพูดอะไรๆ เรื่องจะตั้งกงซุลเชียงใหม่มาอย่าขัดขึ้น ทีเห็นจะรู้ความแล้ว ถ้ารับสั่งถามเจ้าพระยาสุรวงศ์ดูก็เห็นจะได้ความคงรู้กัน รับสั่งว่าถึงรู้ก็ที่ไหนจะบอกท่านจึงว่าอย่างนั้นก็ให้ท่านร่างตอบมา รับสั่งว่ามันก็ไม่มีความอะไร มีอยู่แต่เขาว่าด้วยสัญญาไม่ขัดกันเท่านั้น แล้วถวายแผนที่เรือนตะเกียงทีเอียง โปรดเกล้า ฯ ให้ทำเสีย

๕ กงซุลอเมริกันเฝ้าไม่มีราชการอะไร เป็นแต่ทูลด้วยความขัดข้องที่บางปอินด้วยวิวาทกัน จึงไม่ได้แวะเฝ้าอีก แล้วถวายหนังสือเรื่องแอดมิราลเรทอล

๕ พระยาอภัยรณฤทธิ์มาทูลถามว่าเรือนจันที่ปราสาทจะต้องรื้อหรือไม่ รับสั่งว่าไม่ชำรุดก็ไม่ต้องรื้อ

๖ ทรงเซ็นบาญแผนกฉะบับหนึ่ง ลงชื่อมหามาลา จาตุรนต์ อุไทยธรรม ไชยสุรินทร ราชธน หลุย อากรสมพัตสร เมืองลพบุรี จีนขาวคนเก่าส่งคืน นายอิ่มตัวอากร นายทองคำประกัน คนใหม่ทำ เดิม ๕๐ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ประมูล ๑๕ ตำลึง รวม ๕๕ ชั่ง ๑๐ ตำลึง สมพัตสรเมืองชัยนาท นายโพลังคนเก่าส่งคืน นายทูบตัวอากร นายทองประกัน คนใหม่ทำ เดิม ๔๐ ชั่ง ประมูล ๒ ชั่ง รวม ๔๒ ชั่ง สมพัตสรเมืองสิงหบุรี นายแจ้งคนเก่าคืน นายทุบตัวอากร นายทองประกัน คนใหม่ทำตามเติม ๑๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง สมพัตสรเมืองมโนรมย์ นายมั่งคนเก่าคืน นายทูบตัวอากร นายทองประกัน คนใหม่ทำ เดิม ๙ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ประมูล ๑ ชั่ง ๑๕ ตำลึง รวม ๑๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง สมพัตสรเมืองฉะเชิงเทรา นายอ่วมคนเก่ารับทำ เดิม ๒๖ ชั่ง ๕ ตำลึง บวกขึ้น ๑ ชั่ง ๑๕ ตำลึง รวม ๒๘ ชั่ง สมพัตสรกรุงเทพ ฯ จีนโป้กิมเองตัวอากร จีนหัวประกัน คนใหม่ทำ เดิม ๘๓ ชั่ง ๒ ตำลึง สมพัตสรเมืองนครเขื่อนขันธ์ สมุทรปราการ จีนกิมเองตัวอากร จีนหัวประกัน คนใหม่ทำเดิม ๒๘ ชั่ง ประมูล ๑๒ ชั่ง รวม ๔๐ ชั่ง ค่าน้ำ ๖ เมืองเหนือ นายทองดีตัวอากร นายชื่นประกัน คนใหม่ทำเดิม ๑๑๐ ชั่ง ประมูล ๒ ชั่ง รวม ๑๑๒ ชั่ง รวมอากร ๘ ราย เงินเดิม ๕๖๑ ชั่ง ๕ ตำลึง ประมูล ๒๐ ชั่ง ๕ ตำลึง รวม ๕๘๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง เซ็นพระราชหัตถ์ให้ตั้งผู้รับเงินสูงไปทั้ง ๘ รายเถิด

๗ พระยาภาษจดหมายถวายว่าด้วยจะให้บัณฑิตย์พราหมณ์สอนสังสกฤตพระสงฆ์ ๑๗ ฆราวาส ๙ รวม ๒๖ จะสอนวันจันทร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๗ ที่พระที่นั่งสุทไธศวริย เพราะหน้าวัดพระแก้วเป็นฤดูฝนสอนไม่ได้ แล้วถวายสัญญาที่พระยาภาษทำไว้ เงินค่าจ้างเบี้ยเลี้ยงเดือนละ ๓๐ บาท จะขอเบิกตั้งแต่เดือน ๖

๘ ออกขุนนาง กรมขุนบดินทรจดหมายคำตัดสินความจีนง่วนเสงโจทก์ หม่อมเจ้าเป๋าจำเลย ข้อที่หาว่าเจ้าเป๋าด่าว่าและจับลูกจ้างและขว้างปานั้น ในคำให้การเจ้าเป๋าว่าจะไปซื้อผ้าหางกระรอกที่จีนง่วนเสง ๆ กลับว่าจะเข้าไปขะโมย แล้วร้องให้ทหารยามจับเจ้าเป๋า ๆ จึงได้บอกให้ทหารจับจีนเล่าฉายบ้าง ในข้อหาดังนี้เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าการที่วิวาทกันก็หามีบาดแผลและแตกหักควรเป็นข้อปรับไหมไม่ แต่ข้อเจ้าเป๋าให้จับจีนไป ๒ ชั่วโมงได้ความอาย เจ้าเป๋าคงต้องมีความผิด ข้อซึ่งจีนง่วนเสงว่าเจ้าเป๋าเป็นขะโมยนี้ก็มีความผิด ควรตัดสินให้กลบลบกัน แต่จีนร้องว่าที่จับไปนั้นมีความอายมาก ขอให้เจ้าเป๋าจัดกิมฮวยอั่งติ๋วมาให้ จึงจะยอมแก่กัน ท่านเห็นว่าเจ้าเป๋าเป็นราชตระกูลไม่ยอมให้ตามว่า แล้วจีนจึงว่า ถ้าดังนั้นให้จัดมาถวายท่านเองจึงจะยอม ท่านเห็นว่าถ้าดังนั้นก็ไม่เป็นการ จีนง่วนเสงได้เปรียบ แลเสื่อมเสียพระเกียรติยศอันใด ท่านจึงได้พร้อมด้วยพระพิพากษาตัดสินตามนั้นเป็นเลิกแล้วแก่กัน ได้เรียกทานบนไว้ทั้ง ๒ ฝ่าย ทรงพระราชดำริว่าไม่ควรจะยอมเลย เพราะมันหาถึงขะโมยเสียเปรียบมาก แต่แล้วไปแล้วก็ตามเถิด

๙ หลวงเสนีพิทักษ์อ่านบอกเมืองอุบล ๒ ฉะบับ เจ้าพรหมเทวากล่าวโทษเจ้าราชวงศ์ราชบุตรที่พระยามหาอำมาตย์มอบให้ว่าราชการ ว่าบังส่วยยื่นสำมะโนครัวไม่เต็มตัวส่วย ๆ มีถึงหมื่นเศษ ยื่นแต่ ๘ พัน แล้วคัดผู้ร้ายไว้แล้ว เอาเงินส่วยใช้สรอยเสียกับมีท้องตราไปด้วยเรื่องครัวสมัครอยู่เมืองอุบล และหนองคายให้ยืมเงินส่วยซื้อสะเบียงอาหารจ่ายให้ครัวก็ไม่ขัดเสีย ต้องเอาเงินส่วยเมืองอะไรสองเมืองจำไม่ได้ รองไป ๔๐ ชั่ง คงได้เหลือเงินมาส่ง ๑๕ ชั่ง ส่งเจ้าเมืองไม่มีอำนาจด้วยราชการนั้น ราชวงศ์ราชบุตรว่าจึงขัดขืนไว้ ทรงพระราชดำริว่าเรื่องนี้ให้พระยามหาอำมาตย์ขึ้นไปชำระก็ยังไม่ตลอดไป เพราะเกิดทัพฮ่อขึ้น ก็เกณฑ์เจ้าพรหมเทวาไปทัพ พระยามหาอำมาตย์กลับลงมาก็ไม่เห็นว่าด้วยความเรื่องอย่างไร แต่จะเลี้ยงผู้ใหญ่หรือผู้น้อย ก็ต้องให้เป็นไปอย่าง ส่วนผู้ใหญ่ไม่ให้ว่าราชการ จะเอาผิดกับเขาอย่างไรได้ ที่มีตราก็บังคับถึงเขา แต่ว่าราชการไม่ให้เขาว่านั้นไม่ถูก ให้สมเด็จจัดเสียให้เรียบร้อย หาตัวลงมาว่ากล่าวกัน ควรเลี้ยงผู้ใหญ่จะได้มอบราชการไปหรือควรเลี้ยงเด็ก ก็จะได้ถอนผู้ใหญ่เสีย จะให้ถือกัน ๒ พวก ๒ เหล่าดังนี้ไม่ได้จะเสียราชการ เพราะเมืองอุบล เมืองมุกดาหาร ๒ เมืองนี้ เป็นเมืองประเทศราชขึ้นในแผ่นดินทูลกระหม่อม เพื่อจะให้รักษาวงศ์ตระกูลเมืองเวียงจันทร์ ที่ให้ไปทำลายเสีย ถึงเจ้าพรหมเทวาเขาก็เป็นคนดี่ ถึงจะว่าการก็เห็นจะได้ ได้ทรงคบค้ามาแต่ยังอยู่กรุงเทพ ฯ

๑๐ สั่งพระยาจ่าแสนยให้ทูลสมเด็จกรมพระให้มีข้าหลวงไปชำระความปล้นช้างเมืองน้ำปาด ที่เมืองพิชัยบอกลงมาเพราะคนตายถึง ๓ คน ให้จ่าเร่งขึ้นไปเห็นจะได้ แล้วให้เก็บข้อความบอกให้กงซุลอังกฤษเขาทราบไว้บ้าง

วันศุกร์แรม ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ เจ้าพระยาสุรวงศ์เฝ้าทรงปรึกษาด้วยจะตอบมิสนอกซ์เรื่องตั้งไวซ์กงซุล ท่านเห็นว่าควรจะต้องตอบยอมเขาเสีย เรื่องนี้สมเด็จเจ้าพระยาจะไปได้ปรึกษาพร้อมกันไว้แล้ว ด้วยทราบข่าวว่าเขาจะมีมา ท่านสั่งไว้ว่า ถ้าเขามีมาอย่าให้ขัดขืนยอมเขาเสีย แต่ท่านเห็นว่าเมืองฉะเชิงเทราก็มีไวซ์กงซุลแล้ว เมืองเชียงใหม่ก็ต้องยอม ประการหนึ่งในเมืองอังกฤษเราก็ได้ตั้งกงซุลไว้หลายเมือง ที่เขาตั้งได้เราก็ต้องยอมเหมือนกัน ขอให้ร่างตอบเสีย รับสั่งถามว่าจะให้ใครร่าง ทูลว่าสมเด็จกรมพระ เพราะพนักงานของท่าน รับสั่งถ้าสมเด็จกรมพระ ฉันก็ต้องร่างเอง เพราะมหาดไทย และกรมเมืองเหมือนอยู่ในพระองค์ ถ้าจะต้องทรงร่างก็จะทรงวานท่านร่างอีกที่หนึ่ง เจ้าพระยาสุรวงศ์รับว่าได้ แต่ต้องพระราชทานพระราชหัตถ์สัก ๒-๓ ตัว หาไม่จะเป็นแย่งท่านผู้เป็นพนักงานไป ที่จะตอบนั้นจะต้องว่ารับประกันลาวไม่ได้เสียด้วย ทรงตอบการที่ไม่ประกันนั้น ถ้าว่าขึ้นมีเป็นทิ้งเสียที่เดียวหรือ ท่านทูลว่ายากอยู่ กลัวจะเกิดเหตุการณ์ต่อไป แล้วทูลเรื่องเอานายแฉ่งนายหวานบุตรพระยาจันทบุรี มาจำเรื่องเอาฝิ่นเถื่อนไปใส่เขาเร่งเงินใน ๑๕ วัน ถ้าไม่ได้จะเฆี่ยน ดูท่านเจ้าของเมืองเล่น

๒ สั่งประหารชีวิตอ้ายจีนเซียะโทษฆ่านายเรือที่เมืองหลังสวน เอาทรัพย์สิ่งของไป กระลาโหมเป็นตระลาการ

๓ สั่งประหารชีวิตอีหลิวฆ่าหนูเชยอายุ ๘ ขวบเอากำไล พระยารองเมืองตระลาการ

๔ สั่งประหารชีวิตอ้ายแดงจ้อย จำคุกกำหนด ๗ ปี อ้ายจุ้ย อ้ายเหม็น อ้ายหรั่ง อ้ายพ่วง โทษปล้นกระบือฆ่าเจ้าของตาย กรุงเก่า

๕ ทรงตัดสินความย่องเบาจำคุก ๓ ปี ราย ๑ ผู้ร้ายฆ่าคนแล้วมาลุแก่โทษที่พระมหาเทพให้จำคุก ๓ ปี ไม่ฆ่า รายหนึ่ง รวม ๒ ฉะบับ พระยารองเมืองเป็นตระลาการ

๖ เจ้าหมื่นสรรเพธถวายหนังสือพระยาสุดารัตนราชประยูรว่า นายถึกรับหนังสือพิมพ์คุ้มศักดิ์ในกรมพระเทเวศสมัครมาเป็นขอเฝ้าในกรมสมเด็จพระสุดารัตน เซ็นพระราชหัตถ์ในกรมพระสุรัศวดีหักถวายเถิด พระนายสรรเพธรับไป

๗ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ทรงพระภูษาม่วงฉลองพระองค์ทหารขาวทรงสะพักสีนวล ทรงรถพระที่นั่งเสด็จไปวัดสระเกศ พระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาปกในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจามรี ประทับพลับพลาทรงฝักแค แต่เผาเมรุพระยาราชภักดี โปรดฯ ให้ทิ้งทานแล้วเสด็จกลับ แต่เมื่อจะเสด็จรับสั่งกับกรมหมื่นนเรศว่าจะต้องไปเผา ด้วยเป็นลูกเสนาบดีที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์

๙ ที่พลับพลาวัดสระเกศ พระนรินทรถวายหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ ว่าด้วยมิสนอกซ์มีหนังสือตอบด้วยเรื่องเพิ่มพระราชบัญญัติโคกระบือที่ส่งร่างลงไป ท่านเห็นว่าซึ่งกงซุลว่ามานั้น เพราะได้ไปเที่ยวหัวเมืองได้ทราบความบ้าง และได้ฟังตองซูลูกค้าบ้าง ความซึ่งว่ามานั้นก็เป็นการจริง จึงได้ว่ายอมตามหมายประกาศนี้ลองดูก่อน และพระราชบัญญัติซึ่งจะออกไปหัวเมืองนั้น ถ้าท่านเจ้าของเมืองเพิกเฉยเสียไม่ระวังตรวจตราผู้ว่าราชการเมืองอยู่แล้ว ก็จะปล่อยให้นายตำบลทำการผิดพระราชบัญญัติไปต่างๆ ถ้าเป็นไปดังนี้แล้ว พระราชบัญญัติก็ไม่ทรงอยู่ได้ ความเดือดร้อนก็จะเกิดแก่ไพร่บ้านพลเมืองและลูกค้าทั่วไป ขอได้ทรงราชดำริให้จงมาก ส่งต้นออกมาด้วย คัดไว้ หนังสือมิสเตอรนอกซ์ว่าจะยอมตามหมายประกาศเรื่องนี้ลองดูก่อน แต่ถ้าว่าข้าพเจ้าต้องจำ เห็นกฎหมายเรื่องนี้ พวกตองซูที่จะซื้อโคกระบือต่อเจ้าของโดยสุจริต ก็จะเป็นที่ขัดขวางให้เนิ่นช้าเป็นแน่ เพราะเจ้าของโคกระบือไม่อยากไปหาต่อหน้ากรมการด้วยเหตุหลายประการ จะขัดขวางซื้อขายกันโดยสุจริตก็เป็นที่ไม่ปรารถนา จะไม่ให้พวกตองซูซื้อโคกระบือต่อผู้ร้ายนั้นเป็นการดี แต่เขาเห็นว่า ถ้าจะจับโจรผู้ร้ายเองทำโทษก็จะเข็ด หลาบดีกว่า และเห็นจะสมปรารถนาสะดวกกว่าด้วยถึงเพียงนี้ ก็เห็นว่าการที่จับผู้ร้ายนั้นเป็นแต่ห่างๆ ทีเดียว เขาได้ทราบข่าวมาทุกแห่งว่าพวกผู้ร้าย ๑๐ ส่วน ๙ ส่วนนั้นเป็นบ่าวหรือเกี่ยวข้องในเจ้าเมืองกรมการ ถ้ามูลนายดูแลพวกนี้ตามควร และเมื่อจับตัวได้แล้วทำโทษพอสมควรแก่การ ก็จะเข็ดไปมากกว่าจะเข็ดด้วยกฎหมายที่ว่าด้วยแต่ซื้อขายกันเท่านัน ในเมืองอื่น ๆ ที่เป็นเรียบร้อย คอเวอนเมนต์ไม่เกี่ยวข้องด้วยการซื้อขายกันเลย เขายอมให้ตั้งกฎหมายนี้ยอมดูก่อน หวังใจไทยจะเอาเป็นธุระบ้าง จะทำโทษผู้ร้ายที่ลักโคกระบือจากราษฎรที่เป็นต้นเหตุนั้น ลงวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๗

๑๐ พระอภัยสุรินทรขอพระราชทานสำคัญที่พระราชทานหอกกระบี่ เมื่อเป็นจิตรจำนงที่ไฟไหม้ เจ้าพนักงานเร่งเอาว่าไม่มีสำคัญ

วันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ ทรงพระเครื่องใหญ่แล้ว เจ้าหมื่นสรรเพธถวายบัญชีทองเครื่องยศที่พระราชทานพระองค์เจ้าสุขุมาล รวมทองเงินพระคลังข้างที่จัดซื้อและพระราชทานมาแต่ข้างในทำสิ้นแล้วเหลือทองมาทูลเกล้า ฯ ถวาย

๒ รับคำโทรเลขว่าเรือเวสาตรีเข้ามาถึงเวลาคืนนี้ ๒ ยาม

๓ ทรงปิดทองพระคำภีร์ แล้วรับสำเนาหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งมาเป็นสำเนาหนังสือมิสนอกซ์ ว่าด้วยผู้ร้ายปล้นฆ่าหมื่นอาจที่สุพรรณ ว่าที่ไทยว่าหนีเข้าไปในเขตต์แดนอังกฤษนั้น เขาได้มีหนังสือไปถึงคอมมีชันเนอเมืองมรแมน ๆ ตอบมาว่าได้สืบเสาะหนักแล้ว ก็ไม่ได้ความว่าหนีเข้าในเขตต์แดนอังกฤษ เขาเห็นว่าไม่ได้เข้าไปเพราะมีพนักงานสืบอยู่ทุกๆ พวกตามแดน ถ้าไปจริงคงจะรู้ คอมมีชันเนอส่งใบบอกนายโปลิศพะม่ามาฉะบับหนึ่ง เขาส่งสำเนาหนังสือพะม่าและคำแปลมาพิเคราะห์ดูเหมือนโปลิศนั้น จะรู้เรื่องดีกว่าไทย ลงวันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๗ สำเนาหนังสือมองซวยกีที่ ๒ มายังที่ ๑ ว่าเขาสืบได้ความแต่อินตะว่ารู้ข่าวอยู่ว่าเป็นคนไทยที่มีผมเกล้า ๒๘ คน อยู่บ้านชะมัดในเขตต์อำนาจกระเหรี่ยงแดงมีดาบมาคนละ ๕-๑๐ เล่ม ว่าจะมาขายที่บ้านงะนันดากี ซึ่งอยู่แม่ซอกแขวงเมืองตากก็หาได้ขาย ซอศงะสาระ ซอศงะสามะ ไทยลาว ๒ คนที่อยู่บ้านนั้น ให้พาไปที่บ้านจะยากนัก ดูคนไทยลาวอยู่ในเขตต์เมืองอุไทย ถึงนั้นแล้วว่าจะเอาดาบไปขายกรุงเทพฯ แล้วไปปล้นบ้านหมื่นอาจ แล้วพากันกลับมาบ้านฉะยากันดู แล้วให้ปืน ๑ ผ้าแพรพับหนึ่ง ผ้าห่มไหม ให้กับฉะยากันดู แล้วพากันกลับมาทางเมืองกำแพงเพ็ชร์ ๘ คืน ถึงบ้านแม่ซอกอยู่นั้น ๔ คน อีก ๒๔ คนกลับไปบ้านเม่ชะมัด งะ ๒ คนนั้นอยู่บ้านแม่ซอกแน่ แต่ฉะยากันดูนั้นเป็นชาติคนไทยมีผมเกล้าเป็นลาว เดิมเป็นนายโจรอยู่บ้านบิแลน แล้วหนีมาอยู่ที่บ้านธงบางแขวงกอกกอง ๒-๓ ปี แล้วจึงมาอยู่อุทัย ถ้าไทยเอาฉะยากันดูมาถามคงได้ความเป็นแน่ ที่ไทยว่ามาทางอังกฤษนั้น เพราะไม่สืบสวน ที่เขตต์แดนนั้นเขาตรวจคนละเอียด ถ้าคนมีสินค้าหาบคอนก็ให้ไป ถ้าไม่มีต้องแจ้งกับนายโปลิศตรวจ คงไม่มีทางเขาแน่ ลงวันที่ ๒๓ เอปริล

๔ มิสเตอรนอกซ์และเฟนนีเฝ้า ทรงด้วยเรื่องตราจะถวายกวีน รับสั่งถามว่าจะให้ส่งไปก่อนหรือ ทูลว่า ถ้าส่งไปก่อนดีกว่า ด้วยกวีนจะได้อายเพราะตราเราสูง แต่ขอรอไว้ฟังดูสักเมล์หนึ่งก่อน จะมีมาว่ากระไรอีกหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แล้วทรงเรื่องจะตั้งไวซ์กงซุล และทรงบอกด้วยผู้ปล้นเมืองน้ำปาด เขาว่าถ้ามีหนังสือถึงเขา ๆ จะถาม

๕ มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฉะบับหนึ่งตามที่ทรงกับมิสนอกซ์ ได้ทรงถามว่ากงซุลที่เมืองเชียงใหม่นั้นจะตั้งเธอหรือ หนังสือนั้นจะเร่งให้ตอบหรือไม่ เขาว่าเขาเข้าใจหนังสือนั้น พูดไม่สนิทและเป็นคำผิดด้วย อยากจะให้พูดให้เรียบร้อย และการที่ผิดไปแล้ว เห็นว่าควรจะพูดแก่เธอหน่อยหนึ่งจึงจะดี จึงทูลว่าให้ตอบ เพราะทรงปรึกษาเขา แต่จะตอบเร็วตอบช้านั้นแล้วแต่จะโปรด ไม่เร่งดอก จึงทรงว่าการข้างต้นได้ พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าพระยา การปลายไม่อยากจะทำพระองค์เดียว อยากจะรอสมเด็จเจ้าพระยา จะได้หรือไม่ เขาว่าไม่เป็นไรเลยรอก็ได้ การนี้เขาได้บอกสมเด็จแล้วดูก็ชอบใจ จะคอยไปอีก ๓๐ วันเศษไม่เป็นไรดอก เรื่องตั้งกงซุลนี้เขาไม่อยากจะตั้ง เขาจึงได้พูดมากับเจ้าพระยาภาณุวงศ์ และคำที่พูดนั้น ได้บอกถึงคอเวอนเมนต์ด้วยจะคิดอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่เห็นว่าเวลานี้มีการรุสเซียมากคงจะไม่ได้คิดนัก เขาได้หนังสือเท่านี้ก็พูดไปตามคำสั่ง ทรงตอบว่าเรื่องนี้ก็คิดอยู่ว่าจะมีถึงพระยาเทพให้ตรวจดูระยะที่จะตั้ง แต่เห็นว่าไปอยู่กลางป่าใครจะไปว่าความที่นั่น แล้วพอได้ทราบหนังสือนี้ก็ยั้งไว้เสีย เพราะเห็นว่าที่ไหนกงซุลจะไปตั้งอยู่กับข้าหลวงในป่า เขาว่าการที่จะชำระความในป่านั้นง่ายกว่าที่เชียงใหม่ เพราะความเกิดที่นั้นทั้งนั้น การเรื่องนี้ถึงจะจัดก็คงไม่ค้าง เขาไม่อยากจะตั้งกงซุลนัก แล้วทรงซ้ำถามถึงหนังสือตอบอีก ก็ว่าตอบเมื่อใด ๆ ก็ได้ ไม่เตือนดอก การเป็นดังนี้ แต่เจ้าพระยาสุรวงศ์จะเห็นควรให้ตอบไปก่อนหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ จะฟังความคิดดู อนึ่งกับมิสนอกซ์ถามว่า สมเด็จกรมพระนั้นได้ตั้งแล้วหรือยัง ทำไมไม่มีหนังสือถึงเขา ทรงพระราชดำริเห็นว่าครั้งก่อนมีลงไปเป็นแต่แทน ครั้งนี้เป็นตัวแท้แล้ว เห็นจะต้องมีหนังสือส่งคำประกาศในราชกิจจาไปให้ทราบเสียทุกกงซุล

๖ แล้วมีถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ฉะบับหนึ่ง ว่าด้วยการที่จะตั้งไวซ์กงซุลเมืองเชียงใหม่นั้นเป็นราชการสำคัญ ทรงพระวิตกอยู่การเรื่องนี้จะควรตอบโต้ประการใด ขอให้ท่านช่วยตริตรองดูด้วย หนังสือที่จะตอบไปนั้นก็คงจะต้องตอบยอมตั้งตามเค้าหนังสือเดิมที่ได้มีไปแล้ว แต่จะต้องรักษาตัวทั้ง ๒ อย่าง คือรักษาตัวอย่าให้พลอยผิดด้วย และอย่าให้มีการเสียโดยเร็วดังหนังสือไปรเวตที่ทรงมีไปถึงท่านเมื่อวันอังคารแรม ๖ ค่ำ เดือน ปีฉลูนพศกนั้นด้วย ขอให้ท่านตริตรองเรียบเรียงหนังสือขึ้นดูเถิด อนึ่งเวลาวันนี้กงซุลอังกฤษมาเฝ้าได้ทรงถามว่า (ลงความที่โต้ตอบกับมิสนอกซ์เหมือนมีที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์) การเป็นดังนี้ จะควรรอไว้ปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาให้พร้อม ๆ กัน หรือจะส่งหนังสือออกไปปรึกษาท่านที่นอก ท่านให้ความเห็นมาประการใด ควรจะแทรกลงในหนังสือที่จะตอบไปถึงเขา ก็จะได้เพิ่มเติมตกแทรกลงเห็นว่าดีกว่าไม่ปรึกษาท่านด้วย แต่หนังสือที่จะส่งไปนั้น จะส่งทางใดขอให้ท่านช่วยคิด การทั้งนี้ดูจะควรประการใดให้ทูลมาให้ทราบ

๗. วันนี้ไม่ได้ออกขุนนางเพราะทรงพระอักษรค่ำไป ถึงทุ่มเศษจึงได้แล้ว ขึ้นเสวยหน่อยแล้วออก พระยาจ่าแสนยนำจ่าเร่งกราบถวายบังคมลาขึ้นไปชำระความผู้ร้ายปล้นเมืองน้ำปาด อุตรดิตถ์ พระพิทักษ์อุทัยเขตต์กลับขึ้นไปเมือง

วันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ ท่านผู้หญิงอิ่มกลับมาแต่กัลกัตตาถึงกรุงเทพ ฯ วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๗ วันนี้เข้ามาเฝ้าเอาของมาถวายต่างๆ ซุ่นภรรยาพระยาเทพด้วย

๒ เสด็จออกไม่มีราชการอะไร ประทานหมวกแฮลเมตแก่กรมหมื่นนเรศ พิชิต เทวัญ สวัสดิ์ ประวัติ มนุษ จิตร คนละใบ

๓ พระยามหามนตรี พระยาราชสงคราม ถวายตัวอย่างลายยอดปราสาทพระที่นั่งใหม่

วันจันทร แรม ๙ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ กรมหมื่นนเรศทูล สมเด็จกรมพระสั่งให้ขอพระราชทานพระราชหัตถ์สำคัญ มอบการมหาดไทยอีกฉะบับหนึ่ง เพราะแต่ก่อนเป็นแต่แทน ครั้งนี้เป็นตัวแล้ว กับถ้าตราที่ไม่ใช่รับพระบรมราชโองการ ท่านขอรับพระราชทานใช้ตราของท่านไม่ใช้ราชสีห์น้อย เพราะเป็นของตัวจักรี กับใบอนุญาตเรื่องความจะขอพระราชทานใหม่

๒ พระราชทานหนังสือสำคัญสั่งเงินให้พระยามหามนตรีไปถ่ายของพระนมอิ่ม เงินพระคลังข้างใน ๑๐ ชั่ง

๓ รับคำโทรเลขสองฉะบับๆ หนึ่งว่าเรือมาตะแบนเข้ามา อีกฉะบับหนึ่งเรือประภาศกลับมาแต่เมืองกาญจนดิฐถึงเวลาบ่าย ๓ โมง ทอดอยู่เมืองสมุทร

๔ รับเรื่องราวหลวงไมตรี ๒ ฉะบับ ๆ หนึ่งว่าได้ส่งของพระยาสุรศักดิ์ไว้เป็นเงิน ๕๓๐ ชั่ง เงินรายนี้เจ้าพนักงานหักเอาเป็นเงินหลวงทั้งสิ้น ตัวขัดสน ทุนซึ่งจะทำการต่อไปไม่มี ขอพระราชทานกู้เงินหลวง ๕๐๐ ชั่งพอได้ทำทุนต่อไป เดชะพระบารมีทำได้ก็จะได้ใช้หนี้หลวงแลผู้อื่น ๆ ถ้าไม่ได้ก็มีแต่บ้านเรือนและที่ขอถวายเลหลังเป็นหลวง อีกฉะบับหนึ่งว่าเงินที่ส่งของพระยาสุรศักดิ์ ๕๓๐ ชั่ง จะขอส่งหลวงแต่ ๒๐๐ ชั่ง เหลือ ๓๓๐ ชั่ง จะขอรับพระราชทานไปเป็นทุนค้าขายและทำภาษี ถ้าหารับพระราชทานไม่ได้ มีแต่บ้านเรือนและที่จะเลหลังเป็นหลวง

๕ มีพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีให้ท่านเป็นผู้ดูแลทำถนน ด้วยเดิมเป็นของพระยารองเมืองทำ แต่การมีมากจึงดูไม่ตลอดไปได้ การทำถนนนั้น เมื่อแล้วใหม่ๆ ก็เป็นที่สรรเสริญได้ชื่อเสียง นานมาถ้าไม่ได้ซ่อมแซมเสียไปก็เป็นแหเป็นอวน ท่านยกเหตุต่าง ๆ ทรงพระราชดำริเห็นว่าท่านเป็นคนได้เสด็จเที่ยวอยู่เสมอ ให้ท่านดูแลเป็นใหญ่ในการนี้ เห็นว่ามหาดเล็กหรือตำรวจกรมเมืองคนใดพอทำการได้ก็ให้ทำเสีย เงินค่าภาษีส่งรับทำถนนก็มีอยู่แล้วปีละ ๑๐๐ ชั่งเศษ ไม่ต้องใช้เงินอื่น ให้ได้ทำเสียในฤดูฝนนี้ ถ้าจะทำที่ใด ถนนแล้วหรือยังไม่แน่นจะห้ามไม่ให้รถเดินก็ได้

๖ ออกขุนนาง พระยาศรีอ่านบอกพระยานุภาพไตรภพ ว่าสืบได้ความว่านักองค์วัดถาให้เตรียมกำลังจะเข้าตีเมืองกำพงสวาย ได้กำชับด่านทางแข็งแรงขึ้น เมื่อสืบได้ความประการใดจะบอกเข้ามาครั้งหลัง รับสั่งให้บอกไปให้กงซุลฝรั่งเศสทราบไว้ด้วย

รับสำเนาหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งเข้ามา ๕ ฉะบับๆ หนึ่งเป็นสำเนาหนังสือกงซุลฝรั่งเศสว่ามีขุนนางฝรั่งเศส ๓ นายเข้ามาด้วยเรือมัตแบน แล้วจะกลับออกไปเรือนั้นในเที่ยวนี้ ถ้าจะโปรดเกล้า ฯ ให้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทแล้ว เขามีความยินดีที่จะพาเข้ามาเฝ้า ส่งก๊าดเข้ามาด้วยชื่อ Reni de Bolloy, Secretaire d’ Ambassade ๑ T. Phihon Consul de France ๑ Bon de Pibrac, อีกฉะบับหนึ่งสำเนาหนังสือพระสยามธุรพาห์ลงวันที่ ๑๗ เดือนเมย์ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๒ ค่ำเดือน ๖ ว่าด้วยการโปลิติกที่ยุโรปนั้น ที่บอกมาก่อนไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างไร ได้ยินว่าเกาวนโชวะลอฟ Count Shouvaloff ซึ่งเป็นราชทูตเมืองรุสเซียอยู่ที่กรุงลอนดอน ได้ไปเมืองเซนปีเตอร์สเบิกจะจัดการให้สงบ แต่เมืองเตอรกียังจัดการสงครามอยู่เสมอ ที่รุสเซียไม่มีใครเชื่อว่าเตอรกีจัดการเพราะเป็นการขู่อังกฤษ เหมือนเชิญอังกฤษให้ทำสงคราม เพราะฉะนั้นผู้ซึ่งจะจัดการให้เรียบร้อยถึงคอยดูอย่างไรก็เห็นไม่ต้องกัน คนทั้งปวงเห็นการไม่ตกลงคงเกิดสงครามอีก อีกฉะบับหนึ่งหนังสือพระสยามธุรานุรักษ์ ว่าด้วยมีผู้หญิงเอมเปเรอเยอรมันกับว่าด้วยมองซิเออดิเซมมิกา หลวงพิทักษ์สยามการไวซ์กงซุลสยามที่ท่ามารแซย์ ที่ตั้งเมื่อวันที่ ๒๕ เดือนยุไล ๑๙๖๔ ตายวันที่ ๔ เดือนเมย์ ๑๘๗๘ นี้ อายุได้ ๖๖ ปี มีคนขออยากเป็นไวซ์กงซุลมาก เมื่อแกเห็นผู้ใดสมควรจึงจะบอกเข้ามา อนึ่งยังไม่ได้รับหนังสือว่าการต่างประเทศที่ปารีศว่าด้วยการสุรา แต่ตัวแกพูดได้ว่ากงซุลฝรั่งเศสในกรุงเทพฯได้ยั่งยืนตามคำตอบของเขาที่อ้างสัญญาข้อ ๖ ที่ทำเดือนออคัสตวันที่ ๗ ซึ่งมีว่าด้วยสุราชาวฝรั่งเศสจะประพฤติตามความในสัญญานั้น แต่ต้องให้สับเยกอื่น ๆ ประพฤติด้วยทุกข้อทุกประการ ชาวฝรั่งเศสจึงจะประพฤติตามด้วย การที่สัญญาไว้นี้หาสำเร็จทุก ๆ ประเทศไม่ เพราะฉะนั้นจะขอประพฤติตามสัญญาที่ทำไว้ใน ๑๘๖๗ นั้นไม่ได้ กับเงินเดือนเขาแต่วันที่ ๖ เมย์ ๑๘๗๗ ถึงวันที่ ๖ เมย์ ๑๘๗๘ เป็นปีหนึ่งขอให้มอบให้ยุเกอร์ แล้วบอกด้วยการเอ็กซีบีเชน แล้วจะส่งรูปเข้ามา ลงวันที่ ๑๗ เมย์

อีกฉะบับหนึ่งหนังสือพระยาอันฎงค์ส่งต้นหนังสือดอกเตอรซิลเวศเตอหมอที่เมืองปัตเตเวียและโปรเฟสเซอรเฟอยากจะเข้ามาเล่นกลถวายที่กรุงเทพ ฯ กำหนดเขาจะไปจากสิงคโปร์ใน ๑๕ วัน ขอให้ตอบให้เขาทราบ หนังสือนั้นว่าถ้าจะเข้ามาเล่นกรุงเทพ ฯ จะเล่น ๓ ครั้ง กำหนด ๘ วัน เป็นเงิน ๓๐๐๐ เหรียญ แต่ขอให้เสียค่าโดยสารให้พวกเขา ๗ คนอย่างที่ ๑ ด้วย ส่งรูปมาด้วย

รับสั่งกับนายฉันไปบอกเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่ากงซุลฝรั่งเศสให้มาวันพุธแรม ๑๑ ค่ำเดือน ๗ กับเล่นกลนั้นไม่ทอดพระเนตร

๘ พระนรินทรถวายหนังสือสมเด็จเจ้าพระยาเจ้า พระยาสุรวงศ์ หนังสือสมเด็จเจ้าพระยาว่าท่านออกเรือเวสาตรีไปวันศุกร์ขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๗ เวลาบ่าย ๔ โมง ข้ามสันดอนออกไปคลื่นใหญ่ลมจัดไปถึงเจ้าลาย คลื่นลมค่อยสงบ แวะพักอยู่ปากน้ำปรานณวันอาทิตย์แรม ๑ ค่ำเดือน ๗ ใช้จักรออกปากน้ำปรานมาพักเกาะหลัก ๓ ชั่วโมง แล้วออกเรือมาถึงปากน้ำชุมพรวันจันทร์แรม ๒ ค่ำเดือน ๗ เช้า ค่ำออกถึงเกาะปราบปากน้ำเมืองกาญจนดิฐ ตั้งแต่ปรานถึงกาญจนดิฐคลื่นลมไม่สู้จัดกล้าแข็ง เรือเดินเสมอ ๗ นอต เครื่องจักรดีเรือลูกคลื่นไม่สู้แคลงนัก เดชะพระบารมีโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเรือเวสาตรีให้มาเป็นสุขสบาย พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ฯ ลงวันอังคารแรม ๓ ค่ำ เดือน ๗

หนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ว่าได้รับพระราชหัตถ์เลขาลงวันเสาร์แรม ๗ ค่ำเดือน ๗ เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่ากรุงเทพ ฯ ได้ตั้งกงซุลสยามไปอยู่ ณ กรุงลอนดอนและเมืองซึ่งเป็นกอลอนีอังกฤษก็หลายเมือง ครั้นจะโต้ตอบบิดพลิ้วอยู่ก็จะเป็นการขัดขวาง ถ้าโต้ตอบไม่ตลอดก็จะเป็นที่มัวหมองกัน ท่านจึงได้ร่างตอบตามความเห็น ขอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวาย อนึ่งท่านได้ทราบข่าวแต่เรือลูกค้าว่าเกิดสลัดตีเรือฆ่านายเรือตายที่แขวงเมืองกำเนิดนพคุณ ท่านจึงจัดเรือสงครามครรชิตให้ขุนนเรนทรเสนีเป็นนายเรือ ออกไปลาดตระเวน กำหนดใช้จักรวันพุธแรม ๑๑ ค่ำเดือน ๗ ถ้าโปรดให้รับหนังสือตอบกงซุลซึ่งว่าด้วยการตั้งไวซ์กงซุลที่เมืองเชียงใหม่ออกไปปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาด้วยก็จะให้นายเรือรับไปส่งเมืองกาญจนดิฐแล้วส่งร่างตอบมาด้วย ร่างตอบว่าด้วยหนังสือลงวันอังคารแรม ๓ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ไปยังข้าพเจ้าแจ้งความว่าท่านเฮอมาเยคตีสิเกตรีออฟสเตด แจ้งความมายังท่านว่า คอเวอนเมนต์อังกฤษเห็นว่า เพราะข้อ ๑๐ ในหนังสือสัญญาที่กรุงบริตเตนเนียทำไว้ต่อกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนเอปริล คฤศตศักราช ๑๘๕๕ และหนังสือสัญญาที่กรุงทำต่อคอเวอนเมนต์อินเดียเมื่อ ๑๘๗๔ มิได้ลบล้างอำนาจและผลประโยชน์ในหนังสือสัญญา ๑๘๕๕ เลย ถ้าคอเวอนเมนต์อังกฤษจะตั้งไวซ์กงซุลที่เมืองเชียงใหม่ เพราะหมายจะบำรุงการค้าขายในเขตต์แดนไทยให้เป็นประโยชน์กับลูกค้าฝ่ายไทย ฝ่ายอังกฤษ ปรารถนาจะไม่ให้เกิดทุ่มเถียงกันทั้ง ๒ ฝ่าย เหมือนที่ได้เกิดแล้วมา ขอให้ท่านเสนาบดีตริตรองการเรื่องนี้แล้วขอให้มีตอบไปยังท่านนั้น ข้าพเจ้าได้นำข้อความในหนังสือของท่านขึ้นกราบ ฯลฯ แต่สมเด็จพระเจ้าและเสนอ ฯลฯ ทราบแล้วปรึกษาพร้อมกัน

วันอังคารแรม ๑๐ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ พระดิฐการภักดีถวายหนังสือขัดข้องเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ๒ ฉะบับ ๆ หนึ่งว่าด้วยความราชบุตรเมืองเถิน ซึ่งพระราชทานฎีกาให้ชำระความ ในฎีกาว่าเชียงนันขายไม้ให้ราชบุตร ๆ ล่องแพไม้มา เชียงนันจับว่าราชบุตรลักไม้ ราชบุตรให้นายเผื่อนเป็นทนายต่าง ตระลาการถามให้การแล้ว ราชบุตรก็ขึ้นไปเมืองเถินได้เดือนเศษจึงกลับมา ทนายแจ้งว่าเมื่อราชบุตรไปได้ ๑๑-๑๒ วันนั้นตระลาการบังคับให้ส่งสัญญา ได้ร้องว่าสัญญาราชบุตรเอาไป ตระลาการให้ทำผัดตัว ไม่ยอม เอาขังตะรางไว้ ตัวทนไม่ได้ต้องทำผัด ครั้นครบให้ยอม ไม่ยอมก็ขัง จึงต้องยอม แล้วพระยาเจริญตัดสินว่าให้เชียงนันใช้เงินให้ราชบุตร ๒๐๐๐ แถบตามรับแต่ไม้สัก ๒๓๐ ต้นอยู่กลางตระลาการนั้น ตัดสินให้เชียงนันทั้งสิ้น เชียงนันทำสัญญาไว้เดิมถึง ๔๘๐๐ แถบ ตัดสินให้แต่ ๒๐๐๐ นั้น ท่านได้เรียกพระยาเจริญมาถาม พระยาเจริญว่านายเผื่อนทำผัดถึง ๓ นัดไม่ได้ จึงได้ตัดสินว่านายเผื่อนรับว่าเชียงนันให้ไม้ราชบุตร ๒๙๓ ต้น หักส่งครบประจำ ๒๐๐๐ แถบ ๑๕๐ ต้น คงไม้เกินอยู่ ๑๓๓ ต้น แต่ไม้เชียงนันอายัดไว้ ๒๓๓ ต้น คงเป็นไม้ราชบุตร ๙๘ ต้น คำหาคำให้การไม่มีรายกำรายวา จึงเอาไม้ ๑๕๐ ต้น ราคา ๒๐๐๐ แถบ คิดถัวกันเสมอต้นละ ๑๐ บาท ไม้ ๑๓๓ ต้นเงิน ๑๖ ชั่ง ๑๐ บาท ให้ราชบุตรใช้เงินแก่เชียงนัน ถ้าเชียงนันจะเอาไม้คิดก็ให้ราชบุตรคิดถัวราคาไม้ ๒๓๑ ต้น ลงคงราคาเสมอกันให้เชียงนันไป ฝ่ายเชียงนันยอม นายเผื่อนไม่ยอมทำผัดขอรอราชบุตร ๒๒ วัน ถ้าไม่มาตามกำหนดจะยอม ครั้นได้ ๑๔ วันมาทำยอมให้ จะคืนไม้ ๙๘ ต้น จะเอาเงิน ๑๒ ชั่ง ๒๐ บาท เชียงนันก็ยอม นายเผื่อนทำใบเสด็จให้ไว้ พอราชบุตรลงมาถึงนายเผื่อนก็ไม่รับเงิน ได้ความดังนี้ ครั้นชำระต่อไปก็จะเป็นการรื้อถอนหนังสือยอมที่โจทก์จำเลยทำไว้กับตระลาการแล้วนั้น จะโปรดประการใดแล้วแต่จะโปรด อีกฉะบับหนึ่งว่าด้วยเมื่อปีระกาเบญจศก นุดอาหารบริรักษ์แต่ยังไม่เป็นโทษ เรียนสมเด็จเจ้าพระยาว่า เงินนายนุด ๑๕๐ ชั่ง เสนพี่สาว ๑๕๐ ชั่ง รวมเงิน ๓๐๐ ชั่ง ค้างหลวงพิศาลผลพานิช ไปทวงก็ไม่ได้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย สมเด็จเจ้าพระยาเอาตัวมาถามรับแต่ไม่มีเงินจะให้ จึงสั่งให้ขังตรางเร่งเงินได้ ๒ วัน หลวงพิศาลร้องต่อสมเด็จเจ้าพระยาว่า ถ้าขายขาดทุน เจ้าหนี้มิใช่แต่รายเดียว มีอยู่หลายพันชั่ง จะขอให้ขายเลหลังของใช้เจ้าหนี้ สมเด็จเจ้าพระยาให้หาท่านไป สั่งว่าการเลหลังดังนี้กฎหมายไทยก็ไม่มี แต่จะทิ้งไว้ช้าไปของก็จะสูญเสีย ให้ท่านประกาศกับเจ้าว่าจะเลหลังของใช้เงินตามมากน้อย แล้วท่านได้สั่งพระยาเจริญให้ไปทำบัญชี ยังไม่ได้เลหลัง พระยาเพ็ชรพิชัยซึ่งมาร้องว่าเป็นเจ้าหนี้หลวงพิศาลอยู่ ๑๕๐ กับประกันรายเงินพระองค์ยิ่ง ๕๐๐ พระองค์บัญจบ ๒๕๐ รวม ๗๕๐ ถ้าเลหลังดังนี้ต้องขาดทุนมาก จะขอไปว่ากล่าวปราณีประนอมเจ้าหนี้ทั้งปวงให้ยอมยกดอกเบี้ยให้แก่หลวงพิศาล หลวงพิศาลค้าขายและเก็บเงินส่งเจ้าหนี้ปีหนึ่งร้อยลำ ๑๐ เสมอ จนหมดเงิน เมื่อหลวงพิศาลใช้ไม่ได้ตามสัญญาจะขอเลหลัง หลวงพิศาลก็ยอม ท่านเรียนสมเด็จเจ้าพระยาๆ ว่าถ้าได้อย่างนั้นก็ดีแล้ว แต่ถ้าเจ้าหนี้ยอมน้อย พวกที่ไม่ยอมมากกว่า ก็เป็นใช้ไม่ได้ เจ้าหนี้ ๑๒ รายยอม แต่พระยาไพบูลย์รายเดียวไม่ยอม จะเอาทั้งต้นและดอกเบี้ย เจ้าหนี้ทั้งปวงก็ทำหนังสือยกดอกเบี้ยให้ได้ใช้เงินกันมาแต่ปีระกา แล้วพระยาไพบูลย์แต่งให้หลวงอินทรสมบัติฟ้องศาลหลวง ตกมากรมท่ากลาง ท่านได้พบพระยาไพบูลย์ได้ว่ากล่าวก็ไม่ฟัง ก็เป็นนิ่งกันมา ๕ ปีแล้ว มาวันอังคารขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๗ หลวงอินทรสมบัติทนายมายื่นเรื่องราวกล่าวโทษขุนศาลว่าไม่ชำระความให้ ครั้นจะให้ชำระก็ได้ ด้วยเจ้าหนี้ทั้งปวงยอมไว้แล้ว มาขัดแต่ผู้เดียว ขัดข้องอยู่ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง

๒ มีพระราชหัตถ์ตอบไปว่า ขัดข้องเรื่องความหลวงพิศาล เป็นที่พระยาไพบูลย์ ทนายพระยาไพบูลย์ยื่นเรื่องราวกล่าวโทษขุนศาลตระลาการนั้น เห็นว่าความชั้นต้นซึ่งได้จัดไปนั้นตามคำสมเด็จเจ้าพระยาตัดสิน ซึ่งพระยาไพบูลย์ฟ้องศาลหลวงประทับตรากระทรวงกรมท่ากลาง ก็ควรชำระตามพระราชกำหนดกฎหมาย แต่ความนั้นท่านเสนาบดีได้บังคับตัดสินลงอย่างหนึ่งแล้ว ขุนศาลตระลาการจะไปชำระอย่างไรได้ ควรงดเรื่องราวกล่าวโทษขุนศาลตระลาการนี้ไว้ แต่เรื่องความเดิมนั้น เธอจะตัดสินให้เป็นเด็ดขาดได้เองตามคำตัดสินเดิมหรือจะรอไว้ให้สมเด็จเจ้าพระยาท่านตัดสินก็ตาม ด้วยท่านเป็นผู้ตัดสินมาแต่เดิมแล้ว ครั้นจะทรงตัดสินก็ไม่ได้เกี่ยวข้องในการข้างต้นมารับเป็นผู้สั่ง แต่ให้งดเรื่องราวไว้คอยฟังคำตัดสินทีเดียว

๓ พระยาภาษถวายหนังสือว่าวันจันทร์แรม ๙ ค่ำ เดือน ๗ เป็นวันเริ่มเรียนสังสกฤต ได้นิมนต์พระราชาคณะ ๔ รูป คือพระสาสนโสภณ ที่ธรรมวโรดม ๑ พระโพธิวงศ์ ๑ พระวินิตวินัย ๑ พระอมรโมฬี ๑ พระสงฆ์สามเณรผู้เรียน ๒๐ หม่อมเจ้าเณรภุชงค์ ๑ หม่อมราชวงศ์เจริญเปรียญ ๔ ประโยค วัดระฆัง ๑ พระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ ๔ ประโยค วัดราชประดิฐ ๑ มหาอ่อน ๔ ประโยค วัดราชประดิษฐ ๑ พระปลัดตาบเปรียญ ๔ ประโยค วัดราชบพิธ ๑ มหาแฟง ๗ ประโยค วัดนามบัญญัติ ๑ มหายัง ๕ ประโยค มหาเดช ๔ ประโยค วัดโสมนัส ๒ มหาพลับ ๔ ประโยค วัดบรมนิวาส ๑ มหาติด ๔ ประโยค วัดสามพระยา ๑ มหาสาย ๔ ประโยค มหาเทศ ๔ ประโยค วัดบวรนิเวศ ๒ มหาบุญ ๔ ประโยค ๑ มหาอิ่ม ๔ ประโยค สามเณรปุ่น ๔ ประโยค วัดมหาธาตุ ๒ มหาเอม ๔ ประโยค วัดเชตุพน ๑ มหาทัด ๔ ประโยค วัดจักรวรรดิ ๑ มหาสุ่น ๓ ประโยค วัดมหรรณพ์ ๑ มหาอ่อน ๓ ประโยค พระอ่อน วัดบุบผาราม ๑ คฤหัสถ์ผู้เรียน ๖ พระองค์เจ้าฉายเฉิด ๑ พระศรีสุนทร ๑ พระสิทธิไชย ๑ หม่อมราชวงศ์หนู ๑ ขุนโอวาทวรกิจ ๑ นายเดชเปรียญ ๑ หม่อมราชวงศ์เนตรล่าม ๑ มิสเตอรไปเยอล่าม ๑ รวม ๘ ได้จัดของสำหรับพระราชทาน ๑๗ สิ่ง ให้เมื่อสิ้นเวลาสอน แล้วพราหมณ์ได้สปิชด้วยภาษาสังสกฤต อังกฤษ ชี้แจงคุณประโยชน์ที่เรียน พระสาสนโสภณกับแกเป็นผู้แปลให้ผู้เรียนฟัง ถวายพระราชกุศล แล้วถวายคำแปลหนังสือมิสเตอรริศถึงพระยาภาษฉะบับหนึ่งว่าด้วยการตั้งมหาราชาโกโลเนียนออฟฟิศ ได้ตกลงซึ่งไม่เป็นการจริง เขาถือว่าเป็นจริง แต่ยังรอฟังคำสั่งคอเวอนเมนต์อยู่กับเซอรวิลเลียมรอบินซัน ว่าจะเข้ามากรุงเทพ ฯ ถวายตรา ได้ถามเขาว่าการรับรองอย่างไร ตัวเขาตอบว่ารับดี ตัวเจ้าเมืองและภรรยาคงจะเป็นสุข กับกงซุลวิลันดาคนใหม่จะมาถึงบางกอกเร็วๆ นี้ กับว่าด้วยมิสเขาได้มามีหนังสือมาแต่ฝรั่งเศส ว่าที่กงซุลเมืองมารแซย์ว่างอยู่ เขาให้เขาช่วยขอตั้งมองซิเออรกุศตาฟโครเมลา ซึ่งเปนผู้บังคับการในออฟฟิศอินชุรัน หนังสือลงวันที่ ๑๗ ยูน

๔ รับคำโทรเลขฉะบับหนึ่งเวลายาม ๑ ว่าเรือไฟเข้ามาลำ ๑ ไม่ได้ริโปดใช้จักรขึ้นมากรุงเทพ ฯ ทีเดียว ดูเหมือนเรือสงครามครรชิต

๕ ออกขุนนาง พระยาศรีอ่านบอกเมืองนครสวรรค์ ว่าท้องตราและร่างสัญญาป่าไม้มองอีเปรียงที่จะให้ทำสัญญาป่าไม้จะได้รัตติฟายนั้น ได้ให้ไปตามมองอีเปรียง ๆ มีหนังสือมาว่าจะออกไปมรแมน ถ้ากลับมาจึงจะรัตติฟาย ได้เก็บร่างสัญญาเก็บรักษาไว้ในตู้บ้านแล้ว มีผู้ร้ายทิ้งไฟ บ้านพระยานครสวรรค์ไหม้ ข้อพระราชบัญญัติโคกระบือและสัญญาไหม้ ขอใหม่

๖ พระยาจ่าแสนยทูลว่า พระพิทักษ์อุทัยเขตต์ทูลขอโทษที่ให้ลงพระราชอาชญานายรอดที่กล่าวโทษตัวไม่จริง เฆี่ยน ๖๐ ส่งคุก ๓ ปีนั้น ขอให้ลงพระราชอาชญาแต่ ๓๐ สักเป็นเลขคงเมืองๆอุทัย ไม่โปรด ว่าโทษหลวงจะไปพยาบาทกันอย่างไรก็ไม่รู้ไม่ได้ เพราะนี้ทำเป็นโทษหลวง

๗ ขุนนางกรมท่าถวายต้นหนังสือหมออเมริกันลงชื่อเข้ามา ๗ คน ขอบพระเดชพระคุณที่โปรดเกล้า ฯ ให้ได้ซื้อที่ กับสำเนาหนังสือมิสเตอรริศมีมาว่าด้วยขอที่กงซุลเมืองมารแซย์ตามที่มา มาที่พระยาภาษกับว่าด้วยคอเวอเน่อสิงคโปร์จะเข้ามากรุงเทพ ฯ ลงวันเดียวกับหนังสือพระยาภาษ

๘ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษี จดหมายถวายตอบพระราชหัตถ์เลขาว่าซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้กำกับทำถนนรับฉลองพระเดชพระคุณ การซ่อมแซมนี้เดิมพระยารองเมืองใช้คนโทษเป็นกำลัง ใช้เงินแต่ซื้อของ ทำอยู่เล็กๆ น้อยๆ คิดด้วยเกล้าว่าเงินภาษี ๒ อย่างนี้อยู่ใน ๑๐๐ ชั่งเศษ ถ้าคิดทั้งกำลังและสิ่งของจะไม่ใคร่พอกับการ ด้วยเป็นคราวแรก ถนนทุก ๆ ถนน ท่านได้ตรวจดูเป็นถนนอ่อน ๆ เปรอะเปื้อน ดีอยู่แต่ถนนเดียวหน้าจักรวรรดิ์ คิดว่าจะต้องคิดใช้อิฐกับศิลาให้มากจึงจะแข็งแรงมั่นคงตลอดไปได้ ถ้าลงทุนมากเมื่อทีแรกแล้วต่อไปก็ต้องซ่อมแซมเล็กน้อยต่อไปจึงจะพ้นนินทา การครั้งนี้จะโปรดเกล้า ฯ ให้ทำเป็นการเหมาการจ้างหรือจะใช้คนพวกไหน จะได้คิดจัดการให้ทันราชการ

วันพุธแรม ๑๑ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ รับคำโทรเลขว่าวังหน้าลงไปเมืองสมุทร

๒ พระยาภาษกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าซึ่งจะเสด็จทอดพระเนตรทำเตเลโฟนพรุ่งนี้ กงซุลเยอรมันและกงซุลนอรเวสวิดเดนจะขอรับพระราชทานเฝ้าทูล ละอองธุลีพระบาททอดพระเนตรด้วย โปรด ฯ ให้มา

๓ แล้วมีพระราชหัตถ์เป็นอังกฤษถึงคอเวอเน่อสิงคโปร์ฉะบับหนึ่ง ว่าด้วยได้ทรงทราบแต่มิสเตอรริศว่าเลดีรอบินซันจะเข้ามา ทรงยินดีที่จะรับรอง และมีถึงมิสเอม ซึ่งจะแต่งงานกับมิสเตอรริศวันนี้ฉะบับหนึ่ง พระราชทานกำไลงูประดับทับทิม แล้วเขาตอบขอบพระเดชพระคุณเข้ามาฉะบับหนึ่ง

๔ กงซุลฝรั่งเศสพาขุนนางฝรั่งเศส ๓ นายเข้ามาเฝ้า ทรงด้วยเรื่องคนเมืองเขมร ที่กงซุลตอบมานั้นดูความเอาสัญญาใหญ่มาพูด ที่ไทยพูดนั้นว่าด้วยสัญญาฝรั่งเศส ว่าด้วยเมืองเขมรจะต้องเอาคนไว้ดังคราวฝรั่งเศสรับสนองโสไว้ด้วยหนีร้อนมาพึ่งเย็น กงซุลก็ยอม

๕ กาพย์จดหมายถวาย ๒ ฉะบับ ๆ หนึ่งว่าด้วยทูลกระหม่อมพระองค์น้อยจดหมายมาว่ากัปตันเอมขอแตรทหารมหาดเล็กลงไปเป่าในที่แต่งงานบุตรสาว ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาฉะบับหนึ่ง กงซุลฝรั่งเศสให้เธอกราบบังคมทูล ว่าเวลาพรุ่งนี้เช้า ๔ โมงจะขอให้หาฝรั่งเศส ๓ คนไปดู พระที่นั่งอัมรินทร วัดพระแก้ว วัดพุทธรัตน ช้างเผือก กับองค์ดิฐกราบถวายบังคมลาไปปาตีมิสเตอรริศวันนี้ โปรดอนุญาต

๖ สมเด็จกรมพระจดหมายฉะบับทูลเกล้า ฯ ถวายต้นหนังสือมีมาด้วยความมองกุณ ส่งเรื่องราวมองซวยเลนมาด้วย ขอให้ชี้แจงความไปให้เขาทราบ กับร่างตอบกงซุลเรื่องค่าตอไม้และช้างม้าโคกระบือ เรื่องโปรดเกล้า ฯ ให้เราไปทูลสมเด็จว่าเรื่องมองกุณนั้นเห็นจะเกิดเป็นความใหญ่ แต่เรื่องนี้เป็นของปรึกษาเสนาบดี ๆ ตัดสินไว้ต้องปรึกษาให้พร้อม ๆ เรียงความตอบไป แต่เรื่องค่าตอไม้จะผัดเขาไปว่ารอสมเด็จเจ้าพระยาไม่ได้ เพราะเรื่องเล็กน้อยควรจะตรวจบอกพระยาเทพให้ละเอียด แล้วจะได้บอกไป เรื่องช้างม้าโคกระบือนั้นดีแล้ว กับให้ทูลเรื่องทรงกับกงซุลฝรั่งเศสด้วย

๗ ออกขุนนาง พระยาศรีทูลบอก ๔ ฉะบับ ว่าด้วยที่มีหนังสือไปถึงคอมมิสชันเนอเรื่องยางแดงลูกจ้าง เขาตอบมาว่าด้วยออกประกาศส่งสำเนามากับเรื่องเรือจ้าง เรื่องสืบได้ความว่ามองใบตาย กับเขาตอบมาเรื่องความมองบันดอที่ส่งไป เขาเห็นว่าไม่เป็นปล้น ได้ส่งไปมรแมนกับเงินค่าตอไม้และชำระความแล้วริโปดมาด้วย รับสั่งให้คัดเรื่องเขาออกประกาศขึ้นไว้ กับเรื่องมองใบให้รอไว้ก่อนด้วยเป็นความสีบได้

๘ ขุนนางกรมท่าถวายบาญแผนกเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ว่าจีนกุ้ยผู้เป็นที่ขุนทิพอากรซึ่งรับทำภาษีไม้ดำแดงจำนวนปีฉลูนพศก เงิน ๑๓๐ ชั่งสั่งเสด็จมีกำไรบวกเงินจำนวนปีขาลนี้อีก ๑๐ ชั่ง รวมเดิมด้วยเป็นเงิน ๑๔๐ ชั่ง เป็นวันอาทิตย์ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๘

วันพฤหัสบดีแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ เมื่อคืนนี้เวลา ๓ ยามเศษ พระองค์เจ้าสว่างประชวรครรภ์แต่น้อย ๆ เวลาโมงเช้าเสด็จลง ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมง ๑๖ นาที กับ ๑๕ วินาทีประสูติพระราชกุมาร สมเด็จกรมพระ กรมหมื่นนเรศ กรมหมื่นพิชิต เทวัญ เข้าไปเฝ้า รับสั่งให้เข้าไปชม แล้วกรมหมื่นนเรศผูกกระโจม ท้าวอินทรสุริยาเชิญเสด็จขึ้นพระแท่นแล้วเสด็จกลับ

๒ มีพระราชหัตถ์ถึงเสด็จอุปัชฌาย์ขอดวงพระชันษา แล้วเวลาบ่าย ๕ โมงเศษเสด็จออกทรงรถไปสวนสราญรมย์ ทอดพระเนตรมิสเตอรเอนเยลทำถวายที่พระที่นั่งในสวนพร้อมด้วยสมเด็จพระองค์น้อย กงซุลเยอรมัน กงซุลนอรเว สวิดเดน อาลบาศเตอ ขุนนางหลายคน พระยาสมุทรอยู่ที่ออฟฟิศโทรเลข พูดกันได้ยินถนัด แล้วพูดไปเมืองสมุทรด้วย ประทับอยู่จนเกือบย่ำค่ำเสด็จกลับ อนึงเมื่อจะเสด็จที่สนามหญ้า พระพิเทศสสันตรพานิชถวายเรื่องราว ว่าเดิมโปรดเกล้าฯ ให้แกรับปืนคาบศิลาชุดที่ชำรุดไป จำนวนปืนคาบศิลามีรางเครื่องพร้อม ๙๒๗๐ บอก ๆ ลำเหรียนปืนชำรุดปืนคาบศิลาชุด ๒๓๕๗๐ บอกๆละ ๙๐ เซ็น ลำกล้องเปล่า หางไก่หัก ๔๖๓๐ บอก ไม่ได้กำหนดราคานั้น เขาได้ไปจ้างซ่อมแซมจำหน่ายได้ ๒๖๐๐ บอก ราคาบอกละ ๓ บาท เป็นเงิน ๗๘๐๐ บาท หักค่าซ่อมบอกละ ๑ สลึง เงิน ๖๕๐ บาท คงเงิน ๗๑๕๐ บาท บัดนี้ปืนต่างประเทศเปิดจำหน่ายออกมาขึ้นทุกเมือง ขายราคาก็ตก ปืนที่เขาซ่อมจำหน่ายไม่มีผู้ใดซื้อ เพราะปืนต่างประเทศดีกว่า ประการหนึ่ง ซ่อมก็ต้องลงทุนมาก ต้องขายราคาแพง และปืนเขาขายได้ ๒๖๐๐ บอก หักค่าซ่อมแล้วคงเงิน ๗๕๕๐ บาทนั้นเขาขอทูลเกล้า ฯ ถวาย แต่ปืนที่เหลืออยู่อีก ๓๐๒๔๐ บอกนั้น ขอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวายแต่ราคาบอกละ ๑ สลึงพอซ่อมแซมจำหน่ายได้ทุนคืนมาเป็นกำลังในการค้าขายต่อไป แต่ปืนลำกล้องเปล่า ๔๖๓๐ บอกนั้น ขอรับพระราชทานโปรดเกล้า ฯ งดราคาให้เขาด้วย แต่พอเป็นกำลังค้าขายต่อไป เรื่องนี้โปรดให้พระองค์สายไปพูด

๓ รับคำโทรเลขเรือไฟมาลำ ๑ ออก ๒ ลำ

๔ ออกขุนนาง นายรองสนองถวาย ดวงพระชันษาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชายที่เสด็จอุปัชฌาย์ถวายมา

๕ พระยาศรีอ่านบอกเมืองพิไชยส่งต้นหนังสือเมืองหลวงพระบางลงมา ว่าท้าวอินทรโฉมบอกมาที่หลวงพระบาง ด้วยตีฮ่อๆ ตาย ๑๕ คน ยังตั้งอยู่ ยังไม่เลิกไป ขอสะเบียงและศิลาปากนก และขอกองทัพเมืองหลวงพระบางไปช่วย กับว่าเมืองตีนเง่มีหนังสือมาเตือนหนังสือตอบส่งต้นหนังสือลงมาโปรดให้พระราชทานศิลาปากนกไป แล้วอ่านร่างตราตอบเมืองหลวงพระบาง เรื่องกล่าวโทษเจ้าอุปราชว่าข่าเดิมอยู่ในเจ้าอุปราชเป็นชบถ แล้วให้เจ้าอุปราชไปรบฮ่อก็บิดพลิ้วไม่ไป เป็นที่สงสัย เจ้าอุปราชลงมาเฝ้าโปรด ฯ ให้ถาม ให้การว่าข่าพวกนี้เดิมตัวคุมครั้งเจ้าหลวงพระบางจัน ครั้งนี้เจ้าหลวงพระบางให้คนอื่นคุมเก็บส่งแรงเหลือเกิน ข่าจึงเป็นขบถขึ้น การที่ให้ไปรบฮ่อไม่ไปนั้น เพราะป่วยประการหนึ่ง มีใครไปคนหนึ่งเมื่ออับจนขัดสะเบียงและขอให้ไปช่วยก็ไม่ไป กลัวจะเป็นดังนั้น มีตราให้ปรองดองกันเสีย อุปราชเคยได้ประโยชน์อย่างไรให้ได้ดังนั้น ให้ฟังบังคับบัญชาเจ้าเมืองที่ชอบด้วยราชการ

๖ พระนรินทรถวายงบเดือนภาษีฝิ่น ภาษีร้อยชักสาม จำนวนเดือน ๖ เงินคงโรงเดือน ๕ มาจำหน่ายเดือน ๖ ๓๐๓ ชั่ง ๙ ตำลึง ๓ สลึง ๒ ไพ เดือน ๖ ทุน กำไร ฝิ่นสุก ในกรุง เสียงหุนตำลึงละ ๒ บาท ๒ สลึง ฝิ่น ๒๙๘๕๙ เงิน ๙๓๓ ชั่ง ๑ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง สีหุนตำลึงละ ๒ บาท ๑ สลึง ฝิ่น ๑๒๔๕๑/๕ เงิน ๓๕๐ ชั่ง ๓ ตำลึง ๓ บาท ๓ สลึง ๑ เฟื้อง รวมฝิ่น ๔๒๓๑๐/๕ เงิน ๑๒๘๓ ชั่ง ๕ ตำลึง ๓ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง หัวเมือง เสียงหุน ๑๗๑๐ เงิน ๕๓ ตำลึง ๘ ตำลึง ๓ บาท สีหุน ฝิ่น ๑๓๐๐๐ เงิน ๓๖๕ ชั่ง ๑๒ ตำลึง ๒ บาท รวมฝิ่น ๑๔๗๑๐ เงิน ๔๑๙ ชั่ง ๑ ตำลึง ๑ บาท รวม ๒ ราย ฝิ่น ๕๗๐๒๐/๕ เงิน ๑๗๐๒ ชั่ง ๗ ตำลึง ๑ สลึง ๑ เฟื้อง ฝิ่นดิบ จีนซื้อไปเมืองเขมรราคาปักละ ๑๖ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ฝิ่น ๓๐ ก้อน เงิน ๑๒ ชั่ง ๗ ตำลึง ๒ บาท รวมกับเงิน ๒ ราย เป็น ๑๗๑๔ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ๒ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง รวมกับเงินคงโรงเดือน ๕ มาจำหน่ายเดือน ๖ เป็น ๒๐๑๘ ชั่ง ๓ ตำลึง ๓ บาท ๑ เฟื้อง ๒ ไพ

จำหน่ายใช้เงินหลวง ส่งใช้ ๑๐๐๐ ชั่ง, ๑๖๐๕ ชั่ง ๘ ตำลึง ๑ บาท ใช้ลดร้อยละ ๕ เงิน ๔๗ ชั่ง ๑ ตำลึง ๒ บาท ๓ สลึง รวม ๑๖๕๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๒ สลึง ๑ เฟื้อง คงเงิน ๓๖๕ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง ๒ เฟื้อง

ฝิ่นดิบ เดิมคงโรง ๔๕๙๕ ก้อน ลิ้นกระบือหนัก ๒๑๕๘ สลึง ๑๕ เฟื้อง ใหม่ ๑๑๖๐ ก้อน รวมฝิ่นก้อน ๕๗๕๕ ก้อน ลิ้นกระบือ ๒๑๕๘ สลึง ๑๕ เฟื้อง จำหน่ายต้ม ๒๓๐๔ ก้อน ลิ้นหนัก ๘๖๔ สลึง คิด ๑๒ ชั่งเป็น ๔ ก้อน เป็น ๒๘๘ ก้อน รวม ๒๕๙๒ ก้อน จีนซื้อไปเขมร ๓๐ ก้อน รวม ๒๖๒๒ ก้อน

ฝิ่นสุกเดิมคงโรงก้อน เสียงหุน ๒๙๙๘๒/๕ สีหุน ๓๑๒๕๐ รวม ๖๗๒๓๒/๙ ต้มใหม่ ก้อน เสียงหุน ๓๑๖๖๘ สีหุน ๒๗๗๑๔ รวม ๕๙๓๘๒ ลิ้นกระบือ ได้เนื้อ ๔ หุน ๘๘๖๗ รวม ๖๘๒๔๙ จับฝิ่นเถื่อนได้ สีหุน ๓๐ รวม เสียงหุน ๖๑๖๕๐/๕ สีหุน ๗๓๘๖๑/๕ รวม ๑๓๕๕๑๑/๙

จำหน่ายขาย เสียงหุน ๓๕๖๙ สีหุน ๒๕๔๕๑ รวม ๕๗๐๒๐/๕ เตกหะรับไป สีหุน ไปนครชัยศรี สมุทรสาคร สุพรรณ รวม ๕๐๐๐ รวมกับที่ขาย ๖๒๑๒๐/๕ ขาดตาชั่ง เสียงหุน ๒๓ สีหุน ๑๔ รวม ๓๗ รวมทั้งหมด เสียงหุน ๓๑๕๙๒ สีหุน ๓๐๔๖๕/๕ รวม ๖๒๐๕๗/๕

คงฝิ่นสุก เสียงหุน ๓๐๐๕๘/๕ สีหุน ๔๓๓๙๕/๙ รวม ๗๓๔๕๔/๔ ฝิ่นดิบก้อน ๓๔๒๑ ก้อน ลิ้นกระบือหนัก ๑๒๘๔ สลึง ๑๕ เฟื้อง

เตกหะกงสีได้ขายฝิ่ ๔๗๔๑ เงิน ๑๔๑ ชั่ง ๑๑ ตำลึง จำหน่าย ๑๐ ชั่ง ๕ ตำลึง ๓ สลึง ๑ เฟื้อง ส่งเงิน ๑๓๑ ชั่ง ๕ ตำลึง ๓ บาท ๑ เฟื้อง รวมเงินคงโรง กงสีใหญ่เงิน ๓๖๕ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง ๒ ไพ เตกหะกงสี ๑๓๑ ชั่ง ๕ ตำลึง ๓ บาท ๑ เฟื้อง รวม ๔๙๖ ชั่ง ๑๙ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง ๒ ไพ

ภาษีร้อยชักสาม เรือกำปั่นไฟ ๑๒ เรือกำปั่นใบ ๑๑ รวม ๒๓ เรือใหหลำ ๗ เรือแง่ ๑๗ รวม ๔๗ ราคาสินค้าเดิมบอกด่านทุน ๓๕๗๑๘๕-๕-๖-๑ ตีราคาขึ้นได้อีก ๒๓๔๑๔-๓-๑-๑-๗-๔ รวม ๓๘๔๕๙๙-๙-๗-๒-๔-๗ เหรียญ เรียกภาษีร้อยชักสามได้เงิน ได้ผ้า เป็นเงิน ๑๑๕๓๗-๙-๙-๖ เหรียญ คิดราคาเหรียญ ๕ บาท เป็นเงิน ๒๔๐ ชั่ง ๗ ตำลึง ๒ บาท จำหน่ายเงิน ๔๖ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง คงได้เงิน ๗๖๙๘-๖-๐ เหรียญ เงินบาท ๑๖๐ ชั่ง ๗ ตำลึง ๓ บาท ผ้าลายร้อยแปดสิบสามกุลี ๑๘ ผืน ราคาเงิน ๑๖๐๑ เหรียญ เงิน ๓๓ ชั่ง ๗ ตำลึง ๒ สลึง รวมได้เงิน ๑๙๓ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ไม่ได้เรียกทุน ๓๔๖๘-๖-๒-๕ เหรียญ คิดภาษี ๑๐๔๐-๕ เหรียญ

วันศุกร์แรม ๑๓ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ รับหนังสือท่านกาพย์ ๒ ฉะบับ ๆ หนึ่งว่าด้วยนายพิศลทำจดหมายยื่นว่าการในตำแหน่งที่เป็นเปมาสเตอร์นั้นมีมาก เสมียน ๒ คนไม่พอ ขอเสมียนที่ ๒ อีกคนหนึ่ง กับเสมียนสำหรับออฟฟิศใหญ่มีอยู่ ๕ คน ไม่พอ ขอเสมียนที่ ๑ อีกคนหนึ่ง กับว่าด้วยคนสมัครเข้ามาเป็นทหารอีก ๕ คน ขอพระบรมราชานุญาตส่งจำนวนชื่อมาด้วย อิกฉะบับหนึ่งว่าจมื่นพิชิตทำจดหมายบอกว่าในเดือน ๘ หมอจะมาจุดกล่อน ขออยู่รักษาตัวไม่เข้าเวร ส่งจดหมายมาด้วย

๒ กงซุลเยอรมันพาที่มิสเตอรเฮาสแมนที่ ๒ เข้ามาเฝ้า กงซุลคอนเครชุเลต สมเด็จพระเจ้าลูกยาเชอประสูติ

๓ พระยาสุรินทรทำเรื่องราวทูลเกล้า ฯ ว่าเดิมทาสพระยาราชภักดี ๓ คน อ้ายป่องอายุได้ ๖๑ ปี อ้ายริดอายุ ๔๘ ปี อ้ายกลัดอายุ ๖๖ ปี รวม ๓ คนนี้เป็นลูกทาสมาแต่เดิม ครั้นบิดาถึงอาสัญกรรมแล้ว กรมสัสดีเร่งให้ทำหางว่าวไปชำระหักโอน แกค้นหาสารกรมธรรม์ไปหักโอนก็ไม่พบ ขอรับพระราชทานไว้เป็นเลขทาสตามเดิม เซ็นวันอังคารขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘

๔ พระยาภาษถวายหนังสือพระยาอัษฎงค์ฝากมาทูลเกล้า ฯ ถวายว่าด้วยคอเวอเน่อสิงคโปร์จะเข้ามาถวายตรา และจะมาที่เมืองแขกฝ่ายตะวันตกด้วย จะมาในเดือนหน้า แต่ยังหาได้กำหนดไม่ กับว่าการโปลิศในยุโรปยังไม่แน่ว่าจะอย่างไร ข่าวเตเลกราฟว่าประชุมกันปรึกษาอยู่เรื่องเมืองมัวนั้นว่า มหารายายะโฮไปเมืองลอนดอน เพราะอยากจะเป็นสุลต่าน หนังสือลงวันเสาร์แรม ๗ ค่ำเดือน ๗

๕ ออกขุนนาง พระยาศรีอ่านบอกจมื่นประธานมณเฑียรข้าหลวงชำระผู้ร้ายที่เมืองอินทรลงมาฉะบับหนึ่ง ว่าได้ตัวชำระบ้าง ยังบ้าง กับพระนครพราหมณ์ปลัดเมืองลพบุรีบอกด้วย ฆ่ากันตาย ๔ ฉะบับ

๖ พระวุฒิการจดหมายถวายว่าด้วยไปตรวจกุฎีสมเด็จพระวันรัตน ซึ่งจะให้พระธรรมไตรโลกย์ไปอยู่พร้อมด้วยพระมงคลเทพ ชำรุดหลายอย่างมีพื้นหลังคาเป็นต้น จะต้องซ่อมแซม พระมงคลเทพรับฉลองพระเดชพระคุณให้ทันเดือน ๘ จะขอรับพระราชทานเงิน ๕ ชั่งไปซื้อของจ้างคน ถ้าไม่พอจะขออีก ถ้าเหลือจะทูลเกล้า ฯ ถวายคืน พระราชทานหนังสือสำคัญให้

๗ จมื่นวิชิตจดหมายรายจำนวนถังสำหรับใส่ปัสตันปืนแคตลิงกันทูลเกล้า ฯ ถวาย ว่าได้ทำส่งพระองค์สายแล้ว ๓๗ ถังเสด็จ แล้วพระราชทานเงินค่าให้จมื่นวิชิต เงิน ๑๘ ชั่ง ๔๐ บาท รายวันที่คิดอีกฉะบับหนึ่งเงิน ๕ ชั่ง

วันเสาร์แรม ๑๔ ค่ำเดือน ๗ ปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑ รับคำโทรเลขเรือออกลำ ๑ ชื่อมัตแบนเรือไฟ

๒ กรมหมื่นนเรศถวายหนังสือหลวงสิงหฬ พระยาสุจริตมีลงมาให้นำขึ้นทูลเกล้า ๆ ถวาย ๒ ฉะบับ ๆ หนึ่งชื่อหลวงสิงหฬคนเดียวว่าขึ้นไปถึงเมืองตาก พระยาสุจริตได้จัดเรือจัดช้างส่งกับรับรองให้แพอยู่ และเลี้ยงพร้อมด้วยมิสเตอรดิเวน และเห็นโรงปืนและที่พักข้าหลวง พระยาสุจริตสร้างไว้แข็งแรงงามสง่าดี กับว่าพระยาสุจริตว่า เมื่อเดือน ๒-๓ คนที่เมืองตากเป็นไข้ตายประมาณ ๑๐๐ เศษ มีกะเหรี่ยง พะม่า ชมพระยาสุจริตว่าจัดการบ้านเมืองรักษาโจรผู้ร้ายแข็ง ราษฎรค่อยมีความสุข ช้างม้าปล่อยได้ แต่กรมการดูกิริยารักพระยาสุจริตเป็นคน ๆ ลงวันพุธแรม ๖ ค่ำเดือน ๖

อีกฉะบับ ๑ มีชื่อพระยาสุจริตด้วย ว่าทราบว่าที่เมืองมรแมนความไข้อหิวาตกโรคชุม พะม่าลูกค้าแจ้งความว่ามองใบกับบุตรหญิงตายด้วยโรคนี้ พระยาสุจริตได้ถามมองเปญาติมองใบก็รับสมจริงว่าพวกของมองใบมีหนังสือมา ได้แปลหนังสือ ก็ได้ความจริง ได้บอกขึ้นไปที่พระยาเทพแล้ว

๓ ทรงรับหนังสือพระยาสุจริตคัดบอกส่งมาแต่ข้างใน มีความว่าจีนเกงแซเชิญตราพระราชสีห์ขึ้นไปว่าด้วยห้างเบกอดเตอ ส่งเรื่องราวจีนเกงแซถวายสมเด็จ ว่าจีนเกงแซซื้อเหล้าไปจำหน่ายเมืองตาก จีนเตงนายอากร จีนซงหยงกับพวกว่าเป็นหนังสือปลอม ครั้นค่ำมาจับเหล้าและทุบตีพวกจีนเกงแซ กระปุกขวดเหล้าแตกของหาย คนมีบาดแผลนั้นให้ชำระ ถ้าไม่ตกลงให้ส่งความลงมา และความเรื่องนี้เดิมพระยาสุจริตว่าได้บอกขัดข้องลงมากรุงเทพ ฯ สองครั้ง ๆ หนึ่งลงวันพฤหัสบดีขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๑ ปีฉลูนพศก ว่าจีนซงหยงสับเยกอังกฤษกับจีนแจ้งพวกหนึ่ง จีนเจียงเพียงสับเยกโปรตุเกศกับจีนเกงแซเป็นคนรับน้ำสุราฝรั่งเศสพวกหนึ่ง ต่างคนต่างฟ้องกล่าวโทษตีฟันกัน แล้วจีนซงหยงกล่าวโทษเพิ่มเติมอีก ๒ ฉะบับ เห็นว่าเป็นความพวกร่มธงต่อร่มธง จึงบอกขัดข้องลงมา ครั้นต่อมาเมียจีนซงหยงเชิญตราพระราชสีห์ขึ้นไปที่มิสนอกซ์มีหนังสือส่งเรื่องราวจีนซงหยงวิวาทกับจีนซือเหียน พวกจีนเกงแซขึ้นไปให้ชำระ หาด้วยทุบตีบุตร แล้วต่อไปจีนเกงแซเอาหนังสือห้างดีเบว่าด้วยให้ชำระเรื่องจับสุราอีก ครั้นเอาตัวจีนเหียนมาว่า ก็ว่าขอให้เอาตัวความรายจีนเกงแซฟ้องมาว่าด้วยเป็นการขัดข้อง ด้วยต่างคนเป็นโจทก์ดังนี้ จึงได้บอกขัดข้องลงมาอีก ก็ไม่มีตราขึ้นไป ครั้งนี้มีตราให้จีนเกงแซเป็นโจทก์อีก ข้างจีนทั้งสองพวกก็ไม่ยอมกันลง ต่างคนต่างถือตราพระราชสีห์ทั้งสองฝ่าย ได้เปรียบเทียบให้สืบพะยานรางวัดก็ไม่ยอม ข้างจีนเซงหยงจะขอลงมาแจ้งต่อกงซุล การเป็นดังนี้ยิ่งขัดข้องหนักขึ้น กับมีใบเล็กมาอีกฉะบับหนึ่ง ว่าการซึ่งเป็นทั้งนี้ เห็นจะเป็นเพราะเจ้าพนักงานกรมมหาดไทยไม่นำบอกขัดข้อง ๒ ฉะบับกับร่างตราเจ้าพระยาภูธราภัยไม่ไปทูลให้สมเด็จกรมพระทราบ ท่านจึงสั่งให้มีตราให้จีนเกงแซเป็นโจทก์ขึ้นไปอีก โปรดให้กรมหมื่นนเรศนำต้นหนังสือไปถวายสมเด็จ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ