สดุดีพจน์

แด่ นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์

เนื่องในโอกาสมีอายุครบ ๗ รอบบริบูรณ์

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๒

----------------------------

พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ” แปลว่า การได้มาเกิดเป็นมนุษย์นั้นยากนักหนา เพราะว่า มนุษย์ทั้งหลายต่างตกอยู่ใต้อำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน แล้วก็มั่วสุมอยู่ในอกุศลกรรมนานาประการ เมื่อสิ้นชีพทำลายขันธ์แล้ว ก็มักจะไปเกิดในอบายภูมิคือนรก เปรตวิสัย อสุรกายและดิรัจฉานกำเนิดเสียเป็นส่วนมาก ที่ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกนั้นยากนักหนา

ในบรรดาผู้ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์นั้น ที่จะได้เกิดในครอบครัวอันอุตม ประกอบด้วยมารดาบิดาผู้ทรงคุณธรรมก็หาไว้ยาก และในจำนวนที่หาได้ยากนั้น เราเหล่าบุตรธิดาของ นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ก็เป็นส่วนหนึ่ง นับว่าเป็นกุศลผลบุญแต่หนหลังที่ส่งเรามาถือกำเนิดในครรโภทรแห่งมารดาผู้ประเสริฐเช่นนั้น

นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๓๓ ตรงกับเดือน ๖ เหนือ (เดือน ๔ ใต้) แรม ๑๐ ค่ำ ยามกลองงาย (๙.๐๐ นาฬิกา) เป็นบุตรคนโตของหลวงอนุสารสุนทร กรมการพิเศษเมืองนครเชียงใหม่ และนางคำเที่ยง อนุสารสุนทร ณ บ้างตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีอายุครบ ๘๔ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๒ นับว่าเป็นผู้มือายุยืนยาวคนหนึ่ง นอกจากจะมีอายุยืนยาวแล้ว ยังมีสุขภาพอนามัยดีอิกด้วย ยังสามารถประกอบกิจการงานส่วนตน และส่วนกุศลสาธารณประโยชน์ ได้เป็นอย่างดี ข้อนี้ก็เป็นผลกุศลกรรมที่ประกอบไว้แต่หนหลัง สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ในจูฬกัมมวิภังคสูตร ว่าบุคคลผู้มีใจเปี่ยมด้วยเมตตากรุณาสัตว์ เว้นขาดจากการทำลายชีวิตและการทรมานสัตว์ ย่อมมีชีวิตยืนยาวและปราศจากโรคภัยเบียดเบียน

แม้ในปัจจุบันชาตินี้ นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ก็ยังมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์อันเป็นอุปนิสัยบารมีที่ติดมาแต่ปุเรชาติ ที่บ้านถนนวิชยานนท์ แม้จะเป็นศูนย์กลางการค้า มีอาคารบ้านเรือนหนาแน่น มียวดยานคับคั่งและเกลื่อนกล่นด้วยฝูงชน ก็ยังมีนกมาอาศัยอยู่หลายร้อยตัวและมีกระรอกมาอาศัยอยู่ ๒๐ กว่าตัว ทั้งนี้ก็เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกมีความปลอดภัยจากการคุ้มครองของ นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ และมีอาหารกินบริบูรณ์ตลอดปีจากเจ้าของบ้าน แสดงว่าเป็นผู้รักธรรมชาติ และช่วยอนุรักษ์สัตว์ โดยไม่ต้องมีผู้ใดมาบังคับ หรือชักชวน

นอกจากจะรักสัตว์แล้ว นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ยังรักต้นไม้อีกด้วย ชอบปลูกต้นไม้ผล ต้นไม้ดอก ชอบออกแบบสวนดอกไม้และสวนป่า มีผลงานแสดงใช้เห็นความคิดสร้างสรรอันสูงส่ง ผู้ที่มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านเวฬุวัน เชิงดอยสุเทพ ต่างประทับใจในฝีมือการออกแบบสวนดอกไม้ของ นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ความรักและความสามารถในการออกแบบได้แสดงออกในด้านเสื้อผ้าด้วย

มีบางท่านกล่าวว่า ตระกูลนิมมานเหมินท์ เป็นตระกูลผู้สนใจในความรู้เพราะมีสมาชิกของตระกูลนี้หลายท่านมีชื่อเสียงในทางวิชาการ ถ้าคำกล่าวนี้เป็นความจริง คุณความดีก็คงตกอยู่แก่บุรพชนของตระกูล รวมทั้ง นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ด้วย เพราะบูรพชนของตระกูลนี้ต่างใฝ่ใจในความรู้ ชอบอ่านหนังสือและเก็บสะสมหนังสือ เฉพาะนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ นั้นชอบอ่านหนังสือธรรม สารคดี และประวัติศาสตร์ เป็นชีวิตจิตใจ แม้จะมีอายุมากแล้วก็ยังอ่านเป็นประจำทุกวัน วันละ ๓ ชั่วโมง และสามารถอ่านหนังสือเล่มหนา ๆ จบในเวลาอันรวดเร็ว ความรักในความรู้ย่อมนำไปสู่การสะสมหนังสือเป็นธรรมตา นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ได้สะสมหนังสือประเภทต่าง ๆ ไว้เป็นห้องสมุดส่วนตัวขนาดใหญ่พอดูทีเดียว อุปนิสัยรักในความรู้นี้เองได้รับการถ่ายทอดให้ลูกหลานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

ความรักในความรู้ของ นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ประกอบกับความเมตตากรุณาซึ่งมีอยู่แล้วเป็นพื้นฐานของจิตใจ ทำให้ท่านเกิดความสงสารเห็นใจเยาวชนของชาติที่มีสติปัญญา แต่มีฐานะยากจน และจากความสงสารเห็นใจนี้เอง ท่านได้ให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมถึงอุดมศึกษา จนกระทั่งบัดนี้มีผู้ได้รับทุนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน ต่างจบการศึกษาออกไปประกอบอาชีพต่าง ๆ กัน นักเรียนทุนของท่านบางคนได้เป็นถึงรัฐมนตรี บางคนก็ใด้เป็นนายแพทย์ เป็นนายอำเภอ ปลัด อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและนางพยาบาล ก็มากมาย

ความเมตตากรุณาของ นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ได้ขยายขอบเขตออกไปถึงเด็กที่เกิดมามีอวัยวะพิกลพิการ ดังนั้นในบี พ.ศ. ๒๕๑๘ ท่านจึงได้สละทรัพย์กว่าแสนบาท ตั้งมูลนิธิอนุสารสุนทรเพื่อสงเคราะห์คนหูหนวกขึ้น ได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินและอาคารเป็นโรงเรียนสอนเด็กหูหนวก และได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิฯ มาจนกระทั่งบัดนี้

ในปัจจุบันนี้ นครเชียงใหม่มีสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่เช็ดหน้าชูตาชาวเชียงใหม่ และชาวเหนือทั้งมวลอยู่แห่งหนึ่ง นั้นก็คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีอาณาบริเวณท์สวยงามที่สุดในเอเซียอาคเนย์ มีนักศึกษากว่า ๘,๐๐๐ คน และในจำนวนนี้เป็นลูกชาวเหนือกว่าร้อยละ ๔๐ สามารถผลิตบัณฑิตออกไปพัฒนาประเทศชาติปีละเกือบ ๒,๐๐๐ คน แต่คงมีคนน้อยคนที่ทราบว่านางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ เป็นผู้มีส่วนผลักดันอย่างสำคัญ ที่ทำให้เกิดมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นมา

เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ลูกหลานภายใต้การดูแลของนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ พร้อมกับญาติมิตร ได้ออกหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายวัน และนิตยสารรายเดือน ประจำภาคเหนือฉบับแรกชื่อ “คนเมือง” และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ หนังสือพิมพ์คนเมืองได้ทำการรณรงค์เรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยประจำภาคเหนือขึ้น โดย นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ร่วมกับ นายกี นิมมานเหมินท์ ผู้สามี (ถึงแก่กรรมแล้ว) เป็นผู้ออกทุนช่วยเหลือพิมพ์บัตรโฆษณาเรียกร้องสึแดงขึ้นมา ๒ แบบ คือ แบบวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ ซ.ม. มีข้อความว่า “ในภาคเหนือ เราต้องการมหาวิทยาลัย” และแบบสี่เหลี่ยม ขนาด ๒ คูณ ๔ ซ.ม. คล้ายดวงตราไปรษณีย์ มีข้อความว่า "เราต้องการมหาวิทยาลัยประจำลานนาไทย” ชาวเชียงใหม่ทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ ได้นำเอาบัตรโฆษณาสีแดงเหล่านี้ ปิดตามที่ต่าง ๆ ทั่วบ้านทั่วเมือง แม้กระทั่งบนรถสามล้อบนเกวียน และบนจดหมายที่ส่งไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศ ผลปรากฏว่า พล.อ. มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้น เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เพราะเหตุใดจึงพิมพ์ด้วยสีแดง เหตุไฉนมิได้พิมพ์ด้วยสีอื่น เช่น สีเขียว หรือสีน้ำเงิน (ในสมัยนันรัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลอเมริกัน กำลังทำสงครามจิตวิทยากับคอมมิวนิสต์ จึงมีการกลัว และรังเกียจสีแดง หลังคาของอาคารราชการ เช่น ศาลากลาง และศาลจังหวัด เป็นต้น ก็ได้เปลี่ยนกระเบื้องหลังคาจากสีแดงมาเป็นสีเขียว แม้แต่ตราครุฑซึ่งเป็นตราแผ่นดินที่ใช้พิมพ์ติดที่หัวกระดาษหนังสือ และซองหนังสือราชการ ตั้งแต่โบราณกาลมาเคยใช้สีแดง ก็ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสีดำไป) จึงได้มีการสอบสวนกันขึ้น แต่ก็ไม่สามารถจะเอาความผิดอะไรได้ นอกจากการพิมพ์บัตรโดยไม่ลงชื่อผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ซึ่งเป็นการผิด พ.ร.บ. การพิมพ์เท่านั้น ทางอำเภอสั่งให้ทำการปรับเป็นเงิน ๒๐.- บาท แต่บรรณาธิการ “คนเมือง” ได้เสียค่าปรับ ๕๐.- บาท เป็นการถวายหลวง การที่ใช้สีแดงพิมพ์บัตรโฆษณาเรียกร้องขอมหาวิทยาลัยนั้น เนื่องจากสีแดงเป็นสีที่สดุดตา แม้ในธงไตรรงค์สีแดงหมายถึงชาติ คือประชาชน นั่นเอง

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๑ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลโทประยูร ภมรมนตรี ได้มาลงสมัครที่เชียงใหม่ ได้เลขที่ ๑๕ และพิมพ์ข้อความดังต่อไปนี้ในใบโฆษณาหาเสียง “พี่น้องร่ำร้องเรียกหามหาวิทยาลัย......ผม พลโทประยูร ภมรมนตรี นำมหาวิทยาลัยแพทย์มาให้เชียงใหม่แล้ว เลือก พลโทประยูร ภมรมนตรี” เป็นอันว่าชาวเชียงใหม่ได้คณะแพทยศาสตร์มาก่อนเป็นอันดับแรก และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สมบูรณ์แบบก็ได้เปิดทำการสอนสมดังเจตนารมณ์ของนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ และ ชาวเชียงใหม่ทุกคน

เมื่อทางรัฐบาลตกลงที่จะตั้งคณะแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ก็ได้ช่วยราชการ โดยการขายบริจาค (ขายต่ำกว่าราคาตลาด) ที่ดินถนนสุเทพ เพื่อสร้างคณะแพทยศาสตร์ ปัจจุบันนี้ขึ้น ด้วยความร่วมมือกับ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา น้องชาย (ถึงแก่กรรมแล้ว) และในระหว่างที่ ม.ล. ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาหาที่ดินเพื่อจัดสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นนั้น นางกิมฮ้อ และ นายกี นิมมานเหมินท์ ผู้สามี ก็ได้ช่วยราชการโดยการขายบริจาคที่ดินผืนใหญ่ ตลอดแนวถนนห้วยแก้วให้แก่ทางราชการอีกในราคาต่ำ

นอกจากจะขายบริจาคที่ดินผืนใหญ่ช่วยทางราชการแล้ว ยังได้สละที่ดินสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนห้วยแก้ว กับถนนสุเทพ ถึง ๒ สาย คือ ถนนลาดยางแอสฟัลท์ กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๑,๘๐๐ เมตร ตั้งชื่อว่า ถนนนิมมานเหมินท์ (ได้แก่ถนนหน้าโรงแรมรินคำ ติดต่อกับถนนซุปเปอร์ ไฮเวย์) สายหนึ่ง กับถนนศิริมังคลาจารย์ เลียบข้างบ้านพักอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ไปทะลุออกถนนห้วยแก้วที่ข้างโรงภาพยนตร์ฟ้าธานีอีกสายหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรไปมาแก่ประชาชนทั่วไป

ในสมัยก่อนนั้น งานฤดูหนาวของจังหวัดจัดขึ้นที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยทุกปี ซึ่งคับแคบ และรบกวนเวลาเรียนของนักเรียน นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ร่วมกับนายกี นิมมานเหม็นท์ ผู้สามี ได้ยกที่ดินผืนใหญ่ให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดสร้างสนามกีฬาประจำจังหวัดขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้เป็นที่ตั้งวิทยาลัยพลศึกษา และส่วนที่ดินของนายไกรศรี และ นางจรรยา นิมมานเหมินท์ บุตรชาย และบุตรสะใภ้ ซึ่งอยู่ติดกัน ได้ยกให้แก่กระทรวงศึกษาธิการพร้อมๆ กันใช้เป็นศูนย์การศึกษาประชาชน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำการสอนสามัญนักเรียนผู้ใหญ่ สองระดับ คือ ระดับ ๓ (ป.๕ ถึง ป. ๗) และ ระดับ ๔ (มศ. ๑ ถึง มศ. ๓) นอกจากนี้ยังสอนวิชาชีพ คือ ช่างวิทยุ พิมพ์ดีด เย็บผ้าสตรี ช่างยนต์ ช่างเชื่อม อาหาร และตัดผมอีกด้วย ปัจจุบันนี้มีนักเรียนผู้ใหญ่ ๔๐๐ คน

ในด้านการช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ทุกข์นั้น นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ได้ยกที่ดินแปลงหนึ่ง ติดกับถนนสายเชียงใหม่--ฮอด ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดสร้างเป็นสถานที่พักฟื้นสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคปอด และได้สร้างตึก ชุติมา-นิมมานเหมินท์ ให้แก่โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ สำหรับถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนานั้น ได้สร้างพระวิหารถวายวัดสบโป่ง ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ได้เป็นเจ้าศรัทธาคนสำคัญคนหนึ่งในการก่อสร้างพุทธสถานเชียงใหม่และดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ มูลนิธิพุทธสถานเชียงใหม่มาจนกระทั่งบัดนี้

อนึ่ง ในด้านการรักษาไว้ซึ่งสถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมของลานนาไทย นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ได้ยกเรือนโบราณไม้สักหลังใหญ่ ที่ก่อสร้างขึ้นมาเป็นเวลานานกว่า ๑๒๐ ปี อันมีนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ อีกทั้งบรรพสตรีคนอื่น ๆ ได้เกิดในบ้านหลังนั้นประมาณ ๕ ชั่วคน ให้แก่สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังใช้เป็นที่ศึกษาค้นคว้าสถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมของลานนาไทย ได้ให้ชื่อเรือนโบราณหลังนี้ว่า “เรือนคำเที่ยง” เพื่อเป็นอนุสรณ์แต่นางคำเที่ยง อนุสารสุนทร ผู้มารดา ซึ่งได้เกิดในเรือนหลังนี้ด้วย เป็นที่น่าสดุดตายิ่งนักเมื่อได้เห็นเรือนโบราณของลานนาไทย ที่ได้รื้อถอนโยกย้ายจากเชียงใหม่ ลงไปปลูกสร้างไว้ตามสภาพเดิมที่กรุงเทพมหานคร ท่ามกลางอาคารสมัยใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงเปิด “เรือนคำเที่ยง” เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยา เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙

งานกุศลสาธารณประโยชน์ต่างๆ ที่นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ได้ประกอบกระทำมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานนั้น ไม่สามารถจะบรรยายในรายละเอียดใด้ สรุปว่าท่านได้บริจาคทรัพย์จำนวนล้าน ๆ ในการช่วยเหลือวัด โรงเรียน โรงพยาบาล และมูลนิธิการกุศลต่างๆ อำนวยประโยชน์สุขแก่พระภิกษุสงฆ์ และประชาชนทุกชั้นนับจำนวนไม่ถ้วน

ตลอดระยะเวลาแห่งชีวิตอันยาวนานที่ผ่านมา นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ได้ประกอบภารกิจครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ทั้งในฐานะเป็นภรรยาของสามี คือ นายกี นิมมานเหมินท์ เป็นมารดาของบุตรธิกา เป็นพลเมืองของประเทศชาติ และเป็นศาสนิกของพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้ร่ำรวย ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ และบริวารอันเป็นส่วนวัตถุทรัพย์ แต่ท่านก็ทราบดีว่า ทรัพย์ อำนาจ บริวาร หาใช่สาระอันแท้จริงแห่งชีวิตไม่ ท่านจึงเปลี่ยนวัตถุทรัพย์ให้เป็นอริยทรัพย์ ด้วยการกระทำความดี ซึ่งจะติดตามไปอุปถัมภ์บำรุงท่านแม้ในสัมปรายภพ

บรรตาผู้สืบสายโลหิตของ นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ รู้สึกซาบซึ้งในความกรุณาของท่านอาจารย์ สิงฆะ วรรณสัย ที่ได้กรุณาให้ความช่วยเหลือเร่งรัดถอดความวรรณกรรมโบราณ เรื่องมังทรารบเชียงใหม่ ออกเป็นภาษาไทยปัจจุบัน เพื่อให้เสร็จทันตีพิมพ์แจกเป็นบรรณาการแก่มิตรสหาย ในวันฉลองวันเกิดครบ ๗ รอบของนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์

ท่านศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งเคยศึกษาวรรณกรรมเรื่องนี้มาก่อน ได้กรุณาเขียนคำนำ และคำอธิบายบวงตอนให้ท่านผู้อ่านเกิดความเข้าใจและความซาบซึ้งในวรรณกรรมเรื่องนี้ยิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์ แสง จันทร์งาม แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กรุณาเขียนสดุดีพจน์แต่นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์

บรรดาบุตรธิดา หลาน เหลน ของนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสามเป็นอย่างยิ่ง ณ ที่นี้

เนื่องในโอกาสวันครบรอบอายุ ๘๔ ปี ของนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ บุตรธิดา และหลานเหลนทุกคน ขอตั้งสัตยาธิษฐาน ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและอำนาจบุญกุศลทั้งมวลที่ท่านได้กระทำแล้ว จงดลบันดาลให้ท่านมีอายุยืนนาน พร้อมด้วยพลานามัยอันสมบูรณ์ มีจิตใจผ่องใสและสงบสุข เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลานเหลนและญาติมิตรตลอดกาลนานเทอญ

บุตรธิดา (ตามลำดับอายุ)

นายไกรศรี นิมมานเหมินท์์ (นางจรรยา)

นายพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ (ม.ร.ว. พันธุ์ชมพูนุท)

นายอัน นิมมานเหมินท์ (นางนาตาลี, ต่อมาสมรสกับนางประคอง)

นายเรือง นิมมานเหมินท์ (นางบุพพัณห์)

นางแจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์ (นายวิชัย)

นางอุณณ์ ชุติมา (นายบวร)

หลาน (ตามลำดับอายุ)

นางนลินี เลขะกุล (ธิดานายพิสุทธิ์ และ ม.ร.ว. พันธุ์ชมพูนุท)
นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (บุตรนายไกรศรี และนางจรรยา)
นางแว่นทิพย์ สุวพร (ธิดานายเรือง และนางบุพพัณห์)
นายสุทธิพันธุ์ นิมมานเหมินท์ (บุตรนายพิสุทธิ์ และ ม.ร.ว. พันธุ์ ชมพูนุท)
นายศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ (บุตรนายไกรศรี และนางจรรยา)
นายนภดล เลาหวัฒน์ (บุตรนางแจ่มจิตต์ และนายวิชัย)
นายอนันต์ชัย นิมมานเหมินท์ (บุตรนายอัน และนางนาตาลี)
นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ (บุตรนายพิสุทธิ์ และ ม.ร.ว. พันธุ์ชมพูนุท)
นายจุมพล ชุติมา (บุตรนางอุณณ์ และนายบวร)
นายสมยศ นิมมานเหมินท์ (บุตรนายเรือง และนางบุพพัณห์)
นายธาดา เลาหวัฒน์ (บุตรนางแจ่มจิตต์ และนายวิชัย)
นายเนห์ นิมมานเหมินท์ (บุตรนายอัน และนางนาตาลี)
นางสาววรนุช เลาหวัฒน์ (ธิดานางแจ่มจิตต์ และนายวิชัย)
นางสาวนพีสี นิมมานเหมินท์ (ธิดานายอัน และนางประคอง)

เหลน (ตามลำดับอายุ)

เด็กชายศฏิน เลขะกุล (บุตรนางนลินี และนายนวรัตน)
เด็กชายกฤษิก สุวพร (บุตรนางแว่นทิพย์ และนายจุมภฏ)
เด็กชายมิลินท์ นิมมานเหมินท์ (บุตรนายศิรินทร์ และนางสุรีย์พร)
เด็กชาย “พ้อบ” เลขะกุล (บุตรนางนลินี และนายนวรัตน)
เด็กหญิงกฤติมา สุวพร (ธิดานางแว่นทิพย์ และนายจุมภฏ)
เด็กหญิงนิดา เลาหวัฒน์ (ธิดานายธาดา และนางกัลยา)
เด็กชาย “ก้าว” นิมมานเหมินท์ (บุตรนายสุทธิพันธุ์และนางธัญญลักษณ์)

เชียงใหม่

๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ