คำนำเชิงปรารภ

ก่อนที่ท่านจะอ่านโคลงเรื่องนี้ โปรดทำความรู้จักความเป็นมาของเรื่องและบางสิ่งบางอย่างสักเล็กน้อย

ด้านประวัติศาสตร์

พ.ศ. ๒๑๐๑ พระเจ้าบุเรงนองมหาราชทรงตีเมืองเชียงใหม่ได้ พ.ศ. ๒๑๑๒ ทรงตีกรุงศรีอยุธยาแตก ระยะนี้ผู้คนทั้งลานนาไทยและอยุธยา ต่างระส่ำระสายหนีออกจากบ้านเมืองเพราะเกรงกลัวพม่า โดยเฉพาะทางลานนาไทยนั้น เกิดการขบถต่อพม่าหลายครั้ง แต่ไม่อาจชนะพม่าได้ เพราะกำลังพลน้อยกว่า

การรบกันในสมัยนั้นไม่ได้มุ่งยึดเอาบ้านเมืองจริง ๆ มีแต่มุ่งทำลายบ้านเมืองเท่านั้น หลักฐานปรากฏในโคลงเรื่องนี้และที่กรุงเก่าอยุธยา สิ่งที่ผู้ชนะต้องการก็คือกำลังผู้คน ผู้ชนะต้องขับต้อนเอาคนที่แพ้ไปเป็นเชลยเสมอ ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์หลายแห่ง

โคลงเรื่องนี้เป็นเรื่องการขับต้อนเชลยชาวเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๑๕๖ เมื่อเทียบกับทางอยุธยาจะตกอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ

ผู้แต่งได้ท้าวความตั้งแต่พระเจ้ามังรายมหาราชทรงสร้างนครเชียงใหม่ เล่าเหตุการณ์ความเป็นมาย่อๆ กล่าวถึงการขบถฟื้นอำนาจพม่า พรรณนาการรบกันอย่างหนักที่นครลำปาง ความพินาศของเวียงวังเป็นที่น่าสลดสังเวช ชี้เหตุแห่งการเสียเมืองครั้งนี้ ตอนจบท่านบอกว่า “แต่งไว้เป็นกระจกสำหรับมองดูเพื่อหาทางป้องกันบ้านเมืองในโอกาสต่อไป”

ชื่อผู้แต่งไม่ปรากฏ

สำหรับชื่อผู้แต่ง ท่านไม่ได้บอกไว้ในเรื่องหรือในโคลงที่ท่านแต่งเลย ผู้แต่งใช้สรรพนามแทนตัวเองหลายคำ เช่น เรียม รา ม่อน พี่ ฯลฯ ไม่มีทางจะทราบชื่อท่านได้ เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ที่แต่งในลานนาไทย แม้โคลงนิราศหริภุญชัยก็เหมือนกัน

แต่พอสันนิษฐานได้ว่า ผู้แต่งเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของเชียงใหม่ อาจเป็นเชื้อพระวงศ์หรือนายทหารที่สำคัญ เพราะท่านได้รับหน้าที่อารักขาดูแล “เจ้าหญิง” องค์หนึ่งไป ในขบวนเชลยครั้งนี้ และอีกประการหนึ่งมารดาและภรรยาของท่าน ไม่ได้ถูกขับต้อนไปด้วย ยังคงค้างอยู่ที่เชียงใหม่ ในโคลงเรื่องนี้จะคร่ำครวญถึงอยู่ตลอดเรื่อง

โคลงตอนท้ายพรรณนาเรื่องความแก่ตอนท่านไปเป็นเจ้าเมื่อเถิน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพม่าแต่งตั้งให้ไปครองนั้น พรรณนาว่าท่านมีความรู้ในศิลปศาสตร์หลายแขนง และอายุท่านผู้แต่งตอนนั้นประมาณ ๗๐ ปี

เนื้อเรื่อง

เป็นเรื่องกล่าวถึงมังทราขับต้อนชาวเชียงใหม่ไปเป็นเชลย คำว่า “มังทรา” นี้ เป็นคำที่คนลานนาไทยใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินพม่า ไม่ว่าจะเป็นองค์ใดเรียกชื่อว่า “มังทรา” ทั้งสิ้น ในเรื่องนี้ตรงกับสมัยพระเจ้าสุทโธธรรมราชาของพม่า ให้ขับต้อนผู้คนเดินทางไปพม่า

ผู้แต่งบรรยายการเดินทางตามลำดับ ตั้งแต่จากเชียงใหม่ไปทางอำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทอง อำเภอฮอต แม่เหาะ กองลอย เมืองยวม (ขุนยวม) เมืองทราง ข้ามแม่น้ำสาละวินเข้าเขตพม่า ท่านแต่งพรรณนาไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะที่วัดพระธาตุจอมทองพรรณนาไว้อย่างพิสดาร เดี๋ยวนี้ไม่เหลือสิ่งเหล่านี้ไว้เลย คือปรักหักพังไปหมดแล้ว ถ้าอ่านตามโคลงเรื่องนี้ เราจะทราบว่าพระธาตุจอมทองแต่เดิมนั้น มังทราได้ปีนขึ้นบนเจดีย์นำเอาพระธาตุไปด้วย จนเกิดแผ่นดินไหว ท่านผู้แต่งพรรณนาวิงวอนร้องขอเทพทั้งหลาย ให้ช่วยนำพระธาตุคืนมาไว้ที่เดิม

ชื่อเรื่อง

ชื่อที่เรารู้จักกันว่า “โคลงมังทรารบเชียงใหม่” นี้ ไม่ใช่ชื่อที่ท่านผู้แต่งตั้งไว้ เป็นชื่อที่คนรุ่นหลังตั้งให้ คือในสมัยนั้นคงจะมีโคลงอยู่หลายเรื่อง เป็นเรื่องต่างๆกัน เพื่อเป็นที่กำหนดหมายได้ชัดเจนจึงให้ชื่อว่า “โคลงมังทรารบเชียงใหม่”

ดูตามเนื้อเรื่องแล้ว เป็นรูปแบบโคลงนิราศตลอด เพราะคร่ำครวญหวนหาคนรักตลอดทาง ถ้าจะให้คนรุ่นปัจจุบันตั้งชื่อ คงจะชื่อว่า “นิราศพม่า หรือนิราศหงสาวดี” เป็นแน่

พูดถึงชื่อเรื่องนี้ เคยได้ยินอาจารย์ ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เล่าให้ฟังว่า มีชาวพม่าเขียนนิราศเชียงใหม่เหมือนกัน ท่านผู้นั้นชื่อว่า “นัดจินหน่อง” เป็นพระราชอนุชาของพระเจ้าสุทโธธรรมราชา พระราชนัดดาของพระเจ้าบุเรงนอง เขียนเป็นอักษรพม่าไว้ กำลังค้นหากันอยู่

การปริวรรต ชำระ และแปล

ความเป็นจริงยังไม่ถึงกาลที่จะชำระและแปล เพราะมีต้นฉบับอยู่เพียง ๓ ฉบับเท่านั้น คิดว่าถ้าได้มากกว่านี้จึงจะลงมือทำ แต่บังเอิญมีเหตุจำเป็นเกิดกับ อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ท่านกำลังค้นคว้าทำเรื่องหลาบเงิน หรือ หิรัญบัตร ซึ่งเป็นราชอาชญาสิทธิ์ที่พระนางวิสุทธิเทวีมอบให้แก่ คนลัวะและคนไทยที่อยู่ในบ้านแปะ เขตอำเภอจอมทองในปัจจุบัน ใช้เป็นทาสของวัดวิสุทธาราม (วัดบ้านแปะ ปัจจุบัน) ในหิรัญบัตรนั้น บรรยายไว้ว่า พระเจ้าสุทโธธรรมราชาขับต้อนผู้คนเป็นเชลยไป รวมทั้งคนที่เป็นข้าทาสของวัดด้วย อันว่าผู้ที่เป็นข้าทาสวัดนั้น มีหน้าที่บำรุงรักษาวัดอย่างเดียว ไม่เกี่ยวแห่งานใดๆ ทางโลกทั้งสิ้น ได้มีการประท้วงกันขึ้น จนพระเจ้าสุทโธธรรมราชาทรงมอบทาสวัดเหล่านั้นกลับคืนมา จารึกในหิรัญบัตรกับโคลงเรื่องนี้สอดคล้องกัน ท่านประสงค์จะทราบเป็นการยืนยันหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าชำระและแปลขึ้น

การชำระและแปลนี้ทำได้ยากมาก เพราะการคัดลอกสืบต่อกันมาผิดพลาด บางคำก็เป็นภาษาโบราณไม่ทราบว่าเป็นภาษาอะไร ที่ยังแปลไม่ออกได้ทิ้งไว้ในโคลงนั้นๆ ถ้า ๒ ฉบับตรงกันได้ถือเอาเป็นโคลงที่ถูกต้อง ถ้าทั้ง ๓ ฉบับไม่ตรงกัน ข้าพเจ้าก็นำมาลงทั้ง ๓ ฉบับ เพื่อให้ผู้สนใจวินิจฉัย การชำระและแปลที่ข้าพเจ้าทำครั้งนี้ เป็นไปตามต้นฉบับ เมื่อต้นฉบับผิดก็อาจจะแปลผิดไปตามต้นฉบับ

อนึ่ง การแปลโคลงนี้จำเป็นจะหาถ้อยคำมาเชื่อมโยงใจความ จึงจะแปลได้ใจความ ถ้าแปลเท่าที่มีคำอยู่ในโคลงแล้ว จะแปลไม่รู้เรื่อง เพราะการแต่งโคลงนั้น เป็นการนำเอาถ้อยคำเพียง ๒๘ คำพร้อมกับสร้อยอีก ๔ คำมารวมกันให้ได้เรื่อง บางทีทางเดินของเรื่องก็ขาดไปบ้าง เพราะฉะนั้นการแปลครั้งนี้จึงมุ่งเอาใจความเป็นหลัก เพราะบางศัพท์หรือบางประโยคเป็นสำนวนเช่น “เช่นชั้นธรรมดา” จำเป็นต้องแปลว่า “สืบมาแต่โบราณ” หรือ “ของเก่า” เป็นต้น

ต้นฉบับที่นำมาชำระ

(๑) ฉบับวัดป่าแพ่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำนาปริวรรตโดยอาจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ โรเนียวเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙

ตอนจบของฉบับนี้แต่งเป็นโคลงแปลได้ใจความว่า “จ.ศ. ๑๑๙๖ (พ.ศ. ๒๓๗๗) ปีมะเมีย เดือน ๑๑ วันพุธ แสนขีดเขียน เป็นผู้คัดลอก

(๒) ฉบับที่ ๒ ข้าพเจ้าได้ยืมจากศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร มาปริวรรตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ตอนจบเรื่องเขียนเป็นโคลงแปลได้ใจความว่า

“สุรินทร์เป็นผู้คัดลอก จ.ศ. ๑๒๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑) ปีจอ เดือน ๘ แรม ๓ ค่ำ วันจันทร์ สำเร็จเมื่อตอนเช้าตอนกินข้าวเช้าฯ”

(๓) ฉบับที่ ๓ ข้าพเจ้าได้ยืมจากศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร มาปริวรรตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ตอนจบไม่ได้แต่งเป็นโคลง เขียนเป็นภาษาร้อยแก้วธรรมดา แปลเป็นใจความว่า “มังทรารบเชียงใหม่ จ.ศ. ๑๑๙๙ (พ.ศ. ๒๓๘๐) ปีระกา เขียนเสร็จในวันพฤหัสบดี พุทธวงศ์ภิกขุเป็นผู้เขียน สมัยเมื่ออยู่วัดเวฬุวัน”

อักษรที่ใช้จาร

อักษรที่ใช้จารเรื่องประโลมโลก คือเรืองที่ไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอน เท่าที่พบในสมัยโบราณ ท่านใช้ “อักษรไทยนิเทศ” เป็นอักษรลานนาไทยปนกับอักษรพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งคนภาคกลางรู้จักในนาม “อักษรขอมฝักขาม” นั่นเอง อักษรชนิดนี้บางทีก็เรียกชื่อสั้น ๆ ว่า “หนังสือไทย” อย่าเข้าใจว่าเป็นหนังสือ “ไทยภาคกลาง”

ความจริงนั้น เรื่องของคำว่า “ไทย” นั้น เป็นชื่อเรียกนำหน้าเผ่าไทยทั้งหลาย ในโคลงเรื่องนี้ คำที่ ใช้กับคนไทยลานนา จะใช้ว่า “ไทย” เฉยๆ ถ้าจะใช้เรียกคนไทยภาคกลางแล้ว จะมีคำว่า “ใต้” ต่อท้ายมาด้วย เป็น “ไทยใต้ ” เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านสับสนขอชี้แจงไว้ในที่นี้

ส่วนอักษรลานนาไทย หรือ ตัวเมือง นั้น สมัยก่อนท่านใช้จารเฉพาะพระธรรมคำสั่งสอนเท่านั้น ถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การสักการะ จึงไม่นำมาเขียนเรื่องประโลมโลก

การออกเสียงพยัญชนะของลานนาไทย

การออกเสียงพยัญชนะที่ไม่ตรงกับเสียงอักษรไทยกลาง มีอยู่ประมาณ ๘ ตัว คือ

พยัญชนะ ที่
 
ออกเสียงเป็น     ก๊ะ    
 
ออกเสียงเป็น     จ๊ะ    
 
ออกเสียงเป็น     ดะ    
 
ออกเสียงเป็น     ต๊ะ    
 
ออกเสียงเป็น     ป๊ะ    

ท่านจะมองเห็นได้ชัดเจนในการออกเสียงพยัญชนะที่ ๓ ของวรรค จะออกเสียงแตกต่างจากภาคกลาง ในหนังสือเล่มนี้ได้ปริวรรตออกมาโดยเทียบอักษร ไม่ได้เขียนตามสำเนียงถ้าท่านต้องการจะอ่านตามสำเนียงลานนาไทย พยัญชนะ ๕ ตัวในแถวที่ ๓ นั้น พึงออกเสียงตามที่เทียบไว้ เช่น

ค้าน ออกเสียงว่า ก๊าน

ค้า ออกเสียงว่า ก๊า

คาม ออกเสียงว่า กาม

ช้าง ออกเสียงว่า จ๊าง

ช้า ออกเสียงว่า จ๊า

ชาม ออกเสียงว่า จาม

ท้าง ออกเสียงว่า ต๊าง

ท้า ออกเสียงว่า ต๊า

เท้า ออกเสียงว่า เต๊า

เพียร ออกเสียงว่า เปียน

เพ็ง ออกเสียงว่า เป็ง

เพิง ออกเสียงว่า เปิง

หมายเหตุ ยกเว้นมีตัว ร. กล้ำอยู่ ให้อ่านออกเสียงเป็นพยัญชนะที่ ๔ เช่น

ครัว ออกเสียงว่า ฆัว

ครอบ ออกเสียงว่า ฆอบ

คราง ออกเสียงว่า ฆาง

ทรง ออกเสียงว่า ธง

ทรวง ออกเสียงว่า ธวง

อินทรีย์ ออกเสียงว่า อินธิ

พระ ออกเสียงว่า ภะ

พร้อม ออกเสียงว่า ภ้อม

พร่ำ ออกเสียงว่า ภ่ำ

เสียงจัตวามากกว่าภาคกลาง

คืออักษรกลาง อโฆษะ เมื่อเป็นเสียงสามัญ ให้อ่านออกเสียงเป็นเสียงจัตวาทั้งหมด และอักษรกลาง โฆษะ คำตาย เสียงสั้น ก็เป็นเสียงจัตวา ดังนี้

ก. เช่น การ ออกเสียงว่า ก๋าร, กิน ออกเสียงว่า กิ๋น ฯลฯ
จ. เช่น จาน ออกเสียงว่า จ๋าน, เจือ ออกเสียงว่า เจื๋อ ฯลฯ
ต. เช่น ตา ออกเสียงว่า ต๋า ตน ออกเสียงว่า ต๋น ฯลฯ
ป. เช่น เป็น ออกเสียงว่า เป๋น ปู ออกเสียงว่า ปู๋ ฯลฯ
ก. เช่น กับ ออกเสียงว่า กั๋บ กบ ออกเสียงว่า ก๋บ ฯลฯ

การออกเสียงตามที่อธิบายมานี้เป็นเพียงส่วนย่อย ในหลักอักขรวิธีของลานนาไทย ยังมีอีกแต่เห็นว่าไม่จำเป็น ถ้าทำความเข้าใจตามที่ชี้แจงมานี้แล้ว ย่อมจะออกเสียงตามสำเนียงลานนาไทยได้บ้าง แต่ถ้าจะออกเป็นสำเนียงภาคกลางเลย ก็ออกได้ตามที่ปริวรรตไว้

อธิบายศัพท์

เมื่อแปลจบแล้ว เห็นว่าศัพท์ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในโคลงเรื่องนี้นั้น เป็นศัพท์และภาษาลานนาไทยเป็นส่วนมาก อาจจะทำให้เป็นที่แคลงใจในการให้ความหมาย เพราะบางคำในภาษาลานนาไทย แม้จะสะกดอย่างเดียวกันกับภาษาไทยกลาง หาได้แปลเหมือนกันไม่

เพื่อให้ผู้ศึกษาภาษาลานนาไทยโบราณ ได้ทราบความหมายของศัพท์ที่ใช้ในการแต่งเรื่องนี้ จึงได้อธิบายศัพท์ไว้ต่อท้ายเรื่อง ไม่ได้เรียงลำดับตัวอักษร ได้อธิบายศัพท์ไว้เป็นโคลง ๆ ไป เรียงตามลำดับตั้งแต่ โคลงที่ (๑) เป็นต้น จนถึงโคลงที่ (๓๐๓) อันเป็นโคลงสุดท้ายของเรื่อง

ศัพท์เหล่านี้ บางศัพท์ที่มีความหมายตรงตัว ก็แปลตรงตัว บางศัพท์ไม่อาจหาคำแปลจากภาษาไทยกลางได้ ก็อธิบายความหมายไว้ บางศัพท์เป็นสำนวนก็แปลเอาความหมายเลยทีเดียว

ขอขอบคุณ

ศาสตราจารย์ ตร. ประเสริฐ ณ นคร ที่ให้ยืมต้นฉบับถึง ๒ ฉบับที่ท่านมีอยู่ให้ข้าพเจ้านำมาปริวรรต และภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้หนังสือโคลงมังทรา ภาคปริวรรต ลำดับที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๙ แก่ข้าพเจ้า ได้นำเป็นหลักในการชำระและแปลในครั้งนี้

หากมีความบกพร่องเพราะความรู้ไม่ถึงในการแปล ข้าพเจ้ากราบขออภัย ถ้าท่านผู้ใดมีต้นฉบับโคลงเรื่องนี้ นอกเหนือจาก ๓ ฉบับที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว หากจะกรุณาให้ข้าพเจ้ายืมทดสอบในครั้งต่อไป ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

สิงฆะ วรรณสัย

๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๑

ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

๖๑ บ้านสันป่ายางหลวง ในเมือง

จังหวัดลำพูน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ