วัน เดือน ปี ที่คัดลอกต้นฉบับต่าง ๆ

ฉบับที่ ๑ ตันฉบับเป็นของวัดป่าแพ่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงไหม่ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำมาปริวรรต พิมพ์ออกเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๙

ในท้ายต้นฉบับเขียนเป็นโคลงไว้ว่า

(๑) ปางสักราชได้พันร้อย เก้าสิบหก
เรียมร่ายเขียนตัวยก ใส่ไว้
อัสสยุชเบ่งเปียวปก เถิงตราบ วันนั่น
เม็งแม่นวันพุธอั้น ลวดแล้วสระเด็จดล ฯ

แปล จ.ศ. ๑๑๙๖ (พ.ศ. ๒๓๗๗) ข้าพเจ้าได้คัดลอกออกมาใส่ไว้ (ในใบลาน) ตรงกับเดือน ๑๑ วันเม็งว่า วันพุธ จึงถึงที่สำเร็จ ฯ

(๒) ขณะจักเข้าสู่ ยามแตร
สุริเยศเรืองผันแผ สู่ห้อง
ราสีสิงห์อยู่เรงแร เมียงม่วน มวลเอย
ก็สระเด็จเสียงส้อย ลวดแล้วเรจฉนา ฯ

แปล ขณะที่พระอาทิตย์กำลังส่องแสง เดินขึ้นสู่เวลาใกล้เที่ยง สถิตอยู่ในราศิสิงห์เล็งแลลงมา เพื่อความสนุกทั้งมวล ก็สำเร็จในการคัดลอก ฯ

(๓) มะเม็งบักบอกเบื้อง บีขอม
ไทยเรียกเร้ารมรอม เรื่องรู้
กาบสง้าบ่มีปลอม สักสิ่ง สังเอย
เขียนขีดโดยเผ่าผู้ ส่ำรู้เขาเดิม ฯ

แปล “มะเมีย” บอกชื่อไว้เป็นชื่อของพวกขอมเรียก ส่วนคนไทยเรียกว่า “ปีกาบสะง้า” แน่นอน คัดลอกโดยผู้เข้าใจรู้เรื่องประเภทโบราณ ฯ

(๔) จักเฉลยบักบวกเบื้อง นามเรียม ก่อนแหล่
แสนขีดเขียนทวยเทียม ย่าไว้
หนังสือไทยบ่เคยเจียม ตัวเล่า เริงเอย
บ้างเบี่ยงบิดเบี้ยวบ้าย บ่สู้เสมอเหมือน ฯ

แปล จะบอกชื่อข้าพเจ้าก่อน ข้าพเจ้าชื่อว่า “แสนขีดเขียน” ได้คัดลอกตามต้นฉบับไว้ เขียนหนังสือไทยนิเทศไม่ค่อยชำนาญ ตัวอักษรไม่สม่ำเสมอกัน บางตัวก็บิ่นบางตัวก็เอน ไม่ค่อยเสมอเหมือนต้นฉบับ ฯ

ฉบับที่ ๒ เป็นฉบับที่ข้าพเจ้าได้ยืมจาก ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร นำมาปริวรรตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ผู้คัดลอกเขียนต่อท้ายไว้ว่า

(๑) สุรินท์เขียนขีดด้วย ตนเอง
ยังคร่าวคราวเมืองเมง มล่านเยี้ยว
พิธาจารจุ่งจักเลง ผายผ่อ ดูเทอ
เป็นตำนานเรื้อรั้ง เกล่าเกื้อธัมมดา ฯ

แปล “สุรินท์” เป็นผู้คัดลอกด้วยคนเอง เรื่องราวโคลงเมืองพม่า มอญและเงี้ยว เชิญพฤฒาจารย์พิจารณาดูเถิด มันเป็นประวัติเรื่องราวโบราณนานมาแล้ว ฯ

(๒) สุรินท์ยังร่ำไรย หาหา
ม่อนยังจงใจจา จิ่มเจ้า
มหาทิพพะคันธา อาทิตย์ ร่วม....
เรียมราชม่อนผู้เผ้า ไต่เต้าสะเดินมา ฯ

แปล สุรินท์ยังรำพึงรำพันหาอยู่ พี่มีใจประสงค์จะมาคุยกับน้องมหาทิพพคันธา ผู้รุ่งเรืองเสมอพระอาทิตย์ พี่ผู้ใหญ่ยังเดินมาหา ฯ

(๓) สุรินท์เขียนขีดด้วย อัตตา
ยังคร่าวคราวมังทรา ผราบผร้าย
เชียงใหม่เขตล้านนา โดยทั่ว ทิสเฮย
เป็นกั่นโลงไว้หื้อ เผ่าผู้ประสงเสิน ฯ

แปล “สุรินท์” คัดเขียนด้วยตัวเอง เรื่องกลอนกล่าวถึงมังทรายกทัพมาปราบเมืองเชียงใหม่และลานนาไทยทั้งหมด เป็นโคลงไว้เพื่อให้ผู้มุ่งหมายความสนุกสนาน ฯ

ตอนท้ายของฉบับนี้ บอกวัน เดือน ปี ที่คัดลอกสำเร็จไว้ ดังนี้

“จุฬสักกพัททะได้ ๑๒๐๐ ตัว ปลีเปลิกเส็ด ไทล้วงได้ เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ วัน ๒ แลฯ มังทราแล สะเด็ดแล้วยามเช้าหากกลินเข้างายหั้นแล”

แปล จ.ศ. ๑๒๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑) ปีจอ สัมฤทธิศก เดือน ๘ แรม ๓ ค่ำวันจันทร์ ฯ เรื่องมังทราแล สำเร็จตอนกินข้าวเช้านั้นแล ฯ

ฉบับที่ ๓ เป็นอีกฉบับทนึ่งที่ข้าพเจ้ายืมมาจาก ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร นำมาปริวรรต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ในตอนท้ายของฉบับนี้ผู้คัดลอกไม่ได้แต่งเป็นโคลงบอกอะไรไว้ แต่เขียนเป็นร้อยแก้วธรรมดาว่า

“มังทรารบเชียงใหม่ จุฬสักกพัททะได้ ๑๑๙๙ ปีเมืองเล้า เขียนแล้วในวันปรัสแลพุทธวงส์ภิกขุเขียน ปางเมื่ออยู่วัดเวฬุวันน์วันนั้น มังทรารบเชียงใหม่”

แปล มังทรารบเชียงใหม่ จ.ศ. ๑๑๙๙ (พ.ศ. ๒๓๘๐) ปีระกา นพศก เขียนเสร็จเมื่อวันพฤหัสบดี พุทธวงศ์ภิกขุเป็นผู้เขียน สมัยเมื่ออยู่วัดเวฬุวันครั้งนั้น มังทรารบเชียงใหม่ ฯ

จบ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ