ประวัติศาสตร์จากโคลงมังทราตีเชียงใหม่

ประเสริฐ ณ นคร

คุณไกรศรี ขอให้ข้าพเจ้าเขียนบทความเกี่ยวกับโคลงมังทราตีเชียงใหม่ เพื่อความสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าเคยนำโคลงมังทราตีเชียงใหม่ตอนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ลงพิมพ์ในวารสารสมาคมภาษาและหนังสือ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม ๒๕๐๕ และเขียนเรื่อง “กองทัพอยุธยายกไปเชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๒๑๕๑ และใน พ.ศ. ๒๑๕๗” ลงในแถลงงานประวัติศาสตร์เอกสาร โบราณคดี (ป.อ.บ.) ปีที่ ๖ เล่ม ๓ เดือนกันยายน ๒๕๑๕ ข้าพเจ้าได้ย่อบทความทั้งสองมาไว้ ณ ที่นี้ด้วยแล้ว

โคลงมังทราตีเชียงใหม่กล่าวถึงเหตุการณ์สมัย พ.ศ. ๒๑๕๘ ตรงกับแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๕๓--พ.ศ. ๒๑๗๑) ซึ่งไม่ปรากฏรายละเอียดในพงศาวดารโยนก ข้อความบางตอนตรงกับพงศาวดารพม่าและรามัญ (ดูหนังสือไทยรบพม่า เล่ม ๑) และบางตอนก็แปลกความกันไปบ้าง ต้นฉบับเป็นตัวหนังสือฝักขาม ซึ่งกลายไปจากตัวหนังสือของพ่อขุนรามคำแหง ฉบับหนึ่งเป็นของคุณสงวน โชติสุขรัตน์ ซึ่งพุทธวงศ์ภิกขุคัดไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๐ อีกฉบับหนึ่งเป็นของวัดเชียงหมั้น, ซึ่งสุรินทคัดไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๑ ต่อมาได้ต้นฉบับจากท่านมหาหมื่นวัดเจดีย์หลวงมาอีกฉบับหนึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่โคลงบทที่ ๒๒ ไป และตอนกลางก็ขาดหายไปอีก ๕๘ บท และใบสุดท้ายก็ขาดหายไป จึงไม่ทราบว่า ผู้ใดคัดไว้ตั้งแต่เมื่อใด ต้นฉบับที่ข้าพเจ้าคัดไว้มีโคลงเพียง ๒๔๙ บท แต่ฉบับที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตีพิมพ์เป็นภาคปริวรรต ลำดับที่ ๑๓ โคลงมังทรามี ๓๐๐ บท บทที่เพิ่มขึ้น ๖๐ บท คือ บทที่ ๘๕, ๘๖, ๑๐๓, ๑๐๔, ๑๑๒, ๑๒๘, ๑๓๑, ๑๓๓, ๑๕๒, ๑๕๓, ๑๕๖-๑๕๙, ๑๖๑-๑๗๙, ๑๘๑, ๒๘๓, ๑๘๔, ๑๘๖, ๑๙๐, ๑๙๑, ๑๙๘, ๒๐๐, ๒๗๖-๒๙๔ ส่วนที่ข้าพเจ้าคัดไว้มีเกินกว่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพียง ๙ บท คือ หลังบทที่ ๑๐๘, ๑๓๒, ๒๕๐, และ ๒๗๕ อย่างละบทหนึ่ง และหลังบทที่ ๑๓๐ มี ๔ บท และบทที่ ๑๐๒ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีใจความเท่ากับบทที่ ๑๐๐ และ ๑๐๑ ของข้าพเจ้ารวมกัน

เมื่อสามสี่ปีมานี้ อาจารย์สิงฆะได้รวบรวมวรรณคดี ตำนาน ชาดก ของลานนา ฯลฯ มาถ่ายไมโครฟิล์มไว้หลายหมื่นหน้าใบลาน และหอพระสมุดแห่งชาติได้รับไว้ชุดหนึ่ง ในบรรดาวรรณคดีมีเรื่องโคลงมังทราตีเชียงใหม่ ซึ่งคัดเป็นอักษรไทยปัจจุบันด้วยลายมือข้าพเจ้าเอง มอบให้คุณสงวน โชติสุขรัตน์ ไว้นานมาแล้ว จนข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าเคยส่งเรื่องนี้ไปให้คุณสงวน

เข้าใจว่า ผู้แต่งโคลงเรื่องนี้จะแต่งขึ้นจากประสบการณ์ของตนเอง หลังจาก พ.ศ. ๒๑๕๘ ไม่นานนัก ภายหลังผู้แต่งได้รับแต่งตั้งจากมังทรา ให้เป็นพระยากินเมืองเถิน (ดูบทที่ ๒๔๗) คำว่า มังทรา หรือ มังตรา ใช้กับเชื้อสายพระเจ้าแผ่นดินพม่าทุกพระองค์

ข้อความที่น่ากล่าวถึง คือ มังราย ซึ่งทั่วไปเรียกว่า พญาเม็งราย เป็นเชื้อพระวงศ์ขุนเจื่องมหาราช สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อ พ.ศ ๑๘๓๙ และสืบเชื้อสายต่อมาจนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนองยกมาตีเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๑ ในสมัยพระเจ้าเมกุฏิ (ท้าวเมกุ หรือ ท้าวแห่งแม่น้ำกุ) แต่ยังมอบให้พระเจ้าเมกุฏิเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ต่อไปจนพระเจ้าเมกุฏิแข็งเมืองขึ้นใน พ.ศ. ๒๑๐๗ พระเจ้าบุเรงนองจึงมาตีเชียงใหม่ได้แล้วยกพระนางวิสุทธเทวี ซึ่งเป็นเชื้อสายพระเจ้ามังรายขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ และให้เชียงใหม่มีเมืองขึ้นตามเดิม แต่ต้องส่งส่วยเพียงเล็กน้อย

พ.ศ. ๒๑๒๑ พระนางวิสุทธเทวีถึงแก่พิราลัย พระเจ้าบุเรงนองยกเจ้าสาวัดถีนรตรามังช่อ หรือ มังนรธาช่อ ซึ่งเป็นโอรสของพระองค์ขึ้นครองเมือง ที่ทำได้เช่นนี้เจ้าสาวัตถี น่าจะเป็นโอรสของพระนางวิสุทธเทวีด้วย เพราะโคลงบทที่ ๑๒ กล่าวว่า พระนางเป็นแม่ของมังทรา คงหมายถึงมังทราที่ได้มาครองเชียงใหม่นั่นเอง พงศาวดารโยนก เรียกผู้ครองเมืองสาวัตถีผู้นี้ว่า เมงซานรธามังคุย

พระยารามเดโช ขึ้นไปเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน ประมาณ พ.ศ. ๒๑๔๑ ถึง พ.ศ. ๒๑๔๔ จึงถูกพวกล้านช้างตีแตกไป และได้ไปเป็นเจ้าเมืองฝาง ระหว่างเวลาเดียวกันนี้ พวกลานนาหลายเมืองกระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้าเชียงใหม่ และหันไปสนับสนุนพระยารามเดโช ประจวบกับพวกล้านช้างมาตีลานนา

สมเด็จพระนเรศวร จึงโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จไปยุติข้อพิพาทระหว่างลานนากับล้านช้างใน พ.ศ. ๒๑๔๓ จนถึง พ.ศ. ๒๑๔๔ สมเด็จพระนเรศวรทรงได้ธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ไปร่วมแท่น และมี “ลูกชายคนถัด” ไปเป็น “แขกเขย” แต่ตามหนังสือไทยรบพม่า ว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงขอธิดาไป และมีพระทุลองไปด้วย ส่วนองค์ที่สาม คือ พระชัยทีป และองค์ที่สี่ คือ สะโดะกยออยู่ที่เชียงใหม่

พ.ศ. ๒๑๔๘ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปปราบเชียงใหม่แล้ว เสด็จสวรรคตในระหว่างทางไปดีอังวะ สมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นเสวยราชย์แทน (โคลงมังทราตีเชียงใหม่ออกพระนามว่า ราเมศวร ชวนให้คิดว่า ราเมศวร คือ ตำแหน่งมหาอุปราช)

พ.ศ. ๒๑๕๐ มังนรธาช่อ เจ้าเมืองเชียงใหม่ประชวร จึงทูลขอพระทุลองกลับไปสืบราชสมบัติ สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้ธิดาพระเจ้าเชียงใหม่และพระทุลองรีบกลับไปเชียงใหม่พร้อมกับไพร่พลมากมาย แต่พวกในเชียงใหม่ก่อการขบถยก “พระซ่อย” ขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ (ตามหนังสือไทยรบพม่าว่า พระทุลองถึงแก่พิราลัยเสียก่อน จึงทรงแต่งตั้งพระชัยทีปขึ้น) กองทัพอยุธยาตั้งคุมเชิงอยู่ประมาณเจ็ดถึงสิบเดือน พระทุลองถึงแก่พิราลัย และเกิดความกลัวว่าจะขาดน้ำและเสบียง จึงยกทัพกลับประมาณเดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม พ.ศ. ๒๑๕๑

พระยาหาญปลดพระซ่อยลง ยกพี่องค์กลาง (พระชัยทิพ) ขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๑ พี่องค์กลางสนับสนุนให้พวกพม่ามอญ และไทยใหญ่ขึ้นเป็นเสนาอำมาตย์ และตั้งสามล้านให้ใหญ่กว่าพระยาแสนหลวง ซึ่งตามจารีตประเพณี พระยาแสนหลวงและจ่าบ้านอาศัยทัพเมืองนครลำปางเป็นกำลัง จึงจับพระชัยทิพไปบวช และภายหลังก็จับฆ่าเสียแล้วยก “ตนช่อย” ขึ้นแทนเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๖ ตนช้อย แปลว่า น้องคนสุดท้องชื่อ สะโดะกยอ น่าจะได้แก่ พระซ่อยคนเดิม ขึ้นครองเมืองเป็นครั้งที่สอง

พระยาน่าน ซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของมังนรธาช่อ (ดูตำนานสิงหนวัติ และตำนานโยนก) จึงให้มังทรา (พระเจ้าอังวะ) มาตีเชียงใหม่ เจ้าเมืองนายรับอาสาพระเจ้าเชียงใหม่ไปขอทัพอยุธยามาช่วย พระเจ้าอังวะเกรงศึกสองหน้า จึงยกทัพหนีไปเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๑๕๗ บังเอิญพระเจ้าเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัย ทัพอยุธยาเลยยกกลับไป (ชะรอยจะเห็นว่าหมดผู้ที่เกี่ยวดองกับเจ้านายอยุธยาแล้ว)

ศักราชที่ปรากฏในโคลงเรื่องนี้มีเพียง ๒ แห่ง คือ ตอนเสียเมือง พ.ศ. ๒๑๕๗ และตอนถูกกวาดต้อนไปเมืองหงสาวดีในวันเพ็ญ เดือน ๕ พ.ศ. ๒๑๕๘ ต่อมามังทราได้แต่งตั้งให้ผู้แต่งโคลงเรื่องนี้ไปเป็นพระยากินเมืองเฉิน

ระยะทางที่ผ่านไปสอบดูกับ “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิงค์ตั้งแต่เชียงใหม่จนถึงปากน้ำโพ” พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีตรงกันหลายแห่ง ที่สำคัญที่สุดกล่าวไว้ว่าที่เมืองฮอดสนุกสนานมาก เพราะเรือค้าของชาวอยุธยาขึ้นมาถึงที่นั่น ผ่านเมืองทะกาฬหรือท่ากาน เขาดอยน้อย พระธาตุจอมทอง น้ำแม่แจ่ม เมืองฮอด เมืองยวม ดอยวอกน้อย น้ำสองแคว แม่คง อ่างทอง ดอยแสนเต้า ดอยเจ้าเมาะตะมะ น้ำแม่นาวา วังผึ้ง น้ำแม่อาสา สามเดือนเต็ม ถึงเมืองหงสาวดี

  1. ๑. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ป.อ.บ. ปีที่ ๔ เล่ม ๑ มกราคม ๒๕๑๓ หน้า ๙๓

  2. ๒. ดูเอกสาร ๑ หน้า ๙๕

  3. ๓. โคลงมังทราตีเชียงใหม่ วารสารสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ปีที่ ๓ เล่ม ๑ มกราคม ๒๕๐๕ หน้า ๑๐๐-๑๐๑

  4. ๔. ดูเอกสาร ๑ หน้า ๙๕ และเอกสาร ๓ หน้า ๑๐๑ ปีตรงกับพงศาวดารรามัญตามหมายเหตุในพงศาวดารโยนก แต่พงศาวตารโยนกเองว่า ปี ๒๑๒๒

  5. ๕. ตามพระราชพงศาวดาร กล่าวว่า พระยารามเดโชไปพร้อมกับเจ้าพระยาสุรสีห์ และให้พระยารามเดโชรักษาการอยู่ที่เชียงแสนในราว พ.ศ. ๒๑๓๙ ส่วนเอกสาร ๑ หน้า ๙๖ กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๔๑ ชาวไต้มาตกเชียงใหม่ ตรงกับตำนานสิงหนวัติ (ที่ถูกคือ ตำนานสิงหนติ) ว่า ทางอยุธยามาตีเชียงใหม่ได้ผู้คนไปเล็กน้อย ส่วนพงศาวดารโยนกว่า อยุธยามาตีเชียงใหม่ได้ ใน พ.ศ. ๒๑๔๑

  6. ๖. ดูเอกสาร ๓ หน้า ๑๐๓

  7. ๗. ดูเอกสาร ๑ หน้า ๙๖ และเอกสาร ๓ หน้า ๑๐๔

  8. ๘. เอกสารของฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา น.ส. นันทา สุดกุล แปล กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๓ หน้า ๗ และ ๙ และหนังสือไทยรบพม่า ว่า พระทุลองถึงแก่กรรมเสียก่อน ตำนานสิงหนวัติว่า ยกหม่องส้วยโทคนน้องขึ้น คำนี้ใกล้กับสะโดะกยอ หรือส้วย อาจจะเป็นคำเดียวกับ ซ้อย คือน้องสุดท้องก็ได้

  9. ๙. ดูเอกสาร ๓ หน้า ๑๐๕--๑๑๕ แสะตำนานสิงหนวัติ ข้อความตรงกับเอกสาร ๑ หน้า ๙๖ ว่า เจ้าฟ้าสาวัตถีตาย พ.ศ. ๒๑๕๐ สะโดะกยอคนลูกกินเมืองเชียงใหม่หนึ่งปีหนึ่งเดือน คนกลางกินเมือง ๕ ปี ถึง พ.ศ. ๒๑๕๖ คนน้องช้อยกินเมือง ๑๓ ปี ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๑๖๙ ซึ่งผิดไปหนึ่งรอบ ควรจะกินเมืองเชียงใหม่ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗ เท่านั้น

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ