วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ น

บ้านปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ค้นหาอะไร ๆ พเอินพบเฃากล่าวถึงสร้อยคอพระวิษณุ ว่าทำด้วยพลอย ๕ อย่าง หมายต่างธาตุทั้ง ๕ พอเหนก็จับใจทันที ว่านี่เอาอย่างไปใช้ฝังพระเจดียที่ทรงหล่อใหม่นั้นจะดี ด้วยเปนที่บันจุธาตุ ธาตุทั้ง ๕ นั้น เขานับดินน้ำไฟลมแลอากาศ แต่พลอยที่ต่างธาตุนั้น มีเข้าทีอยู่สองอย่างเท่านั้น คือพลอยสีขาบต่างธาตุดิน ว่าเพราะเกิดในดิน แลมุกดาต่างธาตุน้ำ เพราะเกิดในน้ำ อีกสามอย่างดูไม่มีมูลอะไรที่เกี่ยวกับไฟลมแลอากาศเลย ผู้เขียนก็ไม่พยายามที่จะอธิบายตลอดไป เพราะฉนั้นจะเอาอย่างเฃาหมดนั้นก็ไม่ได้ เกล้ากระหม่อมจึ่งคิดปรุงทูลถวายใหม่ดังนี้

นีล หมายต่างธาตุดิน เพราะเกิดในดิน แลสีดำเหมือนดิน ฤๅถึงจะกระเดียดเปนสีขาบฤๅเขียวแก่ ก็สงเคราะห์เฃ้าเปนอันเดียวกันได้

มุกดา คือไข่มุกด์ หมายต่างธาตุน้ำ เพราะสีขาวเหมือนน้ำ แลเกิดในน้ำ

ลาชวดี คือขี้นกการเวก หมายต่างธาตุลม เพราะนกการเวกกินลมเปนภักษา มูลถ่ายออกมาต้องเจอด้วยลม แลสีเปนน้ำเงินดั่งลมอากาศด้วย (ยาราชาวดี คือยาสีขี้นกการเวกใช้มากในของที่ทำในรัชกาลที่ ๑)

ปทัมราค ฤๅจะเรียกอย่างง่ายว่าลูกปัทม หมายต่างธาตุไฟ เพราะสีแดงดุจไฟ แลหุงด้วยไฟด้วย (แต่ที่จิงปัทมราคนั้นคือทับทิม แก้วหุงเทียมทับทิมเรียกลูกปัทม แล้วยังเลือนลงไปถึงแก้วหุงถมทองแดงก็เรียกถมปัทม จะเปนสีอะไรก็ไม่สดุดใจ ลืมชื่อที่หมายความว่าสีเหมือนดอกบัวนั้นเสียหมด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรส

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ