วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ดร

หอพระสมุดวชิรญาณ

กรุงเทพ

VAJIRAÑĀNA NATIONAL LIBRARY

BANGKOK

วันที่ ๑๖ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรานุวัติวงศ

ขอถวายรายงานเรื่องตำนานพระพุทธรูปเปนฉบับที่ ๓ โดยได้อ่านหนังสือเพิ่มเติมเมื่อคืนวันที่ ๑๕ นี้อิก

ความที่ได้ทูลไปในฉบับที่ ๒ เรื่องพระปางทั้ง ๘ นั้น ผิดอยู่แห่ง ๑ คือพระสมาธินั้น หาได้เข้าในเรื่องปางทั้ง ๘ เปนของคิดทำขึ้นแต่เดิม ส่วนพระปางยมกปาฏิหารนั้น อ่านอธิบายเมื่อคืนนี้ว่า เครื่องหมายมีดอกบัวที่รองพระเปนสำคัญ แต่ส่วนองค์พระนั้นมีทั้งนั่งทั้งยืน และพระหัดถ์ทำเปนทรงแสดงธรรม อย่างเดียวกับปางเทศนาธรรมจักร สิ่งสำคัญอันเปนเครื่องหมายของพระพุทธรูปปางยมกปาฏิหารอิกอย่างหนึ่งนั้น คือที่มักทำเปนพระพุทธรูปหลายพระองค์ โดยเรื่องยมกปาฏิหาร ว่าพระพุทธองค์ทรงบันดาลให้เกิดพระพุทธรูปขึ้นอิกเปนอันมาก เพราะฉนั้นรูปเขียนแลรูปจำหลักที่ทำเรื่องยมกปาฏิหาร จึงมักทำพระพุทธรูป อย่างน้อย ๓ องค์ อย่างมากตั้ง ๒๐-๓๐ อิริยาบถก็มักทำต่างๆ แต่คงมีบัวรองเปนที่สังเกต ข้อที่ทำพระหัดถ์เปนปางเทศนานั้น อธิบายว่าเพราะตามเรื่องยมกปาฏิหาร ว่าเมื่อทรงทำปาฏิหารแล้ว ประทานธรรมเทศนาให้ผู้ที่ไปดูได้บรรลุมรรคแลผลดังนี้.

มีความข้อ ๑ ซึ่งผู้แต่งหนังสือไม่อธิบาย แต่รูปจำหลักที่สันจิเจดีย์มีอยู่ เปนเรื่องตอนพระประสูตร ทำเปนรูปฤๅษีที่พยากรณ์พุทธลักษณ มีรูปรอยพระพุทธบาทลอยอยู่บนศีศะฤๅษีนั้น เขาอธิบายเพียงว่ารอยพระบาทนั้นแทนรูปพระมหาสัตว์ หม่อมฉันอยากจะอธิบายต่อไปว่า รอยพระบาทเปนเครื่องหมายอย่าง ๑ ซึ่งใช้แทนรูปพระมหาสัตว์ปางประสูตรแต่เดิมมา จึงได้แพร่หลายเกิดเปนรอยพระพุทธบาทแลพระยืนที่เราเห็นอยู่ในประเทศนี้.

ในหนังสือเขาอธิบายเหตุที่คิดทำพระพุทธรูปขึ้นชั้นแรก อธิบายชอบกล คือว่าเมื่อแรกคิดสร้างพระพุทธรูปนั้น พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วถึง ๕๐๐ ปี ความรู้สึกของพุทธสาสนิกชนทั้งหลายในเรื่องรูปพรรณของพระพุทธเจ้า คงเชื่อถือกันแต่ว่ามีลักษณะเลิศล้ำกว่าสามัญมนุษ ช่างจึงต้องทำพระพุทธรูปให้ผิดกับสามัญมนุษย์ ใช้ความคิดและให้ผิดอาศรัยเรื่องพุทธประวัติ ซึ่งว่าพระพุทธองค์เปนขัติยราชสละราชสมบัติออกถือเพศเปนภิกษุ เอาความข้อนี้เปนหลัก จึงทำพระเศียรพระพุทธรูปเปนอย่างกระษัตริย์ ซึ่งมีปรกติมุ่นพระเมาฬีไว้เบื้องบนพระเศียร เปนแต่เอาเครื่องอาภรณ์ออกเสีย ส่วนที่พระองค์นั้นทำทรงผ้ากาสาวพัตรเหมือนอย่างภิกษุ ด้วยเห็นว่าลักษณเช่นนั้นต้องตามความนิยมของพุทธสาสนิกชน เพราะผิดกับรูปภิกษุสามัญ และผิดกับเทวรูปฤๅรูปกระษัตริย์สามัญ เห็นที่ไหนก็เปนรู้ว่าพระพุทธรูป ใครจะเข้าใจไปว่ารูปผู้อื่นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธรูปจึงมีพระเกตุมาลา

อ่านในหนังสือของฟูเชต์แต่ง ว่าด้วยพระพุทธรูป ได้ความดังทูลมานี้ ยังจะอ่านอธิบายรูปภาพที่สันจิเจดีย์ต่อไป

พบความแปลกอิกข้อ ๑ คือในสมุดที่อ่าน เขาเอารูปลายจำหลักที่บุโรบุโดในเกาะชวามาลงเปนตัวอย่างด้วย มีรูปภาพเรื่องพระสุธนกับนางมโนห์ราจำหลักไว้หลายช่อง เพราะฉนั้นเปนอันได้ความรู้ว่าชาดกเรื่องพระสุธนนี้ ถือว่าเปนเรื่องสำคัญมาเก่าแก่ช้านานแล้ว.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ