วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ดร

วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ

ขอถวายรายงานเริ่มต้นการตรวจค้นเรื่องตำนานพระพุทธรูปแรกจะเกิดขึ้นในอินเดีย ได้พบในหนังสือฝรั่งเศสแต่ง ๒ เรื่อง เปนสำเนาความดังนี้

๑) ในครั้งพุทธกาล และก่อนพุทธกาลขึ้นไป ไม่มีประเพณีการสร้างรูปเคารพเลยทีเดียว แม้เทวรูปก็ไม่มี

๒) บุคคลอันเปนที่นับถือของพวกอริย เมื่อตายลงเผาศพแล้วเอาอัฐิใส่ผะอบทำเรือนบรรจุไว้ ในเรือนนั้นมีที่นั่งนอนเชิงตะกอนไฟที่บูชา และเครื่องมือเหมือนอย่างของคนเปนจัดไว้ให้ทุกอย่าง แล้วจึงปิดเรือนนั้นเสีย

๓) รูปเรือนที่บรรจุอัฐินั้น เดิมทำด้วยไม้ รูปเปนกระโจมกลมเหมือนอย่างเต๊นที่พวกอริยอยู่กัน ในเวลาแรกลงมาสู่มัชฌิมประเทศ เรื่องเรือนบรรจุอัฐิธาตุที่กล่าวนี้ เขาอ้างหลักฐานว่าได้พบที่ทำไว้ในถ้ำจึงเหลืออยู่

๔) เขาสันนิษฐานว่ารูปพระสถูปนั้น มาแต่เรือนที่บรรจุอัฐิธาตุตามประเพณีของชาวอริยนั้นเอง มาคิดทำด้วยก่ออิฐฤๅศิลาให้เปนของถาวร จึงเกิดเปนสถูป ที่บัลลังก์นั้น คือปล่องไฟตรงเตาโหมกูณฑ์ตามพิธีในเวทย์ของชาวอริย

รูปเคารพอันเปนเครื่องหมายในพระพุทธศาสนาแรกเกิดขึ้นนั้น เกิดแต่สังเวชสถานทั้งสี่ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตไว้ คือที่ประสูต ที่ตรัสรู้ ที่เทศนาธรรมจักร และที่ปรนิพพาน เขาสันนิษฐานจากดวงตราที่ตีก้อนดินและตีเงินของโบราณอันพบในประเทศอินเดีย ว่าชรอยเมื่อพระพุทธเจ้าปรนิพพานแล้ว พวกพุทธบริษัทที่ไปนมัสการยังสังเวชวัตถุทั้ง ๔ แห่งนี้ จะอยากได้เครื่องหมายมาไว้เปนที่รฦก พวกช่างเมืองฤๅผู้รักษาสังเวชสถาน จึงคิดทำดวงตราเปนเครื่องหมายสำหรับที่นั้นๆ ขึ้น ที่เมืองกบิลพัศดุทำตราดอกบัว (หมายว่าเปนสิ่งบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้น) ตราช้าง (หมายสุบินของพระพุทธมารดาในเมื่อพระมหาสัตวลงสู่พระครรภ์) ตราโค (หมายราษีพฤศภ ซึ่งพระมหาสัตวประสูต) ตราราชสีห์ (หมายว่าเปนสากยสิงห) ตราม้า (หมายว่าม้ากัณฐัศ แต่ ๔ สัตว์นี้ดูไปพ้องกับสัตวเขาไกรลาศ ปลาดอยู่) ที่เมืองพุทธคยา ทำตราพุทธอาศน์ และตราต้นโพธิ์ ที่เมืองพาราณสี ทำตรารูปพระธรรมจักร ที่เมืองกุสินารายณ์ ทำตรารูปพระสถูป จึงเกิดรูปเครื่องหมายในพระพุทธสาสนาขึ้นเปนทีแรกด้วยประการฉนี้

๕) เมื่อครั้งพระเจ้าอโศก ก็ยังไม่มีรูปคนเปนเครื่องประดับ สิ่งที่พระเจ้าอโศกสร้าง เช่นหลักศิลาจาฤกก็ดี ไพรทีศิลาก็ดี ใช้แต่รูปเครื่องหมายสังเวชวัตถุที่กล่าวมานั้นเปนลายประดับ ต่อล่วงสมัยพระเจ้าอโศกมาถึง ๑๐๐ ปี จึงเกิดลวดลายเครื่องประดับเปนรูปคน เช่นที่สันจิเจดีย์ และพาหุสเจดีย์สลักเปนเรื่องชาดก เรื่องปฐมสมโพธิ์ตลอดจนเรื่องตำนานพระสาสนาภายหลังพุทธปรนิพพานมาก แต่กระนั้นไม่ทำรูปพระมหาสัตว์ฤๅพระพุทธรูปในลายจำหลัก ใช้เครื่องหมายสังเวชสถานแทนทุกแห่ง

ตรวจค้นได้ความเพียงนี้ กำลังจะอ่านถึงเรื่องตอนเกิดพระพุทธรูปขึ้นในคันธารราษฎร์ เกรงจะลืมความที่ได้อ่านแล้วจึงจดมาทูลให้ทรงวินิจฉัยเสียชั้น ๑ และจะได้รักษาสำเนา จ.ม. นี้ไว้เปนบันทึกความรู้ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ