วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ น

บ้านปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๔๖๕

กราบทูล กรมพระดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัดถ์สองฉบับ ลงวันเดียวกัน ตรัสแจ้งรายงารการไต่สวนกำเนิดพระพุทธรูปให้ทราบ ดีใจ ขอบพระคุณเปนล้นเกล้า หูผึ่งทีเดียว

ความปรากฎเรื่องทำเรือนไม้บันจุอัฐินั้นดีนัก เปนข้อเปลื้องความสงสัยของเกล้ากระหม่อมให้หลุดได้ ข้อสงสัยนั้นด้วยสังเกตเหนหลักการทำเจดีย์มีอยู่สองชนิด เปนกองดินชนิดหนึ่ง เปนเรือนชนิดหนึ่ง ชนิดที่เปนกองดินนั้นคิดเหนได้ ว่ามาจากขุดหลุมฝังอัฐิ กลับเอาดินกลบ ต้องสูงเปนจอมอยู่เอง ตามปรกติอย่างนั้นนานวันฝนก็ล้างราบไป เมื่อเปนอัฐิคนใหญ่คนโต กลัวที่ฝังหายจึ่งเอาดินอื่นมากองเสิมขึ้น จึงเลยเปนสตูปใหญ่โตไปตามลำดับ แต่ชนิดที่เปนเรือนยังคิดไม่เหนทางมา จนกระทั่งได้เหนในรายงารซึ่งประทานมานี้จึ่งคิดออก ก็เหมือนประเพณีของเราแต่ก่อน คนตายไม่ดีถึงเปนผู้ดีก็เอาไปฝัง ญาตผู้ตายนึกรู้สึกสงสารว่าอยู่กรำแดดกรำฝน ไปปลูกหลังคาคร่อมหลุมไว้ เรารู้สึกได้ฉันใด เฃาก็รู้สึกได้ฉันนั้น แล้วยังเหนอไรที่เคยใช้ก็คิดถึง ขนเอาไปให้ไว้ที่เรือนนั้น เลยเปนประเพณีต่อมา แลเมื่อเกิดแข่งบุญวาสนากัน เรือนนั้นก็ทำใหญ่โตงามประณตขึ้นทุกที จึ่งเกิดเปนเจดียอีกชนิดหนึ่ง แต่แท้ที่จิงก็อันเดียวกัน ต่างแต่ฝ่ายหนึ่งแต่งกองดินที่ฝัง อีกฝ่ายหนึ่งแต่งเรือนคร่อมหลุม เรือนนั้นคงไม่จำเปนต้องกลมเสมอไป คนรุ่นหลังที่เฃาทำเจดียฐานด้วยศิลาเปนเรือน เฃาคงได้เหนตัวอย่างที่ทำด้วยไม้มาก่อนมาก เฃาทำกลมก็มีเหลี่ยมก็มี เช่น ปราสาทบรรยงก์ในพระนครหลวงนั้นกลมชัดทีเดียว ปรางอื่น ๆ ก็ข้อนฃ้างกลม แต่จันทิต่าง ๆ ทางชวานั้นเหลี่ยมจัดเหนจะมีทั้งกลมทั้งเหลี่ยมมานานแล้ว ความเหนที่ว่าสตูปจะเอาอย่างเรือนที่ทำกลมนั้น เกล้ากระหม่อมไม่เหนพ้อง เหนว่าเปนไปตามธรรมดากองดินต้นเดิมของเฃาเอง

ดวงตรารูปดอกบัว รูปช้างรูปโครูปสิงหรูปม้า ยังไม่เชื่อว่าเปนเครื่องหมายคิดขึ้นสำหรับทางพระพุทธศาสนาโดยตรง แต่รูปพระพุทธอาสนรูปต้นโพธิ์ รูปพระธรรมจักรรูปพระสถูปนั้น เปนทางพระพุทธศาสนาแน่

ได้หลักพระพุทธรูปต้นเดิม ๘ ปางนั้น สมใจอย่างยิ่ง ทำความรู้ให้สว่างสิ้นสงสัย ปางมารวิชัยเคยเหนอธิบายถึงพระหัดถ์ที่ห้อยลง เฃาเรียกเปนภาษาสํสกฤตว่า “ฎ-สปรศ” ได้แก่ “ฎ-ผฺสส” ในภาษามคธ หมายความว่ายื่นพระหัดถ์ลงไปแตะดินอ้างเปนพยาน เพราะฉนั้นพระพุทธรูปที่เก่า ๆ จึงมักยื่นพระหัดถ์ลงไปต่ำมากเกือบจดฐาน ส่วนพระหัดถ์ปางปฐมเทศนา ที่ว่าทำพระหัดถ์เปนวงธรรมจักรนั้นเหนจะคลาดเคลื่อน พระเจ้าเองไม่ได้ทรงเรียกธรรมที่ตรัสนั้นว่าธรรมจักร คำ “ปวตฺติ เตนภควตา ธมฺมจกฺเถ” เปนคำผู้เล่าพุทธภาสิตตั้งขึ้นเรียก ทั้งซ้ำเหนรูปพระอิศวรปางสอนศิษย ซึ่งเรียกว่า “ทักษิณา มูรติ” ก็ทำมือขวาจีบมือซ้ายแบหงายอย่างเดียวกันนั้นเอง เหนจะหมายเปนกิริยาอธิบายสั่งสอนเท่านั้น พระลีลาได้ความมาว่าเปนปางลงจากดางดึงษ แลได้ชื่อว่าเทวาวตารด้วยนั้นสำคัญมาก ปางทรมานพระยาวานรนั้น พระยืนพระหัดถ์แสดง “วรท” เมืองเราไม่มี มีแต่นั่งห้อยพระบาทแสดงวรท ที่เราว่าพระปางปาลิลัยก์ แต่ก็ทำไมมีลิงซึ่งไม่เฃ้าเรื่องอยู่ด้วย เหนได้ว่าเดาผิด ต้องเปนปางทรมานพระยาวานร รูปช้างสำหรับกับพระห้ามญาต ซึ่งเปนปางทรมานช้างนาลาคิรี แต่หากพลัดสำรับ เหนจะเปนด้วยเอาไปตั้งทิ้งปะปนกันไว้บนฐานปูน ตามปรกติวัดที่ไม่มีใครเอื้อ ครั้นมีคนเอื้อตั้งใจจัดให้เรียบร้อย แต่ผู้เอื้อนั้นฃาดความรู้ พระแลสัตวก็พลัดสำรับกันไป ปางประสูตินั้นเมืองเราไม่เคยเหนทำที่ไหน นอกจากที่พระปฐม ซึ่งเปนของใหม่ถอดด้าม

พระพุทธรูปเกิดมาได้ ๑๙๐๐ ปี ก็นานพอใช้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรส

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ