วันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ดร

ตำหนักวรดิศ กรุงเทพฯ

วันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรานุวัติวงษ์

ด้วยตั้งแต่กรมพระสมมต ฯ ยังมีพระชนม์อยู่ เห็นจะราว ๒ ปีมาแล้ว ได้ปรารภกันว่าจะพิมพ์กาพย์เห่เรือขึ้นใหม่อิกสักครั้ง ๑ กรมพระสมมต ฯ ทรงพระดำริห์ว่า กาพย์เห่เรือที่เคยพิมพ์มีแต่ตอนพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ กับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แต่ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ตอน ๑ ขึ้นว่า “ยลภักตรภักตรผ่องผุด” เปนต้น ตอนนี้ยังไม่ได้เคยพิมพ์ ควรจะเอามารวมพิมพ์รักษาไว้เสียด้วย แต่ครั้นมาหาฉบับ หาไม่ได้ จะหาใครที่จำได้จบก็ไม่พบ จนกรมพระสมมต ฯ สิ้นพระชนม์ไป หม่อมฉันสืบแสวงต่อมา พึ่งมาได้พระราชนิพนธ์บริบูรณ์จากคุณท้าวพันธสารเมื่อในเดือนมิถุนายนนี้ เปนอันได้ฉบับพร้อมที่จะพิมพ์ได้ จึงเรียกเห่เรือของเดิมมาอ่านตรวจดูอิกครั้ง ๑ มาเกิดข้อฉงนสนเท่ห์หลายอย่าง ได้เรียกขุนกล่อมโกศลศัทพ์ (จร) มาถาม ก็ตอบไม่ได้ บอกแต่ว่าเรื่องเห่เรือ ได้ศึกษามาจากท่านพระองค์เดียว เมื่อได้ยินออกพระนามหม่อมฉันก็นึกขึ้นได้ ว่าเปนความจริงแท้ ที่มีอยู่แต่ท่านพระองค์เดียว ที่หม่อมฉันจะทูลหารือได้ จึงจดหมายฉบับนี้มาทูลหารือข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ

ข้อ ๑ ในต้นฉบับจดบอกวิธีเห่ มีเปน ๓ อย่าง คือ

๑ ช้าละวะเห่

๒ มูลเห่

๓ สะวะเห่ (คือตอน เห่โหว เห่โหว)

ทำนองเห่ที่เราเคยได้ยินมาก็เปน ๓ คือ –

๑ อย่างเห่เอ๋ยพระเสด็จ

๒ อย่างลูกคู่รับฮ้าไฮ้

๓ อย่างเห่โหว เห่โหว

ไหนจะตรงกับไหน หรือว่าจะเปนอย่างอื่นที่เดียว ข้อนี้ขอทูลหารือข้อ ๑

ข้อ ๒ บทเห่โหว เห่โหว ที่มีอยู่ในฉบับของหอพระสมุด ฯ ดีอยู่อย่าง ๑ ที่เขาเขียนไว้ก่อนตอนเห่ว่าด้วยของกิน ทำให้เข้าใจว่า เห่เรือที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์แต่ง มาจบเพียงนั้น ตั้งแต่ว่าด้วยของกิน เปนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แต่ตัวบท เห่โหว เห่โหว มันเปนภาษาที่แปลได้บ้าง แปลไม่ได้บ้าง อิกประการ ๑ ไม่บอกไว้ว่าตรงไหนต้นบทร้อง ตรงไหนลูกคู่รับ ที่สุดที่จดไว้นั้น จะถูกกับที่ร้องกันอยู่หรือไม่ หม่อมฉันตัดสินไม่ได้ ได้คัดถวายมากับจดหมายฉบับนี้ ถ้าโปรดทรงตรวจแก้ให้ตรงตามที่ร้องกันอยู่ แลหมายตอนต้นบทร้อง ตอนลูกคู่ร้องให้ปรากฎด้วย จะขอบพระเดชพระคุณเปนอันมาก

ข้อ ๓ คราวนี้จะทูลต่อไปถึงความฉงนสนเท่ห์ข้อใหญ่ ซึ่งอักอ่วนป่วนใจ วินิจฉัยไม่ออก คือ เห่เรือนี้ ตามที่เราได้รู้เห็นกันอยู่ ที่ใช้ในราชการก็ ๓ อย่าง คือ เห่ในเรือพระที่นั่ง เมื่อเสด็จกระบวนพยุหยาตรา อย่าง ๑ เห่ในเรือทรงผ้าไตรพระกฐิน อย่าง ๑ กับเห่ในเรือไชย ในงานลอยพระปทีปเดือน ๑๒ อย่าง ๑ แต่เมื่อมาพิเคราะห์ดูความตามที่ปรากฎในเห่ เห็นว่าไม่ใช่แต่งสำหรับการทั้ง ๓ อย่างนั้นเปนแน่ หมวด ๑ คือ ตอนชมเรือกระบวน ก็ดี ชมปลา ก็ดี ชมไม้ ก็ดี ชมนก (ในเวลาเย็น) ก็ดี สังเกตโดยความเปนการเสด็จโดยกระบวนจากพระนคร ระยะทางวัน ๑ ผู้แต่งไปตามเสด็จแต่ตัว มีความอาไลยคิดถึงเมียที่ไม่ได้ไปด้วย รูปความหมวดนี้ ที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์แต่ง สมแต่งสำหรับเห่เรือของพระองค์เอง เวลาไปตามเสด็จพระพุทธบาท หรือ พระนอนป่าโมกข์ ซึ่งระยะทางวันเดียว ไม่ใช่แต่งถวายสำหรับเห่เรือพระที่นั่ง

ข้อ ๔ ความต่อมานั้นมาอิกหมวด ๑ เปนทางสังวาศ ขึ้นด้วยเรื่องพระยาครุธลักกากี แลมีความซึ่งเกี่ยวแก่กิจการของผู้แต่งเองซึ่งออกแสลง ๆ เช่นว่า “สาวหยุดพุดจีบจีน เจ้ามีศีลพี่มีศักดิ์ ทั้งวังเขาชังเจ้านัก แต่พี่รักเจ้าคนเดียว” ความที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงพระนิพนธ์ตอนนี้ ถ้าจะเอาพงษาวดารเปนหลัก ดูมั่นบ่งไปถึงเรื่องเปนชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ อันเปนเหตุให้ต้องรับพระราชอาญาจนสิ้นพระชนม์ ดูไม่น่าจะเอามาเห่เล่น ท่านได้เคยทรงปรารภอย่างนี้บ้างหรือไม่ ขอหารือพระดำริห์อิกสักข้อ ๑

ข้อ ๕ เห่เรือตอนที่ว่าด้วยชมปลา มีจดไว้ในต้นฉบับ ว่าทรงแก้แห่ง ๑ อิกแห่ง ๑ ว่าทรงเติม ๕ บท ใครทรง เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ทรงแก้แลทรงเติม จะถูกหรือไม่

ข้อ ๖ เห่เรือตั้งแต่ว่าด้วยของกินลงมา ที่ว่าเปนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยนั้น ด้วยได้ยินคำบอกเล่าของคนชั้นก่อนประการ ๑ แลที่เอาเห่โหว เห่โหว เขียนคั่นไว้ในต้นฉบับดังทูลมาแล้วอิกประการ ๑ แต่เมื่อพิจารณาความไปจนตลอดก็เกิดฉงนสงไสย ด้วยความสังวาศที่กล่าวในตอนนี้ เอาเรื่องที่จริงมากล่าวถึงการลักลอบรักใคร่อยู่กับนารีผู้ ๑ ซึ่งมีคุณสมบัติต่างๆ อันพรรณาตลอดเห่เรือตอนนี้ ถ้าเปนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ดูทำนองน่าจะทรงแต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๑ แต่ก็มีข้อสงไสย ที่กล่าวตอนเดือน ๖ ว่า “คำนึงถึงเดือน ๖ ทั่วทายกตามโคมเคย งามสุดนุชพี่เอย ได้เห็นกันวันบูชา” ดังนี้ ตามความที่ปรากฎ ถึงได้พบตัวพระราชกำหนดเอง ที่เมืองนครศรีธรรมราช การพระราชพิธีวิสาขะบูชา พึ่งมาทำเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ครั้งกรุงเก่า ดูในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ก็ไม่มีพิธีทำวิสาขะบูชาเพราะฉนั้น นอกจากจะเชื่อคำบอกเล่ากับถือเอาการที่เขียนโอเห่คั่นไว้ในต้นฉบับเปนหลักแล้ว ไม่มีหลักอื่นที่จะยืนยันว่า ตอนหลังนี้เปนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย นี่อิกข้อ ๑ ที่ขอทูลหารือ

หม่อมฉันได้ให้คัดเห่เรือ ตามต้นฉบับที่มีอยู่ ถวายมาเพื่อทรงทอดพระเนตร.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ