บันทึกฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒

(สำเนา)

การก่อสร้างซึ่งเปนฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่มีอยู่ แต่ได้ซ่อมแปลงเปลี่ยนรูปไปเสียแล้วมาก ที่ยังคงเหลือแบบอย่างของเดิมปรากฎอยู่น้อย แลที่เหลืออยู่นั้นดีบ้างไม่สู้ดีบ้าง จะกล่าวถึงแต่ที่ดีพึงชมฤๅที่ควรกำหนดใจรู้ไว้ ฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ มีอยู่ดังนี้.

ที่ ๑ พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง ไม่เห็นมีองค์ไหนซึ่งคงเปนฝีมือในรัชกาลที่ ๑ นอกไปจากพระที่นั่งดุสิดาภิรม ถึงกระนั้นรูปนอกก็เปนแบบรัชกาลที่ ๓ คงได้ซ่อมแปลงในรัชกาลนั้น เหลือแต่พนักสลักลาย กับเสาไม้ในประธาน ยังคงเปนฝีมือในรัชกาลที่ ๑ แต่มิได้เปนฝีมือวิจิตรพึงชม.

ที่ ๒ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสิ่งที่เปนฝีมือในรัชกาลที่ ๑ คือ

ก. พระอุโบสถ รูปทรงเปนอย่างรัชกาลที่ ๑ แต่ลวดลายนั้นประปนกัน เปนอันได้ซ่อมแปลงหลายคราว ลวดลายชั้นรัชกาลที่ ๑ ซึ่งยังปรากฎอยู่ก็คือ.-

๑ ลายฐานบัทม์ ทำแต่พอดูได้

๒ ซุ้มทวารแลบัญชร ทำทรงงาม แต่ลวดลายนั้นพอประมาณ (ลายขาดในช่องนั้น ทำเติมในรัชกาลที่ ๔)

๓ บานทวารประดับมุกข์ เปนฝีมือที่น่าชมอย่างยิ่ง เห็นว่าตั้งใจทำแข่งขันกับบานที่ทำครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกฐ ซึ่งอยู่ที่วิหารยอดในวัดนี้เองคู่ ๑ อยู่ที่วัดพระมหาธาตุเมืองพิษณุโลกอิกคู่ ๑

๔ ฐานชุกชีพนักทองคำ ทำแต่พอดูได้.

๕ บุษบกทองคำทรงพระแก้วมรกฎ ทำด้วยความตั้งใจ เปนทรงงามที่ ๑ ซึ่งเห็นในกรุงรัตนโกสินทร.

ข. พระมณฑป เปนสิ่งที่ตั้งใจทำอย่างดีที่สุดควรชมทุกอย่าง ทั้งฝีมือก็ยังมีคงอยู่มาก คือ-

๑ นาคพลสิงห์กะได เปนแบบเก่าที่สุด

๒ ยักษ์บนปลายพลสิงห์ งามที่สุด

๓ ฐานบัทม์ ตลอดถึงผนัง ลายงามที่สุด

๔ ซุ้มทวาร งามพอตัว

๕ บานทวารประดับมุกต์ ดีเสมอกับพระอุโบสถ

๖ ตู้พระไตรปิฎก ทรงมณฑปประดับมุกต์ งามอย่างยิ่ง

ฃ หอพระมณเฑียรธรรม ไม่ได้ตั้งใจทำอย่างประณีต แต่กระนั้นรูปทรงก็งามอย่างยิ่ง สิ่งซึ่งอยู่ในนั้นมีดีหลายอย่าง คือ-

๑ ตู้พระไตรปิฎกประทับมุกต์คู่ ๑ งามหนักหนา เห็นว่าจะไม่ได้ทำสำหรับตั้งในหอนั้น เดิมจะอยู่ที่อื่น

๒ พระแท่นที่บรรธมประดับมุกต์ ลวดลายอย่างพระแท่นเสวตฉัตร ซึ่งตั้งอยู่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแต่ก่อน เดิมจะใช้ตั้งในพระที่นั่งแห่งใดแห่งหนึ่ง งามมากอยู่.

๓ ตู้พระไตรปิฎกลายทองใบใหญ่ ๆ นั่นทำสำหรับหอแน่งามมากที่เดียว.

ที่ ๓ วัดมหาธาตุ ได้ทำในรัชกาลที่ ๑ เหมือนกัน แต่ได้ซ่อมแปลงเสียใหม่ เปนฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๓ ไปหมดแล้ว แต่ควรกำหนดใจได้อย่างหนึ่ง ว่าพระอุโบสถเปนทรงโรงมีระเบียงรอบผนังอยู่นอกเช่นนี้ เปนแบบโบราณ มีพระอุโบสถวัดชนะสงครามอิกหลังหนึ่งเปนแบบเดียวกัน ต่อมาชั้นหลังไม่ได้ทำอิกเลย.

ที่ ๔ พระที่นั่งในพระราชวังบวร มีหลายองค์ที่เห็นปรากฎว่าทำในรัชกาลที่ ๑ คือ-

ก. พระวิมานสามหลัง นั่นเปนเก่าที่สุด แต่ฝีมือทำไม่ประณีตมีแต่น่าบรรพ์แลเปนงามมาก แต่น่าดูที่ทำเปนแบบกรุงเก่าทุกสิ่งทุกอย่าง

ข. พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ดูท่วงทีไม่เปนฝีมือในรัชกาลที่ ๑ เสียเลย เพราะมีเสาระเบียงสี่เหลี่ยมโต ๆ ก่ออิฐทับหลังบนตพานไม้ไว้คอสองที่หลังคาต่อ ช่างเหมือนวัดบวรสถานเสียจริง ๆ แต่ปรากฎฝีมือแน่อยู่ที่เขียนข้างใน เปนฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ แท้ แลเปนฝีมืออย่างเอก น่าชมอย่างยิ่ง (มีซ่อมใหม่เสียแล้วหลายห้อง แต่ผู้ซ่อมก็เปนช่างฝีมือดี ๆ พอดูได้) ถ้าไม่มีรูปเขียนข้างในนั้นเปนพยานอยู่แล้ว อยากจะด้นว่าทำรัชกาลที่ ๓ ถ้าจะมีใครมาบอกว่า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงทำระเบียงต่อออกมาแล้ว จะต้องร้องเออยาวทีเดียวด้วยความโล่งใจ.

ฃ. พระที่นั่งสิวโมข ว่าทำในรัชกาลที่ ๑ เรียกพระที่นั่งทรงปืน เอาอย่างกรุงเก่า แต่เห็นวิธีทำเปนอย่างรัชกาลที่ ๓ เสียอิก รูปร่างก็เลวเต็มที คงจะได้ทำเสียใหม่แล้วในรัชกาลที่ ๓

ที่ ๕ วัดราชบุรณะ พระอุโบสถมีหนังสือเขียนไว้ที่ตัวไม้เหนือเพดาลบอกปีสร้าง บอกนามผู้เปนแม่การ คือ กรมหลวงเทพหริรักษ์รูปทรงก็เปนโรงกลายแบบรัชกาลที่ ๑ งามพอดูได้ ข้างในผนังแลหลังบานเขียนภาพเรื่องทั้งนั้น เปนฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ มีหนังสือจดชื่อคนเขียนแลปีเขียนทุกห้อง ดูเหมือนจะประกวดประชันฝีมือกันมาก น่าชมมาก แต่เปนรองที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์.

ที่ ๖ วัดพระเชตุพน ยังมีสิ่งที่สร้างในรัชกาลที่ ๑ เหลืออยู่ดูได้ คือ-

ก. พระวิหารทิศทั้งสี่ มีลายน่าบรรพ์เปนเอก กับฐานพระพุทธรูปประจำพระวิหาร แต่ละทิศก็คิดทำอย่างงามปลาดไม่มีเสมอสอง สมกับองค์พระพุทธรูปอันงาม ซึ่งเลือกคัดเชีญมาแต่หัวเมืองเหนือ แต่ก่อนรูปเขียนมารประจญในพระวิหารเบื้องบุรพทิศ เปนฝีมือดีล่ำเลีศประเสรีฐยิ่งกว่าที่ไหนหมดในพระราชอาณาจักร มีความเสียใจที่ไม่ได้รักษา ปล่อยให้หลังคารั่วจนฝนชะลอกเสียเปนอันมาก เหลืออยู่ดูได้เปนหย่อม ๆ ครั้นซ่อมใหม่ก็เลยถูกลบซ้ำ ฝีมืออันประเสริฐนั้นก็สูญสิ้น น่าเสียดายเปนอย่างยิ่ง ผู้เขียนนั้นได้ทราบว่าชื่อพระอาจารย์นาค (ภิกษุ) ฝีมือยังมีอยู่อิกที่ด้านอุดหลังพระอุโบสถวัดราชบุรณะ แลที่หอพระไตรปิฎกวัดระฆัง แต่ไม่ได้ตั้งใจทำจนสุดฝีมือเหมือนมารประจญที่นี้.

ข. พระวิหารคดทั้งสี่ ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ จึ่งมิได้ทำอย่างวิจิตรพิศดาร แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีแปลกปลาดที่น่าบรรพ์ ทำเปนภาพจับเรื่องรามเกียรติแกมกับลาย ซึ่งยังไม่เคยเห็นทำน่าบรรพ์ที่ไหนมาก่อนเลย.

ฃ. พระระเบียง ดูประหนึ่งว่าเปนฝีมือในรัชกาลที่ ๓ แต่เข้าใจว่าทำซ่อมแปลงตามทำนองเดิม ซึ่งทำไว้แต่รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเปนความคิดอย่างวิเศษ เหตุว่าคิดวางท่าทางดี มีพระระเบียงใหญ่อยู่ชั้นในมีพระระเบียงเล็กซ้อนชั้นนอก แต่ไม่วิ่งอ้อมไปรอบ เลี้ยวย่อเข้าหาพระระเบียงใหญ่เสียที่ใกล้มุม เมื่อดูภายนอกทำให้เห็นมุมพระระเบียงชั้นนอกชั้นในผสมกันหลั่นลดเปนไม้สิบสอง ไม่จืดตา แต่เมื่อดูภายในเปนวงสี่เหลี่ยมเข้ากับพระอุโบสถ ไม่มีที่ไหนได้ทำเหมือนดังนี้ เปนความคิดอันดีสมควรจะสรรเสริญยิ่งนัก

ที่ ๗ วัดระฆังโฆสิตาราม มีสิ่งซึ่งเปนฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ ทำปรากฎอยู่ คือ-

ก. พระอุโบสถ เปนทรงแบบรัชกาลที่ ๑ รูปงามดี แต่ไม่มีลวดลายที่ประณีต.

ข. พระปรางค์ ทำอย่างถูกแบบแผน ซึ่งมีในเมืองเหนือแลกรุงเก่า ไม่มีพระปรางค์องค์อื่นในกรุงรัตนโกสินทร ที่ทำถูกต้องเหมือนพระปรางค์องค์นี้อิกเลย จึงเปนที่สงไสยอยู่ว่าจะทำในรัชกาลที่ ๑ ฤๅทำไว้แล้วแต่ครั้งกรุงเก่า เอาแน่ไม่ได้เพราะไม่มีพระปรางค์ในกรุงรัตนโกสินทร ซึ่งทำก่อนรัชกาลที่ ๓ จะดูเทียบเคียง ถ้าจะคาดดูตามฐานที่น่าจะว่าทำครั้งกรุงเก่า เพราะเปนของดีควรชม แต่ไปซุกอยู่ที่มุมไม่เปนที่ชวนชม ซ้ำตรงน่าโบถเก่าด้วยเปนทางน้ำไปให้เห็นว่าทำสำหรับมากับโบถเก่า แต่ถ้าจะคิดไปอิกทีโบสถ์เก่าซึ่งทำอย่างเลวตามธรรมดาวัดเล็ก ๆ แถวบ้านนอกจะมีพระปรางค์งามถึงป่านนี้ดูก็มิควรกัน ต้องเปนทำในรัชกาลที่ ๑ แต่อย่างไรก็ดี พระปรางค์องค์นี้เปนแบบอย่างอันดี ซึ่งมีจะดูได้ในกรุงรัตนโกสินทรแต่องค์เดียว.

ฃ. หอพระไตรปิฎก จับได้แน่ว่าทำในรัชกาลที่ ๑ ท่วงทีปลาดกว่าหอไตรที่ไหนหมด เปนหอฝากระดานมุงกระเบื้องสามหลังแฝดมีชาลน่า ปลูกอยู่กลางสระ ดูเหมือนหนึ่งว่าหลังซ้ายขวา จะเปนที่ไว้คัมภีร์พระปริญัติธรรม หลังกลางจะเปนที่บอกหนังสือ ฤๅดูหนังสือ ฝีมือที่ทำหอนี้อย่างประณีตแบบกรุงเก่ามีสิ่งซึ่งควรชมอยู่หลายอย่าง คือ-

๑ ชายคามีกระเบื้องกระจังเทพประนมอย่างกรุงเก่า ถ้าผู้ใดไม่เคยเห็นจะดูที่นี่ได้.

๒ ประตูแลซุ้มซึ่งจะเข้าในชาลา สลักลายอย่างเก่างามปลาดตาทีเดียว.

๓ ประตูหอกลางก็สลักงามอิก ต่างลายกับประตูนอก.

๔ ฝาในหอกลางเขียนเรื่องรามเกียรติ ฝีมือพระอาจารย์นาคผู้ที่เขียนมารประจญในพระวิหารวัดพระะเชตุพน ท่วงทีขึงขังนัก.

๕ บานประตูหอขวาเขียนรดน้ำ ลายผูกโดยตั้งใจจะพลิกแพลงมาก แต่ดูหาสู้ดีไม่.

๖ ฝาในหอขวา เขียนภาพเรื่อง เห็นจะเปนชาดกฝีมือเรียบ ๆ

๗ ตู้สำหรับไว้พระไตรปิฎก ตั้งอยู่ในหอทั้งซ้ายขวามีมากมาย ใหญ่จนออกประตูไม่ได้ก็มี เขียนลายรดน้ำหลายฝีมือด้วยกันแต่ล้วนดี ๆ มีฝีมือคนที่ผูกลายบานมุกต์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็หลายใบ ผู้ใดที่รักการช่างได้ไปชมที่นั้นแล้ว จะไม่อยากกลับบ้าน เปนเคราะห์ดีมากที่หอพระไตรปิฎกนี้ ยังอยู่ให้ดูได้ดีๆ ไม่พังเสีย จะต้องขอบคุณความดีของพระครูวินัยธร ชม ซึ่งท่านอาไศรยอยู่ในหอนั้น คงจะได้เอาใจใส่ระวังซ่อมแซมอยู่เสมอ.

ที่ ๘ วัดดุสิดาราม ก็ยังคงปรากฎฝีมือช่างรัชกาลที่ ๑ อยู่เหมือนกัน คือทรงพระอุโบสถแลรูปเขียนภายใน แต่เปนฝีมือปานกลางทำแต่พอดูได้ ไม่สู้จะประณีต.

ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ การก่อสร้างซึ่งประกอบด้วยฝีมือช่างอย่างวิจิตรอยู่ข้างจะมีน้อย ด้วยสิ่งใดซึ่งควรทำก็ได้ทำเสียเสร็จแล้วแต่รัชกาลก่อน ถึงกระนั้นสิ่งที่ดีก็ยังมี ชี้ให้เห็นได้อยู่บ้าง ดังนี้

ที่ ๑ วัดอรุณราชวราราม มีสิ่งที่พึงสังเกตแลพึงชม คือ-

ก. พระอุโบสถ ทำทรงคล้ายรัชกาลที่ ๑ แต่แฉล่มขึ้นกว่าสักหน่อย ยังมีเหลืออยู่ดูได้แต่สิ่งที่ทำด้วยอิฐปูน เครื่องไม้นั้นเพลิงไหม้เสียหมดแล้ว.

ข. พระประธานในพระอุโบสถ ลักษณะแลทรวดทรงเปนอย่างใหม่ ซึ่งพึงประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๒ นั้นเองเปนต้นมา.

ฃ. พระระเบียง มีอยู่ให้ดูได้บริบูรณ์ ทรวดทรงงามกว่าพระระเบียงที่ไหนหมด เปนศรีแห่งฝีมือในรัชกาลที่ ๒ ควรชมอย่างยิ่ง แต่ลายเขียนผนังนั้น เปนฝีมือในรัชกาลที่ ๓ ทำเพิ่มเติม

ที่ ๒ บานทวารวิหารพระศรีสากยมุนี เปนลายสลักซับซ้อนกันหลายชั้น งามวิจิตรน่าพิศวงอย่างยิ่ง เคยได้ยินพูดกัน ว่าเดิมได้มาแต่เมืองเหนือคู่หนึ่ง ต้องพระราชหฤไทยว่าเปนของงาม จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ทำเติมขึ้นใหม่อิก ๒ คู่ ประดิษฐ์สถานขึ้นไว้ประจำพระวิหาร ภายหลังมาปรากฎขึ้น ว่าทรงจำหลักด้วยฝีพระหัดถ์แห่งพระองค์เอง แจ้งอยู่ในพระราชวิจารณ เห็นจะฟังสันนิฐานผสมกันได้ ว่าเดิมได้มาแต่เหนือคู่หนึ่งจริง เพราะบานที่เรียกว่าแกะทำนองนี้ เห็นมีช่างเมืองเหนืออยู่บ้าง เช่นที่วิหารพระแท่นศิลาอาศนแลเมืองฝาง เปนต้น ในยุคนั้นคงจะทำประกวดประชันกันมาก ที่เรียกว่าแกะนั้นก็เปนคำควร เพราะคว้านปรุซับซ้อนกันลงไปหลายชั้น ซึ่งจะใช้สิ่วอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาไศรยคมมีดมาก เมื่อได้ลายแกะอันงามมาเช่นนั้น เปนเหตุเตือนพระราชหฤไทยให้ทรงแกะสู้ เพราะพระองค์ทรงชำนาญการแกะยิ่งนัก หน้าหุ่นซึ่งทรงแกะด้วยฝีพระหัตถ์ ก็มีหน้าพระใหญ่กับพระน้อยอยู่คู่หนึ่ง เรียกกันว่าพระยารักใหญ่ พระยารักน้อย (รักนั้นหมายความว่าแกะด้วยไม้รัก) งามไม่มีหน้าพระอื่นเสมอสอง ถ้าจะตามดูจงระวังสังเกตหน้าที่สรวมชฎานั้นและเปนฝีพระหัถ บรรจุไว้ลุ้งเดียวกันทั้งคู่ มีอยู่อิกคู่ อนึ่งซึ่งสรวมมงกุฏ นั่นไม่ใช่ฝีพระหัถ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชตรงฤทธิทรงจัดการให้ทำขึ้นใหม่ เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดสรวมชฎา ด้วยทรงพระราชดำริห์ว่าเปนพระราชา ควรจะทรงมงกุฎ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ