ตอนที่ ๗
อุปราชาภิเษก
ในตอนนี้ จะกล่าวถึงเรื่องตำนานการอุปราชาภิเษกในกรุงรัตนโกสินทร์ก่อน[๑๖๐] เพราะกระบวนพิธีอุปราชาภิเษกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ มีการแก้ไขเกี่ยวเนื่องกับอุปราชาภิเษกในรัชกาลก่อนๆ หลายอย่าง ทั้งในการพิธีและในการเมือง ถ้าผู้อ่านทราบเรื่องตำนานจึงจะเข้าใจเหตุผลในเรื่องอุปราชาภิเษกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญได้แจ่มแจ้ง
ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จปราบดาภิเษกในปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นเวลาเริ่มย้ายพระนครมาสร้างทางฝั่งตะวันออก พระราชมณเทียรสถานก็ทำแต่ด้วยเครื่องไม้พอใช้ชั่วคราว การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนั้นจึงทำแต่โดยสังเขป ข้อนี้เป็นเหตุให้พึงสันนิษฐานได้ว่า การที่ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นพระมหาอุปราชก็คงทำพิธีอุปราชาภิเษกแต่โดยสังเขปตามกัน ครั้นต่อมาเมื่อสร้างพระนครและเครื่องราชูประโภคทั้งปวงสำเร็จแล้วจึงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง ๑ ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ เพื่อให้สมบูรณ์ตามราชนิติ ความจำเป็นที่จะต้องทำพระราชพิธีอุปราชาภิเษกอีกครั้ง ๑ เช่นนั้นหามีไม่ เพราะการอุปราชาภิเษกสำเร็จด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง เมื่อพระมหาอุปราชได้รับพระราชทานน้ำอภิเษกและพระสุพรรณบัฏแล้วก็ย่อมเป็นการสมบูรณ์ จึงสันนิษฐานว่าเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ นั้น ฝ่ายพระมหาอุปราชเห็นจะทรงทำแต่พิธีเฉลิมราชมนเทียร ซึ่งทรงสร้างขึ้นเป็นของถาวรพร้อมกับสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล เรื่องอุปราชาภิเษกกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในรัชกาลที่ ๑ จึงหามีจดหมายเหตุหรือรายการปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชพระองค์แรกในกรุงรัตนโกสินทร์เสด็จสวรรคตในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๔๖ ต่อนั้นมาอีก ๓ ปี กรมพระราชวังหลังทิวงคตเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ ในปีขาลนั้นพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (คือพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ทรงพระราชปรารภว่าการพิธีบรมราชาภิเษกก็ได้ตั้งตำราไว้สำหรับพระนครแล้ว แต่การพิธีอุปราชาภิเษกยังหามีตำราไม่ จึงดำรัสสั่งให้ประชุมข้าราชการเก่า ซึ่งรู้แบบแผนครั้งกรุงศรีอยุธยา มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด ผู้เป็นต้นสกุล บุณยรัตพันธุ์) เป็นต้น ปรึกษากันเรียบเรียงระเบียบการพิธีอุปราชาภิเษกที่ทำครั้งกรุงศรีอยุธยาทูลเกล้าถวาย ก็ในเวลานั้นตำราเดิมสูญเสียแล้วแต่เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ข้าราชการเก่าจึงเอารายการพิธีอุปราชาภิเษกครั้งพระเจ้าบรมโกษฐทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเป็นพระมหาอุปราชเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๐๐ อันเป็นอุปราชาภิเษกครั้งหลังที่สุดในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งข้าราชการเหล่านั้นได้ทันรู้เห็นมาเรียบเรียงระเบียบพิธีทูลเกล้าฯ ถวาย ก็โปรดฯ ให้ใช้เป็นตำราสำหรับการพิธีอุปราชาภิเษกในกรุงรัตนโกสินทร์สืบมา
ก็ระเบียบการอุปราชาภิเษกครั้งเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพรพินิตนั้น จะพึงพิจารณาเห็นได้ว่าผิดกับประเพณีอุปราชาภิเษกในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่ก่อนมา ๒ สถาน คือที่เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพรพินิตเมื่อก่อนอุปราชาภิเษก เสด็จประทับอยู่ณตำหนักในบริเวณพระราชวังหลวง ยังมิได้เสด็จออกอยู่วังต่างหากสถาน ๑ เมื่ออุปราชาภิเษกแล้วสมเด็จพระราชบิดามีพระราชประสงค์จะให้คงประทับอยู่ในพระราชวังหลวงต่อไป ไม่โปรดให้ไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคลตามตำแหน่งพระมหาอุปราชอีกสถาน ๑ การทำพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพรพินิต จึงทำที่พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทในพระราชวังหลวงและแห่เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตจากตำหนักสวนกระต่ายซึ่งเป็นที่เสด็จประทับ มาทรงสดับพระพุทธมนต์และรับพระราชทานอภิเษกที่พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท เสร็จพิธีแล้วก็แห่เสด็จกลับไปส่งยังพระตำหนักสวนกระต่ายตามเดิม มิได้มีการเฉลิมพระราชมนเทียร เมื่อเอาระเบียบการอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพรพินิต มาใช้เป็นแบบอย่างในรัชกาลที่ ๑ แม้พฤติการผิดกันในถานที่ ๑ ด้วยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเสด็จออกอยู่วังต่างหาก ประทับ ณ พระราชวังเดิม มิได้เสด็จอยู่ในบริเวณพระราชวังหลวงเหมือนอย่างเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพรพินิตก็ดี แต่พฤติการสถานที่ ๒ เหมือนกัน ด้วยพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ไม่โปรดจะให้เสด็จไปประทับณพระราชวังบวรฯ ไม่ต้องมีพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร จึงคิดแก้ไขให้ระเบียบการตรงกับครั้งอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพรพินิตได้ คือทำการพระราชพิธีในพระราชวังหลวงที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและปลูกตำหนักขึ้นชั่วคราวที่สวนกุหลาบแทนตำหนักสวนกระต่าย แล้วเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จเข้ามาประทับแรมอยู่ที่พระตำหนักนั้นตลอดเวลางาน แห่เสด็จทางถนนริมกำแพงพระราชวังมาทรงสดับพระพุทธมนต์และรับอุปราชาภิเษกที่พระมหาปราสาทแล้วเสด็จเข้าไปรับพระราชทานพระสุพรรณบัฏที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ การที่ทำผิดกับครั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพรพินิตเพียงเมื่อเสร็จงานแล้ว แห่เสด็จโดยกระบวนเรือไปส่งที่พระราชวังเดิม
ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๕๒ จะทำการอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยดำรัสสั่งให้ทำตามเยี่ยงอย่างครั้งพระองค์ทรงรับอุปราชาภิเษก จึงเอาตำราที่ได้ตั้งขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๑ มาใช้ แต่คราวนี้พฤติการผิดกับคราวอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพรพินิตทั้ง ๒ สถาน ดูเหมือนจะไปเหมือนพฤติการในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อก่อนนั้นขึ้นไป คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์เสด็จออกอยู่วังต่างหาก ประทับณพระราชฐานเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (อยู่ตรงสร้างที่ว่าการกระทรวงทหารเรือบัดนี้) และเมื่ออุปราชาภิเษกแล้วก็จะเสด็จไปประทับอยู่พระราชวังบวรสถานมงคล จะต้องทำพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรด้วยกันกับอุปราชาภิเษก ระเบียบการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกในรัชกาลที่ ๒ จึงจำเป็นต้องแก้ไขไปจากระเบียบซึ่งเคยทำครั้งก่อน คือย้ายที่ทำพิธีไปทำที่พระราชวังบวรสถานมงคล แต่เพื่อจะรักษาระเบียบครั้งก่อนไว้ตามรับสั่ง จึงไม่แห่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์เสด็จโดยกระบวนเรือจากวังไปยังที่ทำการพิธี คงเชิญเสด็จเข้ามาประทับแรมในพระราชวังหลวงในเวลางานอุปราชาภิเษก[๑๖๑] และแห่เสด็จจากพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ขึ้นไปทรงสดับพระพุทธมนต์และรับอุปราชาภิเษกที่วังหน้า และเมื่ออุปราชาภิเษกแล้วเสด็จลงมารับพระราชทานพระสุพรรณบัฏในพระราชวังหลวง แล้วจึงเสด็จกลับขึ้นไปเฉลิมพระราชมนเทียร ประทับอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคล การแห่เสด็จเจ้านายซึ่งจะอุปราชาภิเษกจากพระราชวังหลวงขึ้นไปทำพิธีที่พระราชวัง บวรฯ จึงเกิดเป็นตำราขึ้น (นับว่าโดยไม่มีมูล) ตั้งแต่ครั้งนี้สืบมา
ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ ทรงสถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิ์พลเสพเป็นพระมหาอุปราช แม้พฤติการอย่างอื่นเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ ด้วยจะทำทั้งพิธีอุปราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมนเทียรเสด็จไปอยู่พระราชวังบวรฯ อย่างเดียวกัน แต่ก็เกิดลำบากด้วยเรื่องราชสกุลยศไม่เสมอกัน เพราะพระองค์หนึ่งเป็นเจ้าฟ้า อีกพระองค์หนึ่งเป็นแต่พระองค์เจ้า จึงเกิดปัญหาขึ้นด้วยเรื่องเครื่องตั้งแต่งประกอบพระเกียรติยศในการพระราชพิธีและในการจัดกระบวนแห่ ถึงมีปรากฏกล่าวในหมายรับสั่งเป็นข้อสงสัยว่า “พระแท่นที่สรงจะควรทำอย่างไร กระบวนแห่จะจัดอย่างไร ให้ไปทูลถามกรมหมื่นรักษรณเรศร์ดูเถิด” ดังนี้ สันนิษฐานว่าทั้งเครื่องพิธีและกระบวนแห่เห็นจะลดลง และงานอุปราชาภิเษกก็คงไม่สง่าเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ แต่คงแห่เสด็จกรมหมื่นศักดิ์พลเสพจากพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ขึ้นไปยังพระราชวังบวรฯ เหมือนคราวก่อน
ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นพระมหาอุปราช แต่โปรดให้ยกพระยศขึ้นเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์ ๑ ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศักดิ์สูงกว่าพระมหาอุปราชซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่ก่อน จึงเปลี่ยนการพิธีอุปราชาภิเษกเป็นบวร[๑๖๒]ราชาภิเษก คือเอาแบบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปทำ ลดแต่พระที่นั่งอัฐทิศและพระที่นั่งภัทรบิฐ ระเบียบการอย่างอื่นก็แก้ไขหลายอย่าง เป็นต้นว่า เชิญเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เข้าไปประทับในพระบวรราชวัง (เหมือนอย่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางพระราชวังหลวงเสด็จเข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวัง) ตั้งแต่ก่อนงาน[๑๖๓] อันนี้เป็นเหตุที่ไม่ต้องแห่เสด็จขึ้นไปในเวลางานเหมือนอุปราชาภิเษก อีกประการ ๑ แต่ก่อนมาพระมหาอุปราชต้องเสด็จมารับพระราชทานพระสุพรรณบัฏที่ในพระบรมมหาราชวัง และในงานอุปราชาภิเษกก็ไม่ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปยังพระราชวังบวรฯ (แต่สันนิษฐานว่าเห็นจะเสด็จขึ้นไปพระราชทานน้ำอภิเษก) แต่ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราแห่ ๔ สาย ขึ้นไปช่วยงานบวรราชาภิเษกทุกวัน และเสด็จขึ้นไปพระราชทานน้ำอภิเษกกับทั้งพระสุพรรณบัฎที่พระบวรราชวังด้วย เมื่อบวรราชาภิเษกและเฉลิมราชมนเทียรแล้ว ยังมีแห่เสด็จเลียบพระนครทางสถลมารคด้วยอีกวันหนึ่ง
ถึงรัชกาลที่ ๕ ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อจะทำการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พฤติการผิดกับแต่ก่อนด้วยเรื่องราชสกลยศดังกล่าวมาในตอนอื่นแล้วอย่างหนึ่ง และมีปัญหาเรื่องระเบียบการซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งขึ้นเมื่อครั้งบวรราชาภิเษกนั้นว่าจะควรเอามาใช้ในการอุปราชาภิเษกครั้งนี้เพียงใด และจะงดเสียเพียงใดอีกอย่างหนึ่ง ในหมายรับสั่งซึ่งปรากฏอยู่ในกระทรวงมหาดไทยตอนบานแผนกเบื้องต้นกล่าวความดังนี้
“อนึ่งเวลา ๓ โมง เสมียนตรากรมวังมาสั่ง ณ วันพฤหัสบดี เดือนอัาย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก ว่าด้วยท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ที่สมุหพระกลาโหม รับสั่งพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า จะได้ตั้งการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกพระบวรวงศเธอชั้น ๓ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นกรมบวรสถานมงคลตามอย่างกรมพระราชวังบวรฯ แต่ก่อน พระโหราธีบดีหลวงโลกทีปขุนโชติพรหมมา ขุนเทพพยากรณ์ คำนวณพระฤกษ์ทูลเกล้าฯ ถวาย ณ วันเดือนอ้าย ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๙ ค่ำ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก เวลาบ่ายจะได้ตั้งการพระราชพิธีสงฆ์พิธีพราหมณ์พร้อมกัน พระราชาคณะจะได้เจริญพระพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ๔๕ รูป พระที่นั่งวสันตพิมาน ๕ รูป รวม ๕๐ รูป และจะได้เสด็จทรงเครื่องพลับพลาริมโรงละครใหญ่หลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วทรงพระราชยานเดิน กระบวนแห่เป็นพยุหยาตราออกประตูวิเศษชัยศรีตรงไปเลี้ยวเข้าประตูมหาโภคราช ประทับเกยหน้าพระที่นั่งมังคลาภิเษกเปลื้องเครื่องแล้ว ทรงพระภูษาเขียนทองพื้นขาว ฉลองพระองค์ครุยยาว เสด็จทรงจุดเทียนนมัสการในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ทรงศีลจุดเทียนชัยแล้ว เสด็จขึ้นทรงฟังพระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว แห่กลับประทับพลับพลาทั้ง ๓ วัน พระสงฆ์จะได้สวดภาณวารทั้งกลางวันกลางคืน รับพระราชทานฉันเช้า ๕๐ ฉันเพล ๑๐ เวลาเช้า ณ วันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เสด็จทรงปฏิบัติพระสงฆ์เป็นกระบวนตามธรรมเนียม ครั้น ณ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ เวลาเช้าตั้งกระบวนแห่เหมือนอย่างแห่ทรงฟังสวด แห่ถึงประทับเกยพระที่นั่งมังคลาภิเษก แล้วเสด็จประทับอยู่ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ครั้นเวลาเช้า ๓ โมง ๘ บาท พระฤกษ์ จะได้เสด็จเข้าที่สรงพระมุรฺธาภิเษก พระบรมวงศานุวงศและท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่จะได้ถวายน้ำพระพุทธมนต์ ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกลศน้ำสังข์ ครั้นสรงเสร็จแล้วพระบาทสมเด็จฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระสุพรรณบัฏพระแสงอัษฎาวุธและเครื่องราชูปโภค[๑๖๔]เสร็จแล้ว เสด็จออกพระที่นั่งคชกรรมประเวศ โปรดให้ทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์ ทรงพระราชอุทิศยาจกวณิพกทั้งปวง ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมงจะได้ตั้งบายศรีแก้ว ๑ ทอง ๑ เงิน ๑ เวียนเทียนสมโภชเฉลิมพระราชมนเทียรให้เจ้าพนักงานในพระบวรราชวังจัดการทั้งปวงเหมือนอย่างพระราชพิธีราชาภิเษกให้พร้อมกัน” ในหมายเหตุรับสั่งซึ่งคัดมาลงไว้ในนี้ จะพึงพิจารณาเห็นได้ว่า เอาแบบการพิธีอุปราชาภิเษกครั้งรัชกาลก่อนๆ ระคนปนกันแบบการบางอย่าง ซึ่งพึ่งมีขึ้นเมื่อครั้งบวรราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นพระราชาคณะสวดภาณวารเป็นต้น เลยเอามาใช้ในครั้งนี้ด้วย การพิธีอุปราชาภิเษกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ จึงผิดกับอุปราชาภิเษกซึ่งได้เคยมีมาในรัชกาลก่อน ๆ
ระเบียบการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญยังมีในจดหมายเหตุนอกจากหมายรับสั่ง ปรากฏว่าปลูกพลับพลายกที่ประทับแรมในพระบรมมหาราชวัง ที่ตรงริมโรงละคอนอย่างแต่ก่อน แต่ตั้งเกยแห่ที่พลับพลานั้น มิได้เข้าไปแห่จากพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ เหมือนเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ตั้งแต่ประตูวิเศษชัยศรีไปจนในบริเวณพระราชวังบวร[๑๖๕] สองข้างทางปักฉัตรเบญจรงค์ตั้งราชวัตร ผูกต้นกล้วยอ้อยและฉัตรกระดาษเป็นระยะไป และที่ในพระบวรราชวังนั้นตั้งพระแท่นมณฑลและที่พระสงฆ์สวดมนต์ทั้งสวดภาณวารที่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระแท่นสรงตั้งข้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยทางด้านเหนือ โรงพิธีพราหมณ์ปลูกข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เหมือนแต่ก่อน ส่วนการเฉลิมพระราชมนเทียรก็ทำพิธีที่พระที่นั่งวสันตพิมาน ซึ่งจัดเป็นที่พระบรรธมเหมือนแต่ก่อน จำนวนพระสงฆ์สวดมนต์ ๓๕ รูป คือสวดในที่พระบรรธม ๕ รูป สวดที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ๓๐ รูป[๑๖๖]
ถึงวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก พราหมณ์เข้าพิธี รุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้ายขึ้น ๘ ค่ำ แห่พระสุพรรณบัฏไปจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปตั้งในพระแท่นมณฑล ครั้นเวลาบ่ายเป็นวันสวดมนต์การพิธีอุปราชาภิเษก วันแรกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญแต่งพระองค์ทรงสนับเพลาและผ้าเยียรบับ ฉลองพระองค์จีบเอวทรงฉลองพระองค์ครุยและพระมาลาเพ็ชร์[๑๖๗] ทรงยานมาศ[๑๖๘] มีกระบวนตำรวจ กรมวัง มหาดเล็ก ซึ่งมีตำแหน่งฝ่ายพระราชวังบวรแห่เสด็จจากพระราชวังหลวง ครั้นไปถึงพระราชวังบวรหยุดกระบวนแห่ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเสด็จประทับรอเสด็จพระราชดำเนินอยู่ที่ตึกสองชั้นริมประตูมหาโภคราช ครั้นต่อมาเวลาบ่ายนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยกระบวนราบขึ้นไปยังพระราชวังบวรฯ อย่างพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเมื่อคราวบวรราชาภิเษก เป็นแต่ไม่ได้แห่เป็นพยุหยาตรา ๔ สาย เมื่อเสด็จถึงประทับที่พระที่นั่งคชกรรมประเวศ[๑๖๙] จึงเคลื่อนกระบวนแห่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญจากตึกที่ประทับมาผ่านหน้าพระที่นั่งคชกรรมประเวศ ถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วจึงไปประทับเกยพระที่นั่งมังคลาภิเษก ซึ่งจัดเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่อง ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าไปประทับในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเปลี่ยนทรงเครื่องเยียรบับขาวแล้วตามเสด็จเข้าไปทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการและทรงศีล และเสด็จไปประทับสดับพระปริต ณ พระที่นั่งวสันตพิมาน เมื่อพระสงฆ์ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยสวดมนต์จบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับคืนพระบรมมหาราชวัง ทางโน้นก็แห่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญกลับมายังพลับพลาที่ข้างโรงปืน[๑๗๐] เวลาเช้ากรมหมื่นบวรวิชัยชาญเสด็จไปทรงประเคนเลี้ยงพระ งานเหมือนกันทั้ง ๓ วัน
ครั้น ณ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ เวลาเช้า (พระสงฆ์ดับเทียนชัยแล้ว) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปยังพระราชวังบวร ครั้นได้พระฤกษ์เวลาเช้า ๗ นาฬิกาเศษ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเสด็จสู่ที่สรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำอภิเษกแล้ว กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ และกรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กับเจ้าพระยาภูธราภัย กับเจ้าจอมมารดาเอมซึ่งเป็นพระชนนีของกรมหมื่นบวรวิชัยชาญถวายน้ำ[๑๗๑] ครั้นสรงและทรงเครื่องเสร็จแล้วเสด็จมาสู่ที่เฝ้าในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระศรีสุนทรโวหารเจ้ากรมพระอาลักษณ์อ่านประกาศ คำประกาศที่อ่านว่าดังนี้
“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลเป็นอดีตกาลล่วงแล้ว ๒๔๑๑ พรรษา ปัตยุบันกาลมังกรสังวัจฉร มฤคลิรมาส ชุณหปักษ เอกาทศมี ดิถีพุธวาร บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทร เทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ ฯลฯ ปรมินทร ธรรมิกมหาราชาธิราชบรมบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มไหสุริยพิมาน โดยสถานอุตราพิมุข พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์และท่านเจ้าพระยา และพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือน เฝ้าโดยลำดับตามถานานุศักดิ์ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสปรึกษาว่า ธรรมเนียมในสยามราฐกรุงเทพมหานครเป็นจารีตสืบมาแต่โบราณ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติราชาภิเษกในพระบรมมหาราชวังเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่แล้ว ฝ่ายพระบวรราชวังก็เคยทรงพระราชดำริให้เลือกสรรพระราชวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่งพระองค์ใดซึ่งกอบด้วยพระวัยวุฒิปรีชา มีวิริยาธิคุณสามารถรอบรู้ในราชกิจ ควรจะช่วยทำนุบำรุงรักษาแผ่นดินไม่ให้เกิดจลาจล และระงับดับความร้อนรนทุกข์เข็ญของราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้า ได้สถาปนาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายหน้า รับพระบัณฑูรเฉลิมพระราชมนเทียรดำรงราชอิสริยยศ ได้เป็นที่เชิดชูเฉลิมพระเกียรติคุณปรากฏแก่ชนชาวต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาตั้งอยู่อาศรัยและไปมาค้าขายในพระมหานครนี้สิ้นกาลนาน การดังนี้เคยมีทุกๆ แผ่นดิน ครั้งนี้ทรงพระราชดำริพร้อมกับความดำริของพระราชวงศานุวงศและท่านเสนาบดี เห็นว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยฉลองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์มาช้านาน ทรงประพฤติกิจการถูกต้องพระราชอัธยาศรัยโดยมาก ไม่มีความพลั้งพลาดประการใดและกอบด้วยพระวัยวุฒิปรีชาสามารถรอบรู้ในราชการกิจนั้น ๆ และทรงพระปัญญาขันธวิริยภาพฉลาดในการช่าง และสันทัดจัดเจนในสรรพกิจต่างๆ ซึ่งเป็นการทำนุบำรุงรักษาแผ่นดินได้ และมีพระราชอัธยาศรัยเรียบร้อย ควรจะครอบครองเป็นเจ้าของทำนุบำรุงรักษาพระบวรราชวัง ให้ดำรงราชอิสสริยยศเป็นจิรฐิติกาลสืบไปได้ จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้ตั้งการพระราชพิธีอุปราชาภิเษก สถาปนาพระเจ้าวรวงศเธอ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายหน้า[๑๗๒] รับพระบัณฑูรที่พระมหาอุปราชเถลิงพระราชมนเทียรในพระบวรราชวัง ทรงศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ ตามอย่างในพระราชกำหนดกฎหมายเดิม จงทรงพระเจริญพระชนมายุ พรรณสุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการเทอญ”
เมื่ออาลักษณ์อ่านประกาศจบแล้ว พระสงฆ์สวดชัยมงคลปริต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ทรงเจิม และพระราชทานพระสุพรรณบัฏกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้วพระราชทานเครื่องสำหรับพระเกียรติยศ คือ[๑๗๓] พระอนุราชมงกุฎ พระมาลาเส้าสูง พระแสงดาพฝักทอง พระแสงดาบฝักลงรักแดง พระแสงดาบฝักถมตะทอง ทองเหรียญถุง ๑ เงินเหรียญถุง ๑ กรมพระราชวังบวรฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียน แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ ทางโน้นกรมพระราชวังบวรฯ ทรงประเคนเลี้ยงพระต่อนั้นเจ้าพนักงานโปรยทานต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้นแล้วเฉลิมพระราชมนเทียร[๑๗๔]
มีรายการพิเศษบางอย่างซึ่งสมควรกล่าวต่อไปเนื่องในเรื่องอุปราชาภิเษก กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ คือเดิมจะเป็นด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กำหนดว่า เมื่ออุปราชาภิเษกแล้วจะมิให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญประทับในพระราชวังบวรฯ จึงให้สร้างตำหนัก[๑๗๕] เพิ่มเติมขึ้นที่วังซึ่งเสด็จประทับอยู่แต่ก่อนและให้ทำทางฉนวนตั้งแต่วังเข้ามาพระราชวังบวรฯ สำหรับให้เสด็จเข้ามาทำการพิธีต่างๆ และมารับแขกเมือง ได้ลงมือทำการที่กะจนจวนสำเร็จแล้วค้างอยู่ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญก็เลยเสด็จประทับอยู่ในพระราชวังบวรฯ จนตลอดพระชนมายุ แต่ไม่โปรดที่จะประทับอยู่บนพระวิมาน[๑๗๖] เป็นแต่เชิญเจ้าจอมมารดาเอมขึ้นมาอยู่ที่ห้องบูรพาภิมุขของพระวิมาน ส่วนพระองค์เองเดิมสร้างพระตำหนักน้อยขึ้นเป็นที่ประทับที่ในสวนซ้าย ต่อมาให้สร้างพระที่นั่งซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างค้างไว้ที่สวนนั้น[๑๗๗] เป็นตึกสอ ชั้น ประทานนามว่าพระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส แล้วเสด็จประทับอยู่ที่นั้นต่อมา[๑๗๘]
การอุปราชาภิเษกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญเห็นจะเป็นครั้งที่สุด ซึ่งตั้งพระมหาอุปราชในประเทศสยาม ตำแหน่งหน้าที่ของมหาอุปราชที่เคยมีมาแต่ก่อนเป็นอย่างไร ต่อไปจะไม่มีกิจที่ต้องกล่าวถึง จึงจะแสดงฝากไว้ในที่นี้มีให้สูญเสีย.
ในประกาศอุปราชาภิเษกว่าทรงสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ “เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายหน้ารับพระบัณฑูรที่พระมหาอุปราช” ใช้คำเช่นนี้ตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอธิบายหมายความหลายอย่างต่างกัน แต่ล้วนเนื่องด้วยตำแหน่งหน้าที่ของพระมหาอุปราชเอามารวมเรียกพระนามคือ (๑) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (๒) ฝ่ายหน้า (๓) พระบัณฑูร (๔) พระมหาอุปราช คำเหล่านี้มีเค้ามูลในพงศาวดารว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุต่างๆ กัน และเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับจนถึงในกรุงรัตนโกสินทร์นี้.
ตำแหน่ง “พระมหาอุปราช” ต้นตำรามาจากอินเดีย แต่ในอินเดียเขาเรียกเพียงว่า “อุปราช” เป็นตำแหน่ง (Vice Roy) ผู้ครองหัวเมืองมณฑลใหญ่ มีอำนาจถืออาชญาสิทธิ์ต่างพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน มิได้หมายความว่าเป็นรัชทายาท (Heir Apparent) รัชทายาทนั้นมีคำสำหรับเรียกอีกต่างหากว่า “ยุพราช”[๑๗๙] แต่ที่ไทยเราเอามาใช้เป็นแบบเพิ่มคำ “มหา” เข้าข้างหน้าคำ “อุปราช” ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าประสงค์จะแสดงว่า “มหาอุปราช” ทรงศักดิสูงกว่า “อุปราช” สามัญหรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่ง คือเดิมมีตำแหน่งอุปราชอยู่แล้ว (และอาจมีหลายองค์ในคราวเดียวกัน) เกิดประสงค์จะยกอุปราชองค์ใดองค์หนึ่งให้สูงศักดิ์กว่าอุปราชทั้งปวง จึงให้เรียกว่า “พระมหาอุปราช” ทำนองเดียวกับที่ใช้คำว่า “กษัตริย์” กับ “มหากษัตริย์” และ “ขุน” กับ “พ่อขุน” ฉะนั้น ถ้าว่าตามที่ปรากฏในพงศาวดาร ตำแหน่งพระมหาอุปราชเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตั้งกฎมณเฑียรบาลเมื่อปีชวด[๑๘๐] พ.ศ. ๒๐๑๑ กำหนดศักดิ์พระราชกุมารให้เป็นชั้นกันโดยลำดับดังนี้[๑๘๑]
ชั้นที่ ๑ พระราชกุมารอันเกิดพระมเหษีซ้ายขวา ทรงศักดิ์เป็น “สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” หรือเรียกอีกอย่างหนี่งในหนังสือพงศาวดารว่า “สมเด็จหน่อพุทธางกูร” (หมายความอย่างเดียวกัน)[๑๘๒]
ชั้นที่ ๒ พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระราชเทวี หรือพระอัครชายา (เรียกว่า “แม่อยั่วเมือง”[๑๘๓] ทรงศักดิ์เป็น “พระมหาอุปราช”)
ชั้นที่ ๓ พระราชกุมารอันเกิดด้วยลูกหลวง (เช่นพระมารดาเป็นพระองค์เจ้า) กินเมืองเอก
ชั้นที่ ๔ พระราชกุมารอันเกิดด้วยหลานหลวง (เช่นพระมารดาเป็นหม่อมเจ้า) กินเมืองโท
ชั้นที่ ๕ พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระสนม เป็น “พระเยาวราช” (ตรงนี้เห็นได้ว่าเอานามตำแหน่งรัชทายาทตามตำราอินเดียมาใช้เรียกพระราชกุมารชั้นต่ำ)
เพราะราชกุมารศักดิ์ที่กล่าวมา เพิ่งกำหนดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปัญหาจึงมีว่าเมื่อก่อนนั้นแบบแผนจะเป็นอย่างไร ข้อนี้มีหลักฐานที่จะรู้ได้เพียงว่า เรียกพระราชกุมารว่า “เจ้า”[๑๘๔] เช่นเจ้าทองลันและเจ้าอ้ายพญาเป็นต้น ถ้าเจ้าได้ครองเมือง[๑๘๕] มีราชทินนามขึ้นคำว่า “พระ” เช่นพระราเมศวร พระบรมราชาและพระอินทราชาเป็นต้น สันนิษฐานว่าเดิมเจ้าที่ครองหัวเมืองเอกคงเป็น “อุปราช” ตรงตามตำราอินเดียเพราะมีตำแหน่งอุปราชอยู่แล้วเช่นนั้น เมื่อตั้งกฎมนเทียรบาลจะให้มีอุปราชซึ่งทรงศักดิ์สูงยิ่งขึ้นไป จึงให้เรียกว่า “พระมหาอุปราช” แต่เหตุใดจึงกำหนดให้พระราชกุมารชั้นที่ ๒ เป็นพระมหาอุปราช ข้อนี้พิเคราะห์ดูเหมือนจะหมายความว่าเป็นรัชทายาทเมื่อไม่มีพระราชกุมารชั้นที่ ๑ เปรียบเช่นว่า พระมเหษีไม่มีพระราชกุมาร มีแต่พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระอัครชายา จะตั้งเป็นสมเด็จหน่อพุทธางกูรที่รัชทายาทก็ขัดอยู่ด้วยพระมเหษีอาจมีพระราชกุมาร จึงให้ไปครองเมืองอย่างเป็นอุปราช แต่ไห้เรียกว่า “พระมหาอุปราช” เพราะเทียบที่รัชทายาท (Heir Presumtire) ส่วนพระราชกุมารชั้นที่ ๓ ที่ได้ครองหัวเมืองใหญ่ก็คงเรียกกันว่าอุปราชอยู่ตามเดิม.
ตรวจดูตัวอย่างที่มีมาในพงศาวดาร[๑๘๖] ปรากฏว่าเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ ต้องเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกนั้น โปรดให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ทรงพระนามว่า พระบรมราชาครองพระนครศรีอยุธยา ในหนังสือพงศาวดารว่า “ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน” แต่เห็นจะเป็นสมเด็จหน่อพุทธางกูรหรือสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าตามกฎมนเทียรบาลนั้นเอง ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๐๒๘ ทรงตั้งพระราชโอรสอีกพระองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระ (ชัย) เชษฐา ให้เป็นพระมหาอุปราชได้ครองเมืองพิษณุโลก แล้วมาได้เสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยาต่อสมเด็จพระบรมราชาทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) ก็ทรงตั้งพระอาทิตยวงศราชโอรสเป็นพระบรมราชา ที่สมเด็จหน่อพุทธางกูรให้ไปครองเมืองพิษณุโลก แล้วได้รับรัชทายาทครองกรุงศรีอยุธยา เรียกพระนามในหนังสือพงศาวดารว่า “สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร” ครั้นมาถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราเมศวรพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นที่สมเด็จหน่อพุทธางกูรแต่อยู่ในราชธานี เพราะพระมหาธรรมราชาธิราชบุตรเขยได้เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก ถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงตั้งพระนเรศวรราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นสมเด็จหน่อพุทธางกูรไปครองเมืองพิษณุโลกอย่างเดิม ในหนังสือพงศาวดารก็ว่าให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ในรัชกาลนั้นเอง เมื่อทำสงครามกู้อิสสระของประเทศสยาม ต้องรวมกำลังมาตั้งต่อสู้ข้าศึกที่กรุงศรีอยุธยาแห่งเดียวพระนเรศวรก็ต้องเสด็จลงมาประทับอยู่ในพระนคร แม้ทำสงครามชนะข้าศึก หัวเมืองก็ยับเยินเสียมากไม่เหมือนแต่ก่อน ถึงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงเลิกประเพณีตั้งพระราชกุมารไปครองหัวเมือง[๑๘๗] แม้สมเด็จพระเอกาทศรถราชอนุชาซึ่งทรงสถาปนาเป็นรัชทายาทอย่างสมเด็จหน่อพุทธางกูรแต่ก่อน ก็ให้เสด็จประทับอยู่ในราชธานี ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถทรงตั้งเจ้าฟ้าสุทัศน์ราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นรัชทายาท แต่ ให้ทรงศักดิ์เป็นพระมหาอุปราชและอยู่ในราชธานี แต่นั้นจึงถือว่า พระมหาอุปราชเป็นรัชทายาทและอยู่ในราชธานีเป็นประเพณีสืบมา.[๑๘๘]
คำว่า “ฝ่ายหน้า” หน้าจะเป็นคำสำหรับเรียกรัชทายาทในภาษาไทยมา แต่โบราณ มีตัวอย่างในหนังสือเก่า[๑๘๙] เรียกสมเด็จพระเอกาทศรถเมื่อก่อนเสวยราชย์ว่า “พระเจ้าฝ่ายหน้า” และเรียกเจ้าฟ้าสุทัศน์พระมหาอุปราชในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ[๑๙๐] ว่า “เจ้าฟ้าฝ่ายหน้า” ดังนี้ พิเคราะห์ดูเค้ามูลเห็นมีเป็น ๒ นัย ถ้าเรียกกันขึ้นตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เห็นจะมาแต่เรียกวัง (จันทรเกษม) อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเป็นรัชทายาท ว่า “วังหน้า” เพราะอยู่ทางด้านหน้า และเรียกวังที่สวนหลวง (ริมวัดสบสวรรค์) ว่า “วังหลัง” เพราะอยู่ด้านหลังพระราชวัง (หลวง) แล้วเลยเรียกพระองค์รัชทายาทว่าพระเจ้าฝ่ายหน้าหรือเจ้าฟ้าฝ่ายหน้า แต่เค้ามูลมีอีกนัยหนึ่งซึ่งอาจจะเรียกมาแต่ดึกดำบรรพ์ตามหน้าที่ของรัชทายาทซึ่งต้องเป็น “หน้าศึก” เช่นเป็นทัพหน้าในเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทำสงครามหรือต้องออกทำสงครามแทนพระองค์เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไม่เสด็จไปเอง อันเป็นประเพณีเก่าแก่และใช้มาจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้คำว่า “ฝ่ายหน้า” อาจจะมาแต่หน้าที่เป็นหน้าศึกดังกล่าวมานี้ได้อีกนัยหนึ่ง.
คำว่า “พระบัณฑูร” นั้น สำหรับเรียกคำสั่งของพระมหาอุปราช เค้ามูลมาแต่คำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินกำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาลเป็น ๒ อย่าง เรียกว่าพระราชโองการ[๑๙๑] อย่าง ๑ เรียกว่าพระบัณฑูรอย่าง ๑ ข้อนี้พึงเห็นได้ในคำเริ่มต้นเมื่อตั้งกฎหมาย แต่โบราณใช้ว่า “มีพระราชโองการมานพระบัณฑูร” ต่อกัน ดังนี้ถ้าว่าตามพิเคราะห์คำต้นศัพท์ “โองการ” หมายความว่า ปกาสิตของพระอิศวร “ราชโองการ” ก็หมายความว่า “ปกาสิต” ของ พระอิศวรเมื่อแบ่งภาคลงมาเป็นพระราชาอยู่ในมนุษย์โลกซึ่งเรียกกันว่า “สมมุติเทวราช” คำ “บัณฑูร” นั้นเป็นภาษาเขมร หมายความว่า “สั่ง” เดิมคงใช้แต่ว่า “มีพระราชโองการบัณฑูร” คำว่า “มาน” (เป็นคำภาษาเขมรแปลว่า มี นั่นเอง) เห็นจะเพิ่มเป็นสัมผัสให้เพราะขึ้นในชั้นหลัง.
แต่อธิบายในกฎมณเฑียรบาลแยกพระราชโองการกับพระบัณฑูรออกต่างหากจากกัน ด้วยกล่าวว่า ถ้าขัดขืนพระราชโองการต้องโทษถึงประหารชีวิต ถ้าขัดพระบัณฑูรโทษปรับไหมจตุรคูณ ดังนี้แต่อย่างไรก็ดีที่ให้เรียกคำสั่งของพระมหาอุปราชว่าพระบัณฑูรนั้นพึงเข้าใจได้ว่าให้มีอำนาจในสถานหนึ่งเสมอพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน แต่อำนาจพระบัณฑูรนี้พระราชทานเจ้านายพระองค์อื่นนอกจากพระมหาอุปราชก็มี เรียกว่า “พระบัณฑูรน้อย” เคยมีตัวอย่างทั้งในกรุงศรีอยุธยาและในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ (เมื่อรัชกาลที่ ๑) พระบัณฑูรน้อยจะมีตำแหน่งหน้าที่อย่างไรไม่ปรากฏ แต่เมื่อพระมหาอุปราชได้รับรัชทายาท ทรงตั้งพระบัณฑูรน้อยเป็นพระมหาอุปราชทุกคราว.
คำว่า “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” มีเรื่องตำนานมาแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อรวมคนหัวเมืองเหนือลงมาตั้งสู้ศึกพะม่าที่พระนครศรีอยุธยา ครั้งนั้นพระนเรศวรสร้างวังเป็นที่ประทับอยู่ด้านหน้าพระราชวังหลวง คนทั้งหลายคงเรียกวังนั้นตามนามวังที่เคยเสด็จประทับณเมืองพิษณุโลก ว่า “วังจันทร์” บ้างเรียกว่า “วังหน้า” บ้าง สันนิษฐานว่าในครั้งนั้นคงสร้างวังขึ้นที่สวนหลวงทางด้านหลังพระราชทานพระเอกาทศรถ อีกวัง ๑ คนทั้งหลายก็เรียกกันว่า “วังหลัง” จึงเกิดมีวังหลวงวังหน้าและวังหลังขึ้นแต่ครั้งนั้นมา[๑๙๒] ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระศรีสุธรรมาธิราช (พ.ศ. ๒๑๙๙) สมเด็จพระนารายณ์ได้เป็นพระมหาอุปราชประทับอยู่ที่วังหน้า แล้วเกิดรบกับสมเด็จพระศรีสุธรรมาธิราช สมเด็จพระนารายณ์ได้ราชสมบัติ แตไม่เสด็จมาอยู่วังหลวง ประทับอยู่ที่วังหน้าต่อมาอีกหลายปี สันนิษฐานว่าเห็นจะเปลี่ยนนามวังจันทน์เกษมเป็น “พระราชวังบวรสถานมงคล” ในตอนนี้ เพราะเป็นพระราชวังและเป็นมงคลสถานที่ได้เสวยราชย์ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นั้นปรากฏว่าพระไตรภูวนาถทิตยวงศราชอนุชาองค์ ๑ ประทับอยู่ที่วังหลัง แต่หาได้เพิ่มยศศักดิ์อย่างใดไม่ ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาธิราชตั้งราชวงศ์ใหม่ จะตั้งให้หลวงสรศักดิ์ผู้เป็นบุตรเป็นพระมหาอุปราช และจะตั้งนายจบคชประสิทธิ์ผู้เป็นหลานเป็นเจ้าชั้นสูงรองแต่พระมหาอุปราชลงมาให้อยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคล คือ วังหน้า องค์ ๑ ให้อยู่วังหลัง องค์ ๑ จึงเอาระเบียบการตั้งกรมเจ้านายบังคับบัญชา ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงบัญญัติขึ้นมาใช้ ให้ขนานนามข้าราชการบรรดาที่มีตำแหน่งขึ้นอยู่ในพระมหาอุปราช เรียกรวมกันตามชื่อวังว่า “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” แล้วเอาแบบนั้นไปตั้งขึ้นสำหรับวังหลังขนานนามว่า “กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข” จึงเกิดนามเรียกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขแต่นั้นสืบมา
ถ้าว่าด้วยหน้าที่ของพระมหาอุปราช ๆ มีหน้าที่ในการทำศึกตรงกับคำที่เรียกว่า “ฝ่ายหน้า” เป็นสำคัญกว่าอย่างอื่น พึงเห็นอธิบายได้แม้ในกรุงรัตนโกสินทรนี้ในรัชกาลที่ ๑ พระมหาอุปราชก็ต้องทำศึก ทั้งที่โดยเสด็จและเสด็จไปโดยลำพังพระองค์มาจนตลอดพระชนมายุ ถึงรัชกาลที่ ๒ พม่ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก ถึงรัชกาลที่ ๓ เกิดกบฏเวียงจันทร์ พระมหาอุปราชก็เสด็จไปบัญชาการศึกทั้ง ๒ คราว แต่ถึงรัชกาลที่ ๔ จะยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุง พระมหาอุปราชทรงศักดิ์อย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงโปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทไปบัญชาการศึกต่างพระมหาอุปราช[๑๙๓] เป็นตัวอย่างมาดังนี้ นอกจากทำศึก พระมหาอุปราชยังมีหน้าที่ตลอดไปถึงการป้องกันพระราชอาณาเขตต์ ข้อนี้ก็มีมาจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เช่นในการสร้างป้อมปราการที่เมืองพระประแดง และเมืองสมุทรปราการ พระมหาอุปราชก็ทรงบัญชาการทั้งในรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔ ที่โปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดทหารบกทหารเรือขึ้นทางฝ่ายวังหน้า ก็เนื่องมาแต่หน้าที่ของพระมหาอุปราชในการป้องกันพระราชอาณาเขตต์นั่นเอง เมื่อว่าโดยย่อหน้าที่ของพระมหาอุปราชเป็นฝ่ายทหารเนื่องด้วยการทำศึกสงครามมาแต่โบราณ จึงมีผู้คนทั้งนายและไพร่ขึ้นอยู่ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมากกว่ากรมอื่นๆ เพื่อเกิดศึกสงครามเมื่อใดพระมหาอุปราชจะได้เรียกรี้พลได้ทันที ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่มีขุนนางวังหน้า เรียกว่า “ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวร” ขึ้นเป็นจำนวนมากอีกแผนก ๑.
แต่ในเวลาว่างศึกสงครามพระมหาอุปราชหามีหน้าที่ในการปกครองพระราชอาณาเขตต์อย่างใดไม่ คำซึ่งกล่าวกันมาแต่ก่อนว่า “พระมหาอุปราชเสวยราชย์กึ่งพระนคร” นั้นมีมูลมาแต่การแบ่งเขตต์รักษาท้องที่ในบริเวณพระนคร อันเป็นแบบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ในกรุงเทพฯ นี้ปันเขตต์ (ว่าตามแผนที่ในปัจจุบันนี้) ตามแนวถนนพระจันทน์ตั้งแต่ท่าน้ำตรงไปทางตะวันออกจนถึงประตูสำราญราษฎร (ถนนบำรุงเมือง) ท้องที่ข้างใต้เป็นอำเภอวังหลวง กรมนครบาลวังหลวงรักษา ท้องที่ทางข้างเหนือเป็นอำเภอวังหน้า กรมนครบาลวังหน้ารักษา แต่ปันเขตต์เพียงถึงคูพระนครเท่านั้น ท้องที่ภายนอกออกไปเป็นอำเภอวังหลวงทั้งนั้น ที่ไม่ให้พระมหาอุปราชเกี่ยวข้องในการปกครองบ้านเมือง น่าจะเป็นเหตุทำให้เห็นจำเป็นมาแต่โบราณ ด้วยพิเคราะห์ตามเรื่องพงศาวดาร แม้พระมหาอุปราชเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่พ้นมีเหตุร้ายได้ทุกรัชกาล ยิ่งพระมหาอุปราชมิได้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินแล้วมักเกิดเหตุร้ายยิ่งกว่าที่จะเรียบร้อย มีตัวอย่างมาหลายคราว ฐานะของพระมหาอุปราชจึงมีความลำบากอยู่ไม่น้อย[๑๙๔] เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาพระมหาอุปราชจะทรงประพฤติอย่างไรหาทราบไม่ แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ประพฤติผิดกันทุกพระองค์ ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นพระมหาอุปราช พระอัธยาศัยอยู่ข้างมีทิษฐิมานะ เกิดบาดหมางกับพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหลายครั้ง แทบถึงจะรบกันก็มี จนที่สุดเมื่อสวรรคตพวกวังหน้าที่เป็นคนใกล้ชิดก็กำเริบถึงต้องปราบปรามกันบางทีเหตุที่มีในรัชกาลที่ ๑นั้น จะเป็นตัวอย่างให้พระมหาอุปราชระวังพระองค์ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เป็นพระมหาอุปราชในตอนปลายรัชกาลที่ ๑ ก็ไม่ปรากฏว่าประพฤติพระองค์ให้ผิดกับเมื่อยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธออย่างใด เมื่อถึงรัชกาลที่ ๒ พระมหาอุปราชทรงชอบชิดสนิทเสน่หากับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชมาแต่เดิม ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีรับสั่งให้ทรงช่วยว่าราชการ ก็เสด็จลงมาประทับที่โรงละคอนหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตรวจตราข้อราชการต่างๆ ก่อนเสด็จเข้าเฝ้าในท้องพระโรงเป็นนิจจนตลอดพระชนมายุถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงสถาปนากรมหมื่นศักดิ์พลเสพขึ้นเป็นพระมหาอุปราชปรากฏว่าถ่อมพระองค์มาก เป็นต้นว่าประทับอยู่เพียงที่มุขไม่เสด็จประทับบนพระพิมานวังหน้า พระราชยานก็ไม่ทรงเสลี่ยงอย่างเป็นต่างกรม[๑๙๕] เรือพระที่นั่งก็ทรงเรือกราบกันยาหลังคากระแชงอย่างพระองค์เจ้า[๑๙๖] ไม่ดาดสีเหมือนเรือเจ้าฟ้า และไม่เข้าเกี่ยวข้องในราชการบ้านเมืองเหมือนพระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๒ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งอยู่ในที่พระมหาอุปราชให้มีพระยศเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดิน[๑๙๗] พระราชทานเครื่องราชูประโภคต่าง ๆ กับทั้งตำแหน่งข้าราชการวังหน้าเพิ่มขึ้นให้เป็นทำนองเดียวกับวังหลวง เป็นแต่ลดลงบ้างเล็กน้อย ถึงกระนั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถ่อมพระองค์ ไม่โปรดในการแสดงยศศักดิ์[๑๙๘] เป็นต้นว่าไม่เสด็จออกให้ขุนนางเฝ้าในท้องพระโรงนอกจากเวลามีงานพิธี โดยปกติเสด็จออกให้เฝ้าที่โรงรถ การที่เสด็จไปไหนด้วยมีกระบวนแห่เสด็จก็ฉะเพาะแต่ในงานพิธี หรือเสด็จลงมาเฝ้าตามตำแหน่ง ถ้าโดยปกติเสด็จไปตามวังเจ้านายที่ชอบชิด ก็ทรงม้ามีคนตามเสด็จคนหนึ่งหรือสองคน[๑๙๙] และยังโปรดทรงดำเนินเที่ยวเตร่ตามละแวกบ้านเหมือนเมื่อยังเป็นกรมอยู่ในรัชกาลที่ ๓ เสด็จอยู่วังหน้าโดยปกติโปรดทรงฝึกซ้อมหัดทหารหรือมิฉะนั้นก็นัดคนไปขี่ม้า ถ้ากลางวันเล่นคลี กลางวันเล่นซ่อนหา แต่ส่วนการบ้านเมืองนั้นไม่ทรงเอาเป็นพระราชธุระทีเดียว แม้เมื่อฝรั่งต่างชาติเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีก็ไม่ทรงเกี่ยวข้องในการปรึกษาหารือ.
ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นมหาอุปราช เป็นเวลาว่างการทัพศึก แต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินประสงค์จะรักษาหน้าที่ของพระมหาอุปราชตามประเพณีเดิมไว้ จึงจัดให้เสด็จไปตรวจตราป้อมที่เมืองสมุทรปราการ และเมืองจันทบุรีและต่อมาให้ทรงบัญชาการซ่อมแซมป้อมเสือซ่อนเล็บที่เมืองสมุทรปราการด้วย แต่ส่วนพระองค์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญนั้น โดยปกติก็ถ่อมพระองค์ทรงพยายามที่จะประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นว่าเสด็จลงมาเฝ้าในเวลาเสด็จออกขุนนางและในงานพระราชพิธีเสมอเป็นนิจ[๒๐๐] แต่ไม่เข้าเกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมือง เวลาเสด็จประทับอยู่ในพระราชวังบวรก็ไม่โปรดเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรง คงออกขุนนางที่โรงรถเหมือนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เลิกการเล่นกีฬาและไม่เสด็จไปเที่ยวเยี่ยมเยือนเจ้านาย แม้การฝึกหัดทหารก็เพียงจะรักษาแบบแผนให้คงอยู่.
ถึงกระนั้นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญก็ผิดกับพระมหาอุปราชแต่ก่อน ๆ เป็นข้อสำคัญบางอย่าง เพราะเมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เพิ่มเครื่องราชูประโภค และตำแหน่งข้าราชการวังหน้าพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกมากจนเทียมกับพระเจ้าแผ่นดิน ที่เป็นข้อสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้น คือให้มีทหารบกทหารเรือขึ้นทางฝ่ายวังหน้า เมื่อมาถึงสมัยกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ที่ถูกควรจะลดเครื่องยศและบริวารฝ่ายวังหน้าลงเพียงเท่าพระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๓ (หรือจะลดลงกว่านั้นอีกก็สมควร เพราะกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเป็นพระองค์เจ้าวังหน้า ทรงศักดิ์ตํ่าลงไปกรมพระราชวังบรมมหาศักดิ์พลเสพพระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๓) แต่หาลดลงเช่นนั้นไม่ จะเป็นเพราะเหตุใดไม่ปรากฏ จึงให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญมีเครื่องยศและบริวาร (ตลอดจนทหารบกทหารเรือ) เหมือนรับรัชทายาทของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ผิดกับพระมหาอุปราชแต่ก่อน ข้อนี้จึงเป็นมูลให้เกิดเหตุรายเมื่อภายหลัง ดังจะปรากฏในที่อื่นต่อไปข้างหน้า.
[๑๖๐] เมื่อจะแต่งหนังสือนี้ข้าพเจ้าตรวจจดหมายเหตุและหมายรับสั่งเรื่องอุปราชาภิเษกในรัชกาลก่อน ๆ เห็นมีคติอันมีสาระในประวัติศาสตร์ จึงเก็บเนื้อความเรียงตำนานไว้ในตอนนี้.
[๑๖๑] แต่คราวนี้ประทับแรมที่พลับพลาโรงละคอน หลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อยู่ตรงสนามหญ้าหน้าศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้
[๑๖๒] คำว่า “บรม” กับ “บวร” ใช้เป็นคู่กันสำหรับหมายว่าวังหลวงและวังหน้า เกิดขึ้นเมื่อสมัยนี้
[๑๖๓] เล่ากันมาว่า เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแรกเสด็จเข้าไปอยู่วังหน้าดำรัสว่า “นี่อย่างไร อยู่ดีๆ ก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง” ด้วยวังหน้ากำลังทรุดโทรม เพราะว่างอยู่ถึง ๒๐ ปี
[๑๖๔] ................ .. ................
[๑๖๕] พระราชวังบวรฯ เปลี่ยนชื่อเป็น “พระบวรราชวัง” เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ มาเปลี่ยนชื่อเป็นพระราชวังบวรสถานมงคลอย่างเดิมเมื่ออุปราชาภิเษกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญแล้ว ข้อนี้พึงเห็นได้ในหมายรับสั่งยังเรียกว่าพระบวรราชวัง
[๑๖๖] จำนวนพระสงฆ์ไม่ตรงกับในหมายเหตุรับสั่ง เห็นจะมาสั่งลดจำนวนลงเมื่อภายหลัง
[๑๖๗] เห็นจะเป็นอย่างที่เรียกกันว่า “แต่งอย่างเทศ” เช่นที่เขียนพระรูปประดับในมุขกระสันต์ตะวันตกแห่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นแต่เพิ่มฉลองพระองค์ครุย.
[๑๖๘] ในจดหมายเหตุที่พบกล่าวต่างกัน นัยหนึ่งว่าทรงพระที่นั่งพุดตาลวังหน้าของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกนัยหนึ่งว่าทรงพระเสลี่ยงกง
[๑๖๙] เป็นปราสาทขนาดพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์อยู่หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรค์เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว
[๑๗๐] ผู้รู้การครั้งนั้นบอกว่า กรมหมื่นบวรวิชัยชาญมิได้ประทับแรมที่พลับพลา เสด็จไปแต่เมื่อจะแห่ เสร็จแล้วก็กลับไปประทับที่วัง เห็นว่าจะจริงอย่างนั้นและสันนิษฐานต่อไปว่าจะเป็นมาแต่ครั้งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพในรัชกาลที่ ๓ แล้ว
[๑๗๑] ในจดหมายเหตุของฝรั่งปรากฏว่าเจ้าจอมมารดาเอมถวายน้ำด้วย
[๑๗๒] คำว่า “ฝ่ายหน้า” หมายความถึงหน้าที่ของพระมหาอุปราชดังอธิบายจะกล่าวต่อไปข้างหน้า.
[๑๗๓] รายสิ่งของที่กล่าวต่อไปนี้ มีปรากฏในจดหมายเหตุที่ได้มาจากกรมราชเลขาธิการ.
[๑๗๔] รายการเฉลิมพระราชมนเทียรยังหาพบไม่ สันนิษฐานว่าก็เป็นทำนองเดียวกับทางวังหลวง เช่นเจ้านายผู้หญิงในพระราชวังบวรฯ ถวายพระพรเป็นต้น.
[๑๗๕] กล่าวกันมาว่าสร้างอย่างตึกที่เมืองสิงคโปร์ ซึ่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศท่านได้ออกไปเห็นเมื่อในรัชกาลที่ ๔.
[๑๗๖] ตั้งแต่กรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๓ มา ไม่โปรดประทับบนพระวิมานทุกพระองค์.
[๑๗๗] เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเกรงวังจะรกร้างอย่างรัชกาลก่อนๆ จึงเสด็จขึ้นไปประทับในพระบวรราชวังเป็นครั้งเป็นคราว ชั้นแรกเสด็จประทับที่พระที่นั่งเก๋งบวรปริวัตรแล้วดำรัสว่าร้อนนัก จึงโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ยังไม่ทันแล้วก็สิ้นรัชกาล.
[๑๗๘] ลักษณการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ข้าพเจ้าได้แสดงไว้ในหนังสือเรื่องประกาศตั้งพระบรมวงคานุวงศ ซึ่งหอพระสมุดฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ นั้น มาได้หลักฐานเมื่อแต่งหนังสือนี้ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ว่ารายการที่ได้กล่าวคลาดเคลื่อนไปบ้าง จึงแก้ไขตามเห็นว่าถูก ดังกล่าวไว้ในหนังสือนี้.
[๑๗๙] ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ใช้คำ “อุปราช” เรียกข้าราชการผู้มีตำแหน่งปกครองหลายมณฑลรวมกันเป็นภาค ทรงอนุมัติตามตำราเดิม.
[๑๘๐] ในกฎหมายฉะบับพิมพ์ว่า “ปีชวด จุลศักราช ๗๒๐” นั้นผิดเพราะเป็นรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง ที่ถูกต้องเป็นปีชวด จุลศักราช ๘๓๐
[๑๘๑] ในกฎมณเฑียรบาลกล่าวความห้วน ๆ และใช้คำเก่าเข้าใจยาก อธิบายนี้ตามวินิจฉัยของข้าพเจ้า
[๑๘๒] ความที่กล่าวในข้อสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้านี้เคลือบคลุมอยู่บ้าง เป็นต้นว่าถ้าพระราชกุมารเกิดด้วยพระมเหษีหลายองค์จะทรงศักดิ์เป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าทุกองค์ (เช่นเรียกว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ” หรือเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าแต่ฉะเพาะพระองค์ที่เป็นรัชทายาท (เช่นเรียกว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) ข้อนี้พิจารณาตัวอย่างในพงศาวดาร ดูเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าแต่พระองค์ที่เป็นรัชทายาทองค์เดียว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาศักดิ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ทรงพระราชดำริเห็นเช่นนั้น.
[๑๘๓] แม่อยั่วเมืองเป็นคำไทยเก่าเห็นจะใช้กันมาก่อนตั้งกฏมนเทียรบาล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ ทรงสันนิษฐานว่าจะตรงกับ “แม่อยู่เมือง” นับเป็นยศรอง “แม่อยู่หัว” คือพระมเหษี
[๑๘๔] คำว่า “เจ้าฟ้า” เพิ่งใช้ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (พ.ศ. ๒๑๑๒ - ๒๒๓๓) สืบมา
[๑๘๕] คำว่า “กินเมือง” กับ “ครองเมือง” หมายความต่างกัน กินหมายความว่าได้รับส่วยเมืองนั้นเป็นผลประโยชน์ ครองเมืองหมายความว่าไปบังคับบัญชาการอยู่ที่เมืองนั้น
[๑๘๖] ว่าตามหนังสือพงศาวดาร “ฉะบับหลวงประเสริฐ” ซึ่งพระโหราธิบดีแต่ง เมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
[๑๘๗] อาจทรงปรารภเหตุทางกรุงหงสาวดีที่เจ้าครองเมืองพากันเป็นกบฏต่อพระเจ้าหงสาวดีในสมัยนั้นก็เป็นได้
[๑๘๘] ในทำเนียบศักดินาพลเรือนมีตำแหน่ง “เจ้าพระยามหาอุปราช” เป็นขุนนางถือศักดินาหมื่น ยศสูงกว่าสมุหนายกและสมุหกลาโหม แต่ไม่บอกว่ามีหน้าที่อย่างไร ในพงศาวดารก็ไม่ปรากฏว่ามีใครเคยได้เป็นเจ้าพระยามหาอุปราช แต่ไปปรากฏอยู่ในหนังสือของมองสิเออเดอลาลุแบร์ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเมื่อตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่าครั้งนั้นเจ้าพระยามหาอุปราชบัญชาการรักษาพระนครศรีอยุธยาในเวลาสมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปประทับอยู่เมืองลพบุรี จึงสันนิษฐานว่าตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราชนั้นจะมีขึ้นต่อชั้นหลังมา สำหรับตั้งต่อเมื่อมีผู้ทรงคุณวิเศษ เช่นเดียวกับตั้งสมเด็จเจ้าพระยา ใครได้เป็นก็เป็นหัวหน้าข้าราชการทั้งปวง ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่มี (เจ้าเป็น) พระมหาอุปราชด้วยก็พอเหมาะดี.
[๑๘๙] พงศาวดารฉะบับหลวงประเสริฐ
[๑๙๐] ในจดหมายเหตุของพ่อค้าฮอลันดา.
[๑๙๑] คำว่า “บรม” เพิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ เพิ่มให้เป็นคู่กับคำ “บวร” ซึ่งใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว.
[๑๙๒] ในหนังสือพงศาวดาร “ฉะบับหลวงประเสริฐ” ว่าสมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓ ต่อมาอีก ๓ ปีถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๓๖ จึง “เสด็จเถลิงพระมหาปราสาท” (เฉลิมพระราชมนเทียร) คือ ประทับอยู่ที่วังหน้า ๓ ปี อาจจะเกิดชื่อวังจันทน์เกษมในระยะนี้ก็เป็นได้.
[๑๙๓] เคยได้ยินท่านผู้ใหญ่เล่าว่า พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำนงว่าถ้าตีเมืองเชียงตุงได้สำเร็จ จะทรงสถาปนาเป็นกรมหลวงวงศาฯ เป็นกรมพระราชวังหลัง.
[๑๙๔] เจ้าฝรั่งองค์หนึ่งเคยตรัสกับข้าพเจ้าถึง เรื่องเจ้ารัชทายาทในประเทศยุโรป เธอชี้แจงว่าเจ้ารัชทายาทนั้นอยู่ในที่ยาก เพราะถ้าไม่เอาใจใส่ในการบ้านเมืองเลย คนทั้งหลายก็ดูหมิ่นว่าโง่เขลาหรือเกียจคร้าน ถ้าเอาใจใส่เกินไปก็เป็นแข่งพระบารมีพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นต้องระวังวางพระองค์แต่พอเหมาะอยู่เสมอ
[๑๙๕] พระเสลี่ยงของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเดิมแก้เป็นธรรมาสน์ไว้ที่วัดบวรนิเวศ เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร.
[๑๙๖] กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทอดพระกฐิน ก็ทรงเรืออย่างเดียวกันในบางวัน แต่บางวันทรงเรือสีตามอย่างพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
[๑๙๗] เรียกตามภาษาอังกฤษว่า (Second King) พระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ ฝรั่งก็เลยเรียกพระมหาอุปราชว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ มาจนกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ.
[๑๙๘] พระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กล่าวในนี้ว่าตามคำของผู้ที่ทันได้รู้เห็นด้วยตนเอง.
[๑๙๙] พระองค์ประดิษฐวรการ อธิบดีช่างหล่อ (อยู่วังข้างหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ตรงที่สร้างสวนสราญรมย์เดี๋ยวนี้) เคยตรัสเล่าว่าครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงม้ามีมหาดเล็กตามเสด็จคนหนึ่งไปเคาะประตูวังเรียก พระองค์ประดิษฐออกมารับเชิญเสด็จไปประทับที่ท้องพระโรง เป็นเวลาค่ำมีแต่ไต้จุดอยู่ดวงหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับทรงสนทนา และทรงเขี่ยไต้ไปพลางจนเสด็จกลับ.
[๒๐๐] กระบวนแห่เสด็จกรมพระราชวังบวรเข้าเฝ้า ผ่านหน้าโรงเรียนที่ข้าพเจ้าเรียนหนังสือได้เห็นเนือง ๆ ทหารอย่างยุโรปกับแตรวงที่นำกระบวนหยุดอยู่นอกประตูวิเศษชัยศรี ต้องวางหอกดาบไว้นอกประตู แต่นั้นเป็นแต่เดินประสานมือเข้าไป มีถือศัสตราแต่มหาดเล็กเชิญพระแสงดาบสำหรับพระองค์คนเดียว เชิญไปหยุดอยู่เพียงนอกพระทวารเทเวศรักษาอย่างนี้อาจเป็นพระเพณีเดิม.