ตอนที่ ๑๐

เหตุการณ์ซึ่งต้องระงับเมื่อแรกขึ้นรัชกาลที่ ๕

ขอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๗๑

การเกี่ยวข้องกับฝรั่งต่างประเทศ

เรื่องพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ มีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งต่างประเทศมากจะเล่าถึงเรื่องที่ไทยเริ่มเกี่ยวข้องกับฝรั่งมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ให้ผู้อ่านทราบความเป็นเค้าเงื่อนเสียก่อน เมื่ออ่านเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งในรัชกาลที่ ๕ จึงจะเข้าใจได้ตระหนัก

เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ประจวบกับสมัยมหาสงครามคราวเอมปเรอนโปเลียนที่ ๑ ในยุโรป มหาสงครามครั้งนั้นอังกฤษเป็นฝ่ายชนะได้เมืองขึ้นของฝรั่งเศสและฮอลันดาที่มีอยู่ในอาเซียไปเป็นของอังกฤษโดยมาก ฝรั่งอังกฤษก็มีอำนาจขึ้นทางตะวันออกนี้แต่ชาติเดียวต่อมา แต่ลักษณะการที่อังกฤษปกครองเมืองขึ้นทางตะวันออกในสมัยนั้น รัฐบาลมอบอำนาจแก่บริษัทอีสต์อินเดีย ซึ่งได้ลงทุนมาตั้งค้าขายอยู่เป็นหลักแหล่ง และได้ช่วยแผ่อาณาเขตต์อังกฤษในอินเดียมาแต่ก่อนแล้ว ให้อำนวยการปกครองเหมือนอย่างเป็นรัฐบาลอันหนึ่งต่างหาก รัฐบาลเมืองอังกฤษเป็นแต่ตั้งผู้สำเร็จราชการ Governor General (ไทยเราเรียกกันแต่ก่อนว่า “เจ้าเมืองบังกล่า” เพราะตั้งอยู่ในภาคเบงคอล Bengal) เป็นประธานบัญชาการตามอนุมัติของบริษัท และยอมให้บริษัทคงมีอำนาจ “ปิดประตูค้า” กับประเทศต่างๆ ทางตะวันออกนี้ได้แต่พวกเดียวอยู่อย่างเดิม บริษัทอินเดียได้ปกครองอาณาเขตต์มากขึ้นก็คิดจะขยายการค้าหาผลประโยชน์ให้กว้างขวาง จึงเที่ยวเสาะหาที่ตั้งสถานีเป็นหลักแหล่งสำหรับค้าขาย ณ ที่ต่างๆ ในระหว่างอินเดียกับเมืองจีน ต่อออกมาอังกฤษเริ่มมาเกี่ยวข้องกับประเทศสยามในสมัยนี้ด้วยมาขอเช่าเกาะปีนัง (Penang) แปลว่าเกาะหมากจากเจ้าเมืองไทรเป็นที่ตั้งสถานีของบริษัทเมื่อในรัชกาลที่ ๑ สมัยนั้นไทยกำลังรบพุ่งกับพม่าติดพันกันอยู่ก็มิได้ห้ามปรามประการใด เมื่ออังกฤษตั้งสถานีที่เกาะปีนังมั่นคงแล้วไปขอเช่าเกาะสิงคโปร์จากสุลต่านเมืองมัวตั้งเป็นสถานีสาขาขึ้นอีกแห่ง ๑ (ไทยเราจึงเรียกกันแต่ก่อนว่า “เมืองใหม่”) แต่นั้นอังกฤษก็เริ่มมีความคิดที่จะเอาเมืองมลายูทั้งปวงไว้ในอำนาจตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๒ พม่าคิดจะยกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทยอีก รู้ว่าเจ้าพระยาไทร ปะแงรัน เกิดเป็นอริกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) ซึ่งเป็นผู้กำกับหัวเมืองมลายู พม่าจึงให้มาเกลี้ยกล่อมเจ้าพระยาไทร ๆ ก็เอาใจไปเข้ากับพม่า รับจะยกกองทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมกับพม่ามาตีกรุงเทพฯ แต่ความนั้นทราบมาถึงกรุงเทพฯ เสียก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดให้พระยานครยกกองทัพลงไปตีเมืองไทรเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๖๔- เจ้าพระยาไทรสู้ไม่ได้ก็หนีไปอาศัยอังกฤษอยู่ที่เมืองปีนัง แล้วคิดอ่านให้พรรคพวกมลายูสลัด (Pirate) ลอบมาปล้นสะดมภ์ฆ่าฟันไทยที่ลงไปปกครองเมืองไทรฯ ไทยต่อว่าอังกฤษก็ว่าไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย แต่ก็ไม่ห้ามปราม พยายามแต่จะขอให้ไทยคืนเมืองให้เจ้าพระยาไทร ไทยกับอังกฤษก็เกิดบาดหมางกันขึ้นจนถึงเกือบจะรบกันในครั้งนั้น แต่เผอิญอังกฤษไปมีเหตุเกิดรบกับพะม่า (ครั้งที่ ๑) เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ อันเป็นปีต้นรัชกาลที่ ๓ อังกฤษจึงหันมาทำทางไมตรีชวนไทยให้เป็นสัมพันธมิตรช่วยกันตีเมืองพะม่า ครั้นชนะพะม่าแล้ว อังกฤษ (คือบริษัทอินเดีย) กับไทยจึงทำหนังสือสัญญากันเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ เป็นหนังสือสัญญาฉะบับแรกที่ไทยทำกับต่างประเทศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์[๒๓๕] มีเนื้อความว่า

(๑) อังกฤษรับจะเอาตัวเจ้าพระยาไทรไปไว้เสียเมืองอื่น มิให้มารบกวนไทยที่เมืองไทรได้

(๒) ไทยรับจะไม่รบพุ่งแผ่อาณาเขตต์จากเมืองไทรต่อลงไปทางเมืองแประและเมืองสะลางอ

(๓) ทั้งอังกฤษและไทยสัญญากันว่าจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องถึงการภายในบ้านของเมืองกะลันตันและเมืองตรังกานู ซึ่งได้มาสามิภักดิ์ยอมขึ้นต่อไทย[๒๓๖] เมื่อในรัชกาลที่ ๑

(๔) ไทยยอมให้เรือกำปั่นอังกฤษเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ ด้วยเสียค่าจังกอบตามขนาดปากเรือแทนเสียอากรสินค้า

การที่ไทยกับอังกฤษทำหนังสือสัญญากันครั้งนั้นไม่ได้ทำด้วยรักชอบหรือไว้ใจกัน หากมีเหตุเห็นความจำเป็นด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายจึงได้ทำหนังสือสัญญา ฝ่ายอังกฤษเห็นพม่าคงจะเป็นศัตรูต่อไป เกรงว่าถ้าอังกฤษยังเป็นอริกับไทย ไทยจะกลับไปเข้ากับพะม่าช่วยกันรบอังกฤษเป็นศึก ๒ ด้าน จึงมาเป็นไมตรีเสียกับไทย ฝ่ายไทยก็กำลังกังวลด้วยเรื่องหัวเมืองมลายูเป็นกบฏเกรงอังกฤษจะเข้าอุดหนุนพวกมลายู จึงยอมเป็นไมตรีดีกับอังกฤษ[๒๓๗] แต่เมื่อทำหนังสือสัญญากันแล้วอังกฤษกับไทยก็รักษาทางไมตรีไม่มีเหตุผิดพ้องหมองหมางกันมากว่า ๒๐ ปี ในระวางนั้นพวกอเมริกันก็เริ่มแต่งเรือกำปั่นข้ามมหาสมุทรแปสิฟิคมาค้าขายทางประเทศตะวันออก และมีพวกมิชชันนารีอเมริกันตามออกมาเที่ยวสอนศาสนาคฤศตังตั้งแต่เมืองจีนมาจนถึงประเทศสยาม รัฐบาลสหปาลีรัฐเห็นว่าไทยไม่เกลียดชังฝรั่งเหมือนอย่างจีน จึงแต่งทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางไมตรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้ทำหนังสือสัญญา อเมริกันอีกชาติหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗.. อนุญาตให้อเมริกันมาค้าขายเป็นทำนองเดียวกับสัญญาที่ได้ทำกับอังกฤษ การที่อเมริกันมามีทางไมตรีกับไทยครั้งนั้น แม้ในการค้าขายจะไม่เป็นประโยชน์อันใดนักก็จริง แต่เกิดประโยชน์อย่างสำคัญแก่ไทยในทางอ้อมหลายอย่าง ด้วยพวกมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาสอนภาษาอังกฤษและวิชาความรู้ของฝรั่งอย่างอื่นๆ แก่ไทย ไทยได้เริ่มเรียนรู้การฝรั่งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา[๒๓๘] ในสมัยที่กล่าวมานี้ ความประสงค์ของฝรั่งมีเพียงจะค้าขายให้สะดวก ยังมิได้คิดจะเข้าไปเกี่ยวข้องถึงการบ้านเมือง ความคิดของฝรั่งมาเริ่มกลายเป็นหาอำนาจในการเมืองตั้งแต่อังกฤษรบชนะจีนเมื่อพ.ศ. ๒๓๘๕ เห็นปรากฏว่าเหล่าประเทศทางตะวันออกสู้กำลังเครื่องสาตราอาวุธของฝรั่งไม่ได้ แต่นั้นฝรั่งต่างชาติก็คิดหาอาณาเขตต์ และแผ่อำนาจทางตะวันออกเรื่อยมาจนกระทั่งกระเทือนถึงประเทศสยามด้วย

ประเทศต่างๆ ทางตะวันออกนี้ เมื่อสมัยตรงกับรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ มีประเทศที่เป็นอิสสระอยู่หลายประเทศด้วยกัน คือ พม่า ไทย ญวน จีน และญี่ปุ่น ประเทศจีนอาณาเขตต์ใหญ่โต ทั้งมีกำลังและโภคทรัพย์ยิ่งกว่าเพื่อน ก็เป็นที่ยำเกรงของประเทศอื่นแต่โบราณมา ชาวประเทศใดไป ค้าขายถึงเมืองจีน รัฐบาลจีนจะบังคับบัญชาอย่างไรก็ยอมทำตามแต่รัฐบาลจีนรังเกียจฝรั่งมาแต่ครั้งพวกโปรตุเกสไปขอค้าขายแล้วเลยเที่ยวสอนศาสนาคฤศตังแก่พวกจีนให้ฝ่าฝืนขนบธรรมเนียมบ้านเมืองด้วยประการต่างๆ จึงจำกัดเขตต์ให้ฝรั่งไปค้าได้แต่ที่เมืองกึงตั๋ง (Canton) และห้ามมิให้ชาวต่างประเทศ (รวมทั้งไทยเราด้วย) ซื้อขายกับราษฎร ให้ซื้อขายได้แต่กับนายห้างจีน ซึ่งรัฐบาลตั้งไว้สำหรับค้าขายกับชาวต่างประเทศ ๙ คน เรียกว่า “เก้าห้าง”[๒๓๙] แม้ชาวต่างประเทศมีกิจธุระจะพูดกับรัฐบาลจีนก็ต้องทำเรื่องราว (Petition) มอบให้นายห้างของตนไปยื่นต่อจงต๊กผู้สำเร็จราชการมณฑลและรับคำสั่งแทนพวกพ่อค้า รัฐบาลเองหาเกี่ยวข้องพูดจากับชาวต่างประเทศไม่ ใช้วิธีนี้มาช้านาน เมื่อบริษัทอินเดียของอังกฤษขยายการค้าไปถึงเมืองจีนก็ยอมกระทำตามบังคับของรัฐบาลจีน จึงได้รับอนุญาตให้ไปค้าขายที่เมืองกึงตั๋งเหมือนกับชาวต่างประเทศชาติอื่น บริษัทเอาฝิ่นที่ปลูกในอินเดียไปขาย แล้วซื้อสินค้าจีน เช่นแพรและเครื่องถ้วยชามเป็นต้นเอาไปขายตามประเทศต่างๆ ได้กำไรงามมาหลายปี จนคนอังกฤษพวกอื่นเกิดฤษยาพากันร้องทุกข์และโพนทนาว่า รัฐบาลให้บริษัทอินเดียปิดประตูค้าแต่พวกเดียวมิเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อสิ้นกำหนดอายุสัมปทานใน ค.ศ. ๑๘๓๓ (พ.ศ. ๒๓๗๖) รัฐบาลอังกฤษจึงเพิกถอนสิทธิปิดประตูค้าของบริษัทอินเดีย แต่นั้นก็มีอังกฤษหลายพวกหลายเหล่า ทั้งที่อยู่ในยุโรปและในอินเดียพากันไปค้าขายที่เมืองจีน เอาฝิ่นจากอินเดียไปขายมากมาย จนรัฐบาลจีนเห็นว่าผู้คนพลเมืองพากันติดฝิ่นมากนัก จึงประกาศห้ามสินค้าฝิ่น แต่พวกอังกฤษก็ไม่ฟัง ครั้นถูกจีนจับกุมก็พากันไปร้องทุกข์ต่อรัฐบาลอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษจึงแต่งข้าหลวงออกมาเป็นผู้ควบคุมการค้าขายทำนองเดียวกับบริษัทที่อินเดียเคยให้มีผู้อำนวยการของบริษัทอยู่ที่เมืองกึงตั๋งมาแต่ก่อน แต่ข้าหลวงอังกฤษถือตัวว่าเป็นข้าราชการ ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อจีนเหมือนอย่างผู้แทนบริษัทเคยประพฤติ ส่วนพวกพ่อค้าอังกฤษเมื่อได้ข้าหลวงมาหนุนหลังก็กำเริบหนักขึ้น เวลานั้นรัฐบาลจีนยังเชื่ออำนาจ ก็สั่งให้ริบฝิ่นและขับไล่พวกอังกฤษเสียจากเมืองจีน จึงเกิดรบกันขึ้นกับอังกฤษ แต่จีนไม่มีเครื่องศาตราอาวุธจะสู้กองทัพเรือของอังกฤษได้ อังกฤษตีได้หัวเมืองจีนตามชายทะเลหลายแห่ง ลงปลายรัฐบาลจีนก็ต้องจำใจทำหนังสือสัญญากับอังกฤษที่เมืองนำกิ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ยอมยกเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษเป็นสิทธิ์ขาด และยอมเสียค่าไถ่หัวเมืองที่อังกฤษตีได้กับทั้งสินไหมทดแทนค่าเสียหายของพวกพ่อค้าอีกเป็นเงินมากมาย นอกจากนั้นรัฐบาลจีนต้องยอมให้อังกฤษเข้าไปมีอำนาจในบ้านเมืองอีกหลายอย่าง คือ

(๑) ต้องยอมให้อังกฤษ และฝรั่งต่างชาติไปตั้งค้าขายตามหัวเมืองชายทะเลนอกจากเมืองกึงตั๋งอีก ๔ แห่ง มีที่เมืองเซี้ยงไฮ้เป็นต้น

(๒) ต้องยอมให้ฝรั่งซื้อขายกับพลเมืองได้ ไม่กีดขวางห้ามปรามอย่างแต่ก่อน

(๓) รัฐบาลจีนจะเก็บภาษีอากรแก่ฝรั่งได้เพียงในประเทศ และพิกัดที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญา

(๔) รัฐบาลอังกฤษมีสิทธิ์ที่จะตั้งกงสุล เป็นผู้คุ้มครองคนอังกฤษที่ Foreign Settlement ๕ แห่งนั้น ถ้ารัฐบาลจีนจะให้คนอังกฤษทำอย่างไรต้องบอกแก่กงสุล รัฐบาลจีนจะบังคับบัญชาเอาเองไม่ได้ และต้องยอมให้กงสุลชำระความซึ่งคนอังกฤษเป็นจำเลย และตัดสินลงโทษตามกฎหมายอังกฤษ[๒๔๐]

เมื่อปรากฏว่าอังกฤษสามารถใช้กำลังทางทะเลบังคับจีนให้ทำหนังสือสัญญาได้ดังกล่าวมา ฝรั่งต่างชาติก็พากันเห็นโอกาศที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศตะวันออกได้ด้วยไม่ต้องเกรงเจ้าของบ้านเมืองเหมือนแต่ก่อน แต่นั้นรัฐบาลอังกฤษก็เที่ยวว่ากล่าวกับเหล่าประเทศทางตะวันออกที่ยังเป็นอิสสระ ให้ทำหนังสือสัญญายอมให้พวกอังกฤษเข้าไปตั้งค้าขายในบ้านเมืองโดยมีสิทธิ เอกสตระเตอริตอเรียลทำนองเดียวกับที่อังกฤษทำกับจีน เรื่องที่ไปทำสัญญากับประเทศอื่นจะยกไว้ก่อน จะกล่าวแต่ฉะเพาะประเทศสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓ รัฐบาลอังกฤษแต่งให้เซอร์เจมสปรุกเป็นทูตมาขอแก้หนังสือสัญญาซึ่งเฮนรีเบอร์นีได้มาทำไว้ เปลี่ยนสัญญาเป็นอย่างมีสิทธิเอกสตระเตอรตอเรียลเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ฝ่ายไทยบอกปัดไม่ยอมแก้[๒๔๑] รัฐบาลอังกฤษจึงสั่งเซอร์จอนเบาริงเจ้าเมืองฮ่องกงซึ่งบันชาการทั้งปวงของอังกฤษทางนี้ให้จัดการให้ไทยยอมทำหนังสือสัญญาแม้ถึงต้องรบพุ่งอย่างที่เมืองจีนก็ให้ทำจงได้ แต่ผะเอิญประจวบเวลาเปลี่ยนรัชกาลในประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จครองราชสมบัติ เซอร์จอนเบาริงทราบกิติศัพท์ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชอัทธยาศัยโอบอ้อมกว้างขวาง โปรดวิชาความรู้ของฝรั่งทั้งทรงทราบภาษาอังกฤษ ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ ทางตะวันออกในสมัยนั้น จึงบอกไปให้รัฐบาลทราบ รัฐบาลอังกฤษก็ตั้งให้เซอร์จอนเบาริงเป็นราชทูตพิเศษเชิญพระราชสาส์นของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามราชประเพณีระหว่างประเทศที่มีอิสสระเสมอกัน[๒๔๒] ขอทำหนังสือสัญญาใหม่โดยดีอีกครั้ง ๑ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชวิจารณ์เห็นตระหนักอยู่แล้วแต่เมื่อยังทรงผนวช ว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงแห่งโลกสันนิวาสมาถึงประเทศทางตะวันออก ถ้าหากประเทศใดมัวนิยมอยู่ในทางอย่างโบราณ ไม่หันเหียนเปลี่ยนรัฏฐาภิบาลโนบายเข้าหาทางดำเนิรของโลกสันนิวาสคงจะเกิดภยันตรายแก่บ้านเมือง ด้วยทรงพระราชดำริเห็นดังนี้ จึงทรงรับจะแก้ไขหนังสือสัญญาตามประสงค์ของรัฐบาลอังกฤษ ก็เกิดมิตรภาพเป็นปัจจัยในการที่ปรึกษาสัญญาใหม่ผ่อนผันกันโดยไมตรีจิตต์ สำเร็จประโยชน์ดังพระราชประสงค์ ความที่กล่าวมานี้มีปรากฏอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุของเซอร์จอนเบาริง ว่าความข้อใดที่อังกฤษพอจะยินยอมผ่อนผันให้ไทยได้โดยไม่เสียหลักสัญญา ซึ่งกำหนดไว้แล้วว่าจะทำให้เหมือนกันทุกประเทศทางตะวันออก ก็ยอมตามประสงค์ของไทย จะยกตัวอย่างดังเช่นเรื่องฝิ่นตามสัญญาที่ทำกับจีน อังกฤษเป็นแต่ยอมเสียภาษี เมื่อเสียภาษีแล้วจะขายฝิ่นเข้าเมืองจีนเท่าหนึ่งเท่าใดก็ได้ แต่ประเทศสยามนี้ยอมให้รัฐบาลจัดการภาษีและกำจัดฝิ่นที่เข้าเมืองได้ตามใจ แม้การที่ชาวต่างประเทศจะเข้ามาอยู่ในเมืองไทยก็ไม่ขอสิทธิ์ตั้งอาณาเขตต์(Concession) ต่างหากอย่างที่เมืองจีนดังนี้เป็นต้น

ในชั้นนั้นฝรั่งชาติอื่นนอกจากอังกฤษมีอเมริกันฝรั่งเศสอีก ๒ ชาติซึ่งขวนขวายจะทำสัญญากับประเทศทางตะวันออก แต่มีความปรารถนาต่างกัน อเมริกันปรารถนาแต่จะมาหาผลประโยชน์ในการค้าขายให้สะดวก หาประสงค์จะมีเมืองขึ้นทางประเทศตะวันออกนี้ไม่ ส่วนฝรั่งเศสนั้นเคยมีเมืองขึ้นอยู่ในอินเดียมาก แต่ถูกอังกฤษชิงเอาไปเสียเมื่อคราวมหาสงครามเกือบหมด เมื่อเสร็จสงครามฝรั่งเศสจะเอาเมืองขึ้นคืนไม่ได้ จึงปรารถนาจะหาเมืองขึ้นใหม่ให้กลับมีอำนาจทางตะวันออกนี้ แต่เมื่อยังไม่มีโอกาศก็เป็นแต่ขวนขวายขยายการค้าขายไปก่อน อังกฤษกับอเมริกาและฝรั่งเศสจึงปรองดองอุดหนุนกันและกันในการที่จะทำสัญญากับประเทศทางตะวันออก ชาติใดไปทำสัญญากับประเทศใดก็เปิดช่องไว้ให้อีก ๒ ชาติตามไปทำในภายหลัง และให้ได้รับประโยชน์อย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นพออังกฤษทำหนังสือสัญญากับจีนแล้ว อเมริกันกับฝรั่งเศสก็ไปทำกับจีนบ้าง ต่อนั้นมาให้อเมริกันเป็นผู้นำทำสัญญากับญี่ปุ่น อังกฤษนำทำสัญญากับไทย และให้ฝรั่งเศสนำทำสัญญากับญวน[๒๔๓] อเมริกันไปทำสัญญากับญี่ปุ่นก็ต้องเอากองทัพเรือไปขู่ข่มญี่ปุ่น จึงยอมทำหนังสือสัญญา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๓๙๙ เซอร์จอนเบาริงก็เข้ามาทำหนังสือสัญญากับไทย พอไทยทำหนังสือสัญญากับอังกฤษแล้ว อเมริกันกับฝรั่งเศสก็เข้ามาขอทำหนังสือสัญญากับไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐

ในการที่ไทยทำหนังสือสัญญากับฝรั่งต่างชาติเมื่อรัชกาลที่ ๔ ถ้าหากจะมีผู้คิดสงสัย ว่าเมื่อทำสัญญากับอังกฤษโดยรู้ว่าเสียเปรียบแล้ว เหตุใดจึงยอมทำกับชาติอื่นๆ ต่อไปอย่างเดียวกัน ข้อนี้เป็นด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าถ้าทำสัญญาเช่นนั้นกับชาติหนึ่งชาติใดแต่ชาติเดียว ฐานะของประเทศสยามก็จะเหมือนอยู่ในการจับจองของชาตินั้น ถ้าทำให้เหมือนกันเสียหลายชาติ แม้เสียเปรียบในข้อสัญญา ก็ได้เปรียบที่เป็นอิสสระภาพมั่นคง เพราะฉะนั้นต่อมาเมื่อฝรั่งชาติอื่นมาขอทำหนังสือสัญญาจึงรับทำโดยง่าย รวมฝรั่งต่างชาติที่ได้มาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อในรัชกาลที่ ๔ มี ๙ ชาติด้วยกัน เรียงลำดับตามที่ได้ทำสัญญาก่อนและหลัง ดังนี้

๑. อังกฤษ ทำหนังสือสัญญาเมื่อ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘
๒. อเมริกัน ทำหนังสือสัญญาเมื่อ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙
๓. ฝรั่งเศส ทำหนังสือสัญญาเมื่อ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙
๔. เดนมาร์ก ทำหนังสือสัญญาเมื่อ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐
๕. โปรตุเกศ ทำหนังสือสัญญาเมื่อ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๒
๖. ฮอลันดา ทำหนังสือสัญญาเมื่อ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓
๗. เยอรมัน[๒๔๔] ทำหนังสือสัญญาเมื่อ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔
๘. สวิเดนกับนอรเว ทำหนังสือสัญญาเมื่อ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑
๙. เบลเยียม[๒๔๕] ทำหนังสือสัญญาเมื่อ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑

ประเทศอิตาลีกำลังปรึกษาจะสัญญาและประเทศเอาสเตรียกับฮังการี กับประเทศสเปญกำลังเตรียมจะมาขอทำหนังสือสัญญาก็พอสิ้นรัชกาลที่ ๔ จึงได้มาทำเมื่อตอนต้นรัชกาลที่ ๕

เมื่อเล่าถึงเหตุที่ต้องทำหนังสือสัญญากับฝรั่งแล้ว ทีนี้จะกล่าวถึงผลของการที่ทำหนังสือสัญญาต่อไป ด้วยประเทศทั้ง ๕ คือพม่า ไทย ญวน จีน และญี่ปุ่น ที่ต้องทำหนังสือสัญญากับฝรั่งในสมัยนั้นได้รับผลของการที่ทำหนังสือสัญญาผิดกัน

ประเทศจีนพอทำหนังสือสัญญากับฝรั่งแล้ว ในไม่ช้าจีนพวกไต่เผงก็เป็นกบฎลุกลามใหญ่โต ด้วยเห็นว่าพวกเม่งจูซึ่งได้มาครองเมืองจีนอยู่กว่า ๒๐๐ ปีสิ้นอำนาจแล้ว จึงคิดจะเอาบ้านเมืองกลับคืนมาเป็นของพวกจีน รัฐบาลต้องปราบปรามอยู่หลายปี พอปราบพวกกบฏไต่เผงลงได้ก็เกิดรบกับฝรั่งเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ ด้วยฝรั่งว่าจีนไม่ประพฤติตามสัญญา ครั้งนี้อังกฤษกับฝรั่งเศสช่วยกันตีเมืองจีนจนได้กรุงปักกิ่งราชธานี รัฐบาลจึงต้องยอมทำหนังสือสัญญาใหม่ ร้ายยิ่งกว่าสัญญาที่ทำครั้งแรก

ประเทศญี่ปุ่น ในสมัยเมื่อทำหนังสือสัญญากับฝรั่งนั้น ยังใช้ประเพณีมหาอุปราชเรียกว่า “โชคุน” เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินเป็นแต่สำหรับสักการบูชาเหมือนเช่นเจว็ด พอโชคุนทำหนังสือสัญญากับฝรั่งแล้วไม่ช้าพวกญี่ปุ่นตามหัวเมืองไม่พอใจก็พากันกระด้างกระเดื่องถึงคุมกำลังเข้าไปรบฝรั่ง ก็เลยเกิดรบกันเองในระวางพวกโชคุนกับพวกชาวหัวเมือง พวกโชคุนแพ้ ญี่ปุ่นจึงเชิญพระเจ้าแผ่นดินเสด็จขึ้นว่าราชการและช่วยกันจัดการทำนุบำรุงบ้านเมือง เปลี่ยนขนบธรรมเนียมหันเข้าหาแบบแผนอย่างฝรั่งสืบมา

ประเทศญวน เมื่อทูตฝรั่งเศสซึ่งมาทำหนังสือสัญญากับไทยเสร็จแล้วไปขอทำหนังสือสัญญากับญวน ญวนถือคติอย่างเดิมไม่ยอมทำหนังสือสัญญา ฝรั่งเศสก็ให้เรือรบยิงทำลายป้อมปากน้ำของญวนที่เมืองตุรนแล้วกลับไปเสียคราวหนึ่ง (เห็นจะไปพูดจากับอังกฤษและอเมริกันในเรื่องที่ฝรั่งเศสจะหาเมืองขึ้นในแดนญวน เมื่อเห็นว่าทั้ง ๒ ชาตินั้นไม่กีดขวาง) ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๕๐๑ จึงให้กองทัพเรือออกมาตีได้เมืองตุรน ฝรั่งเศสตั้งรักษาเมืองตุรนอยู่ ๒ ปีเห็นไม่เหมาะ จึงย้ายลงมายึดเอาเมืองไซ่ง่อนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ญวนยกกองทัพลงมาตีเอาเมืองคืน รบแพ้ฝรั่งเศสก็ต้องยอมยกหัวเมืองมณฑ์ปากน้ำโขงให้เป็นสิทธิ์แก่ฝรั่งเศสและต้องยอมทำหนังสือสัญญาทางไมตรีตามประสงค์ของฝรั่งเศสด้วย แต่นั้นประเทศญวนก็ตกอยู่ในฉายาอำนาจฝรั่งเศสสืบมา

ประเทศพม่า เมื่อรบแพ้อังกฤษครั้งแรกจะต้องเสียสินไหมมากมาย รัฐบาลจึงกะเกณฑ์เงินจากราษฎรจนเกิดเดือดร้อนระส่ำระสายทั่วไปในบ้านเมือง ลงถึงปลายเจ้านายชิงราชสมบัติกันเอง พวกที่มีอำนาจขึ้นหมายจะเอาใจราษฎรไม่ผ่อนผันกับอังกฤษก็เกิดรบกับอังกฤษขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อปี ชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ อังกฤษชนะพม่าคราวนี้เอาบรรดาหัวเมืองแต่ปากน้ำขึ้นไปจนเมืองตองอูไปเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหมด ประเทศพม่าก็กลายเป็นเมืองดอนเหมือนกับอยู่ในคอกของอังกฤษแต่นั้นมา

ใน ๕ ประเทศด้วยกันมีแต่ประเทศสยามประเทศเดียวที่มิต้องรบกับฝรั่ง และมิได้เกิดจลาจลในบ้านเมืองด้วยเหตุที่ทำหนังสือสัญญากับฝรั่ง ข้อนี้พึงเห็นได้ว่าเพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาญาณเห็นการถูกต้อง และทรงเปลี่ยนรัฏฐาภิบาลโนบายทันท่วงที ประเทศสยามจึงได้ปลอดภัยในครั้งนั้น แต่มีความลำบากเป็นอย่างยิ่งเพราะข้อความที่ฝรั่งตั้งเป็นหลักในหนังสือสัญญาขัดกับประโยชน์และประเพณีบ้านเมืองในสมัยนั้นหลายอย่าง ที่ต้องยอมให้ชาวต่างประเทศซื้อขายกับไพร่บ้านพลเมืองได้โดยไม่มีที่กีดขวางนั้น จำต้องเลิกภาษีผูกขาด (Monopoly) อันเป็นการปิดซื้อปิดขายทั้งหมด เป็นเหตุให้เงินที่เคยได้สำหรับจ่ายใช้การแผ่นดินขาดไปเป็นอันมาก ตลอดจนถึงผลประโยชน์ของข้าราชการซึ่งเคยมีส่วนได้เนื่องจากภาษีผูกขาดก็พลอยสูญไปด้วย จึงเกิดเดือดร้อนกันแพร่หลาย[๒๔๖] ครั้นรัฐบาลจะเพิ่มพิกัดหรือจะตั้งภาษีขึ้นใหม่ก็มีข้อสัญญากีดกัน จะเก็บจากชาวต่างประเทศไม่ได้ ความลำบากข้อนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริแก้ไขด้วยตั้งภาษีภายในเพิ่มขึ้นหลายอย่าง ใช้วิธีเก็บด้วยชักส่วนสินค้าไม่ปิดซื้อปิดขาย และโปรดฯ ให้เจ้ากระทรวงราชการต่างๆ มีหน้าที่อำนวยการเก็บภาษีเพื่อให้ได้ส่วนลดทดแทนผลประโยชน์ที่ขาด ความลำบากในเรื่องที่เงินแผ่นดินตกต่ำจึงค่อยสงบไป[๒๔๗]

๒. ในข้อที่ต้องยอมให้กงสุลเป็นผู้บังคับบัญชาชาวต่างประเทศนั้น ชั้นแรกไม่สู้จะลำบากนักด้วยชาวต่างประเทศยังมีน้อย แต่เมื่อการค้าขายเจริญขึ้นก็มีชาวต่างประเทศเข้ามาตั้งค้าขายมากขึ้นโดยลำดับ ขึ้นชื่อว่าชาวต่างประเทศนั้นนับทั้งฝรั่งและซนชาติอื่นอันเป็นชาวเมืองขึ้นของฝรั่ง ว่าฉะเพาะคนในบังคับอังกฤษมีทั้งฝรั่งและแขกเทศแขกมะลายูจีนพม่าบรรดามาอยู่ในประเทศนี้ขึ้นอยู่กับกงสุลทั้งนั้น รัฐบาลจะบังคับบัญชาไม่ได้เหมือนอย่างพลเมืองจึงเกิดลำบาก

๓. ความลำบากยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้น คือที่รัฐบาลทั้ง ๒ ฝ่ายไม่รู้จักกัน ถึงกระนั้นก็ได้รับความลำบากเป็นอย่างยิ่ง เพราะฝรั่งเห็นว่าประเทศทางตะวันออกต้องทำหนังสือสัญญาด้วยจำใจ คงจะพยายามขัดขวางฝรั่งมิให้เข้าไปค้าขายได้สะดวกดังปรารถนา แม้ไม่สามารถจะใช้กำลังต่อสู้ก็จะใช้อุบายกีดกันด้วยประการต่างๆ จึงเอาความ ๓ ข้อนี้ตั้งเป็นหลักในสัญญาที่ทำเหมือนกันทุกประเทศ คือ

๑. ให้ชาวต่างประเทศซื้อขายกับไพร่บ้านพลเมืองได้ โดยไม่มีที่กีดขวาง

๒. ให้ชาวต่างประเทศเสียภาษีอากรเพียงที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญา

๓. ให้ชาวต่างประเทศอยู่ในความคุ้มครองของกงสุล รัฐบาลเจ้าของบ้านเมืองจะบังคับบัญชาเองไม่ได้

๔. ให้ชาวต่างประเทศอยู่แต่ในอำนาจกฎหมายชาติของตนเอง

ความทั้ง ๔ ข้อนี้ ขัดกับประโยชน์และประเพณีของบ้านเมืองทุกประเทศ ไม่ฉะเพาะประเทศสยามนี้



[๒๓๕] เรียกกันว่า “สัญญาเบอร์นี” ตามนามของนายร้อยเอกเฮนรีเบอร์นีผู้เป็นทูตมาทำหนังสือสัญญานั้น

[๒๓๖] ความข้อนี้เมื่อทำสัญญาไม่ได้ว่าไปถึงเมืองไทรและเมืองปัตตานี เพราะเป็นเมียงที่ไทยตีได้ทั้ง ๒ เมือง แต่ต่อมาเมื่อโปรดได้เชื้อสายเจ้าพระยาไทรได้คืนครองเมื่องไทร อังกฤษขอให้เติมเมืองไทรเข้าด้วย มาปลายมือสัญญาข้อนี้เป็นมูลเหตุที่อังกฤษจะเอาเมืองไทรและเมืองกะลันตันตรังกานูไปจากไทยในรัชชการที่ ๕

[๒๓๗] เรื่องไทยเป็นสัมพันธมิตรกับอังกฤษเมื่อรัชชกาลที่ ๓ มีความพิศดารอยู่ในหนังสือ “พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า” ที่ข้าพเจ้าแต่งพิมพ์ต่างหาก

[๒๓๘] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากพวกมิชชันนารีอเมริกัน

[๒๓๙] ต่อมาเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น ๑๒ คน แต่ก็คงเรียกว่า “เก้าห้าง” อยู่ตามเดิม ยังมีรูปภาพจีนที่เขียนในสมัยนั้นเป็นตึกมีเสาธงต่างประเทศเป็นแถวปรากฎอยู่ คือ รูปเก้าห้างที่กล่าว

[๒๔๐] ความข้อ ๔ นี้เป็นสิทธิ์ที่เรียกว่า “เอกสตระเตอริตอเรียล” ที่เอามาใช้ในหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เกิดขึ้นที่ประเทศเตอรกีก่อน เหตุด้วยพวกชาวเตอรกีถือศาสนาอิสลาม ใช้บัญญัติศาสนาเป็นกฎหมายบ้านเมือง รัฐบาลเตอรกีประสงค์จะมิให้ชาวต่างประเทศซึ่งถือศาสนาอื่นได้รับประโยชน์เหมือนอย่างพวกพลเมือง จึงให้ฝรั่งใช้กฎหมายชาติของตนเองในประเทศเตอรกี แต่ส่วนเมืองจีนถูกฝรั่งบังคับให้เป็นเช่นนั้น เพราะฝรั่งประสงค์จะมิให้คนชาติของตนต้องอยู่ในอำนาจเจ้าของบ้านเมืองจึงผิดกัน และยังมีข้อสำคัญอีกอย่าง ๑ ที่ฝรั่งเอาข้อสัญญาที่ทำกับจีนนี้เป็นหลักเกณฏ์ให้ประเทศอื่นๆ ทางตะวันออก (รวมทั้งประเทศสยามด้วย) ต้องทำอย่างเดียวกัน

[๒๔๑] มีจดหมายเหตุเรื่องเซอร์เจมสบรุกเข้ามาครั้งนั้นทั้งในภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ราชบัณฑิตยสภาพิมพ์แล้ว และอเมริกันก็แต่งทูตมาขอแก้หนังสือสัญญาเหมือนกันแต่ไทยหายอมปรึกษาไม่

[๒๔๒] ทูตอังกฤษมาแต่ก่อน เป็นแต่ทูตของผู้สำเร็จราชการอินเดีย เซอร์เจมสบรุกก็เป็นแต่ถือหนังสือของลอร์ดปาลเมอสะตันอัครมหาเสนาบดีอังกฤษมา เซอร์จอนเบาริงเป็นราชทูตมาแต่ราชสำนักคราวแรก.

[๒๔๓] ประเทศพะม่าถูกอังกฤษเอาหัวเมืองชายทะเลเสียหมดเหมือนกับถูกขังคอกอยู่แล้ว ฝรั่งชาติอื่นก็ไม่ทำหนังสือสัญญาในสมัยนั้น

[๒๔๔] พระเจ้าแผ่นดินปรุสเซียทำในนามของประเทศเยอรมันต่างๆ ซึ่งเข้ากันข้างฝ่ายเหนือ

[๒๔๕] หนังสือสัญญาที่ทำกับสวิเดนนอรเวเบลเยียม ทำที่ลอนดอนด้วยเมื่อเซอร์จอนเบาริงออกจากราชการอังกฤษแล้ว มารับราชการอยู่ในรัฐบาลสยาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งเป็นพระยาสยามานุกูลกิจ สยามิตรมหายศ ตำแหน่งราชทูตพิเศษเป็นผู้ทำหนังสือสัญญานั้น

[๒๔๖] ในสมัยนั้นยังไม่มีประเพณีให้เงินเดือนเป็นผลประโยชน์

[๒๔๗] การที่ให้เจ้ากระทรวงต่าง ๆ อำนวยการเก็บภาษีอากรตั้งขึ้นด้วยมีเหตุจำเป็นดังกล่าวมา แต่ต่อมาภายหลังกลายเป็นเหตุให้เงินแผ่นดินคั่งค้างอยู่ตามกระทรวงมากจนเงินในพระคลังไม่พอจ่ายราชการ พอเริ่มรัชกาลที่ ๕ จึงต้องจัดกระทรวงพระคลังและตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ดังจะปรากฏในตอนอื่นๆ ต่อไปข้างหน้า

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ