ตอนที่ ๒
พระราชประวัติพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อก่อนเสวยราชย์
พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสที่ ๔ ของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[๒๘] พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ซึ่งปรากฏพระนามโดยพระเกียรติยศต่อมาว่า สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี พระองค์เสด็จสมภพเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก[๒๙] จุลศักราช ๑๒๑๕ พ.ศ. ๒๓๙๖ เทียบปฏิทินทางสุริยคติ ตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน คริสต์ศักราช ๑๘๕๓ พระองค์มีพระขนิษฐาร่วมสมเด็จพระบรมราชินี ๓ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล ประสูติเมื่อ ณ วันอังคารเดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๘ เมษายน) ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ พ.ศ. ๒๓๙๘ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ แรม ๑๒ ค่ำ ปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๒๒๕ พ.ศ. ๒๔๐๖ มาในรัชกาลที่ ๕ เฉลิมพระนามพระอัฐิเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์พระองค์ ๑
๒. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี ประสูติเมื่อ ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรม ๓ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑๔ มกราคม) ปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ พ.ศ. ๒๓๙๙ ในรัชกาลที่ ๕ เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑๑ เมษายน) ปีชวด โทศก จุลศักราช ๑๒๖๒ พ.ศ. ๒๔๔๓ พระองค์ ๑
๓. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ประสูติเมื่อ ณ วันพุธ เดือนยี่ แรม ๔ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑๓ มกราคม) ปีมะแม เอกศก จุลศักราช ๑๒๒๑ พ.ศ. ๒๔๐๒ ในรัชกาลที่ ๕ เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงภาณุพันธุวงศวรเดช แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุวงศวรเดช ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เลื่อนพระเกียรติยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดช ครั้นถึงรัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ พระองค์ ๑
พระตำหนักเดิมอันเป็นมงคลสถานที่พระบรมราชสมภพ และที่พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ฝ่ายใน อยู่ตรงที่สร้างพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติและท้องพระโรงกลางข้างหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททุกวันนี้ พระตำหนักนี้เรียกกันว่า “ตำหนักตึก” เดิมพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้นสมเด็จพระศรีสุลาลัยสวรรคตแล้ว จึงพระราชทานแด่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม อันเป็นพระขนิษฐภคินีร่วมเจ้าจอมมารดากับกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เจ้าจอมมารดาเป็นพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระศรีสุลาลัยได้ทรงบำรุงเลี้ยงพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๒ พระองค์นั้นมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ครั้นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้รับบรรดาพระโอรสธิดา ซึ่งล้วนยังทรงพระเยาว์อยู่ทั้งนั้นเข้าไป ทรงทำนุบำรุงเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวัง อยู่ที่พระตำหนักตึกกับพระองค์เล้าลม่อมโดยมาก แต่สมเด็จพระบรมราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ นั่น พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าบุตรี ทรงรับทำนุบำรุงอีกชั้นหนึ่ง ด้วยพระองค์เจ้าบุตรีเป็นพระราชธิดาพระองค์น้อย ได้ทรงรับหน้าที่ราชูปัฏฐากในพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชชนนีฯจึงได้เสด็จขึ้นไปช่วยทำการอุปัฏฐากสนองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ได้พระราชทานพระนามว่า “รำเพย” เพราะถวายอยู่งานพัด ต้องพระราชอัธยาศัยมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๓ มาในรัชกาลที่ ๔ เมื่อได้เป็นพระนางเธอฯ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งให้เสด็จมาประทับที่พระตำหนักตึก และต่อมาโปรดให้สร้างพระที่นั่งสีตลาภิรมย์เป็นที่เสด็จไปประทับในบริเวณพระตำหนักนั้น[๓๐] องค์ ๑
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชปิโยรสของสมเด็จพระบรมชนกนาถมาแต่ทรงพระเยาว์ โปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอ ถึงแม้เวลาเสด็จประพาสหัวเมือง จะเป็นทางใกล้หรือไกลก็โปรดให้ไปโดยเสด็จทุกครั้ง พอทรงพระเจริญขึ้น ก็ได้รับหน้าที่ทรงใช้สอยการงานต่างพระเนตรพระกรรณมาจนตลอดรัชกาล ส่วนการศึกษาวิชาทั้งปวงนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชันษาสมควรแก่การศึกษาอักขรสมัยได้ทรงเล่าเรียนในสำนักพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งเป็นชัตติยราชนารี ทรงรอบรู้อักขรสมัยและโบราณราชประเพณีเป็นต้น และทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ ซึ่งนับถือกันในสมัยนั้นว่าสมควรแก่พระราชกุมารทุกอย่าง เช่น ภาษามคธ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม เมื่อบวชเป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมในพระองค์) เวลานั้นยังเป็นหลวงราชาภิรมย์ กรมราชบัณฑิตย์เป็นพระอาจารย์ เสด็จออกไปทรงศึกษาที่หอพระมนเทียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นเวลา การยิงปืนไฟ ทรงศึกษาในสำนักพระยาอภัยศรเพลิง (ศรี) วิชามวยปลํ้า กระบี่กระบอง ทรงศึกษาต่อหลวงมลโยธานุโยค (รุ่ง) วิชาอัศวกรรม พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครอบพระราชทาน แล้วโปรดให้ทรงศึกษาในสำนักหม่อมเจ้าสิงหนาทในกรมพระพิทักษเทเวศรฯ ต่อมา คชกรรม ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระบำราบปรปักษ์ (ต่อเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว) แต่ส่วนวิชารัฏฐาภิบาลราชประเพณีและโบราณคดีทั้งปวงนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทฝึกสอนเองตลอดมา
ถึงปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓ พ.ศ. ๒๔๐๔ สมเด็จพระชนนีทรงพระประชวร สวรรคต เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุได้ ๙ พรรษา แต่นั้นพระองค์เจ้าลม่อมก็ทรงอุปการะทำนุบำรุงข้างฝ่ายในแทนสมเด็จพระชนนีสืบมา ตลอดจนถึงเวลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไปประทับข้างฝ่ายหน้า พระองค์ก็เสด็จออกไปอยู่ด้วย
ในปีระกา ตรีศกนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชันษาถึงกำหนดรับพระสุพรรณบัฏ เฉลิมพระนามตามจารีตเจ้าฟ้าในโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ มีกระบวนแห่อย่างแห่โสกันต์กระบวนใหญ่ ตั้งแต่พระราชมนเทียรข้างในออกประตูราชสำราญ เดินกระบวนตามถนนริมกำแพงพระบรมมหาราชวังมาจนประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวเข้าประตูพิมานไชยศรี ไปยังพระมหาปราสาท ทรงสดับพระสงฆ์สวดพระปริตร[๓๑] กระบวนแห่ครั้งนั้นปรากฏในจดหมายเหตุว่า บรรดาข้าราชการซึ่งเป็นคู่เคียงพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกสรรข้าราชการผู้ใหญ่ในตระกูล ซึ่งบรรพบุรุษได้เคยเป็นคู่เคียงครั้งพระองค์ทรงรับพระสุพรรณบัฏ เมื่อในรัชกาลที่ ๒ เท่าที่จะมีตัวอยู่ทุกตระกูล ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๖ คํ่า เวลาเช้าแห่เสด็จมายังพระมหาปราสาท ครั้นได้พระฤกษ์เสด็จสู่ที่สรง ทรงเครื่องแล้ว เสด็จประทับบัลลังก์ในที่มณฑลพิธี จึงพระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ อ่านประกาศพระบรมราชโองการ มีคำประกาศดังนี้
ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๐๔ พรรษา ลุศักราช ๑๒๒๓ ปัตยุบันกาลกุกุฎสังวัจฉรผคุณมาส กาลปักษ์ฉัฐยดิถีศุกรวาร บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จฯ พระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯลฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ เมื่อเวลาประสูติใหม่ ท่านเสนาบดีทั้งปวงได้พร้อมกันกราบทูลขอยกย่องให้เป็นพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าฯ เพื่อจะรักษาแบบอย่างบุราณราชประเพณีไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ แต่ยังหาได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏจารึกพระนามไม่ ครั้งนี้จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้เลื่อนเฉลิมพระนาม พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่นั้น ให้เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชรริวงศ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร ดังนี้ และให้เป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีนามกรมว่ากรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ ได้ทรงศักดินา ๔๐,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า ขออาราธนาเทพยดาผู้มีมเหศวรศักดิ์อันประเสริฐ ซึ่งสถิตดำรงอยู่ในภูมิพฤกษอากาศ กาญจนรัตนพิมานทั่วทุกแหล่งหล้าเป็นอาทิ คือ เทพอันทรงนามสยามเทวาธิราชซึ่งเป็นอธิบดีได้บริรักษ์บำรุงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทรายุธยานี้ และเทพยเจ้าผู้อภิบาลรักษานพปฎลเศวตฉัตร สิริรัตนราชราไชสวริย และเทพอันรักษารัตนบัลลังก์พระที่นั่งบรมอาสน์ใหญ่น้อยในพระราชนิเวศน์บรมมหาสถานทุกตำบล ทั้งเทพยเจ้าอื่นๆ ผู้มีทิพยานุภาพมหิทธิฤทธิ์สิงสถิตในภูมิลำเนาแนวพฤกษบรรพตากาศพิมาน ทุกสถานทั่วพระราชอาณาจักรบรรดาซึ่งมีไมตรีจิตได้ผดุงบริรักษ์พระบรมราชวงศ์นี้สืบมาจนกาลบัดนี้ จงได้ทำนุบำรุงรักษาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ ให้ทรงเจริญพระทฤฆชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ สิริสวัสดิพิพัฒนมงคล เกียรติยศ อิสริยศักดิเดชานุภาพทุกประการ ทำราชการสนองพระเดชพระคุณโดยสมควรแก่ความเป็นในพระราชตระกูลอันสูงศักดิ์ในพระบรมราชวงศ์นี้ ขอให้พระเกียรติคุณอดุลยศปรากฏไปสิ้นกาลนานเทอญ
อนึ่ง เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งแล้วดังนี้
ให้ทรงตั้งเจ้ากรม | เป็นหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ | ถือศักดินา ๘๐๐ |
ให้ทรงตั้งปลัดกรม | เป็นหมื่นวรราชบุตรารักษ์ | ถือศักดินา ๖๐๐ |
ให้ทรงตั้งสมุหบัญชี | เป็นหมื่นอนุรักษพลสังขยา | ถือศักดินา ๓๐๐ |
ให้ผู้ที่ได้รับตำแหน่งทั้ง ๓ นี้ ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยผาสุกสวัสดิ์ทุกประการเทอญ
เมื่ออาลักษณ์อ่านประกาศแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานอภิเษกด้วยน้ำพระมหาสังข์ทรงเจิม แล้วจึงพระราชทานพระสุพรรณบัฏจารึกพระนาม และพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าฟ้าต่างกรมอันเป็นพระอัครราชวโรรส ครั้นเวลาบ่ายแห่มาสมโภชและรับพระราชทานของขวัญที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทอีกเวลา ๑ จึงเป็นเสร็จการพิธี
การพระราชพิธีพระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามเช่นนี้ ถ้าทำเต็มตำราทำพร้อมกับพิธีลงสรง ได้ทำเต็มตำราเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๕๕ เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระชนมายุถึงกำหนดรับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริว่า การพิธีใหญ่สำหรับราชประเพณีที่เคยทำสืบมาแต่โบราณตำรับตำราสูญหายไปเสียเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้สืบหาตำรับตำราเดิมและสอบถามผู้รู้แบบแผนการพระราชพิธีครั้งกรุงเก่า ทรงตั้งแบบแผนราชประเพณีตลอดจนพระราชกำหนดกฎหมายให้กลับมีขึ้นอย่างเดิม ส่วนการพิธีใหญ่ได้ทำให้ปรากฏเป็นแบบแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๑ บางอย่าง เป็นต้นว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้ทำเต็มตำราเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ พิธีอุปราชาภิเษก ได้ทำเต็มตำราเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ ครั้งพระองค์ทรงรับอุปราชาภิเษก พิธีโสกันต์เจ้าฟ้าได้ทำเต็มตำราเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ ครั้งโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี แต่พิธีลงสรงเฉลิมพระนามเจ้าฟ้า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ยังหาได้ทำไม่ มีพระราชประสงค์จะให้ปรากฏแบบอย่างไว้สำหรับพระนคร จึงโปรดให้ทำพิธีลงสรงเฉลิมพระนามพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๕๕ ได้ทำเต็มตำรามาครั้งเดียวเท่านั้น ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระชนมายุครบกำหนดรับพระสุพรรณบัฏ ก็ไม่ได้ทำพิธีลงสรง เป็นแต่พระราชทานพระสุพรรณบัฏ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าจะเป็นด้วยพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ลงสรง เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ครั้งนี้จึงมิได้ทำพิธีลงสรง เนื่องในพิธีพระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม
ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ นั้น พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าลูกเธอชายหญิงอีกหลายพระองค์ พระชันษาสมควรจะทรงเล่าเรียนความรู้ชั้นสูงขึ้นไปได้ ทรงพระราชดำริเห็นว่าความรู้ภาษาฝรั่งจะเป็นวิชาซึ่งจำเป็นสำหรับราชการบ้านเมืองต่อไปภายหน้า จึงมีรับสั่งให้สืบหาครูฝรั่งที่เมืองสิงคโปร์ ได้หญิงม่ายคนหนึ่งชื่อนางลิโอโนเวนซ์ เป็นครูสอนลูกผู้ดีอยู่ที่เมืองสิงคโปร์รับจะเข้ามาสอนภาษาอังกฤษแก่พระเจ้าลูกเธอ จึงโปรดให้ว่าจ้างเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ โปรดให้นางลิโอโนเวนซ์เข้ามาสอนที่พระที่นั่งทรงธรรม ในพระบรมมหาราชวัง[๓๒] สอนเฉพาะเวลาก่อนเจ้านายเสด็จขึ้นเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษในสำนักนางลิโอโนเวนซ์อยู่จนทรงผนวชเป็นสามเณร ครั้นเมื่อเสด็จออกไปอยู่ฝ่ายหน้าแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หมอจันดเลอเมริกันมาเป็นครู ทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษต่อมา[๓๓] จนสิ้นรัชกาลที่ ๔
ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๔ พระชันษาสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวถึงกำหนดโสกันต์ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้จัดการพระราชพิธีโสกันต์ มีเขาไกรลาสและกระบวนแห่เต็มตำราอย่างโสกันต์เจ้าฟ้า พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งต้น ณ วันจันทร์เดือนยี่ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แห่เสด็จมาสดับพระพุทธมนต์ ๓ วัน ถึงวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๓ ค่ำ เวลาเช้าโสกันต์แล้ว ไปสรง ณ สระอโนดาตที่เขาไกรลาส สรงแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายกจูงพระกรขึ้นเขาไกรลาส พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำการพิธีในที่พระอิศวรโสกันต์แล้วสมโภชต่อมาอีก ๓ เวลา
การโสกันต์ใหญ่เต็มตำราที่ทำครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ ๔ ในกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ครั้งที่ ๑ ทำเมื่อโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในรัชกาลที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ทำเมื่อโสกันต์พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ทำเมื่อโสกันต์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๓ ไม่ได้ทำเลย ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ ๔
ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชวรวัณโรคภายในเรื้อรังมาหลายปี พระอาการทรุดหนักลงเมื่อจวนงานโสกันต์คราวนี้ แต่แรกพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะรองานพระราชพิธีโสกันต์ แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทูลขอให้คงงานไว้ ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลานเธอ ซึ่งพระองค์ทรงพระเมตตามาก[๓๔] กราบทูลว่า ถ้างดงานโสกันต์ไว้ พระองค์จะมิได้มีโอกาศสมโภชด้วย เหตุนี้พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้คงมีงานโสกันต์ตามกำหนดฤกษ์ เมื่อถึงวันงาน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ลงมากราบทูลว่า จะเสด็จลงมาจรดพระกรรไตรประทานเอง พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบอยู่ว่า พระอาการเพียบคงเสด็จมาไม่ได้ แต่ก็ต้องดำรัสสั่งให้ทอดพระราชอาสน์เตรียมไว้ด้วยเกรงพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พอเสร็จงานถึงวันลอยพระเกศา เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็สวรรคต
การที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เป็นหัวต่อข้อสำคัญในเรื่องพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อก่อนเสวยราชย์ ด้วยก่อนนั้นมา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จอยู่ในฐานเป็นรัชทายาท พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงเตรียมการไว้อย่างนั้น เช่น โปรดให้สร้างพระราชวังนันทอุทยานก็ด้วยทรงพระราชปรารภว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงครองราชสมบัติ ถ้าพระราชโอรสธิดาของพระองค์คงประทับอยู่ที่ในพระบรมมหาราชวัง บางทีจะกีดขวาง จึงทรงกะให้สร้างตึกเป็นพระที่นั่งหมู่หนึ่งในนันทอุทยาน หมายจะพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระกนิษฐาด้วยกันต่อไป และโปรดให้สร้างตำหนักข้างในอีกหลายหมู่ หมู่หนึ่งหมายจะพระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอในเจ้าจอมมารดาคนหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนฐานะของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอยู่ในที่รัชทายาท ด้วยเป็นสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เพราะฉะนั้นบรรดาการที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริเตรียมไว้แต่เดิม ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นหมด เมื่อพิเคราะห์ดูตามทางพระราชปฏิบัติของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งปรากฏต่อมา ดูเหมือนครั้งนั้นความที่ทรงยินดีอันย่อมบังเกิดโดยธรรมดา ด้วยสมเด็จพระปิยราชโอรสจะเป็นรัชทายาทจะไล่เลี่ยกับพระปริวิตกที่เกิดขึ้น เพราะเหตุที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ และส่วนพระองค์เองพระชันษากว่า ๖๐ ปี เข้าเขตทรงพระชราแล้ว เห็นจะทรงพระราชดำริเป็นยุติมาแต่แรกว่า ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับรัชทายาทได้โดยมั่นคง จึงจะทรงมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน ถ้าหากจะไม่ทรงปกครองแผ่นดินได้มั่นคง อย่าให้ทรงครองราชสมบัติจะดีกว่า แต่ในเวลานั้นยังไม่จำเป็นจะต้องทรงสถาปนาตำแหน่งรัชทายาท ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์จึงเป็นแต่ทรงพระราชดำริตริตรองเตรียมการต่อมาโดยลำดับ
ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นกำหนดซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงผนวชเป็นสามเณรตามราชประเพณี พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดการตามแบบเจ้าฟ้าทรงผนวช เหมือนอย่างครั้งพระองค์ทรงผนวชเป็นสามเณรในรัชกาลที่ ๒ คือ เมื่อวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๖ ค่ำ มีพระราชพิธีสมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย รุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ให้ทรงพระยานมาศจากพระที่นั่งอนันตสมาคมแห่กระบวนใหญ่ ออกประตูเทวาพิทักษ์ไปทางถนนเจริญกรุง ถนนเฟื่องนคร เลี้ยวกลับทางถนนบำรุงเมือง เข้าประตูสวัสดิโสภา ประทับพลับพลาเปลื้องเครื่องหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ผลัดเครื่องทรงและทรงโปรยทานแล้ว เสด็จเข้าในพระอุโบสถทรงรับบรรพชาต่อพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ในที่ประชุมสงฆ์ ครั้นผนวชแล้ว เสด็จประทับอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามคืนหนึ่ง เย็นวันนั้นพระสงฆ์สวดมนต์ฉลองในที่พระอุโบสถรุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ เลี้ยงพระแล้วจึงทรงรถพระที่นั่งกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ มีกระบวนแห่ไปส่งเสด็จ ณ วัดบวรนิเวศฯ โปรดให้เสด็จประทับอยู่ที่พระปั้นหยาที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประทับอยู่เมื่อครั้งทรงผนวช ทรงรับโอวาทและเล่าเรียนพระธรรมวินัยในสำนักกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ต่อมา และโปรดให้หลวงราชาภิรมย์ (ชู ซึ่งภายหลังได้เป็นพระมหาราชครูมหิธร) เป็นพระอาจารย์ หัดทำนองเทศน์มหาชาติกัณฑ์สักบรรพ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่โดยเฉพาะ ครั้นเดือน ๑๑ โปรดให้พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศน์ เหมือนอย่างครั้งพระองค์ทรงผนวชเป็นสามเณรถวายเทศน์กัณฑ์มัทรี พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเสด็จดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เชิญเสด็จไปเทศน์ที่วังและทรงทำกระจาดใหญ่ถวายบูชากัณฑ์เทศน์[๓๕] กระจาดที่กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศทำครั้งนั้น ตั้งที่สนามชัยตรงหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ทำเป็นรูปเรือสำเภาโตเท่าลำสำเภาจริง ๆ จัดของไทยทำอย่างสินค้าของต่าง ๆ ซึ่งเอาออกวางขายบนปากเรือสำเภาเมื่อเข้ามาจากเมืองจีน ส่วนผลไม้และเครื่องอาหารแต่งประดับทำเป็นสัตว์น้ำอยู่ตามลูกคลื่นรอบลำสำเภา กระจาดใหญ่ครั้งนี้เป็นการครึกครื้นใหญ่โตมาก มีเทศน์มหาชาติที่พระที่นั่งทรงธรรม เมื่อเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔คํ่า ในปีขาลนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือถึงเมืองพิษณุโลก โปรดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชเป็นสามเณรโดยเสด็จไปในเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชด้วย เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ ในสมัยนั้นลำแม่น้ำทางเมืองเหนือยังกว้าง เมื่อขาขึ้นเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช จักรข้าง ๒ ปล่อง เป็นเรือไฟขนาดยาว ๓๐ วา ยังเข้าปากน้ำเกยไชยขึ้นทางลำน้ำเมืองพิจิตรเก่าได้ถึงเมืองพิษณุโลก แต่ขากลับน้ำลด ต้องล่องทางคลองเรียงที่เป็นลำน้ำเมืองพิจิตรทุกวันนี้ และเมื่อขาเสด็จขึ้นไปนั้น เสด็จประทับทอดพระเนตรวัดโพธิประทับข้างในลำน้ำเมืองพิจิตรเก่า ซึ่งเป็นของพระเจ้าเสือทรงสร้างไว้แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา กล่าวกันว่าเพราะเสด็จสมภพที่นั่น เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นประพาสวัดโพธิประทับช้าง อาศัยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสามเณรทรงผ้ากาสาวพัสตร์ จีงมีรับสั่งให้ทรงพระราชยานต่างพระองค์และโปรดให้ข้าราชการแห่นำตามเสด็จ เหมือนกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ส่วนพระองค์นั้นทรงพระราชดำเนินตามไปโดยลำพังทั้งขาขึ้นขาลง และเมื่อสมโภชพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลกนั้น โปรดให้ทรงกำกับมหาดเล็กซึ่งเป็นพนักงานการมหรสพด้วย[๓๖] และในครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชศรัทธาสร้างวิหารพระเหลือ (หลังใหญ่) ที่ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และโปรดให้ทำศิลาจารึกติดไว้ที่วิหารนั้นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือครั้งนั้น เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๖ เดือน ถึงเดือนยี่ ปีขาลนั้นจึงได้ลาผนวช
อนึ่งในสมัยเมื่อก่อนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นสามเณรนั้น เสด็จประทับอยู่ที่ “พระตำหนักตึก” ข้างในพระบรมมหาราชวัง เวลาเสด็จออกมาประพาสข้างหน้าประทับที่โรงช้างเผือก ซึ่งสร้างขึ้นไว้ครั้งรัชกาลที่ ๒ โรงสุดทางด้านตะวันออก[๓๗] เป็นที่ให้ข้าในกรมและผู้อื่นเฝ้าแหน ครั้งเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรถึงเวลาลาผนวชจะต้องเสด็จออกมาประทับอยู่ข้างหน้าตามประเพณี ก็ในสมัยนั้นพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับอยู่ ณ พระอภิเนาวนิเวศน์ มีพระราชประสงค์จะให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ใกล้พระองค์เพื่อจะได้ทรงฝึกหัดราชการ จึงโปรดฯ ให้แก้ไขคลังเก่าครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่ในสวนกุหลาบ สร้างพระตำหนักสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเมื่อลาผนวช และโปรดให้ซื้อที่บ้านเจ้าพระยาพลเทพ (หลง) เตรียมไว้สำหรับสร้างวังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระอนุชา ๒ พระองค์ด้วยอีกแห่งหนึ่ง แต่หาทันได้สร้างวังไม่ เป็นแต่โปรดให้ข้าในกรมไปปลูกเรือนรักษาอยู่[๓๘]จนตลอดรัชกาลที่ ๔
ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลาผนวชมาประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฝึกหัดราชการกวดขันขึ้น คือนอกจากที่เสด็จไปเฝ้าและไปตามเสด็จโดยปกติ เวลากลางคืนถ้าทรงพระราชวินิจฉัยข้อราชการ หรือทรงประพฤติพระราชกรณีย์โดยลำพัง ก็มีรับสั่งให้หาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าไปอยู่ปฏิบัติประจำพระองค์ ให้ทรงฟังพระบรมราโชวาท และพระบรมราชาธิบายในราชการและราชประเพณีต่างๆ เสมอ เฝ้าอยู่จนราวเที่ยงคืนบ้าง บางทีก็ดึกกว่านั้นจึงได้เสด็จกลับออกมายังพระตำหนัก นอกจากนั้นมักโปรดให้เป็นผู้เชิญกระแสรับสั่งแจ้งพระราชประสงค์หรือทรงหารือข้อราชการไปยังเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เวลาเช้าต้องเสด็จข้ามไปบ้านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เนืองๆ
ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ เมื่อพระราชทานเพลิงศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว โปรดให้เลื่อนกรมเจ้านายเนื่องในเหตุที่พระมหาอุปราชสวรรคตตามราชประเพณีเคยมีมาแต่รัชกาลที่ ๓ เจ้านายซึ่งโปรดให้เลื่อนกรมครั้งนั้น คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา เป็นกรมขุนบำราบปรปักษ์พระองค์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ กับพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นราชสีหวิกรม เป็นกรมขุน คงพระนามเดิม และโปรดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อนพระยศเป็น กรมขุนด้วย รวมเป็น ๔ พระองค์ด้วยกัน ครั้งนั้นมีพระราชดำรัสว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ก็มีความชอบสมควรจะได้เลื่อนกรม แต่ตามราชประเพณี พระเจ้าน้องยาเธอจะทรงกรมได้เพียงชั้นกรมหลวง เป็นสูงสุด จึงมิได้โปรดให้เลื่อนกรมหลวงวงศาธิราชสนิทด้วย[๓๙] ส่วนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนพระนามกรมเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระนาม กรม กรมมเหศวรศิววิลาศ กรมวิษณุนาถนิภาธร พระชันษาไม่ยั่งยืน จะเป็นด้วยพ้องกับนามพระเป็นเจ้าในไสยศาสตร์จึงทรงเปลี่ยนพระนามกรมพิฆเณศวรสุรสังกาศนั้นเสีย ให้มีการพระราชพิธีทรงรับพระสุพรรณบัฏกรมขุนที่พระตำหนักสวนกุหลาบเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๗ ค่ำ มีคำประกาศพระบรมราชโองการ ดังนี้
ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๑๐ พรรษา ลุศักราช ๑๒๒๙ ปัตยุบันกาล สสสังวัจฉรผคุณมาสกาฬปักษ์ สัตมีดิถีรวิวาร บริเฉทกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จฯ พระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯลฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ เมื่อเวลาประสูติใหม่ ท่านเสนาบดีทั้งปวงได้พร้อมกันกราบทูลขอยกย่องให้เป็นพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า เพื่อจะรักษาแบบอย่างโบราณราชประเพณีไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ เพราะฉะนั้นเมื่อปีระกา นักษัตรตรีศก ได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏจารึกเฉลิมพระนามสมญาว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชวโรรส ดังนี้ และให้เป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า เจ้าฟ้าฯ กรมหมื่นพิฆเณศวร สุรสังกาศ ได้ทรงศักดินา ๔๐,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า บัดนี้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ สิริวัฒนราชวโรรสนั้นทรงพระเจริญวัฒนาการขึ้นได้ราชการต่าง ๆ หลายอย่าง พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริพร้อมกับดำริความคิดพระราชวงศานุวงศ์ และท่านเสนาบดีเห็นพร้อมกันให้เลื่อนพระนามกรม เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุน สูงกว่าแต่ก่อน บัดนี้จีงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เลื่อนพระนามกรม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนาราชวโรรส ซึ่งแต่ก่อนทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นเจ้าฟ้าฯ กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศนั้นให้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงศักดินา ๔๐,๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรม
ขออาราธนาเทพยดาผู้มีมเหศวรศักดิ์อันประเสริฐ ซึ่งสถิตดำรงอยู่ในภูมิพฤกษอากาศกาญจนรัตนพิมานทั่วทุกแหล่งหล้าเป็นอาทิ คือ เทพอันทรงนามสยามเทวาธิราช ซึ่งเป็นอธิบดีได้บริรักษ์บำรุง กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทรายุธยานี้ และเทพยเจ้าผู้อภิบาลรักษานพปฎลมหาเศวตฉัตร สิริรัตนราชัยสวริย และเทพอันรักษารัตนบัลลังก์พระที่นั่งบรมราชอาสน์ใหญ่น้อยในพระราชนิเวศน์ บรมมหาสถานทุกตำบล ทั้งเทพยเจ้าอื่นๆ ผู้มีทิพยานุภาพมหิทธิฤทธิศักดิ์สิทธิ์ สิงสถิตในภูมิลำเนาแนวพฤกษบรรพตากาศพิมาน ทุกสถานทั่วพระราชอาณาจักร บรรดาซึ่งมีไมตรีจิตได้ผดุงบริรักษ์ พระบรมราชวงศ์นี้สืบมาจนกาลบัดนี้ จงได้ทำนุบำรุงรักษาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ ให้ทรงพระเจริญทฤฆชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ สิริสวัสดีพิพัฒนมงคล เกียรติยศ อิสริยยศศักดิ์เดชานุภาพทุกประการ ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยสมควรแก่ความเป็นในพระราชตระกูลอันสูงศักดิ์ในพระบรมราชวงศ์นี้ขอให้พระเกียรติคุณอดุลยยศปรากฏไปสิ้นกาลนาน เทอญ
อนึ่ง เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งแล้วดังนี้
ให้ทรงตั้งเจ้ากรมเป็น | ขุนพินิตประชานาถ | ถือศักดินา ๘๐๐ |
ให้ทรงตั้งสมุหบัญชีเป็น | หมื่นวรราชบุตรารักษ์ | ถือศักดินา ๖๐๐ |
ให้ทรงตั้งปลัดกรมเป็น | หมื่นอนุรักษ์พลสังขยา | ถือศักดินา ๓๐๐ |
ให้ผู้ที่ได้รับตำแหน่งทั้ง ๓ นายนั้น ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ โดยผาสุกสวัสดิ์ทุกประการเทอญ[๔๐]
มีเรื่องเนื่องในการเลื่อนกรมครั้งนี้[๔๑] ปรากฏว่า วันเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งนั้น เสด็จประทับที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อมีพระราชดำรัสสั่งให้เตรียมการเลื่อนกรมแล้ว มีรับสั่งให้หาเจ้านายทั้ง ๔ พระองค์นั้นเข้าไปเฝ้ายังที่รโหฐานตรงหน้าพระลงมา มีพระราชดำรัสว่าจะให้ปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร ว่าเจ้านายซึ่งจะเป็นกรมขุน ๔ องค์นี้ ถ้าใครได้ครองราชสมบัติต่อไป ไมทรงรังเกียจเลย เจ้านายทั้ง ๓ พระองค์ต่างถวายปฏิญาณแล้วกราบทูลว่า มิได้ทรงคิดมักใหญ่ใฝ่สูง ตั้งพระราชหฤทัยแต่จะสนองพระเดชพระคุณช่วยทำนุบำรุงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอให้ได้รับราชสมบัติสืบไป ดังนี้
เมื่อเลื่อนกรมแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับตำแหน่งมีหน้าที่ในราชการแผ่นดินต่อมา คือ ทรงบัญชาการกรมมหาดเล็ก เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดให้พระองค์เองเมื่อยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ทรงบัญชาการกรม ๑ ทรงบัญชาการกรมทหารบกวังหน้า ซึ่งมาสมทบรับราชการวังหลวงตามประเพณีตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต[๔๒] กรม ๑ และแต่ก่อนได้โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวร ศิววิลาศทรงบัญชาการกรมล้อมพระราชวัง กับกรมพระคลังมหาสมบัติ ครั้นกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศสิ้นพระชนม์ จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบัญชาการ ๒ กรมนั้นด้วย อนึ่ง เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ นั้น พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ลงมือสร้างพระราชวังสราญรมย์ขึ้นที่ใกล้พระบรมมหาราชวังทางด้านตะวันออกอีกแห่งหนึ่ง ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมบูรณ์พระชันษา พอเสร็จกิจทรงผนวชเป็นภิกษุภาวะแล้ว จะทรงมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน ส่วนพระองค์เองนั้นจะเสด็จออกเป็น “พระเจ้าหลวง”[๔๓] และออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังสราญรมย์ ทรงช่วยแนะนำกำกับราชการต่อไปจนตลอดพระชนมายุ แต่กระแสพระราชดำริข้อนี้หาได้ทรงเปิดเผยไม่ ถึงกระนั้นก็ทราบกันอยู่ในบรรดาผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย แต่มาถึงสมัยนี้ การที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้เป็นรัชทายาท ย่อมเป็นที่เข้าใจและเป็นที่นิยมของคนทั้งหลายโดยมาก ตลอดจนชาวต่างประเทศ เป็นแต่มีบางคนคิดวิตก ด้วยเห็นว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีอำนาจมากยิ่งกว่าใครๆในแผ่นดิน เว้นแต่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว เกรงว่าจะไม่ซื่อตรงต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความวิตกเช่นว่ามานี้มีเรื่องจะยกมาแสดงพอเป็นอุทาหรณ์[๔๔] ดังในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรหนักอยู่นั้น วันหนึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเยี่ยม พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า ใคร่จะกราบบังคมทูลความลับสักเรื่องหนึ่ง แล้วตรัสขับบรรดาผู้ที่เฝ้าแหนอยู่ในที่นั้นให้ลงมาเสียจากพระที่นั่งอิศเรศร์ราชานุสรณ์ ให้อยู่แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้เชิญพระแสงของสมเด็จพระบรมชนกนาถพระองค์ ๑ กับกลีบจอมมารดาซึ่งเป็นผู้พยาบาล และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกคนหนึ่ง เมื่อเป็นที่รโหฐานแล้ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกราบบังคมทูลว่าพระองค์ก็จะไม่ดำรงพระชนม์อยู่ไปได้กี่วันแล้ว จะขอถวายปฏิญาณว่าการที่ได้ทรงสะสมกำลังทหารและเครื่องศัสตราวุธ ยุทธภัณฑ์ไว้เป็นอันมากนั้น จะคิดร้ายต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่าง ๑อย่างใดไม่มีเลย แต่ไม่ไว้ใจเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เกรงว่าถ้าพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงเมื่อใด เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะกำเริบขึ้นจึงได้เตรียมกำลังไว้ป้องกันพระองค์ เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว ขอให้พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระวังต่อไปให้จงดี ดังนี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานปฏิญาณว่า มิได้เคยทรงระแวงสงสัยในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าจะทรงคิดร้ายต่อพระองค์ แต่เรื่องเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์นั้น หาได้มีพระราชดำรัสตอบประการใดไม่ นอกจากเรื่องนี้ยังมีข้าราชการในพระราชสำนักหลายคน ซึ่งไม่ไว้ใจเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ คิดเข้ากันเป็นพวก นัยว่าเพื่อจะป้องกันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[๔๕] แต่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงส่งเสริมพวกนี้ อันความที่เกิดมีผู้ไม่ไว้ใจเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ครั้งนั้นจนถึงชาวต่างประเทศก็ทราบ เซอร์แฮรีออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เข้ามาเฝ้าพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ ได้มารู้จักสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทราบความเรื่องที่จะทรงรับรัชทายาท กล่าวไว้ในจดหมายเหตุ[๔๖] ดังนี้
สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชันษาราวสัก ๑๕ ปี เป็นที่สงสัยกันว่า เจ้าฟ้าพระองค์นี้จะเป็นรัชทายาทสืบพระวงศ์ เพราะในเวลานี้ไม่มีพระมหาอุปราช แต่ไม่เป็นการแน่ทีเดียวที่เจ้าฟ้าพระองค์นี้จะได้ราชสมบัติ ด้วยตามประเพณีไทยถึงการรับราชสมบัติย่อมสืบต่ออยู่ในพระราชวงศ์อันเดียวกัน ราชสมบัติไม่ได้แก่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นแน่นอน มีตัวอย่างเช่นครั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน (คือพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) มีพระราชประสงค์จะให้พระเจ้าลูกเธอได้รับราชสมบัติ[๔๗] แต่ตระกูลใหญ่ของผู้สำเร็จราชการทั้งสอง (หมายความว่าพวกสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) ไม่เห็นชอบตามพระราชประสงค์ ไม่ยกพระเจ้าลูกเธอของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนขึ้น พร้อมกันถวายราชสมบัติแก่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ (คือพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ผู้เป็นรัชทายาทที่แท้แห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ ก็ทำได้โดยปราศจากเหตุการณ์ (สังเกตดู) สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์พระองค์นี้ฉลาดหลักแหลม ถ้าคิดดูโดยพระชนมายุเพียงเท่านั้น พระรูปอยู่ข้างสูง และพระกิริยาอัธยาศัยก็เป็นผู้ใหญ่
ฝ่ายฝรั่งเศสก็เห็นจะเข้าใจอย่างเดียวกัน พระเจ้าเอมปเรอนโปเลียน ที่ ๓ จึงถือเอาเป็นโอกาศที่จะบำรุงทางพระราชไมตรีให้สนิทยิ่งขึ้น ให้สร้างพระแสงกระบี่ขึ้น ๒ องค์ ส่งมาถวายเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ พระแสงกระบี่องค์ใหญ่จารึกอักษรว่า “ของเอมปเรอฯ ฝรั่งเศสถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม” พระแสงกระบี่องค์น้อยจารึกอักษรย่อว่า “ของพระยุพราชกุมารฝรั่งเศสถวายพระยุพราชกุมารสยาม” ดังนี้[๔๘] และต่อมาในปีเถาะนั้นเอมปเรอนโปเลียน ที่ ๓ ทรงทั้งให้มองสิเออแบลกัวต์เป็นราชทูตพิเศษ เข้ามาแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญา ซึ่งพระยาสุรวงศวัยวัฒน์ได้ไปทำที่นครปารีสเมื่อราชทูตเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บอกกรมท่าว่าจะขอไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แทนที่ทูตเคยเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่หนหลัง ก็โปรดให้เฝ้าตามประสงค์ จึงเกิดปัญหาเรื่องที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จลงไปเยี่ยมตอบ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เสด็จลงไปด้วยกันกับกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ[๔๙] ครั้นเมื่อเสด็จการเยี่ยมตอบแล้ว ราชทูตฝรั่งเศสมาพูดกับเสนาบดีว่า มีความเสียดายที่รู้ตัวเร็วไป ไม่มีเวลาพอจะจัดการรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวให้สมแก่พระเกียรติยศ ขอเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรเรือรบแต่พระองค์เดียวอีกครั้งหนึ่ง พอจะได้มีโอกาศจัดการรับเสด็จ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามประสงค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงไปครั้งหลัง เมื่อ ณ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้นค่ำ ๑ราชทูตฝรั่งเศสจัดการรับเสด็จอย่างเต็มยศใหญ่ ชักธงบริวาร และให้ทหารขึ้นยืนประจำเสาเรือรบ แล้วยิงปืนสลุตตามพระเกียรติยศรัชทายาททุกประการอาศัยเหตุที่ราชทูตฝรั่งเศสแสดงความเคารพโดยพิเศษครั้งนี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระนามและประทับพระลัญจกร[๕๐]ในหนังสือสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนสัญญากับกรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และเจ้าพระยาภูธราภัย
ตามเรื่องพระราชประวัติที่แสดงมา พึงเห็นได้ว่าพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญขึ้นตามทางพระราชประสงค์แห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นอันดับมา จนไม่มีผู้ใดที่จะคิดเห็นว่าผู้อื่นจะเป็นรัชทายาท ถึงกระนั้นก็ดี พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้สิ้นทรงพระปริวิตก เพราะเหตุซึ่งต้องทรงพระปริวิตกมีอยู่ คือ ถ้าหากพระองค์สวรรคตลงก่อนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชันษาสมบูรณ์ ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาท ก็จะต้องมีผู้อื่นว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์ การอันนี้ยังมิได้เคยมีแบบอย่างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ปรากฏในเรื่องพระราชพงศาวดารครั้งกรงศรีอยุธยา เคยมีพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเยาว์ ต้องมีผู้ว่าราชการแทน ๕ ครั้ง พระเจ้าแผ่นดินก็ถูกปลงพระชนม์บ้าง ถูกกำจัดจากราชสมบัติบ้าง ไม่เคยอยู่ได้ยั่งยืนเลยสักพระองค์เดียว พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงประมาทต่อเหตุการณ์ ได้ทรงพระราชดำริป้องกันด้วยพระบรมราโชบายอันสุขุมคัมภีรภาพ ด้วยครั้งนั้นรู้กันอยู่เป็นแน่ว่า ถ้าหากพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตลงในเวลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังหย่อนพระชันษา มีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คนเดียวที่สามารถจะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะเหตุนี้ถึงมีใครๆ กราบบังคมทูลฯ แสดงความรังเกียจก็ไม่ทรงนำพา กลับทรงปรึกษาหารือกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ตามตรง ให้ช่วยคิดอ่านรักษาความเป็นอิสระของประเทศ ในเมื่อเหตุการณ์เช่นนั้นหากจะมีขึ้น และได้ทรงทราบความคิดของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อยู่แล้วทุกประการ[๕๑] เพราะฉะนั้นเมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต บางคราวพระราชหฤทัยหวนห่วงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นมา เกิดเคลือบแคลงก็ดำรัสถามว่า ยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่หรือ ครั้นทรงทราบว่ายังเสด็จอยู่ ก็ห่วงต่อไปถึงการที่จะทรงรับรัชทายาท เกรงจะไม่มั่นคง ดังมีพระราชดำรัสแก่พระยาสุรวงศวัยวัฒน์ ในที่สุดจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชวงศ์และเสนาบดีปรึกษาพร้อมกันแล้วแต่จะเลือกเจ้านายพระองค์ใดให้รับราชสมบัติ เมื่อคิดวินิจฉัยดูว่าเหตุใดจึงโปรดให้เลือกรัชทายาท และมิได้ทรงมอบเวนราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เห็นว่าน่าจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริเป็น ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ ทรงพระราชดำริว่าความมั่นคงของประเทศสยามสำคัญยิ่งกว่าเพียงพระองค์จะได้ความพอพระราชหฤทัยเพราะพระราชปิโยรสได้รับรัชทายาท ประการที่ ๒ ถ้าหากให้พระราชวงศ์กับเสนาบดีพร้อมใจกันถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ซึ่งน่าจะทรงเชื่ออยู่ว่า คงจะเป็นอย่างนั้นยิ่งกว่าอย่างอื่น) ทั้งพระราชวงศ์และเสนาบดีมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์โดยเฉพาะ จะได้รู้สึกเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องช่วยกันอุปถัมภ์บำรุงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเต็มกำลัง เพราะได้พร้อมกันเลือกสรรเองดังนี้ และการที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เลือกรัชทายาทนั้นก็ไม่ผิดราชประเพณีซึ่งเคยมีมาตั้งแต่เมื่อจะสิ้นรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระอาการประชวรไม่สามารถจะตรัสสั่งมอบเวนราชสมบัติ พระราชวงศ์กับเสนาบดีก็ได้ปรึกษาพร้อมกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาครั้งหนึ่ง มาถึงเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรใกล้จะเสด็จสวรรคต มีรับสั่งเวนคืนราชสมบัติแก่พระราชวงศ์และเสนาบดี แล้วแต่จะพร้อมกันถวายแก่พระราชวงศ์พระองค์ใด เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระราชวงศ์กับเสนาบดีจึงได้ปรึกษาพร้อมกัน ถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์[๕๒] นับเป็นครั้งที่ ๒ จึงทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่เป็นการแปลกประหลาดหรือฝ่าฝืนราชประเพณีอย่าง ๑อย่างใด
เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่พระตำหนักสวนกุหลาบนั้น มีแพเป็นที่เสด็จประพาส[๕๓] จอดไว้ที่ข้างใต้ท่าราชวรดิตถ์หลังหนึ่ง ด้วยในสมัยนั้นที่สโมสรของผู้ดี ยังอยู่ทางแม่น้ำตามแบบโบราณ ผู้มีบรรดาศักดิ์มักมีแพเป็นที่พักและเป็นที่พบปะมิตรสหาย ชอบไปมาเที่ยวเตร่กันโดยทางเรือเป็นพื้น แต่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบในสมัยนั้นก็เป็นที่ประชุมของเจ้านายและข้าราชการชั้นหนุ่มๆ คล้ายกับเป็นสโมสรสถานอันหนึ่ง ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชอัธยาศัยโอบอ้อมอารี และโปรดการสมาคมกับผู้อื่นมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว บรรดาพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประสูติภายหลังสมเด็จพระบรมชนกนาถเสวยราชย์ ล้วนเคยรักใคร่นับถือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหัวหน้ามาตั้งแต่ทรงจำความได้ทุกพระองค์ ต่างก็ติดตามออกไปเฝ้าแหน เล่นหัวและโดยเสด็จประพาสไม่ขาด[๕๔] ส่วนเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์เป็นต้น ในเวลานั้นยังไม่ทรงพระชรา มักพอพระหฤทัยหาของซึ่งชอบเล่นกันในสมัยนั้น เช่นกล้องเมียซ่อมเป็นต้น ก็มักพากันเสด็จไปทรงสนทนาที่สวนกุหลาบ ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเล่นของเหล่านั้นเหมือนกัน แม้หม่อมเจ้าทั้งชั้นผู้ใหญ่และชั้นที่ยังเยาว์ก็มีไปเฝ้าไม่ขาด แต่ข้าราชการที่หมั่นไปสวนกุหลาบนั้นมักเป็นพวกชั้นหนุ่ม ๆ และเป็นข้าราชการในพระราชสำนักเป็นพื้น
เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบ มีพระธิดากับหม่อมราชวงศ์แข (คือ พระองค์เจ้าผ่อง) พระองค์ ๑ ประสูติที่วังเดิมของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์[๕๕] เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย แรม ๘ ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ และทรงพอพระหฤทัยในคุณแพ ธิดาพระยาสุรวงศวัยวัฒน์[๕๖]
พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสขอต่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์[๕๗] และพระราชทานเป็นอัครบริจาริกา มีพระธิดาแต่ในรัชกาลที่ ๔ พระองค์ ๑ (คือ พระองค์เจ้าหญิงศรีวิลัยลักษณ์ ซึ่งภายหลังทรงสถาปนาเป็นกรมขุนสุพรรณภาควดี) ประสูติที่พระราชวังนันทอุทยาน ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงสร้างพระราชวังสราญรมย์นั้น เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๐๐ ในสมัยนั้นยังทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าทั้ง ๒ พระองค์
[๒๘] พระราชโอรสพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ ๓ พระองค์นั้น คือ
๑. พระองค์เจ้านพวงศ์ ประสูติ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๑๐ ค่ำ (ที่ ๖ มีนาคม) ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ พ.ศ. ๒๓๖๕ ในรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๔ เป็นกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ สิ้นพระชนม์แต่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๘ แรม ๓ ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๑๒๒๙ พ.ศ. ๒๔๑๐
๒. พระองค์เจ้าสุประดิษฐ ประสูติ ณ วันพุธ เดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ (ที่ ๑๙ พฤษภาคม) ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ พ.ศ. ๒๓๖๗ ในรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๔ เป็นกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ลิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำ ปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๒๔ พ.ศ. ๒๔๐๕
๓. เจ้าฟ้าโสมนัส ประสูติ ณ วันเสาร์ เดือน ๑๐ แรม ๗ ค่ำ (ที่ ๒๒ สิงหาคม) ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๑๕ พ.ศ. ๒๓๙๕ ในรัชกาลที่ ๔ สิ้นพระชนม์มาแต่แรกประสูติ
[๒๙] ในปีฉลู เบญจศกนั้น ข้างต้นปีฝนแล้ง ครั้นเดือน ๘ แรม ๓ ค่ำ ช้างเผือกที่ได้เป็นปฐมในรัชกาลที่ ๔ คือพระพิมลรัตนกิรินีมาถึงกรุงเทพฯ ต่อมาถึงเดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสมภพ และเมื่อใกล้วันพระราชสมภพนั้น ฝนห่าใหญ่ตกอยู่ ๓ วันถึงน้ำนอง ตั้งแต่นั้นฝนก็ตกบริบูรณ์ ต้นข้าวในนาปีนั้นก็พ้นภยันตราย ด้วยเหตุนี้จึงถือกันว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระพิมลรัตนกิรินี เป็นสิริในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ นั้น ถ้าปีใดฝนแล้งถึงต้องทำพิธีพรุณศาสตร์ ก็โปรดให้แต่งพระพิมลรัตนกิรินีด้วยเครี่องคชาภรณ์ออกยืนแท่น และให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปในการพิธีด้วย
[๓๐] พระที่นั่งสีตลาภิรมย์นี้ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงสร้างวัดราชบพิธ โปรดให้รื้อไปปลูกถวายเป็นตำหนักเจ้าอาวาส (หลังทางริมคลอง) ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
[๓๑] งานพระราชพิธีใหญ่เช่นนี้ ที่มีต่อมาสวดมนต์ ๓ วัน แต่ครั้งนี้เห็นจะเป็นด้วยวันพระฤกษ์ ติดกับงานโสกันต์ข้างหน้า จึงสวดมนต์แต่วันเดียว
[๓๒] พระที่นั่งองค์นี้ชำรุดรื้อเสียนานแล้ว อยู่ตรงที่สวนศิวาลัย
[๓๓] ตอนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับนายแปตเตอร์สันต่อมาอีก ทรงเวลาค่ำเมื่อเสร็จราชการประจำวัน แต่ทรงอยู่ไม่ได้เท่าใด เพราะไม่มีเวลาว่าง ที่พระองค์ทรงทราบภาษาอังกฤษดีสู้ใคร ๆ ที่เรียนในเมืองนี้ได้ เป็นด้วยทรงพระอุตสาหะศึกษาโดยลำพังพระองค์ต่อมา
[๓๔] พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำรัสเล่าว่า ครั้งหนึ่งเสด็จขึ้นไปเฝ้าในเวลาประชวรนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวยกพระหัตถ์ลูบที่พระเศียรตรัสว่า เจ้าใหญ่นี่แหละ จะเป็นที่พึ่งของญาติต่อไปได้ ในส่วนพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง แม้ต่อมาจนในรัชกาลที่ ๕ ก็ยังทรงเคารพนับถือในพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก มีความประหลาดข้อหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ยินพวกวังหน้าที่เคยอยู่ครั้งพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จนลูกเธอ มักกล่าวกันว่า พระกิริยาอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คล้ายกับพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าเคยนำความข้อนี้ขึ้นกราบบังคมทูลฯ มีพระราชดำรัสว่าไมใช่แต่พวกวังหน้า ถึงทูลกระหม่อมก็เคยรับสั่งว่า “พ่อใหญ่นี่อย่างไร ดูไปเหมือนท่านที่บน” ดังนี้
[๓๕] ฐานะของกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ เหมือนพระนาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสองอย่าง คือ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่อย่าง ๑ ได้ทรงบัญชาการกรมพระคลังมหาสมบัติ (มาตั้งแต่กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรสิ้นพระชนม์) อย่าง ๑ สันนิษฐานว่า โปรดให้เป็นผู้ทำกระจาดใหญ่ด้วยข้อหลังเป็นสำคัญ เพราะได้ทรงว่ากล่าวพวกจีนเจ้าภาษีนายอากร อาจหาของแปลกประหลาด แต่งกระจาดได้ง่ายกว่าผู้อื่น
[๓๖] เหตุที่มหาดเล็กเป็นพนักงานการมหรสพสมโภชพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกนั้น เดิมเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ เสด็จธุดงค์ขึ้นไปเมืองเหนือ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ เสด็จไปถึงเมืองพิษณุโลก ทรงพระปรารภจะสมโภชพระพุทธชินราชตามราชประเพณี ครั้งนั้นเครื่องมหรสพมีแต่ตัวหนังอยู่ที่วัดพระชินราช คนเล่นหามีไม่ พวกมหาดเล็กที่โดยเสด็จไปด้วยจึงชวนกันเล่นหนังถวายเป็นการมหรสพ เมื่อเสด็จขึ้นไปครั้งหลัง พวกข้าหลวงเดิมที่เคยเล่นหนังเมื่อเสด็จครั้งแรก ได้เป็นข้าราชการตามเสด็จไปหลายคน พากันรับอาสาเข้าเล่นหนังเหมือนหนหลัง พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงอนุโมทนา และทรงพระราชดำริว่า เมื่อครั้งแรกพระองค์ทรงผนวชอยู่ได้ทรงอำนวยการ ครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงผนวชจึงโปรดให้ทรงอำนวยการ ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ เสด็จไปถึงเมืองพิษณุโลก มีการสมโภชพระพุทธชินราช ทรงรำลึกถึงความหลังที่กล่าวมา จึงโปรดได้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา เป็นผู้อำนวยการมหรสพ และได้ข้าราชการกรมมหาดเล็ก กรมตำรวจและกรมทหารเรือเล่นหนังในงานมหรสพกรมละคืน
[๓๗] อยู่ตรงมุขกระสันตะวันออกแห่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
[๓๘] ที่แห่งนี้อยู่ริมคลองตลาดฝั่งใต้ปลายถนนอัษฎางค์ต่อถนนจักรเพชร์ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ปลัดกรม อ่ำ ข้าหลวงเดิมซึ่งได้เป็นที่พระอินทรเทพแล้ว เลื่อนเป็นพระยามหามนตรีและเป็นพระยาพิชัยสงครามเป็นที่สุด สร้างบ้านเรือนอยู่จนตลอดอายุ
[๓๙] ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อจะโปรดให้เลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทั้ง ๒ พระองค์เป็นกรมพระ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า ทรงเทียบตามอย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเลื่อนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ เป็นกรมพระราชวังหลัง
[๔๐] ประกาศนี้พึ่งค้นพบสำเนาในกรมราชเลขาธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐
[๔๑] เรื่องนี้พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสเล่าให้ทราบ
[๔๒] ทหารบกวังหน้ามีจำนวนประมาณ ๖๐๐ คน ส่วนทหารเรือและเรือรบวังหน้านั้น โปรดให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญทรงบัญชาการ
[๔๓] ทรงกำหนดว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” ให้ใช้เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ในเวลาเมื่อเสด็จละราชสมบัติ แต่ยังดำรงพระชนม์อยู่ ให้ใช้ว่า “พระเจ้าหลวง” ดังนี้
[๔๔] เรื่องนี้พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเล่าให้ทราบ
[๔๕] เรื่องนี้ก็ได้ทราบโดยมีพระราชดำรัสเล่า
[๔๖] จดหมายเหตของเซอร์แฮรีออด หอพระสมุดฯ ได้แปลเป็นภาษาไทย พิมพ์แล้วเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ คัดมาลงที่นี่แต่เฉพาะเรื่อง
[๔๗] ข้อนี้ฝรั่งเข้าใจผิด
[๔๘] การที่เอมปเรอนโปเลียนประทานพระแสงกระบี่ก็มีผลดีอยู่บ้าง จะพึงเห็นได้ในคำพระยาสุรวงศวัยวัฒน์กราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปรากฏมาในตอนที่ ๑
[๔๙] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวว่า พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเอาแบบอย่างครั้งนายพลเรือกิงฮอล แม่ทัพเรืออังกฤษเข้ามาเฝ้าเมื่อ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ ครั้งนั้นได้โปรดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศเสด็จไปเยี่ยมตอบ (ข้าพเจ้าสันนิษฐานต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงโปรดให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นผู้ลงไปเยี่ยมตอบ) แต่ลักษณะการผิดกับครั้งเยี่ยมตอบราชทูตฝรั่งเศส ด้วยเมื่อครั้งก่อนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระชันษาได้เพียง ๙ ชวบ ฐานะของกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศเป็นอย่างผู้กำกับ เยี่ยมตอบครั้งหลังทรงพระเจริญแล้ว หาต้องมีผู้กำกับไม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเสด็จไปด้วย คงเป็นด้วยเหตุอื่น ดังจะวินิจฉัยในตอนอื่นต่อไป
[๕๐] ดูเหมือนพระลัญจกรรูปพระมงกุฎ (เกี้ยวยอด) จะคิดขึ้นในคราวนี้ แต่ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ
[๕๑] ความที่กล่าวตรงนี้เป็นความสันนิษฐาน แต่มีหลักฐานอยู่ในเรื่องที่พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสเล่ามั่นคง ดังจะกล่าวในตอนอื่นต่อไป
[๕๒] เหตุที่ถวายราชสมบัติพร้อมกันสองพระองค์อันไม่เคยมีเยี่ยงอย่างในพงศาวดาร เจ้าพระยาภาณุวงศ์ ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เดิมเสนาบดีมีบิดาของท่าน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ที่สมุหพระกลาโหมเป็นหัวหน้า ได้ปรึกษากันจะถวายราชสมบัติ แก่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่พระองค์เดียว ครั้นเมื่อไปกราบทูลให้ทรงทราบ ดำรัสว่า ขอให้ถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยอีกพระองค์หนึ่ง เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นพระชะตาแรงนักตามตำราว่าคงจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าถวายราชสมบัติแต่พระองค์เดียว เกรงจะเสด็จอยู่ไม่ได้ยั่งยืน ด้วยไม่สามารถจะทนแรงพระชะตาพระบาทดมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ไปทูลความแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านไปด้วยได้ยินกราบทูลอธิบายดังกล่าวมา
[๕๓] แพหลังนี้เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว เรียกว่า “แพข้าหลวงเดิม" สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ทรงรับไปรักษาไว้ที่หน้าพระราชวังเดิมอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์ ต่อมาภายหลังเมื่อสร้างท่าวาสุกรีแล้ว โปรดให้ถอยไปจอดไว้ที่ท่าวาสุกรี
[๕๔] ตัวข้าพเข้าอยู่ในชั้นเล็ก อายุได้ ๕ ขวบออกไปเฝ้าที่สวนกุหลาบครั้งแรกโปรดให้ตัดเสื้อสักหลาดสีเขียวตามแบบแฟชั่นในเวลานั้นพระราชทานตัวหนึ่ง เลยติดใจไปสวนกุหลาบเสมอ ยังจำได้อยู่
[๕๕] ด้วยตามราชประเพณีมีมาแต่โบราณ ถือว่าประสูติในพระราชวังได้แต่พระราชโอรสธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน
[๕๖] คือเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ตัวท่านได้เล่าเรื่องให้ข้าพเจ้าฟัง เมื่อแต่งหนังสือนี้ เพื่อให้ปรากฏในเรื่องประวัติของท่านตามจริงว่า เดิมสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ปู่ของท่าน เมื่อยังเป็นที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ปรารภว่าประเพณีในสกุลของท่านตั้งแต่ชั้นบรรพบุรุษมาได้เคยถวายบุตรทำราชการฝ่ายหน้า และถวายธิดาทำราชการฝ่ายในมาทุกรัชกาล ถึงตัวท่านมีธิดาคนเดียวแต่คุณหญิงกลาง ก็ได้แต่งงานกับบุตรเจ้าพระยาภูธราภัย (คือพระยาสีหราชฤทธิไกร แย้ม บุณยรัตพันธุ์) เสียแต่เมื่อรัชกาลที่ ๓ ยังมีแต่หลานซึ่งเป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศวัยวัฒน์ หลานหญิงคนใหญ่ (คือคุณหญิงเล็ก ศรีสรราชภักดี) ก็แต่งงานไปเสียแล้ว ท่านจึงเลือกเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ แต่เมื่อยังเป็นเด็ก ว่าจะให้ถวายตัวทำราชการฝ่ายในตามประเพณีของวงศ์สกุล ครั้นโกนจุกแล้วพอรุ่นสาว ท่านจึงฝากเจ้าคุณพระประยุรวงศ์แก่เจ้าจอมมารดาเที่ยง พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๔ ให้รับเข้าไปไว้ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อจะได้ฝึกหัดกิริยามารยาทและสั่งสอนให้รู้ขนบธรรมเนียมในพระราชฐานเสียก่อนถวายตัวทำราชการ เจ้าจอมมารดาเที่ยงให้ท่านอยู่ด้วยกันกับกรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ซึ่งเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ ก็ขอบชิดสนิทสนมกันแต่นั้นมา อยู่มาวันหนึ่ง (เห็นจะราวเมื่อต้นปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐) ในเวลาพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับในพระบวรราชวัง (เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว) โปรดให้ละครหลวงขึ้นไปเล่น วันนั้นกรมหลวงสมรรัตนฯ ให้เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ถือหีบหมากเสวยตามเสด็จไปด้วย เมื่อไปนั่งดูละครอยู่ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นก็ชอบพระหฤทัย แต่ยังไม่ทรงทราบว่าจะเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ครั้นทรงสืบถามได้ความว่าเป็นธิดา (เจ้า) พระยาสุรวงศวัยวัฒน์อยู่ที่ในพระบรมมหาราชวังกับกรมหลวงสมรรัตนฯ จึงตรัสแก่กรมหลวงสมรรัตนฯ ให้ทราบพระประสงค์เป็นความลับ (ความตอนนี้กรมหลวงสมรรัตนฯ ก็ตรัสเล่าแก่ข้าพเจ้าอย่างเดียวกัน) และขอให้กรมหลวงสมรรัตนฯ ทรงช่วยให้ได้ทอดพระเนตรเห็นตัวอีกสักครั้งหนึ่งให้ถนัดพระเนตร ครั้นถึงวันงานพระราชพิธีวิสาขบูชา กรมหลวงสมรรัตนฯ จึงให้เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ถือหีบหมากเสวยตามเสด็จออกไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วตรัสสั่งให้นั่งคอยดูเดินเทียนอยู่ที่บันไดทางหลังพระอุโบสถ การเดินเทียนวิสาขบูชาในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับทอดพระเนตรอยู่ข้างหน้าพระอุโบสถ โปรดให้พระเจ้าลูกเธอกับข้าราชการทั้งปวงเดินเทียนเป็นประเพณีทุกปี เวลานั้นเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ยังไม่รู้ตัวว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรด แต่เมื่อนั่งดูกระบวนเดินเทียน เห็นเสด็จผ่านไปคราวไรก็ทรงเพ่งพิศผิดปรกติทุกคราวจึงเกิดนึกระแวงใจแต่นั้นมา ในไม่ช้าวันก็มีหญิงข้าหลวงคนสนิทเข้าไปพูดจาวิสาสะกับพี่เลี้ยงของท่านทั้ง ๒ คน เป็นใจกันเดินสื่อสาร แต่มีผู้รู้เรื่องขึ้น บอกไปยังสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ท่านก็สั่งให้มารับตัวเจ้าคุณพระประยุรวงศ์กลับไปอยู่บ้านเสียอย่างเดิม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็ทรงอาดูรเดือดร้อน จนสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนฯ สังเกตเห็นผิดปกติ ทรงสืบทราบเหตุจึงเสด็จไปตรัสแถลงเรื่องแก่เจ้าจอมมารดาเที่ยง ๆ ถามกรมหลวงสมรรัตนฯ ก็ได้ความสมกัน เจ้าจอมมารดาเที่ยงสงสารด้วยรักใคร่และได้ดูแลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแต่ยังทรงพระเยาว์ก็รับนำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นผู้รับสั่งให้ไปขอเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ต่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านก็ยอมถวายตามพระราชประสงค์จึงส่งเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เขามาถวายตัวตามประเพณี แล้วพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
[๕๗] เวลานั้นเจ้าพระยาสุรวงศฯ ผู้บิดาเป็นราชทูตไปประเทศฝรั่งเศสยังไม่กลับมา