ตอนที่ ๓
พระมหาอุปราช
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ ซึ่งได้รับเลือกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๕ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าคุณจอมมารดาเอมเป็นเจ้าจอมมารดา[๕๘] ประสูติในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ แรม ๒ ค่ำ ปีจอ สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๐๐ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๘๑ สมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวยังเสด็จดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมที่ริมปากคลองบางกอกใหญ่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชอบพอกับพวกมิชชันนารีอเมริกันซึ่งสอนภาษาและวิชาอย่างฝรั่งถวายในสมัยนั้น จึงประทานพระนามว่า “ยอชวอชิงตัน” ตามนามประธานาธิบดีคนแรกของสหปาลีรัฐอเมริกา ข้างฝ่ายไทยจึงเรียกพระนามว่า หม่อมเจ้ายอด ครั้นพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระราชทานพระนามว่า “พระองค์เจ้ายอดยิ่งประยุรยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร” ต่อมาพระราชทานพระสุพรรณบัฏทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔
การศึกษาของกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พิเคราะห์ตามหลักฐานที่ปรากฏดูเหมือนจะได้ทรงศึกษาเป็นอย่างดีสำหรับราชตระกูลในสมัยนั้น เหตุด้วยเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นนิจมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ไม่ว่าการงานอย่างใดอันเป็นพระราชกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นการฝึกหัดทหารอย่างฝรั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีหน้าที่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ก็ดี การช่างจักรกลและการต่อเรือกำปั่นรบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ก็ดี ได้ทรงใช้สอยและฝึกหัดกรมหมื่นบวรวิชัยชาญมายิ่งกว่าลูกพระองค์อื่นทั้งสิ้น ส่วนวิชาการที่ทรงศึกษาจากผู้อื่นนั้น อักขรสมัยจะได้ทรงศึกษาในสำนักผู้ใดสืบไม่ได้ความ แต่ทรงทราบวิชาหนังสือไทยแตกฉาน ถึงสามารถแต่งกาพย์กลอนและคำฉันท์ได้เป็นอย่างดีมีปรากฏอยู่หลายเรื่อง ภาษาอังกฤษจะได้ทรงศึกษาแต่ผู้ใดก็ไม่ทราบแน่ แต่สันนิษฐานว่าคงอยู่ในพวกมิชชันนารีอเมริกัน ถ้ามิใช่หมอบรัดเลก็คงเป็นหมอจันดเล ด้วยเป็นผู้ชอบชิดอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ คน ทรงทราบถึงสามารถจะอ่านตำรับตำราภาษาอังกฤษเข้าพระราชหฤทัยได้ดี วิชาการขี่ช้างม้าและมวยปลํ้า ตลอดจนนาฏกรรมบางอย่างก็ได้ทรงฝึกหัด[๕๙] แต่ถ้าว่าตามหลักฐานซึ่งยังมีวัตถุเป็นที่สังเกตดูเหมือนจะทรงสันทัดทางวรรณคดีและการช่างยิ่งกว่าอย่างอื่น แม้ในสมัยเมื่อเป็นกรมพระราชวังบวรฯ แล้ว ในกระบวนช่างเบ็ดเตล็ด เช่น ช่างเคลือบและช่างหุ่น เป็นต้น เห็นจะไม่มีใครชำนาญยิ่งกว่าในสมัยเดียวกัน กล่าวกันว่าวิชาอย่างอื่นที่ได้มาจากฝรั่งก็ทรงสันทัดอีกหลายอย่าง[๖๐]
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบวรราชาภิเษกนั้น กรมหมื่นบวรวิชัยชาญยังไม่ได้โสกันต์ ด้วยเมื่อเวลาพระชันษาถึงกำหนดโสกันต์ในปลายปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงประชวรหนักจึงต้องงดงาน และต้องรอมาจนเสร็จงานพระบรมศพแล้ว จึงได้โสกันต์ ต่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ เมื่อพระชันษาได้ ๑๕ ปี มีการแห่โสกันต์ที่ในพระบวรราชวัง[๖๑] และพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปทรงจรดพระกรรไตรพระราชทาน ต่อมาถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ ทรงผนวชเป็นสามเณรพร้อมกับพระองค์เจ้าสุธารส พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกพระองค์หนึ่ง มีงานสมโภชที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระบวรราชวังเมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๘ ทุติยาสาฒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ครั้นรุ่งขึ้นแห่จากพระบวรราชวัง เดินกระบวนแห่ออกประตูพรหมทวารมายังพระบรมมหาราชวัง เข้าประตูสวัสดิโสภา แล้วทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กระบวนแห่เป็นกระบวนใหญ่ ปรากฏเกณฑ์กระบวนมีช้าง ๓๐ ม้า ๑๐๘ ทหารสิป่าย ๑๐๘ พิณพาทย์จีน ๒๘ คน เกณฑ์แห่ทั้งพวกพลวังหลวงวังหน้าสมทบกับขุนหมื่น ๗๙๐ ไพร่ ๑๓๔๗ รวมคนเดินกระบวนแห่ ๒๒๗๓ คน แต่จะทรงราชยานอย่างใดเมื่อแห่ ไม่ปรากฏในหมายรับสั่ง สันนิษฐานว่าเห็นจะทรงพระยานมาศ หรือมิฉะนั่นก็ทรงเสลี่ยงกง ด้วยมีเครื่องสูงกลองชนะคู่เคียงและอินทรพรหม ทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับอยู่วัดพระเชตุพนด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายไว้ในสำนักสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ส่วนพระองค์เจ้าสุธารส ถวายไว้ในสำนักกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ (คือ สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) จึงเสด็จไปอยู่วัดบวรนิเวศฯ ครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ (สันนิษฐานว่าเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๒ เพราะพระชันษาสมบูรณ์ในปีนั้น) ยังไม่พบจดหมายเหตุ ทราบแต่ว่าเสด็จอยู่วัดบวรนิเวศฯ[๖๒] และมีพระนามฉายาว่า “ปวรคโค” คำข้าราชการวังหน้าที่สูงอายุ ทันทำราชการอยู่ในสมัยนั้นเล่าว่า เมื่อทรงผนวชพระก็มีแห่กระบวนใหญ่และว่าทรงช้าง ก็เห็นจะเป็นความจริง ด้วยตรงกับประเพณีในครั้งนั้น คงจะแห่ทำนองเดียวกับเมื่อครั้งทรงผนวชเป็นสามเณร เมื่อลาผนวชแล้ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่บ้านเก่าสำหรับเสนาบดีวังหน้าแต่ก่อน ตอนริมคลองคูเมืองเดิม (ซึ่งเรียกกันว่าคลองโรงไหม) ข้างฝั่งเหนือตั้งแต่ถนนพระอาทิตย์ไปจนต่อเขตวังเจ้าฟ้าอิศราพงศ์สร้างวังพระราชทาน (ตรงที่ตั้งโรงพยาบาลทหารบัดนี้) และพระราชทานตึกตรงหน้าพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพระบวรราชวังชั้นกลาง ให้เป็นที่สำนักอีกแห่งหนึ่ง เพราะทรงใช้ชิดติดพระองค์และรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไปทุกอย่าง เวลาเสด็จไปไหนก็ต้องตามเสด็จด้วย ดูเหมือนในสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระชนม์อยู่ จะมิใคร่มีโอกาศมาสมาคมกับเจ้านายวังหลวงเท่าใดนัก ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทรงบังคับบัญชากรมทหารเรือรบฝ่ายพระบวรราชวัง แต่นั้นจึงได้เสด็จมารับราชการด้วยกันกับเจ้านายวังหลวงชั่วเวลา ๓ ปี เมื่อจะได้เป็นอุปราช เจ้านายผู้ใหญ่ท่านตรัสเล่าว่า กรมหมื่นบวรวิชัยชาญนั้นพระอัธยาศัยสุภาพ โดยปรกติมักถ่อมพระองค์ เมื่อมาสมทบกับเจ้านายวังหลวง ก็พอพระหฤทัยที่จะคบหาแต่เพียงชั้นหม่อมเจ้าที่เป็นพระโอรสผู้ใหญ่ในเจ้านายต่างกรม วางพระอัธยาศัยเป็นกันเองอย่างสนิทสนม จนคุ้นเคยชอบพอในเจ้านายชั้นเดียวกันแทบทั้งนั้น[๖๓] ถึงพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระเมตตาใช้สอยสนิทสนม เล่ากันมาอีกอย่าง ๑ ว่า ในชั้นหลังตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว กรมหมื่นบวรวิชัยชาญทรงรักษากิจวัตรมั่นคง ๒ ประการคือ เวลาเช้าคงเสด็จข้ามไปหาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่บ้านเพื่อศึกษาราชการ และช่วยทำการงานให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เช่น ตกแต่งบ้านเรือน เป็นต้น ครั้นถึงเวลาค่ำเสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ในพระบรมมหาราชวังเป็นนิจไม่ขาดเลยตลอดจนรัชกาลที่ ๔ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญได้เป็นพระมหาอุปราชนั้นพระชันษาพอได้ ๓๐ ปี
การที่เลือกพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นพระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๕ เป็นข้อสำคัญในพงศาวดารหลายสถาน เบื้องต้น แต่เป็นการที่ผิดราชประเพณี ด้วยตำแหน่งพระมหาอุปราชเป็นรัชทายาท พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตเมื่อใด ถ้ามีพระมหาอุปราช จะเป็นพระราชโอรสก็ตามหรือพระราชอนุชาก็ตาม พระมหาอุปราชย่อมได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ เพราะฉะนั้นในเรื่องพระราชพงศาวดาร จึงปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นพระมหาอุปราชเป็นพื้น ต่อไม่มีพระราชโอรสหรือมีเหตุการณ์อย่างอื่นบังคับ จึงทรงตั้งพระอนุชา หรือพระราชวงศ์ชั้นอื่นเป็นพระมหาอุปราช ยกตัวอย่างเพียงในพระบรมราชจักรีวงศ์นี้ เมื่อรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นพระมหาอุปราช ก็ด้วยทรงสร้างสมพระบารมีมาด้วยกัน นับว่ามีเหตุการณ์บังคับ ครั้นสมเด็จพระอนุชาธิราชสวรรคต ก็ทรงตั้งสมเด็จพระราชโอรสเป็นพระมหาอุปราช ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นพระมหาอุปราช ก็เพราะได้ดำรงพระยศเป็นพระบัณฑูรน้อยมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ ต้องทรงตั้งด้วยเหตุการณ์บังคับอีก ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ราชสมบัติด้วยพระราชวงศ์และเสนาบดียกถวาย จึงทรงตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ[๖๔] กรมหมื่นศักดิพลเสพ ซึ่งได้ทรงบัญชาการกระทรวงกลาโหมอยู่แล้ว ให้เป็นพระมหาอุปราช เป็นบำเหน็จที่ได้เป็นกำลังอุดหนุนให้พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ราชสมบัติ ถึงรัชกาลที่ ๔ ที่ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาเป็นพระมหาอุปราช ก็เพราะพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อตำราพยากรณ์ ว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจำต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ลองคิดดูว่า ถ้าหากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๔ รัชกาลนั้น พระองค์ใดเสด็จสวรรคตก่อนพระมหาอุปราชซึ่งมิได้เป็นพระราชโอรส การสืบราชสันตติวงศ์จะไขว้เขว หรือบางทีจะเกิดลำบากขึ้นในบ้านเมืองก็เป็นได้[๖๕] แต่เผอิญพระมหาอุปราชซึ่งมิได้เป็นพระราชโอรสสวรรคตไปก่อนทุกรัชกาล จึงมิใคร่มีใครคิดเห็นความเสี่ยงภัยของบ้านเมือง ในเรื่องที่ยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นพระมหาอุปราช
อีกประการ ๑ ประเพณีการเลือกพระมหาอุปราชนั้น ตามราชประเพณี (เป็นเช่นกรมขุนวรจักรธรานุภาพตรัสในที่ประชุมว่า) พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงเลือกเอง พระราชวงศ์และเสนาบดีมีหน้าที่จะเลือกแต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว เพราะถ้าไม่มีพระเจ้าแผ่นดินบ้านเมืองจะเป็นจลาจล แต่ส่วนพระมหาอุปราชหามีความจำเป็นเช่นนั้นไม่ โดยจะทิ้งว่างไว้ก่อนก็ได้ เยี่ยงอย่างเช่นเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ว่างพระมหาอุปราชอยู่ตั้ง ๑๐ ปีก็เคยมี แม้พระเจ้าแผ่นดินจะสวรรคตลง ก็ประชุมปรึกษากันเลือกได้อีกเหมือนหนหลังและเวลานั้นก็มีเจ้าฟ้าพระราชอนุชาอยู่ถึง ๒ พระองค์ ไม่สิ้นไร้เจ้านายซึ่งจะรับรัชทายาท ที่อ้างในคำปรึกษาว่า ถ้ากรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช จะได้ทรงควบคุมผู้คนของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ดูเหมือนจะชวนให้เข้าใจว่ามีคนหมู่ใหญ่อีกจำพวกหนึ่งซึ่งเป็นคนของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าผู้อื่นไปบังคับบัญชาคนพวกนั้นอาจจะกำเริบขึ้น แต่ที่จริงมิได้เป็นเช่นนั้น พวกข้าราชการวังหน้าก็คนร่วมสกุลกันกับข้าราชการวังหลวงนั้นเอง เป็นแต่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแบ่งพระราชทานขึ้นไปรับราชการวังหน้า ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ก็กลับลงมาสมทบ รับราชการวังหลวงโดยเรียบร้อยมาถึง ๓ ปีจึงสิ้นรัชกาลที่ ๔ หามีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ควบคุมขึ้นใหมไม่ อนึ่ง พระมหาอุปราชในรัชกาลก่อนๆ มา ล้วนเป็นเจ้าฟ้าสมเด็จพระอนุชาธิราชอันร่วมพระบรมราชชนนีกับพระเจ้าแผ่นดิน แต่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญทรงศักดิ์เพียงชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ซึ่งยกข้ามเจ้าฟ้าและพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินขึ้นเป็นพระมหาอุปราชเป็นการผิดราชประเพณีอีกประการ ๑ ความที่กล่าวมานี้ไม่ได้มีความประสงค์จะติเตียนส่วนพระองค์กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏว่าเป็นผู้มีพระอัธยาศัยสุภาพ และได้ทรงร่ำเรียนรอบรู้นับว่าเป็นอย่างดีในเจ้านายสมัยนั้น[๖๖] พระองค์ ๑ การที่ได้เป็นพระมหาอุปราชก็มิใช่เพราะพระองค์ทรงเอิบเอื้อมขวนขวายเอง เป็นเพราะเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ท่านปรารถนาจะให้เป็น และไม่มีผู้ใดนอกจากกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ซึ่งอยู่ในที่ประชุมจะกล้าขัดขวางเท่านั้น
เหตุใดเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงปรารถนาจะให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ เป็นพระมหาอุปราช ข้อนี้จะวินิจฉัยต่อไปในตอนหน้า
[๕๘] พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พึ่งทรงสถาปนาเป็น “เจ้าคุณ” เมื่อถึงอสัญกรรม เดิมเป็นแต่คนเรียกกันว่าเจ้าคุณโดยความเคารพที่เป็นชนนีของกรมพระราชวังบวรฯ
[๕๙] ได้ยินว่ามหาดเล็กที่ขี่ม้ารำทวนครั้งพระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ไปฝึกหัดต่อกรมพระราชวังบวรฯ ก็มี อนึ่ง พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสเล่าว่า ครั้งหนึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงเชิดหนังกลางวัน (คือ หนังระบายสีสำหรับเล่นกลางวัน) ถวายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรดังนี้
[๖๐] เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสถึงเมืองไทรโยคครั้งแรกเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๒๐ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถวายแผนที่ลำน้ำน้อยตลอดทางที่ประพาส เป็นแผนที่ทำอย่างฝรั่งว่าเป็นของกรมพระราชวังบวรฯ ทรงทำขึ้น ดูเหมือนเข้าใจกันในสมัยนั้นว่าไม่มีผู้อื่นจะทำได้ ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดเริ่มพนักงานแผนที่ขึ้นในกรมมหาดเล็ก ในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้บังคับการ พอทำแผนที่พระนครสำเร็จนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสสั่งข้าพเจ้าว่า เอาขึ้นไปอวดให้วังหน้าดูสักที ข้าพเจ้าจึงนำแผนที่ขึ้นไปตามรับสั่ง กรมพระราชวังบวรฯ ได้ทอดพระเนตรก็โปรดตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า วิชานี่ดีนะจ๊ะ อุตส่าห์ฝึกหัดต่อไปเถิด อีกอย่างหนึ่งเมื่อกรมพระราชวังบวรทิวงคต ที่ในพระราชวังบวรฯ มีโรงถลุงแร่ตามแบบฝรั่งอยู่ริมพระราชมนเทียร และมีตัวอย่างแร่ต่าง ๆ รวบรวมไว้เป็นอันมาก เล่ากันว่าทรงพยายามเสาะหาแร่ต่าง ๆ บรรดามีในประเทศสยามนี้มาตรวจแล้วทำบัญชี มีนามทั้งภาษาไทยและภาษาลาติน แต่การถลุงแร่นั้น จะทรงมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ทางไหนสืบไม่ได้ความ
[๖๑] เดิมเรียกว่า “พระราชวังบวรสถานมงคล” เป็นแบบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสมอพระเจ้าแผ่นดิน จึงโปรดให้ใช้นามว่าวัง “พระบวรราชวัง” มาถึงรัชกาลที่ ๕ ก็กลับเรียกว่า พระราชวังบวรสถานมงคล ตามเดิม
[๖๒] ถึงสมัยนี้สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์แล้ว
[๖๓] กรมหมื่นปราบปรปักษ์เคยตรัสเล่าว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ได้เคยคบกับกรมหมื่นบวรวิชัยชาญอย่างเป็นเพื่อนสนิทถึงกอดคอกันเดิน ครั้นได้เป็นมหาอุปราชทำเป็นไม่รู้จัก จึงได้ชังแต่นั้นมา ข้อนี้ข้าพเจ้าใคร่จะแก้แทนว่าเพราะเหตุที่ขึ้นจากชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอเป็นถึงพระมหาอุปราช ก็มิรู้ที่จะวางพระองค์อย่างไรให้เหมาะได้
[๖๔] แต่ในสมัยนั้นยังใช้คำนำพระนามว่า พระเจ้าน้องยาเธอ เป็นแบบอยู่
[๖๕] มีเรื่องเป็นอุทาหรณ์ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ พระราชอนุชาเป็นพระมหาอุปราช เมื่อพระเจ้าท้ายสระจะสวรรคตมอบเวนราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัยราชโอรส พระมหาอุปราชไม่ยอม เกิดรบกันเป็นศึกกลางเมืองในระหว่างพวกวังหลวงกับพวกวังหน้า ที่เมืองเขมรก็มีอุทาหรณ์เช่นเดียวกัน ครั้นสมเด็จพระนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชาสุรคต พระศรีสวัลดิ์ราชอนุชาซึ่งเป็นพฺระมหาอุปราชได้ครองราชสมบัติ พวกลูกเธอของสมเด็จพระนโรดมพากันกระด้างกระเดื่อง ถ้าฝรั่งเศสไม่ควบคุมอยู่ก็เห็นจะเกิดรบกันเป็นศึกกลางเมือง
[๖๖] มีผู้เคยกล่าวกับกรมหมื่นสถิตธำรงสวัลดิ์ ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดากับกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญว่า ถ้ากรมพระราชวังฯ ไม่ได้รับเป็นพระมหาอุปราช เห็นจะได้เป็นหลักในราชการบ้านเมืองพระองค์ ๑ ว่าดังนี้ ฟังดูก็ชอบกล