คำนำ

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ได้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์วรรณกรรมกวีนิพนธ์ไทยเผยแพร่มาอย่างต่อเนื่อง หนังสือกวีนิพนธ์ไทยโบราณสร้างสรรค์ขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกัน มีทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับบันเทิงคดี สุภาษิต คำสอนและตำรับตำราต่าง ๆ กวีนิพนธ์บางประเภทมุ่งบันทึกเหตุการณ์หรือความเป็นไปของสังคมในยุคสมัยที่แต่งเรื่องนั้น หนังสือกวีนิพนธ์ลักษณะดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นความคิดความเชื่อ ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ที่ไม่ปรากฏในเอกสารประเภทอื่น ดังนั้นข้อมูลที่สอดแทรกอยู่ในวรรณกรรมเหล่านั้นจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาสืบค้นเรื่องราวของสังคมไทยในอดีต

หนังสือ ประชุมเพลงยาวภาคพิเศษ ประกอบด้วยเพลงยาวที่แต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ๔ เรื่อง คือ

เพลงยาวเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระมารดาเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สันนิษฐานว่า ข้าในกรมของสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นเป็นผู้แต่งถวาย เนื้อหากล่าวถึงการปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม เมื่อพุทธศักราช ๒๓๔๐ และมีการฉลองใหญ่ในพุทธศักราช ๒๓๔๙ เพลงยาวเรื่องนี้นับเป็นจดหมายที่ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระประวัติของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตแปลกกว่าที่ปรากฏในหลักฐานอื่น

เพลงยาวตำนานหวยของนายกล่ำ แต่งขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับการเล่นหวยเมื่อแรกมีในเมืองไทย นอกจากจะกล่าวถึงรายละเอียดต่าง ๆ ในการเล่นหวยไทยและหวยจีนแล้ว ยังทำให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นไปของสังคมไทยในยุคนั้นได้หลายแง่มุม

เพลงยาวชาววัง สันนิษฐานว่าคุณพุ่ม กวีสตรีผู้มีชื่อเสียงแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ สำนวนกลอนจัดว่าดีแต่ใช้ถ้อยคำรุนแรงเนื้อหาเป็นการต่อว่าต่อขานสตรีชาววังที่มีพฤติกรรม “เล่นเพื่อน” แต่งไว้ไม่จบ หมดหน้าสมุดไทยเสียก่อน อีกด้านหนึ่งของสมุดไทยเล่มเดียวกันนี้เป็นบทเห่กล่อมพระบรรทมพระราชโอรสหรือพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้นำมาพิมพ์ไว้ต่อจากเพลงยาวชาววัง ในหนังสือเล่มนี้ด้วย

เพลงยาวเรื่องเที่ยวถํ้าวิมานจักรี ผู้ประพันธ์น่าจะเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ในกรุงเทพฯ พาภรรยากับบ่าวไพร่ไปเที่ยวถํ้าวิมานจักรี ซึ่งอยู่บริเวณพระพุทธบาท สระบุรี เรื่องนี้พบต้นฉบับสมุดไทยเพียงตอนกลางของเรื่อง ส่วนตอนต้นและตอนปลายไม่พบต้นฉบับ

กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่า เพลงยาวทั้ง ๔ เรื่อง เป็นหนังสือที่มีคุณค่าต่อการศึกษาภาษาวรรณกรรมและวัฒนธรรมไทยในอดีต จึงมอบให้นางสาวศิริรัตน์ ทวีทรัพย์ นักอักษรศาสตร์ ๖ ว. กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เป็นผู้ตรวจสอบชำระเรื่องดังกล่าวจากเอกสารสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่

กรมศิลปากรหวังว่า หนังสือ ประชุมเพลงยาวภาคพิเศษ นี้จะอำนวยประโยชน์ต่อ นักเรียน นักศึกษา และผ้สนใจวรรณกรรมไทยโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

มีนาคม ๒๕๔๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ