ประวัติหลวงพัฒนพงศ์ภักดี
นายทิม (สุขยางค์) เกิดในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีมะแมนพศก จุลศักราช ๑๒๐๙ (พ.ศ. ๒๓๙๐) ตระกูลพ่อค้า จอดแพอยู่หน้าวัดราชบุรณะในกรุงเทพฯ บิดาฝากตัวอยู่กับเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง แต่ยังเป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ นายทิมบวชเป็นพระภิกษุอยู่วัดราชบุรณะ ๓ พรรษา ได้ศึกษากระบวนหนังสือไทยในเวลาเมื่อบวช ครั้นปีมะเมียโทศก พ.ศ. ๒๔๑๓ ในรัชกาลที่ ๕ นายทิมลาสิกขาบท มาเป็นทนายอยู่กับเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงเมื่อเป็นพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงใช้สอยชอบใจจึงใช้เป็นคนใกล้ชิดติดตัวมาแต่ครั้งนั้น ครั้นถึงปีกุนสัปตศก พ.ศ. ๒๔๑๘ เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง ได้เป็นแม่ทัพคุมกองทัพกรุงเทพฯ ทัพหนึ่ง ซึ่งจะยกไปรบฮ่อที่เมืองหนองคาย เอานายทิมเป็นทนายไปด้วย
กองทัพกรุงเทพฯ ยกขึ้นไปปราบฮ่อคราวนั้น ๒ ทัพ ทัพเจ้าพระยามหินทรฯ ยกออกจากกรุงเทพฯ เดือน ๑๐ กำหนดจะไปขึ้นบกที่เมืองสระบุรี เดินไปทางเมืองนครราชสีมา กองทัพเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก ออกจากกรุงเทพฯ เดือน ๑๑ ไปขึ้นบกที่เมืองอุตรดิตถ์ เดินไปทางเมืองหลวงพระบาง ส่วนกองทัพเจ้าพระยามหินทรฯ เมื่อยกขึ้นไปถึงหาดพระยาทด แขวงเมืองสระบุรี ขึ้นตั้งพักอยู่ยังไม่ยกขึ้นไปเมืองนครราชสีมา ข้างกรุงเทพฯ เร่งรัดให้ยก เจ้าพระยามหินทรฯ บอกขัดข้องลงมาว่าหนทางในดงพระยาไฟฝนตกน้ำยังท่วม เดินกองทัพไปเกรงไพร่พลจะเป็นอันตราย แต่เร่งรัดตอบโต้กันอยู่อย่างนี้ จนทางข้างเมืองหนองคาย พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) ซึ่งเป็นข้าหลวงออกไปตั้งสักเลขอยู่ในมณฑลร้อยเอ็ด คุมกองทัพเมืองนครราชสีมาพร้อมด้วยพระยานครราชเสนี (กาจ สิงห์เสนี) แต่ยังเป็นพระยาปลัดกับพระยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา ยกไปตีพวกฮ่อ ได้รบกันที่เมืองเวียงจันท์ ตีพวกฮ่อแตกพ่ายถอยกลับไปตั้งอยู่เมืองเชียงขวางในแขวงพวน ในเวลากองทัพเจ้าพระยามหินทรฯ ยังตั้งอยู่ที่หาดพระยาทด เมื่อได้ทราบหมายว่าจะไม่ต้องยกขึ้นไป แต่ฝ่ายข้างกรุงเทพฯ เห็นว่าพวกฮ่อยังไม่หมดกำลัง อาจจะกลับมารบกวนได้อีก จึงสั่งให้กองทัพเจ้าพระยามหินทรฯ ยกขึ้นไป ได้ยกเดินบกแต่แก่งคอย เมื่อ ณ วันที่ ๔ เดือน ๑๒ แรม ๕ ค่ำ ไปถึงเมืองนครราชสีมา เมื่อ ณ วันที่ ๑ เดือนอ้าย ขึ้นค่ำ ๑ ปีกุนสัปตศก พ.ศ. ๒๔๑๘ ไปตั้งพักกองทัพรอคำสั่งจากกรุงเทพฯ อยู่อีกตอนหนึ่ง จนเดือน ๔ ได้รับท้องตราให้ยกขึ้นไปเมืองหนองคาย จึงเดินกองทัพจากเมืองนครราชสีมาไปทางเมืองพิมาย เมืองพุทไธสงด้วยถึงฤดูแล้งจัด จะเดินทางโคกหลวงซึ่งเป็นทางตรงกันดารน้ำเสียแล้ว ในระหว่างเวลานั้นกองทัพเจ้าพระยาภูธราภัย ได้ลงมือทำการปราบปรามพวกฮ่อที่เมืองพวนแล้วไม่จำเป็นจะต้องมีกองทัพถึง ๒ ทัพ เมื่อเจ้าพระยามหินทรฯ ยกไปถึงเมืองพุทไธสง ได้รับท้องตราสั่งให้เจ้าพระยามหินทรฯ จัดกำลังในกองทัพแบ่งไปสมทบกองทัพเจ้าพระยาภูธราภัย นอกนั้นให้เจ้าพระยามหินทรฯ คุมกลับลงมากรุงเทพฯ เจ้าพระยามหินทรฯ จึงยกทัพกลับมาจากเมืองพุทไธสง หยุดพักที่เมืองนครราชสีมาหน่อยหนึ่งแล้วเดินทัพกลับทางดงพระยากลางมาลงเรือที่ท่าเรือพระพุทธบาท กลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๕ ปีชวด อัฐศก พ.ศ. ๒๔๑๙ รวมเวลาตั้งแต่ยกกองทัพไปจนกลับ ๘ เดือน
เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) สมุหนายกแม่ทัพปราบฮ่อ ยกไปทางเมืองหลวงพระบาง
เมื่อไปทัพคราวนั้น หลวงพัฒนพงศ์ภักดียังเป็นนายทิม เป็นทนายนั่งหน้าแคร่และขึ้นท้ายช้างติดตัวเจ้าพระยามหินทรฯ ตลอดทั้งขาไปและขากลับ เป็นผู้มีความสามารถในการแต่งบทกลอน จึงเป็นผู้แต่งนิราศ เรียกว่านิราศหนองคาย แต่ความที่แต่งกล่าวเกินนิราศไป ด้วยกองทัพเจ้าพระยามหินทรฯ ยกไปคราวนั้น พอยกไปได้หน่อยหนึ่งก็เกิดความไม่พอใจต่างๆ ตั้งแต่ต้องถุ้งเถียงโต้แย้งกับกรุงเทพฯ ด้วยเรื่องเร่งให้ยกทัพ ตลอดจนที่ได้ความว่า การที่เตรียมจะไปทำผู้อื่นทำสำเร็จเสียก่อน การที่ยกไปเป็นอันยกไปเปล่า ผลของความแค้นทั้งปวงไปปรากฏอยู่ในนิราศหนองคายที่นายทิมแต่ง กล่าวโดยตรงบ้าง เป็นทางกระเดียดเสียดสีบ้าง ถ้าหากแต่งอ่านกันเล่นแล้วฉีกทิ้งเสีย หรือเพียงแต่เก็บไว้ ก็เห็นจะไม่เกิดความ แต่หนังสือนิราศหนองคายนี้ได้ลงพิมพ์ออกโฆษณา เมื่อปีขาลสัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๔๒๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซึ่งเป็นประธานในการจัดทัพครั้งนั้น จึงถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท กราบบังคมทูลฯ ขอให้ชำระลงโทษผู้แต่งตามพระราชกำหนดกฎหมาย
เมื่อจะแต่งประวัตินี้ ข้าพเจ้าได้เอาหนังสือนิราศหนองคายซึ่งได้ขอต้นฉบับจากหลวงพัฒนพงศ์ภักดี มาคัดไว้ในหอพระสมุดฯ ไม่ช้ามานัก มาอ่านตรวจดูโดยละเอียดเห็นว่าความที่กล่าวในหนังสือนิราศหนองคาย มีที่ร้ายแรงและเป็นฐานหมิ่นประมาทหลายแห่ง แม้มีผู้ใดแต่งเช่นนั้นออกโฆษณาในเวลาปัจจุบันชั้นนี้ ก็เห็นจะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เมื่ออ่านแล้วก็คิดเห็นว่าใช่วิสัยคนเช่นนายทิมทนายแม้ชำนาญในการแต่งบทกลอนจะสามารถหรือจะกล้ากล่าวความลงเช่นนั้นได้ ตามความที่ข้าพเจ้าทราบ ถึงเมื่อชำระกันครั้งนั้น ความเข้าใจก็เป็นอย่างที่ว่า แต่นายทิมให้การยืนยันว่าแต่งด้วยปัญญาความคิดของตนเอง และปฏิเสธว่าไม่ได้มีผู้หนึ่งผู้ใดแนะนำสั่งสอนให้แต่ง ยอมรับผิดแต่ผู้เดียว เมื่อพิจารณาได้ความเพียงเท่านั้น ลูกขุนจึงตัดสินให้จำคุกนายทิมผู้แต่ง และให้ทำลายหนังสือนิราศหนองคายที่พิมพ์โฆษณาเสีย นายทิมต้องติดอยู่ ๘ เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกโทษพระราชทาน จึงได้พ้นจากเวรจำ[๑] เมื่อพ้นโทษแล้วก็กลับไปอยู่กับเจ้าพระยามหินทรฯ ตามเดิม พอการสงบแล้ว เจ้าพระยามหินทรฯ ตั้งเป็นขุนจบพลรักษ์ ขุนหมื่นประทวน ในกรมพระสุรัสวดี และให้ว่าการงานในบ้านต่างหูต่างตาทั่วไป
หนังสือซึ่งหลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่ง เมื่อเป็นขุนจบพลรักษ์อยู่นั้น เป็นหนังสือบทละครเป็นพื้น แต่งให้เจ้าพระยามหินทรฯ เล่นละครโดยมาก พอใจเอาเรื่องเก่าที่มีอยู่แล้ว คือ เรื่องราชาธิราช และเรื่องสามก๊ก เป็นต้น มาแปลงเป็นบทละครเป็นตอนๆ บทละครที่หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่ง สืบได้จำนวนเรื่องดังนี้ คือ
๑. พระอภัยมณี
๒. ราชาธิราช
๓. ลักษณวงศ์
๔. ทินวงศ์
๕. ยักษียักษา
๖. สามก๊ก
๗. จักรแก้ว
๘. ขุนข้างขุนแผน ตอนต้น
๙. อาบูหะซัน
๑๐. บ้วยหั่งเหลา
๑๑. สิงหไตรภพ
๑๒. สามฤดู
๑๓. มณีสุริยง
๑๔. พระเจ้าติวอ๋องหลงนางขันกี
๑๕. ทิ้งพวงมาลัยเจ๊ก
๑๖. สุริยวงศ์พรหเมศ
๑๗. วงศ์เทวราช
กลอนอ่าน คือ
๑๘. มณีนพรัตน์
๑๙. กายนคร
๒๐. ฉัตรสามชั้น (สุภาษิตคำกลอน)
๒๑. พระศรสุริยัน
๒๒. นิราศหนองคาย
นอกจากนี้ยังมีกลอนและโคลงเบ็ดเตล็ดอีกหลายเรื่อง สังเกตดูตามสำนวนหนังสือที่หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่ง ดูถือความกตัญญูเป็นธรรมวิถีสำคัญกว่าอย่างอื่น เมื่อมาพิเคราะห์ดูตามเรื่องราวในประวัติก็เห็นประพฤติธรรมะข้อนั้นมั่นคงต่อเจ้าพระยามหินทรฯ ฝ่ายเจ้าพระยามหินทรฯ ก็ได้สนองคุณตอบแทน แม้ที่สุดเมื่อป่วยอาการมาก จวนจะถึงอสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเยี่ยม ก็ได้กราบบังคมทูลฝาก ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่งแก่หลวงพัฒนพงศ์ฯ โดยเฉพาะ
ตั้งแต่เจ้าพระยามหินทรฯ ถึงอสัญกรรมแล้ว หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่ยังเป็นขุนจบพลรักษ์ ก็ออกจากกรมพระสุรัสวดี มาสมัครเป็นข้าอยู่ในพระเจ้าลูกเธอ ซึ่งเป็นหลานเจ้าพระยามหินทรฯ คือ พระองค์เจ้าจุธารัตนราชกุมารี และพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ซึ่งได้ทรงรับพระสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม รับทำการเก็บผลประโยชน์ในพระองค์ถวายตลอดมา เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นผู้มีความกตัญญู และทรงระลึกถึงที่เจ้าพระยามหินทรฯ ได้กราบบังคมทูลฝากไว้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงพัฒนพงศ์ภักดี มีสังกัดในกรมพระคลังข้างที่ เมื่อ ณ วันที่ ๒๑ มกราคม ปีวอกอัฐศก พ.ศ. ๒๔๓๙
ต่อมาเมื่อกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดมสิ้นพระชนม์แล้ว ตามความที่ข้าพเจ้าทราบหลวงพัฒนพงศ์ภักดีก็หมดความขวนขวายในการแต่งหนังสือ คงทำการเฉาพะหน้าที่เก็บผลประโยชน์ถวาย ไปพยายามมุ่งหมายแต่ที่จะให้บุตรชายได้เล่าเรียนมีความรู้รับราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป
มาถึง ณ วันที่ ๑๙ กันยายน ปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงพัฒนพงศ์ภักดีป่วยเป็นโรคลมด้วยหัวใจพิการ แก้ฟื้นคราวหนึ่งแล้ว ครั้งถึงวันที่ ๔ ตุลาคม โรคลมนั้นเกิดขึ้นเป็นปัจจุบัน แก้ไขไม่ทันและเวลานั้นพระผดุงสาครศาสตร์ผู้บุตรก็ยังไปราชการอยู่ในมณฑลอุบลฯ หลวงพัฒนพงศ์ภักดีถึงแก่กรรมในเวลา ๑๑ ทุ่ม คืนวันที่ ๔ ตุลาคม นั้น อายุได้ ๖๘ ปี
หลวงพัฒนพงศ์ภักดีมีภรรยา ชื่อ เสงี่ยม อยู่เป็นคู่ผัวตัวเมียด้วยกันมาตั้งแต่ยังเป็นนายทิม จนหลวงพัฒนพงศ์ฯ ถึงแก่กรรม มีบุตรชายยังมีตัวอยู่ ๒ คน คนใหญ่ชื่อนายสรรเสริญ คนเล็กชื่อนายสาโรช ได้โอกาสออกไปเรียนวิชาในยุโรปทั้ง ๒ คน นายสรรเสริญบุตรคนใหญ่เรียนวิชายันตรศาสตร์ในเมืองอังกฤษและอเมริกา มีความรู้สอบไล่ได้ ได้กลับเข้ามาบ้านเมือง เมื่อปีมะแมนพศก พ.ศ. ๒๔๕๐ รับราชการในกรมคลอง กรมทาง ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นขุน แล้วเลื่อนเป็นหลวงผดุงสาครศาสตร์ ในรัชกาลที่ ๕ แล้วเลื่อนเป็นพระผดุงสาครศาสตร์ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทันตาบิดาได้เห็น บัดนี้รับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมทางอยู่ในกระทรวงคมนาคม ส่วนนายสาโรชบุตรคนเล็กยังเรียนวิชาอยู่ต่างประเทศในบัดนี้ ควรนับว่าหลวงพัฒนพงศ์ภักดีได้ช่วยขวนขวายอุปการะบุตรของตน ให้ถึงฐานที่เป็นอภิชาตบุตรสืบวงศ์สกุลต่อไปได้ดังปรารถนา เพราะฉะนั้น หลวงพัฒนพงศ์ภักดี ชื่อว่าได้ละโลกนี้ไปโดยปราศจากความห่วงใยด้วยประการทั้งปวง
สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙
หมายเหตุ บุตรทั้งสองของหลวงพัฒนพงศ์ภักดีคือ พระยาสารศาสตร์สิริลักษณ์ (สรรเสริญ สุขยางค์) ปฏิบัติราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์คมนาคม ถึงแก่กรรมเมื่อ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๔ และพระสาโรชรัตนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) รองอธิบดีกรมศิลปากร ถึงแก่กรรมเมื่อ ๔ เมษายน ๒๔๙๓
[๑] ในปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑ เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง รับพระบรมราชโองการออกไปชำระความเรื่อง พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ที่เมืองปราจีนบุรี จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้นายทิมพ้นโทษไปเป็นเสมียนชำระความด้วย