คำชี้แจงการตรวจสอบต้นฉบับ นิราศหนองคาย

[๑]เรื่องนิราศหนองคายนี้นายทิม สุขยางค์ (หลวงพัฒนพงศ์ภักดี) แต่งขึ้นในคราวที่ติดตามเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง) ผู้เป็นแม่ทัพยกไปปราบฮ่อยังเมืองหนองคายเมื่อเดือน ๑๐ แรม ๕ ค่ำ ปีกุน สัปตศก ๑๒๓๗ (พุทธศักราช ๒๔๑๘) ขณะนั้นนายทิมมีบรรดาศักดิ์ที่ “ขุนพิพิธภักดี” เสมียนเอก ซึ่งเป็นตำแหน่งขุนหมื่นประทวน[๒] กรมพระสุรัสวดีในสังกัดเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง ครั้นถึงพุทธศักราช ๒๔๒๑ มีการพิมพ์หนังสือนิราศหนองคายออกเผยแพร่จำหน่าย

เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง(เพ็ง เพ็ญกุล) แม่ทัพปราบฮ่อ ยกไปทางเมืองหนองคาย

เนื่องจากเนื้อหาบางส่วนในนิราศหนองคายกล่าวพาดพิงกระทบกระเทือนทำให้ผู้อื่นเสียหาย เป็นเหตุให้นายทิมหรือขุนพิพิธภักดีได้รับพระราชอาญาเฆี่ยนและจำคุก ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐ ดังนี้

ข่าวส่งอ้ายทิมไว้ ณ คุก

“๏ ณ วันศุกร เดือนเก้า ขึ้นสิบเบดค่ำ ปีขาน สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๔๐ พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัว เสดจประทับพระที่นั่งบรมราชสฐิตยมโหฬาร        มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งพระยามหามนตรีศรีองครักษ เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ให้เอาตัวอ้ายทิม ขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัศวดี เปนคนคิดนิราศหนองคาย ถ้อยคำฟุ้งซ่านรานระเหลือเกินมากนัก ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๕๐ จำขังคุกไว้ แลหนังสือนิราศหนองคายที่พิมพ์เยบเปนเล่มไว้นั้น ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เกบเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น อย่าให้มีเปนแบบฉบับเหลืออยู่ได้ พระยามหามนตรีศรีองครักษรับพระบรมราชโองการ นำเอาตัวอ้ายทิม ขุนพิพิธภักดี ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๕๐ ที ส่งหลวงพัศดีกลางจำขังคุกไว้ๆ ๚ะ”

เป็นอันว่าหนังสือนิราศหนองคายฉบับพิมพ์ครั้งแรก พุทธศักราช ๒๔๒๑ นั้นถูก “เกบเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น” หลังจากราชกิจจานุเบกษาฉบับดังกล่าวออกมาแล้ว ต่อมาอีก ๑ สัปดาห์ ราชกิจจานุเบกษาฉบับวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ ศกเดียวกันมี “ประกาศเรื่องอ้ายทิมแต่งนิราศ” อธิบายความเกี่ยวกับหนังสือนิราศหนองคายว่า

“... แลหนังสือฉบับนี้เปนหนังสือขัดขวางต่อราชการแผ่นดิน เปนที่หมิ่นประมาทในพระบาทสมเดจพระเจ้าแผ่นดิน แลท่านเสนาบดีผู้ซึ่งมีกตัญญูต่อแผ่นดิน แลยำเกรงนับถือในพระบาทสมเดจพระเจ้าแผ่นดิน แลท่านเสนาบดีซึ่งช่วยรักษาแผ่นดินอยู่ก็หาควรจะอ่านจะเกบหนังสือนี้ไว้ไม่ ด้วยเปนที่ขัดขวางต่อราชการแผ่นดิน หม่นหมองต่อพระบาทสมเดจพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดี ต้นร่างหนังสือฉบับนี้ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกมาทำลายเสีย ฉบับที่ตีพิมพแล้วยังไม่ได้ขายไปนั้น ให้ผู้ซึ่งส่งไปลงพิมพ์ ซื้อมาทำลายเสียทั้งสิ้น แต่หนังสือที่ได้ซื้อไปแต่ก่อนแล้วนั้นถ้าผู้ใดยังมีหนังสือนั้น ก็ให้ฉีกทำลายเสียอย่าให้ติดเปนแบบอย่างอยู่ในแผ่นดินสืบไป ...”

หลักฐานตามประกาศราชกิจจานุเบกษาในรัชกาลที่ ๕ ทั้ง ๒ ฉบับระบุว่า หนังสือนิราศหนองคายของนายทิมหรือขุนพิพิธภักดีถูกทำลายทั้งฉบับต้นร่าง ฉบับพิมพ์ที่จำหน่ายแล้วและยังไม่ได้จำหน่าย “อย่าให้ติดเปนแบบอย่างอยู่ในแผ่นดินสืบไป”

อย่างไรก็ตามเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียบเรียงประวัติหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙ ก่อนหน้านั้นทรงมีรับสั่งให้คัดลอกต้นฉบับหนังสือนิราศหนองคายมาเก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดสำหรับพระนครด้วย เป็นหนังสือสมุดไทยดำ ๔ เล่ม ซึ่งต่อมาอยู่ในความดูแลของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

แต่เนื่องจากไม่พบหลักฐานฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๒๑ จึงไม่อาจเปรียบเทียบได้ว่า ต้นฉบับที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีรับสั่งให้คัดไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนครกับฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๒๑ มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ต่อมาถึงพุทธศักราช ๒๔๙๔ ทายาทขออนุญาตพิมพ์หนังสือนิราศหนองคาย ในงานปลงศพพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (สรรเสริญ สุขยางค์) บุตรคนโตของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) แต่กรมศิลปากรไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์ ซี่งนายตรี อมาตยกุล หัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ทำบันทึกชี้แจงเสนอหลวงรณสิทธิพิชัยอธิบดีกรมศิลปากรว่า “... ข้าพเจ้าเอาต้นฉบับมาดู เห็นว่ามีถ้อยคำรุนแรงอยู่หลายตอนจึงไม่ยอมให้พิมพ์” และในพุทธศักราช ๒๔๙๔ นั้นเอง เจ้าหน้าที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ได้คัดลอกนิราศหนองคายจากสมุดไทยเล่ม ๑ เล่ม ๒ และเล่ม ๓ (ตอนต้น) ใส่แฟ้มเก็บรักษาไว้ที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ๑ ชุด

ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๙๖ นายตรี อมาตยกุล หัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ พิจารณาเห็นว่า “นิราศหนองคาย” เป็นเรื่องสำคัญควรมีการปรับปรุงต้นฉบับเพื่อพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่อไป จึงมีบันทึกเสนอหลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากร ดังนี้

“เสนอ อศก.

เรื่องนิราศหนองคายเปนเรื่องใหญ่ ซี่งสมาชิกในสกุลสุขยางค์เคยมาขออนุญาตพิมพ์แจกในงานศพพระยาสารศาสตรศิริลักษณ์ครั้งหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าเอาต้นฉะบับมาดู เห็นว่ามีถ้อยคำรุนแรงอยู่หลายตอน จึงไม่ยอมให้พิมพ์แต่เมื่อได้อ่านตรวจดูโดยตลอด เห็นว่าผู้แต่งเก็บเรื่องราวได้ดีมาก น่าจะพิมพ์รักษาไว้ จึงให้นายหรีด เรืองฤทธิ์ ตรวจคัดตัดเอาตอนที่อาจกระทบกระเทือนผู้อื่นออกเสีย แล้วแต่งเชื่อมหัวต่อใหม่ให้เข้ากัน ต่อมาเมื่อได้ตั้ง ผรร.[๓] ขึ้น ข้าพเจ้าจึงได้มอบให้เป็นหน้าที่ของ ผรร. จัดทำ ซึ่งบัดนี้ได้สอบชำระและตัดตอนเสร็จแล้ว

อันที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งท่านอธิบดีก็มีภาระยุ่งอยู่หลายอย่าง ข้าพเจ้าไม่อยากจะเสนอขึ้นมารบกวนเวลาของท่านอธิบดี แต่เห็นว่าท่านอธิบดีสนใจในเรื่องวรรณคดีและมีความรู้ในการแต่งโคลงกลอนเปนอย่างดีจึงใคร่จะขอเสนอมาเพื่อให้ตรวจพิจารณา เพื่อจะให้เรื่องเรียบร้อยและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะเรื่องนี้เปนเรื่องเกรียวกราวในรัชกาลที่ ๕ และฉะบับที่พิมพ์ขึ้นในครั้งนั้นก็ถูกเก็บเผาไฟหมด ทั้งตัวผู้แต่งก็ต้องโทษ เพราะเที่ยวแต่งด่าคนโน้นด่าคนนี้ โดยแต่งเสริมเข้าไปในกลอนที่แต่งไว้แต่เดิม

ข้าพเจ้าได้ให้ ผรร. รวบรวมประวัติหลวงพัฒนพงศ์ภักดีผู้แต่ง เสนอมาพร้อมกับบันทึกนี้ด้วยแล้ว

ตรี

๑๘ กย. ๙๖”

ผู้ตรวจสอบชำระหนังสือนิราศหนองคายเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๖ ตามหลักฐานของกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยนายตรี อมาตยกุล นายธนิต อยู่โพธิ์ นางสาวพวงทอง สิริสาลี และนายหรีด เรืองฤทธิ์ เป็นผู้คัดลอกตัดทอนในชั้นต้น กระทั่งถึงพุทธศักราช ๒๔๙๘ กรมศิลปากรจึงอนุญาตให้พิมพ์นิราศหนองคาย ฉบับที่กรมศิลปากรตรวจสอบชำระ พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์โท ขุนสันทัดวุฒิวิถี (สวน สันทัดวุฒิ) เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๙๘ หนังสือนิราศหนองคายที่มีการพิมพ์เผยแพร่คราวต่อ ๆ มา ล้วนพิมพ์ตามฉบับพุทธศักราช ๒๔๙๘ ทั้งสิ้น

จากประวัติการแต่ง การคัดลอกและการจัดพิมพ์หนังสือนิราศหนองคายที่กล่าวมาแล้ว จึงอาจจำแนกนิราศหนองคายออกเป็นฉบับต่าง ๆ ได้ดังนี้

๑. นิราศหนองคาย ฉบับต้นร่าง เป็นฉบับที่นายทิม (ขุนพิพิธภักดี) แต่งแล้วส่งไปเป็นต้นฉบับยังโรงพิมพ์หมอสมิธ บางคอแหลม ต้นฉบับร่างดังกล่าวน่าจะถูกทำลายไปพร้อมกับฉบับที่ตีพิมพ์แล้วตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐ ว่า “... ต้นร่างหนังสือฉบับนี้ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เรียกมาทำลายเสีย”

๒. นิราศหนองคาย ฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๒๑ พิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธบางคอแหลม เนื่องจากหนังสือฉบับนี้ “... อ้ายทิมบังอาจแต่งหนังสือออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ตัดทอนแทรกเปลี่ยนถ้อยคำเจือลงในกลอน แลกล่าวความกระทบกระเทียบถึงท่านผู้บัญชาราชการแผ่นดินแลผู้อื่น ๆ โดยถ้อยคำหยาบคาย ยกย่องเหตุซึ่งได้ขัดขวางราชการแผ่นดินขึ้นเชิดชูไปต่าง ๆ” เป็นเหตุให้ผู้แต่งได้รับพระราชอาญาเฆี่ยน ๕๐ ที และถูกจำคุก ส่วนหนังสือนิราศหนองคาย “ฉบับที่ตีพิมพ์แล้วยังไม่ได้ขายไปนั้น ให้ผู้ที่ส่งไปลงพิมพ์ซื้อมาทำลายเสียทั้งสิ้น แต่หนังสือที่ได้ซื้อไปแต่ก่อนแล้วนั้น ถ้าผู้ใดยังมีหนังสือนั้นก็ให้ฉีกทำลายเสีย อย่าให้ติดเปนแบบอย่างอยู่ในแผ่นดินสืบไป”

หนังสือนิราศหนองคายฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๒๑ น่าจะถูกทำลายจนไม่เหลือฉบับตกทอดมาถึงปัจจุบัน จึงไม่อาจทราบได้ว่า เนื้อหาที่มีการตัดทอนแทรกเปลี่ยนถ้อยคำเจือลงในกลอนนั้นเป็นอย่างไร เหมือนกับฉบับที่คัดไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนครหรือไม่

๓. นิราศหนองคาย ฉบับหอพระสมุดสำหรับพระนคร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีรับสั่งให้คัดลอกต้นฉบับนิราศหนองคายเก็บไว้สำหรับหอพระสมุด ๑ จบ ประกอบด้วยสมุดไทยดำ ๔ เล่ม ก่อนหน้าที่จะทรงพระนิพนธ์ประวัติหลวงพัฒนพงศ์ภักดีเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๘ อาจเป็นไปได้ว่า การคัดลอกนิราศหนองคายฉบับหอพระสมุด ฯ ดำเนินการก่อนที่หลวงพัฒนพงศ์ภักดีจะถึงแก่กรรม ต้นฉบับดังกล่าวเป็นหลักฐานว่านิราศหนองคายไม่ได้ถูกทำลายทั้งหมดเมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๑ แต่ยังมีต้นฉบับเดิมซึ่งผู้ประพันธ์เก็บรักษาไว้

ต้นฉบับหนังสือนิราศหนองคายฉบับหอพระสมุด ๆ ต่อมาอยู่ในความดูแลของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวถึงเอกสารดังกล่าวในข้อเขียน “นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา” ว่า “หอสมุดแห่งชาติสงวนต้นฉบับ และเก็บไว้ในประเภทเอกสารลับ ไม่ให้ยืมตรวจค้น”

๔. นิราศหนองคาย ฉบับคัดลอก พุทธศักราช ๒๔๙๔ หอสมุดแห่งชาติเก็บรักษานิราศหนองคายฉบับที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีรับสั่งให้คัดลอกไว้กระทั่งถึงพุทธศักราช ๒๔๙๔ พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (สรรเสริญ สุขยางค์) บุตรชายคนโตของหลวงพัฒนพงศ์ภักดีถึงแก่กรรมลง ทายาทขออนุญาตจัดพิมพ์นิราศหนองคายเป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ แต่กรมศิลปากรไม่อนุญาต

ในการขออนุญาตจัดพิมพ์นิราศหนองคายครั้งนั้น นายสวัสดิ์ จั่นเล็ก เจ้าหน้าที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ได้คัดลอกนิราศหนองคายจากสมุดไทยดำ เล่ม ๑ เล่ม ๒ และเล่ม ๓ (ตอนต้น) โดยเขียนลายมือหวัดแกมบรรจงด้วยดินสอดำลงในกระดาษฟุลสแก๊ป จำนวน ๒๖ หน้า แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๔ สันนิษฐานว่าการคัดลอกครั้งนี้เพื่อเสนอให้อธิบดีกรมศิลปากรพิจารณาประกอบการขออนุญาตจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ต้นฉบับคัดลอกดังกล่าวเย็บรวมอยู่ในแฟ้มเอกสารของกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์

เป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดผู้คัดลอกนิราศหนองคายครั้งนั้นจึงคัดลอกไม่จบทั้งเรื่อง (๔ เล่มสมุดไทย) ส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการคือสมุดไทย เล่ม ๓ (ตอนปลาย) และสมุดไทยเล่ม ๔ ต่อมาถึงพุทธศักราช ๒๔๙๖ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ได้มอบให้นายหรีด เรืองฤทธิ์ คัดลอกตรวจสอบชำระสมุดไทย เล่ม ๓ และเล่ม ๔ โดยคัดลอกด้วยดินสอดำ เย็บแฟ้มรวมเล่มต่อจากที่นายสวัสดิ์ จั่นเล็ก คัดลอกไว้แต่พุทธศักราช ๒๔๙๔

อนึ่ง เนื้อความนิราศหนองคายที่คัดลอกจากสมุดไทย เล่ม ๑ ถึง เล่ม ๓ (ตอนต้น) เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๔ นั้นมีข้อความและรายละเอียดแตกต่างไปจากฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๙๘ เป็นอันมาก หลายตอนมีข้อความบ่งชี้ว่าหลวงพัฒนพงศ์ภักดีแต่งเพิ่มเติมขึ้นหลังจากที่ตนเองได้รับพระราชอาญาแล้ว ส่วนเนื้อความที่ นายหรีด เรืองฤทธิ์ เป็นผู้คัดลอกจากสมุดไทย เล่ม ๓ (ตอนปลาย) และสมุดไทย เล่ม ๔ นั้นเหมือนกับฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๙๘ แต่เนื่องจากไม่มีต้นฉบับสมุดไทยสอบทาน จึงไม่อาจทราบได้ว่า ฉบับคัดลอกจากฉบับสมุดไทย เล่ม ๓ (ตอนปลาย) และสมุดไทย เล่ม ๔ นั้น เป็นไปตามเนื้อความเดิมในสมุดไทย หรือตามที่ นายหรีด เรืองฤทธิ์ ได้ตรวจ คัด ตัดตอนแล้ว

๕. นิราศหนองคาย ฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๙๘ เป็นฉบับที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ตรวจ คัด ตัด เชื่อมต่อใหม่ ซึ่งมีคำนำของอธิบดีกรมศิลปากร (หลวงรณสิทธิพิชัย) ความตอนหนึ่งว่า

“นิราศหนองคายนี้ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) เป็นผู้แต่ง หอสมุดแห่งชาติได้ต้นฉบับชี่งเป็นสมุดข่อยมาเก็บรักษาไว้นานแล้ว เพิ่งจะมีโอกาสได้ตรวจชำระ แก้ไขทำเชิงอรรถคำที่ปัญหาลงไว้เมื่อปีกลายนี้ หนังสือเรื่องนิราศหนองคายนี้แม้สำนวนกลอนจะไม่สู้ไพเราะนักก็ดี แต่มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ความเป็นอยู่ และการเคลื่อนทัพโนสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ อยู่มาก แต่เนื่องจากนิราศเรื่องนี้ เกิดเป็นคดีขึ้นเกี่ยวกับผู้แต่งได้แต่งเติมข้อความที่เป็นการเสียหายแก่ผู้อื่น กรมศิลปากรจึงได้ตัดข้อความนั้น ๆ ออก และเพื่อให้ทราบความเป็นมาของหนังสือเรื่องนี้โดยละเอียด จึงได้นำประวัติหลวงพัฒนพงศ์ภักดี ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชามุภาพทรงนิพนธ์มาพิมพ์ไว้ข้างต้นของหนังสือเล่มนี้ด้วย”

หนังสือนิราศหนองคายฉบับพุทธศักราช ๒๔๙๘ เป็นฉบับที่นักวิชาการวรรณคดีไทยใช้ในการค้นคว้าอ้างอิงสืบมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมามีสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ขออนุญาตกรมศิลปากรจัดพิมพ์นิราศหนองคายจำหน่าย ซึ่งในการพิมพ์ทุกครั้งดำเนินเนื้อหาตามฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๙๘ ทั้งสิ้น

๖. นิราศหนองคาย ฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๕๕๙ เจ้าหน้าที่สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์พบต้นฉบับลายมือคัดลอกด้วยดินสอดำลงบนกระดาษฟุลสแก๊ปในแฟ้มเอกสารเก่า ประกอบด้วยส่วนที่คัดลอกจากสมุดไทย เล่ม ๑ เล่ม ๒ และเล่ม ๓ (ตอนต้น) ซึ่งนายสวัสดิ์ จั่นเล็ก เป็นผู้คัดลอกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๔ และส่วนที่คัดลอกจากสมุดไทยดำ เล่ม ๓ (ตอนปลาย) และ เล่ม ๔ ซึ่งนาย หรีด เรืองฤทธิ์เป็นผู้คัดลอกไว้ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๖

ต้นฉบับลายมือ นิราศหนองคาย คัดลอกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๔

แฟ้มเอกสารดังกล่าวนอกจากต้นฉบับลายมือคัดลอกด้วยดินสอดำแล้ว ยังมีต้นฉบับสำเนาพิมพ์ดีดประวัติหลวงพัฒนพงศ์ภักดีที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์เรียบเรียงขึ้น และสำเนาพิมพ์ดีดฉบับตรวจ คัด ตัดทอน ที่เป็นต้นร่างของฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๔๙๘

นิราศหนองคายเป็นหนังสือสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งเมื่อพิมพ์ครั้งแรกในพุทธศักราช ๒๔๒๑ เป็นคดีความสำคัญถึงกับต้องมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ทำลายทั้งฉบับต้นร่างและหนังสือที่พิมพ์แล้วทั้งหมด อย่างไรก็ตามต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๕๙ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตระหนักว่าหนังสือนิราศหนองคายเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีรับสั่งให้คัดลอกเก็บไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร ทั้งนี้อาจทรงพระดำริว่าเมื่อถึงเวลาอันสมควรน่าจะมีการพิมพ์เผยแพร่ให้ผู้สนใจวรรณคดีและประวัติศาสตร์ได้ประจักษ์ นับว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระปรีชาญาณอันลุ่มลึกกว้างไกล ที่จะให้อนุชนไทยได้รับรู้ข้อเท็จจริงบางประเด็นในอดีต

นับตั้งแต่นิราศหนองคายถูกทำลายต้นฉบับเมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๑ ถึงปัจจุบัน เวลาได้ล่วงเลยไปแล้วถึง ๑๓๘ ปี ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในครั้งนั้นต่างล่วงลับไปแล้ว ทั้งผู้ที่อยู่ภายหลังก็มิได้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ เรื่องดังกล่าวจึงสมควรจะได้รับการเผยแพร่เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา และเป็นการสนองพระดำริของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงพระกรุณารับสั่งให้คัดลอกเรื่องดังกล่าวไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร

นิราศหนองคาย ฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๕๕๙ นี้ อาจมิใช่ฉบับสมบูรณ์ที่สุดเพราะไม่สามารถตรวจสอบกับต้นฉบับสมุดไทยได้ ประกอบกับตอบปลายของเรื่องที่คัดลอกจากสมุดไทย เล่ม ๓ (ตอนปลาย) และสมุดไทย เล่ม ๔ ซึ่งนายหรีด เรืองฤทธิ์ เป็นผู้คัดลอกก็ไม่อาจทราบได้ว่ามีการตรวจ คัด ตัดตอนหรือไม่ อย่างไร นิราศหนองคายจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาสืบค้นกันต่อไปเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาวรรณคดีและประวัติศาสตร์ชองชาติ



[๑] นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ กรมศิลปากร เรียบเรียง

[๒] ขุนหมื่นประทวน เป็นตำแหน่งข้าราชการชั้นประทวนที่เจ้ากรมเป็นผู้แต่งตั้ง ไม่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง

[๓] ผรร. หมายถึง แผนกเรียบเรียง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ