คำนำ
นิราศเป็นรูปแบบของวรรณคดีร้อยกรองที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง กวี ผู้แต่งมักพรรณนาการพลัดพรากจากหญิงที่รักสอดแทรก กับสิ่งที่ได้พบเห็นระหว่างทาง สาระที่ปรากฏในวรรณคดีนิราศหลายเรื่องสะท้อนให้เห็นสภาพสังคม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคสมัยที่แต่งเรื่องนั้น วรรณคดีนิราศจึงเป็นเสมือนจดหมายเหตุที่กวีเป็นผู้บันทึก
นิราศหนองคาย นี้ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) แต่งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง) เป็นแม่ทัพยกไปปราบฮ่อที่เมืองหนองคาย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๘ โดยเดินทัพทางน้ำจากกรุงเทพฯ แวะขึ้นพักทัพที่เมืองสระบุรี แล้วเดินทัพทางน้ำไปจนถึงแก่งคอยจึงเดินทางบกไปยังเมืองนครราชสีมา ครั้งนั้นหลวงพัฒนพงศ์ภักดีเมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพิพิธภักดีร่วมเดินทางไปกับกองทัพปราบฮ่อ ได้แต่งนิราศหนองคายขึ้นและมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๑ นิราศเรื่องนี้เกิดเป็นคดีความใหญ่ทำให้ผู้แต่งได้รับโทษจำคุก ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งทรงเป็นสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณมีรับสั่งให้คัดนิราศหนองคายเก็บไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนครสำรับหนึ่งด้วย
กรมศิลปากรเห็นว่า นิราศหนองคาย เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ เรื่องการปราบฮ่อ มีรายละเอียดที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ความเป็นอยู่และการเคลื่อนทัพในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงมอบให้ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ ตรวจสอบต้นฉบับเพื่อพิมพ์เผยแพร่ อนึ่งในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้นำประวัติหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสำเนาต้นฉบับลายมือเขียนอัตชีวประวัติของผู้แต่งนิราศหนองคายมาพิมพ์ไว้ในตอนต้น ทั้งได้นำราชกิจจานุเบกษาในรัชกาลที่ ๕ เรื่องปราบฮ่อ - นิราศหนองคายมาพิมพ์ไว้ตอนท้ายของหนังสือนี้เพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวถึงในนิราศหนองคายชัดเจนยิ่งขึ้น
กรมศิลปากรหวังว่า หนังสือ นิราศหนองคาย ของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ฉบับตรวจสอบพุทธศักราช ๒๕๕๙ นี้ จะอำนวยประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจวรรณคดีไทย โดยทั่วกัน
อธิบดีกรมศิลปากร
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙