จินดามณี เล่ม ๒

พระนิพนธ์ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท

๑๔ อัญขยมประนมกรประนต วรบทสาศดา
ผู้เผด็จอมิตรพิพิธมา- รเกลศลาญปาน
๏ นบนพโลกุตรรัตน์ บริยัติโอฬาร
ธรรมราชนุสาศนบรรหาร ชคะสัตวสบไสมย์
๏ สองสงฆ์สราพกพิสุทธิ์ คณะพุทธเวไนย์
เสวอยสวัสด์วิวัฏศุขไพ บูลยมารคผลญาณ
๏ ด้วยเดชะไตรรัตนนบ แลเคารพนมัศการ
จงขจัดอุปัทวะบันดาล ศุขแผ้วภยันตราย
๏ จักเร่อมลิขิตวิวิธลัก- ษณะอักขะราหมาย
หย่างสยามอันคำภีรภิปราย กลอ้างแต่ป่างบรรพ์
๏ นโมเปนอาทิบทแรก จะจำแนกอักษรสรรพ์
ก ข ก็ต่อคณะทุกพรร- ณกระทั่งงถึงกมเกย
๏ สามแผนกจักแจกอักขรเภท และพิเศศสำนานเฉลย
สูงกลางอีกต่ำพะพร่ำบเคย ชนฟังก็กังขา
๏ โทเอกเอนกวิธวิธี กลตรีแลจัตวา
สูงต่ำบงงคับศับทอันปรา- กฎสามสำเนียงสะแดง
๏ หมู่กลางพังอ้างพจนบัญ- จกผันสำนานแถลง
ถี่ท่วนประมวญยุบลแจง ทุกประการบรรหารแปล
๏ พึงเพียรจำเนียรนิตยบร้าง และบห่างบเหอนแห
โหดคร้านชำนาญลักษณแล ตระลึงล่วงถึงโคลงฉันท์
๏ เฉลียวพากย์นิพนธ์กลสุภา- ภรณรัตนาพรรณ
ประดับกายกระวีวรนิรัน- ดรเรืองธราธาร
๏ จักเจรอญดิเรกคุณยศ ทิศทศดำแคงขาน
เฉลอมเกรียติ์นเรศรภิบาล ภพเผ้าอะโยทธยา ฯ

๏ นโม พุทธาย สิทฺธํ อ อา อิ อี อึ อื อุ อู ฤ ฤๅ ฦ ฦา เอ แอ ไอ ใอ โอ เอา อำ อะ ฯ

ฎ ฏ ด ต

บ ป

อักษร ๔๔ ตัวนี้ ให้อ่านแต่สองเสียง

อักษร ๑๑ ตัว คือ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ส ศ ษ ห ให้อ่านเสียงสูงเหมือนกัน

อักษร ๓๓ ตัวอันเหลือนั้น ให้อ่านเสียงกลางเสมอกันไปดุจ ก ค ง จ ญ

อักษรกลาง ๙ ตัว คือ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ นี้ ตัวเบาบมีก้อง เมื่อแจกให้อ่านเบาต่ำลง ทีละ ๔ ตัว คือ กิ กึ กุ กะ ติ ตึ ตุ ตะ อิ อึ อุ อะ นั้น

ก กา กิ  กี กึ  กื กุ  กู เก แก ไก ใก โก เกา กำ กะ 

อักษรสูง ๑๑ ตัวนั้น บมีก้อง ให้อ่านหนักลง ทีละ ๔ ตัว นั้น คือ ขิ ขึ ขุ ขะ นั้น

ข ขา ขิ  ขี ขึ  ขื ขุ  ขู เข แข ไข ใข โข เขา ขำ ขะ 

อักษรกลาง ๒๔ ตัว อันเหลือจาก ๙ ตัวนั้น ตัวก้องต่ำ ให้อ่านสูงขึ้น ๔ ตัว คือ คิ คึ คุ คะ

ค คา คิ  คี คึ  คื คุ  คู เค แค ไค ใค โค เคา คำ คะ 

อักษรเหล่านี้เหมือนกันกับ ค ฆ นั้นจงหมั้น อักษรทั้งหลายนั้น ให้อ่านผันออกไปตัวละสามคำ ซึ่งแจกมาทั้งปวงนั้นเปนคำต้น สะกดไม้ค้อนหางวัวนั้น เปนคำกลาง สะกดไม้โทลงดั่งรูปขอนั้น เปนคำปลาย

กล กลา กลิ กลี กลึ กลื กลุ กลู เกล แกล ไกล ใกล โกล เกลา กลำ กละ

กก กัก กาก กิก กีก กึก กืก กุก กูก เกก แกก โกก กอก กวก เกียก เกือก เกิก เกอก

กง กัง กาง กิง กีง กึง กืง กุง กูง เกง แกง โกง กอง กวง เกียง เกือง เกิง เกอง

กด กัด กาด กิด กีด กึด กืด กุด กูด เกด แกด โกด กอด กวด เกียด เกือด เกิด เกอด

กน กัน กาน กิน กีน กึน กืน กุน กูน เกน แกน โกน กอน กวน เกียน เกือน เกิน เกอน

กบ กับ กาบ กิบ กีบ กึบ กืบ กุบ กูบ เกบ แกบ โกบ กอบ กวบ เกียบ เกือบ เกิบ เกอบ

กม กัม กาม กิม กีม กึม กืม กุม กูม เกม แกม โกม กอม กวม เกียม เกือม เกิม เกอม

เกอย เกย กาย กาว กิว กีว กึย กืย กุย กูย เกว แกว โกย กอย กวย เกียว เกือย เกีย เกียะ เกือ เกือะ เกอ เกอะ กัว กัวะ เกะ แกะ โกะ เกาะ กุม กรรม กรรน กอ ก่อ ก้อ กัย กือ

๑๑ จักขานบรรหารเหตุ ประเภทอักขะราทั้งหลาย
สบส่ำร่ำบรรยาย บรรหญัติถั่วนทุกสิ่งสรรพ์
๏ กุลบุตรจงแจ้งลัก- ษณแห่งอักษรผรร
โทเอกเอนกนรร - ตประกอบอักษรเปน
๏ ผิวพวกอักษรตาย ท้งงหลายกลางบร้างเหน
เอกโทพึงว่างเว้น จะประกอบบชอบการ
๏ เพราะเหตุสำเนียง เปนเสียงเอกทุกคำขาน
แทนเอกประเทียบทาร โบราณใช้ในโคลงสะแดง
๏ หมู่รัศสะอักขะรา ใน ก กา ก็แจกแจ้ง
กิ กึ กุ กะ แถลง เปนอาทิท่านบรรยาย
๏ ทุกแม่ละสี่สรร พร่ำรำพรรบรรหญัติหมาย
กก กด ก็คำตาย กับ กบ ถ้วนทั้งมวลมี
๏ สามหมู่ล้วนมรณะ โดยลักษณะอักษรศรี
แต่เกยเฉลยวิธี ทั้งเปนตายก็หลายพรรณ
๏ เกียะ เกือะ กับ เกะ แกะ เกอะ ก้วะ และ โกะ เกาะ บรร
หญัติอัฐอักษรสรรพ์ ทุกทุกแม่คือคำตาย
๏ ล้วนใช้ได้ต่างเอก อะติเรกมแหล่หลาย
ฤ ฦ ล้วนตัวมลาย ประเหล้เอกละกลกัน
๏ ตัวเปนใน ก กา คณนาก็ครามครัน
............................ ............................
๏ เอกโทควรใส่ได้ ฉบับไว้ให้รู้เห็น
แจ้งใจไป่ลำเข็ญ พึงยลอย่างแต่ป่างบรรพ์
๏ กน กง กับ กม ใช้ เอกโทได้สมส่ำสรรพ์
ทุกแม่ทุกหมู่พรร- ณาเช่นล้วนเปนปวง
๏ หมู่เกอยที่เปนใส่ โทเอกใช้ต้องตระทรวง
ตัวตายทั้งแปดห่วง บให้ไม้เอกโทมี
๏ อักษรทั้งสามหมู่ กำหนดรู้ซึ่งวาจี
สูงตำผรรพาที แต่สามเสียงสำเนียงหัน
๏ หมู่กลางนั้นผรรห้า เพราะจัตวาไม้ตรีอัน
กอบกับประดับกัน จึ่งแบ่งเบญจะบรรหาร
๏ เหตุแห่งอักษรสูง จะนำจูงฤๅควรการ
จึ่งผันคำไขขาร ถึงห้าเสียงสำเนียงหลาย
๏ ประการหนึ่งอักษรกลาง บันดาอ้างว่าคำตาย
ไม้ตรีประกับกลาย สำเนียงแปลกประหลาดกรรณ
๏ เหมือนคำว่า โต๊ะ ก๊ก เปนต้นยกเลบงบรรพ์
ควรใส่ไม้ตรีผรร ศับทซ้อนด้วยวาที
๏ ต่ำสูงสองหมู่ไซ้ ฤๅอาจใช้ถึงไม้ตรี
เหตุสองอักษรมี ผูกกันถึงโดยบรรยาย
๏ อนึ่งอักษรสูง จักจูงนำตัวต่ำกลาย
กลับสูงสำเนียงพิปราย ก็ได้ดั่งจินดาประสงค์
๏ จึ่งห้ามมิให้เอา ไม้ตรีเข้าประทับลง
อักษรสูงต่ำคง ทั้งคำเปนแลคำตาย
๏ อิกกับไม้จัตวา ก็บรรชาห้ามเหมือนหมาย
ไปทั่วทุกเหล่าหลาย เฉภาะใช้แต่หมู่กลาง
๏ สำหรับจักชักจูง ให้คำสูงสำเนียงวาง
เฉกออเฉกเช่นปาง โบราณพร่ำภาทีสะแดง
๏ กุลบุตรผู้พากเพียร จะเล่าเรียนอย่านึกแหนง
ลักษณที่ชี้แจง วิจารณ์แจ้งด้วยปรีชา
๏ โทเอกอิกตรีรู้ ทั้งต่ายคู้แลจัตวา
นฤคหิตหมายนานา ทัณฑฆาฏฆ่าวิสัญชนี
๏ แจ้งท่ววที่ตัวสกด จักพร้องพจนวาที
จงใช้จงชอบวจี วิวิธพากยภาษา
๏ น ณ กับ ญ ร แล ล ฬ ในอักขะรา
สกดเปนกนบรรชาปรา- กฎหกอักษรผะสม
๏ สกด กง นั้นตัว ง อิกตัว ม สกดกม
ตัวอื่นบร้างนิยม แต่ตัวเดียวท้งงโทคณา
๏ เหตุใช้นฤคหิต ขจิตรแทนในวาจา
ต่างต่างก็มีปรา-- กฎชอบประกอบสาร
๏ เฉกคำว่า จุํ คุํ แล ชุํนุํ ลำนำขาน
เปน ง เปน ม สมาน สกด กง สกด กม
๏ ตัวสกดหมู่กดหลาย บรรยายบัณรศผสม
ฎ ฏ ฐ ฑ นุกรม ทั้ง ฒ ถ้วนประมวญละบอง
๏ ใหญ่น้อย อิก จ ช แลสาม ส สิ้นท้งงผอง
คณนาอเนกนอง กำหนดนับสิบห้าประมาณ
๏ สกด กก คือก ข ท้งง ค ต ฆ โวหาร
ขานครบห้าอักษรดาล ประดับเพิ่มเข้าเติมหลัง
๏ สกด กบ คือ บ ป กับ พ ภ ประกอบท้งง
สี่ถ้วนประมวญยัง อิกแม่เกอยเฉลยปน
๏ ตัวสกด คือ ย ว อิกตัว อ เปนสามกล
อื่นอิก บ แปมปน บรรหญัติสามอักษรสะแดง ฯ
๑๖ บงงคับตัวสกดกำหนดแถลง เสร็จจักแจกแจง
วิธีอันมีสืบไป  
๏ อักษรต่ำญี่สิบสี่ไข สำเนียงสูงไฉน
จักชักจักนำคำขาน  
๏ เอาอักษรสูงเปนประธาน นำน่าสำนาน
จึงสูงขึ้นส่งสำเนียง  
๏ คือ ห เนาน่าสำเนียง ต่ำขานขึ้นเคียง
ให้เสียงเปนสูงเสมอสมาน  
๏ เฉกคำพร่ำว่าเหลนหลาน คำเหวยคำหวาน
เปนต้นเปนอย่างบรรยาย  
๏ หนึ่งอักษรสูงทั้งหลาย วิสัญชนีหมาย
แลนำซึ่งคำต่ำเติม  
๏ สูงได้ดุจฉลองเฉลิม จูงพจนเพิ่มเติม
เปนสองอักษรเสมอกัน  
๏ ทุกทั่วตัวสูงนำผรร เสียงสูงเทียมทัน
ท่วนสิ้นสิบเอ็ดอักขะรา  
๏ หนึ่งอักษรหมู่มัชฌิมา ถ้วนเนาวสังขยา
จักนำตัวต่ำท้งงผอง  
๏ นำได้โดยใจสมปอง ชอบใช้ตามลบอง
บเพี้ยนบแผกแปลกแปลง  
๏ พึงให้พิจารณาสารสะแดง แม้ชอบโดยแถลง
ก็ใช้ตัวสูงจูงคำ  
๏ ผิวควรอักษรกลางนำ พึงใส่น่าประจำ
จักทับเอกโทเบื้องบน  
๏ จงอ่านสำนานนุสนธิ์ ผรรเสียงเสมอกล
อักษรสูงใส่เอกโท  
๏ ผจงจิตร์พินิจแบบโบ- ราณแนะนโม
มานะตำหระตริไตร  
๏ คำยาวจักสั้นนั้นไฉน อาจาริย์ท่านไข
โอวาทบังคับปรับปรุง  
๏ ควรใส่ตายคู้เข้าผดุง ชักคำบำรุง
ที่ยาวให้สั้นบรรหาร  
๏ เฉกเช่นเค็ญเข็ญเปนประธาน อาทิพจมาน
คือแบบแลบงแพร่งแถลง  
๏ หนึ่งทัณฑฆาฏผู้เผด็จสะแดง ฆ่าอักษรแฝง
ซึ่งสืบสกดหนหลัง  
๏ ห้ามห่อนให้อ่านบอกบงง คับไว้พึงฟัง
อย่าอ้างอย่าออกวาที  
๏ จักแถลงแห่งอักษรศรี ตัวเพี้ยนเปลี่ยนมี
แลแผลงแลผลัดวัจนา  
๏ ธ เปลี่ยนเปน ท อักขะรา แปลเปน ห ตรา
แลแปลงเปน ต ตามประสงค์  
๏ ต น้อย เป็น ฏ ใหญ่ปลง เปนธะตะคง
แล คะ เปน กะ กอปกล  
๏ ร เปน ล ได้อย่าฉงน ย เปน ช ดน
แล วะ เปน พะ พึงประมาณ  
๏ ย เปน ก เปลี่ยนคำขาน ช เปน ย บันดาล
แล ป เปน ผ อักษร  
๏ ต เปน จ ก อุทาหรณ์ มีในประกรณ์
คือ สนธิบรรหญัติจัดสรรค์  
๏ เปลี่ยนแปลกกันได้หลายพรรณ จงทราบโดยบรร
ขยายวิวิธวาที  
๏ ฝนทองฟองมันวิสัญชนี นฤคหิตอันมี
อิกหันอากาษหลากหลาย  
๏ ส สามไม้ม้วนไม้มลาย แถลงลักษณ์ธิบาย
ไว้แจ้งในจินดามณี  
๏ เล่มหนึ่งพึงดูด้วยดี เจนจำวิธี
ที่ท่านบรรหารสารสอน  
๏ รอบรู้ครูแบบบทกลอน ทราบเสร็จในสมร
สมรรถปรีชาชาญ  
๏ กลใดไป่เผยพิศดาร สำเหนียกสำนาน
ในเล่มนี้มีบริบูรรณ์ ฯ  

อนึ่ง ถ้ากุลบุตรเรียนรู้ในพิธีอักษรสามแลไม้ม้วนไม้มลายแล้ว ก็ให้พึงพิริยพิจารณาให้รู้ในพิธีจะกระทำ ซึ่งบทแลกลอน คือ ร่ายสุภาพ ร่ายด้นน ร่ายกาพย์ โคลงสอง โคลงสาม โคลงสุภาพ และโคลงจัตวาทัณฑี ตรีพิธพรรณ แลโคลงด้นนวิวิธมาลีบาทกุญชร แลพึงตกแต่งกระทำให้ถูกต้องตามโบราณคะติ อันท่านบังคับไว้ให้ชอบด้วยวางบทแลกลอนฟัด สำผัษตามขนบที่สุภาพ แลเอกโทจงถูกถ้วนทุกประการ พึงพิจารณาให้ปราศจากเอกโทษโทโทษ อย่าให้เข้ามาระคนอยู่ได้ดุจแบบขบวรที่กระทำไว้ให้เห็นเปนอย่างนี้ ประการหนึ่งพึงให้พิจารณากลอนร่ายนั้น ถ้ากลอนสุภาพรับด้วยสุภาพ เอกรับตามเอก โทรับตามโท ทั้งร่ายสุภาพแลด้นนแปลกกันแต่ที่บทส่ง อย่าพึงสงสัยเลย กุลบุตรผู้จะเพียรเรียนรู้ไปในเบื้องน่านั้น พึงให้พิจารณาร้อยกรองบทกลอนตามขบวรแบบบังคับไว้นี้เถิด

ร่ายสุภาพ

๏ ศรีสิทธิสุนทรวโรวาท ประกาษกระวีวรวิเศศ บูเรศรัษฐอโยทธยา ล้วนปรีชาเชลงอรรถ แห่งชินวัจน์วรวากย์ นาเนกพากย์ภาษา ทุกประการทั้งมวญ ควรสรรเสรอญเยอรยศ จรดเจรอญคุณท่ววด้าว ผดุงพระเกรียดิ์ไทท้าว ธิราชผู้ผ่านมไห สวรรย์นา ฯ

โคลงสุภาพ

๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐่ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้
๐ ๐ ๐่ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐ ๐
๐ ๐่ ๐ ๐ ๐้ ๐่ ๐้ ๐ ๐
๏ นิพนธ์กลกล่าวไว้ เปนฉบับ บทพ่อ
พึงแต่งตามบงงคับ ถี่ถ้วน
เอกโทท่านลำดับ โดยที่ สถิตนา
ทุกทั่วลักษณล้วน เล่ห์นี้คือโคลง ฯ
๏ สุภาพพจนสิบเก้า เกลากลอน ประกิจเอย
สี่ศะศิระวิวร เจ็ดไว้
ต่อสร้อยเสศอักษร บทหนึ่ง สามนา
ความบ่เต็มเตอมได้ ดุจอ้างหย่างสะแดง ฯ
๏ บทแรกที่เจ็ดคล้อง กลอนกระทบ
บทที่สองสามประสบ แห่งห้า
กลอนโทที่เจ็ดผจบ โทที่ ห้าแฮ
หนบทสี่เบื้องหน้า แบบนี้พึงยล ฯ
๏ โทเอกเปลี่ยนผลัดได้ โดยประสงค์
แห่งที่ห้าควรคง บทต้น
บทอื่นบอาจปลง แปลงแบบ นาพ่อ
เฉภาะแต่บทหนึ่งพ้น กว่านั้นฤๅมี ฯ
๏ เอกเจ็ดหายากแท้ สุดแสน เข็ญเอย
เอาอักษรตายแทน เทียบได้
โทสี่ประหยัดแทน หวงเปลี่ยน
ห่อนจักหาอื่นใช้ ต่างนั้นไป่มี ฯ
๏ เอกโทผิดที่อ้าง ออกนาม โทษนา
จงอย่ายลหย่างตาม แต่กี้
ผจงจิตรคิดพยายาม ถูกถ่อง แท้แฮ
ยลเยี่ยงปราชฯสับปลี้ เปล่าสิ้นสรรเสริญ ฯ
๏ ใช้ได้แต่ปราชฯคร้าน การเพียร
ปราชฯประเสริฐดำเนียร หมิ่นช้า
ถือเท็จท่านติเตียน คำตู่ คำนา
มักง่ายอายอับหน้า อาจถ้อเถียงไฉน ฯ

โคลง ๒

๏ โคลงสี่มีฉบับไว้ หนึ่งเรียกโคลงสองให้
ปราชฯรู้ดูนิพนธ์ ฯ  
๏ หลายกลยลเยี่ยงต้งง แต่งอย่าพึงพลาดพลั้ง
ถูกถ้วนขบวรบท แบบนา ฯ

โคลง ๓

๏ โคลงกำหนดหนึ่งนาม คือโคลงสามสืบส้าง
เสนอบัณฑิตประดิษอ้าง โอษฐเอื้อนเตือนเขษม ฯ
๏ เปรมกระมลฤๅดี จินตะกระวีทั่วผู้
ใดสิ่งซึ่งไป่รู้ จักรู้ฤๅฉงน จิตรนา ฯ

โคลงตรีพิธพรรณ

๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐่ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้
๐ ๐ ๐่ ๐ ๐ ๐ ๐่
๐ ๐่ ๐ ๐ ๐้ ๐่ ๐้ ๐ ๐
๏ โคลงหย่างวางฉบับต้งง นามมี
คือช่อตรีพิธพรรณ พากยไว้
ปวงปราชฉลาดวาที เชลงลักษณ์ นี้นา
กลอนรับที่สามใช้ แต่เบื้องบทสอง ฯ

โคลงจัตวาทัณฑี

๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐่ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้
๐ ๐่ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐ ๐
๐ ๐่ ๐ ๐ ๐้ ๐่ ๐้ ๐ ๐
๏ โคลงหนึ่งนามแจ้งจัด วาทัณ ฑีฤๅ
บงงคับรับกันสะแดง อย่างพร่อง
ขบวรแบบแยบยลผรร แผกชนิด อื่นเฮย
ที่สี่บทสองคล้อง ท่อนท้ายบทปถม ฯ

ร่ายดั้น

๏ ศรีสวัสดิ์วิวัฒนวิวิธ ชวลิตโลกย์เลื่อง เฟื่องฟูภูมิมณฑล สกลแผ่นภพ สบพิสัยสยาม รามนรินทร์ภิญโยยศ ปรากฎกระเดื่อง เปรื่องปราชฯปรีชาชาญ ขานคุณทั่วทศทิศ ขจรขจ่าง ฦๅตระหลอดฟ้าล้น แหล่งธรา ฯ

โคลงวิวิธมาลี

๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้ ๐ ๐ ๐ ๐
๐่ ๐้ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้
๐ ๐ ๐่ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐ ๐
๐ ๐่ ๐ ๐้ ๐้ ๐่ ๐
๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้ ๐ ๐ ๐ ๐
๐่ ๐้ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้
๐ ๐ ๐่ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐ ๐
๐ ๐่ ๐ ๐้ ๐้ ๐่ ๐
๏ เชลงกลโคลงอย่างด้นน บรรยาย
เสนอชื่อวิวิธมาลี เล่ห์นี้
ปวงปราชฯท่ววทวยหลาย นิพนธเล่น เทอญพ่อ
ยลย่ยงฉบับพู้นชี้ เช่นแถลง
๏ เปนอาภรณ์แก้วก่อง กายกระวี ชาติเอย
อาตมโอ่โอภาษแสง สว่างหล้า
เถกองเกรียดิเกร่อนธรณี ทุกแหล่ง หล้านา
ฦๅท่ววดินฟ้าฟุ้ง เฟื่องคุณ ฯ

โคลงบาทกุญชร

๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐่ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้
๐ ๐ ๐่ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐ ๐
๐ ๐่ ๐ ๐้ ๐้ ๐่ ๐
๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐่ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐้
๐ ๐ ๐่ ๐ ๐ ๐ ๐่ ๐ ๐
๐ ๐่ ๐ ๐้ ๐้ ๐่ ๐
๏ อิกโคลงแบบด้นนหนัง พึงยล
บอกเช่นบาทกุญชร ชื่ออ้าง
วิธีที่เลบงกล แปลกก่อน
ยากกว่าบรรพ์แสร้งสร้าง อื่นแปลง
๏ สองรวดกลอนห่อนพล้งง ผัดพจน์
เฉกสี่เชองสารสะแดง ย่างผ้าย
สำผัษท่ววทุกบท ฤๅเคลื่อน คลายเอย
บงด่งงบาทช้างย้าย ต่อตาม ฯ

ร่ายกาพย์

๏ งามเกรียติก้องท้องธาษตรี กระวีสยามประเสรอฐ เลอศหลายผู้ รู้มลักล้วน ถ้วนวรรณเวท ประเภทกลกาพย์ สุภาพด้นนสะแดง แถลงเลศฉันท์ พรรณพฤติพจน์ บทมาตรา สามรรทญาณ ชาญเช่อยวทราบอักษร สรรพ์ส่ำสบทุกสิ่ง สิ้นแจ้งแจกกลอน ฯ

๏ อยุทธยายศยิ่งด้าว ใดปูน เปรียบฤๅ
เทียมเทพสฤษดิไอสูรย์ เศกสร้าง
ไตรรัตน์รุ่งเรืองจรูญ เจรอญสาส นานา
เกรอกพระเกียรดิราชอ้าง หน่อเนื้อพุทธภูมิ ฯ
๏ ปราสาทสูงเทริดฟ้า ฟูโพยม
จรูญรัตน์จำรัสโสม สุกแพร้ว
พ่างไพชยนต์ประโลม จิตรโลกย์ เล็งเฮย
สิงหาศน์มาศกอบแก้ว ก่องหล้าเลอสวรรค์ ฯ
๏ สมบูรณ์สมบัติอ้าง ไอสวรรย์ อินทร์เอย
ร้อยโอษฐฤๅรำพรรณ พร่ำถ้วน
สิบสองพระคลังอนันต์ อเนกราช ทรัพย์แฮ
สรรพสิ่งศฤงฆารล้วน เลอศพื้นแผ่นภู ฯ
๏ เนื่องนองมวญมาตย์ผู้ บริบาล บดินทร์ฤๅ
สองฝ่ายฝ่ายทหารหาญ ศึกแผ้ว
พลเรือนรอบราชการ ผดุงโภค ภูลพ่อ
เฉกด่งงขุนคลังแก้ว กอบท้งงขุนพล ฯ
๏ พลคเชนทร์ชำนิร้า รงค์รอน
อิกกับแก้วกุญชร เผือกผู้
ส่ำตระกูลคชบวร วรรณหลาก หลายแฮ
ชาญศึกฮึกหาญสู้ เผด็จเสี้ยนเตียนไกษย์ ฯ
๏ พลไหยหาญหื่นห้าว รำบาญ
บำบัดอเรนทรลาญปาน ปลาศลี้
ดุรงค์ฤทธิราชยาน อย่างแสะ รัตน์ฤๅ
จักรพรรดิพาหนะกี้ เกอดเกื้อกฤษฎา ฯ
๏ พลรถรันแทะแกล้ว รณรงค์
โรมริปุปล่งปลง ชีพม้วย
รถยานยิ่งรถทรง อำมเรศ แลฤๅ
อ่าโอ่โอภาษด้วย ประดับแก้วแกมกาญจน์ ฯ
๏ พลเท้าทวยทกล้า สามรรถ
ชาญเชี่ยวฝีหัดถ์จัด จบสิ้น
นานาวุธสันทัด แผลงพุ่ง ฟันเฮย
เผด็จดัษกรด่าวดิ้น บั่นเกล้าเอาเศียร ฯ
๏ สาตรานาเนกพร้อม ปืนไฟ
ดินลูกสิ่งสบไสมย เมือบถ้วน
บรปักษ์จักปองไภย เพียรป่วย
ทุกทั่วสิมาม้วน มอบไท้ถวายเวียง ฯ
๏ เมืองขึ้นเมืองออกพ้น คณนา
โทเอกตรีจัตวา อคร้าว
ประเทษราชชาติภาษา ตนต่าง
ขอมแขกมลาวดื่นด้าว เขตรแคว้นแดนสยาม ฯ
๏ งามยศยศยิ่งด้าว ใดทัน เทียบฤๅ
งามทุกสิ่งไอศวรรย์ เลอศผู้
งามพระกรุณาบรร พสัชทั่ว ธเรศนา
งามกุศลกอบกู้ ก่อสร้างสืบแสวง ฯ
๏ อาวาศนฤนารถให้ ผดุงงาน
บุรณะหลายถิ่นสถาน ที่ต้งง
ถาปนากิจประกอบการ ใหม่มาก วัดเอย
ปณีตกว่าอารามครั้ง ก่อนไซ้ไป่เสมอ ฯ
๏ ทรงสฤษดิพุทธรูปน้อย ใหญ่องค์ เอนกเอย
กังษรัตน์รัชฎาผจง ส่ำสร่าง
ก่ออิฐขจิตรปูนลง รักปิด เหมเอย
บ้างบุบ้างหล่อบ้าง มากพ้นคณนา ฯ
๏ พระมหามรกฏแก้ว เกษมกุฏ โลกย์แฮ
ทรงสฤษดิชินรูปพุทธ ยอดฟ้า
สุพรรณพิเศศสุทธิ์ สัตตรัตน์ รดับเอย
อิกพระพุทธเลอศหล้า ดิลกเผ้าภพไตร ฯ
๏ บริยัติอรรถท่ววท้งง บาฬี ธรรมฤๅ
สบสิ่งสรรพคำภีร์ เลอศล้วน
หลายฉบับนบบเอนกมี จบเสร็จ สิ้นนา
แปดหมื่นสี่พันถ้วน บอกเบื้องธรรมขันธ์ ฯ
๏ ฉบับเอกรงงเรขพื้น ไพจิตร ยิ่งแฮ
ห่อตาดยระบับพิศ เพรอศพ้น
กรอบแก้วกรองกาญจน์ประกิจ งาแกะ บ้างพ่อ
แลเลอศประเสริฐสิ่งล้น พิลาศสล้ำลานชม ฯ
๏ ส่ำสงฆ์ทรงกอบเกื้อ กรุณา
รงงรักษ์ศักดิราชา คณะทั้ง
เอกโทที่ตรีบา เรียนมาก องค์เอย
อิกกับพระครูต้งง แต่งขึ้นตามคุณ ฯ
๏ ปวงชีชินบุดรค้า คันถ์ธูร
สอบไล่ไตรปิฎกภูล เพ่อมรู้
อำนวยนิจภัตรนุกูล เกอดลาภ หลายแฮ
ทำนุกพระสาสนกู้ กอบเกื้อการเพียร ฯ
๏ อำรุงเรืองรุ่งท้อง ธรณี ดลเอย
ไตรรัตน์จรัสรงงษี สว่างหล้า
ทวาราวดีบุรี อยุทธเยศ ยิ่งพ่อ
ทุกนครห่อนท้า เทียบได้ไป่ทัน ฯ
๏ พระคุณขัติเยศเจ้า จอมภพ
พุทธสาตรราชสาตรสบ ทราบถ้วน
พระญาณพระยลครบ ขบวรกาพย์ กลอนแฮ
สรรพพากย์หลากเล่ห์ล้วน ท่ววถ้อยถ่องแถลง ฯ
๏ พระทรงอาโภคด้วย เอารส ราชฤๅ
ไป่เชี่ยวไป่ชาญพจน์ พากย์พร้อง
เลบงแบบแยบอย่างบท กลอนกาพย์ โคลงนา
จงเร่อมรินิพนธ์ต้อง ฉบับต้งงแต่เพรง ฯ
๏ จวบจุลศักราชถ้วน พันอุไภย ร้อยฤๅ
อีกเอ็ดรกาศกไสมย ลุะแล้ว
วิสาขมาสดฤถีไตร กาฬปักษ์ ปางพ่อ
วารพุฒมกุฏกรุงแก้ว โอษฐเอื้อนโองการ
๏ สารส่งงสุริยชาติถ้วน ขัติโย รสฤๅ
เรียนเรียบพจน์พฤตโต พากย์อ้าง
จงเฉลียวลักษณในโว หารแห่ง ปราชญ์เฮย
ผดุงพระเกียรดิสืบสร้าง เฟื่องฟื้นฟูไผท ฯ
๏ เหตุนี้เปนต้นเรื่อง ริกล
ปรารภลักษณยุบล แบบต้งง
เปนคุณประโยชน์ผล เสาวภาคย์
แก่พระขัติยพงษ์ท้งง ท่ววผู้ทวยผอง ฯ
๏ กรมวงษาสนิทอ้าง นามเสนอ
นิพนธ์พจน์โดยอำเภอ ภาพรู้
ปองเปนประโยชน์เผยอ พระยศหน่อ นเรศร์ฤๅ
รงงรักษ์อักษรกู้ กอบไว้เฉลอมเวียง ฯ
๏ กุลบุตรสุทธชาติเชื้อ ขัติยพงษ์ ก็ดี
อีกหมู่มาตยาวงษ์ ท่ววผู้
ไป่จองจิตรจำนง เปรมปราชฯ วายพ่อ
เพียงแต่เพลงภอรู้ แต่งบ้างอย่างทราม ฯ
๏ โคลงฉันท์ด้นนกาพย์ทรึ้ง สุขุมพจน์ นั้นนา
หลายเลศหลายเลบงบท บอกไว้
โบราณก็เสื่อมหมด ห่อนศึก ษาแฮ
โดยต่ำแต่จักใช้ เอกเพี้ยนเปลี่ยนโท ฯ
๏ ตนตุูผู้ศิษย์แจ้ง เจนอรรถ
กรมนุชิตชิโนรสวัจ นาทชี้
ฉบับแบบแยบยลชัด เชลงหลาก หลายฤๅ
ท่ววถ่องลบองกลกี้ รอบรู้ครูกลอน ฯ
๏ จึงริะรจเรขซร้อน สารศรี นี้ฤๅ
เสนอชื่อจินดามณี ด่งงแก้ว
จักรพรรดิทุกสิ่งมี ประสงค์เสร็จ นึกนา
เตอมเล่มสองตรองแล้ว ถี่ถ้วนขบวรกล ฯ
๏ หวังฉลองลอองบาทเบื้อง บงกช
ปิ่นอยุทธเยศยศ ยิ่งผู้
เทียมทิพยสุคนธรส บุบผชาติ
บูชิตอดิศรกู้ ก่อเกื้อคุณเฉลอม ฯ
๏ ปองเปนประโยชน์ท่ววพื้น ปถพี ดลเอย
เฉลอมพระเกียรดิกระษัตรี เกร่อนหล้า
ปราชฯสดับไดบดี เชอญตก เตอมแฮ
คงอยู่คู่ดินฟ้า อย่ารู้เสื่อมไขษย ฯ
๏ จงเรืองจงรุ่งฟุ้ง ฟูธรา ธารแฮ
พระนครอโยทธยา อย่าร้าง
โรยปราชฯเปรื่องปรีชา ยังเมือบ มูลพ่อ
สามารถอาจอวดอ้าง โอษฐถ้อยแถลงหลาย ฯ
๏ ใช่เชิงชำนิแกล้ว โวหาร
พึ่งนิพนธ์คำขาน ขัดข้อง
กตัญญูนฤบดีดาล ผะเดอมเหตุ
ผะดุงจิตรคิดพจน์พร้อง พร่ำพร้อมเพียรแสดง ฯ
๒๘ จะแต่งโคลงกทู้  
ไว้หวังเปนครู ให้ดูลำนำ
เหมือนเตือนสะติ เร่งตริะตรองคำ
ใช่จะแกล้งทำ แต่ภอคล้องจอง ฯ
๏ เปนข้าราชการ  
อย่าเกียจอย่าคร้าน การงานตฤกตรอง
เข้านอกออกใน อย่าให้ลำพอง
จักกราบทูลฉลอง อย่าได้มุสา ฯ
๏ อย่าเหนกับคน  
สินบาทคาดบน ไม่พ้นอาชญา
อย่าประจบอย่าประแจง ช่วยแรงวาศนา
กิจการภารา จงหมั่นจิตรจำ ฯ
๏ แม้นจะว่าความ  
ไล่เลียงไต่ถาม ให้งามแม่นยำ
อย่าคุมเหงไพร่ หาให้ชอบธรรม
เกรงบาปกลัวกำม์ ในอนาคตกาล ฯ
๏ กุศลหาไม่  
เงินทองบ่าวไพร่ ถึงได้ไม่นาน
คงให้วิบัติ พลัดพรากจากสถาน
เวรุกำม์บันดาล ฉิบหายวายชนม์ ฯ
๏ จะ กล่าวกลบทให้ เหนความ
แต่ง สุภาษิตตาม ฉบับรู้
โคลง สุภาพบ่หยาบหยาม คำกล่าว แกล้งแฮ
กทู้ บุราณท่านผู้ ปราชฯไว้หวังสอน ฯ
๏ ไว้ เปนแบบฉบับเบื้อง บัญญัติ
หวัง ประโยชน์ราชบรรพสัช สืบเชื้อ
เปน คติต่างบรรทัด ทางเที่ยง ธรรม์นา
ครู แต่ปางก่อนเกื้อ กอบไว้เปนกล ฯ
๏ ให้ วิจารณ์อ่านศุภสร้อย สารสอน นี้เอย
ดู ทำนุกทำนองกลอน กล่าวอ้าง
ลำ ฦกค่ำเช้านอน อย่านิ่ง อยู่นา
นำ จิตรที่แขงกระด้าง อ่อนได้ดิบดี ฯ
๏ เหมือน สารถีฝึกม้า สินธพ ชาติแฮ
เตือน ฟาดแส้เลี้ยวตลบ คล่องเคล้า
สะ ดุ้งตกใจสงบ เสงี่ยมพยศ ลงพ่อ
ติ โทษตนอย่าเข้า เขตรแคว้นแดนพาล
๏ เร่ง เรียนเร่งรอบรู้ กฎหมาย
ตริะ ตฤกสุภาสิตหลาย ฉบับพร้อง
ตรอง ประดิษฐพระร่วงภิปราย เปรียบเทียบ สอนนา
คำ บุตรอินทร์สอนน้อง นึกไว้อย่าเผลอ ฯ
๏ ใช่ เชองชรอึ่งอ้าง อวดตน ดีเอย
จะ ติเตือนแต่คน อื่นไซ้
แกล้ง เปรียบเทียบเปนกล การกระทบ กระเทียบนา
ทำ เพราะหวังเหตุให้ หากแจ้งใจจำ ฯ
๏ แต่ สงงเขปไม่สู้ พิศดาร
ภอ แนะเพื่อนราชการ อย่าพลั้ง
คล้อง คล้อยค่อยชำนาญ นึกเนื่อง นิจเอย
จอง จิตรจดจำย้งง อย่าพ้องการพาล ฯ
๏ เปน หลวงขุนพระท้งง พญา
ข้า พระบาทมุลิกา แก่นไท้
ราช กิจคิดไตรตรา โดยรอบ
การ ศึกเสือเหนือใต้ เร่งรู้เขบ็จขบวน ฯ
๏ อย่า โฉดคุณโทษให้ เลงเหน
เกียจ กิจการบเปน ประโยชน์แท้
อย่า หยิ่งท่านจึงเอน ดูท่วว หน้านา
คร้าน นักมักอ้อแอ้ ห่อนได้เปนคุณ ฯ
๏ การ ไกลการใกล้ชอบ เชองการ
งาน ราษฎร์งานหลวงงาน พวกพ้อง
ตฤก ให้ตฤกหลายสถาน ทางตฤก
ตรอง ทั่วน่าหลังต้อง ตอบโต้ตามตรอง ฯ
๏ เข้า ในพระนิเวศน์ให้ บัญญัติ
นอก แต่ในจังหวัด เร่งคร้าม
ออก น่าอย่าทำดัด จริตหยิ่ง เย่อแฮ
ใน บทไอยการห้าม โทษแท้ถึงตัว ฯ
๏ อย่า แต่งนุ่งห่มผ้า ใหม่สวย
ให้ เช่นคนสำรวย ริกรี้
ลำ พงงภาพพึงขวย ขามเข็ด ขยาดเฮย
พอง นักมักบิ่นบี้ บอบช้ำลำเค็ญ ฯ
๏ จัก เฝ้าท้าวอย่าได้ เจรจา
กราบ พระบาทมุลิกา สดับถ้อย
ทูล กิจอย่าถลึ้งถลา ถลำถลาก ไถลแฮ
ฉลอง แต่เรียบเรียบร้อย เรื่องรู้จึงทูล ฯ
๏ อย่า ปดธิราชเจ้า จรรโลง โลกย์เฮย
ได้ แต่ลำคดโกง กากผู้
มุ ทลุะเล่ห์ลำโพง พูดพล่ำ
สา ระพัดจะรู้ ไล่ล้วนเหลวไหล ฯ
๏ อย่า ประมาทมักพลาดพลั้ง พลันผิด
เหน แก่หน้าคนคิด คดค้อม
กับ พวกที่มีพิศม์ พยศกาจ
คน คดอย่าโอบอ้อม คบค้าภาเสีย ฯ
๏ สิน ทรัพย์คำนับท้งง กำนัล
บาท หนึ่งถึงมากครัน ท่านให้
คาด เห็นแก่รางวัล จักวุ่น วายแฮ
บน อย่ารับบนไซ้ สุดแท้เต่จริง ฯ
๏ ไม่ ซื่อสัตย์ต่อเจ้า จอมธรรม์
พ้น กตัญญูพลัน พลาดม้วย
อาช องค์จักอาสัญ สูญชีพ
ญา ติกาพลอยด้วย ดาบล้างฤๅหลอ ฯ
๏ อย่า นิยมยศซ้อง สรรเสริญ
ประจบ ท่านเที่ยวเทียวเดิน ด่งงบ้า
อย่า เสือกอย่าสูงเกิน สุดกู่
ประแจง ประจบเลือกหน้า เลือกน้ำใจตรง ฯ
๏ ช่วย หว่านพืชนไว้ หวังผล
แรง บมีอวดตน ต่อแย้ง
วาศ รูปวัดร่างสกนธ์ ดูก่อน
หนา และบางรู้แจ้ง จึ่งรู้อาษา ฯ
๏ กิจ ท้าวเปนข้าท่าน อย่าเฉย เสียแฮ
การ ราชกิจอย่าเลย ละไว้
ภา รธุระเฉยเมย เสียม่งง
รา เรอศราชการไซ้ เสื่อมสิ้นยศถา ฯ
๏ จง ดำหริะรอบรู้ ราชการ
หมั่น ไม่เว้นวันวาร ขาดเฝ้า
จิตร พันผูกระวังงาน อย่าเกียจ คร้านเอย
จำ แบบรบิลข้อเค้า บทเบื้องบรรพ์ลบอง ฯ
๏ แม้น ว่าเปนผู้พิจ รณา ความเฮย
จะ พิพากษ์พึงเม็ตา ทั่วผู้
ว่า ตามแต่สัจจา จริงเท็จ เขาแฮ
ความ มหันตโทษรู้ เร่งร้อนรนวิจารณ์ ฯ
๏ ไล่ ดูท้งงผู้โจทย์ จำเลย
เลียง หล่อหลอมฟงงเฉลย เล่ห์ลิ้น
ไต่ ความภิปรายเปรย ปรับเทียบ กันแฮ
ถาม ซักไซ้ให้สิ้น สอบซ้ำสำนวน ฯ
๏ ให้ สุจริตถ่องแท้ ทางความ
งาม โจทย์จำเลยงาม ท่ววหน้า
แม่น มั่นอย่าเลียมลาม หลงโลภ ลาภแฮ
ยำ พระเดชเจ้าหล้า จักเลี้ยงสืบไป ฯ
๏ อย่า เกาะกุมเขี้ยนขู่ คุกคาม
คุม โทษเที่ยวเก็บความ ไพร่ฟ้า
เหง ฮึกห่อนเกรงขาม เหนแก่ เงินแฮ
ไพร่ แช่งชักทุกหน้า ห่อนได้จำเริญ ฯ
๏ หา เงินทองทาษท้งง ศฤงฆาร
ให้ แต่พอควรการ กับได้
ชอบ ผิดอย่างไรประมาณ แต่ชอบ
ธรรม พระเทศนาไว้ ว่าเว้นเวรุเวียน ฯ
๏ เกรง ไภยมัจจุราชนั้น จงหนัก
บาป จักนำตนประดัก ประเดิดดิ้น
กลัว เวรุเร่งระวังรัก ษาสัจ ศีลนา
กรรม อย่าทำกำม์สิ้น ศุขแท้เสวยสวรรค์ ฯ
๏ ใน นรกเร่งเร่าร้อน รนเพลอง
อนา คตกำม์แรงเรอง กาจกล้า
คต นักมักกระจะกระเจิง จมฦก หลุมแฮ
กาล ฝ่ายภายภาคหน้า กอปบ้างทางบุญ
๏ กุ กะมะเทิ่งต้งง ตัวโต
ศล จิตรหยิ่งโยโส อวดอ้าง
หา บุญช่วยชวดโอ๋ อายเปล่า
ไม่ ตลอดเลยค้าง คิดแพ้ไภยตัว ฯ
๏ เงิน ตราผ้าผ่อนล้น เหลือหลาย
ทอง นากแก้วแหวนสาย มาศสร้อย
บ่าว หญิงและบ่าวชาย เชลยทาษ
ไพร่ สักห้าหกร้อย ร่วงร้างฤๅหลอ ฯ
๏ ถึง มีทรัพย์พร้อมพรั่ง ศฤงฆาร
ได้ ยศบรรณาการ กอบเกื้อ
ไม่ เปนเครื่องแก่นสาร สืบลูก หลานนา
นาน ไม่กี่เมื่อมื้อ หมดม้วยมลายวาย ฯ
๏ คง จักเห็นไม่ช้า นานวัน
ให้ เร่งคิดบุญธรรม์ บาปบ้าง
วิ จารณ์จิตรผ่อนผัน พ้นพวก พาลเฮย
บัติ ศุขบัติทุกข์มล้าง จึ่งเลี้ยวแลเหน ฯ
๏ พลัด พ่อแม่พี่น้อง เผ่าพันธุ์
พราก ลูกพลัดเมียพลัน พลัดสิ้น
จาก ยศศักดิ์สิ่งสรรพ์ แสนเวท นานา
สถาน สักเท่าปีกริ้น อยู่ไร้ไป่คง ฯ
๏ เวรุ เหมือนเงาติดเต้า ตามตน
กรรม ก่อกำม์กำม์ดล ดัดดิ้ว
บัน ดาหมู่อกุศล สู่ทุ- คติแฮ
ดาล บาปบาปติดติ้ว แต่ตั้งตามสนอง ฯ
๏ ฉิบ หายกลายกลับซ้ำ อัปรมาณ
หาย ดั่งเหี้ยร้ายทยาน เย่าเฃ้า
วาย วอดตลอดลูกหลาน เหลนซุด โซมแฮ
ชนม์ ก็ดับสูญเศร้า คิดหน้าอนิจจงง ฯ
๏ อย่าฉ้อหลวง ล่วงล้วง ลักบงง
ให้ขาด ราชทรัพย์คลัง ท่านไท้
อย่าฉ้อราษฎร์ ราษฎร์หวัง ประโยชน์แก่ ตนแฮ
ให้ขุ่น ข้นจนได้ ยากแค้นขายตัว ฯ
๏ ขอพรกมเลศเจ้า จอมพรหม
ให้พระหน่อขัติยนิยม อย่าลี้
พากเพียรเล่าเรียนสม ดังพระ ประสงค์เอย
วางพระทัยใช้ชี้ ชอบด้วยโดยกระแส ฯ
๏ ขอพรไกรลาศท้าว ธรงตรี ศูลเอย
ผดุงดัดดวงฤดี หน่อไท้
กตัญญูกตเวที ไทธิราช ราพ่อ
จงประพฤติพระไทยให้ เที่ยงแท้ทางธรรม์ ฯ
๏ ขอพรจัตุรภุชแผ้ว ไภยัน ตรายเอย
ช่วยขจัดสรรพโรคัน ขาดไฃ้
ให้เจริญพระเกียรดิอัน อดุลย์เดช ยิ่งนา
ในพระหน่อนเรศร์ไท้ ธิราชเจ้าจอมเวียง ฯ
๏ ขอพรเทพย์สถิตย์ชั้น เสวตรฉัตร
ดลพระไทยหน่อกระษัตร สืบสร้าง
กุศลกำมบถวัตร แสวงยุติ ธรรมเอย
มลายโลภพละการมล้าง มละสิ้นสิ่งพาล ฯ
๏ พันสองร้อยเอ็ดอ้าง จุลศัก ราชเอย
รกาขวบเอกศกนัก ษัตรแคล้ว
เดือนอ้ายฝ่ายสุกรปักษ์ ศุกรค่ำ หนึ่งนา
สฤษดิลักษณ์อักษรแล้ว เล่มสร้างสืบสอง

----------------------------

  1. ๑. ต่อจากนี้ มีแจกลูกทุกตัวอักษรทั้งสามหมู่ ทุกแม่ และแจกอักษรกล้ำ เช่น กร, กล, กว เป็นต้น แล้วแจกอย่างผันด้วย เอก โท ตรี จัตวา ตามอักษรทั้ง ๓ หมู่ คือ สูง กลาง ต่ำ โดยพิสดาร ในการพิมพ์คราวนี้ได้เว้นเสีย

  2. ๒. ต้นฉะบับตก และพบเพียงฉะบับเดียว ไม่มีฉะบับสอบทาน จึงทราบไม่ได้ว่าตกไปกี่คำ

  3. ๓. วันพุธ เดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ ปีระกา เอกศก จ.ศ. ๑๒๑๑ ตรงกับวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๒

  4. ๔. เป็น – จึงริรจเรขสร้อย...... ก็มี

  5. ๕. บางฉะบับว่า ......พระบัณฑูรไว้......

  6. ๖. บางฉะบับว่า ......เร่งรู้

    คต โกงจิตรบำเทอง ทางบาป
    กาล เมื่อม้วยทนสู้ สู่น้ำนรกานต์ ฯ
  7. ๗. บางฉะบับว่า ชนม์ ละว่างเปนเถ้า......

  8. ๘. วันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย ปีระกา เอกศก จ.ศ. ๑๒๑๑ ตรงกับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๙๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ