คำเล่าเรื่องจินดามณี
จินดามณี เป็นชื่อหนังสือสำคัญเรื่องหนึ่งในวรรณคดีของไทย มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อไม่ช้ามานี้ ได้ทราบว่าเคยมีท่านผู้รู้ถกเถียงกันถึงชื่อของหนังสือเรืองนี้ว่าจะเป็น “จินดามณี” หรือ “จินดามุนี” แน่ ดูเหมือนถึงกับออกความเห็นกันว่า จินดามณีเป็นชื่อของหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งมีอยู่ก่อน ส่วนจินดามุนีเป็นชื่อของหนังสืออีกเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นต่อมา หรือกลับกัน คือจินดามุนีก่อน ส่วนจินดามณีทีหลังอะไรทำนองนี้ ทราบมาไม่ชัด และจะมีเหตุผลสนับสนุนความเห็นนั้นว่าอย่างไรบ้าง ก็ไม่ทราบต่อไปเหมือนกัน
ชื่อหนังสือจินดามณี
ตามที่พบทั้งในสมุดไทยและสมุดพิมพ์ เห็นเขียนกันไว้หลายอย่าง เป็นจินดามนี, จินดามณี และจินดามุนี ก็มี เป็นอันว่าจะยึดเอาเป็นที่แน่นอนในตัวหนังสือที่ปรากฏว่า อย่างไหนเป็นทางถูกแน่ไม่ได้ และคำที่เป็นปัญหา ก็อยู่แต่ในพยางค์ท้าย คือ มนี, มณี หรือมุนีแน่ ส่วนพยางค์ต้น คือ “จินดา” นั้น เป็นอันลงกันหมด ไม่มีแตกต่างกัน เห็นได้ว่าพยางค์หลังเป็นปัญหาอยู่ ถ้าเราจะหันไปหาจารึก ก็จะพบจารึกวัดจุฬามณีที่พิษณุโลก จารึกไว้ว่า จุฬามุณี แต่เราเรียกหรือเขียนกันในชั้นหลังนี้เป็น จุฬามณี ในประชุมจารึกสุโขทัย เล่ม ๑ หลักที่ ๒ กล่าวถึงสมเด็จพระมหาสามีองค์หนึ่งจารึกไว้เป็น สรีสรธาราชจูลามูณี บ้าง จูลามูนี บ้าง ซึ่งในเรื่องสร้อยนามของสมเด็จพระมหาสามีเป็นเจ้านี้ น่าจะเพี้ยนมาจาก มุนี ส่วนในเรื่องชื่อหนังสือนั้น ที่ถูกน่าจะเป็น จินดามณี อย่างเดียว ส่วนที่เขียนแตกแยกไปต่าง ๆ นั้น ก็น่าจะเป็นความพลั้งเผลอของผู้คัดลอกต่อ ๆ มา หรือเพี้ยนไปตามที่จะเป็นไปได้ เพราะเสียง อะ เป็น อุ ย่อมมีทางที่จะเพี้ยนไปได้โดยมาก เช่น ชมพูนท เป็น ชมพูนุท, โกกนท เป็น โกกนุท, สมมต เป็น สมมุติ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จินดามณีก็อาจเพี้ยนเป็นจินดามุณี - มุนี ได้ จุฬามณี ก็อาจเป็น จุฬามุณี ได้ เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง เมื่อโบราณท่านต้องการจะให้มุนีคงเป็น มุนี จริง ๆ ท่านจึงลากเสียงยาว หรือเขียนเป็นสระยาวเสียว่า มูนี เช่น สรีสรธาราชจูลามูณี - มูนี ในจารึกสุโขทัยดั่งกล่าวแล้ว
ที่เข้าใจว่าชื่อหนังสือนั้น ที่ถูกน่าจะเป็น จินดามณี อย่างเดียว ก็เพราะคำว่า จินดามณี นี้ เป็นชื่อของแก้วสารพัตรนึกอย่างหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันมาแต่โบราณว่า ถ้าใครมีอยู่แล้ว อาจนึกอะไรให้ได้ผลสำเร็จตามใจนึกของผู้เป็นเจ้าของ ฉันใด ท่านผู้แต่งตั้งนามของหนังสือนี้ ก็ฉันนั้น คือ น่าจะตั้งใจให้มีความหมายว่า ถ้ากุลบุตรผู้ใดเรียนได้ตามหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็จะรู้แตกฉานในอักษรศาสตร์ของไทยได้เหมือนหนึ่งมีแก้วสารพัดนึก คือ จินดามณี จึงมีโคลงบทหนึ่งท้ายหนังสือนั้นบอกความไว้ชัดว่า
๏ ลิขิตวิจิตรสร้อย | ศุภอรรถ |
ด่งงมณีจินดารัตน์ | เลอศแล้ว |
อันมีศิริสวัสดิ์ | โสภาคย์ |
ใครรู้คือได้แก้ว | ค่าแท้ควรเมือง ฯ |
และยังมีชาดกเรื่องหนึ่ง๑ ซึ่งท่านพระสิริมังคลาจารย์ยกเอามาสาธกในมังคลัตถทีปนี ตอนแก้ปาปวิรัติ กล่าวถึงนางยักษินีบอกวิชา ชื่อ จินดามณี ให้แก่ลูกชายที่จะมาอยู่ในหมู่มนุษย์ แต่ที่นางพันธุรัตบอกให้พระสังข์ ในเรื่องสังข์ทองเรียก มหาจินดามนต์ และสำหรับร่ายเรียกเนื้อเรียกปลา
อันรูปเงาะไม้เท้าเกือกแก้ว | แม่ประสิทธิ์ให้แล้วดังปรารถนา |
ยังมนต์บทหนึ่งของมารดา | ชื่อว่ามหาจินดามนต์ |
ถึงจะเรียกเต่าปลามัจฉาชาติ | ฝูงสัตว์จัตุบาทในไพรสณฑ์ |
ครุฑาเทวัญชั้นบน | อ่านมนต์ขึ้นแล้วก็มาพลัน |
มีมหากาพย์ของวรรณคดีทมิฬเรื่องหนึ่ง ชื่อว่า ชีวก-จินดามณิ ว่าได้แต่งขึ้นตามแบบอย่างจากหนังสือสันสกฤต ชื่อ กษัตร-จูฑามณิ ผู้แต่งชื่อ ติรุตักก-ม-มุนี เป็นจ้าวในราชวงศ์โจละ ซึ่งบวชในศาสนาเชน เป็นเรื่องเล่าถึงการท่องเที่ยวเผชิญภัยต่าง ๆ ของพระราชกุมาร ชื่อ ชีวกะ แต่งเป็นแบบกาพย์สันสกฤต และเป็นฉันท์ ชื่อว่าวิรุตตัม นอกจากนี้ คำว่า จินตามณิ ในภาษาสันสกฤตยังใช้เป็นชื่อของคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น คัมภีร์เกี่ยวกับโหราศาสตร์ที่ท่านทศพลแต่ง และคัมภีร์อรรถกถาต่าง ๆ และยังเป็นชื่อยาเข้าปรอทอีก แม้คัมภีร์ยาแผนโบราณของเราซึ่งมีชื่อคล้าย ๆ กันนี้ ก็มี คือ คัมภีร์ยาชื่อ ประฐมจินดาร์ (ดูแพทยศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑) ในหนังสือปฐม ก กา หัดอ่าน เรียกโอวาทคำสั่งสอนว่า “มณีจินดา” ทั้งชื่อของหนังสือนี้ก็มีอ้างถึงในปฐมมาลา ซึ่งเข้าใจว่าแต่งขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ว่า “ถ้าใครใคร่รู้ ให้ดูสารา เพียรยลค้นหา จินดามะณี” ในจินดามณี เล่ม ๒ ของกรมหลวงวงษา ฯ ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อปลายรัชชกาล ที่ ๓ ก็อ้างถึงจินดามณีฉะบับเก่าว่า “สสามไม้ม้วนไม้มลาย แถลงลักษณ์ธิบาย ไว้แจ้งในจินดามณี” ในหนังสือนิติสารสาธกของเจ้าคุณศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ พิมพ์เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๔ ก็อ้างชื่อหนังสือไว้ว่า
“ท่านไขคำจำให้แน่อย่าแชเชือน | แล้วจึงเลื่อนเล่าคำไม้มลาย |
ของโบราณขานบทไว้หมดสิ้น | ในแบบจินดามณีก็มีหลาย” |
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงยืนยันว่า ชื่อที่ถูกของหนังสือเรื่องนี้คือ จินดามณี
ส่วนที่ว่าหนังสือชื่อ จินดามณี มีมาก่อน จินดามุนี มีขึ้นทีหลังหรือ จินดามณี มีทีหลัง จินดามุนี มีขึ้นแล้วก่อนนั้น น่าจะเป็นความเข้าใจด้วยสำคัญคลาดเคลื่อนไป ตามชื่อของหนังสือที่เขียนกันผิดแผกแตกต่างกัน และที่พูดถึงฉะบับเกิดขึ้นภายหลังนั้น บางทีจะหมายถึงฉะบับพระนิพนธ์ของกรมหลวงวงษาธิราชสนิทก็ได้ แต่ฉะบับที่กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงนิพนธ์ขึ้น ดังได้พิมพ์รวมอยู่ในเล่มนี้ ก็แสดงว่า พระองค์ท่านทรงตั้งพระทัยจะให้เปรียบด้วยแก้ว จึงให้ชื่อจินดามณี ดังโคลงพระนิพนธ์ว่า
๏ จึ่งริรจเรขซร้อน | สารศรี นี้ฤๅ |
เสนอชื่อจินดามณี | ดั่งแก้ว |
จักรพรรดิทุกสิ่งมี | ประสงค์เสร็จ นึกนา |
เติมเล่มสองตรองแล้ว | ถี่ถ้วนขบวนกล ฯ |
ประเภทของหนังสือจินดามณี
หนังสือจินดามณี ว่าโดยประเภทที่แตกต่างกันจริง ๆ เท่าที่พบในหอสมุดฯ เวลานี้ ดูเหมือนจะมีสัก ๔ ประเภท คือ
๑. จินดามณี ฉะบับความแปลก มีอยู่ ๒ ฉะบับ คือ ฉะบับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทาน ๑ เล่ม (หมายเลขที่ ๑) กับฉะบับที่เป็นสมบัติเดิมของหอสมุดฯ ๑ เล่ม (หมายเลขที่ ๑/ก) เป็นสมุดไทยดำเส้นรงทั้ง ๒ เล่ม ๒ ฉะบับนี้ ส่วนมากมีความแปลกกับฉะบับอื่น ๆ
๒. จินดามณีฉะบับความพ้อง มีหลายเล่มสมุดไทย หอสมุดฯ ซื้อไว้บ้าง มีผู้ให้บ้าง เข้าใจว่าบางเล่มตรงกับที่หมอสมิธเคยได้ไปทำต้นฉะบับพิมพ์จำหน่ายที่โรงพิมพ์ครูสมิท บางคอแหลม จ.ศ. ๑๒๓๒ (พ.ศ. ๒๔๑๓) ก็มี
๓. จินดามณี ฉะบับพระนิพนธ์กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
๕. จินดามณี ฉะบับหมอบรัดเลรวบรวม พิมพ์จำหน่าย (มีทั้งประถม ก กา แจกลูก กับประถมมาลา และปทานุกรม พิมพ์รวมอยู่ในเล่มเดียวกัน) จินดามณีฉะบับหมอบรัดเลรวบรวมนี้ ต่อมาโรงพิมพ์พานิชศุภผลได้เอามาพิมพ์จำหน่ายอีกเมื่อ ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘)
จินดามณี ฉะบับความแปลก
๑. จินดามณี ฉะบับความแปลกนี้มี ๒ เล่ม เล่มที่เป็นสมบัติเดิมของหอสมุดฯ มีบอกไว้ข้างต้นว่า “สมุดจินดามณีนี้ ข้าพุทธิเจ้า นายปานชุบ ทูลเกล้าฯ ถวาย” และทั้งสองเล่ม มีบานแพนกขึ้นต้นเหมือนกันทั้งสองฉะบับ แปลกจากฉะบับอื่น ๆ ที่เรียกว่าฉะบับความพ้อง คือ มีว่า
“ศักราช ๒๔๕๒ ปีมแมศก พญาร่วงเจ้าได้เมืองศรีสัชนาไลย จึงแต่งหนังสือไทย แลแม่อักษรทังหลาย ตามพากยทังปวง อันเจรจาซึ่งกันแลกัน แลครั้งนั้นแต่งแต่แม่อักษรไว้จะได้แต่งเป็นปรกติวิถารณหามิได้ แลกุลบุตรผู้อ่านเขียนเป็นอันยากนัก แลอนึ่งแม่หนังสือแต่ ก กา ถึง กน ฯลฯ จนถึงเกยนั้น เมืองขอมก็แต่งมีอยู่แล้ว พญาร่วงเจ้าจึงแต่งรูปอักษรไทต่างต่าง แลอักษรขอมคำสิงหลพากยนั้น เดิมมีแต่ดั่งนี้ พระอาจาริะเจ้าผู้มีปัญาจะให้วิจารณ จึงแต่งกำกับไว้ดั่งนี้ เพื่อจะให้กลบุตรอันเล่าเรียนพิจารณาเหนแต่เดิมมีแต่แม่อักษรขอมดั่งนี้” ต่อไปเขียนเป็นอักษรขอมขึ้น “นโม พุทฺธาย สิทฺธํ อะ อา จนถึง ฬ อ แล้วแจกลูก ก กา จนถึง เกย เป็นอักษรขอม และมีคำอธิบายต่อไปว่า
“อันนี้เป็นคำขอม แลคำพระอาจาริยเจ้าตกแต่งไว้ดั่งนี้ก่อน พญาร่วงเจ้าจึงทำรูปอักษรไทยทั้งปวง ครั้นจุลศักราช ๑๐๔๓” ปีชวดศก จึงพระอาจาริยเจ้าผู้มีปัญา๔ แต่งจินดามนีถวาย หวังจะให้กลบุตรอันจะเล่าเรียนนั้น รู้ที่กำหนดกฎหมาย พิน เอก โท แลไม้ม้วน ไม้มลาย แลไม้ตรีจัตวา แลครุลหุ คือดั้งเดิมแม่อักษรไทยดั่งนี้” แล้วเขียนเป็นตัวอักษรไทยว่า นโม พุทธาย สิทธํ อ อา ฯลฯ ฬ อ ฮ ต่อไปมีบอกการแจกลูกแบ่งอักษรสามหมู่ ผันด้วยไม้เอก โท ตรี จัตวาเป็นต้น
ข้อความที่ชักมากล่าวไว้ข้างต้นนี้ ดูก็มีหลักฐานดี แต่ตอนต่อ ๆ ไปดูกะท่อนกะแท่น ทั้งกล่าวถึงไม้ตรีจัตวาอยู่ด้วย๕ จึงเข้าใจว่าในคราวเขียนคัดต่อ ๆ มา คงจะถูกเพิ่มเติมจนคลุกคละปะปน หรือหายหกตกหล่นเสียมาก เสียดายที่ยังไม่มีโอกาสพิมพ์ออกรับการพิจารณาจากท่านผู้รู้ให้แพร่หลาย
จินดามณี ฉะบับความพ้อง
๒. จินดามณี ฉะบับความพ้องนี้ มีมากเล่ม แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว แตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ถ้าจะกล่าวอย่างรวม ๆ ก็เห็นจะมีที่แตกต่างกันจริง ๆ ราวสัก ๔ จำพวก คือ
(ก) ฉะบับลายมือเขียนเก่าที่สุด เป็นสมุดไทยดำเส้นรง มีบานแพนกหน้าต้นว่า “วัน ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขาล จัตวาศก ข้าพระพุทธิเจ้า ขุนมหาสิทชำระ ข้าพระพุทธิเจ้า หมื่นทิพ หมื่นเทพ } ไม้ตรีชุบ ข้าพระพุทธิเจ้า ทาน ๓ ครั้ง ฯ” ปีจุลศักราชในบานแพนกนี้ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นปีเสวยราชย์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต่อไปขึ้นต้นด้วยฉันท์วสันตดิลก ดำเนินความ
“สรรเพชฯสัทธรรมแลสง | ฆประเสริฎิแก่นสาร” |
แล้ว นโม พุทฺธาย สิทฺธํ (มีวินิจฉัย การเขียนคำว่า บุญ) แล้ว นามศัพท์ คือตอนบาตรพระสงฆ์, พระพุทธบาท, โคลงบอกเอกโท, ตัวอย่างแต่งฉันท์, บอกลักษณะแต่งโคลงสุภาพ, พระสดับแล้วโคลงรหัสอักษรต่างๆ จบ (ฉะบับนี้หม่อมเจ้าทัศนาประทานเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๗๑ หมายเลขที่ ๑ ก ๑) ข้อความและลำดับเรื่องคล้ายกับฉะบับ (สมุดไทยดำเส้นรงหมายเลขที่ ๑/ฟ) เจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาโรหิตย์) ให้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ต่างแต่ฉะบับหลังนี้ตัวอักษรงามกว่า และมีข้อความละเอียดกว่า ขึ้น (๑) ศรีสิทธิวิวิธบวร (๒) นโมนมัสการประนม แล้ว (๓) นมสฺสิตฺวา และยังมีฉะบับอื่น ๆ อีก ซึ่งแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย
(ข) ฉะบับนายมหาใจภักดิ์ มี ๒ เล่มสมุดไทยดำ เล่มหนึ่ง (หมายเลขที่ ๑ / ฆ. ๘) หน้าต้นชุบเส้นทอง ต่อ ๆ ไปเขียนเส้นรง มีชุบเส้นทองบ้างเป็นบางแห่ง เจ้าหน้าที่ได้ใช้เป็นต้นฉะบับสำหรับชำระสอบสวนในเล่มพิมพ์นี้ อีกเล่มหนึ่ง (หมายเลขที่ ๑/ฆ) ขุบเส้นรงตลอด ลำดับเรื่องตรงกันในตอนต้น คือขึ้น (๑) นโมนมัสการประนม (๒) นโม พุทธาย สิทฺธํ และ (๓) นมสฺสิตฺวา แต่ฉะบับเลข ๑/ฆ. ๘ มีอักษรศัพท์ คือ (๔) ศรีสิทธิวิวิธบวร ต่อท้าย ส่วนฉะบับหมายเลข ๑/ฆ. ไม่มี ทั้งสับลำดับภายในเอาไปไว้ท้ายเสียบ้าง มีโคลงลงท้ายบอกไว้ตรงกันว่า
๏ จินดามุนิศนี้ | นายมหา |
ใจภักราชสมยา | เศกให้ |
ฉลองลักษณ์เทียบทานมา | สามฉบับ แล้วพ่อ |
เลือกแต่ล้วนควรไว้ | สืบส้างศิษย์สอน ฯ |
(ค) ฉะบับพระยาธิเบศ (หมายเลขที่ ๑/ง) ฉะบับนี้ ขึ้นต้นและลำดับเรื่องต่างกับฉะบับ ก. ข. มีร่ายขึ้นต้นแปลกกับฉะบับอื่น ๆ ดังนี้
“ศรีสิทธิสวัสดิ์ ทัศนัขประนม บรมบาทบงกช ทศพลเพญาณ มหานต์ภพเพญา การุญดิเหรก เอกโมลิต พิชิตมารโมลี ดิหลกตรีพ่างภพ นพโลกุฎรธรรม์ อภิวันทนอัษฎาง อริยางคโยค จัตุรโอฆขจัด รัตนไตรยน้อมเสจ์ ผเดจ์อุปัทวัน อันตรายวินาศ คัลยบาทบทรัตน์ ขัติยาธิบดินทร ภูมินมิ่งมงกุฎ ศรีอยุทธเวียงบวร ทิณกรจำหรัด รัชนิกรส่องหล้า ฟ้าดินศุขสมพอง ฉลองลักษณพิจิตร วิกะสิตสะโรชร้อย สร้อยปรดับกรรณ์ กลฉันท์กลโคลงหลาก มากๆ หลายอย่าง ต่างๆ หลายชั้น โคลงดั้นโคลงสุภาพ กาพย์ห่อโคลงกานท์ บุราณรังรักษ จักรสงเคราะห์บท ทวาทศราศรี มาลีเลือนผกา ปรทุมมาลยกมุท ภุชงค์เกี้ยวกระหวัด รหัศอักษร สถาพรจัตุรพิธ มหิศรเรืองยศ ปรากฏกัลปาวสาร ปรหารมลวิมล ชณมายุศม์อย่าน้อย ยาวยืดยืนยิ่งร้อย รอบรู้คุณธรรม์ สืบนา ฯ
๏ รวมอรรถธิรางค์เบื้อง | บรรพ์สนอง ไว้พ่อ |
กลกาพย์กลกานท์สรรพ์ | สุภสร้อย |
กลฉันท์กลโคลงฉลอง | เฉลิมโอฐ อ่านแฮ |
เล่สุมาลยร้อย | โสรดสรวม ฯ |
ต่อไป บอกกาพย์บาฬีและกาพย์ภาษาไทยสำหรับจำคณะ, มีคาถาและโคลงบอกเอกโท, รหัสอักษร, ตัวอย่างฉันท์ต่าง ๆ และบอกวิธีแต่งกาพย์ขับไม้พร้อมทั้งตัวอย่าง (ซึ่งในฉะบับอื่น ๆ ไม่มี), ดังที่พิมพ์ในจินดามณีเล่ม ๑ นั้น แล้วมี “ศรีสิทธิวิวิธบวร” อักษรศัพท์ต่อท้าย จบลงด้วยโคลงคล้ายกับฉะบับนายมหาใจภักดิ์ว่า
๏ จินดามุนินี้ | นามพญา |
ธิเบศราชสมญา | เศกให้ |
ฉลองลักษณเทียบทานมา | สามฉบับ แล้วพ่อ |
เลือกแต่ล้วนควรไว้ | สืบส้างศิษย์สอน ฯ |
ในประชุมจารึกวัดพระเชตุพน มีชื่อพระยาธิเบศรบดีอยู่ในหมู่กวีผู้แต่งโคลงฤาษีดัดตน บางทีจะเป็นคนเดียวกัน
(ง) ฉะบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส จินดามณีฉะบับความนี้ มี ๒ เล่มสมุดไทยดำ คือเล่ม ๑ เล่ม ๒ (หมายเลขที่ ๑/ค) เขียนเส้นรง ในเล่ม ๑ ขึ้น (๑) นโมนมัศการปรนม (๒) นโมพุทฺธาย (๓) นมสฺสิตฺวา และมี (๔) ศรีสิทธิวิวิธบวร มีกาพย์สารวิลาสินี (คัมภีร์บอกลักษณะแต่งกาพย์ ๑๕ ชะนิด) แซกอยู่ในสมุดไทยเล่ม ๒ เช่นเดียวกับจินดามณีฉะบับพิมพ์ของหมอสมิธ (ซึ่งมีกาพย์สารวิลาสินีแซกกลางด้วยเหมือนกัน) แต่ตอนอื่นต่างกันอยู่บ้าง จินดามณีฉะบับความสมเด็จกรมพระปรมาฯ นี้ ต่างกับฉะบับความพ้องอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วในส่วนสำคัญ คือมีโคลงและตัวอย่างคำผันด้วยไม้ตรีจัตวา (ดูเชิงอรรถในจินดามณีเล่ม ๑ ฉะบับพิมพ์นี้ข้างต้น) เข้าใจว่า สมเด็จกรมพระปรมาฯ ทรงต่อเติมขึ้นในตอนหลัง เพราะบอกไว้ในตอนท้ายเล่มสอง (สมุดไทยดำ) ข้างหน้า “ศรีสิทธิวิวิธบวร” ว่า
“จินดามุนีนี้ ฉบับสมเด็จพระปรมานุชิต ประดิษฐดัดแปลงแต่งต่อใหม่ ท่านเอานามศัพท์วางไว้นะเบื้องต้น แม้ว่าบุทคลผู้ใดชอบใจอย่างฉบับเดิม ก็พึงลิกขิตเขียนนามศับท์นี้ก่อน แล้วจึ่งย้อนไปเขียนนมัสการต่อฝ่ายหลัง ดั่งเราบอกไว้นี้เถิด”
ที่เชื่อว่าคำผันด้วยไม้ตรีและไม้จัตวา น่าจะเป็นของเดิมขึ้นในชั้นหลังนั้น ก็เพราะในจินดามณีอีกฉะบับหนึ่ง (สมุดไทยขาว เส้นหมึก หมายเลขที่ ๑/ข นายนก ชูกัญจนา ให้หอสมุดฯ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๖๕) บอกไว้ตอนท้ายเล่มว่า
“ถ้าบุทคลผู้ใดจะใคร่รู้อักษรห้า๖แล้ว ก็ให้ดูเอาที่เข็นนไว้ข้างปลายนี้เถีด ด้วยว่าฉบับจินดามุนีนี้อักษรสาม ฯข้าฯ เห็นว่ายังขาดอยู่จึงได้เพ่อมเตอมลง แต่ภอเป็นตัวอย่าง พึ่งให้กุลบุตรสึกสาให้เข้าใจไม้เอกโทตรีจัตวานี้เทอน” และบอกจบไว้ว่า “พระสะมุทจินดามุนีนี้ พระเย็นส้างไว้ในพระศาสนา ถ้าบุทคลผู้ใดได้ไว้ก็พึงให้สืบสืบไปเถิด”
จินดามณีที่ข้าพเจ้าเรียกว่า ฉะบับความพ้องนี้ ดูเหมือนจะมีที่แตกต่างๆ กันจริงๆ สัก ๔ จำพวกเท่านี้ นอกนั้นมีฉะบับแตกต่างกันไปบ้างก็เพียงเล็กๆ น้อยๆ เช่นมีโคลงตัวอย่างบางโคลงเพิ่มขึ้นหรืออธิบายความต่างออกไปนิดหน่อย สับลำดับเสียเล็กน้อย ซึ่งไม่ใช่สิ่งสำคัญอันใด เพราะหลักใหญ่ของเรื่องตรงกัน ดังปรากฏในฉะบับพิมพ์ตอนเล่ม ๑ นั้นแล้ว
จินดามณี ฉะบับพระนิพนธ์กรมหลวงวงษา ฯ
๓. จินดามณีฉะบับนี้ ได้พบต้นฉะบับซึ่งพอจะกล่าวได้ว่า มีจบบริบูรณ์แต่ฉะเพาะที่พิมพ์รวมอยู่ในตอนท้ายหนังสือจินดามณีฉะบับพิมพ์ของหมอสมิธ บางคอแหลม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ ได้คัดมาทำต้นฉะบับลงพิมพ์ไว้ในเล่มนี้เป็นเล่ม ๒ ขึ้นต้นด้วยฉันท์วสันตดิลก แล้วต่อไปแจกลูกรวมทั้งอักษรกล้ำในแม่ ก กา, กก, กง, กด, กน, กบ, กม และเกอย แล้วผันอักษรกลางทุกตัวด้วยไม้เอก โท ตรี จัตวา (๕ เสียง) อักษรสูงด้วยเอก โท (๓ เสียง) อักษรต่ำด้วยเอก โท (๓ เสียง) รวมทั้งอักษรกล้ำทุกแม่ และอักษรต่ำที่มี ห และ อ นำ แล้วจึงถึง “จักขานบรรหารเหตุ” ไปจนจบดังที่พิมพ์ในเล่มนี้ ตอนแจกลูกและผันนั้น เห็นว่าเยิ่นเย้อมาก เจ้าหน้าที่จึงตัดออกเสีย
จินดามณีฉะบับพระนิพนธ์ของกรมหลวงวงษาธิราชสนิทนี้ เห็นได้ว่า ทรงเลียนแบบอย่างไปจากจินดามณีของเก่า (ฉะบับความพ้อง) หากแต่ทรงแก้ไขให้กะทัดรัดและเข้าใจความได้ง่ายขึ้น มีเนื้อความปรากฏในโคลงตอนท้ายว่า เมื่อปีระกาเอกศก พ.ศ. ๒๓๙๒ ตอนปลายรัชชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารภถึงพระเจ้าลูกยาเธอชั้นเล็ก ซึ่งทรงพระเจริญขึ้นโดยมาก มีพระราชประสงค์จะให้ทรงศึกษาวิทยาการ บางทีจะได้ทรงแสดงพระราชประสงค์นั้นแก่กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ซึ่งในเวลานั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น จึงได้ทรงนิพนธ์จินดามณีเล่ม ๒ นี้ขึ้น รวมเวลาแต่งทรงพระราชปรารภ (๙ พฤษภาคม ๒๓๙๒) จนทรงนิพนธ์เสร็จ (๑๖ พฤศจิกายน ๒๓๙๒) ราว ๖ เดือนเศษ กรมหลวงวงษาฯ ทรงอ้างพระองค์ไว้ในโคลงว่า เป็นศิษย์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้แต่งจินดามณีฉะบับ (เล่ม ๒) นี้ขึ้น เป็นการแต่งซร้อน ของเก่าซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว จึงลำดับเล่มเพิ่มเติมของของพระองค์ท่านนี้ให้เป็นเล่ม ๒ ดังกล่าวไว้ในโคลงว่า
๏ จึ่งริรจเรขซร้อน | สารศรี นี้ฤๅ |
เสนอชื่อจินดามณี | ดั่งแก้ว |
จักรพรรดิทุกสิ่งมี | ประสงค์เสร็จ นึกนา |
เติมเล่มสองตรองแล้ว | ถี่ถ้วนขบวรกล ฯ |
จินดามณีเล่ม ๒ นี้ นอกจากหมอสมิธเอาไปพิมพ์แล้ว หมอบรัดเลยังคัดเอาบางตอนไปพิมพ์รวมอยู่ในเล่มเลขหมาย ๔ (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) คือตอนอธิบายถึงวิธีแต่งโคลง ขึ้นตั้งแต่คำว่า “อนึ่ง ถ้ากุลบุตรเรียนรู้ในพิธีอักษรสามแลไม้ม้วนไม้มลาย ฯลฯ” ข้างหน้าร่าย “ศรีสิทธิสุนทรวโรวาท” ไป และขึ้นโคลงกระทู้ตั้งแต่ “จะ แต่ง โคลง กทู้” ถึง “อย่าฉ้อหลวง ให้ขาด อย่าฉ้อราษฎร ให้ขุ่น” ต่อมาเมื่อ (พ.ศ. ๒๔๕๘) หอสมุดฯ ได้ต้นฉะบับสมุดไทยเพิ่มเติมมา ก็พบเพียงโคลงที่ขึ้นต้นว่า “อยุธยายศยิ่งด้าว ใดปูน เปรียบฤๅ” จนถึงโคลงสุดท้ายว่า “พันสองสิบเอ็ดอ้าง จุลศัก ราชเอย ฯลฯ” จึงพิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. นั้น ให้ชื่อว่า “โคลงสุภาษิตจินดามณี”๗ เมื่อมารู้ว่ากรมหลวงวงษาฯ ทรงนิพนธ์เป็นตำราแบบเรียนให้นามว่า จินดามณี และลำดับเล่มของพระองค์ท่านเป็นเล่ม ๒ จึงได้นำมาพิมพ์รวมไว้ในที่นี้อีก
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงเป็นกวีที่เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงพระองค์หนึ่ง ได้ทรงแต่งหนังสือไว้หลายเรื่อง คราวหนึ่งได้ทรงนิพนธ์โคลงนิราศพระประธมขึ้น ครั้นเสร็จแล้วได้ทรงนำถวายสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงเป็นอาจารย์ เพื่อให้ทอดพระเนตรและทรงแก้ไข เมื่อสมเด็จกรมพระปรมานุชิต ฯ ทรงอ่านตลอดแล้ว ได้ทรงนิพนธ์โคลงเติมลงข้างท้ายว่า
๏ กรมวงษาสนิทผู้ | ปรีชา เชี่ยวแฮ |
เรียบรจเรขกถา | เพราะพร้อง |
เนืองเนกคณเมธา | ทุกทั่ว อ่านเอย |
ควรจักยอยศซร้อง | แซ่ซั้นสรรเสริญ๘ ฯ |
จินดามณีหมอบรัดเล
๔. จินดามณี ฉะบับหมอบรัดเลนี้ เป็นฉะบับสำรวมใหญ่ คือพิมพ์รวมกันไว้ตั้งหลายเรื่องในเล่มเดียวกัน มี (๑) ประถมกกาแจกลูก (๒) จินดามณี (๓) ประถมมาลา และ (๔) ปทานุกรม นอกนั้นยังเพิ่มเติมแซกเรื่องและคำอธิบายต่าง ๆ ลงไว้อีก เช่นอักษรควบและบอกไว้ว่า “คำว่า แสวง แถลง ไฉน ไถล ถนน เถลิง เป็นต้นนี้ ไม่มีในจินดามุนี แต่เราผู้ชำระหนังสือนี้ได้จัดแจงไว้เพื่อจะให้กุลบุตรรู้จักอ่าน ๒ อักษรควบติดกัน” และมีแบ่งอักษร ๔๔ ตัว ออกเป็น ๕ จำพวก แล้วบอกไว้ว่า “อันแบ่งอักษรเปนห้าจำพวกเช่นว่ามานี้ ไม่สู้สำคัญนักแก่กุลบุตรที่เปนไทย แต่จำพวกคนมาแต่นอก ผู้เปนปราฯชชอบเรียนภาษาไทยเลอียด เขาเหนสมควรจะแบ่งอักษรไทยเช่นว่านี้ เราจึงได้แบ่งออกตามใจเขา จะได้เปนประโยชน์แก่ฝรั่งบ้าง” และได้เอาเครื่องหมายวรรคตอนในภาษาอังกฤษมาลงไว้ด้วย มีราชาศัพท์, ศัพท์กำพูชา, คำชวา และโคลงกลบทต่าง ๆ ในจารึกวัดพระเชตุพน รวมอยู่ในเล่มเดียวกันเสร็จ จึงเป็นเสมือนหนังสือสำรวมใหญ่เล่มหนึ่ง จินดามณีฉะบับสำรวมใหญ่ของหมอบรัดเลนี้ ต่อมาโรงพิมพ์พานิชศุภผลเอาพิมพ์จำหน่ายอีก
ยังมีจินดามณีสมุดไทยขาว เขียนเส้นหมึกอีกฉะบับหนึ่ง หอสมุดฯ ซื้อไว้เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ (หมายเลข ๑/ฏ) เป็นฉะบับแปลกกว่าเพื่อนอย่างปลาด ขึ้นต้นด้วยคำบาลีว่า ตรีวิธนมสุตุคฺโคติพุตฺโตทยกรวิโย แล้วต่อไปแปลยกศัพท์ จบแล้ว ขึ้น “อันว่ามุนีนารถนักปราฯชผู้ใด ใคร่จักเรียบรเบียบอรรถาภิปราย” เหมือนเช่นที่พิมพ์ในตอนเล่ม ๑ นี้ จบแล้ว ขึ้น นโมพุทฺธายสิทฺธํ แล้วแยกอักษรเป็นวรรคต่างกับฉะบับอื่น ๆ มีคำบอกต่อว่า “กล่าวมาท้งงนี้ โดยไนยพระบาฬีภอเปนสังเขป แต่ที่เปนคุณนโยนั้น มีแจ้งอยู่ในมูลโน้น แล็จะแจกในจินดามุนีต่อไป” ต่อจากนี้ แบ่งตัวอักษรแบ่งเปน ๓ หมู่ ตอนหนึ่งมีอธิบายว่า “กด กก กบ ๓ เหล่านี้ เมื่อแจกอ่านเสียงเสมอกันไปดุจ กน กง กม นั้น แต่จะผันให้เหมือนเล่า ในจินดามุนีนี้ห้ามว่าลงเอกโทมิได้ แต่มีในมูลอักษรว่า คำใดในภาษาต่าง ๆ แล็สำเนียงสัตว์ขัดเข้าแล้ว ก็ควรจะใช้เปนคำเปนได้ทั้งสิ้น เหมือนคำว่า ดูดู๋ กั๊กถั่ว เสือร้องโห้ก เปนต้น จะได้มีคำตายนั้นหามิได้ ถ้าผู้ใดจะใคร่รู้ให้พิศดารแล้ว จงพิจารณาดูในมูลอักษรน้นน” จินดามณีฉะบับนี้ก็ดูเป็นสำรวมใหญ่อยู่ และอ้างถึง คัมภีร์?) มูลอักษรบ่อย ๆ ทั้งคัดค้านหลักคำตายในแม่กด กก กบ ตามหลักจินดามณีเล่ม ๑ - ๒ ที่พิมพ์นี้ และมีอ้างว่ายกมาแต่คัมภีร์อุจจารณวิธีบ้าง มีตัวอย่างฉันท์แปลกจากในจินดามณี และมากกว่า แต่ไม่ดีกว่าหรือไพเราะกว่า คัดเอามาจากกาพย์สารวิลาสินีก็มี คัดมาจากโคลงทวาทศมาศก็มี ซึ่งในฉะบับอื่นไม่มี จบลงด้วยร่ายว่า
“ศรีศรีสวัสดิ์พิศาล สิทธิ์ดำนานดำเนิรนิทเทส โดยบุรเพศพิไสย ไขพิศดารจินดามุนี ปรีดารมณ์สมมต ให้ปรากฏบุรุษลักษณ์ ผู้ใฝ่ภักดิ์ศิลปาคม อุดดมด้วยพฤตโตไทย ไตรสาตราธิคุณ อดุลยกาพย์วิลาศ สยาโมวาทก็เสรจ์ เผดจ์ตามโบราณาจาริย เปนศุภสารมหาราช สืบอนุสาศน์สาทร ข้อยขอพรทวยเทวา สุรารักษมณฑล ทั่วเมธณีดลสาคร ทกศิขรรุกขลดา สามฉมาภิศักดิ์ พรักโลกยธาตุอำนวย ทวยท่านเชีญดับเข็ญ ให้สฤดิ์เอย็นศุขสานติ์ ศัตรูพานพินาศ ปราศจาคุปัทวัน ตรายรันรอนราบ สัพพนฤดาปอมิตร สมสมฤทธิสมาหาร ทานเมตตาอย่าโรย โดยเอาศีลเปนองค์ ผลบรรจงเริงรื่น ชักชื่นชื่นชมชู ตูจินตนาภิรมุส สาหะวุตติพากย์ รากแก้วเกีดเปนตา สถาปนาบเริ่มสาร สรวมผลญาณสำเรทธ เผดจ์มัคคันตรญาณภายหน้า ข้าขอทันองค์พระศรี อริยเมตรีจะมาตรัส ในสังสารวัฏเวียนวล ดนศิวโมกข์อย่าปรวน แม้วเที่ยวทวนมรณชาติ ขอบิดุมาดรรคศฤงฆาร ทารมิตรร่วมไมตรี มีหฦทยารมณภักดิ์ ผลักอรินให้ไกษย ไกลโรคาพาธพิปริต เว้นทุรจิตรพาลา โสตครุกาขัดวาทีพิการ ษัตรีพาลบณฑพ เปนชายสบทุกชาติ ปรีชาฉลาดคำภีร์ธรรม์ ทั้งพุทธฉันทสาตรศรี ชากรีจบเจนใจ กำลังไกรยืนชนม์ ทกสากลเมตตา แผ่เผื่อสาธุสัตว อเนกอรรถพิบูล เกิดไหนคูณคงปราฯช ทางธรรมฉลาดไตรเพท สรรพสิ่งเสตรอบรู้ ในรทู้พากโยวาท เนียรทรชาติบุรุษถ้อย ข้อยขอไกลพาลา จากวงษาญาติมิตรสนิท พาลอย่าชิดร่วมหล้า ฟ้าต่างพรรคภาษประเทศ รูปรอยเฉทอย่ายล ขอนิพนธ์พฤติคำคง เฉกเปนธงสี่ทวีป รีบรวมใจสาธุสัตว สรรพสิ่งสวัสดิ์อย่ามลาย ฝากลิขิตผายพรหมโลกย์ โยคเอาอรรถวิริยาธิผล อยู่เท้าทนดินฟ้า สิ้นภพหล้าสูญกัลป์ ส่องสว่างวรรโณภาษ ในโลกธาตุอย่าสูญญ์ ข้าขอคูณคุณศีล สัตยาจินตย์ทุกค่ำเช้า ขอเกอดในสาศนพุทธเจ้า ตราบเท้านฤพาน ฯ”
จินดามณีฉะบับนี้ แปลกประหลาดกว่าเพื่อน และเห็นว่าเป็นสำรวมใหญ่ไม่แพ้ฉะบับของหมอบรัดเล ต่างแต่สำรวมกันไปคนละทาง เมื่อประกอบการพิจารณาลายมือที่เขียน ก็ดูออกจะเป็นฉะบับใหม่อยู่ เข้าใจว่าจะเก่าไม่เกินสมัยรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์ บางทีจะมีท่านผู้หนึ่งผู้ใดเก็บเอาตำราเรียนของเก่ามารวบรวมขึ้นจากหนังสือหลายเล่มหลายแห่ง และโดยมากจากจินดามณีจึงมีหลักใหญ่และสำนวนความบางตอนตรงกันกับที่มีในจินดามณีของเดิม
จินดามณีเป็นแบบเรียน
โดยเหตุที่หนังสือจินดามณีเป็นตำราแบบเรียนภาษาไทยและใช้กันแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยซึ่งไม่มีการพิมพ์เช่นนั้น จำเป็นอยู่เองที่ผู้ใคร่ความรู้จะต้องขวนขวายหาต้นฉะบับมาขอคัดลอกไว้ และสมุดที่ใช้คัดลอกก็ไม่มีอะไรยั่งยืนและสะดวกไปกว่าสมุดไทย จึงเมื่อคัดลอกกันสืบ ๆ มาหลายยุคหลายต่อเข้า ก็ย่อมวิปลาศคลาดเคลื่อนไป ซ้ำผู้มีสิทธิเป็นเจ้าของสมุดได้ความรู้ความเห็นอันใดมาจากไหนใหม่ ก็เขียนเพิ่มเติมลงในสมุดนั้น หรือเห็นมีหน้ากระดาษว่าง ก็คัดเขียนเรื่องอื่นบรรจุลงไป โดยที่สุดตำรายาเกร็ด เมื่อสมุดขาดก็อาจเอาต้นต่อกลาง กลางต่อท้าย ปลายต่อต้น ตามเรื่องของสมุดไทย จึงเป็นเหตุให้ปะปนสับสนกัน เหตุนั้นฉะบับที่มีอยู่จึงแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง อันเป็นธรรมดาของหนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียน ไม่จำเพาะแต่จินดามณี แม้หนังสือกลอนสวดอื่น ๆ และตำราเรียนบาลีที่มีฉะบับอยู่ในหอสมุดฯ เดี๋ยวนี้ ถ้าฉะบับใดมีผู้นิยมมากและใช้เรียนใช้สวดกันแพร่หลายแล้ว ย่อมวิปลาศคลาดเคลื่อนแตกต่างกันมาก ยิ่งมีมากฉะบับ ก็ยิ่งมีต่างกันออกไปมากขึ้น หนังสือจินดามณี ซึ่งนับว่าแพร่หลาย และใช้เป็นแบบเรียนกันมานมนาน เพิ่งเลิกใช้เป็นแบบเรียนกันเสียเมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งหนังสือมูลบทบรรพกิจขึ้นเป็นแบบเรียนหลวง ในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ จึงน่าจะถูกต่อเติมหรืออาจถูกตัดทอนได้มาก
ผู้แต่งจินดามณี
เมื่อหนังสือจินดามณีมีหลายสำนวนเช่นนี้ จึงเป็นการยากที่จะสืบทราบว่าใครบ้างเป็นผู้แต่งฉะบับไหน สำนวนใด แต่ในฉะบับที่ข้าพเจ้าเรียกว่า “ความพ้อง” นั้น เกือบทุกฉะบับมีบอกนามผู้แต่งไว้ว่า “จินดามณีนี้ พระโหราธิบดี เดอมอยู่เมืองศุโขทัย แต่งถวายแต่ครั้งสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าลพบุรี” บางทีจะเป็นคนแต่งหนังสือจินดามณีฉะบับและสำนวนแรก ที่มีขึ้นในภาษาไทย จึงขอนำประวัติของผู้แต่งจินดามณีฉะบับความพ้องมากล่าวไว้ในที่นี่พอเป็นการนำทางเพื่อท่านผู้สนใจและยังไม่ทราบ
ในจินดามณีฉะบับความแปลกที่อ้างถึงมาข้างต้น บอกไว้เพียงว่า “ครั้นจุลศักราช ๑๐(๓)๔ จึงพระอาจารย์เจ้าผู้มีปัญญาแต่งจินดามณีถวาย” ถ้ารู้เรื่องนี้อยู่บ้างแล้ว ดูก็พอจะเดาให้ลงกันได้ และในฉะบับความพ้องตอนท้ายคำฉันท์บอกคำใช้ไม้ม้วนไม้มลาย ก็ทำทีเป็นจะบอกนามผู้แต่ง (บางทีจะเป็นฉะเพาะตอนนั้น) ว่า
๏ ส่วนผู้จำนองฉันท์ | นี้นามกรเกา |
คือบรมพุทเธา | รสตั้งบำเพญบุญ |
๏ มีผู้อำนวยทาน | และสร้างกุศลเป็นต้นทุน |
มากแล้วมาเพิ่มภุล | อันชอบไว้ในโลกา |
๏ เฉลียวฉลาดในกาพย์กลอน | วรอรรถคาถา |
เพราะเหตุบุญญา | ธิการหลังมาอวยผล ฯ |
แต่คำฉันท์นี้ก็ผิดเพี้ยนคำตรงที่ขีดสัญญประกาศต่าง ๆ กัน (ดูเชิงอรรถ น. ๑๓) จับเค้าไม่ได้แน่ ตอนต่อมามีกาพย์สุรางคนางค์บอกไว้อีกว่า
๏ ขุนปราฯชหนึ่งเลอศ | |
เป็นโหรประเสรอฐ | ปัญญาชำนาญ |
ชาวโอฆบุรี | สวัสดีพิศาล |
ข้าพระภูบาล | เจ้ากรุงพระนคร ฯ |
กาพย์ตรงนี้ ดูก็ส่งความราวกะจะบอกว่า พระโหราธิบดี เพราะกล่าวว่า ขุนปราชญ์ผู้หนึ่งเป็นโหรประเสริฐ แต่แทนที่จะบอกว่าชาวสุโขทัยไพล่ไปเป็นชาวโอฆบุรี ตามหลักฐานที่นักประวัติศาสตร์ชาติยุตติกันในชั้นหลังนี้ว่า เมืองโอฆบุรี ได้แก่เมืองพิจิตร ซึ่งเรียกเป็นคำไทยว่า เมืองสระหลวง หรือ พระโหราธิบดี ผู้นี้ เดิมจะอยู่สุโขทัย แล้วภายหลังย้ายมาพิจิตร เป็นอันไม่ทราบแน่
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในบันทึกสมาคมวรรณคดี ปีที่ ๑ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า “จินดามณี เป็นตำราเรียนหนังสือไทย แต่งไว้พิสดารตั้งแต่หัดอ่านเขียนจนถึงหัดแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน บอกไว้ในตำนานนั้นว่า พระโหราชาวเมืองโอฆบุรี (คือเมืองพิจิตร) เป็นผู้แต่ง และมีหนังสืออีกเรื่องหนึ่ง คือ พระราชพงศาวดาร (ซึ่งหอสมุดฯ สมมติชื่อเรียกว่า “ฉะบับหลวงประเสริฐ” นั้น) ในบานแผนกข้างต้นว่าสมเด็จพระนารายน์ดำรัสสั่งให้พระโหราแต่งขึ้น๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ เป็นหลักสันนิษฐานว่า สมเด็จพระนารายน์คงโปรดฯ ให้พระโหราคนเดียวกัน แต่งทั้งหนังสือจินดามณีและหนังสือพระราชพงศาวดาร นอกจากนี้ยังมีเค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐานต่อไปอีกข้อหนึ่ง ว่าเหตุใดสมเด็จพระนารายน์จึงมีรับสั่งให้พระโหราฯ แต่งหนังสือ ๒ เรื่องนั้น ด้วยปรากฏในเรื่องพงศาวดารรัชชกาลสมเด็จพระนารายน์ว่า เมื่อพวกบาดหลวงฝรั่งเศสแรกเข้ามาตั้งสอนศาสนาคริสตังในพระนครศรีอยุธยานั้น มาตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับสอนหนังสือแก่เด็กไทยด้วย อาศัยเหตุนั้นเห็นว่าคงเป็นเพราะสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชดำริว่าถ้าฝ่ายไทยเองไม่เอาเป็นธุระจัดบำรุงการเล่าเรียนให้รุ่งเรืองก็จะเสียเปรียบฝรั่งเศส พระโหราคงเป็นปราชญ์มีชื่อเสียงว่าเชี่ยวชาญอักขรสมัยอยู่ในครั้งนั้น สมเด็จพระนารายน์จึงฯ มีรับสั่งให้เป็นผู้แต่งตำราสอนหนังสือไทยขึ้นใหม่ ส่วนการที่โปรดฯ ให้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารนั้น จะแต่งเป็นหนังสือเรียนหรือแต่งสำหรับให้เป็นความรู้แก่ทูตต่างประเทศที่เข้ามาในครั้งนั้น ก็อาจจะเป็นได้ทั้งสองสถาน แต่ควรฟังเป็นยุติได้ว่า การที่กวดขันให้ลูกผู้ดีเล่าเรียนหนังสือไทย คงเริ่มขึ้นในครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายน์ ความที่กล่าวนี้ ยังมีหลักฐานที่สังเกตอีกอย่างหนึ่ง ด้วยตัวอย่างหนังสือฝีมืออาลักษณ์เขียนในครั้งนั้น เช่นหนังสือสัญญาที่ทำกับฝรั่งเศสยังปรากฏอยู่ กระบวนอักขรวิธีใช้วิปลาศคลาดเคลื่อนมาก เห็นได้ว่าความรู้หนังสือไทยคงตกต่ำมาเสียคราวหนึ่ง พึ่งมากลับเจริญขึ้นตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เพราะฉะนั้นต่อมาถึงรัชกาลหลัง ๆ จึงมีผู้รู้หนังสือสันทัดมากขึ้นโดยลำดับ จนสามารถแต่งบทกลอน เช่นเล่นเพลงยาวกันได้ชุกชุมเมื่อในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์ ดังกล่าวมาข้างต้น
เมื่อพิจารณาดูในหนังสือจินดามณี ที่พระโหราแต่งเมื่อรัชชกาลสมเด็จพระนารายน์นั้น ยังได้เค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐานเรื่องตำนานการแต่งบทกลอนต่อไปอีกชั้นหนึ่ง ว่าก่อนนั้นมาผู้ที่หัดแต่งบทกลอนคงได้อาศัยแต่แต่งตามตัวอย่าง หรือคำแนะนำของผู้อื่น ตำรับตำราสำหรับนักเรียนอาศัยศึกษาหามีไม่ พระโหราจึงรวบรวมบทกลอนต่าง ๆ ทำเป็นตำราไว้ใหนังสือจินดามณี เป็นแรกที่จะมีตำราแต่งบทกลอนในภาษาไทย สันนิษฐานต่อออกไปได้อีกชั้นหนึ่งว่า คงเป็นเพราะมีตำราของพระโหราขึ้น จึงมีผู้แต่งบทกลอนประเภทที่ยังไม่ปรากฏว่าเคยแต่งมาแต่ก่อน คือหนังสือไทยซึ่งแต่งเป็นฉันท์ เป็นต้น ความที่กล่าวข้อนี้มีคำฉันท์เรื่องสมุทโฆษปรากฏอยู่เป็นตัวอย่าง หนังสือคำฉันท์เรื่องสมุทโฆษนี้ มีตำนานว่าพระมหาราชครูเป็นผู้แต่งตอนต้น (ที่เรียกว่า พระมหาราชครู นั้นสันนิษฐานว่าเห็นจะเป็นคนเดียวกับพระโหราผู้แต่งหนังสือจินดามณีนั้นเอง ทำนองจะเรียกกันว่าพระมหาราชครู เพราะสมเด็จพระนารายณ์ทรงยกย่องเป็นครูบาอาจารย์ มิใช่เป็นตำแหน่งพระมหาราชครูลูกขุนหรือพระมหาราชครูพราหมณ์ ด้วยเหตุนั้นจึงปรากฏว่าหนังสือสมุทโฆษคำฉันท์นั้น) สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชนิพนธ์ต่อตอนหนึ่ง แล้วค้างมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส มาทรงแต่งต่อจึงจบเรื่อง หนังสือสมุทโฆษบางทีจะเป็นเรื่องแรกที่พระมหาราชครูริแต่งหนังสือไทยเป็นคำฉันท์ ด้วยประสงค์จะพิสูจน์ให้ปรากฏว่า ภาษาไทย อาจจะแต่งเป็นฉันท์ให้ไพเราะได้ สมเด็จพระนารายน์จึงทรงนับถือถึงทรงพระราชนิพนธ์ต่อ และผู้อื่นจึงเอาอย่างแต่งคำฉันท์เรื่องอื่น ๆ ขึ้นแต่นั้นมา”
เกียรติคุณของพระโหราธิบดี
พระโหราธิบดีผู้นี้ ปรากฏเกียรติคุณว่าเป็นผู้ทูลถวายคำทำนายแม่นยำ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อถือมาก มีกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารว่า “พระโหราคนนี้แม่นยำนัก ครั้งหนึ่ง (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง) เสด็จอยู่ในพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท มุสิกตกลงมา ทรงพระกรุณาเอาขันทองครอบไว้ให้หาพระโหรามาทาย พระโหราคำนวณแล้วทูลว่าสัตว์สี่เท้า ทรงพระกรุณาตรัสว่ากี่ตัว พระโหราคำนวณแล้วทูลว่าสี่ตัว ทรงพระกรุณาตรัสว่า สัตว์สี่เท้านั้นถูกอยู่ แต่ที่สี่ตัวนั้นผิดแล้ว ครั้นเปิดขันทองขึ้น เห็นลูกมุสิกคลานอยู่สามตัวกับแม่ตัวหนึ่งเป็นสี่ตัว ก็ทรงพระกรุณาตรัสสรรเสริญพระโหราธิบดีว่าดูแม่นกว่าตาเห็นอีก ให้พระราชทานเงินตราชั่งหนึ่ง เสื้อผ้าสองสำรับ แต่นั้นมาก็เชื่อถือพระโหราธิบดีนัก” ต่อมาใน พ.ศ. ๒๑๘๖ พระโหราถวายฎีกาว่าใน ๓ วันจะเกิดเพลิงในพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงฟังก็ตกพระทัยจึง “ให้ขนของเทพระราชวังออกไปอยู่วัดไชยวัฒนาราม ทั้งเรือบัลลังก์ เรือศรี เรือคลัง คับคั่งแออัดกันอยู่ แลในพระราชวังนั้น เกณฑ์ไพร่สามพันสรรพด้วยพร้าขอตระกร้อน้ำรักษา ห้ามมิให้หุงเข้าในพระราชวัง แล้วเรือตำรวจคอยบอกเหตุทุกทุ่มโมง ครั้นคำรบสามวัน เพลาชายแล้วสี่นาฬิกา เรือตำรวจลงไปกราบทูลพระกรุณาว่าสงบอยู่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าครั้งนี้เห็นพระโหราจะผิดอยู่แล้ว สั่งเรือเถิด จะเข้าพระราชวัง เจ้าพนักงานก็เลื่อนเรือพระที่นั่งกิ่งเข้ารับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงฉนวนประจำท่า พระโหราอยู่ท้ายเรือพระที่นั่ง กราบทูลว่าขอให้ย่ำฆ้องก่อนจึงจะสิ้นพระเคราะห์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ให้ลอยเรือพระที่นั่งอยู่ เพลาชายแล้วห้านาฬิกา เมฆพยับคลุ้มขึ้นข้างประจิมทิศ ฝนตกพรำ ๆ ลงมา ทรงพระกรุณาตรัสแก่พระโหราว่าฝนตกลงมาสิ้นเหตุแล้วกระมัง พระโหรากราบทูลว่าขอพระราชทานงดก่อน พอสิ้นคำลง อสนีเปรี้ยงลงมาต้องเหมพระมหาปราสาทเป็นเพลิงติดพลุ่งโพลงขึ้นไหม้ลามลงมา คนทั้งหลายซึ่งอยู่ในพระราชวังมิรู้ที่จะทำประการใด แลดีบุกอันดาดหลังคานั้นไหลราดลงมาดังห่าฝน เพลิงก็ไหม้ติดต่อไปทั้งห้วยคลังเรือนน่าเรือนหลังร้อยสิบเรือนจึงดับได้”
สมเด็จพระนารายน์คงจะได้เคยเป็นศิษย์พระโหราธิบดี มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ปรากฏว่าในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๔ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จประพาสพระที่นั่งไอสวรรยทิพอาศน์ที่บางปอิน ครั้นเพลาค่ำเสด็จออกมาประทับยืนที่หน้ามุข สมเด็จพระนารายน์เวลานั้นมีพระชนม์ได้ ๑๐ พรรษา ทรงส่องโคมถวาย อสนีลงน่าบัน แว่นประดับและรูปสัตว์ตกกระจายลงมารอบพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอจะได้เป็นอันตรายหามิได้ ทรงพระกรุณาให้พระโหราทำนาย ถวายพยากรณ์ว่าเป็นมหาศุภนิมิตร จะทรงพระกฤษฎาธิการยิ่งขึ้น แล้วจะได้พระราชลาภต่างประเทศ” เมื่อปรากฏว่าพระโหราธิบดีเป็นที่ทรงเชื่อถือไว้วางพระราชหฤทัย กอบทั้งทรงเกียรติคุณเช่นนี้ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองคงจะได้ทรงมอบสมเด็จพระนารายน์เมื่อเป็นพระราชกุมาร ให้พระโหราธิบดีถวายพระอักษรและอบรม จึงปรากฏว่า ในรัชกาลของพระองค์ สมเด็จพระนารายน์ทรงเป็นขัตติยกวีที่ทรงพระเกียรติพระองค์หนึ่ง ราชสำนักของพระองค์สนั่นเสนาะไปด้วยศัพท์สังคีตและแซ่ระงมไปด้วยสำเนียงแห่งกาพยนิพนธ์กลโคลงกลอนฉันท์การกวี เฉกเช่น ศรีปราชญ์กล่าวไว้ในอนิรุทธคำฉันท์ว่า
๏ จำเรียงสานเสียง | |
ประอรประเอียง | กรกรีดเพยียทอง |
เต่งติงเพลงพิณ | ปี่แคนทรลอง |
สำหรับลบอง | ลเบงเฉ่งฉันท์ |
๏ ระงมดนตรี | |
คือเสียงกระวี | สำเนียงนิรันดร์ |
บรรสานเสียงถวาย | เยียผลัดเปลี่ยนกัน |
แลพวกแลพรรค์ | บรรสานเสียงดูริย์ ฯ |
ลักษณะการแต่งหนังสือจินดามณี
ขอนำเอาลักษณะของหนังสือจินดามณีมากล่าวไว้ในที่นี้เพียงเล็กน้อย บางทีจะเป็นทางนำประกอบความคิดได้บ้าง ส่วนความพิสดารนั้น ขอท่านผู้อ่านได้โปรดตรวจในฉะบับพิมพ์นี้ด้วยตัวเอง
๑. ตอนต้นมีร่ายนำ แล้วรวบรวมศัพท์ทีมีเสียงพ้องกัน แต่เขียนผิดกัน เช่น บาตร บาท บาศ เป็นต้น เรียกว่านามศัพท์หรือสรรพนาม ในฉะบับพิมพ์ของหมอบรัดเล เอาไปจัดลำดับและพิมพ์ไว้เป็นพวก ๆ ให้ดูง่ายอย่างเรียงพจนานุกรม แต่ก็ไม่ลำดับอักษรทีเดียว ในร่ายข้างต้นดูเหมือนจะบอกว่า ของเก่ามีอยู่ แล้วเขียนไว้ตามของเดิม เพราะกล่าวว่า “ข้อยข้าขอเขียนอาทิ อักษรปราฯชแต่งไว้ ให้ใช้ชอบตามศับท์ ไว้เปนฉะบับสืบสาย ด้าวใดคลายขอโทษ โปรดแปลงเอาอย่างเตียน ข้อยข้าเขียนตามฉะบับ อาทิศับทอักษร” การรวบรวมศัพท์เช่นนี้ ของเก่าก็มีเขียนไว้ในสมุดไทย เช่น ราชาศัพท์ และคำฤษดี ดูเก่ามาก ยังไม่ได้สอบสวนว่าจะเก่าสักเพียงไหน
๒. ตอนกาพย์สำหรับให้จำคณะทั้ง ๘ ที่ว่าเรากินแตงโม ลูกไอ้กระโต ฯลฯ นั้น มีหมายเหตุว่า “ธรงสำหรับจำคณะทั้ง ๘” และโคลงสำหรับจำคณะทั้ง ๘ ซึ่งมีอยู่ ๓ บท ก็มีหมายเหตุไว้ใน ๒ บทท้ายว่า “โคลงสำหรับจำคณะทัง ๘ ธรงทังสองบท” คำว่า “ธรง” นี้ ดูเป็นราชาศัพท์อยู่ ไม่แน่ว่าใครธรง (แต่ง) สงสัยว่า บางทีจะเป็นสมเด็จพระนารายน์ก็ได้ อาจทรงแต่งไว้สำหรับให้ข้าราชบริพารที่มีอุปนิสัยใฝ่ใจในการกวี ชอบโดยเสด็จในการแต่งฉันท์ จึงทรงพระราชนิพนธ์ไว้เพื่อทรงช่วยให้จำคณะครุลหุได้ง่าย พระโหราจึงนำมาลงไว้ในหนังสือจินดามณีนี้ เพื่อเป็นเกียรติยศแก่หนังสือ ด้วยนับถือว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ ส่วนอีกโคลงหนึ่งก็มีหมายเหตุว่า “นายธรงบาศแต่ง” แต่ออกจะสับสนกันอยู่หน่อย บางฉะบับหมายเหตุไว้ที่โคลงบทต้น บางฉะบับ ที่โคลงบทท้าย (ดู น. ๔๗) นายธรงบาศผู้นี้ คงจะเป็นกวีมีชื่อนับถือกันว่าแต่งโคลงดีมากผู้หนึ่งเหมือนกัน พระโหราจึงนำมาเป็นตัวอย่างในหนังสือของท่าน เข้าใจว่า นายธรงบาศผู้นี้ ต่อมาได้เป็นเจ้าบำเรอภูธรในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา มีธิดาได้เป็นอัครมเหษีใหญ่ อัครมเหษีน้อย ในรัชชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ถึง ๒ องค์ ที่เรียกในพระราชพงศาวดารว่า พระพันวัสสาใหญ่ คือกรมหลวงอไภยนุชิต และพระพันวัสสาน้อย คือกรมหลวงพิพิธมนตรี
๓. ก่อนจบมีโคลงรหัสอักษร เช่น ไทยนับ ๓ ไทยนับ ๕ ไทยหลง เป็นต้น ซึ่งคงจะนิยมกันเล่นแพร่หลายในเวลานั้น เช่นเดียวกับโค้ตลับในปัจจุบันนี้ เรื่องโคลงรหัสอักษรนี้มีเรื่องจะพูดถึงได้มาก หากแต่เวลาและหน้ากระดาษจำกัด จึงขอให้ผู้อ่านสังเกตกำหนดเอาเอง
๔. เมื่อกล่าวรวมทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่า พระโหราธิบดี ผู้แต่งหนังสือจินดามณีนี้ เป็นผู้คัดเลือกแบบแผนวิธีเรียนอักษรศาสตร์และวรรณคดีไทยขึ้น โดยรวบรวมของเก่าที่อยู่กระจัดกระจายกันบ้าง ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่คัดเอามาจากลิลิตพระลอบ้าง มหาชาติคำหลวงบ้าง ที่อื่นบ้าง แปลมาจากคำภีร์วุตโตทัยและกาพย์สารวิลาสินีบ้าง แต่งเพิ่มเติมใหม่ หรือรวบรวมบทนิพนธ์ดี ๆ ตามที่หาได้ในสมัยนั้นบ้าง ที่เห็นเหมาะและสมควร ทำเป็นตำราเรียนอันวิเศษในภาษาไทยเล่มหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครสามารถทำได้ในเวลานั้น อันน่าจะเป็นผลให้อักษรศาสตร์และวรรณคดีของไทยในสมัยนั้นและต่อมาเจริญก้าวหน้าขึ้นไม่น้อยเลย.
กี อยู่โพธิ์
กรมศิลปากร, ๙ เมษายน ๒๔๘๕
-
๑. ชาดกเรื่องนี้ มีเค้าเหมือนเรื่องพระอภัยมณีตอนต้น คือ ตอนพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อพาไปอยู่ด้วยกันจนมีลูกคือ สินสมุทร บางทีสุนทรภู่อาจได้เค้าผูกเรื่องขึ้นจากชาดกนี้ก็เป็นได้ ดู ปทกุสลชาดก ในนิบาตชาดก (นวกนิบาต) เล่ม ๑๐ น. ๓๔-๖๒ ฉะบับพิมพ์ของหอสมุดฯ พ.ศ. ๒๔๗๒ ↩
-
๒. ศักราชนี้เข้าใจว่า เป็นจุลศักราช ตรงกับ พ.ศ. ๑๘๒๖ และตรงกับปีที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง เป็นเวลาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา ๖๗ ปี ↩
-
๓. น่าจะตกเลข ๓ ไปสักตัวหนึ่ง ควรเป็นจุลศักราช ๑๐๓๔ ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๑๕ ในรัชชกาลสมเด็จพระนารายน์ ซึ่งเป็นปีชวดเหมือนกัน ↩
-
๔. พระโหราธิบดี ? ↩
-
๕. ไม้ตรี ๊ และไม้จัตวาหรือกากะบาด ๋ ที่ใช้ในการแสดงเสียงดังปัจจุบันนี้ น่าจะเกิดขึ้นหลังรัชชกาลสมเด็จพระนารายน์ หรืออย่างน้อยก็ภายหลังพระโหราธิบดีแต่งคัมภีร์จินดามณี ดูตอนต่อไป ↩
-
๖. หมายถึงอักษรที่ผันได้ ๕ เสียงในจำพวกอักษรกลาง เช่น ก ก่ ก้ ก๊ ก๋ ↩
-
๗. ดู โคลงสุภาษิตจินดามณี พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงพระนิพนธ์ ฉะบับพิมพ์ของหอสมุดฯ พ.ศ. ๒๔๖๘ ↩
-
๘. ดู (โคลง) นิราศพระประธม ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ฉะบับกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงชำระ พิมพ์ในนามของหอสมุด ฯ พ.ศ. ๒๔๖๙ ↩
-
๙. กล่าวไว้ในบานแพนกว่า “ศุภมัศดุ ๑๐๔๒ ศกวอกนักษัตร ณ วัน ๔ ๑๒ฯ ๕ ค่ำ ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งว่าให้เอากฎหมายเหตุของพระโหราเขียรไว้แต่ก่อน แลกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือแล เหตุซึ่งมีในพระราชพงศาวดารนั้นให้คัดเข้าด้วยกัน เป็นแห่งเดียวให้ละดับศักราชกันมาจุงเท่าบัดนี้” ในที่นี้คงหมายถึงว่าพระโหราได้สิ้นชีวิตไปแล้ว หรืออาจหมายถึงว่าให้เก็บจดหมายเหตุโหรที่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนพระโหราธิบดีสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็ได้ ↩