ร่างตราถึงเมืองวานรนิวาส

ตั้งท้าวจันโสมเป็นหลวงประชาราษฎร์รักษา เจ้าเมือง,

ท้าวโพธิสารเป็นอัคฮาด,

วันจันทร์แรม ๙ ค่ำเดือน ๘ ปีระกาตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓

----------------------------

สารตรา เจ้าพระยาจักรี มาถึงเมืองแสนเมืองจัน เมืองยโสธร

ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าสั่งว่า พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าท้าวจันโสม นายครัว อัควงศ์ วรบุตร เมืองอากาศอำนวยซึ่งขึ้นกับเมืองนครพนม พาสมัคพรรคพวกครอบครัวตามพระสุนทรราชวงศามาทำราชการอยู่ณเมืองยโสธรเป็นคนฉกรรจ์ ๔๖๐ ครัว ชายหญิงใหญ่น้อยรวมทั้งคนฉกรรจ์ ๑๐๐๐ เศษ พระสุนทรราชวงศาผู้ถึงแก่กรรมให้พวกครอบครัวตั้งอยู่บ้านกุดลิงแขวงเมืองยโสธร พระสุนทรราชวงศาขอรับพระราชทานยกบ้านกุดลิงขึ้นเป็นเมือง ขอท้าวจันโสมเป็นเจ้าเมือง ขอท้าวโพธิสารเป็นที่อัคฮาด ทำราชการขึ้นเมืองยโสธร แต่ที่อัควงศ์ ที่วรบุตร ขอให้คงอยู่ตามเดิม แล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ จึงมีพระราชโองการดำรัสว่า เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พระสุนทรราชวงศาว่าราชการเมืองยโสธรทั้งเมืองนครพนม พระสุนทรราชวงศาคิดอ่านแต่งท้าวเพี้ยข้ามไปเกลี้ยกล่อมครัวเมืองทอมท้าวฟากของตะวันออก ได้ตัวท้าวตีชวยเจ้าเมือง ท้าวศรีสุราษฎร์ ท้าวเพี้ยครอบครัวข้ามมาเป็นคนชายหญิง ๒๐๐๐ เศษ พระสุนทรราชวงศาให้ท้าวศรีสุราษฎร์นายครัวตั้งอยู่บ้านมองแขวงเมืองนครพนม แต่ท้าวตีชวยสมัคพาครัวไปตั้งอยู่ณเมืองสกลนคร ครั้นถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระสุนทรราชวงศากราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านมองเป็นเมือง ขอท้าวศรีสุราษฎร์เป็นเจ้าเมือง ก็ได้โปรดเกล้า ให้ยกบ้านเมืองมองเป็นเมืองอากาศอำนวย ตั้งท้าวศรีสุราษฎร์เป็นหลวงพลานุกุลเจ้าเมือง ตั้งอัคฮาด อัควงศ์ วรบุตร ครบตามตำแหน่งที่ให้ทำราชการขึ้นกับเมืองนครพนม ครั้นอยู่มาอุปฮาดราชวงศ์เมืองนครพนม บอกกล่าวโทษพระสุนทรราชวงศา ว่ารับหนังสือญวนที่กรุงเทพ ฯ ขึ้นไปแล้วแต่งท้าวเพี้ยนำหนังสือจะไปส่งให้ญวนนอกเขตต์นอกแดน อุปฮาดจับหนังสือได้บอกส่งลงมากรุงเทพ ฯ พระสุนทรราชวงศามีความผิด จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งอุปฮาดเป็นพระพนมนัครานุรักษ์ เจ้าเมืองนครพนม ให้พระสุนทรราชวงศามาว่าราชการแต่เมืองยโสธรเมืองเดียว แล้วก็ได้มีตราขึ้นไปว่าพวกครอบครัวที่พระสุนทรราชวงศาเกลี้ยกล่อมข้ามมาตั้งเป็นเมืองทำราชการขึ้นเมืองนครพนมนั้น เมืองใดจะสมัคมาขึ้นอยู่กับพระสุนทรราชวงศาก็ให้มาอยู่ตามใจสมัค เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ท้าวเพี้ยเมืองเรณูนคร เมืองรามราช เมืองอาทมาต หลวงพลานุกุล อัคฮาด เมืองอากาศอำนวย ทราบความแล้วพร้อมใจกันไม่สมัคมา จะขอทำราชการอยู่ณเมืองนครพนมไปตามเดิม แต่อัควงศ์ วรบุตร เมืองอากาศอำนวย พาสมัคพรรคพวกตามพระสุนทรราชวงศามาอยู่ณเมืองยโสธรก็นานหลายปียังหาได้ชุบเลี้ยงตั้งแต่งไม่ พอพระสุนทรราชวงศาถึงแก่กรรมการค้างอยู่ ครั้งนี้พระสุนทรราชวงศาคนใหม่ ขอให้ยกบ้านกุดลิงเป็นเมือง ขอท้าวจันโสมเป็นเจ้าเมือง ท้าวโพธิสารเป็นอัคฮาด ทำราชการขึ้นแก่เมืองยโสธรนั้นชอบแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้ขนานนามบ้านกุดลิงเป็นเมืองวานรนิวาส พระราชทานนามสัญญาบัตรประทับพระราชลัญจกร ตั้งท้าวจันโสมเป็นที่หลวงประชาราษฎร์รักษาเจ้าเมือง ท้าวโพธิสารเป็นอัคฮาด ให้พระราชทานหลวงประชาราษฎร์รักษาคือถาดหมากเงินสำรับ ๑ คนโทเงินสำรับ ๑ เสื้อเข้มขาบ ๑ ผ้าส่าน ๑ ผ้าสีทับทิมติดกลีบ ๑ ผ้าปูมผืน ๑ ผ้าแพรย่นแถบ ๑ เป็นเครื่องยศบรรดาศักดิ์ ให้พระราชทานอัคฮาดคือเสื้ออัตลัด ๑ ผ้าโพกติดกลีบ ๑ ผ้าส่านผืน ๑ แพรย่นแถบ ๑ ผ้าปูมผืน ๑ เป็นเครื่องยศบรรดาศักดิ์ ให้ทำราชการขึ้นกับเมืองยโสธรต่อไป ให้พระสุนทรราชวงศากับ อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ท้าวเพี้ยผู้ใหญ่จัดแจงแบ่งเขตต์แขวงเมืองยโสธร ให้หลวงประชาราษฎร์รักษา เจ้าเมือง อัคฮาด อัควงศ์ วรบุตร ดูแลว่ากล่าวจะแบ่งที่ให้ตั้งแต่บ้านใหม่ไปถึงบ้านใดตะวันตกตะวันออก ทิศเหนือ ทิศใต้ ไปจดเพียงบ้านไรซึ่งเป็นเขตต์แขวงเมืองยโสธรก็สุดแต่พระสุนทรราชวงศา อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร จะปฤกษาหารือเห็นชอบเห็นควรแล้วให้พร้อมกันปักหลักเสาไม้แก่นไว้เป็นสำคัญ มอบให้หลวงประชาราษฎร์รักษาเจ้าเมือง อัคฮาด อัควงศ์ วรบุตรดูแลว่ากล่าวตามอย่างเมืองน้อยในเมืองใหญ่ต่อไป ห้ามอย่าให้ไปรุกเขตต์แดนปักเอาที่ดินหัวเมืองใกล้เคียงมาเป็นเขตต์แขวงเมืองวานรนิวาส อย่าให้มีความวิวาทเกี่ยวข้องต่อไปได้เป็นอันขาดทีเดียว และเมืองวานรนิวาสเป็นเมืองตั้งใหม่ ยังไม่รู้กฎหมายอย่างธรรมเนียมการบ้านการเมือง ทั้งกรมการท้าวเพี้ยก็ขาดว่าง หลวงประชาราษฎร์รักษาจะขอผู้ใดเป็นที่ใด ก็ให้พระสุนทรราชวงศาจัดแจงตั้งแต่งขึ้น ให้ครบตามตำแหน่งที่ มีราชการมาจะได้ใช้สอยต่อไป แล้วให้พระสุนทรราชวงศาดูแลทำนุบำรุงว่ากล่าวสั่งสอน หลวงประชาราษฎร์รักษา อัคฮาด อัควงศ์ วรบุตร ให้รักษาสัตย์สุจริตคิดทำราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยซื่อตรงจงรักภักดี จะมีราชการบ้านเมืองและคดีความมาประการใด ให้ปฤกษาหารือพระสุนทรราชวงศา อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรจะบังคับบัญชาที่เป็นราชการสิ่งใด ก็ให้หลวงประชาราษฎร์รักษา อัคฮาด อัควงศ์ วรบุตรฟังบังคับพระสุนทรราชวงศา อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองยโสธรผู้ใหญ่ ให้อัคฮาด อัควงศ์ วรบุตร ท้าวเพี้ยฟังบังคับหลวงประชาราษฎร์รักษาแต่ซึ่งชอบด้วยราชการ อย่าให้มีความรังเกียจถือเปรียบแก่งแย่งให้เสียราชการไปแต่อย่างใดอย่างหนึ่งได้ ประการหนึ่งเมืองวานรนิวาสพึ่งตั้งขึ้นใหม่ ไพร่พลครอบครัวยังไม่มีที่ทำมาหากิน ให้หลวงประชาราษฎร์รักษา อัคฮาด อัควงศ์ วรบุตร ดูแลทำนุบำรุงท้าวเพี้ยครอบครัวไพร่พลเมืองให้ได้ทำไร่นาทำมาหากินตั้งเหย้าเรือนเป็นภาคภูมิ ให้บ้านเมืองบริบูรณ์มั่งคั่งขึ้นจงได้ อนึ่งท้าวเพี้ยไพร่พลเมืองจะมีคดีถ้อยความร้องฟ้องเกี่ยวข้องกันเป็นแต่ความเบ็ดเสร็จ ก็ให้หลวงประชาราษฎร์รักษา ท้าว อัคฮาด อัควงศ์ วรบุตร ปฤกษาหารือกันชำระว่ากล่าวพิพากษาตัดสินโดยยุตติธรรมให้เป็นแล้วกัน อย่าให้ความราษฎรค้างช้าได้ความเดือดร้อน ถ้าเป็นความมหันตโทษข้อใหญ่ ก็ให้เอาข้อความไปแจ้งกับพระสุนทรราชวงศา อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ท้าวเพี้ยเมืองยโสธร จะได้ว่ากล่าวตัดสินให้สำเร็จตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมบ้านเมืองสืบมาแต่ก่อน ประการหนึ่ง ไพร่พลเมือง ๆ วานรนิวาสยังน้อยเบาบางอยู่ ให้หลวงประชาราษฎร์รักษา ท้าวอัควงศ์ ท้าววรบุตร ท้าวเพี้ยปฤกษาหารือกับพระสุนทรราชวงศา อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ท้าวเพี้ยเมืองยโสธรคิดอ่านแต่งท้าวเพี้ยข้ามไปเกลี้ยกล่อมครอบครัว วกพ้องซึ่งยังหลบหนีตกค้างอยู่ฟากของตะวันออก เอามาเพิ่มเติมใส่บ้านเมืองเข้าอีกให้ได้จงมาก ให้บ้านเมืองมีไพร่พลบริบูรณมั่งคั่งขึ้นจะได้เป็นเกียรติยศและความชอบสืบไป อนึ่งให้หลวงประชาราษฎร์รักษา ท้าวอัควงศ์ ท้าววรบุตร บุตรหลานท้าวเพี้ยมีใจเลื่อมใสในกองการกุศลสร้างวัดวาอารามขึ้นไว้สำหรับบ้านเมืองทำนุบำรุงพระสงฆ์สามเณร ให้ปฏิบัติเล่าเรียนฝ่ายคันถธุระฝ่ายวิปัสนาธุระให้พระสาสนาถาวรรุ่งเรือง จะได้เป็นที่ไหว้ที่สักการบูชา และทำบุญให้ทานเป็นกองการกุศลสืบไป อนึ่งเมืองอากาศอำนวยแต่ก่อนรับทำส่วยเร่ว ครั้งนี้ผู้คนครอบครัวตัวเลขมาเป็นเมืองวานรนิวาสขึ้นเมืองยโสธรแล้ว เลขฉกรรจ์มีอยู่ ๔๖๐ คน เคยทำส่วยเร่วแต่ก่อนปีละเท่าใด ก็ให้หลวงประชาราษฎร์รักษา อัคฮาด อัควงศ์ วรบุตร เกณฑ์เลขออกเก็บผลเร่วส่วย ส่งลงไปทูลเกล้า ฯ ถวายให้ครบจำนวนเสมอทุกปี อย่าให้เร่วส่วยขาดค้างล่วงงวดล่วงปีไปได้ ประการหนึ่งให้เจ้าเมือง อัควงศ์ อัคบุตรกำชับกำชาไพร่บ้านพลเมือง อย่าให้คบหาพากันสูบฝิ่น กินฝิ่น ซื้อฝิ่น ขายฝิ่น และเป็นโจรผู้ร้าย ฉกชิงฉ้อกระบัตรข่มเหงราษฎรลูกค้าวาณิชให้ได้ความยากแค้นเดือดร้อนได้ ถ้าถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุษสารทก็ให้หลวงประชาราษฎร์รักษา ท้าวอัควงศ์ วรบุตร บุตรหลานท้าวเพี้ยไปพร้อมด้วยพระสุนทรราชวงศา อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรที่วัดวาอารามจำเพาะพระพักตรพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า บ่ายหน้าต่อกรุงเทพ ฯ กราบถวายบังคม กระทำสัตยานุสัตย์ ถวายต่อใต้ฝ่าละออง ฯ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒสัจจาปีละ ๒ ครั้ง ตามอย่างตามธรรมเนียมเสมอจงทุกปีสืบไป

สารตรามาณวัน ๒ ๘ ค่ำ ปีระกาตรี๑๑ศก

ค่าธรรมเนียม

เดิมเรียกค่าธรรมเนียมอย่างตรี คือ พระศรีวรราชเป็นเจ้าเมือง ค่าตั้ง ๒ ชั่ง ค่าตรา ๑ ชั่ง ค่าเบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง ๑ บาท รวมเป็น ๓ ชั่ง ๕ ตำลึง ๑ บาท ให้ ๑ ชั่ง ๑๕ ตำลึง % ท้าวสุริยะเป็นอุปฮาด ค่าตั้ง ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ค่าตรา ๑๕ ตำลึง ค่าเบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง ๑ บาท รวมเป็น ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๑ บาท ให้ ๑ ชั่ง ๕ ตำลึง % ท้าวขัติยะเป็นราชวงศ ค่าตั้ง ๑ ชั่ง ค่าตรา ๑๐ ตำลึง ค่าเบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง ๑ บาท รวมเป็น ๑ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๑ บาท ให้ ๑๗ ตำลึง % พระศรีวรราช กับราชบุตร ค่าตั้ง ๑๕ ตำลึง ค่าตรา ๗ ตำลึง ๒ บาท ค่าเบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง ๑ บาท รวมเป็น ๑ ชั่ง ๗ ตำลึง ๓ บาท ราชบุตรให้ ๑๐ ตำลึง พระศรีวรราชให้ ๘ ตำลึง %

เดิมเรียกค่าธรรมเนียมอย่างเมืองอากาศอำนวย ท้าวจันโสมเป็นเจ้าเมือง ค่าตั้ง ๑๐ ตำลึง ค่าตรา ๕ ตำลึง ค่าเบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง ๑ บาท รวมเป็น ๑ ชั่ง ๑ บาท ให้ ๑๐ ตำลึง % ท้าวโพธิสารเป็นอัคฮาด ค่าตั้ง ๘ ตำลึง ค่าตรา ๔ ตำลึง ค่าเบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง ๑ บาท รวมเป็น ๑๗ ตำลึง ๑ บาท ให้ ๗ ตำลึง ๑ บาท %

พระสุนทร ๑ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ตั้ง ๑ ชั่ง ตรา ๑๐ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง แบ่งตั้ง ๑ ชั่ง รับสั่ง ๑ ตำลึง สั่งยก ๓ บาท ตรา ๑๐ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง ๑ บาท % อุปฮาด ๑ ชั่ง ๕ ตำลึง ตั้ง ๑๕ ตำลึง ตรา ๕ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง แบ่งตั้ง ๑๕ ตำลึง รับสั่ง, สั่งยก เจียด ๑ ตำลึง ๓ บาท ตรา ๕ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง ๑ บาท % ราชวงศ ๑๗ ตำลึง ตั้ง ๘ ตำลึง ตรา ๔ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง แบ่งตั้ง ๘ ตำลึง สั่งกับยกเจียด ๑ ตำลึง ๓ บาท ตรา ๔ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง ๑ บาท % ราชบุตร ๑๐ ตำลึง ตั้ง ๓ ตำลึง ๑ บาท ตรา ๑ ตำลึง ๒ บาท เบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง ๑ บาท แบ่งตั้ง ๓ ตำลึง ๑ บาท สั่งกับยกเจียด ๑ ตำลึง ๓ บาท ตรา ๑ ตำลึง ๒ บาท เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง ๑ บาท % พระศรีวรราช ๘ ตำลึง ตั้ง ๓ ตำลึง ๑ บาท ตรา ๑ ตำลึง ๒ บาท เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง ๑ บาท แบ่งตั้ง ๓ ตำลึง ๑ บาท สั่งกับยกเจียด ๑ ตำลึง ๓ บาท ตรา ๑ ตำลึง ๒ บาท เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง ๒ บาท %

หลวงประชาราษฎร์รักษา ๑๐ ตำลึง ตั้ง ๓ ตำลึง ๑ บาท ตรา ๑ ตำลึง ๒ บาท เบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง ๑ บาท แบ่งตั้ง ๓ ตำลึง ๑ บาท สั่งกับยกเจียด ๑ ตำลึง ๓ บาท ตรา ๑ ตำลึง ๒ บาท เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง ๑ บาท

อัคฮาด ๗ ตำลึง ๑ บาท ตั้ง ๓ ตำลึง ตรา ๑ ตำลึง ๒ บาท เบ็ดเสร็จ ๒ ตำลึง ๓ บาท แบ่งตั้ง ๓ ตำลึง รับกับสั่ง ๑ ตำลึง ๓ บาท ตรา ๑ ตำลึง ๒ บาท เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง %

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ