ร่างตราถึงเมืองยโสธร
ตั้งพระศรีวรราชเป็นพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมือง
ท้าวสุริยวงศเป็นอุปฮาด ท้าวขัติยะเป็นราชวงศ
ท้าวพิมสารเป็นราชบุตร ท้าวสุพรหมเป็นพระศรีวรราช
กับพระบรมราโชวาทสำหรับที่เจ้าเมือง
วันพุธแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกาตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓
----------------------------
สารตรา เจ้าพระยาจักรี มาถึงเมืองแสนเมืองจันท้าวเพี้ย เมืองยโสธร
ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าสั่งว่า พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรป่วยถึงแก่อสัญกรรม ที่เจ้าเมืองว่างอยู่ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้พระศรีวรราชผู้ช่วยราชการบุตรพระสุนทรราชวงศา ว่าราชการเมืองมาด้วยท้าวเพี้ยกรมการก็นานหลายปี ไม่มีคดีความสิ่งใดลงมาให้ขัดเคืองใต้ฝ่าละออง ฯ ครั้นโปรดเกล้าให้เจ้าพระยานครราชสีมาขึ้นมาเป็นแม่กองสักเลข ก็นำท้าวเพี้ยตัวเลขมาสักกับหลังมือได้ผู้คนมาก แล้วแต่งท้าวเพี้ยคุมช้างต่อหมอควานข้ามไปเสาะแสวงหาช้างณป่าระแด ท้าวเพี้ยคล้องได้ช้างพังเผือกชักนำมาถึงบ้านถึงเมือง ก็ไม่นิ่งรอไว้ให้เนิ่นช้านำช้างมาแจ้งกับเจ้าพระยานครราชสีมา และมีใบบอกลงมาให้กราบบังคมทูลพระกรุณามีความชอบมาก พอจะเป็นที่พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองรักษาบ้านรักษาเมือง ตัดสินคดีของราษฎรไปได้ จึงโปรดเกล้าให้พระราชทานนามสัญญาบัตรประทับพระราชลัญจกรตั้งพระศรีวรราชเป็นที่พระสุนทรราชวงศามหาขัติยชาติ ประเทศราชดำรงศักดิ์ยศฤาไกรศรีพิชัยสงคราม ถือศักดินา... ไร่ โปรดให้พระราชทานพานหมาก เงินกลมถมทองปากจำหลักกลีบบัว ๑ เครื่องในทองคำ ยวงหมาก ๒ ผะอบ ๒ ตลับสีผึ้ง ๑ ซองพลู ๑ ซองบุหรี่ ๑ มีดหมาก ๑ เล่ม รวมเป็น ๑ สำรับ คนโททองคำ ๑ กะโถนเงินถม ๑ ประคำทองคำสาย ๑ กระบี่บั้งทองคำห้าบั้ง ๑ เล่ม สัปทนปัสตูคัน ๑ เสื้อกำมะหยี่ ๑ หมวกตุ้มปี่กำมะหยี่ ๑ สำรับ ปืนชะนวนทองแดงต้นเลียมบอก ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วดี ๑ เสื้อแพรจีนจาว ๑ แพรสีติดกลีบ ๑ ส่านไทยปักทอง ๑ ผ้าปูมเขมร ๑ ผ้าลายเดียว ๑ แพรขาวหงอนไก่ลายเพลา ๑ แพรขาวโลผืน ๑ เป็นเครื่องยศบรรดาศักดิ์ ให้พระศรีวรราชผู้เป็นพระสุนทรราชวงศา ว่าราชการรักษาบ้านเมืองตามอย่างหัวเมืองลาวข้าขอบขัณฑเสมาสืบไป และให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองบังคับบัญชาว่าราชการบ้านเมืองตัดสินสำเร็จกิจสุขทุกข์ของอาณาประชาราษฎรพร้อมด้วยอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ท้าวเพี้ยโดยยุตติธรรมแต่ก่อนสืบ ๆ มา ให้อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ท้าวเพี้ยฟังบังคับบัญชาพระสุนทรราชวงศาผู้ใหญ่แต่ชอบด้วยราชการ อย่าให้มีความรังเกียจถือเปรียบแก่งแย่งให้เสียราชการไปแต่อย่างใดอย่างหนึ่งได้ และพระบรมราโชวาทสำหรับที่เจ้าเมืองนั้น ได้โปรดเกล้าพระราชทานขึ้นมาด้วยฉะบับหนึ่งความแจ้งอยู่แล้ว ให้พระสุนทรราชวงศาหมั่นดูพระบรมราโชวาทให้รู้ไว้จงทุกข้อทุกกระทง จะได้บังคับบัญชาราชการบ้านเมืองให้ถูกต้อง แล้วให้พระสุนทรราชวงศาเอาพระบรมราโชวาทอ่านให้บุตรหลานแสนท้าวฟังจะได้ปฏิบัติสืบไป อนึ่งเมืองยโสธรทำส่วยผลเร่วส่วยผ้าขาวอยู่แต่ก่อนอย่างไร ครั้งนี้โปรดเกล้า ฯ ตั้งพระศรีวรราชเป็นที่พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรแล้ว ถ้าถึงงวดถึงปีจะส่งผลเร่วส่งเงินส่วยผ้าขาว ก็ให้พระสุนทรราชวงศาชำระเร่งรัดส่งผลเร่วส่งเงินส่วยผ้าขาวจำนวนปีและค้างส่งลงมาให้ครบ ตามเคยส่งมาแต่ก่อน อย่าให้ส่วยผลเร่วส่วยผ้าขาวของหลวงขาดค้างล่วงงวดล่วงปีไปได้
สารตรามาณวัน ๔ ๑๑ฯ ๘ ค่ำ ปีระกาตรี๑๑ศก
ร่างตรานี้พระราชเสนาทำ ๆ แล้วเอามาส่งสั่งว่ากราบเรียนพณ ฯ สมุหนายกแล้ว มีบัญชาสั่งว่าให้มีไปตามร่างนี้เทอญ
วัน ๘ฯ ค่ำ พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองไปรับตราตั้งที่จวนไปแล้ว
ด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชวาทให้พระศรีวรราชผู้เป็นที่พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรขึ้นมารักษาบ้านเมืองปกครองญาติพี่น้องอาณาประชาราษฎรโดยยุตติธรรมตามอย่างสืบมาแต่ก่อน ให้อุปฮาดราชวงศ์ราชบุตร์ญาติพี่น้องท้าวเพี้ยผู้ใหญ่ผู้น้อยในเมืองยโสธร เมืองขึ้นฟังบังคับบัญชาพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองโดยชอบด้วยราชการตามขนบธรรมเนียม อย่าให้ถือเปรียบแก่งแย่งให้เป็นอริวิวาทแก่กันให้เสียราชการแผ่นดินไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ และให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธร อุปฮาด ราชวงศ์ราชบุตร์ญาติพี่น้องท้าวเพี้ยทั้งปวงจงประนบประนอมกันตามฉันผู้ใหญ่ผู้น้อย จะมีราชการบ้านเมืองและการศึกสงครามประการใด ก็ให้พร้อมมูลกันคิดอ่านทำราชการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยใจซื่อสัตย์สุจริตต่อราชการแผ่นดิน ช่วยกันรักษาบ้านเมืองขอบขัณฑเสมารักษาด่านทางสืบสวนข่าวราชการอย่าให้มีความประมาท จะมีราชการศึกสงครามทางใดก็ให้ช่วยกันจัดแจงสู้รบป้องกันรักษาเขตต์แดนไว้กว่ากองทัพกรุงเทพฯ และกองทัพหัวเมืองที่ใกล้จะขึ้นมาถึง อย่าให้เสียเขตต์แดนกับข้าศึกได้ ประการหนึ่งให้ตรวจตราดูค่ายคูบ้านคูเมืองปืนใหญ่ปืนคาบศิลาเครื่องศัสตราวุธกระสุนดินดำให้มีบริบูรณ์พร้อมมูลไว้สำหรับบ้านสำหรับเมือง กับให้ทำนุบำรุงทหารรี้พลให้พร้อมสรรพ จะมีราชการคุกค่ำคืนประการใดก็ให้พรักพร้อมทันท่วงทีราชการ ประการหนึ่งให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรอุปฮาดราชวงศ์ราชบุตร์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ให้มีใจกอบไปด้วยเมตตากรุณาโอบอ้อมทำนุบำรุงญาติพี่น้องท้าวเพี้ยไพร่บ้านพลเมืองลูกค้าวาณิชให้อยู่เย็นเป็นสุข กับให้ปลงใจลงในพระพุทธสาสนาปฏิสังขรณ์สร้างวัดวาอารามบำรุงพระสงฆ์สามเณรให้ปฏิบัติเล่าเรียนปริยัติธรรมให้พระพุทธสาสนาถาวรไปภายหน้า จะได้เป็นกองการกุศลผลประโยชน์สืบไป ประการหนึ่งเมืองยโสธรจัดแจงแต่งกองไปลาดตระเวนสืบสวนราชการ และทำส่วยอยู่แต่ก่อนอย่างไร ก็ให้จัดกองไปลาดตระเวน และเกณฑ์ไพร่ไปเก็บเร่วเหมือนแต่ก่อนอย่าให้ขาด ถ้าถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุษสารท ก็ให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรอุปฮาดราชวงศ์ราชบุตร์ท้าวเพี้ยผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันณวัดวาอาราม จำเพาะพระพักตร์พระพุทธพระธรรมพระสงฆเจ้าบ่ายหน้าต่อกรุงเทพฯ กราบถวายบังคมกระทำสัตยานุสัตย์ถวายต่อใต้ฝ่าละอองฯ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒสัจจาปีละ๒ ครั้ง ตามอย่างตามธรรมเนียมสืบไป อนึ่งที่กรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้จีนรับทำภาษีซื้อขายฝิ่นแต่จีนพวกเดียว คนที่เป็นเพศไทยมิได้เป็นเพศจีนนั้น ห้ามไม่ให้ซื้อขายฝิ่น ความแจ้งอยู่ในพระราชกติกาซึ่งให้ตีพิมพ์ลงในกระดาษฝรั่งแจกไปถึงผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือนั้นแล้ว ให้พระสุนทรราชวงศากำชับห้ามปรามบุตร์หลานท้าวเพี้ยไพร่บ้านพลเมืองอย่าให้คบหาพากันสูบฝิ่นซื้อฝิ่น ขายฝิ่นและเป็นโจรผู้ร้ายทำลายพระพุทธรูปพระเจดียฐานพระอุโบสถพระวิหาร และฆ่าช้างเอางาขนาย ฆ่าสัตว์อันมีคุณ ซื้อขายสิ่งของต้องห้าม กระทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปรามเก่าใหม่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นอันขาดทีเดียว
พระบรมราโชวาทให้ไว้ณวัน ๔ ๑๑ฯ ๘ ค่ำมีระกาตรี๑๑ศก
ร่างตราพระบรมราโชวาทที่พระราชเสนาทำ ๆ แล้วเอามาส่งสั่งว่ากราบเรียนพณ ฯ สมุหนายกแล้ว มีบัญชาสั่งว่าให้มีไปตามร่างนี้เถิด
วัน ๘ฯ ค่ำพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองไปรับเอาพระบรมราโชวาทที่จวนไปแล้ว
สารตรา เจ้าพระยาจักรี ฯ มาถึงเมืองแสนเมืองจันท้าวเพี้ยเมืองยโสธร
ด้วยมีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าสั่งว่าโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระศรีวรราชเป็นที่พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธร แล้วมีอุปฮาดราชวงศ์ราชบุตรยังว่างอยู่หามีตัวไม่ พระสุนทรราชวงศา จะชอบใจผู้ใดเป็นอุปฮาดราชวงศ์ราชบุตรก็ให้เลือกสรรดู จะได้จัดแจงตั้งแต่งขึ้นไปช่วยพระสุนทรราชวงศารักษาบ้านรักษาเมืองทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป พระสุนทรราชวงศาให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ท้าวสุริยวงศ์ เป็นบุตรอุปฮาด ท้าวขัติยเป็นบุตรท้าวจันศรีสุราษฎร์ ท้าวพิมสารเป็นบุตรอุปฮาด ท้าวสุพรหมเป็นบุตรพระสุนทรราชวงศา เป็นคนเทือกเถาได้ทำราชการมาช้านานรู้ขนบธรรมเนียมการบ้านเมือง พอจะเป็นที่อุปฮาดราชวงศ์ราชบุตรพระศรีวรราชได้ ขอรับพระราชทานท้าวสุริยวงศ์เป็นอุปฮาด ท้าวขัติยเป็นราชวงศ์ ท้าวพิมสารเป็นราชบุตร ท้าวสุพรหมเป็นพระศรีวรราช ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณด้วยพระสุนทรราชวงศาต่อไป จึงทรงพระราชดำริเห็นว่าท้าวสุริยวงศ์ ท้าวขัติย ท้าวพิมสาร ท้าวสุพรหมก็เป็นบุตรหลานพระสุนทรราชวงศาคนเก่า ควรจะชุบเลี้ยงให้มียศถาศักดิ์โดยลำดับกันตามผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งพระสุนทรราชวงศาขอท้าวสุริยวงศ์เป็นที่อุปฮาด ท้าวขัติยเป็นที่ราชบุตร ท้าวสุพรหมเป็นที่พระศรีวรราชนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานนามสัญญาบัตร ประทับพระราชลัญจกรตั้งท้าวสุริยวงศ์เป็นอุปฮาด ท้าวขัติยเป็นราชวงศ์ ท้าวพิมสารเป็นราชบุตร ท้าวสุพรหมเป็นพระศรีวรราช ท้าวสุริยวงศ์เป็นที่อุปฮาด ให้พระราชทานพานหมากเงินปากจำหลักกลีบบัว ๑ เครื่องในเงินถมเขียวปริกทองคำ คือ ยวงหมาก ๒ ผะอบ ๒ ตลับสีผึ้ง ๑ ซองพลู ๑ ซองบุหรี่ ๑ มีดหมากเล่ม ๑ รวม ๘, เป็นสำรับ ๑ คนโทเงินถม ๑ กระโถนเงินถม ๑ รวมเป็น ๒, สำรับ ๑ สัปทนแพรริ้วแดง ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขาว ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ผ้าดำปักทองมีซับใน ๑ แพรหงอนไก่ลาย ๑ ผ้าปูมเขมรผืน ๑ รวมเป็น ๕ ท้าวขัติยผู้เป็นที่ราชวงศ์พระราชทานถาดหมากเงิน ๑ คนโทเงิน ๑ เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ผ้าส่านวิลาตผืน ๑ แพรหงอนไก่ลาย ๑ ผ้าปูมเขมร ๑ ท้าวพิมสารผู้เป็นที่ราชบุตรพระราชทาน เสื้อเข้มขายดอกใบพัสเทิม ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ผ้าส่านวิลาต ๑ แพรหงอนไก่ขาวผืน ๑ ผ้าปูมเขมรผืน ๑ ท้าวสุพรหมผู้เป็นที่พระศรีวรราชพระราชทาน เสือเข้มขาบดอกใบพัสเทิม ๑ ผ้าส่านวิลาตผืน ๑ แพรหงอนไก่ผืน ๑ ผ้าปูมเขมรผืน ๑ เป็นเครื่องยศถาศักดิ์ ให้ท้าวสุริยวงศ์เป็นที่อุปฮาด ท้าวขัติยเป็นที่ราชวงศ์ ท้าวพิมสารเป็นที่ราชบุตร ท้าวสุพรหมเป็นที่พระศรีวรราช ขึ้นมารับราชการรักษาบ้านเมือง และชำระกิจสุขทุกข์ของราษฎร พร้อมด้วยพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองท้าวเพี้ยตามอย่างธรรมเนียมสืบมาแต่ก่อน ให้อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร พระศรีวรราชฟังบังคับบัญชาพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมือง ให้ท้าวเพี้ยผู้ใหญ่ผู้น้อยในเมืองยโสธรนั่งบังคับบัญชาอุปฮาดราชวงศ์ราชบุตรพระศรีวรราช แต่ซึ่งชอบด้วยราชการ จงประนบประนอมกันตามฉันผู้ใหญ่ผู้น้อย จะมีการศึกสงครามและราชการบ้านเมืองประการใด ก็ให้ปฤกษาหารือพระสุนทรราชวงศาให้พร้อมมูลกัน อย่ามีความรังเกียจถือเปรียบแก่งแย่งกันให้เสียราชการแผ่นดินไปแต่อย่างใดอย่างหนึ่งได้ ประการหนึ่งให้อุปฮาดราชวงศ์ราชบุตรพระศรีวรราชมีน้ำใจโอบอ้อมญาติพี่น้องท้าวเพี้ยไพร่บ้านพลเมืองลูกค้าวาณิชให้ได้ทำมาหากินอยู่เย็นเป็นสุข อย่ากระทำข่มเหงเบียดเบียฬบ่าวไพร่ให้ได้ความยากแค้นเดือดร้อน ประการหนึ่งวัดวาอารามแห่งใดชำรุดปรักหักพังอยู่ ก็ให้อุปฮาดราชวงศ์ราชบุตร พระศรีวรราชปฤกษาหารือพระสุนทรราชวงศา และชักชวนญาติพี่น้องท้าวเพี้ยไพร่บ้านพลเมืองช่วยกันปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงตกแต่งขึ้นไว้ให้มั่นคงงามดี จะได้เป็นกองการกุศลสืบไปภายหน้า อนึ่งฝิ่น โปรดเกล้า ฯ ให้จีนรับทำภาษีซื้อขายฝิ่นกันแต่ตามพวกจีน คนที่ไว้ผมเป็นเพศไทยห้ามไม่ให้ซื้อขายสูบฝิ่น ความแจ้งอยู่ในพระราชบัญญัตินั้นแล้ว ให้อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร พระศรีวรราชกำชับกำชาญาติพี่น้องบ่าวไพร่อย่าให้คบหาพากันสูบซื้อขายฝิ่น เป็นโจรผู้ร้ายฉกลักทรัพย์สิ่งของทองเงินเครื่องอัญมณีของสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร กระทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปรามเก่าใหม่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ถ้าถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุษสารท ก็ให้อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร พระศรีวรราช พร้อมด้วยพระสุนทรวงศาเจ้าเมืองท้าวเพี้ยณวัดวาอาราม จำเพาะพระพักตรพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า บ่ายหน้ายังกรุงเทพ ฯ กราบถวายบังคมกระทำสัตยานุสัตย์ถวายต่อใต้ฝ่าละออง ฯ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒสัจจาปีละ ๒ ครั้งตามอย่างธรรมเนียมเสมอทุกปีสืบไป
สารตรามาณวัน ๔ ๑๑ฯ ๘ ค่ำ ปีระกาตรี๑๑ศก
ร่างตรานี้ พระราชเสนาทำ ๆ แล้วพระราชเสนามาส่งให้สั่งว่า กราบเรียน ๆ พณ ฯ สมุหนายกแล้ว มีบัญชาสั่งว่าให้มีไปตามร่างตรานี้เถิด
วัน ๑๐ฯ ๘ ค่ำอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร พระศรีวรราชไปรับตราตั้งที่จวนไปแล้ว
ค่าธรรมเนียม
เดิมเรียกค่าธรรมเนียม พระศรีวรราชเป็นเจ้าเมือง ค่าตั้ง ๒ ชั่ง ค่าตรา ๑ ชั่ง ค่าเบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง ๑ บาท รวม ๓ ชั่ง ๕ ตำลึง ๑ บาท ให้ ๑ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ตั้ง ๑ ชั่ง ตรา ๑๐ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง แบ่งตั้ง ๑ ตำลึง รับสั่ง ๑ ตำลึง สั่งกับยกเจียด ๓ บาท ตรา ๑๐ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง %
ท้าวสุริยะเป็นอุปฮาด ค่าตั้ง ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ตรา ๑๕ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง รวมเป็น ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๑ บาท ให้ ๑ ชั่ง ๕ ตำลึง %
ท้าวขัติยะเป็นราชวงศ ค่าตั้ง ๑ ชั่ง ค่าตรา ๑๐ ตำลึง ค่าเบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง ๑ บาท รวมเป็น ๑ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ให้ ๑๗ ตำลึง %
พระศรีวรราชกับราชบุตร ๒ คน ค่าตั้ง ๑๕ ตำลึง ค่าตรา ๗ ตำลึง ๒ บาท ค่าเบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง ๑ บาท รวมเป็น ๑ ชั่ง ๗ ตำลึง ๓ บาท ราชบุตรให้ ๑๐ ตำลึง พระศรีวรราชให้ ๘ ตำลึง %
อุปฮาด ๑ ชั่ง ๕ ตำลึง ตั้ง ๑๕ ตำลึง ตรา ๕ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง แบ่งตั้ง ๑๕ ตำลึง รับสั่ง สั่ง และยกเจียด ๑ ตำลึง ๓ บาท ตรา ๕ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง ๑ บาท %
ราชวงศ ๑๗ ตำลึง ตั้ง ๘ ตำลึง ตรา ๔ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง แบ่งตั้ง ๘ ตำลึง สั่งกับยกเจียก ๓ ตำลึง ๓ บาท ตรา ๔ ตำลึง เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง ๑ บาท %
ราชบุตร ๑๐ ตำลึง ตั้ง ๓ ตำลึง ๑ บาท ตรา ๑ ตำลึง ๒ บาท เบ็ดเสร็จ ๕ ตำลึง ๑ บาท แบ่งตั้ง ๓ ตำลึง ๑ บาท สั่งกับยกเจียด ๑ ตำลึง ๓ บาท ตรา ๑ ตำลึง ๒ บาท เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง ๑ บาท %
พระศรีวรราช ๘ ตำลึง ตั้ง ๓ ตำลึง ๑ บาท ตรา ๑ ตำลึง ๑ บาท เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง ๑ บาท แบ่งตั้ง ๓ ตำลึง ๑ บาท สั่งกับยกเจียด ๑ ตำลึง ๓ บาท ตรา ๑ ตำลึง ๒ บาท เบ็ดเสร็จ ๓ ตำลึง ๑ บาท %