เดือน ๑๐ จุลศักราช ๑๒๔๐

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน

พระราชนิพนธ์

ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐ (พ.ศ. ๒๔๒๒)

วันพุธขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๑๐ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑. เวลาเช้า ๔ โมงเศษเกือบ ๕ โมง ทรงฉลองพระองค์เยียระบับ เครื่องราชอิสสริยยศนพรัตนราชวราภรณ์ ทรงพระราชยานลงยาราชาวดีเสด็จวังกรมหมื่นเจริญผลภูลสวัสดิ์ ได้ฤกษ์ (เช้า ๓ โมง จน ๔ โมง ๒๕ พ้นฤกษ์) กรมเจริญสรงที่ชลาชั้นล่างด้านใต้ พระราชทานน้ำแล้ว วังหน้าเสด็จที่วัด สมเด็จกรมพระ กรมหลวงวรศักดา กรมขุนภูวนัย กรมขุนบดินทร สมเด็จเจ้าพระเจ้า เจ้าพระยาสุรวงศ์ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ เจ้าพระยาธรรมา แก้าพระยาศรีพิพัฒน์ ทูลกระหม่อมปราสาท พระองค์แม้นเขียน พระองค์เงินยวง พระองค์แสงจันทร์ พระองค์สุบงกช พระองค์จามรี เจ้าคุณกลาง ท้าววรจันทร์ ท้าวสมศักดิ์ ท้าวโสภา เจ้าจอมมารดาของท่าน แล้วแต่งพระองค์สีเขียวมาทรงยืนฟังประกาศ พระศรีสุนทรน้อยเป็นผู้อ่าน แล้วพระราชทานพระสุพรรณบัตร์ แหวนนพเก้า ซองบุหรี่ ที่ชา พระแสงฝักทอง (ครั้งนี้หาได้ทรงศีลไม่) แล้วท่านถวายดอกไม้ธูปเทียน ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน ถุงบุหงาเงิน บุหงาทอง พระสงฆ์ถวายอติเรก แล้วเสด็จกลับ กรมขุนเจริญท่านก็ถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน กับธูปเทียนวังหน้า แล้วถวายธูปเทียนเจ้านายและสมเด็จเจ้าพระยา เสนาบดี เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาจะไปว่ากับกรมหมื่นเจริญว่ามีอยู่องค์เดียวแล้วรักษาพระองค์ให้ดีอย่าฟุ้งซ่านไป แล้วท่านก็ไปถวายธูปเทียนเจ้านายข้างใน เลิกการเวลาเที่ยง

๒. รับสำเนาหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งหนังสือเมซัน ๒ ฉะบับ ฉะบับ ๑ การประชุมที่เบอร์ลิน เลิกเมื่อวันที่ ๑๓ ยุไล “ หลอร์ดบิคอนฟินด์กับหลอร์ดเซลลิศบุรี ราชทูตอังกฤษได้กลับมากรุงลอนดอนแล้ว หนังสือสัญญาที่ตกลงกันนั้น ได้คัดมาจากจดหมายเหตุซีไตม์ส่งมาให้ทราบ หนังสือสัญญานี้ลงพิมพ์เป็นสมุดมีแผนที่ด้วย ถ้าแล้วจะส่งเข้ามา อนึ่งว่าได้ส่งหนังสือประกาศคอเวอนแมนต์อังกฤษให้แกว่าราชการที่กงสุลเยเนอราลสยามที่อังกฤษ และได้รับเอกษกวาเตอวันที่ ๑๖ ยุโล อนึ่งมิศเตอร์แคสเวลได้ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ ๓๐ ยูน เพื่อเข้าเป็นธุระจัดการของเขาเอง อนึ่งบอกด้วยมหาราชาเมืองยะโฮวาคอเวอนแมนต์อังกฤษ ให้เป็นรายาเมืองต่างๆ ที่ติดต่อกับยะโฮ มหารายาได้แต่อำนาจมาถึงเขตต์แดนหัวเมืองมะลายูที่ขึ้นกรุงสยามแล้ว เดี๋ยวนี้ยังอยู่ลอนดอน แล้วขออนุญาตทำตรากงสุลเยเนอราล หนังสือลงวันที่ ๑๙ ยุไล อีกฉะบับ ๑ ว่าด้วยความเห็นราษฎรในเมืองอังกฤษติเตียนโปลิติกว่าจัดการไม่เหมือนกับหนังสือเซกุเลอ ซึ่งหลอร์ดเซลศบุรีออก ส่งสมุดแผนที่มาด้วย หนังสือลงวันที่ ๒๖ ยุไล กับสำเนาหนังสือมิสเตอริดเมืองสิงคโปร์มีมาฉะบับหนึ่ง ว่าได้พบกับแอดเดอกงของเกาวนาสิงคโปร์แจ้งว่า การที่เกาวนาจะเข้ามากรุงเทพ ฯ ยังไม่มีกำหนด เวลานี้เรือรบที่สิงคไปร์ก็ยังไม่มี กับเช้าวันนี้มีสายโทรเลขมาที่สิงคโปร์ได้ประทานตราเซ็นไมล์เคอนเซนต์ยอชให้พระยาไทรบุรีหนังสือลงวันที่ ๒๓ ออคัสต์

๓. เจ้าพระยาภาณุวงศ์ถวายหนังสืออีกฉะบับ ๑ ว่าด้วยกฎหมายที่จะตั้งโรงสำหรับไว้น้ำมันปิโตรเลียมนั้น ท่านได้มีหนังสือไปปรึกษากงสุลต่างประเทศ แต่วันอังคารขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๗ บัดนี้กงสุลต่างประเทศตอบเห็นชอบยอมตามกฎหมาย ๘ กงสุล แค่กงสุลอังกฤษว่าลูกค้าหลายคนอยากจะตั้งโรงสำหรับเก็บน้ำมันของลูกค้าไว้เองทุกคน กับความเห็นอีก ๓ ข้อนั้นท่านได้นำไปเรียนสมเด็จเจ้าพระยา ๆ ว่าความเห็นกงสุลอังกฤษว่ามานี้ ก็เป็นการดีอยู่ ถ้าลูกค้าที่เป็นสับเยกต์ประเทศใดจะตั้งโรงเก็บน้ำมันแล้วก็ให้ตั้งได้แต่สับเยกต์ละโรง ถ้าลูกค้าประเทศเดียวกันมีน้ำมันเข้ามาก็ให้ไปเก็บไว้ในโรงประเทศเดียวกัน สับเยกต์ประเทศหนึ่งก็ให้มีโรงหนึ่ง ให้เหมือนกันทุกประเทศ จึงจะไม่เป็นที่หวงหึงแก่กัน ท่านเห็นดังนี้ สำเนาหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์มีไปลงวันอังคารขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๗ ว่าด้วยน้ำมันลูกค้าบรรทุกเข้ามามากใช้อยู่ในกรุงเทพ ฯ ทั่วไปเป็นที่น่ากลัวมาก ถ้าจะเกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนเรือแพขึ้นแล้ว น้ำมันก็จะเป็นเชื้อให้ไหม้มากขึ้น การจะช่วยดับเพลิงได้โดยยาก จึงได้ทรงปรึกษาพร้อมด้วยเสนาบดี ว่าต้องมีโรงสำหรับไว้น้ำมันในที่สวนแถบข้างล่าง ที่ห่างบ้านเรือนเหนือเมืองนครเขื่อนขันธ์ ถ้าลูกค้าบรรทุกน้ำมันเข้ามาขอให้ประพฤติดังกฎหมายทุกประการ ได้ลงเอสติเม็ตราคาที่จะต้องลงทุนทำโรงและรักษา กับกฎหมายบังคับเรือที่บรรทุกน้ำมันและลูกค้าที่ขายน้ำมันฉะบับ ๑ ไปให้ทุกกงสุล เมื่อกงสุลเห็นการประการใดให้แจ้งความมาให้ทราบ บัญชีเอสติเม็ตโรงยาว ๓๙ ฟุตครึ่ง กว้าง ๘๖ ฟุตครึ่ง สูง ๑๖ ฟุต เสาดั้ง ๑๒ ฟุต ไว้น้ำมันได้ ๑๖,๐๐๐ หีบ ฝาขัดแตะ เป็นเสาพื้นเครื่องบนไม้จริง หลังคาสังกะสี หน้าต่างที่บานและลูกกรงเหล็ก หลังคามีรางน้ำตกลงที่คูรอบโรง แล้วทิ้งดินขึ้นข้างคูข้างนอกเป็นคันสูง ๘ ฟุต กว้าง ๑๐ ฟุต ถ้าโดยเกิดเพลิงไม่ให้น้ำมันไหลลงแม่น้ำได้ แล้วมีสะพานข้ามชักได้ มีรั้วข้างนอกอีกแล้วปลูกต้นไม้รอบ ข้างนอกมีโรง ๆ อีก ๓ หลัง แล้วมีคูมีรั้วเหมือนกัน มีสะพานสำหรับขึ้นลงรวมประมาณเงิน ๑๑๕ ชั่ง และค่าใช้สอยสำหรับโรงนั้น การซ่อมแซมคิดเดือนละ ๕๐ บาท เสมียนคนหนึ่งเดือนละ ๖๐ บาท กุลี ๒ คนเดือนละ ๓๐ บาท คนนั่งยาม ๒ คนเดือนละ ๒๐ ธาท คนเรือ ๒ คนเดือนละ ๑๖ บาท รวมเดือนละ ๑๗๖ บาทที่จะต้องใช้เสมอทุกเดือน

กฎหมายข้อ ๑ ว่าเรือกลไฟและเรือใบลำหนึ่งลำใด ถ้าบรรทุกน้ำมันเข้ามาในกรุงเทพฯเกิน ๕๐๐ หีบแล้วต้องทอดสมอท้ายโรงน้ำมัน หรือแวะที่สะพานโรงน้ำมันก็ได้ ให้ขนน้ำมันขึ้นไว้บนโรงเสียก่อน แล้วจึงเข้ามาได้

ข้อ ๒ เรือไฟหรือเรือใบลำหนึ่งลำใต ถ้าบรรทุกน้ำมันไม่ถึง ๕๐๐ หีบ เรือลำนั้นจะเข้ามาก็ได้ แต่ต้องขนน้ำมันส่งไปไว้ที่โรงในกำหนด ๔๘ ชั่วโมง นับตั้งแต่เรือได้เข้าทอดสมอแล้ว

ข้อ ๓ เรือกลไฟหรือเรือลำหนึ่งลำใด ที่จะรับบรรทุกน้ำมันลงเรือก็ดี หรือขนขึ้นจากเรือก็ดี ห้ามมิให้มีผู้ถือไฟหรือสูบบุหรี่กล้องเข้ามาใกล้เคียงน้ำมัน ในเวลาที่ขนขึ้นขนลงนั้นให้เจ้าของผู้ที่รับผู้ที่ส่งน้ำมันต้องเป็นธุระตามระวัง

ข้อ ๔ ว่าห้ามมิให้เรือไฟเรือใบลำหนึ่งลำใด รับบรรทุกน้ำมันลงเรือหรือขนขึ้นในเวลากลางคืน และห้ามมิให้เอเยนต์และเจ้าของเรือไฟเรือใบ ขนน้ำมันขึ้นไว้ยนสะพานเกิน ๘ หีบขึ้นไป

ข้อ ๕ ว่าเรือลำหนึ่งลำใดที่บรรทุกน้ำมันเข้ามาในกรุงเทพฯ ถ้าเจ้าของเรือนั้น จะไม่จำหน่ายในกรุงเทพฯ เรือลำนั้นจะต้องทอดสมออยู่ท้ายโรงน้ำมัน ถ้าจะเข้ามาต้องขนน้ำมันขึ้นไว้ในโรงเสียก่น แล้วจึงจะเข้ามาได้ ถ้ามีเพียง ๘ หีบ ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย

ข้อ ๖ เรือลำเลียงลำหนึ่งลำใดที่รับบรรทุกน้ำมันต้องประพฤติตามกฎหมายนี้ทุกประการ และในเวลาที่รับบรรทุกน้ำมันอยู่พ้นเวลาบ่าย ๕ โมงแล้ว ห้ามมิให้เรือนั้นอยู่ในกำหนดที่ใกล้เคียงบ้านเรือน ให้เรือลำนั้นถอยไปจอดที่โรงน้ำมัน

ข้อ ๗ ลูกค้าที่เอาน้ำมันเข้ามาด้วยเรือลำหนึ่งลำใด ถ้ามีเกิน ๘ หีบแล้ว พอเรือลำนั้นเข้ามากรุงเทพฯ เจ้าของต้องบอกส่งน้ำมันไปไว้ที่โรง

ข้อ ๘ ว่าพ่อค้าผู้หนึ่งผู้ใด ที่จะเอาน้ำมันไว้ที่ตึกบ้านร้านเรือนโรงเรือแพที่ในกำหนดที่ใกล้เคียงบ้านเรือนในกรุงเทพฯ นั้น ไว้ได้แต่ ๘ หีบ คิดเป็น ๘๐ แกลอน ต้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใด เอาน้ำมันไว้ในที่แห่งเดียวเกิน ๘ หีบเป็นอันขาด

ข้อ ๙ ลูกค้าที่รับน้ำมันไว้ น้ำมันนั้นต้องไว้ในถังของเขาเองหรือเอาไว้ในที่อื่นให้มีฝาปิดก็ได้ ห้ามมิให้เอาน้ำมันไว้ในที่ภาชนะที่ไม่มีฝาปิดด้วย เพื่อจะไม่ให้ถูกไฟ ซึ่งผู้หนึ่งผู้ใดจะขีดไม้ขีดไฟสูบบุหรี่และไฟอื่น และเมื่อจะขายปลีกผู้ที่ขายน้ำมันนั้นต้องเป็นธุระระวัง อย่าขายด้วยภาชนะที่ไม่มีฝาปิด

ข้อ ๑๐ โรงที่รับ โรงที่ส่งน้ำมัน จะเปิดรับตั้งแต่เช้า ๒ โมง จนบ่าย ๕ โมง และผู้จัดการโรงน้ำมันจะคิดค่าเช่าโรงหีบหนึ่งเดือนละ ๔ เซ็นต์ครึ่ง เอาไว้ไม่ถึงเดือนต้องเรียก ๔ เซ็นต์ครึ่งเหมือนกัน กับค่าขนน้ำมัน ๒ เซ็นต์ และค่าส่งอีก ๒ เซ็นต์ เจ้าของน้ำมันที่เอาน้ำมันไว้ในโรงต้องเสียทุกเดือนที่ขนขึ้นขนลงด้วย ให้เรือลูกค้าที่บรรทุกน้ำมันและซื้อขายประพฤติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าทำผิดจะปรับไหมตามสมควรไม่เกิน ๔๐๐ บาท ทุกครั้งข้อกฎหมายนี้ ทำไว้จำเพาะจะได้กันมิให้เกิดเหลิง ผู้ที่ใช้น้ำมันปิโตรเลียมจะได้ระวัง แต่จะเอาข้อหนี่งข้อใดในกฎหมายนี้ หรือค่าปรับไหมนั้น จะยกไปลบล้างข้อกฎหมายแผ่นดินที่ว่าด้วยอาญาไฟไหม้และโทษผู้ซึ่งทำผิด เพราะทำให้ไฟไหม้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียไปนั้นไม่ได้

สำเนาหนังสือมิศเตอมูลเลอกงสุลสวิเดนนอรเวลงวันที่ ๑๙ ยูน ตรงกับวันพุธแรม ๔ ค่ำเดือน ๗ ยอมแต่ว่าค่าเช่าและรับส่งแรงอยู่สักหน่อย

สำเนาหนังสือมิสเตอริชแมนผู้ว่าราชการกงสุลออสเตรียลงวันที่ ๒๐ ยูน ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำเดือน ๗ เห็นด้วยยอม

สำเนาหนังสือมิศเตอเดวิดบิซิกเกอลกงสุลอเมริกัน ลงวันที่ ๒๐ ยูน เห็นด้วย

สำเนาหนังสือมิสเตอกอบเกกงสุลเดนมาร์ก ลงวันที่ ๒๐ ยอมเห็นด้วย

สำเนาหนังสือซิลยอกิงอิเซนเตอาลเมดา ผู้ว่าราชการแทนกงสุลโปรตุเกศ ลงวันที่ ๑๘ ยุไล ตรงวันจันทรขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๘ ว่าช้าเพราะป่วย ยอม

สำเนาหนังสือมิสเตอเดวิศบิซิกเกอลผู้ว่าราชการแทนกงสุลฮอลันดา ลงวันที่ ๑๒ ยุไล ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ ยอม

สำเนาหนังสือมิศเตอยุเกอ ผู้ว่าราชการแทนกงสุลอิตาลี ลงวันที่ ๑๖ ยุไล ตรงวันอังคาร แรม ๒ ค่ำเดือน ๘ ว่าถ้ากงสุลทุกประเทศตกลงอย่างไรก็ยอม

สำเนาหนังสือดอกเตอร์ฮารมันสตาเนียส กงสุลเยอรมันว่าเห็นดีด้วย แต่ข้อ ๑, ๒. ที่ว่ากำปั่นบรรทุกน้ำมัน ๕๐๐ หีบยอมให้ขึ้นมาในเมืองได้นั้น เห็นว่ามากนัก ถ้าน้อยกว่า ๕๐๐ หีบจะเป็นการดี ในข้อ ๗ นั้นเป็นการดี จะได้ช่วยลูกค้าไม่ให้เสียเวลาที่บรรทุกน้ำมันเข้ามากว่า ๘ หีบนั้น ให้มีผู้ใดในบางกอกนี้ เป็นผู้รับบอกของลูกค้าไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้จัดโรง เห็นสมควรเจ้าพนักงานภาษีร้อยชักสาม ในข้อ ๑๐ ว่าด้วยจะต้องเสียค่าเช่าค่าขนค่าส่งอยู่ข้างแรงนัก แต่แกยอมให้ปีหนึ่งตั้งแต่ออกกฎหมาย เมื่อสิ้นปีถ้าเงินเก็บได้มากกว่าที่คิดไว้นั้น หวังใจว่าจะลดลงให้สมควร อนึ่งผู้ที่จะจัดการโรงน้ำมันนั้น ต้องให้มีพวกจับกังอยู่เสมออย่าให้ขาดสำหรับรับน้ำมัน ถ้ากงสุลทุกประเทศยอมแล้ว แกก็จะบังคับคนใต้บังคับทำตามกฎหมาย ลงวันที่ ๒๑ ยูน ตรงวันศุกร์แรม ๖ ค่ำ เดือน ๗

สำเนาหนังสือมิศเตอนอกซ์กงสุลอังกฤษมีมาลงวันพุธแรม ๔ ค่ำ เดือน ๗ ว่าเขาเห็นว่า ถ้าตั้งกฎหมายนี้ไม่เปลี่ยนแปลงข้อ ๓ เรือไฟไม่อาจบรรงทุกน้ำมันปิโตรเลียมเข้ามาในกรุงเทพ ฯ เพราะถ้าเรือไฟดับไฟเมื่อยังไม่ถึงโรง ครั้นขนน้ำมันขึ้นแล้ว เมื่อจะถอยเรือออกแม่น้ำ กว่าจะติดไฟให้มีสติมขึ้นก็หลายชั่วโมง ขาดทุนกับเจ้าของเรือ อนึ่งน้ำมันนี้มักบรรทุกท้องเรือเพราะกลัวรั่วเสียของอื่นๆ ถ้าบรรทุกข้างบน เมื่อจะเอาน้ำมันขึ้นต้องรื้อของข้างบนก่อนจึงจะเอาขึ้นได้ ถ้าเป็นเรือใบก็จะต้องช้าเสียเวลามาก เว้นแต่เอามามากทีเดียว การเป็นดังนี้ การน้ำมันนี้คงจะตกอยู่ในมือพ่อค้าคนหนึ่งหรือสองคน หรือกำปนีเดียว และเป็นบุญของคนนั้น เพราะจะบรรทุกเอามาแต่พอดีไม่ให้ราคาถูก ไม่เป็นบุญกับคนที่ต้องซื้อ อนึ่งผู้ที่ดูแลรักษาโรงนั้น จะรู้แต่ผู้เดียวก่อนว่าน้ำมันน้อยลงไปเท่าใด จะบรรทุกเข้ามาอีกเท่าใด คนนั้นจะมีประโยชน์มาก เพราะเหตุนี้เขาอยากจะทราบว่าใครจะเป็นผู้รักษาโรงน้ำมัน อนึ่งจะเปลี่ยนข้อ ๓ ได้บ้างหรือไม่

สำเนาเจ้าพระยาภาณุวงศ์ตอบไปลงวันจันทรแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ว่าที่จะขอเปลี่ยนข้อ ๓ นั้น ขอให้ตรวจดูกฎหมายอีกครั้งก่อน ด้วยห้ามแต่คนสูบบุหรี่กล้อง หรือถือไฟเข้าไปใกล้น้ำมันในเวลาเมื่อขนขึ้นลง เห็นว่าไม่ได้โอบถึงเครื่องไฟ ข้อซึ่งว่าน้ำมันบรรทุกท้องเรือขนขึ้นยากจะเสียเวลานั้น ความข้อ ๒ ได้ว่าไว้แล้ว ข้อซึ่งว่าน้ำมันจะตกเป็นบุญแก่คนๆ เดียว ราคาจะตกเป็นบุญแก่คนๆ เดียว ราคาจะตกถูกได้นั้น เห็นว่ากฎหมายทั้ง ๑๐ ข้อไม่เป็นการปิดซื้อปิดขายเลย เพราะในกฎหมายว่าแต่เพียงใครมีน้ำมันมา ก็ให้เอาไปไว้ที่โรง จะขายใครก็ขายได้ ผู้ที่จะรักษาไม่มีอำนาจที่จะห้ามปราม ข้อซึ่งว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้รักษาคนเดียวนั้น เห็นว่าไม่มีอำนาจที่จะห้ามปรามเจ้าของน้ำมันที่จะเห็นน้ำมันในโรง เจ้าของน้ำมันมีธุระในการค้าขายก็คงเห็นน้ำมันในโรง คิดได้เอง กับถามด้วยใครจะรักษาโรงนั้น บอกไปว่ามิศเตอริสแมนเป็นผู้ดูแล มิศเตอริสแมนยอมรับจะทำตามกฎหมาย เพราะเห็นว่าเป็นการใหม่ไทยจะดูแลจัดการไม่เรียบร้อย แล้วจะเป็นการทุ่มเถียงเนือง ๆ จึงมอบให้มิศเตอริสแมนซึ่งเป็นพอค้าด้วยกัน ที่ถามด้วยจะเปลี่ยนข้อ ๓ นั้น ขอให้ชี้แจงมา ควรจะจัดได้ประการใดก็จะได้เปลี่ยนให้

สำเนาหนังสือมิศเตอนอกซ์ตอบเจ้าพระยาภาณุวงศ์มาอีกลงวันอังคาร แรม ๗ ค่ำเดือน ๙ ว่าขอบใจที่ออกชื่อผู้ที่จัดการโรงน้ำมันไป เขาได้หาตัวลูกค้าในบังคับอังกฤษมาปรึกษา เขาไม่อยากจะยอมให้ผู้ที่เป็นลูกค้าเกี่ยวข้องเป็นนายโรง แต่มิศเตอริสแมนก็เป็นคนดี นายอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ทีเป็นคนดีเหมือนกันคงไม่เป็นที่ขัดขวาง แต่พ่อค้าคงจะสงสัยว่าริสแมนจะเอาน้ำมันเขาเองบรรทุกเข้ามา ถ้าต่อไปริสแมนออกไปนอก ก็ไม่รู้ว่าผู้ใดจะรับทำต่อไป กลัวแต่จะถูกที่ไม่ควร แต่เขาเห็นว่าจะเอาน้ำมันไว้ในกรุงเทพฯ ก็น่ากลัว ต้องคิดอ่านแก้ความที่น่ากลัวนี้และกำปั่นใบ กำปั่นไฟ ช้านานลำบากเกินไป เพราะลำบากเป็นที่เสียประโยชน์กำปั่นอย่างหนึ่ง และให้ราคาน้ำมันตก เขาเห็นทุกคน ยอมให้ไว้น้ำมันในกรุงเทพ ฯ แต่อยากทำโรงของเขาเขง อีกอย่างหนึ่ง ที่จะให้เรือไฟหยุดที่โรงน้ำมันก็ย่อมยาก ด้วยเสียเวลาช้ามากนัก เขาขอแจ้งความเห็นเขาข้อ ๑ ห้ามอย่าให้เจ้าของเรือไฟว่า เขาน้ำมันขึ้นจากเรืออย่าให้วางบนตลิ่งหรือสะพานเลย ให้ลงเรือทีเดียว จนถึงโรงน้ำมันเจ้าของ ข้อ ๒ ชาวประเทศใดจะตั้งโรงน้ำมันตั้งได้ไม่ห้าม ข้อ ๓ ชาวประเทศจะตั้งโรงน้ำมันต้องให้กงสุลและเจ้าพนักงานให้ปรึกษาตรวจดู ถ้าเห็นดีจึงให้ลายเซ็น จึงมีอำนาจตั้งได้ ถ้าทำดังนี้ น้ำมันจึงไม่ตกแก่คนคนเดียว ราคาไม่ขึ้นมากด้วย

สำเนาหนังสือมองสิเออเดอเวียนกงสุลฝรั่งเศสมีลงวันที่ ๑๕ ยูน ตรงกับวันเสาร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ จะขอพิจารณาข้อกฎหมายทุกข้อเพื่อจะไม่ให้เป็นการเสียประโยชน์ลูกค้าที่ค้าขายน้ำมัน และจะเชิญลูกค้าฝรั่งเศสมาถามให้ความเห็นจะขัดขวางหรือเห็นชอบตามความนั้น

สำเนากงสุลฝรั่งเศสมีมาที่ ๒ ลงวันเสาร์ขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๙ ว่าการที่ไทยคิดกลัวอันตรายเรื่องน้ำมัน เขาก็เห็นว่าควรจะต้องตั้งการนี้ คอเวอนแมนต์ชาติอื่นๆ ก็คิดเหมือนกัน แต่ประโยชน์ที่ได้มานั้นไม่พอกับการรักษา และที่กรุงเทพฯ มีความขัดข้องอยู่หลายข้อ เพราะลูกค้าไทยและลูกค้าต่างประเทศต้องปรึกษาหารือกันให้เห็นพร้องด้วยกฎหมายที่ตั้งนั้นและกงสุลบางคนต้องตารือคอเวอนแมนต์ของเขาให้อนุญาตเปลี่ยนธรรมเนียมนั้น ฝ่ายกฎหมายของไทยชาวต่างประเทศพิจารณาเห็นมีความขัดข้องอยู่หลายข้อ ข้อ ๑ ลูกค้าคิดว่าตั้งโรงนั้นอยู่ไกล อีกข้อ ๑ กฎหมายนั้นจะเป็นที่ขัดขวางไม่ให้ขายคล่องสะดวก ถึงจะแก้ความทั้ง ๓ ข้อได้ ก็ยังไม่กันความน่ากลัวอันตรายที่จะต้องรักษานั้นได้ ในกฎหมายข้อ ๘ ว่าด้วยในร้านเดียวให้มีน้ำมันได้เพียง ๘ หีบนั้น เห็นว่าที่ตำบลสำเพ็งหรือบานจีนอื่นๆ มีร้านใกล้เคียงกัน ถ้าน้ำมันมีร้านละ ๘ หีบ คงมีน้ำมันในตำบลเดียวหลายร้อยหีบ และห้างฝรั่งซึ่งเป็นที่ใหญ่ก็อยู่ห่างไกลกัน แม้นจะต้องมี ๘ หีบเท่านั้น เห็นจะไม่พอคนมาซื้อ คนที่จะซื้อคงจะชื้อที่มีมาก เขาพิเคราะห์ดูทุกข้อ ที่ว่ามานี้ ก็เป็นการที่ธุระจะระวังรักษาผู้ขายของต่างๆ ที่เป็นของจะเกิดเป็นเมืองขึ้นเหมือนดินปืนอย่างหนึ่ง และการที่ซ่อมถนนหนทางให้ดีขึ้นหนึ่ง การที่จะติดตามผู้ร้ายซึ่งทำร้ายยิ่งขึ้นไปทุกวันนี้อย่างหนึ่ง ก็เป็นการจัดได้ตามอำนาจคอเวอนแมนต์ไม่ต้องอาศัยอำนาจกงสุลต่างประเทศทั้งปวง ที่จะต้องให้บังคับสับเยกต์จองเขา กับเจ้าพนักงานอำเภอ และโปลิศ ซึ่งรักษาบ้านไทยบ้างจีนอยู่ทุกวันนี้แต่เท่านั้นก็ได้ ข้อซึ่งเขาชี้มานี้ เห็นว่าเป็นประโยชน์กับคนทั้งปวง ไม่มีที่ขัดขวางประการใด และการที่จะตั้งกฎหมายใหม่ และเปลี่ยนกฎหมายที่คนต่างประเทศเกี่ยวข้องต้องเสียผลประโยขน์ด้วยนั้น เป็นการขัดข้องฝ่ายกงสุลต่างประเทศ และฝ่ายคอเวอนแมนต์สยามทั้ง ๒ ฝ่าย กฎหมายที่จะตั้งใหม่ ถ้าเป็นการเสียประโยชน์ของสัปเยกต์ต่างประเทศยิ่งกว่าแต่ก่อนไปแล้ว ก็เป็นการยากเหมือนกับต้องแก้ข้อหนังสือสัญญาเหมือนกัน เว้นแต่คอเวอนแมนต์ทั้ง ๒ ฝ่ายที่ได้ทำสัญญาต่อกันยอมตกลงกันจึงจะเปลี่ยนแปลงข้อสัญญานั้นได้ เขาได้ดูในข้อกฎหมายซึ่งมีแจ้งในหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์แล้ว เดี๋ยวนี้จะว่าข้อซึ่งมีแจ้งในหนังสือกงสุลอังกฤษต่อไป ซึ่งกงสุลอังกฤษเห็นควรจะตั้งกฎหมายให้ลูกค้าทุก ๆ คนมีโรงสำหรับไว้น้ำมัน แต่เจ้าพนักงานเข้ากับกงสุลของลูกค้านั้น จะต้องจัดให้โดยสมควรไม่มีการลำบากเลย ถ้าจะจัดดังนั้น เขาก็เห็นดีอยู่ แต่พวกจีนที่ขายน้ำมันปลีก จะไม่อยู่ในกฎหมายเจ้าพระยาภาณุวงศ์ และซึ่งเขาจะบังคับให้สับเยกต์ของเขาให้ลงทุนมาก ทำโรงไว้น้ำมันดังนั้นก็ไม่ได้ อีกประการหนึ่ง ก็ไม่มีข้อปรับไหมคนที่ทำผิดในการนั้น อีกข้อหนึ่ง ใครจะมาเฝ้าไม่ให้เขาผิดกฎหมาย เพราะไทยไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจในโรงของลูกค้าต่างประเทศได้ ถ้าดังนั้นโปลิศที่จะต้องตรวจระวังการจะต้องอยู่ในอำนาจกงสุลต่างประเทศ และอยู่ในอำนาจไทยด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย กับจะต้องมีโรงศาลที่มีอำนาจสำหรับปรับผู้ทำผิดนั้นด้วย ซึ่งเขาว่ามาทุกข้อนี้ เป็นการชี้แต่พอสังเขป ข้อซึ่งตั้งกฎหมายนั้นเหมือนกับแก้สัญญาทางราชไมตรีในเวลาเดี๋ยวนี้ก็เป็นที่ลำบาก ซึ่งลูกค้าที่จะต้องขายน้ำมันทั้งหีบนั้น ไม่เป็นที่ลำบากเลย แต่เห็นลำบากอยู่เมื่อเขาขายน้ำมันปลีกนั้น เขาเห็นว่าเจ้าหนักงานจะต้องเฝ้าอยู่ทุกร้านที่ขายน้ำมันขายปลีกเสมอ และตรวจดูชื่อผู้ขายนั้นทุกคน จะได้ระวังตามข้อกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดขายน้ำมันใส่ด้วยที่ไม่ปิดฝา ถ้ากฎหมายนั้นสมควรแล้ว คอเวอนแมนต์ต่างประเทศก็คงจะยอมด้วยจัดการดีขี้นกว่าเก่า เขาจะร้อนใจส่งหนังสือและกฎหมายของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ไปปาริศ

๔. พระรัตนโกษาจดหมายถวายว่าด้วยทำของถวายพระวัดเทพศิรินทร์แล้วถวายพระราชกุศล

๕. กาพย์จดหมายถวาย ๒ ฉะบับๆหนึ่งว่านายประจันทำจดหมายลาไปพยาบาลเมียคลอดบุตร ต่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ จะเข้ามา อีกฉะบับหนึ่งว่าด้วยได้สั่งจานที่เรียกว่า···เข้ามาจากอินเดีย ๕๐ จาน เดิมคิดไว้จะซับศกริบซันออฟฟิศเซอทั้งปวงถวายเฉลิมพระชนม์พรรษาในปีนี้ ราคาจานละ ๒๐ รูเปีย ค่าต่างๆยังไม่ได้ประมาณถึงในกรุงเทพฯ อยู่ใน ๑๖ บาทเศษ เดี๋ยวนี้ไม่อยากจะซับศกริบซันด้วยเกรงจะมีผู้ติเตียน บัดนี้จานมาถึงมีรูปแสนสเขบงามทีเดียว ได้ส่งอย่างมาถวาย ๒ จาน ขัดพระนายศรี จมื่นสราภัยมาขอปันจานนั้น แต่แกเสียดายนักอยากจะเอาไว้เป็นของหลวง

๖. มีพระราชหัตถ์ถึงกรมขุนเจริญพระราชทานพรแซยิด ๕๑ เงินขวัญปีละ ๘ บาท เงิน ๕ ชั่ง ๒ ตำลึง แล้วทรงหนังสือสำคัญไป กับพระราชทานเงินโรงครัวอีก ๒๐ ชั่ง

๗. สั่งเงินค่าดาบญี่ปุ่นทูลกระหม่อมพระองค์น้อยซื้อถวายวันเสาร์ เดือน ๙ ค่ำ ดาบ ๑๐๕๔ ราคาเล่มละ ๒ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง เงิน ๓๔ ชั่ง ๔๖ บาท ๓ สลึง ดาบ ๔๐๐ ราคาเล่มละ ๒ บาท ๒ สลึง เงิน๑๒ ชั่ง ๔๐ บาท รวมดาบ ๑๔๕๔ เงิน ๔๗ ชั่ง ๖ บาท ๓ สลึง เราเอาไปถวาย

๘. วันนี้ได้ออกขุนนางอีก แต่พระยาศรีเข้ามาเฝ้าถวายหนังสือมิศนอกซ์มีมาที่สมเด็จ ว่าด้วยรายมรดกมิศเตอสกอดตายนานเขาก็ทราบแต่เห็นว่าควรจะได้ ทรงพระราชดำริว่า นี่แหละกฎหมายมีมันก็ไม่เอา ต้องให้ปรึกษาฯ พระนรินทรเฝ้าทูลว่า เจ้าพระยาสุรวงศ์ให้กราบบังคมทูล ด้วยทรงพระราชดำริรับสั่งให้พระนรินทรไปเรียนด้วยยกโทนพระปรียันต์เกษตรานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองปะเหลียนนั้น ทรงไม่เป็นหลักพระราชบัญญัติและคำตัดสินต่อไป ขอรับพระราชทานให้เป็นพระราชบัญญัติตัดสิน

๙. จึงมีพระราชหัตถ์

๑๐. มีพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จเรื่องขอทอง

วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐

๑. รับหนังสือสมเด็จเจ้าพระยา ตอบพระราชหัตถ์เวลาวานนี้ว่า การซึ่งจะสัญญานั้นไม่สู้ยากนัก จะว่าความ ๓ ข้อๆ หนึ่งได้รับทำการได้เสมออย่างแต่ก่อน หรือดีกว่าบ้างเล็กน้อย ถ้าครบ ๖ เดือนแล้วให้ออกเสียก็ได้ ข้อ ๒ ถ้าทำได้มากขึ้นไปถึงครึ่งหรือกว่าครึ่งอย่างซึ่งทำมาแต่ก่อน จะเพิ่มเงินเดือนให้ ทำไป ๓ ปีจึงสิ้นเขตต์สัญญา ข้อ ๓ ถ้าทำได้ ๕ เอาซ์ตามที่ว่า ยอมให้ชักไว้ ๑๐ เปอร์เซนต์จน ๓ ปีจึงสิ้นเขตต์สัญญา ถ้าทำสัญญากันแต่เพียงเท่านี้ การจะแล้วไปได้ จะเอารัดเอาเปรียบโดยพลั้งพลาดนั้น เป็นเหลือสัญญา แล้วสั่งนอกมาว่า มันแกล้งเอาพวกเอาพ้องมาช่วยว่า ช่างมันๆ ถึงครูอาจารย์

๒. รับสำเนาหนังสือพระยาสยามธุรานุรักษ์กงสุงเยเนอราลสยามเมืองปารีศ ลงวันที่ ๒๖ ยุไล ตรงวันศุกร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ว่าด้วยส่งบัญชีรายเงินที่ใช้ในการเอกษหิบิเชน ของนั้นตั้งใกล้ของเมืองโมรอคโค เปอเซียตูนิก เขาได้จัดการโดยรักษาเกียรติยศให้สูงเหมือนเมืองเหล่านั้น ได้จัดใช้อย่างน้อยทีเดียว เงินแบ่ง ๔ ส่วน ค่าที่ ๑๒๕๐ แฟรงค์ จ้างห้อง จ้างชั้นตั้งของ ๗๑๒๒ แฟรงค์ ค่าประดับห้องข้างในและทำตู้ ๑๔๐๐๐ แฟรงค์ ช่างทำตู้ไม่เหมือนสัญญาลด ๔๐๐๐ แฟรงค์ คง ๑๐๐๐๐ แฟรงค์ ค่าศาลา ๗๐๐๐ แฟรงค์ รวม ๓๕๔๐๐ แฟรงค์ ขอให้ส่งเงิน ๓๕๐๐๐ แฟรงค์ไป ของที่ส่งไป ถ้าขายได้จะเอาเงินไปใช้ค่าของแล้วหักเงิน จะส่งบัญชีมาภายหลัง ของเหล่านั้นถ้ามีผู้ต้องการจะสั่งได้หรือไม่ ขอให้สอบบัญชีใช้เงินเอกษหิบิเชนคราวปี ๑๘๖๗ ก็จะเห็นว่าคราวนี้ใช้น้อยกว่าคราวก่อนสัก ๘๐๐๐ หรือ ๑๐๐๐๐ แฟรงค์ แล้วจะชักรูปส่งเข้ามา กับว่าราคาเรือพระที่นั่ง ๔๕๔, ๔๕๖, ๔๕๗ ว่าราคาสูงมากนัก เพราะเป็นแต่ตัวอย่าง กับเรือนที่ ๔๕๘ ด้วย ขอทราบว่าราคาเท่าใดจึงจะขาย กับบอกด้วยเจ้าปฤษฎางค์ นายทวนสุรวงศ์ มาดูเอกษหิบิเชนแล้วกลับไปลอนดอนแล้ว ได้ส่งหนังสือพิมพ์ว่าด้วยการประชุมที่เบอลินมาด้วย

๓. มีพระราชหัตถ์ถึงพระยากระสาปน์ พระปรีชา เรื่องทำทอง

๔. พระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ เรื่องน้ำมัน

๕. ออกขุนนาง พระยาศรีอ่านบอกพระยาสุจริต ว่าด้วยเรื่องเพี้ยถ่อ ๒ ฉะบับ แล้วถวาย

๖. หนังสือพระยาเทพมีมาลงวันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙ ที่ ๔๙ ว่าด้วยวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ เจ้าเมืองผาปูนมีหนังสือมาว่า มองซวยปีนายร้อยไม้ขอนศักอยู่มรแมน มาถูกปล้นที่เหนือเกาะหยัด ที่ตั้งโปลิศแขวงเมืองผาปูนผู้ร้าย ๓ คนชื่องะปันงะปันดีอยู่บ้านงวยตอง งะเลนอยู่เมืองเชียงใหม่ ผู้ร้ายนั้นปล้นแล้ว เขาคิดว่าคงจะเข้ามาทางขุนยอมแล้ว เห็นจะหนีเลยไปแม่ห้องสอน ขอให้ข้าหลวงช่วยสืบ พระยาเทพได้มีหนังสือถึงพระยาสิงหนาทให้สืบในวันนั้น แล้วออกประกาศที่ศาลบนจับตัวด้วย แล้วได้มีตอบไปฉะบับหนึ่ง เขาก็ขอบใจเข้ามา รับสั่งให้กรมหมื่นนเรศร คัดถวายสมเด็จกรมพระฉะบับ ๑

๓ หม่อมแดงถวายจดหมายว่า ทำสายโทรเลข มาแต่บางปอิน วันเสาร์แรม ๑๑ ค่ำเดือน ๙ ได้ทำริโปตยื่นที่เจ้าพระยาสุรวงศ์ว่าด้วยช้างล้มเสาที่ขึงลวดแล้วเสียสี่ต้น กับออฟฟิศยังไม่แล้วจะแล้วต่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๑๐ จะให้ไว้โทรเลขที่ไหน ท่านสั่งให้กราบบังคมทูล โปรดว่าอีก ๘ วันก็ไม่ช้านัก ให้รอจนแล้วเถิด เรื่องช้างถอนเสานั้นทรงพระวิตกรับสั่งว่าต้องคิดแก้ไขเสีย จึงคิดจะปักไม้เหมือนขวากแหลมรอบเสาพองวงเอื้อมไม่ถึงแก้

๘ รับโทรเลขฉะบับหนึ่ง เรือออก ๒ ลำ

วัน ๖ ๑๐ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ว่าได้นำพระราชหัตถเลขาเรื่องน้ำมันปิโตรเลียมไปให้หารือสมเด็จเจ้าพระยา ๆ ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า การเรื่องนี้เดิมมองซิเออการเนียกงสุลฝรั่งเศสคนก่อน ได้มีหนังสือมาว่าเป็นการตักเตือน ข้างฝ่ายเราจึงเห็นว่า เขาว่ามาดังนั้นแล้ว ครั้นจะนิ่งเสียไม่คิดจัดการไป ถ้าเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้น ให้ลูกค้าของเขาต้องเสียผลประโยชน์ไป เพราะไฟเกิดขึ้นด้วยน้ำมันแล้ว ก็จะพากันติเตียนว่าคอเวอนแมนต์ไม่คิดระวังเหตุการณ์ที่จะเกิดอันตรายแก่ลูกค้าทั้งปวง จึงได้ปรึกษาพร้อมกันจัดการเรื่องนี้ไปตามสมควร ครั้นมีหนังสือปรึกษาไปก็ต่างคนต่างว่าไปตามปัญญา การอันนี้ก็จะไม่รู้จบ และการอันนี้ก็ไม่ได้มีผลประโยชน์สิ่งใดแก่แผ่นดิน เป็นแต่จะช่วยระวังเหตุการณ์ที่จะเป็นภัยกับลูกค้าเท่านั้น ถ้าคอเวอนแมนต์สยามจะรับเป็นธุระดูแลรักษาเอง ก็กลัวว่าผลประโยชน์ที่จะได้มานั้นจะไม่พอกับที่ต้องเสียไป การอันนี้เขาได้ว่ามาแล้ว เราก็ได้คิดจัดการไปแล้วก็เป็นการแก่งแย่ง เห็นความไม่ต้องกันดังนี้ เห็นว่าเลิกการเรื่องนี้เสียดีกว่า เก็บแต่คอเรศปอนเดนต์ไว้ ไม่ควรที่จะคิดต่อไป ท่านเห็นความดังนี้

๒. กับรับร่างหนังสือตอบผู้ว่าการกงสุลสยามเมืองร่างกุ้ง ว่าด้วยมิศเตอชาลเรนิเกาอีถวายหนังสือขอเปตันทำแกลบต่างฟืนคนเดียวนั้นว่าจะให้ไม่ได้ ด้วยในกรุงทุกวันนี้คนทั้งปวงก็คิดใช้แกลบต่างฟืนอยู่หลายแห่งหลายราย ครั้นจะห้ามให้เขาตามแบบมิศเตอชาลเรนิเกาอีแต่ผู้เดียวดังนี้ ก็เป็นการขัดข้องอยู่ ด้วยคนเหล่านั้นเขาได้คิดการขอเข้ามาแล้ว แต่ทรงพระราชดำริว่า ถ้ามิศเตอชาลเรนิเกาอีเข้ามากรุงเทพ ฯ ให้วิธีใช้ให้คนทั้งปวงเห็นปรากฎว่าเป็นผลประโยชน์แล้ว การนั้นก็คงตกอยู่ในคนเดียวเอง ขอให้ผู้ว่าการกงสุลแจ้งให้เขาทราบ

๓. กับหนังสือห้างมากวนถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ขอเงินรายประหวดและบัวศิลาของครูนิต มีพระราชหัตถ์ตอบเรื่องแคฮาน เรื่องครูนิต

๔ เรื่องน้ำมัน

๕ กรมพิชิต ท้าวแพถวายเรื่องราวจีนโป๊ขอส่งแพรหักเงินหลวง เซ็นท้ายให้กรมหมื่นนเรศรไปถวายสมเด็จกรมพระว่าให้ท่านทรงตรวจดู ถ้าแพรนี้จะต้องการใช้ในราชการได้ ดินเนอกรมเจริญ พระราชทานซองพระรูป

วัน ๗ ๑๐ ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ว่าได้นำพระราชหัตถ์ไปให้สมเด็จเจ้าพระยาดู ท่านสั่งให้กราบทูลว่า ทรงพระราชดำริไปนั้นก็เป็นการจริง ด้วยการเรื่องนี้ถ้าคอเวอนแมนต์สยามรับจัดการทำเป็นการคอเวอนแมนต์ดูแลรักษาเองแล้วก็ไม่มีผู้ใดที่จะขัดขวางได้ เพราะเห็นอยู่ด้วยกันหมดว่าน้ำมันปิโตรเลียมนี้เป็นที่หน้ากลัว แต่ซึ่งคอเวอนแมนต์จะรับเป็นธุระจัดการไปนั้น เห็นว่าจะรักษาการไปไม่ตลอดจึงได้คิดถ่ายเทไปให้มีผู้รับทำ ก็ไม่เป็นการตกลงกัน การที่ได้คิดให้หยุดเสียนั้น เพราะเห็นความไม่ต้องกันจึงได้ติดอยู่จัดการไปไม่ตลอด การจึงได้ค้างอยู่ ก็เป็นการปรากฏกับคนทั้งปวงอยู่เอง ท่านสั่งให้กราบทูลดังนี้

๒. พระยามหามนตรี พระอินทรเทพถวายจดหมาย ด้วยวันศุกร์ ขี้น ๓ ค่ำเดือน ๑๐ เวลาเช้า ๓ โมง ได้พร้อมด้วยอำเภอจับตัวอีขำ อีแสง ที่ท่าเตียน ค้นได้เงินเตรียญตราพระจอมเกล้า ตราพระเกี้ยวแดงคนละ ๒ เหรียญ ถามซัดอำแดงหุ่นภรรยาหลวงชาติสุรินทร (พึ่ง) ที่ถึงแก่กรรมไปจับตัวได้เงิน ๓๔ บาท (มีบุตรหญิงชื่อแจ่มเป็นหม่อมสมเด็จเจ้าพระยาอยู่ในบ้าน) ถามให้การว่าไปรับมาแต่นายหน่ายบุตรจีนบ้านอยู่ริมวัดทองนพคุณ ให้ไปจับตัวได้มา ถามรับว่าไปรับมาแต่นายเดชผัวอำแดงจิบเมีย ตั้งโรงขายสุราอยู่ปากคลองหัวสะพานแขวงกรุงเก่า ได้จัดเรือไฟให้หลวงโยธาธิบาลคุมทหารขุนหมื่นตำรวจลงเรือไป ได้มีจดหมายพระยาราชไป กำหนดจะไปวันอาทิตย์ขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๑๐ เวลา ๓ โมงเช้า

๓. รับหนังสือพระยาอัษฎงค์ตอบพระราชหัตถ์ลงวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๙ ว่าด้วยเปลี่ยนพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้นแกมีความยินดี ขอให้สมดังพระราชหฤทัย ว่าบัดนี้เกาวนาไม่อยู่ไปปินัง ต่อกลับมาถึงจะกำหนดกลับกรุงเทพ ฯ ต้นไผ่จะหาถวาย ลงวันหฤหัสบดี แรม ๙ ค่ำเดือน ๙

๔. ออกขุนนาง พระยาศรีอ่านบอกเมืองพรหมน้ำฝนต้นเข้าแล้วรับสั่งถามว่า เรื่องมิศเตอสกอดสมเด็จเจ้าพระยาว่ากระไร ว่าท่านรับจะพูดกับมิศเตอนอกซ์ ด้วยเห็นว่าคำพะยานเบิกว่า มิศเตอสกอต พระชำนาญไพรสน เลี้ยงช้างตัวหนึ่งเดือนละ ๑๐ รูเปีย คิดดูตั้งแต่จ้างมาจนเดี๋ยวนี้ค่าช้างก็คุ้มกันเห็นพอจะกลบลบกันได้

๕. พระพิเรนทรถวายริโปตเจ้าพระยายมราช ความนครบาล เดือน ๙ ความเดิม ๒๙๙ ใหม่ ๔ รวม ๓๐๓ นั้น แล้ว ๕ คงส่ง ปรับ ๙ ลูกขุนปรึกษา ๘๐ ชำระ ๑๒๘ รวม ๒๙๘

๖. นายเสนอ ๆ บัญชีคนคุกเดือน ๙ เดือน ๑๐ เดิม ๖๖๑ ใหม่ ๑๙ รวม ๖๘๐ จำหน่าย ๗ คง ๖๗๓

๗. ขอเงินส่วนมรดก พระยาเพ็ชร์พิชัย พระยาเวียงในบิดพลิ้วหลายเวลา ครั้งวันพฤหัสบดี แรม ๙ ค่ำเดือน ๙ เวลา ๒ ทุ่ม พระยาเวียงในนับเงินใส่ถุงให้ไม่ให้ตรวจ เป็นส่วนของนายเชย นายชม นายชิตด้วย ส่วนละ ๓ ชั่ง ๑๙ ตำลึง ๑ สลึง ๑ เฟื้อง ครั้นไปนับดูที่บ้านต่อหน้าคนทั้งปวงเป็นเงินสังกะสีไป ๓ ชั่ง ๒ บาท พระยาเวียงในแกล้งเปลี่ยนให้ 5เซ็นวันจันทร์ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๑๐

๘. เมื่อเสด็จขึ้นแล้วยามหนึ่ง พระยาอภัยรณฤทธิ์ส่งจดหมายเข้ามาถวายแล้วจะขอเฝ้า ในจดหมายว่าวันนี้ขึ้นมาอยู่บ้านบิดากลับไปบ้านเวลาย่ำค่ำ นายไชยขรรค์แจ้งความว่า สมีอบ เป็นปาราชิกกับทิม อยู่วัดบุบผารามปีนกำแพงบ้านเข้ามาอยู่ที่ห้องเรือนนางทิม แต่วันศุกร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ เวลา ๒ ยาม รุ่งขึ้นวันเสาร์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ เวลาบ่าย ๔ โมงเย็นจับตัวได้ในห้องทิม นายไชยขรรค์ได้ตีคนละ ๕๐ ที เอาตัวไปมอบพระวิเชียรมุนีไว้ แกทราบความแล้วได้สืบถามพระอ่อน ได้ความว่าเป็นบุตรหม่อมเจ้าขาว ซึ่งนายไชยขรรค์ทำโทษโกรธหาได้ไต่ถามไม่ มีความผิด พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ ทรงว่าจดหมายมาไม่ใคร่เข้าพระทัย ทรงพระราชดำริว่า ช่างเฆี่ยนคนทั้งพระลงไปได้ไม่ถามไม่ไถ่ก่อน รับสั่งให้ไปบอกว่าพ้นเวลาขุนนางเฝ้าเสียแล้วให้มาต่อพรุ่งนี้ (พระราชประสงค์จะให้มาเวลาออกขุนนางจะได้ดุและว่ากล่าวให้ได้อาย ครั้นจะทำโทษปรับไหมให้ทำขวัญหม่อมราชวงศ์เลวนัก ประการหนึ่งจะกำเริบ แล้วทำผิดด้วยจริง ๆ) โปรดให้พระวุฒิการไปถามพระวิเชียรรับตัวมา

๙. นายศุขบุตรพระยาเพ็ชร์ปราณีถวายเรื่องราวกล่าวโทษนายเพื่อน นายเงินพะทำมะรง ว่าไปจับเอาตัวมาบ้านเจ้าพระยายมราชไม่เกี่ยวข้องอะไร สาเหตุเดิมมีแต่วันหนึ่ง ได้ยินเสียงเอะอะด่าอยู่ นายศุขเปิดประตูบ้านมาดูถามว่าอะไร นายเพื่อนบอกว่าคนหนีมา อยู่มาอีกวันหนึ่งพะทำมะรงมาเกาะว่าให้ไปแก้คดี ตัวบอกให้หมายถึงหลวงนายศักดิ์ไม่หมาย ครั้นไปถึงบ้านเจ้าพระยายมราชๆ ว่าความไม่กะไรนักให้ปล่อยมาก่อน มารดาตัวได้ทำเรื่องราวไปยื่นเจ้าพระยายมราชๆ อ่านแล้วก็คืนให้ ไม่ว่าประการใด ขอพระบารมีเป็นที่พึ่งทรงเซ็นพรุ่งนี้

วัน ๑ ๑๐ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. เซ็นเรื่องราวนายศุขเมื่อวาน ว่าให้เจ้าพระยายมราช พระพิเรนทรเทพว่ากล่าวเสียให้ถูกต้องตามควร

๒. รับคำโทรเลข ๒ ฉะบับ เรือเข้าลำหนึ่ง เรือออก ๓ ลำ

๓. กรมอดิศรถวายริโปตความในกรมทหารล้อมวังมี ๑๐ เรื่อง แล้วทั้ง ๑๐ เรื่อง

๔. โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเทวัญค้นกฎหมายอังกฤษซึ่งว่าด้วยน้ำมันปิโตรเลียมและดินปืนการรักษาห้ามปรามอย่างไร ท่านเทวัญได้แปลในหนังสือ Chambers Encyclopaedia, Vol. VII p. 456 ว่าเป็นที่น่ากลัว ในเมืองอังกฤษได้มีประกาศในปี ๑๘๖๑ แอกออฟปาลิแมนต์ ได้ตกลงในปีที่ ๒๕ และ ๒๖ แผ่นดินกวีนวิกตอเรีย หมวดที่ ๖๖ เพื่อจะป้องกันอันตรายนี้ ข้อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับดินปืน คือผู้เก็บน้ำมันไว้แล้ว ต้องรับหนังสือสำคัญใบอนุญาต คือลายเซ็นจึงจะเก็บน้ำมันไว้มากได้ ลายเซ็นนี้ต้องไปรับจากอัลเดอแมนออฟลอนดอนคือนายอำเภอซึ่งเป็นที่สองรองแมร์ก็ดี หรือรับจากเมโตรโปลิตัน บอก คือพนักงานผู้กำกับตรวจตราการถนนหนทาง และที่บ้านเรือนและอื่น ๆ ก็ดี หรือไปรับต่อนายอำเภอใหญ่ นายอำเภอรอง ในตัวเมืองก็ดี หรือรับต่อเจ้าท่าก็ดี หรือตระลาการศาลแพ่งก็ดี ตามที่ใกล้เคียง ถ้าเจ้าพนักงานไม่ให้ ให้ไปร้องต่อเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ข้อห้ามนั้นมิให้เก็บน้ำมันไว้ใกล้โรงสินค้า หรือสิ่งอื่นๆ และที่อาศัยในระยะ ๕๐ หยาดคือเส้น ๒ วา ๒ ศอก มีน้ำมันตั้งแต่ ๔๐ แกลลัน คือ ๑๐ ถัง ๑๔ ทะนานครึ่งขึ้นไป ยกเสียได้หนังสือลายเซ็น ถ้ามิทำตามฉะนั้นปรับไหมวันละ ๒๐ ปอนด์ คือ ๒ ชั่ง ตามวันที่เก็บไว้ และครึ่งค่าปรับไหม ๑๐ ปอนด์ ให้ผู้รับสินบล หนังสือสำคัญที่ผู้รับสินบลจะจับให้ไปรับต่อตระลาการ เพราะจะได้ กันความสงสัยว่าผู้จับแกล้งทำเอง หรือผู้จับจะได้ค้นตามสงสัยกฎหมายดินปืน

๕. มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่าด้วยน้ำมันปิโตรเลียม

๖. พระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ เรื่องไม้พระพิเรนทร์

๗. พระนายศรีถวายร่างหมายประกาศเรื่องตุ้มถังทะนานไม้วา ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให่ร่างใช้แต่หัวเมืองชั้นใน กับกฎหมายอินเดียว่าด้วยเรื่องมี โปรดเกล้า ฯ ให้แปลมา

๘. มีพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จเจ้าพระยา เรื่องตุ้มถังเรื่องทะนาน

๙. มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ฉะบับ ๑ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฉะบับ ๑ เรื่องตุ้มถังทะนาน

๑๐. ออกขุนนางไม่มีราชการอะไร กับเมื่อก่อนเสด็จออกได้ทรงถามพระยาเวียงในเรื่องนายเชย นายชิต กล่าวโทษ ก็ทูลว่าไม่จริงถวายคำสัตย์

๑๑. มีพระราชหัตถ์พระราชทานใบเสด็จพระปรีชา รับทองคำเมืองกระบิล ซึ่งนำมาทูลเกล้าฯ ถวายวันพฤหัสบดีขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๑๑ ปีฉลูนพศก จำนวนทองคำ ๙ แห่ง เนื้อ ๘ หนัก ๔๐ ชั่ง ๑๒ บาท ๒๑ สลึงกล่ำ

วัน ๒ ๑๐ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. เซ็นท้ายเรื่องราวนายเชยนายชิต ถวายวันเสาร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ว่าเห็นว่านายชิตพี่น้อง ๓ คน เป็นคนมีสาเหตุกันกับพระยาเวียงใน ครั้งก่อนกล่าวโทษพระยาเวียงในครั้งหนึ่งก็แพ้ไป ครั้งนี้กล่าวโทษว่าพระยาเวียงในเอาเงินแดงปลอมให้ ครั้นจะให้ชำระไต่สวนเอาผิดเอาชอบกันให้ได้ นายเชยนายชิตนายชมเป็นพี่น้องกับพระยาเวียงในแท้ๆ ถ้าแพ้ก็จะต้องมีโทษ ส่วนพระยาเวียงในก็ได้ชุบเลี้ยงเป็นพระยาบังคับกรมล้อมพระราชวัง ใช้สอยในการเงินทองก็มาก ไม่แลเห็นว่าจะเห็นแก่เงิน ๒ ชั่ง ๓ ชั่งถึงแก่เอาเงินแดงปลอมเปลี่ยนให้ดังนี้เป็นประกันพระยาเวียงในได้ ความเรื่องนี้ไม่รับชำระ ถ้าจะว่าความกับพระยาเวียงในให้ได้ ก็ให้ไปฟ้องยังโรงศาลเถิด

๒ พระยาประภากรวงศ์เฝ้าถวายคำตัดสินเรื่องเรือสงครามครรชิต จับเรือไทยอิน ใช้ธงอังกฤษ ว่าวันจันทรแรม ๑๓ ค่ำเดิอน ๙ เจ้าพระยาสุรวงศ์นั่งว่าราชการออฟฟิศ มีบัญชาว่า มิศเตอนอกซ์กงสุลอังกฤษมีหนังสือลงวันอังคารขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๙ มาฟ้องว่า เรือรบสยามจับเรือไทยอินชักธงอังกฤษที่เกาะหลักผิดหนังสือสัญญา ครั้นวันเสาร์ขึ้น ๑๒ ค่ำเดือน ๙ ขุนนเรนทรนายเรือสงครามครรชิตเข้ามากรุงเทพ ฯ ถามได้ความว่าหนังสือสำหรับเรือแต่ปีชวดอัฐศก เครื่องอาวุธไม่มีในหนังสือ จึงได้ส่งตัวนายเรือ ๑ ไต้ก๋ง ๑ รวม ๒ คน มอบให้กรมการเมืองประจวบคีรีขันธ์รักษาไว้ ได้มีหนังสือลงวันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๙ ส่งคำให้การขุนนเรนทรและสำเนาหนังสือสำหรับลำให้พระนรินทรราชเสนี พาขุนนเรนทรลงไปพร้อมด้วยจีนตันโกโบเจ้าของเรือไทยอินณศาลกงสุลอังกฤษ มิสเตอกูลด์ผู้ว่าการแทนไวซ์กงสุลกับพระนรินทรได้เรียกนายเรือไต้ก๋งลูกเรือ รวม ๘ คน มาให้สาบาล แล้วถามทรัพย์สิ่งของที่หาย แล้วให้ตรวจที่ยังอยู่และที่หาย ก็ถูกต้องตามบัญชียื่นศาลกงสุล เมื่อเรือออกจากกรุงเทพ ฯ มิสเตอนอกซ์ส่งบัญชีจำนวนเงิยซึ่งเรือสงครามครรชืตต้องใช้ให้พระนรินทรมาเสนอ เห็นว่าการเป็นทั้งนี้ก็เพราะขุนนเรนทรเสนีโง่ไม่รู้ถึงการณ์ จะหาทางโต้เถียงก็ยากจึงต้องยอม มิสเตอนอกซ์มีหนังสือลงวันเสาร์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ บอกจำนวนเงินถูกต้องตามบัญชีเป็นเงิน ๒๕๖ บาท ๓ สลึง ให้พระยาประภา ฯ ซึ่งได้กำกับเรือรบทำตั๋วยืมเงินภาษีฝิ่นให้พระนรินทรพาไปใช้ที่ศาลกงสุลก่อน แล้วเบิกใช้โรงฝิ่นภายหลัง ได้คัดสำเนาหนังสือตอบ ๑ คำให้การขุนนเรนทร ๑ หนังสือสำหรับลำ ๑ บัญชีของ ๑ หนังสือกงสุล ๑ เข้าผนึกมาให้พระยาประภา เห็นว่าความเกี่ยวข้องกับเรือรบลาดตระเวนรักษาโจรผู้ร้ายดังนี้ ควรให้พระยาประภากราบบังคมทูลพระกรุณาฯ ไว้

สำเนากงสุลมีฉะบับ ๑ ลงวันอังคารขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๙ ว่าเขาได้รับหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ ๒ ฉะบับ ลงวันพุธขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๙ หนึ่ง วันพฤหัสบดีขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๙ เรื่องเรือใช้ธงอังกฤษที่เรือรบไทยจับนั้น เขายังไม่ทราบความละเอียดของดก่อน แต่จะต้องชี้แจงให้ท่านทราบตามเขาตรองเห็น ผู้ที่จับเรือได้ทำผิดข้อหนังสือสัญญาข้อสำคัญ ถ้าแม้นว่าเรือนั้น เมื่อเวลาจับอยู่ในทะเลของเขตต์แดนไทยก็ดี เมื่อสืบความต่อไปข้างหน้าเหมือนหนังสือท่านก็ดี ก็มีความผิดอยู่ เขาชี้แจงมานี้เพื่อจะไม่ให้มีการลำบากต่อไป ท่านหรือเจ้าพนักงานของท่านก็ไม่มีอำนาจรับการเกี่ยวข้องกับเรืออังกฤษ เว้นแต่จับได้ในกำลังลงมือผิดกฎหมายย่อางหนึ่ง หรือพะยานมั่นคงรู้แน่ว่าได้ทำการผิดจริง และเมื่อจับแล้วผู้จับเป็นโจทก์ ถ้าสืบไม่สมโจทก์ๆ นั้นต้องใช้ทำขวัญและค่าป่วยการแก่ผู้ต้องจับ

สำเนาเจ้าพระยาสุรวงศ์ ตอบลงวันจันทรขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๙ ว่า วันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำเดือน ๙ ขุนนเรนทรเสนีนายเรือสงครามครรชิตกลับมา ได้ถามดังคำให้การที่ส่งมา ขอแจ้งแก่ท่านว่า นายเรือลาดตระเวนกรุงเทพ ฯ นั้น ถืออยู่ตามธรรมเนียมโบราณ ถ้าพบปะเรือใดในทางทะเล เรียกหนังสือสำหรับลำมาตรวจเห็นผิดชื่อนายเรือแล้ว วัน ฯ หนังสือล่วงปีหนึ่งก็จับ อีกอย่างหนึ่ง ในเรือมีปืนใหญ่น้อย ถ้าไม่มีในหนังสือสำหรับลำก็จับ ที่จะคิดว่าเป็นเรือลูกค้าก็หามิได้ การเป็นอยู่ดังนี้ ถ้าต่อไปภายหน้าจะให้นายเรือประพฤติดังท่านชี้แจงมา ขอส่งสำเนาคำให้การขุนนเรนทรและสำเนาหนังสือสำหรับลำไป ขอให้ตริตรองโดยละเอียดก่อน

สำเนาคำให้การขุมนเรนทรเสนีว่า ไปวันพฤหัสบดีแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๗ ไปถึงเมืองปราน วันศุกร์แรม ๑๓ ค่ำเดือน ๙ พระวิชิตชาญณรงค์ผู้ว่าราชการและยกระบัตรบอกว่า เมื่อเดือน ๗ ข้างแรม สลัดตีเรือลูกค้าเมืองกำเนิดนพคุณในแขวงเมืองกำเนิดนพคุณยิงคนตาย ๒ คน นายเรือโดดน้ำหนีมาได้ สลัดเอาเรือไปในแขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ วันพุธขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๘ เจ้าเมืองปรานจัดให้นำร่องไปเที่ยวค้นหาสลัดแล้วแวะไปที่อ่าวเมืองประจวบ กำเนิด ปะทิว ชุมพร หลังสวน เที่ยวค้นทุกเมือง ๗ วันก็ไม่พบ วันพุธขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๘ ไปเมืองกาณจนดิษฐ์พัก ๒ วัน วันเสาร์ขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘ ออกไปอีก ๘ วันถึงเกาะหลักวันอาทิตย์แรม ๗ ค่ำเดือน ๘ ทอดสมออยู่ในอ่าว ครั้นเวลาค่ำ ๒ ยามเห็นเรือศีร์ษะฉลอมท้ายญวนเข้ามาทอดในอ่าว รุ่งเช้าให้คนไปเรียกจุนจู๊ก็ไม่มา จึงให้กระลาสีไปใช้ใบเข้ามาตามเรือจุนจู๊ว่าชื่อจีนติง ตรวจดูในหนังสือชื่อจีนตันโกโบ แล้วเป็นหนังสือแต่ปีชวด ๓ ปีมาแล้ว ตรวจดูมีเครื่องอาวุธในเรือ หม้อดิน ๒ หม้อ ปืนใหญ่ ๔ ปืนน้อย ๕ กระสุนใหญ่ถัง ๑ เล็กครึ่งถัง หอก ๒ ง้าว ๒ เหล็กมีคมวงเดือน ๑ เครื่องอาวุธเหล่านี้ไม่มีในหนังสือสำหรับลำ จึงพร้อมกับหลวงศรีนาวากรมการเมืองประจวบทำบัญชีอาวุธไว้ในเรือสงคราม สินค้าไว้ในเรือเขา แต่จุนจู๊ไต้ก๋งมอบให้กรมการรักษาไว้ แล้วได้มีหนังสือถึงพระพิไชยพลสินธุ์ ๆ ให้หลวงยกระบัตร์ หลวงวัง หลวงบันเทา มาตรวจดูว่าจะต้องส่งเข้ามากรุงเทพ ฯ เขาก็ไปลาตตระเวนต่อไป ครั้นกลับมาได้ท้องตราให้ปล่อยก็ได้ปล่อยไปแต่ณวันอังคาร ขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๙ หนังสือสำหรับลำ พระยาพิพัฒนโกษาลงวันศุกร์ แรม ๑๒ ค่ำเดือน ๖ ปีชวดอัฐศกฉะบับ ๑ บัญชีของสินค้าราคา ๓๖๘ บาท ๓ สลึง ค่าป่วยการค่าจ้างคนมาบอกข่าวเมื่อต้องจับ ๒๐๘ บาท รวม ๕๗๖ บาท ๓ สลึง กับค่าทำขวัญคนละ ๕๐ บาท รวม ๘๐ บาท รวมหมด ๖๕๖ บาท ๓ สลึง

๓ สำเนาหนังสือกงสุลอังกฤษมีมาวันเสาร์แรม ๑๑ ค่ำเดือน ๙ อีกฉะบับ ๑ ว่าด้วยเงินค่าป่วยการและอื่น ๆ รรม ๖๕๖ บาท ๓ สลึง ถ้าคอเวอนแมนต์จะยอมใช้เงินนี้เขาจะยอมให้เป็นเลิกแล้วแก่กัน แต่ถ้าว่าเขาจะต้องชี้แจงอีกทีหนึ่ง ขอให้ไทยเอาเป็นธุระอย่าให้ความอย่างนี้เกิดอีกต่อไป เพราะถ้าเกิดอีกต่อไปอย่างนี้เขาจะให้แล้วกันง่ายเหมือนคราวนี้ก็เหลือกำลัง ในคราวนี้เมื่อชำระดูเรือไทยอินจะได้ค่าป่วยการเท่าไร เขาก็ปราณีมาก เพราะเห็นว่าการไม่ดีที่นายเรือรบนั้นทำเป็นความโง่มากไม่สู้แกล้ง แต่ว่าเมื่อสืบต่อไปก็ได้ความบ้าง ให้ความสงสัยเกิดในใจเขาบ้าง การที่ขุนนเรนทรเสนีทำนั้นก็หาเป็นเพราะความโง่อย่างเดียวไม่ เขาเห็นว่าถ้าเขาจะสืบบ้าง ด้วยเรือรบนั้นได้จับเรือลำอื่นไป เที่ยวนี้ก็เห็นจะเป็นการบำรุงเรือลูกค้าทั้งปวง

๔ ว่ามีพระราชหัตถ์เหน็บท้ายคำตัดสินพระราชทานพระยาประภาไป

๕ รับหนังสือพระยามหามนตรี กราบทูลด้วยที่ให้คนไปจับผู้ร้ายทำเงินแดงที่บ้านบางสะพาน ได้ชำระอ้ายเดชผัวอีจีดเมีย อ้ายบุญบุตรอายุ ๑๓ ปี ได้สูล ๒ อั่งโล่ ๒ คีม ๑ เต็ง ๑ ทองแดงทำเป็นลูกกระยังไม่ได้พดด้วง ๑๐ ทองแดงหนัก ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง เบ้าใหญ่ ๕ เล็ก ๑๓ ดีบุกพิมพ์ ๑ พิมพ์เทกระ8๕ เหล็กพิมพ์พดด้วง บาท ๑ สลึง ๑ เหล็กตราเก๋ง ๒ จอมเกล้า ๒ จักร ๖ ขวาน ๒ เงินทำแล้วตราเก๋ง ๓ บาท ตราจอมเกล้า ๕ บาท หลวงโยธากับกรมการถามอ้ายเดชไม่รับ อ้ายบุญบุตรยืนว่าอ้ายเดชทำเงินแดงด้วยเครื่องมือที่จับกับอ้ายเปี่ยม อ้ายอิ่ม อ้ายยิ้ม อ้ายไข่ อ้ายอยู่ อ้ายทา อ้ายบุญชี้ให้จับอ้ายยิ้ม อ้ายอยู่ อ้ายอิ่ม กรมการได้ตัวจำนำอ้ายไข่อ้ายเปี่ยม กรมการขอเอาไว้ เมื่ออ้ายผู้ร้ายจะเข้าหา ถ้ามีหนังสือพระยาราชจะได้จัดส่งให้ แต่อ้ายทาหนี หลวงโยธากลับลงมาได้ให้ไปขอหนังสือพระยาราชกลับขึ้นไปจับตัวลงมา ถ้าไม่ได้ผู้ร้ายให้เขาจำนำมาเร่ง ให้กรมการทำบัญชีสิ่งของถิ่นถานบ้านเรือนไว้ตามแบบอย่างผู้ร้ายทำเงินแดง

๒ พระดิษฐการถวายริโปตความเดือน ๙ เดิม ๑๖ ใหม่ ๒๑ รวม ๓๗ นั้น ความแล้ว ๑๖ ส่งกระทรวง ๕ รวม ๒๑ คงความ ๑๒ ฯ

๓ รับคำโทรเลขกัปตันอาบเบกอซ์ต ถึงห้างดิเบว่า เดี๋ยวนี้ในเรือร้อนนัก กลัวดินปืนจะลุกเป็นไฟขึ้น เพราะร้อนมากในกำปั่น นอกกำปั่นก็ร้อน ขอให้นายห้างสั่งให้ขนดินปืนออกจากกำปั่นทีเดียว ถ้านายห้างไม่สั่ง ฉันจะใส่ไว้ในเรือลำเลียง แล้วนายห้างจะให้ขนขึ้นมาบนบกที่ไหนก็ตามใจ ถ้าไม่ยอมในวันนี้ พรุ่งนี้เช้าก่อนแดดร้อนจะขนดินปืนใส่ไว้ในเรือลำเลียง จะตอบโทรเลขในวันนี้

๘ พระยาศรีอ่านบอกเมืองปราจิณเรื่องผู้ร้าย พระนรินทรอ่านบอกเมืองปราน

๙. นายแต่ง แล้วถวายหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ ตอบพระราชหัตถ์

วันอาทิตย์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ท่านเห็นว่าการค้าขายของราษฎรทุกวันนี้ติดพันอยู่กับลูกค้าประเทศต่าง ๆ มาก ถ้าโปรดเถล้า ฯ ให้ออกประกาศก็เป็นพระราชบัญญัตติดแผ่นดินอยู่ ควรให้เจ้าพนักงานบอกล่วงหน้าแก่กงสุลทั้งปวงให้ทราบก่อน ๖ เดือน กงสุลจะได้ประกาศให้สัปเยกต์ทราบ แต่ในร่างหมายประกาศกำหนดกำของไม้ และของที่จะใช้วาใหญ่กำหามีไม่ ท่านเห็นควรให้มีกำหนดกำกี่นิ้วลงในคำประกาศด้วย ผู้ซื้อ ผู้ขาย จะไม่ได้เป็นคำทุ่มเถียงกันด้วยกำโตกำเล็ก

๑๐. หลวงวิจารณ์อาวุธถวายริโปตกระลาโหมเดือน ๙ หนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ว่าความเดิม ๒๐ ใหม่ ๑๗ รวม ๓๗ แล้วเก่า ๔ ใหม่ ๙ รวม ๑๓ คงยังค้าง เก่า ๑๖ ใหม่๘ รวม ๒๔

๑๑. กาพย์จดหมายถวายว่าด้วยกัปตันลอฟตัสอยากจะพาภรรยาเข้ามาฝ้ล้า จะโปรดเกล้า ฯ ให้มาวันใดแล้วแต่จะโปรด ฯ

วัน ๓ ๑๐ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. รับหนังสือพระยาราชว่าด้วยกรมการกรุงเก่าบอกลงมาว่า วันอังคาร แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ นายสอนบ้านเกาะเรียนมาทำคำกฎหมายตราสินว่า วันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ เวลาดึก ๒ ยาม มีอ้ายผู้ร้ายประมาณ ๓๐ คนปล้นบ้าน อ้ายผู้ร้ายฟันประตูเรือนเข้าไปมัดนายสอนไว้ นายสอนจำหน้าได้ ๒ คน ชื่ออ้ายเที่ยง อ้ายบัว อ้ายผู้ร้ายเก็บทรัพย์สิ่งของไป ๔ ชั่ง ๒ ตำลึงกับสิ่งของอีกหลายสิ่ง หลวงมหาดไทยจับได้ตัวมารดา อ้ายเที่ยง อ้ายบัวยังไม่ได้

๒. จมื่นราชนาคาถวายเรื่องราวกล่าวโทษ พระยาสมบัติยาธิบาล ว่าจ่ายเงินประจำเดือนในคลังในขวา เกินเอสติเม็ตพระยาธรรมจรัญยา เดิมพระยาธรรมจรัญยากะไว้ปีละ ๑๓๐ ชั่ง เกินถึง ๑๑๒ ชั่งเศษ พระยาสมบัติยาธิบาลเร่งให้ตั้งฎีกาเบิก ตัวจะเบิกกลัวความผิด กับข้อ ๑ พระยาสมบัติยาธิบาล เอาหมื่นชินผู้เก็บฎีกาจ่ายนายด้านไปบางปอินเสีย จะสอบฎีกาจ่ายของก็ไม่ได้

๓. พระยาภาสขุนหลวงพระไกรศรีเฝ้า อ่านกฎหมายโปลิศที่พระยาภาสเรียบเรียง โปรดให้เอาไปประชุมเคาน์ซินตรวจแล้ว

๔. มีพระราชหัตถ์ พระราชทานขุนหลวง พระไกรศรี

๕. มีพระราชหัตถ์ตอบเจ้าพระยาสุรวงศ์เรื่องที่ว่ามาด้วยกำไม้วา

๖. พระยาประภาเฝ้าทูลด้วยหนังสือพระยาพิพัฒน์ ในเรือไทยอินนั้นเป็นหนังสือสำหรับเรือ ไม่เป็นหนังสือเบิกร่องถึงพ้นปีก็ได้ อาวุธนั้นไม่เป็นธรรมเนียมในเรือสำหรับลำ

๗. มีพระราชหัตถ์ ไปถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ฉะบับ ๑

๘. รับหนังสือสมเด็จเจ้าพระยาว่าด้วยรับพระราชหัตถ์ วันอาทิตย์ ขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๑๐ ที่ว่าด้วยประกาศถังทะนานตุ้มชั่งไม้วา ท่านตรวจดูในหนังสือประกาศก็เป็นการดีอยู่แล้ว แต่ยังมีระแวงอยู่หน่อยหนึ่งด้วยการภาษีข้าวที่ประพฤติกันมาแต่ก่อนนั้น ใช้ข้าวกล้อง ๒๒ หาบเป็นเกวียน ข้าวขาวใช้ ๒๓ หาบเป็นเกวียน จะตวงกันด้วยถังทะนานอย่างไรไม่ทราบ ขอให้เอาเจ้าพระยาภาณุวงศ์ผู้เจ้าของภาษีข้าวมาคิดอ่านเสียให้เรียบร้อย อย่าให้ของที่ประกาศออกไปกับที่เคยมาแล้วเป็นที่ทุ่มเถียงกันขึ้นได้ ข้อ ๑ ไม้วา ไม้ศอกนั้น จะต้องไขความออกไป ด้วยกำที่วัดไม้ใหญ่ ไม้เล็กนั้น ใช้กันก็เหลื่อมใหญ่บ้างเล็กบ้าง จะต้องให้มีพิกัดด้วยจึงจะดี

๙. มีพระราชหัตถ์ตอบฉะบับ ๑

๑๐. ออกขุนนางพระยาศรีอ่านบอกเมืองหล่มศักดิ์เรื่องเงี้ยว

๑๑. พระยารองเมืองจดหมายวันของฝรั่งหายถวาย เรื่องนี้ทรงสั่งทูลกระหม่อมพระองค์น้อยให้เป็นพระธุระคิดอ่านพร้อมด้วยพระยารองเมืองกัปตันเอมจัดให้เรียบร้อย ด้วยลูกจ้างฝรั่งต่อลูกจ้างลักกันเอง จะได้ตัวมาชำระก็ลำบาก ด้วยกีดหนังสือสัญญา ให้ท่านคิดอ่านสืบสวนเอาตัวให้ดี สั่งเมื่อวันดินเนอกรมขุนเจริญ

๑๒. เจ้าจังหวัดในกรมอมเรนทรว่าประชวรมาก

๑๓. กาพย์จดหมายถวาย ๒ ฉะบับ ๆ ๑ ว่า ทูลกระหม่อมพระองค์น้อยยืมเครื่องโต๊ะ ฉะบับ ๑ ว่าด้วยนายเหมือนทหารขะโมยของรับเป็นสัตย์ขังไว้

๑๔. สมเด็จพระองค์น้อยจดหมายถวายว่าด้วยวันนี้ท่านมีการเลี้ยงดินเนอให้กรมเจริญเปรซิเดนซึ่งรับกรม ถวายขนมต่าง ๆ เป็นของโซไซเอตียินดี กับส่งตัวอย่างบุหรี่ซิกาเรสมาถวาย ค่ำวันนี้ทูลลาไปปากน้ำเร่งศิลา

๑๔. มีตอบไปฉะบับหนึ่ง

๑๕. ทรงพระอังคบมา ๒ วันทั้งวันนี้ ไม่ทรงสบายเมื่อยมาก

วัน ๔ ๑๐ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. เมื่อคืนนี้บรรทมหลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่ทรงสบาย หลับอยู่ใน ๒ ชั่วโมง บรรทมแล้วหลับอีก เมื่อยมาก ถวายอยู่งานเช้า ต้องบรรทมอยู่จนสาย

๒. เวลาเช้า ๕ โมงเศษ กรมอมเรนทรบดินทรสิ้นพระชนม์ พระราชทานไตรไป ๒๐ ไม่ได้เสด็จ กรมสมเด็จพระสุดารัตน และเจ้านายราชวงศ์เสด็จ วังหน้า สมเด็จกรมพระ และเจ้านายมีบ้าง

๓. เช้าวันนี้ตักบาตน้ำผึ้ง ไม่ได้เสด็จ โปรดเกล้า ฯ ให้องค์สวัสดิโสภณไปจุดเทียนและตักบาต

๔. บ่ายเสด็จออกทรงตรัสอยู่สัก ๒ ชั่วโมงเศษ ด้วยไม่ทรงสบาย ไม่โปรดให้ใครเฝ้า

๕. รับจดหมายกรมขุนเจริญขอรับพระราชทานฝีพายกระทุ้งรากพระวิหาร พระเจดีย์

๖. รับหนังสือพระยามหามนตรี ว่าด้วยชำระผู้ร้ายทำเงินแดงว่า วันอังคาร ขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๑๐ อ้ายเดช อ้ายอิ่ม อ้ายยิ้ม อ้ายอยู่ รับเป็นสัตย์ซัดถึงอ้ายผู้ร้าย ได้ขอหนังสือพระยาราชให้หลวงโยธาคุมตัวอ้ายบุญบุตรอ้ายเดชลงเรือโสรวารไปที่บ้านบางสะพานกรุงเก่า หลวงวารีไปเรือนกอินทรีจับที่บ้านปากไห่ตาลาน นายโห้สกันเลบเตอแนนลงเรือไฟหลวงพินิตไปจับที่สระบุรี ๓ รายนี้ไปวันอังคารขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ที่ ๑๑ วัน ๘ ค่ำให้ตรวจสุกกับอำเภอล้อมจับอ้ายเปรมบ้านบางกะปิได้ตัวมามีเงินแดงพดด้วง ๑๔ บาท ทองแดง ๑๐ ตำลึง เหล็กตราเมล็ดข้าวสารหนึ่ง อีหุ่นภรรยาอ้ายเปรมให้ถ้อยคำว่า เดิมอีหุ่นได้ทราบว่าอ้ายเปรมทำเงินแดง อีหุ่นห้ามอ้ายเปรมกลับทุบตี อีหุ่นได้ค้อนที่สำหรับตีเงินแดงมาลุแก่โทษแก่อำเภอ อ้ายเปรมจับเอาดาบฟัน อีหุ่นหนีไปอยู่บ้านนายอ้นกะสือ ๆ กับอำเภอได้ห้ามปราม ครั้นรุ่งเช้าอีหุ่นลุแก่โทษแก่อำเภอยังไม่รับว่ายังมัวอยู่ ด้วยไม่ได้เหล็กและตราให้คอยจับอยู่ก่อน อีหุ่นก็คืน คือคอยจับเครื่องมือยังหาได้ไม่ อ้ายเปรมไปบ้านอ้ายเดชอ้ายพาบางสะพานกรุงเก่ามิได้ขาด วันนี้ได้ชำระอ้ายเปรมไม่รับ อีหุ่นอ้ายเดชอีแสงก็ยืนอยู่ ได้ผูกเฆี่ยน ๕ ทีจึงรับ ซึ่งแกชำระผูกไม่เว้นวันพระนั้น พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ ด้วยเป็นผู้ร้ายสำคัญ ครั้งจะรอก็จะแตกเสีย อ้ายผู้ร้ายรายนี้หมู่ใหญ่อยู่ แต่ค่อยได้ทีละน้อย ต้องใช้เรือกลไฟ พอได้เร็วกว่าทางอ้ายผู้ร้ายที่จะได้ข่าว อนึ่งพระยาราชได้ช่วยแข็งแรง แกได้ดำเนินพระบรมราชโองการ ขอพระบารมีโปรดเกล้า ฯ ให้ท่านมีน้ำใจขี้น หาไม่ขานไปซับซ้อนนัก กลัวจะมีรำคาญว่าตระลาการจู้จี้ไม่รู้แล้ว ด้วยอ้ายผู้ร้ายขยายทีละน้อยๆ ดังนี้ ครั้งพระยาราช พระยารองเมืองออกปากว่าถูกรังใหญ่ แต่ท่านคอยมานานแล้วไม่ได้ช่องเลย ที่บางสะพานเป็นรังใหญ่แล้วอ้ายเปรมซัดภายหลังอีกที่ตำบลบ้านบางกะจะ ๑ ปลายคลองสามเสน ๑ บางกรวย ๑ ให้คนไปจับแล้ว ยังฟอกซักอ้ายเปรมต่อไป มีพระราชหัตถ์กระดาษรับสั่งตอบไปว่าผูกวันพระไม่มีใครว่าดอก

๗. รับหนังสือเจ้าหมื่นศรีถวายว่าด้วยโปรดเกล้า ฯ รายภาษีไม้ขอนสักอยู่ทุกวันนี้ จะใช้ไม้วาสั้นหรือยาวประการใด และได้โปรดเกล้าฯ กับพระยาราชแล้วหรือยัง ยังหาทราบเกล้า ฯ ไม่ ถ้าไม้วาที่เก็บภาษีสั้นไม้วาใหม่ยาวไปผิดกันมาก ภาษีนั้นก็จะตกไป อนึ่งธรรมเนียมซื้อขายไม้สักนั้น ถ้าไม้ ๘ กำ กับ ๔ นิ้ว เขาคิดเป็น ๙ กำ ถ้าไม้ ๘ กำกับ ๒.๓ นิ้ว เขาคิดเป็น ๘ กำถ้วน ถ้าภาษีเก็บตามชื้อขายกันดังนี้ ไม้วาผิดกันน้อย ก็เป็นทีเสียเปรียบกันมาก เพราะผิดแต่นิ้วหนึ่ง ควรไม้จะเก็บได้เป็น ๙ กำ ก็จะได้แต่ ๘ กำเท่านั้น ถ้าเก็บภาษีแต่โดยตรงไม่เหมือนซื้อขายกัน ถึงจะยาวสั้นประการใดก็จะไม่ผิดกันมากนัก มีพระราชหัตถ์กระดาษรับสั่งตอบไปว่า จะถามพระยาราชดู

๘. มีพระราชหัตถ์ถึงพระยาราชวรานุกูล ที่เกษตราธิบดี

วัน ๕ ๑๐ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. รับคำโทรเลข ๒ ฉะบับ เรือไป ๒ ลำ ฉะบับ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษี กลับขึ้นมากรุงเทพ ฯ

๒. รับหนังสือสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีว่า ไปตรวจศิลาที่เมืองสมุท ถามพระยาสมุทๆว่าศิลาราษฎรไปบรรทุกนั้นได้เข้ามาบ้างแล้ว ประมาณ ๙,๑๐ คิดศิลาหมดด้วยกันประมาณหมื่นหาบ แต่ราษฎรเกียจอยู่ว่าฤดูนี้เป็นฤดูน้ำลงเชี่ยว ถ้าจะเอาขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ ช้าวันหลายเวลาลำบากมาก หาบละเฟื้องราษฎรไม่รับบรรทุกขึ้นมา เขาโยนขึ้นไว้หน้าบ้านเสียหมดทุกคน ท่านเห็นว่าฤดูนี้น้ำเชี่ยวจริง ครั้นจะคิดราคาเพิ่มให้อีกก็เปลืองเงินมากขึ้นเปล่า ๆ น้ำก็จะเชี่ยวจัดขึ้นไปทุกวัน ถ้าจะรอกว่าจะได้ศิลาก็หลายเดือนนัก อยากจะได้รับพระราชทานศิลาสักหมื่นหาบมาให้ทันก่อน ในเวลานี้น้ำไม่สู้เชี่ยวเท่าใดนัก ถ้าได้รับพระราชทานเรือบรรทุกไปบรรทุกศิลาให้เรือไฟลากมาสักเที่ยวหนึ่ง สองเที่ยวได้เห็นจะดี ครั้นจะใช้กำลังคนก็เห็นจะไม่ไหว อนึ่งพระยาสมุทแจ้งความว่าศิลาชะนิดนี้ที่แหลมฟ้าผ่ามีอยู่มาก เดิมได้ซื้อไว้หาบละเฟื้องขึ้นถมไว้ว่าจะทำป้อมเป็นเงินหลายร้อยชั่ง การป้อมนั้นก็สงบอยู่ ศิลาก็จมเลนเสียมาก ถ้าจะยืมศิลานี้ใช้ในการถนนให้ทันราชการก่อน จะไม่เป็นการลำบาก ประการ ๑ ราษฎรได้พูดอยู่ว่า ถ้าจะบรรทุกศิลาที่แหลมฟ้าผ่าเข้ามากรุงเทพ ฯ แล้วจะคิดเขาราคาอย่างน้อย เพราะไม่สู้ถูกคลื่นมาก ท่านได้เอาเรือตีกรรเชียงไปดู เห็นมีศิลาอยู่มากพอรับราชการได้ แต่การจะขัดข้องประการใดยังหาทราบไม่ เป็นแต่คำพระยาสมุทว่า แล้วแต่จะโปรด

๓. วันนี้ เสด็จออกหน่อยหนึ่งไม่มีการอะไร ไม่สู้ทรงสบาย

วัน ๖ ๑๐ ๑๐ ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. รับหนังสือสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมีว่า หม่อมราชวงศ์หญิงหว่างเจ็บครรภ์แต่วันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ เวลาบ่าย เจ็บเป็นครั้งเป็นคราว ท่านได้รับพระราชทานให้หลวงราโชมาตรวจ ว่าเห็นจะยังไม่คลอด ท่านจึงยังมิได้กราบบังคมทูล วันนี้เวลาเช้า ๒ โมง ๓๕ มินิต ๑๘ เซกัน คลอดเป็นชาย มารดาและเด็กก็สบายเป็นปกติ

๒. มีพระราชหัตถ์ตอบไปฉะบับหนึ่งว่า ด้วยท่านจดหมายมาว่าหญิงหว่างออกลูกเป็นชาย ทรงมีความยินดีนัก ด้วยเหมือนดังหมาย ขออย่าให้มีอันตรายประการใดเลย แต่ไห้เรียกกันเป็นหม่อมเจ้าก่อนตามยศเดิม เมื่อมาเฝ้าเมื่อใดจึงจะตั้งให้เป็นพระองค์เจ้า จะได้เป็นเกียรติยศและถูกต้องตามแบบอย่างแต่ก่อนมา

๓. เราเฝ้าทรงด้วยเรื่องดวงลูกสมเด็จพระองค์ใหญ่

๔. รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ฉะบับ ๑ ตอบพระราชหัตถ์เรื่องประกาศไม้วาไม้ศอกตุ้มถังชั่งทะนาน ว่าความในหมายประกาศนั้นดีแล้ว และข้อซึ่งว่า ถ้าผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ใช้ถังทะนาน ไม้วาไม้ศอก ตุ้มชั่งหาบให้ถูกต้องตามหมายประกาศอัตรานี้ ทำให้หนัก ๆ เบา ๆ เล็กๆ ใหญ่ๆ สั้นๆ ยาวๆ ไป ถ้าเกิดความฟ้องร้องถึงโรงศาล ตั้งแต่วันเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ปีเถาะ เอกศกไป เจ้าพนักงานตระลาการจะต้องตัดสินตามแบบหมายประกาศ ถังทะนาน ไม้ศอกไม้วา ตุ้มชั่ง หาบนี้ เป็นข้อบังคับให้รู้ทั่วกัน ชอบด้วยเกล้า ฯ แล้ว แต่ซึ่งว่าเว้นแต่ได้ทำสัญญาว่าจะซื้อขายด้วยถังทะนานอย่างนั้น ไม้ศอกไม้วา อย่างนั้น ตุ้มชั่งอย่างนั้น จึงใช้ได้ ความข้อนี้ท่านเห็นว่าจะเป็นข้อลบล้าง ข้อที่ว่าเป็นความแก่กัน เจ้าพนักงานตระลาการจะตัดสินตามประกาศอัตรานี้แล้วไม่เป็นที่เด็ดขาดไปได้ เหมือนกับหมายประกาศกำหนดดอกเบี้ยชั่งละบาทในการกู้หนี้ยืมสินกันด้วย และในหมายประกาศตั้งกำหนดดอกเบี้ยชั่งละบาทนั้น ถึงผู้ที่กู้ยืมไปจะมีหนังสือสัญญาให้ดอกเบี้ย ชั่งละ ๑๐ สลึง หรือ ๓ บาท หรือ ๔ บาท ๕ บาท ไว้ต่อกันประการใดก็ดี ถ้าผู้ที่กู้ยืมไปนั้นยอมให้แก่กันตามสัญญา ไม่ได้เป็นถ้อยความแก่กันแล้ว ก็เป็็นเอกลาภของเจ้าเงินกู้ที่ให้ยืมไป ถ้าเกิดเป็นถ้อยความแก่กัน ถึงตระลาการชำระตัดสินแล้ว ตระลาการต้องตัดสินให้เสียดอกเบี้ยต่อกัน ชั่งละบาทตามกำหนดหมายประกาศ ถึงจะมีหนังสือไว้ต่อกันประการใด ๆ ที่เกินกำหนดหมายประกาศแล้ว ก็เป็นใช้ไม่ได้ และหมายประกาศครั้งนี้ถ้าผู้ที่ได้สัญญาต่อกันจะเป็นความแก่กัน ตระลาการก็จะต้องตัดสินตามที่เขาได้สัญญากันไว้ ถ้าจะตัดสินตามไม้วาไม้ศอก ตุ้มชั่ง ถังทะนาน ที่เป็นแบบของหลวงสำหรับแผ่นดินมีอยู่นั้น ก็จะผิดกับสัญญาที่เขาได้สัญญาแก่กันไว้นั้น ไม้วาไม้ศอก ที่สั้นๆ ยาวๆ ตุ้มถัง ที่เล็กๆ ใหญ่ๆ ก็ยังจะคงใช้อยู่เสมอไป กลัวจะไม่เป็นแบบเดียวอย่างเดียวไปได้

๕. รับหนังสืออาลบาศเตอว่าเตียงทองเหลือง ๓ เตียง เหล็ก ๔ เตียงทรงสั่งนั้น เข้ามาถึงแล้ว ได้ส่งเตียงทองเหลืองเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายเตียงหนึ่ง ที่ยังเหลือนั้นจะโปรดให้มอบให้เจ้าเข่งหรือผู้ใดแล้วแต่จะโปรด มีพระราชหัตถ์กระดาษรับสั่งว่าให้ส่งเจ้าเข่ง และให้ส่งราคาเข้ามาถวายด้วย

๖. วันนี้ไม่ได้เสด็จออกขุนนาง

วัน ๗ ๑๑ ๑๐ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. รับหนังสืออาลบาศเตอว่าได้ส่งเตียงกับเจ้าเข่งเสร็จแล้ว แต่ราคานั้นพระยาสยามธุรพาหะส่งเข้ามาเมื่อใดจึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

๒ รับหนังสือท่านกาพย์ว่าจมื่นสราภัยมาแจ้งความว่าของที่จะใช้แต่งมิวเซียมเป็นต้นว่าผ้าสักหลาดต่างๆ ซึ่งจะใช้คลุมโต๊ะปิดตู้นั้น จะขอรับพระราชทานเบิกในพระคลังข้างใน สิ่งของที่ไม่มีในห้องพระคลังนั้นจะขอรับพระราชทานจัดซื้อ กับว่าในเดือน ๙ นี้นายคล้ายไปรเวตกำปนีที่ ๖ ได้รับการหมอรักษาทหารทั้งกลางวันกลางคืน ขอรับพระราชทานเพิ่มเงินเดือนอีก ๖ บาท น ๓๒ บาท กับหมื่นกาหลบริหารสมุห์บัญชีไพร่หลวง เดิมได้รับการมาก เดิมได้ ๑๐ บาท ขอเพิ่มอีก ๒ บาท

๓. มีพระราชหัตถ์กรอกโน๊ตยอมไป

๔. พระยาสมบัติยาธิบาลเฝ้าถวายสัญญาพระภาษีกู้เงิน ว่าวันศุกร์แรม ๓ ค่ำเดือน ๙ จุลศักราช ๑๒๔๐ ปีขาลสัมฤทธิศก พระภาษีทำสัญญารับเงิน ๒๐๐ ชั่งให้ไว้แก่พระยาสมบัติยาธิบาลฉะบับ ๑ ด้วยพระภาษีทำเรื่องราวทูลเกล้า ฯ ถวายขอรับพระราชทานกู้เงินไปทำทุนซื้ออ้อยหีบทำน้ำตาลทรายที่โรงจักรกลไฟจำนวนปีขาล เซ็นพระราชหัตถ์โปรดให้พระยาสมบัติยาธิบาลเป็นเจ้าพนักงานจ่ายเงิน ๒๐๐ ชั่งให้ จึงยอมทำสัญญาไว้ต่อเจ้าพนักงาน ๖ ข้อ

ข้อ ๑ ยอมให้เจ้าพนักงานไปกำกับตรวจดูการงานในโรงจักรด้วย

ข้อ ๒ ถ้าตราภาษีจะเอากระสอบใส่น้ำตาลทรายมากน้อยเท่าใด เขาจะมีตรายี่ห้อทงสูนของเจ้าพนักงานที่กระสอบทุกกระสอบ ให้รู้จำนวนไว้ด้วย

ข้อ ๓ เมื่อจะเอาน้ำตาลทรายใส่กระสอบต้องบอกเจ้าพนักงานไปตรวจดูให้รู้จำนวนน้ำตาลมากน้อยเท่าใด จะได้ทำบัญชีให้ถูกต้องกัน

ข้อ ๔ ถ้าจะบรรทุกน้ำตาลน้ำอ้อยเข้าไปจำหน่ายในกรุงเทพ ฯ และจำหน่ายที่แห่งใด ๆ จะบอกเจ้าพนักงานไปว่าราคาจำหน่ายพร้อมด้วยผู้ซื้อ จะได้กำกับท้ายชั่งจดน้ำหนักและรายเที่ยวเรือไว้

ข้อ ๕ เขาจำหน่ายน้ำตาลน้ำอ้อย ให้แก่ลูกค้าเป็นเงินมากน้อยเท่าใด ตามราคาที่ตกลงกันพร้อมด้วยเจ้าพนักงานแล้วนั้น ถ้าลูกค้าจะส่งเงินต่อเจ้าพนักงานๆ ยอมรับเงิน เขาจะยอมหักบัญชีส่งให้เจ้าพนักงานตามที่ยอมรับยอมส่งกัน

ข้อ ๖ ถ้าถึงวันขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๘ ปีเถาะเอกศก จะส่งเงิน ๒๐๐ ชั่ง ดอกเบี้ยชั่งละ ๑ บาทให้เสด็จ ถ้าเขาทำผิดสัญญาแต่ข้อหนึ่งข้อใดให้ปรับไหมมีโทษแก่พระภาษีจงหนัก พระภาษีเซ็นลายมือประทับตรายี่ห้อรับเงิน ๒๐๐ ชั่งไว้ ในตนังสงสัญญาเป็นสำคัญ โปรดให้คัดไว้แล้วคืนต้นไป

๕. รับสั่งให้เราถามพระยาสมบัติยาธิบาล เริ่มราชนาคาถวายเรื่องราวกล่าวโทษ นัดไปที่บ้าน

๖ เมื่อคืนนี้รับบานแผนกฉะบับ ๑ เซ็นมหามาลา จาตุรนต์หลุยพระราชธน ภาษีโขนลครหุ่นหนังเพลง การเล่นๆ เดิมจีนเมืองรับทำ จีนเส็งยื่นเรื่องราวหาตัวมาว่า จีนเส็งประมูล ๖ ชั่ง รวมเดิม ๑๗๐ ชั่ง ประมูล ๖ ชั่ง รวม ๑๗๖ ชั่ง เซ็นให้ตั้งจีนเส็งผู้ประมูลสูงไปเถิด

๓ รับโทรเลขเมืองสมุทรฉะบับ ๑ ว่าเจ้าพระยาสุรวงศ์กลับขึ้นมาบางปอิน ๔ แผ่น ๒ ฉะบับ หม่อมแดงถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ว่า วันศุกร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๐ ได้ตั้งเครื่องที่ออฟฟิศใหม่ ตรงโรงทหารมหาดเล็กที่หน้าพระที่นั่งวรประภัย คือวโรภาศพิมานนั้น การทำสายโทรเลขแต่ออฟฟิศกรุงเทพ ฯ ถึงเกาะบางปอิน นายกองเส้น นายกองตุ้มเก่าได้ทำการแต่กรุงเทพฯ ถึงพรมแดนเมืองนนท์ ใช้สิ้นอินสุเลตเตอใหญ่ ๔๑ เล็ก ๑๘๕ สายลวด ๔๔ ขด พระยานนท์ พระสยาม ทำแขวงเมืองนนท์ ถึงพรมแดนเมืองประทุมสิ้นอินสุเลตเตอใหญ่ ๔๖ เล็ก ๙๖ ลวด ๒๔ ขด พระยาประทุน กองตุ้มใหม่ ทำแขวงเมืองประทุมถึงพรมแดนกรุงเก่าสิ้นอินสุเลตเตอใหญ่ ๓๖ เล็ก ๒๒๘ ลวด ๕๔ ขด หลวงนาทำแขวงกรุงเก่าถึงบางปอินสิ้นอินสุเลตเตอใหญ่ ๒๖ เล็ก ๑๒๓ ลวด ๒๙ ขด รวมสิ้นอินสุเลตเตอใหญ่ ๑๕๑ เล็ก ๖๓๒ ลวด ๑๕๑ ขด การเสร็จแล้ว ออฟฟิศยังไม่ได้ทาสี อีกฉะบับ ๑ ถึงทูลกระหม่อมพระองค์น้อย จะใช้เครื่องเตลิฟนเมื่อไรก็ให้บอกขึ้นไป

๘. กรมหมื่นนเรศรถวายจำนวนสุรา บ่อนเบี้ย ที่ค้างพระยานครศรีธรรมราช สมเด็จฝากเข้ามา ค้างอากรสุราตั้งแต่ปีมะเส็งนพศกถึงปีฉลูนพศกเป็น ๒๑ ปี เงินทั้งอธิมาศและงวด ๑๘๘๓ ชั่ง ๑๗ บาท ๕๖ สลึง ได้ส่งเครื่องถม ๓ ครั้ง รวมราคาเงิน ๒๑๘ ชั่ง ๖๗ บาท ๘ สลึง หักแล้วคงค้าง ๖๖๔ ชั่ง ๓๐ บาท ๔๘ สลึง บ่อนเบี้ย ตั้งแต่จำนวนปีมะแมตรีศก ถึงปีฉลูนพศก รวม ๗ ปี เงินทั้งอธิมาศ และงวด ๖๒๓ ชั่ง ๒๓ บาท ๓๒ สลึง รวม ๒ ราย ค้าง ๑๒๘๗ ชั่ง ๕๕ บาท ๑๖ สลึง ขอให้พระราชทานให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ช่วยเร่ง

๙. ถึงพระเจ้าพระยาสุรวงศ์ ว่าด้วยเงินค้างพระยานคร

๑๐. ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์เรื่องตุ้ม

๑๑. ถึงทูลกระหม่อมพระองค์น้อย ว่าด้วยศิลาถมถนน

๑๒. รับงบเดือนเจ้าพนักงานหอรัษฎาทูลเกล้า ฯ ถวาย จำนวนเดือน ๙

เกณฑ์บุญ

๔ ชั่ง ๗๗ บาท ๘ สลึง

 

๕๗๖๘ ชั่ง ๖ บาท ๘ สลึง

งวด

๕๓๘๙ ชั่ง ๒๑ บาท

 

ข้างที่

๒๕๕ ชั่ง ๗๗ บาท ๔๐ สลึง

 

กรมต่างๆ มีพระชนม์

๒๑ ชั่ง ๑๘ บาท ๔๐ สลึง

๑๑๗ ชั่ง ๗๐ บาท ๑๖ สลึง

พี่นาง น้องยา

๖๖ ชั่ง ๒๓ บาท ๓๒ สลึง

ลูกเธอ

๓๐ ชั่ง ๒๘ บาท ๘ สลึง

 

เกณฑ์

๕ ชั่ง

 

๖๓๒๒ ชั่ง ๓๗ บาท ๒๔ สลึง

๖๘๑๔ ชั่ง ๔๙ บาท ๓๒ สลึง

งวด

๔๘๕๖ ชั่ง ๒๒ บาท ๒๔ สลึง

 

ตัวเงิน มีพระชนม์

๔๐๓ ชั่ง ๑๘ บาท ๓๒ สลึง

๑๔๖๑ ชั่ง ๔ บาท

จ่ายกรม พี่นาง น้องยา

๑๐๕๗ ชั่ง ๖๕ บาท ๓๒ สลึง

หักบัญชีรายพระไชยยศยืมเงินงวดจ่ายไปก่อน แล้วไม่ต้องออกตัวเงิน

 

 

๔๙๒ ชั่ง ๑๒ บาท ๘ สลึง

 

หักแล้วตัวเงิน

๕๕๔ ชั่ง ๓๑ บาท ๑๖ สลึง

๑๐๔๖ ชั่ง ๔๓ บาท ๒๔ สลึง

คงจ่ายหักบัญชี

๔๙๒ ชั่ง ๑๒ บาท ๘ สลึง

๑๓. วันนี้ยังไม่สู้ทรงสบาย ไม่ได้ออกขุนนาง

วัน ๑ ๑๒ ๑๐ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. รับโทรเลขบางปอินว่า กงสุลเยอรมัน มิสเตอคลากและแหม่มคลาก ขึ้นไปบางปอิน ถึงวันเสาร์ขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๑๐ เวลา ๒ ทุ่ม โปรดเกล้า ฯ ให้ตอบขึ้นไปว่า ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่าซึ่งกงสุลเยอรมันกับมิสเตอคลาก และมิสซิสคลากขึ้นไปพระราชวังบางปอินนั้น ให้หม่อมราชวงศ์ แดงกับหลวงนากรมการกรุงเก่ารับรองเขาให้เรียบร้อยแข็งแรง แล้วหม่อมแดงตอบมาอีกฉะบับ ๑ ว่า เวลาคืนนี้หลวงนาคอยรับ ครั้นรุ่งเช้าวันนี้หม่อมแดงได้พาไปดูบนพระที่นั่งตลอดหมด คิดว่าเย็นจะพาเที่ยวตามสวนนาไปไม่ได้ ด้วยฝนตกมาก นาที่กรมการกรุงเก่าได้มาก และจัดการดีแล้ว กงสุลกำหนดจะกลับเช้าพรุ่งนี้ หม่อมแดงจะกลับพรุ่งนี้ด้วย

๒. พระยาภาสเฝ้าถวายหนังสือทูลขอนายนิลเปรียญวัดราชนัดดา ซึ่งเป็นที่หมื่นพากยโวหารในกรมอักษรพิมพ์ได้เบี้ยหวัดอยู่ ๔ ตำลึง สมัคมาเป็นเสมียนอยู่ในแก ขอรับพระราชทานมาอยู่ในกรมมหาดเล็ก

๓. รับหนังสือพระยาอุไทยธรรมบอกป่วยมาก

๔. ออกขุนนาง กรมขุนเจริญถวายจดหมายว่า ขุนทิพวิหารขุนเทพวิหาร มาทูลท่านว่าวันอังคารขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๑๐ เวลากลางคืมมีผู้ร้ายเจาะบานหน้าต่างหอพระนาคเป็นช่อง ๒ แห่งกว้างประมาณ ๔ นิ้ว ถอดขอถอดลิ่มเปิดหน้าต่างลักเอาพระพุทธรุปห้ามสมุทหล่อด้วยเงินองค์หนึ่ง สูงศอก ๒ นิ้วไป พระองค์นี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงสร้าง คนเฝ้านอนหลับ ต่อรุ่งเช้าจึงทราบ ท่านให้ข้าพระนำกรมวังไปเที่ยวค้นในวัดพบปืนบอกหนึ่ง ดาบเล่มหนึ่ง ซ่อนไว้ในกองหินริมซุ้มประตูพระศรีรัตนเจดีย์ แต่พระนั้นไม่พบ ขอรับพระราชทานให้พระยาอนุรักษ์สืบดูในพระราชวัง ห้ามนายประตู ให้พระยารองเมืองสืบข้างนอก แกเร่งให้สืบ

๕. พระยาศรีอ่านบอกเมืองโพนพิสัยว่าด้วยตองซู่ไปค้าขายเมืองเชียงขวาง ถูกผู้ร้ายย่องเบาลักของไป ๒ รายๆ ๑ จับผู้ร้ายได้ ไปให้ท้าวเพี้ยชำระ ท้าวภัณฑ์มารับประกันผู้ร้าย แล้วว่าจะใช้ทุนทรัพย์ให้ๆไปเอาที่พระพนมเพ็ชร์ ๆ ก็หลบเสีย มาร้องที่เมืองโพนพิสัยเรื่อง ๑ ตองซู่จับผู้ร้ายได้มาให้เมืองโพนพิสัยชำระ ผู้ร้ายซัดท้าวภัณฑ์หมายไปเอาตัวที่เมืองบริคัณฑ์ พระพนมเพ็ชร์ออกขัดขวางเสีย ทรงพระวิตก ด้วยเมืองเชียงขวางยังไม่มั่นคง ตองซู่ไปค้าขาย เราจะต้องเป็นประกัน จะต้องบอกศาลาออกตัวเสีย ทรงอยู่มาก

๖. ขุนนางกรมท่าถวายหนังสือราชการ ๓ เล่ม

วัน ๒ ๑๓ ๑๐ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. องค์มนุษย์ถวายรวมริโปตความเดือน ๙ ทรงเซ็นฎีกาสอบถามแล้ว เซ็นอีก ๑ ใหม่ ๑๕ รวม ๑๖ อีกฉะบับ ๑ รวมกรมต่างๆ ความแล้ว ๓๙ ใบสัตย์แล้ว ๑๙

๒. รับหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์คอยพระราชหัตถ์เรื่องไวต์แอนเมเชอนั้นว่า ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ว่าได้ลงไปในหมายประกาศดังนั้น จะถือเอาแต่เพียงว่าหมายประกาศช่วยให้ราษฎรซื้อขายเท่านั้น การต่อไปควรจะขยับขยายอย่างไรจึงคิดต่อไปนั้น ชอบด้วยเกล้า ฯ แล้ว และหมายประกาศนั้นตกลงเป็นใช้ได้เมื่อใด ท่านจึงจะมีหนังสือนำส่งหมายประกาศไปทุกกงสุลให้ทราบทั่วกัน และซึ่งจะโปรดเกล้า ฯ ให้อธิบายใจการเรื่องนี้ไปในหนังสือคำบ้างนั้น ท่านคิดว่าเป็นแต่จะบอกให้ทราบว่า บัดนี้โปรดให้เจ้าพนักงานจัดสอบสวนเครื่องวัดชั่งให้เป็นแบบอย่างเป็นแน่จริงไว้เป็นตัวอย่างเท่านั้น การค้าขายของลูกค้าที่เป็นการวัดตวงชั่งนั้น ก็สุดแต่ลูกค้าจะสัญญาตกลงแก่กัน ไม่เกี่ยวข้องบังคับในการค้าขาย ท่านเห็นว่ากงสุลจะไม่มีที่เถียงในการเรื่องนี้ แต่การภาษีข้าวซึ่งเก็บ ๒๒ หาบเป็นเกวียน ซึ่งใช้อยู่ทุกวันนี้ ได้คิดตวงด้วยถังเจ้าพนักงานกรมนา ๑๐๐ ถังเป็นเกวียน จึงได้เป็นพิกัดเรียกภาษีมาและการที่จะต่อไปนั้น จะต้องรอฟังเสียงลูกค้าดูก่อน และส่วนภาษีข้าวนั้นเมื่อการจะควรประการใดแล้ว ท่านจะคิดจัดการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป

๓. พระยาสมบัติยาธิบาล ถวายคำแก้จมื่นราชนาคากล่าวโทษว่า ตั้งแต่โปรดให้แกมาเป็นเจ้ากรมคลังขวาเดือน ๑๒ ปีชวดอัฐศก การสั่งจ่ายสั่งซื้อ พระยาธรรมจรัญยาเป็นผู้สั่ง ถึงกำหนดเดือน ขุนวิสูตรราชสมุหบัญชีกลาง ขุนรักษ์อักษรเป็นต้นฎีกาเบิกเงิน พระยาธรรมจรัญยาเป็นผู้รับพระบรมราชโองการให้แกประทับตราด้วยดวงหนึ่ง มาจนเดือน ๕ ปีฉลู พระยาธรรมจรัญยา จึงให้เปลี่ยนชื่อแกเป็นผู้รับพระบรมราชโองการ พระยาธรรมจรัญยาประทับหลัง แต่การสั่งสั่งจ่ายซื้อ ให้คนไปเสนอ ที่การร้อนแกก็ได้จ่ายไปบ้าง ได้เบิกเงินแล้ว แต่เดือน ๕ ถึงเดือน ๙ เงิน ๗๒ ชั่ง ๒ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง ยังไม่ได้เบิกอีก ๗ เดือน เงิน ๑๗๑ ชั่ง ๒ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง แกขอเบิกเงินที่ค้างให้เสด็จในปีฉลู แต่ปีขาลต่อไปจะขอแอสติเมตเดือนละ ๘ ชั่ง ปีหนึ่ง ๔๘ ชั่ง

๔. วานนี้ ท่านเทวัญถวายหนังสือพิมพ์คอเรศปอนต์เดนต์ เรื่องอังกฤษยิงเมืองตรังกานู ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ ไปให้หมอปรัดเลเย็บเป็นเล่มแล้วมาส่ง ว่าเป็นของท่านเทวัญ ๆ รับไว้ว่าเป็นของเอกลาภ ไปทรงทอดพระเนตรเห็นความชอบกล ดูเป็นการราชการส่วนของไปรเวตอย่าง ๑ บอกเราอย่าง ๑ จึงทรงคิดถึงเรื่องเมืองเชียงขวางบอกเมื่อวานนี้

๕. มีพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จกรมพระเรื่องผู้ร้ายเมืองเชียงขวาง

๖. มีถึงพระยาราชฉะบับ ๑ ว่าด้วยกำไม้

๗. มีถึงสมเด็จกรมพระอีกฉะบับ ๑ ประกาศตุ้มถัง

๘. ออกขุนนาง พระยาศรีทูลบอกเมืองฉะเชิงเทรา บอกด้วยขุดคลองบางไผ่กรุงเก่า น้ำฝนต้นข้าว

๙. พระนรินทรทูลบอกเมืองกาญจนบุรี เรื่องผู้ร้ายปล้นจีนหัว ไปสืบที่เมืองอุทัย ได้ตัวอ้ายเขียวผู้ร้ายมาชำระ แล้วทูลพระยาพัทลุง พระปะเหลียนยกระบัตร์เมืองปะเหลียน ทูลลาไปเมืองพัทลุง

๑๐. พระยาโชฎึกถวายบัญชีของที่ทรงสั่ง กาทองคำกลม ๔ ใบ รวมทองหนัก ๑ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ๒ บาท ๓ สลึง ๑ เฟื้อง ๓ หุน รวมราคาเสด็จเงิน ๔๑ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง ๑๙๒ ไพ กาเงินกาหลั่ยทองถมยาอย่างเตี้ยมีถาดและถ้วยพร้อม ๑๐ ใบ ราคาเสด็จเงิน ๒๗ ชั่ง ๕ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง ๒๔๐ ไพ รวม ๑๓๑ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๒ บาท ๓ สลึง ๔๘๐ ไพ พระราชทานหนังสือสำคัญไป ๑๓๑ ชั่ง ๕๔ บาท ๕๖ สลึง

๑๑. มีพระราชหัตถ์ถึงท่านกาพย์ ๑ ว่าเมียกัปตันลอฟตัสให้มาเฝ้าพรุ่งนี้ ถ้าพรุ่งนี้ไม่ทันให้มาวันพฤหัสบดี ๒ จานเดสเสิตนั้นให้ซื้อไว้เป็นของหลวงเถิด ๓ นายเหมือนขะโมยของในโรงทหารมีความผิดให้เฆี่ยน ๕๐ ที ส่งตัวไปเป็นทหารหน้า ๔ วันศุกร์แรม ๒ ค่ำ จะยกสะแตนดาดที่เสานอก ให้เอาทหารมหาดเล็กไปยืนเป็นการ์ดออฟฮอนเนอร มีพิณพาทย์แตรด้วย ๕ แบ่งด้านแต่งโคมเฉลิมพระชนม์พรรษานั้นชอบแล้ว ๖ เลี้ยงเจ้านายในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาแรม ๑๐ ค่ำ เวลาพลบพร้อมเหมือนอย่างเคย

วัน ๓ ๑๔ ๑๐ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. รับคำโทรเลข ๓ ฉะบับ เรือเข้ามา ๕ ลำ

๒. พระยาราชเฝ้าถวายหนังสือว่าด้วยประกาศตุ้มชั่ง ถัง ทะนาน ไม้วาไม้ศอก ว่าไม้วาที่เจ้าภาษีใช้อยู่ทุกวันนี้ สั้นกว่าไม้วาที่ลูกค้าซื้อขายกันนั้น มีหลายอย่าง ที่เท่าไม้วาภาษีก็มี สั้นยาวกว่าก็มี แต่ธรรมเนียมวัดไม้นั้น ถ้าไม้ยาว ๓ วา ๓ ศอก คิดเป็นไม้ ๔ วา ถ้ายาว ๓ วาเศษแต่ไม่ถึง ๓ ศอก คิดเป็นไม้ ๓ วา ใหญ่รอบ ๕ กำ ๔ นิ้ว คิดเป็น ๖ กำ ใหญ่รอบ ๕ กำเศษ ไม่ถึง ๔ นิ้ว คิดเป็น ๕ กำ ธรรมเนียมนี้ใช้เหมือนกันทั้งเจ้าภาษีและลูกค้า อนึ่งที่ฉางหลวงถังทะนาน ใช้ตวงข้าวอยู่ทุกวันนี้ มีทะนานทองอยู่ ๒ ทนานๆใหญ่เรียกว่าทะนาน ๘๓๐ เล็กเรียกว่าทะนาน ๘๐๐ แต่จะเป็น ๕๓๐,๘๐๐ อะไรถามไม่ได้ความ แต่ใช้ทะนาน ๘๐๐ ถ้วน ๒๐ ทะนานเป็นถัง

๓. เจ้าพระยาภาณุวงศ์ส่งสำเนาหนังสือฉะบับ ๑ หนังสือมองซิเออยุเกอผู้ว่าการกงสุลอิตาลี ว่าจวนจะไปยุโรป ขอเข้ามาเฝ้ากราบถวายบังคมลา ลงวันที่ ๒ เสบเตมเบอ ตรงวันศุกร์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๐ กับต้นหนังสือมิสเตอนอกซ์มีมาลงวันนี้ ว่าเขาได้รับหนังสือเกาวนาสิงคโปร์ ว่าจะเข้ามากรุงเทพ ฯ ในหนังสือว่าคิดจะเข้ามาในเดือนหนึ่งเศษ เจ้าเมืองสิงคโปร์อยากจะใคร่ทราบว่า เมื่อเวลาที่จะเข้ามานั้น ในหลวงเห็นจะมีพระทัยทรงโปรด อนึ่งแกอยากจะใคร่เฝ้าวันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ ขอเวลาให้ทันเรือไฟออก คัดไว้

๔. หนังสือเกาวมาสิงคโปร์ถวายฉะบับ ๑ ลงวันที่ ๕ เสบเตมเบอ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๑๐ ว่าได้รับโทรเลขแต่โคโลเนียนออฟฟิศว่า ให้แกรับเครื่องราชอิศริยยศมาทูลเกล้า ฯ ถวาย ตรานั้นจะมาด้วยเรือเมล์จะถึงสิงคโปร์ วันที่ ๑๔ เดือนออกโตเบอตรงกับวันจันทร แรม ๓ ค่ำเดือน ๑๑ จะโปรดเกล้า ฯ ให้แกเข้ามากรุงเทพ ฯ ในปลายเดือนออกโตเบอหรือต้นเดือนโนเวมเบอจะดี อากาศฤดูไหนจะต้องพระราชอัธยาศัย แต่เขาได้ทราบแต่ผู้บอกเล่าว่าอากาศปลายเดือนออกโตเบอฝนยังกำลังชุก ต้นเดือนโนเวมเบอฝนสิ้นอากาศเป็นที่สบาย แต่แกคิดว่า ถ้าได้ทราบพระกระแสจะดีกว่าผู้บอกเล่า ถ้าโปรดประการใด แกขอบพระเดชพระคุณมาก

๕. หนังสือกงสุลอเมริกันถวายว่าด้วยมิสซิสเลียโนอิ้นซ์ มีหนังสือมาทูลเกล้า ฯ ถวายส่งเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวายแล้ว กับถวายรูปเครื่องจักรดับไฟอย่างอเมริกัน ๒-๓ รูปทอดพระเนตร์ ถ้าทรงสั่งสักเครื่องหนึ่งหรือหลายเครื่องจะมีความยินดีฉลองพระเดชพระคุณหามา

๖. หนังสือมิสซิสเลียโนแวนซ์บอกด้วยได้รับพระราชทานเงิน ๔๐๐ เหรียญ ขอบพระเดชพระคุณพอได้ซื้อเสื้อแต่งงานบุตรสาวเอวิสกับตอมมัสไตซ์ ส่งก๊าศเชิญเข้ามาด้วย ลงวันที่ ๒๙ ยูน

๗. มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ว่าด้วยคอเวอนเนอสิงคโปร์จะมาถวายตรา

๘. มีถึงสมเด็จพระองค์น้อยเรื่องถนน

๙. มีถึงพระยามหามนตรีจัดรับคอเวอเนอ

๑๐. มีถึงพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ให้หล่อพระห้ามสมุท

๑๑. ออกขุนนาง ทรงปิดทอง พระยารองเมืองทูลเรื่องสืบจับผู้ร้ายลักพระได้ ว่าอ้ายสายทหารมหาดเล็ก บุตรขุนกำแพงวังรี ๑ อ้ายฉ่ำข้ากรมขุนบดินทร์ ๑ อ้ายเขียวญวนทหารปืนใหญ่ ๑ กับอ้ายอะไรอีกคน ๑ อยู่ในทหารปืนใหญ่ เหมือนได้ตัวแต่ ๒ คน อ้ายสาย อ้ายฉ่ำ พระนั้นเอาออกไปแต่วัน ๖ ค่ำ ซึ่งลักนั้น ความจงใจมุ่งหมายนั้นจะไปขะโมยโกศพระอัฐิ แต่หาไม่พบ จึงได้แต่พระไป เช้าขึ้นก็เอาไปหลอมเที่ยวเอาเงินตายขายตามโรงช่างทอง ได้ตัวเงินครบ เงินนั้นโปรดเกล้า ฯ ว่า จะเอาไปหล่อพระองค์ใหม่

๑๒. พระนรินทร์ทูลบอกเมืองราชบุรีส่งส่วยน้ำรัก แล้วถวายหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ กับร่างตราว่าได้รับพระราชหัตถเลขาลงวันเสาร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๑๐ ว่าด้วยเงินอากรสุรา บ่อนเบี้ย ค้างพระยานครศรีธรรมราชนั้น ท่านได้ร่างท้องตราถึงพระยามนตรีสุริวงศ์ ข้าหลวงเมืองตรังเร่งเงินซึ่งค้างส่งเข้ามาให้เสด็จ พระราชทานร่างตราคืนไป ว่าดีแล้ว

๑๓. รับจดหมายพระยาภาส ว่ายุเกอจะไปวันศุกร์ ขอเฝ้าวันพุธ โปรด

วัน ๔ ๑๕ ๑๐ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. พระองค์เจ้าประดิษฐถวายตัวอย่างเชิงเทียนใหญ่ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้สั่งเมืองจีน สูง ๒ ศอก ๓ นิ้วกึ่ง ๒ เชิง สูงศอกคืบ ๑๐ นิ้ว ๔ เชิง สูงศอกคืบ ๖ นิ้ว ๔ เชิง สูงศอก ๙ นิ้ว ๔ เชิง สูงศอก ๓ นิ้ว ๔ เชิง รวม ๑๘ เชิง ทองหนัก ๔๓๖ ชั่งจีน ราคา ๘ ตำลึง ๒ บาท

๒. มองซิเออยุเกอผู้ว่าการกงสุลอิตาลีเฝ้าทูลลาไปยุโรป

๓. มิสเตอนอกซ์เฝ้าเรื่องตรา ทรงเรื่องบ่อทองบ้างเล็กน้อย

๔. มีพระราชหัตถ์ตอบหนังสือเกาวเนอสิงคโปร์ วันนี้โซไซอาตีเชิญเสด็จกาเดนปาตีไม่ได้เสด็จ องค์ทอง สมเด็จองค์น้อย ถวายของ

วัน ๕ ๑๐ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑. เจ้าพระยาภาณุวงศ์ ส่งสำเนาหนังสือกงสุลเยอรมันว่าด้วยฟอเลนออฟฟิศที่กรุงเบอลินได้ส่งพระราชสาสน์เอมเปอเรอเยอรมันตอบพระราชสาสน์ซึ่งทรงอวยพร ด้วยปราศจากอันตรายที่ถูกยิง วันที่ ๑๑ มาศนั้น เขาได้แปลเป็นภาษาอังกฤษส่งมาด้วยแล้ว ในพระราชสาสน์นี้พระเจ้าลูกเธอซึ่งเป็นคราวน์ปรินส์ ได้รับสั่งเอมเปอเรอให้เซ็นแทน เพราะฉะนั้นต้องถือตามยศพระราชสาสน์พระเจ้าแผ่นดิน เพราะเหตุใดเอมเปอเรอจึงไม่เซ็นพระนามเอง เป็นด้วยประชวรอยู่ ถ้าไม่ประชวรก็คงจะทรงเซ็นตามธรรมเนียม เพราะฉะนั้นธรรมเนียมรับพระราชสาส์นที่มาจากพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๖ ออกัสต์ ๑๘๗๒ แจ้งความไปแต่ก่อนนั้น ต้องถือทุกข้อทุกประการ ขอเวลาวันกำหนดเฝ้าลงวันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ สำเนาพระราชสาสน์ลงวันที่ ๑๙ ยุไล ๑๘๗๘ แปลเป็นคำอังกฤษฉะบับ ๑ ไทยฉะบับ ๑ อีกฉะบับ ๑ เป็นหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ทูล ด้วยสมเด็จกรมพระมีหนังสือถึงท่านว่า หลวงเทเพนทรข้าหลวงเมืองอินทรบุรีบอกลงมาว่าด้วยอ้ายพินเป็นผู้ร้ายปล้นแล้วหนีไป กรมการจับตัวยังหาได้ไม่ แต่สืบได้ความว่าอ้ายพินเอาของกลางไปขายไว้ที่อำแดงบ๋วยภรรยาจีนหลอแขวงเมืองสรรค์ อ้ายพินสำนักอยู่นั่นด้วย ครั้นกรมการไปหาตัวมาชำระอำแดงบ๋วยไม่มาให้แต่จีนแปมาเป็นจำนำ ภายหลังไม่มาเปลี่ยนตัว กรมการหากันไปจับตัว มีจีนพวกจีนหลอหลายคนถือเครื่องอาวุธเข้ากั้นกางไม่ให้จับ แล้วจีนหลอผัวอำแดงบ๋วยบอกกรมการว่าเป็นสัปเยกต์ กรมการกลับ ภายหลังจีนหลอเอาหนังสือปาสโปสไปให้ดูว่าเป็นหนังสือสำหรับตัว หนังสือนั้นเป็นหนังสือกงสุลวิลันดาทำให้จีนตันไตหับ หามีชื่อจีนหลอไม่ ท่านได้มีหนังสือฟ้องไป กงสุลตอบมาว่าจีนหลอนั้นกงสุลไม่รับว่าเป็นสัปเยกต์ แต่จีนตันไตหับที่รับหนังสือไปให้กับจีนหลอนั้นจะขอชำระให้เห็นความจริงก่อน ครั้นภายหลังมีมาอีกฉะบับหนึ่งว่าได้ชำระได้ความจริงว่า เอาหนังสือไปให้จีนหลอ กงสุลตัดสินว่าจีนตันไตหับมีความผิดปรับเป็นเงิน ๖๗ บาทให้กับคอเวอนเมนต์สยาม กับเสียค่าธรรมเนียมที่ศาลกงสุลอีก ๔๐ บาท แล้วลบชื่อจีนตันไตหับจากบัญชีไม่รับว่าเป็นสัปเยกต์วิลันดาต่อไป ท่านรับเงินค่าปรับแล้วมีหนังสือขอบใจไปแล้ว เงินนั้นในหนังสือสัญญาว่าต้องส่งเป็นของแผ่นดิน ได้นำส่งคลังแล้ว

๒. มีพระราชหัตถ์ตอบไปฉะบับ ๑ เรื่องราชสาสน์

๓. มีอีกฉะบับ ๑ เรื่องจีนหลอ

๕. กาพย์พากัปตันลอฟตัสและภรรยาเฝ้า กัปตันถวายหนังสือถวายนาฬิกาแดดไม้อันหนึ่งเล็ก ที่แดดส่องเป็นทองเหลือง กับแผนที่ทางเมืองสงขลา ซึ่งไปตีพิมพ์กัลกัตตา

๕. หลวงเทพราชธาดา ถวายกฎหมายโปลิศซึ่งประชุมเคาซ์ซีล แก้เสร็จแล้ว

๖. พระยาศรีอ่านบอกพระศักดิ์เสนีว่า เมืองสังขะบอกเข้ามาว่าหลวงปลัด หลวงยกระบัตร์ เมืองชีแครงเข้ามาอาศัยอยู่ในแขวงเมืองสังขะกับครอบครัว ๓๐๐ เศษ ออกยาเสนาราชกุเชนทร์ยกกองทัพมาตามจับว่าเป็นขบถ มีหนังสือมายังพระชำนาญนายด่านเมืองสังขะ ขอให้ส่งอ้ายกุยโม อ้ายเทพวงศาอรรคราชไข่ ถ้าไม่ส่งจะยกทัพตามเข้ามาจับ พระยาสังขะส่งต้นหนังสือออกยาเสนาราชกุเชนทร์มา พระศักดิ์เสนีได้ตอบไปว่าจะบอกเข้ามากรุงเทพ ฯ ให้รับครอบครัวนั้นไว้ก่อน พระศักดิ์เสนีส่งต้นหนังสือเข้ามา

๗. มีพระราชหัตถ์ถึงสมเด็จกรมพระ

๘. มีถึงเจ้าพระยาสุรวงศ์ฉะบับหนึ่งความเหมือนกัน ให้พระยาศรีนำไปกับบอกด้วย

๙. องค์มนุษย์จดรายงานความทูลเกล้า ฯ ถวายตั้งแต่เดือน ๑๐ ปีฉลูถึงเดือน ๙ ปีขาลรวมความทุกศาลแล้ว ๙๒๐ เรื่อง ใบสัตย์ เก่าใหม่ ๓๐๓ ลูกขุนปรึกษาชี้ขาด ๑๑๓ รวมแล้ว ๑๓๓๖ เรื่อง

๑๐. พระยามหามนตรีเฝ้าถวายจำนวนฝีพายระดมปีนี้ ๑๐๕๑ คน แต่ยังไม่เสด็จสอบชำระ จ่ายนายด้านประจุการเล่มพาย ๑๕๐ กอง กัญญา ๕๐ ทำโรงเรือปิกนิก ๓๐ ซ่อมเสาโรงเรือพระที่นั่ง ๑๙ หลัง ๗๐ รวม ๓๐๐ จ่ายศาลา ๓ เดือนทำเขาไทรลาศ ๔๘ ซ่อมวัดพระเชตุพน ๑๗๐ รวม ๒๑๘ ทำวัดเทพศิรินทร ๒๐๐ พระยาอนุรักษ์ถางทางแต่โสกันต์ แต่อนันตสมาคมถึงประตูสองชั้น ๑๐๐ คน พระอินทรเทพทำสะพานทำถนนท่าขุนนาง ๓๓ คน ขนอิฐ ขนดิน แต่ศาลต่างประเทศตามซอกวัดพระเชตุพน มาถึงป้อมพิศาลเสมา ๒๐๐ รวมทั้งสิ้น ๑๐๕๑ คน ขนมูลดินในวัดพระแก้ว จะจ้างจีนใช้เงินฝีพายขาด

๑๑. รับหนังสือเจ้าพระยามหินทรว่าขุนราชเมธาในกรมสัสดีแต่ก่อน ได้ยอมยกเลขถวายในพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี ๑๒ คน ยังหาได้หักโอนบัญชีไม่ บัดนี้ถึงแก่กรรมลง แกขอรับพระราชทานหักมา เซ็นวันอังคารแรม ๖ ค่ำเดือน ๑๐

๑๒. พระองค์สายถวายหนังสือมองซิเออยุเกอ ว่าเขามีความร้อนใจจะต้องกราบบังคมทูลพระกรุณา แต่เวลาวานนี้เป็นเวลาเฝ้าในตำแหน่งที่กงสุล จะเฝ้าอีกก็ไม่มีเวลา จึงขอทูลด้วยหนังสือว่า แต่ก่อนได้ทรงโปรดให้เขาสั่งศิลาสำหรับปูพื้น เขาได้สั่งไปที่มาแลบ แล้วได้รับตัวอย่างและรับหนังสือว่าเตรียมศิลาพร้อมแล้ว เขาได้แจ้งกับพระนายศรีและกรมหมื่นนเรศซึ่งได้พบในเวลานั้น ก็ไม่ได้ความเด็ดขาดแต่ท่านทั้งสอง บัดนี้เขาขอกระแสพระบรมราชโองการเป็นเด็ดขาด เพราะเมื่อเขาไปถึงยุโรปแล้วจะได้บอกแก่มาแลบให้บรรทุกมานั้นอย่างไร มาทางเรือไฟหรือเรือใบ ถ้าเรือใบดีมาก ด้วยบรรทุกมานั้นมักแตกบ่อย ๆ

๑๓. มีพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฉะบับ ๑ ให้ท้าวราชกิจว่า

๑๔. เวลา ๕ ทุ่ม ท้าวแพนำหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ตอบถวายอีกฉะบับ ๑ ว่าการซึ่งจะตอบยุเกอนั้น เห็นว่าเรื่องสั่งศิลานี้เป็นการนานมาแล้ว ก็ค้างมานี้เพราะไม่ตกลงกัน ศิลาที่ใช้ปูพระที่นั่งนี้มิสเตอกูลนิตเขาก็ได้สั่งเข้ามามีอยู่พร้อมแล้ว ศิลายุเกอไม่ต้องการแล้ว ท่านเห็นว่าถ้าตอบไปดังนี้ก็ได้ ถ้าจะโปรดให้ยุเกอสั่งของหลวงมาใช้แล้ว ก็กลัวจะเป็นการขัดขวางกับการที่สมเด็จเจ้าพระยาทูลไว้

๑๕. มีพระราชหัตถ์ตอบไปอีกฉะบับหนึ่ง

๑๖. วันนี้ไม่ได้ออกขุนนาง ฝนตก

๑๗. วันนี้สวดมนต์ ที่ศาลาลูกขุนกระลาโหม พระ ๑๐ รูป จะชักธงที่เสาใหม่พรุ่งนี้ กับที่กำหนดพระองค์สุนันทาสวดมนต์สมโภชเดือน

๑๘. มีพระราชหัตถ์ฉะบับเล็กเส้นดินสอถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ว่าถ้าตอบหนังสือยุเกอแล้วตอบให้ดี อย่าให้มันว่ากล่าวเหลือเกินในล้นเกล้า ฯ ได้ ด้วยการที่สั่งศิลานั้นดูเป็นการมั่นคงอยู่

วัน ๖ ๑๐ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐

๑ เวลาย่ำรุ่งชักธงเสาธงใหม่ มีทหารมหาดเล็กยืนหน้าศาลา ลูกขุน ๑๐๐ คนทำปริเซนอาม สลุดปืนมหาฤกษ์มหาไชย มหาจักร มหาปราบ รวม ๒๑ นัด ตั้งที่สนามหน้าหอรัษฎาตรงไปทิศตะวันออก พระสงฆ์ชยันโตแล้วเลี้ยงพระ สมเด็จกรมพระท่านเล่าให้กรมหมื่นนเรศรฟังว่า ปืนมหาฤกษ์ มหาไชย มหาจักร มหาปราบนี้ เดิมเป็นปินเหล็กสำหรับยิงเวลาฤกษ์ต่าง ๆ มียกหลักเมืองเป็นต้น ต่อมายิงฤกษ์หล่อพระไชย หรือยกเศวตฉัตรพระที่นั่งอนันตสมาคม จำไม่ได้ สมเด็จองค์น้อย หรือสมเด็จเจ้าพระยาทูลจำไม่ได้ ว่าชำรุดมากกลัวจะเป็นอันตราย จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อใหม่ ด้วยทองเหลือง ๔ บอกนี้ เอาเหล็กปืนเก่าทั้ง ๔ บอกมาเจือด้วยสำหรับยิงพร้อมกับฤกษ์ต่าง ๆ ก็ไม่มีฤกษ์จะใช้ ดูเหมือนจะได้ยิงครั้งหนึ่ง ยกเศวตฉัตรพระที่นั่งอนันตสมาคม ต่อมาก็ไม่ได้ใช้ จึงโปรดเกล้าฯ ว่ามีอยู่เปล่าๆไม่ใคร่จะได้ยิง ให้เอามายิงพิธีตรุษเสียปีละครั้งก็ได้ยิงต่อๆ มา ครั้งนี้ท่านเห็นว่ายกธงก็เป็นฤกษ์สำคัญ จึงได้ขอให้ยิง

๒. กรมหมื่นนเรศร เฝ้าถวายร่างหนังสือสมเด็จกรมพระ ท่านจะตอบกงสุลฝรั่งเศสเรื่องครัวเขมรมาอยู่ในแขวงมโนรมที่กงสุลว่ามาด้วยสัญญาใหม่ แจ้งไปว่าความประสงค์ของกรมหมื่นนเรศรนั้นข้อ ๕ สัญญาเขมรดอก ไม่ได้โปรดทรงใหม่ ให้กรมนเรศรไปถวาย

๓. รับโทรเลขฉะบับหนึ่ง เรือมา ๑ ไป ๑

๔. ท้าวแพถวายหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ว่าด้วยได้รับพระราชหัตถเลขาฉะบับเล็กว่าด้วยครัว ยุเกอจะพูดเกะกะไปให้ตอบให้ดีนั้น เมื่อคืนนี้ท่านได้รับพระราชหัตถ์ที่ท้าวแพนำไป ก็ได้ร่างตอบและแปลเป็นอังกฤษแล้วแต่เวลาคืนนี้ ได้ให้นายเวรถือไปส่งแต่เวลาก่อนโมงเช้าวันนี้แล้ว ยุเกออ่านแล้วให้ผู้ถือหนังสือกลับมาว่าไม่ต้องมีตอบ และหนังสือที่ไม่ได้ให้พระยาเวียงในพระดิษฐการถือไปส่งนั้น กลัวจะไม่ทันเวลา ด้วยเรือกรมท่าจะออกเวลา ๑ โมงเช้า หนังสือตอบนั้นให้ไปเสียก่อนแล้ว การเรื่องนี้ท่านเห็นว่ายุเกอทำผิดเอง ด้วยแต่เดิมตัวได้ทูลขอส่งศิลา โปรดให้เขาส่ง ครั้นแล้วก็นิ่งเฉยเสียกว่าปี ไม่ได้กราบทูลให้เป็นการแน่นอนสิ่งไรอีกต่อไปจนถึงจะไปยุโรปครั้งนี้ ถึงยุเกอก็รู้ว่าการทูลแต่ก่อนยังไม่เป็นการแน่นอนจริง จึงได้ถวายหนังสือขอพระบรมราชโองการเป็นเด็ดขาด เพราะการแต่ก่อนยังไม่เป็นการตกลงธรรมเนียมสั่งของแก่กัน ถ้าเป็นคนธรรมดาเวลาที่พูดตกลงกันแล้วก็ต้องทำสัญญาและมีบัญชีของสั่งให้เป็นการแน่นอน ถ้าเป็นคนราชการสั่งหรือรับพระบรมราชโองการสั่ง เป็นการเชื่อถือไม่ต้องทำสัญญา ยุเกอก็ต้องทูลขอบัญชีของสิ่งนั้นให้ทราบมากน้อยเท่าใดจึงจะสั่งของได้ ยุเกอไม่ทำเหมือนธรรมเนียมก่อน ละเลยเฉยเสียกว่าปีมาแล้ว การจึงได้เป็นดังนี้ ซึ่งจะพูดเกะกะว่ากะไรนั้น ท่านเห็นว่าจะเป็นไปไม่ได้เพราะยุเกอทำผิดเอง ได้คัดสำเนาส่งตอบเข้ามา

๕. สำเนาตอบว่าด้วยยุเกอถวายหนังสือเวลาวานนี้ ว่าด้วยได้ทูลขอส่งศิลาปูพื้นนั้น ได้รับสั่งถามท่านถึงศิลาปูพื้นรายนี้ ท่านได้ทูลว่าศิลารายนี้แต่ก่อนหลายเดือนมาแล้วท่านได้ทราบว่ายุเกอได้ทูลขอส่งแล้วการก็นิ่งมาช้านานหลายเดือน ยุเกอหาได้ว่าราคากับเจ้าพนักงานให้ตกลงกันไม่ มิสเตอคูลนิตนายช่างเห็นว่าศิลาจะไม่ทันการจึงได้สั่งออกไป บัดนี้ศิลาก็ได้เข้ามาถึงพร้อมแล้ว ได้ทรงทราบว่าที่ยุเกอพูดไว้แต่ก่อนนั้นไม่ต้องการแล้ว อย่าให้ส่งเข้ามาเลย ด้วยมีพร้อมแล้ว ลงวันนี้ กับส่งสำเนาหนังสือเจ้าพระยาภาณุวงศ์มีไปถึงกงสุลเยอรมัน ว่าด้วยเปลี่ยนธรรมเนียมรับพระราชสาสน์มาฉะบับหนึ่ง ลงวันจันทร์ แรม ๗ ค่ำเดือน ๙ ปีวอก จัตวาศก ตรงกับวันที่ ๒๖ ออคัสต์ ๑๘๗๒ ความว่า แจ้งถึงบารอนเวอนาวอนเบอเดน ด้วยสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม กับท่านเสนาบดีพร้อมกัน ขอเปลี่ยนธรรมเนียมที่จะรับพระราชสาสน์ของพระเจ้าแผ่นดินที่จะไปมาต่อกันด้วยธรรมเนียมเดิมเป็นการลำบากกับคนไพร่มาก การลำบากนั้นอย่างไรท่านก็ทราบอยู่แล้ว แต่นี้ไปถ้าราชสาสน์เข้ามาถึงกงสุล ๆ บอกและส่งสำเนามาแล้ว จะให้เจ้าพนักงานจัดรถและให้ขุนนางกรมท่านายหนึ่งลงไปรับที่บ้าน ให้กงสุลเชิญพระราชสาสน์ขึ้นรถมาถึงในวัง จะมีทหารรักษาพระองค์ ๑๐๐ คนยืนแถวคำนับพระราชสาสน์ จะมีขุนนางกรมท่าพาไปพักที่เก๋งวรสภาภิรมย์ แล้วมีขุนนางนายทหาร ๒ นายจะมาเชิญให้เข้าไปเฝ้าถวายพระราชสาสน์ต่อพระหัตถ์ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณที่เสด็จออก จะมีขุนนางนายทหารแต่งตัวเต็มยศเฝ้าพร้อมกันในที่นั้นด้วย การที่ขอเปลี่ยนนี้ มิใช่จะดูหมิ่นต่อพระราชสาสน์พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ ถึงพระราชสาสน์ในนี้ก็จะไม่มีการแห่เหมือนกัน จะให้แต่เจ้าพนักงานเชิญมาส่งยังบ้านกงสุล การทีรักที่นับถือนั้นเห็นว่าไม่ได้เป็นด้วยการแต่และยิงสลูตรับพระราชสาสน์ไหนเป็นแน่ กิริยาและใจเป็นสำคัญ เป็นที่รักที่นับถือตั้งแต่ได้ทำไมตรีมา ก็ได้อุส่าห์รักษามาไม่ได้ดูหิ่นให้เสียทางไมตรีกับประเทศหนึ่งประเทศใดเลย แต่การแห่และสลูตอย่างแต่ก่อนนั้น ลำบากกับคนไพร่นัก บระการหนึ่งประเทศอื่นก็ไม่ได้จัดการดังนี้จึ่งขอเปลี่ยน

๖. รับหนังสือเจ้าพระยาสุรวงศ์ตอบพระราชหัตถ์ วันพฤหัสบดีแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๐ ที่พระยาศรีนำไปกับบอกนั้นได้ทราบเกล้า ฯ แล้ว ท่านเห็นว่าความครั้งอ้ายแถบนั้นเป็นพวกวัดถาแท้ คอเรศปอนเดนต์เลอเรเปรยันตังพระยานุภาพไตรภพมีต่อกันเป็นเค้ามูลมาแล้ว จึงได้บังคับให้พระยานุภาพส่งให้เลอเรเปรยันตังฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้กลาง ความชั้นพระเสนาอันชิตผู้ช่วยแก้วจีนเขมรนั้นมีความกลัวพระยาราชเดช พวกวัดถาจะเอาไปสู้รบกองทัพเมืองกำพงสวาย จึงได้หนีเข้ามาเมืองสูตรนิคม พระยาเจริญข้าหลวงมีหนังสือแจ้งความไปยังเลอเรเปรยันตังฝรั่งเศส ๆ ตอบมาว่า ให้จำไว้ก่อน การสองชั้นนี้เป็นคนเข้าพวกจัดเข้าขบถต่อเขมร จึงได้มีหนังสือบอกกล่าวแก่ฝรั่งเศสเพื่อจะให้รักษาทางพระราชไมตรีกรุงเทพฯ กับฝรั่งเศสมิให้มัวหมอง ความเรื่องพระเสนาอันชิตนั้น แอดมิราลเมืองไซ่ง่อนก็ไม่ว่ากล่าวประการใด การครั้งนี้หลวงปลัดหลวงยกระบัตรเมืองชีแคลง กับราษฎรหนีมาอยู่แขวงเมืองสังขะนั้น ถ้าหลวงปลัดและหลวงยกระบัตรเป็นพวกวัดถา ก็ควรแจ้งความไปยังเลอเรเปรยันตังให้ทราบด้วย การทำมาเป็นทางอยู่แล้ว แต่ซึ่งออกยาเสนาราชอุเชนทร์ ยกตัวว่าเป็นแม่ทัพเขมร มีหนังสือมาให้พระชำนาญพิทักษ์นายด่านให้จับอ้ายกุยโม อ้ายเทพวงศาอรรคราชจำไว้จะยกกองทัพเข้ามาขอตัวนั้น เป็นการดูถูกแก่บ้านเมืองพระราชอาณาเขตต์ ควรให้ข้าหลวงและผู้ว่าราชการเมืองมีหนังสือตอบไปแต่เพียงว่าคอยฟังบังคับกรุงเทพฯ ท่านเห็นว่าควรเจ้าพนักงานคัดหนังสือบอกพระศักดิ์เสนี คำแปลหนังสือออกยาเสนาราชอุเชนทรมีถึงกงสุลฝรั่งเศสให้ส่งไปปรึกษาแอดมิราลเมืองไซ่ง่อนๆ ตอบมาประการใด ปรึกษาเห็นควรแล้วจึงบังคับถึงข้าหลวงผู้ว่าราชการเมืองต่อไป กำหนดสมเด็จเจ้าพระยาจะกลับวันจันทร์แรม ๕ ค่ำเดือน ๑๐ ถ้าโปรดเกล้าฯ รอไว้ปรึกษาท่านก่อนจะดี

๗. โปรดเกล้า ฯ ให้เราเขียนหนังสือปิดทองคำแท่งเมืองกระบิลบุรี ๒ แห่ง ความว่าทองคำบ่อเมืองกระบิลบุรีเนื้อ ๘ หนัก พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน โสภางค์ทัศนิยลักษณ อรรควรราชกุมารี ในการสมโภชเดือน วัน ๖ ๑๐ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๔๐ ดังนี้ ๒ แท่ง ๆ หนึ่ง ที่ ๓๑ หนัก ๑ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๑ บาท แท่งหนึ่งที่ ๑๓ หนัก ๑๖ ตำลึง ๑ บาท ๑ สลึง รวมหนัก ๒ ชั่ง ๑๑ ตำลึง ๒ บาท ๑ สลึง ขาด จำนวนไม่เท่าสมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตนอยู่ ๔ ตำลึง ๓ สลึง ๔ ไพ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานทองใบมาให้เติมลง กับมีทองใบจำนวนพระราชทานอีกส่วนหนึ่งหนัก ๕ ตำลึง รวมทองใบ ๙ ตำลึง ๓ บาท ๔ ไพ รวมทองทั้งสิ้น ๓ ชั่ง ๓ สลึง ๗ ไพ

๘. เราถวายตัวอย่างดอกไม้ระบายพระสูตรที่ลาดพระยี่ภู่ที่จะใช้พระแท่นตั้งเทวรูปในการเฉลิมพระชนม์พรรษา รับสั่งให้เราไปถวายกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ขณะเราไปเฝ้าท่านอยู่ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จลงสมโภชเดือนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพ็ชร์รัตน เรากลับมาแต่งตัวเข้าไปสมโภชทองใบหนัก ๑ ตำลึง เจ้านายพร้อมหมด ขาดแต่กรมหลวงวรศักดิ์และกรมขุนภูวนัย เจ้านายเข้าไปถวายทรงเจิมอย่างแต่ก่อน เวลานั้นฝนตก รับสั่งกับเจ้าพระยาสุรวงศ์ในตำหนักเรื่องเมืองเชียงขวางกับเขมร เวลาเกือบทุ่มเสด็จขึ้น เราเข้ามาเฝ้าร่างสัพท์เฉลิมพระชนม์พรรษาหน่อยหนึ่ง

จำนวนเงินทองสมโภช

วัน ๗ ๑๐ ค่ำ ถึง วัน ๕ ๑๕ ๑๐ ค่ำ

ไม่มีจดไว้

  1. ๑. รวมยอดได้ ๒๑๗ ไม่ตรงกับต้นฉะบับ

  2. ๒. ถ้าเดือนละ ๘ ชั่ง ปี ๑ ก็เป็นเงิน ๙๖ ชั่ง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ