ประวัติ เจ้าพระยาอภัยราชา

เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร นามเดิม หม่อมราชวงศ์ ลพ นามสกุล สุทัศน์ เป็นบุตรหม่อมเจ้าจินดา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นไกรสรวิชิต และ หม่อมอิน เกิดวัน ๕ ๑๓ ๔ ปีมะเส็งนพศก จุลศักราช ๑๒๑๙ ตรงกับวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๐

การศึกษาในเบื้องต้นได้เรียนหนังสือไทยกับพระพิมลธรรม (อ้น) และเรียนภาษาบาฬีกับสมเด็จพระวันรัต (แดง) และศึกษาในทางเลขกับพระอริยกวี (พลับ)

พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศ อำเภอพระนคร โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ลาสิกขาบทในพุทธศกนั้น

ทำการสมรสกับท่านผู้หญิง เอี่ยม แต่มิได้มีบุตรธิดาสืบสายโลหิตด้วยกัน

พ.ศ. ๒๔๑๘ ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กวิเศษ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ ๕

พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายรองฉัน ในกรมมหาดเล็ก

พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายขันหุ้มแพร ภายหลังที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งคอมมิตตี้ทั้ง ๔ ขึ้นว่าการฝ่ายนครบาล ประกอบด้วย (๑) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ (๒) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ (๓) เจ้าพระยารัตนาธิเบศร (๔) พระยาอภัยรณฤทธิ์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้โอนสังกัดนายขัน หุ้มแพร จากกรมมหาดเล็กไปรับราชการในกระทรวงนครบาลเป็นตำแหน่งเจ้ากรมกองตระเวน ฝ่ายกองไต่สวนโทษหลวง ซึ่งในเวลานั้นงานทางกรมอำเภอบางส่วนได้รวมอยู่ด้วย ได้รับราชการในตำแหน่งนี้ประมาณ ๒-๓ ปี

พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นพระประชากรกิจวิจารณ์

พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เป็นเจ้ากรมกองตระเวนขวา และคงบังคับกองไต่สวนโทษหลวงด้วย ในพุทธศกนี้ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง

พ.ศ. ๒๔๓๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เป็นรองอธิบดีกรมกองตระเวน

พ.ศ. ๒๔๔๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงนครบาล

พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นองคมนตรี

พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนยศขึ้นเป็นมหาอำมาตย์โท

พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงยุตติธรรม และได้รับพระราชทานยศเลื่อนขึ้นเป็นมหาอำมาตย์เอก ครั้นวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร มีคำประกาศดังนี้

ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๕๕ พรรษา กาลปัตยุบันจันทรโคจร มุสิกสัมพัตสร กรรติกมาส สุกกปักข์ ตติยดิถี สสิวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๓๑ พฤศจิกายนมาส เอกาทสมสุรทิน โดยกาลนิยม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กวิเศษ ในรัตนโกสินทรศก ๙๔ เมื่อรัตนโกสินทรศก ๙๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายรองขัน รัตนโกสินทรศก ๙๘ เป็นนายขัน หุ้มแพร ในรัตนโกสินทรศก ๑๐๕ โปรดเกล้า ฯ ให้ไปรับราชการในกรมกองตระเวนแผนกกองไต่สวนโทษหลวง ในกระทรวงนครบาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระประชากรกิจวิจารณ์ เจ้ากรมกองตระเวนฝ่ายกองไต่สวนโทษหลวง รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เจ้ากรมกองตระเวนขวา คงบังคับบัญชากองไต่สวนโทษหลวงด้วย รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ เลื่อนขึ้นเป็นรองอธิบดีกองตระเวน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดวันให้ใช้พระราชบัญญัติโรงรับจำนำแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เป็นเจ้าพนักงานออกใบอนุญาตแก่ผู้ที่ตั้งโรงรับจำนำ ในมณฑลกรุงเทพ ฯ ครั้นรัตนโกสินทรศก ๑๒๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงนครบาล รับราชการในหน้าที่นั้นตลอดมา จนรัตนโกสินทรศก ๑๓๑ นี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุตติธรรม พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เป็นผู้รอบรู้ราชการในกระทรวงนครบาลทั้งแผนกการปกครองและการปราบปรามโจรผู้ร้าย การพิจารณาคดีความอาญา ซึ่งแต่ก่อนอยู่ในหน้าที่กระทรวงนครบาล ทั้งชำนิชำนาญในวิธีจัดการต่างๆ อันเกี่ยวกับหน้าที่ ดังจะเห็นได้ตามที่พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ได้รับราชการซึ่งเป็นการพิเศษมา เช่นเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ได้เป็นข้าหลวงออกไปรักษาการโจรผู้ร้ายในทุ่งตะวันออกมณฑลกรุงเทพ ฯ รัตนโกสินทรศก ๑๑๓ เป็นข้าหลวงพร้อมด้วยกงสุลฝรั่งเศสออกไปไต่สวนเรื่องพวกแขกกับพวกราษฎรตำบลหัวคู้วิวาทยิงกันตาย รัตนโกสินทรศก ๑๑๔ เป็นกรรมการพิเศษตัดสินคดีเรื่องบริษัทขุดคลองและคูนาสยาม และการอื่นๆ เช่นจัดการซื้อที่ดินของรัฐบาลเป็นต้น เหล่านี้ได้ราชการเรียบร้อยตลอดมา ส่วนในกระทรวงยุตติธรรม ตั้งแต่พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ได้เข้าไปรับราชการตำแหน่งเป็นเสนาบดีมา ก็ไม่ช้านานปานใด แต่ก็ได้แลเห็นปรากฏแล้วว่า ราชการในกระทรวงนั้นดำเนินไปโดยอาการเรียบร้อย และคดีที่คั่งค้างอยู่ในศาลหลวงต่างๆ ก็ได้จัดการเร่งรัดให้ผู้พิพากษาจัดการพิจารณาให้แล้วเสด็จไปโดยรวดเร็ว เป็นการดีสมด้วยพระราชประสงค์ ทั้งเป็นผู้ได้ฉลองพระเดชพระคุณในราชการส่วนพระองค์อีกเป็นอันมาก มีความซื่อตรงจงรักภักดีต่อราชตระกูล เอาใจใส่ในราชการแผ่นดิน และเป็นมนตรีมีอัธยาศัยใจคอกว้างขวางและโอบอ้อมอารี แก่เพื่อนราชการตลอดจนคนสามัญอันอยู่ในความปกครอง เป็นที่นับถือรักใคร่ของคนทั้งปวงเป็นอันมาก ทั้งเป็นผู้มีปรีชาความสามารถในราชกิจน้อยใหญ่ จะคิดจะทำการใดก็เป็นไปโดยประกอบด้วยน้ำใจอันสุจริตและเยือกเย็น เป็นผู้มีความคิดอันสุขุมและถี่ถ้วน สมควรเป็นข้าราชการผู้ใหญ่อันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ ทั้งเวลานี้ก็ได้รับราชการในตำแหน่งเสนาบดีอันเป็นตำแหน่งสูงสุด สมควรจะได้รับเกียรติยศใหญ่ยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจาฤกในสุพรรณบัฏว่า เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร สยามนริศรนิตยภักดี วรางคมนตรีกุลพิศิษฎ์ ไกรสรวิชิตสันตติวงศ์ สิทธิประสงค์นฤปราช สุจริตามาตย์สีตลัธยาศัย อดุลไตรรัตนสรณธาดา อภัยพิริยปรากรมพาหุ ครุธนาม ดำรงศักดินา ๑๐๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณ สุขสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล ธนสารสมบัติ บริวารสมบูรณ์ ทุกประการ

เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร ได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา พ.ศ. ๒๔๕๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๑ รวมเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยา ฯ ๒๗ ปี

พ.ศ. ๒๔๕๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศพิเศษในกรมมหาดเล็กให้เป็นจางวางเอก ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นที่ต้องพระราชาหฤทัยตลอดเรื่อยมาตราบเท่าจนเสด็จสวรรคต

พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ และได้รับพระราชทานบำนาญตลอดมาจนถึงอสัญญกรรม

เหตุการณ์พิเศษในเวลารับราชการ

พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นข้าหลวงออกไปรักษาการโจรผู้ร้ายในทุ่งตะวันออก มณฑลกรุงเทพ ฯ

พ.ศ. ๒๔๓๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นข้าหลวง พร้อมด้วยกงสุลฝรั่งเศสออกไปไต่สวนเรื่องพวกแขกกับราษฎรที่ตำบลหัวคู้ วิวาทยิงกันตาย

พ.ศ. ๒๔๓๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นกรรมการพิเศษตัดสินเรื่องบริษัทขุดคลองและคูนาสยาม

พ.ศ. ๒๔๓๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นกรรมการพิเศษคืนที่ดินและตึกตำบลถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร ให้แก่เจ้าของที่ดิน

พ.ศ. ๒๔๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ออกไปจัดตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านในทุ่งตะวันออก มณฑลกรุงเทพ ฯ

พ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยแม่กองจัดซื้อที่ดินสร้างพระราชวัง และบริเวณสวนดุสิต

พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินสร้างถนนราชดำเนินกลาง

พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการเรื่องโรงรับจำนำ

พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็นพนักงานจัดซื้อที่ดินตำบลบางซื่อ เพื่อใช้ราชการทหาร

พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นกรรมการออกใบอนุญาตแก่ผู้จำหน่ายน้ำสุรา

พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นสภานายกและเหรัญญิกราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม เพื่อจัดการเรี่ยไรสร้างเรือรบให้แก่ราชนาวี ในพุทธศกนี้ ได้เป็นนายกพิเศษแห่งเนติบัณฑิตยสภาด้วย

พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกกรรมการชำระประมวลกฎหมาย

พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นกรรมการจัดการพระราชมฤดกสมเด็จพระบรมราชินีพระพันปีหลวง

พ.ศ. ๒๔๖๔ เป็นกรรมการจัดระเบียบเงินใช้จ่ายในพระราชสำนัก

พ.ศ. ๒๔๖๗ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินในการซ้อมรบทหารบก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการรักษาพระนครด้วยผู้หนึ่ง

ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์เหรียญตรา

พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้รับพระราชทาน จัตุรถาภรณ์มงกุฎสยาม

พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้รับพระราชทาน จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก

พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้รับพระราชทาน ตริตากรณ์มงกุฎสยาม

พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้รับพระราชทาน ทุติยจุลจอมเกล้า

พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้รับพระราชทาน เหรียญจักรพรรดิมาลา

พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้รับพระราชทาน ทวีติยากรณ์ช้างเผือก

พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้รับพระราชทาน ประถมาภรณ์มงกุฎสยาม

ได้รับพระราชทาน ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

ได้รับพระราชทาน เหรียญรัตนาภรณ์รัชชกาลที่ ๕ ชั้นที่ ๓

พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้รับพระราชทาน ประถมาภรณ์ช้างเผือก

พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับพระราชทาน รัตนวราภรณ์

ได้รับพระราชทาน วชิรมาลา

พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้รับพระราชทาน ปฐมจุลจอมเกล้า

พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับพระราชทาน เข็มสมุหมนตรี

พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทาน มหาปรมาภรณ์

เหรียญรัตนากรณ์รัชชกาล ที่ ๖ ชั้นที่ ๑

พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้รับพระราชทาน เหรียญดุษดีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน และตราวัลภาภรณ์

พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับพระราชทาน มหาวชิรมงกุฎ

ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะเรื่อยมาไปไหนไม่ได้ ครั้นถึงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ เวลา ๘.๔๐ นาฬิกา ได้ถึงอสัญญกรรมเพราะโรคชรา ด้วยความสงบ ที่บ้านถนนอนุวงศ์ คำนวณอายุเรียงปีได้ ๘๒ ปี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ