คำอธิบาย

หนังสือซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อพระศพสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา ครบสัตตมวาร ได้พิมพ์ประชุมบทกลอนสรรเสริญพระบารมีพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ ๑ เปนโคลงของหม่อมเจ้าสุวรรณ ในพระเจ้าบรมวงศเธอชั้น ๑ กรมหมื่นไกรสรวิชิต เรื่อง ๑ ลิลิตของพระเจ้าบรมวงศเธอ ชั้น ๔ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เรื่อง ๑ หนังสือพระราชทานในการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ฯ พระองค์นั้น เมื่อพระศพครบปัญญาสมวารบัดนี้ ได้รวบรวมบทกลอนอันแต่งสรรเสริญพระบารมีพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพิมพ์เปนประชุมภาคที่ ๒ ต่อมา บทกลอนสรรเสริญพระบารมีที่พิมพ์ในภาคที่ ๒ เล่มนี้ มี ๙ เรื่องด้วยกัน คือ

๑ โคลงของพระมหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เมื่อเปนที่พระราชวรินทร์ เจ้ากรมตำรวจนอกขวา แต่งเมื่อเสด็จเปิดคลองเปรมประชากรในปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) นี้มีชื่อเสียงว่าเปนกวีในรัชกาลที่ ๕ คน ๑ ในสมัยต่อมาได้แต่งหนังสือเรื่องอื่นๆ ยังปรากฎอยู่อิกหลายเรื่อง โคลงที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ดูเหมือนจะเปนเรื่องแรกที่แต่งทูลเกล้า ฯ ถวาย

๒ ลิลิตของพระวรวงศเธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ เมื่อยังเปนหม่อมเจ้าพระราชาคณะ ทรงแต่งเรื่องพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ในลิลิตเรื่องนี้ปรากฎจดหมายรายการเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงผนวชถ้วนถี่ ดีกว่าในจดหมายเหตุอื่น ๆ ด้วยพระองค์เจ้าพระอรุณ ฯ ได้เปนพระเถระพระองค์ ๑ อยู่ในหัตถบาส แลได้เสด็จเข้าไปอยู่ประจำในพระพุทธรัตนสถานในกาลครั้งนั้น

๓ กลอนสุภาพสรรเสริญพระบารมี จะเปนของผู้ใดแต่งหาทราบไม่ แต่พิเคราะห์ดูตามความที่กล่าว ดูเหมือนจะแต่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๒๐ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ประทานฉบับไว้ในหอพระสมุด ฯ

๔ โคลงของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงพระนิพนธ์ พิมพ์ผนวกไว้ข้างท้ายลิลิตพงศาวดารเหนือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓

๕ คาถา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่น แลเปนที่สมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย ทรงแต่งเมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากยุโรปครั้งแรก สมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐได้ทรงอ่านถวายชัยมงคลในนามของพระสงฆ์ธรรมยุติกาโดยคาถานี้ กับทั้งคำแปล แล้วพระสงฆ์ทั้งปวงซึ่งไปประชุมพร้อมกันสวดคาถานี้ถวายชัยมงคลที่วัดบวรนิเวศ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๐

๖ คาถา ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) วัดราชบุรณะ แต่งเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากยุโรปครั้งแรก คาถานี้กับทั้งคำแปล สมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐได้อ่านถวายชัยมงคลในนามของพระสงฆ์สยามทุกนิกาย ที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐

๗ ร่ายดั้น ของพระเจ้าบรมวงศเธอ ชั้น ๔ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงแต่ง ร่ายดั้นนี้กรมหลวงพิชิตปรีชากรได้ทรงรับสมมตให้เปนผู้แต่งคำถวายชัยมงคลของประชาชนชาติไทย เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากยุโรปครั้งแรก พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เปนผู้อ่านถวายชัยมงคลโดยร่ายนี้ ณที่มหาสมาคมหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐

๘ คำฉันท์และกาพย์ห่อโคลง ของหม่อมเจ้าเพิ่ม ในพระเจ้าบรมวงศเธอชั้น ๓ กรมหมื่นภูมินทรภักดี แต่งเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ฉันท์แลกาพย์ห่อโคลงนี้ เมื่อแต่งแล้วหม่อมเจ้าเพิ่มนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย แลได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เปนหนังสือสำหรับหัดอ่านบทกลอน ที่ในโรงเลี้ยงเด็กของพระอรรคชายาเธอ ฯ ตามความประสงค์ของผู้แต่ง

๙ แหล่เทศน์มหาชาติ ของพระกว้างวัดประยุรวงศ์ แต่งเรื่องทรงหล่อพระพุทธชินราชวัดเบญจมบพิตร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ เทศน์แหล่นี้เทศน์ในเครื่องเล่นกัณฑ์มหาพน พระครูพจนโกศล (สอน) วัดมณฑป จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เคยเทศน์ถวายในรัชกาลก่อน แลเปนแหล่เทศน์ซึ่งคนทั้งหลายชอบฟังกันมาก ถึงได้กรอกลงไว้ในแผ่นคราโมโฟน อธิบายบทกลอนเฉลิมพระบารมี ซึ่งพิมพ์ในเล่ม ๒ มีดังแสดงมา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ