บทที่ ๑๑ นิพพาน

นิพพานสมบัติเป็นสุขเกษมยิ่งนัก หาที่จะเปรียบปานมิได้ สมบัติพระอินทร์พระพรหม ถ้าจะเอามาเปรียบกับนิพพานสมบัติแล้ว ก็เป็นประดุจแสงหิ่งห้อยมาเปรียบกับแสงพระจันทร์ หรือมิฉะนั้นก็ดุจน้ำติดอยู่ปลายผม เปรียบกับน้ำในมหาสมุทรซึ่งลึกถึง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หรือมิฉะนั้น ก็ดุจเอาฝุ่นเปรียบกับเขาพระสุเมรุ จักรรัตนวระอันประเสริฐแห่งพระนิพพานนั้นนับไม่ถ้วนเลย สมบัติในพระนิพพานนั้นมีสุขเหลือล้น หาอันใดเปรียบปานมิได้ ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วยอะไร ไม่เฒ่าไม่แก่ ไม่ตาย ไม่ฉิบหาย ไม่พลัดพรากจากกันสักอย่าง เป็นสมบัติที่เลิศกว่าสมบัติในมนุษย์โลก เทวโลก และพรหมโลก

นิพพานนั้นมี ๒ อย่าง คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดับกิเลสได้สิ้น แต่ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ยังเหลืออยู่

อีกอย่างหนึ่งคือ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดับกิเลสได้สิ้น ทั้งขันธ์ ๕ ก็ไม่เหลือ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น เมื่อคราวเสด็จนิพพานนั้น ทรงบรรลุถึงนิพพาน ๓ อย่าง คือ กิเลสนิพพาน ดับกิเลส ขับธนิพพาน ดับขันธ์ ธาตุนิพพาน ดับธาตุ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น เมื่อตรัสรู้ก็ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ภายใต้ต้นพระรัตนมหาโพธิ์ในวันเพ็ญเดือน ๖ ปีวอก วันพุธ ยามใกล้รุ่ง ตรงกับวันพฤหัสบดีของไทย ลาวว่าวันเต่ายี ในอนุราชฤกษ์ ในวันที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้น พระจันทร์โคจรในราศีพฤศจิก เสวยฤกษ์ไพสาขะในกลางคืนวันพุธนั้น พระอังคาร พระพุธ พระเกตุ และพระอาทิตย์โคจรในราศีพฤษภราศีเดียว พระศุกร์โคจรในราศีเมถุน พระเสาร์โคจรในราศีกรกฎ พระพฤหัสบดีออกก่อน

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่พระนิพพานนั้น เสด็จในวันเพ็ญเดือน ๖ ปีมะเส็ง ตรงกับวันอังคารของไทย ลาวว่าวันกาบยี่ ยามใกล้รุ่ง เสวยฤกษ์ไพสาขะ พระอังคาร พระเกตุ และพระอาทิตย์ โคจรในราศีพฤษภ พระพฤหัสบดี และพระจันทร์โคจรราศีพฤศจิก พระพุธและพระศุกร์โคจรในราศีเมถุน พระเสาร์โคจรในราศีมังกรออกก่อนพระอาทิตย์ เหตุการณ์เข่นนั้นชื่อว่า ขันธนิพพานได้ปรากฏแก่พระพุทธเจ้าของเราแล้ว พระธาตุทั้งมวลจะเสด็จมาประชุมรวมกันภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และปรากฏนิมิตเป็นพระพุทธองค์ขึ้นอีก ทรงแสดงพระธรรมเทศนา โปรดเทวดาและมนุษย์แล้ว จึงเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๖ ปีชวด ไพสาขฤกษ์ ไทยว่า รวายสัน พระอาทิตย์ พระพฤหัสบดี พระเกตุโคจรในราศีพฤษภ พระศุกร์โคจรในราศีเมถุน พระพุธโคจรในราศีกรกฎ พระเสาร์โคจรในราศีสิงห์ พระอังคารโคจรในราศีมีน พระจันทร์โคจรในราศีพฤศจิก เหตุการณ์อย่างนั้นชื่อว่า ธาตุนิพพาน ได้มาถึงพระพุทธเจ้าของเราแล้ว

นิพพานมี ๓ ชื่อ คือ สุญญตนิพพาน - ดับโดยสูญไป อัปปณิหิตนิพพาน - ดับโดยไม่มีที่ตั้งแห่งทุกข์ อนิมิตตนิพพาน - ดับโดยไม่มีเครื่องหมาย

หนทางที่จะไปสู่นิพพานนั้น คือ มรรค ๔ ผล ๔ ได้แก่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล

ในหนทางทั้ง ๘ สายนี้ใครดำเนินไปได้ ผู้ที่ดำเนินไปได้ คือ ผู้ที่ละกิเลสได้ ๓๐๐ คือ รูปกิเลส ๑๘ อรูปกิเลส ๕๓ อาการกิเลส ๔ รวมเป็น ๗๕ ในกิเลสทั้ง ๗๕ นี้ แยกออกเป็นกิเลสภายใน ๗๕ กิเลสภายนอก ๗๕ จึงเป็น ๑๕๐ ในจำนวน ๑๕๐ นี้จัดเป็นฝ่ายเห็นผิดว่าเป็นตัวเป็นตน ๑๕๐ ความสงสัยลังเลใจ ๑๕๐ จึงเป็น ๓๐๐ ผู้ที่ละกิเลสทั้ง ๓๐๐ ได้เด็ดขาด ชื่อว่าได้ดำเนินถึงโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จึงสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน คือผู้ถึงกระแสพระนิพพานเป็นครั้งแรก

ผู้ที่ละกิเลส ๓๐๐ ดังกล่าวมานั้นได้เด็ดขาด และยังละกิเลสอีก ๔๕๐ คือ ความกำหนัด ๑๕๐ ความโกรธฉุนเฉียว ๑๕๐ ความลุ่มหลง ๑๕๐ จึงรวมเป็น ๔๕๐ ผู้ละกิเลสได้อย่างนี้ชื่อว่าได้ดำเนินถึงสกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระสกทาคามี คือผู้จะมาเกิดอีกครั้งเดียวก็จะนิพพาน

ผู้ที่ละกิเลส ๔๕๐ อย่างดังกล่าวมาได้เด็ดขาด และยังละความกำหนัดในกาม ๑๕๐ ความผูกใจปองร้าย ๑๕๐ จึงรวมเป็น ๓๐๐ เมื่อรวมกับที่ละได้เด็ดขาดมาก่อนจึงเป็น ๗๕๐ ผู้ละกิเลสได้อย่างนี้ชื่อว่า ผู้ดำเนินถึงอนาคามิมรรค อนาคามิผล จึงสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามี คือ ผู้ไม่หวนกลับมาสู่กามภูมิ จะไปถึงพรหมโลกชั้นสุทธาวาส แล้วก็จะนิพพานที่นั้น

ผู้ละกิเลส ๗๕๐ อย่างดังกล่าวมาได้เด็ดขาด และยังละกิเลสอีก ๗๕๐ คือ ความกำหนัดรักใคร่ พอใจในรูป ๑๕๐ ความกำหนัดรักใคร่ พอใจในสิ่งที่มิใช่รูป ๑๕๐ ความเย่อหยิ่งถือตัว ๑๕๐ ความฟุ้งซ่าน ๑๕๐ ความไม่รู้ ๑๕๐ เมื่อรวมกับที่ละได้แล้ว ๗๕๐ จึงเป็น ๑,๕๐๐ ผู้ที่จะได้อย่างนี้ชื่อว่า ดำเนินถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล จึงสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระอรหันต์ คือ ผู้หมดกิเลส บริสุทธิ์ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ สำเร็จกิจทุกอย่าง จึงชื่อว่า เข้านิพพาน ดับกิเลสทุกอย่างโดยไม่เหลือ

วิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน

บุคคลอีกจำพวกหนึ่ง ปฏิบัติกว่าจะถึงพระนิพพานนั้นจะต้องผ่านความยากลำบาก เพราะจะต้องเจริญภาวนาจนได้โลกุตตรฌาน อับเป็นทางนำไปสู่นิพพาน จะต้องพิจารณาดูความหมุนเวียนของสัตว์ในภพต่าง ๆ ดูอดีต อนาคต ปัจจุบัน กาลที่ล่วงไปแล้ว กาลที่จะมาภายหลัง หรือกาลบัดนี้ และจะต้องเจริญกสิณภาวนา ๑๐ (คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สีเขียว สีขาว สีแดง สีเหลือง อากาศ และแสงสว่าง) ด้วยการปฏิบัติอย่างสูงจึงจะได้ฌาน ๕ เมื่อบรรลุฌานที่ ๕ แล้วก็อาจจะมีฤทธิ์ดำดินหรือเหาะเหินเดินอากาศได้ทุกหนทุกแห่ง ที่ว่าได้สมาบัติ ๘ คืออะไร สมาบัติ ๘ ได้แก่ รูปฌาน ๔ คือ ฌานสมาบัติที่ ๒ ฌานสมาบัติที่ ๓ ฌานสมาบัติที่ ๔ และอรูปฌาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนสมาบัติ วิญญาณัญจายตนสมาบัติ อากิจจัญญายตนสมาบัติ และเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ผู้ได้สมาบัติ ๘ แล้ว จะมองเห็นสรรพสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยอำนาจอภิญญา เช่น เมืองฟ้า เมืองสวรรค์ ผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ มองเห็นความสุขในสวรรค์ชั้นอินทร์ ชั้นพรหมทั้งหลาย มองเห็นเหมือนอยู่บนฝ่ามือ ดุจผลมะขามป้อมวางอยู่กลางใจมือ

อภิญญา ๖ คืออะไร อภิญญา ๖ ได้แก่ ทิพพจักขุ ทิพพโสต เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติฌาน และอาสวักขยญาณ ผู้ที่ได้อภิญญา ๖ จะแสดงฤทธิ์ได้ทุกอย่าง เช่น ยกแผ่นดินขึ้นไว้บนกลางฝ่ามือ ยกภูเขาพระสุเมรุออกจากที่ตั้งได้ จะทำสิ่งใดก็ได้ทุกอย่างโดยไม่ยาก จะมองเห็นได้ไกล จะดูสิ่งใด ๆ ก็ได้โดยไม่มีสิ่งใดมาปิดบัง เห็นเบื้องบนถึงพรหมโลก มองดูเบื้องต่ำถึงนรก ภายใต้น้ำและลมตลอดถึงมองออกไปมองข้ามมาด้วยทิพยจักขุญาณอย่างชัดเจน แม้เสียงที่พูดจะเป็นเสียงเจรจาของหมู่เทวดา อินทร์ พรหมในเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ หรือเหล่าสัตว์ที่อยู่ในนรกก็ตาม ตลอดทั้งปลา เนื้อ นก สัตว์ดิรัจฉานชนิดไหนก็ตาม ก็จะได้ยินอย่างชัดเจน สามารถรู้จิตใจของผู้อื่นได้ รู้โดยไม่มีอะไรมาปิดบังได้ แม้ใจนั้นจะเป็นใจของเทวดา อินทร์ พรหม หรือใจของสัตว์ต่าง ๆ ก็ตาม ก็จะรู้อย่างกระจ่าง อีกทั้งระลึกชาติได้ รู้จักสถานที่อยู่ในชาติก่อนติดต่อกันหลาย ๆ ชาติที่เปลี่ยนแปลง เกิด ตาย โดยไม่มีสิ่งใดมาปิดบังได้ ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง ตลอดร้อยกัลป์ รู้การเกิดขึ้นและตายมาแล้ว ดุจมองดูมะขามป้อมอยู่บนฝ่ามือฉะนั้น (อภิญญา ๕ เบื้องต้นนี้เป็นชั้นโลกิยะ)

เมื่อได้บรรลุอภิญญาที่ ๖ (อันเป็นชั้นโลกุตตระ) แล้วสามารถรู้ความสิ้นอาสวกิเลส คือ ความเศร้าหมองใจไม่มีจิตคิดจะเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอีกต่อไป มีแต่มุ่งมั่นเข้าสู่พระนิพพานอย่างเดียว สามารถกำจัดรูปขันธ์ ๒๕ เวทนาขันธ์ ๕ สัญญาขันธ์ ๒๐ สังขารขันธ์ ๔ และวิญญาณขันธ์ ๑๒ กำจัดมลทินทั้งปวงมุ่งไปสู่พระนิพพานอันประเสริฐแต่อย่างเดียว

การที่จะได้ฌานตามที่กล่าวมาต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการเจริญภาวนา และเนื่องด้วยเป็นการยากมากที่จะกล่าวให้รู้อย่างแท้จริง จึงขอกล่าวโดยย่อ ดังต่อไปนี้

สมถกรรมฐาน

การปฏิบัติกรรมฐานเพื่อจะให้สำเร็จฌานที่ ๑ เป็นต้นนั้น จะต้องกำหนดนิมิต ๓ อย่างเป็นอารมณ์ คือ บริกรรรมนิมิต การทำกรรมฐานโดยกำหนดเอานิมิต คือ เครื่องหมายหรือภาพจุดใดจุดหนึ่งเป็นอารมณ์ อุคคหนิมิต การทำกรรมฐานกำหนดนิมิตติดตาเป็นอารมณ์ ปฏิภาคนิมิต การทำกรรมฐานกำหนดนิมิตเทียบเคียงเป็นอารมณ์ และเจริญภาวนา ๓ อย่าง คือ บริกรรม ภาวนา การภาวนาขั้นบริกรรม อุปจารภาวนา ภาวนาขั้นได้สมาธิจิตเกือบแน่วแน่ อัปปนาภาวนา ภาวนาขั้นได้สมาธิจิตแน่วแน่

ดังนั้นพระโยคาวจร (ผู้บำเพ็ญเพียร) เจริญภาวนาทำจิตให้เป็นสมาธิจนถึงขั้นแน่วแน่ โดยการกำหนดนิมิตเป็นอารมณ์กรรมฐาน จนนิมิตนั้นติดตา นิมิตกรรมฐานปรากฏชัดเจนทุกส่วน เจริญภาวนาไปจนใกล้เกิดฌาน กล่าวคือ ได้บรรลุอุปจารภาวนาอันเป็นกามาพจรสมาธิ กำจัดนิวรณ์ทั้ง ๕ คือ ความพอใจในกาม ความพยาบาท ความง่วงเหงาหดหู่ท้อถอย ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ และความสงสัย โดยใช้องค์ฌาน ๕ กำจัด องค์ฌาน ๕ นั้น คือ วิตก ยกจิตขึ้นสู่นิมิตกรรมฐาน เพื่อกำจัดความหดหู่ท้อถอย วิจารณ์ พิจารพานิมิตกรรมฐาน เพื่อกำจัดความสงสัย ปิติ อิ่มเอิบใจในนิมิตกรรมฐาน เพื่อกำจัดความพยาบาท สุข ความสบายใจในนิมิต เพื่อกำจัดความฟุ้งซ่าน เอกัคคตา จิตมีอารมณ์อย่างเดียวแน่วแน่ กำจัดความพอใจในกาม

พระโยคาวจรเจริญภาวนา ตั้งแต่ขั้นบริกรรมกำหนดนิมิตเป็นอารมณ์จนถึงขั้นอัปปนา มีสมาธิจิตแน่วแน่ อันเป็นขั้นรูปาวจรสมาธิ ได้แก่ สำเร็จฌานมีฌานที่หนึ่ง เป็นต้น

เมื่อพระยาโยคาวจรจะทำฌานให้สูงขึ้นไปกว่าฌานที่หนึ่งนั้น จะต้องฝึกจิตให้คล่องแคล่วจนชำนาญ จึงเรียกชื่อว่า วสี มี ๕ ประการ คือ อาวัชชนวสี ชำนาญในการกำหนดองค์ฌาน สมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้าฌาน วุฏฐานวสี ชำนาญในการออกจากฌาน อธิฏฐานวสี ชำนาญในการอธิษฐานการเข้าฌาน และปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณาฌาน

เมื่อได้ปฏิบัติสมถกรรมฐานตามหลักที่ถูกต้องแล้วจนได้บรรลุถึงฌานที่หนึ่งแล้ว ฝึกวสีจนชำนาญในฌานที่หนึ่ง ถือฌานที่หนึ่งเป็นหลัก พยายามกระทำเพื่อบรรลุฌานข้างหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งเป็นฌานที่ประณีตสุขุมยิ่งขึ้นโดยลำดับ มีฌานที่สองเป็นต้น และในการเจริญสมถกรรมฐานนี้ มีอารมณ์ที่จะถึงกำหนดดังต่อไปนี้

รูปกรรมฐาน

กสิน คือ อารมณ์สำหรับเพ่ง มี ๑๐ อย่าง คือ ปฐวีกสิณ อารมณ์คือดิน อาโปกสิณ อารมณ์คือน้ำ เตโชกสิณ อารมณ์คือไฟ วาโยกสิน อารมณ์คือลม นีลกสิณ อารมณ์คือสีเขียว ปีตกสิณ อารมณ์คือสีเหลือง โลหิตกสิณ อารมณ์คือสีแดง โอทาตกสิณ อารมณ์คือสีขาว อากาสกสิณ อารมณ์คืออากาศ อาโลกกสิณ อารมณ์คือแสงสว่าง

อสุภะ ๑๐ ประการ คือ อุทธุมาตกอสุภะ ศพขึ้นพอง วีนีลกอสุภะ ศพที่ขึ้นเขียว วิปุพพกอสุภะ ศพที่มีน้ำเหลืองไหลออก วิจฉิททกอสุภะ ศพที่ขาดเป็นท่อน ๆ วิกขายิตกอสุภะ ศพที่สุนัขป่ากัดกิน วิกขิตตกอสุภะ ศพที่เขาทิ้งไว้ หตวิกขิตตกอสุภะ ศพที่ถูกฟันแล้วทิ้งไว้ โลหิตกอสุภะ ศพที่มีเลือดไหลออก ปุฬุวกอสุภะ ศพที่มีหมู่หนอน อัฏฐิกอสุภะ ศพที่มีแต่กระดูก

อนุสสติ ๑๐ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังขานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อุปสมานุสสติ มรณานุสสติ กายคตาสติ อาณาปานสติ

อัปปมัญญา ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

อาหาเรปฏิกูลสัญญา กำหนดอาหารที่กลืนเข้าไปให้เห็นว่าเป็นน่าเกลียด ๑ จตุธาตุววัตถาน กำหนดพิจารณาสังขารที่ประชุมกันเป็นร่างกายให้เห็นเป็นเพียงธาตุสี่ ๑ และอรูปกรรมฐาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ เพ่งอากาศเป็นอารมณ์ วิญญานัญจยตนะ เพ่งวิญญาณเป็นอารมณ์ อากิญจัญญายตนะ เพ่งความไม่มีเป็นอารมณ์ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เพ่งสัญญา ที่ละเอียดเป็นอารมณ์

ในกรรมฐานทั้ง ๔๐ นี้ ปฏิภาคนิมิตย่อมได้เฉพาะในกรรมฐาน ๒๒ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ ส่วนบริกรรมนิมิต และอุคคหนิมิต ทั้งสองอย่างข้างต้นนั้น ย่อมได้ในกรรมฐานทั้ง ๔๐ คือ ได้ในกรรมฐาน ๒๒ และในกรรมฐานที่เหลืออีก ๑๘

กรรมฐานที่เหลือ ๑๘ อย่างนั้น คือ อนุสสติ ๘ ซึ่งได้แก่ พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ธัมมานุสสติ ระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ สังฆานุสสติ ระลึกถึงพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สีสานุสสติ ระลึกถึงข้อปฏิบัติที่รักษาเป็นประจำ จาคานุสสติ ระลึกการบริจาคทานต่าง ๆ เทวตานุสสติ ระลึกถึงเทพยดาผู้รักษาภูมิสถานต่าง ๆ อุปสมานุสสติ ระลึกถึงความเข้าไปสงบแห่งจิตใจ และมรณานุสสติ ระลึกถึงความตายที่จะมาถึงอย่างแน่นอน ต้องรีบเร่งประกอบคุณงามความดีเข้าไว้ อัปปมัญญา ๔ คือ เมตตา ความรักใคร่ กรุณา ความสงสาร มุทิตา ความพลอยดีใจ และอุเบกขา ความวางเฉย อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ และอรูปกรรมฐาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และ เนวสัญญานาสัญญายตนะ

พระโยคาวจรเจริญสมถกรรมฐานนั้น ต้องกำหนดบัญญัติเป็นอารมณ์ ซึ่งมี ๒ อย่าง คือ ปัญญาปิยัตตาบัญญัติ (อัตถบัญญัติ) บัญญัติตามธรรมชาติ หรือตามที่ชาวโลกนิยมเรียกกัน เช่น ภูเขา แม่น้ำ รถ คน เป็นต้น ๑ และปัญญาปนโตบัญญัติ (สัททบัญญัติ) บัญญัติตามภาวะที่ปรากฏหรือตามเสียงที่ได้ยิน มี ๖ อย่าง คือ

๑. วิชชมานบัญญัติ บัญญัติอาศัยสิ่งที่มีสภาวะปรากฏอยู่ เช่น รูป เวทนา เป็นต้น

๒. อวิชชมานบัญญัติ บัญญัติอาศัยสิ่งที่ไม่มีสภาวะปรากฏอยู่ เช่น ภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น

๓. วิชชามาเนนอวิชชมานบัญญัติ บัญญัติอาศัยสภาวะที่ไม่มีปรากฏอยู่กับสิ่งที่มี สภาวะปรากฏอยู่ เช่น เสียงคน เป็นต้น

๔. อวิชชามาเนนวิชชมานบัญญัติ บัญญัติอาศัยสิ่งที่มีปรากฏอยู่กับสิ่งที่ไม่มีสภาวะปรากฏอยู่ เช่น คนมีศรัทธา คนมีวิญญาณ เป็นต้น

๔. วิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ บัญญัติอาศัยสิ่งที่มีสภาวะปรากฏอยู่ทั้งสองอย่าง เช่น จักษุวิญญาณ เป็นต้น จึงรวมเป็นบัญญัติ ๗

๖. อวิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ บัญญัติอาศัยสิ่งที่ไม่มีสภาวะปรากฏอยู่ทั้งสองอย่างรวมกัน เช่น โอรส พระราชา เป็นต้น

อรูปกรรมฐาน

พระโยคาวจรที่จะเจริญภาวนาเพื่อให้ได้อรูปณาน ต้องเบิกกสิณ ๙ อันใดอันหนึ่งก่อน แล้วจึงเพ่งอากาศ ความว่างโดยบริกรรมว่า อนนฺโต อากาโส ๆ อากาศไม่มีที่สุด ๆ จนสำเร็จอรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนะ เพ่งอากาศ ความว่างเป็นอารมณ์เดียวนิ่งแน่วแน่เฉยอยู่

เมื่อพระโยคาวจรจะเจริญภาวนาอรูปฌานที่ ๒ ต่อไปก็เพ่งเอาวิญญาณ คือ อากาสนัญจายตนะ จิตนั้นเป็นอารมณ์แล้วบริกรรมว่า วิญญาณํ อนนฺตํ ๆ วิญญาณไม่มีที่สุด ๆ จนกระทั่งสำเร็จอรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนะ เพ่งวิญญาณเป็นอารมณ์อย่างเดียวนิ่งแน่วแน่เฉยอยู่

เมื่อพระโยคาวจรจะเจริญภาวนาอรูปฌานที่ ๓ ต่อไปก็เพ่งเอานัตถิภาวะ ความไม่มีอะไร ๆ โดยบริกรรมว่า นตฺถิ กิฺจิ ๆ นิดหนึ่งก็ไม่มี น้อยหนึ่งก็ไม่มี จนกระทั่งสำเร็จอรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนะ เพ่งความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์อย่างเดียวนิ่งแน่วแน่เฉยอยู่

เมื่อพระโยคาวจรจะเจริญภาวนาเพื่อให้ได้อรูปฌานที่ ๔ ซึ่งเป็นอรูปฌานชั้นสูงสุดนั้น ก็เพ่งสัญญาของอากิจจัญญายตนะที่ละเอียดประณีต จะว่ามีก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีก็ไม่เชิง มาเป็นอารมณ์แล้วบริกรรมว่า เจตํ สนฺตํ เจตํ ปณีตํ ๆ นี้สงบ นี้ประณีต จนกระทั่งสำเร็จตบะเป็นอรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญายตนะ เพ่งสัญญาอันสงบละเอียดประณีตอย่างเดียวนิ่งเอยอยู่

วิปัสสนากรรมฐาน

พระโยคาวจรที่ได้ฌานถึงปัญจฌานแล้วจะเจริญวิปัสสนาให้เกิดญาณขึ้นนั้น ต้องเจริญสติปัฏฐาน ตั้งสติกำหนดนามรูป (ปรมัตถ์) เช่น ยกเอาองค์ฌานในฌานที่ ๕ มาเป็นอารมณ์กรรมฐาน จึงเกิดฌานขึ้นตามลำดับ ดังนี้

๑. สัมมสนญาณ - ญาณพิจารณาเห็นรูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง สภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา – บังคับบัญชาไม่ได้

๒. อุทยัพพยญาณ – ญาณรู้เห็นรูปนามเกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป

๓. ภังคญาณ – ญาณรู้เห็นรูปนามดับไป

๔. ภยญาณ – ญาณรู้เห็นรูปนามเป็นภัย

๔. อาทีนวญาณ – ญาณรู้เห็นรูปนามว่ามีโทษ

๖. นิพพิทาญาณ – ญาณรู้เบื่อหน่ายในรูปนาม

๗. บุญจิตุกัมยตาญาณ – ญาณอยากรู้อยากจะออกหนีจากรูปนาม

๘. ปฏิสังขาญาณ – พิจารณาถึงอุบายที่จะพ้นจากรูปนาม

๙. สังขารุเปกขาญาณ – ญาณรู้วางเอยในรูปนาม

๑๐. อนุโลมญาณ - ญาณรู้เห็นรูปนามสอดคล้องตามญานเบื้องต้น

ทั้ง ๑๐ ญาณนี้ เป็นวิปัสสนาญาณ

เมื่อพระโยคาวจรได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนเกิดวิปัสสนาญาณบรรลุโคตรภุญานแล้ว ต่อจากนั้นก็ถึงวิโมกข์ - ความหลุดพ้นจากโลกีย์ข้ามขึ้นสู่ขั้นโลกุตตระ อันได้แก่ อริยมรรคญาณ และวิโมกข์ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นสมุจเฉทวิมุติ คือ ตัดกิเลสได้เด็ดขาด ที่ได้ชื่อเป็น ๓ อย่างนั้น ก็ด้วยอาศัยวิโมกขมุข คือ ปากทางเข้าสู่วิโมกข์ หรือประตูเข้าสู่อริยมรรคญาณ ๓ ประการ อันได้แก่

๑. อนัตตานุปัสสนา พิจารณาเห็นนามรูปเป็นอนันตา ชัดกว่าลักษณะอื่น ๆ ความหลุดพ้นโดยวิธีนี้เรียกว่า สุญญตวิโมกข์

๒. อนิจจานุปัสสนา พิจารณาเห็นนามรูปเป็นอนิจจัง ชัดกว่าลักษณะอื่น ๆ ความหลุดพ้นโดยวิธีนี้ เรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์

๓. ทุกขานุปัสสนา พิจารณาเห็นนามรูปเป็นทุกขัง ชัดกว่าลักษณะอื่น ๆ ความหลุดพ้นโดยวิธีนี้เรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์

วิสุทธิ ๗ กับญาณ ๑๖

ปาติโมกขสังวรศีล อินทริยสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล และปัจจยสันนิสสิตศีล ปาริสุทธิศีล ๔ นี้ เป็นวิสุทธิที่ ๑ คือ สีลวิสุทธิ, อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ สมาธิทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นวิสุทธิที่ ๒ คือ จิตตวิสุทธิ, การกำหนดพิจารณาเห็นสังขารเป็นเพียงนามรูป พร้อมทั้งกำหนดรู้ ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐานและปทัฏฐานของนามรูปนี้เป็นวิสุทธิที่ ๓ คือ ทิฏฐิวิสุทธิ และเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ, การกำหนดพิจารณาเห็นปัจจัยแห่งนามรูปนี้เป็นวิสุทธิที่ ๔ คือ กังขาวิตรณวิสุทธิและเป็นปัจจัยปริคคหญาณ, เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมกำหนดพิจารณาเห็นสังขารธรรม คือ นามรูป อันเป็นไปในภูมิที่ ๓ พร้อมทั้งเหตุปัจจัยโดยพิจารณาญาณ ไตรลักษณ์ คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กับทั้งพิจารณาญาณความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งนามรูป และพิจารณาเห็นลักษณะแห่งมรรคและสิ่งมิใช่มรรค ด้วยกำหนดเห็นวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ มีโอภาส (แสงสว่าง) เป็นต้นว่าเป็นศัตรูหรือเป็นอุปสรรคแห่งมรรค นี้เป็นวิสุทธิที่ ๕ คือ มัคคามัคคณานทัสสนวิสุทธิ และเป็นสัมมสนญาณ (และตรุณอุทัยพพยญาณ), เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมสลัดศัตรูคือ นิวรณ์ ๕ ออกจากจิตใจได้แล้ว เจริญวิปัสสนาต่อไปตามลำดับวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ คือ (พลว) ทุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภรญาณ อามีนวญาน นิพพิพาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ และอนุโลมญาณนี้เป็น (วิปัสสนาญาณ ๙) และเป็นวิสุทธิที่ ๖ คือ ปฏิปทาฌานทัสสนวิสุทธิ เมื่อวิปัสสนาญาณแก่กล้า โลกุตรอัปปนาจิต (มัคคจิต) จักเกิดขึ้นนั้น กาลจักเป็นดังนี้ สังขารุเปกขาญาณ จะพิจารณาเห็นนามรูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดแจ้งแล้วก็จะหยั่งลงสู่ภวังค์ ต่อแต่นั้น มโนทวาราวัชชนะก็จะเกิดขึ้น กำหนดนามรูปเป็นอารมณ์ โดยเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต่อจากนั้นอนุโลมญาณก็จะเกิดขึ้น ๓ ขณะ คือ ขณะที่ ๑ เรียกบริกรรม ขณะที่ ๒ เรียกอุปจาร และขณะที่ ๓ เรียกอนุโลม ต่อแต่นั้นโคตรภูญาณก็เกิดขึ้น ๑ ขณะ หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ สามารถครอบงำโดยปุถุชน ก้าวข้ามโคตรปุถุชนไป ย่างก้าวขึ้นสู่โคตรแห่งพระอริยะ ต่อแต่นั้นโลกุตรมรรค คือ มรรคญาณ ก็จะเกิดขึ้น กำหนดรู้ทุกขสัจจะ ละสมุทัยสัจจะ และทำให้แจ้งซึ่งนิโรธสัจจะ คือเห็นพระนิพพานได้แจ่มแจ้ง ถัดจากนั้นผลจิตหรือผลญาณก็จะเกิดขึ้น ๒ - ๓ ขณะ แล้วหยั่งลงสู่ภวังค์ ต่อแต่นั้นก็จะเกิดปัจจเวกขณญาณ พิจารณาทบทวนดูมรรค ผล นิพพานที่ได้บรรลุแล้ว กับทั้งพิจารณาทบทวนดูกิเลสที่ละได้แล้วและที่ยังเหลืออยู่ ญาณทั้ง ๓ ข้อสุดท้าย อันได้แก่ มรรคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณนี้ เป็นวิสุทธิที่ ๗ คือ ญานทัสสนวิสุทธิ

อนี่ง ถึงทราบว่าวุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือ วิปัสสนาที่เป็นตัวพาไปสู่อริยมรรคนั้น ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๓ ประการ คือ สังขารุเปกขาญาณอย่างเก่าที่สุด ๑ อนุโลมญาณ ๑ โคตรภูญาณ ๑ ผู้จะได้บรรลุอริยมรรคญาณ จะต้องผ่านญาณทั้ง ๓ นี้ กล่าวคือ

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า ได้บรรลุวิปัสสนาญาณแล้ว เมื่อวุฏฐานคามินีวิปัสสนากำลังเป็นไปก้าวหน้าอยู่ ย่อมจะเห็นนามรูปเป็นอนัตตาชัดแจ้ง แล้วจะก้าวเข้าสู่มรรคญาณทันที นี้ชื่อว่า สุญญตวิโมกข์

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีลัทธินทรีย์แก่กล้า ได้บรรลุวิปัสสนาญาณแล้ว เมื่อวุฏฐานคามินีวิปัสสนากำลังเป็นไปก้าวหน้าอยู่ ย่อมจะเห็นนามรูปเป็นอนิจจังชัดแจ้ง แล้วจะก้าวเข้าสู่มรรคญาณทันที นี้ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข์

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้า ได้บรรลุวิปัสสนาญาณแล้ว เมื่อวุฏฐานคามินีวิปัสสนากำลังเป็นไปก้าวหน้าอยู่ ย่อมจะเห็นนามรูปเป็นทุกขังชัดแจ้ง แล้วจะก้าวเข้าสู่มรรคญาณทันที นี้ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข์

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ อริยมรรค จึงมีชื่อได้ ๓ อย่าง คือ ชื่อสุญญตวิโมกข์ เป็นต้น ด้วยการพิจารณาเห็นอารมณ์ คือนามรูปเป็นอนัตตาเป็นตัน จึงสามารถบรรลุได้ แม้อริยผลก็มีชื่อได้ ๓ อย่าง คือชื่อว่า สุญญตวิโมกข์เป็นต้น เช่นเดียวกันด้วยเป็นสิ่งที่เกิดจากอริยมรรคนั้น แม้ผลสมาบัติก็เรียกชื่อได้ ๓ อย่าง มีชื่อว่า สุญญตวิโมกข์ เป็นต้น

การอยู่เป็นสุขและการนิพพานในชีวิตปัจจุบัน

พระอริยบุคคลทุกชั้น สามารถอยู่เป็นสุขอย่างแท้จริงในชีวิตปัจจุบันได้ ด้วยการเข้าผลสมาบัติ และสามารถนิพพานในชีวิตปัจจุบันได้ ด้วยการเข้านิโรธสมาบัติ กล่าวคือ

การเข้าผลสมาบัติต้องพิจารณาเห็นสังขารโดยอาการต่าง ๆ ด้วยญาณทั้ง ๙ มี อุทยัพพยญาณ เป็นต้น แล้วอธิษฐานจิตให้ขึ้นสู่วิถีดังนี้

๑. บริกรรม – กำหนดรูปนาม

๒. อุปจาร – กำหนดรูปนามอีก

๓. อนุโลม – กำหนดรูปนามอีก

๔. อนุโลม – กำหนดรูปนามอีก

๕. อนุโลม – กำหนดรูปนามอีก

๖. ผลจิต – เสวยผลพระนิพพานตลอดเวลาที่อธิษฐาน

พระอริยเจ้าเข้าผลสมาบัติด้วยอริยผลจิต ดังนี้

๑. พระโสดาบัน เข้าผลสมาบัติด้วยโสดาปัตติผลจิต

๒. พระสกทาคามี เข้าผลสมาบัติด้วยสกิทาคามิผลจิต

๓. พระอนาคามี เข้าผลสมาบัติด้วยอนาคามิผลจิต

๔. พระอรหันต์ เข้าผลสมาบัติด้วยอรหัตตผลจิต

เมื่อพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่สำเร็จรูปฌานมาแล้ว ต้องการจะเข้านิโรธสมาบัติดับสนิทอยู่นั้น ต้องทำตามลำดับขั้นดังต่อไปนี้

๑. ทำฌานให้เกิดขึ้น ตั้งแต่ปฐมญาณ จนถึงวิญญาณัญจายตนฌาน โดยลำดับ

๒. ออกจากฌานแล้ว พิจารณาสังขารหรือสภาวธรรมในองค์ฌาน โดยความเป็นอนิจจฺจํ ความไม่เที่ยง ทุกขํ ความทุกข์ ทนไม่ได้ อนตฺตา สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงวิญญาณัญจายตนฌานตามลำดับ

๓. ทำอากิญจัญญายตนฌานให้เกิดขึ้นแล้ว อธิษฐานเข้านิโรธสมาบัติตลอด ๗ วัน ไม่ให้บริขารเป็นอันตราย จะออกได้เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับสั่งหา คณะสงฆ์ต้องการให้ออก หรือเมื่อครบวันแล้ว

๔. เมื่อขณะจะเข้านิโรธสมาบัตินั้น ทำอรูปฌานขั้นสูงสุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานให้เกิดขึ้นแล้ว จิต เจตสิกจะดับลงไม่ได้เกิดขึ้นตลอด ๗ วัน ตามอธิษฐาน ไม่มีสัญญา - ความจำ และไม่มีเวทนา - ความรู้สึกสุขทุกข์เลย

๕. เมื่อออกจากนิโรธสมาบัตินั้น จะเกิดผลจิตหนึ่งขณะก่อนแล้วจึงลงสู่ภวังค์ และกลับคืนความรู้สึกเหมือนสภาพเดิม ถ้าเป็นอนาคามิบุคคล ก็ออกด้วยอนาคามิผลจิต หนึ่งขณะแล้วจึงลงสู่ภวังค์ ถ้าเป็นอรหัตตบุคคล ก็ออกด้วยอรหัตตผลจิตหนึ่งขณะแล้วจึงลงสู่ภวังค์ ต่อจากนั้นจึงเกิดวิถีจิต กลับสู่สภาพเดิม

บุคคลที่จะภาวนาให้ได้พระนิพพานนั้น เมื่อว่าโดยสังเขปแล้ว ผู้มีปัญญาย่อมปรารถนาและระลึกถึงพระนิพพานอันประเสริฐว่า จะมีใครหนอที่สามารถจะนำมวลสรรพสัตวให้ดำเนินไปถึงพระนิพพานได้ ก็จะทราบได้ว่า ผู้ที่สร้างสมอบรมบารมีมา และเคยปรารถนาให้ถึงพระนิพพานอยู่ทุกทิวาราตรีโดยมิได้ขาดสาย ต้องไซ้เวลาอันยาวบานถึง ๒ อสงไขยและแสนมหากัลป์เช่นนี้ก็หาสามารถจะนำสรรพสัตว์ไปสู่พระนิพพานได้ไม่ แต่สามารถนำตนให้บรรลุถึงพระนิพพานได้ คือบำเพ็ญบารมีเพียงเท่านี้ก็สามารถจะบรรลุนิพพานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ แต่ไม่สามารถจะนำสัตว์ให้บรรลุถึงพระนิพพานได้

ส่วนบุคคลใดได้สร้างสมอบรมบารมีได้ถึง ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย และแสนมหากัลป์ และได้อธิษฐานไว้ว่า “จะนำสัตว์ทั้งไปสู่พระนิพพาน” ทุกวันคืนมิได้ขาดสาย ผู้นั้นจะ ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถนำสัตว์ทั้งปวงให้ถึงซึ่งพระนิพพานได้

เหล่าสรรพสัตว์ที่พระพุทธเจ้าทรงนำไปสู่พระนิพพานได้นั้น ต้องสร้างบารมีมาแล้วแสนมหากัลป์ จึงจะสามารถตามเสด็จองค์สมเด็จพระบรมศาสดาไปถึงพระนิพพานได้ ส่วนเหล่าบุคคลที่สร้างสมอบรมบารมีได้ ๒ อสงไขยแสนมหากัลป์ จะได้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ และสามารถนำสรรพสัตว์ไปสู่พระนิพพาน อันเป็นสถานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปแล้ว

พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงโปรดเหล่าสัตว์ตลอดทั้งเทวดาทั้งหลายให้เซ้าถึงพระนิพพาน นับได้ ๒๔ อสงไขย และ ๑๑,๐๐๐ โกฏิ กับอีก ๑๐๐,๐๐๐ คน

ว่าด้วยพระนิพพานอันประเสริฐ ภูมิทั้ง ๓ และอนันตจักรวาล อันเป็นกัณฑ์ที่ ๑๑ โดยย่อจบแล้ว

ผู้ใดถึงพระนิพพานแล้ว ผู้นั้นก็ไม่พินาศฉิบหาย ไม่แปรปรวนไปมา ไม่ท่องเที่ยวอยู่ในไตรโลกอีก เพราะพระนิพพานมีสภาพสิ้นกิเลสแล้ว พ้นจากทุกข์ทั้งปวง เป็นสันติสุข ไม่เหมือนพวกเหล่าสัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่ไนไตรโลกนี้

จบไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ