พระราชประวัติพญาลิไทย

พญาลิไทย พระผู้ทรงนิพนธ์เรื่องไตรภูมิกถา เป็นพระราชโอรสของพญาเลลิไทย เป็นพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พญาลิไทยเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๕ แห่งราชวงศ์พระร่วง ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๐ - ๑๙๑๙ มีพระนามว่าเต็มว่า พระเจ้าศรีสุริยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช เรียกกันเป็นสามัญว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑

พญาลิไทยทรงมีความสามารถอย่างยิ่งในการปกครองบ้านเมือง ความสามารถด้านนี้ของพระองค์ปรากฏตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์ กล่าวคือ พระองค์ทรงได้รับสถาปนาจากพญาเลลิไทย พระราชบิดาให้ทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ทรงพระนามว่า พญาฦๅไทยราช เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๑๘๘๒ เมื่อพระองค์ได้เสวยราชย์แล้ว ได้โปรดให้มีการทะนุบำรุงกรุงสุโขทัยนานาประการ โปรดให้สร้างปราสาทราชมนเทียรก่ออิฐถือปูนอย่างมั่นคงและงดงามมาก ได้โปรดให้ขุดคลองและสร้างถนนตั้งแต่เมืองสุโขทัยจนถึงเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองใหญ่น้อยเพื่อเป็นการพระราชกุศลสนองพระคุณพระราชบิดา ถนนนี้ปัจจุบันเรียกว่า “ถนนพระร่วง” มีปรากฏตั้งแต่เมืองกำแพงเพชรถึงเมืองสุโขทัยตลอดจนถึงเมืองสวรรคโลก พญาลิไทยทรงพระปรีชาสามารถในการปกครองบ้านเมืองอย่างยิ่ง โดยอาศัยธรรมานุภาพ ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎรให้มีความร่มเย็นเป็นสุข กรุงสุโขทัยจึงไม่มีข้าศึกศัตรูมาเบียดเบียน และไม่มีทาสในเมืองสุโขทัย

พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของพญาลิไทยคือ การอุปถัมภ์การศึกษาพระพุทธศาสนาและศิลปศาสตร์ต่าง ๆ โดยทรงดำเนินการให้พระสงฆ์ได้เล่าเรียนพระธรรมวินัย ศึกษาพระไตรปิฎก และให้พวกพราหมณ์ได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ในบริเวณพระมหาปราสาท อาจนับได้ว่าเป็นการตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมและศิลปศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เมื่อปีระกา พ.ศ. ๑๙๐๐ ได้ทรงส่งราชบุรุษไปรับพระบรมธาตุมาจากประเทศลังกา แล้วโปรดให้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระมหาธาตุหรือมหาเจดีย์ที่สร้างขึ้นที่เมืองนครชุม ปัจจุบันเป็นเมืองเก่าอยู่หลังเมืองกำแพงเพชร และเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๑๙๐๔ ได้ทรงส่งราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสวามีสังฆราชจากประเทศลังกามาอยู่ที่วัดป่ามะม่วง หรือวัดอัมพวนาราม พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพญาลิไทยทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกที่แท้จริง ได้แก่การที่ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา ณ วัดป่ามะม่วง โดยมีพระมหาสวามีสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

พญาลิไทยทรงได้รับการยกย่องทั่วไปว่าเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ ได้โปรดให้สร้างศิลาจารึกไว้หลายหลัก ทั้งภาษาไทย ภาษามคธ และภาษาขอม ได้แก่จารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ถึงหลักที่ ๑๐ ศิลาจารึกเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย พญาลิไทยทรงเชี่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์ จนอาจจะถอน ยก และลบปีเดือนได้ถูกต้องแม่นยำ ทรงรอบรู้วิชาดาราศาสตร์ อาจคำนวณการโคจรของดวงดาว กำหนดจันทรคราสและสุริยคราสได้ถูกต้อง นอกจากนั้นยังทรงเชี่ยวชาญในไสยคาสตร์ ทรงบัญญัติคัมภีร์ศาสตราคมเป็นปฐมธรรมเนียมสืบต่อมา

พระปรีชาสามารถสำคัญที่สุดของพญาลิไทยที่ทำให้ทรงได้รับยกย่องอย่างสูงว่าเป็นนักปราชญ์ ได้แก่ความรอนรู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา มีพระปรีชาแตกฉานในพระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา อนุฎีกา และปกรณ์พิเศษต่าง ๆ ทรงอุตสาหะศึกษาจากพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกในยุคนั้น เช่น พระมหาเถระมุนีวงศ์ พระอโนมทัสสีเถระเจ้า พระมหาเถรธรรมปาลเจ้า พระมหาเถรสิทธัตเจ้า พระมหาเถรพุทธพงศ์เจ้า พระมหาเถรปัญญานันทเจ้า และพระมหาเถระพุทธโฆษาจารย์แห่งเมืองหริภุญไชย นอกจากนี้ยังได้ทรงศึกษาในสำนัก ราชบัณฑิต อุปเสนราชบัณฑิต และอทรายราชบัณฑิตอีกด้วย ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา ประกอบกับมีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาล และส่งเสริมให้อาณาประชาราษฎร์ใส่ใจในการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความมั่นคงและสงบสุข พญาลิไทยจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง อับนับเป็นวรรณคดีเล่มแรกของไทยขึ้น

พญาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิกถา ในปีระกา พ.ศ. ๑๘๘๘ เป็นปีที่ ๖ หลังจากได้ทรงดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ดังความปรากฏในบานแผนกและตอนท้ายของหนังสือเรื่องนี้ว่า

“แลเจ้าพญาลิไทยได้เสวยราชสมบัติในเมืองสุโขทัยอยู่ได้ ๖ เข้า จึงได้สร้างไตรภูมิกถานี้ เมื่อได้กินเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ได้ ๖ เข้าจึงใส่”

พญาลิไทย หรือพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงเป็นกษัตริย์นักปราชญ์นักปกครองที่ทรงพระปรีชาสามารถมากพระองค์หนึ่ง ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยาวัตรเป็นประโยชน์ไพศาลทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักรดังกล่าวมาแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสรุปลักษณะปกครองของกษัตริย์องค์นี้ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า

“ว่าโดยย่อ ควรเข้าใจได้ว่าพระเจ้าขุนรามคำแหงทรงบำเพ็ญจักรววรดิวัตรแผ่พระราชอาณาจักรและพระราชอำนาจ ด้วยการรบพุ่งปราบปรามราชศัตรูฉันใด พระมหาธรรมราชาลิไทยก็ทรงบำเพ็ญในทางที่จะเป็นธรรมราชา คือ ปกครองพระราชอาณาจักรหมายด้วยธรรมานุภาพเป็นสำคัญฉันนั้น”

มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ