สังเขปประวัติวรรณคดีไทย

เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการประดิษฐ์สร้างสรรค์วรรณคดี และเป็นสาเหตุสำคัญยิ่งที่ทำให้ลักษณะวรรณคดีของชาติในแต่ละยุคแตกต่างกัน วรรณคดีไทยในสมัยสุโขทัยเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีลักษณะที่สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นตอนที่คนไทยเริ่มตั้งภูมิลำเนาให้เป็นปึกแผ่นในแหลมอินโดจีน มีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และเริ่มการปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง คนไทยกำลังแสวงหาลักษณะเฉพาะของชาติ วรรณคดีสุโขทัยก็ได้สะท้อนความจริงนี้ และได้บันทึกถึงสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นต้นเค้าของลักษณะไทย เช่น การบันทึกในศิลาจารึกเรื่องการประดิษฐ์ตัวอักษรไทย โดยพระเจ้ารามคำแหงมหาราช กษัตริย์องค์ที่สาม เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ การประกาศใช้กฎหมายมรดก กฎหมายการค้าระเบียบและสิทธิการฟ้องร้องคดีศาล การนำพุทธศาสนามาอบรมปลูกฝัง เพื่อให้เป็นศาสนาประจำชาติ การประพฤติธรรมอย่างเคร่งครัดอันเป็นต้นเค้าของประเพณีต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา ดังนี้เป็นต้น

เมื่อชาติไทยมีความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นอย่างดีแล้ว ลักษณะของวรรณคดีไทยก็เปลี่ยนจากรูปแบบการบันทึกและจากวรรณคดีศาสนา เป็นวรรณคดีสะเทือนอารมณ์ พร้อมด้วยศิลปะการแต่งที่ประณีตลึกซึ้งขึ้น และเมื่อคนไทยติดต่อกับชนชาติยุโรป ก็สามารถรับความคิดทางวรรณคดีของยุโรปได้โดยคงลักษณะความเป็นไทยไว้เป็นอย่างดี

วรรณคดีไทยมีประวัติยาวนานนับได้ตั้งแต่ก่อนการตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้น ซึ่งมีอยู่ในรูปแบบแห่งวรรณกรรมมุขปาฐะ (คือวรรณกรรมที่เล่าสืบต่อกันมา) และวรรณกรรมลายลักษณ์ (คือวรรณกรรมที่เขียนไว้เป็นตัวอักษร) ในที่นี้สมควรกล่าวถึงเฉพาะวรรณกรรมลายลักษณ์ ที่นักวรรณคดีไทยยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นของไทยแท้ ๆ โดยจะแบ่งเป็น ๕ สมัย ดังนี้

๑. วรรณคดีสมัยสุโขทัย (ราว พ.ศ. ๑๗๘๑ - ๑๙๒๐)

๒. วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น (ราว พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๐๗๒)

๓. วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย (ราว พ.ศ. ๒๑๖๓ - ๒๓๑๐)

๔. วรรณคดีสมัยธนบุรี (ราว พ.ศ. ๒๓๑๑ - ๒๓๒๔)

๔. วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ (ราว พ.ศ. ๒๓๒๕ - ปัจจุบัน)

๑. ประวัติวรรณคดีไทยที่จะนำมากล่าวในที่นี้จะเริ่มด้วยวรรณคดีสมัยสุโขทัย (พ.ศ.๑๗๘๑ - ๑๙๒๐) ซึ่งมีกรุงสุโขทัยเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของประเทศ ตั้งขึ้นราว พ.ศ. ๑๗๘๑ โดยนับจากปีครองราชย์ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง จนถึง พ.ศ. ๑๙๒๐ อันเป็นปีที่กรุงสุโขทัยเสียอิสรภาพแก่กรุงศรีอยุธยา รวมเวลา ๑๓๙ ปี ในระยะที่คนไทยเริ่มตั้งตัวใหม่นี้ ได้เกิดวรรณกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ทั้งทางความมั่นคงด้านการเมืองและด้านจิตใจ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำในทุกด้าน ได้ทรงศึกษาวิชาการทางอักษรศาสตร์ ศาสนา และรัฐศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง และศิลาจาริกหลักอื่น ๆ ซึ่งเล่าเรื่องราวการดำเนินชีวิตและกฎหมายของสังคม อันมีลักษณะเป็นสังคมเกษตร ประชาชนมีชีวิตอยู่ร่วมกันในฐานะเครือญาติ

วรรณคดีสุโขทัยที่สำคัญ ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ศิลาจารึกวัดศรีชุม ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง สุภาษิตพระร่วง และไตรภูมิกถา

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง นับได้ว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นแรกของประเทศไทยที่ตกมาถึงมือคนไทยในสมัยปัจจุบัน เป็นศิลาจารึกที่เขียนด้วยอักษรไทย เขียนเป็นภาษาไทย คงแต่งขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๑๘๒๖ - ๑๙๑๗ มีเนื้อความกล่าวถึงชีวประวัติของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ชีวิตคนไทย กฎหมาย ศาสนา และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง

ศิลาจารึกวัดศรีชุม เป็นวรรณกรรมบรรยาย เขียนเป็นร้อยแก้ว สันนิษฐานว่าแต่งโดยพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ผู้สอนศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์แห่งกรุงสุโขทัยคงแต่งขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๑๗ อันเป็นรัชสมัยพญาลิไทย ทั้งนี้ตามสันนิษฐานของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Georges Coedes) มีเนื้อความกล่าวถึงต้นพระประวัติราชวงศ์พระร่วงฝ่ายราชนิกุล การสร้างเมืองแฝดสุโขทัยกับศรีสัชนาลัย การสร้างพระธาตุเจดีย์ การปลูกต้นโพธิ์บูชา พระธาตุอันเป็นต้นเค้าของธรรมเนียมนิยมการปลูกต้นโพธิ์ในวัดพุทธศาสนา การสรรเสริญพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ในทางปฏิบัติศาสนกิจจนทรงมีบุญญาบารมี เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ การบรรยายก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ เช่นเดียวกับวรรณกรรมสะเทือนอารมณ์ (emotive literature) โดยทั่วไป ประกอบด้วยศิลปะของการใช้คำและการใช้ภาพพจน์การเล่นคำ

ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง (หลักที่ ๔-๔-๖-๗) เป็นวรรณกรรมแปลชิ้นแรกของไทยมีสี่หลัก เขียนข้อความอย่างเดียวกัน แต่ใช้ภาษาต่างกัน คือ ภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาบาลี ศิลาจารึก วัดป่ามะม่วงหลักที่ ๙ (ตามการเรียงลำดับสารบบศิลาจารึก) เขียนเป็นภาษาเขมร หลักที่ ๕ และหลักที่ ๗ เขียน (จารึก) ด้วยอักษรไทยเป็นภาษาไทย หลักที่ ๖ จารึกด้วยอักษรขอม เป็นภาษาบาลี ศิลาจารึกทั้งสี่หลักนี้แต่งขึ้นราว พ.ศ.๑๙๐๔ กล่าวถึงการสร้างถาวรวัตถุทางศาสนา และการสร้างวัดป่าเพื่อใช้เป็นที่วิเวกเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม การศึกษาพระไตรปิฎก และการปฏิบัติธรรมของพญาลิไทย

สุภาษิตพระร่วง นักวรรณคดีและนักประวัติศาสตร์หลายท่านเชื่อว่าเป็นหนังสือที่รวบรวมสุภาษิตโบราณของไทยตั้งแต่สมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เป็นสุภาษิตไทยแท้ที่มีคุณค่าแสดงถึงอุดมคติ การดำเนินชีวิตและค่านิยมของสังคมไทยในอดีต แม้ในปัจจุบัน ความรู้สึกนึกคิดหลายอย่างยังคงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน สุภาษิตพระร่วงหลายบทยังติดปากคนไทยในปัจจุบัน

ไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีที่ดีที่สุดในประวัติวรรณคดีไทยยุคสุโขทัย แต่งเมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๘ โดยพญาลิไทย กษัตริย์องค์ที่ ๕ แห่งกรุงสุโขทัย เป็นวรรณกรรมปรัชญา แห่งศาสนาพุทธ ซึ่งเขียนขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยอาศัยคัมภีร์ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๓๐ คัมภีร์ นับเป็นวิทยานิพนธ์ชิ้นแรกของไทย เขียนเป็นความเรียงด้วยถ้อยคำภาษาที่ประณีตงดงามด้วยลีลาการพรรณนาและเปรียบเทียบและการใช้ภาพพจน์ มีเนื้อความกล่าวถึง จักรวาลวิทยา ปรัชญา จริยศาสตร์ ชีววิทยา และความคิดความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งแสดงให้เห็นแจ้งถึงวิถีชีวิตของคนไทยในยุคสมัยที่แรกเริ่มก่อตั้งราชอาณาจักรในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน และวิถีชีวิตดังกล่าวได้เป็นรากฐานสืบทอดลักษณะไทยต่อมาจนถึงปัจจุบัน

๒. วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๐๗๒) เริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระเจ้าอู่ทอง กษัตริย์องค์แรกของคนไทยอยุธยาประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นแก่กรุงสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ จนถึง พ.ศ. ๒๐๗๒ ปลายรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ รวมเป็นเวลา ๑๗๙ ปี เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยในยุคนี้ ทำให้เกิดวรรณคดีที่สะท้อนให้เห็นความปรารถนาที่จะตั้งบ้านเมืองให้มั่นคงทางการเมืองและการต่างประเทศ นั้นคือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ เป็นบทร้อยกรองที่ใช้อ่านในพระราชพิธีถือสัตย์สาบานของข้าราชบริพารเจ้าต่างเมืองและเจ้าประเทศราชต่อพระมหากษัตริย์ไทย เป็นพิธีผูกไมตรีและผูกความซื่อสัตย์จงรักภักดี ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่วน ลิลิตยวนพ่าย นั้นเป็นร้อยกรองที่บรรยายถึงเหตุการณ์สงครามระหว่างสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) กับพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๗ กล่าวถึงความยินดีที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงรบชนะเมืองเชียงใหม่ พระราชประวัติพระราชกรณียกิจทางพระศาสนา โดยเฉพาะการออกผนวช ๑ พรรษา อันเป็นต้นเค้าแห่งธรรมเนียมนิยมของชายไทยพุทธศาสนิกชน นอกจากนั้นก็เล่าเรื่องการจลาจลที่เชียงใหม่ในสมัยนั้น วรรณกรรมเอกของสมัยอยุธยาตอนต้นชิ้นที่ ๓ คือ มหาชาติคำหลวง เป็นวรรณกรรมคำสวดในพุทธศาสนา ซึ่งคณะนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งร่วมกันตามพระบรมราชโองการสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๕ กล่าวถึงมหาเวสสันดรชาดกซึ่งเชื่อว่าเป็นพระชาติที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้า เน้นการบำเพ็ญทานบารมี วรรณกรรมฉบับนี้เป็นต้นเค้าของประเพณีเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นประเพณีทางศาสนาของคนไทย ถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นจนถึงปัจจุบัน เป็นประเพณีชาวบ้านประจำปีจัดขึ้นระหว่างเดือนสิบสองกับเดือนอ้าย วรรณกรรมชิ้นที่ ๔ คือ ลิลิตพระลอ เป็นกวีนิพนธ์ไทยชิ้นแรกที่มุ่งเร้าความสะเทือนอารมณ์ ซึ่งแต่งโดยกวีท่านใดไม่ปรากฏชัด ส่วนระยะที่แต่งก็สันนิษฐานว่าไม่ช้ากว่าต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราวไม่ช้ากว่า พ.ศ. ๒๑๙๙ ได้เค้าเรื่องมาจากนิทานเรื่องเล่าของชาวบ้านทางทิศเหนือของประเทศไทย เป็นวรรณคดีที่จับใจคนทั่วไป มีเนื้อเรื่องที่กินใจ ประกอบด้วยศิลปะการเรียบเรียงถ้อยคำที่ประณีตไพเราะ โดยเฉพาะการพรรณนาความรู้สึกความรัก ความหวง ความเศร้าโศก ความองอาจกล้าหาญ อันเป็นพื้นอารมณ์ความรู้สึก ที่ผู้อ่านทั่วไปสามารถเข้าถึงได้เป็นอย่างดี เนื้อเรื่องกล่าวถึงความรักของเจ้าหญิงแรกรุ่นสองพระองค์ คือ พระเพื่อน พระแพง ที่หลงรักกษัตริย์หนุ่มผู้เลอโฉมแห่งต่างแดน แต่เป็นความรักที่เมื่อสมหวังแล้วก็ถูกขัดขวางจนบุคคลทั้งสามถึงแก่ความตาย

ในสมัยอยุธยาตอนต้น นอกจากจะมีวรรณคดียอดเยี่ยม ๔ เรื่องดังกล่าวแล้วก็ยังมี โคลงกำสรวลทวาทศมาส และ โคลงนิราศหริภุญไชย ด้วย

อย่างไรก็ตาม การกำหนดอายุวรรณคดีบางฉบับว่าจะจัดไว้ในช่วงต้นหรือปลายของสมัยอยุธยายังไม่เป็นที่ตกลงเด็ดขาด เพราะขาดเอกสารที่แน่ชัดสำหรับอ้างอิง

๓. วรรณคดีไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. ๒๑๖๓ - ๒๓๑๐) เริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๖๓ อันเป็นรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม จนถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ อันเป็นปีที่ไทยเสียกรุงแก่พม่าครั้งแรก เหตุการณ์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๗๒ จนถึง พ.ศ. ๒๑๖๓ ไม่มีการสร้างสรรค์งานวรรณกรรม มีแต่ความปั่นป่วนผันผวนทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นเวลา ๙๑ ปี มีความแตกร้าวบาดหมางภายในเนื่องจากสภาพบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามมีสงครามยืดเยื้อ จนในที่สุดพม่าก็เข้ายึดครองกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงได้กู้เอกราชนำอิสรภาพคืนมา ทรงจัดการปกครองบ้านเมืองที่ชำรุดทรุดโทรม และสถาปนาความมั่นคงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ กว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะกลับเป็นปรกติสุขก็ล่วงถึงรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ดังนั้น ชาติไทยจึงว่างเว้นการประดิษฐ์วรรณคดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๗๐ จนถึง พ.ศ. ๒๑๖๓ รวมเวลา ๙๑ ปี เพิ่งจะเริ่มมีการฟื้นฟูวรรณคดีใน พ.ศ. ๒๑๖๓ และวรรณคดีไทยก็มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วและหลากหลายไปจนถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ รวมเวลา ๑๔๗ ปี ช่วงก่อน พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาก็ประสบความเสื่อมโทรมอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นเมื่อทำสงครามกับพม่าจึงพ่ายแพ้และเสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๖๓ จนถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ คนไทยแห่งกรุงศรีอยุธยาก็ได้ประดิษฐ์วรรณคดีอันมีค่ายิ่งไว้เป็นมรดกแก่อนุชนรุ่นต่อมาเป็นอันมาก วรรณคดีมีลักษณะหลากหลาย และมีสิ่งใหม่ทั้งเนื้อหาและรูปแบบ มีทั้งวรรณคดีศาสนา - ปรัชญา วรรณคดีสะเทือนอารมณ์ วรรณคดียอพระเกียรติ วรรณคดีคำสอน วรรณคดีเพื่อการแสดง ได้มีการประดิษฐ์รูปแบบใหม่ ๆ ในการแต่งคำประพันธ์ และการนำวรรณคดีไปสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิต

วรรณคดีไทยสมัยอยุธยาตอนปลายที่เป็นวรรณคดีศาสนา - ปรัชญา และวรรณคดีคำสอนที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธและฮินดู เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ เสือโคคำฉันท์ (ทั้งสองเรื่องนี้มีบ่อเกิดมาจากนิทานชาดกแห่งพุทธศาสนา) อนิรุทธ์คำฉันท์ ได้อิทธิพลเค้าเรื่องมาจากเรื่องในศาสนาฮินดู นอกนั้นมี พระมาลัยคำหลวง นันโทปนันทสูตรคำหลวง ปุณโณวาทคำฉันท์ (ทั้งสามเรื่องหลังนี้เป็นวรรณคดีพุทธศาสนา) ส่วนวรรณคดีคำสอน ได้แก่ โคลงสุภาษิต เช่น คำโคลงเรื่องพาลีสอนน้อง ทศรถสอนพระราม ราชสวัสดิ์ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์ซึ่งทรงเป็นจินตกวี นักรบ และนักการต่างประเทศ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) วรรณคดีไทยขึ้นถึงขีดความเจริญสูงสุดในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

วรรณคดีสะเทือนอารมณ์ ได้เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ได้แก่วรรณคดีศาสนา-ปรัชญา ดังกล่าวแล้ว อีกทั้งวรรณกรรมกำสรวลและนิราศ เช่น โคลงกำสรวลศรีปราชญ์ กาพย์ห่อโคลง นิราศพระบาท พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ (กุ้ง) กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง

วรรณคดีเพื่อการแสดง ได้แก่บทละครเพื่อการแสดงละครรำ บทพากย์โขน หนังตะลุง และบทเพลงประกอบการแสดงดนตรี บทละครรำซึ่งมีจำนวนมากได้หายไปจำนวนหนึ่ง และ เหลือมาถึงปัจจุบันประมาณ ๑๕ เรื่อง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ได้แก่ บทละคร รามเกียรติ์ สังข์ทอง สุวรรณหงส์ โม่งป่า คาวี นางมโนห์รา เป็นต้น ส่วนบทพากย์โขน ก็ได้แก่ รามเกียรติ์คำพากย์ บทหนังตะลุง ได้แก่ สมุทรโฆษคำฉันท์ ส่วนบทเพลง ได้แก่ กาพย์ขับไม้ และกาพย์เห่เรือ

การประดิษฐ์คำประพันธ์รูปแบบใหม่ ๆ ได้แก่การคิดฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทย โดยดัดแปลงจากฉันทลักษณ์ของอินเดียโบราณ และได้เกิดฉันทลักษณ์สำหรับการแต่งกาพย์ห่อโคลง การแต่งกลอนกลบท การแต่งเพลงยาว การแต่งนิราศ อันเป็นรูปแบบร้อยกรองของไทย เป็นต้นเค้าของธรรมเนียมนิยมในรูปแบบการแต่งของกวีไทยทุกรุ่นทุกสมัยตราบจนทุกวันนี้

วรรณคดีที่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทยโดยตรงก็ได้แก่ โคลงทวาทศมาส ซึ่งบรรยายประเพณีราษฎร์และราชประเพณีแต่ละเดือนทั้งสิบสองเดือน การแต่งแบบเรียนภาษาไทย “จินดามณี” ซึ่งใช้เป็นคู่มือเรียนวิชาภาษาไทยและกวีนิพนธ์ไทย การแต่งพงศาวดารซึ่งรวบรวมกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำกับการดำเนินชีวิตของคนไทย พงศาวดารดังกล่าวนี้เรียกว่า พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๓ ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

๔. วรรณคดีสมัยธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๑ - ๒๓๒๔) เริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๐ อันเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้เอกราชชาติไทยจากการเข้าครองของพม่า จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นปีที่เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย สมัยธนบุรีมีระยะเวลาสั้นเพียง ๑๕ ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๐ ถึง พ.ศ. ๒๓๒๔ แต่ก็ยังมีวรรณคดีที่สำคัญยิ่ง เป็นวรรณคดีบทละคร “รามเกียรติ์” พระเจ้าตากสินทรงร่วมแต่งบางตอน นับเป็นการฟื้นฟูวรรณคดีขึ้นทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์บ้านเมืองยังไม่สู้ปกติสุขนัก กวีที่เด่นหลายคนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ได้เริ่มงานกวีนิพนธ์มาตั้งแต่สมัยธนบุรี เช่น หลวงสรวิชิต หรือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้แต่งเรื่องลิลิตเพชรมงกุฎ และอิเหนาคำฉันท์ ทั้งสองเรื่องนี้ได้ต้นเค้าจากวรรณคดีต่างประเทศ ลิลิตเพชรมงกุฎได้จากนิทานของลัทธิพราหมณ์แห่งอินเดียโบราณ ส่วนอิเหนาคำฉันท์ได้จากนิทานชวา นอกจากนี้ ยังเกิดสิ่งใหม่ในวงวรรณคดีคือ การริเริ่มเขียนบันทึกการเดินทางไปต่างประเทศด้วยร้อยกรองในรูปของกลอนแปด คือนิราศพระยามหานุภาพ แต่งโดยพระยามหานุภาพ กล่าวถึงเรื่องราว เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีส่งทูตไปเจริญสัมพันธ์ไมตรี ณ ประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๔

๕. วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๔ – ปัจจุบัน)

ก. วรรณคดีรัตนโกสินทร์ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๔- พ.ศ. ๒๔๗๔ นับตั้งแต่ปีที่สถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย พ.ศ. ๒๓๒๔ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ เหตุการณ์บ้านเมืองไทยเมื่อแรกตั้งกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงนั้นก็ยังมีการสู้รบทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่ก็ค่อยมีความสงบสุขขึ้นตามลำดับ วรรณคดีที่เขียนขึ้นในช่วงเวลานี้จึงเกี่ยวกับเรื่องราวการรบ และความรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ เช่น นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง เพลงยาวรบพม่าที่นครศรีธรรมราช เรื่องแปลพงศาวดารจีนตอนสงครามระหว่างสามก๊ก และเรื่องแปลพงศาวดารมอญ ตอนสงคราม “ราชาธิราช” เรื่องที่เกี่ยวกับความรู้ทางยุทธศาสตร์ยังมีอีกมากคือ มหายุทธการวงศ์และจุลยุทธการวงศ์ ครั้นเมื่อว่างศึกแล้วก็มีการจัดระเบียบความเป็นอยู่ในสังคมด้วยการทบทวนกฎหมายบ้านเมือง และการจดบันทึกประวัติศาสตร์ ได้เกิดการชำระและรวบรวมกฎหมายตราสามดวง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗ และบันทึกประวัติศาสตร์ เรียกกันว่า พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ

ทางด้านศาสนา ได้เกิดวรรณกรรมพุทธศาสนาขึ้นเป็นจำนวนมาก หลังจากได้มีการชำระพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ได้เกิดการแต่งไตรภูมิโลกวินิจฉัยความพิสดารขึ้น ว่าด้วยเรื่องราวทำนองเดียวกับไตรภูมิพระร่วง นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมชาดก เช่น นิบาตชาดก หิโตปเทศ ส่วนเรื่องเวสสันดรชาดกเขียนเป็นร่ายยาวเรียกว่าร่ายยาวมหาชาติ ส่วนวรรณกรรมพุทธประวัติ ก็ได้แก่ปฐมสมโพธิกถา แต่งโดยสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กวีนักบวชที่มีอัจฉริยภาพสูงยิ่งทางวรรณคดี นอกจากวรรณคดีพุทธศาสนาแล้วยังมีวรรณคดีศาสนาอื่น ๆ เช่น รุไบยาต ของโอมาร์คัยยัม เป็นวรรณกรรมแปล นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมคำสอน ได้แก่ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สุภาษิตสอนหญิง โลกนิติคำโคลง อิศรญาณภาษิต ไกลบ้าน พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และบรมราโชวาทต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วรรณคดีสะเทือนอารมณ์ในระยะต้นของสมัยรัตนโกสินทร์นั้นมีจำนวนมาก ทั้งที่แต่งตามธรรมเนียมนิยมสมัยกรุงศรีอยุธยาและธนบุรี และทั้งที่แต่งขึ้นใหม่ ส่วนที่แต่งตามธรรมเนียมนิยมก็มี เช่น บทประพันธ์ประเภทนิราศเพลงยาว นิทาน ในประเภทนิราศได้เกิดสิ่งใหม่คล้ายนิราศกวางตุ้งสมัยธนบุรีอีกชิ้นหนึ่งคือ นิราศลอนดอน แต่งโดยหม่อมราโชทัย ล่ามไทย-อังกฤษ คนไทยคนแรก วรรณคดีสะเทือนอารมณ์ที่มีความแปลกใหม่ทั้งลีลา เนื้อหา และความคิด คือ นิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี แต่งโดยสุนทรภู่ ส่วนการริเริ่มแต่งบทประพันธ์ประเภท ล้อเลียน (Parody) เป็นครั้งแรก คืองานบทละครเรื่อง ระเด่นลันได แต่งโดยพระมหามนตรี (ทรัพย์) ล้อเลียนบทละครเรื่องอิเหนา แสดงอารมณ์ขัน และบทล้ออันแยบยล

วรรณคดีเพื่อการแสดงที่สำคัญที่สุด คือบทละครเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องรามเกียรติ์ฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย นอกนั้นก็มีบทละครรำ เช่นเรื่อง อุณรุท ดาหลัง อิเหนา บทเพลงอื่น ๆ ได้แก่ บทมโหรีเรื่องกากี บทเสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ใช้ขับร้องผสมดนตรี รวมทั้งบทเสภาเรื่องศรีธนญไชย เรื่องนิทราชาคริต เฉพาะเรื่องนิทราชาคริตนี้ได้เค้าเรื่องมาจากนิทานอาหรับราตรี บทเพลงอีกประเภทหนึ่งที่นิยมกันในต้นยุครัตนโกสินทร์คือ การเล่นบทดอกสร้อย ชื่อเต็มคือ ดอกสร้อยสวรรค์ เป็นการเล่นกลอนโต้ตอบกัน ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา การเล่นบทดอกสร้อยเป็นการเล่นเชิงประเทืองปัญญาของคนไทย เนื้อเรื่องที่ใช้ได้แก่การแสดงโวหารแก้เกี้ยว โดยใช้เค้าเรื่องประกอบด้วยนิทานต่าง ๆ เช่น เรื่องอิเหนา สังข์ทอง เป็นต้น นอกจากนื้ก็มีการแต่งบทสักวาโต้ตอบกัน แสดงปฏิภาณเชาว์ไวไหวพริบของผู้แต่ง บทเพลงประกอบการแสดงชนิดหนึ่งคือ “ลำตัด” ได้ริเริ่มความแปลกใหม่คือ การแสดงข้อคิดวิจารณ์และยั่วล้อ วรรณคดีเพื่อการแสดงอึกประเภทหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งเพื่อประกอบการรำคือ “บทจับระบำ” เช่น บทรำดอกไม้เงินทอง อรชุนและเมขลา นารายณ์ปราบนนทุก

วรรณคดีที่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตในสมัยแรก ๆ มีวรรณกรรมที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมและธรรมเนียมนิยม ทั้งธรรมเนียมราชและประชาชนทั่วไป เช่น ในราชประเพณีกล่อมช้างได้มีฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง กาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง ในประเพณีบวชมีร่าย ทำขวัญนาค และในประเพณีเทศน์มหาชาติมีร่ายยาวมหาชาติ สิ่งใหม่ในวรรณคดีที่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตที่เกิดขึ้นในสมัยนี้คือ การออกหนังสือวารสาร นิตยสาร ซึ่งก่อให้เกิดการแต่งวรรณกรรมหรือการเขียนรูปแบบใหม่ขึ้นโดยเฉพาะการแต่งร้อยแก้ว หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของไทยคือ Bangkok Daily Advertiser (บางกอกเดลีแอดเวอร์ไทเซอร์) ออกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ส่วนวารสารฉบับแรกของไทยเป็นหนังสือราชการที่มุ่งสื่อสารระหว่างราชการกับประชาชน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) โปรดเกล้าฯ ให้ออกหนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ วารสารนี้ยังออกอยู่แม้จนทุกวันนี้ วรรณกรรมสื่อสารมวลชนถือกำเนิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีวิวัฒนาการรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ตราบจนถึงปัจจุบัน

สิ่งใหม่ที่พัฒนาขึ้นในวงการแต่งวรรณกรรมไทยสมัยนี้ คือการแต่งร้อยแก้วในรูปเอสเซ (Essay) หรือความเรียงขนาดยาว มีการแต่งบทความประเภทต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่วิชาความรู้และบทความวิจารณ์แสดงความคิดเห็น ส่วนการแต่งเรื่องสั้นและนวนิยายสมัยใหม่เพิ่งเริ่มเกิดในยุคนี้ ผู้เขียนเอสเซขนาดยาวและสั้นคนแรก ๆ ของประเทศไทย คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ นักเขียนความเรียงอีกผู้หนึ่งซึ่งมีผลงานดีเด่นคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ. ๒๔๐๕ - ๒๔๘๖) ผู้เชี่ยวชาญการเขียนสารคดีทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ส่วนผู้แต่งเรื่องสั้นคนแรกของไทยคือ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เขียนเรื่อง “สนุกนิ์นึก” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ผู้นำในการแต่งนวนิยายไทยเรื่องแรกของไทยคือ “แม่วัน” (พระยาสุรินทราชา หรือ นกยูง วิเศษกุล) โดยแปลถ่ายทอดจากนวนิยายอังกฤษ เรื่อง Vandetta ของ Marri Corelli ให้ชื่อในพากษ์ไทยว่า “ความพยาบาท” เริ่มตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารลักวิทยา พ.ศ. ๒๔๔๓ ส่วนนวนิยายที่แต่งขึ้นตามแบบเรื่อง “ความพยาบาท” คือ “ความไม่พยาบาท” กลายเป็นนวนิยายไทยเรื่องแรกที่แต่งขึ้นโดยมิได้แปลจากภาษาต่างประเทศ มีความสำคัญทางประวัติวรรณคดี ผู้แต่งคือ หลวงวิลาศปริวัตร (เหลี่ยม วินทุพราหมณกุล) พิมพ์เป็นรูปเล่มสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ การแต่งเรื่องสั้นและนวนิยายไทยได้เริ่มเกิดขึ้นและมีวิวัฒนาการจากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้

สิ่งที่น่าสังเกตในวรรณคดียุคธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็คือ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญที่สุดในการสนับสนุน ส่งเสริม และประดิษฐ์วรรณคดี การที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นกวี ประดิษฐ์งานวรรณกรรมด้วยพระองค์เองนั้นทำให้วรรณคดีอันทรงคุณค่ามีรูปแบบอันหลากหลายและมีจำนวนมาก วรรณกรรมต่าง ๆ มีคุณภาพดียิ่ง ทั้งงานสร้างสรรค์และงานแปล วรรณคดีไทยยุครัตนโกสินทร์กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายในประเทศไทยและได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ ก่อนหน้านี้วรรณคดีไทยเป็นอันมากได้รับอิทธิพลทางความคิดและรูปแบบจากอารยธรรมอินเดีย ครั้นถึงปลายสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อิทธิพลต่างประเทศได้เปลี่ยนทิศทางใหม่ กลายเป็นอิทธิพลอารยธรรมยุโรป จะเห็นได้ชัดว่า หลังจากการตั้งโรงพิมพ์ในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ เป็นเหตุให้การผลิต การประดิษฐ์ การเผยแพร่และการอ่านวรรณกรรมได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนมากเป็นการเขียนตามแนวคิดของฝรั่งยุโรป เช่น การเขียนบทความในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ การแต่งเรื่องสั้น การแต่งนวนิยาย การแปลวรรณกรรม ความคิดความนิยมแบบฝรั่งนี้แทรกซึมแผ่ซ่านอยู่ในจิตใจคนไทย อันเป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตแบบใหม่ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบใหม่ด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงสำเร็จลงอย่างง่ายดาย ประกอบกับพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ที่ทรงหยั่งทราบถึงความปรารถนาของประชาชนชาวไทย ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองอันเป็นความปรารถนาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนหน้านี้แล้ว

ข. วรรณกรรมร่วมสมัย เริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นระยะที่ประเทศไทยเริ่มชีวิตใหม่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย วรรณคดีไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นวรรณคดีสื่อมวลชน ที่กล่าวเช่นนี้เพราะงานเขียนแทบทุกประเภทอาศัยสื่อมวลชนในการเผยแพร่ ได้แก่ วารสารและนิตยสารต่าง ๆ มีทั้งข่าวสาร วิทยาการ และบันเทิงคดี นอกจากนี้ภาพยนตร์และวิทยุก็มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วรรณกรรม การแต่งวรรณกรรมยังคงมีรูปแบบคล้ายกับสมัยปลายรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผู้อ่านนิยมวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นและนวนิยายกันอย่างกว้างขวาง ส่วนวรรณกรรมแปล บทร้อยกรอง บทละคร ร้อยแก้ว และการวิจารณ์ก็เป็นที่นิยมในอันดับรองลงมา ผู้อ่านในปัจจุบันต้องการวรรณกรรมที่สมบูรณ์ทั้งศิลปะการแต่ง การใช้ภาษา เนื้อเรื่องและการเสนอข้อคิดปรัชญาที่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม วรรณกรรมที่มีเนื้อเรื่องเน้นหนักความคิดทางการเมืองมักจะขยายตัวช้า เพราะขัดต่อกฎหมาย นวนิยายเป็นรูปแบบวรรณกรรมที่เด่นอยู่ในความนิยมตลอดมาจนทุกวันนี้ เนื้อเรื่องของนวนิยายไทยปัจจุบันได้เสนอความคิดที่หลากหลายต่อผู้อ่านซึ่งมีระดับและรสนิยมที่หลากหลาย นักเขียนนวนิยายของไทยไม่จำกัดวงการเขียนเพื่อนักอ่านในวงจำกัด หากเป็นการเขียนเพื่อนักอ่านทุกประเภท คนจน ๆ ก็สามารถอ่านนวนิยายได้จากนิตยสารที่ลงเรื่องยาวเป็นตอน ๆ หรือจากหนังสือพิมพ์รายวัน นักเขียนได้เปิดเผยชีวิตของคนทุกชั้นทุกประเภทของสังคมไทย ทั้งชีวิตในเมืองหลวงและต่างจังหวัด นักเขียนนวนิยายไทยที่สะท้อนภาพชีวิตไทย ได้แก่ คำพูน บุญทวี, สีฟ้า, กาญจนา นาคนันท์, นิมิตร ภูมิถาวร, ดวงใจ เป็นต้น นวนิยายไทยแนวอิงประวัติศาสตร์นั้นได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างแพร่หลาย เช่น นวนิยายที่แต่งโดย ไม้เมืองเดิม, เสนีย์ เสาวพงศ์, ศุภร บุนนาค, ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, หลวงวิจิตรวาทการ, สุชีพ ปุญญานุภาพ, ยาขอบ เป็นต้น นวนิยายไทยที่แสดงการต่อสู้ความยากลำบากของชีวิตเพื่อสร้างตัวและต่อสู้กับค่านิยมที่สมควรเปลี่ยนแปลงนั้น แต่งโดย แม่อนงค์, ศรีบูรพา, สด กูรมะโรหิต, บุญเหลือ ฯลฯ ส่วนนวนิยายพาฝัน (Romantic) ที่เด่นมาก แต่งโดย ก.สุรางคนางค์, วรรณสิริ, ดวงดาว, พ.เนตรรังษี, ป.อินทรปาลิต, ชูวงศ์ ฉายะจินดา ฯลฯ นวนิยายชีวิตครอบครัวเป็นนวนิยายที่แพร่หลายมากในหมู่ผู้อ่านสตรี แต่งโดย ดอกไม้สด, ทมยันตี, กฤษณา อโศกสิน นวนิยายอุดมคติที่มุ่งแสดงอุดมการณ์ทางการเมือง แต่งโดย ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน์, ศรีบูรพา, อิศรา อมันตกุล, เสนีย์ เสาวพงศ์ ส่วนวรรณกรรมของกลุ่มนักเขียนก้าวหน้า (avant-garde) นั้นมักจะแสดงความไม่พอใจในสภาพสังคมปัจจุบัน และมุ่งแสดงความบีบคั้นและความเจ็บปวดทางอารมณ์ ผู้เขียนในแนวนี้ ได้แก่ ประมูล อุณหธูป, รงค์ วงษ์สวรรค์, สุวรรณี สุคนธา, กฤษณา อโศกสิน, สีฟ้า, โบตั๋น, ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ นวนิยายประเภทโลดโผนมักจะได้รับอิทธิพลมาจากจีนและญี่ปุ่น เช่นเรื่อง มังกรหยก แปลโดย ว. ณ เมืองลุง, โชกุน แปลโดยธนิต ธรรมสุคติ ส่วนนิยายวิทยาศาสตร์ (Science Fiction) มักจะได้รับอิทธิพลมาจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เช่นเรื่อง ธิดารัชนิกร แต่งโดยพิทยาลักษณ์และไชยวัฒน์ วรรณกรรมอาชญนิยายหรือเรื่องเกี่ยวกับตำรวจสปายสายลับสืบสวนสอบสวนนั้นก็ได้รับความนิยมมาก นิทานทองอิน เป็นอาชญนิยายเรื่องแรกของไทย เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับอิทธิพลจากเรื่องชุดนักสืบเชอร์ลอกโฮส์มส์ ความนิยมที่มีต่ออาชญนิยาย นิยายวิทยาศาสตร์ และนวนิยายผจญภัยนั้นยังคงมีอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะผู้อ่านที่เป็นเยาวชนและเป็นชาย

วรรณกรรมที่ให้ความสนุกสนานผ่อนคลายอารมณ์ผู้อ่านก็นับเป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุดอยู่เสมอ ในยุคแรก ๆ ก็มีนวนิยายชุดคุณถึก สิขาทร แต่งโดยแสงทอง อ้ายเปียด้วน โดยอบ ไชยวสุ นามนั้นสำคัญไฉน โดยสันต์ เทวรักษ์ นอกจากนี้ยังมีนักเขียนที่เสนออารมณ์ขันยอดเยี่ยมอีกหลายคน เช่น นายรำคาญ, ฮิวเมอริสต์, อาจินต์ ปัญจพรรค์, มนันยา, โก้ บางกอก

วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นสมัยใหม่ของไทยเริ่มแต่งและพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้ขยายตัวก้าวหน้าในแนวความคิดการแต่งและเนื้อหามาเป็นลำดับ ผลงานเรื่องสั้นที่น่าสนใจมากอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๗๒ - ๒๔๙๖ อันเป็นยุคที่นักเขียนไทยมีประสบการณ์และความชำนาญมากขึ้น ได้ผลิตงานเป็นจำนวนมาก โดยได้รับความสนับสนุนจากนิตยสารหลายฉบับ และได้มีการริเริ่มจัดประกวดเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ นับเป็นการกระตุ้นและปลูกฝังความนิยมเรื่องสั้นในหมู่คนไทย นักเขียนเรื่องสั้นที่มีความสามารถพิเศษ เช่น อ.อุดากร, มนัส จรรยงค์, ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, รงค์ วงษ์สวรรค์, ศุภร บุนนาค, ศรีบูรพา, สันต์ เทวรักษ์, สุวัฒน์ วรดิลก, วิทยากร เชียงกูล, อัศศิริ ธรรมโชติ เป็นต้น นักเขียนเรื่องสั้นดังกล่าวได้สะท้อนภาพความดีและชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ของสังคมไทย โดยใช้กลวิธีเขียนเรื่องสั้นสมัยใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ถึงแม้ความนิยมต่องานประเภทกวีนิพนธ์ในปัจจุบันจะลดน้อยลงมากเมื่อเทียบกับความเป็นมาในอดีตก็ตาม ในวงกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยก็ได้มีกวีที่ยิ่งใหญ่เป็นอันมาก เริ่มตั้งแต่ปลายสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดแบบฉันทลักษณ์ใหม่ ๆ ขึ้นหลายแบบ เช่น สินธุมาลี มหาสินธุมาลี จิตรลดา มหาจิตรลดา เป็นต้น อีกท่านหนึ่ง คือ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (น.ม.ส.) คิดฉันท์ขึ้นใหม่หลายแบบ เช่น สยามรัตนฉันท์ ความคิดสร้างสรรค์ทำนองนี้ กวีร่วมสมัยก็ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องต่อมาเพื่อแสวงหาอิสรภาพทางความคิดและรูปแบบในกวีนิพนธ์ เช่น ครูเทพ, กุลทรัพย์ รุ่งฤดี, อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นต้น กวียังฟื้นฟูวรรณกรรมเก่าแก่โดยนำมาแต่งใหม่ด้วยรูปลักษณ์คล้ายคลึงแบบเดิม แต่สอดแทรกความรู้สึกนึกคิดสมัยใหม่ เช่น สุจิตต์ วงษ์เทศ, ขรรค์ชัย บุญปาน กวีที่แต่งร้อยกรองเพื่อมุ่งเสนอข้อคิดในชีวิต ปรัชญาต่าง ๆ และการเมืองก็มีเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่ เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส. วรรณาโภ, ครูเทพ, นายผี, จิตร ภูมิศักดิ์, อุชเชนี, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, คมทวน คันธนู ฯลฯ กวีที่มีความสามารถเป็นศิลปะอมตะก็มีเป็นจำนวนมาก เช่น กุลทรัพย์ รุ่งฤดี, ภิญโญ ศรีจำลอง, จินตนา ปิ่นเฉลียว, วินัย ภู่ระหงษ์ ฯลฯ ส่วนกลอนเปล่า (หรือ Free Verse) ก็มีผู้แต่งได้ดีเช่นกัน ถึงแม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม เช่น รัตนะ ยาวะประภาษ, พจนา จันทรสันติ เป็นต้น

บทกวีนิพนธ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตคนไทยทั่วไปนั้นไม่มีอะไรเกิน “บทเพลง” ซึ่งมีทั้งบทเพลงไทยเดิม บทเพลงไทยปัจจุบัน และบทเพลงไทยสากล รวมทั้งเพลงที่ฉายให้เห็นชีวิตชาวชนบทตามท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทยด้วย

วรรณกรรมประเภทบทละครร้องและรำของไทยเคยเจริญสูงสุดในสมัยอยุธยาตอนปลาย แล้วก็เสื่อมความนิยมลง ต่อมาได้เริ่มเฟื่องฟูขึ้นอีกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะ “ละครรำ” และได้เกิดรูปแบบละครใหม่ ๆ ขึ้นอีกในวงนาฏศิลป์ไทย ได้แก่ ละครดึกดำบรรพ์ ละครพูด ละครร้อง และละครสังคีต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมประเภทบทละครขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งยังได้มีการปรับปรุงให้เกิดรูปแบบใหม่อีกด้วย เรียกว่า “ละครพูดสลับลำ” ส่วนในสมัยปัจจุบันมิได้มีรูปแบบการละครที่แปลกใหม่ มีแต่การนำแบบอย่างมาจากตะวันตกโดยตรง เช่น ละครพูดสมัยใหม่ (Modern Drama) เป็นบทละครที่พัฒนาขึ้นในหมู่ปัญญาชนแห่งสถาบันการศึกษาชั้นสูง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้แต่งบทละครเพื่อการอ่านมากกว่าเพื่อใช้แสดงบนเวทีอีกด้วย เช่น สุชาติ สวัสดิศรี ส่วนบทละครที่เป็นที่นิยมที่สุดในหมู่ประชาชนชาวไทยทั่วไปนั้นมักจะสัมพันธ์กับสื่อมวลชนประเภทโทรทัศน์ และภาพยนตร์

บทภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกคือ “นางสาวสุวรรณ” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ การเขียนบทภาพยนตร์ได้แบบมาจากยุโรป ผู้เขียนบทภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงในสมัยแรก ๆ คือ ขุนวิจิตรมาตรา, พรานบูรพ์, พล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ส่วนนักเขียนบทภาพยนตร์ในปัจจุบัน ได้แก่ วิจิตร คุณาวุฒิ, สุภาว์ เทวกุลฯ, เพิ่มพล เชยอรุณ, ถาวร สุวรรณ เป็นต้น ภาพยนตร์จัดได้ว่าเป็นวรรณคดีประเภทหนึ่ง มีผู้เรียกว่า ปริวรรณคดี หรือ Paraliterature มีองค์ประกอบหลายหลากนับตั้งแต่บทภาพยนตร์ ดนตรี เสียง แสง สี ฉากและการแสดง เป็นที่รวมแห่งวิทยาการก้าวหน้าหลายสาขา เป็นสื่อแห่งความคิดและอารมณ์ ซึ่งกำลังมีบทบาทขยายตัวกว้างขวางจนมีผู้วิตกว่าภาพยนตร์กำลังเข้าแทนที่หนังสือ

วรรณกรรมการแสดงอีกประเภทหนึ่งที่สมควรนำมากล่าวถึงคือ ละครวิทยุ และละครโทรทัศน์ ละครวิทยุเรื่องแรกของไทยนั้นเริ่มแสดงราว พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นละครชวนหัวแบบจำอวด ซึ่งแสดงศิลปะของการเล่นคำและการเสนออารมณ์ขันครื้นเครง ได้แก่ละครชุด “ครูมี ดนตรีเอก” แสดงโดยคณะปัญญาพล ส่วนละครวิทยุสมัยใหม่ (Modern Radio Play) หรือ “นาฏกรรมวิทยุ” นั้นเป็นของคณะบ้านกับโรงเรียน จัดและแสดงโดย ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย และเจริญพันธ์ ชุมสาย ณ สถานีวิทยุ ๑ ป.ณ.

ละครโทรทัศน์ของไทยเรื่องแรกเป็นเสภาตลกจากเรื่องขุนช้างขุนแผน แสดงโดย คณะครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์ ออกอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ ณ สถานีไทยทีวีช่อง ๔ อันเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย

เรื่องราวของวรรณคดีไทยซึ่งมีอายุยืนนานกว่า ๗๐๐ ปีนั้น มีรายละเอียดและความซับซ้อนที่น่าสนใจยิ่ง วรรณคดีไทยปัจจุบันยังมีพัฒนาการตามขนบนิยม และตามกระแสความคิดใหม่อย่างไม่หยุดหย่อน เนื้อหาของนวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และบทละคร-ภาพยนตร์ ในปัจจุบัน มุ่งเสนอความคิดและปัญหาสังคมในแง่จิตวิทยาและเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาการปรับเปลี่ยนค่านิยม รวมทั้งการเสนอแนวทางต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม อย่างไรก็ตามไม่ว่าวรรณคดีไทยจะพัฒนาไปในทิศทางใด สิ่งที่จะตกทอดเป็นมรดกของชนชาติไทยนั้นก็จะคงความเป็นลักษณะไทยไว้ตลอดกาล

สิทธา พินิจภูวดล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ