ภาคผนวก ๘ ทศพิธราชธรรม

[๑]ตามรูปศัพท์ ทศพิธราชธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน หรือธรรมที่พระเจ้าแผ่นดินพึงประพฤติ ๑๐ อย่าง หมายความว่า ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองไพร่ฟ้าประชาชนนั้นพึงดำเนินการปกครองด้วยธรรม ๑๐ อย่างนี้ นี้เป็นความหมายของทศพิธราชธรรมที่ถือปฏิบัติมาแต่โบราณกาล ซึ่งทางพระพุทธศาสนาได้สอนว่า หากพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งมั่นอยู่ในธรรม ๑๐ อย่างนี้แล้ว ก็จะทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ไพร่ฟ้าจะหน้าใสกันทั่วหน้า

สำหรับผู้มีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ซึ่งมิใช่พระเจ้าแผ่นดิน ก็ควรเจริญรอยตามพระเจ้าแผ่นดิน โดยนำเอาหลักธรรม ๑๐ อย่างนี้มาปฏิบัติในการปกครอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมตามอุดมการณ์แห่งการปกครอง

หลักธรรม ๑๐ อย่างนั้น ได้แก่

๑. ทาน การให้ คือการสละทรัพย์สิ่งของเพื่อบำรุงเลี้ยงดูช่วยเหลือประชาราษฎร์ผู้ยากไร้เข็ญใจ และบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ตามความเหมาะสมแก่สภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของประชาชนผู้ยากไร้

๒. ศีล ความมีศีล คือมีความประพฤติดีงาม มีระเบียบวินัย รักษาความประพฤติทางกาย ทางวาจาได้เรียบร้อย โดยเว้นจากกายทุจริต วจีทุจริต ประพฤติแต่กายสุจริต และวจีสุจริต

๓. บริจาค การเสียสละ คือการบริจาคจตุปัจจัยบำรุงพระพุทธศาสนาถวายไทยธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์ หรือสมณะชีพราหมณ์ เป็นการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวรตลอดจนการเสียสละความสุขส่วนตัว ประโยชน์ส่วนตัวเพื่อความสุขและประโยชน์ของส่วนรวม คือ ประเทศชาติ หรือความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

๔. อาชชวะ ความซื่อตรง คือซื่อสัตย์สุจริต ไร้มายา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน

๕. มัททวะ ความอ่อนโยน คือมีอัธยาศัยอ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง หยาบคาย หรือกระด้าง แสดงกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ชวนให้เกิดความเคารพจงรักภักดีและยำเกรง

๖. ตปะ การบำเพ็ญตบะ คือมีอุตสาหะในการบำเพ็ญเพียรเพื่อเผากิเลส ลดกิเลสโดยการรักษาอุโบสถศีลเป็นประจำทุกวันพระ รวมทั้งการรู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่หมกมุ่นหรือหลงติดอยู่ในกามสุข

๗. อักโกธะ ความไม่โกรธ คือไม่พิโรธโกรธขึ้งโดยผลุนผลัน ไม่แสดงความเกรี้ยวกราด ไม่ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้กระทำการต่าง ๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาธรรมประจำใจ รู้จักใช้สติยับยั้งระงับความขุ่นเคืองไว้ได้ ไม่แสดงความดุดันโหดเหี้ยมทางจิตให้ปรากฏ

๘. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือไม่บีบคั้น กดขี่ข่มเหงใครให้เดือดร้อน เช่น ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ขู่เข็ญบังคับใคร ไม่ลงโทษผู้ไม่มีความผิด มีจิตกรุณาแก่คนทั่วไป ไม่เป็นคนหาเรื่องกลั่นแกล้ง หรือเสกสรรปั้นแต่งเรื่อง เพื่อบีบบังคับผู้อื่นให้ยอมรับการกระทำบางอย่างอันเป็นความผิด ตลอดจนไม่ขู่เข็ญผู้อื่นให้กระทำหรือละเว้นการกระทำ อันเป็นความผิดความเสื่อมเสียแก่ผู้อื่น ไม่รีดไถผู้อื่น เป็นต้น

๙. ขันติ ความอดทน คืออดต่อการที่ยังไม่ได้สิ่งที่ตนต้องการ ทนต่อการได้รับสิ่งที่ตนไม่ต้องการ ตลอดจนอดทนต่อความลำบาก ความตรากตรำและความเจ็บใจ เมื่อทำสิ่งใดถูกต้องแล้ว แม้จะมีผู้เห็นผิดคัดค้านหรือกล่าวโจมตีอย่างไร ก็ไม่ท้อถอย หรือแม้จะมีใครกล่าวเสียดสี ถากถาง เย้ยหยันอย่างไรก็ทนฟังได้ ไม่แสดงอาการน้อยเนื้อต่ำใจ และเลิกล้มการกระทำความดี

๑๐. อวิโรธนะ ความไม่ประพฤติผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากทำนองคลองธรรม คือความไม่ประพฤติฝ่าฝืนลบล้างตัวบทกฎหมายและจารีตประเพณีอันดีงามของบ้านเมือง ตลอดจนไม่ประพฤติผิดระเบียบแบบแผน กฎบังคับ หรือความนิยมอันดีงามของสังคม

ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการนื้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ผู้ทรงเป็นรัตนกวีเอกของชาติไทยได้ทรงนิพนธ์เป็นบทลิลิตไว้อย่างไพเราะยิ่งว่า

๑. ทานํ  
พระเปรมปฏิบัติเบื้อง ทศธรรม์ ถ้วนแฮ
ทานวัตรพัสดุสรรพ์ สิ่งให้
ทวยเถมิลมั่วหมู่พรร- ณีพกพวก แคลนนา
วันละวันตั้งไว้ หกห้างแห่งสถาน ฯ
๒. สีลํ  
เถลิงการกุศลสร้าง เบญจางค ศีลเฮย
เนืองนิวัทธฤๅวาง ว่างเว้น
บำเทิงหฤทัยทาง บุญเบื่อ บาปนา
แสวงสัคมัคโมกข์เร้น รอดรื้อสงสาร ฯ
๓. ปริจฺจาคํ  
สมภารพระก่อเกื้อ การก ธรรมแฮ
ชินศาสนุประถัมภก เพิ่มตั้ง
จตุราปัจจเยศยก บริจาค ออกเอย
อวยแด่ชุมชีทั้ง ทั่วแคว้นแขวงสยาม ฯ
๔. อาชฺชวํ  
พระงามอุชุภาพพร้อม ไตรพิธ ทวารเฮย
กายกมลภาษิต ซื่อซร้อง
บำเพ็ญเพิ่มสุจริต เจริญสัตย์ สงวนนา
สิ่งคดปลดเปลื้องข้อง แต่ครั้งฤๅมี ฯ
๕. มทฺทวํ  
ปรานีมาโนชน้อม มฤธู
ในนิกรชนชู ชุ่มเฝ้า
พระเอื้อพระเอ็นดู โดยเที่ยง ธรรมนา
อดโทษโปรดเกศเกล้า ผิดพลั้งสั่งสอน ฯ
๖. ตปํ  
สังวรอุโบสถสร้าง ประดิทิน
มาสประมาณวารถวิล สี่ถ้วน
อัษฎางคิกวิริยิน ทรีย์สงัด กามเอย
มละอิสริยสุขล้วน โลกซร้องสรรเสริญ ฯ
๗. อกฺโกธํ  
ทรงเจริญมิตรภาพเพี้ยง พรหมมาน
ทิศทศจรดทุกสถาน แผ่แผ้ว
ชัคสัตว์เสพย์สำราญ รมย์ทั่ว กันนา
เย็นยิ่งจันทรกานต์แก้ว เกิดน้ำฉ่ำแสง ฯ
๘. อวิหึสํ  
เสด็จแสดงยศเยือกหล้า แหล่งไผท
เพื่อพระกรุณาใน เขตรข้า
บกอปรบก่อภัย พิบัติเบียด เบียนเอย
บานทุกหน้าถ้วนหน้า นอบนิ้วถวายพร ฯ
๙. ขนฺติ  
ถาวรอธิวาสน์ค้า ขันตี ธรรมฤๅ
ดำฤษณ์วิโรธราคี ขุ่นข้อน
เพ็ญผลพุทธบารมี วิมุติสุข แสวงนา
เนืองโลกโศกเสื่อมร้อน สิ่งร้ายฤๅพาน ฯ
๑๐. อวิโรธนํ  
พระญาณยลเยี่ยงเบื้อง โบราณ รีตนา
ในนิตยราชศาสตร์สาร สืบไว้
บแปรประพฤติพาล แผกฉบับ บูรพ์เฮย
โดยชอบกอบกิจไท้ ธเรศตั้งแต่ปาง ฯ
ไป่วางขัตติยวัตรเว้น สักอัน
ทั่วทศพิธราชธรรม์ ท่านสร้าง
สงเคราะห์จัตุราบรร สัชสุข เสมอนา
สังคฤหพัสดุอ้าง สี่ไส้สืบผล ฯ

(เตลงพ่าย. หน้า ๑๘๕ – ๑๘๘)

ทางพระพุทธศาสนาสอนว่า ทศพิธราชธรรมนี้เป็นหัวใจสำคัญในการปกครอง พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นประมุขของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้ทรงเคารพและยึดเป็นแนวทางในการบริหารประเทศตลอดมา พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดทรงดำรงมั่นอยู่ในธรรม ๑๐ อย่างนี้ ย่อมได้รับการยกย่องเทิดทูนว่า เป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม จะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนและ ประชาชนจะถวายความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง

พิทูร มลิวัลย์



[๑] พิทูร มลิวัลย์ หลักธรรมสำหรับการปกครอง กรมการศาสนา ๒๕๒๕, หน้า ๔๑ - ๔๕

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ