บทที่ ๘ อรูปาวจรภูมิ

อรูปพรหม ๔ ชั้น

ต่อไปนี้จะกล่าวถึงท่านที่ไปเกิดในอรูปพรหมโลกอันไกลโพ้นด้วยอรูปปฏิสนธิต่อจากชั้นอกนิฏฐพรหมขึ้นไปเบื้องบนว่างเปล่าไกลลิบลับ มีพรหมโลกอยู่อีก ๔ ชั้น คือ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ พรหมโลกทั้งสี่ชั้นนี้เป็นที่อยู่ของท่านผู้ได้ฌานที่ ๕ ท่านเหล่านี้ไม่มีตัวตนแม้แต่น้อย ว่างเปล่า มีแต่จิตสถิตอยู่กลางหาว ด้วยเหตุนี้ที่อยู่ของท่านจึงชื่อว่า อรูปพรหมโลก

พรหมที่ไปเกิดในชั้นอากาสานัญจายตนภูมินั้น เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ คิดว่า ถ้าหากจะเพียรพยายามให้ใจหายไป จะเป็นอย่างไร ถ้ามีแต่ใจไม่มีร่างกาย เราจะทำร้ายใคร และใครจะทำร้ายเราไม่ได้ ควรปรารถนาให้ร่างกายนี้หายไป เหลือไว้แต่จิต แล้วเจริญภาวนาได้สำเร็จฌานทั้ง ๕ และปรารถนาว่า “เราจะเอาอากาศอันว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยในอรูปพรหมโลกชั้นต้นเป็นที่อยู่ของเราต่อไป” แล้วเจริญภาวนาปรารถนาให้ร่างกายหายไป โดยเพ่งอากาศเป็นอารมณ์ว่า “อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ความว่างเปล่าไม่มีที่สิ้นสุด เราจักเป็นผู้ไม่มีรูปร่าง” แล้วได้อากาสนานัญจายตนฌานตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ได้ไปเกิดเป็นพรหมในพรหมโลกชั้นอากาสานัญจายตนภูมิ มีแต่ใจ ไม่มีรูปร่างหน้าตา มือเท้าแม้แต่น้อย มีอายุยืนได้ ๒๐,๐๐๐ กัลป์

นักบวชบางพวกเจริญภาวนาได้ฌาน ๕ ในชั้นต้นแล้ว ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ แต่หาได้อิ่มใจไม่ เพราะใจอยากจะได้สูงขึ้นไปกว่านั้น จึงไม่หยุดอยู่เพียงอากาสานัญจายตนสมาบัติ ปรารถนาจะให้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติ ซึ่งอยู่เหนืออากาศว่างเปล่าตลอดกาล ไม่เอาใจใส่อย่างอื่นเลย เอาใจใส่ภาวนาว่า “วิญญาณเป็นอารมณ์ไม่มีที่สิ้นสุด เราจักเป็นผู้ไม่มีรูปร่างด้วยวิญญาณนี้ให้ได้ ไม่เพ่งอย่างอื่นเลย เพ่งแต่วิญญาณจนตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตแล้วได้ไปเกิดเป็นพรหมในพรหมโลกชั้นวิญญาณัญจายตนภูมิ มีอายุยืนได้ ๔๐,๐๐๐ มหากัลป์

นักบวชบางพวกเจริญภาวนาได้ฌาน ๕ ในชั้นต้นแล้วได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติ แต่หาได้อิ่มใจไม่ อยากจะได้ให้สูงขึ้นไปกว่าวิญญาณัญจายตนสมาบัตินั้นอีก เห็นว่าอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นสุขกว่า เย็นกว่า ปรารถนาจะให้ได้ถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติ ซึ่งอยู่เหนืออากาศ ว่างเปล่าตลอดกาล จึงไม่เอาใจใส่อย่างอื่นเลย เอาแต่ภาวนาว่า “ไม่มีอะไร” ไม่เพ่งอย่างอื่นเลย เพ่งแต่ความไม่มีอะไรจนตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตแล้วได้ไปเกิดเป็นพรหมในพรหมโลกชั้น อากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุยืนได้ ๖๐,๐๐๐ มหากัลป์

นักบวชบางพวกเจริญภาวนาได้ฌาน ๕ ในชั้นต้นแล้ว ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ ไม่อิ่มใจ เพราะใกล้กับพวกที่มีรูปจึงไม่ยินดี เหมือนคนที่อยู่ใกล้ศัตรูซึ่งถือหอกถือดาบไม่อาจวางใจได้ คิดไม่อยากได้อากิญจัญญายตนสมาบัติอันมีในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนภูมินั้น ปรารถนาจะไปเกิดในพรหมโลกชั้นอื่นที่สูงขึ้นไป ห่างไกลพวกที่มีรูปซึ่งเปรียบเสมือนศัตรู จึงไม่เอาใจใส่อย่างอื่นเลย ตั้งใจจะไปให้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติอย่างเดียว จึงภาวนาว่า “เราจักเป็นผู้มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ขอให้เรานี้จงมีใจละเอียดเล็กน้อยยิ่งนักเหมือนหายไปในอากาศได้ร้อยเท่าพันเท่า ยิ่งกว่าใจพรหมชั้นต่ำ” ใจนั้นมีเหมือนไม่มีเพราะละเอียดเล็กน้อยยิ่งนัก มีอายุยืนได้ ๘๔,๐๐๐ มหากัลป์ และจะทำอะไรก็ไม่ได้เลย เพราะใจนั้นละเอียดเล็กน้อยที่สุด พรหมโลกชั้นเนวสัญญานาสัญญายตบะนั้นมีสมาบัติยิ่งกว่าพรหมโลกทุกชั้น

พรหมในอรูปภูมินี้ แม้จะมีใจละเอียดประณีตและน้อยนิดก็ยังมีเจตสิกเป็นเพื่อนของจิต ประกอบจิตอีก ๒๐ ดวง คือ โสภณเจตสิก[๑] เว้นกรุณาและมุทุตา ไม่นับ อัญญสมานาเจตสิก

โสภณเจตสิกทั้ง ๒๐ ดวงนี้อาศัยอรูปาวจรจิตในอรูปโลก ถึงแม้ว่าใจจะละเอียดประณีตอย่างยิ่ง ก็ยังมีเพื่อนเพื่อให้อยู่เป็นสุขในสมาบัติได้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประสูติในโลกนี้ อรูปพรหมทั้งหลายก็มีศรัทธาเลื่อมใสพากันบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยใจ

ฉัพพรรณรังสี

จะกล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีจิตแต่ดูเสมือนมีจิตใจพากันสักการบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทำพระปาฏิหาริย์ด้วยฤทธิ์ซึ่งชื่อว่า อิทธิวิธีญาณ ด้วยพระหฤทัยซึ่งเกิดขึ้นเอง โดยไม่มีสิ่งชักชวน พร้อมด้วยความยินดีประกอบด้วยปัญญา ทรงแผ่พระมหาฉัพพรรณรังสี คือ พระรัศมีที่ยิ่งใหญ่ทั้ง ๖ ไปทั่วสกลจักรวาล ประกอบด้วย

พระรัศมีสีเขียวซึ่งงามเหมือนดอกอัญชัน ดอกบัวเขียว ดอกผักตบ แววนกยูง และปีกแมลงภู่ พระรัศมีสีเหลืองซึ่งงามเหมือนดอกกรรณิการ์ หรดาล ทองชมพูนุท พระรัศมีสีแดง ซึ่งเหมือนน้ำครั่งและชาติหิงคุ งามเหมือนดอกชบาและดอกทับทิม พระรัศมีสีขาวซึ่งงามเหมือนดอกพุดและสังข์ พระรัศมีสีแสดซึ่งงามเหมือนดอกอังกาบ ดอกชบาเทศ ดอกเทียนไทย และดอกทองฟ้า[๒] ออกแสงเป็นเงาเหมือนทองแดงที่ขัดถูดีแล้ว พระรัศมีสีเลื่อมพรายสุกใสและเหลืองซึ่งงามเหมือนดาวประกายพรึก และแก้วผลึกที่ส่งแสงรุ่งเรืองฉวัดเฉวียนเวียนรอบ

พระรัศมีทั้ง ๖ ที่แผ่ซ่านออกจากพระวรกายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นงามต่าง ๆ กัน พระรัศมีสีเขียวงามเหมือนดอกอัญชัน ดอกผักตบ ดอกบัวเขียว แววนกยูง และปีกแมลงภู่นั้น แผ่ซ่านออกจากพระเกศาและพระโลมาทุกเส้นทั่วพระวรกาย

พระรัศมีสีเหลืองงามเหมือนดอกกรรณิการ์ หรดาลและทองชมพูนุทนั้น แผ่ซ่านออกจากพระปฤษฎางค์ของพระพุทธเจ้า พระรัศมีขาวงามบริสุทธิ์เหมือนสังข์นั้น แผ่ซ่านออกจากพระเนตรขาว และพระทนต์ของพระพุทธองค์ พระรัศมีสีแสดงามเหมือนดอกอังกาบ ดอกชบาเทศ ดอกเทียนไทย และดอกทองฟ้า ที่ออกแสงเหมือนทองแดงที่ขัดเงาแล้วนั้น แผ่ซ่านออกจากแพนข้อพระหัตถ์และเล็บพระบาทของพระพุทธเจ้า พระรัศมีสีเลื่อมประภัสสรงามเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึกนั้น แผ่ซ่านจากพระอุณาโลม คือพระขนแก้ว ณ พระพักตร์พระพุทธเจ้า

พระรัศมีทั้ง ๖ ดังพรรณนามานี้ ที่เขียวก็ยิ่งเขียวงามยิ่งขึ้น ที่ขาวก็ขาวงามยิ่งขึ้น ที่เหลืองก็ยิ่งเหลืองงามยิ่งขึ้น ที่แดงก็ยิ่งแดงงามยิ่งขึ้น ที่แสดก็ยิ่งแสดงามยิ่งขึ้น ที่เลื่อมประภัสสรก็ยิ่งเลื่อมงามรุ่งเรืองเหมือนดาวประกายพรึก แผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้าแล้ว กลับฉวัดเฉวียนวนเวียนไปมา ไม่ซีดไม่มัวเลย พระรัศมีบางกลุ่มก็โก่ง บางกลุ่มก็เรียงรายส่ายไปมา บางกลุ่มก็หนา บางกลุ่มก็บาง บางกลุ่มก็ห้อยย้อยไหลไป บางกลุ่มหยุดอยู่ บางกลุ่มเป็นกลุ่มก้อน บางกลุ่มเป็นแสงล้อม บางกลุ่มโค้งลงดิน บางกลุ่มพุ่งขึ้นไปในอากาศ บางกลุ่มพุ่งไปข้างหน้า บางกลุ่มพุ่งไปข้างหลัง ประดังกันออกมา

พระรัศมีสีเขียวนำไปก่อน ติดตามด้วยพระรัศมีสีเหลือง แดง ขาว แดงอ่อน และสีเลื่อมพรายงามเหมือนดาวประกายพรึกตามลำดับ

บรรดาพระรัศมีทั้ง ๖ นั้น พระรัศมีสีเหลืองดูเหมือนจะรู้จัก พูดต่อว่าพระรัศมีสีเขียวว่า “แน่ะ ท่านรัศมีสีเขียว ท่านจงหยุดประเดี๋ยวก่อน เราขอถามท่านว่า เพราะอะไรท่านจึงไปก่อน เราท่านได้สร้างบุญกุศลสมภารไว้อย่างไร”

พระรัศมีสีเขียวนั้นทำเป็นเหมือนเหลียวกลับมาดูแล้วตอบว่า “เรานี้มีบุญเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าของเรายังเป็นพระบรมโพธิสัตว์ทรงพระนามว่าพระเจ้าสีพีราช ได้ทรงควักพระเนตรออกให้เป็นทานแก่พระอินทร์ซึ่งจำแลงเพศเป็นพราหมณ์มาขอ ด้วยเดชะพระกุศลสมภารบารมีดังกล่าวมานี้ เราจึงได้เกิดเป็นพระรัศมีสีเขียวนำหน้าพวกท่านไปก่อน

ฝ่ายพระรัศมีสีแดงใสเรืองรุ่งพุ่งออกไป เห็นพระรัศมีสีเหลืองล่วงหน้าไปก่อน ดูเหมือนจะรู้จักพูดต่อว่าพระรัศมีสีเหลืองว่า “แน่ะ ท่านรัศมีสีเหลือง เพราะเหตุไรท่านจึงไปก่อนเรา ท่านได้สร้างบุญกุศลสมภารบารมีไว้อย่างไรบ้าง”

พระรัศมีสีเหลืองทำเป็นเหมือนจะรู้จัก เหลียวกลับมาดูแล้วตอบว่า “เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าของเรายังทรงสร้างสมพระโพธิสมภารบารมีเสวยพระชาติเป็นวิริยบัณฑิต ได้ทรงเชือดเนื้อออกให้พระอินทร์ซึ่งจำแลงเพศเป็นช่างทองตีแผ่เป็นแผ่นทองปิดพระพุทธรูปด้วยใจเลื่อมใสศรัทธาและยินดีปรีดาเป็นยิ่งนัก เพราะบุญกุศลสมภารบารมีนี้ เราจึงได้มาเกิดเป็นพระรัศมีสีเหลืองเหมือนทองงามรุ่งเรืองนำหน้าท่านไปก่อน”

ฝ่ายพระรัศมีสีขาวเห็นพระรัศมีสีแดงล่วงหน้าไปก่อน ดูเหมือนจะรู้จักพูดต่อว่าพระรัศมีสีแดงว่า “แน่ะ ท่านรัศมีสีแดง เหตุไฉนท่านจึงไปก่อนเรา ท่านได้สร้างบุญกุศลสมภารบารมีไว้อย่างไร”

พระรัศมีสีแดงทำเป็นเหมือนจะเหลียวกลับมาตอบพระรัศมีสีขาวให้รู้แจ้งชัดว่า “เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าของเรานี้ยังทรงสร้างโพธิสมภารบารมีอยู่ ได้เสวยพระชาติเป็บนรชีวมาณพ อีกเรื่องหนึ่งเป็นปทุมกุมาร เอามีดผ่าอกยกหัวใจให้ปรุงยาแก่มารดาของตนซึ่งถูกงูกัดตายไปแล้วให้กลับฟื้นขึ้นมา ด้วยเดชะบุญกุศลสมภารบารมีดังกล่าวมานี้ เราจึงได้เกิดเป็นพระรัศมีสีแดงนำหน้าท่านไปก่อน”

ฝ่ายพระรัศมีสีแสดเหมือนสีเท้าหงส์[๓] “เห็นพระรัศมีสีขาวล่วงหน้าไปก่อน ดูเหมือนจะรู้จัก ถามและพูดต่อว่าพระรัศมีสีขาวว่า “แน่ะ ท่านรัศมีสีขาว เหตุไฉนท่านจึงไปก่อนเรา ท่านได้สร้างบุญกุศลสมภารบารมีไว้อย่างไร ”

พระรัศมีสีขาวทำเป็นเหมือนจะรู้จัก เหลียวกลับมาตอบว่า “เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าของเรานี้ยังทรงสร้างโพธิสมภารบารมีอยู่ ได้เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรบรมกษัตริย์ ทรงมีศรัทธาพระราชทานช้างเผือกปัจจัยนาคให้เป็นทานแก่พราหมณ์ชาวเมืองกลิงคราษฎร์ ด้วยอำนาจบุญกุศลสมภารบารมีดังกล่าวมานี้ เราจึงได้เกิดเป็นพระรัศมีสีขาวนำหน้าท่านไปก่อน”

ฝ่ายพระรัศมีสีใสเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึก เห็นพระรัศมีสีแสดเหมือนสีเท้าหงส์ล่วงหน้าไปก่อน ดูเหมือนจะรู้จักถามและพูดต่อว่าพระรัศมีสีแสดนั้นว่า “แน่ะ ท่านรัศมีสีแสดเหมือนสีเท้าหงส์ เหตุไฉนท่านจึงไปก่อนเรา ท่านได้สร้างบุญกุศลสมภารบารมีไว้อย่างไร”

ทันใดนั้น พระรัศมีสีแสดทำเป็นเหมือนจะรู้จัก เหลียวกลับมาตอบว่า “เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงสร้างโพธิสมภารบารมีอยู่ ได้เสวยพระชาติเป็นวิชาธรบรมโพธิสัตว์ ทรงเชือดเนื้อให้เป็นทานแก่ผีเสื้อกินเป็นอาหาร ด้วยกุศลสมภารบารมีดังกล่าวมานี้ เราจึงได้เป็นพระรัศมีสีแสดนำหน้าท่านไปก่อน”

คราวนั้น พระรัศมีสีเลื่อมประภัสสรเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึกได้เหาะฉวัดเฉวียนนำหน้าพระรัศมีสีแสดไป พระรัศมีสีแสดนั้นเห็นพระรัศมีสีเลื่อมประภัสสรเหมือนดาวประกายพริกและแก้วผลึกล่วงหน้าไปก่อน ดูเหมือนจะรู้จักถามว่า “แน่ะ ท่านรัศมีสีเลื่อมประภัสสรเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึก เหตุไฉนท่านจึงไปก่อนเรา ท่านได้สร้างบุญกุศลสมภารบารมีไว้อย่างไร”

ครั้งนั้น พระรัศมีสีเลื่อมประภัสสรเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึกดูเหมือนจะรู้จักเหลียวกลับมาตอบว่า “เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงสร้างโพธิสมภารบารมีอยู่ เสวยพระชาติเป็นกระต่ายชื่อว่า สสบัณฑิต ได้มีใจศรัทธาสละร่างกายให้เป็นทาน โดยทอดกายลงในไฟซึ่งพระอินทร์ก่อขึ้น ให้เนื้อเป็นทานแก่พราหมณ์ ด้วยเดชะบุญกุศลสมภารบารมีดังกล่าวมานี้ เราจึงได้มาเป็นพระรัศมีสีเลื่อมประภัสสร มีสีเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึกนำหน้าท่านไปก่อน”

ครั้งนั้น พระรัศมีทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ต่างก็แข่งกันเหาะลอยไปเบื้องหน้าแล้วก็คล้อยลงเบื้องล่างถึงทั่วทุกแห่งหน ฉายไปถึงอเวจีนรก จนสุดพื้นแผ่นดินลึกถึง ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ลงไปอีกถึงลมที่รองน้ำและดินไว้มิให้ไหวหนาได้ ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ ดั้นขึ้นไปถึงอวกาศต่อจากภายใต้เบื้องบนไกลแสนไกลพุ่งขึ้นไปโดยลำดับ พ้นจากอรูปพรหมขึ้นไปถึงลมอัชฏากาศเบื้องบน ฉายไปทั่วทั้ง ๘ ทิศ พุ่งไปถึงอนันตจักรวาลทุกด้าน เห็นสว่างไสวตลอดไปทุกช่องทุกซอกห้วยเนินเขาในถ้ำ ปล่อง เหว เงื้อมแง่ และที่มืดมิดซึ่งแสงพระอาทิตย์และพระจันทร์ส่องเข้าไปไม่ถึง

พระฉัพพรรณรังลึของพระพุทธเจ้าสามารถส่องให้เห็นได้ทุกแห่งหน สว่างแพรวพรายไปทั่ว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ในครั้งนั้น แผ่นดินไหวไปทั่วทั้งสิ้น ทั้งมหาสมุทรก็ตีฟองนองระลอกอยู่ฉาดฉาน ทั้งเขาพระสุเมรุก็อ่อนน้อมเอนลงเหมือนยอดหวายที่ถูกไฟลนอ่อนลง ฉะนั้น บรรดาเครื่องดนตรีซึ่งไม่มีจิตใจก็ดังขึ้นมาเองเหมือนมีคนมาตีและเป่าอยู่ บรรเลงเปล่งเสียงออกมาเองไพเราะนักหนา ถวายบูชาแด่พระพุทธเจ้า ทั้งหมู่อรูปพรหมก็พากันมานมัสการพระพุทธเจ้าด้วยประการฉะนี้

จบบทที่ ๘ เรื่องพรหมชื่ออรูปาวจรภูมิ โดยย่อเพียงเท่านี้



[๑] โสภณเจตสิก ๒๐ คือ

๑. สิทธา ความเชื่อ

๒. สติ ความระลึกได้

๓. หิริ ความละอายต่อบาป

๔. โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป

๕. อโลภะ ความไม่โลภอยากได้อารมณ์

๖. อโทสะ ความโม่โกรธ

๗. ตัตรมัชฌัตตตา ความมีใจเป็นกลาง

๘. กายปัสสิทธิ ความสงบของเจตสิก

๙. จิตตปัสสิทธิ ความสงบของจิต

๑๐. กายลหุตา ความเบาของเจตสิก

๑๑. จิตตลหุตา ความเบาของจิต

๑๒. กายมุทุตา ความอ่อนของเจตสิก

๑๓. จิตตมุทุตา ความอ่อนของจิต

๑๔. กายกัมมัญญตา ความสมควรแก่การงานของเจตสิก

๑๕. จิตตกัมมัญญตา ความสมควรแก่การงานของจิต

๑๖. กายปาคุญญตา ความคล่องของเจตสิก

๑๗. จิตตปาคุญญตา ความคล่องของจิต

๑๘. กายุชุกตา ความซื่อตรงของเจตสิก

๑๙. จิตตุชุกตา ความซื่อตรงของจิต

๒๐. ปัญญินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ต่าง ๆ ตามความเป็นจริง

[๒] น่าจะเป็น ทองกวาว

[๓] สีเท้าหงส์ คือ สีแดงปนเหลือง, สีแดงเรื่อ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ