บทที่ ๒ แดนของสัตว์เดรัจฉาน

สัตว์เดรัจฉานที่เกิดในแดนนี้มีกำเนิด ๔ ประการ คือ เกิดจากไข่ เกิดจากครรภ์ เกิดจากไคล และเกิดโดยมีรูปกายโตใหญ่ขึ้นทันใด บรรดาสัตว์เดรัจฉานเหล่านี้ได้แก่ ครุฑ นาค สิงห์ ช้าง ม้า วัว ควาย เนื้อ เป็ด ห่าน ไก่ และนก เป็นต้น สัตว์เหล่านี้บางชนิดไม่มีเท้า บางชนิดมี ๒ เท้า บางชนิดมี ๔ เท้า บางชนิดมีเท้าเป็นจำนวนมาก สัตว์เหล่านี้เวลาเดินคว่ำตัวลงขนาบกับพื้น

สัตว์เดรัจฉานมีความรู้อยู่ ๓ อย่าง คือ รู้สืบพันธ์ รู้กินอาหาร และรู้กลัวความตาย ตามปกติสัตว์เดรัจฉานไม่รู้จักบุญหรือธรรม ไม่รู้จักเลี้ยงตนด้วยการค้าขาย ทำไร่ไถนา บางชนิดกินหญ้าเป็นอาหาร บางชนิดกินเถาวัลย์ กินใบไม้ บางชนิดกินกันเอง บางชนิดกินสัตว์ที่อ่อนแอกว่าตน สัตว์ที่อ่อนแอมักจะหนีไปซ่อนในที่เร้นลับ เมื่อสัตว์ที่แข็งแรงกว่าวิ่งไล่ทันก็จะกินสัตว์ที่อ่อนแอนั้น การที่สัตว์เดรัจฉานเลี้ยงชีวิตด้วยการฆ่ากัน เมื่อตายไปย่อมไปเกิดในอบายภูมิ ๔ สัตว์เดรัจฉานจำนวนน้อยที่ได้ไปเกิดบนสวรรค์ สัตว์ซึ่งเดินคว่ำตัวลงขนานกับพื้นนั้นมีทั้งที่ดีและที่ไม่ดี ที่ดีได้แก่ ราชสีห์ซึ่งมี ๔ ประเภท คือ ติณสีหะ กาฬสีหะ ปัณฑุรสีหะ และไกรสรสีหะ ประเภทแรก คือ ติณสีหะนั้นมีขนสีหม่นเหมือนสีปีกนกเขา กินหญ้าเป็นอาหาร ประเภทที่ ๒ กาฬสีหะนั้นมีขนสีดำเหมือนวัวดำ กินหญ้าเป็นอาหาร ประเภทที่ ๓ ปัณฑุรสีหะ มีขนสีเหลืองเหมือนสีใบไม้ กินเนื้อเป็นอาหาร ประเภทที่ ๔ ไกสสรสีหะ มีปากและเท้าทั้ง ๔ เป็นสีแดงดุจเอาน้ำครั่งละลายด้วยน้ำชาดหรคุณทาไว้ ท้องก็เป็นสีแดงเช่นกัน มีแนวแดงตั้งแต่หัวตลอดจนถึงหลังและอ้อมลงถึงขา แนวแดงนี้ดุจรัดสะเอว งามเหมือนมีผู้แต้มไว้ ขนคออ่อนนุ่มราวกับพันด้วยผ้าแดง ซึ่งมีค่าแสนตำลึงทอง ขนที่ตัวไกรสรสีหะนี้ บางตอนก็มีสีขาวงามประดุจหอยสังข์ที่ขัดใหม่ เมื่อไกรสรสีหะออกจากถ้ำที่อยู่ จะเป็นถ้ำทองหรือถ้ำแก้วก็ตาม จะขึ้นไปอยู่บนแผ่นหินซึ่งมีสีเหลืองงามประดุจทองคำ สองตีนหลังเหยียดเสมอกัน และยืนสองตีนหน้า สะบัดขนมองหลัง แล้วเหยียดสองตีนหน้า ฟุบสองตีนหลังลงแล้วยืนตัวขึ้น ส่งเสียงดังดุจฟ้าลั่น สะบัดขนแล้วจึงออกเดิน เมื่อวิ่งไปมามีลักษณะเหมือนลูกวัววิ่ง ท่าเดินของไกรสรสีหะนั้นดูว่องไวงดงาม เหมือนผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงถือดุ้นไฟแกว่งไปมาในคืนเดือนมืด เสียงร้องของไกรสรสีหะนั้นดังมากจนได้ยินไปไกลถึง ๓ โยชน์ ร้อง ๓ ครั้ง บรรดาสัตว์ ๒ ตีน ๔ ตีน ซึ่งอยู่ในระยะเสียงที่ได้ยินนั้นก็จะตกใจกลัวตัวสั่น และสลบอยู่ไม่รู้สึกตัว แล้วพากันหนีจากที่นั้นไปจนหมดสิ้น ส่วนสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำก็ดำหนีลงไปจนถึงใต้พื้นน้ำ ร้องครวญคราง ช้างสารในป่าเมื่อได้ยินเสียงไกรสรสีหะก็รู้สึกกลัว ร้องขึ้นและหนีไปในป่า ส่วนช้างบ้านที่ผูกไว้ด้วยเชือกหรือเชือกหนัง เมื่อได้ยินเสียงไกรสรสีหะ ก็ดิ้นแรงจนเชือกขาดขี้เยี่ยวราดแล้ววิ่งหนีไป เว้นแต่ไกรสรสีหราชด้วยกัน ม้าแก้วที่ชื่อว่าพลาหก และผู้มีบุญคือ พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ขีณาสพเท่านั้นที่สามารถฟังเสียงไกสสรสีหะนั้นได้

ยามเมื่อไกรสรสีหะกระโดดโลดเต้นนั้น เมื่อกระโดดไปทางซ้ายหรือขวาก็จะกระโดดไปได้ไกลระยะทางเท่าสุดเสียงวัวร้อง เมื่อกระโดดขึ้นเบื้องต้นก็จะกระโดดได้สูงเป็นสี่เท่าของระยะสุดเสียงวัวร้อง บางครั้งก็สูงถึงเจ็ดเท่าของระยะสุดเสียงวัวร้อง เมื่อกระโจนออกไปข้างหน้าก็จะกระโจนออกไปได้สิบหกถึงยี่สิบเท่าของระยะสุดเสียงวัวร้อง หากกระโจนลงจากที่สูงลงล่างก็จะไปไกล ๖๐ ถึง ๘๐ โยชน์ เมื่อกระโดดขึ้นไปกลางอากาศ ต้นไม้ใหญ่ก็จะแหวกเป็นช่องทั้งด้านซ้ายและขวาและกระโดดได้สูงเป็นระยะทางเท่าสุดเสียงวัวร้อง พอหยุดการกระโดดโลดเต้นแล้ว ก็จะส่งเสียงร้องอย่างดังสามครั้ง ครั้นหยุดแล้วก็จะกระโดดโลดเต้นโดยกระโดดไปข้างหน้า ๓ โยชน์ ความเร็วก่อให้เกิดลมพัดดัง เสียงดังของลมจะได้ยินไล่มาข้างหลัง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไกรสรสีหะมีกำลังวังชาแข็งแรงยิ่งนัก ในบรรดาสัตว์สี่ตีนนั้นไม่มีสัตว์ใดจะกระโดดไปในอากาศได้เร็วเท่าไกรสรสีหะ ยกเว้นแต่ช้างแก้ว

ช้างแก้วนั้นมีอยู่ ๑๐ ตระกูล ได้แก่ ช้างที่มีผิวกายสีดำ (กาฬาพกหัตถีกุล) ช้างที่มีผิวกายสีน้ำไหล (คังเคยยหัตถีกุล) ช้างที่มีผิวกายสีขาว (ปัณฑรหัตถีกุล) ช้างที่มีผิวกายสีทองแดง (ตามพหัตถีกุล) ช้างที่มีผิวกายสีแสด (ปังคลหัตถีกุล) ช้างที่มีกลิ่นหอม (คันธหัตถีกุล) ช้างมงคล (มังคลหัตถีกุล) ช้างที่มีสีกายสีทอง (เหมหัตถีกุล) ช้างซึ่งรักษาศีลแปด (อุโปสถหัตถีกุล) และช้างหกงา (ฉัททันตหัตถีกุล) ฝูงช้างทั้งหลายนี้อยู่ในถ้ำทองกว้างใหญ่ ตกแต่งอย่างงดงาม

สัตว์ที่ไม่มีตีน อันได้แก่ ปลาใหญ่ ๗ ตัว คือ ตัวหนึ่งชื่อติมิ ตัวยาว ๒๐๐ โยชน์ ตัวหนึ่งชื่อติงมงคล ตัวยาว ๓๐๐ โยชน์ ตัวหนึ่งชื่อติมิรปิงคล ตัวยาว ๕๐๐ โยชน์ ส่วนอีก ๔ ตัวต่อไปนี้ ตัวยาว ๑,๐๐๐ โยชน์ ได้แก่ ปลาอานนท์ ปลาติมินทะ ปลาอัชฌณาโรหะ ปลามหาติมิระ เมื่อใดที่ปลาติมิรปิงคลโบกครีบไปทางด้านซ้ายและขวา โยกหาง แกว่งหัว น้ำในมหาสมุทรก็จะเกิดเป็นฟองประดุจดังหม้อแกงเดือด ฟองนี้จะแผ่กระจายไปไกลถึง ๔๐๐ โยชน์ เมื่อใดที่ปลานี้โบกครีบทั้งสองแกว่งหางแกว่งหัว ว่ายน้ำฉวัดเฉวียน น้ำนั้นก็จะกระเทือนไปถึงแผ่นดินทำให้เกิดฟองกระจายไป ๗๐๐ ถึง ๘๐๐ โยชน์ ที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นความแข็งแรงของปลาติมิรจงคล ส่วนปลาใหญ่อีก ๔ ชนิดก็ยิ่งมีกำลังใหญ่ยิ่งกว่านี้

พญาครุฑจัดเป็นสัตว์เดรัจฉานเช่นเดียวกัน แต่อาหารและที่อยู่ของครุฑนั้นเหมือนของเทวดาในสวรรค์ มีฤทธิ์อำนาจ สามารถเนรมิตตนได้เช่นกัน ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าเทพโยนิ ที่เชิงเขาพระสุเมรุมีสระใหญ่สระหนึ่งชื่อสิมพลี กว้าง ๔๐๐ โยชน์ มีต้นงิ้วขึ้นเป็นฟ้าล้อมรอบ มีความสูงเท่ากันราวกับมีผู้ปลูกไว้ ใบเขียวงามน่าดูยิ่งนัก และยังมีต้นงิ้วใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ขนาดเท่าต้นไม้ชมพูทวีป สระนี้เป็นที่อยู่ของฝูงครุฑ ไม่มีสัตว์ปีกใดที่จะเทียบเท่าครุฑได้เลย พญาครุฑผู้เป็นใหญ่นั้นมีร่างกายใหญ่โตถึง ๑๔๐ โยชน์ ปีกซ้ายขวายาว ๑๔๐ โยชน์ หางยาว ๖๐ โยชน์ คอยาว ๓๐ โยชน์ ปากยาว ๙ โยชน์ ตีนทั้งสองยาว ๑๒ โยชน์ เมื่อครุฑกางปีกเต็มที่บินไปในอากาศจะยาวถึง ๗๐๐ โยชน์ เวลาเหยียดปีกเต็มที่จะได้ถึง ๘๐๐ โยชน์ ครุฑนั้นมีร่างกายใหญ่โตและกำลังวังชาแข็งแรงยิ่งนัก เมื่อเวลาครุฑเฉี่ยวนาคกลางมหาสมุทร น้ำจะแยกออกโดยรอบมีรัศมี ๑๐๐ โยชน์ ครุฑจะใช้เล็บรัดหางนาค ปล่อยหัวห้อยลง แล้วพาบินไปยังที่อยู่แล้วจึงจะกินเป็นอาหาร ครุฑมักจะเลือกกินนาคที่มีขนาดเท่าตนหรือเล็กกว่า ถ้ามีขนาดใหญ่กว่าก็ไม่สามารถจับกินได้ ครุฑจะมีการเกิดได้ ๔ แบบ คือ จากครรภ์ จากไข่ จากไคล และเกิดเป็นรูปกายโตใหญ่ในทันที แต่พญาครุฑที่เกิดจากครรภ์และไข่จะไม่สามารถจับนาคที่เกิดจากไคล และที่เกิดเป็นรูปกายโตใหญ่ในทันทีได้

หลังจากไฟบรรลัยกัลป์ไหม้แล้วก็จะเริ่มเกิดแผ่นดินใหม่ มีแต่ความว่างเปล่า บางแห่งโล่งว่างมีความกว้างและสูงถึง ๓๐๐ โยชน์ บางแห่ง ๔๐๐ โยชน์ บางแห่ง ๗๐๐ โยชน์ เป็นที่ราบเท่ากัน พื้นดินปกคลุมด้วยสีขาวเป็นมันราวแผ่นเงินยวง บางแห่งมีหญ้าแพรกขึ้นเขียวเป็นมัน สูง ๓- ๔ นิ้วมือ เขียวงามราวแผ่นแก้วไพฑูรย์ ดูสว่างเรืองรองทั่วแผ่นดิน มีสระหลายแห่งเต็มไปด้วยพันธุบัว ๕ ชนิด สวยงามยิ่งนัก มีไม้ยืนต้นซึ่งลำต้นงามไม่มีด้วงหรือแมลงเจาะไช ผลิดอกออกผลดูตระการตายิ่งนัก ส่วนเถาวัลย์นั้นก็ออกดอกเป็นสีแดง สีขาว สีเหลือง ดูงามตาราวกับมีผู้มาประดับตกแต่งไว้ สถานที่ดังกล่าวแล้วนี้เรียกว่านาคพิภพ เป็นที่อยู่ของเหล่านาคทั้งหลาย มีปราสาทแก้ว ปราสาทเงิน ปราสาททองงามมาก มีที่ว่างโล่งแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีสิ่งใดอาศัยอยู่เลย เป็นที่กลวงอยู่ภายใต้เขาหิมพานต์ กว้าง ๕๐๐ โยชน์ เป็นเมืองนาคราช มีแก้ว ๗ ประการ แผ่นดินงดงามดั่งสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์อันเป็นที่อยู่ของพระอินทร์ มีสระใหญ่ ๆ หลายแห่ง ล้วนเป็นที่อยู่ของฝูงนาค น้ำใสสะอาด ไม่มีตะไคร่ ดูราวกับแผ่นแก้วแผ่นใหญ่ซึ่งเช็ดขัดซ้ำแล้วซ้ำอีก มีท่าน้ำราบเรียบแห่งหนึ่งซึ่งนาคชอบมาอาบน้ำเล่น ในน้ำนั้นมีปลาใหญ่ไล่กัดปลาเล็ก มีจอกและพันธุ์บัว ๕ ชนิด ดอกบานดูตระการตา บัวหลวงดอกใหญ่เท่าล้อเกวียน สะเทือนไหวไปตามน้ำ ดูงามยิ่งนักราวกับมีผู้ประดับแต่งไว้

นาคชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ในทะเล เมื่อนาคตัวเมียมีครรภ์แก่ก็จะตรึกตรองอยู่ในใจว่า หากจะออกลูกกลางทะเลนี้ ทะเลก็มีฟองมากซึ่งเกิดจากนกน้ำและครุฑ ดังนั้น นาคที่มีครรภ์แก่จึงดำน้ำลงไปจนถึงแม่น้ำทั้งห้าที่ชื่อว่า คงคา ยมนา อจิรวดี สรภู มหีมหานที ซึ่งไหลลงสู่มหาสมุทรใหญ่ แล้วจึงดำน้ำขึ้นไปยังป่าใหญ่ที่ชื่อป่าหิมพานต์ ในป่าหิมพานต์นั้นมีถ้ำทอง ซึ่งครุฑไม่สามารถบินไปถึงได้ นางนาคจึงคลอดลูกไว้ในที่นั้น แล้วเลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่แข็งแรง แล้วจึงพาลงน้ำลึกเพียงหน้าแข้ง และสอนให้ว่ายน้ำทั้งที่ลึกและที่ตื้น จนเห็นว่าลูกว่ายน้ำได้ดีแล้วจึงพาว่ายข้ามแม่น้ำใหญ่มา จนเห็นว่าลูกว่ายน้ำได้รวดเร็วดีแล้ว จึงเนรมิตให้ฝนตกหนัก จนน้ำนองเต็มป่าหิมพานต์และท่วมถึงทะเล จึงเนรมิตปราสาททองคำประดับด้วยแก้ว ๗ ประการงามรุ่งเรืองนัก ในปราสาทมีเครื่องประดับเครื่องอุปโภคบริโภคอันเป็นทิพย์ราวกับวิมานเทพยดาในสวรรค์ ต่อจากนั้นนาคจึงนำลูกตนขึ้นอยู่บนปราสาท แล้วพาปราสาทล่องน้ำลงมาถึงมหาสมุทรที่ลึกถึง ๑,๐๐๐ วา แล้วพาปราสาทและลูกดำน้ำลงไปอยู่ในทะเลนั้น

นาคมี ๒ ชนิด คือ ถลชะ ชลชะ นาคถลชะสามารถเนรมิตตนได้แต่บนบก ไม่สามารถเนรมิตตนในน้ำ ส่วนนาคชลชะสามารถเนรมิตตนได้ในน้ำ แต่ไม่สามารถเนรมิตตนบนบกได้ ในสถานที่ ๕ แห่งต่อไปนี้ นาคไม่สามารถเนรมิตตนได้ ได้แก่ ที่เกิด ที่ตาย ที่นอน ที่สมสู่ ที่ลอกคราบ ถ้านาคไปอยู่ที่แห่งอื่นนอกจากห้าแห่งนี้ นาคก็สามารถเนรมิตตนได้ นาคสามารถเนรมิตตนให้งามราวเทพยดาได้ ส่วนนาคตัวเมียก็สามารถเนรมิตตนให้งามราวเทพธิดาและเทพอัปสร

เมื่อนาคต้องการล่าเหยื่อชนิดใด ก็จะแปลงตัวเป็นเหยื่อชนิดนั้น

เมื่อนาคต้องการหาอาหารบนแผ่นดินก็จะเนรมิตตัว เช่น งูไซ งูกระสา งูเห่า งูเขียว และอื่น ๆ บางครั้งก็จะเนรมิตตัวเป็นสัตว์อื่นที่ต้องการล่ากิน ทั้งนี้เพราะนาคเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ระยะทางจากพื้นแผ่นดินที่เราอยู่จนถึงนาคพิภพนั้น ลึกถึง ๘,๐๐๐ วา

บรรดาสัตว์เดรัจฉานเป็นต้นว่า ราชหงส์ซึ่งอาศัยอยู่ในเขาคิชฌกูฏและในถ้ำทองนั้น อาศัยอยู่ในปราสาทรวมกับฝูงนกอื่น ๆ และสัตว์ต่าง ๆ ตามที่มีอยู่ในป่าหิมพานต์นั้นมีจำนวนมากมาย ส่วนที่อาศัยอยู่ในบ้านในเมืองก็ยังมีอีกมากเป็นต้นว่า เป็ด ไก่ นก และห่าน ซึ่งคนเลี้ยงไว้กินเป็นอาหาร ครุฑกินนาคเป็นอาหาร ส่วนนาคกินกบเขียด กบเขียดกินแมลง บุ้ง สัตว์ใหญ่มักกินสัตว์เล็ก เสือโคร่งเสือเหลืองตัวเมียที่ต้องเลี้ยงลูกนั้น เมื่อหิวจัดก็จะออกไปหาอาหาร แต่ก็หาอาหารได้ยากลำบากมาก เมื่อลูกเสือเข้ามากินนมด้วยความรักนั้น แม่เสือจึงจับลูกกินเอง เพราะความอดอยากหิวโหยนั่นเอง

สัตว์เดรัจฉานบางชนิดเกิดนอกเนื้อเดรัจฉาน บางชนิดเกิดในเนื้อเดรัจฉาน สัตว์บางจำพวกเกิดในที่ไม่ดี หากินเลี้ยงตัวเองไม่ได้ก็จะตายไป บางจำพวกเกิดในท้องมนุษย์มี ๘ ครอก[๑] เป็นต้นว่า หนอนที่แผ่พืชพันธุ์และตายในท้องมนุษย์ หรือในท้องสัตว์ที่ใหญ่กว่ามนุษย์ ยึดท้องเป็นที่อยู่อาศัยเป็นต้นว่า ไส้เดือนในท้อง สัตว์บางจำพวกมีขน เล็บ เนื้อ เอ็น กระดูก เขา งา ซึ่งคนนำมาใช้ทำงาน แม้ว่าสัตว์เหล่านื้จะไม่มีความผิดใด ๆ ก็ตาม ก็จะถูกล่าเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ สัตว์บางจำพวก เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า คนนำมาใช้ทำงานหนักตรากตรำ ไม่ได้หยุดพัก เมื่อกินหญ้าและน้ำด้วยความหิวก็จะถูกคนตีด่าบังคับ

ที่กล่าวโดยสังเขปมานี้เป็นเรื่องของเดรัจฉานภูมิ อันเป็นบทที่สอง



[๑] น่าจะเป็น ๘๐ ครอก

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ