ตอนที่ ๙

แก้ไขระเบียบการในราชสำนัก

ถึงรัชกาลที่ ๕ มีความจำเป็นต้องแก้ไขวิธีบังคับบัญชาราชการบ้านเมือง เพราะพระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระเยาว์ ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินว่าราชการแทนพระองค์ การอย่างนี้ไม่มีตำรับตำรามาแต่ก่อน นอกจากปรากฏในพงศาวดารว่าเคยมีเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ล้วนเกิดภัยอันตรายแก่พระเจ้าแผ่นดินทุกครั้ง เมื่อจะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขึ้นอีก คนทั้งหลายจึงพากันหวาดหวั่นอยู่ทั่วไป เจ้าพระยาศรีสุริยวงศคงจะได้คิดเห็นและตริตรองหาอุบายแก้ไขความลำบากเรื่องนี้มาแต่แรกรู้ตัวว่า จะต้องเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ข้อนี้พึงเห็นได้ในความคิดของท่านที่ยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นมหาอุปราช และเมื่อที่ประชุมพระราชวงศกับเสนาบดีพร้อมกันสมมุติตัวท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ท่านขอให้สมมติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์เป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนักอีกพระองค์ ๑ ก็คงเป็นโดยประสงค์จะมิให้คนทั้งหลายหมายมุ่งเอาตัวท่านคนเดียวเป็นผู้รับผิดชอบ เห็นจะเป็นด้วยความดำริดังกล่าวมาเมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ จึงวางระเบียบราชการให้มีหัวหน้าบัญชาการคล้ายกับเป็น ๓ แผนก คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (มีอำนาจเหนือแผนกอื่นทั่วไป) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์เป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนัก แต่การในพระราชสำนักนั้นย่อมกำหนดเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายหน้าบังคับบัญชาว่ากล่าวส่วนผู้ชายฝ่าย ๑ ฝ่ายในบังคับบัญชาว่ากล่าวส่วนผู้หญิงฝ่าย ๑ ในรัชกาลที่ ๕ กรมพระสุดารัตนราชประยูร ซึ่งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้ทรงบัญชาการฝ่ายในอีกพระองค์ ๑ ท่านทั้ง ๓ นี้ช่วยกันคิดอ่านจัดการในพระราชสำนักส่วนราชการแผ่นดินนั้น มีสภาเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่าง ๆ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทประทับเป็นที่ปรึกษาด้วยอีกพระองค์ ๑ แต่กรมหลวงวงศาฯ ทรงประชวรโรคอัมพาตทุพลภาพมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นแต่พอเสด็จเข้าวังได้ อยู่ไม่ช้าก็สิ้นพระชนมายุ

ระเบียบการที่จัดในสมัยนั้น พิเคราะห์ดูตามความรู้เห็น (ของผู้แต่งหนังสือนี้เมื่อยังเด็กแต่พอจำความได้บ้าง) ประกอบกับที่ได้ไต่ถามท่านผู้อื่นซึ่งทันมีตำแหน่งในราชการ และตรวจดูจดหมายเหตุต่างๆ ที่ปรากฏ เห็นว่าน่าสรรเสริญความเจตนาพยายามของท่านผู้ใหญ่ที่คิดจัด ด้วยเอาความข้อสำคัญทั้ง ๒ อย่าง คือที่จะให้ราชการบ้านเมืองดำเนินไปโดยเรียบร้อยเป็นปกติอย่าง ๑ กับที่จะฝึกหัดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงสามารถว่าราชการแผ่นดินได้เองอย่าง ๑ เป็นวัตถุที่ประสงค์เสมอกัน วางรูประเบียบการให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำพระราชกิจของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อนๆ หมดทุกอย่าง เว้นเสียแต่ที่จะต้องทรงพระราชดำริรัฐาภิบาลโนบาย และบังคับสั่งราชการเป็นเด็ดขาด ๒ อย่างนี้อยู่ในผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคิดเห็นอย่างไรหรือสั่งบังคับประการใด แล้วก็นำความขึ้นกราบทูลชี้แจงให้ทรงทราบเสมอเป็นนิจ ผิดกับลักษณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินซึ่งเรียกว่า “รีเยนต์” ตามประเพณีในยุโรป จึงเห็นว่าน่าสรรเสริญ ด้วยในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชันษาถึง ๑๖ ปี พอทรงทราบผิดและชอบ มิได้ทรงพระเยาว์อย่างเป็นเด็ก ทั้งเวลาที่จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็เพียง ๕ ปี ระเบียบราชการที่จัดเมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ มีหลายอย่างจะพรรณนาแต่ที่เป็นการสำคัญ คือ

จัดระเบียบพระราชานุกิจ

คำที่เรียกว่าพระราชานุกิจ เรียกตามกฎมณเฑียรบาล หมายความว่า กำหนดเวลาซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติพระราชกิจต่างๆ ประจำวัน อันถือว่าเป็นการสำคัญในวิธีปกครองบ้านเมือง ซึ่งอำนาจสิทธิขาดอยู่ที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว ต้นตำรามีอยู่ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ซึ่งพวกพราหมณ์นำมาสอนแต่ดึกดำบรรพ์ แต่เมื่อเอามาใช้ในประเทศของชนชาติอื่นอันประเพณีผิดกับอินเดีย ก็ต้องแก้ไขรายการให้เหมาะแก่ภูมิประเทศ ข้อนี้พึงเห็นได้ในตำราพระราชานุกิจ ครั้งศรีอยุธยาที่ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล แม้ตำราในกฎมณเฑียรบาลนั้น ถ้าเทียบกับพระราชานุกิจของพระเจ้าแผ่นดินเมื่อตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และพระราชานุกิจที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็เห็นได้ว่าได้แก้ไขต่อมาอีกโดยลำดับให้เหมาะแก่การและสมัย ถึงกระนั้นพระราชานุกิจก็ยังเป็นหลักของราชการสืบมาทุกสมัย เพราะเหมือนกับเป็นอาณัติสัญญาในระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับข้าราชการทั้งปวง ว่าโดยปกติจะทำราชการในเวลาตามกำหนดนั้นเสมอ ไม่ให้ต้องบอกต้องสั่งกันทุกวันไป อันนี้เป็นหลักของพระราชานุกิจ แต่เมื่อพิจารณาดูรายการในระเบียบพระราชานุกิจ (ซึ่งจะแสดงโดยพิสดารต่อไปข้างหน้า) ลักษณการต่างกัน เป็นการบ้านเมืองประเภท ๑ เป็นการในส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินประเภท ๑ พระราชานุกิจอันเป็นประเภทการบ้านเมืองนั้น คือเสด็จออกที่ประชุมมุขมนตรีทรงพิพากษาคดี และว่าราชการบ้านเมืองวันละ ๒ ครั้งเป็นนิจ รายการอย่างอื่นนอกจากนั้นเป็นการส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ในวันไหนจะเว้นการอย่างใดหรือจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างใดตามพระราชอัทธยาศรัยก็ไม่ขัดข้อง ถึงกระนั้นพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมา โดยฉะเพาะในพระบรมราชจักรีวงศ ซึ่งทรงครองกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ย่อมทรงประพฤติพระราชานุกิจโดยเคารพเป็นนิจสืบกันมาทุกพระองค์

ระเบียบพระราชานุกิจในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ตั้งขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๑ สันนิษฐาน ว่าเห็นจะเอาแบบพระราชานุกิจของพระเจ้าบรมโกษฐครั้งกรุงศรีอยุธยามาใช้มีรายการต่าง ๆ ดังจะแสดงโดยพิสดารดังต่อไปนี้

เช้า ๙ นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตร
๑๐ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรง ถวายภัตตาหาร เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง เจ้านายเข้าเฝ้าฯ และช่วยกันปฏิบ้ติพระสงฆ์เวลาฉัน พระกลับแล้วชาวพระคลังมหาสมบัติกราบบังคมทูลรายงานจ่ายเงิน แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนางข้าราชการกรมพระตำรวจเข้าเฝ้า ถวายรายงานชำระความฎีกา แล้วเบิกขุนนางเข้าเฝ้าประภาษด้วยอรรถคดี (แต่ในปลายรัชกาลเมื่อทรงพระราชาเสด็จออกตอนเช้านี้ที่พระบัญชร พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ข้าราชการเฝ้าที่ชาลาริมพระที่นั่งอมรินทร์ฯ ข้างด้านตะวันตก)
เที่ยง เสด็จขึ้นเสวยกระยาหาร และประภาษราชกิจภายใน เสด็จเข้าที่พระบรรธมทรงสำราญพระอิริยาบถ
ค่ำ ๖ นาฬิกา เสวยพระกระยาหาร
๗ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรง ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ ชาวพระคลังฯ กราบบังคมทูลรายงานจ่ายสิ่งของต่างๆ มหาดเล็กกราบทูลรายงานก่อสร้าง พระอาการเจ้านายประชวร และอาการป่วยของพระราชาคณะหรือข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งโปรดเอาอาการมากราบทูล
เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกข้าราชการทั้งฝ่ายทหารพลเรือนเข้าเฝ้า กราบทูลใบบอกหัวเมือง ประภาษราชการแผ่นดินและการทัพศึก
๑๐ นาฬิกา เสด็จขึ้น เป็นสิ้นพระราชานุกิจประจำวันแต่ถ้าเป็นเวลามีศึกสงครามหรือมีราชการสำคัญ เสด็จขึ้นถึง ๑ นาฬิกา ๒ นาฬิกาก็มี.

ถึงรัชกาลที่ ๒ เวลาพระราชานุกิจตอนเช้า เสด็จลงทรงบาตร์เสด็จออกเลี้ยงพระในท้องพระโรง ทรงฟังรายงานพระคลังมหาสมบัติและเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง การเหล่านี้คงอยู่เหมือนเมื่อรัชกาลที่ ๑ แต่ตอนกลางวันอันเป็นเวลาสำหรับประภาษราชกิจฝ่ายในนั้นมักทรงการช่าง ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดการช่างต่างๆ การแกะสลักทรงได้ชำนิชำนาญด้วยฝีพระหัตถ์ โปรดให้ตั้งโรงงานสำหรับช่างมหาดเล็กขึ้นในพระราชวัง มีเวลาเสด็จประพาสการช่างทุกๆ วัน ครั้นเวลาบ่ายอันเป็นเวลาสำหรับสำราญพระราชอิริยาบถ เสด็จออกประทับที่เฉลียงท้องพระโรง ทรงฟังรายงานการก่อสร้างบ้าง และเบิกกวีเข้าเฝ้าทรงพระราชนิพนธ์บทละครบ้าง เวลาค่ำเสด็จออกทรงธรรมและทรงฟังรายงานต่างๆ และต่อนั้นเสด็จออกขุนนางเหมือนอย่างในรัชกาลที่ ๑ แต่เสด็จออกในท้องพระโรงบ้าง บางวันก็เสด็จออกที่พระที่นั่งสนามจันทร์ซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่บ้าง เสด็จขึ้นราวเวลา ๙ นาฬิกา แล้วสำราญพระราชอิริยาบถข้างฝ่ายใน เช่นทอดพระเนตรละครหรือเสด็จลงสวนขวาเป็นต้นต่อไปจนสิ้นเวลา

มาถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดการเล่นหัว จึงทรงแก้ไขเวลาพระราชานุกิจไปเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศล เช่นก่อสร้างวัดวาอารามเป็นต้น ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยรับราชการมาในรัชกาลที่ ๓ กล่าวเป็นยุติต้องกันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประพฤติพระราชานุกิจโดยเวลาแน่นอนยิ่งนัก คือ

เช้า ๙ นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตร์ ทรงบาตร์เสร็จเสด็จขึ้นบูชาพระในหอสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จลงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เจ้านายพระองค์หญิงคอยเฝ้าอยู่ที่นั้น[๒๑๗] เสด็จผ่านไปยังหอพระธาตุมณเฑียรที่ไว้พระบรมอัฏฐิ อยู่ด้านตะวันตกพระที่นั่งไพศาลทักษิณทรงบูชาพระบรมอัฏฐิ
๑๐ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เลี้ยงพระสงฆ์ฉันเวร ลักษณเลี้ยงพระสงฆ์ฉันเวรตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ มาจนรัชกาลที่ ๓ เสด็จออกทรงจุดเทียนเครี่องนมัสการ ทรงศีล แล้วดำรัสถวายเข้าสงฆ์เป็นคำภาษามคธ พระสงฆ์รับสาธุแล้วอุปโลก และถวายยถาอนุโมทนาแล้วจึงฉัน ฉันแล้วถวายอดิเรกถวายพระพรลา และในเวลาเลี้ยงพระนั้นเจ้านายฝ่ายหน้าเข้าช่วยปฏิบัติพระ ส่วนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปิดทองปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป บางทีก็ทรงปิดทองหรือร้อยหูคัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งทรงสร้าง
พระกลับแล้ว ชาวพระคลังมหาสมบัติกราบทูลรายงานจ่ายเงินพระคลัง
เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกตำรวจเข้าเฝ้ากราบทูลรายงานความฎีกาก่อน แล้วเบิกขุนนางเข้าเฝ้า เสด็จออกเวลาเช้านี้ ประภาษเรื่องคดีความเป็นพื้น ถ้ามีราชการจรที่สลักสำคัญก็ประภาษด้วย ดังปรากฏอยู่ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ
เที่ยง เสด็จขึ้นประทับที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสวยพระกระยาหาร
บ่าย ๑ นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับพระเฉลียงข้างด้านตะวันตก พวกนายช่าง มี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ แต่ยังเป็นพระศรีพิพัฒน์เป็นต้น เข้าเฝ้าถวายแบบพระอารามต่าง ๆ
๒ นาฬิกา เสด็จขึ้น เข้าในที่พระบรรธม
๔ นาฬิกา เสด็จออกที่พระเฉลียงพระมหามณเฑียรด้านตะวันออกทรงสำราญพระราชอิริยาบถ
ค่ำ ๖ นาฬิกา เสวยแล้ว เสด็จลงท้องพระโรงใน ประทับที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณตรงช่องบันไดกลาง ผู้เป็นใหญ่ในราชการฝ่ายในขึ้นเฝ้า ดำรัสราชกิจฝ่ายใน
๗ นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ เวลาพระเทศน์นั้น ข้างในออกฟังข้าในพระสูตรเทศน์จบข้างในกลับ
เมื่อทรงธรรมจบแล้ว ชาวคลังในขวาในซ้ายและคลังวิเศษกราบถวายบังคมทูลรายงานจ่ายสิ่งของต่างๆ มหาดเล็กกราบทูลรายงานต่างๆ คือ พระอาการประชวรของเจ้านาย และอาการป่วยของข้าราชการผู้ใหญ่หรือพระราชาคณะ บรรดาซึ่งได้ดำรัสสั่งให้เอาอาการกราบทูลกับทั้งรายงานตรวจการก่อสร้างด้วย
๘ นาฬิกา เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกข้าราชการทั้งฝ่ายทหารพลเรือนเข้าเฝ้าพร้อมกัน กราบบังคมทูลใบบอกหัวเมือง และทรงประภาษราชการ แผ่นดินจนเวลา ๑๐ นาฬิกาเสด็จขึ้นพระราชมณเฑียร ถ้าหากเป็นเวลามีการสำคัญ เช่นมีศึกสงครามก็เสด็จขึ้นเวลา ๑ นาฬิกา หรือ ๒ นาฬิกา

แต่ในรัชกาลที่ ๓ แม้ทรงประพฤติพระราชานุกิจตรงเวลาแน่นอนอย่างยิ่งก็ดี โดยปกติมิได้เสด็จออกนอกพระราชวัง เว้นแต่เวลามีการพระราชพิธีประจำปี เช่นเสด็จลงลอยพระประทีปและเสด็จไปพระราชทานพระกฐิน หรือมีการจร เช่นงานศพ และบางทีเสด็จไปทอดพระเนตรการก่อสร้างพระอารามบ้าง จึงเป็นเหตุที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิใคร่จะทรงประจักษ์แจ้งความเป็นไปในบ้านเมือง อีกประการ ๑ ราษฎรที่มีความเดือดร้อนเช่นถูกผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงเป็นต้น ก็มิใคร่จะสามารถจะร้องทุกข์ให้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณได้ แม้ว่ามีกลองวินิจฉัยเภรี สำหรับผู้มีความทุกข์จะไปตีถวายเสียงกลองเป็นเครื่องสัญญาให้ทรงทราบถึงพระกรรณได้ กลองนั้นก็อยู่ในพระราชวัง มีห้องลั่นกุญแจและเจ้าพนักงานรักษา ยากที่ราษฎรจะสามารถเข้าไปให้ถึงที่กลองวินิจฉัยเภรีได้ ความเสื่อมเสียซึ่งมีอยู่ดังกล่าวมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบตระหนักในเวลาเมื่อทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๓ ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงทรงแก้ไขพระราชานุกิจเป็นต้นว่าให้เลิกวิธี “ตีกลองร้องฎีกา” เปลี่ยนเป็นเสด็จรับฎีการาษฎรด้วยพระองค์เองเดือนละ ๔ ครั้งเป็นกำหนด[๒๑๘] และทรงพระอุสาหะเสด็จไปเที่ยวประพาสที่ต่างๆ ทั้งในกรุงและหัวเมืองใหญ่น้อยเนืองๆ การเสด็จเที่ยวประพาสนอกเขตต์พระนครนับว่าเริ่มเกิดมีแต่รัชกาลที่ ๔ มา ด้วยก่อนนั้น เช่นเมื่อในรัชกาลที่ ๑ การเสด็จออกนอกพระนครมักเป็นงานพระราชสงครามเป็นพื้น เมื่อไม่มีศึกสงครามก็ถือว่าไม่มีกิจที่จะต้องเสด็จไป ยังมีเหตุอื่นอีกอย่าง ๑ ซึ่งต้องแก้ไขพระราชานุกิจในรัชกาลที่ ๔ ด้วยเกิดมีราชการที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งมากขึ้น คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์แรกที่ทรงทราบภาษาอังกฤษ และเอาพระราชหฤทัยใส่ศึกษาขนบธรรมเนียมตลอดจนทำความวิสาสะกับฝรั่งต่างประเทศ เพื่อประโยชน์แห่งรัฐฐาภิบาล การบำเพ็ญพระราชกิจเหล่านี้จำเป็นต้องทรงอ่านเขียนหนังสือเอง เพราะไม่มีผู้ใดในสมัยนั้นที่จะได้เรียนรู้ แม้เพียงจะช่วยพระราชธุระในทางภาษาต่างประเทศได้ จึงต้องใข้เวลาทรงพระอักษรมากบ้างน้อยบ้างแทบทุกวัน เป็นเหตุให้ต้องเลื่อนเวลาพระราชานุกิจ ไม่ตรงแน่เป็นนิจได้เหมือนเมื่อรัชกาลที่ ๓

พระราชานุกิจในรัชกาลที่ ๔ ต่างกันเป็น ๒ สมัย[๒๑๙] คือ เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน (ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๔ จน พ.ศ. ๒๔๐๒) นับว่าเป็นสมัยแรกตั้งแต่เสด็จไปประทับพระอภิเนาวนิเวศน์ต่อมาจนสิ้นรัชกาล (ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๐๒ จน พ.ศ. ๒๔๑๑) นับว่าเป็นสมัยหลัง

พระราชานุกิจในสมัยแรกนั้น เวลาเช้า ๙ นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตร์เหมือนในรัชกาลที่ ๓

ทรงบาตร์เสร็จเสด็จขึ้นบูชาพระในหอสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เจ้านายผู้หญิงเฝ้า (ผิดกับรัชกาลที่ ๓ ที่มิได้เสด็จไปยังหอพระธาตุมณเฑียรทุกวันและอีกประการ ๑ เจ้านายผู้หญิงซึ่งเสด็จขึ้นเฝ้าที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณนั้น สันนิษฐานว่าเมื่อรัชกาลที่ ๓ มีแต่พระเจ้าลูกเธอ[๒๒๐] ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต่ให้ขึ้นเฝ้าได้ทุกชั้น และประทับตรัสปราสัยกับเจ้านายผู้หญิงอย่างวิสาสะ มิได้เป็นแต่เสด็จผ่านไปอย่างในรัชกาลที่ ๓)

เวลา ๑๐ นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเลี้ยงพระฉันเวร (แต่เลิกวิธีถวายเข้าสงฆ์เป็นเลี้ยงพระอย่างสามัญ) และทรงปิดทองพระพุทธรูป และคัมภีร์อย่างเดิม

เมื่อพระกลับแล้ว ทรงฟังรายงานและเบิกขุนนางเข้าเฝ้าเหมือนรัชกาลก่อน แต่เสด็จประทับอยู่ที่พระราชอาสน์ ไม่ขึ้นพระแท่น (ข้อที่ไม่เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง พึงสันนิษฐานได้ว่า เพราะพระแท่นออกขุนนางนั้นทอดที่บรรธมเป็นแบบมาแต่โบราณ ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง บรรธมบ้างเอนพระองค์บ้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดจะประพฤติพระอิริยาบถเช่นนั้น จึงไม่เสด็จขึ้นพระแท่นเสียทีเดียว)

เวลาเที่ยง เสด็จขึ้นเสวยและบรรธมในพระมหามณเฑียร (ไม่ประทับเสวยณพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และไม่เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยอีกครั้ง ๑ ในตอนนี้ เหมือนเมื่อรัชกาลที่ ๓)

เวลาบ่าย ๔ นาฬิกา เสด็จออกที่สกุณวัน (คือกรงนกใหญ่อยู่ตรงสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันออกบัดนี้) ประทับพระที่นั่งเก๋งโปรดฯ ให้เจ้าและข้าราชการผู้ใหญ่หรือชาวต่างประเทศเฝ้ารโหฐาน แล้วเสด็จออกรับฎีการาษฎร บางวันก็เสด็จเที่ยวประพาสพระนคร

เวลาจวนค่ำ เสด็จกลับประทับที่สีหบัญชร (อยู่ระหว่างพระที่นั่งไพศาลทักษิณกับหอพระธาตุมณเฑียร) ข้าราชการในพระราชสำนักเข้าเฝ้าที่ชาลารอบพระที่นั่งสนามจันทร์ทรงรับฎีกาซึ่งเจ้าพนักงานผู้รับฺนำถวาย และประภาษราชกิจตามพระราชอัทธยาศรัยแล้วประทับเสวยที่หัองหลังสีหบัญชรนั้น

เวลาค่ำ ๘ นาฬิกา (ถ้ามีพระราชธุระมากก็ดึกกว่านั้น) เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ แล้วทรงฟังรายงาน และเบิกข้าราชการเข้าเฝ้าตามแบบเก่า สิ้นราชการแล้วก็เสด็จขึ้น เป็นสิ้นพระราชานุกิจประจำวัน

ครั้นเสด็จไปประทับอยู่ณพระอภิเนาวนิเวศน์ พระราชมณเฑียรสถานที่สร้างใหม่แผนผังทำอย่างตึกฝรั่ง ไม่เหมาะแก่พระราชานุกิจตามแบบเก่าเหมือนกับหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อีกประการหนึ่งพระราชธุระอันเป็นส่วนซึ่งต้องทรงประพฤติก็มีเพิ่มเติมขึ้น จึงต้องแก้ไขพระราชานุกิจด้วยเหตุ ๒ ประการนั้น

พระราชานุกิจสมัยตอนหลัง เวลาเช้า ๙ นาฬิกา คงมีการทรงบาตร์ตามเคย แต่ทรงบาตร์ที่ท้องฉนวนหลังพระที่นั่งนงคราญสโมสร เสด็จลงบ้างโปรดฯ ให้พระเจ้าลูกเธอทรงบาตร์แทนบ้าง มิได้เสด็จลงทุกวัน แต่บางวันก็โปรดฯ ให้นิมนต์ฉะเพาะพระสงฆ์ธรรมยุติกาเข้ามารับบิณฑบาตร์แต่เวลา ๗ นาฬิกา เสด็จทรงบาตร์ที่ชาลาใต้ต้นมิดตะวันริมพระราชมณเฑียรเป็นการพิเศษ[๒๒๑]

การเลี้ยงพระฉันเวรก็คงเลี้ยงทุกวัน แต่ย้ายไปเลี้ยงที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ มิได้เลี้ยงในท้องพระโรงอย่างแต่ก่อน และโปรดฯ ให้พระเจ้าลูกเธอไปทรงประเคน แต่เดิมมีสวดมนต์ในวันพระด้วย

เวลาเช้า เมื่อเสร็จการทรงบาตร์แล้ว มักเสด็จไปบูชาพระและทอดพระเนตรการก่อสร้างณพระพุทธนิเวศน์ (อยู่ในบริเวณสวนศิวาลัยบัดนี้) ถ้าเป็นวันพระก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาพระราชทานเจ้านายและข้าราชการฝ่ายในที่พระพุทธมณเฑียร จนจวนเที่ยงวันจึงเสด็จขึ้นเสวยพระกระยาหาร

เวลาบ่าย ๑ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรงที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้านายและขุนนางเข้าเฝ้า (เช่นเคยเสด็จออกเวลาเช้า ๑๐ นาฬิกาอย่างแต่ก่อน) แล้วเสด็จขึ้นเข้าที่พระบรรทม

เวลาบ่าย ๔ นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคมประทับที่รโหฐานให้เสนาบดีหรือผู้อื่นเฝ้าฉะเพาะตัวบ้าง รับชาวต่างประเทศที่เข้าเฝ้าไปรเวตบ้าง จนเวลาเย็นเสด็จออกรับฎีการาษฎรที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ หรือเสด็จเที่ยวประพาสพระนครบ้าง จนเวลาค่ำเสด็จขึ้นข้างใน เสวยพระกระยาหาร

เวลาค่ำ ๘ นาฬิกา (แต่บางวันก็ดึกกว่านั้น แล้วแต่พระราชกิจที่ต้องทรงพระอักษรประจำวันเสร็จ) เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ แล้วเบิกขุนนางเข้าเฝ้าฯ ตามแบบเก่า เป็นสิ้นพระราชกิจประจำวันดังนี้

ครั้นรัชกาลที่ ๕ ท่านผู้ใหญ่ที่ปรึกษากัน ว่าพระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาไม่แน่นอนเหมือนประบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มักลำบากแก่ข้าเฝ้า และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ในสมัยนั้น ก็ไม่มีพระราชกิจที่จะต้องทรงอักษรมากเหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกราบทูลขอให้แก้ไขพระราชานุกิจไปเป็นอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ และความคิดนั้นก็พอเหมาะแก่พฤติการณ์ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดจะเสด็จไปประทับพระอภิเนาวนิเวศน์ซึ่งพระองค์เคยทรงเห็นเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมชนกนาถมาแต่ก่อน พอพระราชหฤทัยจะประทับอยู่ณหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเข้ากันกับพระราชานุกิจอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ ได้ดี การจัดระเบียบพระราชานุกิจครั้งนั้น การฝ่ายในมอบให้ท้าวเจ้าจอมมารดาอึ่งรัชกาลที่ ๓ อันเป็นธิดาเจ้าพระยานิกรบดินทร์และเป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าบุตรี[๒๒๒] เป็นผู้อำนวยการจัดการทุกอย่างซึ่งจะพึงเป็นได้ให้กลับเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ จะยกพอเป็นตัวอย่างดังเช่นการแต่งตัวของสัตรีมีบรรดาศักดิ์ฝ่ายใน เมื่อรัชกาลที่ ๔ โปรดพระราชทานอนุญาตให้นุ่งโจงเหมือนกับสัตรีทั้งปวง ก็บัญญัติให้กลับนุ่งจีบอีก[๒๒๓] อนึ่ง พระวิมานองค์ตะวันออกซึ่งเป็นที่บรรธม เดิมทีเดียวเป็นพาไลรอบ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำพื้นที่พาไลยกขึ้นเป็นเฉลียงสำหรับเสด็จประทับลำราญพระราชอิริยาบถ เมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้แก้กลับเป็นพาไลอย่างของเดิมถึงรัชกาลที่ ๕ ท่านผู้อำนวยการก็ขอให้ทำเป็นเฉลียงขึ้นอีก (ดังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้) เป็นต้น แต่ทางฝ่ายหน้าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ทรงอำนวยการ ทรงอนุโลมเอาแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๔ ไว้โดยมาก จะยกตัวอย่างดังเช่นเลี้ยงพระฉันเวร เมื่อในรัชกาลที่ ๓ เลี้ยงหน้าพระที่นั่งในท้องพระโรงทุกวัน ในรัชกาลที่ ๔ ย้ายไปเลี้ยงที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์และให้เจ้านายทรงประเคนแทนพระองค์ ถึงรัชกาลที่ ๕ ก็คงให้เจ้านายเสด็จไปเลี้ยงพระฉันเวรที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ต่อวันพระจึงนิมนต์เข้ามาฉันหน้าพระที่นั่งที่ในท้องพระโรงเหมือนอย่างรัชกาลที่ ๓ และคงมีสวดมนต์วันพระเหมือนอย่างรัชกาลที่ ๔ ฉะนี้เป็นต้น พระราชานุกิจในรัชกาลที่ ๕ เมื่อชั้นแรกเป็นดังนี้[๒๒๔]

เวลาเช้า ๙ นาฬิกา เสด็จทรงบาตร์ ที่ทรงบาตร์อยู่นอกกำแพงบริเวณพระมหามณเฑียรทางด้านตะวันออกตั้งม้ายาววางขันเงินอันใส่เข้ากับไข่ต้มและของฉัน ๒ ห่อ ทุกขันเรียงกัน สำหรับทรงบาตร์พระสงฆ์องค์ละขัน ต่อนั้นไปถึงม้าตั้งโต๊ะเภสัชของหมากพลูสำหรับวางปากบาตร์ เมื่อรัชกาลที่ ๓ พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงทรงวางของปากบาตร์ แต่ในรัชกาลที่ ๕ เวลานั้นพระเจ้าลูกเธอยังทรงพระเยาว์จึงให้พระเจ้าพี่นางน้องนางเธอผลัดเป็นเวรกันช่วยทรงวางของปากบาตร์ ต่อนั้นไปถึงม้าขันเข้าบาตร์ใบใหญ่กับของใส่บาตร์อีกสำรับหนึ่ง เรียกว่า “ขันรองทรง” (สันนิษฐานว่าเดิมเห็นจะสำหรับสมเด็จพระอัครมเหษี หรือสมเด็จพระพันปีหลวงทรงบาตร์แต่เมื่อภายหลังมา) หม่อมเจ้าพนักงานเป็นผู้ตักบาตร์รองทรง เจ้านายผู้หญิงและท้าวนางตั้งขันกับพื้นเรียงกันตักบาตร์ต่อม้าทรงบาตร์และมีปี่พาทย์ผู้หญิงประโคมตลอดเวลาพระรับบิณฑบาตร์ เรียกกันว่า “เวลาพระส่อง”

พระสงฆ์ที่รับบิณฑบาตนั้นนิมนต์เป็นเวรกันมารับจึงเรียกว่า “บิณฑบาตร์เวร” เมื่อรัชกาลที่ ๑ นิมนต์แต่พระสงฆ์วัดระฆังผลัดกันกับวัดพระเชตุพน ด้วยพระสงฆ์สองวัดนั้นต้องรับราชทัณฑ์ในครั้งกรุงธนบุรี เพราะซื่อตรงต่อพระวินัยบัญญัติ มีความชอบปรากฏอยู่ในเรื่องพงศาวดาร ครั้นต่อมาในรัชกาลภายหลังเพิ่มจำนวนวัดซึ่งโปรดฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์เข้ามารับบิณฑบาตร์ ขึ้นจนครบตามวันในสัปดาหะ และมีวัดสมทบด้วย จึงจัดเป็น ๗ เวร ดังนี้

วันอาทิตย์ วัดมหาธาตุเป็นต้นเวร วัดดุสิดารามสมทบ
วันจันทร์ วัดราชบูรณะเป็นต้นเวร วัดจักรวรรดิ วัดบพิตรพิมุขสมทบ
วันอังคาร วัดระฆังเป็นต้นเวร วัดอมรินทร วัดรังษี วัดพระยาธรรมสมทบ
วันพุธ วัดพระเชตุพนต้นเวร วัดสังเวช วัดสามพระยา วัดนากกลาง วัดชิโนรส วัดศรีสุดารามสมทบ
วันพฤหัสบดี วัดบวรนิเวศเป็นต้นเวร[๒๒๕] วัดธรรมยุติอื่นๆ สมทบ
วันศุกร์ วัดสุทัศน์เป็นต้นเวร วัดสระเกษสมทบ
วันเสาร์ วัดอรุณเป็นต้นเวร วัดโมฬีโลก วัดหงส์ วัดราชสิทธิ์สมทบ[๒๒๖]

จำนวนพระสงฆ์รับบิณฑบาตร์ เวรโดยปกติวันละ ๑๐๐ รูป ถ้าเป็นเวลานักขัตฤกษ์เพิ่มขึ้นอีกเป็น ๑๕๐ สามเณรพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้ากับทั้งสามเณรเปรียญก็ได้เข้ารับบิณฑบาตร์เวรด้วย[๒๒๗] พระรับบิณฑบาตร์เดินเข้าทางประตูดุสิตศาสดา (ประตูฉนวนวัดพระแก้ว) เมื่อรับบิณฑบาตร์แล้วภิกษุสามเณรที่เป็นพระองค์เจ้ากลับออกประตูสนามราชกิจ (ประตูยามคํ่า) ที่เป็นหม่อมเจ้ากลับประตูอุดมสุดารักษ์ (ประตูฉนวน) นอกจากนั้นออกประตูอนงคลีลา (ประตูดิน)[๒๒๘]

เวลาทรงบาตร์แต่เดิมทรงเช้า ๗ นาฬิกา เวลาเดียวกับที่ชาวพระนครตักบาตร แต่เหตุเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๑ มีคนคิดกบฎปลอมตัวเข้าไปในวังหน้ากับพวกวิเศษซึ่งเข้าไปจัดของทรงบาตร์แต่ก่อนสว่าง จึงเปลี่ยนเวลาทรงบาตรเป็น ๙ นาฬิกาแต่นั้นมา

อนึ่งตรงที่ทรงบาตร์นั้น เพราะเหตุที่ขันใส่เข้าบาตร์ตั้งเรียงไว้มากด้วยกันฝูงกาจึงมักมาคอยลอบโฉบเฉี่ยวเอาเข้าสุกในขัน ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จัดเด็กชายลูกผู้ดีที่เข้าไปอยู่กับญาติในพระราชวังมาคอยไล่กาในเวลาทรงบาตร์ เด็กพวกนั้นจึงได้นามเรียกกันว่า “มหาดเล็กไล่กา” แต่ในรัชกาลที่ ๔ หามีไม่ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เพื่อจะให้เหมือนครั้งรัชกาลที่ ๓ ให้ทุกอย่าง จึงจัดให้มีมหาดเล็กไล่กาขึ้นอีก มหาดเล็กไล่กาซึ่งกลับมีขึ้นคราวนี้โปรดให้แต่งตัวอย่างทหาร เลยเป็นต้นที่จะเกิดตั้งกรมทหารมหาดเล็ก ดังจะปรากฏในที่อื่นต่อไปข้างหน้า

เมื่อทรงบาตร์เสร็จเสด็จขึ้นบูชาพระในหอสุราลัยพิมานแล้ว เสด็จทางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งพระเจ้าพี่นางน้องนางเธอคอยเฝ้าอยู่ (แต่เจ้านายผู้หญิงชั้นอื่นเสด็จขึ้นไปเฝ้าต่อเมื่อมีการงาน) เสด็จผ่านไปบูชาพระบรมอัฏฐิในหอพระธาตุมณเฑียรเหมือนอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ แล้วเสด็จขึ้นเสวย

พระราชนุกิจฝ่ายหน้า ในเวลาเมื่อพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผิดกับชั้นหลังเพียงเมื่อเวลาเช้า ๑๐ นาฬิกา เสด็จออกทรงพระราชยาน แต่เกยหน้าพระทวารเทเวศรักษาไปยังพระมหาปราสาท ทรงประเคนเลี้ยงพระฉันเวรหน้าพระบรมศพทุกวัน แล้วเสด็จกลับมาขึ้นพระแท่นออกขุนนางที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยราว ๑๑ นาฬิกา และเวลาค่ำ ๘ นาฬิกา เสด็จไปยังพระมหาปราสาทอีกครั้ง ๑ ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ แล้วสดับกรณ์พระบรมศพ เมื่อพระกลับแล้วเสด็จออกขุนนางเวลาค่ำที่พระมหาปราสาท

พระราชานุกิจโดยปกติ เมื่อเสร็จการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วนั้น เวลาเช้า ๑๐ นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถ้าเป็นวันพระทรงประเคนเลี้ยงในท้องพระโรง วันอื่นเสด็จประทับที่ในห้องพระฉาก (เฉลียงด้านตะวันออกซึ่งกั้นเป็นที่เสด็จประทับเมื่อก่อนเฉลิมพระราชมณเฑียร) เจ้านายผู้ใหญ่คือกรมหลวงวงศาฯ หรือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์เป็นต้นเข้าเฝ้า หรือมิฉะนั้นพวกข้าหลวงเดิมเข้าเฝ้า

เวลา ๑๑ นาฬิกา เสด็จออกประทับราชอาสน์ทรงปิดทองและทรงฟังชาวพระคลังอ่านรายงานการจ่ายเงินพระคลัง แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง พระบรมวงศานุวงศตั้งแต่กรมพระราชวังบวรเป็นต้น กับทั้งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย (เว้นแต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ) เข้าเฝ้า แล้วเสด็จขึ้นประทับในพระฉากอีกครั้ง ๑ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศเข้าเฝ้าที่พระฉากในตอนนี้ เสด็จขึ้นข้างในราวเวลาบ่ายนาฬิกา ๑

เวลาบ่าย ๓ นาฬิกา เสด็จลงทรงพระสำราญพระราชอิริยาบถที่ชาลาด้านตะวันออกพระมหามณเฑียร ทอดพระเนตรหัดมหาดเล็กไล่กาเป็นทหารเป็นต้น

เวลาบ่าย ๔ นาฬิกา เสด็จออกข้างหน้า ในชั้นแรกทอดพระเนตรช่างก่อเขาที่อ่างแก้วหลังพระที่นั่งสนามจันทร์ (ยังปรากฏอยู่บัดนี้) และก่อเขาทำภาพเรื่องสุภาษิตในกระถางต้นไม้ดัดที่ตั้งรายกำแพงรอบท้องพระโรง ชั้นหลังต่อมาทอดพระเนตรหัดมหาดเล็กข้าหลวงเดิมเป็นทหาร บางวันก็เสด็จออกนอกพระราชวังทรงรับฎีการาษฎรและเสด็จประพาสจนเวลาค่ำเสด็จขึ้นข้างใน

เวลาค่ำ เสวยแล้วเสด็จลงประทับที่ช่องบันไดพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระองค์เจ้าบุตรีกับท้าวนางในพระราชวังเฝ้า ประภาษราชการฝ่ายในอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ บ้าง บางวันก็เสด็จไปเฝ้ากรมพระสุดารัตนราชประยูร และเสวยที่พระตำหนักเดิมบ้าง

เวลา ๘ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับพระราชอาสน์ทรงฟังชาวพระคลังในขวาพระคลังในซ้ายกราบบังคมทูลรายงานการจ่ายของ และมหาดเล็กกราบทูลฯ รายงานตรวจการก่อสร้าง กับรายงานตรวจพระอาการประชวรของเจ้านายหรือรายงานอาการป่วยของข้าราชการและพระราชาคณะผู้ใหญ่ แล้วทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ อันประเพณีที่ทรงสดับพระธรรมเทศนาทุกวัน มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คงอนุโลมมาแต่ตำราพระราชานุกิจบทว่า “ทรงสนทนาคดีธรรม” นั้นเอง แต่ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ยังมีเหตุอื่นประกอบ ด้วยการศึกษาพระไตรปิฎกเสื่อมมาแต่ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังซ้ำมาถึงกาลวิบัติเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาอีก ในรัชกาลที่ ๑ ต้องกู้พระศาสนาด้วยประการต่างๆ ดังเช่นมีพระราชปุจฉาปัญหาธรรมต่างๆ ให้พระราชาคณะต้องมีกิจค้นหาธรรมมาอธิบายในพระไตรปิฎกถวายวิสัชนาเป็นต้น การที่ทรงสดับพระธรรมเทศนาทุกวัน ก็เพื่อจะให้พระสงฆ์เอาใจใส่ศึกษาภาษามคธเป็นสำคัญ นิมนต์ถวายเทศน์ตั้งแต่พระราชาคณะตลอดจนเปรียญ แต่มิใช่แล้วแต่จะเทศน์เรื่องหนึ่งเรื่องใดถวายตามชอบใจ การถวายเทศน์นั้น กรมราชบัณฑิตย์เป็นผู้รับสั่งส่งหนังสืออรรถฉะบับหลวงไปยังผู้เทศน์ให้แปลความเป็นเทศนามาถวาย แล้วแต่จะต้องพระราชประสงค์ทรงฟังคัมภีร์ไหน ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้แปลพระไตรปิฎกออกเป็นภาษาไทย จึงโปรดให้ถวายเทศน์ตามลำดับคัมภีร์ในพระไตรปิฎกและให้ผู้เทศน์เขียนคำที่ได้เทศนาลงในสมุดไทยถวายด้วย[๒๒๙] ถึงรัชกาลที่ ๕ ก็เอาแบบครั้งรัชกาลที่ ๓ มาใช้เริ่มเทศนาพระสูตร และโปรดฯ ให้เขียนเทศนาเป็นเล่มสมุดถวายเหมือนกัน

เมื่อทรงธรรมแล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกข้าราชการทั้งฝ่ายทหารพลเรือนเข้าเฝ้า และกราบทูลใบบอกหัวเมืองเหมือนอย่างเมื่อรัชกาลที่ ๓ เสร็จราชการเสด็จขึ้นข้างในราวเวลา ๑๐ นาฬิกา เป็นสิ้นพระราชานุกิจประจำวัน[๒๓๐] ได้ใช้ระเบียบพระราชานุกิจอย่างนี้มาสัก ๓ ปี จนเมื่อเสด็จกลับจากประพาสเมืองสิงคโปร์และเบตาเวียจึงเริ่มมีการแก้ไข ดังจะกล่าวในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า

ในครั้งนั้นปรากฎว่าจัดระเบียบอุปราชนุกิจในพระราชวังบวรฯ สำหรับกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญด้วย[๒๓๑] คือ

เวลาเช้า ๙ นาฬิกา พระสงฆ์รับบิณฑบาตร์เวรอย่างเดิมแต่กรมพระราชวังบวรฯ ไม่ใคร่จะเสด็จลงทรงบาตร์เอง

เวลา ๑๐ นาฬิกา เสด็จลงมายังพระบรมมหาราชวัง ทรงพระราชยานมีกระบวรแห่เสด็จ คือทหารราบอย่างยุโรปกองร้อย ๑ มีธงแตรวงนำหน้า แล้วถึงกรมตำรวจถือมัดวายถือหอกเดิน ๒ สายนำพระราชยาน ต่อพระราชยานถึงกรมตำรวจหลังและกรมรักษาพระองค์คาดกระบี่ฝรั่งเดิน ๒ ข้าง มหาดเล็กและวอที่นั่งรองเดินกลางกระบวรทหารอย่างยุโรปมาหยุดอยู่เพียงนอกประตูวิเศษชัยศรี พวกตำรวจและรักษาพระองค์เมื่อถึงประตูพิมานชัยศรีวางหอกดาพไว้นอกประตู แต่นั้นเดินประสานมือต่อไป เข้าในประตูพิมานชัยศรีมีแต่พระแสงดาพมหาดเล็กเชิญตามเสด็จเล่มเดียวแต่ก็ไปหยุดอยู่เพียงที่เก๋งกรงนก

เมื่อกรมพระราชวังบวร เสด็จเข้าไปถึงพระบรมมหาราชวังไปประทับที่ในห้องเฉลียงเก๋งวรสภาภิรมย์ทรงฟังปรึกษาราชการ (เพื่อทรงศึกษา มิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการปรึกษาอย่างหนึ่งอย่างใด)

เวลา ๑๑ นาฬิกา เสด็จเข้าไปเฝ้าฯ ในท้องพระโรง (แต่ขุนนางวังหน้าโดยปกติไม่มีตำแหน่งเฝ้าในพระราชวังหลวง นอกจากเมื่อถือน้ำปีละ ๒ ครั้ง)

เวลาเที่ยง เสด็จกลับพระราชวังบวรฯ ประทับในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยทรงปิดทองปฏิสังขรณ์พระ ทรงฟังรายงานพระคลัง แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง (ประภาษเรื่องคดีความต่างๆ )

บ่าย ๑ นาฬิกา เสด็จขึ้นข้างใน

เวลากลางคืนดึกราว ๑ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรงอีกครั้ง ๑ ทรงฟังรายงานมหาดเล็กแล้วเสด็จขึ้นพระแท่น ขุนนางเฝ้า อ่านใบบอกราชการ (ราชการทางฝ่ายพระราชวังบวรฯ มีแต่เรื่องบอกส่งเงินส่วยเป็นพื้น) เสร็จราชการเสด็จขึ้น เป็นสิ้นอุปราชานุกิจ ปรากฏว่ากรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงประพฤติอุปราชานุกิจอย่างว่ามาอยู่ไม่ช้าก็เปลี่ยนไปตามอย่างพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกที่โรงรถแทนท้องพระโรง ผิดกันแต่ไม่เสด็จไปเที่ยวเตร่ มักโปรดทรงแต่การช่างอยู่ในพระราชวังบวรฯ

จัดระเบียบบัญชาการแผ่นดิน

วิธีบังคับบัญชาราชการกระทรวงต่าง ๆ แต่โบราณมา จนถึงรัชกาลที่ ๕ ในสมัยที่กล่าวนี้ เสนาบดีตั้งจวนอยู่ที่ไหนก็ว่าราชการกระทรวงของตนที่นั่น ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่หรือผู้มีกิจธุระในกระทรวงใด ต้องไปทำการและประกอบกิจธุระที่จวนเสนาบดีกระทรวงนั้น[๒๓๒] แต่บรรดาข้าราชกร ผู้ใหญ่ซึ่งคำโบราณเรียกรวมกันว่า “ลูกขุน” ต้องมาประชุมกันที่พระราชวังทุกวัน มีศาลาที่ประชุมเรียกว่า “ศาลาลูกขุน” ๓ หลัง หลังหนึ่งตั้งอยู่ภายนอกพระราชวังเรียกว่า “ศาลาลูกขุนนอก”[๒๓๓] เป็นที่ประชุมข้าราชการอันมีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาชั้นสูงปรึกษาอรรถคดี ศาลานี้จึงได้นามเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ศาลหลวง” (ตรงกับสุปรีมค๊อต) คณะข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งนั่งศาลาลูกขุนนอกก็ได้นามว่า “ลูกขุน ณ ศาลหลวง” ดังนี้ ศาลาลูกขุนอีก ๒ หลังอยู่ในบริเวณพระราชวังจึงเรียกว่า “ศาลาลูกขุนใน” เป็นที่ประชุมข้าราชการฝ่ายพลเรือนหลังหนึ่ง ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยเพราะเป็นหัวหน้าข้าราชการพลเรือนแต่โบราณ อีกหลังหนึ่งเป็นที่ประชุมข้าราชการฝ่ายทหาร ขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม โดยทำนองเดียวกัน บรรดาข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งนั่งประชุมศาลาลูกขุนในทั้ง ๒ แห่ง ได้นามเรียกรวมกันว่า “ลูกขุน ณ ศาลา” ถ้าว่าอย่างทุกวันนี้ ลูกขุนศาลหลวงหมายความว่าข้าราชการแผนกตุลาการ ลูกขุน ณ ศาลาหมายความว่าข้าราชการฝ่ายธุระการ ประชุมปรึกษาและบัญชาราชการบรรดาอยู่ในวงอำนาจหน้าที่ทั้ง ๓ แห่งเสร็จแล้วต่างเข้าไปเฝ้าฯ เป็นการประชุมพร้อมกันที่ในท้องพระโรง พระเจ้าแผ่นดินออกประทับเป็นประธาน นำข้อราชการขึ้นกราบบังคมทูล ทรงปรึกษาและบังคับบัญชาราชการเป็นชั้นชี้ขาด ด้วยพระราชโองการประเพณีเป็นเช่นนี้มาแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แม้การที่ปฏิบัติจะผิดกันบ้างตามสมัย หลักการก็ยังคงอยู่ตลอดมา

เมื่อมีตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขึ้นในรัชกาลที่ ๕ การที่จะดำริรัฐภิบาลโนบายกับการที่จะสั่งบังคับบัญชาราชการเป็นเด็ดขาดอยู่แก่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แทนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงปรึกษาและรับสั่งเมื่อเวลาเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรงอย่างแต่ก่อน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงต้องคิดวิธีว่าราชการในหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขึ้นสำหรับสมัยนั้น ทั้งวิธีว่าราชการที่จวนของท่านและที่ในพระบรมมหาราชวัง จะกล่าวถึงระเบียบที่บัญชาราชการในพระบรมมหาราชวังก่อน คือถึงเวลาเช้า ๑๐ นาฬิกาให้มีการประชุม “ลูกขุน” คือ ผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการทั้งที่เป็นเจ้านายและเป็นเสนาบดีหรืออธิบดีณเก๋งกรงนกทุกวัน ชั้นเดิมใช้เก๋งสมมุติเทพสถานอันใหญ่กว่าหลังอื่นอยู่ข้างด้านตะวันตก แต่เก๋งนั้นยังคับแคบ ต่อมาจึงให้รื้อตัวกรงนก “สกุณวัน” ซึ่งอยู่กลางลงเสีย สร้างเก๋งใหญ่ขึ้นใหม่ตรงนั้นขนานนามว่า “เก๋งวรสภาภิรมย์”ใช้เป็นที่ประชุม และเก๋งซึ่งสร้างใหม่นั้นที่เฉลียงด้านใต้กั้นฝาเป็นห้องมีแท่นที่สำหรับกรมพระราชวังบวรฯ ประทับฟังราชการด้วย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เข้าไปนั่งเป็นประธานในที่ประชุมทุกวัน เจ้ากระทรวงราชการต่าง ๆ และผู้ซึ่งชำระความฎีกานำข้อราชการและรายงาน (เช่นเคยกราบทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในเวลาเสด็จออกท้องพระโรง) ขึ้นเสนอ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ปรึกษาแล้วสั่งเป็นเด็ดขาด คงคัดความแต่เรื่องซึ่งไม่จำต้องพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยขึ้นกราบทูลเวลาเสด็จออกขุนนางเพื่อรักษาราชประเพณีไว้ ประชุมกันอยู่จนจวนเวลาเสด็จออก ผู้ที่มาประชุมก็พากันเข้าไปคอยเฝ้าฯ ที่ในท้องพระโรง คงอยู่แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กับผู้ซึ่งท่านขอให้อยู่ปรึกษาหารือหรือรับคำสั่งราชการที่ยังค้าง พอสิ้นเวลาเสด็จออกขุนนาง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็เข้าไปเฝ้าฯ กราบบังคมทูลแถลงราชการที่มีและทึ่ได้สั่งไปให้ทรงทราบเสร็จแล้วจึงกลับไปจวน แต่บางวันไม่มีข้อราชการซึ่งท่านจะต้องกราบบังคมทูลก็ไม่เข้าไปเฝ้า ส่วนราชการที่ท่านทำที่จวนนั้น[๒๓๔] เวลาเช้าออกจากจวนตั้งแต่ก่อน๗ นาฬิกา ไปเที่ยวตรวจการก่อสร้าง คือ ต่อเรือกลไฟกำปั่นเป็นต้น อันตั้งโรงต่อที่ตรงหน้าวัดอนงคารามข้ามฟากคลองใกล้กับจวนของท่าน จนถึงเวลา ๗ นาฬิกาเศษกลับมานั่งที่ศาลาท่าน้ำริมคลองตรงหน้าจวน รับแขกพวกข้าราชการหรือพวกพ่อค้าที่ไปหา เวลา ๘ นาฬิกากลับเข้าในจวนและให้จัดอาหารเลี้ยงผู้ที่ไปหาด้วย ครั้นเวลา ๙ นาฬิกาเศษเข้าไปยังพระบรมมหาราชวังนั่งประชุมที่เก๋งและเข้าเฝ้าดังกล่าวมาแล้ว กลับไปจวนราวเวลานาฬิกา ๑ เข้านอน เวลาบ่าย ๔ นาฬิการับแขกที่เป็นชั้นคนสำคัญ เช่นเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ ตลอดจนกงสุลต่างประเทศที่ไปหาด้วยเรื่องราชการ ตอนค่ำเมื่อเสร็จกิจราชการแล้ว ท่านมักประชุมผู้ชำนาญวรรณคดีแปลหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องต่าง ๆ ซึ่งท่านเอาใจใส่ศึกษา และแต่งเป็นภาษาไทยสำเร็จในครั้งนั้น และต่อมาได้พิมพ์แพร่หลายเป็นหลายเรื่อง

พิเคราะห์โดยเหตุการณ์ปรากฎ ดูเหมือนในครั้งนั้นการที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ตัวท่านเองจะไม่สบายใจเหมือนกับลูกหลานและบริวารของท่านด้วยว่าลาภและยศที่ได้เพิ่มขึ้นใหม่ไม่เท่ากับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ก่อนนั้นมามีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธาน ท่านได้อาศัยทั้งความรู้ความคิด ตลอดจนความรับผิดชอบ ครั้นตัวท่านเองมาต้องเป็นประธานในราชการบ้านเมือง แม้พระบรมวงศ์และเสนาบดีต่างกระทรวงช่วยอุดหนุนโดยสุจริต ความรู้สึกว้าเหว่เป็นธรรมดา จึงพยายามเลือกหาผู้มีสติปัญญาสามารถไว้เป็นผู้ช่วย อย่างเช่นเป็นที่ปรึกษาในส่วนตัวหลายคน จะกล่าวถึงในที่นี้แต่ที่ปรากฎว่าเป็นคนสำคัญขึ้นในครั้งนั้น คือ

ขุนหลวงพระไกรสี (จันทร์) เป็นผู้เชี่ยวชาญบทกฎหมายและกระบวรอรรถคดีคน ๑ ต่อมาได้เป็นตำแหน่งสภาเลขาธิการเมื่อตั้งเคาซิลออฟสเตต (รัฐมนตรี) และได้เลื่อนเป็นพระยา

ขุนสมุทรโคจร (พุ่ม) ข้าหลวงเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทูลขอให้เลื่อนเป็นพระนรินทรราชเสนีในกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีปฏิภาณและมีสติปัญญารอบรู้ทางการงานในพื้นเมืองมากคน ๑ ต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นพระยาและได้เป็นพระยาเทพประชุน เป็นเจ้าพระยาพลเทพโดยลำดับมา จนที่สุดได้เป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ที่สมุหกลาโหม

พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) เป็นผู้เชี่ยวชาญในการสืบจับผู้ร้ายในกรุงฯ ได้เคยช่วยเป็นกำลังของท่านมาแต่รัชกาลที่ ๔ คน ๑ แต่ต่อมายังคงยศศักดิ์อยู่เพียงนั้นจนแก่ชราจึงได้เลื่อนเป็นพระยาจิรายุมนตรี ผู้กำกับถือน้ำ

พระบริบูรณ์สุรากร (พุก ต้นสกุลโชติกะพุกกณะ) เป็นผู้ชำนิชำนาญในการภาษีอากรและการค้าขาย ทั้งกว้างขวางในพวกจีนด้วยคน ๑ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐ

แต่ส่วนการที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งนั้น จะหาผู้ช่วยให้เหมาะใจไม่ได้ ด้วยไทยที่เรียนรู้ภาษาฝรั่งยังมีน้อยนัก ท่านจึงอาศัยใช้วิธีบำรุงความวิสาสะกับฝรั่งที่เป็นคนสำคัญ เช่นมิสเตอร์น๊อกซ์ กงสุล เยเนอราลอังกฤษเป็นต้น ปรึกษาหารือโดยไมตรีจิตต์สืบเนื่องมาเช่นเคยประพฤติแต่ในรัชกาลที่ ๔ ก็สามารถรักษาความเชื่อถือของชาวต่างประเทศได้ตลอดมา



[๒๑๗] เจ้านายพระองค์หญิง ซึ่งเสด็จมาคอยเฝ้านั้น สันนิษฐานว่าเฉพาะแต่ที่เป็นพระเจ้าลูกเธอ

[๒๑๘] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าการรับฎีการาษฎรสำคัญเพียงใด แจ้งอยู่ในกระแสพระราชดำริเมื่อก่อนสวรรคต ซึ่งปรากฏอยู่ในตอนที่ ๑ แห่งหนังสือเรื่องนี้.

[๒๑๙] พระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กล่าวต่อไปนี้ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ประทานอธิบายให้ทราบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐

[๒๒๐] สันนิษฐานข้อนี้เทียบตามแบบอย่างซึ่งเอามาใช่ในรัชกาลที่ ๕ ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า

[๒๒๑] ในสมัยนั้น พระเข้ารับบิณฑบาตร์ในพระราชวัง จะเป็นธรรมยุติกาหรือมหานิกายก็ต้องสพายบาตร์และมีย่ามเหมือนกัน ต่อเข้าไปรับบิณฑบาตร์พิเศษ พระธรรมยุติกาจึงอุ้มบาตร์

[๒๒๒] พระองค์เจ้าบุตรีกับเจ้าจอมมารดาอึ่งได้อุปการะสมเด็จพระเทพสิรินทราบรมราชินีเมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่ในรัชกาลที่ ๓ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาพระองค์เจ้าบุตรีเป็นกรมหลวงวรเศรฐสุดา ทรงตั้งเจ้าจอมมารดาอึ่งเป็นท้าวสมศักดิ์

[๒๒๓] เจ้าคุณพระประยูรวงศเล่าว่าคุณท้าวเจ้าจอมมารดาอึ่งขึ้นไปคอยตรวจตราว่ากล่าวสั่งสอนพระสนมอยู่ในพระราชมณเฑียรทุกวัน แต่เจ้าคุณพระประยูรวงศเองนั้นขอตัวไม่ยอมนุ่งจีบ

[๒๒๔] จะกล่าวบรรยายความให้พิศดารสักหน่อย ด้วยมีขนบธรรมเนียมเก่าหลายอย่างซึ่งจะหมดผู้รู้แล้ว จดไว้จะได้ไม่สูญเสีย

[๒๒๕] เมื่อก่อนรัชกาลที่ ๔ วัดสระเกษเห็นจะเป็นต้นเวรวันพฤหัสบดี

[๒๒๖] เกณฑ์วัดบิณฑบาตร์เวรในพระราชวัง ตำราสูญเสียแล้วเมื่อแต่งหนังสือนี้ให้เที่ยวสืบถามตามพระสงฆ์สูงอายุหลายรูปจึงได้ความ แต่ชื่อวัดสมทบเห็นจะไม่ครบหมด พระรับบิณฑบาตร์ในพระราชวังบวรก็เป็นเวรโดยทำนองเดียวกัน แต่ปันเวรมิให้ตรงวันวังหลวง และเพิ่มวัดอื่นซึ่งพระมหาอุปราชทรงบำรุง เช่นวัดชนะสงครามเป็นต้น เข้าเป็นต้นเวรด้วย

[๒๒๗] สามเณรเมื่อรับพัดเปรียญ ยังได้รับพระราชทานบาตร์ใบ ๑ จนทุกวันนี้เพื่อจะได้ใช้รับบิณฑบาตร์ในพระราชวัง

[๒๒๘] สันนิษฐานว่าแต่เดิมเจ้านายทรงผนวชที่เข้าไปรับบิณฑบาตร์เห็นจะกลับออกประตูฉนวนทั้งนั้นเพื่อจะได้ไปลงเรือกลับวัดสะดวก เพราะเมื่อรัชกาลที่ ๑ คงต้องมารับบิณฑบาตร์ที่ตำหนักสมเด็จพระพี่นางถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อเสด็จสวรรคตทั้ง ๓ พระองค์หมด แล้วสมเด็จพระศรีสุราลัยเสด็จไปประทับอยู่ที่ตำหนักตึก (ตรงที่สร้างพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์เดี๋ยวนี้) คงจะเป็นเมื่อพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช โปรดฯ ให้พระองค์เจ้าไปรับบิณฑบาตร์ที่พระตำหนักตึก ก็เลยกลับออกทางประตูยามค่ำแต่นั้นมา จึงกลับทางนี้แต่พระองค์เจ้า ส่วนหม่อมเจ้าคงออกประตูฉนวนตามประเพณีเดิม

[๒๒๙] หนังสือแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยที่ปรากฎอยู่ เป็นหนังสือแปลถวายเทศน์ในรัชกาลที่ ๓ โดยมาก

[๒๓๐] ส่วนการเสด็จออกในการพระราชพิธีต่างๆ มิได้กล่าวในหนังสือนี้ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนแล้ว

[๒๓๑] อุปราชานุกิจของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอบางพระองค์และพระยาไพบูลย์สมบัติ (เดช บุนนาค) บอกอธิบายให้ทราบ

[๒๓๒] มี (ออฟฟิส) สำนักงานประจำอยู่ในพระราชวังแต่กระทรวงวัง อันเป็นต้นรับสั่ง สั่งราชการทั้งปวงกระทรวง ๑ กระทรวงมทาดไทยเป็นพนักงานสั่งกรมต่างๆ ฝ่ายพลเรือนกระทรวง ๑ กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่เช่นเดียวกับทางฝ่ายทหารกระทรวง ๑

[๒๓๓] ในกรุงเทพฯ นี้เดิมศาลาลูกขุนนอกอยู่ริมหลักเมือง

[๒๓๔] เวลาทำการของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศที่กล่าวในนี้ พระยาอพิชิตชาญยุทธ (เจริญ เศวตนันทน์) บอกอธิบายให้ทราบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ