ตอนที่ ๕

บรมราชาภิเษก

เมื่อแต่งหนังสือนี้ได้พบหมายกำหนดงานพระราชพิธีราชาภิเษกรัชกาลที่ ๕ ครั้งปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ กับทั้งอธิบายรายการต่างๆ ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุบ้าง ไต่ถามได้ความจากผู้ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องในการพระราชพิธีครั้งนั้นบ้าง ปรากฏว่าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ทรงกำหนดรายการตามระเบียบแบบอย่าง ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งไว้ แต่รายการนั้นบางอย่างทรงตั้งเมื่อครั้งบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ ๔ บางอย่างทรงตั้งขึ้นต่อภายหลัง พึ่งจะได้เข้าในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๕ เป็นครั้งแรก จึงเห็นสมควรจะกล่าวถึงระเบียบการที่แก้ไขเมื่อรัชกาลที่ ๔ ไว้ในหนังสือนี้ด้วย

อันการที่ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ว่าที่แท้เป็น ๒ พิธี คือพิธี ราชาภิเษก (เฉลิมพระยศ) พิธีหนึ่ง เฉลิมพระราชมนเทียร (เสด็จขึ้นประทับพระราชมนเทียรสถาน) พิธีหนึ่ง ทั้ง ๒ พิธีนี้ไม่จำต้องทำด้วยกัน และปรากฏมาในเรื่องพงศาวดารว่า เคยทำห่างกันเป็น ๒ คราวก็มี ดังเช่นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จผ่านพิภพก็ดี เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จผ่านพิภพก็ดี หรือเมื่อพระเจ้าบรมโกศเสด็จผ่านพิภพก็ดี ก็ทำแต่พิธีราชาภิเษกอย่างเดียว เพราะคงเสด็จประทับอยู่ที่วังจันทรเกษมต่อมาอีกหลายปีทั้ง ๓ พระองค์ จนเมื่อเสด็จไปประทับพระราชวังหลวง จึงได้ทำพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร แต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นโดยมาก เสด็จขึ้นประทับพระราชมนเทียรในคราวเดียวกับราชาภิเษก การพิธีทั้ง ๒ จึงทำเหมือนเช่นเป็นพระราชพิธีอันเดียวกัน ลักษณะการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในกรุงรัตนโกสินทร์นี้[๙๒] ตำรานี้ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๑ เมื่อทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ พร้อมกับสมโภชพระนคร ซึ่งทรงสร้างสำเร็จในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ สันนิษฐานว่าในครั้งนั้นพิธีส่วนราชาภิเษกเห็นจะทำที่พระมหาปราสาท และทำเป็นพิธีพราหมณ์ ส่วนพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรทำที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อันเป็นที่เสด็จประทับ ทำเป็นพิธีสงฆ์ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะทำที่พระมหาปราสาทอย่างแต่ก่อนไม่ได้ ด้วยพระบรมศพประดิษฐานอยู่ที่นั่น จึงย้ายที่มาทำการพิธีราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ แตส่วนพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรคงทำในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อย่างเดิม[๙๓] คือมีสวดมนต์ เลี้ยงพระ ๓ วัน จัดที่สวดมนต์เป็น ๒ แห่ง พระราชาคณะหมู่ใหญ่ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน สวดมนต์ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันตก ทางองค์ตะวันออกซึ่งเป็นที่บรรทมนั้น พระสงฆ์วัดราชสิทธิ์ ๔ รูป สมเด็จพระวันรัตนนั่งปรก สวดภาณวารบนพระแท่นที่บรรทม แต่เลี้ยงพระรวมกันทางตะวันตก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับทรงสดับสวดภาณวารที่ในที่นั่ง ๓ วัน ส่วนพิธีราชาภิเษกนั้น ปลูกมณฑปพระกระยาสนานที่ชาลาหลังพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางข้างตะวันออก ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณตั้งพระแท่นมณฑล พระที่นั่งอัฐทิศ พระที่นั่งภัทรบิฐ และตู้เทียนชัย มีการพิธีแต่สมเด็จพระสังฆราชจุดเทียนชัยเมื่อวันแรก[๙๔] แล พราหมณ์ถวายน้ำสังข์ใบสมิทธสำหรับพระเคราะห์ในวันต่อ ๆ มา แล้วทำพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๓ ส่วนพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนั้นไม่มีการพิธีอันใด จัดไว้แต่เป็นที่เสด็จออกรับราชสมบัติเมื่อราชาภิเษกแล้วอย่างเดียว ถึงรัชกาลที่ ๓ การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมนเทียร ไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด[๙๕] แต่มาถึงรัชกาลที่ ๔ ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริแก้ไขและตั้งแบบแผนเพิ่มเติมหลายอย่าง ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

๑. แก้ระเบียบปรมาภิไธยที่จารึกพระสุพรรณบัฏ.

ในรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ใช้จารึกพระนามขึ้นต้นว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” และมีสร้อยพระนามเหมือนกันทั้ง ๓ รัชกาล เมื่อรัชกาลที่ ๓ เกิดมีคนเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า “แผ่นดินต้น” รัชกาลที่ ๒ ว่า “แผ่นดินกลาง” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงทราบ ทรงรังเกียจว่า ถ้าเช่นนั้นรัชกาลของพระองค์ก็จะอยู่ในฐานเป็น “แผ่นดินปลาย” หรือ “แผ่นดินสุดท้าย” อันเป็นอัปมงคล ก็ครั้งนั้นประจวบกับเวลาได้ทรงสร้างพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เป็นพระทรงเครื่องขึ้นไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๒ องค์ และถวายพระนามว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช องค์หนึ่ง ถวายพระนามว่า “พระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถองค์หนึ่ง จึงโปรดให้ประกาศสั่งให้เรียกนามอดีตรัชกาลตามนามพระพุทธรูปซึ่งทรงพระราชอุทิศ รัชกาลที่ ๑ ให้เรียกว่า “แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” รัชกาลที่ ๒ ให้เรียกว่า “แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ดังนี้[๙๖] พอถึงรัชกาลที่ ๔ ก็เกิดปัญหาว่าจะเรียกนามรัชกาลที่ ๓ ว่าอย่างไร พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ควรจะมีนามแผ่นดินตั้งไว้สำหรับคนทั้งหลายเรียกกันเป็นสามัญทุกรัชกาล จึงทรงบัญญัติอนุโลมต่อพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ ให้เรียกรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ว่า “แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” เรียกรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ว่า “แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ให้เรียกรัชกาลที่ ๓ ว่า “แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” และให้เรียกรัชกาลของพระองค์เองว่า “แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”[๙๗]นามแผ่นดินซึ่งทรงบัญญัติก็เลยใช้เรียกเป็นพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์นั้นด้วย เนื่องด้วยการที่ทรงบัญญัตินามแผ่นดินให้เป็นระเบียบดังกล่าวมา จึงทรงแก้ไขพระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏให้ต่างกันทุกพระองค์ เป็นต้นว่าพระปรมาภิไธยของพระองค์เอง แต่งขึ้นต้นด้วยพระนามเดิม ว่าสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ สร้อยพระนามใช้ตามแบบโบราณเพื่อรักษาสวัสดิมงคลไว้บ้าง แต่งใหม่ตามสร้อยพระนามเดิมบ้างตามพระบารมีและคุณวิเศษในพระองค์บ้าง ลงนามแผ่นดินไว้ข้างท้ายว่า “พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ดังนี้ ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อจะทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบรมวงศาและเสนาบดี[๙๘]ปรึกษากันคิดพระปรมาภิไธยที่จะจารึกในพระสุพรรณบัฏ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก ๔ พระนาม เมื่อแต่งหนังสือนี้ได้พบสมุดซึ่งเขียนขึ้น

พระนามที่ ๑

สมเด็จพระปรมินทร[๙๙] มหาบุรุษย์ สุทธสมมติเทพยพงศ วงศาดิศรกษัตริย์วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฐไพบูลย์ บุรพาดูลย์กฤดาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางค ประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมาลย์ มหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนศิลปโกศล สุวิสุทธิวิมลศีลสมาจาร คัมภีรญาณประภาไพโรจ อเนกโกฏิสาธุคุณวิบูลสันดาน ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ วรรุตมศักดิสมญา พินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มุลสุขมาตยาภิรมย์ ปรมกฤดาภินิหาร บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันตมหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินทรอเนกชนนิกร สโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศัย พุทธทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีดลหฤทัย อโนปมัยบุญยการ สกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชบพิตร อดิศรมหาจุฬาลงกรณ์เกศเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ

พระนามที่ ๒

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลักษณ์ อลังกรณศักดิสุทธิ สมมติเทพยพงศ์ ฯลฯ (เหมือนสร้อยพระนามที่ ๑)

พระนามย่อที่ ๓

สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลักษณ์ อังกรณศักดิสุทธิสมมติเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชบพิตร พระผ่านเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ

พระนามที่ ๔

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยวิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิสมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูรมูลมุขราชดิลก มหาปริวารนายกอนันตมหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิอรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีดลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนามที่ ๔ นี้ ในสมุดที่พบมีบานแผนกจดไว้ว่า”ฉะบับนี้ได้ถวายในพระบาทสมเด็จฯ โปรดว่า พระราชหฤทัยของท่านรักอย่างนี้ ดีแล้ว เพราะไม่เสียของเดิม[๑๐๐] ที่ฉะบับก่อนนั้นท่านผู้หลักผู้ใหญ่จัดมา มิรู้จะติท่านได้ ก็เป็นอันตกลงใช้พระนามที่ ๔ ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ[๑๐๑]

ผู้อ่านโดยสังเกตจะพึงเห็นได้ว่า พระนามทั้ง ๔ พระนามนั้นถ้อยคำเหมือนกันโดยมาก ผิดกันแต่บางแห่ง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเอาสร้อยพระนามในพระสุพรรณบัฏพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งเป็นหลัก แก้แต่เฉพาะบางแห่งซึ่งมีเหตุเห็นสมควรจะต้องแก้ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดพระนามที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ นั้น คงเป็นด้วยแต่งพลาดไป ๒ อย่าง คือที่ไม่ใช้พระนามเดิมขึ้นต้นว่า สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ เหมือนอย่างพระนามพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งใช้พระนามเดิมขึ้นต้นว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎอย่าง ๑ อีกอย่าง ๑นั้น สร้อยพระนามเอาพระคุณของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งผิดกับพระคุณของพระองค์มาใช้หลายแห่ง ได้ยินมาว่าโปรดฯ ให้ส่งไปถวายสมเด็จพระสังฆราช (ปุสสเทว สา) วัดราชประดิษฐ เวลานั้นยังเป็นที่พระสาสนโสภณ ขอให้ตรวจแก้ไข ด้วยท่านเป็นผู้รู้ภาษามคธแตกฉาน และเป็นศิษย์ทราบพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมั่นคงจึงแก้ถวายมาเป็นอย่างที่ ๔ ที่ตกลงนั้น

แก้ระเบียบการพิธี

พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดกระบวนที่ทำพระราชพิธีสำหรับพระนครให้ต่างกันเป็นพิธีสงฆ์บ้าง เป็นพิธีพราหมณ์บ้าง พระราชพิธีที่เคยทำเป็นพิธีพราหมณ์ล้วนมาแต่ก่อน ทรงเพิ่มพิธีสงฆ์เข้าด้วยเกือบจะทุกพิธี[๑๐๒] ระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกิทรงแก้ไขด้วยเหตุอันเดียวกัน คือโปรดฯ ให้ย้ายที่พระสงฆ์ราชาคณะหมู่ใหญ่สวดมนต์จากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันตกลงมาสวดมนต์ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณด้วย เป็นที่ตั้งพระแท่นมณฑล แลเป็นที่ทำพระราชพิธีราชาภิเษก และเมื่อก่อนจะสวดมนต์ให้พระราชาคณะผู้จะขัดตำนานประกาศเทวดาโดยพิสดารด้วย แต่คงสวดสตปริตรและมีเลี้ยงพระทุกวันเหมือนแต่ก่อน การที่พระสงฆ์วัดราชสิทธิ์เคยสวดภาณวารในที่พระบรรทมนั้น เปลี่ยนเป็นพระสงฆ์ธรรมยุติกา ๕ รูปสวดสตปริตรในที่พระบรรทม แต่คงเสด็จประทับสดับพระปริตรในห้องที่พระบรรทมอย่างเดิม ส่วนการสวดภาณวารนั้นโปรดให้ตั้งระเบียบขึ้นใหม่คล้ายกับพิธีตรุษ คือจัดที่พระสงฆ์สวดมนต์ ตั้งเตียงสวดและตู้เทียนชัยในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยอีกแห่งหนึ่ง นิมนต์พระราชาคณะสามัญเพิ่มอีกจำนวนหนึ่งมาสวดมนต์ ๓ วัน แล้วผลัดกันสวดภาณวารคราวละ ๔ รูป มีพระราชาคณะผู้ใหญ่นั่งปรกสวดตลอด ๓ วัน ๓ คืน

ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๒ เสด็จเฉลิมพระอภิเนาวนิเวศซึ่งทรงสร้างใหม่ โปรดให้ทำการพิธีคล้ายกับพระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรในการบรมราชาภิเษก ทรงพระราชดำริว่าการสวดภาณวารอย่างแต่ก่อนไม่ครบ ๓ วันบริบูรณ์ เพราะจุดเทียนชัยและตั้งต้นสวดภาณวารต่อในวันที่ ๒ จึงทรงแก้ไขให้เพิ่มพิธีตั้งน้ำวงด้าย มีสวดมนต์เลี้ยงพระก่อนวันงานอีกวัน ๑ เพื่อให้ได้จุดเทียนชัย และเริ่มสวดภาณวาร ในเวลาเช้าวันที่ ๑ แห่งการพระราชพิธี พิธีตั้งน้ำวงด้ายในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงพึ่งมีเป็นครั้งแรกเมื่อรัชกาลที่ ๕.

อนึ่งแต่ก่อนมาเมื่อราชาภิเษกแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยังพระมหาปราสาท ถวายบังคมพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถขอพระราชทานพร แต่เมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบรมศพเป็นสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เชิญพระบรมอัฏฐิสมเด็จพระบรมชนกนาถ และพระบรมราชบุรพการีเสด็จออกประดิษฐานที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อราชาภิเษกแล้ว เสด็จไปถวายบังคมพระบรมอัฏฐิ สมเด็จพระบรมชนกนาถ และพระบรมราชบุรพการีก่อน แล้วจึงเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชที่พระมหาปราสาท ถึงรัชกาลที่ ๕ พระบรมศพเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงไม่เสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่คงเชิญพระบรมอัฏฐิและพระอัฏฐิสมเด็จพระบุรพการีเสด็จออกประดิษฐาน ณ พระมหาปราสาท อนุโลมตามแบบอย่างซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งไว้.

แก้เศวตฉัตร

มีคติถือมาแต่โบราณว่า พระเศวตฉัตร์นั้นจะลดลงจากที่ได้ต่อเมื่อเปลี่ยนรัชกาล โดยปกติถ้าจะซ่อมแซม เช่นเปลี่ยนผ้าหุ้มใหม่ ต้องตั้งร่างร้านขึ้นไปทำบนนั้น ถ้าหากมีความจำเป็นต้องลด เช่นเวลาปฏิสังขรณ์พระราชมนเทียรเป็นต้น เมื่อกลับยกเศวตฉัตรขึ้นที่เดิม ก็ต้องทำเป็นการพิธีมีฤกษ์และสมโภชน์ เพราะฉะนั้นจึงมีแต่งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเดียว ซึ่งระเบียบการพิธีมีลดพระเศวตฉัตรลงซ่อมแซมและเปลี่ยนผ้าหุ้มใหม่ แล้วยกกลับขึ้นตั้งที่ในวันแรกตั้งการพิธีบรมราชาภิเษก แต่การที่ยกพระเศวตฉัตรจะทำเป็นการพิธีแทรกอีกส่วนหนึ่ง ดังเช่นประโคมดุริยดนตรี และยิงปืนมหาฤกษ์มหาชัยเมื่อเวลายกมาแต่เดิม หรือเป็นของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเพิ่มขึ้น ข้อนี้ยังไม่ทราบแน่ ได้ยินมาแต่ว่าแต่ก่อนใช้ตาดหุ้มพระเศวตฉัตร ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเศวตฉัตรต้องหุ้มด้วยผ้าขาวจึงจะตรงกับตำรา ที่ใช้ตาดหุ้มกลับทำให้เลวลง โปรดให้กลับใช้ผ้าขาวหุ้มอย่างเดิม สันนิษฐานว่าคงทรงพระราชดำริเมื่อทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ ๔.

๔ เปลี่ยนพระที่นั่งอัฐทิศและพระที่นั่งภัทรบิฐ[๑๐๓]

พระที่นั่งอัฐทิศอันทำด้วยไม้มะเดื่อนั้น แต่ก่อนมาต่อเมื่อจะมีงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงสร้างขึ้นสำหรับใช้ชั่วคราว พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างจำหลักปิดทองเป็นของถาวร (สันนิษฐานว่าเมื่องานเฉลิมพระราชมนเทียรพระอภิเนาวนิเวศ) แล้วตั้งประจำที่ไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอัฐทิศองค์นี้ จึงพึ่งใช้งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา

สันนิษฐานต่อเนื่องไปอีกข้อหนึ่งถึงเรื่องพระที่นั่งภัทรบิฐ เดิมก็เห็นจะสร้างขึ้นใช้ฉะเพาะงานเหมือนอย่างพระที่นั่งอัฐทิศ พระที่นั่งภัทรบิฐองค์ที่ใช้ในปัจจุบันนี้ ทำด้วยถมเป็นรูปพระเก้าอี้ และมีคำกล่าวกันมาว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชทำถวาย ก็การที่จะทำพระที่นั่งภัทรบิฐสำหรับราชาภิเษก ถวายพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงราชาภิเษกเสร็จแล้ว ย่อมใช่วิสัยที่จะเป็นได้ พระราชอาสน์ทำด้วยถม ซึ่งเจ้าพระยานครได้ทำถวายมีปรากฏอีก ๒ องค์ คือพระแท่นเสด็จออกขุนนาง องค์ ๑ พระราชยานองค์ ๑ จึงสันนิษฐานว่า พระที่นั่งภัทรบิฐถมนี้ เดิมเจ้าพระยานครฯ เห็นจะสร้างเป็นพระเก้าอี้สำหรับเสด็จประทับรับแขกเมืองถวายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องกับพระราชอาสน์ ๒ องค์ซึ่งกล่าวมาก่อน โปรดให้บูรณะเป็นพระที่นังภัทรบิฐในคราวเดียวกับทรงสร้างพระที่นั่งอัฐทิศ จึงได้เป็นคู่กันมาจนทุกวันนี้

เครื่องแต่งพระแท่นมณฑล

เครื่องตั้งพระแท่นมณฑล เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๒ ตั้งสิ่งใดบ้าง มีปรากฏในจดหมายเหตุ[๑๐๔] และมาปรากฏว่ามีสิ่งซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ อีกมาก[๑๐๕] บางสิ่งเพิ่มขึ้นเมื่องานบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๔ บางสิ่งซึ่งเพิ่มขึ้นต่อภายหลังพึ่งจะได้ตั้งพระแท่นมณฑลงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อรัชกาลที่ ๕ เป็นครั้งแรก[๑๐๖] จึงควรจะกล่าวถึงเครื่องแต่งพระแท่นมณฑลด้วย แต่เพื่อความสดวกแก่ผู้อ่าน จะพรรณนาเป็นหมวดๆ และสิ่งซึ่งไม่มีอธิบายบอกเป็นอย่างอื่นนั้น เข้าใจว่าเป็นของเคยตั้งพระแท่นมณฑลมาแต่รัชกาลที่ ๑ คือ

หมวดพระเจ้า

๑. พระบรมสารีริกธาตุ (เมื่อรัชกาลที่ ๒ ทำที่ตั้งรับกรัณฑ์เป็นระย้ากินนร จึงเรียกกันว่า “พระธาตุระย้ากินนร” เดิมตั้งที่พระสงฆ์สวดมนต์พระที่นั่งจักพรรดิพิมานองค์ตะวันตก มาตั้งพระแท่นมณฑลเมื่อรัชกาลที่ ๔ และต่อมาทรงสร้างพระสถูปถมครอบนอกอีกชั้นหนึ่ง)

๒. พระพุทธบุษยรัตน์ฯ (ได้มาจากเมืองจำปาศักดิ์เมื่อรัชกาลที่ ๒ แต่พึ่งตั้งพระแท่นมณฑลพิธีเมื่อรัชกาลที่ ๔)

๓. พระแก้วเรือนทอง (ในหนังสืออื่นเรียกว่าพระเรือนแก้วก็มี เป็นพระหยกได้มาเมื่อรัชกาลที่ ๓ เห็นจะตั้งพระแท่นมณฑลมาแต่ในรัชกาลนั้น)

๔. พระแก้วเชียงแสน (ได้มาเมื่อรัชกาลที่ ๔ พึ่งตั้งงานบรมราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๕ เป็นทีแรก)

๕. พระชัยประจำรัชกาลที่ ๑

๖. พระชัยประจำรัชกาลที่ ๒

๗. พระชัยประจำรัชกาลที่ ๓

๘. พระชัยประจำรัชกาลที่ ๔ (พึ่งตั้งงานบรมราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๕ เป็นทีแรก[๑๐๗])

๙. พระชัยพิธี (พระทรงเครื่องยืน หล่อด้วยเงินหุ้มทองแต่ในรัชกาลที่ ๑)

๑๐. พระชัยหลังช้าง (ครั้งรัชกาลที่ ๑)

๑๑. พระนิรันตราย (ทรงสร้างสรวมพระทองคำของโบราณเมื่อในรัชกาลที่ ๔ พึ่งตั้งงานบรมราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๕ เป็นทีแรก)

๑๒. คัมภีร์พระธรรม (คือพระไตรปิฎกย่อ สันนิษฐานว่าจะพึ่งตั้งพระแท่นมณฑลเมื่อในรัชกาลที่ ๔

หมวดพระราชสิริ

๑. พระสุพรรณบัฏ

๒. ดวงพระชันษา (จารึกพร้อมกับพระสุพรรณบัฏ)

๓. พระราชลัญจกร (แต่เดิมเรียกว่า “พระอุณาโลมทำแท่ง” คือทำแท่งครั่งประทับพระราชลัญจกรมหาอุณาโลม หมายความว่า พระราชโองการตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ โปรดให้ตั้งพระราชลัญจกรแทน)

หมวดเครื่องพระมุรธาภิเษก

๑. ครอบพระกริ่ง (บางทีจะได้เคยตั้งแต่ครั้งราชาภิเษกรัชกาลที่ ๔)

๒. พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ

๓. พระมหาสังข์ทอง

๕. พระมหาสังข์นาก (สร้างในรัชกาลไหนไม่แน่ แต่ไม่ปรากฏในหมายรับสั่งตลอดรัชกาลที่ ๓)

๕. พระมหาสังข์เงิน

๖. พระมหาสังข์ (รัชกาลที่ ๓)

๗. พระเต้าเบญจครรภใหญ่

๗. พระเต้าเบญจครรภรอง[๑๐๘] (รัชกาลที่ ๔)

๙. พระเต้าเบญจครรภห้าห้อง (รัชกาลที่ ๔)

๑๐. พระเต้าประทุมนิมิตทอง

๑๑. พระเต้าประทุมนิมิตนาก

๑๒. พระเต้าประทุมนิมิตเงิน

๑๓. พระเต้าประทุมนิมิตสัมฤทธิ์

๑๔.พระเต้าห้ากษัตริย์ (รัชกาลที่ ๔)

๑๕. พระเต้าบัวหยกเขียว (รัชกาลที่ ๔)

๑๖. พระเต้าบัวแดง (รัชกาลที่ ๔)

๑๗.พระเต้าจารึกอักษร (รัชกาลที่ ๔)

๑๗.พระเต้าศิลายอดเกี้ยว[๑๐๙] (รัชกาลที่ ๔)

๑๙.พระเต้าบังกสี

๒๐. พระเต้าเทวบิฐ (รัชกาลที่ ๔)

๒๑. พระเต้าไกลาศ (รัชกาลที่ ๔)

๒๒.พระเต้านพเคราะห์ (รัชกาลที่ ๔)

๒๓ ครอบพระมุรธาภิเษก

หมวดเครื่องต้น

๑. พระมหามงกุฎ[๑๑๐]

๒. พระแสงขรรค์ชัยศรี

๓. ธารพระกร

๔. วาลวิชนี (พัดฝักมะขามก็เรียก)

๕. ฉลองพระบาท

๖. พระภูษารัตกัมพล

๗. พระมหาสังวาล

๘. พระนพ

๙. พระสังวาลพราหมณ์

๑๐. พระธำมรงค์

๑๑. พระมาลาเพ็ชร์ (หนังสือบางฉะบับเรียกว่าพระชฎาเพ็ชร์)

๑๒. พระแส้หางช้างเผือก (เห็นจะแรกตั้งในรัชกาลที่ ๔)

๑๓. พระแส้จามรี

หมวดเครื่องพิชัยสงคราม

๑. หีบเครื่องพระพิชัยสงคราม

๒. หีบเครื่องพระมนต์พิเศษ

๓. พระมาลาเบี่ยง

๔. ฉลองพระองค์เกราะเหล็ก

๕. ฉลองพระองค์เกราะนวม

๖. เครื่องทรงลงยันต์ราชะ ๗ สี

หมวดพระแสง

๑. พระแสงดาพเชลย

๒. พระแสงจักร์

๓. พระแสงตรีศูล

๔. พระแสงธนู

๕. พระแสงดาพเขน

๖. พระแสงหอกชัย

๗. พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสะโตง

๘. พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย[๑๑๑]

๙. พระแสงดาพคาบค่าย

๑๐. พระแสงดาพใจเพ็ชร์

๑๑. พระแสงเวียต[๑๑๒] (เมื่องานบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๒ ทรงในงานไม่ได้เข้าพิธี)

๑๒. พระแสงทวน

๑๓. พระแสงง้าว

๑๔. พระแสงปืนคาบศิลาเคยทรง (คือพระแสงปืนพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสำหรับพระหัตถ์ในการศึกสงครามมาแต่เดิม)

๑๕. พระแสงขอตีช้างล้ม

๑๖. พระแสงขอคร่ำด้ามไม้เท้า

๑๗. พระแสงชนักต้น

๑๘. พระแสงศร ๓ เล่ม (สร้างในรัชกาลที่ ๔ พึ่งตั้งงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นทีแรกเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕)

หมวดเครื่องสูง

๑. พระเศวตฉัตร (คือพระเศวตฉัตรพระคชาธาร)

๒. พระเสมาธิปัตย

๓. พระฉัตรชัย

๔. พระเกาวพ่าห์[๑๑๓]

๕. ธงชัยกระบี่ธุช

๖. ธงชัยครุธพ่าห์

หมวดเครื่องราชูประโภค

๑. พานพระชันหมาก

๒. พระสุพรรณศรีบัวแฉก

๓. พระเต้าพระสุธารส

๔. พระสุพรรณราช

เครื่องตั้งเคียงพระแท่นมณฑล

ตู้เทียนเท่าพระองค์คู่ ๑ เทียนพระมหามงคลคู่ ๑ (เข้าใจว่ามีขึ้นเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔)

ปืนทองรางเกวียนขนาดย่อม ชื่อมหาฤกษ์ ๑ มหาชัย ๑ มหาจักร ๑ มหาปราบ ๑ ปืน ๔ กระบอกนี้หล่อเมื่อในรัชกาลที่ ๔ สำหรับยิงเป็นฤกษ์ในการพระราชพิธีบางอย่าง เช่นยกเศวตฉัตรและเริ่มยิงอาฏาณาฯ พิธีตรุษเป็นต้น.

อนึ่งที่ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตรงกลางแขนยันต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อออกมาแขวนยันต์พระอรหันต์ประจำทิศทั้ง ๘ ยันต์นี้ ก็เป็นของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริขึ้น

พรรณนาว่าด้วยแก้ไขระเบียบการพิธีแล้ว ทีนี้จะกล่าวถึงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ทำในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ต่อไป การจารึกพระสุพรรณบัฏ ได้พบสำเนาหมายรับสั่ง อันเป็นแบบที่ใช้ในเวลาก่อนบรมราชาภิเษก จึงคัดสำเนามาลงไว้ให้เห็นแบบด้วย ดังนี้.

“พระยาบำเรอภักดิ์ รับสั่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์กรมขุนพินิตประชานาถ (ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน)[๑๑๔] โปรดเกล้าฯ สั่งว่า พระโหราธิบดี หลวงโลกทีป ขุนโชติพรหมมา ขุนเทพพยากรณ์ โหรคำนวณพระฤกษ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกทูลเกล้าฯ ถวาย” ต่อนี้จะคัดสำเนาฎีกา คำนวณของโหร ซึ่งมีฉะบับปรากฏอยู่ลงไว้ด้วย เพื่อรักษามิให้สูญไปเสีย[๑๑๕]

“ข้าพระพุทธเจ้า พระโหราธิบดี เจ้ากรม ๑ ขุนโชติพรหมมา ปลัดกรม ๑ โหรหน้าหลวงโลกทีป[๑๑๖] เจ้ากรม ๑ ขุนเทพพยากรณ์ ปลัดกรม ๑ โหรหลัง โหรมีชื่อคำนวณพระฤกษ์มงคลมหาราชาภิเษกทูลเกล้าฯ ถวาย”

“ศิริศยุภามัศดุ พระพุทธศักราชอดีตกาล ชมัยสหัสสสังวัจฉร จตุสตาธฤก เอกาทศสังวัจฉร ปัตยุปันกาล มังกรสังวัจฉร กติกมาส ศุกรปักษเตรัศมีย ดฤษถีพุทธวาร บริเฉทกาลอุกฤษฐ เวลาบ่ายแล้ว ๓๐ นาฑี พระลักขณาสถิตยราศีมังกร เสวยพระฤกษ์บุรพสาฬห ๒๐ เกาะนะวาง ๕ เกาะตรียางค์ ๗ พระจันทรสถิตยราศีมิน เสวยฤกษ์บุพพภัทร ๒๕ พระอาทิตยสถิตยราศีดุลย พระอังคารสถิตยราศีกรกฎ พระพุทธสถิตยราศีดุลย พระพฤหัสบดีสถิตยราศีมิน พระศุกรสถิตยราศีสิงห์ พระเสาร์สถิตยราศีพิจิก พระราหูสถิตยราศีกรกฎ เป็นพระมหาพิชัยมงคลอุดมฤกษ์ ขุนโชติพรหมมาได้จารึกดวงพระชันษานายราชสารได้จารึกพระนามลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏทองคำเนื้อแปดเศษสอง ดวงพระชันษากว้าง ๑๐ นิ้ว ยาว ๑๐ นิ้ว หนัก ๒ ตำลึง ดวงพระนามกว้าง ๗ นิ้ว ยาว ๑๔ นิ้ว หนัก ๒ ตำลึง พระมหาราชครูจุณเจิมแล้ว พันด้วยไหมเบญจพรรณบรรจุไว้ในพระกล่องทองคำ จำหลักลายกุดั่น แล้วเชิญลงไว้ในหีบถมยาดำตะทอง มีถุงเข้มขาบนอกตีตราประจำเล็บ เชิญขึ้นไว้บนพานทองสองชั้นสำรับใหญ่ ปิดคลุมปักเลื่อม ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันสมโภชเวียนเทียน มีบายศรีแก้ว ๑ บายศรีทอง ๑ บายศรีเงิน ๑ บายศรีตอง ๒ สำรับ ศีร์ษะสุกร ๒ ศีร์ษะเครื่องกระยาบวชพร้อมสรรพด้วยแตรสังข์มโหรีปี่พาทย์ กลองแขก ฆ้องชัย พระมหาราชครูเป่าพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ พระมหาสังข์อุตราวัฏสมโภชเสร็จแล้ว เชิญประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม”

ส่วนการจัดพระราชมนเทียรสถานสำหรับพระราชพิธีนั้น ที่บนพระที่นั่งไพศาลทักษิณตั้งพระแท่นมณฑล พระที่นั่งอัฐทิศ พระที่นั่งภัทรบิฐแขวนยันต์พระเจ้า และทอดอาสนสำหรับพระสงฆ์ ๓๐ รูปสวดมนต์ ที่ชาลาระหว่างพระที่นั่งไพศาลทักษิณกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทางตะวันออกปลูกมณฑปพระกระยาสนาน หุ้มผ้าขาวแต่งเครื่องทองมีที่ขังน้ำสรงมุรธาภิเษกอยู่ข้างบน[๑๑๗] ในพระมณฑปตั้งถาดทองรองตั่งไม้มะเดื่อที่เสด็จประทับสรงพระกระยาสนาน และรอบพระมณฑปปักเครื่องสูงหุ้มผ้าขาวเครื่องทอง ต่อออกมาตั้งราชวัตรฉัตรทองฉัตรนากฉัตรเงินรายเป็นระยะอีกชั้น ๑ ที่ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จัดเป็นที่พระสงฆ์สวดภาณวาร ตั้งตู้เทียนชัยและเตียงพระสวดทางด้านเหนือทอดอาสนสำหรับพระสงฆ์ ๕๐ รูป ทางด้านตะวันออก[๑๑๘] และตั้งเครื่องสูงรายรอบ ในท้องพระโรงบนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์จัดเป็นที่พระสงฆ์ไทยกับมอญพระราชาคณะ ๒ พระครูปริตร ๘ รวม ๑๐ รูป สวดทำน้ำพระพุทธมนต์ ส่วนพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานนั้น จัดสำหรับพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร ที่ในพระที่นั่งองค์ตะวันตกตั้งเครื่องนมัสการพระชัยเนาวโลหะ[๑๑๙] และตั้งเครื่องพิธีคือบาตร์น้ำบาตร์ทราย พระมหามงคล และพานทองรองถุงข้าวเปลือกถั่วงา ศิลาบดและผลฟักเขียวสิ่งของเครื่องพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร ทอดอาสนสำหรับพระสงฆ์ ๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์บนพระแท่นที่บรรทม[๑๒๐] และราชอาสน์สำหรับเสด็จประทับทรงสดับพระพุทธมนต์ ที่ภายนอกพระราชมนเทียรสถานปลูกโรงพิธีพราหมณ์และตั้งพนมบัตรพลีที่โหรบูชาเทวดาที่หน้าพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ และตั้งราชวัตรปักฉัตรเบญจรงค์รายรอบพระราชมนเทียรและรายทางออกไปจดถึงประตูวิเศษไชยศรี แล้วล่ามสายสิญจน์ตลอดทุกสถานพระราชมนเทียรที่ทำการพิธี ไปจนองค์พระแก้วมรกตในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[๑๒๑]

ถึงวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๗ พฤศจิกายนเป็นวันเริ่มงาน พราหมณ์เข้าพิธี พระสงฆ์สวดมนต์ ตั้งน้ำวงดัาย เวลาบ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาเขียนทองสีขาว ฉลองพระองค์เยียรบับขาว คาดสายรัดพระองค์เพ็ชร์ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย[๑๒๒] แล้วเสด็จยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมวงศานุวงศทรงผ้าเขียนทอง ฉลองพระองค์เยียรบับ คาดสมรส ข้าราชการที่มีตำแหน่งเฝ้าข้างในแต่งตัวนุ่งสมปักลาย ใส่เสื้อเยียรบับเข้มขาบและอัตหลัดตามบรรดาศักดิ์คาดเสื้อครุยเข้าเฝ้า ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทรงศีลแล้วพระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ ๓๐ รูป มีกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์เป็นประธาน เจริญพระพุทธมนต์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ[๑๒๓] ในเวลาพระสงฆ์สวดมนต์นั้น ทรงจุดธูปเทียนเครื่องสักการะที่พระสยามเทวาธิราช ที่พระที่นั่งอัฐทิศ และพระที่นั่งภัทรบิฐทั้ง ๓ แห่ง.

ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๙ คํ่า เวลาเช้าพระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ ผู้น้อยพระครูถานานุกรมเปรียญรวม ๘๕ รูป กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์เป็นประธาน พร้อมกัน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงศีลแล้ว ครั้นได้เวลาพระฤกษ์ทรงถวายเทียนชะนวนแก่กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ทรงจุดเทียนชัย ขณะนั้นพระสงฆ์สวดคาถาสำหรับการจุดเทียนชัย เจ้าพนักงานประโคมดุริยดนตรีและยิงปืนฤกษ์ ยกพระเศวตฉัตร ๙ ชั้นในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และที่ในห้องพระมหามนเทียร ที่พระบรรทมและพระเศวตฉัตร ๗ ชั้นที่พระที่นั่งอัฐทิศ พระที่นั่งภัทรบิฐ ขึ้นที่ทั้ง ๔ องค์ แล้วทรงพระราชอุทิศเครื่องพลีกรรมใหเจ้าพนักงานเชิญไปบวงสรวงเทวดา ณ เทวสถานที่ต่าง ๆ ๑๕ แห่งคือ.

๑. พระนเรศวร[๑๒๔] ณ หอโรงแสงใน เจ้าพนักงานพระภูษามาลาเชิญเครื่องพลีกรรมไปบวงสรวง

๒. เทวดารักษาพระที่นั่งดุสิตมหาประสาท

๓. เทวดารักษาพระมหาเศวตฉัตรที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

๔. เทวดารักษาพระมหาเศวตฉัตรที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

๕. เทพารักษ์ ณ หอแก้ว (พระภูมิ) ในพระบรมมหาราชวัง

๖. เทพารักษ์หลักเมือง

๗. เทพารักษ์ที่ตึกดิน

๖ แห่งนี้โหรเชิญเครื่องพลีกรรมไปบวงสรวง

๘. พระเสื้อเมือง[๑๒๕]

๙. พระทรงเมือง

๑๐. พระกาฬชัยศรี

๑๑. เจ้าเจตคุก[๑๒๖]

๔ แห่งนี้กรมเมืองเชิญเครื่องพลีกรรมไปบวงสรวง

๑๒. เทพารักษ์ที่หอเชือกกรมช้าง กรมช้างเชิญเครื่องพลีกรรมไปบวงสรวง

๑๓.พระอิศวร ณ เทวสถาน

๑๔. พระนารายณ์ ณ เทวสถาน

๑๕. พระพิฆเณศวร ณ เทวสถาน

๓ แห่งนี้ พระมหาราชครูพิธีเชิญเครื่องพลีกรรมไปบวงสรวง

ครั้นจุดเทียนชัยแลยกพระเศวตรฉัตรแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนผ้าไตรและย่ามแก่พระสงฆ์ทั้ง ๘๕ รูป แล้วพระสงฆ์ราชาคณะซึ่งจะสวดมนต์ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ๓๐ รูป กับพระสงฆ์ราชาคณะธรรมยุติกาที่จะสวดมนต์ในที่พระบรรทม ๕ รูป รวมพระสงฆ์ ๓๕ รูปเข้าไปฉันในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระสงฆ์อีก ๕๐ รูปฉันอยู่ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้ามา ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระสงฆ์ถวายพรพระแล้ว ทรงประเคนภัตตาหารเลี้ยงพระทั้งที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ข้าราชการเลี้ยงพระที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เลี้ยงพระแล้ว เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชาพระธรรมที่เตียงสวด พระราชาคณะเริ่มสวดภาณวารที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทั้งกลางวันกลางคืนต่อไปตลอด ๓ วัน.

เวลาบ่ายพระบรมวงศานุวงศข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแต่งเต็มยศอย่างกล่าวมาแล้ว เข้าไปพร้อมกันอยู่ตามตำแหน่ง พระสงฆ์รวม ๕๐ รูป นั่งที่สวดมนต์ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องอย่างวันก่อน เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระแล้ว เสด็จยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระสงฆ์ราชาคณะ ๓๐ รูป มีกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์เป็นประธาน เข้าไปยังที่สวดมนต์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และทรงจุดเทียนเครื่องบูชาพระที่พระแท่นมณฑลและทรงสมาทานศีลแล้วทรงจุดธูปเทียนบูชาเทวดา ขณะนั้นพระราชาคณะขัดตำนาน จึงประกาศเทวดาดังนี้.

“สรชฺชํ สเสนํ สพนูธํ, ปริตฺตานุภาโว สทารกฺขตูติ ผริตฺวาน เมตฺตํ สเมตฺตา ภทนฺตา อวิกฺขิตฺตวิตฺตา ปริตฺตํ ภณนฺตุ ฯ

ภทนฺตา ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าจงสำรวมจิตต์อย่าให้ฟุ้งส้าน จงกอปด้วยเมตตาจิตต์ แผ่เมตตาพรหมวิหารไปในราชสกุล แล้วจึงสำแดงซึ่งปริตด้วยอธิษฐานจิตต์ ว่าปริตตานุภาโว อันว่าอานุภาพปริตนี้ จงคุ้มครองป้องกันรักษาสมเด็จบรมกระษัตริย์ กับทั้งไอสุริยราชสมบัติ และพระบรมราชวงศานุวงศ และเสนาพฤฒามาตย์ ให้ปราศจากสรรพภยันตราย เจริญสุขสิริสวัสดิ เป็นนิพัทธกาลนิรันดร เทอญ ฯ

สมนฺตา จกฺกวาเฬสุ อตฺราคจฺฉนฺตุ เทวตา
สทฺธมฺมํ มุนิราชสฺส สุณนฺตุ สคฺคโมกฺขทํ ฯ
สคฺเค กาเม จรูเป สิริสิขรตเฏ จนฺตสิกฺเข วิมาเน
ทีเป รฏฺเฐจ คาเม ตรุวนคหเณ เคหวตฺถุมฺหิ เขตฺเต
ภุมฺมา จายนฺตุ เทวา ชลถลวิสเม ยกฺขคนฺธพฺพนาคา
ติฏฺฐินฺตา สนฺติเก ยํ มุนิวรวจนํ สาธโว เม สุณนฺตุ ฯ
ธมฺมสวนกาโล อยมฺภทนฺตา
ธมฺมสวนกาโล อยมฺภทนฺตา
ธมฺมสวนกาโล อยมฺภทนฺตา ฯ

โภนฺโต เทวสังฆา ดูกรหมู่อมร เทพนิกรและยักขกุมภัณฑ์ คันธัพพทานพนาค มีอาทิ คือ ท้าวธตรฐราช และท้าววิรุฬหก และท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวรุราช กับทั้งสมเด็จท้าววัชรินทร เทพโกสีย์ ผู้มีมหิทธิอำนาจ อันมีทิพยโสตทิพยจักษุอันประเสริฐ ซึ่งบังเกิดประดิษฐานอยู่ในทิพยพิมานมาศ และเทพยภูมิพฤกษอากาศฉกามาวจร โสฬสพรหมพิภพอีกองค์มหิศรวิษณุนพเคราะห์เทพยดาเทวาทศราศีสถิตย์ กับทั้งเทพยสัปดาพิสนักษัตรดาราและเทพยท้าวอันอภิบาลบำรุงรักษาพระมหานครบวรราชวัง พระที่นั่งเศวตฉัตรมณฑิรรัตนปราสาท จงมาสโมสรสันนิบาตในพระราชนิเวศมหาสถาน สมาทานปัญจางคิกศีลสดับรับรสพระสัทธรรมพุทโธวาทสัมโมทนิยกถา แล้วจงปรีดารับราชพลีทั้งสองประการ คืออามิศพลีกับธรรมพลีที่ทรงตกแต่งเครื่องมโหฬารสักการพิธี มีต้นว่าธูปเทียนสุคนธบุบผาอันทรงบูชาพระรัตนตรัย ในการพระบรมราชาภิเษก ทรงพระราชูทิศแผ่ผลพระราชกุศลไปนั้น อีกอเนกสิ่งสรรพบูชาสักการอุฬาร อันมีในพระมหาวิหารนานาพุทธสังวาส มีพระศรีรัตนศาสดารามเป็นต้น กับทั้งพระราชอานิสงส์ผลที่ทรงถวายจตุปัจจัยมหาทานบริขารวิธี มีไตรจีวรเป็นอาทิแก่พระสงฆ์ และทรงพระราชทานประณีตโภชาหารเลี้ยงราชบรรพสัขทั้งหลายในมหาราชาภิเษกสมาคมนี้ เทพยเจ้าทั้งปวงจงสโมสรเปรมปรีดิ์ปราโมทย์รับอนุโมทนาในทานมัยบุญกิริยากุศลสุจริต แล้วจงมีกมลจิตต์พิจารณาในพระอนิจจตาทิไตรลักษณญาณ ด้วยสมเด็จพระบรมนราธิบาลอันเป็นปฐมกระษัตริย์ ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยานี้ ได้เสวยสวรรยาธิปัติถวัลราชสืบศรีสุริยสันตติวงศ์ถึงสี่พระองค์แล้วล่วงมา ก็มิได้พานพ้องต้องปัจจุบันพยาธิทุกขภัยพยาธิ เป็นต้นว่าปักขัณฑิกโรคาพาธอันมีแก่หมู่มนุษย์ทั้งหลายและนานาเนกพิบัติอุปัทวภยันตรายทั้งปวง ล่วงพระชนม์ชีพโดยอายุไขยทิวงคต ควรแก่กำหนดโดยปกติธรรมดา จะได้ถึงแก่การมรณภาพด้วยเหตุอันใดอันหนึ่งนั้นหามิได้ ก็เห็นแท้ว่าด้วยอานุภาพแห่งเทพไททั้งปวงช่วยอภิบาลบริรักษ์ ทั้งหมู่อริราชปรปักษ์ก็มิได้มาย่ำยีกระทั่งถึงพระราชธานีอันเป็นอุดมสถาน กาลบัดนี้สมณพราหมณาจารย์และพระราชวงศาคณาภิมุขมาตย์มนตรีมีสัมโมทนจิตต์มิได้คิดเภทนาการอันร้าวราญจากกัน กอปด้วยสโมสรสมานฉันท์ชื่นชมประชุมเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เป็นเอกอรรคอดุลยขัติยสุขุมาลยบดินทร์ อสัมภินอุภโตสุชาติ ขึ้นเสวยมไหสุริยราชสมบัติ ดำรงเศวตบรมราชาฉัตรผลัดแผ่นดินใหม่ จะได้ถวายพระนามกรประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร์วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรรังกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฐวิบูลย์ บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์มหาชโนตมางคประนต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติ คุณอดุลยวิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญา พินิตประชานาถ เปรมกมลขัติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ บรมกฤษฎาภินิหาร บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันตมหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร์ปรมินทรมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จถวัลยราชพระราชวังกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถานฯ เทพยเจ้าทั้งหลายจงพร้อมกันบริบาลถวายพระพรอำนวยชัย ให้เจริญพระราชสิริสวัสดิวัฒนา จงไพบูลย์พระราชกฤษฎาดิเรกยศ ปรากฏแผ่ไพศาลไปในนานาประเทศ ทุกขอบเขตต์ขัณฑสีมาระอาพระเดช ปราศจากสรรพภยาเภทพยาธิทุกข์ จงเสวยไอสุริยสุขฑีฆายุสมสมบูรณ์ พูนพิพัฒนยืนโยคนฤโศกนิรันตราย กับทั้งพระบรมราชวงศาเสนาพฤฒามาตย์ราชบรรพสัชทั้งหลายและสมณพราหมณาประชากรในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยา ทั่วทุกคามนิคมชนบทสีมาประเทศราชธานี บุรีรอบขอบขัณฑ์ปัจจันตนครา บรรดาเป็นเมืองขึ้นออกแก่พระมหานครนี้ ทั้งเมืองเอกโทตรีจัตวา ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงทั่วขอบเขตต์ประเทศรัฐสีมา ขออานุภาพเทพยดามเหศวรศักดิ์ทั้งหลาย และเทพยอันบริบาลรักษาพระมหานครราชธานีนี้ มีต้นว่าพระกาฬชัยศรีและพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองเทพารักษ์หลักพระนคร จงบันดาลให้บรรดานรราชดัษกรทั้งหลาย ฝ่ายสัมมาทิษฐิและมิจฉาทิษฐิ ในนานาประเทศที่มีเดชอำนาจเร่งครั่นคร้ามขามขยาดยำเยง เกรงพระราชกฤษฎาธิการ ให้สยดสยอนหย่อนกำลังหาญระทดท้อต่อบุญญานุภาพบารมี อยาได้ก่อกิจจอมิตรไพรีมารันทำประทุษฐร้าย จงบันดาลให้พระบรมวงศาเสนามิตย์พิริยโยธาทั้งหลายที่มีจิตตย่อท้อต่อณรงค์ให้มีมนัสทรนงองอาจสุภาพเหี้ยมหาญในการยุทธสงคราม มิได้เข็ดขามคิดย่อท้อต่อปัจจามิตร์ภัย อาจสามารถจะปราบปรปักษ์ประลัยลาญชีพิตพินาศ ให้ปราชัยปลาศคืนนครตน ยังหมู่นิกรประชาชนให้พ้นปัจจนีกอำนาจ อีกมนุษย์ภยันตรายจงบำราศสรรพอุปัทวโรคทุกขาดูร ให้ระงับดับสูญเลื่อมสิ้นทุกประการ มีกมลเบิกบานปรีดิ์เปรมเกษมสุขทั่วทุกเนกมนุษย์นิกรประชาคณาสัตว์จตุบททวิบาท จงสมบูรณ์พูลสวัสดิ์บำราศพิบัติวัฒนา ทั้งวัสโสธกธาราให้ตกต้องตามฤดูกาล เป็นอุปการะแก่สรรพธัญญาหารพืชน์ผลพฤกษาลดาชาติ ให้บริบูรณ์ทั่วประเทศราชภาราคามนิคมชนบท กำหนดในบริเวณจังหวัด พระราชอาณาจักร์ประวัติมณฑล สกลเขตขัณฑ์ปัจจันตพิสัยสีมา โดยในประกาศอันอาตมพรรณนามาฉะนี้[๑๒๗]

ประกาศเทวดาจบแล้ว พระมหาราชครูพราหมณ์ถวายน้ำสังข์ ใบมะตูมทรงทัดแล้ว ถวายใบสมิทธทรงปัดพระเคราะห์คือใบมะม่วง (เป็นเครื่องหมาย ว่าปัดภยันตราย) ๒๕ ใบ ใบทอง (เป็นเครื่องหมายว่าปัดอุปัทวันตราย) ๓๒ ใบ ใบตะขบ (เป็นเครื่องหมายว่าปัดโรคันตราย) ๙๖ ใบ ทรงรับมากวาดพระองค์แล้วส่งแก่พระราชครูเอาไปบูชาชุบโหมเพลิงป้องกันอันตรายทั้งปวงตามพิธีพราหมณ์ แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระมหามนเทียรประทับทรงพระมหามงคลสดับพระปริตในห้องที่พระบรรธม พระสงฆ์เจริญสตปริตทั้ง ๓ แห่ง พิธีเวลาเย็นมีเหมือนกันดังกล่าวมานี้ทั้งวันแรม ๙ ค่ำแรม ๑๐ ค่ำแรม ๑๑ ค่ำ เวลาเช้าแรม ๑๐ ค่ำแรม ๑๑ ค่ำก็เสด็จทรงประเคนเลี้ยงพระเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วในวันแรม ๙ ค่ำนั้น

ถึงวันพุธ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[๑๒๘] เวลาใกล้รุ่ง ทรงพระภูษาขาวเขียนทอง ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง รัดพระองค์ประดับเพ็ชร์เหมือนอย่างวันทรงฟังสวด เสด็จเข้าไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณทรงจุดเทียนนมัสการแล้ว ครั้นเวลารุ่งแล้วกับ ๕๔ นาที พระลักขณาสถิตย์ราศีพิจิก เกาะนวางค์ ๔ เกาะตรียางค์ ๓ เสวยอนุราช ๑๗ พระอาทิตย์สถิตย์ราศีตุลย์ พระจันทร์สถิตราศีกันย์ เสวยฤกษ์หัตถ ๑๓ พระอังคารสถิตย์ราศีกรกฎ พระพุทธสถิตย์ราศีดุลย์ พระพฤหัสบดีสถิตย์ราศีมิน พระศุกรสถิตย์ราศีกันย์ พระเสาร์สถิตย์ราศีพิจิก พระราหูสถิตย์ราศีกรกฎ บริบูรณ์ด้วยนักษัตร์ฤกษ์เป็นมหาชัยมงคลบรมราชาภิเษกต้องอย่างขัติราชประเพณีมาแต่ก่อน พระโหราธีบดี พระมหาราชครูทูลอัญเชิญเสด็จสู่ที่สรง จึงเสด็จไปยังมุขกระสันหอพระสุราลัยพิมาน เจ้าพนักงานชาวพระภูษามาลาถวายพระภูษาถอดแล้วพระเมธาธิบดีเชิญพระชัย หลวงอัฏยาเชิญพระพิฆเณศวร์ พระมหาราชครู พระครูอัษฎาจารย์โปรยเข้าตอก หลวงราชมุนี หลวงศิวาจารย์เป่าสังข์ทักษิณาวัฏนำเสด็จไปสู่มณฑปพระกระยาสนาน เสด็จสถิตย์เหนืออุทุมพรราชอาสน์ ผันพระพักตร์สู่ทิศพายัพ จึงพระราชโกษาถวายเครื่องพระกระยาสนาน หลวงราชวงศาไขสหัสธารา ในขณะนั้นชาวประโคมสังข์แตรและเครื่องดุริยดนตรีประโคมขึ้นพร้อมกันและกรมกองแก้วจินดายิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร์ มหาปราบด้วย เมื่อสรงสหัสธาราแล้ว จึงกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ถวายน้ำมนต์ด้วยครอบพระกิ่ง กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ถวายพระเต้าประทุมนิมิตรทอง ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทถวายพระเต้าประทุมนิมิตรนาก ๑ กรมขุนวรจักรธรานุภาพถวายพระเต้าประทุมนิมิตรเงิน ๑ สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์ถวายพระเต้าประทุมนิมิตรสัมฤทธิ์ ๑ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศก็ถวายพระเต้าองค์ ๑[๑๒๙] ต่อนั้นพระบรมวงศฝ่ายใน[๑๓๐] คือพระเจ้าบรมวงศเธอพระองค์เจ้าปุกในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเจริญพระชันษายิ่งกว่าเจ้านายพระองค์อื่น กับพระเจ้าราชวรวงศเธอ พระองค์เจ้าลม่อมในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งได้บำรุงเลี้ยงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาถวายพระเต้าน้ำมนต์ด้วย ๒ พระองค์ แล้วพระมหาราชครูพิธีถวายพระเต้าเบญจครรภ พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ พระครูอัษฎาจารย์ถวายพระมหาสังข์ทอง หลวงอัฏยาถวายพระมหาสังข์เงิน หลวงราชมุนีถวายพระมหาสังข์นาก หลวงศิวาจารย์ถวายพระมหาสังข์งา หลวงเทพาจารย์ถวายพระครอบทรงรับน้ำด้วยพระหัตถ์ ขุนรักษนารายณ์ ขุนราชธาดาเป่าสังข์ทักษิณาวัฏ ๒ องค์ ขุนหมื่นพราหมณ์เป่าสังข์อุตราวัฏและไกวบัณเฑาะว์ตลอดเวลาประโคม

ครั้นสรงเสร็จแล้ว พระราชโกษาถวายพระภูษาทรงผลัดเสด็จขึ้นทรงเครื่อง ณ มุขกระสันหอพระสุราลัยพิมาน ทรงพระภูษาเขียนทองพื้นสีเขียว ทรงฉลองพระองค์เยียรบับ แล้วทรงสรวมฉลองพระองค์ครุยกรองทอง เสด็จมาสถิตย์เหนืออัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้พระเศวตฉัตร ๗ ชั้น ผันพระพักตร์ไปทิศพายัพเป็นปฐม จึงราชบัณฑิตยถวายน้ำพระพุทธมนต์ พราหมณ์ถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏน้ำกลศ ทรงรับมาสรงพระพักตร์แล้วเสวยหน่อยหนึ่ง แล้วผันพระองค์ไปตามลำดับทิศโดยทักษิณาวัฏ ทรงรับน้ำพระพุทธมนต์น้ำสังข์ทั้ง ๘ ทิศ แล้วพระมหาราชครูประคองพระองค์เชิญเสด็จโดยทางลาดพระบาทมาขึ้นพระที่นั่งภัทรบิฐ มิพระเศวตฉัตร ๗ ชั้น เสด็จนั่งเหนือแผ่นทองซึ่งเขียนรูปราชสีห์ ผันพระพักตร์สู่บูรพา พระมหาราชครูร่ายเวทสรรเสริญไกลาศแล้ว ถวายพระสังวาลพราหมณ์ ๓ เส้นและพระสุพรรณบัฏ เบญจราชกกุธภัณฑ์ แล้วถวายพระแสงอัษฎาวุธ และเครื่องราชูปโภค ทรงรับพระสังวาลและพระมหามงกุฎมาสอดทรง พระแสงขรรค์วางเบื้องขวา ธารพระกรวางเบื้องซ้าย เครื่องนอกนี้ทรงรับแล้วส่งพระราชทานพระราชโกษารับต่อพระหัตถ์ส่งให้เจ้าพนักงาน แต่ฉลองพระบาทพระมหาราชครูรับมาสอดทรงถวาย แล้วร่ายเวทถวายพระพรชัย แล้วพระมหาราชครูพิธีกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม สิริราชสมบัติอันพระมหาพระกระษัตริย์จะครอบครองมิได้ ข้าพระพุทธเจ้ากับเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เป็นที่พึ่งแก่สมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรสืบไป ขอเดชะ”

หลวงอัฏยา (หัวหน้าพราหมณ์พฤฒิบาท ว่าที่พระหมอเถ้า)[๑๓๑] กราบบังคมทูลว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายพระมหาเศวตฉัตรเป็นที่เฉลิมสิริราชสมบัติสำหรับบรมกษัตราธิราชเจ้าสืบมา แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ขอเดชะ”

จึงมีพระบรมราชโองการพระราชทานพระบรมราชานุญาตแก่พระมหาราชครูว่า “พรรณพฤกษชลธี และสิ่งของในแผ่นดินทั่วอาณาเขตต์พระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด” พระมหาราชครูรับพระราชโองการเป็นปฐมว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาทใส่เกล้าใส่กระหม่อม ขอเดชะ” แล้วทรงโปรยดอกพิกุลทองพิกุลเงินพระราชทานพวกพราหมณ์ และทรงหลั่งน้ำทักขิโณธกทรงอธิษฐาน ขณะนั้นพราหมณ์เป่าสังข์ไกวบัณเฑาะว์ และชาวประโคมก็ประโคมขึ้นพร้อมกัน อนึ่งในตอนเช้าวันนี้พระสงฆ์ทำพิธีดับเทียนชัยที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วพระสงฆ์ทั้ง ๘๕ รูป ขึ้นไปพร้อมกันอยู่ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันตก สวดชัยปริตถวายเวลาสรง แล้วเจ้าพนักงานถวายภัตตาหาร ครั้นเมื่อเสร็จพิธีราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปลื้องพระมหามงกุฎ และฉลองพระองค์ครุยแล้ว เสด็จขึ้นไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทรงถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ถวายอติเรกเป็นปฐม[๑๓๒] พระสงฆ์ราชาคณะสวดสรรพมงคล แล้วถวายพระพรลา จึงพระราชครูพิธีกับพระหมอเถ้าขึ้นไปบนพระมหามณเทียรประพรมน้ำกลศน้ำสังข์รอบพระมหามณเทียรทั้งภายในและข้างนอก อวยชัยถวายพระพรในการเฉลิมพระราชมณเทียร

เวลาเช้าวันนั้น เจ้าพนักงานจัดเตรียมการเสด็จออกรับราชสมบัติ และให้พระบรมวงศานุวงศ์เสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าพร้อมกัน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย อันเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ข้างหน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยตั้งแถวพวกชาวประโคมสังข์แตรกลองชนะและมโหรธึก ต่อไปทางหน้าทิมดาบตำรวจตั้งแถวพวกทหารอย่างยุโรปเป็นกองเกียรติยศ และที่ตรงเกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ด้านเหนือตั้งพระราชเชนทรยาน ด้านตะวันตกผูกช้างต้นเจ้าพระยาปราบไตรจักร์ราชพาหนะ นอกประตูพิมานชัยศรีออกไป พวกทหารอาสาสิบหมู่แต่งเครื่องเสนากุฏถือศัสตราวุธต่างๆ ยืนกลบาทสองข้างถนน และในที่สนามปลูกปรำยืนช้างต้นม้าต้น ที่ท่าราชวรดิษฐแต่งเรือพระที่นั่งกิ่งศรีสมรรถชัยลำ ๑ กับเรือพระที่นั่งกิ่งไกรสรมุขลำ ๑ เทียบท่ามีพลพายประจำลำพร้อมสรรพ ครั้นถึงเวลาเช้า ๑๑ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเยียรบับฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระมหามงกุฎและพระแสงขรรค์ชัยศรีเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับพระแท่นเศวตรฉัตร์[๑๓๓] พระบรมวงศานุวงศ และข้าราชการทั้งปวงถวายบังคม เหล่ากงสุลต่างประเทศกับนายทหารเรือรบอังกฤษ ซึ่งได้อนุญาตให้เข้ามาเฝ้าด้วยก็ถวายคำนับพร้อมกัน ขณะนั้นชาวประโคม ๆ สังข์แตรกลองชนะมโหรธึก กองแก้วจินดายิงปืนมหาฤกษ์มหาชัยมหาจักร์มหาปราบ ทหารยิงปืนใหญ่สลุตในท้องสนามหลวง ทหารเรือยิงปืนใหญ่ในเรือรบยงยศอโยธยา และเรือสยามูประสดัมภ์ และเรือรบอังกฤษชื่ออะวอง ก็ยิงปืนใหญ่สลุตด้วยแห่งละ ๒๑ นัด.

ครั้นสุดเสียงประโคม พระมหาราชครูพิธีร่ายเวทถวายพระพร พราหมณ์เป่าสังข์แล้ว จึงพระศรีสุนทรโวหารที่พระอาลักษณ์กราบบังคมทูลเบิกข้าราชการว่า

“สรวมชีพข้าพระพุทธเจ้าผู้รับอธิบายแห่งท่านทั้งหลาย คืออัครมหาเสนาบดีและอำมาตยมุขมนตรีข้าทูลละอองธุลีพระบาท บรรดาพร้อมกันในสถานที่นี้ ขอถวายอัญชลีบังคมประนมน้อมศรีโรตมางค์แด่พระบาทสมเด็จบรมนาถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก เป็นองค์เอกอัครมหาราชาธิราชทรงพระยศวโรภาศสถิตย์ภายใต้พระมหาเศวตฉัตรเหนือพระวโรดมบรมรัตนราชบัลลังก์มีพระปรมาภิธัยได้ประดิษฐานทั้งในแผ่นพระสุพรรณบัฏ โดยอักษรลักษณแสดงอรรถว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติราชนิกโรดม จาตุรัตนบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศรราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฐไพบูลย์ บูรพาดุลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญญลักษณ์วิจิตรโสภาคยสรรพพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ วิสิษฐศักดิสมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ บรมกฤษฎาภินิหาร บริบูรณ์คุณสาร สยามาทินครรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิดชัย สกลมไหสวริยมหาสามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์ครรอนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตสหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลโพศาลมหารัษฎาธิบดินทร์ ปรมินทร์ธรรมิกมหาราชาธิราชบรมนาถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชในพระบรมมหาราชวังณกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทรายุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน”

“สรวมชีพข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก พระยาเทพประชุน เจ้าพนักงานกรมพระกลาโหม พระยาพิพัฒนโกษา เจ้าพนักงานกรมท่าสิบสองพระคลัง[๑๓๔] พระยามหาอำมาตย์ ว่าที่เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ เจ้าพนักงานกรมวัง เจ้าพระยายมราช เจ้าพนักงานกรมพระนครบาล พระยาอาหารบริรักษ์ เจ้าพนักงานกรมนา[๑๓๕] ขอรับพระราชทานพระบรมราชวโรกาศ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อจะกราบทูลพระกรุณามอบถวายสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องประดับพระบรมราชอิสสริยยศ และราชสมบัติทั้งปวงอันปฏิพัทธฉะเพาะพนักงานต่างๆ ตามธรรมเนียมแต่ก่อนมา ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมขอเดชะฯ”

สิ้นคำอาลักษณกราบทูลเบิกแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการพระราชทานพระบรมราชวโรกาศแก่บรรดาข้าราชการทั้งปวง ว่าต่อไปภายหน้า ถ้ามีเหตุการณ์อันสมควรจะกราบบังคมทูลฯ ให้มีโอกาศกราบบังคมทูลได้ตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจงทุกคน ตามสมควรแก่เหตุแห่งราชการ พระศรีสุนทรโวหารรับพระบรมราชโองการแล้ว ข้าราชการกราบถวายบังคมอีกครั้ง ๑

ขณะนั้นเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายกกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายพระยาช้างต้นพระที่นั่งพระยาม้าต้นพระที่นั่ง กับเมืองเอกโทตรีจัตวา ทั้งไพร่พลฝ่ายพลเรือน แด่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ขอเดชะ”

พระยาเทพประชุนราชปลัดทูลฉลองพระกลาโหม กราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายพระมหาพิชัยราชรถ เรือพระที่นั่งศรีสมรรถชัย เรือพระที่นั่งไกรสรมุข เรือกระบวนใหญ่น้อยและเครื่องสรรพยุทธทั้งปวง กับเมืองเอกโทตรีจัตวา ไพร่พลเมืองฝ่ายทหาร แด่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ขอเดชะ”

พระยาพิพัฒนโกษากราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายเครื่องพระพัทธยากรราชสมบัติทั้ง ๑๒ พระคลัง แด่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ขอเดชะ”

พระยามหาอำมาตย์กราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายพระที่นั่งมนเทียรปราสาทราชนิเวศน์มหาสถาน พระราเชนทรยาน ทั้งเครื่องสูงเฉลิมพระเกียรติยศ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ขอเดชะ”

เจ้าพระยายมราชกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทรายุธยามหาสถานแด่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ขอเดชะ”

พระยาประชาชีพกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายธัญญาหาร แดนสถานลานนาทั่วพระราชอาณาเขตต์ประเทศตำบลใหญ่น้อยทั้งปวง แด่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ขอเดชะ”

จึ่งมีพระราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยาและพระยาทั้งปวงว่า “สิ่งของทั้งนี้จงจัดแจงทำนุบำรุงไว้ให้ดี จะได้ป้องกันรักษาแผ่นดินและจะได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาสืบไป” เจ้าพระยาภูธราภัยผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีรับพระราชโองการกราบถวายบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาทใส่เกล้าใส่กระหม่อม ขอเดชะ” เมื่อข้าราชการฝ่ายไทยกราบบังคมทูลเสร็จแล้ว ซินยอวิเอนา กงสุลเยเนราลโปรตุเกศซึ่งเป็นหัวหน้านำชาวต่างประเทศทั้งปวง จึงกราบทูลถวายชัยมงคลแทนรัฐบาลต่างประเทศทั้งปวงที่มีทางพระราชไมตรี และมีพระราชดำรัสตอบตามสมควร[๑๓๖] แล้วเสด็จลงจากพระแท่นเศวตฉัตรประทับในพระฉาก ทรงเปลื้องพระมหามงกุฎเปลี่ยนทรงพระมหาชฎาแล้ว เสด็จเข้าไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณประทับพระที่นั่งภัทรบิฐท้าวรจันทร์ (มาลัย) กราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายพระสนม ๑๒ พระกำนัลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าพระเจ้าอยู่หัวขอเดชะ มีพระราชปฏิสัณถารตามสมควร พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในถวายธูปเทียนแล้ว เสด็จลงจากพระที่นั่งภัทรบิฐไปยังมุขกระสันหอพระสุราลัยพิมาน ทรงเปลื้องพระมหาชฎา และประทับรอพระฤกษ์อยู่ ณ ที่นั้น

ครั้นได้เวลาพระฤกษ์เฉลิมพระมหามนเทียร จึงเสด็จมายังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงโปรยดอกพิกุลทองพิกุลเงินไปตามทางมีนางเชิญเครื่องราชูปโภคตามเสด็จ แล้วมีนางเชื้อพระวงศ์[๑๓๗]อุ้มวิลา ๑ เชิญศิลาบด ๑ เชิญพานผลฟักเขียว ๑ เชิญพานพลข้าวเปลือก ๒ เชิญพานถั่ว ๑ เชิญพานงา ๑ ที่เชิงบันไดพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีนางชำระพระบาท ๒ คน ครั้นเสด็จถึงในที่ทรงเปลื้องฉลองพระองค์ครุย และทรงจุดเทียนนมัสการ แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นที่บรรทม พระองค์เจ้าปุกถวายดอกหมากทำด้วยทองคำหนัก ๕ ตำลึง พระองค์เจ้ายี่สุ่นถวายพระแส้หางช้างเผือก[๑๓๘] ท้าวทรงกันดาล (ศรี) ถวายลูกกุญแจ ทรงรับวางไว้ข้างที่ แล้วทรงเอนพระองค์ลงบรรทมเหนือพระแท่นที่โดยทักษิณปรัศว์เบื้องขวาเป็นพระฤกษ์ และพระเจ้าราชวรวงศเธอพระองค์เจ้าลม่อมถวายพระพรก่อน[๑๓๙] แล้วพระบรมวงศานุวงศทั้งนั้นถวายพระพรต่อภายหลัง และชาวประโคมดุริยางคดนตรีก็ประโคมขึ้นพร้อมกัน

ครั้นเสร็จการพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผลัดเครื่องแต่งพระองค์ทรงขาวเสด็จโดยทางข้างใน ทรงโปรยเงินไปตลอดทาง จนถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็จขึ้นไปทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการถวายบังคมและสดัปกรณ์พระบรมศพ กับทั้งพระบรมอัฏฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี แล้วเสด็จกลับคืนไปสู่พระมหามนเทียร

ครั้นเวลาบ่ายเจ้าพนักงานตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน บายศรีตอง เวียนเทียนสมโภชพระมหามนเทียรตามจารีตโบราณขัติยราชาธิราชเจ้าสืบมา[๑๔๐]

ต่อจากวันบรมราชาภิเษกมา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาเช้าทรงตั้งพระราชาคณะกับข้าราชการ ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้าและทรงรับดอกไม้ธูปเทียนซึ่งพระบรมวงศานุวงศ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทูลเกล้าฯ ถวาย[๑๔๑] ครั้นเวลาค่ำเสด็จออกทรงสดับพระธรรมเทศนาพิเศษเนื่องด้วยงานพระบรมราชาภิเษก ๔ กัณฑ์ คือ วันแรม ๑๓ ค่ำ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ถวายเทศนา ว่าด้วยทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตร วันแรม ๑๔ ค่ำ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ถวายเทศนา ว่าด้วยพระราชพงศาวดาร วันแรม ๑๕ ค่ำ (พระสาสนโสภณวัดราชประดิษฐ) ถวายเทศนามงคลสูตร เดือนอ้าย ขึ้นค่ำ ๑ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จี่วัดประยุรวงศาวาส) ถวายเทศนารัตนสูตร[๑๔๒] เป็นเสร็จงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[๑๔๓] ต่อนี้ก็แห่เสด็จเลียบพระนครซึ่งจะพรรณนาเป็นตอนหนึ่งต่างหาก



[๙๒] เรื่องตำนานพิธีราชาภิเษกได้พรรณนาไว้โดยพิสดารอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ที่ข้าพเจ้าแต่ง

[๙๓] พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังเป็นกรม ได้ทรงแต่งโคลงลิลิต พรรณนารายการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ทำครั้งรัชกาลที่๒ ถี่ถ้วนทุกอย่าง หนังสือพิมพ์แล้วเรียกว่าโคลงลิลิตยอพระเกียรติ.

[๙๔] ลักษณะการพิธีมีเทียนชัย เช่นพิธีตรุษเป็นต้น ตามแบบโบราณพระเจ้าแผ่นดินทรงจุดเอง สมเด็จพระสังฆราชเป็นแต่ผู้กำกับ (ทำนองจะมีหน้าที่บอกคาถาให้ทรงบริกรรม) แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแต่ทรงจุดเทียนชนวนและทรงอธิษฐาน แล้วให้สมเด็จพระสังฆราชจุดเทียนชัย จะบัญญัติแต่รัชกาลไหนหาทราบไม่.

[๙๕] มีคำกล่าวกันมา ว่าพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพระมหามงกุฎเลยจนตลอดรัชกาล แตในโคลงลิลิตปรากฏว่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์และราชูปโภคซึ่งพระครูพราหมณ์ถวายนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงรับด้วยพระหัตถ์แต่พระมหามงกุฎแล้วเอาวางไว้ข้างพระองค์ สิ่งอื่นพระครูพราหมณ์จัดตั้งถวาย เพราะฉะนั้นที่พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพระมหามงกุฎเป็นแต่ตามอย่าง.

[๙๖] คำที่เรียกกันว่า รัชกาล เป็นของเกิดขึ้นใหม่ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ แต่ก่อนนั้นเรียกว่าแผ่นดิน

[๙๗] คำว่าพระนั่งเกล้าฯ มาแต่พระนามเดิมว่า “ทับ” พระจอมเกล้าฯ มาแต่พระนามเดิมว่า “มงกุฎ”

[๙๘] ได้ยินมาว่าในเรื่องคิดพระนามครั้งนั้น กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเป็นหัวหน้า นอกจากนั้นจะมีใครอีกบ้างไม่ทราบแน่. ทูลเกล้าฯ ถวาย

[๙๙] คำว่า “ปรมินทร์” นี้ ทราบว่าเป็นกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ ว่าควรจะใช้สลับรัชกาลกับคำ “ปรเมนทร” จึงใช้เป็นแบบต่อมา

[๑๐๐] ของเดิมนั้นหมายความว่า สร้อยพระนามในพระสุพรรณบัฏเดิมตั้งแต่บดินทรเทพยมหามงกุฎบุรุษยรัตนราชรวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร ตามแบบพระนามพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เอาสร้อยพระนามเดิมมาลงเหมือนกัน.

[๑๐๑] ต่อมาเมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ แก้สร้อยพระนามบางแห่ง และลงท้ายพระนามว่า พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่นั้นมา

[๑๐๒] เรื่องนี้มีพระบรมราชาธิบายพิสดารอยู่ในหนังสือเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์

[๑๐๓] เรื่องเปลี่ยนพระที่นั่งอัฐทิศ เป็นพระบรมราชาธิบายชองพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

[๑๐๔] พรรณนาไว้ในโคลงลิลิตพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถ้วนถี่

[๑๐๕] ในรัชกาลภายหลัง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ มาก็เพิ่มขึ้นอีกทุกรัชกาล.

[๑๐๖] ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศแต่งตรงว่าด้วยงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็พรรณนาสิ่งซึ่งตั้งพระแท่นมณฑลไว้โดยพิศดาร แต่สังเกตว่าสิ่งซึ่งเกิดในรัชกาลที่ ๔ ตอนหลังก็มี เช่นพระเต้าเทวบิฐเป็นต้น จึงนึกสงสัยว่าหรือท่านจะได้หมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๕ ไปใช้เป็นหลักโดยทราบจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ว่าทำอย่างเดียวกับครั้งรัชกาลที่ ๕ ก็มิได้สังเกตไปถึงสิ่งซึ่งเพิ่มเติมขึ้นต่อภายหลัง.

[๑๐๗] พระชัยประจำรัชกาลอื่นนอกจากรัชกาลที่๑ สร้างภายหลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะฉะนั้นย่อมตั้งพระชัยประจำรัชกาลก่อน.

[๑๐๘] บรรดาพระเต้าซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๔ ดูเหมือนจะใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นทีแรกเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ ทั้งนั้น

[๑๐๙] ยอดแกะเป็นพระเกี้ยวยอด น่าสันนิษฐานว่าสร้างในรัชกาลที่ ๕ แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ท่านว่าตั้งพระแท่นมณฑลมาแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๔

[๑๑๐] เครื่องต้นแต่ ๑ ถึง ๕ กำหนดว่าเป็นเบญจราชกกุธภัณฑ์ แต่ในตำราราชาภิเษกไม่ตรงกันทุกตำรา ในปทุมชาดก ที่ธารพระกรว่าผ้ารัตกัมพล ที่วาลวิชนี ว่าพระเศวตฉัตร ในหนังสือมหาวงศ์ ที่ธารพระกร ว่าเศวตฉัตร ในหนังสืออภิธานทีบิกา ที่วาลวิชนีว่า จามร.

[๑๑๑] แต่ ๑ ถึง ๘ เรียกพระแสงอัษฎาวุธ

[๑๑๒] ที่เรียกพระแสงเวียด เพราะพระเจ้าเวียดนัม (องค์เชียงสือ) ถวายในรัชกาลที่ ๑

[๑๑๓] พระเสมาธิปัตย พระฉัตรชัย พระเกาวพ่าห์ เรียกรวมกันว่า พระกรรม์ภิรมย์ เป็นฉัตรแพรขาวลงยันต์เส้นทอง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศทรงสันนิษฐานว่า “เดิมคงเป็นเครื่องหมายตัวแม่ทัพ คือ ทัพหน้า (วังหน้า) คัน ๑ ทัพหลวง (วังหลวง) คัน ๑ ทัพหลัง (วังหลัง) คัน ๑ ที่เอาขึ้นหลังช้างพระคชาธาร ก็คือฉัตรเครื่องหมายนี้เอง ฉัตรพระคชาธารวังหน้า ๕ ชั้น วังหลวง ๗ ชั้น วังหลังไม่เคยเห็น อาจเป็น ๓ ชั้นก็ได้ เวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่มีวังหน้าวังหลัง จึงรวมเอาฉัตร ๓ คันมาไว้วังหลวงหมด เลยหลงทำเป็น ๗ ชั้นเหมือนกันหมดทั้ง ๓ คัน

[๑๑๔] ความในวงมีในหมายรับสั่งรัชกาลก่อน แต่ในสำเนาหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่๕ หามีไม่ จะเป็นด้วยเสมียนคัดตก หรือยกออกเสีย ด้วยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแฝนดิน ข้อนี้สงสัยอยู่

[๑๑๕] ฎีกาคำนวณนี้ ได้มาแต่กรมราชเลขาธิการ

[๑๑๖] พระโหราธิบดี ชื่อชุ่ม หลวงโลกทีป ชื่อเถื่อน ต่อมาได้เป็นพระยาโหราธิบดี

[๑๑๗] น้ำสรงราชาภิเษกตามประเพณีแต่ก่อน ใช้แม่น้ำทั้ง ๕ ในประเทศนี้ คือแม่น้ำเพ็ชร์บุรี ตักที่ตำบลท่าชัยแห่ง ๑ น้ำแม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงจังหวัดสมุทรสงครามแห่ง ๑ น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่บางแก้วแขวงจังหวัดอ่างทองแห่ง ๑ น้ำแม่น้ำศักดิ์ ตักที่ท่าราบแขวงจังหวัดสระบรีแห่ง ๑ แม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลปิงพระอาจารย์แขวงจังหวัดนครนายกแห่ง ๑ นอกจากแม่น้ำทั้ง ๕ ยังน้ำสระเกศ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา ทั้ง ๔ ในแขวงจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเคยใช้มาครั้งกรุงศรีอยุธยาด้วยถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งพระสงฆ์เป็นพระครูพระปริตไทย ๔ รูป มอญ ๔ รูป สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีซึ่งมีสรงมุรธาภิเษก จึงมีน้ำพระพุทธมนต์เพิ่มขึ้นอีกอย่าง ๑ ครั้งถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเสด็จไปอินเดียในปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ ทรงแสวงหานาปัญจมหานทีตามตำราพราหมณ์ คือแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำนที แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภูได้มา น้ำสรงมุรธาภิเษกจึงเพิ่มน้ำปัญจมหานทีอีกอย่าง ๑ ตั้งแต่บรมราชาภิเษกเมื่อปีระกา พ.ห. ๒๔๑๖ เป็นต้นมา

[๑๑๘] ในสำเนาหมายกะการพระราชพิธีว่า พระสงฆ์สวดมนต์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ๕๐ รูป ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ๓๐ รูป เห็นว่าจะเขียนผิด ที่ถูกกลับกัน ครั้งหลังๆ มาก็เป็นเช่นนั้น

[๑๑๙] พระชัยเนาวโลหะ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖

[๑๒๐] พระแท่นที่บรรทมตั้งในห้องอันเดียวกันทุกรัชกาล เป็นแต่เปลี่ยนที่ตั้งข้างเหนือรัชกาลหนึ่ง ตั้งข้างใต้รัชกาลหนึ่งสลับกัน

[๑๒๑] เมื่อรัชกาลก่อน ๆ ทำพระราชพิธีใหญ่ เคยเชิญพระแก้วมรกตมาตั้งเป็นประธานบนพระแท่นมณฑล ถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า พระแก้วมรกตเป็นของหนัก เชิญไปมาเป็นการเสี่ยงภัย จงโปรดฯ ให้โยงสายสิญจน์จากพระแท่นมณฑลไปถึงองค์พระแก้วมรกต และโปรดฯ ให้ตั้งพระพุทธบุษยรัตนเป็นประธานบนพระแท่นมณฑลแทนพระแก้วมรกต.

[๑๒๒] ได้ยินมาว่าเมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เชิญพระพุทธรูปสัมพุทธพรรณี ซึ่งทรงสร้างขึ้นแต่ยังทรงผนวชมาตั้งบนพระที่นั่งบุษบกมาลาและพระชัยพิธี เป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องทองซึ่งเคยตั้งที่ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันตก กับพระบรมธาตุระย้ากินนรนั้นก็ดูเหมือนจะย้ายมาตั้งที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ เพราะไม่ปรากฏว่าตั้งในพระแท่นมณฑล เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๕ ก็คงตั้งอย่างเดียวกันทั้ง ๒ องค์.

[๑๒๓] ในสมัยนั้นยังใช้ธรรมเนียมหมอบคลานในที่เฝ้า และมิได้สวมถุงน่องรองเท้า อีกอย่าง ๑ ยังโกนศีร์ษะอยู่ทั่วกัน ด้วยพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต.

[๑๒๔] รูปพระนเรศวรที่โรงแสงเคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อแต่งหนังสือนี้หอพระนเรศวรและโรงแสงในรื้อเสียนานแล้ว รูปพระนเรศวรที่กล่าวถึงก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน มักชี้เอารูปหุ่นที่มีอยู่ในห้องภูษามาลาสำหรับปรับเครื่องต้นว่า เป็นพระรูปพระนเรศวร ข้าพเจ้าเคยคิดสงสัยว่ารูปพระนเรศวรก็ดี พระรูปพระรามาธิบดีอู่ทองซึ่งเรียกกันว่าพระเทพบิดรก็ดี จะทำอย่างพระรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปราสาทพระเทพบิดรทุกวันนี้หรือว่าอย่างไร ครั้นไปพิเคราะห์ดูที่นครวัดนครธม เห็นรูปพระมหากษัตริย์โบราณที่ทำไว้บูชาหาทำเป็นรูปมนุษย์ไม่ ทำแต่เป็นรูปพระอิศวรหรือมิฉะนั้นก็พระนารายณ์ จึงสันนิษฐานว่าพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทองเห็นจะเป็นรูปพระนารายณ์ (เมื่อรัชกาลที่ ๑ จึงให้หล่อแปลงเป็นพระพุทธรูป) และพระรูปสมเด็จพระนเรศวรเห็นจะเป็นรูปพระอิศวร.

[๑๒๕] พระเสื้อเมือง ชาวมณฑลทางตะวันออก เช่นมณฑลอุบลเป็นต้นเขาเรียกว่า “เซื้อเมือง” คือ “เชื้อเมือง” หมายความว่าต้นวงศของผู้ปกครองเมือง.

[๑๒๖] สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ ทรงสันนิษฐานว่าพระกาฬชัยศรีนั้น จะมาแต่อุมาปางหนึ่ง ซึ่งพวกฮินดูมักทำรูปไว้บูชา เรียกว่า “กาลี” และเจ้าเจตคุกนั้น เห็นจะหมายความว่า เจตรคุปต์ อันเป็นเสนาของยมราชตนหนี่ง ซึ่งเป็นพนักงานอยู่ในยมโลก สำหรับจดบัญชีคนทำดีและคนทำชั่ว.

[๑๒๗] พระราชาคณะผู้ประกาศเทวดาโดยปกติเป็นหน้าที่พระพิมลธรรม แต่เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคราวปีมะโรงสัมฤทธิศกนี้ พระพิมลธรรม (ยิ้ม) วัดพระเชตุพนแก่ชรา ไม่สามารถประกาศได้ จึงสันนิษฐานว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี) วัดประทุมคงคา แต่ยังเป็นพระอโนมสิริมุนีเป็นผู้ประกาศ ด้วยเป็นผู้ประกาศพิธีตรุษมาแต่รัชกาลที่ ๔

[๑๒๘] ความแต่นี้เขียนตามจดหมายเหตุที่ได้มาจากกรมราชเลขาธิการ

[๑๒๙] ในจดหมายเหตุที่ได้มา ว่ากรมหมื่นบวรรังษีฯ ถวายพระเต้าประทุมนิมิตรสัมฤทธิ์ เห็นว่าจดผิด ท่านเคยถวายน้ำมนต์ครอบพระกิ่งเป็นนิจมาจนตลอดพระชนมายุและรดถวายที่พระขนอง ส่วนเจ้านายที่ถวายพระเต้าประทุมนิมิตร และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศถวายพระเต้าอีกองค์ ๑ นั้นเป็นแต่ส่งพระเต้าถวาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรดเอง.

[๑๓๐] ในจดหมายเหตุของฝรั่งที่ได้รับอนุญาตเข้าไปดู ว่ามีเจ้านายผู้หญิงถวายน้ำด้วย ๒ พระองค์

[๑๓๑] พระมหาราชครูพิธี ชื่อพุ่ม เป็นต้นสกุล คุรุกุล หลวงอัฏยา ชื่ออ่อน ต่อมาได้เป็นที่พระสิทธิชัยบดี

[๑๓๒] ประเพณีถวายอติเรก สังเกตในโคลงลิลิตพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าใจว่าแต่ก่อนมาถวายอติเรกตั้งแต่วันแรกตั้งพิธี พึ่งมาเปลี่ยนประเพณีการถวายอติเรกเมื่อรัชกาลที่ ๔ ในชั้นหลังมานี้มิได้ถวายอติเรก จนบรมราชาภิเษกแล้ว แต่อติเรกที่ถวายครั้งแรกนั้นถวายเป็นพิเศษ คือพระมหาสังฆปรินายกผู้ถวายอติเรก ถวายพระพรด้วยภาษามคธนำก่อนแล้วจึงอติเรกต่อ.

[๑๓๓] การที่เสด็จออกประทับพระแท่นเศวตฉัตรนั้น ตามประเพณีโบราณ (และในชั้นหลังมา) เสด็จประทับแล้วจึงไขพระสูตร แต่เมื่อบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๕ ครั้งปีมะโรง ไม่ปรากฏในจดหมายเหตุฉะบับใดๆ ว่ากั้นพระสูตร จดหมายเหตุของฝรั่งยังซ้ำพรรณนาว่า เมื่อทรงพระราชดำเนินผ่านเจ้านายผู้ใหญ่ไป ยกพระหัตถ์ประสานขอประทานอภัยก่อน แล้วจึงได้เสด็จขึ้นพระแท่นเศวตฉัตร.

[๑๓๔] เวลานั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแฝนดิน และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรนขุนวรจักรธรานุภาพทรงบัญชาการกรมท่า นับว่าไม่มีตัวเสนาบดีปลัดทูลฉลองจึงกราบทูลแทน

[๑๓๕] เจ้าพระยาธรรมา (บุญศรี) เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) ชราทุพลภาพทั้ง ๒ คน

[๑๓๖] การที่พระราชทานอนุญาตให้ฝรั่งต่างประเทศเข้าเฝ้าในงานบรมราชาภิเษกเริ่มมีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๔ ครั้งนี้หากล่าวถึงจดหมายเหตุข้างไทยไม่ แต่มีในจดหมายเหตุของฝรั่งจึงเอามาลงไว้

[๑๓๗] เมื่อแต่งหนังสือนี้ ผู้ที่ได้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเทียรเมื่อปีมะโรงยังมีอยู่บ้าง สืบถามได้ความว่า คุณปลัดเสงี่ยมเป็นผู้เชิญขันดอกพิกุลทองพิกุลเงิน และนางเชิญเครื่องนั้นเป็นหม่อมเจ้าในรัชกาลที่ ๓ ทังนั้น คือ

หม่อมเจ้าปิ๋ว ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี (ภายหลังมีพระเกียรติยศเป็นพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคยนารีรัตน์) ๑

หม่อมเจ้าสารภี ในกรมหมื่นภูมินทรภักดิ์ ๑

หม่อมเจ้ามณฑา ในกรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล ๑

หม่อมเจ้าภคินี ในกรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ (กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ) ๑

หม่อมเจ้าวิลัยวร ในพระองค์เจ้าเปียก ๑

หม่อมเจ้า (ประ) ยง ในพระองค์เจ้าลำยอง ๑

[๑๓๘] พระองค์เจ้ายี่สุ่นในรัชกาลที่ ๒ เวลานั้นพระชันษาได้ ๘๐ ปี

[๑๓๙] ในจดหมายเหตุมิได้บอกพระนามว่าพระองค์ใด แต่คงเป็นพระองค์เจ้าลม่อม

[๑๔๐] รายการตอนราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเทียรที่คัดมาจากจดหมายเหตุที่ได้มาจากกรมราชเลขาธิการเพียงนี้ ได้ตรวจชำระแก้ไขตรงเห็นว่าผิดบ้างเล็กน้อย

[๑๔๑] พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายว่า การถวายดอกไม้ธูปเทียนนั้น ตามประเพณีมีในงาน ๒ อย่างคือ งานเฉลิมพระราชมนเทียรอย่าง ๑ กับงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลซึ่งเป็นงานใหญ่ เช่นฉลองวัดเป็นต้นอย่าง ๑ มิใช่ถวายในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

[๑๔๒] ในจดหมายเหตุที่พบไม่ปรากฏชื่อท่านผู้เทศนามงคลสูตร รัตนสูตร แต่สันนิษฐานว่า ๒ องค์นั้นเห็นจะไม่ผิด อนึ่งประเพณีที่ทรงสดับพระธรรมเทศนาเนื่องในงานพระราขพิธีบรมราชาภิเษก ไม่พบจดหมายเหตุว่าเคยมีมาแต่ก่อน สันนิษฐานว่าจะมีครั้งนี้เป็นครั้งแรก สืบมาแต่พระราชนิยมของพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อนึ่ง ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ กล่าวว่า มีการถือน้ำน้ำพระพิพัฒนสัตยาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ในรัชกาลที่ ๕ หาปรากฏว่ามีไม่

[๑๔๓] พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พิธีราชาภิเษกซึ่งทำกันมานั้นเป็น ๒ ตำรา แต่หลงทำรคนปนกันไปเสีย คือว่าหลักแห่งการราชาภิเษกนั้น มีรดน้ำแล้วเถลิงราชาอาสน์เป็นเสร็จพิธี ที่ว่าปนกันนั้นเล็งเห็นได้ สรงมุรธาภิเษกกับขึ้นอัฐทิศรับน้ำนั้น เป็นรดน้ำเหมือนกัน ขึ้นภัทรบิฐกับขึ้นพระแท่นเศวตร เป็นเถลิงราชาอาสน์เหมือนกัน อย่างขึ้นพระที่นั่งอัฐทิศและภัทรบิฐนั้นเป็นอย่างน้อย อย่างสรงมุรธาภิเษกและขึ้นพระแท่นเศวตรนั้นเป็นอย่างใหญ่ สำหรับเลือกทำตามโอกาศจะอำนวย แต่หากเกิดความเข้าใจกันขึ้นคราวใดคราวหนึ่ง เลยทำเสียทั้ง ๒ อย่างให้เป็นที่สิ้นสงสัยจึงเลยเลอะมา โดยพระราชดำริเช่นนี้ เมื่อเฉลิมราชมณเทียรพระราชวังดุสิต จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระแท่นที่สรงเป็น ๘ เหลี่ยม ยอดเป็นเศวตรไว้ทุ้งสหัสธาราในนั้น เวลาเสด็จขึ้นที่สรงไขสหัสธาราแล้ว ราชบัณฑิตยและพราหมณ์เข้าถวายน้ำ ๘ ทิศติดไปทีเดียว เสร็จแล้วเสด็จขึ้นทรงเครี่องบนพลับพลา แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอภิเศกดุสิต เสด็จขึ้นเถลิงภัทรบิฐซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ทำใหม่ตั้งเหนือพระแท่นเศวตรฉัตร พระบรมวงศานุวงศข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าเฝ้า พราหมณ์ร่ายมนต์สรรเสริญไกลาศเสร็จแล้วฝ่ายหน้ากราบถวายบังคมลาออก พระบรมวงศานุวงศข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในเข้าเฝ้า แล้วเสด็จขึ้น.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ